รวมบทความ ทำอย่างไรเมื่อ HDD มีปัญหา
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: รวมบทความ ทำอย่างไรเมื่อ HDD มีปัญหา  (อ่าน 6756 ครั้ง)
Ce_YAI♥
member
*

คะแนน136
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1008



« เมื่อ: กรกฎาคม 01, 2007, 12:12:13 pm »

ทำอย่างไร เมื่อฮาร์ดดิสก์มีปัญหา : Chip


 


ข้อมูลสำคัญของคุณบนฮาร์ดดิสก์จะเป็นอย่างไรหากฮาร์ดดิสก์ที่ใช้อยู่เกิดมีปัญหา นอกจากนี้ CHIP ยังจะบอกให้คุณทราบถึงแนวทางการป้องกันการสูญหายของข้อมูลด้วย

ภายในฮาร์ดดิสก์นั้นประกอบด้วยชิ้นส่วนที่เป็นกลไกและมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ดังนั้นจึงก็มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายหรือทำงานผิดพลาดได้ตลอดเวลา และหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอนก็คือการไม่สามารถเข้าถึงไฟล์งานหรือแอพพลิเคชันใดๆ ได้อีก ดังนั้น CHIP จะมาแนะนำถึงวิธีที่คุณจะสามารถป้องกันข้อมูลจากการสูญหาย รวมถึงวิธีที่จะสามารถกู้ข้อมูลที่สูญหายไปให้กลับคืนมาได้

ฮาร์ดดิสก์คือองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับเครื่องพีซี เพราะฮาร์ดดิสก์จะทำหน้าที่ในการเก็บเอกสาร ไฟล์งานต่างๆ แอพพลิเคชันทั้งหมด รวมถึงระบบปฏิบัติการวินโดว์สซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดสำหรับการควบคุมและการทำงานร่วมกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งหมด หากคุณเก็บข้อมูลสำคัญสำหรับธุรกิจหรืองานเอาไว้บนฮาร์ดดิสก์และต้องพบกับปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดกับฮาร์ดดิสก์โดยไม่คาดคิด ลองจินตนาการว่าปัญหานั้นจะน่ากลัวเพียงไร หากวันหนึ่งเมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาแล้วพบข้อความแจ้งว่า “Hard disk install failure” หรือ “Primary master hard disk fail” ข้อมูลทุกอย่างของคุณอาจหายไปในพริบตา แต่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะยังพอมีความหวังที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นกลับคืนมาได้

ความลับที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ก็คือ ข้อมูลทุกอย่างมักจะยังถูกเก็บไว้อย่างสมบูรณ์บนฮาร์ดดิสก์ เพียงแต่จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้เพราะปัญหาเกี่ยวกับดัชนีของดิสก์ (Disk Index) ซึ่งทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลว่ามีข้อมูลอะไรถูกบันทึกอยู่บนฮาร์ดดิสก์บ้าง และเมื่อ Disk Index มีปัญหา ก็จะส่งผลให้ผู้ใช้ไม่สามารถมองเห็นข้อมูลจริงๆ ที่ถูกเก็บอยู่บนฮาร์ดดิสก์ได้ โชคดีที่ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ข้อมูลที่สามารถกู้ข้อมูลต่างๆ ของคุณกลับคืนมาได้ แต่โชคร้ายก็คือสนนราคาสำหรับค่าบริการในการกู้ข้อมูลนั้นบางครั้งอาจไม่คุ้มกับข้อมูลที่สูญหายไป

คำแนะนำและเทคนิคต่างๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะช่วยให้คุณสามารถป้องกันปัญหาเกี่ยวกับฮาร์ดดิสก์ได้ หรือในกรณีที่คุณไม่สามารถเข้าไปใช้งานข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์ได้ เราจะแนะนำให้รู้จักกับซอฟต์แวร์ที่สามารถกู้ข้อมูลกลับคืนมาให้คุณได้

ค้นหาสาเหตุ : ฮาร์ดดิสก์เสียหายได้อย่างไร?
มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้ฮาร์ดดิสก์เกิดความเสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส ปัญหาเรื่องไฟตก การทำงานผิดพลาดของซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ ความผิดพลาดจากการใช้งานของผู้ใช้เอง หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องการก่อวินาศกรรมต่างๆ และเพื่อให้เข้าใจกับลักษณะปัญหาในรูปแบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น เราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานภายในของฮาร์ดดิสก์รวมถึงโครงสร้างและวิธีการในการจัดเก็บข้อมูลเสียก่อน

ฮาร์ดดิสก์จะถูกออกแบบมาให้อยู่ในกล่องเหล็กที่ถูกปิดผนึกอย่างมิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าไปรบกวนการทำงานของฮาร์ดดิสก์ แนะนำว่าไม่ควรทดลองเปิดผนึกส่วนต่างๆ ของฮาร์ดดิสก์ออก เพราะอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฮาร์ดดิสก์ของคุณเสียได้เช่นกัน หลักการทำงานของฮาร์ดดิสก์นั้น แผ่นจานแม่เหล็กจะถูกยึดอยู่กับแกนหมุนตรงกลางซึ่งจะเชื่อมต่อเข้ากับมอเตอร์ และหัวอ่าน-เขียนจะถูกยึดอยู่กับแขนกลที่สามารถเคลื่อนไหวได้ โดยฮาร์ดดิสก์จะหมุนอยู่ตลอดเวลาที่เครื่องคอมพิวเตอร์เปิดอยู่ โดยจะหมุนด้วยความเร็ว 5,400 หรือ 7,200 รอบต่อนาที

วิเคราะห์ปัญหา : ความเสียหายทางด้านกายภาพ
การทำงานของเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้น หัวอ่านจะสัมผัสกับพื้นผิวของแผ่นเสียง เพื่อที่จะแปลงข้อมูลจากร่องเล็กๆ ให้ออกมาเป็นเสียง แต่สำหรับการทำงานของฮาร์ดดิสก์แล้ว หัวอ่าน-เขียนจะไม่ได้สัมผัสกับแผ่นจานแม่เหล็กโดยตรง แต่หัวอ่าน-เขียนนี้จะเลื่อนไปมาโดยมีระยะที่ห่างกับพื้นผิวของแผ่นจานแม่เหล็กเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บริเวณพื้นผิวของแผ่นจานแม่เหล็กจะมีสารแม่เหล็กเคลือบอยู่ ซึ่งข้อมูลต่างๆ ทั้งหมดจะถูกเก็บบันทึกไว้โดยการเปลี่ยนแปลงสถานะของสารแม่เหล็กเหล่านั้น สำหรับการอ่านข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่นั้น ก็จะใช้วิธีการตรวจสอบสถานะของสารแม่เหล็กในบริเวณดังกล่าว โดยหัวอ่าน-เขียน จะทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ด้านบนของพื้นผิวนั่นเอง

หากมีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น ทำให้หัวอ่าน-เขียนไปสัมผัสโดนแผ่นจานแม่เหล็ก จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาใหญ่คือ ข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่จะเกิดความเสียหาย เนื่องจากแผ่นจานแม่เหล็กนั้นจะหมุนด้วยความเร็วสูง ดังนั้นหัวอ่านที่สัมผัสกับพื้นผิวของจานแม่เหล็กก็จะทำลายพื้นผิวและข้อมูลต่างๆ จำนวนมากอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาใหญ่คือ “ฮาร์ดดิสก์เสีย”

แน่นอนว่า หากแผ่นจานแม่เหล็กที่อยู่ภายในถูกทำลายโดยการเผาไฟ หรือน้ำท่วม หรือถูกทำลายด้วยความจงใจหรือวินาศภัยแล้ว ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกเก็บอยู่ก็จะสูญหายไปด้วยเช่นกัน

ส่วนประกอบอื่นๆ ที่อยู่บนฮาร์ดดิสก์ เช่น มอเตอร์ หัวอ่าน แขนกล และแผงวงจร ก็อาจจะเกิดความเสียหายทางด้านกายภาพได้เช่นกัน ชิปที่ควบคุมการทำงานของมอเตอร์หรือหัวอ่านอาจจะเกิดความเสียหายจากปัญหาไฟตกหรือไฟกระชาก แต่อุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้สามารถเปลี่ยนทดแทนได้ โดยที่ข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่บนจานแม่เหล็กยังคงอยู่เหมือนเดิม ดังนั้น คุณจึงสามารถนำข้อมูลกลับคืนมาได้เช่นกัน

สำหรับการเปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในฮาร์ดดิสก์นั้น จะต้องเปิดผนึกฮาร์ดดิสก์ออกมา ซึ่งจะต้องทำภายใน Clean Room เท่านั้น และขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้จะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเท่านั้น


 


เสียหายจากภายใน : ความเสียหายแบบโลจิคอล
โครงสร้างทางด้านโลจิคอลของฮาร์ดดิสก์จะหมายถึงวิธีการในการบริหารการจัดเก็บข้อมูลที่อยู่บนฮาร์ดดิสก์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับการจัดโครงสร้างของข้อมูลภายในหนังสือ ซึ่งเมื่อคุณเปิดหนังสือขึ้นมา ก็จะพบกับส่วนของสารบัญ และข้อมูลจริงๆ ที่อยู่ข้างในหนังสือ โดยสารบัญนั้นจะเป็นเครื่องบ่งบอกว่า คุณจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงที่ถูกเก็บอยู่ในหนังสือได้ในหน้าใด

สำหรับการทำงานของฮาร์ดดิสก์นั้น จะมีการแบ่งพื้นที่เป็น System Area (คล้ายๆ กับสารบัญของหนังสือ) และส่วนของ Data Area (เสมือนเป็นเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือ) ซึ่งทำการเก็บข้อมูลที่เป็นไฟล์และโฟลเดอร์ต่างๆ ทั้งหมดอย่างแท้จริง

ในขณะที่คุณกำลังใช้คอมพิวเตอร์อยู่นั้น คุณอาจจะสร้างเอกสารต่างๆ มากมาย หรือทำการติดตั้งแอพพลิเคชันเพิ่มเติมอีกหลายตัว แอพพลิเคชันแต่ละตัวจะทำงานโดยมีไฟล์ต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบนับร้อยไฟล์ ดังนั้นบนฮาร์ดดิสก์ของคุณจึงมีไฟล์ต่างๆ กระจายอยู่อย่างน้อยก็นับหมื่นไฟล์ทีเดียว

พื้นที่สำหรับการเก็บข้อมูลนั้นจะถูกจัดเรียงอยู่บนตำแหน่งต่างๆ ที่ถูกแบ่งเป็นแทร็ก (Track) และเซ็กเตอร์ (Sector) ดังนั้นข้อมูลเอกสารหรือไฟล์ต่างๆ ทั้งหมด ก็จะถูกนำไปเก็บอยู่ในเซ็กเตอร์ซึ่งอาจจะเก็บได้พอในเซ็กเตอร์เดียว หรืออาจจะต้องใช้พื้นที่หลายเซ็กเตอร์ในการเก็บไฟล์ข้อมูลหนึ่งไฟล์ (เซ็กเตอร์เปรียบเสมือนตู้สำหรับบรรทุกสินค้าที่ใช้สำหรับเก็บข้อมูลนั่นเอง) โดยบริเวณที่เป็น System Area จะมีการจัดวางโครงสร้าง หรือกำหนดตำแหน่งที่ใช้สำหรับการอ้างอิงถึงพื้นที่ของเซ็กเตอร์และแทร็ก ต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกเก็บอยู่ในเซ็กเตอร์ก็จะถูกอ้างอิงด้วยตำแหน่งเฉพาะของแต่ละเซ็กเตอร์ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีตารางสำหรับเก็บข้อมูลตำแหน่งต่างๆ อยู่บนพื้นที่ System Area โดยจะถูกเรียกว่า File Allocation Table (FAT) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการบันทึกว่ามีข้อมูลชิ้นใดถูกเก็บอยู่ในตำแหน่งใดของฮาร์ดดิสก์

ดังนั้น เมื่อคุณต้องการที่จะเปิดเอกสารชิ้นใดชิ้นหนึ่งขึ้นมา ระบบปฏิบัติการวินโดว์สจะเริ่มต้นไปค้นหาข้อมูลจาก FAT ก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อพบกับชื่อไฟล์ที่ระบุอยู่ใน FAT แล้ว ก็จะมองหาตำแหน่งแรกบนฮาร์ดดิสก์ที่ถูกใช้สำหรับเก็บไฟล์นั้น แล้วจึงไปถึงไฟล์ข้อมูลจากตำแหน่งนั้นโดยตรงเพื่อนำข้อมูลส่งไปเก็บไว้ในหน่วยความจำหลักก่อนที่จะถูกนำไปประมวลผลและแสดงผลบนจอภาพ หากไฟล์ที่ถูกเปิดขึ้นมามีขนาดใหญ่และกินพื้นที่ในการจัดเก็บมากกว่าหนึ่งเซ็กเตอร์ FAT ก็จะมีการบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมไว้ด้วยว่าส่วนอื่นๆ ของไฟล์นั้นถูกบันทึกไว้ในตำแหน่งใด

หากมีปัญหา System Area (และ FAT) เกิดความเสียหายขึ้น หัวอ่านจะไม่สามารถรู้ว่า ไฟล์ข้อมูลที่แท้จริงนั้นถูกเก็บไว้ในพื้นที่ใดของฮาร์ดดิสก์ แต่ข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่ทั้งหมดนั้นจะยังคงอยู่ในพื้นที่เดิม เพียงแต่คุณไม่สามารถเข้าถึงได้เพราะ System Area เกิดความเสียหายเท่านั้น

ความเสียหายในลักษณะดังกล่าวนี้ จะถูกเรียกว่าความเสียหายแบบโลจิคอล ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ร้ายแรงเหมือนความเสียหายทางด้านกายภาพ ดังนั้นคุณจึงสามารถใช้ซอฟต์แวร์พิเศษบางชนิดในการกู้ข้อมูลต่างๆ กลับคืนมาได้ โดยซอฟต์แวร์เหล่านี้จะทำการอ่านข้อมูลในทุกๆ เซ็กเตอร์ แล้วสร้างรายการข้อมูลทั้งหมดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ปัญหาเพียงอย่างเดียวก็คือ หากไฟล์ข้อมูลบางไฟล์ถูกแบ่งเก็บอยู่ในหลายเซ็กเตอร์แล้ว ซอฟต์แวร์สำหรับกู้ข้อมูลจะไม่สามารถรวมไฟล์เหล่านั้นมาไว้เป็นไฟล์เดียวกันได้ ดังนั้น ไฟล์ข้อมูลของคุณอาจจะถูกแสดงอยู่ในชื่อ 1.doc, 2.doc, 3.doc (หากข้อมูลที่กู้เป็นไฟล์เอกสารเวิร์ด) ซึ่งคุณจะต้องตรวจสอบส่วนต่างๆ ของไฟล์ที่ถูกกู้คืนมาด้วยตัวเอง แล้วจึงนำส่วนต่างๆ ของไฟล์มารวมกันเป็นไฟล์เดียวอีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน

ขั้นรุนแรง : ความเสียหายทางกายภาพและโลจิคอล
สำหรับเหตุผลที่สามที่ทำให้ข้อมูลเกิดความเสียหายนั้น อาจมีสาเหตุมาจากความเสียหายร่วมกันทั้งทางกายภาพและโลจิคอลซึ่งจะมีพื้นที่บางส่วนเสียหาย กล่าวคือ เซ็กเตอร์บางส่วนอาจเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการอ่าน-เขียนข้อมูล หรือการถอด-ประกอบฮาร์ดดิสก์ โดยข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่ในส่วนของเซ็กเตอร์ที่เสียหายนั้นจะสูญหายไปอย่างถาวร ซึ่งซอฟต์แวร์บางชนิดสามารถตรวจสอบพื้นที่เสียหาย และสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่อาจทำให้คุณรู้ว่า ฮาร์ดดิสก์ของคุณอาจจะมีพื้นที่บางส่วนเสียหายก็คือ เมื่อคุณเปิดเครื่องแล้วระบบปฏิบัติการวินโดว์สจะรันโปรแกรม ScanDisk อยู่เป็นประจำนั่นเอง

คุณสามารถใช้ยูทิลิตี้ CHKDSK เพื่อทำการปิดกั้นพื้นที่เสียหายดังกล่าวไว้ไม่ให้สามารถเข้าถึงได้อีก แต่หากฮาร์ดดิสก์ของคุณมีพื้นที่เสียหายอยู่เป็นจำนวนมาก CHIP แนะนำว่าควรเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ใหม่เลยจะดีกว่า

ปัญหาพื้นที่เสียหายบนฮาร์ดดิสก์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่คุณสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ โดยการปิดเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างถูกวิธี โดยการคลิกปุ่ม Shut Down รวมทั้งควรจะมีอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ากระชากและไฟตก (UPS with Stabilizer) ไว้ใช้งานด้วย

คุณรู้หรือไม่?
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้ทั่วไปมักเข้าใจว่าเมื่อไฟล์ข้อมูลใดๆ ถูกลบไปแล้ว ข้อมูลดังกล่าวจะสูญหายไปในทันที แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นจะยังคงถูกเก็บอยู่บนฮาร์ดดิสก์ เพราะการทำงานที่แท้จริงนั้น เมื่อคุณทำการลบไฟล์ใดๆ ออกไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์จะเป็นเพียงแค่การลบข้อมูลที่ Disk Index เก็บไว้เท่านั้น หมายความว่า พื้นที่ที่ใช้สำหรับเก็บไฟล์ดังกล่าวนั้น พร้อมที่จะให้นำข้อมูลอื่นๆ มาเก็บทับบริเวณดังกล่าวได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะถูกเรียกว่า “Overwriting” ดังนั้นคุณจึงสามารถใช้ซอฟต์แวร์พิเศษบางตัวในการกู้ข้อมูลเหล่านั้นคืนมาได้ และเช่นเดียวกัน คุณก็สามารถจะกู้ข้อมูลไฟล์ต่างๆ จากฮาร์ดดิสก์ที่ถูกฟอร์แมตคืนมาได้เช่นกัน

 

Clean Room : ห้องปฏิบัติการพิเศษที่มีระบบตรวจสอบและป้องกันฝุ่นละอองอย่างดีสำหรับการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ที่มีความละเอียดอ่อนอย่างฮาร์ดดิสก์


โปรแกรมสำหรับป้องกันข้อมูลสูญหาย
ปัจจุบันมีโปรแกรมสำหรับการกู้ข้อมูลจากหลายผู้ผลิตหลายราย ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้สามารถนำไปใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการได้หลากหลาย ดังนั้น หากคุณใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์สเอ็กซ์พีอยู่ ก็จะต้องเลือกใช้เวอร์ชันสำหรับวินโดว์สเอ็กซ์พีด้วยโปรแกรมจึงจะสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง สำหรับระบบปฏิบัติการอื่นๆ ที่มักจะมีโปรแกรมดังกล่าวให้เลือกใช้งานได้ไม่ยากนัก ก็ได้แก่ Linux, Unix และ Novell

โปรแกรมที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มด้วยกัน โดยใช้สำหรับการป้องกันหรือการแก้ไขปัญหาในลักษณะที่คุณไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดบางส่วน เช่น หากเกิดความเสียหายทางด้านกายภาพหรือแผ่นจานแม่เหล็กเสียหายก็อาจจะไม่สามารถกู้คืนข้อมูลกลับมาได้อีก

ก่อนเสียหาย : โปรแกรมในกลุ่มนี้จะใช้สำหรับการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับฮาร์ดดิสก์ โดยโปรแกรมจะทำการคัดลอกข้อมูลของ Disk Index ซึ่งถูกเก็บไว้ในพื้นที่ของไฟล์ระบบ (System Area) แล้วนำข้อมูลที่คัดลอกไปเก็บสำรองไว้ในพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูล (Data Area) ด้วย หากพื้นที่ไฟล์ระบบเกิดความเสียหาย โปรแกรมจะทำการดึงข้อมูลที่ได้นำไปเก็บไว้ในพื้นที่ไฟล์ข้อมูลมาใช้งานและสร้างไฟล์ Disk Index กลับคืนขึ้นมาใหม่ได้

หลังเสียหาย (การกู้ข้อมูล) : ใช้ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่สามารถเข้าถึงไฟล์ข้อมูลหรือระบบปฏิบัติการได้อีกต่อไป ซึ่งโปรแกรมในกลุ่มนี้จะใช้สำหรับการกู้ข้อมูลที่สูญหายโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเสียหายทางด้านกายภาพของแผ่นจานแม่เหล็ก ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ข้อมูลจะยังถูกเก็บอยู่บนจานแม่เหล็ก แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะไฟล์ Disk Index เกิดความเสียหาย เป็นต้น

แบ็กอัพ : โปรแกรมในกลุ่มนี้เป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน โดยโปรแกรมจะทำหน้าที่ในการแบ็กอัพข้อมูลทั้งฮาร์ดดิสก์ให้โดยอัตโนมัติแล้วเก็บไว้ในสื่อบันทึกอื่นๆ เช่น ดีวีดี หรือฮาร์ดดิสก์ตัวอื่น เป็นต้น ดังนั้นหากมีปัญหาข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์เสียหาย ก็สามารถนำข้อมูลที่ถูกก๊อปปี้ไว้กลับมาใช้งานได้

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ เกี่ยวกับโปรแกรมป้องกันข้อมูลและกู้ข้อมูล สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.ontrack.com, www.stellarinfo.co. in หรือ www.acronis.com

วิธีการตรวจหาพื้นที่ดิสก์เสียหาย
ถึงแม้จะมีโปรแกรมต่างๆ จำนวนมากที่สามารถแสดงให้คุณเห็นถึงสถานะการทำงานของฮาร์ดดิสก์ได้ แต่หากไม่ต้องการใช้โปรแกรมอื่นๆ ที่ต้องไปหาเพิ่มเติมมา ระบบปฏิบัติการวินโดว์สเองก็มียูทิลิตี้ให้ใช้งานได้ โดยมีชื่อว่า Windows Scandisk (คลิกปุ่ม Start -> All Programs -> Accessories -> System Tools) หรือโปรแกรม CHKDSK (Check Disk) เดิมนั่นเอง

สำหรับการใช้งาน CHKDSK ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. ที่หน้าเดสก์ทอป คลิกปุ่ม Start -> Run
2. พิมพ์คำสั่ง command ในช่อง run แล้วคลิกปุ่ม OK หรือกดปุ่ม [Enter]
3. ในหน้าต่าง DOS ให้พิมพ์คำสั่ง chkdsk แล้วกดปุ่ม [Enter]
4. หลังจากที่มีการสแกนฮาร์ดดิสก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว CHKDSK จะแสดงรายงานให้ทราบ ให้มองหาคำว่า “bad sectors” ที่อยู่ในรายงาน ซึ่งจะมีตัวเลขแสดงพื้นที่ที่เสียหายระบุไว้
หากมีพื้นที่ที่เสียหายอยู่บนฮาร์ดดิสก์ CHKDSK สามารถที่จะซ่อมแซมพื้นที่ดังกล่าวนั้น โดยการปิดกั้นไม่ให้เข้าไปใช้งานพื้นที่ดังกล่าวอีก ซึ่งวิธีการสั่งให้ทำการแก้ไขนั้น ให้พิมพ์คำสั่ง “chkdsk/f”
เมื่อ CHKDSK แสดงหน้าต่างรายงานผลและดูข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้พิมพ์คำสั่ง “exit” และกดปุ่ม [Enter] เพื่อกลับสู่วินโดว์ส

รู้จักกับ Clean Room
ด้วยเครื่องมือที่มีความแม่นยำสูงและสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมเป็นอย่างดี Clean Room จึงถูกปิดกั้นไว้ไม่ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้แล้ว วิศวกรที่เข้าไปทำงานใน Clean Room ก็จะต้องสวมใส่ชุดพิเศษ รองเท้า เสื้อคลุม หน้ากาก และหมวกคลุม เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นผงที่ติดอยู่บนร่างกายและเสื้อผ้าทำให้เกิดความไม่บริสุทธิ์ในพื้นที่ที่ถูกควบคุม

เพื่อให้มั่นใจว่า Clean Room มีมาตรฐานและคงความสะอาดอยู่ได้เสมอ Clean Room จึงต้องใช้มาตรฐานในระดับสากล ตัวอย่างเช่น ใบรับรอง “Class-100” ซึ่งหมายถึงการรับรองว่า จะต้องมีชิ้นส่วนของฝุ่นผงที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.5 ไมครอน ไม่เกิน 100 ชิ้นต่อพื้นที่ 1 ลูกบาศก์ฟุต ดังนั้น พื้นที่ของ Clean Room จึงต้องมีการใช้อุปกรณ์สำหรับกรองอากาศและกรองฝุ่นที่มีประสิทธิภาพสูง และเครื่องมืออื่นๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าแผ่นจานฮาร์ดดิสก์จะต้องสะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากแผ่นจานฮาร์ดดิสก์นั้นมีความไวต่อความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ

เทคนิคการป้องกันการสูญเสียข้อมูล
1. ไม่ควรปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ในทันทีทันใด แต่ให้ปิดเครื่องโดยใช้เครื่องมือของวินโดว์ส (Start -> Turn Off Computer)
2. เพื่อป้องกันความเสียหายของฮาร์ดดิสก์ที่อาจจะเกิดขึ้น ให้ระมัดระวังการเคลื่อนย้ายที่อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เช่น หากคุณเปิดใช้งานโน้ตบุ๊กอยู่และต้องมีการเคลื่อนที่ ให้ค่อยๆ เคลื่อนด้วยความระมัดระวัง
3. ทำการรันยูทิลิตี้ Windows Disk Defragmenter อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ซึ่งจะทำให้สามารถกู้ข้อมูลที่เสียหายคืนมาได้ง่ายขึ้น
4. หากฮาร์ดดิสก์เกิดความเสียหาย หรือถูกฟอร์แมตโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่าเพิ่งทำการคัดลอกไฟล์ใดๆ หรือทำการติดตั้งโปรแกรมลงไป ไม่เช่นนั้นแล้ว การกู้ข้อมูลกลับมาจะทำได้ยากขึ้น
5. ติดตั้งโปรแกรมสำหรับการป้องกันข้อมูลเสียหายไว้ล่วงหน้า ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้จะทำการคัดลอกพื้นที่ System Area เก็บไว้ จะทำให้สามารถกู้ข้อมูลที่เสียหายคืนมาได้ง่ายขึ้น
6. หากคอมพิวเตอร์ไม่สามารถตรวจสอบพบฮาร์ดดิสก์ หรือวินโดว์สไม่เริ่มต้นทำงาน ให้ตรวจสอบสายสัญญาณและสายไฟ ลองถอดและต่อเข้าไปใหม่อีกครั้ง
7. ห้ามเปิดหรือถอดส่วนประกอบใดๆ ของฮาร์ดดิสก์ เพราะฝุ่นผงอาจเข้าไปทำลายฮาร์ดดิสก์ได้
8. ห้ามวางอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสนามแม่เหล็กหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่มีแม่เหล็กเป็นส่วนประกอบ (เช่น ลำโพง) ใกล้กับฮาร์ดดิสก์
9. ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสเพื่อป้องกันความเสียหายของข้อมูล
10. ทำการแบ็กอัพข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์เก็บไว้ในแผ่นซีดีหรือฮาร์ดดิสก์ตัวอื่นด้วย โดยแนะนำให้ทำการแบ็กอัพข้อมูลเอกสารที่จำเป็นอยู่เป็นประจำ
11. ปัญหาในเรื่องของกระแสไฟฟ้าอาจทำให้ข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์สูญหายได้ ให้ใช้อุปกรณ์สำหรับการป้องกันไฟตกหรือไฟกระชากเช่น UPS ที่มีวงจรป้องกัน
12. เลือกซื้อโน้ตบุ๊กที่มีระบบป้องกันการกระแทกฮาร์ดดิสก์ด้วย
13. รันยูทิลิตี้ Windows Scan Disk อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งเพื่อตรวจสอบพื้นที่เสียหายบนฮาร์ดดิสก์

****************
ขอขอบคุณกองบรรณาธิการนิตยสาร CHIP ที่ส่งบทความดี ๆ นี้มาแบ่งปันกัน


บันทึกการเข้า

Ce_ Hp - Compaq , Acer , Samsung
เมื่อวานกับวันนี้  Support LCD - LCD TV - CRT ทั่วประเทศ 
               ทั้งในประกันและหมดประกันแล้ว
อยู่ในประกันแค่Good มันไม่พอต้อง Best เท่านั้น
                สรุปอยู่ที่ตอนจบ..ไม่ใช่วิธีการ... 
ซ่อมเครืองเก่าหมดประกันเอาแค่ Good ก็พอไม่ต้องถึง Best ก็ได้

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: