ทีดีอาร์ไอ เผย เปิดเออีซี สิงคโปร์ได้เปรียบสุด เพราะเป็นประเทศที่เปิดเสรีด้านการลงทุน และเน้นการลงทุนด้านบริการ ส่วนไทยมีสิทธิ์เหลว หากมัวแต่เน้นภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ต้องเสริมด้านบริการอย่างเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : มายาคติ ความเป็นจริง โอกาสและความท้าทาย) ว่า การเผยแพร่ข่าวของสื่อเกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พ.ศ. 2558 เป็นเพียงมายาคติที่สร้างขึ้นเท่านั้น เพราะเออีซี ไม่ได้มีข้อผูกพันเหมือนข้อตกลงแบบการค้าเสรี (เอฟทีเอ) แต่อย่างใด เป็นเพียงแค่แผนการดำเนินงาน เพื่อกำหนดทิศทางเท่านั้น นอกจากนี้ เออีซี ยังขาดข้อกำหนดเกี่ยวกับประเด็นบทลงโทษข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยกันอีกด้วย จึงบ่งชี้ได้ว่า เป็นประชาคมที่เน้นแต่แผนงานเป็นหลัก
ทั้งนี้ เป้าหมายของเออีซี เน้นในเรื่องการเปิดเสรีด้านการค้าและการบริการ โดยเน้นในด้านการบริการโทรคมนาคม สุขภาพ การท่องเที่ยวและขนส่งทางอากาศเป็นหลัก พร้อมกับระบุว่า ต้องเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2553 ส่วนการเปิดเสรีการค้าบริการด้านโลจิสติกส์ และบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากนี้ ต้องอยู่ที่ร้อยละ 51 ภายในปี 2553 อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากการปฏิบัติงานจริง ๆ แล้ว ไทยไม่สามารถปฎิบัติตามกรอบสาขาได้ เพราะต่างชาติสามารถถือหุ้นได้เพียงร้อยละ 49 เท่านั้น ต่างจากสิงคโปร์ที่เปิดให้ถือหุ้นอย่างเสรี
ขณะที่การเติบโตของการลงทุนในอาเซียนด้านบริการในช่วงหลัง จะมีอัตราเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.06 เป็นร้อยละ 65.7 ในปี 2552-2553 อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของชาติอาเซียนและไทยมีผลตรงข้ามกับการเติบโต ยกเว้นสิงคโปร์ ซึ่งจุดนี้เอง ทำให้การเปิดเสรีอาเซียน พ.ศ. 2558 เป็นไปได้ยากมาก เพราะทุกอย่างจะไปกระจุกตัวที่สิงคโปร์มากที่สุด
ด้วยเหตุนี้เอง นายเดือนเด่น จึงเสนอแนะว่า ถ้าหากไทยต้องการปรับตัวเข้ากับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ ต้องเปิดเสรีในภาคบริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เช่น โทรคมนาคม พลังงาน การเงิน การขนส่ง มากขึ้น ไม่ใช่เน้นในด้านอุตสาหกรรม ที่ต่างชาติเข้ามาทำธุรกรรมได้ยากเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ต้องปรับปรุงที่กฎหมายของไทยด้วย
http://www.leksound.net/UBMTHAI/?p=3469