เคล็ดวิชาดูจิต โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เคล็ดวิชาดูจิต โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท  (อ่าน 1267 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: เมษายน 21, 2011, 10:07:43 pm »

เคล็ดวิชาดูจิต
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท



การ ศึกษาธรรมะในทางพระพุทธศาสนานั้น เราศึกษาไปเพื่อหาทางพ้นทุกข์ เพื่อความสงบสุขเป็นจุดสำคัญ จะศึกษาเรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องจิต เรื่องเจตสิกก็ตาม ก็เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์เท่านั้น จึงจะถูกทาง มิใช่อย่างอื่น

สิ่งเหล่านี้ถ้าเราเข้าใจเสียว่า มันจะเป็นจิตก็ช่างมันเถอะ เมื่อมันนิ่งอยู่อย่างนี้ก็คือเป็นปกติของมัน ถ้าว่ามันเคลื่อนปุ๊บก็เป็นสังขารแล้ว มันจะเกิดยินดีก็เป็นสังขาร มันจะเกิดยินร้ายก็เป็นสังขาร มันอยากจะไปโน่นไปนี่ก็เป็นสังขาร ถ้าเราไม่รู้เท่าสังขาร ก็วิ่งตามมันไป เป็นไปตามมัน

เมื่อจิต เคลื่อนเมื่อใด ก็เป็นสมมติสังขารเมื่อนั้น ท่านจึงให้พิจารณาสังขาร คือ จิตมันเคลื่อนไหวนั่นเอง เมื่อมันเคลื่อนออกไปก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เมื่อ ผู้รู้ รู้ตามความเป็นจริงของจิต หรือเจตสิกเหล่านี้ จิตก็ไม่ใช่เรา สิ่งเหล่านี้มีแต่ของทิ้งทั้งหมด ไม่ควรเข้าไปยึด ไปหมายมั่นทั้งนั้น

เหมือน กับตะเกียงเป็นตัวผู้รู้ แสงสว่างของตะเกียง มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน มันเกิดจากผู้รู้อันนี้ ถ้าจิตนี้ไม่มี ผู้รู้ก็ไม่มีเช่นกัน มันคืออาการของพวกนี้

ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้รวมแล้วเป็นนามหมด ท่านว่าจิตนี้ก็ชื่อว่าจิต มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล มิใช่ตัว มิใช่ตน มิใช่เรา มิใช่เขา ธรรมนี้ก็สักว่าธรรม มิใช่ตัวตนเราเขา ไม่เป็นอะไร ท่านให้เอาที่ไหน เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นขันธ์ห้า ท่านให้วาง

สิ่งทั้งหลาย ที่จิตคิดไปทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นสังขารทั้งหมด เมื่อรู้แล้วท่านให้วาง เมื่อรู้แล้วท่านให้ละ ให้รู้สิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ทุกข์ ก็ไม่วางสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อรู้ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นของหลอกลวง สมกับที่พระศาสดาตรัสว่า จิตนี้ไม่มีอะไร ไม่เกิดตามใคร ไม่ตายกับใคร จิตเป็นเสรี รุ่งโรจน์โชติการ ไม่มีเรื่องราวต่างๆ เข้าไปอยู่ในที่นั้น ที่จะมีเรื่องราวก็เพราะมันหลงสังขารนี่เอง หลงอัตตานี่เอง

พระ ศาสนดาจึงให้มองดูจิตของเรา เบื้องแรกมันมีอะไร ไม่มีอะไรจริงๆ สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดด้วย มิได้ตายด้วย ถูกอารมณ์ดีมากระทบก็มิได้ดีด้วย ถูกอารมณ์ร้ายมากระทบก็มิได้ร้ายไปด้วย เพราะรู้ตัวของตัวอย่างชัดเจน

รู้ว่าสภาวะเหล่านั้นไม่เป็นแก่นสาร ท่านเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ตัว ผู้รู้นี้ รู้ตามความเป็นจริง ผู้รู้มิได้ดีใจไปด้วย มิได้เสียใจไปด้วย อาการที่ดีใจไปด้วยนั่นแหละเกิด อาการที่เสียใจไปด้วยนั่นแหละตาย ถ้ามันตายก็เกิด ถ้ามันเกิดก็ตาย ตัวที่เกิดที่ตายนี่แหละ เป็นวัฏฏะ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่หยุด

เมื่อจิตผู้ปฏิบัติเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องสงสัย ภพมีไหน ชาติมีไหม ไม่ต้องถามใคร พิจารณาอาการสังขารเหล่านี้แล้วจึงได้ปล่อยวางสังขาร วางขันธ์เหล่านี้ เป็นเพียงผู้รับทราบไว้เฉยๆ มันจะดีขึ้นมา ท่านก็ไม่ดีกับมัน เป็นคนดูอยู่เฉยๆ ถ้ามันร้ายขึ้นมา ท่านก็ไม่ร้ายกับมัน เพราะมันขาดจากปัจจัยแล้ว

เมื่อรู้ตามความเป็นจริง ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดไม่มี

เมื่อ ถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจมากระทบ มันก็เกิดเป็นอาการขึ้นกับใจเรา เราติดมันไหม เราวางมันได้ไหม อาการที่ไม่ชอบใจนั้นเกิดขึ้นมา เรารู้แล้ว ผู้รู้เอาความไม่ชอบไว้ในใจหรือเปล่า หรือว่าเห็นแล้ววาง ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจแล้วยังเอาไว้ในใจของเรา ให้เรียนใหม่ เพราะยังผิดอยู่ ยังไม่ยิ่ง ถ้ามันยิ่งแล้วมันวาง ให้ดูอย่างนี้

เรื่อง การปฏิบัตินี้จึงสำคัญมาก ดูผู้รู้นี่แหละ ถ้ามันคิดชัง ทำไมถึงชัง ถ้ามันรัก ทำไมถึงรัก จะเป็นจิตหรือเจตสิกก็ไม่รู้ จึ้เข้าตรงนี้ จึงแก้เรื่องที่มันรักหรือชังนั่น ให้หายออกจากใจได้ จะเป็นอะไรก็ตาม ถ้าทำจิตให้หยุดรักหรือหยุดชังได้ จิตก็พ้นจากทุกข์แล้ว จะเป็นอะไรก็ช่าง มันสบายแล้ว ไม่มีอะไร มันก็หยุด

เมื่อ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เกิดขึ้นมาบ่อยๆ ได้พิจารณาบ่อยๆ ด้วยอาการที่เราตั้งใจมิได้เผลอ จึงรู้อาการของสิ่งเหล่านี้ว่า มันเกิดตามความเป็นจริงของมัน เมื่อรู้เรื่อยๆ ไป ก็เกิดปัญญา เมื่อรู้ตามความเป็นจริง ตามสภาวะของมัน สัญญาจะหลุด เลยกลายเป็นตัวปัญญา จึงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา รวมเป็นอันเดียวกัน

ถ้าปัญญากล้าขึ้น ก็อบรมสมาธิให้มั่นขึ้นไป เมื่อสมาธิมั่นขึ้นไป ศีลก็มั่นก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อศีลสมบูรณ์ขึ้น สมาธิก็กล้าขึ้นอีก เมื่อสมาธิกล้าขึ้น ปัญญาก็กล้ายิ่งขึ้น สามอย่างนี้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน

ต้นกะบกต้นนี้ใบเป็นอย่างไร หยิบมาดูใบเดียวเท่านั้นก็เข้าใจได้แล้ว มันมีสักหมื่นใบก็ช่างมัน ใบกะบกเป็นอย่างนี้ ดูใบเดียวเท่านี้ ใบอื่นก็เหมือนกันหมด ถ้าจะดูลำต้นกะบกต้นอื่น ดูต้นเดียวก็จะรู้ได้หมด ดูต้นเดียวเท่านั้น ต้นอื่นก็เหมือนกัน ถึงมันจะมีแสนต้นก็ตาม เข้าใจต้นเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว

ศีล ก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี สิ่งทั้งสามประการนี้ท่านเรียกว่ามรรค อันมรรคนี้ยังมิใช่ศาสนา อีกซ้ำยังไม่ใช่สิ่งที่พระศาสดาต้องการอย่างแท้จริง แต่เป็นหนทางที่จะดำเนินเข้าไป เหมือนที่ท่านมาจากกรุงเทพฯ จะมาวัดหนองป่าพง ท่านคงไม่ต้องการหนทาง ท่านต้องการถึงวัดต่างหาก แต่หนทางเป็นสิ่งจำเป็นแก่ท่านที่จะต้องมา

ฉะนั้น ถนนที่ท่านมานั้น มันไม่ใช่วัด มันเป็นเพียงถนนมาวัดเท่านั้น แต่ก็จำเป็นต้องมาตามถนน จึงจะมาถึงวัดได้ ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ถ้าจะพูดว่านอกศาสนา แต่ก็เป็นถนนเข้าไปถึงศาสนา

เมื่อคราวปฏิบัติ นั้น มีความสงสัยอยู่ว่า สมาธิเป็นอย่างไรหนอ คิดหาไป นั่งสมาธิไป จิตยิ่งฟุ้ง ยิ่งคิดมาก เวลาไม่นั่งค่อยยังชั่ว แหม มันยากจริงๆ ถึงยากก็ทำไม่หยุด ทำอยู่อย่างนั้น ถ้าอยู่เฉยๆ แล้วสบาย เมื่อตั้งใจว่าจะทำให้จิตเป็นหนึ่งยิ่งเอาใหญ่ มันยังไงกัน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้

ต่อมาจึงคิดได้ว่า มันคงเหมือนลมหายใจเรานี้กระมัง ถ้าว่าจะตั้งให้หายใจน้อย หายใจใหญ่ หรือให้มันพอดี ดูมันยากมาก แต่เวลาเดินอยู่ ไม่รู้ว่าหายใจเข้าออกตอนไหน ในเวลานั้นดูมันสบายแท้ จึงรู้เรื่องว่า อ้อ อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เวลาเราเดินไปตามปกติมิได้กำหนดลมหายใจ มีใครเคยเป็นทุกข์ ถึงลมหายใจไหม ? ไม่เคย มันสบายจริงๆ

ถ้าจะไปนั่งตั้งใจเอาให้มันสงบ มันก็เลยเป็นอุปทานยึดใส่ ตั้งใส่ หายใจสั้นๆ ยาวๆ เลยไม่เป็นอันกำหนด จิตเกิดมีทุกข์ยิ่งกว่าเก่า เพราะอะไร ? เพราะความตั้งใจของเรากลายเป็นอุปทานเข้าไปยึด เลยไม่รู้เรื่อง มันลำบาก เพราะว่าเราเอาความอยากเข้าไปด้วย

สมาธิไม่ต้องเท่าไหร่ ดูอาการภายนอกเลย ดูเหตุผล พิจารณาเรื่อยไป เราเอาความสงบนี้มาพิจารณา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบ แม้จะดี จะชั่ว สุข ทุกข์ ทั้งหลายทั้งปวง

เหมือนกับคนขึ้นต้นมะม่วงแล้วเขย่าลูกหล่นลงมา เราอยู่ใต้ต้นมะม่วงคอยเก็บเอา ลูกไหนเน่าเราไม่เอา เอาแต่ลูกที่ดีๆ ไม่เปลืองแรง เพราะว่าไม่ได้ขึ้นต้นมะม่วง คอยเก็บอยู่ข้างล่างเท่านั้น

ข้อ นี้หมายความว่าอย่างไร อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดมา เอาความรู้มาให้เราหมด มิได้ไปปรุงแต่งมัน ลาภ ยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ มันมาเอง เรามีความสงบ มีปัญญา สนุกเฟ้น สนุกเลือกเอา ใครจะว่าดี ว่าชั่ว ว่าร้าย ว่าโน่นว่านี่ ต่างๆ นานา ล้วนแล้วแต่เป็นกำไรของเราหมด เพราะมีคนเขย่าให้มะม่วงหล่นลงมา เราก็สนุกเก็บเอา ไม่กลัว จะกลัวทำไม มีคนขึ้นเขย่าลงมาให้เรา ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ทั้งหลายทั้งปวง เหล่านี้เปรียบเหมือนมะม่วงหล่นลงมาหาเรา เราเอาความสงบมาพิจารณาเก็บเอา

เรารู้จักแล้ว ลูกไหนดี ลูกไหนเน่า เมื่อเริ่มพิจารณาสิ่งเหล่านี้ อาการที่พิจารณาออกจากความสงบเหล่านี้ เรียกว่าปัญญา เป็นวิปัสสนา ไม่ได้แต่งมัน ถ้ามีปัญญา มันเป็นของมันเอง ไม่ต้องไปตั้งชื่อมัน

ถ้า มันรู้แจ้งน้อย ก็เรียกว่า วิปัสสนาน้อย ถ้ามันรู้อีกขนาดหนึ่ง ก็เรียกว่า วิปัสสนากลาง ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริง ก็เรียกว่า วิปัสสนาถึงที่สุด

เมื่อ เราทำไปถึงขั้นนี้แล้ว เราก็ปล่อยตามบุญวาสนาบารมีของเรา แต่เราไม่หยุดทำความเพียร จะช้าหรือเร็ว เราบังคับไม่ได้ เหมือนปลูกต้นไม้ มันจะรู้จักของมัน มันอยากเร็วก็รู้ว่ามันหลง มันอยากช้าก็รู้ว่ามันหลง เมื่อทำแล้วมันจึงเกิดผลขึ้นมา เหมือนเราปลูกต้นไม้ เช่น ปลูกพริกต้นนี้ หน้าที่ของเราคือขุดหลุมปลูก ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ป้องกันแมลงให้มันเท่านั้น นี่เรื่องของเรา นี่เรื่องศัทธาของเรา ส่วนต้นพริกจะโตก็เป็นเรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา จะไปดึงให้มันยืดขึ้นมาก็ไม่ได้ ผิดเรื่อง เราต้องให้น้ำ เอาปุ๋ยใส่ให้

ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ก็จะสบาย จะถึงชาตินี้ก็ช่าง ถึงชาติหน้าก็ตาม เรามีศรัทธาอย่างนี้แล้ว มีความรู้สึกแน่นอนแล้วอย่างนี้ จะเร็วหรือช้านั้น เป็นเรื่องของบุญวาสนาบารมีของเรา ทีนี้ก็รู้สึกสบาย เหมือนขับรถม้า ก็มิได้เอารถไปก่อนม้า แต่ก่อนมันเอารถไปก่อนม้า ถ้าไถนาก็เดินก่อนควาย หมายความว่าใจมันเร็วมาก ร้อนมาก ทีนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เดินก่อน ต้องเดินตามหลังควาย

ถ้าเอาน้ำให้กิน เอาปุ๋ยให้กิน กินไปเถอะ มดปลวกมาข้าจะไล่ให้เจ้า เท่านั้แหละต้นพริกต้นนี้มันก็จะงามขึ้นเอง เมื่อมันงามแล้วเราจะบังคับว่า แกต้องเป็นดอกเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เรื่องของเรา อย่าทำ เราจะเป็นทุกข์เปล่าๆ มันจะเป็นของมันเอง เมื่อมันเป็นดอกแล้ว เราจะให้เป็นเม็ดเดี๋ยวนี้ อย่าไปบังคับมัน ทุกข์จริงๆ นา ทุกข์จริงๆ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เรารู้จักหน้าที่ของเรา ของเขา หน้าที่ของใครของมัน

จิต ก็จะรู้หน้าที่การงาน ถ้าจินไม่รู้หน้าที่การงาน ก็จะไปบังคับต้นพริกให้มีผลในวันนั้นเอง ให้มันโตเป็นดอกเป็นผลขึ้นในวันนั้น นั่นล้วนแต่เป็นตัวสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมาทั้งนั้น ถ้ารู้อย่างนี้ คิดอย่างนี้ รู้ว่ามันหลง มันผิด รู้อย่างนี้แล้วก็ปล่อย ให้เป็นเรื่องบุญวาสนาบารมีต่อไป เราทำของเราไป ไม่ต้องกลัวว่าจะนาน ร้อยชาติ พันชาติก็ช่างมัน จะชาติไหนก็ตาม ปฏิบัติสบายๆ นี่แหละ

พวกญาติโยมถึงปฏิบัติอยู่บ้าน ก็พยายามให้มีศีล 5 กาย วาจา ของเราพยามให้เรียบร้อย พยายามดีๆ เถอะ ค่อยทำค่อยไป

การ ทำสมถะนี่ อย่านึกว่าไปทำครั้งหนึ่งสองครั้งแล้ว มันไม่สงบก็เลยหยุด ยังไม่ถูก ต้องทำนานอยู่นะ ทำไมถึงนาน คิดดูสิเราปล่อยมากี่ปี เราไม่ได้ทำ มันว่าไปทางโน้นก็วิ่งตามมัน มันว่าไปทางนี้ก็วิ่งตามมัน ทีนี้จะหยุดให้มันอยู่เท่านี้ เดือนสองเดือนจะให้มันนิ่ง มันก็ยังไม่พอ คิดดูเถิด

การปฏิบัตินั้นให้พยายามทำ มันจะสงบหรือไม่สงบก็ช่าง ปล่อยไว้ก่อน เราเรื่องเราปฏิบัติเป็นเรื่องแรก เอาเรื่องเราได้สร้างเหตุนี้แหละ ถ้าทำแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรก็ได้ เราได้ทำแล้ว อย่ากลัวว่าจะไม่ได้ผล มันไม่สงบ เราได้ทำแล้ว ถ้าจะนั่งสมาธิ อย่าคิดมาก ถ้าอยากให้มันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ หยุดดีกว่า

เวลา นั่งสมาธิเราตั้งใจว่า “เอาละ จะเอาให้มันแน่ๆ ดูที” เปล่า ! วันนั้นไม่ได้เรื่องเลย แต่คนเราชอบทำอย่างนั้น บางคืนพอเริ่มนั่งก็นึกว่า เอาละวันนี้อย่างน้อยตีหนึ่งจึงจะลุก คิดอย่างนี้ไม่นานหรอก เวทนามันรุมเอาเกือบตาย

มันจะดีเวลานั่งโดย ไม่ต้องกะต้องเกณฑ์ ไม่มีที่จุดที่หมาย ทุ่มหนึ่ง สองทุ่ม สามทุ่ม ก็ช่างมัน นั่งไปเรื่อยๆ วางเฉยไว้ อย่าบังคับมัน อย่าไปหมายมั่น อย่าไปบังคับหัวใจว่า จะเอาให้มันแน่ๆ มันก็ยิ่งไม่แน่ ให้เราวางใจสบายๆ หายใจก็ให้พอดี อย่าเอาสั้น เอายาว อย่าไปแต่งมัน กายก็ให้สบาย ทำเรื่อยไป

มันจะถาม เราว่า จะเอากี่ทุ่ม จะเอานานเท่าไหร่ มันมาถามเรื่อย เราต้องตวาดมัน "เฮ้ย อย่ามายุ่ง" ต้องปราบมันไว้เสมอ เพราะพวกนี้มีแต่กิเลส มากวนทั้งนั้น อย่าเอาใจใส่มัน ต้องตัดมันไว้อย่างนี้ แล้วเราก็นั่งเรื่อยไป ตามเรื่องของเรา วางใจสบาย ก็เลยสงบ

ถ้าเราทำภาวนา อย่าให้กิเลตัณหามันรู้เงื่อนรู้ปลายได้

จิต ของเราก็เหมือนควาย อารมณ์คือต้นข้าว ผู้รู้ก็เหมือนเจ้าของ ควายจะต้องกินต้นข้าว ต้นข้าวเป็นของที่ควายจะกิน เวลาเราไปเลี้ยงควาย ทำอย่างไร ปล่อยมันไป แต่เราพยายามดูมันอยู่ ถ้ามันเดินไปใกล้ต้นข้าว เราก็ตวาดมัน ควายได้ยินก็จะถอยออก แต่เราอย่าเผลอนะ ถ้ามันดื้อไม่ฟังเสียง ก็เอาไม้ค้อนฟาดมัน มันจะได้กินต้นข้าวหรือ แต่เราอย่าไปนอนหลับกลางวันก็แล้วกัน ถ้าขืนนอนหลับ ต้นข้าวหมดแน่ๆ

เรา การปฏิบัติก็เช่นกัน เมื่อเราดูจิตของเราอยู่ ผู้รู้ดูจิตเจ้าของ ผู้ใดที่ตามดูจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงมาร จิตอันหนึ่ง ผู้รู้อันหนึ่ง รู้ออกมาจากจิตนั่นแหละ ผู้รู้จะตามดูจิต ผู้รู้นี้จะเกิดปัญญา จิตนั้นคือความนึกคิด ถ้าพบอารมณ์นั้นก็แวะไป ถ้าพบอารมณ์อีกมันก็แวะไปอีก มันเข้าจับทันที เหมือนกับควายนั่นแหละ

เมื่อมันเข้าจับ ผู้รู้ต้องสอนต้องพิจารณา จนมันทิ้ง อย่างนี้จึงสงบได้ จับอะไรมาก็มีแต่ของไม่น่าเอา มันก็หยุดเท่านั้น มันก็ขี้เกียจเหมือนกัน เพราะมีแต่ถูกด่าถูกว่าเสมอ ทรมานมันเข้า ทรมานเข้าไปถึงจิต หัดมันอยู่อย่างนี้แหละ

เขาว่าเราทำผิด แต่เราไม่ผิดดังเขาว่า เขาพูดไม่ถูก ก็ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไม เพราะเขาพูดไม่ถูกตามความจริง ถ้าเราผิดดังเขาว่า ก็ถูกดังเขาว่าแล้ว ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไมอีก ถ้าคิดได้ดังนี้ รู้สึกว่าสบายจริงๆ มันเลยไม่มีอะไรผิด ล้วนแต่เป็นธรรมทั้งหมด อาตมาปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้มันลัดตรงจริงๆ

เราจะไม่เอาใจใส่ทั้งความสุข และความทุกข์ จะวางมัน สัมมาปฏิปทา ต้องเดินสายกลาง สงบจากความสุข ความทุกข์ ความดีใจ เสียใจ นี้คือลักษณะปฏิบัติ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้แล้ว หยุดได้ หยุดถามได้ ไม่ต้องไปถามใคร

ต้องเป็นผู้ละ พูดจาน้อย มักน้อย เป็นคนละทิฏฐิมานะทั้งหลายทั้งปวง คนพูดผิดก็ฟังได้ คนพูดถูกก็ฟังได้หมด

ดู จิตดูใจเรา คล้ายๆ กับว่า จิตมันวางเป็นปกติ ถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติ เช่น มันคิดมันนึกต่างๆ นั่นเป็นสังขาร สังขารนี้มันจะปรุงเราต่อไป ระวังให้ดี ให้มันรู้ไว้ ถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติแล้ว ไม่เป็นสัมมาปฏิปทาหรอก

อาตมา เห็นว่าจิตนี้เหมือนกับจุดๆ เดียวเท่านั้น อันที่เรียกว่าเจตสิกนั่นเป็นแขก แขกมาพักอยู่ตรงนี้ คนนั้นมาเยี่ยมเราบ้าง คนโน้นมาเยี่ยมเราบ้าง มาพักอยู่ตรงนี้ เราจึงเรียกพวกนั้น ที่ออกจากจิตของเรามา เป็นเจตสิกหมด

ทีนี้เรา มาทำจิตของเราให้เป็นผู้รู้ ตื่นอยู่ คอยรักษาจิตของเราอยู่ ถ้าแขกมาเมื่อไหร่ โบกมือห้าม มันจะมานั่งที่ไหน มีที่นั่งที่เดียวเท่านั้น เราก็พยายามรับแขกอยู่ตรงนี้ตลอดวัน พูดถึงอาคันตุกะ แขกที่จรมาปรุงมาแต่งต่างๆ นานา ให้เราเป็นไปตามเรื่องของมัน อาการของจิตที่เป็นไปตามเรื่องของมัน

นี่ แหละเรียกว่า เจตสิก มันจะเป็นอะไร จะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้จักอาคันตุกะที่มาพัก ที่รักแขกมีเก้าอี้ตัวเดียวเท่านั้นเอง เราเอาผู้หนึ่งไปนั่งไว้แล้ว มันก็ไม่มีที่นั่ง มันมาที่นี่ มันก็จะมาพูดกับเรา ครั้งนี้ไม่ได้นั่ง ครั้งต่อไปก็จะมาอีก มาเมื่อไหร่ก็พบแต่ผู้นี้นั่งอยู่ ไม่หนีสักที มันจะทนมากี่ครั้ง ไฟอยู่บ้านเขา ไปจับมันก็ร้อน ไฟอยู่บ้านเรา ไปจับมันก็ร้อนเหมือนกัน

ถาม ผมได้พากเพียรอย่างหนักในการปฏิบัติกรรมฐาน แต่ยังไม่มีที่ท่าว่าจะได้ผลคืบหน้าเลย

ตอบ เรื่องนี้สำคัญมาก อย่าพยายามที่จะเอาอะไรๆ ในการปฏิบัติ ความอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้นหรือรู้แจ้งนั้นจะเป็นความอยากที่ขวางกั้นท่าน ก็ได้ จะเร่งความเพียรทั่งกลางคืนกลางวันก็ได้ แต่ถ้าการฝึกปฏิบัตินั้นยังประกอบด้วยความที่อยากจะบรรลุเห็นแจ้งแล้ว ท่านจะพบความสงบไม่ได้เลย แรงอยากจะเป็นเหตุให้เกิดความสงสัยและความกระวนกระวายใจ ไม่ว่าท่านจะฝึกปฏิบัตินานเท่าใดหรือนานสักเพียงใด ปัญญา (ที่แท้) จะไม่เกิดขึ้นจากความอยากนั้น ดังนั้นจงเพียงแต่ละความอยากเสีย จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติแต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุถึงอะไร อย่ายึดมั่นถือมั่นแม้ในเรื่องการฝึกปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง


ขอบพระคุณลุงเอ มากๆครับ สำหรับธรรมะดีๆ จากหลวงปู่ชา


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: