แต่เดิมมาคนไทยนับวันเดือนปีตามแบบจันทรคติ
และถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็น "วันเปลี่ยนปีนักษัตร”
ตามแบบจุลศักราช
ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปก็ยังยึดถือประเพณี
ที่จะกำหนดให้วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันตรุษไทย
คือสิ้นปีส่วน “วันขึ้นปีใหม่” ยังไม่ปรากฏเป็นคำเรียกขาน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว
มีพระราชดำริว่า การนับวัน เดือน ปี ตามจันทรคตินั้น
มีความยากลำบากเนื่องจากวัฏจักรการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ไม่แน่นอน
มักคลาดเคลื่อนยากแก่การจดจำ
ดังนั้นเมื่อทางราชการจะใช้การนับวันเดือน ปี ตามสุริยคติเป็นเกณฑ์
ก็ควรจะกำหนดให้วันที่ ๑ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นเดือน
เป็นวันขึ้นปีใหม่ เผอิญในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ นั้น วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑ เมษายน
จึงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศว่า วันที่ ๑ เมษายน
เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติครั้งแรกของไทย
เริ่มมีการส่งบัตร ส.ค.ส. อวยพรความสุขกันภายในหมู่ข้าราชสำนัก
ตลอดจนหมู่ขุนนางชั้นสูงตามแบบอย่างกระแสวัฒนธรรมทางตะวันตก
การส่งการ์ดอวยพรปีใหม่ทุกวันที่ ๑ เมษายนของทุกปี
ดำเนินมาตลอดรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๘๓ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
(จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น)
ได้มีพระบรมราชโองการประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของไทย
จากวันที่ ๑ เมษายน เป็น ๑ มกราคม ตามแบบอารยประเทศ
โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นไป
การมอบ ส.ค.ส. อวยพรความสุขแก่กันในหมู่ชาวไทย
จึงเปลี่ยนมาเป็นวันที่ ๑ มกราคมแทน
นอกจากนี้ วันที่ ๑ มกราคม ยังมีระยะเวลาใกล้กับวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย
ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนปีของคนไทยแต่ดั้งเดิมมา
ท่านที่ต้องการข้อมูลเรื่องนี้อย่างละเอียด
โปรดอ่านหนังสือวันก่อนคืนเก่า ของ ส. พลายน้อย
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”