ลองศึกษาหลักการทำงานของส่วนต่างดูอาจวิเคราะห์ปัญหาได้ Drum : ดรัม ถือเป็นหัวใจของระบบเลยทีเดียว เคลือบด้วยชั้นของสารที่นำแสง ( photoconductive material ) เช่น เซเลเนียม เจอร์มาเนียม หรือ ซิลิคอน สารเหล่านี้อย่างเช่น เซเลเนียมมีคุณสมบัติพิเศษหรือแปลกๆคือ สามารถนำไฟฟ้าได้ภายใต้สภาวะการณ์หนึ่งแต่จะไม่นำไฟฟ้าภายในอีกสภาวะการณ์หนึ่ง ในความมืดมันจะกลายเป็นฉนวน ( insulator) จะต้านทานการไหลของอิเลคตรอนจากอะตอมหนึ่งไปอีกอะตอมหนึ่งหรืออะตอมอื่นๆ แต่เมื่อมีแสงมาตกกระทบบนสารนี้ที่เคลือบอยู่บนดรัม มันจะช่วยปลดปล่อยอิเลคตรอนและทำให้เกิดการไหลของกระแสไฟฟ้าได้ อิเลคตรอนที่มีประจุลบนี้จะเป็นตัวที่ทำให้ประจุไฟฟ้าบวกที่อยู่บนผิวหน้าของดรัมสลายตัวกลายเป็นกลางทางไฟฟ้า
Corona Wires : เพื่อจะให้เครื่องถ่ายเอกสารทำงานได้ จะต้องมีการสร้างสนามไฟฟ้าของประจุบวก ( positive charges) บนผิวของดรัมและกระดาษสำเนา งานนี้จึงเป็นหน้าที่ของเส้นลวดโคโรนาซึ่งทำงานภายใต้ความต่างศักย์สูง ( high voltage) ประจุที่เกิดขึ้นจะถูกส่งต่อไปยังดรัมและกระดาษสำเนาเพื่อสร้างประจุไฟฟ้าสถิต ( static electricity ) ลวดโคโรนาจะทำการเคลือบผิวของดรัมและกระดาษสำเนาด้วยไอออนบวก ( positively charged ions) ลวดเส้นหนึ่งจะถูกดึงให้ขนานกับความยาวของผิวหน้าดรัมและก่อให้เกิดไอออนบวกบนผิวของดรัม ในขณะที่ลวดอีกเส้นหนึ่งจะพาดผ่านกระดาษสำเนาและทำให้ผิวหน้ากระดาษเกิดสภาพเดียวกันในขณะที่กระดาษกำลังเคลื่อนที่เข้าหาดรัม
Lamp and lenses : การถ่ายเอกสารต้องการแหล่งกำเนิดแสงที่มีพลังงานมากพอเพื่อที่จะเร่งอิเลคตรอนให้หลุดออกจากอะตอมของสารกึ่งตัวนำที่อยู่บนผิวหน้าของดรัม ความถี่แสงที่มีพลังงานมากพอจะอยู่ในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นได้ ( visible spectrum ) มีพลังงานมาพอที่จะทำให้เกิกระบวนการนี้ได้ โดยเฉพาะในช่วงสเปกตรัมแสงสีเขียวและน้ำเงิน คลื่นแสงที่อยู่ต่ำกว่าแสงสีแดงจะมีพลังงานไม่มากพอเพราะจะมีความคลื่นมากขึ้นๆและความถี่จะค่อยๆลดลง ( พลังงานของแสงขึ้นกับความถี่แสง) ถึงแม้แสง UV หรือ ultraviolet จะมีพลังงานมากเกินพอที่จะใช้ได้แต่จะมีอันตรายมากกับดวงตาและผิวหนัง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเครื่องถ่ายเอกสารทั่วไปจึงใช้หลอดไฟธรรมดาๆ เช่นหลอด incandescent , fluorescent หรือ ไฟแฟลช ( flash light ) ซึ่งก็ยังสว่างมากเพื่อส่องไปที่ตัวเอกสารที่จะใช้ถ่าย ส่วนของเลนส์จะทำหน้าที่ย่อและขยายขนาดของสำเนาที่ได้ออกมา โดยทำการปรับระยะใกล้และไกลระหว่างเลนส์และตัวเอกสารต้นฉบับ ภาพจึงมีขนาดเล็กและใหญ่ได้
Toner : ทั่วไปอาจจะเข้าใจได้ว่า Toner เป็นหมึกแห้ง แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย หมึกนั้นเป็นสารสีที่อยู่ในรูปของเหลว ( pigmented liquid ) Toner จะเป็นอนุภาคที่ละเอียดยิบของพลาสติกหรือพูดง่ายๆว่าเป็นผงพลาสติกที่ละเอียดมากๆ และเพิ่มสารที่ให้สีดำซึ่งโดยทั่วไปก็คือคาร์บอนเข้าไปผสมกับผงพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วนี้ สารนี้จะติดกับลูกกลมๆเล็กๆคล้ายลูกปัด ( bead ) คล้ายกับลูกปิงปองที่มีผงละเอียดๆของ toner สีดำติดอยู่โดยรอบ ทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในกล่องเก็บ ( toner catridge ) เมื่อลูกกลมๆเล็กๆจำนวนมากที่เป็นประจุบวกที่มี toner ประจุลบติดอยู่กลิ้งไปบนดรัม มันจะไปถูกดูดให้ไปติดกับบริเวณที่มีประจุบวกบนดรัมที่ไม่ถูกแสงตกกระทบเพราะแสงถูกส่วนสีดำของเอกสารดูดกลืนไว้ ประจุบวกบนดรัมจะแรงกว่าประจุบวกบนลูกกลมๆที่ toner ติดอยู่ มันจึงดึง toner สีดำให้หลุดออกและไปติดอยู่บนดรัมได้ และสุดท้ายประจุบวกบนกระดาษสำเนาที่สร้างโดยลวดโคโรนาก็จะดึง toner จากดรัมให้ไปติดบนแผ่นกรดาษอีกที อนุภาคพลาสติกที่ผสมอยู่ใน toner จะเป็นตัวที่ทำให้สีสามารถติดแน่นบนกระดาษ ไม่หลุดออกไป
Fuser : กระบวนการที่ทำให้ toner ละลายติดแน่นบนกระดาษสำเนาจะเป็นหน้าที่ของ fuser หรือตัวหลอม วิธีการคือให้กระดาษที่มี toner ติดอยู่ วิ่งผ่านลูกกลิ้งสองตัวในลักษณะถูกรีดผ่านโดยมีแรงกดทับ แต่มีหลอดให้ความร้อนในแกนของลูกกลิ้งเพื่อสร้างความร้อนให้กับลูกกลิ้งเพื่อละลาย toner ที่มีผลพลาสติกผสมอยู่ toner ก็จะละลายติดแน่นบนกระดาษ เสร็จสิ้นกระบวนการถ่ายเอกสาร