คำว่า “เมรุ” (อ่านว่า เมน) หมายถึง ภูเขากลางจักรวาล
มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นที่ประทับของพระอินทร์
นอกจากนี้ มีอีกความหมาย คือ
เป็นที่เผาศพมีหลังคาเป็นยอด มีรั้วล้อมรอบด้วย
สำหรับพระมหากษัตริย์ เรียกว่า พระเมรุมาศ
พระบรมวงศานุวงศ์ เรียกว่า พระเมรุ
ส่วนสามัญชนเรียกว่า เมรุ
จากหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย”
ของสำนักพิมพ์มติชน อธิบายการสร้างเมรุหรือพระเมรุ
ว่าเกี่ยวพันถึงคติความเชื่อในสังคมไทย
ที่รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาและพราหมณ์
ทางพุทธศาสนายึดถือคติไตรภูมิ
กล่าวถึงเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม
ทางศาสนาพราหมณ์ เชื่อถือว่าพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นพระศิวะหรือพระนารายณ์แบ่งภาคลงมาบำรุงโลกมนุษย์
เมื่อสิ้นอายุขัยย่อมกลับคืนสู่สวรรค์
ความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์
ส่งผลถึงการเรียกสถานที่ตั้งพระบรมศพหรือพระศพ
เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงว่า เมรุ พระเมรุ หรือพระเมรุมาศ
เป็นการส่งพระศพและดวงวิญญาณเสด็จกลับยังเขาพระสุเมรุ
ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จดับขันธปรินิพพาน ผ่านพ้นไป ๘ วัน
ในครั้งนั้น มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน
และพระสงฆ์ มี พระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน
ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ
ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ประดิษฐานบนจิตกาธาน
คือ เชิงตะกอนที่ทำด้วยไม้แก่นจันทน์สูง ๑๒๐ ศอก
แสดงให้เห็นว่า ในสมัยพุทธกาล
ยังไม่มีการทำรูปแบบเมรุอย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน
ทั้งนี้ หลักฐานการสร้างพระเมรุในประวัติศาสตร์ไทย
มีปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยพิธีพระบรมศพ
ถือเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ของบ้านเมือง มีแบบแผนถือปฏิบัติอย่างมีระเบียบ
ความสำคัญของการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงสร้างพระเมรุมาศ
เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่
ถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตล่วงแล้ว
พิจารณาพระเดชานุภาพในการสร้างพระเมรุมาศ
สันนิษฐานว่าการสร้างพระเมรุมาศสมัยอยุธยาตอนต้น
น่าจะนำคติการสร้างมาจากขอมเป็นแบบแผน
มีการปรับปรุงแบบแผนจนมีรูปแบบศิลปะไทยในยุคหลังๆ
แสดงงานศิลปกรรมแบบอยุธยาอย่างสมบูรณ์
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยึดหลักการสร้างแบบพระเมรุมาศ
ตามตำราโบราณราชประเพณีครั้งกรุงเก่าทุกประการ
คือ ทำเป็นพระเมรุอย่างใหญ่ มีตัวพระเมรุ ๒ ชั้น
ต่างไปอยู่ภายในพระเมรุชั้นนอกที่ทำเป็นพระเมรุ
ยอดปรางค์หรือยอดรูปดอกข้าวโพด
ส่วนใหญ่เป็นไปตามแบบแผนมีต่างกันไป
ในรายละเอียดเรื่องการออกแบบตามฝีมือช่าง
สำหรับพระเมรุมาศพระบรมศพรัชกาลที่ ๔ ถือได้ว่า
เป็นพระเมรุมาศสุดท้ายที่ทำตามแบบโบราณราชประเพณี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวบ้านนิยมเผาศพบนเมรุ
เลียนแบบพิธีศพของเจ้านายและขุนนางในอดีต
เห็นได้จากการพยายามสร้างเมรุเผาศพตามวัดต่างๆ
ทั้งในเขตเมืองและชนบททั่วประเทศ
ทุกวันนี้การเผาศพบนเมรุกลายเป็นสิ่งที่แสดงฐานะ
และเชิดชูคุณงามความดีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ดังเช่นที่คณะศิษย์วัดป่าบ้านตาดร่วมกันถวายมุทิตาสักการะ
จัดสร้างเมรุให้หลวงตามหาบัวเป็นครั้งสุดท้าย
ที่มา :
http://www.khaosod.co.th/ คอลัมน์ คอลัมน์ที่ ๑๓