โดย ดร.อนุพงศ์ อวิรุทธา
(หมายเหตุ ผู้เขียนเป็นหัวหน้าสาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ติดต่อผู้เขียนได้ที่
anupong.av@spu.ac.th)
เนื่อง จากการใช้อินเตอร์เน็ต และการใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์ในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าว กระโดด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คนไทยได้มีการอ่านข่าวสารผ่านเว็บไซต์เพิ่มมากขึ้น มีการใช้อินเตอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูล หรือแม้แต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็มีสัดส่วน ที่สูงขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาจากอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ความปลอดภัยของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต
จะ เห็นได้ว่าประเด็นเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงบนอินเตอร์เน็ต และอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตพบอยู่บ่อยๆ มิจฉาชีพก็ได้หาวิธีที่แยบยลมากขึ้น เพื่อใช้เป็นกลลวงและหลอกล่อเหยื่อให้หลงเชื่อ เช่น การส่งอี-เมลที่เป็นอี-เมลปลอม (สแปม) หรือการหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัวลงแบบฟอร์ม
สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางการเงินแก่เหล่ามิจฉาชีพ
ผมขอสรุป 10 วายร้ายบนโลกออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นปี′54 ดังนี้
อันดับที่ 10
ปัญหา ใหญ่บนโลกออนไลน์เองอาจจะไม่เกิดจากปัญหาของอินเตอร์เน็ตหรือปัญหาทางด้าน เทคนิค แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากผู้ใช้เอง ซึ่งผู้ใช้มีแนวโน้มที่จะผูกตัวเองเข้ากับโลกออนไลน์มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว เริ่มมีการใช้ชีวิตและสังคมบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้ง การพูดคุย พบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ บนโลกออนไลน์ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนไป เสมือนเป็นการตัดขาดชีวิตจากโลกภายนอก ลืมวิธีการใช้ชีวิตจริงๆ ไป ซึ่งมีวิจัยจากหลายหน่วยงานได้สรุปผลออกว่าคนในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมี เพื่อนและพูดคุยกับคนไม่รู้จักบนโลกออนไลน์มากขึ้น และมีความสุขกับการสร้างตัวเองใหม่ ที่เป็นตัวละครบนโลกออนไลน์ เนื่องจากเราจะเป็นใครก็ได้บนโลกออนไลน์ แต่สิ่งนี้กลับทำให้เป็นการตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง
อันดับที่ 9
จะ ไม่มีความลับบนโลกนี้อีกต่อไป โลกของความปลอดภัยนั้นหาได้ยากบนโลกออนไลน์ ข้อมูลต่างๆ ถูกโอนถ่ายจากเว็บหนึ่งสู่เว็บหนึ่งทั้งที่เจ้าของข้อมูลรู้ตัวและไม่รู้ตัว การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลสามารถทำได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะเป็นการหาชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลเหล่านี้ง่ายต่อการถูกเปิดเผย การที่สมัครเพื่อเป็นสมาชิกเว็บไซต์หนึ่งเว็บไซต์ บัญชีอี-เมลหนึ่งอี-เมล มีข้อมูลส่วนตัวที่จำเป็นที่จะต้องให้ และใครจะรู้บ้างว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเก็บ หรือถูกส่งต่อไปยังที่ใดต่อไป
โดย เฉพาะในปัจจุบันโลกของสังคมออนไลน์ (Social Network) ได้ถือว่าเป็นฐานข้อมูลอย่างดีให้กับองค์กรธุรกิจมากมายเพื่อหาผลประโยชน์ใน การใช้เป็นฐานข้อมูลลูกค้า
อันดับที่ 8
ใน ยุคนี้ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกเราทุกวันนี้มีมากมายเหลือเกิน ซึ่งผู้ประสบภัยต่างๆ ทุกทั่วมุมโลก ต่างได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย มีองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร คอยช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประสบภัยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเหล่าอาชญากรไซเบอร์ก็ไม่เว้นที่จะใช้ประโยชน์จากน้ำใจของมวลมนุษย์มา เป็นเหยื่อ มีการเกิดขึ้นของเว็บไซต์มากมายที่เป็นเว็บไซต์การกุศลจอมปลอมที่ทำขึ้น เพื่อให้ประชาชนผู้ใจบุญ ที่มีความประสงค์ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความลำบากทำการ บริจาคเงินไปยังองค์กรที่หลอกต้มตุ๋นดังกล่าว
อันดับที่ 7
หลายๆ คนในยุคไซเบอร์นี้นิยมที่จะส่งบัตรอวยพรไปให้เพื่อนๆ ผ่านทางอี-เมล หรือทางบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card)
ดัง นั้น เหล่าอาชญากรไซเบอร์จึงอาศัยช่องทางนี้ในการหลอกลวงและเข้าถึงข้อมูลของ เหยื่อ อาชญากรไซเบอร์จะใช้วิธีการส่งบัตรอวยพรเทศกาลปลอม (Spam E-Card) ที่แฝงด้วยลิงก์ที่เป็นสแปม (Spam) มาให้เหยื่อทางอี-เมล อาจจะถูกส่งมาจากอี-เมลของอาชญากรไซเบอร์เอง หรือจากเพื่อนของเหยื่อที่อี-เมลนั้นได้ถูกแฮ็ก (Hack) เข้าไปในบัญชีรายชื่อเรียบร้อยแล้ว และทำการส่งต่อไปยังเพื่อนๆ
เมื่อ เหยื่อได้รับอี-เมล และเปิดอ่าน จะมีลิงก์ให้เหยื่อทำการกด (Click) เพื่อทำการเปิดบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว แต่เบื้องหลังแล้วเป็นการทำการสั่งให้สแปมทำงาน
และ นั่นทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของเหยื่อตกอยู่ในอันตรายทำให้อาชญากรไซเบอร์ สามารถเข้าไปดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของเหยื่อได้ หรือทำให้สามารถดึงข้อมูลรายชื่ออี-เมลของเพื่อนๆ ได้ต่อไป
อันดับที่ 6
โฆษณาแฝงด้วยไวรัส (Malware) สังเกตได้ว่าเว็บไซต์ทุกวันนี้อยู่ได้ด้วย 2 ประการ คือ
หนึ่ง การที่มีคนเข้าจำนวนมากๆ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าเว็บไซต์เป็นประจำ (unique Visitors)
และ สอง คือโฆษณาที่ถือว่าเป็นแหล่งรายได้และทำเงินให้กับเว็บไซต์ต่างๆ อยู่รอดได้ ดังนั้น การที่จะมีโฆษณาบนเว็บหรือมีธุรกิจที่สนใจในการลงโฆษณาบนเว็บไซต์ได้นั้น ต้องอาศัยตัวแปรที่หนึ่งคือ มีคนเข้าเว็บไซต์จำนวนมากพอสมควรที่จะดึงดูดให้ธุรกิจมาโฆษณากับทางเว็บไซต์ ในปัจจุบันเว็บไซต์ที่มีโฆษณาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกตาเฉกเช่นกับในอดีต
ดัง นั้น อาชญากรไซเบอร์จึงฉวยโอกาสที่ผู้เข้าเว็บไซต์ไม่ทันได้ระวังทำการเผยแพร่ โฆษณาที่แฝงด้วยไวรัส เมื่อผู้เป็นเหยื่อทำการคลิกที่โฆษณานั้นแล้ว ตัวไวรัสจะถูกทำงานและฝังตัวอยู่ในเครื่องทำให้เมื่อเหยื่อเข้าเว็บไซต์ใดก็ ตาม จะเกิดหน้าต่างเด้งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความรำคาญของผู้ใช้งาน ซึ่งผู้ใช้งานเองอาจมีความเข้าใจว่า มีโปรแกรมป้องกันไวรัสแล้วสามารถยับยั้งได้
แต่ปัญหาใหญ่คือ โปรแกรมแอนตี้ไวรัสรุ่นเก่าไม่สามารถตรวจพบสปายแวร์ได้ ทำให้ต้องใช้โปรแกรมประเภทแอนตี้สปายแวร์เพิ่มเติม
อันดับที่ 5
อันตราย จากการใช้โปรแกรมแช็ต (Instant Messaging) เช่น MSN เหล่าอาชญากรไซเบอร์หาช่องทางในการเจาะและแพร่ไวรัส หรือมัลแวร์ผ่านทางโปรแกรมแช็ตที่ได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่อง
ลักษณะ การทำงานคือ เมื่อท่านใช้งานในโปรแกรมแช็ตกับเพื่อนของท่าน ท่านอาจจะได้รับข้อความให้รับไฟล์ที่ชื่อว่า Image.zip จากเพื่อนของท่าน ถ้าท่านเผลอกดรับไปแล้ว โปรแกรมไวรัสจะถูกทำงานและทำให้รายชื่อของเพื่อนของท่านถูกลบออกไปหมด และยังเป็นการส่งโปรแกรมไวรัสดังกล่าวไปให้เพื่อนของท่านโดยที่ท่านไม่รู้ ตัว
อันดับที่ 4
ภัย จากการโหลดไฟล์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต (Bit Torrent) อะไรก็ตามที่มีผู้ใช้จำนวนมาก เป็นที่นิยม จะเป็นช่องที่พวกอาชญากรไซเบอร์ให้ความสนใจ เช่น โปรแกรมที่เหล่านักดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหนัง หรือโปรแกรมใหญ่ ต่างใช้กันคือ Bit Torrent ที่ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถทั้งการดาวน์โหลดและอัพโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ๆ ด้วยความเร็วสูง แถมยังสามารถหาไฟล์ที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย
เหล่า อาชญากรไซเบอร์จึงทำการปล่อยไฟล์ที่ได้รับความนิยมพร้อมกับการแฝงตัวไวรัส และมัลแวร์มายังเครื่องของเหยื่อผ่านการดาวน์โหลด และทำการส่งต่อไปยังเหยื่อรายต่อไปในขณะที่เหยื่อทำการอัพโหลด ผลกระทบที่เกิดขึ้นเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในองค์กรจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มีความเร็วลดลง และเป็นการเปิดช่องว่างทำให้เหล่าแฮกเกอร์ใช้ในการเจาะเข้าระบบขององค์กรต่อ ไป
อันดับที่ 3
ภัย จากเว็บไซต์ปลอม (Phishing) ลักษณะของเว็บปลอมนั้น อาชญากรไซเบอร์จะทำการส่งอี-เมลไปยังเหยื่อ โดยอาจจะใช้ที่อยู่และอี-เมลของธนาคาร เมื่อเหยื่อทำการคลิกเข้าไปแล้ว หน้าต่างใหม่จะถูกเปิดขึ้น โดยหน้าตาเว็บไซต์ปลอมนั้นจะมีลักษณะเหมือนกับหน้าเว็บไซต์จริงๆ ของธนาคาร และจะมีข้อความแจ้งในทำนองว่า ให้เหยื่อทำการอัพเดทข้อมูลส่วนตัว เพื่อปรับปรุงและสามารถเข้าใช้งานได้ต่อไป เมื่อเหยื่อกรอกข้อมูลแล้ว กดยืนยัน ข้อมูลที่เหยื่อกรอกกับถูกส่งไปที่อาชญากรไซเบอร์ แทนที่จะไปที่เว็บไซต์ของธนาคาร เว็บไซต์ประเภทนี้ยังคงเป็นช่องทางหลักของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ที่ใช้ในการ หลอกเหยื่อให้หลงกล
ทำให้เหยื่อหลงเชื่อทำการกรอกข้อมูลส่วนตัว รหัสต่างๆ ซึ่งทำให้อาชญากรไซเบอร์เหล่านั้นสามารถนำข้อมูลของเหยื่อไปใช้ประโยชน์ต่อไป
อันดับที่ 2
Wi-Fi ปลอม มีลักษณะเดียวกันกับเว็บไซต์ปลอม (Phishing) แม้ว่าหลักการยังคงเหมือนเดิมแต่รูปแบบของการใช้เว็บปลอมก็ได้มีการพัฒนาให้ มีความแยบยลมากขึ้น เช่น การที่เหยื่อเข้าไปนั่งในร้านกาแฟร้านหนึ่ง และค้นหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย (โดยเฉพาะที่ฟรี) ซึ่งอาชญากรไซเบอร์รู้ถึงพฤติกรรมนี้ดี ว่าเมื่อคนเราเจอสัญญาณฟรีในที่สาธารณะ เรามักจะลองเข้าเพื่อใช้งาน ซึ่งอาชญากรไซเบอร์ก็ได้เตรียมเว็บไซต์ปลอมสำหรับการให้บริการอินเตอร์เน็ต ฟรีขึ้น โดยเมื่อเหยื่อได้ทำการเชื่อต่อสัญญาณ จะมีหน้าต่างปรากฏในลักษณะที่แจ้งถึงเงื่อนไขการใช้บริการฟรีอินเตอร์เน็ต เพียงแต่ให้เหยื่อกรอกข้อมูลก็สามารถเข้าใช้งานอินเตอร์เน็ตฟรี อาจจะเป็นเพียงการกรอกข้อมูล อี-เมล และตั้งพลาสเวิร์ดสำหรับการใช้งาน แต่โดยปกติคนเราก็มักจะใช้พลาสเวิร์ดซ้ำๆ กันอยู่แล้ว ทำให้เหล่าอาชญากรไซเบอร์ทำการสุ่มและเดาได้ว่าจะใช้พลาสเวิร์ดที่ได้มาทำ อะไรต่อไป และเมื่อเหยื่อกรอกข้อมูลกับเป็นการส่งข้อมูลนั้นไปยังอาชญากรไซเบอร์ แถมยังไม่สามารถเข้าใช้งานได้อีก
อันดับที่ 1
สังคม ที่ตกต่ำลง เป็นผลพวงของการเติบโตอย่างรวดเร็วจนดูเหมือนว่ายากที่จะควบคุม ความอันตรายของโลกออนไลน์ ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบมากมาย (โดยเฉพาะในทางไม่ดี) มีการโชว์คลิปต่างๆ ที่เป็นการทำลายจริยธรรมของมนุษย์ผ่านทางเว็บไซต์ที่เผยแพร่คลิป ส่งผลเสียต่อสังคมและวัฒนธรรม ทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อย ส่อแววมีพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายคลิปทำร้ายร่างกายกัน การบังคับขืนใจและใช้การถ่ายคลิปเพื่อข่มขู่ การทำร้ายกัน การฆ่าตัวตาย หรือแม้แต่การถ่ายรูปตัวเองในลักษณะที่ยั่วยวนและนำขึ้นไปโพสท์ตามเว็บต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมทางเพศของเด็กและเยาวชนที่รวดเร็วขึ้น
และทำให้เกิดคดีการล่อลวงเด็กและเยาวชนที่สูงขึ้นเช่นกัน
------------
มติชนออนไลน์
ระวัง 10 ภัยอันตรายบนโลกออนไลน์ปี 54 ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด! : มติชนออนไลน์