'สุมโน ภิกขุ' พระฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา ทิ้งชีวิตที่หรูหรา สู่วิถีแห่งความสันโดษ
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: 'สุมโน ภิกขุ' พระฝรั่งศิษย์หลวงพ่อชา ทิ้งชีวิตที่หรูหรา สู่วิถีแห่งความสันโดษ  (อ่าน 1975 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: มกราคม 08, 2011, 06:30:07 am »



เป็นระยะเวลา 30 กว่าปีแล้วที่พระอาจารย์ สุมโน ภิกขุ พระฝรั่ง อดีตชาวเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยสุขสบายในชีวิตฆราวาส แล้วหันเหตัวเองสู่เส้นทางแห่งจิตวิญญาณ เพื่อดำเนินชีวิตในวิถีทางที่สันโดษและเรียบง่าย ภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา

สิ่งที่ทำให้อดีตนักศึกษาด้านกฎหมายและนักธุรกิจด้านตีราคาที่ดินทั้งของรัฐ และเอกชน ผู้เคยใช้ชีวิตระดับไฮคลาส เดินทางไปต่างประเทศด้วยเครื่องบินชั้นธุรกิจ (Business Class) พักแต่โรงแรมระดับห้าดาว และมีเงินเหลือเฟือพอที่จะเที่ยวรอบโลก ได้ตัดสินใจทิ้งชีวิตที่หลายคนพยายามตะเกียกตะกายเพื่อจะไปให้ถึง เหตุเพราะเช้าวันหนึ่งเขาลืมตาตื่นขึ้นพร้อมกับความรู้สึกที่ว่าชีวิตช่าง น่าเบื่อ ไม่มีอะไรที่ทำให้ต้องตื่นเต้นอีกต่อไปแล้ว

พระอาจารย์ สุมโน ซึ่งอดีตเคยนับถือศาสนายิว บอกเล่าว่า รู้จักพระพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อตอนที่กำลังศึกษา อยู่ในชั้นมัธยมปลาย ด้วยความที่มีนิสัยเป็นคนชอบอ่านหนังสือและแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา กระทั่งวันหนึ่งจึงได้ไปเจอหนังสือบางเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระพุทธ ศาสนาวางอยู่บนโต๊ะในห้องสมุด

แรกเริ่มพระอาจารย์ให้ความสนใจเรื่องการนำหลักการฝึกสมาธิของทางพระพุทธ ศาสนามาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาตัวเองมากกว่า ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาศึกษาศาสนาหลายศาสนาและหลายนิกาย โดยเคยเข้าคอร์สที่มีการอบรมด้านพระพุทธศาสนาอยู่หลายคอร์ส และใช้เวลาปลีกวิเวกอยู่แต่ในห้องโดยไม่ไปไหนเลย เป็นเวลานาน 2-3 ปี

ในวัย 32 ปี เมื่อได้ทิ้งชีวิตการเป็นนักธุรกิจแล้ว และเริ่มมีใจลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา พระอาจารย์เห็นว่า การฝึกสมาธิอย่างเดียวช่วยอะไรได้น้อยมาก จึงมีความสนใจ อยากจะศึกษาพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น แต่เวลานั้นยังไม่ได้มีความคิดที่จะบวช
ช่วงเวลาที่ท่านกำลังจะเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียนั้น ระหว่างทางได้ไปแวะที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพราะเพื่อนของพระอาจารย์ได้แนะนำให้รู้จักวัดแห่งหนึ่งที่นี่ ซึ่งเมื่อสมัยที่ท่านไปเยือนครั้งแรกนั้นยังไม่ได้เป็นวัด แต่ต่อมาได้กลายมาเป็น วัดจิตตวิเวก (วัดป่าสาขาวัดป่าหนองป่าพงแห่งแรกในประเทศอังกฤษ) ที่ช่วงเวลานั้นมี พระสุเมธาจารย์ หรือท่านสุเมโธภิกขุ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เมื่อเริ่มแรกตั้ง วัดในพ.ศ. 2522

พระอาจารย์ยังจำได้ว่า ทุกๆเย็น จะต้องนั่งรถลีมูซีนคันหรู พื่อไปสวดมนต์ที่วัด ก่อนจะตัดสินใจนุ่งขาวห่มขาวอยู่นานถึงสามปี จึงทำให้ความตั้งใจที่จะไปอินเดียในครั้งนั้นเป็นอันต้องล้มเลิก และในที่สุดจึงตัดสินใจบวชเมื่ออายุได้ 35 ปี

นอกจากวัดจิตตวิเวก พระอาจารย์ได้มีส่วนร่วมในการสร้างวัดอีกแห่ง คือ วัดอมราวดี แต่ด้วยสเกลที่มีขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาในการสร้างนาน จึงไม่อยากใช้เวลาให้หมดไปกับการเป็นช่าง แต่อยากศึกษาหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามากกว่า

วันหนึ่งเมื่อเดินทางสู่ประเทศไทย ทำให้พระอาจารย์มีได้มีโอกาสแวะเวียนไปกราบไหว้ และเรียนรู้ธรรมะจากพระชื่อดังหลายรูปในประเทศไทย อาทิ ท่านพุทธทาสภิกขุ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงพ่อพุธ ฐานิโย และ หลวงพ่อชา สุภัทโท

โดยเฉพาะหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่พระอาจารย์รู้สึกเลื่อมใสศรัทธามากเป็นพิเศษอยู่แล้ว เพราะเคยบวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดสาขาของท่านที่อังกฤษ พระอาจารย์จึงไม่รีรอที่จะเดินทางสู่ภาคอีสาน ไปยังที่พำนักของหลวงพ่อชา เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์



สิ่งที่พระอาจารย์ได้เรียนรู้จากหลวงพ่อชาและรู้สึกประทับใจคือ

“ในทัศนะของหลวงพ่อ พระอาจารย์ชาเป็นพระที่มีจิตบริสุทธิ์มาก และสามารถระลึกรู้ในสิ่งต่างๆได้โดยไม่ต้องคิด ทำให้หลวงพ่อรู้สึกว่าทึ่ง

มันจะมีคำว่าดี ถูกต้อง และความเหมาะสมใช่ไหม เวลาที่เราต้องเผชิญกับอะไรสักอย่าง เรามักจะคิดก่อนว่าต้องทำอย่างไรดี ทำอย่างไรถึงจะถูก พอเป็นอย่างนั้นมันจะเกิดการคิด เพราะเราต้องคิดถึงว่า ค่านิยม กาลเทศะ กับบุคคลเหล่านี้เราต้องทำอย่างไร พอมันเกิดการคิด มันต้องคำนึงถึงอดีต ไม่ใช่ปัจจุบันขณะแล้ว เราจึงคิดตัดสิน ว่าเราต้องทำอย่างไรจากสิ่งที่เราเคยได้ยินเคยได้เห็น แต่พระอาจารย์ชาท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น การแก้ปัญหาของท่านเป็นการรู้จากปัจจุบันขณะและใช้คำว่าเหมาะสม”

เมื่อหลวงพ่อชามรณภาพ พระอาจารย์จึงออกธุดงค์ไปตามพื้นที่ต่างๆทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กระทั่งสุดท้ายได้เลือกพำนักอยู่ที่ สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำสองตา ในเขตพื้นที่เขาใหญ่ หลังจากที่เคยธุดงค์ไปพบเพียงแค่คืนเดียว ด้วยเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะต่อการปฏิบัติ การเดินทางเข้าออกค่อนข้างลำบาก แม้แต่รถยนต์ ก็เข้าไม่ได้ จึงทำให้ปลอดความวุ่นวายจากสิ่งต่างๆ นับ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวลาก็ได้ล่วงเลยมากว่า 20 ปีแล้ว

“ตอนนี้แก่แล้ว ไปที่ไหนไม่ได้แล้ว” พระอาจารย์บอก เล่าด้วยอารมณ์ขันเมื่อถูกตั้งคำถามว่าทำไมจึงเลิกธุดงค์และเลือกสำนัก ปฏิบัติธรรมถ้ำสองตาเป็นที่พำนักสุดท้ายของชีวิต

วัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ที่สำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ทุกวันจะต้องตื่นจากจำวัดตอนตีสี่ เพื่อนั่งสมาธิ อ่านหนังสือ เดินจงกรม และฟังธรรมะ แม้แต่ในยามที่ย่ำเท้าไปบนถนนสายเล็กๆที่ทุรกันดารสู่หมู่บ้าน เพื่อไปบิณฑบาต ระหว่างทางก็ยังต้องอาศัยฟังธรรมบรรยายผ่านเครื่องเล่น MP3

ลูกศิษย์บางคนที่ใกล้ชิดพระอาจารย์บอกเล่าว่า

“แม้หลวงพ่อจะมีความลึกซึ้งในหลักธรรมจนสามารถนำมาสอนผู้อื่นได้แล้ว แต่หลวงพ่อก็ยังต้องฟังธรรมบรรยายจากพระรูปต่างๆ เพื่อนำมาสอนผู้คนอยู่ และน้อยครั้งมากที่หลวงพ่อจะเดินทางเข้าเมือง ขนาดหมอนิมนต์ให้มาทำฟัน ท่านก็ยังไม่มา”

แต่พระอาจารย์สุมโนได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการเขียนหนังสือ เพราะเห็นว่า หน้าที่หนึ่งของพระคือการสืบทอดพระพุทธศาสนาและเผยแพร่หลักธรรมไปสู่ผู้คน ให้มากที่สุด ที่ผ่านมานอกจากท่านจะมีผลงานแปลธรรมเทศนาของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงพ่อพุธ ฐานิโย และหลวงพ่อชา สุภัทโท แล้ว ยังมีผลงานเขียนชื่อ ธรรมะจากพระภูเขา (Monk in the Mountain) จิตที่สว่างไสว (The Brightened Mind) และ พบลิงแค่ครึ่งทาง (Meeting the Monkey Halfway) โดยเป้าหมายที่เหมือนกันของผลงานเขียนทั้งสามเล่มคือ ต้องการสอนให้ผู้คนรู้จักการเจริญสติ รู้จักการใช้ปัญญา เพราะถ้าคนเราไม่มีปัญญา มีแต่ตัวตนเกิดขึ้น ก็จะเกิดความเห็นแก่ตัว

ส่วนเหตุที่ควรต้อง “พบลิงแค่ครึ่งทาง” ผลงานเขียนเล่มล่าสุดของพระอาจารย์ ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดย อานุภาพ ทัดพิทักษ์กุล และจัดพิมพ์โดย บริษัท ฟรีมายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด ได้บอกเอาไว้ว่า

ในปรัชญาธรรมอันเก่าแก่ของเอเชียตะวันออก ลิงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของจิตที่มีลักษณะไม่อยู่นิ่ง ยุกยิก คอยกระโดดจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ไม่เชื่อฟัง ผันแปรเปลี่ยนแปลงง่าย และด้วย “จิตที่เหมือนลิง” นี้ แนวทางการฝึกฝนจิตของโลกตะวันออก อาทิ การปฏิบัติกรรมฐาน โยคะ และการสวดท่องมนต์ ก็เป็นวิธีการต่างๆที่พยายาม จัดการกับจิตที่ซุกซน

“ครึ่งทาง” หมายถึงอุบายอันชาญฉลาดในการบริหารจิต เป็นวิธีที่ไม่ตึงหรือแข็งกระด้างจนเกินไป และก็ไม่หย่อนยานจนเกินไป “ครึ่งทาง” เป็นทัศนคติที่ตั้งอยู่บนหลักการของความสมดุลเป็นกลาง ไม่ถูกกระทบโดยอาการไม่อยู่นิ่งของจิตที่กระโดดไปกระโดดมา

“การพบ” แสดงออกถึงความอุตสาหะที่จะบรรลุเป้าหมาย มันหมายถึงความตั้งใจและความกระตือรือร้นในการทำจิตซึ่งเป็นสิ่งที่สงบได้ ยาก ให้เกิดความตั้งมั่นและเป็นกลาง และด้วยความพยายามที่มุ่งมั่นนี้ ประกอบกับความพากเพียร ซื่อตรง ภายใต้การกำกับดูแลของปัญญา ทำให้เราสามารถเข้าถึงการเจริญในธรรมที่นำไปสู่หนทางอันถูกต้อง เพื่อที่เราจะได้ “พบลิงที่ครึ่งทาง” นั่นเอง

ในวันที่พระอาจารย์สุมโน ภิกขุ เดินทางออกจากสำนักปฏิบัติธรรมถ้ำสองตา เพื่อมาบรรยายธรรมและเปิดตัวผลงานเขียน “พบลิงแค่ครึ่งทาง” ณ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ หลังจากที่ละทิ้งความสุขทางโลกมา 30 กว่าปี พระอาจารย์ซึ่งตอนนี้พูดภาษาไทยภาคกลางได้มากแล้ว (แต่เว้าอีสานได้ชัดกว่า) ได้บอกถึงความแท้จริงในทัศนะของพระอาจารย์ให้ผู้คนได้ฟังว่า

“ถ้าไม่มีความอยาก จะได้รับความสุขทันทีเลย”

แล้วเราจะระงับซึ่งความอยาก ด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง ? พระอาจารย์ได้กล่าวต่อไปว่า

“ให้รู้ว่าความอยากมีแต่ความทุกข์ มากกว่าความสุข เพราะถ้าเรามีความอยาก เราก็ต้องไปดิ้นรนไปหาไปทำมา ตอนที่เรากำลังหากำลังทำอยู่ เรามีความสุข อย่างเช่นการ สะสมเงิน เพราะอยากจะได้แหวนเพชรสักวง ตอนที่ใกล้จะได้มา เรารู้สึกดีใจ พอไปที่ร้านถอยมันมาได้ ความสุขก็จบแล้ว เพราะช่วงเวลาที่เราอยากได้มันหมดไปแล้ว ทีนี้ก็จะดิ้นรนไปอยากได้อย่างอื่นต่อ”

และเมื่อถูกถามว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีความอยาก มีแต่การปล่อยวาง โลกจะไม่หยุดพัฒนา หยุดการเจริญรุดหน้าหรืออย่างไร พระอาจารย์ตอบว่า

“เคยมีคนถามหลวงพ่อว่า ถ้าทุกคนบวชเป็นพระกันหมด โลกนี้จะพัฒนาไปอย่างไร หลวงพ่อบอกว่าไม่ต้องห่วง มีคนที่สมัครใจบวชเป็นพระ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เหมือนกับที่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากเป็นช่างเสริมสวย(หัวเราะ)

และในความเห็นของหลวงพ่อ โลกนี้ไม่ต้องเจริญ อีสานที่หลวงพ่อเคยอยู่ มีคนบอกว่าความเจริญเป็นสิ่งดี โอ้.. อยากให้เมืองนี้เจริญ วารินชำราบเจริญ อุบลฯ เจริญ แต่หลวงพ่อคิดว่า ความเจริญไม่ใช่สิ่งดีเสมอไป เพราะถ้าเจริญแบบไม่มีปัญญาก็จะมีปัญหามากขึ้น อย่างเมืองไทยเจริญขึ้น แต่ความสุขกลับน้อยลงตลอด ไม่เหมือนประเทศภูฏาน ประเทศเขาไม่เจริญ แต่มีความสุข”

แม้พระอาจารย์จะเป็นตัวอย่างหนึ่งของชาวต่างชาติจากประเทศตะวันตก ที่เดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศตะวันออก เรียนรู้และศึกษาจิตวิญญาณตะวันออก โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา แต่พระอาจารย์ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่า ตนเองเป็นหนึ่งในคนตะวันตกจำนวนมากที่หันมาสนใจจิตวิญญาณตะวันออก เพราะอาจจะเป็นหนึ่งในคนจำนวนน้อยก็ได้ หรือแม้แต่เวลานี้ก็ตาม ถามว่าคนตะวันตกสนใจจิตวิญญาณตะวันออกมากขึ้นหรือไม่ พระอาจารย์ก็ไม่อาจทราบได้ เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศตะวันตกมานานแล้ว

“หลวงพ่อไม่ได้อยู่ในประเทศตะวันตกมาสามสิบกว่าปีแล้ว หลวงพ่อรู้แต่ว่าเมื่อก่อนคนตะวันตกอยากมาเมืองไทยเพราะสนใจในประเพณี วัฒนธรรม เป็นแบ็คแพ็คเกอร์มาเที่ยว หรือนั่งเครื่องบินไปเที่ยวทะเล เที่ยวเกาะสมุยโน่น แต่ไม่ค่อยมีใครมาวัด มาอีสาน มีแต่มาเอาอย่างเดียว ไม่มีใครอยากให้อะไร”

หลายปีที่ผ่านมา อาจทำให้พระอาจารย์รู้จักประเทศไทย และเห็นความเป็นไปของประเทศไทยในหลายๆด้าน แต่พระอาจารย์ก็ออกตัวว่า ไม่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทยหรือคนไทยมากเท่าใดนัก มีเพียงบางสิ่งที่ทำให้รู้สึกเป็นห่วงคนไทยคือ มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กำลังตกอยู่ในวังวนของความอยากและการโฆษณา ชวนเชื่อ ที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตนี้ยังไม่พอ และยังไม่ดีพอเสียที

“ทุกคนอยากมีรถคันใหม่ อยากมีโทรศัพท์ อยากมีโน่นอยากมีนี่ มีความอยากไปในทางโลกเสียมากกว่า และการโฆษณาก็ทำให้พวกเขาคิดว่าชีวิตฉันยังไม่พอ และรู้สึกว่าฉันยังไม่ดีพอ ฉันต้องรวยให้มากกว่านี้ หรือฉันต้องสวย ต้องขาวให้มากกว่านี้”

ปี พ.ศ.2553 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ประเทศไทยต้องประสบ กับปัญหาภัยธรรมชาติเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะมนุษย์นี่เองที่เป็นฝ่ายเบียดเบียนธรรมชาติ ซึ่งพระอาจารย์ได้แนะวิธีที่จะช่วยให้เราเบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยที่สุด ว่า

“ต้องรักษาศีลห้าก่อน เพราะถ้าไม่รักษาศีลห้า เราก็จะเป็นฝ่ายเบียดเบียนธรรมชาติ ปัญหาที่อยากแก้ก็จะไม่สามารถแก้ได้ และอยากให้ทุกคนมีสมาธิ เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะทำให้จิตใจของเราสบาย มีความอยากน้อยลง มีสติ แล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้น

ถ้าเราไม่มีปัญญา เราก็จะไม่เข้าใจอดีต และทำในสิ่งที่ ผิดพลาดเหมือนเดิมไปตลอด เหมือนเราเคยเสียใจ เพราะอกหักจากผู้ชายคนนี้ ถ้าเราไม่ใช้ปัญญาทำความเข้าใจว่าทำไม เราก็จะอกหักได้อีกเรื่อยๆ ดังนั้น ปัญญาช่วยให้เรา สามารถพิจารณาได้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว

จริงๆแล้ว จิตเดิมของมนุษย์นั้นประภัสสร นั่นคือบริสุทธิ์ รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่เพราะว่าจิตของเรารับอะไรเข้ามาเยอะ กิเลสมันเลยเข้ามาทำให้จิตใจเราขุ่นมัว เราก็เลยไม่มีปัญญาพอที่จะมองเห็นเหตุของปัญหา แต่ไปหลงและยึดเอาค่านิยมภายนอกมากกว่า ภัยธรรมชาติ ที่มันเกิด มันเป็นเพราะความอยากของเราที่มันไปเป็นตัวเบียดเบียนธรรมชาติ ถ้าเราไม่อยากเบียดเบียนธรรมชาติ เราต้องถามตัวเราเองก่อนว่า เราพร้อมที่จะเสีย สละไหม เช่น ถ้าเราไม่มีโรงงานนิวเคลียร์ เราก็จะไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงานนิวเคลียร์มาใช้นะ

ทุกวันนี้เราพึ่งพาไฟฟ้าเพราะอะไร เพราะเราต้องการความสะดวกสบาย เวลาเราเบื่อ แทนที่เราจะนั่งสมาธิ เราต้องเปิดไฟ ดูทีวี หรือ อ่านหนังสือ ตอบสนองตัวเองด้วย สิ่งบันเทิง แต่ถ้าเราพยายามอยู่กับตัวเองให้ได้บ้าง บางครั้ง สิ่งบันเทิงเหล่านี้ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เมื่อเราไม่ได้เปิดไฟ ใช้ มันน้อยลง เราก็จะเบียดเบียนธรรมชาติน้อยลงไปด้วย”

ดังนั้นพรปีใหม่ที่พระอาจารย์อยากมอบคนไทย ไม่มีอะไรที่มากกว่าการลดความอยาก เพื่อความสุขที่แท้และใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา

“เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากตัวเราเอง”


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 122 มกราคม 2554 โดย พรพิมล)


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: