กระทู้ธรรม
หน้า: [1] 2 3 4 5 ... 9   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กระทู้ธรรม  (อ่าน 171243 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:08:10 pm »

รวมข้อธรรมะจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติครับ

ที่มา: http://www.watthakhanun.com/webboard/index.php


บันทึกการเข้า

kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:11:44 pm »

กระทู้นี้ ตั้งขึ้นจากเรื่องที่กัลยาณมิตรนำมาฝากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว
"ธรรมสวัสดี.......วันนี้วันพระ
มีเรื่องสิ้นโลก.....เหลือธรรมมาฝากกันครับ"

แต่ที่ไม่ได้นำไปลงไว้ในกระทู้ "อันเนื่องมาจากกัลยาณมิตร"
ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องของหลวงปู่เทสก์ ที่สมควรลงไว้เฉพาะต่างหาก

โดย


พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์
(เทสก์ เทสรังสี)

วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


"โลก คือ จิตของคนเรา มาหลอกลวงจิต
ให้หลงในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นจริงเป็นจัง
แต่แล้วสิ่งเหล่านั้น เป็นแต่เพียงมายาเท่านั้น
เกิดมาแล้วก็สลาย แตกดับไปเป็นธรรมดาของมัน"

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:13:10 pm »

พระพุทธเจ้า ได้อุบัติเกิดขึ้นมาในโลก เป็นศาสดาเอกด้วยการตรัสรู้ชอบเอง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สอน แล้วก็นำเอาธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น มาสอนแก่มนุษย์ทั้งปวง ด้วยธรรมที่สอนนั้น สอนมีเหตุมีผลมิใช่ไม่มีเหตุมีผล เป็นของอัศจรรย์ สมควรที่ผู้ฟังทั้งหลายตรึกตรองแล้วเข้าใจได้ แลไม่ได้บังคับให้ผู้ใดมานับถือ แต่เมื่อผู้ฟังทั้งหลายมาฟังตรึกตรองตามเหตุผลแล้ว เห็นดี เห็นชอบ มีเหตุมีผล แล้วเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้ามานับถือด้วยตนเอง ซึ่งผิดจากศาสนาอื่นแลลัทธิอื่น บางลัทธิบางศาสนาอื่นซึ่งเขาห้ามไม่ให้วิจารณ์ศาสนาของเขา ส่วนพุทธศาสนาท้าให้วิจารณ์ได้เต็มที่เลย วิจารณ์เห็นเหตุ เห็นผล แน่ชัดด้วยตนเองแล้ว จึงนับถือด้วยความเป็นอิสระ แลเมื่อยอมรับนับถือแล้ว ความคิดความเห็นและการปฏิบัติก็จะเป็นไปในแนวเดียวกันทั้งหมด โดยมิได้บังคับหรือนัดแนะกันไว้ก่อนเลย หากแต่เป็นไปตามเหตุผลดังนี้คือ

ขั้นที่ ๑ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
“กมฺมสฺสกา กมฺมทายาทา กมฺมโยนี กมฺมพนฺธู กมฺมปฏิสรณา
ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ”

ทั้ง ๖ อย่างนี้ เชื่อมั่น แน่วแน่อยู่ในใจของตน ทุก ๆ คน ตลอดชีวิต

กมฺมสฺสกา คนเราเกิดขึ้นมา พอรู้ภาวะเดียงสาแล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตากระทำแต่กรรมเรื่อยไป ไม่ด้วยกาย ก็ด้วยวาจา หรือด้วยใจ จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เรียกว่า กมฺมสฺสกา ๑
การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีผลทั้งนั้น ไม่ดีก็ชั่ว ไม่เป็นบาปก็เป็นบุญ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น กาย วาจา และใจ เกิดมาได้กระทำกรรมนั้น ๆ ไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ๆ สืบไป เรียกว่า กมฺมทายาทา ๑

ผลของกรรมดีย่อมนำเอากาย วาจา และจิตอันนี้ให้ไปเกิดเป็นสุขในโลกนี้แลโลกหน้า ผลของกรรมชั่วย่อมนำเอากาย วาจา และจิตอันนี้ให้ไปเกิดเป็นทุกข์ในโลกนี้แลโลกหน้าเรียกว่า กมฺมโยนี ๑
กรรมที่กาย วาจา และใจได้กระทำไว้ในภพก่อน บันดาลให้ในภพที่ตนเกิดแล้วให้เป็นไปต่าง ๆ นานาเรียกว่า กมฺมพนฺธู ๑
คนเราเกิดมาเพราะกรรมดังที่อธิบายมาแล้ว แล้วจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องมีการกระทำทั้งนั้น ไม่ทำดี ก็ทำชั่ว เพื่อการเลี้ยงชีพของตน เราต้องอาศัยกรรมนั้น ๆ เป็นเครื่องอยู่อาศัย ฉะนั้น กรรมนั้นจึงเรียกว่า กมฺมปฏิสรณา ๑
ฉะนั้น บุคคลเกิดมาจึงควรตัดสินใจของตนเองว่าเราจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว กรรมดีแลกรรมชั่วนั้นไม่ใช่เป็นของคนอื่น เป็นของเราเอง กรรมนี้เท่านั้นจะจำแนกแจกมนุษย์แลสัตว์ให้เป็นต่าง ๆ นานาได้ นอกจากกรรมแล้ว ใครแลสิ่งใดในโลกนี้จะมาจำแนกไม่ได้เลย จึงเรียกว่า กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ ๑
ทั้ง ๖ อย่างนี้ ย่อมเชื่อแนบแน่นอยู่ในใจของผู้นับถือพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิต

มนุษย์คนเราเกิดมาเพราะกรรมยังไม่สิ้นสุด กรรมเก่าที่นำให้มาเกิดนั่นแหละพาให้กระทำกรรมใหม่อีก กรรมใหม่นั้นแหละเป็นเหตุให้นำไปเกิดชาติหน้าเป็นกรรมเก่าอีก อธิบายว่า กรรมใหม่ในชาตินี้เป็นเหตุให้นำไปเกิดเป็นกรรมในชาติหน้าต่อไป
อนึ่ง กรรมทั้งหมดเกิดจาก กาย วาจา แลใจ สายเดียวกันทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่า กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ของกรรมด้วยกันแลกัน จึงเรียกว่า กมฺมพนฺธู
ผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ดังที่อธิบายมาแล้ว ได้ชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนาหรือเข้าถึงพระไตรสรณาคมน์เป็นขั้นแรก

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:18:51 pm »

ขั้นที่ ๒ จะต้องมีศีล ๕ ประจำอยู่ในตัวเป็นนิจ

ศีล ๕ นี้ เมื่อเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมแล้ว รักษาง่ายนิดเดียว เพราะศีล ๕ พระพุทธเจ้า พระองค์ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว เมื่องดเว้นจากการกระทำความชั่วแล้ว ก็เป็นอันว่ารักษาศีลเท่านั้นเอง บาปกรรม ความชั่วทั้งหมดที่คนเราหรือสัตว์ทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ในโลก ท่านประมวลไว้รวมกันอยู่ มี ๕ ข้อเท่านั้นเอง ใครจะทำอะไรหรือที่ไหน ก็มารวมลง ๕ ข้อนี้ทั้งนั้น

จิต เป็นตัวการของสิ่งทั้งปวงหมด ท่านจึงให้สำรวมจิต
• จิตคิดงดเว้นที่จะฆ่าสัตว์ตัวเป็นให้ตาย ๑
• จิตคิดงดเว้นที่จะลักขโมยของเขาที่เจ้าของหวงแหนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ๑
• จิตคิดงดเว้นที่จะไม่ล่วงละเมิดผิดลูกเมียของคนอื่น ๑
• จิตคิดงดเว้นที่จะไม่กล่าวคำเท็จ คำไม่จริงคำหยาบคายหรือวาจาส่อเสียดผู้อื่น ๑
• จิตคิดที่จะไม่ดื่มสุราเมรัย น้ำดองของมึนเมา ๑

ทั้ง ๕ ข้อนี้ ถ้าคนใดรักษาได้ ก็ได้ชื่อว่ารักษาศีล ๕ ได้ อันเป็นเหตุนำความสุขมาให้แก่หมู่มวลมนุษย์ทั้งปวง ถ้างดเว้นไม่ได้ ก็ได้ชื่อว่าคนนั้นไม่มีศีล อันจะเป็นเหตุให้นำความทุกข์เดือดร้อนมาให้แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านจึงงดเว้นบาปกรรม ความชั่วทั้งปวงเหล่านี้ แล้วแนะนำสั่งสอนมวลมนุษย์ทั้งปวงให้งดเว้นทำตามด้วย

ผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ดังได้อธิบายมาแล้ว
แลมีศีล ๕ เป็นเครื่องรักษา กาย วาจา แลใจ
ผู้นั้นได้ชื่อว่าเข้าถึงพระพุทธศาสนาเป็นที่สอง
แล้วจึงตั้งใจชำระจิตใจของตนด้วยการทำสมาธิต่อไป


ถ้าไม่เข้าถึงหลักพระพุทธศาสนาแล้ว จะทำสมาธิชำระจิตของตนได้อย่างไร แม้แต่ความเห็นของตนก็ยังไม่ตรงต่อคำสอนของพระพุทธศาสนา เช่น เห็นว่ากรรมที่ตนกระทำแล้ว คนอื่นแลสิ่งอื่นเอาไปถ่ายทอดให้คนอื่นแลสิ่งอื่นได้ หรือกรรมที่ตนกระทำไว้แล้วให้คนอื่นเอาไปใช้ให้หมดสิ้นไปได้ อย่างนี้เป็นต้น
ศีล บางคนที่ว่าต้องรักษาที่กาย ที่วาจา ไม่ต้องไปรักษาที่ใจ ใจเป็นเรื่องของสมาธิต่างหาก กาย วาจา มันจะเป็นอะไร มันจะทำอะไร มันก็ไม่กระเทือนถึงสมาธิ ตกลงว่า กาย กับใจ แยกกันเป็นคนละอัน ตรงนี้ผู้เขียนไม่เข้าใจจริง ๆ เรื่องเหล่านี้พิจารณาเท่าไร ๆ ก็ไม่เข้าใจจริง ๆ ขอแสดงความโง่ออกมาสักนิดเถอะ
สมมติว่า คนจะไปฆ่าเขาหรือขโมยของเขา จำเป็นจิตจะต้องเกิดอกุศลบาปกรรมขึ้นมา แล้วจะต้องไปซุ่มแอบเพื่อไม่ให้เขาเห็น เมื่อได้โอกาสแล้ว จะต้องลงมือฆ่าหรือขโมยของของตามเจตนาของตนแต่เบื้องต้น การที่จิตคิดจะฆ่าหรือขโมยของเขาแล้วไปซุ่มอยู่นั้น ถึงแม้ศีลจะไม่ขาด แต่จิตนั้นเป็นอกุศล พร้อมแล้วทุกประการที่จะทำบาปมิใช่หรือ
ถ้าจิตอันนั้นมีสติรักษา สำรวมได้ไม่ให้กระทำ เลิกซุ่มเสีย ศีลก็จะไม่ขาด

ตกลงว่าใจเป็นตัวการ
ใจเป็นต้นเหตุที่จะทำให้ศีลขาดแลไม่ขาด
จะว่ารักษาศีลไม่ต้องรักษาใจได้อย่างไร

ท่านว่า รักษาศีล คือ รักษาที่กาย วาจา ใจ ๓ อย่างนี้ มิใช่หรือ
ในทางธรรม พระพุทธเจ้าก็เทศนาว่า
“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจถึงก่อน สำเร็จแล้วด้วยใจ”
จะพูด จะคุย ก็เกิดจากใจทั้งนั้น พูดถึงธรรมแล้ว ที่จะไม่พูดถึงเรื่องใจแล้วไม่มี คำว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน” นั้นชัดเจนเลยทีเดียว ที่ว่า “ธรรมทั้งหลาย” นั้น หมายถึงการกระทำทุกอย่าง
ทำดีเรียกว่า กุศลธรรม ทำชั่วเรียกว่า อกุศลธรรม ทำไม่ดี ไม่ชั่ว เรียกว่า อพยากฤตธรรม เรียกย่อ ๆ เรียกว่า ทำบุญ ทำบาป หรือไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป (ข้อสุดท้ายนี้ ไม่มีใครเลยในโลกนี้ที่จะไม่ทำบาป ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง)
เมื่อผู้เขียนพิจารณาถึงเรื่องเหตุ ผล ในธรรมทั้งหลายแล้ว ที่ว่า ศีล ให้รักษาที่กายแลวาจา สมาธิ ให้รักษาที่ใจ ไม่ปรากฏเห็นมี ณ ที่ใด หากผู้เขียนจำตำราที่เขียนไว้ไม่เข้าใจ หรือตีความหมายของท่านไม่ถูก เพราะความโฉดเขลาเบาปัญญาของตนเอง ก็สุดวิสัย
พระพุทธองค์ยังทรงเทศนาให้พระผู้กระสันอยากสึกว่า พระวินัยในพระศาสนานี้มีมากนัก ข้าพระองค์ไม่สามารถจะรักษาให้บริบูรณ์ได้ ข้าพระองค์จะสึกละ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “อย่าสึกเลย ถ้าพระวินัยมันมากนัก เธอจงรักษาเอาแต่ใจอันเดียวเถิด” นี่แหละ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เอาแต่ใจอันเดียวซ้ำเป็นไร นี้เรารักษาศีล จะทิ้งใจเสีย แล้วจะรักษาศีลได้อย่างไร ผู้เขียนมืดแปดด้านเลยจริง ๆ

ฆราวาสผู้มีศรัทธาแก่กล้า จะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็ได้ แต่ศีล ๑๐ นั้น รักษาตลอดเวลาไม่ได้ ถ้าเรามีศรัทธา จะรักษาเป็นครั้งคราวนั้นได้ ส่วนศีล ๒๒๗ ก็เช่นเดียวกัน จะรักษาข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ พระพุทธเจ้าพระองค์ไม่ห้าม แต่อย่าไปสมาทานก็แล้วกัน
อย่างครั้งพระฆฏิการพรหมเสวยพระชาติเป็นฆฏิการบุรุษ เลี้ยงบิดามารดาตาบอดทั้งสองข้าง ทั้งสองข้าง ทั้งสองคน ด้วยการตีหม้อเอาไปแลกอาหารมาเลี้ยงบิดา มารดา ตาบอด อยู่มาวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าชื่อ กัสสปะ เสนาสนะของสงฆ์ไม่มีเครื่องมุง พระองค์ใช้ให้พระไปขอเครื่องมุงกับฆฏิการบุรุษ ฆฏิการบุรุษรื้อหลังคาบ้านถวายพระสงฆ์ทั้งหมด ในพรรษานั้น ฆฏิการบุรุษมุงด้วยอากาศตลอดพรรษา ฝนไม่รั่วเลย

วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินนิมนต์พระพุทธเจ้าชื่อ กัสสปะ เข้าไปเสวยในพระราชวัง
พอเสร็จแล้วจึงได้อาราธนาขอนิมนต์ให้จำพรรษาในสวนพระราชอุทยาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า
“ขอถวายพระพร อาตมาภาพได้รับนิมนต์ของฆฏิการบุรุษก่อนแล้ว”
พระเจ้าแผ่นดินจึงตรัสว่า “ข้าพระองค์เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลายในแว่นแคว้นอันนี้มิใช่หรือ เมื่อข้าพระองค์นิมนต์ทำไมจึงไม่รับ ฆฏิการบุรุษมีดีอย่างไร”
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเล่าพฤติการณ์ของฆฏิการบุรุษถวายพระเจ้าแผ่นดิน ตั้งแต่ต้นจนอวสาน
เมื่อพระองค์ได้สดับแล้วก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในฆฏิการบุรุษเป็นอันมาก จึงให้ราชบุรุษเอาเกวียนบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ มีข้าวสาร ถั่ว งา เนยใส เนยข้น เปรียง(น้ำมัน) เป็นต้น ไปให้แก่ฆฏิการบุรุษ
เมื่อฆฏิการบุรุษเห็นจึงถามว่า นั้นใครให้เอามา ราชบุรุษจึงบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้เอามาให้ท่าน
ฆฏิการบุรุษจึงบอกว่า ดีแล้วพระเจ้าแผ่นดินพระองค์มีภาระมาก เลี้ยงผู้คนเป็นจำนวนมาก เราหาเลี้ยงกับสามคนไม่ลำบากอะไร
ช่วยกราบบังคมทูลว่าของทั้งหมด เราขอถวายคืนให้พระเจ้าแผ่นดินไว้ตามเดิมก็แล้วกัน

ฆฏิการบุรุษเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้า เพียงแค่ขุดดินมาปั้นหม้อก็ไม่ทำ อุตส่าห์ไปหา ขุยหนู ขุยตุ่น และตลิ่งที่มันพัง เอามาปั้นหม้อ ส่วนสิกขาบทที่หยาบกว่านั้น ทำไมผู้รักษาศีลจะละเว้นไม่ได้ (ขุย = ดินที่สัตว์เล็กขุดทิ้งไว้ที่ปากรู)
ศีล ๕ เป็นเสมือนท่านบัญญัติตราไว้สำหรับโลกนี้ ผู้จะทำดีต้องเว้นข้อห้าม ๕ ประการนี้ ผู้จะประพฤติความชั่วก็ทำตาม ๕ ข้อนี้เป็นหลักฐาน จะพ้นจาก ๕ ข้อนี้แล้วไม่มี
ผู้จะถึงพระไตรสรณาคมน์ ต้องถือหลัก ๕ ประการนี้ให้มั่นคง คือ
ไม่ประมาทพระพุทธเจ้า ๑ ไม่ประมาทพระธรรม ๑ ไม่ประมาทพระสงฆ์ ๑
ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
เชื่อว่าเราทำดีต้องได้ดี เราทำชั่วต้องได้ชั่ว
ไม่เชื่อว่าของภายนอกจะมาป้องกันภัยพิบัติเราได้ ๑
ไม่ทำบุญภายนอกพระพุทธศาสนา ๑


การเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ว่าเราทำดีย่อมได้ดี เราทำชั่วย่อมได้ความชั่ว ชัดเจนในใจของตนแล้ว ศีล ๕ ย่อมไหลมาเอง ๓ ข้อเบื้องต้นแลข้อหนึ่งเบื้องปลาย ไม่เป็นของสำคัญ
ฆราวาสต้องสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ถึงศีล ๑๐ แลศีล ๒๒๗ ฆราวาสก็รักษาได้เป็นข้อ ๆ แต่อย่าสมาทานก็แล้วกัน เพราะศีลคือข้อห้ามไม่ให้ทำบาป ฆราวาสก็ไม่มีข้อบังคับว่าไม่ให้ทำบาปเท่านั้นข้อเท่านี้ข้อ ถึงแม้พระภิกษุแลสามเณรก็เหมือนกัน ที่พระองค์บัญญัติไว้ ฆราวาสต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๘ สามเณรต้องรักษาศีล ๑๐ ภิกษุต้องรักษาศีล ๒๒๗ นั้น พระองค์ทรงบัญญัติพอให้เป็นมาตรฐานเบื้องต้น ให้เป็นเครื่องหมายว่า ฆราวาส สามเณร ภิกษุ มีชั้นภูมิต่างกันอย่างนี้ ๆ เท่านั้น
ถ้าเห็นว่าบาปกรรมที่ตนทำลงแล้วจะต้องตกมาเป็นของเราเอง แล้วงดเว้นจากบาปกรรมนั้น ๆ จะมากเท่าไรยิ่งเป็นการดี ดังที่อธิบายมาแล้ว พระพุทธองค์ก็มิได้ห้าม ทรงห้ามแต่การกระทำความชั่วอย่างเดียว

เมื่อพูดถึงความชั่ว คือบาปแล้ว คนเกิดมาในโลกนี้เจอะเอามากเหลือเกิน แทบจะกระดิกตัวไม่ได้เลยทีเดียว กระดิกตัวไปที่ไหนก็เจอแต่บาปทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงสรุปให้พวกเราเห็นย่อ ๆ ไว้ดังนี้
ให้เข้าหาจิต จับจิตผู้คิด ผู้นึก ให้ได้เสียก่อน จิต มันคิดนึกอยากจะทำบาปทางกาย มันสั่งให้กายนี้ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ของคนอื่น สั่งให้กายนี้ไปประพฤติผิดในกาม จิตมันคิดนึกอยากจะทำบาปด้วยวาจา มันก็สั่งวาจาให้ไปกระทำบาป ด้วยการพูดเท็จ พูดคำหยาบคาย ด่าคนนั้นคนนี้ พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล หาประโยชน์มิได้ จิตมันคิดนึกอยากจะทำความชั่วทางกาย ด้วยการกระทำกายอันนี้ให้เป็นคนบ้า มันก็ให้กายนี้เอาน้ำเมามากรอกใส่ปาก แล้วก็ดื่มลงไปในลำคอ กายก็จะแสดงฤทธิ์บ้าออกมาต่าง ๆ นานา
ตรงกันข้าม ถ้าจิตมันละอายจากบาป กลัวบาปกรรม เห็นโทษที่จิตคิดไปทำเช่นนั้น แล้วจิตไม่คิดนึกที่จะทำเช่นนั้นเสีย กายแลวาจาอันนี้ก็จะเป็นศีลขึ้นมา
นี่แหละ ถ้าผู้ใดเห็นจิตอันมีอยู่ในกาย แลวาจาอันนี้แล้ว แลจับจิตอันนี้ได้แล้ว จะเห็นบาปกรรมแลศีลธรรม ซึ่งอยู่ในโลกทั้งหมด บาปกรรม ศีล แลธรรม ย่อมเกิดจากจิตนี้อันเดียวเท่านั้น ถ้าจิตอันนี้ไม่มีเสียแล้ว บาปกรรม ศีล แลธรรม เหล่านั้นก็ไม่มี รักษาศีลต้องถือจิต รักษาจิตก่อน จึงรักษาศีลถูกตัวศีลแท้

ดังผู้เขียนเคยได้ยินพระบางรูปพูดว่า พระมีศีล ๒๒๗ ข้อ ฆราวาสมีศีล ๕ ข้อ ฆราวาสต้องรักษาศีลให้ดีนะ ถ้าไม่ดีมันขาดเอา ถ้าข้อหนึ่งก็คงยังเหลือ ๒ ข้อ ถ้าขาด ๔ ข้อก็คงยังเหลือข้อเดียว ถ้าขาด ๕ ข้อก็หมดกันเลย
ไม่เหมือนพระภิกษุท่านมีศีล ๒๒๗ ข้อ ถึงท่านขาด ๙–๑๐ ข้อ ท่านก็ยังเหลืออยู่แยะนี่ แสดงว่าท่านองค์นั้นท่านรักษาศีลไม่ได้รักษาที่ใจ รักษาแต่กาย วาจา ๒ อย่างเท่านั้น ไม่ได้คิดว่า ใจผู้คิดล่วงละเมิดในสิกขาบทนั้น ๆ เป็นบาป แล้วจึงบังคับให้กาย วาจาทำ ก็สนุกดีเหมือนกัน เอาศีลสิกขาบทนั้น ๆ มาอวดอ้างกันว่าใครจะมีศีลมากกว่ากัน

ความจริงแล้ว พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้นั้น ทรงบัญญัติเข้าถึงกาย วาจาและใจ
ที่แสดงออกมาทางกายแลวาจานั้น ส่อถึงจิตผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง แล้วจึงบังคับให้กาย แลวาจา กระทำตามต่างหาก ดังที่อธิบายมาแล้วในข้างต้น

พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ เพื่อให้พระภิกษุสามเณร ผู้ไม่รู้พระวินัยให้ปฏิบัติตามนั้น นับว่าเป็นบุญแก่พวกเราอักโขแล้ว ประพฤติ สิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม ไม่เหมาะสมแก่สมณสารูป พระองค์ห้ามไว้ไม่ให้กระทำ เพื่อความดีของตนเองนั้นแหละ มิใช่เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น แลมิใช่เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ เราหาที่พึ่งไม่ได้แล้ว พระองค์มาเป็นที่พึ่ง ชี้บอกทางให้ นับว่าเป็นบุญเหลือล้นแก่พวกเราแล้ว
ผู้รักษาศีลไม่เข้าถึงใจ ถึงจิตแล้ว รักษาศีลยาก หรือ รักษาศีลเป็น “โคบาลกะ” ว่า เมื่อไหร่หนอจะถึงเวลามืดค่ำ จะไล่โคเข้าคอก แล้วเราจะได้พักผ่อนนอนสบาย ไม่เข้าใจว่า
เรารักษาศีลเพื่อความบริสุทธิ์สะอาดของกาย วาจา แลใจ
รักษาได้นานเท่าไร มากเท่าไร ยิ่งสะอาดมากเท่านั้น
รักษาจนตลอดชีวิตได้ยิ่งดีใหญ่
เราจะได้ละความชั่วได้ในชาตินี้ไปเสียที
[/color]

คนเราไม่รู้จักศีล (คือตัวของเรา) และไม่เข้าถึงศีล (คือข้องดเว้น ข้อห้ามไม่ให้ทำความชั่ว) จึงโทษพระองค์ว่า บัญญัติศีลไว้มากมาย สมาทานไม่ไหว มีคนบางคนพูดว่า บวชนานเท่าไร ดูพระวินัยมาก ๆ มีแต่ข้อห้าม นั่นก็เป็นอาบัติ นี่ก็เป็นอาบัติ
คำพูดของผู้เห็นเช่นนั้นนับว่าน่าสลดสังเวชมาก พระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในเมืองไทยของเรา นับตั้งสองพันกว่าปีแล้ว แสงธรรมยังไม่ส่องถึงจิต ถึงใจของเขาเลย น่าสงสารจริง ๆ เหมือนกับเต่านอนเฝ้ากอบัว ไม่รู้จักกลิ่นดอกบัวเลย

เมื่อศีลเข้าถึงจิต เข้าถึงใจแล้ว เราไม่ต้องรักษาศีล ศีลกลับมารักษาตัวเราเอง ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใด ๆ ศีลต้องระวังสังวรอยู่ทุกอริยาบถ ไม่ให้ละเมิดทำความชั่ว แม้แต่จิตจะคิดวิตกว่าเราจะทำความชั่ว ก็รู้แล้ว แลจะละอายต่อความชั่วนั้น ๆ ทั้งที่คนทั้งหลายยังไม่ทันจะรู้ความวิตกของเรานั้นเลย
ความเกลียด โกรธ พยาบาท อาฆาต ทั้งหลายมันจะมีมาจากไหน เพราะหัวใจมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา เข้ามาอยู่เต็มไปหมดแล้วในหัวใจ
ศีล คือ ความปกติของกาย วาจา แลใจ
ถ้าใจไม่ปกติเสียแล้ว กาย วาจา มันจะปกติไม่ได้
เพราะกาย วาจา มันอยู่ในบังคับของจิต
ดังอธิบายมาแล้วแต่เบื้องต้น

เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการให้เข้าถึงศีลที่แท้จริง แลเข้าถึงพุทธศาสนาให้จริงจัง
พึงฝึกหัดจิตของตนให้เป็นสมาธิต่อไป
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:28:27 pm »

ขั้นที่ ๓ การฝึกหัดสมาธิ

ก็ไม่พ้นไปจากฝึกหัดกาย วาจาแลใจอีกนั่นแหละ ใครจะฝึกหัดโดยวิธีใด ๆ ก็แล้วแต่เถอะ ถ้าฝึกหัดสมาธิที่ถูกในทางพระพุทธศาสนาแล้ว จำจะต้องฝึกหัดที่กาย วาจา แลใจ นี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะพระพุทธศาสนาที่สอน สอนที่ กาย วาจา แลใจ นี้อย่างเดียว ไม่ได้สอนที่อื่น ๓ อย่างนี้ ถ้ายังพูดถึงพระพุทธศาสนาอยู่ตราบใด หรือพูดถึงการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ตราบใด พูดถึงมรรค ผล นิพพาน อยู่ตราบใด ย่อมไม่พ้นจากกาย วาจา แลใจ ถ้ายังมีสมมุติบัญญัติอยู่ตราบใด ต้องพูดถึง กาย วาจา แลใจ อยู่ตราบนั้น ถ้ายังไม่ดับขันธ์เป็นอนุปาทิเสสนิพพานเมื่อใด จำจะต้องพูดถึงอยู่ตราบนั้น

ฝึกหัดสมาธิภาวนา นึกเอามรณานุสติเป็นอารมณ์ ให้นึกถึงความตายว่า เราจะต้องตายแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะความ ตายเป็นที่สุดของชีวิตคนเรา เมื่อตายแล้วก็ทอดทิ้งสิ่งทั้งปวงหมด ไม่ว่าจะของรักและหวงแหนสักปานใด ต้องทอดทิ้งทั้งหมด การบริกรรมมรณานุสติเป็นอุบายที่สุดของอุบายทั้งปวง จะพิจารณาลมหายใจเข้า หายใจออก ในที่สุดก็ลงความตาย จะพิจารณาอสุภกรรมฐาน ในที่สุดก็ลงความตาย

เมื่อพิจารณาถึงความตายแล้ว มันมิอาลัยในสิ่งทั้งปวงหมดสิ้นจะคงเหลือแต่จิตอันเดียวนั้นแหละ ได้ชื่อว่าชำระจิตแล้ว แล้วจะมีขณะหนึ่ง จิตจะรวมเข้าเป็น สมาธิ คือจิตจะหยุดนิ่งเฉย ไม่คิด ไม่นึกอะไรทั้งหมด แต่รู้ตัวอยู่ว่าเราอยู่เฉย จะนานเท่าไรก็ได้ ถ้าจิตนั้นมีพลังแก่กล้า
บางทีเมื่อชำระจิต ปราศจากอารมณ์ทั้งหมดแล้ว จะยังเหลือแต่จิตดังอธิบายมาแล้ว จิต จะรวมเข้า มีอาการวูบวาบเข้าไป แล้วจะเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ หลายอย่าง นั่นก็อย่าไปยึดเอา นั้นแหละเป็นตัวมารอย่างร้ายกาจ ถ้าไปยึดเอา สมาธิจะเสื่อมเสีย แต่คนทั้งหลายก็ไปยึดเอาอยู่นั้นแหละ เพราะเห็นเป็นของแปลกประหลาด แลบางอาจารย์ก็สอนให้ไปยึดถือเอาเป็นอารมณ์เสียด้วย จะเป็นเพราะท่านไม่เคยเป็น หรือท่านไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นมาร ก็ไม่ทราบ

บางคนฝึกหัดภาวนาสมาธิ ใช้คำบริกรรมว่า “อานาปานุสติ” โดยพิจารณาลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ต้องตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ต้องตาย ความตายของคนเรามีอยู่นิดเดียว มีเพียงแค่หายใจเข้า หายใจออก เท่านี้เอง แล้วพึงจับเอาแต่จิตนั้น ลมก็จะหายไปเองโดยไม่รู้ตัว จะยังเหลือแต่จิตใสสว่างแจ๋วอยู่ผู้เดียว จิตที่ใสสว่างนี้ ถ้ามีสติแก่กล้าจะอยู่ได้นาน ๆ ถ้าสติอ่อนจะไม่นาน หรือรวมเข้าภวังค์เลยก็ได้

จิตเข้าภวังค์นี้จะมีอาการหลายอย่าง อย่างหนึ่งเมื่อจิตจะรวม จิตน้อมเข้าไปยินดีพอใจกับสุขสงบที่จิตรวมนั้น แล้วจิตจะเข้าภวังค์ มีอาการเหมือนกับคนนอนหลับ หายเงียบเลย อยู่ได้นาน ๆ ตั้งเป็นหลายชั่วโมงก็มี บางคนขณะที่จิตเข้าภวังค์อยู่นั้น มันจะส่งไปเห็นนั่นเห็นนี่ต่าง ๆ นานา บางทีเป็นจริงบ้างไม่จริงบ้าง บางคนก็ไม่เห็นอะไร เงียบไปเฉย ๆ เมื่อถอนออกจากภวังค์มาแล้ว จำนิมิตนั้นได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนมีอาการวูบเข้าไปเปลี่ยนสภาพของจิตแล้วเฉยอยู่ มันเกิดหลายเรื่อง หลายอย่าง แล้วแต่อุปนิสัยของคน

ภวังค์นี้ถึงมิใช่หนทางให้พ้นจากทุกข์ก็จริงแล แต่มันเป็นหนทางให้ถึงความบริสุทธิ์ได้ ผู้ฝึกหัดจะต้องเป็นไปเป็นขั้นแรก แลเราจะแต่งเอาไม่ให้เป็นก็ไม่ได้ ผู้ฝึกหัดสมาธิจะเป็นทุก ๆ คนถ้าสติอ่อน หมั่นเป็นบ่อย ๆ จนเคยชินแล้ว เห็นว่าไม่ใช่หนทางแล้ว มันหากแก้ตัวมันเองดอก ดีเหมือนกันนั่งหลับ มันเป็นเหตุให้ระงับจิตฟุ้งซ่านไปพักหนึ่ง ดีกว่าจิตไปฟุ้งซ่านหาโน่นหานี่ ตลอดวันค่ำคืนรุ่ง สิ่งทั้งปวง ถ้าเราไม่เห็นด้วยตัวเองแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เรารู้ไว้มาก ๆ แล้วภายหลังจะได้ไม่หลงอีก

บางคนฝึกหัดภาวนา กำหนดเอา อสุภะ เป็นอารมณ์ พิจารณาร่างกายตัวของเรา ให้เห็นเป็นอสุภะไปทั้งตัวเลย หรือพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งให้เป็นอสุภะก็ได้ เช่น พิจารณาผม ขน เล็บ หรือจะพิจารณาของภายในมี ตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น ให้เห็นเป็นปฏิกูลเปื่อยเน่า น่าพึงเกลียด เป็นของไม่งาม ให้พิจารณาจนเห็นชัด
เบื้องต้นพึงพิจารณาโดยอนุโลมเอาของภายนอกมาเทียบ เช่น เห็นคนตาย หรือสัตว์ตายขึ้นอืดอยู่เอามาเทียบกับตัวของเราว่า เราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันค่อยเห็นตัวของเราชัดขึ้นโดยลำดับ จนชัดขึ้นมาในใจ แล้วจะเกิดความสังเวชสลดใจ จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิ นิ่งแน่วเป็นอารมณ์อันเดียว ถ้าสติอ่อนจิตจะน้อมเข้าไปยินดีกับความสงบสุข มันจะเข้าสู่ภวังค์ มีอาการดังอธิบายมาแล้วในเรื่อง มรณานุสติ แล อานาปานุสติ วางคำบริกรรมแล้วสงบนิ่งเฉยบางคนก็เกิดนิมิตต่าง ๆ นานา เกิดแสงสว่างเหมือนกับพระอาทิตย์ แลพระจันทร์ เห็นดวงดาว เห็นกระทั่งเทวดา หรือภูต ผี ปีศาจ แล้วหลงไปจับเอานิมิตนั้น ๆ สมาธิเลยเสื่อมหายไป

บางอาจารย์เมื่อนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว สอนให้ถือเอานิมิตนั้น เป็นขั้นเป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น เช่น นิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์ ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น
ไปถือเอาแสงภายนอก ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์ ความเห็นเช่นนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก ผู้อยากได้ชั้นได้ภูมิ เมื่ออาจารย์ถาม ก็แสดงถึงแสงอย่างนั้น แล้วก็ถือว่าตนถึงขั้นนั้นแล้ว แต่อาจารย์ไม่ถามถึงกิเลส แลตนก็ไม่รู้กิเลสของตนเลยว่ามันมีเท่าไร มันหมดไปเท่าไรแล้ว เดี๋ยวกิเลสคือโทสะ มันเกิดขึ้นมา หน้าแดงก่ำ มรรคผลนั้นเลยหายหมด การสอนให้จับเอานิมิต เกิดทีแรกแล้วทีหลังไม่เป็นอีกเด็ดขาด อย่างนี้มันจะเป็นของจริงได้อย่างไร นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร

จริงอยู่ คนภายนอกพระพุทธศาสนาก็ทำสมาธิได้มิใช่หรือ เช่น ฤๅษีชีไพร เป็นต้น
คนเหล่านี้เขาทำกันมาแต่พระพุทธเจ้าของเรายังไม่อุบัติขึ้นในโลก เขาทำก็ได้เพียงแค่ขั้นโลกิยฌานเท่านั้น
ส่วนโลกุตรสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนแต่พระองค์เดียว ไม่มีใครสอนได้ในโลก
ผู้เข้าถึงฌานสำคัญตนว่าเป็นสมาธิแล้ว ก็เลยพอใจยินดีในฌานนั้น ติดอยู่ในฌานนั้น

ฌาน กับ สมาธิ มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ผู้ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นเป็นอันเดียวกัน
เพราะ ฌาน แล สมาธิ สับเปลี่ยนกันได้ อารมณ์ก็อันเดียวกัน ต่างแต่การเข้าภวังค์ แลเข้าสมาธิเท่านั้น
เมื่อเข้าภวังค์ จะน้อมจิตลงสู่ความสงบสุขอย่างเดียวแล้วก็เข้าภวังค์เลย
ถ้าเข้าสมาธิ จิตจะกล้าแข็ง มีสติอยู่เป็นนิจ จะไม่ยอมน้อมจิตเข้าสู่ความสงบสุข
จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ช่าง แต่จิตนั้นจะพิจารณาอยู่ในธรรมอันเดียวอย่างนี้เรียกว่า สมาธิ

แท้จริงนิมิตทั้งหลาย ดังที่ได้อธิบายมาแล้วก็ดี หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี ถึงมิใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ก็จริงแล
แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุก ๆ คน เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวมเข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี
เมื่อผู้มีวาสนาเคยได้กระทำมาเมื่อก่อน เมื่อเกิดนิมิตแล้ว จะพ้นจากนิมิตนั้นหรือไม่
ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน หรืออาจารย์ของผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่
เพราะของพรรค์นี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ ถ้าหาไม่แล้วก็จะต้องจมอยู่ปลัก
คือนิมิตนั้น นานแสนนาน เช่น อาฬารดาบส แลอุททกดาบส เป็นตัวอย่าง

ความรู้แลนิมิตต่าง ๆ เกิดจากคำบริกรรม เมื่อจิตรวมเข้าภวังค์แล้ว
คำบริกรรมมีมากมาย ท่านแสดงไว้ในตำรามีถึง ๔ อย่าง มีอนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น
ที่พระสาวกบางองค์บริกรรมแล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ยังมีมากกว่านี้ แต่ท่านไม่ได้เอารวมไว้ในที่นี้
ยังมีมากกว่านั้น เช่น องค์หนึ่งไปนั่งอยู่ริมสระน้ำ เห็นนกกระยางโฉบกินปลา
ท่านไปจับเอามาเป็นคำบริกรรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
คำบริกรรมแล้วแต่อัธยาศัยของบุคคล มันถูกกับอัธยาศัยของตนก็ใช้ได้ทั้งนั้น
ที่ท่านแสดงไว้ ๔๐ อย่างนั้น พอเป็นเบื้องต้นเฉย ๆ ดอก
ถึงผู้เขียนนำมาแสดงไว้ ๓ อย่างนั้น ก็พอเป็นบทเบื้องต้นข้อใหญ่ที่สำคัญ ๆ เท่านั้น
ผู้ภาวนาถ้าไม่ถูกจริตนิสัยของตนแล้ว จะเอาอะไรก็ได้ แต่ให้เอาอันเดียว
อย่าเอาหลายอย่างมันจะฟุ้งแลลังเลไม่ตั้งมั่นในคำบริกรรมของตน

คำบริกรรมนี้ให้เอาอันเดียว ถ้ามากอย่างจิตจะไม่รวม
เมื่อพิจารณาไป ๆ แล้ว จิตมันจะมารวมนิ่งเฉยอยู่คนเดียว แล้วให้วางคำบริกรรมนั้นเสีย
ให้จับเอาแต่จิตผู้นิ่งเฉยนั้น ถ้าไม่วางคำบริกรรมเดี๋ยวมันจะฟุ้งอีก จับจิตไม่ได้
ถึงฌาน แลสมาธิ ก็เหมือนกัน เมื่อเกิดนิมิตแลความรู้ต่าง ๆ
แล้วไปจับเอานิมิตแลความรู้นั้น ไม่เข้ามาดูตัวผู้ที่ส่งออกไปดูนิมิตแลความรู้นั้น
เมื่อความรู้แลนิมิตนั้นหายไปแล้วจับเอาจิตไม่ได้

ใจ ๑ นิมิต ๑ ผู้ส่งออกไปดูนิมิต ๑ สามอย่างนี้ให้สังเกตให้ดี
เมื่อนิมิตแลความรู้เกิดขึ้น อาการทั้งสามอย่างนี้จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน
ถ้าจับ ใจ คือ “ผู้รู้” ไม่ได้ เมื่อนิมิตและความรู้นั้นหายไป ผู้รู้อันนั้นก็หายไปด้วยแล้วจะจับเอาตัวผู้รู้นั้นไม่ได้สักที

คำบริกรรม ก็ต้องการให้จิตรวมเข้าอยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อจิตรวมเข้ามาอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ววางคำบริกรรมนั้นเสีย จับเอาแต่ผู้รู้อันเดียวก็ใช้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ตาม ผู้บริกรรมภาวนาทั้งหลาย ขอให้พิจารณาดูให้ถี่ถ้วน บริกรรมอันเดียวกัน แต่เวลามันรวมเข้าเป็นภวังค์ แลเป็นสมาธิมันต่างกัน คือว่า
บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ จนแน่ชัดว่าเราต้องตายแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งตายแล้วไปคนเดียว สิ่งทั้งปวงละทิ้งหมด แม้แต่ปิยชนของเราเอาไปด้วยก็ไม่ได้ เมื่อเห็นชัดเช่นนั้นแล้ว จิตจะเพ่งแต่ความตายอย่างเดียว จะไม่เกี่ยวข้องถึงเรื่องอื่นทั้งหมดแล้ว จิตจะรวมเข้าเป็นภวังค์หายเงียบ ไม่รู้สึกตัวสักพักหนึ่ง หรือรวมเข้าเป็นภวังค์วูบวาบคล้ายกับคนนอนหลับ แล้วเกิดความรู้ตัวอยู่อีกโลกหนึ่ง (โลกของจิต) แล้วมีความรู้เห็นทุกอย่างเหมือนกับความรู้เห็นที่อยู่ในโลกนี้ แต่มันยิ่งกว่าโลกนี้ แลจะเทียบกับโลกนี้ไม่ได้ เป็นแต่รู้สึกได้ในเมื่อจิตนั้นยังไม่ออกจาภวังค์ หรือจิตมีอาการดังกล่าวแล้วเข้าไปนิ่งเฉยอยู่ไม่มีอารมณ์ใด ๆ ทั้งหมด นอกจากความนิ่งเฉยอย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า จิตรวมเข้าเป็น “ภวังค์”

บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตาย ดังอธิบายแล้วแต่เบื้องต้น แต่คราวนี้เวลามันจะรวมเข้าเป็นสมาธิ มันจะต้องตั้งสติให้กล้าหาญ เข้มแข็งไม่ยอมให้จิตเข้าสู่ภวังค์ได้ พิจารณา มรณานุสติ ถึงเหตุแห่งความเกิดว่า มันเกิดอย่างไร พิจารณาถึงความตายว่า มันตายอย่างไร ตายแล้วไปเป็นอะไร จนความรู้แจ่มแจ้งชัดขึ้นมาในใจ จนจิตเกิดความปราโมทย์ร่าเริงอยู่กับความปราโมทย์นั้น (จะไม่มีปีติ ปีติเป็นอาการของฌาน) อย่างนี้เรียกว่า “สมาธิ”

ฌาน แล สมาธิ พิจารณาคำบริกรรมอันเดียวกัน แต่จิตที่มันเข้าไปมันต่างกัน ฌาน รวมเข้าไปเป็นภวังค์ ให้นึกน้อมเอาอารมณ์อันเดียวคือ ความตาย แลเพื่อความสงบอย่างเดียวแล้วเป็นภวังค์ ส่วน สมาธิ นั้น ตั้งสติให้กล้าแข็ง พิจารณาความตายให้เห็นชัดตามเป็นจริงทุกสิ่ง จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ไม่คำนึงถึง ขอแต่ให้เห็นชัดก็แล้วกัน แต่ด้วยจิตที่แน่วแน่พิจารณาอารมณ์อันนั้น มันเลยกลายเป็นสมาธิไปในตัว เกิดความรู้ชัดขึ้นมา เกิดปราโมทย์ร่าเริงในธรรมที่ตนพิจารณาอยู่นั้น แจ่มแจ้งอยู่ในที่เดียวแลคนเดียว จะพิจารณาไปรอบ ๆ ข้าง ก็จะมาชัดแจ้งในที่เดียว หายสงสัยหมด

ฌาน แล สมาธิ บริกรรมอันเดียวกัน แต่มันเป็นฌาน แลเป็นสมาธิต่างกันดังอธิบายมานี้ พอเป็นตัวอย่างแก่ผู้ปฏิบัติ นอกเหนือจากคำว่าบริกรรมที่อธิบายแล้ว จะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ได้ แต่มันเป็นฌาน แลสมาธิ จะต่างกันตรงที่มันจะรวมไปเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดไม่ต้องไปถือเอาคำ ที่ฌาน ภวังค์ แลสมาธิ ให้พิจารณาเอาแต่อาการของจิตที่รวมเข้าไปมีอาการต่างกันอย่างไร ดังได้อธิบายมาแล้ว ก็จะเห็นชัดเลยทีเดียว

ผู้ทำฌานได้ชำนาญคล่องแคล่ว จะเข้าจะออกเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว ถ้าหากผู้นั้นเคยบำเพ็ญมาแล้วแต่ชาติก่อน ก็จะทำอภินิหารได้ตามความต้องการของตน เป็นต้นว่า มีความรู้เห็นนิมิตตนเองแลคนอื่น เคยได้เป็นบิดา มารดา เป็นบุตร ธิดา แลสามี ภรรยา หรือเคยได้จองเวรจองกรรม อาฆาต บาดหมางแก่กันและกันมาแล้วแต่ชาติก่อน เรียกว่า “อตีตังสญาณ” อตีตังสญาณนี้ บางทีบอกชื่อแลสถานที่ที่เคยกระทำมาแล้วนั้นพร้อมเลยทีเดียว

บางทีก็เห็นนิมิตแลความรู้ขึ้นมาว่าตนเอง แลคนอื่น มีญาติพี่น้องเราเป็นต้น ที่มีชีวิตอยู่ จะต้องตายวันนั้นวันนี้
หรือปีนั้นปีนี้ หรือจะได้โชคลาภ หรือเป็นทุกข์จนอย่างนั้น ๆ
เมื่อถึงกำหนดเวลาก็เป็นจริงอย่างที่รู้เห็นนั้นจริง ๆ นี้เรียกว่า “อนาคตังสญาณ”

“ อาสวักขยญาณ” ท่านว่า ความรู้เห็นในอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ข้อนี้ผู้เขียนขอวินิจฉัยไว้สักนิดเถอะ เพราะกังขามานานแล้ว ถ้าแปลว่าความรู้ความเห็นของท่านผู้นั้น ๆ ท่านทำให้สิ้นอาสวะไปแล้วก็ยังจะเข้าใจบ้าง เพราะญาณก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี เกิดจากฌานทั้งนั้น และในนั้นก็บอกชัดอยู่แล้ว ฌาน ถ้าแปลว่า ความรู้เห็นอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ก็แสดงว่า ได้ฌานแล้วทำหน้าที่แทนมัคคสมังคีในมัคค์นั้นได้เลย ถ้าพูดอย่างนี้มันตรงกันข้ามกับที่ว่า มัคคสมังคี เป็นเครื่องประหารกิเลสแต่ละมัคค์

ญาณ ๓ เกิดจากฌาน ฌานดีแต่รู้เห็นคนอื่น สิ่งอื่น ส่วนกิเลสภายในใจของตนหาได้รู้ไม่
ญาณ ๓ ก็ดี หรือบรรดาญาณทุกอย่าง
ไม่เคยได้ยินท่านกล่าวไว้ที่ไหนเลยว่า “ญาณประหาร” มีแต่ “มัคคประหาร” ทั้งนั้น
มีแต่ อาสวักขยญาณ นี้แหละที่แปลว่าวิชาความรู้ อันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป
จึงเป็นที่น่าสงสัยยิ่งนัก ท่านผู้รู้ทั้งหลายกรุณาพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้ด้วย
ถ้าเห็นว่าไม่ตรงตามผู้เขียนแล้ว โปรดจดหมายส่งไปที่ที่อยู่ของผู้เขียนข้างต้นด้วย
จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง

“อาสวักขยญาณ” มิได้เกิดจากฌาน ฌานเป็นโลกียะทั้งหมดตลอดถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ
เพราะโลกุตตรฌาน ไม่เห็นท่านแสดงไว้ว่ามีองค์เท่านั้นเท่านี้
ท่านผู้เข้าเป็นโลกุตตระต่างหาก จึงเรียกฌาน เป็นโลกุตตระตามท่าน
เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินแล้วจึงเรียกว่าทรงพระขรรค์ นี่ก็ฉันใด
ถ้าแปลว่า รู้จักท่านที่ทำกิเลสอาสวะให้สิ้นไป ก็ยังจะเข้าใจบ้าง

อนึ่ง ท่านยังแยกฌานออกเป็นภวังค์ มี ๓ คือ ภวังคุบาท ๑ ภวังคจรณะ ๑ ภวังคุปัจเฉทะ ๑
ตามลักษณะของจิตที่รวมเข้าไปเป็นภวังค์
ส่วนสมาธิก็แยกออกเป็นสมาธิ ดังอธิบายมาข้างต้นเป็น ๓ เหมือนกัน
คือ ขณิกสมาธิ ๑ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑

ส่วนการละกิเลสท่านก็แสดงไว้ ไม่ใช่ละกิเลส เป็นแต่กรณีข่มกิเลสของตนไว้ไม่ให้มันเกิดขึ้นด้วยองค์ฌานนั้น ๆ
ส่วนการละกิเลสของสมาธิท่านแสดงไว้ว่า พระโสดาบัน ละกิเลส ได้ ๓ คือ
ละสักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑
พระสกทาคามี ละได้ ๓ ตัวเบื้องต้นและยังทำให้ราคะเบาบางลงอีก
พระอนาคามี ละได้ ๓ ตัวเบื้องต้นนั้นได้เด็ดขาดแล้วยังละกามราคะและปฏิฆะให้หมดไปอีกด้วย
นี้แสดงว่าฌานเป็นโลกิยะโดยแท้ ส่วนสมาธิเป็นโลกุตตระ ละกิเลสได้ตามลำดับ ดังอธิบายมาแล้ว

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:31:44 pm »

ฌาน ถึงแม้เป็นโลกิยะก็จริงแล แต่ผู้ฝึกหัดทำสมาธิจำเป็นจะต้องผ่านฌานนี้เสียก่อน
เพราะฌาน แลสมาธิมันกลับกันได้ ด้วยอุบายแยบคายของตนเอง ผู้จะไม่ผ่านฌาน แลสมาธิ ทั้งสองนี้ไม่มี
ฝึกหัดจิตอันเดียวกัน บริกรรมภาวนาอันเดียวกัน หนีไม่พ้นฌาน แลสมาธิ เป็นอันขาด
ฌาน แลสมาธิ เบื้องต้นเป็นสนามฝึกหัดของจิตของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย
พระโยคาวจรเจ้าฝึกหัดฌาน แลสมาธิทั้ง ๒ อย่างนี้ ให้ชำนิชำนาญ
รู้จักผิด รู้จักถูก ละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว จึงจะทำวิปัสสนาให้เป็นไปได้
วิปัสสนามิใช่เป็นของง่ายเลย ดังคนทั้งหลายเข้าใจกันนั้น
จิตรวมเข้ามาเป็นฌาน แลสมาธิ เป็นบางครั้งบางคราว ก็โมเมเอาว่า
ตนได้ขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว ไม่ทราบว่าถึงขั้นไหน เป็นฌาน หรือเป็นสมาธิ คุยฟุ้งเลย
ทีหลังสมาธิเสื่อมแล้วเข้าไม่ถูก

สมาธิ ก็มีลีลามากน่าดูเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนฌาน
เหมือนกับเล่นกีฬา คนหนึ่งเล่นเพื่อความมัวเมา แต่คนหนึ่งเล่นเพื่อสุขภาพอนามัย

สมาธิ นั้นเมื่อจิตรวมเข้าไป ก็รู้ว่าจิตรวมเข้าไปรู้อยู่ตลอด
เวลาจิตจะหยาบ แลละเอียดสักเท่าไร สติย่อมรวมเข้าไปรู้อยู่ตลอด
เวลาจิตจะหยาบอยู่ มันรู้อยู่แต่ภายนอก เมื่อจิตมันละเอียดเข้าไป มันก็รู้อยู่ทั้งภายนอก แลภายใน
ไม่หลงไปตามอาการของจิตของตน รู้ทั้งที่จิตเป็นธรรมแลจิตปะปนไปกับโลก
ไม่เห็นไปหน้าเดียว อย่างที่เขาพูดว่า “หลงโลก หลงธรรม” นั่นเอง
ผู้เห็นอย่างนี้แล้ว จิตก็จะเป็นกลาง วางอารมณ์ทั้งหมดเฉยได้ จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้
เมื่อจะทำก็ทำแต่สิ่งที่ควร สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำสุ่มสี่สุ่มห้า
สมาธิเป็นลักษณะของผู้ใหญ่ผู้รู้เดียงสา
กระทำฌานเป็นลักษณะของเด็กผู้ไม่รู้เดียงสากระทำ

นิมิตแลความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมาธินั้น นอกจากดังได้อธิบายมาในฌานในเบื้องต้นแล้ว
มันอาจเกิดความรู้เห็นอรรถเป็นคาถาหรือเป็นเสียงไม่มีตัวตน หรือเป็นเสียงพร้อมทั้งตัวตนขึ้นมาก็ได้
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นเครื่องเตือนตัวเองแลคนอื่นให้ระวังอันจะเกิดภัยในข้างหน้า
หรือเตือนว่าสิ่งที่ตนทำมานั้นผิด หรือถูกก็ได้
นิมิตแลความรู้อันเกิดจากสมาธิภาวนานี้ จึงนับว่าเป็นของสำคัญมากทีเดียว
เป็นเครื่องมือของนักบริหารทั้งหลาย ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น

นิมิต แลความรู้ ดังอธิบายมานั้น เมื่อจะเกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติ ย่อมเกิดในเวลาจิตเป็นอุปจารสมาธิ
แต่ตัวเองไม่รู้ว่าเป็นอุปจารสมาธิ แลรู้ได้ในขณะยืนอยู่ก็ได้ นั่งทำสมาธิก็ได้
นอนอยู่ในท่าทำสมาธิก็ได้ แม้แต่เดินไปมาอยู่ก็รู้ได้เหมือนกัน

มีหลายท่านหลายคนซึ่งไม่เคยไปที่วัดของผู้เขียนเลยสักหนเดียว แต่รู้ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว
ว่า ที่นั้น ๆ เป็นรูปร่างลักษณะอย่างนั้น ๆ เมื่อไปถึงแล้วเห็นสถานที่ต่าง ๆ ไม่ผิดเลยสักอย่างเดียว
ดังได้เห็นนิมิตไว้แต่ก่อน อันนี้จะเป็นเพราะฌาน สมาธิของเขา
หรือเพราะบุญบารมีของเขาซึ่งเคยได้ไปมาอยู่แล้วแต่ก่อน ก็ไม่ทราบได้
เมื่อถามท่านเหล่านั้นว่าเคยทำฌาน สมาธิแลภาวนาหรือไม่ ก็บอกปฏิเสธทั้งนั้น

นิมิต แลความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นกระท่อนกระแท่น ไม่ติดต่อกัน แลจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง
เพราะผู้เข้าสมาธิไม่ชำนาญ พอเข้าเป็นอุปจารสมาธิก็เกิดขึ้นแล้ว ดังได้อธิบายมาแล้วในเบื้องต้น
ไม่เหมือนท่านที่ชำนาญ ท่านที่ชำนาญแล้วท่านจะต้องเข้าสมาธิให้ถึง อัปปนาสมาธิ
แล้วจึงถอนออกมาอยู่แค่ อุปจารสมาธิ
เมื่อต้องการจะรู้จะเห็นเหตุการณ์อะไรท่านจึงวิตกถึง(คิดถึง)เรื่องนั้น เมื่อวิตกขึ้นแล้วท่านก็วางเฉย
เมื่อเหตุการณ์อะไรจะเกิดมันก็เกิดขึ้น เมื่อมันไม่มีมันก็จะไม่เกิด
เมื่อมันเกิดขึ้นเรื่องนั้น แน่นอนที่สุด เป็นจริงทุกอย่าง

ไม่เหมือนคนเราในสมัยนี้ ทำฌาน ทำสมาธิยังไม่ทันจะเกิด เอาความอยากไปข่มแล้ว
ความอยากจะเห็น อยากรู้นั้นต่าง ๆ นานา เมื่อมันไม่เห็นสิ่งที่ตนต้องการ ก็เลิกล้มความเพียรเสีย
หาว่าตนไม่มีบุญวาสนาอะไรไปต่าง ๆ นานา ความจริงตนกระทำนั้นมันถูกหนทางแล้ว
มันได้แค่นั้นก็นับว่าดีอักโขแล้ว พึงยินดีพอใจกับที่ตนได้นั้นก็ดีแล้ว
จะไปแข่งบุญวาสนากับท่านที่ได้บำเพ็ญมาแต่ก่อนไม่ได้
แข่งเรือแข่งพายยังพอแข่งได้ แข่งบุญวาสนานี้ไม่ได้เลยเด็ดขาด
บางท่านบำเพ็ญเพียรมาสักเท่าไร ๆ นิมิตแลความรู้ต่าง ๆ ไม่เกิดเลย
ทำไม่ท้อถอย ท่านสามารถบรรลุผลได้เหมือนกัน
ท่านที่ได้จตุปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ กับผู้ที่ท่านไม่ได้เลย
ถึงพระนิพพานแล้วก็เป็นอันเดียวกัน ไม่เห็นแตกต่างกันตรงไหน


คำบริกรรมนี้ ถ้าผู้ภาวนายังไม่ชำนาญ ต้องถือเป็นหลัก ภาวนาครั้งใดต้องใช้คำบริกรรมเสียก่อน
จะภาวนาโดยไม่ใช้คำบริกรรมไม่ได้ คำบริกรรมที่ดีที่สุด คือ มรณานุสติ
พิจารณาความตายแล้วไม่มีอะไรเหลือหลอ
ถ้าผู้ภาวนาชำนาญแล้วจะพิจารณาอะไรก็ได้ หรือจะไม่ใช้คำบริกรรมเลยก็ได้
ที่พิจารณาเอาแต่อารมณ์ของกรรมฐานเลยก็ได้ จิตมันจะมารวมเอง

คำบริกรรมนี้ เมื่อบริกรรมไปนาน ๆ เข้าชักจะขี้เกียจ ไม่อยากพิจารณาเสีย
จะเอาแต่ความสงบอย่างเดียว เพราะเข้าใจว่าตนเก่งพอแล้ว
แท้จริงนั้นคือความประมาท ถึงแม้วิปัสสนาก็ไม่พ้นจากมรณานุสตินี้เหมือนกัน
แต่วิปัสสนาพิจารณาให้เห็นแจ้งชัดทั้งที่เกิดขึ้น แลดับไป ด้วยเหตุปัจจัยนั้น ๆ ของสิ่งทั้งปวง
ส่วนฌาน แลสมาธินั้น พิจารณาเหมือนกันแต่เห็นบางส่วน
ไม่เห็นแจ้งชัดตลอดพร้อมด้วยเหตุปัจจัยของมัน
แต่ผู้ภาวนาทั้งหลายก็เข้าใจว่าตนเห็นตลอดแล้ว

ตัวอย่าง ดังยายแก่คนหนึ่งภาวนา บอกว่าตนเห็นตลอดแล้ว
ทุกอย่างมันเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น แม้แต่ตัวของเรานี้ก็จะต้องแตกดับ
แกภาวนาจนรับประทานอาหารอยู่ จิตรวมเข้าภวังค์จนลืมรับประทานอาหาร
นั่งตรงมองอยู่เฉย ๆ ต้มน้ำร้อนถวายพระ นั่งเฝ้ากาน้ำร้อนอยู่จนน้ำร้อนเดือดแห้งหมด
วันหนึ่ง แกนั่งภาวนาอยู่ ปรากฏว่าตัวแกไปนอนขวางทางรถยนต์อยู่
ขณะนั้นปรากฏว่ารถยนต์วิ่งปรูดมา แกก็คิดว่าตายแล้วเวลานี้ ในใจบอกว่าตายเป็นตาย
ที่ไหนได้ พอรถวิ่งมาใกล้ ๆ จวนจะถึงจริง ๆ แกลุกขึ้นทันที
นี่แหละ..ความถือว่าตัวตนเข้าไปลี้อยู่ลึกซึ้งมาก
ขนาดภาวนาจิตรวมเข้าจนไม่รู้ตัวภายนอกแล้ว ความถือภายในมันยังมีอยู่

มรณานุสสติ
ต้องพิจารณาให้ชำนิชำนาญ แลพิจารณาให้บ่อย ๆ จนให้เห็นความเกิดขึ้น แลความดับ
เมื่อดับไปแล้วมันไปเป็นอะไร จนเห็นเป็นสภาพธรรมดา ตามเป็นจริงของมัน
จนเชื่อมั่นในใจของตนเองว่าเราจะไม่หวั่นไหวต่อความตายละ
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:34:11 pm »

กายแลจิต หรือรูปกับนามก็ว่า แยกกันเกิด แลแยกกันดับ
ฉะนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อท่านมีทุกขเวทนาทางกาย
ท่านจึงแยกจิตออกจากกาย แล้วจึงเป็นสุข
เมื่อจะเกิด สัมภาวะธาตุของบิดามารดาประสมกันก่อน หรือเรียกว่าน้ำเชื้อ
หรือเรียกว่าสเปอร์มาโตซัวกับไข่ประสมกันก่อน แล้วจิตปฏิสนธิจึ่งเข้ามาเกาะ
ถ้าธาตุของบิดามารดาประสมกันไม่ได้สัดส่วนกัน เช่น อีกฝ่ายหนึ่งเสีย
เป็นต้นว่า มันแดง หรือ สีมันไม่ปกติ ก็ประสมกันไม่ติด แล้วปฏิสนธิจิตก็ตั้งไม่ติด
เรียกว่า รูปเกิดก่อน แล้วจิตจึงมาเข้าปฏิสนธิภายหลัง
เวลาดับ จิตดับก่อน กายจึงดับภายหลัง

พึงเห็นเช่นคนตาย จิตดับหมดความรู้สึกแล้ว แต่กายยังอุ่น เซลล์หรือประสาทยังมีอยู่
คนตายแล้วกลับฟื้นคืนมา ยังใช้เซลล์หรือประสาทนั้นได้ตามเดิม
เมื่อจิตเข้ามาครองร่างกายอันนี้แล้ว จิตจึงเข้าไปยึดร่างกายอันนี้หมดทุกชิ้นทุกส่วน
ว่าเป็นของกู ๆ แม้ที่สุด ร่างกายอันนี้จะแตกดับตายไปแล้ว
มันก็ยังถือว่าของกู ๆ ๆ อยู่นั่นเอง

พึงเห็นเช่นพวกเขาเหล่านั้นตายไปแล้ว ได้เสวยกรรมตายที่ตนได้กระทำไว้แต่ยังเป็นมนุษย์อยู่
ไปเกิดเป็น อทิสมานสกาย เช่น ภูต ผี ปีศาจ หรือเทวบุตร เทวดา เป็นต้น
เมื่อเขาเหล่านั้นจะแสดงให้คนเห็น ก็จะแสดงอาการที่เคยเป็นอยู่แต่ก่อนนั้นแหละ
เช่น เคยทำชั่ว จิตใจเศร้าหมอง กายสกปรก
หรือเคยทำความดี จิตใจสะอาด ร่างกายงดงามสมบูรณ์
ก็จะแสดงอย่างนั้น ๆ ให้คนเห็น
แม้ที่สุดสัตว์ตายไปตกนรก ก็แสดงภูมินรกนั้นให้คนเห็นชัดเจนเลยทีเดียว
แต่แท้จริงแล้วภพภูมิของเหล่านั้น มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเห็นได้ดอก
เพราะเขาเหล่านั้นตายไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตกับกรรมที่เขาได้กระทำไว้แล้วเท่านั้น

มนุษย์คนเรานี้เกิดมาแล้ว มายึดถือเอาร่างกายอันนี้ว่าเป็นของกู
มันแน่นหนาลึกซึ้งถึงขนาดนี้
ท่านผู้ฉลาดมาชำระจิตด้วยการทำสมาธิภาวนา ให้จิตสะอาดบริสุทธิ์แล้ว
จนเข้าถึงความเป็นกลางได้ ไม่มีอดีต อนาคต วางเฉยได้
เข้าถึงใจนั่นแลจึงพ้นจากสรรพกิเลสทั้งปวงได้
สมาธิ เป็นเรื่องของจิต แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องของวาจา แลกายด้วย
เพราะจิตมีแล้ว กายแลวาจา จะต้องมี เมื่อจิตมีแล้ว ความวิตกคือ วาจา จะต้องมี
ความวิตกนั้นและวาจามีแล้ว มันจะต้องวิ่งแส่ส่ายไปในรูปธรรม
ที่เป็นของสัตว์ และมนุษย์ทั้งหลาย แลสิ่งสารพัดวัตถุทั้งปวง
ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ จิตจะหาที่เกาะเกี่ยวไม่ได้
จิตของคนเรา ไม่ว่าหยาบ และละเอียด นับแต่กามาพจรภูมิ รูปาพจรภูมิ แลอรูปาพจรภูมิ
ต้องมีรูปธรรมเป็นเครื่องอยู่ด้วยกันทั้งนั้น มีอาตนะ ภายในภายนอก
มีสัมผัสอยู่เป็นนิจ มีผู้รู้อยู่เสมอ
แม้แต่อรูปาพจรจิต ก็มีอรูปจิตนั้นแหละเป็นเครื่องอยู่
อรูปจิตนี้ผู้ได้อรูปฌานแล้ว จะเห็นอรูปจิตด้วยอายตนะภายในของตนเองอย่างชัดทีเดียว

อายตนะภายใน ในที่นี้มิได้หมายเอาอายตนะภายในคือ หู ตา จมูก ลิ้น กายแลใจ อย่างที่ท่านแสดงไว้นั้น
แต่หมายเอาอายตนะภายในของใจ คือ หมายเอาผู้ละ อายตนะภาย ใน มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้หมดแล้ว
แต่ยังมีอายตนะภายในของใจยังมีอยู่อีก อย่างที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส อันเป็นทิพย์
เช่น เมื่อตาเห็น ก็มิได้เอาตาธรรมดานี้ไปเห็น แต่เอาตาของใจไปดู
รูปที่ตาของใจเห็นนั้น ก็มิใช่รูปที่ตาธรรมดาเห็นอยู่นี้ แต่เป็นรูปที่ตาใจเห็นต่างหาก
เสียง กลิ่น รส สัมผัส แลอารมณ์ ก็เหมือนกัน

อายตนะภายในของใจนี้ เมื่อสัมผัสเข้าแล้ว
จะซาบซึ้งยิ่งกว่าอายตนะภายในดังที่ว่ามานั้นมากเป็นทวีคูณ
แลจะสัมผัสเฉพาะตนเองเท่านั้น คนอื่นหารู้ได้ไม่
อายตนะภายในของจิตนี้พูดยาก
ผู้ไม่ได้ภาวนาจนเห็นจิตใจของตนเสียก่อนแล้ว จะพูดเท่าไร ๆ ก็ไม่เข้าใจ
จะใช้ภาษาคำพูดของคนเราธรรมดาเป็นสื่อสารนี้ยาก
จะเข้าใจไม่ได้ ต้องใช้อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบจึงจะพอเข้าใจได้

เหตุนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายผู้ไม่ชำนาญในการปฏิปทา จึงปฏิบัติไม่ค่อยลงรอยกัน
ทั้ง ๆ ที่ปฏิบัติใช้คำบริกรรมอย่างเดียวกัน
ถ้าเป็นพระคณาจารย์ผู้ใหญ่เสียแล้ว มีลูกศิษย์ลูกหามาก ๆ ก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย
ฉะนั้นจึงควรยึดเอาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นที่ตั้ง
เราปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่
แบบตำราเป็นบรรทัดเครื่องวัดให้เราดำเนินตาม มิใช่ต่างคนต่างปฏิบัติ
พุทธศาสนาคำสอนอันเดียวกัน พระศาสดาองค์เดียวกัน
แต่สาวกผู้ปฏิบัติไปคนละทางกัน
เป็นที่น่าอับอายขายขี้หน้าอย่างยิ่ง

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:40:38 pm »

อายตนะภายในที่ว่ามานี้ มันเป็นของหลอกลวงเหมือนกัน
จะเชื่อมันเป็นของจริงเป็นของจังทั้งหมดไม่ได้
ของทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้จะต้องเป็นของจริงบ้าง ของปลอมบ้าง ด้วยกันทั้งนั้น
สรรพสังขารทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด ไม่ว่าสิ่งสารพัดวัตถุ สัตว์ มนุษย์ ทั้งปวง
ล้วนแล้วแต่เป็นของหลอกลวงกันทั้งนั้น
โลก คือ จิต ของคนเรา มาหลอกลวงจิตให้หลงในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นจริงเป็นจัง
แต่แล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงมายาเท่านั้น เกิดมาแล้วก็สลาย แตกดับไปเป็นธรรมดาของมัน
เช่น มนุษย์เกิดมาจากธาตุ ๔ ประชุมกันเข้าเป็นก้อนอันหนึ่ง เขาเรียกกันว่า ก้อนธาตุ
จิตมนุษย์เข้าไปยึดถือเอา จึงสมมติเรียกว่า เป็นมนุษย์ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นหนุ่ม เป็นสาว
แต่งงานกันมีลูกออกมา หลงรักหลงใคร่
แล้วก็โกรธเกลียดชังกัน เบียดเบียน ฆ่าฟัน อิจฉาริษยา ซึ่งกันและกัน
ส่วนอาชีพการงานก็เหมือนกัน เกิดมาในโลกกับเขาแล้วจะไม่ทำก็อยู่กับเขาไม่ได้
ต้องกระทำ ทำมาค้าขาย หรือกสิกรรมกสิกร หรือเป็นข้าราชการ
ทำไปจนวันตายก็ไม่จบไม่สิ้น คนนี้ตายไปแล้วคนใหม่เกิดมาตั้งต้นทำอีก
ยังไม่ทันหมดทันสิ้นก็ตายไปอีกแล้ว
ตราบใดโลกนี้ยังมีอยู่ มนุษย์คนเราก็เกิดมาทำอยู่อย่างนี้ร่ำไปทุก ๆ คน
เมื่อตายไปแล้วก็ไม่มีใครหอบเอาสิ่งที่ตนกระทำไว้นั้นไปด้วยสักคนเดียว
แม้แต่ร่างกายก็ทอดทิ้ง เว้นแต่ กรรมดี แลกรรมชั่ว ที่ตนทำไว้เท่านั้น
ที่ตามจิตใจของตนไป

โลกจิต ที่มีวิญญาณครองยังหลอกจิตได้ ไม่เห็นแปลกอะไรเลยแม้ที่สุด
โลกที่หาวิญญาณครองไม่ได้ ก็ยังหลอกจิตเลย
เราจะเห็นได้จากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น ป่า ดง พงไพร ต้นไม้ประกอบด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด
เกิดในดงงดงาม เขียวชะอุ่ม ประกอบด้วยกิ่ง ก้าน ดอก ผล
เป็นช่อระย้าเรียงลำดับเป็นระเบียบเรียบร้อย ยิ่งกว่าคนเอาไปประดับตกแต่งไว้
ใครเห็นแล้วก็นิยมชมว่าสวยงาม
ส่วนผาเล่า ก็มีชะโงกเงื้อมงุ้ม เป็นตุ่มเป็นต่อม มีชะง่อน ชะเงื้อม เพิงผา
ดูน่าอัศจรรย์ เป็นหลั่นเป็นถ้องแถวดังคนเอามาเรียงลำดับให้วิจิตรงดงาม
ส่วนแม่น้ำลำธารซึ่งตกลงแต่ที่สูงแล้วก็ไหลลงสู่ที่ต่ำ
เป็นลำธารมีแง่มีมุม เป็นลุ่มเป็นดอน มีน้ำไหลวนเวียน
มีหมู่มัจฉาปลาหลากหลายพันธุ์ว่ายวนเป็นหมู่ ๆ
ดูแล้วก็จับใจ ดูไปเพลินไป ทำให้ใจหลงใหลไปตาม ๆ กัน
ดูแล้วเหมือนของเหล่านั้นจะเป็นจริงเป็นจัง
เดี๋ยว ๆ ของเหล่านั้นก็อันตรธาน หายจากความทรงจำของเรา
หรือมิฉะนั้นคนเราก็จักต้องอันตรธาน หายจากสิ่งเหล่านั้น
ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในโลกนี้สักอันเดียว เป็นอนิจจังทั้งสิ้น
เมื่อของในโลกนี้เป็นของหลอกลวงได้ “ธรรม” ธรรมที่เป็นโลกีย์ ก็หลอกลวงได้เหมือนกัน
เราจะเห็นได้จากการนั่งสมาธิภาวนา เมื่อจิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิ ตกใจผวา เหมือนกับมีคนมาผลัก
บางทีมีเสียงเปรี้ยงเหมือนเสียงฟ้าผ่าลงมาก็มี บางทีกายของเราแตกออกเป็นซีก ๆ ก็มี
บางทีมีแสงสว่างจ้าขึ้นมาเห็นสิ่งต่าง ๆ เข้าใจว่าเป็นจริงเป็นจัง
พอลืมตาขึ้นหายหมด สารพัดแต่มันจะเกิด
บางทีพอจิตจะรวมเข้าไป ปรากฏเห็นภูต ผี ปิศาจ ทำเป็นหน้ายักษ์ หน้ามารมา
เลยกลัววิ่งหนี เลยเสียสติเป็นบ้าไป
ก็มีธรรมที่ยังเป็นโลกีย์อยู่ ก็หลอกลวงได้ เช่นเดียวกับโลก ๆ เรานี้แหละ
บางทีเราพิจารณาร่างกายอันนี้ให้เป็นอสุภะ
เมื่อใจเราน้อมเชื่อมั่นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ มันเลยเกิดอสุภะขึ้นมา
เปื่อยเน่าเฟะไปทั้งตัวเลย
แต่แท้ที่จริงแล้ว ร่างกายมันก็เป็นอสุภะธรรมดา ๆ เท่าที่มันมีอยู่นั่นแหละ
แต่เราเข้าใจผิด หลงไปเชื่อตามจิตมันหลอก เลยหลงเชื่อว่าเป็นอสุภะจริง ๆ
ไปยึดถือเอาจนเหม็นติดไม้ติดมือติดตัว ไปไหนก็มีแต่กลิ่นอสุภะทั้งนั้น
จิตที่เราฝึกหัดให้เข้าถึงธรรมแล้ว แต่ธรรมนั้นมันยังเป็นโลกียะอยู่ มันหลอกได้เหมือนกัน
พระพุทธเจ้าจึงเทศนาว่า “จิตหลอกจิต” เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าจิตหลอกจิต
เรื่องเหล่านี้ มันยากเหมือนกัน ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องของจิต เรื่องของใจ
จิต กับ ใจ มันคนละอันกัน ดังภาษาชาวบ้านที่พูดกันว่า ใจ ๆ นั่นแหละ
ใจ เขาหมายเอาของที่เป็นกลางกลางอะไรทั้งหมดที่เป็นของกลางแล้ว เขาเรียกว่า ใจ ทั้งนั้น
คราวนี้มาพูดถึงเรื่อง จิต คือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง
สัญญา อารมณ์ร้อยแปดพันเก้า ไม่มีที่สิ้นสุด นั่นเป็นเรื่องของ จิต
ตามความรู้สึกของคนทั่วไปแล้ว จิต กับ ใจ มักจะเป็นอันเดียวกัน
ดังพูดออกมาเมื่อไม่สบายว่า “ไม่สบายใจ จิตใจหงุดหงิด” ดังนี้ เป็นต้น
ถ้าสบายใจก็บอกว่า “จิตใจมันปลอดโปร่งโล่งไปหมด”
จิต แล ใจ แยกออกไว้เป็นคนละส่วนกัน
บางทีท่านก็เรียกว่าจิตเป็นของผ่องใสอยู่เป็นจริง แต่อาคันตุกะกิเลสจรมา ทำให้จิตเศร้าหมองต่างหาก
หรือบางทีท่านก็ว่า จิตเป็นของเศร้าหมอง จิตนี้เป็นของผ่องใส สะอาด หลายอย่างต่าง ๆ นานา
ทำให้ผู้ศึกษาเรื่อง จิต เรื่อง ใจ ยุ่งกันไปหมด
จิต นี้ถ้าเราจะพิจารณาด้วยสามัญสำนึกแล้ว มันให้คิด ให้นึก ให้ปรุง ให้แต่ง ไปต่าง ๆ นานา
สารพัดร้อยแปดพันอย่าง ยากที่บุคคลจะห้ามให้อยู่ในอำนาจของตนได้
แม้ที่สุดแต่นอนหลับไปแล้ว ยังปรุงแต่งท่องเที่ยวไปเลย อย่างเราเรียกว่า ฝัน
ปรุงแต่งไปทำธุรกิจการงานต่าง ๆ ทำสวน ทำนา ไปค้าขาย หาเงิน หาทอง อาชีพต่าง ๆ
หรืออาฆาตบาดหมางฆ่าฟันกัน เป็นต้น
ถ้าเราฝึกหัด จิต ของตนที่ดิ้นรนนี้ให้สงบอยู่เป็นหนึ่งได้แล้ว
เราจะมองเห็นจิตที่เป็นหนึ่งนั้น เป็นหนึ่งอยู่ต่างหาก
กิเลส มีโทสะ เป็นต้นนั้น อยู่อันหนึ่งต่างหาก
จิต กับ กิเลส มิใช่อันเดียวกัน
ถ้าอันเดียวกันแล้ว ใครในโลกนี้จะทำให้บริสุทธิ์ได้
จิต เป็นผู้ไปปรุงแต่งเอา กิเลส มาไว้ที่จิตต่างหาก
แล้วก็ไม่รู้ว่าอันใดเป็นจิต อันใดเป็นกิเลส

พระพุทธเจ้าพระองค์ตรัสว่า
จิตฺตํ ปภสฺสรํ อาคนฺตุเกหิ กิเลเสหิ
จิตเป็นของผ่องใสอยู่ทุกเมื่อ กิเลสเป็นอาคันตุกะจรมาต่างหาก

นี้ก็แสดงว่าพระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดแล้ว

ของในโลกนี้ต้องประสมกันทั้งหมดจึงเป็น โลก
ของอันเดียวมีแต่ ธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
ผู้เห็นธรรมเป็นของหลายอย่างต่าง ๆ กัน ผู้นั้นได้ชื่อว่ายังเข้าไม่ถึงธรรม
นัยหนึ่ง เหมือนกับน้ำเป็นของใสสะอาด เมื่อบุคคลนำเอาสีมาประสม ย่อมมีสีต่าง ๆ
เช่น เอาสีแดงมาประสมน้ำก็เลยเป็นสีแดงไป เมื่อเอาสีดำมาประสมน้ำก็เลยเป็นสีดำไป
สุดแท้แต่จะเอาสีอะไรมาประสม น้ำก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นสีนั้น ๆ
แท้จริงแล้วน้ำเป็นของใสสะอาดอยู่ตามเดิม
หากผู้มีปัญหา สามารถกลั่นกรองเอาน้ำออกมาได้
น้ำก็ใสสะอาดเป็นปกติอยู่ตามเดิม
สีเป็นเครื่องประสมน้ำให้เป็นไปต่าง ๆ

น้ำ เป็นของมีประโยชน์มาก สามารถชำระของสกปรกสิ่งโสโครกทั้งปวงให้สะอาดได้
ความสะอาดของตนมีอยู่แล้ว ยังสามารถแทรกซึมเข้าไปในสิ่งโสโครกทั้งปวง
ชำระเอาสิ่งโสโครกเหล่านั้นออกมาได้ นี่ก็ฉันใด
ผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมสามารถกลั่นกรองเอาจิตของตนที่ปะปนกับกิเลสออกมาได้ฉันนั้น

คราวนี้มาพูดกันถึงเรื่อง จิต กับ ใจ ให้เข้าใจกันก่อน
จึงค่อยพูดกันถึงเรื่องกิเลส อันเกิดจากจิตต่อไป

จิต คือ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง สังขาร สัญญาอารมณ์ทั้งหมด เกิดจากจิต
เมื่อพูดถึงจิตแล้วไม่นิ่งเฉยได้เลย แม้ที่สุดเรานอนอยู่ก็ปรุงแต่งไปร้อยแปดพันเก้า
อย่างที่เราเรียกว่า ฝัน นั่นเอง
จิต ไม่มีการนิ่งเฉยได้ จิตนอนหลับไม่เป็น แลไม่มีกลางคืน กลางวันเสียด้วย
ที่นอนหลับนั้นมิใช่จิต กายต่างหาก มันเหนื่อยจึงพักผ่อน
จิต เป็นของไม่มีตัวตน แทรกซึมเข้าไปอยู่ได้ในที่ทุกสถาน
แม้แต่ภูเขาหนาทึบก็ยังแทรกเข้าไป แทรกทะลุปรุโปร่งได้เลย
จิต นี้มีอภินิหารมาก เหลือที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดได้

ใจ คือผู้เป็นกลาง ๆ ในสิ่งทั้งปวงหมด ใจก็ไม่มีตัวตนอีกนั่นแหละ
มีแต่ผู้รู้อยู่เฉย ๆ แต่ไม่มีอาการไป อาการมา อดีตก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี บุญแลบาปก็ไม่มี นอกแลในก็ไม่มี
กลางอยู่ตรงไหน ใจก็อยู่ตรงนั้น ใจ หมายความเป็นกลาง ๆ
ดังภาษาชาวบ้านเขาเรียกกันว่า ใจมือ ก็หมายเอาท่ามกลางมือ ใจเท้า ก็หมายเอาท่ามกลางเท้า
แม้ที่สุดเมื่อถามถึงใจคนเราก็ต้องชี้เข้าท่ามกลางหน้าอก
แต่แท้จริงแล้วที่นั่นไม่ใช่ใจ นั่นเป็นแต่หทัยวัตถุ
เครื่องสูบฉีดเลือดที่เสียแล้วกลับเป็นของดีให้ไปหล่อเลี้ยงสิ่งต่าง ๆ ในสรรพางค์ร่างกายเท่านั้น
ตัว ใจแท้ มิใช่วัตถุ เป็นนามธรรม

จิต กับ ใจ โดยความหมายแล้วก็อันเดียวกัน ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า
“จิตอันใด ใจก็อันนั้น ใจอันใด จิตก็อันนั้น”
จิต กับ ใจ เป็นไวพจน์ของกันแลกัน ดังพุทธภาษิตว่า จิตตํ ทนตํ สุขาวหํ
จิตที่ฝึกหัดดีแล้วนำความสุขมาให้ หรือ
มโนปุพพํ คมาธมมา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน เป็นต้น
แต่โดยส่วนมากท่านจะพูดถึงเรื่องจิตเป็นส่วนมาก
เช่น เรื่องพระอภิธัมม์จะพูดแต่เรื่องจิตเจตสิกทั้งนั้น
จะเป็นเพราะจิตทำงานมากกว่าใจ ไม่ว่าจะเรื่องของกิเลส
หรือเรื่องของการชำระกิเลส (คือปัญญา) เป็นหน้าที่ของจิตทั้งนั้น

กิเลสมิใช่จิต จิตไม่ใช่กิเลส
แต่จิตไปยึดเอากิเลสมาปรุงแต่งให้เป็นกิเลส
ถ้าจิตกับกิเลสเป็นอันเดียวกันแล้ว
ใครในโลกนี้จะชำระกิเลสให้หมดได้


จิต แล กิเลส เป็นแต่นามธรรมเท่านั้น หาได้มีตัวมีตนไม่
จิตที่ส่งไปทางตา หู เป็นต้น ก็มิใช่ตา หู เป็นกิเลส แต่จิตกระทบกับอายตนะจึงเป็นเหตุให้เกิดกิเลสเท่านั้น
เมื่อตาเป็นต้น กระทบกับรูป ให้เกิดความรู้สึกแล้วความรู้สึกนั้นก็หายไป
จิตไปตามเก็บเอาความรู้สึกนั้นมาเป็นอารมณ์จึงเกิดกิเลส ดีแลชั่ว รักแลชัง ต่างหาก
ผู้ไม่เข้าใจ ไปหลงว่าจิตเป็นกิเลส ไปแก้แต่จิต ตัวกิเลสไม่ไปแก้ ไม่ไปแยกเอาจิตให้ออกจากกิเลส
อย่างนี้แก้เท่าไร ๆ ก็แก้ไม่ออก เพราะแก้ไม่ถูกจุดสำคัญของจิต
จิตไปหลงยึดเอาสิ่งสารพัดวัตถุเครื่องใช้ต่าง ๆ มาเป็นของกู ๆ ติดมั่นอยู่ในสิ่งนั้น ๆ มันเลยเป็นกิเลส

เป็นต้นว่า เรือกสวน ไร่นา ทรัพย์สิน เงินทอง วัตถุต่าง ๆ
แม้ที่สุดแต่บุตร ธิดา สามี ภรรยา พี่ ป้า น้า อา เป็นที่สุด ว่าเป็นของกู ๆ จิตเลยเป็นกิเลส
แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันเป็นอยู่อย่างไร มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น
มันหาได้ไปเป็นตามความหลงยึดมั่นถือมั่นของเราไม่
ดังภรรยาสามีของเรา หลงยึดมั่นถือมั่น สำคัญว่าเป็นของเราจริง ๆ
ราวกับว่าเอาหัวใจของเขามาไว้ในหัวใจของเราเลยทีเดียว
เวลาเขาคิดจะทำมิจฉาจาร เขาไม่ได้บอกเราเลยสักนิดเดียว
พอรู้เรื่องเราเกิดความทุกข์ระทมใจแทบตาย
นี่ก็เพราะ ความหลง ไม่เห็นตามความเป็นจริงของมันนั่นเอง
ยิ่งเป็นสิ่งที่หาวิญญาณไม่ได้เสียแล้ว ก็ยิ่งไปกันใหญ่
เช่น เพชร นิล จินดา ราคามาก ๆ เก็บใส่ตู้ใส่หีบไว้แน่นหนา กลัวขโมยจะมาลักเอาไป
แต่ตัวมันเองหาได้รู้สึกอะไรไม่ ใครมาลักมาขโมยเอาไปก็ไม่มีความรู้สึก
จะโวยวายก็ตัวเจ้าของผู้ไปยึดมั่นถือมั่นนี้ต่างหาก
กิเลสตัวผู้ยึดถือนี้มันช่างร้ายกาจจริง ๆ
ไม่ว่าอะไรทั้งหมด มันเข้าไปยึดถือเอาเลย แล้วก็ฝังตัวรุกเข้าไปจนถอนไม่ขึ้น

จิต ใจ แล กิเลส มีความหมายดังได้อธิบายมานี้

จิต ผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรมไว้ให้ดีแล้ว มีแต่จะนำให้กิเลสมาทับถมถ่ายเดียว
ตรงกันข้าม ถ้าผู้ได้ฝึกฝนอบรม จิต ไว้ดีแล้ว ก็จะเป็นขุมทรัพย์อันมหาศาล
เพราะจิตเป็นผู้แส่ส่ายแสวงหากิเลสใส่ตัวเอง
พร้อม ๆ กันนั้น ก็เป็นผู้แสวงหาปัญญามาให้ตัวอีกด้วย
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:45:28 pm »

บ่อเกิดกิเลสของจิต ก็ไม่พ้นจากอายตนะทั้ง ๖ ซึ่งจิตเคยใช้อยู่ประจำแล้ว
อายตนะทั้ง ๖ นี้ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของจิต เท่ากับแก้วสารพัดนึกของจิตก็ว่าได้
จะใช้ให้ไปดูรูปที่สดสวยงดงามสักปานใดก็ได้ ตา ก็ไม่อั้น ตามัว ตาเสีย ไปหาแว่นมาใส่ก็ยังได้
หู ก็ยิ่งใช้ได้ดีใหญ่เลย ตาหลับแล้วหูยังได้ฟัง ได้ยินสบายเลย
จมูก ก็เช่นเดียวกัน ไม่ต้องไปยืมเอาตา แลหู มาดมกลิ่นแทน
แต่จมูกจะต้องรับหน้าที่คนเดียว ดมกลิ่นเหม็น กลิ่นหอมด้วยตนเองทั้งนั้น
ลิ้น ก็ไม่ต้องเกี่ยวให้ตา หู จมูกมาทำหน้าที่รับรสแทนเลย
พอป้อนอะไรเข้าในปากเท่านั้นแหละ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ลิ้นจะต้องรับหน้าที่รับรู้ว่า
รสเผ็ด เค็ม หวาน เปรี้ยว อร่อย แลไม่อร่อยทันที
กาย ก็รับรู้ว่าสัมผัสอันนี้นิ่มนวล อ่อน แข็ง อะไรต่าง ๆ
ยิ่ง ใจ แล้ว มโนสัมผัส รู้ คิดนึกอะไรต่อมิอะไรด้วยตนเอง
ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องด้วยอายตนะทั้ง ๕ หรือ จิตใด ๆ ทั้งสิ้น
เป็นหน้าที่ของใจโดยเฉพาะเลยทีเดียว

สิ่งทั้ง ๕-๖ นี้เป็นของเก่า เคยรับใช้จิตมานานแล้วจนคล่องแคล่วทีเดียว
แต่ให้ระวังหน่อย ของเก่าเราเคยใช้มา ให้ความสุขสบายมานานนั้นมันอาจทำพิษให้เราเมื่อไรก็ได้
ดังโบราณท่านกล่าวไว้ว่า ข้าเก่า งูเห่า เมียรัก ไม่ควรไว้วางใจ
ของ ๓ อย่างนี้ มันอาจทำพิษให้เราเมื่อไรก็ได้

เมื่ออธิบายให้เข้าใจถึงเรื่อง จิต แล ใจ พร้อมด้วย กิเลส เครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ผู้ต้องการที่จะกำจัดกิเลสให้พ้น ออกจากจิตของตน
พึงหัดสมาธิให้ชำนาญเสียก่อน จึงแยกจิต แยกกิเลสออกจากกันได้
ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จิตแลกิเลสจะเป็นอันเดียวกันเลย ไม่ทราบว่าจะแยกอย่างไรกันออก
ถ้ามีสมาธิแลชำนาญแล้ว การแยกจิตแลกิเลสออกจากกันจะค่อยง่ายขึ้น
คือ จิตตั้งมั่นในอารมณ์อันเดียวแล้วเรียกว่า สมาธิ สมาธิไม่มีอาการส่งส่ายไปภายนอก
นั้นเป็นที่ตั้งฐานของการต่อสู้กับกิเลสจิต
ที่มันส่งส่ายไปหาอารมณ์ภายนอกนั้น มันส่งส่ายไปหากิเลส
ถ้าหากเรากำหนดรู้เท่าทันอย่าให้มันไปหมายมั่นสัญญา จดจำแลปรุงแต่ง
ให้มีแต่เพียงรู้เฉย ๆ กิเลสมันก็จะไม่เกิดขึ้น
เพราะจิตนี้กว่าจะเกิดกิเลสขึ้น มันต้องจดจำ ดำริ ปรุงแต่ง มันจึงเกิดขึ้น
ถ้าเพียงแต่รู้เฉย ๆ กิเลสไม่มี เช่น ตาเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น มันก็ไม่เกิดกิเลสอะไร
ถ้าตาเห็นรูป จดจำว่าเป็นหญิง เป็นชาย ว่าดำ ว่าขาว สวย แลไม่สวย
แล้วดำริ ปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา มันก็เกิดกิเลสตามเราปรุงแต่ง
จึงมาทับถมจิตเราที่ผ่องใสอยู่แล้วให้เศร้าหมองไป
สมาธิเลยเสื่อม กิเลสเลยเข้ารุมล้อม

หูฟังเสียงก็เช่นเดียวกัน เมื่อหูฟังเสียงก็สักแต่ฟัง
อย่าไปจดจำหรือดำริ ปรุงแต่งในเสียงนั้น ๆ ฟังแล้วก็ผ่านไป ๆ
มันก็จะไม่เกิดกิเลสอะไร
เหมือนกับเราฟังเสียงนก เสียงกา หรือเสียงน้ำตก เป็นต้น
ส่วนอายตนะอื่น ๆ นอกนั้น มีจมูกเป็นต้น ก็ทำนองเดียวกัน
เมื่อเราฝึกหัดสมาธิให้ชำนิชำนาญแล้ว เวลาอายตนะทั้งหลายมีตาเห็นรูป เป็นต้น
จะกำหนดจิตให้เข้าถึงสมาธิ แล้วจิตก็จะมองเห็นรูปสักแต่ว่ารูปเฉย ๆ
จะไม่จดจำว่ารูปเป็นหญิง เป็นชาย เป็นหนุ่ม เป็นแก่ ขาวแลดำ สวย แลไม่สวย
แล้วก็ไม่ดำริปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา กิเลสก็จะไม่เกิดในที่นั้น ๆ
การชำระจิตอย่างที่ว่ามานี้ เป็นแต่ชำระได้ชั่วคราว เพราะเหตุทำสมาธิให้มั่นคงชำนิชำนาญ
ถ้าสมาธิไม่มีกำลังแล้ว ไม่ได้ผลเลย
ถ้าชำระจิตให้สะอาดหมดจริงจังแล้ว ต้องทำวิปัสสนา ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
ฌาน สมาธิ ใช้นามธรรมพิจารณารูปอย่างเดียวกัน
แต่ต่างกันในความหมายแลความประสงค์
ฌาน แลสมาธิ ดังอธิบายมาแล้ว จะอธิบายซ้ำอีกเล็กน้อย เพื่อทวนความจำ

ฌาน พิจารณาด้วยนามธรรม คือ จิต เอาไปเพ่งรูปธรรม คือ เช่น เพ่งร่างกายอันนี้ให้เห็นเป็นธาตุ ๔
คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม จิตน้อมเชื่อมั่นว่าตัวของเราเป็นสิ่งนั้นจริง ๆ จนเกิดภาพเป็นดินขึ้นมาจริง ๆ
บางทีตนเองพิจารณาเห็นภาพหลอกลวง ว่าเป็นสิ่งนั้นจริง ๆ จนกลัว
เลยเกิดวิปริตจิตเป็นบ้าก็มี แลยังมีอาการมากกว่านี้อีกแยะ นี้เป็นเรื่องของ ฌาน
เรื่องของ สมาธิ ก็พิจารณาอย่างนั้นเหมือนกัน แต่พิจารณาเป็น ๒ นัย
คือ ไม่เห็นแต่ภายใน เห็นทั้งภายนอกด้วย เห็นภายใน คือเห็นแบบฌาน
เห็นว่าร่างกายของเราเป็นอสุภะ เปื่อยเน่าเป็นของน่าเกลียด
ความเห็นอีกอันหนึ่งว่ามันจะน่าเกลียดอะไร เราอยู่ด้วยกันมาแต่ไหนแต่ไรมา เราก็ไม่เห็นเป็นอะไร
มันเป็นอสุภะก็ของธรรมดาของร่างกาย มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นแต่ไรมาแล้ว
นี่เป็นความเห็นของผู้ฝึกหัดสมาธิ
เรื่องของ วิทยาศาสตร์ ก็พิจารณาอย่างนั้น พิจารณาจนนิ่งแน่วลงสู่เรื่องนั้นจริง ๆ
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็จะไม่รู้เรื่องเหล่านั้น เช่น พิจารณากายวิภาค เห็นเรื่องของกายมนุษย์คนเรา
มีชิ้นส่วนประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวไปมาได้อย่างนี้ ๆ
แล้วก็บันทึกไว้เป็นตำราเรียนกันต่อ ๆ ไปนี้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์
ดีเหมือนกัน ถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์ เราเกิดมาก็ไม่ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้
วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสร้างโลก ของผู้ยังติดอยู่ในโลก ยังไม่เบื่อ
บางคนอายุตั้ง ๑๐๐ ปี ยังไม่อยากตาย ยังขออยู่ไปอีกสัก ๕๐–๖๐ ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์สร้างโลกยังไม่จบ ตายไปแล้วคนอื่นเกิดมาสร้างใหม่อีก
ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย มาสร้างโลก อย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น
นักวิทยาศาสตร์ส่วนมากมักเห็นว่าตายแล้วก็หมดเรื่องไปเรื่องหนึ่ง
หรือเราเคยเป็นอะไร มีวิทยฐานะเช่นไรอยู่ในโลกนี้
ตายไปแล้วก็จะเป็นอยู่อย่างเคยไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม ทั้ง ๆ ที่เขาเหล่านั้นทำกรรมอยู่นั่นเอง
เช่น เขาแต่งมนุษย์เพศชายให้เป็นหญิงได้ ดังนี้ เป็นต้น
เขาเชื่อว่ากรรมคือ ตัวมนุษย์ วิทยาศาสตร์เองเป็นผู้แต่งคน ไม่ใช่กรรม
คือบุญแลบาป เป็นของไม่มีตัวตน ของไม่มีตัวตน
จะมาทำของที่มีตัวตนได้อย่างไร
ท่านผู้รู้ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านเหล่านั้น เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม
เราเกิดมาเวียนว่ายตายเกิด นับเป็นอเนกอนันตชาติเพราะกรรมเก่า
เกิดมาใช้กรรมเก่ายังไม่หมดสิ้น ทำกรรมใหม่อีกแล้ว เป็นอย่างนี้ตลอดภพตลอดชาติ
ท่านเรียกว่า วัฏฏะ ๓ เกิดมาเรียกว่า วิปากวัฏฏ์ เกิดจากวิบากของกรรม
เกิดมาแล้วต้องประกอบกรรม ไม่ทำดีก็ทำชั่ว เรียกว่า กัมมวัฏฏ์
การประกอบกรรมมันต้องมีเจตนา เจตนานั้นเป็นกิเลส เรียกว่า กิเลสวัฏฏ์
ผลของกิเลสนั้นเรียกว่า วิปากวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ กลับมาเกิดอีก
วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักจบจักสิ้นสักที
ผู้รู้ทั้งหลายท่านเห็นโทษของความเกิด เบื่อหน่ายในความเกิด
หาวิธีไม่ให้เกิดอีกด้วยการหัดทำฌาน สมาธิ แลเจริญปัญญา
วิปัสสนา รู้แจ้งแทงตลอด เห็นตามสภาพเป็นตามธรรมดาของมัน
ปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงหมด จิตใจสะอาด
กลายมาเป็นใจ กิเลสตามไม่ทัน

วิทยาศาสตร์เพ่งพิจารณาจนเห็นชัดแจ้งตามเป็นจริง แต่เป็นรูปธรรม เป็นของภายนอก
แล้วบันทึกเป็นตำราสอนกันต่อ ๆ ไป ส่วนในทางธรรม ต้องฝึกหัดทำ ฌาน สมาธิ แลปัญญาวิปัสสนา
รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้น ๆ ที่เป็นรูปธรรมทั้งเป็นนามธรรมด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์
และไม่สามารถจะบันทึกออกมาเป็นรูปธรรมได้ แต่พูดรู้เรื่องกันได้ในพวกผู้ปฏิบัติด้วยกัน

นักพูดธรรมะจงระวัง พูดถึงเรื่อง ฌาน กลับเป็นสมาธิ แลวิทยาศาสตร์เสีย เลยไม่รู้ตัว
เมื่อพูดถึงเรื่อง สมาธิ เลยกลายเป็นฌาน แลวิทยาศาสตร์ไปฉิบ ของทั้ง ๓ อย่างนี้ใกล้กันมาก
นักปฏิบัติทั้งหลายใจร้อน เรียกว่าชิงสุกก่อนห่าม หรือตายก่อนเกิด
ทำความสงบ บริกรรม ภาวนา ใจยังไม่เป็นสมาธิ อยากจะรู้จะเห็นสิ่งต่าง ๆ
เลยนึกปรุงแต่งไปตามมติของตน แลมันก็เป็นตามนั้นจริง ๆ
ถึงแม้ถึงขั้นสมาธิภาวนาแล้ว ผู้ไม่ชำนาญในสมาธิภาวนาของตน
ก็ยังปรุงแต่งไปได้ เลยสำคัญว่าตนเกิดความรู้จากภาวนา
ถ้านักปฏิบัติจริงแล้วจะไม่อยากรู้อย่างนั้น มีแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำสมาธิให้จิตสงบอย่างเดียว
มันจะเกิดความรู้อะไรหรือไม่ก็ตาม ถือว่าสมาธิความสงบเป็นของสำคัญ
สมาธิความสงบมั่นคงดีแล้ว ปัญญาความรู้อะไรต่าง ๆ มันจะไปไหนพ้น
อุปมาเหมือนไฟยังไม่ดับ แสงสว่างแลความร้อนย่อมมี
ผู้ทำสมาธิมั่นคงดีแล้ว ไม่อะไรทั้งหมด ขยันทำแต่สมาธิ ทั้งกลางวัน แลกลางคืน
ไม่คิดถึงความเหนื่อยยากลำบากอะไร ขอให้ได้สมาธิแล้วก็พอ นั้นได้ชื่อว่า “นักปฏิบัติ” โดยแท้
ในที่นี้ผู้เขียนอยากจะแสดง ฌาน กับ สมาธิ ให้เห็นความแตกต่างกัน พอเป็นนิทัศน์สักเล็กน้อย
ฌาน แล สมาธิ มิใช่อันเดียวกัน ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านก็แสดงว่า ฌานอันหนึ่ง สมาธิอันหนึ่ง
เพราะท่านแสดงองค์ฌานแลการละก็ต่างกัน ถึงฌาน แลสมาธิ จะใช้คำบริกรรมอย่างเดียวกัน
แต่การพิจารณามันแตกต่างกัน ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว แม้ความรู้ก็ต่างกัน ตัวอย่างเช่น
พิจารณาความตาย
ฌาน พิจารณาแต่ตาย ๆ อย่างเดียว จนจิตนิ่งแน่ลงเป็นฌาน รวมเข้าเป็นภวังค์
บางทีก็นิ่งเฉยไม่รู้ตัว อย่างนี้เรียกว่า นั่งหลับ ได้เป็นนาน ๆ ตั้งหลายชั่วโมงก็มี
บางทีนิ่งเฉยอยู่ ยินดีกับความสุขสงบของฌานนั้น ๆ ตั้งหลายชั่วโมงก็มี
พูดง่าย ๆ จิตใจที่บริกรรมภาวนานึกน้อมเอาแต่คำบริกรรมนั้นอย่างเดียว
แล้วน้อมเอาจิตนั้นให้เข้าสู่ภวังค์ คือ สุขสงบอย่างเดียว จนจิตเข้าสู่ภวังค์
จะหายหรือไม่หายเงียบก็ตาม เรียกว่า ฌาน
หรือจะพิจารณาของภายนอก เช่น ดิน หรือ น้ำ-ไฟ-ลม ก็ตาม
ล้วนแล้วแต่เพ่งพิจารณาเพื่อน้อมจิตให้รวมเข้าเป็นภวังค์ทั้งนั้น
แล้วก็ยินดีพอใจกับความสุขสงบอย่างเดียว
ฌาน แปลว่า เพ่ง คือจะเพ่งเอาดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอารมณ์ ของภายนอก
หรือเอาของภายในกายของตัวเอง หรือจะเพ่งจิตเป็นอารมณ์ก็ตามได้ชื่อว่า “เพ่ง” ด้วยกันทั้งนั้น
จิตที่เพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่ไปเอาอารมณ์อื่นมาเกี่ยวข้อง นั่นแหละ เป็นการข่มกิเลสด้วยฌาน

ฌาน เมื่อจิตถอนออกจากฌานแล้ว กิเลสที่มีอยู่ก็ฟูขึ้นตามเดิม
ท่านอธิบายไว้ชัดเลยว่า ฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑

เมื่อจะเป็นฌานที่ดี ภวังคุบาท ภวังคจรณะ ภวังคุปัจเฉท

เมื่อเข้าถึงฌานแล้วละกิเลสได้ ๕ คือ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑
(แท้จริงเป็นเพียงแต่ ข่ม มิใช่ละ) แต่ท่านไม่ได้อธิบายไว้ว่าฌานอะไร ละกิเลสได้เท่าไร
นักปฏิบัติโปรดได้พิจารณาด้วย ถ้าเห็นในที่ใดแล้ว กรุณาบอกไปยังผู้เขียนด้วย ผู้เขียนยินดีฟังเสมอ
ความรู้อันเกิดจากฌานนั้น ถ้าผู้นั้นเคยได้บำเพ็ญมาแต่ชาติก่อนก็จะเกิดความรู้ต่าง ๆ นานา หลายอย่าง
แต่ความรู้นั้นมักจะเป็นไปในการส่งออกไปข้างนอก โดยมาจับเอาจิตผู้ส่งออกไปรู้
ไม่เหมือนกับตามองเห็นรูป แต่ตาไม่เคยเห็นตาตนเองเลย เช่น รู้เห็นอดีต อนาคตของตนเองแลคนอื่น
ว่าตนเองแลคนนั้นคนนี้เคยมีชาติภูมิเป็นอยู่อย่างนั้น อย่างนี้ เคยมีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างนั้นอย่างนี้
แต่ไม่ทราบว่าลำดับภพชาติแลในระหว่างนั้นได้เป็นอะไร ดังนี้เป็นต้น
แต่หาได้รู้รายละเอียดไปถึงตัวเราแลคนนั้นได้ทำกรรมอะไรไว้จึงได้ไปเกิดเช่นนั้นไม่
แลเมื่อจะรู้จะเห็นก็ต้องจิตเข้าถึงภวังค์ มีอาการคล้าย ๆ กับคนจะนอนหลับเคลิ้มไป หรือหายเงียบไปเลย
แล้วเกิดความรู้ขึ้นในขณะจิตเดียวเท่านั้น
สมาธิ นั้นจะจับเอาคำบริกรรมของฌานดังอธิบายมาแล้วนั้นก็ได้
หรือจับเอาอันอื่นที่มาปรากฏแก่จิตของตนก็ได้ เช่น เดินไปเห็นเขาทำทารุณกรรมแก่สัตว์ เป็นต้น
แล้วจับเอามาพิจารณาจนเห็นชัดแจ้งว่า มนุษย์แลสัตว์เกิดมามีแต่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
สัตว์ตัวน้อยแลมีอำนาจน้อยย่อมเป็นเหยื่อของการเบียดเบียนของสัตว์ตัวใหญ่แลมีอำนาจมากอยู่อย่างนี้
หาได้มีที่สิ้นสุดไม่ ตราบใดโลกนี้ยังเป็นโลกอยู่
แล้วเกิดมีความสลดสังเวชในสัตว์เหล่านั้นพร้อมทั้งตัวของเรา ซึ่งก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่งของโลกเหมือนกับเขา
จิตก็สลดหดหู่เหมือนขนไก่ถูกไฟฉะนั้น แล้วก็รวมเข้ามาเป็นสมาธิ
พูดง่าย ๆ เรียกว่า ฌาน พิจารณาบริกรรมเพ่งพยายามเพื่อให้จิตรวม
เมื่อจิตรวมแล้วก็ยินดีกับสุขสงบของฌานนั้น ไม่อยากพิจารณาธรรมอะไรอีก
สมาธิ ก็พิจารณาเช่นเดียวกัน แต่พิจารณาให้เห็นสิ่งนั้น ๆ ให้เห็นสภาพตามเป็นจริงของมันอย่างไร
จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ไม่คำนึงถึง มีแต่เพ่งพิจารณาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของมันก็แล้วกัน
ด้วยอำนาจจิตที่แน่วแน่ในอารมณ์นั้นอันเดียวนั้นแหละ
จิตเลยเป็นสมาธิไปในตัวมีลักษณะเหมือนกับนั่งสงบอยู่คนเดียว แต่จิตยังฟุ้งซ่านอยู่
ขยับออกไปนั่งอยู่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอากาศโปร่งดี จิตใจก็เบิกบาน
แล้วอารมณ์ภายในจิตก็หายหมด ไม่วุ่นวาย ฉะนั้น
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:51:33 pm »

เมื่อมันจะเกิดความรู้อะไรขึ้นมาในที่นั้น มันก็เกิดขึ้นมาอย่างฌานนั้นแหละ
แม้นไม่หลงลืมตัว รู้แลเห็นอย่างคนนั่งดูปลาหรืออะไรว่ายอยู่ในตู้กระจกฉะนั้น
แลเมื่อ อย่างพระโมคคัลลานะ ท่านลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ
เห็นเปรตตัวหนึ่งยาว ๓ คาพยุต มีปากเท่ารูเข็ม ท่านอดยิ้มไม่ได้ ท่านจึงยิ้มอยู่คนเดียว
หมู่ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงถามท่าน ท่านก็ไม่บอก
แล้วบอกว่าท่านทั้งหลายจะรู้เรื่องนี้ในสำนักของพระพุทธเจ้า
เมื่อไปถึงสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตตัวหนึ่งยาว ๓ คาพยุต
มีปากเท่ารูเข็ม กินอะไรเท่าไรก็ไม่อิ่ม”
พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ดีแล้ว ๆ โมคคัลลานะเป็นสักขีของเรา เปรตตัวนี้เราเห็นแต่เมื่อเราตรัสรู้ใหม่ ๆ
วันนี้โมคคัลลานะเป็นสักขีพยานของเรา”
สมาธิ เมื่อจะเข้าต้องมีสมาธิเป็นเครื่องวัด
เมื่อจิตฝึกหัดยังไม่ชำนาญ มักจะรวมได้เป็นครั้งเป็นคราวนิด ๆ หน่อย ๆ เรียกว่า “ขณิกสมาธิ”
ถ้าหากฝึกหัดจิตค่อยชำนาญหน่อย จิตจะรวมเป็นสมาธิอยู่ได้นาน ๆ หน่อยเรียกว่า “อุปจารสมาธิ”
ถ้าฝึกหัดจิตได้เต็มที่แล้ว จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิเต็มที่เลยเรียกว่า “อัปปนาสมาธิ”
แต่จิตจะเกิดรู้แต่เฉพาะจิตที่เป็นอุปจารสมาธิเท่านั้น สมาธิจะไม่เกิดเลย
แลเมื่อเกิดก็มักเกิดเป็นไปเพื่อเตือนแลสอนตนเองเป็นส่วนมาก

เช่น ปรากฏเห็นเป็นอุโบสถใหญ่มีพระสงฆ์เป็นอันมากเข้าประชุมกันอยู่
อันแสดงถึงการปฏิบัติของเราถูกต้องดีแล้ว
หรือปรากฏเห็นว่าทางอันรกขรุขระ มีพระคลุมจีวรไม่เรียบร้อย หรือเปลือยกายเดินอยู่
อันแสดงถึงการปฏิบัติของเราผิดทาง หรือไม่เรียบร้อยตามมรรคปฏิบัติดังนี้เป็นต้น
การละกิเลสท่านก็แสดงไว้ว่า
พระโสดาบัน ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑
พระสกทาคามี ละกิเลสเบื้องต้นได้ ๓ เหมือนกัน กับทำกามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ให้เบาบางลงอีก
พระอนาคามี ก็ละกิเลส ๓ เบื้องต้นนั้นได้ แล้วยังละกามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ ได้เด็ดขาดอีกด้วย
พระอรหันต์ ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ เบื้องต้นได้แล้ว
ยังละรูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑ ได้อีกด้วย

ฌาน แล สมาธิ ถึงแม้ว่าจะบริกรรมภาวนาอันเดียวกัน แต่การพิจารณามันต่างกัน
แลเวลาเข้าเป็นองค์ฌาน แลสมาธิ มันก็ต่างกัน ความรู้ความเห็นก็ต่างกัน ดังได้อธิบายมานี้
ฌาน แล สมาธิ ทั้งสองนี้ ผู้ฝึกหัดกรรมฐานทั้งหลายจะไม่ให้เกิดไม่ได้
มันหากเกิดเป็นคู่กันอย่างนั้นเอง แล้วมันก็กลับกันได้เหมือนกัน
บางทีจิตรวมเข้าเป็นฌานแล้วเห็นโทษของฌาน พิจารณากลับเป็นสมาธิไปก็มี
บางทีฝึกหัดสมาธิไป ๆ สติอ่อนรวมเข้าเป็นฌานไปก็มี
ฌาน แล สมาธิ มันหากเป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันแลกันอยู่อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“ผู้ใดไม่มีฌานผู้นั้นไม่มีสมาธิ ผู้ใดไม่มีสมาธิผู้นั้นก็ไม่มีฌานเหมือนกัน”
เพราะฌานแลสมาธิฝึกหัดสายเดียวกัน คือเข้าถึงจิตเหมือนกัน เป็นแต่ผู้ฝึกหัดต่างกันเท่านั้น
บางท่านกลัวนักกลัวหนา กลัวฌานตายแล้วจะไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก
แต่หารู้ไม่ว่าฌานเป็นอย่างไร จิตอย่างไรมันจะไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก
ผู้ต้องการจะชำระจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากกิเลสทั้งปวง
จะต้องชำระจิตนี้แหละ ไม่ต้องไปชำระที่ ใจ หรอก
เมื่อชำระที่ จิต แล้ว ใจ มันก็สะอาดได้เอง
เพราะ จิต แส่ส่ายไปแสวงหากิเลสมาเศร้าหมองด้วยตนเอง
เมื่อชำระ จิต ให้ใสสะอาดแล้วก็จะกลายมาเป็น ใจ ไปในตัว

นักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติเข้าถึงจิตถึงใจแล้ว
ถึงไม่ได้เรียนให้รู้ชื่อของกิเลสตัวนั้นว่า ชื่ออย่างนั้น ๆ
แต่รู้ด้วยตนเองว่า ทำอย่างนั้น จิต มันเศร้าหมองมากน้อยแค่ไหน
คิดอย่างนั้นจิตมันเศร้าหมองมากน้อยแค่ไหน
เมื่อเห็นโทษของมันแล้ว มันจะต้องหาอุบายชำระด้วยตนเอง
มิใช่ไปรู้กิเลสทั้งหมด แล้วจึงชำระให้หมดสิ้นไป
เมื่อครั้งปฐมกาล พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ใหม่ ๆ พระพุทธเจ้า แลพระสาวกทั้งหลายออกประกาศพระศาสนา
ท่านที่ได้บรรลุธรรมทั้งหลายส่วนมากก็คงไม่ได้ศึกษาธรรมอะไรกัน เท่าไรนัก
เช่น พระสารีบุตร เป็นต้น ได้ฟังธรรมโดยย่อจากพระอัสสชิว่า
“ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าเทศนาให้ดับต้นเหตุ”
เพียงเท่านี้อุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) ก็มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว
เมื่อพระพุทธเจ้าเทศนาหลายครั้งหลายหนเข้า พระสาวกทั้งหลายจดจำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าได้มากขึ้น
จึงมีการเล่าเรียนกันสืบต่อ ๆ กันไป พระพุทธศาสนาจึงแพร่หลายกว้างขวางมาโดยลำดับ
พระอานนท์ พระอนุชาผู้ติดตามพระพุทธเจ้า
จดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แม่นยำ จนได้ฉายาว่าเป็นพหูสูต ไม่มีใครเทียบเท่า
เทศนาสั่งสอนลูกศิษย์ให้ได้สำเร็จมัคค์ผล นิพพาน มาแล้วมากต่อมาก
แต่ตัวท่านเองได้เพียงแค่พระโสดาบันขั้นต้นเท่านั้น
ตอนพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสงฆ์อรหันต์สาวกทั้งหลายพร้อมกันทำสังคายนา
ในการนี้จะขาดพระอานนท์ไม่ได้ เพราะพระอานนท์เป็นพหูสูต
แต่ยังขัดข้องอยู่ที่พระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์
สงฆ์ทั้งหลายจึงเตือนพระอานนท์ว่าให้เร่งทำความเพียรเข้า
พรุ่งนี้แล้วพระสงฆ์ทั้งหลายจะได้ทำสังคายนา
ในคืนวันนั้น ท่านได้เร่งความเพียรตลอดคืน ธรรมที่ได้สดับมาแต่สำนักพระพุทธเจ้ามีเท่าใด
นำมาพิจารณาคิดค้นจนหมดสิ้น ก็ไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ ก็แล้วเถิด
แล้วล้มพระเศียรเอนกายลงนอน พระเศียรยังไม่ทันแตะพระเขนยเลย
จิตก็รวมสู่มัคคสมังคี ปัญญาก็ตัดสิ้นได้เด็ดขาดว่าบรรลุพระอรหันต์แล้ว
ผู้มีปัญญาพิจารณาคิดค้นเหตุผลในสิ่งนั้น ๆ แล้วปล่อยวาง
ทำจิตให้เป็นกลางในสิ่งทั้งปวงได้ ย่อมจะเกิดความรู้ในธรรมนั้น ๆ ได้ไม่มากก็น้อย
ดังท่านพระอานนท์เป็นต้น
กิจในพระพุทธศาสนานี้มี ๒ อย่าง ผู้บวชมาละกิจของฆราวาสแล้วจำเป็นต้องทำ คือ
สมถะ (คือ ฌาน แลสมาธิ ๑ วิปัสสนา ๑ ฌาน แลสมาธิได้อธิบายมามากแล้ว
คราวนี้มาฟังเรื่องของ วิปัสสนา ต่อไป

ผู้เจริญฌาน แลสมาธิจนชำนิชำนาญ จนทำจิตของตนให้อยู่ในบังคับตนได้
จะเข้าฌาน แลสมาธิเมื่อใดก็ได้ จะอยู่ได้นานเท่าใด
จะพิจารณาฌานให้เป็นสมาธิก็ได้ จะพิจารณาสมาธิให้เป็นฌานก็ได้
จนกลายเป็นเครื่องเล่นของผู้ปฏิบัติไป
การพิจารณาฌาน แลสมาธิให้ชำนาญนี้เป็นการฝึกหัดวิปัสสนาไปในตัว
เพราะฌาน แลสมาธิก็พิจารณารูป-นาม อันเดียวกันกับวิปัสสนา
พิจารณาความแตกดับ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา อย่างเดียวกัน
แต่ฌาน แลสมาธิ มีความรู้ขั้นต่ำ พิจารณาไม่รอบคอบ เห็นเป็นส่วนน้อยแล้วก็รวมเสีย
ไม่สามารถรู้ได้ทั่วถึงทั้งหมด ท่านจึงไม่เรียกว่าวิปัสสนา
เปรียบเหมือนมะม่วงสุกหวาน เบื้องต้นเป็นลูกมีรสขม โตขึ้นมาหน่อยมีรสฝาด
โตขึ้นอีกมีรสเปรี้ยว โตขึ้นมาอีกมีรสมัน โตขึ้นมาจึงจะมีรสหวาน
รสทั้งหมดตั้งต้นแต่รสขมจนกระทั่งรสหวาน มันจะเก็บเอามารวมไว้ในที่เดียว
มะม่วงนั้นจึงจะได้ชื่อว่ามีรสดี นี้ก็ฉันนั้น
เหมาะแล้วฌานพระสังคาหกาจารย์เจ้าท่านไม่เรียกว่าวิปัสสนา เพราะเป็นของเสื่อมได้

วิปัสสนานั้น ไม่ว่าจะพิจารณาคำบริกรรม หรือธรรมทั้งหลาย มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เป็นต้น
พิจารณาให้รู้แจ้งตามเป็นจริงของมันแล้วปล่อยวาง แล้วเข้าอยู่เป็นกลางวางเฉย เรียกว่า วิปัสสนา
วิปัสสนา แปลว่ารู้แจ้ง เห็นจริงตามสภาพ ของมัน

วิปัสสนานี้พิจารณาจนชำนิชำนาญแก่กล้า จนเห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
แลธรรมมารมณ์ทั้งหลาย ทั้งภายนอก แลภายใน
เห็นเป็น อนิจจัง ของไม่เที่ยงจีรังถาวรยั่งยืน เกิดมาแล้วก็แปรปรวน
ผลที่สุดก็ดับสูญหายไปตามสภาพของมัน

สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นรองรับเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นจึงต้องทน ทุกข์ ทรมานอยู่ตลอดเวลา
สิ่งทั้งปวงไม่ว่ารูปธรรม แลนามธรรม เกิดขึ้นมาแล้วย่อมเป็นไปตามสภาพของมัน
ใครจะห้ามปรามอย่างไร ๆ ย่อมไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งหมด
มิใช่ของไม่มี ของมีอยู่ แต่ห้ามมันไม่ได้ จึงเรียกว่า อนัตตา
ผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลาย เมื่ออายตนะภายในแลภายนอกมากระทบกันเข้า มีความรู้สึกเกิดขึ้น
ย่อมพิจารณาเป็น ไตรลักษณญาณ อย่างนี้ทุกขณะ ไม่ว่าอิริยาบถใด ๆ ทั้งหมด
ถ้าพิจารณาจนชำนิชำนาญแล้วมันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติของมันเอง
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ช่องว่างอันจะเกิดกิเลส มีราคะ เป็นต้น มันจะเกิดขึ้นในจิตใจได้อย่างไร

ด้วยอำนาจผู้เจริญฌาน-สมาธิ แลวิปัสสนานี้แหละจนชำนิชำนาญแก่กล้าเพียงพอแล้ว
จึงทำให้เกิด มัคคสมังคี
มัคคสมังคี มิใช่จิตที่รวมเข้าเป็นภวังค์อย่างฌาน
แลมิใช่จิตที่รวมเข้าเป็นสมาธิอย่างสมาธิ แต่จะรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวเหมือนกัน
ในเมื่อวิปัสสนาพิจารณาค้นคว้าเหตุผลภายนอกในเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนตามเป็นจริง ไม่เคลือบแคลงสงสัยแล้ว
จิตก็รวมเอา องค์มัคค์ อันเดียว ในขณะที่จิตเดียว แล้วก็ถอนออกมาจากนั้น
แล้วก็เดินไปตามกามาพจรจิตแต่มีความรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หลงไปตามกามารมณ์เช่นเมื่อก่อน
มัคคจิต นี้ท่านแสดงไว้ว่าแต่ละมัคค์จะเกิดหนเดียว แล้วจะไม่เกิดอีกเด็ดขาด

ต่อนั้น ผู้ได้ ปฐมมัคค์ แล้วก็เจริญวิปัสสนาตามที่ตนได้เจริญมาแล้วแต่เบื้องต้น
วิปัสสนาจะรู้เห็นแจ้งสักปานใดก็เห็นตามของเก่าไม่ได้ชื่อว่าเป็นมัคคสมังคี
เหมือนกับความฝันตื่นจากนอนแล้วเล่าความฝันได้ถูกต้อง แต่มิใช่ฝันฉะนั้น

หากมัคคสมังคีที่สูงขึ้นไปโดยลำดับจะเกิดขึ้น ก็ด้วยปัญญาอันแก่กล้า
เจริญมัคค์ให้คล่องแคล่วจนชำนาญแล้ว มันเกิดเองของมันต่างหาก ใครจะแต่งเอาไม่ได้
แต่ละภูมิพระอริยมรรคจะเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดว่าได้ขั้นนั้น ๆ แต่จะรู้จักด้วยตนเองเท่านั้น
คนอื่นจะรู้ด้วยไม่ได้จะรู้ก็ต่อเมื่อถึงมรรคนั้น ๆ แล้วเท่านั้น
การจะรู้ด้วยอภิญญา หรือผู้มีภูมิสูงกว่า หรือด้วยการสังเกตก็ได้ แต่ข้อสุดท้ายนี้ไม่แน่เหมือนกัน
นักปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเรียนมาก หรือน้อย หรือเรียนเฉพาะกรรมฐานที่ตนจะต้องพิจารณาก็ตาม
เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว จะต้องทอดทิ้งสิ่งทั้งปวงหมด
เพ่งพิจารณาแต่เฉพาะกรรมฐานที่ตนพิจารณาอยู่นั้นเฉพาะอย่างเดียว จึงจะรวมลงเป็นเอกัคคตารมณ์ได้
จะเรียนมากหรือเรียนเอาแต่เฉพาะกรรมฐานที่ตนพิจารณาอยู่นั้นก็ตาม
ก็เพื่อทำจิตให้เป็นสมาธิเอกัคคตารมณ์อันเดียวดังท่านที่เจริญวิปัสสนา
ถึงแม้จิตจะแส่ส่ายตามสภาพวิสัยของมันซึ่งบุคคลยังมีชีวิตอยู่
แต่ก็รู้เท่าทันเห็นตามพระไตรลักษณ์ ไม่หลงใหลตามมัน
อารมณ์ที่พบผ่านมาไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย แล ใจก็ตาม
ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคของการทำฌาน สมาธิ ทั้งนั้น
ตกลงว่า อายตนะที่เราได้มาในตัวของเรานี้เป็นภัยแก่การทำฌาน-สมาธิ ของเราเท่านั้น
ผู้พิจารณาเห็นโทษดังนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในอารมณ์นั้น ๆ
เห็นจิตที่สงบจากอารมณ์นั้น แล้วจิตจะรวมเข้าเป็นเอกัคคตารมณ์สงบนิ่งเฉยอยู่คนเดียว
เมื่อจิตถอนออกมาแล้วก็จะวิ่งตามวิสัยของมันอีก แล้วเห็นโทษของมัน
สละถอนออกจากอารมณ์นั้นอีก ทำจิตให้เข้าสู่เอกัคคตาอีก
ทำอย่างนี้จนจิตคล่องแคล่วชำนิชำนาญ
จนเห็นว่าอารมณ์ทั้งปวงสักแต่ว่าอารมณ์เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปตามสภาพของมัน จิตก็อยู่พอจิตต่างหาก
จิตไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต แต่อาศัยจิตเข้าไปยึดเอา อารมณ์จึงเกิด
เมื่อขาดตอนกันอย่างนี้ จิตก็จะอยู่วิเวกคนเดียว กลายเป็น ใจ ขึ้นมาทันที

ความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ถ้าพูดว่าลึกแลกว้าง ก็ลึกแลกว้าง
เพราะผู้นั้นทำตนไม่ให้เข้าถึงใจ เมื่อจะพูดก็พูดแค่อาการของใจ (คือจิต)
จิต คิดนึกปรุงแต่งอย่างไร ก็พูดไปตามอาการอย่างนั้น
แต่จับตัว ใจ (คือผู้เป็นกลางนิ่งเฉย) ไม่ได้
อุปมาเหมือนกับคนตามรอยโค ตามไปเถิดตามไปวันค่ำคืนรุ่ง
เมื่อยังไม่เห็นตัวของมันแลจับตัวมันอย่างไรไม่ได้ ก็ตามอยู่นั่นแหละ
ถ้าตามไปถึงตัวมันแลจับตัวมันได้แล้ว ไม่ต้องไปแกะรอยมันอีก
ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ที่ว่าลึกซึ้งแลกว้างขวางนั้น
เพราะเราไม่ทำ จิต ให้เข้าถึง ใจ ตามแต่อาการของใจ (คือจิต) จึงไม่มีที่สิ้นสุดได้
ดังท่านแสดงไว้ในพระอภิธรรมว่า
จิตเป็นกามาพจร จิตเป็นรูปาพจร จิตเป็นอรูปาพจร แลจิตเป็นโลกุดร
เพื่อให้รู้แลเข้าใจว่าอาการของจิตมันเป็นอาการอย่างนั้น ๆ
เพื่อให้ผู้ปฏิบัติไม่หลงตามอาการของมันต่างหาก
แต่ผู้ท่องบ่นจดจำได้แล้ว เลยไปติดอยู่เพียงแค่นั้น
จึงไม่เข้าถึงตัว ใจ สักที มันก็เลยเป็นของลึกซึ้งแลกว้างขวาง
เรียนเท่าไรก็ไม่รู้จักจบสิ้นสักที

ดูเหมือนพระพุทธเจ้าจะสอนพวกเราว่า “เราได้เคยตามรอยโคมาแล้วนับเป็นอเนกชาติ
ถึงแม้ในชาติปัจจุบันเราได้เกิดมาเป็นสิทธัตถะ เราก็ตามอยู่ถึง ๖ ปี จึงได้พบตัวโค (คือใจ)”

ถ้าจะพูดว่าแคบก็แคบ แคบในที่นี้มิได้หมายความว่าที่มันไม่มี แลของมันไม่มี
ของกว้าง ๆ นั้นแหละ จับแต่หัวใจของมัน หรือข้อสำคัญของมัน จึงเรียกว่า แคบ
เช่น จิตของคนเรา มันคือ จิต แลของตัวเราเอง ไม่รู้จักหยุดจักยั้งสักที เรียกว่ากว้าง
ผู้มาเห็นโทษของจิตว้าวุ่นวายส่งส่าย มันเป็นทุกข์ แล้วมาพิจารณา
เรื่องอารมณ์มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของจิตผู้คิดนึกไปตามอารมณ์ออกไปไว้ส่วนหนึ่ง
เอาจิตออกไปไว้ส่วนหนึ่ง เมื่อเอาจิตแยกออกไปจากอารมณ์แล้ว
จิตก็จะอยู่คนเดียวแล้วมาเป็นใจ อารมณ์ก็หายสูญไปโดยไม่รู้ตัว
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: ธันวาคม 29, 2010, 06:59:41 pm »

คราวนี้จะเห็นได้ชัดเลยทีเดียวว่า สรรพกิเลสทั้งปวงและโทษทุกข์ทั้งหลายที่มนุษย์คนเราพากันได้เสวยอยู่นี้
ล้วนแต่จิตผู้เดียวเป็นผู้หามาใส่ถ้าจิตไม่ไปหามาใส่แล้ว จิตก็จะกลายเป็นใจ
ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง อยู่เป็นสุขโดยส่วนเดียว

เหมือนต้นกล้วยไม่มีแก่น แกะกาบไป ๆ ผลที่สุดเลยหาแก่นไม่ได้ มีแต่กาบอย่างเดียว
ผู้ภาวนาทั้งหลายล้วนแต่แกะกาบหาแก่นแท้ของธรรมทั้งนั้น
ผู้หาแก่นของธรรมแต่แกะกาบไม่หมดจึงไม่เห็นธรรม

ผู้ภาวนายังไม่ถึงจิตถึงใจพากันกลัวนักกลัวหนาว่า
เมื่อจิตเข้าถึงใจแล้วจะไม่ทำให้เกิดความรู้อะไรต่าง ๆ
เมื่อไม่เกิดความรู้ ความสิ้นทุกข์มันจะมีมาแต่ไหน มันก็โง่เท่านั้นเอง
แม้พระผู้ใหญ่บางท่านก็พูดกับผู้เขียนเองเช่นนี้เหมือนกัน
ผู้เขียนเคยได้อธิบายแล้วว่า จิตเป็นผู้ส่งส่ายหาอารมณ์ต่าง ๆ มาครอบงำจิต
เมื่อจิตเห็นโทษของอารมณ์นั้น ๆ แล้ว จิตสละอารมณ์นั้นเสีย
แล้วเข้ามารวมเป็นหนึ่ง เลยกลายเป็นใจ
มิใช่เข้ามาอยู่เป็นใจเลยโดยมิได้ตรึกตรองพิจารณาให้รอบคอบ
เรียกว่า พิจารณาเหตุผลทุกแง่มุมจนถึงพระไตรลักษณ์ ไม่มีที่ไปแล้วจึงเข้าถึง
เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าไม่มีปัญญาได้อย่างไร
ก็มีปัญญาตามชั้นตามภูมิของตนนั้นเอง

ดังได้อธิบายมาแล้วว่า
จิตเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ถ้าไม่มีจิตกิเลสมันจะมีมาแต่ไหน
ทั้งเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ถ้าหาจิตไม่ได้แล้วจะไปคิดปรุงแต่ง หาปัญญามาที่ไหน
เป็นเหตุให้เกิดกิเลสเพราะจิตส่งส่ายไม่เข้าถึงใจ “คือความเป็นกลาง”
เป็นเหตุให้เกิดปัญญาเพราะจิตส่งส่ายไปในที่ต่าง ๆ แล้วรวมเข้ามาลงในพระไตรลักษณ์
แล้วหยุดนิ่งเฉย รู้ตัวอยู่ว่านิ่งเฉย เข้าถึงใจ

เหมือนกับตัวไหม เขาเลี้ยงด้วยหม่อน โตขึ้นโดยลำดับ จนกลายมาเป็นบุ้ง
แก่แล้วชักใยหุ้มตัวมันเอง เขาเรียกว่า ดักแด้ แก่เข้าแล้วเจาะรังออกมา เขาเรียกว่าแมลงบี้
ออกไข่ตั้งเยอะแยะ นับเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ตัว ฉันใด จิตก็ฉันนั้น
เมื่อมันรวมตัวเข้าเป็นใจแล้ว จะไม่มีอาการอะไรทั้งหมด
เมื่อมันออกจากใจมาแล้ว มันจะมีอาการมากมายเหลือจะประมาณ
(แต่ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านจะไม่ยอมให้มันออกไปเที่ยวเกิดอีก ประหารในที่เดียวเลย)
สรรพกิเลสของมนุษย์ผู้ไม่ได้ทำสมาธิภาวนา จิตยังวุ่นอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ก็เหมือนกับลูกแมลงบี้ที่เกิดจากแม่ตัวเดียว มีลูกนับเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ตัวฉะนั้น

สรุปแล้ว กิเลสทั้งหลายของมนุษย์เรานี้เกิดจากจิตแต่ผู้เดียว
เมื่อสัมปยุตไปด้วยอายตนะทั้ง ๑๒ คือ ภายนอก ๖ มีรูป เสียง เป็นต้น
อายตนะภายใน ๖ มีตา หู เป็นต้น กระทบกัน แล้วก็เกิดผัสสะขึ้นมา
แล้วก็แผ่ออกเป็นลูกหลาน ลุกลามไปทั่วทั้งโลก
ให้เกิดความยินดียินร้าย ความรัก ความชัง เกลียด โกรธ
แล้วประหัตประหารฆ่าฟันซึ่งกันและกัน ทำให้โลกนี้วุ่นวายไปหมด
เมื่อรู้เช่นนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรระวังสังวรอย่าให้จิตไปสัมปยุตด้วยอายตนะทั้ง ๑๒ เหล่านั้น
ทำใจให้เป็นกลางวางเฉยอยู่คนเดียว ถึงแม้จิตจะใช้อายตนะทั้งหลายเป็นเครื่องเที่ยว
ก็ให้ระวังใจไว้ อย่าให้หลงตามจิต
เมื่อใจไม่หลงตามจิต เพราะใจรู้เท่าเข้าใจอาการของจิต
ว่าจิตเป็นผู้นำอารมณ์ให้ปรุงแต่งวุ่นวาย
ใจก็จะอยู่คนเดียวตามธรรมชาติของใจ เมื่อใจเป็นธรรมชาติของมันแล้ว
จิตจะปรุงจะแต่งก็เข้าไม่ถึงใจ เพราะใจไม่มีอาการไปแลอาการมา ไม่มีนอกแลใน
ไม่มีความยินดีแลยินร้าย ปล่อยวางเฉยในสิ่งทั้งปวงแล้ว จิตก็จะขวยเขินไปเอง
นักปฏิบัติเมื่อเห็นชัดเจนตามเป็นจริงดังได้อธิบายมานี้แล้ว
จะเห็นสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม แลนามธรรมทั้งหลาย เห็นเป็นแต่สักว่า สภาวธรรม เท่านั้น
เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย หมดเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น ไม่มีอะไรจะเป็นจริงเป็นจังเลย
แล้วแผ่นดินคือกายผืนแผ่นเล็ก ๆ อันนี้ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ก็จะบรรจุเต็มไปด้วยธรรมทั้งหมด
ตามองออกไปเห็นรูป ก็จะเห็นเป็นสักแต่รูปธรรมเท่านั้น ไม่เห็นเป็นอย่างอื่น
หูได้ฟังเสียง ก็จะเห็นเป็นสักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น จะไม่เป็นอย่างอื่น
จมูกถูกกลิ่น ลิ้นถูกรส กายถูกสัมผัส ใจมีอารมณ์เกิดขึ้น ก็สักแต่ว่าเป็นธรรมเท่านั้น
มิใช่สัตว์ ตัวตน เรา เขา หรืออะไรทั้งสิ้น

คนไทยทั้งประเทศ เมื่อได้แผ่นดินคนละผืนเล็ก ๆ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ อันนี้แล้ว
ตั้งใจรักษาแผ่นดินอันนี้ให้เป็นธรรม เมื่อต่างคนต่างรักษาแผ่นดินของตนให้เป็นธรรมแล้ว
ประเทศไทยก็จะกลายเป็นแผ่นดินธรรมไปทั้งหมด
คราวนี้ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะสบายไม่ต้องลำบาก.

สิ้นโลก เหลือธรรม
(ภาคปลาย)
โดย
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
(เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


โลกอันนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น
อย่าถือว่าเป็นของเรา
ถือเอาก็ไม่ได้อะไร ไม่ถือก็ไม่ได้อะไร
ปล่อยวางเสียให้เป็นของโลกอยู่ตามเดิม

พากันมาฟังความเสื่อมฉิบหายของโลกต่อไป
“โลก” คือ ความเสื่อมอันจะต้องถึงแก่ความฉิบหายในวันหนึ่งข้างหน้า เขาจึงเรียกว่าโลก
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วคำว่า โลก ก็จะไม่มี โลกเกิดจากวัตถุอันหนึ่งซึ่งเป็นก้อนเล็ก ๆ
อันเกิดจากฟองมหาสมุทรที่กระทบกันแล้วกลายเป็นก้อนเล็ก ๆ ขึ้นก่อน
จะเรียกว่าอะไรก็เรียกไม่ถูก เรียกว่าธาตุอันหนึ่งก็แล้วกัน
คือหมายถึงวัตถุธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาเอง เป็นเอง
แล้วค่อยขยายกว้างใหญ่ไพศาลจรดขอบเขตแม่น้ำและมหาสมุทรทั้งสี่
โดยมีจักรวาลเป็นขอบเขต แล้วค่อยปริออกมาเป็นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ
แปรสภาพเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ กัน มีอวัยวะครบบริบูรณ์
แล้วมีจิตวิญญาณซึ่งคุ้นเคยเป็นกันเองเข้ามาครอบครองทำหน้าที่บังคับบัญชาธาตุนั้น ๆ
ให้เป็นไปตามวัตถุของโลก ซึ่งเราเรียกกันว่า “คน” นั่นเอง
แต่ละคนหรือตัวตนที่สมมติว่าคนนี้ ก็จะต้องเสื่อมสลายไปในวันหนึ่งข้างหน้าเช่นเดียวกัน
แม้ในเดี๋ยวนี้ คนหรือที่เรียกว่ามนุษย์สัตว์โลกหรือมนุษย์โลกก็กำลังเสื่อมไปอยู่ทุกวัน ๆ
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จพระโพธิญาณใหม่ ๆ
มนุษย์ชาวโลกนี้มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี ระยะเวลาผ่านไป ๑๐๐ ปี อายุคนจะลดน้อยถอยลงมาปีหนึ่ง
ปัจจุบันนี้ พระพุทธองค์นิพพานไปได้ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีแล้ว อายุของมนุษย์จะเสื่อมลงคงเหลือประมาณ ๗๕ ปี
ถ้าคำนวณตามแบบนี้ อายุของมนุษย์ก็เสื่อมเร็วนักหนา อายุของมนุษย์จะเสื่อมลงไปอย่างนี้เรื่อย ๆ
จนกระทั่งเหลือ ๑๐ ปี ก็มีครอบครัว เป็นผัวเมียสืบพันธุ์กัน
แม้สัตว์เดรัจฉานอื่น ๆ ก็เสื่อมลงโดยลำดับเช่นเดียวกันกับมนุษย์
ดินฟ้าอากาศก็เปลี่ยนแปลง แปรปรวนเป็นไปต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้เกิดกลียุคฆ่าฟันกันตายเป็นหมู่ ๆ เหล่า ๆ
สัตว์ตัวใหญ่ที่มีอิทธิพลก็ทำลายสัตว์ตัวน้อย ให้ล้มตายหายสูญเป็นอันมาก
มนุษย์จะกลายเป็นคนไม่มีพ่อแม่พี่น้อง หรือญาติวงศ์ซึ่งกันและกัน
เมื่อเห็นหน้ากันและกันก็จับไม้ค้อนก้อนดินขึ้นมากลายเป็นศาสตราวุธประหัตประหารฆ่ากันตายเป็นหมู่ ๆ
เรื่องศีลธรรมไม่ต้องพูดถึงเลย แม่น้ำลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึง ก็เหือดแห้งเป็นตอน ๆ
ฝนไม่ตกเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ปี มีแต่เสียงฟ้าร้องครืน ๆ แต่ไม่มีฝนตกเลย
เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำในทะเลอันใหญ่โตกว้างขวางและลึกจนประมาณมิได้ ก็เหือดแห้งกลายเป็นทะเลทราย
ปลาตัวหนึ่งซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อว่า “ติมังคละ” ก็นอนตายอยู่บนกองทราย
และโดยอำนาจของแดดเผาผลาญ ทำให้ปลาตัวนั้นมีน้ำไหลออกมาบังเกิดเป็นไฟลุกท่วมท้น
ทำให้มนุษย์โลกทั้งหลายฉิบหายเป็นจุณวิจุณ เขาเรียกว่าไฟบรรลัยโลก
โลกนี้ทั้งหมดก็จะกลายเป็นอัชฌัตตากาศอันว่างเปล่า
สัตว์ที่มีวิญญาณก็จะขึ้นไปเกิดในภพของพรหมชั้นอาภัสสระ ซึ่งไฟนั้นไหม้ไม่ถึง
ในหนังสือไตรโลกวิตถารท่านกล่าวว่า
โลกนี้ทั้งหมดจะต้องฉิบหายโดยอาการ ๓ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ๓ ประการนี้เป็นเหตุ
สัตว์หนาไปด้วยราคะ โลกนี้จะต้องฉิบหายด้วยน้ำ
สัตว์หนาไปด้วยโทสะ โลกจะต้องฉิบหายด้วยไฟ
สัตว์หนาไปด้วยโมหะ โลกจะต้องฉิบหายด้วยลม
โลกจะต้องฉิบหายด้วยการบรรลัยโลกกันอยู่อย่างนี้ ในระหว่างกัลป์ใหญ่ ๆ
ไฟบรรลัยโลกเล็ก ๆ ที่เกิดในระหว่างกัลป์ใหญ่ ๆ นี้ มีปัญหาน่าพิจารณา

น้ำราคะอันมีอยู่ในมนุษย์ชาวโลก แต่ละคนมีอยู่น้อยนิดเดียว
ทำไมท่านแสดงว่าสามารถท่วมโลกได้จนเป็นน้ำบรรลัยโลก
โทสะและโมหะก็เหมือนกัน อยู่ในตัวมนุษย์โลกซึ่งมองไม่เห็น
ทำไมจึงแสดงฤทธิ์ใหญ่โตจนไหม้โลก และพัดเอาโลกจนฉิบหาย
ขอนักปราชญ์เจ้าจงใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้
เห็นจะไม่ท่วมโลกและเผาโลกให้ฉิบหายเป็นกัปเป็นกัลป์ดังว่านั้นก็ได้

พวกเราชาวโลกผู้มีน้ำและไฟหรือลมอยู่ในตัวนิดหน่อยนี้คงจะมองเห็นฤทธิ์เดช
เรื่องของทั้ง ๓ นี้ ว่ามีฤทธิ์เดชเพียงใด ราคะคือความกำหนัดยินดีในสิ่งสารพัด
วัตถุทั้งปวงมีผัวเมียเป็นต้น มันท่วมท้นอยู่ในอกโดยความรักใคร่อันหาประมาณมิได้
โทสะคือไฟกองเล็ก ๆ นี้ก็เหมือนกัน มันไหม้เผาผลาญสัตว์มนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
โมหะก็เช่นเดียวกัน มันพัดเอาฝุ่นละอองกิเลสภายนอกและภายใน
มาท่วมทับหัวอกของคนจนมืดมิด ให้เข้าใจว่า สิ่งที่ผิดเป็นถูก

ของ ๓ อย่างนี้มีฤทธิ์เดชมหาศาล สามารถทำลายโลกให้เป็นกัปกัลป์ได้
และกัปนั้นท่านไม่ได้แสดงว่ามีอายุเวียนมาสักเท่าไร
เป็นแต่แสดงว่าเป็นกัปเล็ก ๆ ในระหว่างกัปใหญ่
เห็นจะเพราะน้ำราคะ ไฟโทสะ ลมโมหะ ท่วมโลกและเผาผลาญโลกนี้ไม่หมดสิ้น
ท่านถึงไม่แสดงถี่ถ้วน เพียงแต่พูดเปรย ๆ เพื่อให้นักปราชญ์ผู้มีปรีชาเอามาคิด เพื่อไม่ให้หลงผิด ๆ ถูก ๆ
รู้จักชัดแจ้งโดยใจของตนเอง ชัดแจ้งด้วยใจของตน แล้วนำมาพิจารณาเฉพาะตน ๆ
ความฉิบหายของโลกเป็นมาอย่างนี้แล้ว ๆ เล่า ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
พระบรมโพธิสัตว์ผู้ซึ่งท่านได้บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศมาครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว
ชาวสวรรค์ทั้งปวงเล็งเห็นว่าโลกนี้วุ่นวายเดือดร้อนกันมาก จึงได้ไปทูลเชิญพระบรมโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
ลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะตระกูลศากยราช
เมื่อคลอดออกจากครรภ์ของพระมารดาแล้ว เสด็จย่างพระบาทได้เจ็ดก้าว
ทรงแลดูทิศทั้งสี่แล้วเปล่งอาสภิวาจาว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺมึ” เราจะเป็นเลิศในโลก
เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นมาก็ได้เสวยความสุขอันเลิศ
จนกระทั่งเสด็จหนีออกบรรพชา ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ถึง ๖ พรรษา
จึงได้ค้นพบพระอริยสัจธรรมสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อพระพุทธองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงทรงพิจารณามองเห็นสัตว์โลกที่เดือดร้อนวุ่นวาย
ด้วยไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องครอบครองหัวใจ จึงเป็นเหตุให้เกิดการอิจฉาริษยา
ฆ่าฟันกันตายเป็นหมู่ ๆ เหล่า ๆ เป็นเครื่องเดือดร้อนอยู่ตลอดกาล
และด้วยอาศัยพระเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงของพระพุทธองค์ที่ทรงมีต่อมนุษย์สัตว์โลกทั้งหลาย
จึงทรงเทศนาสั่งสอนสัตว์นิกรทั้งหลายให้เข้าถึงธรรมะ ให้มีศีลธรรมประจำตนของแต่ละคน ๆ
เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดกาล ดั่งที่พระองค์ทรงเทศนาธรรมโลกบาล
คือธรรมอันเป็นเครื่องคุ้มครองสัตว์โลก มี ๒ อย่าง คือ หิริ และ โอตตัปปะ
แต่มนุษย์ชาวโลกทั้งหลายกลับเห็นว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาทีหลังโลก ท่านต้องคุ้มครองเราซิ
ไม่ให้มีอันตรายและเดือดร้อนวุ่นวายถึงจะถูก
ความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่สอนให้มนุษย์เป็นทาสกรรมซึ่งกันและกัน
แต่พระองค์ทรงสอนให้มนุษย์มีอิสระคุ้มครองตัวเองแต่ละคน จึงจะอยู่เย็นเป็นสุข
ถ้าพระองค์ทรงสอนให้เป็นทาสกรรมซึ่งกันและกัน
เหมือนกับตำรวจและทหารต้องอยู่เวรเข้ายามรักษาเหตุการณ์อยู่ทุกเมื่อแล้ว
โลกนี้ก็จะดูเดือดร้อนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดกาล
แต่พระองค์ทรงสอนหัวใจคนทุกคนให้รักษาตนเองโดยมีหิริ-โอตตัปปะ
คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ถ้าทุก ๆ คน มีธรรมสองอย่างนี้อยู่ในหัวใจแล้ว
ก็จะไม่มีเวรมีภัยและการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
มนุษย์คือโลกเล็ก ๆ นี้ก็จะอยู่เป็นสุขตลอดกาล
แล้วโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลก็จะพลอยอยู่เย็นเป็นสุขไปด้วย
เป็นวิสัยธรรมดาของโลกที่จะต้องมีความเห็นเข้าข้างตัวเอง คือ เห็นว่า
พระพุทธเจ้าจะต้องคุ้มครองรักษาโลกเหมือนกับตำรวจรักษาเหตุการณ์ฉะนั้น
เหตุนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมแล้วจึงทรงสอนมนุษย์ชาวโลก
ให้มีศีลธรรมเกิดขึ้นในใจของตนแต่ละคน
มนุษย์จึงจะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้ในโลกนี้ทั้งหมด
โลกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้เกิดขึ้นมาก่อน แล้วธรรมจึงค่อยเกิดขึ้นภายหลัง
ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า โลกธรรมแปด
โลกเกิดขึ้นที่ใดธรรมต้องเกิดขึ้นที่นั่น ถ้าโลกไม่เกิดธรรมก็ไม่มี
ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโลกธรรมแปดนั้น
หมายถึงโลกธรรม ๔ คู่ มีอาการ ๘ อย่างคือ
มีลาภ-เสื่อมลาภ ๑
มียศ-เสื่อมยศ ๑
มีสรรเสริญ-นินทา ๑
มีสุข-ทุกข์ ๑




บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 05:45:19 am »

เมื่อโลกเกิดขึ้นแล้ว พระองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงไปเหนือโลก
ตัวอย่างเช่น ความได้ในสิ่งสารพัดทั้งปวงเรียกว่า ลาภเกิดขึ้น
มนุษย์ได้ลาภก็เกิดความพอใจยินดี แล้วก็ไม่อยากให้ลาภเสื่อมเสียไป
และเมื่อลาภเสื่อมเสียไป ก็เกิดความเดือดร้อนตีโพยตีพาย
วุ่นวายกระสับกระส่ายไม่เป็นอันจะกินจะนอน
นั้นเรียกว่า โลก โดยแท้ พระองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลกแท้ คือ
แสดงความได้ลาภ-เสื่อมลาภ ให้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นธรรมดาของโลก
แต่ไหนแต่ไรมาโลกนี้ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น เราจะถือว่าของกู ๆ ไม่ได้
ถ้ายึดถือว่าของกู ๆ อยู่ร่ำไป เมื่อลาภเสื่อมไปมันจึงเป็นทุกข์เดือดร้อนกลุ้มใจ
นั่นแสดงให้เห็นชัดเลยว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของตน มันจึงเสื่อมไปหายไป
ถ้ามันเป็นของเราแล้วไซร้ มันจะหายไปที่ไหนได้
ท่านจึงว่ามันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของตนของตัว มันจึงต้องเป็นไปตามอัตภาพอันแท้จริงของมัน
จึงเรียกว่าพระพุทธองค์ทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลกให้เห็นโลกเป็นธรรมนั่นเอง

ความได้ยศ-เสื่อมยศ ก็เช่นเดียวกัน
ได้ยศคือความยกย่องว่าเป็นใหญ่เป็นโต มีหน้ามีเกียรติ มีอำนาจหน้าที่ มีชื่อเสียง
จิตก็พองตัวขึ้นไปตามคำว่า “ยศ” นั้น หลงยึดว่าเป็นของตัวจริง ๆ จัง ๆ
ธรรมดาความยกย่องของคนทั้งหลายแต่ละจิตละใจก็ไม่เหมือนกัน
เขาเห็นดีเห็นงามในความมียศศักดิ์ของตนด้วยประการต่าง ๆ เขาก็ยกยอชมเชยด้วยความจริงใจ
แต่เมื่อเขาเห็นกิริยาวาจาอันน่ารังเกียจของตนที่แสดงออกมาด้วยอำนาจของยศศักดิ์
เขาก็จำเป็นต้องเสแสร้งแกล้งปฏิบัติไปด้วยความเกรงกลัว
ตนกลับไปยึดถือยศศักดิ์นั้นว่าเป็นของจริงของจัง
เมื่อมันเสื่อมหายไป ความเกรงใจจากคนอื่นก็หมดไปด้วย
ตนเองก็กลับโทมนัสน้อยใจ ไม่เป็นอันหลับอันนอน อันอยู่อันกิน
แท้จริงแล้วความได้ยศ-เสื่อมยศนี้ เป็นของมีอยู่ในโลกแต่ไหนแต่ไรมาเช่นนี้ ตั้งแต่เรายังไม่เกิดมา
พระพุทธองค์จึงทรงสอนธรรมทับลงเหนือโลก ให้เห็นว่า
ได้ยศ-เสื่อมยศนี้เป็นของมีอยู่ในโลก มิใช่ของใครทั้งหมด
ถ้าผู้ใดยึดถือเอาของเหล่านั้นย่อมเป็นทุกข์ไม่มีสิ้นสุด
ให้เห็นว่ามันเป็นอนัตตาไม่ใช่ของใครทั้งหมด
มันหากเป็นจริงอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา
สรรเสริญ-นินทา ความสรรเสริญและนินทาก็เช่นเดียวกัน ในตัวคนคนเดียวนั่นแหละ
เมื่อเขาเห็นกิริยาอาการต่าง ๆ ที่น่าชมน่าชอบ เขาก็ยกยอสรรเสริญชมเชย
แต่เมื่อเขาเห็นกิริยาวาจาที่น่ารังเกียจ เขาก็ติเตียน
คนผู้เดียวกันนั่นแหละมีทั้งสรรเสริญและนินทา มันจะมีความแน่นอนที่ไหน
อันคำสรรเสริญและนินทาเป็นของไม่มีขอบเขตจำกัด
แต่คนในโลกนี้โดยมากเมื่อได้รับสรรเสริญจากมนุษย์ชาวโลกทั้งหลายที่เขายกให้ ก็เข้าใจว่าเป็นของตนของตัวจริง ๆ จัง ๆ
อันสรรเสริญไม่มีตัวตนหรอก มีแต่ลม ๆแล้ง ๆ หาแก่นสารไม่ได้ แต่เรากลับไปหลงว่าเป็นตัวเป็นตนจริง ๆ
ไปหลงหอบเอาลม ๆ แล้ง ๆ มาใส่ตนเข้า ก็เลยพองตัวอิ่มตัวไปตามความยึดถือนั้น
ไปถือเอาเงาเป็นตัวเป็นจริงเป็นจัง แต่เงาเป็นของไม่มีตัว
เมื่อเงาหายไปก็เดือดร้อนเป็นทุกข์ โทมนัสน้อยใจไปตามอาการต่าง ๆ ตามวิสัยของโลก
แท้จริงสรรเสริญ-นินทา มันหากเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา ก่อนที่เราจะเกิดมาเสียอีก
พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามนุษย์โง่เขลาหลงไปยึดถือเอาสิ่งไม่แน่นอนมาเป็นของแน่นอน จึงเดือดร้อนกันอย่างนี้
แล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติธรรมทับลงเหนือโลกอันไม่มีแก่นสารนี้ ให้เห็นชัดลงไปว่ามันไม่ใช่ของตัวของตน
เป็นแต่ลม ๆ แล้ง ๆ สรรเสริญเป็นภัยอันร้ายกาจแก่มนุษย์ชาวโลกอย่างนี้
แล้วก็ทรงสอนมนุษย์ชาวโลกให้เห็นตามเป็นจริงว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นอนัตตา จะสูญหายไปเมื่อไรก็ได้
มนุษย์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นตามเป็นจริงดั่งที่พระองค์ทรงสอนแล้ว ก็จะคลายความทุกข์เบาบางลงไปบ้าง
แต่มิได้หมายความว่า โลกธรรมนั้นจะหายสูญไปจากโลกนี้เสียเมื่อไร
เป็นแต่ผู้พิจารณาเห็นตามเป็นจริงดั่งที่ว่ามาแล้ว ทุกข์ทั้งหลายก็จะเบาบางลงเป็นครั้งคราว
เพราะโลกนี้ก็ยังคงเป็นโลกอยู่ตามเดิม ธรรมก็ยังคงเป็นธรรมอยู่ตามเดิม
แต่ธรรมสามารถแก้ไขโลกได้บางครั้งบางคราว เพราะโลกนี้ยังหนาแน่นด้วยกิเลสทั้ง ๘ ประการอยู่เป็นนิจ
ความเดือดร้อนเป็นโลก ความเห็นแจ้งเป็นธรรม ทั้งสองอย่างเป็นเครื่องปรับปรุงเป็นคู่กันไปอยู่อย่างนี้
เมื่อกิเลสหนาแน่นก็เป็นโลก เมื่อกิเลสเบาบางก็เป็นธรรม

มีสุข – ทุกข์ ทุกข์เป็นของอันโลกไม่ชอบ แต่ก็เป็นธรรมดาด้วยโลกที่เกิดมาในทุกข์ อันนี้ก็เป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่นั่นเอง
ความสุขย่อมเป็นที่ปรารถนาของโลกโดยทั่วไป ฉะนั้นเมื่อความทุกข์เกิดขึ้นจึงเดือดร้อน เมื่อความสุขหายไปจึงไม่เป็นที่ปรารถนา
แต่แท้ที่จริงความทุกข์และความสุขที่เกิดขึ้นแล้วหายไปนั้น มันหากเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
เราเกิดมาทีหลังโลก เราจึงมาตื่นทุกข์ตื่นสุขว่าเป็นของตนของตัว ยึดมั่นสำคัญว่าเป็นจริง เป็นจัง
เมื่อทุกข์เกิดขึ้นสุขหายไป จึงเดือดร้อนกระวนกระวาย หาที่พึ่งอะไรก็ไม่ได้
พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่าโลกอันนี้มีแต่ทุกข์ไม่มีสุขเลย

ฉะนั้น ทุกข์จึงเป็นเหตุให้พระองค์พิจารณาจนเห็นตามสภาพความเป็นจริง แล้วทรงเบื่อหน่ายคลายจากทุกข์นั้น
จึงทรงเห็นพระอริยสัจธรรมแล้วพระองค์ก็ทรงบัญญัติธรรมลงเหนือทุกข์-สุข ให้เห็นว่า
โลกอันนี้มันหากเป็นอยู่อย่างนั้น อย่าถือว่าเป็นของเรา ถือเอาก็ไม่ได้อะไร ไม่ถือก็ไม่ได้อะไร
ปล่อยวางเสียให้เป็นของโลกอยู่ตามเดิม
ทรงรู้แจ้งแทงตลอดว่าอันนั้นเป็นธรรม โลกธรรมจึงอยู่เคียงกัน ดังนี้
ความเป็นอยู่ของโลกทั้งหมดเมื่อประมวลเข้ามาแล้วก็มี ๔ คู่ ๘ ประการ ดั่งอธิบายมาแล้ว
ไม่นอกเหนือไปจาก ธรรม ๔ คู่ ๘ ประการนี้ โลกเกิดมาเมื่อไร ก็ต้องเจอธรรม ๔ คู่ ๘ ประการนี้เมื่อนั้น อยู่ร่ำไป
พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมาก็เพื่อมาแก้ทุกข์ ๔ คู่ ๘ ประการนี้ทั้งนั้น
พระองค์จึงตรัสว่า “เอส ธมฺโม สนนฺตโน” ธรรมนี้เป็นของเก่าแก่แต่ไหนแต่ไรมา
พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็มาตรัสรู้ในธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าจะมีคำถามว่า
พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในโลกก็เอาของเก่าที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ตรัสไว้แล้วแต่เมื่อก่อนมาตรัสรู้หรือ
วิสัชนาว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นของที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน
และไม่มีครูบาอาจารย์สอนเลย พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองต่างหาก
ไม่เหมือนความรู้ที่เกิดจากปริยัติ ความรู้อันเกิดจากปริยัติไม่ชัดแจ้งเห็นจริงในธรรมนั้น ๆ
ส่วนธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของ ปจฺจตตํ รู้ด้วยตนเอง ไม่มีใครบอกเล่า และก็หายสงสัยในธรรมนั้น ๆ
แต่เมื่อรู้แล้วมันไปตรงกับธรรมที่พระองค์ทรงเทศนาไว้แต่ก่อน เช่น
ทุกข์เป็นของแจ้งชัดประจักษ์ในใจ สมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อละสมุทัยก็ดำเนินตามมรรคและถึงนิโรธ
ตรงกันเป๋งกับธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แต่ก่อน ๆ โน้น จึงเป็นเหตุให้เข้าถึงอริยสัจ
ไม่เหมือนกับคนผู้เห็นตามบัญญัติที่พระองค์ตรัสไว้แล้ว และจดจำเอาตามตำรามาพูด
แต่ไม่เห็นจริงตามตำราในธรรมนั้น ๆ ด้วยใจตนเอง

เมื่อโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีการใช้จ่ายใช้สอยแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของซึ่งกันและกัน จึงจะอยู่ได้
เหตุนั้นรัฐบาลจึงคิดเอาวัตถุธาตุคือโลหะแข็ง ๆ มาทำเป็นรูปแบน ๆ กลม ๆ
แล้วจารึกตัวเลขลงบนแผ่นโลหะนั้นเป็นเลขสิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง
ที่เรียกว่า เหรียญสิบบาท ยี่สิบบาท ร้อยบาท เป็นต้น
หรือเอากระดาษอย่างดีมาจัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
แล้วใส่ตัวเลขลงไปเป็น สิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง ห้าร้อยบ้าง
ตามความต้องการแล้ว เรียกว่า ธนบัตร
เอาไว้ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งกันและกัน
เมื่อมีเงินจะซื้อวัตถุสิ่งของอะไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ
คนที่ต้องการเงินเขาก็เอาวัตถุสิ่งของ อีกคนหนึ่งต้องการธนบัตรที่มีราคาเท่ากัน
ก็จะเป็นวัตถุหรือเงินตราก็ช่าง เรียกว่า “ได้”
แต่เมื่อได้วัตถุมาเงินก็หายไป เมื่อได้เงินมาวัตถุก็หายไป
เรียกว่าได้ลาภเสื่อมลาภพร้อมกันทีเดียว
เมื่อโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีการใช้จ่ายใช้สอยแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของซึ่งกันและกัน จึงจะอยู่ได้
เหตุนั้นรัฐบาลจึงคิดเอาวัตถุธาตุคือโลหะแข็ง ๆ มาทำเป็นรูปแบน ๆ กลม ๆ
แล้วจารึกตัวเลขลงบนแผ่นโลหะนั้นเป็นเลขสิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง
ที่เรียกว่า เหรียญสิบบาท ยี่สิบบาท ร้อยบาท เป็นต้น
หรือเอากระดาษอย่างดีมาจัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
แล้วใส่ตัวเลขลงไปเป็น สิบบ้าง ยี่สิบบ้าง หนึ่งร้อยบ้าง ห้าร้อยบ้าง
ตามความต้องการแล้ว เรียกว่า ธนบัตร
เอาไว้ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งกันและกัน
เมื่อมีเงินจะซื้อวัตถุสิ่งของอะไรก็ได้ตามที่ตนต้องการ
คนที่ต้องการเงินเขาก็เอาวัตถุสิ่งของ อีกคนหนึ่งต้องการธนบัตรที่มีราคาเท่ากัน
ก็จะเป็นวัตถุหรือเงินตราก็ช่าง เรียกว่า “ได้”
แต่เมื่อได้วัตถุมาเงินก็หายไป เมื่อได้เงินมาวัตถุก็หายไป
เรียกว่าได้ลาภเสื่อมลาภพร้อมกันทีเดียว
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 05:47:44 am »

อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก ไม่มีอำนาจใดอาจมาทำลายได้
แม้อำนาจของกรรมดีก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมชั่ว
และอำนาจของกรรมชั่วก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมดี
อย่างมากที่สุดที่มีอยู่คืออำนาจของกรรมดี
แม้ทำให้มากให้สม่ำเสมอในภพภูมินี้
ก็อาจจะทำให้อำนาจของกรรมชั่วที่ได้ทำมาแล้ว ตามมาถึงได้ยาก

ธรรมสำคัญประการหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญคือ เมตตาธรรม
ใครทั้งหลายก็สรรเสริญบรรดาผู้มีเมตตาธรรม
ในขณะเดียวกันก็มีผู้ต้องเป็นทุกข์เพราะมีเมตตา
ด้วยหลงเข้าใจว่า เมื่อมีเมตตา มีความสงสารก็ต้องมีใจไม่เป็นสุข ซึ่งที่จริงหาถูกต้องไม่

มีเมตตาต่อเขาผู้เป็นทุกข์นั้นดีนัก แต่อย่าลืมเมตตาตน
ตนเองปล่อยให้ใจตัวเองเป็นทุกข์เพราะเมตตาเขา
ไม่มีอำนาจใดจะไปสู้กับอำนาจธรรมของใครได้

เมื่อเชื่อในเรื่องอำนาจกรรมเช่นนี้
ใจที่มีเมตตาก็จะเป็นการมีเมตตาอย่างถูกต้อง อย่างมีปัญญา
ไม่พาใจตนเองไปสู่ความเร่าร้อนด้วยความเมตตาที่ไม่ถูกต้อง

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 05:49:45 am »

พูดมาก เสียมาก
พูดน้อย เสียน้อย
ไม่พูด ไม่เสีย
นิ่งเสีย โพธิสัตว์


“มนุษย์ผู้ใดเห็นแก่งานส่วนตัว…
…มนุษย์ผู้นั้นจะไม่มีงานทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใดเห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว
…มนุษย์ผู้นั้นจะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใดเห็นแก่นอนมาก
…มนุษย์ผู้นั้นจะไม่ได้นอนในไม่ช้า”

“นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา”

สมเด็จพระสังฆราชคุรูปาจารย์ หลวงปู่ทวด(เหยียบน้ำทะเลจืด)
พระเถระสมัยกรุงศรีอยุธยา

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 05:50:20 am »

" ถ้าต้องพูดกับคนทุกคนแล้ว ..คงไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมแน่.."
" การเห็นเป็นเหตุแห่งการคิด การคิดเป็นเหตุแห่งการเห็น...ถ้าคิดดีก็เป็นทางเย็น ถ้าคิดไม่เป็นก็เย็นสบาย .."
" ตายเป็นเหม็นเน่า เราเขาเหมือนกัน...อยู่ไปทุกวัน ใครได้ก็ดี ใครมีก็ได้ !"
" พระนิพพาน..ความรู้พิเศษ.. พระนิพพานเปรียบเหมือนคุณของอากาศ..อธิบายว่า..อากาศมีคุณ ๑๐ ประการ
๑. ไม่รู้จักเกิด
๒. ไม่รู้จักแก่
๓. ไม่รู้จักตาย
๔. ไม่กลับเกิดอีก
๕. ไม่จุติ
๖. ใครจะข่มเหงลอบลักเอาไปไม่ได้
๗. เป็นของดำรงสภาพไว้ได้โดยไม่ต้องอาศัยอะไร
๘. สำหรับฝูงนกบินไปมา
๙. ไม่มีอะไรมากางกั้น..แล
๑๐. ที่สุดไม่ปรากฏ"

หลวงพ่อเกษม เขมโก
สุสานไตรลักษณ์ อ. เมือง จ. ลำปาง
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 05:52:31 am »

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด



ละได้ย่อมสงบ

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแต่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไปสู่การสลายตัวทั้งสิ้น ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข ละได้ย่อมสงบ



สันดาน

ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได้
แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง
ซึ่งไม่เหมือนกันย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก




ชีวิตทุกข์

การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ
จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ
จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ
เสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ
เมื่อเราจะออกจากบ้าน
ก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ
นี่คือ ความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย


บรรเทาทุกข์

การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้น
เราจะต้องรู้ว่า เรานี้จะต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคม เราต้องเป็นตัวของเราเอง
และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่า สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ




ยากกว่าการเกิด

ในการที่เราเกิดมา ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นสิยาก
เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย



ไม่สิ้นสุด

แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด
กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น


ยึดจึงเดือดร้อน

ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดนั่น ยึดนี่
ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงธรรมสากล
จักรวาลโลกมนุษยนี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก
สัตว์โลกทุกคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม
ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน เกิดการฆ่าฟันกัน
เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า
สิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือ หลักความจริงของธรรมะ




อยู่ให้สบาย

ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น
เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย
อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์
เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ เหนือรัก เหนือชัง


ธรรมารมณ์

การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง
อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือ รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ
ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่าง ๆ แล้ว
ถ้าสิ่งต่าง ๆ ไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจ น้อยใจ เป็นทุกข์



กรรม

ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า
เกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้ว
ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์ มีความรื่นเริง




มารยาทของผู้เป็นใหญ่

ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง
มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก
คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ


โลกิยะ หรือ โลกุตระ

คนที่เดินทางโลกุตระ ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะ ย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก เพราะอะไร ?
ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ?

ถ้าเป็นไปได้ พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ ?
แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน
เราต้องตัดสินใจ ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง


ศิษย์แท้

พิจารณากายในกาย พิจารณาธรรมในธรรม พิจารณาวิญญาณ ในวิญญาณ
นั่นแหละ คือ สานุศิษย์อันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



รู้ซึ้ง

ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล ผลนั้นเกิดจากเหตุ
เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว เราจึงรู้ซึ้งถึงพุทธศาสนา



ใจสำคัญ

การทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์
จะต้องทำด้วยความศรัทธา

ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย

หยุดพิจารณา

คนเรานี้ ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว จิตมันจะฟุ้งซ่าน
และถ้าภาวะนั้น ตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อย ๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้


บริจาค

ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอก
การสวดมนต์เป็นการภาวนา การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ
การบริจาคภายในย่อมได้กุศล มากว่า การบริจาคภายนอก
นี่คือเรื่องของนามธรรม



ทำด้วยใจสงบ

เราจะทำบุญก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี จงทำด้วยความสงบ
อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น มันจะพาเราไปสู่หายนะ
เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จงอย่าทำ
นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด
เมื่อเกิดปัญญาแล้ว จะทำสิ่งใดก็เป็นไปโดยความสะดวก


มีสติพร้อม

จะทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องมีสติพร้อม
คือ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ
อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผล มาอยู่เหนือความจริง


เตือนมนุษย์

มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่งานส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีงานทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่นอนมาก มนุษย์ผู้นั้น จะไม่ได้นอนในไม่ช้า


พิจารณาตัวเอง

คืนหนึ่งก็ดี วันหนึ่งก็ดี ควรให้มีเวลาว่างสัก ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที ไม่ติดต่อกับใคร ?
ให้นั่งเฉย ๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวัน ๆ ว่า ที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร ?
คือให้ปลีกตัวมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง คิดเอาแต่เรื่องของตัว อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น
เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้ มักเอาแต่เรื่องของคนอื่นมาคิด ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง


บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 05:54:09 am »

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจันโท)
วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ยศเส กรุงเทพมหานคร


“…ควรพวกเราทั้งหลายคิดดูให้เห็นโทษและคุณแห่งความตายเสียให้ชัดใจ…
ผู้มีปัญญาไม่ควรประมาทความตาย…
ให้เห็นว่าเป็นสมบัติสำหรับตัวเรา
เราจะต้องการในกาลอันสมควร…คือความตายมาถึงเราสมัยใด
สมัยนั้นแหละชื่อว่ากาลอันสมควร
ไม่ควรจะเกลียด ไม่ควรจะกลัว…

สังขารทั้งหลาย คือสัตว์ที่เกิดมาในไตรภพ
จะหลีกหลบให้พ้นจากความตาย ไม่มีเลย…
เมื่อมีความเกิดเป็นเบื้องต้นแล้ว ย่อมมีความตายเป็นเบื้องปลายทุกคน
นัยหนึ่งให้เอาความเกิดความตายซึ่งมีประจำอยู่ทุกวันเป็นเครื่องหมาย

เมื่อพิจารณาถึงความตาย ก็ต้องพิจารณาถึงความป่วยไข้
และความแก่ ความชรา เพราะเป็นเหตุ เป็นผลกัน…
ให้พิจารณาถึงพยาธิความป่วยไข้ว่า
พยาธิ ธมฺโมมหิ พยาธิ อนตีโต
เรามีความป่วยไข้เป็นธรรมดา จะข้ามล่วงพ้นไปจากความป่วยไข้หาได้ไม่…
ถ้าแลพิจารณาเห็นความชราอันเป็นปัจจุบันได้ก็ยิ่งประเสริฐ

ความระงับสังขารทั้งหลายนั้น ท่านมิได้หมายถึงความตาย…
ท่านหมายถึงวิปัสสนาญาณ และอาสวักขยญาณ
คือปัญญารู้เท่าสังขาร รู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ
เป็นชื่อของ…พระนิพพาน…เป็นยอดแห่งความสุข”

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 05:55:50 am »

หลวงปู่ปาน โสนันโท
(พระครูวิหารกิจจานุการ)
วัดบางโคนม อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา



“ในงานศพ…ที่มาไหว้ศพนั้น เขามาไหว้สัจจธรรมของพระพุทธเจ้านะ
คือ ท่านตรัสว่าร่างกายของคนนั้นเป็นอนิจจัง…ไม่เที่ยง
เวลาอยู่ก็เป็นทุกข์ ในที่สุดก็อนัตตาคือตาย ใครบังคับบัญชาไม่ได้
เวลากราบทีแรกเรานึกถึงพระพุทธเจ้าว่าทรงเทศน์ไว้ถูก เทศน์ไว้ตรง
ข้าพระพุทธเจ้าขอยอมรับนับถือ เป็นมรณานุสติกรรมฐาน

กราบครั้งที่ ๒ เรานึกถึงพระธรรมคำสอนของพระองค์จากพระโอษฐ์
เหมือนดอกมะลิแก้วแพรวพราวไปด้วยความจริงอันประเสริฐ
ทำบุคคลทั้งหลายไม่ให้เมามัน และทำให้เข้าถึงความสุข

กราบครั้งที่ ๓ นึกถึงพระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
ที่ท่านร้อยกรองพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว
ไม่ปล่อยให้อันตรธานสูญไป รวบรวมเข้าไว้…

นี่กราบความดีของพระ ๓ พระนะ เขาไม่ได้กราบผีกราบศพ !”

“ถึงแม้เราจะมีคาถาอาคมของดีอะไรก็ตาม เราก็ต้องตาย…
ก่อนตายควรเลือกทางเดินเอา อย่างน้อยที่สุดเราควรไปสวรรค์ชั้นกามาวจรให้ได้…

ขอให้ทุกคน เวลาก่อนจะหลับ ให้นึกถึงความดีที่ตนเคยทำไว้
ทรัพย์สินที่เคยสละเป็นวิหารทาน ธรรมทาน สังฆทานเลี้ยงพระ
นึกถึงศีลที่ตนเคยรักษา เทศน์ที่ตนเคยฟัง
แล้วหมั่นภาวนาถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
พระพุทธโธ ธัมโม สังโฆ แล้วจะรู้ว่าฉันหวังดีกับลูกหลานเพียงใด

คนไหนทำดีมากไม่ได้ก็ให้สร้างความดี ๒ อย่างที่ฉันต้องการ คือ
๑. อย่าดื่มสุราเมรัย
๒. อย่าลักขโมย อย่าเป็นโจร”

เมื่อจะเจริญกรรมฐาน ให้ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นฌานสมาธิแน่วแน่
ให้แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาล แล้วจึงพิจารณาตามอารมณ์วิปัสสนา
หรือภาวนาตามแบบสมถะ…

ทุกคนตายแล้วจงไปสวรรค์..
จงไปพรหมโลก..
จงไปพระนิพพาน”
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 05:56:56 am »

หลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร
วัดเทพสิงหาร ต.นายูง อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี

“จิตมนุษย์มีพลังมหาศาล จะทำอะไรก็มักสำเร็จ
ก็เพราะมีดวงจิตที่เป็นกำลังสำคัญ จิตดวงเดียวสำคัญที่สุด…
จิตมันบอกลักษณะไม่ได้ แต่มันก็มีความรู้สึกอยู่ภายใน…
เว้นแต่ว่ามนุษย์เกิดมาแล้ว จะเอาดีหรือเอาชั่วเท่านั้น
มันเป็นขั้นตอนอยู่ตรงนี้
ถ้าเอาดีก็ต้องได้ของดีมาประดับตัวแน่นอน…”

“มนุษย์ควรเจริญด้วยธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติในข้อวัตรปฏิบัติธรรม
คือ ความดีมีศีลธรรมนั้นเองจะช่วยได้…”

................... ................... ................... ................... ................... ................... ................... ............


หลวงพ่อสด จนฺทสโร (พระมงคลเทพมุนี)
วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

ว่าในด้านภาวนา…
กายนี้มีซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มีกายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์
กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์
กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายรูปพรหม
กายธรรมซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม…

คนเราที่ว่าตายนั้นคือ กายทิพย์กับกายมนุษย์หลุดพรากออกจากกัน
เหมือนมะขามกะเทาะล่อนจากเปลือกฉันนั้น
กายทิพย์ก็หลุดจากกายมนุษย์ไป


สุขในฌานอะไรจะไปสู้ ในภพนี่ไม่มีสุขเท่าถึงดอก
สุขในฌานนะ…สุขลืมสมบัตินั่นแหละ
สมบัติกษัตริย์ก็ไม่อยากได้ สุขในฌานนะ สุขนักหนาทีเดียว
เต็มส่วนความสุขก็หนึ่ง เฉยวิเวกวังเวงเปลี่ยวเปล่า
เรามาคนเดียวไปคนเดียวหมดทั้งสากลโลก
คนทั้งหลายไปคนเดียวทั้งนั้น ไม่มีคู่สองเลย
จะเห็นว่าลูกสักคนหนึ่งก็ไม่มี สามีสักคนหนึ่งก็ไม่มี ภรรยาสักคนหนึ่งไม่มี
ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างเกิด เป็นอย่างนี้
ปล่อยหมด ไม่ว่าอะไรไม่ยึดถือทีเดียว
เรือกสวนไร่นา ตึกร้านบ้านช่อง ก่อนเราเกิดเขาก็มีอยู่อย่างนี้
หญิงชายเขาก็มีกันอยู่อย่างนี้ เราเกิดแล้วก็มีอยู่อย่างนี้
เราตายไปแล้วมันก็มีอยู่อย่างนี้
เห็นดิ่งลงไปทีเดียว เข้าปฐมฌานเข้าไปแล้ว
เห็นดิ่งลงไปเช่นนี้

การปฏิบัติ…ไม่หยุดไม่ถึงพระ…ตัวหยุดนี่แหละเป็นตัวสำเร็จ

พระรัตนตรัยเป็นแก้วจริง ๆ หรือเปรียบด้วยแก้ว
ถ้าเป็นทางปริยัติเข้าใจตามอักขระแล้ว เป็นอันเปรียบด้วยแก้ว
ถ้าเป็นทางปฏิบัติแล้ว เป็นแก้วจริง ๆ

ภาวนํ ตาเวติ ทำให้จริง ให้หยุด ให้นิ่ง ทำให้มี ให้เป็นขึ้น
กี่ร้อย กี่พันคนก็นอนหลับสบาย กี่คน ๆ ก็สงบนิ่ง
เมื่อสงบนิ่งแล้ว มีคนสักเท่าไร ก็ไม่รกหูรกตา
ไม่รำคาญไม่เดือดร้อน เป็นสุขสำราญเบิกบานใจเป็นนิจ
นี่เขาเรียกว่า ภาวนา ทำให้ใจหยุดสงบ

ในการบำเพ็ญภาวนา ความเพียรเป็นข้อสำคัญยิ่ง
ต้องทำเสมอ
ทำเนือง ๆ ในทุกอิริยาบถไม่ว่า นั่ง นอน เดิน ยืน และทำเรื่อยไป
อย่าหยุด อย่าละ อย่าทอดทิ้ง อย่าท้อแท้ มุ่งรุดหน้าเรื่อยไป
ผลจะเกิดวันหนึ่ง ไม่ต้องสงสัย
ผลเกิดอย่างไร ท่านรู้ได้ด้วยตัวของท่านเอง
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 06:01:06 am »

คติธรรมคำสอนพระราชวุฒาจารย์(พระอตุโล ดูลย์)
วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์
คัดเป็นบางตอนมาจากหนังสืออตุโลไม่มีใดเทียม พ.ศ.๒๕๓๙
และทางวัดป่าดานวิเวก จังหวัดหนองคายได้รวบรวมไว้ในหนังสือหลักธรรมชุดศิลาจารึก พ.ศ.๒๕๔๙

จิตนี้คือพุทโธ จิตนี้คือธรรมเป็นสภาวะพิเศษที่ไม่ไปไม่มาเป็นความบริสุทธิ์ล้วน ๆ
จิตนี้เหนือความดีความชั่วทั้งปวงซึ่งไม่อาจจัดเป็นรูปหรือนามได้

จิตส่งออกไปเป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกเป็นทุกข์
จิตเห็นจิตเป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ

ไม่มีอะไรจะถึงและไม่มีอะไรจะไม่ถึง
ผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติถึงสิ่งที่ไม่มีและอยู่กับสิ่งที่ไม่มี
คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มีเพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่
ในทางโลกมีสิ่งที่มี ส่วนในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี

คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงได้รู้
แต่ต้องอาศัยความคิดเห็นนั้นแหละจึงรู้
ทุกข์ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย
ไปเก็บมันไว้ทำไม
การไม่กังวลการไม่ยึดนั่นแหละ
คือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ

จิตนี้คือพุทธโยนิอันบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในทุกคน
สัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิดกระดุกกระดิกได้ทั้งหมดก็ดี
พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี
ล้วนแต่เป็นของแห่งธรรมชาติอันหนึ่งอันนี้เท่านั้นและไม่แตกต่างกันเลย
ความแตกต่างทั้งหลายเกิดจากเราคิดผิดเท่านั้น
ย่อมนำเราไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิดไม่มีหยุด
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #20 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 06:01:52 am »

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จากบันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา"หลวงปู่ฝากไว้"

จับกับวาง

นักศึกษาธรรมะหรือนักปฏิบัติธรรมะ มีสองประเภท

ประเภทหนึ่ง ศึกษาปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

ประเภทสอง ศึกษาปฏิบัติเพื่อจะอวดภูมิกัน ถกเถียงกันไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น

ใครจำตำราหรืออ้างครูบาอาจารย์ได้มาก ก็ถือว่าตนเป็นคนสำคัญ
บางทีเข้าหาหลวงปู่ แทนที่จะถามธรรมะข้อปฏิบัติจากท่าน
ก็กลับพ่นความรู้ความจำของตนให้ท่านฟังอย่างวิจิตรพิสดารก็เคยมีไม่น้อย

แต่สำหรับหลวงปู่นั้นทนฟังได้เสมอ
เมื่อเขาจบลงแล้วยังช่วยต่อให้หน่อยหนึ่งว่า


“ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์

ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้

แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้

ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน”

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #21 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 06:02:41 am »

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จากบันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา"หลวงปู่ฝากไว้"


“ปัญญาภายนอกคือปัญญาสมมติ
ไม่ทำให้จิตแจ้งในพระนิพพานได้
ต้องอาศัยปัญญาอริยมรรค
จึงจะเข้าถึงพระนิพพานได้

ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์เช่น ไอน์สไตน์
มีความรู้มาก มีความสามารถมาก
แยกปรมาณูที่เล็กที่สุด จนเข้าถึงมิติที่ ๔ แล้ว
แต่ไอน์สไตน์ไม่รู้จักพระนิพพาน
จึงเข้าพระนิพพานไม่ได้


จิตที่แจ้งในอริยมรรคเท่านั้น

จึงเป็นไปเพื่อการตรัสรู้จริง ตรัสรู้ยิ่ง ตรัสรู้พร้อม

เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน"
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #22 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 06:04:12 am »

เหตุแห่งนิวรณ์ ๕ประการ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะเป็นเหตุให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ เหมือนศุภนิมิต (รูปอันสวยงาม)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจศุภนิมิตโดยไม่แยบคาย กามฉันทะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะเป็นเหตุให้พยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้น หรือพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ เหมือนปฏิฆนิมิต (การเพ่งโกรธ ความผูกโกรธ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจปฏิฆนิมิตโดยไม่แยบคาย พยาบาทที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ถีนมิทธะ (ความเกียจคร้าน ง่วงเหงาหาวนอน) ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ เหมือนความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหาร และความที่จิตหดหู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตหดหู่ ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ) ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ เหมือนความไม่สงบแห่งใจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตไม่สงบแล้ว อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย โลเลไปมา) ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ เหมือนการใส่ใจโดยไม่แยบคาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจโดยไม่แยบคาย วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ ฯ
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #23 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 06:05:00 am »

ธรรมคู่ปรับ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ เหมือน อศุภนิมิต (รูปอันไม่สวยงาม)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจอศุภนิมิตโดยแยบคาย กามฉันทะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วอันบุคคลย่อมละได้ ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ เหมือนเมตตาเจโตวิมุติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจเมตตาเจโตวิมุติโดยแยบคาย พยาบาทที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ เหมือนความริเริ่ม ความพากเพียร ความบากบั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลปรารภความเพียรแล้ว ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะเป็นเหตุให้อุทธัจจกุกกุจจะ ที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรืออุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ เหมือนความสงบแห่งใจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตสงบแล้ว อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะเป็นเหตุให้วิจิกิจฉาที่ยัง ไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วอันบุคคลย่อมละได้ เหมือนการใส่ใจโดยแยบคาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลใส่ใจโดยแยบคาย วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ ฯ

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #24 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 06:05:42 am »

พระอานนท์อุปมาอาการแห่งการละนิวรณ์ ๕ ประการ

พระอานนท์ได้กล่าวกับสุภมานพ ในช่วงหนึ่งแห่งการเทศนาเปรียบนิวรณ์ และอารมณ์ของผู้ละนิวรณ์ได้ มีประมาณไว้ดังนี้

ดูกรมาณพ เปรียบ เหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขาจะพึงมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน

บัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกาย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย

บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

ดูกรมาณพ เปรียบ เหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไร ๆ เลย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ

บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไร ๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

ดูกรมาณพ เปรียบ เหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้

บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

ดูกรมาณพ เปรียบ เหมือนบุรุษ มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ พึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า

บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

ดูกรมาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร

และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #25 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 06:09:56 am »

เรื่องของเทวดากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมากมายในพระไตรปิฎกทั้ง ที่เป็นเหตุการณ์ทั่วไปรวมไปถึงบางส่วนที่เป็นข้ออรรถข้อธรรมที่สามารถนำมา ใช้ในการปฏิบัติเพื่อการบรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาติปัจจุบัน
ดังนั้น กระทู้นี้จะขอยกเรื่องของเทวดาที่มีมาในพระพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎกที่พอจะหา ข้อมูลได้ มาให้ได้อ่านกันเป็นข้อธรรมในรูปแบบของ "เทวดากล่าว พระพุทธเจ้าตรัส" ขอเชิญท่านทั้งหลายพิจารณานำไปใช้ตามความพอเหมาะของตนให้เจริญในธรรมด้วยกัน นะครับ


ผู้ไม่ถูกชักนำไปในวาทะของผู้อื่น

เทวดากล่าว
"บุคคลเหล่าใดลืมเลือนพระธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านั้นย่อมถูกชักนำไปในวาทะของบุคคลอื่นได้ บุคคลเหล่านั้นนับว่า..หลับไม่ตื่น.. เวลานี้เป็นเวลาอันสมควรเพื่อจะตื่นขึ้นของคนเหล่านั้น"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"บุคคลเหล่าใดไม่ลืมเลือนพระธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านั้นจะไม่ถูกชักนำไปตามวาทะของบุคคลอื่น เพราะบุคคลผู้รู้ดี รู้ทั่วถึงธรรมโดยชอบย่อมประพฤติธรรมสม่ำเสมอ ในเมื่อบุคคลอื่น ๆ ยังประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ กันอยู่"

ความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรม

เทวดากล่าว
"บุคคลเหล่าใด ยังไม่รู้แจ่มแจ้งในพระธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านั้น ย่อมถูกชักนำไปในวาทะของบุคคลเหล่าอื่นได้ บุคคลเหล่านั้น นับว่ายังหลับอยู่ ไม่ตื่น เวลานี้เป็นเวลาอันควรเพื่อตื่นขึ้นของบุคคลเหล่านั้น"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"บุคคลทั้งหลายเหล่าใด รู้แจ่มแจ้งในพระธรรมทั้งหลายแล้ว บุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ถูกชักนำไปในวาทะของบุคคลเหล่าอื่น
บุคคลผู้รู้ดีทั้งหลาย รู้ทั่วถึงโดยชอบแล้ว ย่อมประพฤติเสมอในหมู่สัตว์ผู้ประพฤติไม่เสมอ"

ชีวิตอันความชราต้อนเข้าไป

เทวดากล่าว
"ชีวิตมีช่วงอายุเวลาสั้น ถูกชราต้อนเข้าไปเรื่อย
เมื่อบุคคลถูกความชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีใครช่วยป้องกันได้
บุคคลเมื่อเล็งเห็นภัยนี้ในมรณะ ควรบำเพ็ญบุญทั้งหลายที่จะนำความสุขมาให้ไว้เถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ชีวิตมีช่วงอายุเวลาสั้น ถูกชราต้อนเข้าไปเรื่อย
เมื่อบุคคลถูกความชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีใครช่วยป้องกันได้
บุคคลเมื่อเล็งเห็นภัยนี้ในมรณะ ควรละโลกามิสเสีย มุ่งแต่สันติเถิด"


กาลเวลาล่วงผ่านไป


เทวดากล่าว
"กาลเวลาย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ช่วงแห่งวัยก็ย่อมละไปตามลำดับ
บุคคลเมื่อเล็งเห็นภัยนี้ในมรณะ ควรบำเพ็ญบุญทั้งหลายที่จะนำความสุขมาให้..ไว้เถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"กาลเวลาย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ช่วงแห่งวัยก็ย่อมละไปตามลำดับ
บุคคลเมื่อเล็งเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละโลกามิสเสีย มุ่งแต่สันติเถิด"

ความลำบากในการบำเพ็ญธรรม

เทวดากล่าว
"ภาวะของสมณะ คนไม่ฉลาดบำเพ็ญได้ลำบาก และอดทนได้ยาก เพราะว่าในภาวะของสมณะนั้นมีความคับใจมาก ที่เป็นเหตุให้คนพาลติดขัด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"คนพาลประพฤติธรรมของสมณะเป็นเวลานานเท่านาน หากยังห้ามจิตไว้ไม่ได้ ยังตกอยู่ในอำนาจแห่งความดำริวิตก ก็จะพึงติดขัดทุก ๆ อารมณ์
หากภิกษุยับยั้งความวิตกไว้ได้ เหมือนเต่าหดอวัยวะของมันไว้ในกระดอง ไม่ถูกตัณหานิสัย และทิฐินิสัยพัวพัน ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ดับกิเลสได้แล้ว จะไม่พึงถูกใครติเตียนได้เลย"

กีดกันอกุศลธรรมด้วยหิริ

เทวดากล่าว
"บุรุษกีดกันอกุศลธรรมได้ด้วยหิริ*มีอยู่น้อยคนในโลก
ภิกษุรูปใดบรรเทาความหลับได้ เหมือนม้าชั้นดีหลบแส้ได้ฉะนั้น ภิกษุรูปนั้นมีอยู่น้อยในโลก"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้กีดกันอกุศลธรรมได้ด้วยหิริ มีสติ ประพฤติธรรมอยู่ทุกเมื่อ ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพเหล่านั้นมีอยู่น้อยองค์ในโลก
ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพทั้งหลาย บรรลุที่สุดแห่งทุกข์แล้ว ย่อมประพฤติธรรมได้สม่ำเสมอ เมื่อคนอื่นยังประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ กันอยู่"


* หิริ - ความละอาย
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #26 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 06:15:36 am »

ละกิเลสประหนึ่งถูกแทงอยู่ด้วยหอก

เทวดากล่าว
"ภิกษุพึงมีสติหลีกเร้นอยู่ เพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกแทงด้วยหอกมุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ภิกษุพึงมีสติหลีกเร้นอยู่ เพื่อละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษที่ถูกแทงด้วยหอกมุ่งถอนออก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น"

วิบากกรรม

เทวดากล่าว
"วิบากแห่งกรรมย่อมไม่ถูกต้องบุคคลผู้ไม่ก่อกรรม
วิบากแห่งกรรมพึงถูกต้องบุคคลผู้ก่อกรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้น วิบากแห่งกรรมจึงถูกต้องบุคคลผู้ก่อกรรม ผู้ประทุษร้ายบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายโดยแท้"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"บุคคลใดประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์จากกิเลส บาปย่อมย้อนกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลโดยแท้ ประดุจธุลีอันละเอียดที่เขาซัดไปทวนลมแล้วย้อนกลับมา ฉะนั้น"


การห้ามใจ

เทวดากล่าว
"บุคคลพึงห้ามใจแต่อารมณ์ใด ๆ ไว้ได้ ทุกข์ย่อมไม่เข้าถึงบุคคลนั้นเพราะเหตุแห่งอารมณ์นั้น ๆ
บุคคลพึงห้ามใจแต่อารมณ์ทั้งปวง บุคคลนั้นย่อมพ้นจากทุกข์ เพราะเหตุแห่งอารมณ์ทั้งปวง"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"บุคคลไม่พึงห้ามใจแต่อารมณ์ทั้งปวงที่เป็นเหตุให้ใจมีความสำรวม
บาปย่อมเกิดขึ้นจากอารมณ์ใด ๆ บุคคลพึงห้ามใจจากอารมณ์นั้น ๆ เสีย"


การนั่งใกล้พระสุคตเจ้า

เทวดากล่าว
"ชนเหล่าใดนั่งใกล้พระสุคตเจ้า มอบตนไว้ในศาสนาของพระโคดม ไม่ประมาทแล้วตามศึกษาอยู่ ชนเหล่านั้นถึงความสุขแล้วหนอ"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ชนเหล่าใดเป็นผู้เพ่งพินิจ ตามศึกษาในข้อสั่งสอนที่เรากล่าวไว้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่ประมาทอยู่ในกาล ไม่พึงไปสู่อำนาจแห่งมัจจุเลย"

(เวณฑุสูตร)

ผู้มีสติในที่คับขัน

เทวดากล่าว (ปัญจาลจัณฑเทวบุตร)
"บุคคลผู้มีปัญญามาก ได้ประสบโอกาสในที่คับขันหนอ
ผู้ใดได้บรรลุฌานย่อมเป็นผู้ตื่น ผู้นั้นเป็นผู้หลีกออกได้อย่างองอาจ เป็นมุนี"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ก็ชนเหล่าใด แม้อยู่ในที่คับขัน แต่กลับได้สติเพื่อการบรรลุพระธรรม คือ พระนิพพาน ชนเหล่านั้นตั้งมั่นดีแล้วโดยชอบ"

(ปัญจาลจัณฑสูตร)

ผู้ที่เรียกว่าพราหมณ์

เทวดากล่าว (ทามลิเทวบุตร)
"พราหมณ์ผู้ไม่เกียจคร้าน พึงทำความเพียรนี้ เพราะละกามทั้งหลายได้เด็ดขาดแล้ว ด้วยเหตุนั้น เขาจึงไม่ปรารถนาภพ"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ทามลิ กิจไม่มีแก่พราหมณ์* เพราะว่าพราหมณ์ทำกิจเสร็จแล้ว
บุคคลยังไม่ได้ท่าจอดในแม่น้ำทั้งหลายเพียงใด เขาเป็นสัตว์บก ต้องพยายามด้วยตนเองทุกอย่างเพียงนั้น
ก็พวกเขาผู้นั้นได้ท่าเป็นที่จอดแล้ว ยืนอยู่บนบก ก็ไม่ต้องพยายามเพราะเขาถึงฝั่งแล้ว
ดูก่อนทามลิเทวบุตร นี่เป็นข้ออุปมาแห่งพราหมณ์ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ พราหมณ์นั้นถึงที่สุดแห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ต้องพยายามเพราะเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว"

(ทามลิสูตร)
*พราหมณ์ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคหมายถึงพระขีณาสพ

ผู้เข้าถึงฌาน


เทวดากล่าว (จันทิมสเทวบุตร)
"ก็ชนเหล่าใดเข้าถึงฌาน มีจิตเป็นสมาธิ มีสติ มีปัญญา
ชนเหล่านั้นจักถึงความสวัสดี ประดุจเนื้อทรายในชวากเขา ไร้ริ้นยุง ฉะนั้น"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ก็ชนเหล่าใดเข้าถึงฌาน ไม่ประมาท ละกิเลสได้
ชนเหล่านั้นจักถึงฝั่ง ประดุจปลาทำลายข่ายได้แล้วว่ายไป ฉะนั้น"


โลก

เทวดากล่าว
"โลกอันอะไรนำไป อันอะไรเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไรหนอ"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจธรรมอย่างหนึ่งคือจิต"

เทวดากล่าว
"โลกอันอะไรหนอนำไป อันอะไรหนอเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไรหนอ"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"โลกอันตัณหาย่อมชักนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจธรรมอย่างหนึ่งคือตัณหา"

เทวดากล่าว
"โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้ อะไรเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละขาดซึ่งธรรมอะไรจึงเรียกว่านิพพาน"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ มีวิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาได้ขาด จึงเรียกว่านิพพาน"

เทวดากล่าว
"โลกมีอะไรเป็นเครื่องผูกไว้ อะไรเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละอะไรเสียได้จึงตัดเครื่องผูกได้หมด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ โลกนั้นมีวิตกเป็นเครื่องเที่ยวไป เพราะละตัณหาได้เด็ดขาด จึงตัดเครื่องผูกได้หมด"

เทวดากล่าว
"โลกอันอะไรผูกเอาไว้ เพราะกำจัดอะไรเสียได้จึงหลุดพ้น เพราะละอะไรได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทุกอย่าง"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"โลกอันความอยากผูกเอาไว้ เพราะกำจัดความอยากเสียได้จึงหลุดพ้น เพราะละความอยากได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด"


สางเครื่องยุ่ง


เทวดากล่าว
"หมู่สัตว์ยุ่งทั้งภายใน ยุ่งทั้งภายนอก ถูกความยุ่งพาให้นุงนังแล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า ใครพึงสางเครื่องยุ่งนุงนังนี้ได้"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"นรชนคนมีปัญญา เห็นภัย ดำรงมั่นแล้วในศีล อบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญาเครื่องรักษาตัวรอดนั้น พึงสางเครื่องยุ่งนุงนังนี้ได้
บุคคลเหล่าใดกำจัดราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว บุคคลเหล่านั้น มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่ไกลจากกิเลส บุคคลเหล่านั้นสางตัณหาอันเป็นเครื่องยุ่งได้แล้ว นามก็ดี รูปก็ดี ปฏิฆสัญญาและรูปสัญญาก็ดี ดับหมดในที่ใด ตัณหาอันเป็นเครื่องยุ่งนั้น ก็ย่อมขาดหมดไปในที่นั้น"


บุคคลให้สิ่งใดจึงชื่อว่าให้สิ่งนั้น


เทวดากล่าว
"บุคคลให้อะไร ชื่อว่าให้กำลัง
ให้อะไร ชื่อว่าให้วรรณะ
ให้อะไร ชื่อว่าให้ความสุข
ให้อะไร ชื่อว่าให้จักษุ
และบุคคลเช่นไร ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"บุคคลให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง
ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ
ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข
ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ
และให้ที่พักพาอาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ส่วนผู้ที่พร่ำสอนพระธรรม ชื่อว่าให้อมฤตธรรม"


บุญที่เจริญทั้งกลางวันกลางคืน

เทวดากล่าว
"บุญย่อมเจริญทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อ แก่ชนพวกไหน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในพระธรรม และสมบูรณ์ด้วยศีลแล้วย่อมไปสู่สวรรค์เล่า"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ชนเหล่าใดสร้างวัดวาอาราม ปลูกสวนไม้ดอกไม้ผล ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา สร้างสะพาน สระน้ำ บ่อน้ำ และบ้านเรือนที่พักอาศัยให้เป็นทาน บุญย่อมเจริญแก่เขาทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อ ทั้งชนเหล่านั้นยังตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล จึงไปสู่สวรรค์อย่างแน่นอน"

(วนโรปสูตร)

เหตุให้วรรณะผ่องใส

เทวดากล่าว
"ผิวพรรณของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่แต่ในป่า เป็นสัตบุรุษ ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ฉันอาหารมื้อเดียว ย่อมผ่องใสเพราะเหตุแห่งอะไร"

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
"ภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่คิดเสียดายถึงปัจจัยที่ล่วงมาแล้ว และย่อมไม่ปรารถนาปัจจัยที่ยังไม่มาถึง ย่อมเลี้ยงชีพด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ผิวพรรณของภิกษุเหล่านั้น จึงผ่องใสด้วยเหตุนั้น
เพราะปรารถนาในปัจจัยที่ยังไม่มาถึง และเพราะหวนคิดเสียดายถึงปัจจัยที่ล่วงมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ภิกษุทั้งหลายผู้ยังเขลาอยู่ จึงซูบซีดไปเหมือนต้นอ้อสดถูกถอนขึ้นแล้ว ฉะนั้น"

(อรัญญสูตร)
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #27 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 06:51:25 am »

เมื่อคนที่มีดวงตาเห็นธรรมมองไปที่สิ่งใดในโลก เขาจะเห็นไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในสิ่งนั้นพร้อมกันไปด้วย ทั้งนี้เพราะไตรลักษณ์เป็นสามัญลักษณะคือลักษณะที่สรรพสิ่งต้องมีเหมือนกัน หมด ดังนั้น เราจึงกล่าวได้ว่า

คนที่เห็นไตรลักษณ์ก็คือคนที่เห็นสรรพสิ่งเป็นหนึ่งและเห็นความเป็นหนึ่งในสรรพสิ่ง

ที่ว่า “เห็นสรรพสิ่งเป็นหนึ่ง” หมายถึงว่า มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีสามัญลักษณะหรือลักษณะร่วมกันเหมือนกันคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ที่ว่า “เห็นความเป็นหนึ่งในสรรพสิ่ง” หมายถึงว่า เห็นสามัญลักษณะคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

ผู้ที่เห็นสรรพสิ่งเป็นหนึ่งและเห็นความเป็นหนึ่งในสรรพสิ่งชื่อว่ามีดวงตาเห็นธรรม

ผู้ใดเห็นมี “ดวงตาธรรม” ผู้นั้นชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระวักกลิว่า
“โย หิ ปสฺสติ สทฺธมฺมํ โส มํ ปสฺสติ ปณฺฑิโต” เป็นต้น แปลความว่า “ผู้ใดเห็นสัทธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เขาเป็นบัณฑิต ส่วนผู้ที่ไม่เห็นสัทธรรม แม้จะมองดูเราก็ไม่เห็นเรา”

ดังนั้น เรากราบพระพุทธรูปครั้งใด ต้องเตือนตัวเองทุกครั้งให้มองเห็นธรรมคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นธรรม จิตของเราจะเข้าสู่กระแสนิโรธคือความดับทุกข์ เราจะสามารถอยู่ในโลกโดยไม่จมอยู่กับโลกธรรม แต่สามารถลอยตัวอยู่เหนือโลกธรรมทั้งปวงเหมือนดอกบัวที่เบ่งบานอยู่เหนือ น้ำ”

เมื่อเรากราบพระพุทธรูป เราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนดอกบัว ที่เป็นอย่างนี้เพราะพระพุทธเจ้าทรงเปรียบพระองค์เองเหมือนดอกบัวที่เกิดจาก โคลนตมแต่โผล่พ้นน้ำโดยไม่แปดเปื้อนมลภาวะรอบข้าง พระพุทธเจ้าทรงอยู่ในโลกโดยที่จิตใจของพระองค์อยู่เหนือโลกธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปุณฺฑรีกํ ยถา อุคฺคํ” เป็นต้น แปลความว่า “ดอกบัวโผล่พ้นน้ำ ไม่แปดเปื้อนน้ำ ฉันใด เราอยู่ในโลก ไม่แปดเปื้อนด้วยโลกธรรม ฉันนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพุทธะ”

สมดังคำประพันธ์ที่ว่า
“องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน
ตัดมูลเกลศมาร บ่ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว
ราคี บ พันพัว สุวคนธ กำจร”

ขอทุกท่านจงมีดวงตาเห็นธรรมและมีจิตใจที่เบิกบานเหมือนดอกบัว

จากหนังสือ ดวงตาเห็นธรรม พระธรรมโกศาจารย์, ศ.ดร.(ประยูร ธมฺมจิตฺโต) มูลนิธิมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

เพิ่มเติม

ดวงตาเห็นธรรม
สิ่งไหนรู้ได้คิดได้ สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เพราะเราเป็นผู้เห็นสิ่งนั้น
เราเห็นพระอาทิตย์ขึ้น-ลง แสดงว่าเราไม่ใช่พระอาทิตย์
เราเห็นเราตั้งแต่เด็กจนโต แสดงว่าเราไม่ใช่เรา
เราเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็แสดงว่าเราไม่ใช่ธรรม และเมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นแต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคงอยู่ไม่ได้ทั้งหมดในใจ เรา แล้วสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนเห็นมันตั้งแต่ต้นจนจบ.
.สิ่งไหนเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เพราะเราเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง.
.หากันแทบตายที่แท้ก็อยู่กับเรานี่เอง.
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #28 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2010, 07:14:12 am »

ตา มีธรรมชาติเหมือนงู งูมันชอบอยู่ในที่รกเช่นป่า อยู่ในที่แคบเช่นรู และชอบแอบซ่อนตัว ตาของคนเราก็ชอบดูอะไรที่เป็นของแอบ ๆ ซ่อน ๆ ปกปิด อะไรที่เขาปิดเขาซ่อน ตาจะชอบซอกแซก อยากรู้อยากดู

หู มีธรรมชาติเหมือนจระเข้ ชอบอยู่ในที่น้ำลึก ๆ เย็น ๆ หูก็ชอบฟังเสียงที่ทำให้เย็นหูเย็นใจ เสียงดุเสียงร้อนใจไม่ชอบฟัง

จมูก มีธรรมชาติเหมือนนก ชอบที่โล่ง อากาศบริสุทธิ์ ได้บินไปมาอย่างอิสระ จมูกก็ชอบความโล่งโปร่งสบาย

ลิ้น มีธรรมชาติเหมือนสุนัขบ้าน เศษอาหารอะไรใครจะทิ้งลงมาจากเรือน เป็นต้องขอลองกินเสมอ ลิ้นก็ชอบลิ้มรสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรสดีหรือรสไม่ดี ชิมดูทั้งนั้น

กาย มีธรรมชาติเหมือนสุนัขใน สุนัขป่า สุนัขจิ้งจอก ชอบคลุกคลีเคี้ยวกินซากศพต่าง ๆ ร่างกายคนเราก็เหมือนกัน ชอบคลุกคลีเคล้าคลึงสัมผัสกับร่างกายของผู้อื่น (เพศตรงข้าม) ซึ่งว่าที่จริงร่างกายนั้นไม่ว่าจะเป็นของใคร แท้ที่จริงแล้วก็เหมือนซากศพด้วยกันทั้งสิ้น

ใจ
มีธรรมชาติเหมือนลิง ซึ่งชอบลุกลี้ลุกลน ซุกซนว่องไว ไม่อยู่นิ่งไม่สงบใจ ใจก็ว่องไวในการคิด คิดได้รวดเร็ว เรื่องนี้เรื่องนั้นไม่มีหยุดนิ่ง

ถ้าเราทดลองเอาท่อนไม้มาท่อนหนึ่ง เอาสัตว์ทั้ง ๖ อย่างนี้ผูกไว้ คงจะเกิดโกลาหลวุ่นวาย เพราะต่างตัวก็ต่างจะลากท่อนไม้ไปตามที่มันชอบ ทำนองเดียวกัน อวัยวะทั้ง ๖ นี้ มีธรรมชาติไม่เหมือนกันจึงคอยทำความทุกข์ให้แก่กันและกันอยู่เสมอ เช่น ใจอยากทำกรรมฐานเจริญภาวนา ให้คิดถึงสิ่งใดอยู่เรื่องเดียว เดี๋ยวหูก็ลากไปฟังเสียงคนคุยกัน เสียงสุนัขเห่า เสียงลมพัด ฯลฯ จมูกลากไปได้กลิ่นกับข้าวน่าอร่อย กายลากไปรำคาญอากาศร้อนอบอ้าว ดังนี้เป็นต้น

ถ้าหากเราขาดสติไม่รู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ ก็จะต้องได้รับทุกข์ยากต่าง ๆ ในการคอยดูแลตามใจอวัยวะเหล่านี้ เผลอไผลนิดเดียวสิ่งที่มากระทบก็จะก่อให้เกิดกิเลสต่าง ๆ มากมาย กิเลสบีบบังคับให้กาย วาจา ใจ ประกอบอกุศลกรรม กรรมชั่วเหล่านั้นเมื่อทำไปแล้วก็จะเกิดเป็นวิบาก ผลของกรรมก็คอยตามทวงหนี้เจ้าของ เจ้าของถูกกรรมเลว ๆ เหล่านั้นทวงหนี้ ต้องประสบทุกข์ภัยต่าง ๆ ทุกข์เหล่านั้นบีบจิตใจให้ประกอบกรรมขึ้นมาอีก และถ้าผู้นั้นเป็นคนไม่มีปัญญาเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็จะมีตัวกิเลสที่ชื่อโมหะ หรืออีกชื่อเรียกว่าอวิชชา(ไม่รู้ตามจริง) เข้าคอยผสมโรงแทรกสิงในใจ บีบใจให้ทำกรรมแล้วก็มีวิบาก วนเวียนซ้ำซากเป็นวัฏจักร



องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า
เห็น สิ่งใด ก็ให้รู้ สักแต่ว่าเห็น
ได้ยิน สิ่งใด ก็ให้รู้ สักแต่ว่าได้ยิน
ได้กลิ่น สิ่งใด ก็ให้รู้ สักแต่ว่าได้กลิ่น
เคี้ยวกิน สิ่งใด ก็ให้รู้ สักแต่ว่าได้ลิ้มรส
สัมผัส ด้วยร่างกายใน สิ่งใด ก็ให้รู้ สักแต่ว่าได้สัมผัส


จึงเป็นการตัดไฟที่ต้นลม ตัดแต่ต้น ไม่ให้หมุนเวียนเอาความทุกข์เข้ามาเกิด


กามคุณ ๕ อย่างที่วิเศษ คือ รูป ๑ เสียง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ สัมผัส ๑ ทั้ง ๕ นี้ พระอริยเจ้าพึงเสพอยู่เป็นนิตย์นั้น ได้แก่

รูปกรรมฐาน ๑๒ คือ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ มรณานุสติ ๑ เป็น ๑๒
เสียงที่พระอริยเจ้าพึงฟังนั้น คือ เสียงที่กล่าวเป็นธรรม เสียงที่ไม่เป็นธรรมแล้วท่านไม่ฟัง
กลิ่นที่ท่านยินดีนั้น ได้แก่ กลิ่นอสุภะ
รสที่ท่านยินดีนั้น ได้แก่ รสพระธรรม
สัมผัสที่ท่านยินดีนั้น ได้แก่ ฌานสมาบัติ มรรคผล

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4 5 ... 9   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: