ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น ๑ รวมโอวาทสมเด็จองค์ปฐม,สมเด็จองค์ปัจจุบัน,หลวงพ่อฤาษี
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น ๑ รวมโอวาทสมเด็จองค์ปฐม,สมเด็จองค์ปัจจุบัน,หลวงพ่อฤาษี  (อ่าน 4336 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 07:06:01 am »

สมเด็จองค์ปฐม



จากหนังสือธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑
เรียบเรียงโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน


“พระธรรมย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ตถาคต ผู้เป็นต้นตำรับก็ยังเคารพสักการะในพระธรรม พระธรรมแม้จักตกอยู่ในมือคนชั่ว ก็ยังเป็นพระธรรม ธรรมที่เที่ยงแท้ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ใครผู้ใดเล่าที่ยังบังอาจบิดเบือนพระธรรมนี้ได้นั้นไม่มี ขอพวกเจ้าจงเป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมเถิด”


สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่องพรหมวิหาร ทรงตรัสว่า
ก) “ใครจักกรุณาไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ตัวของเจ้าเองต้อง หมั่นกรุณาตัวของเจ้าเอง จงรู้เอาไว้เถิดว่า คราวใดที่เจ้ายังอารมณ์จิตให้เร่าร้อนไปด้วย ไฟโมหะ โทสะ ราคะนั้น เจ้าได้สิ้นความกรุณาแก่ตัวเจ้าเอง”
ข) “พรหมวิหาร ๔ จักต้องเมตตาตัวเองเป็นบาทต้น ธรรมปฏิบัติทุกประการ จักต้องทำให้เกิดกับตนเองก่อน พระธรรม คือ อริยทรัพย์อันล้ำค่า จักต้องปฏิบัติให้เกิดผลกับตนเองก่อน จึงจักเป็นของแท้ ตราบเมื่อมีอริยทรัพย์เกิดขึ้นในตน ในจิตของตนแล้วย่อมได้ชื่อว่าเป็นพระอริยเจ้าอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อต่อ ๆ ไปจักนำธรรมที่ปฏิบัติได้แล้วไปแจกจ่ายกับใครตามที่ตนเองปฏิบัติได้มา จึงจักเป็นของจริง อย่าลืมนะ พวกเจ้าต้องหมั่นสร้างพรหมวิหาร ๔ ให้เต็มที่จิต ที่ตัวของพวกเจ้าเองก่อน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงจึงจักเป็นของแท้
ค) “เมื่อเมตตา กรุณา ตนเองแล้ว ทำให้ได้ตามประการนี้ จิตก็จักเป็นสุข สร้างมุทิตา อุเบกขาให้เกิดแก่จิต-แก่ตนเอง เมื่อเกิดแล้วก็จักวางทุกข์-วางสุขที่เกิดขึ้นมากระทบจิตได้อย่างสมบูรณ์ ธรรมอัพยากฤตเกิดขึ้นได้ก็ที่ตรงนี้”
ง) “ละคร นี้ถ้าปิดได้โรงเดียวที่จิตของเรา ละครโรงอื่นที่จักแสดงอยู่ดาษดื่นทั่วโลกไตรภพจบจักรวาลก็ไม่มีความหมาย จงหมั่นตั้งใจรูดม่านปิดให้ดี ๆ อย่าให้อารมณ์ปรุงแต่งมาสอดแทรก เข้ามาแสดงบทบาทแห่งละครโรงนี้ได้ หมั่นนำคำสอนไปปฏิบัติกันนะ”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง การยืน เดิน นั่ง นอน คือ ตัวธรรมล้วน ๆ
(ต้นเหตุเพราะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งมาก่อกวน ไม่ให้พวกเราตั้งวงสนทนาธรรมกันได้ตามปกติ) ทรงตรัสว่า
ก) “พวกเจ้าหมั่นเจริญสมถะธรรมเถิด ไม่ตั้งวงสนทนาธรรมก็มิใช่ว่าจักปฏิบัติธรรมมิได้ การยืน เดิน นั่ง นอน นั่นแหละคือตัวธรรมล้วน ๆ เห็นทุกข์เห็นโทษของการเกิดมาเป็นคน สงบก็ยุ่ง ไม่สงบก็ยุ่ง ตามปกติวิสัยของคน พวกเจ้ามุ่งหวังมรรคผลนิพพาน พึงมองสิ่งที่เกิดขึ้นอันสัมผัสได้ด้วยจิตว่า อายตนะภายนอกจักสงบหรือไม่สงบก็เป็นปกติ ขึ้นชื่อว่าโลกมันก็เกิดดับอยู่เป็นนิจสิน ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่ผิดปกติ แม้การเกิดดับภายในก็พึงจักรู้ ศึกษาได้ว่าเป็นสิ่งปกติเช่นกัน พึ่งหมั่นรู้จักความสงบหรือไม่สงบอันเป็นปกตินั้น”
ข) “ถ้าหากไม่รู้จักความสงบหรือไม่สงบแห่งอายตนะภายในแล้วไซร้ ตัวธรรมล้วน ๆ ก็เกิดขึ้นได้ยากในจิตแห่งพวกเจ้านี้ แต่ถ้าหากรู้จักความสงบและไม่สงบแห่งอายตนะภายในแล้ว เท่ากับรู้เกิด-รู้ดับแห่งกิเลส-ตันหาอย่างแท้จริง พระธรรมอันเป็นตัวแก้แห่งกิเลส-ตัณหานั้น ก็จักสามารถล้างอุปาทาน อันยึดมั่นถือมั่นในสุขในทุกข์อย่างได้แท้จริง”
ค) “จง หมั่นหาตัวธรรมล้วน ๆ ที่เกิดขึ้นมากระทบอายตนะภายใน รู้เกิด-รู้ดับ สงบรู้-ไม่สงบรู้ แต่ไม่ปรุงแต่งทุกข์-สุขให้เกิดขึ้นตามอุปาทาน ในที่สุดจิตก็จัก เตสังวู ปะ สะโม สุขโข”
ง) “ขอพวกเจ้า จงหมั่นเป็นผู้มีสติเถิด ในอิริยาบถ ๔ ยืน-เดิน-นั่ง-นอน อะไรเกิด อะไรดับ สงบหรือไม่สงบ ก็รู้ในระหว่างอิริยาบถนั้น ๆ”
จ) “นิพพะ แปลว่า ดับ ดับจากอารมณ์ทุกข์-สุขทั้งมวล พยายามเข้านะเจ้า ยังจิตให้เหลืออยู่ในอารมณ์เดียว คือ ไม่สุข-ไม่ทุกข์ เอโกธัมโมอยู่ตรงนี้ จัก ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เอโกธัมโม ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่เกิด-ไม่ดับ นี่แหละตัวธรรมล้วน ๆ ธรรมอมตะที่ไม่เกิดไม่ตาย”
ฉ) “อย่าไปพะวงกับอาการทุกข์ของธาตุ ๔ หรืออาการ ๓๒ ให้มากนัก แต่จิตของนักปฏิบัติธรรมจักไม่เกาะทุกข์-เกาะ สุข อันเกิดจากธาตุขันธ์นั้น เห็นทุกสิ่งเป็นธรรมดาของธาตุขันธ์ ซึ่งมีแต่เกิดดับอยู่ทุกวินาที จิตคนเรามักจักไม่ยอมรับกฎธรรมดานี้ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นทุกข์) จิตดิ้นรนไม่รู้จักปลดจักวาง ยึดธาตุขันธ์ว่าเป็นเรา แล้วฝืนกฎไตรลักษณญาณ ฝืนความเป็นจริง จนกระทั่งธาตุขันธ์แตกดับไปแล้ว จิตก็ยังไม่วายมีอุปาทานเกาะติดธาตุขันธ์นั้นต่อ ๆ ไป จนตายแล้วก็ไม่วายที่จักทุกข์ จิตแสวงหาความเกิดดับอยู่ ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ไม่เห็นสันตติ แต่ตกอยู่ภายใต้สันตติ เกิด-ดับ ต่อเนื่องกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
ช) “มาเถิดเจ้า มาศึกษาให้หมั่นรู้เกิด-ดับแห่งอายตนะภายใน สงบหรือไม่สงบรู้ ทุกข์สุขรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่พ้น รู้แล้วให้วางให้ละ ละด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญา อันเป็นอาวุธที่จักฟาดฟัน กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน อกุศลธรรมได้ แห่งพระพุทธศาสนาของตถาคตนี้ ศีลสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ ปัญญาสมบูรณ์ได้ก็ที่จิตดวงเดียว รู้ที่กายคนเดียวนี้ รู้เองที่จิตที่กาย สงบได้ที่จิตที่กายของตนเอง สติ-สัมปชัญญะต่อเนื่องกัน รู้ด้วยความตั้งใจ บารมี ๑๐ ก็จักสมบูรณ์ รู้จิต-รู้กาย เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ก็เท่ากับรู้หมดทุกอย่าง เอโกธัมโม ชนะที่ (จิต) ตนเอง ก็ชนะหมดทุกอย่าง ธาตุ-ขันธ์หาสาระไม่ได้ มันเป็นสมบัติของโลก ก็คงอยู่คู่กับโลก”
ฌ) “พวกเจ้าต้องการละโลก ก็จงอย่ายึดธาตุขันธ์นี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา เหตุทุกข์-สุขที่มากระทบเราได้ ก็กระทบด้วยธาตุขันธ์นี้ พวกเจ้าผู้มุ่งหวัง อริยมรรค อริยผล สมควรหรือที่จะยึดมั่นทุกข์-สุขนั้นว่าเป็นเรา เป็นของเรา สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับธาตุขันธ์ ก่อทุกข์-ก่อสุข จงรับรู้เถิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นปกติวิสัยของโลกียชน เมื่อพวกเจ้ามุ่งหวังจักเป็นโลกุตรชน ก็จงวางทุกข์ สุขอันเกิดแก่ธาตุขันธ์นี้เสียให้ได้ ขอพวกเจ้าจงอยู่แต่ในธรรมปัจจุบันเถิด ตัวธรรมล้วน ๆ ไม่มีปรุงแต่ง โลกุตรธรรมขั้นสูงไม่มีปรุงแต่ง หรือจิตปรุงแต่งจักเข้าถึงได้ หมั่นสอบจิตกันเอาไว้ให้ดี ๆ”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง ปกตินั้นเป็นไฉน ทรงตรัสว่า
ก) “คืน นี้ก็ปกติ พวกเจ้าจงรู้ว่าปกตินั้นเป็นไฉน ความวุ่นวายยังมีอยู่ในโลกียชน ก็จัดว่าเป็นปกติของโลกียชน ความสงบยังคงมีอยู่เป็นปกติในโลกุตรชน ตามขั้นตอนลำดับของบารมีธรรมที่ต่างพากันสั่งสมกันมา กรรมเป็นปัจจัตตังไม่ว่าในหมู่โลกียะ หรือในหมู่โลกุตระ ต่างฝ่ายต่างทำกันมาเองทั้งสิ้น เหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิด ล้วนเป็นปกติของกรรม อย่าเพิ่งไปโทษใคร กรรมเที่ยงเสมอ ไม่ว่าโลกียะ หรือโลกุตระ มันเป็นปกติอยู่อย่างไร จิตของพวกเจ้า ถ้าไม่ไหวเสียอย่างเดียว ก็จักเป็นธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุอย่างชัดเจน”
ข) “วางใจเถิด ทำจิตให้สบาย มองเห็นทุกข์ เห็นโทษ มองเห็นวาระกฎของกรรมให้แจ่มแจ้ง จักไม่เก็บทุกข์ เก็บสุขของใคร นำเอามาไว้ในจิตอีก โลกนี้ทั้งโลกล้วนตกอยู่ภายใต้กฎของกรรมทั้งสิ้น โลกุตรชนก็ไม่เว้น ถ้าหากยังมีขันธ์ ๕ ให้มันเล่นงานได้ ยกเว้นตัดขันธ์ ๕ ทิ้งขันธ์ ๕ ยังดวงจิตให้อยู่ยังดินแดนอมตะนิพพานอย่างแท้จริงแล้วนั้นแหละ จึงจักหลบเลี่ยงหนีพ้นกฎของกรรมที่มันตามทวง”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง อย่าละความเพียร ทรงตรัสว่า
ก) “พวกเจ้าอย่าละความเพียร จักกอปรกรรมดีหรือชั่ว ความเพียรเป็นใหญ่ พวกเจ้าเคยทำกันมาแล้วนับกัปป์ไม่ถ้วน แต่เพลานี้จักกอปรกรรมไม่ดี-ไม่ชั่ว ก็จงหมั่นใช้ความเพียรเป็นใหญ่เถิด”
ข) “พวกเจ้าใช้ความเพียรในการเกิดมาแล้ว นับกัปป์ไม่ถ้วน เพลานี้ในชาติเดียว เวลาอันเหลืออยู่น้อยนิด จงหมั่นใช้ความเพียรในการดับเถิด นิพพานัง ปรมัง สุขัง รอพวกเจ้าอยู่ในความเพียรนั้นแล้ว”

สมเด็จองค์ปฐม เมตตาสอนเรื่อง อย่าพกเอากิเลสขึ้นมาบนนิพพาน ทรงตรัสว่า
“ก่อน ขึ้นมา ถ้าหากมีเรื่องราวใด ๆ มากระทบจิต ก็ให้กำหนดจิตวางเรื่องราวทั้งหลายเหล่านั้นลงก่อน แล้วกำหนดจิตจับอานาปาแล้วกำหนดจิตจับภาพพระ จักเป็นพระองค์ไหนก็ได้ จักเป็นตถาคตหรือสมเด็จองค์ปัจจุบันองค์หนึ่งองค์ใดก็ได้ เมื่อเห็นภาพและกราบแล้ว จักต้องการพบท่านผู้ใด อันเป็นเหตุที่จักต้องสนทนาปัญหาให้คลี่คลาย ก็ทำได้โดยฉับพลัน ขออย่างเดียวอย่าพกเอาอารมณ์ของกิเลสขึ้นมาบนพระนิพพาน”

สมเด็จองค์ปฐม เมตตาสอนเรื่องการตัดอารมณ์ฟุ้งด้วยปัญญา ทรงตรัสว่า
ก) “ฟุ้งซ่านนักก็ให้นึกถึงมรณานุสติว่า เรา กำลังจักตายอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว หากปล่อยจิตให้เศร้าหมอง ว่างจากความดีแล้วไซร้ มรรคผลนิพพานจักไม่ได้อะไรเลย ตกตายตอนนี้มีแต่จักตกเป็นเหยื่อของอบายภูมิ”
ข) “อัตนา โจทยัต ตานัง ตถาคตหรือท่านผู้อื่นตักเตือนสักพันครั้ง ก็ไม่เหมือนตัวเจ้าจักกำหนดจิตตักเตือนตนเองด้วยความตั้งใจหนึ่งครั้ง อย่ากระทำจิตให้ว่างจากความดี ขอให้ตั้งใจตักเตือนตนเองไว้เสมอ ๆ อย่าให้อารมณ์ความเลวมันสิงจิต มรรคผลนิพพานมิใช่ได้อยู่บนความเศร้าหมองของจิต ความผ่องใสปราศจากกิเลสครอบงำจิตใจเท่านั้น ที่เป็นมรรคผลนิพพาน”
ค) “อย่าลืมเตือนใจไว้เสมอ ๆ ว่า คิดอย่างนี้เป็นความชั่วอีกแล้ว เจ้าคิดอย่างนี้ จะไปนิพพานได้หรือ หมั่นถามจิตตนเองให้บ่อยๆ ว่า เวลานี้กำลังเดินอารมณ์จิตผิดหรือไม่ พยายามใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ เมื่อรู้ผิดก็กำหนดจิตตั้งต้นอารมณ์เสียใหม่ อย่าท้อถอยหมดกำลังใจ จะทำให้พ่ายแพ้แก่กิเลสได้โดยง่าย พิจารณาตามนี้ให้มาก ๆ โจทย์จิตของเจ้าเอาไว้ให้ดี ๆ”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่องเข็ดทุกข์หรือยัง ทรงตรัสว่า
ก) “ขอให้เข็ดจริง ๆ นะ ทุกข์มันมีอีกมากมายที่พวกเจ้าจักต้องได้พบประสบกับมัน เวลานี้จงกำหนดจิตตัวรู้ ให้รับทุกข์ สัมผัสทุกข์ที่เกิดกับจิตและขันธ์ ๕ โดยตลอดเถิด ทนได้บ้าง ทนไม่ได้บ้างก็ต้องรับทุกข์นั้น ๆ และตั้งจิตกำหนดรู้ทุกข์นั้น ๆ อย่างมีสติ หนักบ้างเบาบ้างตามแต่วาระของกฎแห่งกรรม เมื่อรับการกระทบแล้ว จงพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้น ให้เห็นว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุและผลประการใด จิตเมื่อรับทุกข์ รู้ทุกข์แล้ว จงพิจารณาให้ลงกฎธรรมดาแห่งสัจธรรม ๕ ประการ ชาติปิทุกขา ชราปิทุกขา มรณัมปิทุกขัง โสกะปริเทวะ โทมนัส สุปายาสาปิทุกขา เป็นต้น”
ข) “จง ตระหนักไว้อยู่ตลอดเวลาว่า การทรงขันธ์ ๕ อยู่ไม่มีทางหนีพ้นทุกข์เหล่านี้ไปได้ การไปเสียจากขันธ์ ๕ มีสถานที่เดียว คือพระนิพพาน มองทุกข์ให้เห็น รู้ทุกข์ว่ามีอยู่ทุก ๆ ขณะจิตที่ทรงขันธ์ ๕ อยู่ เกิด-ดับของลมหายใจก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะกายแสวงหาอาหารเกิดดับเป็นปกติ เมื่อเห็นทุกข์เป็นปกติของขันธ์ ๕ จิตมันจักรับรู้ไว้ว่า ทุกข์นี้เป็นของหนัก เมื่อเห็นสภาวะหนักของทุกข์ ต่อไปตัวธรรมดาก็จักเกิดขึ้นได้ด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา จิตจักสำรอกทุกข์ทิ้งไปในที่สุด ด้วยจิตที่มีสติ-สัมปชัญญะสมบูรณ์ได้ในที่สุด”
ค) “เมื่อเห็นทุกข์อันมีอยู่เป็นปกติของขันธ์ ๕ ต่อ ๆ ไปจิตก็จักกำหนดรู้อยู่แต่ว่าทุกข์ แต่จิตมันจักไม่ยอมรับทุกข์นั้นมาแบกให้หนักอีก สภาวะจิตนั้นมีความดิ้นรนเป็นธรรมดา เมื่อรู้แล้วว่าทุกข์หนัก ก็จักดิ้นรนหาทางออกแห่งทุกข์นั้น ๆ”

สมเด็จองค์ปฐมทรงเมตตาสอนเรื่อง วิตกจริต ทรงตรัสว่า
ก) “จักเป็นไปได้หรือไม่ อย่าเพิ่งคำนึงถึง เพราะนั่นคืออนาคตธรรมที่ยังมาไม่ถึง ธรรมปัจจุบันสำคัญกว่า จงหมั่นตรวจดูอารมณ์ของตน ในทุก ๆ ขณะจิตว่า เพลานี้เป็นไฉน สุขหรือทุกข์ หรือเฉย ๆ เป็นปกติธรรมดา”(ทรงโปรดบุคคลท่านหนึ่งซึ่งวิตกถึงเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึง จะพยายามแก้เท่าใดก็ไม่ยอมหาย) ทรงตรัสว่า
ข) “ตาย ตอนนี้ก็ลงนรกอีกนั่นแหละ เพราะสงสัยในธรรมแล้วการทำจิตอย่างนี้ เจ้าก็รู้ว่าไม่ดี เป็นความเศร้าหมองของจิต แล้วยังจักยึดเกาะอารมณ์วิตกจริตนี้ไว้กับจิต เพื่อประโยชน์อันใด”
ค) “การ ตัดอารมณ์นี้ให้เด็ดขาดย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเจ้าไม่ใช่พระอรหันต์ เอาเป็นเพียงแต่ว่า ระงับชั่วคราว ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าการยึดเกาะอารมณ์วิตกจริตในจิตนั้นหาประโยชน์อันใดมิ ได้ ก็จงหมั่นโจทย์จิตถามตนเองว่า สิ่งที่ยึดเกาะอยู่นี้เป็นความสุขหรือความทุกข์ เป็นคุณหรือเป็นโทษ ถ้าจิตไม่โง่จนเกินไป มันก็ต้องยอมรับว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ จิตมันมีนิสัยเคยชินกับกิเลสแห่งอารมณ์วิตกจริตมานาน แม้รู้ว่าทุกข์ว่าโทษก็ยังไม่คลายจิต สำรอกอารมณ์ทุกข์นั้นออกมา จิตมันติดเกาะทุกข์ราวกับพอใจในความทุกข์ที่เศร้าหมองนั้นอย่างเหลือประมาณ เราจะต้องเข้มแข็งอดทนต่อสู้กับอารมณ์นั้น ๆ ประการแรกต้องจับอานาปานุสติให้ตั้งมั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อย่าทิ้ง จักหลับ จักตื่น ให้รู้ลมควบคำภาวนาเข้าไว้ จักต้องทำให้ได้ด้วย มิฉะนั้นจักระงับอารมณ์เหล่านี้ไม่ได้ ต้องใช้ความเพียรเป็นใหญ่”
ง) “เพราะ ฉะนั้น เมื่อจิตซ่านตกไปในอารมณ์วิตกจริต สงสัยอยู่ร่ำไปเมื่อใดนั้น ต้องหมั่นกำหนดจิตรู้ว่า จิตเลวแล้ว ชั่วแล้ว อย่าปล่อยไว้ให้นาน ต้องหมั่นชำระล้างจิตโดยไวเมื่อนั้น โดยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกสักสิบคู่ วาระแรก ๆ มันไม่ยอมรับรู้ลมหายใจ ก็ให้ระบายลมหายใจแรง ๆ เหมือนคนถอนลมหายใจแรง ๆ ยาว ๆ สักสิบครั้ง หรือทุกครั้งที่จิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์วิตกจริตนี้ เป็นการระบายลมหยาบ เป็นการผ่อนคลายความเครียด อันเกิดจากความคิดอันหาที่สิ้นสุดไม่ได้
การ ระบายลมเป็นการตัดความคิดฟุ้งซ่านให้ชะงักงัน ขอพวกเจ้าจงลองทำดู ระหว่างนั้นเมื่อระบายเอาลมเข้าออกให้ยาว ๆ แรง ๆ สมองก็จักได้ปลอดโปร่งขึ้น สภาวะที่จิตหมกมุ่นอยู่ในความคิดเครียด ๆ ก็จักคลายตัว ขอให้หมั่นกระทำดูตามนี้ และคอยสังเกตผลของการกระทำอย่างนี้ดูด้วย”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง อุเบกขาอย่างมีสติและมีปัญญา ทรงตรัสว่า
ก) “หมั่นเรียนรู้ หมั่นแยกแยะทุกข์-สุขให้ออกจากจิต อย่าให้มีอารมณ์ ๒ ครอบครองจิตอยู่นานนัก จักไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง มองธรรมดาให้เห็น หาความปกติให้พบและอารมณ์อุเบกขาก็จักเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก พวกเจ้าต้องรู้จักอุเบกขาอย่างมีสติและมีปัญญานะ อุเบกขาอยู่ในความถูกต้อง และเหมาะสมแห่งพระธรรมคำสอนของตถาคต อันยึดมั่นอยู่ในหลักมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าหาทางสายกลางไม่พบ อุเบกขาที่เกิดก็จักไม่ใช่อุเบกขาที่แท้จริง จักเป็นอุเบกขาที่ไร้ปัญญา เพราะมุ่งไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเข้าโดยไร้สติพิจารณา”
ข) “ดังตัวอย่างพระอานนท์ ถามสมเด็จองค์ปัจจุบัน เห็นหญิงตกน้ำ ตัวท่านเองสามารถช่วยได้ แต่ถ้าใช้อุเบกขาโดยขาดปัญญากลัวอาบัติ ก็หลีกไปเสีย ไม่ช่วยหญิงนั้นขึ้นมา หญิงนั้นก็ตาย อุปมาอุปมัยให้เห็นว่า หากกระทำเช่นนั้นก็ขาดปัญญา คือ เบียดเบียนผู้อื่นให้ตกตาย และเมื่อคำนึงถึงการตายของหญิงที่ตกน้ำทีไร จิตของพระโสดาบันที่ยังตัดอารมณ์ ๒ ยังไม่ได้ ก็ต้องเศร้าหมองอยู่ดี กล่าวคือเป็นการเบียดเบียนตนเองด้วยอย่างแท้จริง” (การอาบัติจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่เจตนาของจิต การช่วยผู้อื่นแม้จะเป็นเพศตรงข้าม หากจิตไม่มีกำหนัดแล้ว ก็ไม่มีโทษอาบัติแต่อย่างใด)


สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง “ธรรมเป็นปัจจัตตัง” มีความสำคัญว่า
ก) “ขอ ให้สนใจในธรรมปฏิบัติให้มาก ๆ รู้อารมณ์จิตให้จงหนัก รู้ได้ละได้ที่ตนเอง อย่าไปเที่ยวละอารมณ์จิตของผู้อื่น ไม่มีประโยชน์ ให้ละอารมณ์จิตที่มีกิเลสของตน ๆ ให้ได้เสียก่อน ใช้พระกรรมฐานบังคับกาย-วาจา-ใจ ให้อยู่ในโอวาทธรรมให้ได้เสียก่อน อย่าเพิ่งไปสอนผู้อื่น สอนตัวเองเข้าไว้แล้วยังไม่รู้จักจำ จักเที่ยวไปสอนผู้อื่นให้รู้จักจำได้อย่างไร”
ข) “จงกำหนดจิตรู้ไว้ อารมณ์ของเราเองยังดีไม่พอ ยังคบกับความชั่วอันเป็นอกุศลไว้มากมาย จักแบ่งความดีไปให้คนอื่นได้อย่างไร แบ่งไปแบ่งมาไม่สักแต่จักแบ่งให้แต่ความดี พูดไปว่าไป เขามีอารมณ์ไม่พอใจรับ เราเองนั่นแหละจักเกิดอารมณ์แบ่งความเลวไปให้เขาด้วย อย่างนี้ไม่ดีแน่ ธรรมเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เห็นได้ด้วยตนเอง แต่ต้องให้รู้จริง เห็นจริง จึงจักแบ่งให้คนอื่นได้ แต่ต้องเลือกคนรับ เขารับไม่ได้ ภาชนะก้นรั่ว ใส่ให้อย่างไรก็รั่วไม่เป็นผล เสียของเสียเวลา เอาเวลานั้น ๆ มาเติมความดีแห่งอารมณ์พระกรรมฐานของตน ให้เต็มดีกว่า จิตจักได้มีความสุข ไม่ขัดเคืองใด ๆ กับผู้อื่น อย่าคิดว่าเรารู้จักต้องให้ผู้อื่นรู้เช่นเราทำนั้น ก็เท่ากับว่าพวกเจ้านั้นหลงตัวเอง”
ค) “อย่าลืม ตถาคตตรัส ผู้ใดเป็นบัณฑิต ผู้นั้นย่อมถ่อมตนว่าโง่เขลาอยู่เสมอ แต่ผู้ใดที่โง่เขลา ก็มักจักอวดอ้างตนเองเป็นบัณฑิตอยู่เสมอ บัณฑิตที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา ก็คือ พระที่เพียบพร้อมไปด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญา เต็มครบถ้วนบริบูรณ์นั่นคือพระอรหันต์ สาวกบุคคลผู้เต็มไปด้วยความดี ความถ่อมตน ไม่มีการอวดรู้ อวดฉลาด มีแต่ถ่อมตน ถนอมจิตตนอย่างผู้สิ้นความเร่าร้อนในกิเลสทั้งปวงนั่นเอง ขอให้พวกเจ้าจงจำเอาไว้และนำไปปฏิบัติให้ดี ๆ”
ง) “คอย ดู คอยแลแต่จิตของตนเอง อย่าไปคอยดูคอยแลจิตของคนอื่น กรรมเป็นปัจจัตตัง การก่อเหตุแห่งกรรมไม่เหมือนกัน ผลของกรรมจึงต่างกัน อย่าไปยุ่งกับกรรมของใคร ขอให้ทำหน้าที่ตามภาระที่รับมอบหมายกันไว้ให้ดี ๆ”




ขอขอบพระคุณ
แหล่งที่มา : Frameset-1




บันทึกการเข้า

kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 07:06:53 am »

สมเด็จองค์ปฐม



สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง “เมื่อกามวิตกและกามสัญญาเกิด”
“ให้ พิจารณาว่า ขณะนี้เรากำลังไปเอาทุกข์ของผู้อื่นมาไว้กับใจตน หรือกำลังแบกทุกข์ของผู้อื่น เพราะว่ากายนี้มันหาใช่เรา หาใช่ของเราไม่ ตัวเราจริงๆ คือ จิตหรือ อทิสมานกาย อารมณ์นี้จึงเป็นอารมณ์ที่เบียดเบียนตนเองโดยตรง หรือขาดเมตตาที่จุดไฟเผาใจตนเอง หากยังมีกามตัณหาและกามสัญญาอยู่ จึงเป็นอารมณ์ยังปรารถนาการเกิดอยู่ต่อไป”

อุบายกำจัดกามวิตกและกามสัญญา ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า อารมณ์วิหิงสาวิตก หรืออารมณ์ที่เบียดเบียนตนเอง และพยาบาทวิตก หรือ อารมณ์ที่เบียดเบียนผู้อื่น ก็ให้ใช้หลักพิจารณาตามนี้
๑. กามวิตกให้เกิดขึ้นกับเราแล้ว
๒. กามวิตกเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนเอง
๓. กามวิตกเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนผู้อื่น
๔. กามวิตกเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
๕. กามวิตกทำปัญญาให้ถอยหลังเพราะเป็นนิวรณ์
๖. กามวิตกทำให้เกิดความคับแค้น (เป็นทุกข์อย่างยิ่ง)
๗. กามวิตกไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

คาถา มีความลับอยู่ในนั้น เขาไม่บอกกันให้รู้พร่ำเพรื่อ เพราะเคล็ดของคาถามีอยู่ คือ การแก้คาถานั้น ๆ อยู่ที่การว่าถอยหลัง คาถาก็จะคลายตัวได้ ความลับอยู่ตรงนี้
คาถาความเป็นใหญ่ของโลก คือ
๑. อิติ-ติอิ คือ ปิดหน้าและปิดหลัง ไม่สามารถว่าถอยหลังแก้ได้ เป็นของสมเด็จองค์ปัจจุบัน
๒. อิติปิโสเดินหน้า และอิติปิโสถอยหลัง (ยันต์เกราะเพชร) เป็นของหลวงปู่โลกอุดร หรือสมเด็จองค์ปัจจุบัน
๓. คาถาเปิดถ้ำก็เป็นของสมเด็จองค์ปัจจุบันเช่นกัน

สมเด็จองค์ปฐมทรงเมตตามาสอนต่อ มีจุดสำคัญโดยย่อ ดังนี้
ก) “กฎของกรรม หลีกเลี่ยงกันไม่พ้นหรอก แต่พุทธคุณ-ธรรมคุณ-สังฆคุณ ทำให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้ แต่ก็ไม่ควรจักประมาทเป็นที่รู้อยู่ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ตถาคตสรุปลงไว้แค่ จงอย่าประมาทเท่านั้น”
ข) “การต่อสู้เพื่อจรรโลงงานประกาศพระศาสนา เป็นการเอากายเข้าเสี่ยง การต่อสู้เพื่อมรรคผลนิพพาน เป็นการเอาจิตเข้าแลก เพราะฉะนั้น เผลอเมื่อไร ประการแรกกายจักตาย ประการหลัง ถ้าเผลอจิตก็พลาดจากมรรคผลนิพพาน”
ค) “พวกเจ้าจงหมั่นเอาจิตคุมกายกันไว้ให้ดี ๆ พยายามอย่าให้กายคุมจิตให้มากนัก ทุกข์กายเกิดจงหมั่นกำหนดรู้ แก้มันไปให้เร็วที่สุด จิตอย่าไปเกาะทุกข์ของกาย จิตหมั่นพิจารณาหาความจริงของกายให้พบ และยอมรับสภาพของกายตามความเป็นจริง โดยอาศัยปัญญาอันเกิดจากสมถะ วิปัสสนาเป็นกำลังใหญ่ เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยของการมีร่างกาย จิตไม่ดิ้นรน ยอมรับสภาพของกายว่ามันเป็นอย่างนั้นอยู่เป็นปกติ เราคือจิตจักไม่สนใจในมัน ช่วยแค่ระงับทุกข์ชั่วคราว คิดไว้เสมอว่า ตายเมื่อไหร่เราจักเลิกคบมัน จิตตั้งมั่นอยู่แต่พระนิพพานจุดเดียว นาน ๆ ไปจิตจักคุมกายอยู่ คือ ชินในทุกข์ของกาย และวางเฉยได้ ไม่ทุกข์กับกายอีก จิตก็ทำหน้าที่เจริญสมณะธรรมไปได้ตลอดเวลา ไม่ว่าตอนนั้นกายจะทุกข์หรือสุขก็ตาม อารมณ์จิตที่แยกออกมาได้ กายส่วนกาย จิตส่วนจิตนี่แหละทำให้จิตคุมกายได้ เป็นอารมณ์สังขารุเบกขาญาณอย่างแท้จริง แม้ในวาระแรก ๆ นี้จักเป็นของใหม่อยู่ รบทั้งสงครามประกาศพระพุทธศาสนา รบทั้งสมครามภายในจิต ก็ต้องระมัดระวังตัวทั้งกายทั้งจิต ขอให้ทำกันไปเถิด อย่าละความเพียร ผลสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้แน่ ”
ง) “มีอะไรเกิดขึ้น ก็จงอย่าตกใจกันเกินควร ให้ยอมรับนับถือกฎของกรรมว่า มันเป็นธรรมดา ตั้งสติกำหนดรู้ให้ดี ๆ ก็แล้วกัน”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาแนะนำต่อ และสั่งสอนต่อ มีความสำคัญโดยย่อดังนี้
ก) “สังขารุเบกขาญาณเป็นธรรมเบื้องสูง ของผู้ถึงจุดสุดยอดแห่งมรรคผลนิพพาน ขอให้พวกเจ้าหมั่นซ้อมหมั่นปฏิบัติเข้าไว้ วางอุเบกขาให้ถูกลักษณะของมัชฌิมาปฏิปทา โดยอาศัยศีลเป็นพื้นฐานที่ตั้งของสมาธิและปัญญา ตัวสังขารุเบกขาญาณก็จักเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หมั่นอัตนา โจทยัตตานัง สอบจิต-สอบกาย-สอบ วาจาเข้าไว้ว่า คิดเช่นนี้ ทำเช่นนี้ พูดเช่นนี้ มันผิดหรือถูกในหลักธรรมที่ตถาคตได้สั่งสอนมา พิจารณาให้มาก ๆ ถ้าผิดก็จงอย่าทำเป็นอันขาด ถ้าถูกก็จงรีบทำด้วยความมั่นใจ ขยัน-พากเพียรเข้าไว้ มรรคผลที่ได้จากการกระทำของตนเองนั้น เป็นของแท้ ดีกว่าฟังคนอื่นพูดหรือเล่าว่า เขาทำเช่นนั้นได้ผลเช่นนี้ ”
ข) “มาเถิดเจ้าเข้ามาสู่หลักปฏิบัติธรรม อันเข้าสู่โลกุตรธรรมเบื้องสูงอย่างแท้จริง ตั้งใจไปเลย ทิ้งทวนของชีวิตเสี้ยวที่เหลือนี้ให้แก่พระธรรม ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป จงหมั่นคุมสติ กำหนดรู้กิริยาของกาย-วาจา-ใจ ให้แน่วแน่มั่นคงอานาปานัสสติกับคำภาวนา อย่าทิ้งเป็นอันขาด ใครจักพูดอะไร ขอให้มีสติฟังให้ดี ๆ พิจารณาเข้าอิงพระธรรมคำสั่งสอน กลั่นกรองหาสาระให้ได้ แล้วเวลาที่จักพูด ก็จงคิดพิจารณาให้ดีว่ามีสาระหรือไม่ ถ้าไม่มีจงอย่าพูด อย่าทำเช่นนั้นเป็นอันขาด”
ค) สำหรับคุณหมอเองก็อย่าเผลอ ความดีใดที่ได้แล้ว ก็จงหมั่นรักษาความดีนั้น ความชั่วใดที่ยังไม่ค้นพบในจิต ก็จงหมั่นค้นหา พยายามเอาความดีแห่งพระธรรมคำสั่งสอนเข้าลบล้างความชั่วแห่งจิตให้ลดน้อยถอย ลงไป อย่าติ-อย่าเตือนคนอื่นเสียจนเพลินไป จนลืมเตือนตนเองเสียล่ะ

สมเด็จองค์ปฐม เมตตาสอน เรื่องกฎของกรรม มีความสำคัญโดยย่อว่า
ก) “จงหมั่นพยายามสำรวจอารมณ์จิตให้พบ ค้นหากิเลสแห่งความโกรธ-โลภ-หลง ให้พบ กฎของกรรม ขอให้ยอมรับนับถือย่างจริงใจ
ใน อดีตชาติ พวกเจ้าก็ล้วนทำกรรมนี้กันมาก่อนทั้งสิ้น วาระนี้พวกเจ้าล้วนทำเพื่อกิจในพุทธศาสนา เศษกรรมอันเป็นผลบาปเล่นงานพวกเจ้าได้แค่ผิวเผินของร่างกายเท่านั้น ถ้าจักดูผลของกรรมจริง ๆ พวกเจ้าก็จักล้วนแต่ต้องตกตายตามกันทั้งสิ้น”
ข) “อะไรจักเกิดแก่ร่างกาย ขอให้อย่าพึงได้ตระหนก หรือวิตกกังวลให้มาก อันตรายร้ายแรงใหญ่หลวงนั้นไม่มี ขอให้หมั่นตัดอารมณ์วิตกจริตเหล่านี้ทิ้งไป เพราะนั่นไม่ใช่อารมณ์แห่งพระกรรมฐาน มิใช่อารมณ์ที่จักนำพวกเจ้าเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้”
ค) “นิพพะ แปลว่า ดับ อารมณ์จิตจักต้องดับจากกิเลสทั้งปวง โกรธ-โลภ-หลงไม่คงคั่งค้างอยู่ในจิต อารมณ์วิตกจริต ก็คือ อารมณ์หลง หลงอยู่ในความทุกข์อันขุ่นข้องหมองใจ เพราะฉะนั้น พวกเจ้าจักต้องหมั่นระงับอารมณ์เหล่านี้ทิ้งไป พยายามสร้างอารมณ์สังขารุเบกขาญาณให้เกิด จักวางเฉยในร่างกายได้ในที่สุด”
ง) “กฎของกรรมใด ๆ เกิดกับร่างกายก็จงยอมรับ ไม่มีใครทำเราหรอก เราทำของเราเองทั้งสิ้น กำหนดจิตให้รู้ กำหนดจิตให้เห็นด้วยตาปัญญาทั้งปวง ความสงบจักเกิดแก่จิตของพวกเจ้าได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ขอให้ใช้วิปัสสนาพิจารณาให้มาก ๆ แล้วผลแห่งมรรคธรรมจักเกิดขึ้นในปฏิปทาที่พวกเจ้าหมั่นเพียรอยู่นี้ อย่าท้อถอย หรือขุ่นข้องขัดเคือง อารมณ์จิตจักไม่เป็นสมาธิ ความขาดทุนจักมาเยือน ทั้งขึ้น ทั้งล่อง ต้องพยายามเข้านะ ชำระจิตให้ได้ทุก ๆ วินาที หมั่นทำบ่อย ๆ แล้วความสำเร็จจักปรากฏแก่พวกเจ้าเอง”
จ) “กายสังขารทุกข์-อย่าฝืน ให้พยายามระงับให้เร็วที่สุด อย่าแบกทุกข์ของกายสังขาร จิตสังขารทุกข์-จักต้องหมั่นฝืน รู้และกำหนดเห็นทุกข์นั้น ๆ หมั่นเอากรรมฐานแก้จริต ๖ มาใช้ ก็จักแก้ทุกข์แห่งจิตสังขารได้”

ปกิณกะธรรม
๑. ตัวธรรมปัจจุบันอยู่ที่ลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้อยู่ในธรรมปัจจุบัน หายใจออกก็รู้อยู่ในธรรมปัจจุบัน หากจิตรู้อยู่ในอารมณ์ธรรมปัจจุบันตลอด ธรรมในอดีต ธรรมในอนาคตก็เข้ามาแทรกอารมณ์ปัจจุบันไม่ได้ หรืออารมณ์ ๒ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น อุเบกขาหรือตัวสังขารุเบกขาญาณจึงเกิดขึ้นได้ที่ตรงนี้เอง
๒. นินทาสโมสร หรือโลกธรรม ๘ เกิดขึ้นเป็นธรรม ตามกฎของกรรม ซึ่งต่างคนต่างก็ทำเอาไว้เองในอดีต มีอยู่มาก (ไม่เขียนเพราะไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่ผู้อ่าน)

สรุปว่าโลกธรรม ๘ เป็นกฎของกรรม ซึ่งเป็นอริยสัจละเอียดหรืออริยสัจขั้นสูง และเป็นไตรลักษณ์ ใครไปสนใจ-ไปยึด-ไปเกาะ ก็ล้วนเป็นทุกข์ จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของธรรมดาของชาวโลก จุดนี้สมเด็จองค์ปัจจุบัน ทรงตรัสรับรองว่า “ถูก ต้องแล้วจงหมั่นศึกษากรรมให้ครบวงจรเถิด กายกรรม ๓, วจีกรรม ๔, มโนกรรม ๓ ทุกกรรมบถมีผลส่งให้เกิดทุกข์ได้ ๓ ประการ เมื่อตนเองทำเหตุให้เกิดแล้ว ทรงให้หลักแยกว่าเป็นกรรมในอดีต หรือเป็นกรรมปัจจุบันให้ผลดังนี้
ก) “ให้ ตรวจสอบดูว่า ในปัจจุบันชาติเราทำกรรมนี้มาก่อนหรือเปล่า แยกเป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม หากไม่มีก็แสดงว่า เราเคยก่อกรรมนี้ไว้ในอดีตชาติแน่นอน”
ข) สำหรับกรรมปัจจุบัน ให้ผลทันตาเห็นอย่างหนึ่ง ให้ผลในอดีตอีกอย่างหนึ่ง เช่น คนกินยาพิษและตายลงในขณะนั้น เป็นกรรมให้ผลทันตาเห็น หากเราไปด่าเขาไว้เมื่อวานนี้ บุคคลนั้นเขารู้เข้า ก็มาด่าเราตอบในวันนี้ ก็เป็นกรรมที่เราเคยทำไว้ในชาติปัจจุบัน หากเราคิดชั่ว จิตในขณะนั้นก็มีไฟกิเลสสุมเผาจิตเรา เป็นผลในปัจจุบัน หากเราคิดดีจิตในขณะนั้น ก็มีอารมณ์สุขเป็นผลในปัจจุบัน”
ค) “ส่วนกรรมที่ทำในชาตินี้ แต่ให้ผลของกรรมในชาติต่อไป กล่าวคือผู้ละเมิดศีล ๕ กรรมที่ทำในชาติปัจจุบัน บางคนยังมีบุญกุศลเก่าหนุนเนื่องอยู่ (กุศลกรรมกำลังให้ผลเขาอยู่) ก็ยังไม่ปรากฏผลของกรรม ให้เห็นในชาติปัจจุบัน พอหมดอายุขัยจิตวิญญาณก็ไปสู่อบายภูมิ ๔ ตามกรรมนั้น ๆ คือ ไปรับผลของกรรมในอนาคตนั่นเอง จุดนี้คนมืด คนบาป ย่อมมองไม่เห็น และไม่เชื่อในกฎของกรรมข้อนี้ ไม่เชื่อว่านรก-สวรรค์-พรหม-นิพพานมีจริง ต่อเมื่อร่างกายตาย จิตวิญญาณไปสู่อบายภูมิ ๔ แล้ว ก็สายเกินไปที่จักกลับมาเรียนรู้กฎของกรรมได้

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง ปกติธรรมนั้นเป็นไฉน มีความสำคัญว่า
ก) “ขอ ให้พวกเจ้าหาความเป็นปกติให้พบ พบแล้วให้วางในปกตินั้น ๆ จิตจักได้เบาบาง สบายจากอารมณ์กระทบทั้งปวง จงหมั่นเพียรขยันปฏิบัติสมณธรรมให้มาก ๆ คำนินทาและสรรเสริญ ใด ๆ เกิดกับพวกเจ้า ขอจงมองเห็นไตรลักษณ์ที่เกิด-ดับ แห่งโลกธรรมนั้นว่า เป็นปกติของโลก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป หาสาระธรรมอันใดมิได้ จงหมั่นตระหนักถึงกฎของกรรมเข้าไว้ ไม่ต่อกรรมไปในกาย-วาจา-ใจ ของตนอีก กฎของกรรมเที่ยงเสมอ ใครทำใครได้ กรรมใครกรรมมัน อย่าเอาแต่ท่องจำ รู้แล้วต้องหมั่นนำมาปฏิบัติให้เกิดผลด้วย ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง ความจริงของชีวิตมันเป็นอย่างนี้ จงอย่าประมาทก็แล้วกัน”
ข) “ถ้าจิตไหวเมื่อไหร่ ก็จงรู้ว่าจิตเราไม่เป็นปกติสุขในพระกรรมฐาน หมายความว่าเราไม่ยอมรับในความเป็นปกติที่ไหวอยู่ในโลกนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันคือปกติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เคลื่อนอยู่อย่างนั้นเป็นปกติ จักเป็น พรหมโลก เทวโลก มนุษโลก อบายภูมิ ๔ เคลื่อนอยู่อย่างนั้นเป็นปกติ”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่องมรณานุสสติ
ทรงตรัสถามว่า “พวกเจ้ากลัวตายหรือไม่”
ตอบ“ย่อมยังมีความกลัวอยู่บ้างพระพุทธเจ้าข้า”
ทรง ตรัสว่า “มันเป็นธรรมดาที่จิตยังมีกำลังใจไม่กล้าแข็ง ผู้ยังเป็นเสขบุคคลอยู่ (บุคคลที่ยังมีหน้าที่ต้องตัดกิเลสอยู่) ย่อมมีความกลัวตายเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น มีสติระลึกนึกถึงมรณานุสสติให้มาก ๆ กำหนดรู้ลมหายใจ ภาวนาวิปัสสนาให้รู้สภาวะของการตายด้วยลมหายใจให้มาก ๆ หนักเข้า ๆ จิตจักยอมรับและวางอารมณ์กลัวตายได้ในที่สุด จงอย่าคิดว่าจะตายเมื่อแก่ จักตายเอาเมื่อวันข้างหน้ามาถึง พวกเจ้าจงหมั่นคิดเอาไว้เสมอ ๆ ว่า ความตายจักมีอยู่ในวันนี้ เพลานี้ เดี๋ยวนี้ ทุก ๆ ลมหายใจเข้าออก ความตายมาจ่อประตูรับอยู่ทุก ๆ ขณะจิต ที่ลมหายใจเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ถ้าคิดได้อย่างนี้ จิตก็จักวางร่างกายได้ในที่สุด”





ขอขอบพระคุณ
แหล่งที่มา : Frameset-1

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 07:08:04 am »

สมเด็จองค์ปฐม



สมเด็จองค์ปฐมทรงเมตตาสอน เรื่อง การปรามาสพระรัตนตรัย, กรรมบถ ๑๐ และพรหมวิหาร ๔
๑) “การปรามาสพระรัตนตรัยนั้น ใช่ว่าจักมีแต่วจีกรรมที่กล่าวออกมาเป็นวาจาไม่ หรือแม้แต่การคิดสงสัยพระธรรมคำสั่งสอนอยู่ในจิต ก็จัดเป็นมโนกรรม เป็นการปรามาสเช่นกัน และถ้าหากมีการแสดงออกทางกาย อาทิเช่น เหยียบย่ำทำลายพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ เช่น ตัดเศียรพระ แปลงพระธรรมไปเป็นอื่นผิดแผกไปจากคำสอนตถาคต ตลอดจนประทุษร้ายร่างกายพระอริยสงฆ์ นับเป็นการปรามาสพระรัตนตรัยทั้งสิ้น”
๒) “ขอพวกเจ้าจงอย่าประมาทเยี่ยงนี้ ปรารถนาจักเข้าสู่พระนิพพาน จักต้องหมั่นขอขมาพระรัตนตรัยไว้ให้มาก ๆ กรรมบถ ๑๐ นี้ ครอบคลุมไปทั่วทั้ง อดีตชาติ-ปัจจุบันชาติ และอนาคตชาติ ต้องหมั่นกำหนดชำระอกุศลกรรมบถให้หมดไปจาก กาย-วาจา-ใจ คิดพิจารณาถอยหน้าถอยหลังในการพูด การคิดเอาไว้ให้ดี ๆ เพราะจักผูกมิตรหรือสร้างศัตรูได้ก็ตรงนี้ จิตจักมีสุขหรือทุกข์ก็ที่ตรงนี้ หากพวกเจ้าสามารถควบคุมกรรมบถ ๑๐ ได้อย่างสมบูรณ์ ความไม่ทุกข์ไม่สุขก็จักพึงมีได้ไม่ยาก การปรามาสพระรัตนตรัยก็จักไม่มี”
๓) “เวลานี้ขอให้พวกเจ้าจงหมั่นรักษากาย และรักษาจิตให้อยู่ในอารมณ์พระกรรมฐาน คือ อยู่ในความดีของพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคต อย่าพึงเบียดเบียนกายและจิตของตนเอง อย่าพึงเบียดเบียนกายและจิตของผู้อื่น จงอย่าเบียดเบียนกายและจิตของตนเองและผู้อื่น การเจริญสมณธรรมให้ได้ผลอย่างแท้จริงนั้น พรหมวิหาร ๔ จักต้องเต็ม เต็มที่กายและจิตของตนเอง ใช้ให้เป็น ใช้ไม่เป็นก็เต็มไม่ได้ ของไม่ยากนักหรอก ถ้าหากจักใช้ปัญญาพิจารณาพรหมวิหาร ๔ อย่างถ่องแท้”
๔) “ขอให้พวกเจ้าจงหมั่นระวังกาย-วาจา-ใจของตนเองเอาไว้ให้ดี ๆ การทำร้ายตนเองก็เกิดจากกรรมบถทั้ง ๑๐ นั่นแหละ จักทำ-จักคิด-จักพูดอะไรก็ไม่พ้นตัว เพราะขึ้นชื่อว่ากรรมนั้นเที่ยงเสมอ ถ้าเป็นอกุศลกรรมบถก็ก่อทุกข์แก่กายแก่จิตตลอดเวลา ถ้าเป็นกุศลกรรมบถก็ก่อสุขแก่กายแก่จิต บางขณะบุคคลผู้ปรารถนาจักไปนิพพาน การควบคุมกาย-วาจา-ใจเพื่อความสงบ เพื่อวิมุติจุดเดียวเท่านั้น อกุศลกรรมบถจักต้องไม่เกิดแก่บุคคลผู้นั้น กุศลกรรมบถย่อมมีอยู่ในขอบเขตแห่งพระกรรมฐาน แต่จิตมิได้ยึดติดในกรรมบถนั้น ๆ พร้อมที่จักทำความดีเพื่อสั่งสมบารมี และก็พร้อมที่จักละวางไปในคราวเดียวกัน” (ทำดี แต่จงอย่าติดดี)
๕) “การประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นการเมตตา-กรุณาตนเองและผู้อื่น การพร้อมที่จะกระทำความดีเพื่อสั่งสมบารมี จักด้วยสงเคราะห์ตนเอง หรือผู้อื่น ทางด้านกาย-วาจา-ก็ดี ก็จัดได้ว่าเป็นมุฑิตา ยินดีในความดีที่ทำเพื่อตนเองและผู้อื่น (มีจิตอ่อนโยน) และการพร้อมที่จะละ-วางไปในคราวเดียวกัน คือ อุเบกขาบารมี”
๖) “การละวางจักเกิดขึ้นได้แก่จิตไม่ยากเย็นนัก ถ้าหากพวกเจ้าถือเอาอารมณ์ในธรรมปัจจุบันเป็นหลัก และไม่หลงลืมความตายเป็นสำคัญ ทุกอย่างก็จักลงตัวได้ไม่ยากนัก ธรรมเป็นปัจจัตตังใครทำใครได้ ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก ทำได้หรือไม่ได้ก็อยู่ที่พวกเจ้าจะปฏิบัติกันเอาเอง ด้วยความเพียรทั้งสิ้น
๗) “ขอย้ำอีกครั้ง ถ้าหากขาดเมตตากรุณาตนเอง และจงอย่าปรามาสพระรัตนตรัยแม้แต่มโนกรรม เพราะการทำเช่นนั้นคือ การปิดกั้นมรรคผลนิพพานไม่ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง”
๘) “นิวรณ์ ทั้ง ๕ ข้อ ข้อสงสัยในธรรมนี้มีโทษหนักที่สุด และมีผลกั้นความดีมากที่สุด ขอให้พวกเจ้าจงอย่าคิด อย่าพูด อย่าทำเป็นอันขาด หมั่นชำระความเลวของจิตทิ้งไปให้ได้นะ”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง อย่าฝืนเวทนาของจิต และโลกธรรม ๘
๑) “เหตุการณ์คืนนี้ก็เป็นปกติ จงบำเพ็ญจิตให้อยู่ในธรรมตามวิสัยที่พึงจักต้องการเถิด จิตอยากคิดก็ให้คิด จิตอยากพักก็ให้พัก อย่าฝืนเวทนาของจิต หากฝืนเวทนามรรคผลเกิดได้ยาก เพราะจิตมีสภาพดิ้นรน เมื่อสภาพจิตอยู่ในอารมณ์ใด ๆ มันก็อยากจักอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ ตามความต้องการ เพราะฉะนั้น จงอย่าฝืนเวทนาให้กำหนดสติ-สัมปชัญญะ ตามรู้เวทนานั้น ๆ แล้วใช้เวทนานั้นให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นสาระธรรม อย่างนี้จึงพึงเรียกได้ว่า เรียนรู้จิตเวทนาได้จริง”
๒) “การรู้เท่าทันสภาวะของจิตนั้น เป็นการศึกษาธรรมะที่เข้ามากระทบอารมณ์อย่างแท้จริง สภาพจิตไม่เคยอยู่นิ่ง พระอรหันต์ท่านก็มีอารมณ์ มิใช่หัวตอจักได้ไร้ความรู้สึกในธรรมารมณ์ที่เข้ามากระทบสัมผัส หากแต่จิตของท่านวางธรรมารมณ์ที่เข้ามากระทบนั้น ๆ ให้ลงตัวธรรมดา เป็นอารมณ์สังขารุเบกขาญาณ ท่านมองเห็นว่าคำสรรเสริญหรือว่านินทา โลกธรรม ๘ กระทบ ท่านได้ก็เพราะท่านยังมีร่างกายให้เขาด่า นินทา และสรรเสริญ ถ้าหากไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว การถูกด่าถูกว่าก็จักไม่มี สุดท้ายก็เลยวางเฉยในร่างกาย เพราะเขาด่าร่างกาย ท่านเป็นผู้มีอารมณ์สงบจากกิเลสระงับแล้ว เขาด่าท่านได้แค่ร่างกาย จิตของท่านหาได้ถูกเขาด่าไม่ ช่างมันเสียแล้ว คือ ช่างเรื่องของร่ายกายมัน เป็นอารมณ์สังขารุเบกขาญาณ”
๓) “ท่านคิดอยู่เสมอ ๆ ว่า ไม่ช้าไม่นานร่างกายของคนด่าก็ตาย คนถูกด่าก็ตาย แต่คนที่ด่านั้นมีความโกรธท่วมอยู่ในจิตเต็มกำลัง พอร่างกายตายไปแล้ว เชื้อความโกรธจักนำเขาเหล่านั้นตกลงไปสู่อบายภูมิ ๔ อย่างมิต้องสงสัย แต่คนถูกด่าทำใจได้เยี่ยงพระ พระอรหันต์ท่านก็จบกิจไปพระนิพพานได้ทุกราย เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเจ้าจงคิดพิจารณาถึงคำนินทาและสรรเสริญว่าเป็นเพราะเราโง่ที่หลงติด ในร่างกาย คิดว่าเป็นเราเป็นของเรา อวิชชามันบังหน้าบังตา จึงทำให้หลงผิดคิดว่า การมีร่างกายนั้นเป็นของดี เมื่อเกิดมาแล้วอย่างโง่ ๆ ก็ต้องตกเป็นเหยื่อของโลกธรรม ๘ อันมีสรรเสริญและนินทา เป็นต้น กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เหตุเกิดเพราะความปรารถนาในภพชาติมิมีที่สิ้นสุด เหตุเกิดเพราะชาติใดที่เกิดแล้ว การจักไม่ทำกรรมดี-เลว ทำเหตุให้เกิดกรรมแห่งโลกธรรม ๘ นั้นไม่มีเลย จากการเกิดนับครั้งอสงไขยกัปนับไม่ถ้วน ผลมันจึงตามตอบสนองตามกรรมเพราะมีร่างกายดังกล่าวมาแล้ว”
๔) “การมุ่งหวังจักไปพระนิพพานมีจุดหนึ่ง คือ รู้จิตว่านั่นแหละคือตัวตนของเราแท้ ๆ รู้เวทนาของจิต คือ รู้จริต หรือรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีธรรมารมณ์มากระทบทุก ๆ ครั้ง การดัดจิตก็คือ รู้ระงับอารมณ์ที่เป็นจริตทั้ง ๖ อย่าง ด้วยพระกรรมฐานแก้จริตอันศึกษากันมาแล้ว”
๕) “อีกจุดหนึ่ง คือ รู้กายว่านั้นแหละ คือ เปลือกแห่งกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน และอกุศลกรรม ที่เราสร้างขึ้นมาอย่างผิด ๆ แล้วยังยึดติดว่า ร่างกายอันประกอบด้วยธาตุ ๔ เป็นอาการ ๓๒ นี้ว่าเป็นเรา เป็นของเรา การศึกษาร่างกายก็เพื่อให้รู้เท่าทันสภาพของร่างกายว่า จักยึดอะไรในร่างกายนี้มาเป็นเรานั้นไม่ได้เลย”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอน เรื่อง หากเกิดอารมณ์อยากตำหนิธรรมหรือสงสัยในธรรม ควรจะทำอย่างไร
๑) “ผิดแล้วมาขอขมานั้นยังใช้ไม่ได้ เหมือนคนเป็นโรคร้าย ปล่อยให้ลุกลามจนย่ำแย่แล้วมาหาหมอให้ช่วยรักษา หมอย่อมรักษาให้หายได้ยาก ต้องใช้เวลา ต้องเสียเงินทอง ทรัพย์สิน และสุขภาพ ทางที่ถูกต้องหาทางป้องกัน เช่น โรคอหิวาต์ระบาด จักต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์ เป็นต้น”
๒) “ในทางธรรมก็เช่นกัน เมื่อมีอารมณ์สงสัยในธรรม หรืออยากจักตำหนิธรรม ก็ต้องหมั่นรีบระงับเสียก่อน โดยใช้ยาขนานใหญ่ คือ อานาปานัสสติเข้าระงับ แล้วใช้มรณานัสสติเข้าตัด บอกแก่จิตตนเองว่า เจ้ากำลังจักล้มตายในไม่กี่วินาทีนี้แล้ว จักมัวแต่สงสัยในธรรมหรือตำหนิธรรมจักมีประโยชน์อันใด คนที่ปรามาสพระรัตนตรัยนั้น ตายแล้วลงนรกทุกรายนะ ห้ามปรามมันไว้ก่อนที่อารมณ์นั้นจักลุกลามออกไป ทางกายและวาจา ต้องอาศัยสติ-สัมปชัญญะให้รู้ทันอารมณ์ที่ฟุ้งซ่าน คิดไปตำหนิธรรมหรือปรามาสคุณพระรัตนตรัย อย่าปราณีปราศรัยอารมณ์นี้เป็นอันขาด เพราะเป็นอารมณ์อันตรายอย่างยิ่ง ทำกันให้ได้นะ ถ้าทำไม่ได้พวกเจ้าก็เอาดีกันไม่ได้”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอน เรื่องคุณเรื่องโทษของอาหาร
๑) “เรื่องคุณ เรื่องโทษของอาหาร ก็ต้องพิจารณา สุสานคนตายหรือป่าช้ามนุษย์ คนยังพากันรังเกียจ แต่สุสานฝังศพสรรพสัตว์ซึ่งอยู่ในกายตน คนกลับยินดีมีความชมชอบ ไม่นึกถึงบุญถึงคุณของสัตว์ที่อุทิศกายสังขารให้เป็นทาน แล้วมิหนำใจจิตของปุถุชนคนหนา ยังปรารถนาให้ชีวิตสัตว์ย่อยยับลงมาเป็นอาหารของตน เสียอีก อนาถหนอโลกทั้งโลกจึงได้ชื่อว่ามีการเบียดเบียนกันอยู่เป็นนิจ เบียดเบียนทั้งกาย-วาจา-ใจไม่หยุดหย่อน”
๒) “พวกเจ้าปรารถนาจักไปนิพพาน จงอย่ายินดีในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส-ธรรมารมณ์ เห็นทุกอย่างอยู่ในธรรม เห็นเป็นสภาวะเกิด-ดับ เสื่อมสลายไปในที่สุด หมั่นสร้างความเบียดเบียนมิให้เกิดแก่กาย วาจา ใจ ของตน ๆ เป็นสำคัญเบื้องต้นก่อน” “ศีล-สมาธิ-ปัญญาของตถาคตมีไว้เพื่อป้องกันความเบียดเบียนซึ่งตนเอง ไม่ให้มีเกิดขึ้นในกาย-วาจา-ใจของตนเองก่อน ธรรมปฏิบัติเมื่อประสบผลสำเร็จของมรรคผลธรรมอันเกิดขึ้นแก่ตนเองแล้วจึงจัก เป็นของแท้ จิตจักรู้ได้ด้วยตนเองก็ตนนั้นหมดสิ้นความเบียดเบียนตนเองแล้ว ตั้งแต่พระโสดาบันก็มีศีลบริสุทธิ์ตามกำลังของตน สกิทาคามีก็เช่นกัน หมดความเบียดเบียนกายของตนเอง และกายของบุคคลผู้อื่นไปได้ส่วนหนึ่งตามกำลังของศีลรักษา เมื่อถึงอนาคามีความเบียดเบียนในระดับจิตก็จักน้อยลงตามกำลังของสมาธิที่ตน เพียรรักษาไว้ จุดนี้ตถาคตขอเน้นให้เห็นถึงการปล่อยวางสมาธิของพวกเจ้า ความเผลอเรอที่ปล่อยพระกรรมฐานให้หลุดออกไปจากจิต แม้เพียงแต่ชั่วขณะจิตหนึ่ง ซึ่งทำให้นิวรณ์เข้ามาแทรกได้ คือ ความสงสัยในธรรม คือ การตำหนิกรรมเข้ามาแทรกในจิตแทน นี่แหละคือการเบียดเบียนจิตของตนเองอย่างแท้จริง มิหนำซ้ำยังมีการกล่าวออกไปเป็นวาจา ส่งผลให้ไปเบียดเบียนจิตของผู้อื่นให้เกิดนิวรณ์แทรกได้เช่นกัน”
๓) “เพราะฉะนั้น การทำสมาธิจิตของพระอนาคามี จักต้องมุ่งหมั่นตัดอารมณ์สงสัยในธรรมและตำหนิธรรม ปรามาสพระรัตนตรัย ให้หมดสิ้นไปจากจิตอย่างสิ้นเชิง และถ้าหากวันใดสมาธิจิตรักษาเต็มกำลังแล้ว วันนั้นพระอนาคามีผลก็จักเกิดแก่พวกเจ้าได้อย่างไม่ยากเย็น แล้วจักรู้ได้ทันทีว่า จิตนั้นเลิกเบียดเบียนตนเองแล้ว หมดทั้งอารมณ์พอใจและไม่พอใจในสาระธรรมของโลก ยังเหลืออยู่แต่ความพอใจในทางธรรม คือ รูปฌาน-อรูปฌาน-มานะ-อุทธัจจะ-อวิชชา สังโยชน์ ๕ ประการสุดท้าย ซึ่งเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ ตถาคตจักยังไม่กล่าวมาในขณะนี้ เพราะระดับจิตของพวกเจ้ายังจักเจริญไปไม่ถึง พูดเท่านี้ก็สงสัยไปเท่านั้น มิมีประโยชน์อันใดที่จักกล่าวแล้วชวนให้สงสัยในธรรมเกิด”

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง ไตรลักษณ์และอวิชชา
๑) “ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะไม่เที่ยงทั้ง ๓ ประการ และกฎของไตรลักษณ์นี้มีอยู่ในไตรภพจบจักรวาลอีกด้วย พรหมโลก, เทวโลก, มนุษย์โลก, อบายภูมิ ๔ ต่างก็ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์-เกิด-เสื่อม-ดับทั้งสิ้น เป็นกรรมของจิตที่ยังมีอวิชชาเข้าครอบงำ ที่ต้องเที่ยวหลงไปตามภพตามภูมิต่าง ๆ หมุนวนกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
๒) “อวิชชา แปลว่าความโง่ ความไม่รู้ มืดบอด มองไม่เห็นกฎไตรลักษณ์ ที่หมุนวนสืบเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ จุดเริ่มจากปภัสราพรหม จุติลงมาเป็นมนุษย์โลก จิตดวงเดียวนี้ปรุงแต่งดีเลว แล้วก่อให้เกิดมโนกรรม-วจีกรรม-กายกรรม ให้มนุษย์กอปรกรรมอกุศลและกุศลอย่างลุ่มหลงมัวเมาในกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน- อกุศลกรรม ถ้าสรรพสัตว์ใดมืดบอดหนัก ก็จักกอปรกรรมอันเป็นอกุศลนำจิตตนหลังธาตุขันธ์แตกดับแล้ว โคจรลงสู่มหานรกขุมต่าง ๆ ตามกรรมที่ได้ทำเอาไว้เอง สภาพนรกที่ระอุไปด้วยเปลวไฟ หอกทิ่ม เหลนตำตลอดทั่ว ทั้งขันธจิตให้ทุกข์ทรมานหมกไหม้เนิ่นนานนับกัปกัลป์ไม่ถ้วน แต่สภาวะนรกก็ไม่เที่ยง เมื่อหมดกรรมจากขุมหนึ่ง ก็เสื่อมดับจากขุมนั้นไปเกิดต่ออีกขุมต่อ ๆ ไป ดวงจิตนั้นเคลื่อนไปเรื่อย ๆ ตามกฎไตรลักษณ์ในสภาวะนรก เกิดเสื่อมดับจนกระทั่งหมดสภาวะกรรมของนรก ขึ้นมาเกิดเป็น เปรต ก็เสื่อมดับต่อไป จากแต่ละชั้นของเปรต เกิดเสื่อมดับต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาเป็น อสุรกาย เป็นอสุรกายก็เกิดเสื่อมดับไปตามกรรมเหมือนกัน จนกระทั่งมาเกิดเป็น สัตว์เดียรัจฉาน ในแต่ละชนิดตามกฎของกรรม เกิดแล้วก็เสื่อม ก็ดับไปในแต่ละชนิดของสัตว์เดียรัจฉานนั้น จนกระทั่งมาเกิดเป็น คน ก็ตกอยู่ในห้วงกฎไตรลักษณ์เช่นกัน คือ เกิด เสื่อม ดับ ในวาระที่เกิดเป็นคนนี้ ก็จักมีโอกาสประกอบกรรมดี-กรรมชั่ว ได้มากกว่าภพชาติอื่นใด แต่ก็มีโอกาสหลงมากกว่าภพอื่นใด ความถือตัวถือตนมีอยู่ในคนนี่แหละ มากที่สุดยิ่งกว่าภพชาติอื่น การลงนรก-ขึ้นสวรรค์ ก็มาจากคนนี่แหละที่เป็นจุดสำคัญ เพราะมีโอกาสพบพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคต มีคุณสมบัติปฏิบัติธรรมได้ตามคำสั่งสอนของตถาคต การเกิดในมนุษยชาติเท่านั้นที่มีโอกาสสั่งสมบารมี ๑๐ ทัศ หรือ บารมี ๓๐ ทัศ จนเต็มกำลังของจิตดวงเดียวนี้ได้ มนุษยชาติเป็นจุดศูนย์กลางแห่งการปฏิบัติกรรม จักไปสายไหนใน ๓ ทางที่กฎแห่งกรรมนั้นได้วางเอาไว้ ”
สายที่ ๑ ไปพรหมโลก-เทวโลก-มนุษย์โลก เป็นสายแห่งการทำจิตให้เป็นกุศล
สายที่ ๒ ไปอบายภูมิ ๔ มีสัตว์นรก-เปรต-อสุรกาย-สัตว์เดียรัจฉาน เป็นสายแห่งการทำจิตให้เป็นอกุศล
สายที่ ๓ อีกสายหนึ่งมุ่งไปพระนิพพานจุดเดียว เป็นสายแห่งการทำจิต ให้เป็นอัพยากฤต คือ ปฏิบัติธรรมจนจิตละจากความชั่ว-ดีได้ แล้ว มีอารมณ์เป็นอุเบกขารมณ์ หรืออุเบกขาญาณ หรือสังขารุเบกขาญาณ
๓) “ดังนั้น ความเป็นมนุษยชาตินั้นมีค่า ต้องรู้จักใช้ค่าของความเป็นมนุษยชาติให้เป็น อย่า ใช้อวิชชา ความโง่มืดบอดมาบดบังจิต สิ่งใดอันเป็นธรรมวินัยอันตถาคตตรัสให้กระทำ ก็จงหมั่นเพียรทำ จักสามารถลบล้างอวิชชาให้ลดน้อยถดถอยลงไป และถ้าไม่ละความเพียร มีความตั้งใจแน่วแน่ อวิชชาก็จักถูกลบล้างหมดสิ้นไปจากจิตได้ในที่สุด สิ่งใดที่ตถาคตบัญญัติไว้ห้ามทำเป็นกรรมอกุศลที่มาบดบังจิตไว้ ก็จงหมั่นละ ตัดระงับอารมณ์ความคิด อย่าให้ฟุ้งซ่านไปในธรรมอันเป็นอกุศลนั้น ๆ ไม่มีประโยชน์ที่จะนำมาคิดให้จิตเศร้าหมอง”
๔) “การ พิจารณาให้เห็นโทษอันแจ่มแจ้งของอกุศลกรรมนั้น ควรทำ แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็สมควรสลัดกรรมอันเป็นอกุศลนั้นให้หลุดออกไปจากจิต ฟอกล้างมโนกรรม-กายกรรม-วจีกรรม ให้สะอาดออกจากกรรมอันเป็นอกุศลนั้น ๆ อย่างเข้มแข็ง อย่าท้อแท้หรือพ่ายแพ้แก่ความชั่ว เรามีโอกาสมาเป็นคนแล้ว จักกลับมาสู่อบายภูมิ ๔ ด้วยกรรมอันเป็นอกุศลอีกหรือ ขอให้พวกเจ้าใช้ปัญญาพิจารณาตามนี้ให้เป็น”
๕)“เมื่อ มีกรรมดีด้วยอานิสงส์ของทานหรือของศีล หากดับจากความเป็นมนุษย์ ไม่กลับมาเป็นมนุษย์ใหม่ตามจิตต้องการ ก็จักไปเกิดเสวยสุขอยู่บนเทวโลก บนเทวโลกนั้นเกิดเป็นเทวดา-นางฟ้าก็ยังมีเสื่อมดับ หมดบุญหากมีบาปก็จักพุ่งหลาวลงนรกไป ถ้ามีบุญเหลืออยู่บ้างด้วยอำนาจของทานและศีล ก็ยังมีโอกาสลงมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ การเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ถ้ามีโอกาสพบพระพุทธศาสนา ก็จัดมีการบำเพ็ญบารมีกันมาเรื่อย ๆ จักว่าไปถึงขั้นตอนของบารมีธรรมพระโสดาบัน ๓ ระดับ เมื่อธาตุขันธ์แตกดับไปเกิดเป็นพรหม-เทวดา-นางฟ้า ๗ ชาติ ๓ ชาติ ๑ ชาติ สลับกลับลงมาเป็นมนุษย์ ๗ ชาติ ๓ ชาติ ๑ ชาติ เช่นกัน เกิดเสื่อมดับอยู่อย่างนั้น จนกว่าจักเข้าถึงพระนิพพาน การไปเป็นพรหมก็เช่นกัน มีเกิด มีเสื่อม มีดับอยู่ตลอดเช่นกัน พรหมสุธาวาส ก็เช่นกัน เมื่อเกิดแล้วบำเพ็ญบุญต่อที่นั่นบารมีเต็มเมื่อไหร่ ก็เสื่อมจากพรหมเคลื่อนสู่พระนิพพานอันเป็นแดนอมตะ ไม่เกิดไม่ตายอีกต่อไป”
๖) “ที่ ตรัสมาทั้งหมดนี้ เพื่อให้เจ้าเห็นกฎไตรลักษณ์ ที่ครอบคลุมอยู่ทั่วไตรภพจบจักรวาล เห็นการไหลวนของดวงจิตที่มีอวิชชาความโง่มาบดบังจิต พวกเจ้าปรารถนาจะไปพระนิพพาน จงหมั่นพิจารณากฎไตรลักษณ์นี้เถิด”
๗) “รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส-ธรรมารมณ์ ก็ล้วนตกในห้วงกฎไตรลักษณ์ทั้งสิ้น อิริยาบถ ๔ คือ กายสัมผัสก็เช่นกัน ยืน บนพื้นราบ-บนเนิน-ที่ร้อน-ที่เย็น ยืนนานได้ไหม มันเมื่อย มันก็เสื่อมจากการยืน การเดิน ก็เช่นกัน เมื่อเกิดการเดินแล้ว ก็เสื่อมจากการเดิน ต้องดับจากการเดิน การนั่งบนเก้าอี้ กายสัมผัสอ่อนนุ่มบ้าง แข็งบ้าง เย็นร้อน นั่งนานก็ไม่ได้ เมื่อย เสื่อมแล้วก็ดับจากการนั่ง นอน ก็เช่นกัน กายสัมผัสที่นอนอันอ่อนนุ่มบ้าง-แข็งบ้าง เย็น-ร้อน นอนนานก็ไม่ได้เมื่อย เสื่อมแล้วก็ต้องดับจากการนอน อิริยาบถ ๔ คือ กายสัมผัส คือไตรลักษณ์ เกิด-เสื่อม-ดับอยู่ในทุก ๆ ขณะ การบริหารร่างกายให้อยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ จึงได้ชื่อว่าบริหารทุกข์ เพราะหาความเที่ยงในอิริยาบถนั้น ๆ ไม่ได้ หาไตรลักษณ์ ไม่ต้องไปหานอกกายนอกจิต หมั่นหาไตรลักษณ์ในกาย และจิตของตนให้พบ ธาตุ ๔ อาการ ๓๒ ก็อยู่ในกฎไตรลักษณ์ทั้งสิ้น หาในกายในจิตของตน แล้วจักเข้าใจกฎไตรลักษณ์ภายในนี้อย่างแท้จริง”
๘) “การจบกิจในพระพุทธศาสนาก็คือ การหาไตรลักษณ์ในกายและจิตให้พบ ยอมรับนับถือในความไม่เที่ยงของมันว่าเป็นของเที่ยง เป็นธรรมดาอยู่อย่างนั้น แล้วหมั่นชำระจิตให้เลิกลุ่มหลงธาตุขันธ์ อันเป็นอาการ ๓๒ นี้ ชำระจิตจนหลุดพ้นจากสภาวะอยากเกิด-เสื่อม-ดับ อันมีอยู่ตลอดไตรภพจบจักรวาลนี้อย่างแน่วแน่ มุ่งมรรคผลธรรมปฏิบัติ อันเพียบพร้อมไปด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญา ไปยังพระนิพพานจุดเดียว นิพพานเกิดได้ก็ที่ขณะจิตแห่งความแน่วแน่ตั้งมั่นว่า เราจักไม่ประมาณในธรรม เอาเวลาในขณะปัจจุบันนี้ กอปรแต่กรรมอันมุ่งไปพระนิพพานจุดเดียว ให้เป็นเอกัตคตารมณ์ จุดอื่นเราไม่ต้องการ ตรวจศีล-สมาธิ-ปัญญาให้พร้อมอยู่ในธรรมอันเพื่อนิพพานนั้นอย่าผลัดวันประกัน พรุ่ง เพราะชีวิตเป็นของไม่เที่ยง กายหรือธาตุขันธ์ของเราอยู่กับการเกิดดับทุก ๆ ขณะจิต อย่ามัวเมาว่าเราจักไม่ตาย ในเมื่อธาตุขันธ์เกิด-ดับอยู่ทุกขณะจิตเยี่ยงนี้”
๙) “การ ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่แนวทางปฏิบัติมรรคผลเพื่อนิพพานนั้น หากใช้เวลาเกินกว่าหนึ่งวินาที ก็เท่ากับประมาทในความเกิดดับมากขึ้นเท่านั้นตถาคตตรัสแจงมานี้เพื่อเตือน พวกเจ้าจงอย่าได้ประมาทในการเกิดดับทุกขณะจิตนี้จุดเดียวถ้า หากพวกเจ้าทำได้ลดความประมาทและเรียนรู้ศึกษาเกิดดับจนยอมรับนับถือในความ เที่ยงของมันแล้วความมัวเมาฟุ้งซ่านออกไปนอกเหนือจากอารมณ์รักพระนิพพานก็ จักไม่มี ประมาทไม่ได้ เพราะจิตของพวกเจ้าจักต้องแข่งกับความเกิดดับของธาตุขันธ์อยู่ตลอดเวลา”
๑๐) “พระอรหันต์ท่านยอมรับความเกิดดับของธาตุขันธ์ จิตท่านไม่เคยลืมเกิดดับของธาตุขันธ์ อารมณ์รักพระนิพพานเกาะจิตอยู่ตลอดทุกๆขณะจิตควบคู่ไปกับการวางเฉยในการเกิดดับของธาตุขันธ์ ผู้ยอมรับและวางเฉยเป็นสังขารุเบกขาญาณ ความประมาทจึงไม่มีในดวงจิตอันมั่นคงไปด้วยบารมี ๑๐ หรือ ๓๐ ทัศทุก ๆ ประการ จิตท่านจึงหยั่งลงดินแดนอมตะ พระนิพพานไม่เกิดไม่ตายตั้งแต่นั้นมา สังโยชน์ ๑๐ ที่ยึดติดในกายหรือธาตุขันธ์ก็ขาดสะบั้นลง เห็นสภาวธรรมเกิดดับหรือกฎไตรลักษณ์นั้นเป็นธรรมดาอันหาสิ่งใดจักมายึดถือ เป็นสาระแก่นสารไม่ได้ขอให้พวกเจ้าเข้าใจ และหมั่นศึกษาธรรมเกิดดับนี้ให้แจ้งกันเถิด”
๑๑) “การปฏิบัติธรรม ไม่ว่ากระทบ รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส-ธรรมารมณ์ ล้วนเป็นธรรมทั้งสิ้น ธรรมใดที่มากระทบธาตุขันธ์ ให้พวกเจ้าได้รับสัมผัสทางด้านกาย-วาจา-ใจ ก็ล้วนเป็นธรรม มรรคผล นิพพาน มุ่งตัดกรรม มิใช่ต่อกรรม ขอให้พิจารณากันให้ดี ๆ”
๑๒) “ท่านฤๅษีหัวหน้าทีมของพวกเจ้า ลาพุทธภูมิเพื่อเข้าสู่พระนิพพานในชาตินี้ เหล่าลูกศิษย์ทั้งหลายก็เร่งบารมีตาม ตถาคตและพระทั้งหลายที่เคยผูกพันโดยกรรมก็จักตามสงเคราะห์ ในส่วนที่สงเคราะห์ได้ ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก ทำได้พวกเจ้าก็เข้าสู่พระนิพพานได้ แต่ถ้าหากทำไม่ได้เพราะตัวสงสัยในธรรมมาขวางกั้น ก็ต้องเกิดดับเป็นพรหม เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ สลับกันไปอีกอย่างละ ๗ ชาติ, ๓ ชาติ, ๑ ชาติเอาหรือไม่เอาก็หมั่นศึกษาเกิด-ดับเข้านะ ให้รู้ว่าเกิดดับนั้นเป็นทุกข์ นิพพานเท่านั้นที่ไม่เกิด-ไม่ดับ เป็นสุข ตัดความสงสัยในธรรมทิ้งไป จักได้พบมรรคผลนิพพานรวดเร็วเข้า”





ขอขอบพระคุณ
แหล่งที่มา : Frameset-1

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 07:08:56 am »

สมเด็จองค์ปัจจุบัน



จากหนังสือธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑
เรียบเรียงโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน



“ธรรม ภายนอกแก้ไขอะไรไม่ได้ เมื่อรู้เมื่อเห็นแล้วให้วางเสีย โดยคิดว่ามันเป็นธรรมดาของเขา ธรรมภายในเท่านั้นที่แก้ไขได้ หรือเธอจงอย่าคิดไปแก้ไขผู้อื่น ให้คิดแก้ไขตนเองให้ได้เสียก่อน เป็นอันดับแรก”


สมเด็จองค์ปัจจุบัน ทรงเมตตาสอนเรื่อง ความไม่เบียดเบียน ทรงตรัสว่า
ก) “จัก ทำจิตให้สิ้นความเบียดเบียนได้ ก็ต้องหมั่นทำความไม่เบียดเบียนนั้นให้เกิดขึ้นแก่จิตตนเองก่อน ตราบเมื่อจิตตนเองสิ้นความเบียดเบียนซึ่งตนเองแล้ว บุคคลอื่นมาเบียดเบียน ก็หาผลใด ๆ เกิดขึ้นกับจิตของเราได้ไม่”

ข) “อารมณ์สิ้นทุกข์-สิ้นสุข นั้นคือ ความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นนั่นเองแหละเจ้า ”

ค) “ขอให้พวกเจ้าจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนเถิด มรรคผลนิพพานย่อมอยู่ไม่ไกล”

สมเด็จพระพุทธกัสสป ทรงตรัสว่า
“การให้อภัยทานย่อมชนะการให้ทั้งปวง สิ้นทุกข์-สิ้นสุข คลายร้อนคลายหนาวก็ได้ที่ตรงนี้ หมั่นทำสติให้มั่นคงนะ การกำหนดลมหายใจอย่าทิ้ง”

สมเด็จองค์ปัจจุบัน ทรงตรัสว่า
“เวลานี้ขอให้พวกเจ้าอย่าห่วงใคร ขอให้ห่วงตนเอง ห่วงอารมณ์จิตของตนเองให้มาก ๆ”

ธรรมที่ทรงเมตตาแนะนำนั้นมีอยู่มาก จึงขอเล่าแค่หัวข้อ ดังนี้

๑. ให้เห็นทุกข์จากการเกิดมีร่างกาย หรือสัจธรรม ๕ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย)

๒. เรื่องนัตถิโลเก อนินทิโต ไม่มีใครในโลกที่จะเว้นจากการถูกนินทา

๓. ให้เห็นกฎของกรรมโดยละเอียดว่า กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ หากเราไม่เคยทำกรรมเหล่านี้ไว้ในอดีต วิบากกรรม หรือเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเรานั้นเป็นไปไม่ได้ จึงให้ทุกคนเคารพในกฎของกรรม ซึ่งจัดเป็นอริยสัจขั้นสูง

๔. ที่ว่ามีดวงตาเห็นธรรมนั้น เขาเห็นกันอย่างไร เห็นกันตรงไหน

๕. ให้ยอมแพ้ความชั่ว หรือความเลวของคนอื่น เพื่อที่จะได้ชนะความชั่วหรือความเลวของตนเอง หรือกล่าวสั้น ๆ ว่าแพ้เพื่อที่จะชนะ ซึ่งรัชกาลที่ ๙ ทรงรับสั่งกับทูตเกาหลีว่า "เรายอมขาดทุนเพื่อที่จะได้กำไร" ล้วนเป็นธรรมอันเดียวกัน

๖."ธรรมะย่อมชนะอธรรม" และ "ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม"

๗."ตถาคตตรัสสิ่งใดแล้วไม่เคยคืนคำ ไม่จริงตถาคตไม่ตรัส"

๘. ทรงเน้นเรื่องความไม่ประมาทในความตาย ไม่ประมาทในธรรมปฏิบัติ โดยเฉพาะประมาทกิเลสแม้แต่กิเลสเล็กๆน้อยๆ (เกลียดอย่างยิ่งคือ เพศตรงข้าม หากต้องการจะตัดราคะ, กลัวอย่างยิ่ง เรื่องความผิดเล็กๆ น้อยๆ เพราะของใหญ่ย่อมเกิดจากของเล็กก่อนเสมอหากจิตชินต่อกรรมชั่ววันละเล็กวันละ น้อย ที่สุดจิตจะชินต่อการทำชั่วกลายเป็นฌานในมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งแก้ยากมาก, ระวังอย่างยิ่ง เรื่องอายตนะ ๖ ประตู ทั้ง ๖ ทวารทั้ง ๖ ให้ระวังประตูจิตหรือประตูใจเป็นสำคัญ ตลอดเวลาเป็นอกาลิโก, ตบะอย่างยิ่ง หรือให้มีความเพียรอย่างยิ่งในการเผากิเลส ทำลายกิเลส ละกิเลสที่ยังมีอยู่ในจิตของตนด้วยความไม่ประมาท ให้ใช้อิทธิบาท ๔ แบบตอนที่พวกเธอเพียรรักษาศีล จนกระทั่งศีลรักษาเธอไม่ให้กระทำผิดศีลอีก ศีลเข้าถึงใจ กลายเป็นสีลานุสติจิตเกิดอัตโนมัติเองในการไม่กระทำผิดศีลอีกต่อไปตลอด ชีวิต)

๙. อุปสรรคใด ๆ ที่เกิดกับพวกเธอ เธอจงเอาอุปสรรคเหล่านั้นมาคิดพิจารณาให้เป็นพระกรรมฐานให้เกิดประโยชน์กับ จิตของเธอเอง โดยจงอย่าทิ้งอริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะ พระ พุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ต่างก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจ และพระสาวกของตถาคตทุก ๆ องค์ ต่างก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยอริยสัจทั้งสิ้น มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี

๑๐. ขอยกตัวอย่างรายละเอียดสัก๑เรื่องขณะนี้เรารบกับอารมณ์ปฏิฆะโดยตรงถ้าเราไม่ พอใจบุคคลเหล่านี้ เท่ากับเราสอบตกในอารมณ์โทสะจริตบุคคลเหล่านี้มาตามกรรมทั้งสิ้น เป็นครูทดสอบอารมณ์โทสะของเรา คถาคตสอนให้ละมิใช่ยึดอารมณ์โมหะโทสะ ราคะ เพราะฉะนั้น ผู้จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาจิตย่อมเข้าถึง หรือเต็มไปด้วยศีลสมาธิปัญญาเมื่อมีศีลจะฆ่าเขาก็ไม่ได้เมื่อมีสมาธิตั้ง มั่นก็โกรธหรือรักเขาไม่ได้มีแต่ความ กรุณาสงสารในความหลงผิดที่เขาเป็นไปเมื่อมีปัญญาตั้งมั่นอริยสาวกของตถาคตก็ จักไม่หลงไปในกฎของกรรมอีก
การกระทำใดๆ อันไม่มีอารมณ์หลง โกรธ โลภ เข้ามาครอบงำ อันนั้นเรียกว่าเป็นการตัดกรรมนั่นเอง



ขอขอบพระคุณ
แหล่งที่มา : Frameset-1

บันทึกการเข้า
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 07:09:57 am »

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
(พระราชพรหมยาน) วัดท่าซุง



จากหนังสือธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑
เรียบเรียงโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน



ให้ อดทนเอาหน่อย กฎของกรรมไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ความเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูง เขาเป็นกันได้ ก็ด้วยต้องยอมรับกฎของกรรม ความอึดอัดขัดข้องใจมันมิได้มีมาแต่ชาตินี้ชาติเดียว ความปรารถนาไม่สมหวัง มันก็ปรากฏแก่เรามาแล้วทุก ๆ ชาติ พยายามพิจารณาลงตัวธรรมดาให้ได้ ถ้าลงตัวธรรมดาไม่ได้ ความอึดอัดขัดข้องใจก็ไม่มีวันจะหมดไป อุเบกขารมณ์ก็ไม่เกิด แล้วสังขารุเบกขาญาณจะเกิดได้อย่างไร ความเป็นอนาคามีก็เกิดไม่ได้ อะไรมันเกิด พอที่จะแก้ไขได้ ไม่เกินกฎของกรรมก็แก้มันไป แต่บางสิ่งแก้ไขไม่ได้ ก็พึงยอมรับตามสภาพกฎของกรรม ทุกข์นั้นทุกข์แน่ แต่ถ้าจิตของเราไม่ยอมรับทุกข์นั้น เอาไว้ในจิตเสียอย่างเดียว ทุกข์นั้นก็เข้าสิงใจเราไม่ได้ จงอย่าลืม ธรรมะของพระพุทธเจ้า จะต้องยังจิตให้เบิกบาน จึงจะเป็นผล


หลวงพ่อฤๅษี ท่านเมตตาสอนเรื่อง อยากตายเป็นตัณหา
(ต้นเหตุเพราะมีพวกเราท่านหนึ่ง คิดอยากตายเพื่อจะได้พ้นกฎของกรรมเสียที)
หลวง พ่อท่านจึงมาสอนว่า "ถ้าอยากตายล่ะก้อ รับรองไม่ได้ตายหรอก คนยังมีความอยาก ไม่ว่าอยากอะไร รวมทั้งอยากเป็นอยากตาย รับรองว่ายังไปพระนิพพานไม่ถึง เพราะอารมณ์นั้นมันเป็นอารมณ์ของตัณหา ไม่ใช่อารมณ์สังขารุเบกขาญาณ อันเป็นอารมณ์วางเฉยของพระอรหันต์ที่เตรียมตัวเข้าพระนิพพาน รู้ไว้ด้วยจะได้ไม่คิดเซ่อซ่าโง่ ๆ อีก”


หลวงพ่อฤๅษี เมตตาสอนเรื่อง อย่าเอาไฟไปจ่อพระอริยะเจ้า
(ท่านปรามลูกศิษย์ท่านหนึ่ง ซึ่งมีโทสะจริตเป็นใหญ่ด้วยความเมตตา) ท่านสอนว่า
“จำ ไว้ทีหลังอย่าทำอารมณ์คิดปรุงแต่งให้จิตมันรุ่มร้อน เผากายเผาจิตตนเอง ยังไม่พอ ดันเอาไฟในจิตของตนออกไปจ่อคนอื่นเขาเล่นเสียอีก พระท่าน-หลวงปู่-หลวงพ่อทั้งหลาย แม้ท่านพ้นร้อนพ้นหนาวก็จริงอยู่ แต่ปกติของไฟ ใกล้ที่ไหนก็ร้อนที่นั่น อย่าเอาไฟไปสุมใกล้ท่านอีก จะลงนรกเพราะไปรบกวนกระแสจิตพระอริยเจ้าท่านให้”

หลวงพ่อฤๅษี เมตตาสอนเรื่อง ธรรมะเป็นของเบา ท่านสอนว่า
ก) “อย่าเครียดให้มันมากนัก ธรรมะเป็นของเบา เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา สมาธิจิตต้องเบา ๆ ไม่ใช่ตั้งท่าไปมัดกิเลสไม่ ให้มันเกิดได้ท่าเดียว จิตเราเคยชินกับกิเลสมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า ๑๖ อสงไขยกำไรแสนกัป อยู่ ๆ จะไปมัดมือเท้า ไม่ให้กิเลสมันเตะถีบได้ในคราวเดียว มันจะไม่เก่งไปหรือ ค่อย ๆ เป็น ค่อยๆ ไป อย่าเพิ่งเป็นขุนกระบี่พิชิตมารในดาบเดียว ต้องหมั่นหัด หมั่นซ้อม แพ้บ้างชนะบ้างเป็นธรรมดา ทำอารมณ์ให้เบา ๆ เข้าไว้ อย่าเคร่งเครียดให้มากนัก มองทุกข์-เห็นทุกข์ที่เข้ามากระทบ วางได้บ้าง วางไม่ได้บ้าง มันก็ยังดี ดีกว่าที่เรามองไม่เห็นมันเลย”
ข) ถ้าระงับทุกข์ ระงับสุขไม่อยู่ ก็ให้นึกถึงความตายที่จะเข้ามาถึงเดี๋ยวนี้ รับรองว่าเป็นยาขนานชะงักความทุกข์-ความ สุขได้เด็ดขาด คนมันจะตายอยู่ทุกขณะจิตเวลานี้ จะไปมัวนั่งทุกข์นั่งสุขอยู่กระไรได้ ถามจิตมันว่า แกจะตายอยู่แล้วในขณะนี้ มัวแต่เกาะทุกข์-เกาะสุข แกจะไปนิพพานได้ไหม ถ้าจิตไม่โง่เกินไป มันก็ต้องวางอารมณ์ทุกข์-สุข ได้บ้าง แม้ชั่วขณะก็ยังดี ถ้ามันดื้อ ก็ให้ถามมันบ่อย ๆ รุกถามถึงความตายอยู่อย่างนั้น จิตมันก็จะหายดื้อไปเอง ห่วงตัวเอง ห่วงอารมณ์จิตของตัวเองให้มาก ๆ เรื่องของคนอื่นไม่ต้องห่วง”

หลวงพ่อฤๅษีท่านเมตตามาสอนต่อ (เพราะบุคคลท่านนี้เคยเป็นลูกท่านมาหลายชาติ) ว่า
ก) “กรรมฐานแก้บ้าไงล่ะลูก จำได้ไหม ที่พระท่านมาสอนในเวลานี้ พ่อเคยสอนเอ็งเอาไว้แล้ว ทำไมไม่นำเอาออกมาใช้ (ก็รับว่าลืมซะสนิท)
ข) “ลืม ไม่ได้นะลูก การปฏิบัติกรรมฐานจักต้องครบวงจร มิฉะนั้นมรรคผลเกิดได้ยาก ถ้าทำเหยาะ ๆ แหยะ ๆ ไม่ต่อหน้าต่อหลัง ก็มีหวังบรรลุได้ยาก อย่าลืมแต่ละคนสะสมกิเลสมานาน ทำเป็นเล่น ๆ ไม่เอาจริงเอาจัง มีหวังถูกกิเลสกินทะลุทุกราย อย่าอวดเก่งเบ่งว่าบารมีสูงจัด ลงคิดว่าตัวเองดีก็มีหวังเสร็จทุกราย หมั่นมองหาความเลวของจิตให้พบ เศร้าหมองด้วยอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจ เศร้าหมองด้วยอารมณ์สุขหรือทุกข์ อดีตอนาคตไม่ต้องไปหา สำคัญแต่อารมณ์วันนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะจิตนี้ อย่าเข้าข้างกิเลสเหมาเอาว่า อารมณ์มันดีแล้ว คนเราถ้ายังไม่ถึงอรหันตผล คำว่าอารมณ์มันดีแล้วไม่มี หาความทรงตัวไม่ได้”
ค) “การ รู้อารมณ์ การละอารมณ์ จะต้องทำกันด้วยฉับพลันทันใด ใหม่ ๆ ก็แก้มันบ้าง ชนะมันบ้างเป็นธรรมดา แต่จำไว้ว่าอย่าท้อถอย แพ้มันได้ แต่ต้องแพ้มันไม่นาน เพราะถ้าเผลอให้มันเข้ามากินใจได้นานเท่าใด มันก็จะเกาะติดใจนานมากขึ้นเท่านั้น”
ง) “ในบุคคลที่คิดมาก การกำหนดรู้ลมเข้า-ออก ก็น้อย ปอดได้รับลมน้อย เป็นผลให้หัวใจอ่อน เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง จึงมึนงงศีรษะ เพลีย บางรายปวดศีรษะ ทำให้เครียด ก็มีสิทธิ์เป็นโรคประสาท ใจสั่น ความดันขึ้น นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง ผลที่สุดไม่เป็นบ้าก็เป็นลมตายอยู่ดี พยายามเอากรรมฐานหักล้างอารมณ์คิดเลวนี้เสีย กำหนดรู้ลมเข้า-ออก งัดเอากรรมฐานแก้บ้ามาใช้ให้มาก ๆ”
จ) “พกคาถาประจำจิตไว้ว่า กูจะไม่เผลอ กูจะไม่ประมาทต่อข้าศึก อันได้แก่กิเลสของจิต ของกูเอง คาถานี้ถ้าไม่ลืมพ่อรับรองว่า พวกเอ็งรบทีไรชนะทุกที”

หลวงพ่อมาสอนเรื่อง ให้สนใจสงครามในกายและจิตเรา ดีกว่าสงครามภายนอก
มีความสำคัญว่า “เรื่อง ชะตากรรมของโลก มันก็รบกันอยู่อย่างนี้ตลอดกาล สันติภาพของโลกมีที่ไหน สงครามมันมีอยู่คู่โลกตลอดเวลา เพราะความอยากเป็นใหญ่ อยากครองโลก ตัณหามันพร่องอยู่อย่างนั้น จะรบมาก รบน้อย มันก็ต้องรบกันอยู่เป็นประจำ มาดูสงครามในกายและจิตดีกว่า มันเป็นของจริง เพราะต้องรบกับความทุกข์อยู่ทุกวัน จะเรียกว่าทุกเวลาก็ได้ ถ้าหากยกจิตหนีไม่เป็น...พ่อพูดว่า หนีทุกข์นะ ไม่ใช่ต่อสู้ทุกข์...คนหนีทุกข์เป็น ต้องอาศัยพระธรรมเป็นเครื่องหนี หนีด้วยจิต ไม่ใช่หนีด้วยกาย เพราะกายจะหนีอย่างไรก็ไม่พ้น ทุกข์มันจรเข้ามาหากาย หรือกายมันจะเข้าไปหาทุกข์ทุกวัน-ทุกเวลา ถ้าจิตหนีไม่เป็นก็เกาะทุกข์ไปเรื่อย ๆ ...แค่ ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ ทุกข์ภายนอกมันจรเข้ามาหา เห็นโน่น-รู้นี่-จรเข้ามาทางประตูทั้ง ๖ (ทวารทั้ง ๖, อายตนะทั้ง ๖) กระทบเข้ามาเรื่อย ๆ เพราะเราเปิดประตูรับมันเข้ามา...

การ หนีทุกข์ หากเข้าใจใช้ประตูใจประตูเดียว จะปิดจะเปิดก็อยู่ที่เราฝึกมันได้แค่ไหน ถ้าใจมันวางเฉยเป็น ทุกข์นอกทุกข์ใน ก็ทำอะไรเราไม่ได้ สงครามอย่างนี้สิที่เราควรจะสนใจให้มาก ๆ รบอย่างนี้สิพ้นทุกข์ได้ ชนะแล้วพวกแพ้ตามไม่ทัน เพราะเราไปพระนิพพานได้ ความทุกข์ก็ตามเราไปไม่ได้ (เพราะเราไม่มีกายไม่มีขันธ์แล้ว)

จำไว้สงครามภายนอก ถ้าหากจำเป็นต้องทำ ก็จงตั้งจิตทำเพื่อชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ เท่านั้น เราจะไม่มีความโกรธแค้นอาฆาต-พยาบาท เป็นการส่วนตัว กายเราตั้งใจอุทิศให้พระพุทธเจ้า เราก็ต้องทำเพื่อท่าน จิตเราอุทิศให้พระธรรมคำสั่งสอนของท่าน ก็ต้องทำสงครามภายใน รบกับความทุกข์ให้เป็น”

หลวงพ่อมาสอน วิธีแก้ปากเสีย (วจีกรรม ๔)
โดย ให้หลักไว้ดังนี้ โรคปากเสีย คือ โรคชอบต่อกรรม เมื่อถูกกระทบทางทวารทั้ง ๖ (ประตูทั้ง ๖, อายตนะ ๖) เพราะอุเบกขาหรือวางเฉยไม่เป็น เบรกจึงแตกอยู่เป็นปกติ มีผลทำให้กรรมบถ ๑๐ หมวดวาจา ๔ ไม่เต็มสักที
ก) พยายามคิดเสียก่อนจึงค่อยพูด
ข) หรือพยายามคิดอยู่ตลอดเวลาที่ฟังคนอื่นเขาพูด
ค) พยายามดึงจิต อย่าให้ไหวไปตามคำพูดของผู้อื่น (โดยฟังอย่างเดียว ห้ามปรุงแต่ธรรมนั้น ๆ)
ง) พยายามฟังแล้วกรองเอาสาระจากคำพูดนั้น ๆ ของเขาว่ามีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ (ด้วยปัญญา)
จ) เวลาคนอื่นเขาพูด จะยาวหรือสั้น ปล่อยให้เขาพูดให้จบก่อน เราใช้ความคิดฟังไปแล้ว จะรู้ว่า คำพูดนั้น ๆ มีสาระหรือไม่มีสาระ ควรพูดหรือไม่ควรพูดต่อ หรือควรวาง ควรตัด ก็รู้ได้ด้วยความคิด ไม่ใช่ประโยคไหนมากระทบหูแล้ว กูอยากจะพูดก็ว่าไปเรื่อย ๆ โดยไร้ความคิดพิจารณา
ฉ) หากทำตาม ๕ ข้อแรกแล้ว คิดอยากจะพูดบ้างก็ให้พิจารณาว่า พูดแล้วเป็นคุณหรือเป็นโทษ, มีสาระหรือไม่มีสาระ, ยิ่งเป็นสาระธรรมในพระพุทธศาสนายิ่งสำคัญ จะต้องมั่นใจเสียก่อนว่าเป็นความจริง ไม่ผิดศีล-ไม่ผิดพระวินัย –ไม่ผิดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ผิดก็พูดได้ สรุปว่าต้องนิสสัมมะ กรณัง เสยโย หรือใคร่ครวญด้วยปัญญาเสียก่อนจึงค่อยพูด เพราะแม้จะเป็นความจริง แต่พูดแล้วคนฟังไม่เชื่อ-ไม่ศรัทธา ก็ไร้ประโยชน์ที่จะพูด

หลวงพ่อมาสอนลูกสาวของท่าน เรื่อง การเดิน นั่ง นอน ยืน อย่างไรในพระพุทธศาสนา จึงจะมีผลดี
ในการปฏิบัติพระกรรมฐาน ขอสรุปย่อ ๆ ว่า
ก) การเดิน ให้ทอดสายตาไปข้างหน้าหนึ่งแอก หรือประมาณ ๓ เมตร, กำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออก (อานาปา) พร้อมภาวนาไปด้วย (พุธ-โธ นิพพาน ตามที่ใจตนเองต้องการหรือเคยชิน) หากใจจับภาพพระไปได้ด้วยก็ยิ่งดี
ข) การนั่ง ในพระพุทธศาสนา คือ นั่งพับเพียบ หรือขัดสมาธิ (จิตก็จับอานาปาและภาวนาและภาพพระ หรือจะพิจารณาก็สุดแต่ใจต้องการในขณะนั้น)
ค) นอน ให้นอนตะแคงขวา (สีหไสยาสน์) จิตก็ทำงานแบบข้อ ก และ ข
ง) ยืน ยืนสำรวมมือทั้งสองไขว้อยู่ข้างหน้าอย่างสุภาพ จิตก็ทำงานข้อ ก และ ข
ท่านให้หมั่นศึกษา-ทำความเข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอน แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดมรรค-ผล จึงจะได้ดี
สรุปว่า หลวงพ่อท่านสอนอิริยาบถบรรพ ว่าล้วนเป็นทุกข์เป็นตัวอริยสัจอย่างแท้จริง หากผู้ใดเข้าใจแล้ว การยืน-เดิน-นั่ง-นอน ล้วนเป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น เอาทุกอย่างที่เข้ามากระทบทางทวารทั้ง ๖ (อายตนะ ๖) มาพิจารณาด้วยปัญญาให้เป็นกรรมฐานได้ทุกขณะจิต เช่น การมีขันธ์ ๕ หรือร่างกายเป็นภาระที่หนักยิ่ง, ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์, เป็นโทษ , เป็นภัยใหญ่ในโลก, โลกไม่เที่ยง, โลกเป็นทุกข์ และที่สุดแห่งโลกล้วนเป็นอนัตตาทั้งสิ้น คือไม่มีอะไรเหลือ เป็นต้น ไม่ปล่อยให้จิตว่างจากกรรมฐานเป็นอันขาด

หลวงพ่อมาเน้นเรื่องการปฏิบัติ มีความสำคัญโดยย่อว่า
ก) “พยายาม ให้จิตอยู่กับพระกรรมฐานให้มากที่สุด จะภาวนาหรือวิปัสสนาก็ได้ อย่าฝืนความต้องการของจิต ต้องรู้ว่ามันจะพัก (สมถะ) หรือ เพียร (วิปัสสนา) แต่ให้ระวังอันหนึ่งคือจิตเฉย ขณะนั้นจิตจะไม่จับอะไรเลย ต้องรู้ว่าจิตต้องการสงบลูกเดียว อาการนี้จะอยู่ได้ไม่นาน มันหยุดเครื่อง ประเดี๋ยวมันก็วิ่งใหม่ตามปกติจิตของมัน”
ข) “จำไว้อย่าทำ (ปฏิบัติ) แบบเครียด ๆ ผลได้จะน้อย ผลเสียจะมาก ให้ทำแบบสบาย ๆ กำหนดจิตรู้ตลอดเวลาว่า อยู่ในกรรมฐานบทไหน อยู่ในอารมณ์ใด”
ค) “จำไว้พระกรรมฐาน อย่าให้หลุดออกไปจากจิต ตั้งใจไว้ว่า ตายเป็นตาย ขอทำพระกรรมฐานให้เกิดผลให้ได้ ละความตั้งใจเมื่อไหร่ ถือว่าเสียสัจจะที่ให้ไว้กับพระพุทธองค์ (อิมาหัง ภควา ฯ)”
ง) “การนอนหลับมาก ก็เท่ากับว่าประมาทมาก ปฏิบัติธรรมได้น้อย อย่าติดนอน อย่าติดกิน (รสอาหาร) อย่าติดการท่องเที่ยว สรุปว่าอย่าติดในกามคุณ ๕ นั่นเอง”
จ) “ขอให้ปฏิบัติกันจริง ๆ อย่ากลัวตายในขณะปฏิบัติธรรมนั้น ๆ และจงอย่าสงสัยในธรรมทั้งปวง ให้ใช้ความเพียรในการปฏิบัติ เพื่อพิสูจน์ธรรมนั้น ๆ อย่าทิ้งอิทธิบาท ๔ ก็แล้วกัน



ขอขอบพระคุณ
แหล่งที่มา : Frameset-1

บันทึกการเข้า
mr.ton003
Full Member
member
**

คะแนน28
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 220


ทำสิ่งใดอย่างหวังผลตอบแทน


อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 07:17:40 am »

ขอกราบอนุโมทนาสาธุ ครับ ...
ขอขอบคุณท่านที่ได้นำบทความนี้มาลง เพื่อเผยแพร่ในธรรมะทานนี้
มนุษยชาติเป็นจุดศูนย์กลางแห่งการปฏิบัติกรรม จักไปสายไหนใน ๓ ทางที่กฎแห่งกรรมนั้นได้วางเอาไว้ ”
สายที่ ๑ ไปพรหมโลก-เทวโลก-มนุษย์โลก เป็นสายแห่งการทำจิตให้เป็นกุศล
สายที่ ๒ ไปอบายภูมิ ๔ มีสัตว์นรก-เปรต-อสุรกาย-สัตว์เดียรัจฉาน เป็นสายแห่งการทำจิตให้เป็นอกุศล
สายที่ ๓ อีกสายหนึ่งมุ่งไปพระนิพพานจุดเดียว เป็นสายแห่งการทำจิต ให้เป็นอัพยา
กฤต คือปฏิบัติธรรมจนจิตละจากความชั่ว-ดี ได้แล้ว มีอารมณ์เป็นอุเบกขารมณ์ หรือ
อุเบขาญาณ หรือ สังขารุเบกขาญาณ

  
บันทึกการเข้า

ning002
member
*

คะแนน4
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 32


« ตอบ #6 เมื่อ: พฤศจิกายน 20, 2010, 07:21:24 am »

อนุโมทนาสาธุค่ะขอบคุณสําหรับธรรมทาน ค่ะ



  
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: