สมเด็จองค์ปฐม
จากหนังสือธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑
เรียบเรียงโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
“พระธรรมย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ตถาคต ผู้เป็นต้นตำรับก็ยังเคารพสักการะในพระธรรม พระธรรมแม้จักตกอยู่ในมือคนชั่ว ก็ยังเป็นพระธรรม ธรรมที่เที่ยงแท้ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ใครผู้ใดเล่าที่ยังบังอาจบิดเบือนพระธรรมนี้ได้นั้นไม่มี ขอพวกเจ้าจงเป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมเถิด”
สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่องพรหมวิหาร ทรงตรัสว่า
ก) “ใครจักกรุณาไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ตัวของเจ้าเองต้อง หมั่นกรุณาตัวของเจ้าเอง จงรู้เอาไว้เถิดว่า คราวใดที่เจ้ายังอารมณ์จิตให้เร่าร้อนไปด้วย ไฟโมหะ โทสะ ราคะนั้น เจ้าได้สิ้นความกรุณาแก่ตัวเจ้าเอง”
ข) “พรหมวิหาร ๔ จักต้องเมตตาตัวเองเป็นบาทต้น ธรรมปฏิบัติทุกประการ จักต้องทำให้เกิดกับตนเองก่อน พระธรรม คือ อริยทรัพย์อันล้ำค่า จักต้องปฏิบัติให้เกิดผลกับตนเองก่อน จึงจักเป็นของแท้ ตราบเมื่อมีอริยทรัพย์เกิดขึ้นในตน ในจิตของตนแล้วย่อมได้ชื่อว่าเป็นพระอริยเจ้าอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อต่อ ๆ ไปจักนำธรรมที่ปฏิบัติได้แล้วไปแจกจ่ายกับใครตามที่ตนเองปฏิบัติได้มา จึงจักเป็นของจริง อย่าลืมนะ พวกเจ้าต้องหมั่นสร้างพรหมวิหาร ๔ ให้เต็มที่จิต ที่ตัวของพวกเจ้าเองก่อน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงจึงจักเป็นของแท้
ค) “เมื่อเมตตา กรุณา ตนเองแล้ว ทำให้ได้ตามประการนี้ จิตก็จักเป็นสุข สร้างมุทิตา อุเบกขาให้เกิดแก่จิต-แก่ตนเอง เมื่อเกิดแล้วก็จักวางทุกข์-วางสุขที่เกิดขึ้นมากระทบจิตได้อย่างสมบูรณ์ ธรรมอัพยากฤตเกิดขึ้นได้ก็ที่ตรงนี้”
ง) “ละคร นี้ถ้าปิดได้โรงเดียวที่จิตของเรา ละครโรงอื่นที่จักแสดงอยู่ดาษดื่นทั่วโลกไตรภพจบจักรวาลก็ไม่มีความหมาย จงหมั่นตั้งใจรูดม่านปิดให้ดี ๆ อย่าให้อารมณ์ปรุงแต่งมาสอดแทรก เข้ามาแสดงบทบาทแห่งละครโรงนี้ได้ หมั่นนำคำสอนไปปฏิบัติกันนะ”
สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง การยืน เดิน นั่ง นอน คือ ตัวธรรมล้วน ๆ
(ต้นเหตุเพราะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งมาก่อกวน ไม่ให้พวกเราตั้งวงสนทนาธรรมกันได้ตามปกติ) ทรงตรัสว่า
ก) “พวกเจ้าหมั่นเจริญสมถะธรรมเถิด ไม่ตั้งวงสนทนาธรรมก็มิใช่ว่าจักปฏิบัติธรรมมิได้ การยืน เดิน นั่ง นอน นั่นแหละคือตัวธรรมล้วน ๆ เห็นทุกข์เห็นโทษของการเกิดมาเป็นคน สงบก็ยุ่ง ไม่สงบก็ยุ่ง ตามปกติวิสัยของคน พวกเจ้ามุ่งหวังมรรคผลนิพพาน พึงมองสิ่งที่เกิดขึ้นอันสัมผัสได้ด้วยจิตว่า อายตนะภายนอกจักสงบหรือไม่สงบก็เป็นปกติ ขึ้นชื่อว่าโลกมันก็เกิดดับอยู่เป็นนิจสิน ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่ผิดปกติ แม้การเกิดดับภายในก็พึงจักรู้ ศึกษาได้ว่าเป็นสิ่งปกติเช่นกัน พึ่งหมั่นรู้จักความสงบหรือไม่สงบอันเป็นปกตินั้น”
ข) “ถ้าหากไม่รู้จักความสงบหรือไม่สงบแห่งอายตนะภายในแล้วไซร้ ตัวธรรมล้วน ๆ ก็เกิดขึ้นได้ยากในจิตแห่งพวกเจ้านี้ แต่ถ้าหากรู้จักความสงบและไม่สงบแห่งอายตนะภายในแล้ว เท่ากับรู้เกิด-รู้ดับแห่งกิเลส-ตันหาอย่างแท้จริง พระธรรมอันเป็นตัวแก้แห่งกิเลส-ตัณหานั้น ก็จักสามารถล้างอุปาทาน อันยึดมั่นถือมั่นในสุขในทุกข์อย่างได้แท้จริง”
ค) “จง หมั่นหาตัวธรรมล้วน ๆ ที่เกิดขึ้นมากระทบอายตนะภายใน รู้เกิด-รู้ดับ สงบรู้-ไม่สงบรู้ แต่ไม่ปรุงแต่งทุกข์-สุขให้เกิดขึ้นตามอุปาทาน ในที่สุดจิตก็จัก เตสังวู ปะ สะโม สุขโข”
ง) “ขอพวกเจ้า จงหมั่นเป็นผู้มีสติเถิด ในอิริยาบถ ๔ ยืน-เดิน-นั่ง-นอน อะไรเกิด อะไรดับ สงบหรือไม่สงบ ก็รู้ในระหว่างอิริยาบถนั้น ๆ”
จ) “นิพพะ แปลว่า ดับ ดับจากอารมณ์ทุกข์-สุขทั้งมวล พยายามเข้านะเจ้า ยังจิตให้เหลืออยู่ในอารมณ์เดียว คือ ไม่สุข-ไม่ทุกข์ เอโกธัมโมอยู่ตรงนี้ จัก ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เอโกธัมโม ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่เกิด-ไม่ดับ นี่แหละตัวธรรมล้วน ๆ ธรรมอมตะที่ไม่เกิดไม่ตาย”
ฉ) “อย่าไปพะวงกับอาการทุกข์ของธาตุ ๔ หรืออาการ ๓๒ ให้มากนัก แต่จิตของนักปฏิบัติธรรมจักไม่เกาะทุกข์-เกาะ สุข อันเกิดจากธาตุขันธ์นั้น เห็นทุกสิ่งเป็นธรรมดาของธาตุขันธ์ ซึ่งมีแต่เกิดดับอยู่ทุกวินาที จิตคนเรามักจักไม่ยอมรับกฎธรรมดานี้ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นทุกข์) จิตดิ้นรนไม่รู้จักปลดจักวาง ยึดธาตุขันธ์ว่าเป็นเรา แล้วฝืนกฎไตรลักษณญาณ ฝืนความเป็นจริง จนกระทั่งธาตุขันธ์แตกดับไปแล้ว จิตก็ยังไม่วายมีอุปาทานเกาะติดธาตุขันธ์นั้นต่อ ๆ ไป จนตายแล้วก็ไม่วายที่จักทุกข์ จิตแสวงหาความเกิดดับอยู่ ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ไม่เห็นสันตติ แต่ตกอยู่ภายใต้สันตติ เกิด-ดับ ต่อเนื่องกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
ช) “มาเถิดเจ้า มาศึกษาให้หมั่นรู้เกิด-ดับแห่งอายตนะภายใน สงบหรือไม่สงบรู้ ทุกข์สุขรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่พ้น รู้แล้วให้วางให้ละ ละด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญา อันเป็นอาวุธที่จักฟาดฟัน กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน อกุศลธรรมได้ แห่งพระพุทธศาสนาของตถาคตนี้ ศีลสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ ปัญญาสมบูรณ์ได้ก็ที่จิตดวงเดียว รู้ที่กายคนเดียวนี้ รู้เองที่จิตที่กาย สงบได้ที่จิตที่กายของตนเอง สติ-สัมปชัญญะต่อเนื่องกัน รู้ด้วยความตั้งใจ บารมี ๑๐ ก็จักสมบูรณ์ รู้จิต-รู้กาย เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ก็เท่ากับรู้หมดทุกอย่าง เอโกธัมโม ชนะที่ (จิต) ตนเอง ก็ชนะหมดทุกอย่าง ธาตุ-ขันธ์หาสาระไม่ได้ มันเป็นสมบัติของโลก ก็คงอยู่คู่กับโลก”
ฌ) “พวกเจ้าต้องการละโลก ก็จงอย่ายึดธาตุขันธ์นี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา เหตุทุกข์-สุขที่มากระทบเราได้ ก็กระทบด้วยธาตุขันธ์นี้ พวกเจ้าผู้มุ่งหวัง อริยมรรค อริยผล สมควรหรือที่จะยึดมั่นทุกข์-สุขนั้นว่าเป็นเรา เป็นของเรา สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับธาตุขันธ์ ก่อทุกข์-ก่อสุข จงรับรู้เถิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นปกติวิสัยของโลกียชน เมื่อพวกเจ้ามุ่งหวังจักเป็นโลกุตรชน ก็จงวางทุกข์ สุขอันเกิดแก่ธาตุขันธ์นี้เสียให้ได้ ขอพวกเจ้าจงอยู่แต่ในธรรมปัจจุบันเถิด ตัวธรรมล้วน ๆ ไม่มีปรุงแต่ง โลกุตรธรรมขั้นสูงไม่มีปรุงแต่ง หรือจิตปรุงแต่งจักเข้าถึงได้ หมั่นสอบจิตกันเอาไว้ให้ดี ๆ”
สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง ปกตินั้นเป็นไฉน ทรงตรัสว่า
ก) “คืน นี้ก็ปกติ พวกเจ้าจงรู้ว่าปกตินั้นเป็นไฉน ความวุ่นวายยังมีอยู่ในโลกียชน ก็จัดว่าเป็นปกติของโลกียชน ความสงบยังคงมีอยู่เป็นปกติในโลกุตรชน ตามขั้นตอนลำดับของบารมีธรรมที่ต่างพากันสั่งสมกันมา กรรมเป็นปัจจัตตังไม่ว่าในหมู่โลกียะ หรือในหมู่โลกุตระ ต่างฝ่ายต่างทำกันมาเองทั้งสิ้น เหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิด ล้วนเป็นปกติของกรรม อย่าเพิ่งไปโทษใคร กรรมเที่ยงเสมอ ไม่ว่าโลกียะ หรือโลกุตระ มันเป็นปกติอยู่อย่างไร จิตของพวกเจ้า ถ้าไม่ไหวเสียอย่างเดียว ก็จักเป็นธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุอย่างชัดเจน”
ข) “วางใจเถิด ทำจิตให้สบาย มองเห็นทุกข์ เห็นโทษ มองเห็นวาระกฎของกรรมให้แจ่มแจ้ง จักไม่เก็บทุกข์ เก็บสุขของใคร นำเอามาไว้ในจิตอีก โลกนี้ทั้งโลกล้วนตกอยู่ภายใต้กฎของกรรมทั้งสิ้น โลกุตรชนก็ไม่เว้น ถ้าหากยังมีขันธ์ ๕ ให้มันเล่นงานได้ ยกเว้นตัดขันธ์ ๕ ทิ้งขันธ์ ๕ ยังดวงจิตให้อยู่ยังดินแดนอมตะนิพพานอย่างแท้จริงแล้วนั้นแหละ จึงจักหลบเลี่ยงหนีพ้นกฎของกรรมที่มันตามทวง”
สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง อย่าละความเพียร ทรงตรัสว่า
ก) “พวกเจ้าอย่าละความเพียร จักกอปรกรรมดีหรือชั่ว ความเพียรเป็นใหญ่ พวกเจ้าเคยทำกันมาแล้วนับกัปป์ไม่ถ้วน แต่เพลานี้จักกอปรกรรมไม่ดี-ไม่ชั่ว ก็จงหมั่นใช้ความเพียรเป็นใหญ่เถิด”
ข) “พวกเจ้าใช้ความเพียรในการเกิดมาแล้ว นับกัปป์ไม่ถ้วน เพลานี้ในชาติเดียว เวลาอันเหลืออยู่น้อยนิด จงหมั่นใช้ความเพียรในการดับเถิด นิพพานัง ปรมัง สุขัง รอพวกเจ้าอยู่ในความเพียรนั้นแล้ว”
สมเด็จองค์ปฐม เมตตาสอนเรื่อง อย่าพกเอากิเลสขึ้นมาบนนิพพาน ทรงตรัสว่า
“ก่อน ขึ้นมา ถ้าหากมีเรื่องราวใด ๆ มากระทบจิต ก็ให้กำหนดจิตวางเรื่องราวทั้งหลายเหล่านั้นลงก่อน แล้วกำหนดจิตจับอานาปาแล้วกำหนดจิตจับภาพพระ จักเป็นพระองค์ไหนก็ได้ จักเป็นตถาคตหรือสมเด็จองค์ปัจจุบันองค์หนึ่งองค์ใดก็ได้ เมื่อเห็นภาพและกราบแล้ว จักต้องการพบท่านผู้ใด อันเป็นเหตุที่จักต้องสนทนาปัญหาให้คลี่คลาย ก็ทำได้โดยฉับพลัน ขออย่างเดียวอย่าพกเอาอารมณ์ของกิเลสขึ้นมาบนพระนิพพาน”
สมเด็จองค์ปฐม เมตตาสอนเรื่องการตัดอารมณ์ฟุ้งด้วยปัญญา ทรงตรัสว่า
ก) “ฟุ้งซ่านนักก็ให้นึกถึงมรณานุสติว่า เรา กำลังจักตายอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว หากปล่อยจิตให้เศร้าหมอง ว่างจากความดีแล้วไซร้ มรรคผลนิพพานจักไม่ได้อะไรเลย ตกตายตอนนี้มีแต่จักตกเป็นเหยื่อของอบายภูมิ”
ข) “อัตนา โจทยัต ตานัง ตถาคตหรือท่านผู้อื่นตักเตือนสักพันครั้ง ก็ไม่เหมือนตัวเจ้าจักกำหนดจิตตักเตือนตนเองด้วยความตั้งใจหนึ่งครั้ง อย่ากระทำจิตให้ว่างจากความดี ขอให้ตั้งใจตักเตือนตนเองไว้เสมอ ๆ อย่าให้อารมณ์ความเลวมันสิงจิต มรรคผลนิพพานมิใช่ได้อยู่บนความเศร้าหมองของจิต ความผ่องใสปราศจากกิเลสครอบงำจิตใจเท่านั้น ที่เป็นมรรคผลนิพพาน”
ค) “อย่าลืมเตือนใจไว้เสมอ ๆ ว่า คิดอย่างนี้เป็นความชั่วอีกแล้ว เจ้าคิดอย่างนี้ จะไปนิพพานได้หรือ หมั่นถามจิตตนเองให้บ่อยๆ ว่า เวลานี้กำลังเดินอารมณ์จิตผิดหรือไม่ พยายามใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ เมื่อรู้ผิดก็กำหนดจิตตั้งต้นอารมณ์เสียใหม่ อย่าท้อถอยหมดกำลังใจ จะทำให้พ่ายแพ้แก่กิเลสได้โดยง่าย พิจารณาตามนี้ให้มาก ๆ โจทย์จิตของเจ้าเอาไว้ให้ดี ๆ”
สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่องเข็ดทุกข์หรือยัง ทรงตรัสว่า
ก) “ขอให้เข็ดจริง ๆ นะ ทุกข์มันมีอีกมากมายที่พวกเจ้าจักต้องได้พบประสบกับมัน เวลานี้จงกำหนดจิตตัวรู้ ให้รับทุกข์ สัมผัสทุกข์ที่เกิดกับจิตและขันธ์ ๕ โดยตลอดเถิด ทนได้บ้าง ทนไม่ได้บ้างก็ต้องรับทุกข์นั้น ๆ และตั้งจิตกำหนดรู้ทุกข์นั้น ๆ อย่างมีสติ หนักบ้างเบาบ้างตามแต่วาระของกฎแห่งกรรม เมื่อรับการกระทบแล้ว จงพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้น ให้เห็นว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุและผลประการใด จิตเมื่อรับทุกข์ รู้ทุกข์แล้ว จงพิจารณาให้ลงกฎธรรมดาแห่งสัจธรรม ๕ ประการ ชาติปิทุกขา ชราปิทุกขา มรณัมปิทุกขัง โสกะปริเทวะ โทมนัส สุปายาสาปิทุกขา เป็นต้น”
ข) “จง ตระหนักไว้อยู่ตลอดเวลาว่า การทรงขันธ์ ๕ อยู่ไม่มีทางหนีพ้นทุกข์เหล่านี้ไปได้ การไปเสียจากขันธ์ ๕ มีสถานที่เดียว คือพระนิพพาน มองทุกข์ให้เห็น รู้ทุกข์ว่ามีอยู่ทุก ๆ ขณะจิตที่ทรงขันธ์ ๕ อยู่ เกิด-ดับของลมหายใจก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะกายแสวงหาอาหารเกิดดับเป็นปกติ เมื่อเห็นทุกข์เป็นปกติของขันธ์ ๕ จิตมันจักรับรู้ไว้ว่า ทุกข์นี้เป็นของหนัก เมื่อเห็นสภาวะหนักของทุกข์ ต่อไปตัวธรรมดาก็จักเกิดขึ้นได้ด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา จิตจักสำรอกทุกข์ทิ้งไปในที่สุด ด้วยจิตที่มีสติ-สัมปชัญญะสมบูรณ์ได้ในที่สุด”
ค) “เมื่อเห็นทุกข์อันมีอยู่เป็นปกติของขันธ์ ๕ ต่อ ๆ ไปจิตก็จักกำหนดรู้อยู่แต่ว่าทุกข์ แต่จิตมันจักไม่ยอมรับทุกข์นั้นมาแบกให้หนักอีก สภาวะจิตนั้นมีความดิ้นรนเป็นธรรมดา เมื่อรู้แล้วว่าทุกข์หนัก ก็จักดิ้นรนหาทางออกแห่งทุกข์นั้น ๆ”
สมเด็จองค์ปฐมทรงเมตตาสอนเรื่อง วิตกจริต ทรงตรัสว่า
ก) “จักเป็นไปได้หรือไม่ อย่าเพิ่งคำนึงถึง เพราะนั่นคืออนาคตธรรมที่ยังมาไม่ถึง ธรรมปัจจุบันสำคัญกว่า จงหมั่นตรวจดูอารมณ์ของตน ในทุก ๆ ขณะจิตว่า เพลานี้เป็นไฉน สุขหรือทุกข์ หรือเฉย ๆ เป็นปกติธรรมดา”(ทรงโปรดบุคคลท่านหนึ่งซึ่งวิตกถึงเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึง จะพยายามแก้เท่าใดก็ไม่ยอมหาย) ทรงตรัสว่า
ข) “ตาย ตอนนี้ก็ลงนรกอีกนั่นแหละ เพราะสงสัยในธรรมแล้วการทำจิตอย่างนี้ เจ้าก็รู้ว่าไม่ดี เป็นความเศร้าหมองของจิต แล้วยังจักยึดเกาะอารมณ์วิตกจริตนี้ไว้กับจิต เพื่อประโยชน์อันใด”
ค) “การ ตัดอารมณ์นี้ให้เด็ดขาดย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเจ้าไม่ใช่พระอรหันต์ เอาเป็นเพียงแต่ว่า ระงับชั่วคราว ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าการยึดเกาะอารมณ์วิตกจริตในจิตนั้นหาประโยชน์อันใดมิ ได้ ก็จงหมั่นโจทย์จิตถามตนเองว่า สิ่งที่ยึดเกาะอยู่นี้เป็นความสุขหรือความทุกข์ เป็นคุณหรือเป็นโทษ ถ้าจิตไม่โง่จนเกินไป มันก็ต้องยอมรับว่าเป็นโทษเป็นทุกข์ จิตมันมีนิสัยเคยชินกับกิเลสแห่งอารมณ์วิตกจริตมานาน แม้รู้ว่าทุกข์ว่าโทษก็ยังไม่คลายจิต สำรอกอารมณ์ทุกข์นั้นออกมา จิตมันติดเกาะทุกข์ราวกับพอใจในความทุกข์ที่เศร้าหมองนั้นอย่างเหลือประมาณ เราจะต้องเข้มแข็งอดทนต่อสู้กับอารมณ์นั้น ๆ ประการแรกต้องจับอานาปานุสติให้ตั้งมั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อย่าทิ้ง จักหลับ จักตื่น ให้รู้ลมควบคำภาวนาเข้าไว้ จักต้องทำให้ได้ด้วย มิฉะนั้นจักระงับอารมณ์เหล่านี้ไม่ได้ ต้องใช้ความเพียรเป็นใหญ่”
ง) “เพราะ ฉะนั้น เมื่อจิตซ่านตกไปในอารมณ์วิตกจริต สงสัยอยู่ร่ำไปเมื่อใดนั้น ต้องหมั่นกำหนดจิตรู้ว่า จิตเลวแล้ว ชั่วแล้ว อย่าปล่อยไว้ให้นาน ต้องหมั่นชำระล้างจิตโดยไวเมื่อนั้น โดยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกสักสิบคู่ วาระแรก ๆ มันไม่ยอมรับรู้ลมหายใจ ก็ให้ระบายลมหายใจแรง ๆ เหมือนคนถอนลมหายใจแรง ๆ ยาว ๆ สักสิบครั้ง หรือทุกครั้งที่จิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์วิตกจริตนี้ เป็นการระบายลมหยาบ เป็นการผ่อนคลายความเครียด อันเกิดจากความคิดอันหาที่สิ้นสุดไม่ได้
การ ระบายลมเป็นการตัดความคิดฟุ้งซ่านให้ชะงักงัน ขอพวกเจ้าจงลองทำดู ระหว่างนั้นเมื่อระบายเอาลมเข้าออกให้ยาว ๆ แรง ๆ สมองก็จักได้ปลอดโปร่งขึ้น สภาวะที่จิตหมกมุ่นอยู่ในความคิดเครียด ๆ ก็จักคลายตัว ขอให้หมั่นกระทำดูตามนี้ และคอยสังเกตผลของการกระทำอย่างนี้ดูด้วย”
สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง อุเบกขาอย่างมีสติและมีปัญญา ทรงตรัสว่า
ก) “หมั่นเรียนรู้ หมั่นแยกแยะทุกข์-สุขให้ออกจากจิต อย่าให้มีอารมณ์ ๒ ครอบครองจิตอยู่นานนัก จักไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง มองธรรมดาให้เห็น หาความปกติให้พบและอารมณ์อุเบกขาก็จักเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก พวกเจ้าต้องรู้จักอุเบกขาอย่างมีสติและมีปัญญานะ อุเบกขาอยู่ในความถูกต้อง และเหมาะสมแห่งพระธรรมคำสอนของตถาคต อันยึดมั่นอยู่ในหลักมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าหาทางสายกลางไม่พบ อุเบกขาที่เกิดก็จักไม่ใช่อุเบกขาที่แท้จริง จักเป็นอุเบกขาที่ไร้ปัญญา เพราะมุ่งไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเข้าโดยไร้สติพิจารณา”
ข) “ดังตัวอย่างพระอานนท์ ถามสมเด็จองค์ปัจจุบัน เห็นหญิงตกน้ำ ตัวท่านเองสามารถช่วยได้ แต่ถ้าใช้อุเบกขาโดยขาดปัญญากลัวอาบัติ ก็หลีกไปเสีย ไม่ช่วยหญิงนั้นขึ้นมา หญิงนั้นก็ตาย อุปมาอุปมัยให้เห็นว่า หากกระทำเช่นนั้นก็ขาดปัญญา คือ เบียดเบียนผู้อื่นให้ตกตาย และเมื่อคำนึงถึงการตายของหญิงที่ตกน้ำทีไร จิตของพระโสดาบันที่ยังตัดอารมณ์ ๒ ยังไม่ได้ ก็ต้องเศร้าหมองอยู่ดี กล่าวคือเป็นการเบียดเบียนตนเองด้วยอย่างแท้จริง” (การอาบัติจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่เจตนาของจิต การช่วยผู้อื่นแม้จะเป็นเพศตรงข้าม หากจิตไม่มีกำหนัดแล้ว ก็ไม่มีโทษอาบัติแต่อย่างใด)
สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนเรื่อง “ธรรมเป็นปัจจัตตัง” มีความสำคัญว่า
ก) “ขอ ให้สนใจในธรรมปฏิบัติให้มาก ๆ รู้อารมณ์จิตให้จงหนัก รู้ได้ละได้ที่ตนเอง อย่าไปเที่ยวละอารมณ์จิตของผู้อื่น ไม่มีประโยชน์ ให้ละอารมณ์จิตที่มีกิเลสของตน ๆ ให้ได้เสียก่อน ใช้พระกรรมฐานบังคับกาย-วาจา-ใจ ให้อยู่ในโอวาทธรรมให้ได้เสียก่อน อย่าเพิ่งไปสอนผู้อื่น สอนตัวเองเข้าไว้แล้วยังไม่รู้จักจำ จักเที่ยวไปสอนผู้อื่นให้รู้จักจำได้อย่างไร”
ข) “จงกำหนดจิตรู้ไว้ อารมณ์ของเราเองยังดีไม่พอ ยังคบกับความชั่วอันเป็นอกุศลไว้มากมาย จักแบ่งความดีไปให้คนอื่นได้อย่างไร แบ่งไปแบ่งมาไม่สักแต่จักแบ่งให้แต่ความดี พูดไปว่าไป เขามีอารมณ์ไม่พอใจรับ เราเองนั่นแหละจักเกิดอารมณ์แบ่งความเลวไปให้เขาด้วย อย่างนี้ไม่ดีแน่ ธรรมเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เห็นได้ด้วยตนเอง แต่ต้องให้รู้จริง เห็นจริง จึงจักแบ่งให้คนอื่นได้ แต่ต้องเลือกคนรับ เขารับไม่ได้ ภาชนะก้นรั่ว ใส่ให้อย่างไรก็รั่วไม่เป็นผล เสียของเสียเวลา เอาเวลานั้น ๆ มาเติมความดีแห่งอารมณ์พระกรรมฐานของตน ให้เต็มดีกว่า จิตจักได้มีความสุข ไม่ขัดเคืองใด ๆ กับผู้อื่น อย่าคิดว่าเรารู้จักต้องให้ผู้อื่นรู้เช่นเราทำนั้น ก็เท่ากับว่าพวกเจ้านั้นหลงตัวเอง”
ค) “อย่าลืม ตถาคตตรัส ผู้ใดเป็นบัณฑิต ผู้นั้นย่อมถ่อมตนว่าโง่เขลาอยู่เสมอ แต่ผู้ใดที่โง่เขลา ก็มักจักอวดอ้างตนเองเป็นบัณฑิตอยู่เสมอ บัณฑิตที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา ก็คือ พระที่เพียบพร้อมไปด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญา เต็มครบถ้วนบริบูรณ์นั่นคือพระอรหันต์ สาวกบุคคลผู้เต็มไปด้วยความดี ความถ่อมตน ไม่มีการอวดรู้ อวดฉลาด มีแต่ถ่อมตน ถนอมจิตตนอย่างผู้สิ้นความเร่าร้อนในกิเลสทั้งปวงนั่นเอง ขอให้พวกเจ้าจงจำเอาไว้และนำไปปฏิบัติให้ดี ๆ”
ง) “คอย ดู คอยแลแต่จิตของตนเอง อย่าไปคอยดูคอยแลจิตของคนอื่น กรรมเป็นปัจจัตตัง การก่อเหตุแห่งกรรมไม่เหมือนกัน ผลของกรรมจึงต่างกัน อย่าไปยุ่งกับกรรมของใคร ขอให้ทำหน้าที่ตามภาระที่รับมอบหมายกันไว้ให้ดี ๆ”
ขอขอบพระคุณ
แหล่งที่มา : Frameset-1