คอลัมน์ รายงานพิเศษผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินของกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ยังชะลอลงกว่าที่คาด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องเพิ่มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำที่ 0-0.25% ต่อไป
เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศยุโรป ที่ภาวะเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง เป็นหลายปัจจัยที่รวมกันฉุดรั้งค่าเงินเหรียญสหรัฐให้อ่อนค่าลง
จนเกิดปรากฏ การณ์กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลทะลักเข้ามาลงทุนในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย และไทย กดดันเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุบสถิติรายวัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 29.95-29.97 บาท/เหรียญสหรัฐ
เท้าความกลับไปสู่โจทย์ที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ตั้งคำถามเฟ้นหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ จนสุดท้าย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผ่านการคัดเลือก นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการ ธปท.ลำดับที่ 22
โจทย์ใหญ่ข้อที่ 1 นายประสารต้องจัดการกับเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในขณะนี้ โดยบททดสอบแรก หลังออกประกาศมาตรการผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติมก่อนหน้าเพียง 1 วัน เพื่อให้ภาคเอกชนมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศมากขึ้น นอกเหนือจากการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามมาตรการผ่อนคลาย 5 ข้อ เกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ คล้ายกับประเทศอื่นในภูมิภาค
แต่กลับถูกเย้ยด้วยค่าเงินบาทที่วิ่งสวนทางทันควันไปแตะที่ระดับ 29 บาท/ เหรียญสหรัฐ
แสดงว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด
โจทย์ข้อที่ 2 นายประสารต้องบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศไม่ให้เป็นดาบทิ่มแทงตัวเองให้บาดเจ็บแสนสาหัส เหมือนที่ นายโดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า กระแสการเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา อาจจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูง และยังอาจจะเป็นการจุดชนวนสงครามการเงินได้
รายงานข้อมูลของ ธปท.มียอดเงินทุนเคลื่อนย้ายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ชี้ชัดว่ามีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 2,972 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการไหลเข้าจากทุกภาค โดยเฉพาะธนาคารมีเงินไหลเข้าสุทธิ 149 ล้านเหรียญสหรัฐ และภาครัฐบาลเงินเข้าสุทธิ 892 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาคธนาคารเงินเข้าสุทธิ 1,676 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
ธปท.ในฐานะเป็นหน่วยงานอิสระกำกับนโยบายการเงิน มีหน้าที่บริหาร จัดการอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งใช้ความพยายามดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป โดยเข้าไปแทรก แซงด้วยวิธีปล่อยเงินบาทเข้าสู่ระบบ สร้างสภาพคล่องของเงินบาทในตลาดให้สูงขึ้น จนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแทรกแซงค่าเงินบาทชัดเจน
โดยรายงานฐานเงินและเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 1.63 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จาก 1.59 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า ในปีི สบน.มีแผนออกพันธบัตรรัฐบาล 4.5 แสนล้านบาท โดยไตรมาส 1/54 เตรียมออกพันธบัตรแล้ว 9 หมื่นล้านบาท เป็นการระดมทุนระยะยาว เพื่อดูดซับสภาพคล่องที่มีอยู่ในระดับสูง หลังจากทุกคนเห็นตรงกันว่าการลงทุนในไทยยังต่ำกว่าน้ำหนักลงทุนมาก เห็นได้จากสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติมีเพียง 1-3% เท่านั้น ทั้งที่สามารถลงทุนได้สูงสุดถึง 10% ของมูลค่าพอร์ตลงทุน
สัญญาณเงินลงทุนต่างชาติจะแห่เข้ามาลงทุนในไทยจึงไม่ผิดความคาดหมาย เห็นได้จากสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 3.7% เป็น 10% ในปัจจุบัน ทำให้ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ก.ค.-ก.ย.) มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทย 1.27 แสนล้านบาท โดย 75% เป็นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะในพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตร ธปท.เป็นหลัก ส่วนอีก 25% ลงทุนในตลาดหุ้น
"การไหลเข้ามาของเงินทุนต่างชาติในช่วง 3 เดือนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของบทบาทนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยที่มีผลตอบแทนจูงใจ และมองว่าเงินทุนไหลเข้าจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ แต่จากนี้ไปเงินจะเข้ามาหาผลตอบแทนที่ดึงดูดนักลงทุนอย่างรุนแรงทวีคูณ เป็นแรงกดดันต่อเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นอีก" นายจักรกฤศฎิ์กล่าว
ขณะที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า การแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นการเพิ่มภาระให้กับธปท. ในการดูดซับสภาพคล่องกลับมาในรูปสกุลเงินเหรียญสหรัฐ เป็นต้นทุนที่อาจทำให้ผลประกอบการปีนี้ของ ธปท.ประสบภาวะขาดทุนที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ก็ว่าได้
โจทย์ข้อที่ 3 นายประสารในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องร่วมกันตัดสินใจว่า จะยืนกระต่ายขาเดียวขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่กำหนดไว้ 0.5-3% และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ จากข้อกังวลที่ ธปท.เกรงว่าเงินเฟ้อปีหน้าจะหลุดกรอบเป้าหมายไปอยู่ที่ 3.5%
ท่ามกลางเสียงวิงวอนจากหลายฝ่ายให้ กนง.ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ในการประชุม 2 ครั้งที่เหลือ คือ วันที่ 20 ต.ค. และวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เพื่อหยุดยั้งแรงดึงดูดเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรในผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกทางหนึ่ง จนส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออกลดลงตลอดในช่วงที่ผ่านมา
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้ส่งออกกำลังประสบปัญหาขาดทุน จากรายได้ส่งออกลดลงหลังเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จึงอยากให้ กนง. ชะลอการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไม่ผัน ผวนมากนัก
ส่วน โจทย์ข้อที่ 4 นายประสารที่มีหน้าที่กำกับสถาบันการเงิน ซึ่งเพิ่งรับไม้ต่อจาก นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. คือ การเร่งปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบให้มีความเป็นธรรม หลังจากถูกรุมสวดว่าเป็นเสือนอนกินมานาน
โดยก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์รายย่อยระหว่างธนาคารเหลือเพียงอัตราเดียวไม่เกิน 12 บาท สำหรับวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท/ต่อรายการ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.นี้ รวมถึงปรับค่าธรรมเนียมให้บริการเอทีเอ็มบางส่วนเป็นขั้นแรก ให้มีผลช่วงไตรมาส 1 และ 2/54
ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นๆ จะมีหรือไม่ในทิศทางใด คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายประสาร
นับว่าเป็นโจทย์หิน 4 ข้อใหญ่ ที่นายประสารต้องสะสางปัญหาให้สำเร็จลุล่วง