แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสติปัฏฐาน ๔
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสติปัฏฐาน ๔  (อ่าน 3487 ครั้ง)
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« เมื่อ: พฤษภาคม 27, 2007, 07:31:55 pm »

แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสติปัฏฐาน ๔

โดย
พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)

วัดอัมพวัน สิงห์บุรี

วิปัสสนากรรมฐาน
กล่าวโดยทั่วไป
        วิปัสสนาฯ เป็นเรื่องของการศึกษาชีวิตเพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการ ออกเสียจากชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงว่า ชีวิตมันคืออะไรกันแน่ ปกติเราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามความเคยชินของมัน ปีแล้วปีเล่า มันมีแต่ความมืดบอด

        วิปัสสนาฯ เป็นเรื่องของการตีปัญหาซับซ้อนของชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิตตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำมา

        วิปัสสนาฯ เป็นการเริ่มต้นในการปลดเปลื้องตัวเราให้พ้นจากความเป็นทางของความเคยชิน

        ในตัวเรานั้น เรามีของดีที่มีคุณค่าอยู่แล้ว คือ สติสัมปชัญญะ แต่เรานำออกมาใช้น้อยนัก ทั้งที่เป็นของมีคุณค่าแก่ชีวิตหาประมาณมิได้ วิปัสสนาฯ เป็นการระดมเอาสติทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเรา เอาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์

        วิปัสสนาฯ คือการอัญเชิญ สติ ที่ถูกทอดทิ้งขึ้นมานั่งบัลลังก์ของชีวิต เมื่อสติขึ้นมานั่งสู่บัลลังก์แล้ว จิตก็จะคลานเข้ามาหมอบถวายบังคมอยู่เบื้องหน้าสติ สติจะควบคุมจิตมิให้แส่ออกไปคบหาอารมณ์ต่าง ๆ ภายนอก ในที่สุดจิตก็จะค่อยคุ้นเคยกับการสงบอยู่กับอารมณ์เดียว เมื่อจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว การรู้ตามความจริงก็เป็นผลตามมา เมื่อนั้นแหละเราก็จะทราบได้ว่าความทุกข์มันมาจากไหน เราจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละผลงานของ สติ ละ

        ภายหลังจากได้ทุ่มเทสติสัมปชัญญะลงไปอย่างเต็มที่แล้ว จิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับสัจจะแห่งสภาวธรรมต่าง ๆ อันผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นอย่างซึ้งใจมาก่อน ผลงานอันมีค่าล้ำเลิศของสติสัมปชัญญะ จะทำให้เราเห็นอย่างแจ้งชัดว่า ความทุกข์ร้อนนานาประการนั้น มันไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเราทางช่องทวาร ๖ ช่องทวาร นั้นเป็นที่ต่อและบ่อเกิดสิ่งเหล่านี้คือ ขันธ์ ๕ จิต กิเลส

        ช่องทวาร ๖ นี้ ทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า อายตนะ อายตนะมีภายใน ๖ ภายนอก ๖ ดังนี้ อายตนะภายในมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (กายถูกต้องสัมผัส) ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดจากใจ) รวม ๑๒ อย่างนี้ มีหน้าที่ต่อกันแบบ คู่ คู่ คือ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับการสัมผัสถูกต้อง ใจคู่กับอารมณ์ที่เกิดจากใจ เมื่ออายตนะคู่ใดคู่หนึ่ง ต่อถึงกันเข้า จิตก็จะเกิดขึ้น ณ ที่นั้นเองและจะดับไป ณ ที่นั้นทันที จึงเห็นไดว่า จิตไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การที่เราเห็นว่าจิตเป็นตัวตนนั้น ก็เพราะว่าการเกิดดับของจิตรวดเร็วมาก การเกิดดับของจิต เป็นสันติคือ เกิดดับต่อเนื่องไม่ขาดสาย เราจึงไม่มีทางทราบได้ถึงความไม่มีตัวตนของจิต ต่อเมื่อเราทำการกำหนด รูป นาม เป็นอารมณ์ตามระบบวิปัสสนากรรมฐาน ทำการสำรวม สติสัมปชัญญะอย่างมั่นคง จนจิตตั้งมั่นดีแล้ว เราจึงจะรู้เห็นการเกิด ดับ ของจิต รวมทั้งสภาวธรรมต่าง ๆ ตามความเป็นจริง

        การที่จิตเกิดทางอายตนะต่าง ๆ นั้นมันเป็นการทำงานร่วมกันของขันธ์ ๕ เช่น ตากระทบรูป เจตสิกต่าง ๆ ก็เกิดตามมาพร้อมกันคือ เวทนา เสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ สัญญา จำได้ว่ารูปอะไร สังขาร ทำหน้าที่ปรุงแต่ง วิญญาณ รู้ว่ารูปนี้ ดี ไม่ดี หรือเฉย ๆ ขาดสติกำหนดเป็นโมหะ อันนี้เองจะบันดาลให้อกุศลกรรมต่าง ๆ เกิดติดตามมา อันความประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ ก็จะเกิด ณ ตรงนี้เอง

        การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเอาสติเข้าไปตั้งกำกับจิตตามช่องทวารทั้ง ๖ เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้ว ก็จะเข้าติดต่ออายตนะทั้ง ๖ คู่นั้นไม่ให้ติดต่อกันได้โดยจะเห็นตามความเป็นจริงว่า เมื่อตากระทบรูปก็จะเห็นว่า สักแต่ว่าเป็นแค่รูปไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน บุคคลเราเข้าไม่ทำให้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งให้เกิดความพอใจหรือไม่ พอใจเกิดขึ้น รูปก็จะดับลงอยู่ ณ ตรงนั้นเอง ไม่ให้ไหลเข้ามาสู่ภายในจิตใจได้ อกุศลกรรมทั้งหลายก็จะไม่ตามเข้ามา

        สติที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้นกิเลสไม่ให้เข้ามาทางอายตนะแล้วยังเพ่งเล็งอยู่ที่รูปกับนาม เมื่อเพ่งอยู่ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม นั้นจักนำไปสู่การเห็นพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตนของสังขารหรืออัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง

        การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น จะมีผลน้อยมากเพียงใด อยู่ที่หลักใหญ่ ๓ ประการ ๑. อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ๒. สติมา มีสติ ๓. สัมปชาโนมีสัมปชัญญะอยู่กับรูปนามตลอดเวลาเป็นหลักสำคัญ นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีศรัทธา ความเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้มีผลจริง ความมีศรัทธาความเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้มีผลจริง ความมีศรัทธานี้ เปรียบประดุจเมล็ดพืชที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะงอกงามได้ทันทีที่นำไปปลูก ความเพียร ประดุจน้ำที่พรมลงไปที่เมล็ดพืชนั้นเมื่อ เมล็ดพืชให้น้ำพรมลงไป ก็จะงอกงามสมบูรณ์ขึ้นทันที เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะได้ผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ด้วย

        การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะต้องเปรียบเทียบดู จิตใจของเราในระหว่าง ๒ วาระ ว่า ก่อนที่ยังไม่ปฏิบัติและหลังการปฏิบัติแล้ว วิเคราะห์ตัวเองว่ามีความแตกต่างกันประการใด

หมายเหตุ    เรื่องของวิปัสสนากรรมฐานที่เขียนขึ้นดังต่อไปนี้ จะยึดถือเป็นตำราไม่ได้ ผู้เขียนเขียนขึ้นเป็นแนวปฏิบัติเท่านั้น โดยพยายามเขียนให้ง่ายแก่การศึกษาและปฏิบัติมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้เท่านั้นเอง



บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: