หลวงพ่อโอภาสี เดิมชื่อ นายชวน มะลิพันธ์ บ้านเดิมอยู่ บ้านตรอกไฟฟ้า อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช อายุ 5 ขวบ ก็บรรพชาเป็นสามเณรเล่าเรียนอักขระบาลีสันสกฤตจากสำนักวัดโพธิ์ในท้องถิ่น ทุกวันสามเณรชวนจะเล่าเรียนพระปริยัติด้วยความขยันขันแข็ง และฉลาดเฉลียวเป็นที่พอใจของเจ้าสำนักบาลีวัดโพธิ์ถึงกับออกปากจะส่งมาเรียน ในกรุงเทพฯ เพราะเห็นแววความเป็นนักธรรมอันยิ่งใหญ่ในตัวของสามเณรชวนนั่นเอง
ครั้นเรียนจบสำนักวัดโพธิ์ สามเณรชวน ก็ถูกพามาถวายตัวเป็นศิษย์ในองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรฌานวงศ์ ซึ่งทรงรับไว้ในพระอุปการะและทรงทำการอุปสมบทให้เป็นภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบวรนิเวศมหาวิหาร โดยทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยพระองค์เอง พระภิกษุชวนเรียนพระปริยัติจนสอบได้เปรียญ 7 ประโยค เข้ารับพระราชทานพัดยศจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถูกขนานนามว่า มหาชวนเปรียญเอก
แต่หลังจากเล่าเรียนปริยัติธรรมจนเชี่ยวชาญ มหาชวน เห็นว่าถึงแก่เวลาต้องศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อหา “ทางสว่าง”แห่งการพ้นทุกข์บ้างแล้ว จึงตัดสินใจจาริกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ผ่านป่าเขาลำเนาไพรมากมาย จนกระทั่งได้ยินชื่อเสียงของ หลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ว่าเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและมีกิจวัตรที่ไม่เหมือนใคร เสมือนเป็นแรงบันดาลใจให้ มหาชวน ดั้นด้นเดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อกบนานหลายเดือนก็กราบลาพระอาจารย์ กลับไปพำนักที่วัดบวรนิเวศวรมหาวิหาร
มีเรื่องเล่าขานกันว่า หลังจาก มหาชนวน เล่าเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงพ่อกบกลับวัดบวรนิเวศฯแล้ว มักชอบเก็บตัวนั่งวิปัสสนาตลอดทั้งวัน เช้าตื่นออกบิณฑบาตและฉันเช้าเพียงมื้อเดียว ช่วงบ่ายก็เปิดกุฏินำเอาสิ่งของต่าง ๆ มาเผาไฟ เริ่มจากทีละเล็กทีละน้อย ๆ ก่อนกลายเป็นชิ้นใหญ่ ๆ คนจีนแถวบางลำพูเห็นเข้าก็ศรัทธาพากันนำข้าวของมาถวายให้เผาเป็นการใหญ่
นอกจากนี้จะมุ่งมั่นนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว ท่านยังเผาสิ่งของควบคู่กันไปด้วย จนชื่อเสียงเริ่มขจรขจายไปทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างรวดเร็ว บางคนก็เห็นด้วยกับการกระทำนี้ แต่บางคนกลับมองว่าเป็นวิกลจริตหรือเป็น “พระบ้า”ซึ่งบางครั้งท่านจุดธูปเทียนบูชาพระจนควันไฟท่วมกุฎิจนพระในวัดและ ชาวบ้านเข้าใจว่าไฟไหม้หลายครั้งด้วย
เคยมีคนไปถามท่านว่า “หลวงพ่อเจ้าค่ะ ทำไมต้องเผาสิ่งของด้วย เพราะอะไร" ท่านก็ตอบว่า “ปกติไฟจะเผาผลาญทุกสรรพชีวิตจนมอดไหม้หมดสิ้นได้ก็จริง แต่จิตใจของมนุษย์ปุถุชนกลับร้อนยิ่งกว่าเปลวไฟ คือร้อนจากความโลภ ความโกรธ ความหลง และเต็มไปด้วยความอยากได้อยากมีไม่สิ้นสุด การที่อาตมานำปัจจัยและสิ่งของที่ญาติโยมนำมาถวายเผาไฟ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและช่วยดับความร้อนในใจของมนุษย์ให้สิ้นไป หรือเผากิเลสให้หมดสิ้นไปนั่นเอง”ที่น่าประหลาดคือใครถามถึง “มหาชวน”จะได้รับคำตอบว่า “มหาชวนตายไปแล้ว จากนี้ไปมีแต่ โอภาสี เท่านั้น”
แต่แล้วไม่กี่ปีต่อมา มีผู้คนไม่น้อยที่ไม่พอใจในพฤติกรรมประหลาดของท่าน เริ่มเคลื่อนไหวและขับไล่ให้ออกไปจากวัดบวรนิเวศฯ ประมาณปี พ.ศ. 2484 หลวงพ่อโอภาสี จึงจาริกแสวงบุญไปเรื่อย ๆ ไปแวะที่ไหนมักถูกขับไล่เพราะท่านจุดไฟเผาข้าวของเหมือนเดิม จนสุดท้ายหลวงพ่อโอภาสีได้ไปพำนักในสวนส้มของชาวบ้านย่านบางมด ฝั่งธนบุรี เจ้าของสวนและชาวบ้านศรัทธาท่านยิ่งนัก สร้างกุฏิเล็ก ๆ ถวายป้องกันแดดฝน แต่ท่านก็ไม่สนใจ ยังคร่ำเคร่งกับการเผาไฟเป็นพุทธบูชาตามปกติ
นับวันหลวงพ่อจะก่อกองไฟเผาปัจจัยและสิ่งของมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นธนบัตร เงินสกุลต่าง ๆ และข้าวของมีค่าทุกชิ้น ท่านเผาไม่เหลือ จนชาวบ้านแห่นำน้ำมันก๊าดไปถวายให้ใช้ก่อไฟเผากันจำนวนมาก
หลวงพ่อโอภาสี มรณภาพเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2498 แต่สังขารของท่านลูกศิษย์นำบรรจุไว้ในโลงแก้วประดิษฐานในพระมหาเจดีย์ในสวน อาศรมบางมด หรือปัจจุบันคือ วัดหลวงพ่อโอภาสี หรือวัดพุทธบูชา บางมด ฝั่งธนบุรี เพื่อให้ผู้ศรัทธากราบไหว้และน้อมนำคำสอน-ธรรมะของท่านมาปฏิบัติเพื่อความ เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ทำไมถึงต้องชื่อ “โอภาสี”มีผู้ศรัทธาพยายามสอบถามหลวงพ่อโอภาสีหลายครั้ง ต่างสงสัยว่า “ทำไมมหาชวนตายแล้วกลายมาเป็นโอภาสี” หลวงพ่อจะตอบเหมือนกันทุกครั้งว่า “มหาชวนตายไปแล้ว ที่อยู่คือโอภาสีผู้บูชาไฟถวายเป็นพุทธบูชา” และบางคนถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่ออายุเท่าไหร่แล้ว”ท่านจะนั่งครุ่นคิดครู่หนึ่งก่อนบอกว่า “ในโลกมนุษย์ก็ 60 ปีแล้ว (สมัยนั้น) แต่อายุจริงป่านนี้ไม่รู้เลย มันนานมากแล้ว จำไม่ได้หรอก”สร้างความงุนงงให้ลูกศิษย์ทั่วหน้า ไม่เข้าใจว่าท่านพูดอะไร
แต่ในบรรดาลูกศิษย์ของท่านมีหลายคนที่เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน คือเป็นลูกศิษย์สายหลวงพ่อกบแต่เดิม ภายหลังหลวงพ่อกบมรณภาพก็ติดตามมารับใช้และปรนนิบัติหลวงพ่อโอภาสีสืบมา ได้แปลคำพูดของท่านให้ฟังว่า “จริง ๆ แล้วเป็นปริศนาธรรม หมายถึงมหาชวนเกิดในโลกมนุษย์นี้มีอายุแค่ 60 ปี แต่ในความเป็นจริงต้องแยกให้ออกระหว่าง กาย และ จิต ตามแบบวิปัสสนากัมมัฎฐาน เมื่อกายในชาตินี้สลายตายไป เหลือเพียงดวงจิตก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนี้มา เนิ่นนาน ท่านจึงตอบว่าจำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าวนเวียนตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายมาแล้วกี่ชาติภพ"
ที่น่าประหลาดใจคือ คนที่รู้จัก มหาชวน เดิมนั้นยืนยันว่า บุคลิกของมหาชวน เป็นพระเรียบร้อย พูดจาเสียงเบา ๆ และสำรวม น่าเลื่อมใสสมกับมหาเปรียญ 7 ประโยค
แต่หลวงพ่อโอภาสีบุคลิกกลายเป็นอีกคน พูดจากระโชกโฮกฮาก ไม่เกรงใจใครและมีอารมณ์ร้อนแรงเหมือนไฟที่ท่านบูชา และที่หลายคนสงสัย ในกุฏิหลวงพ่อโอภาสีมีพระฉายาลักษณะหรือพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว รัชกาลที่ 5 อยู่มากมาย แทบทุกพระอิริยาบถก็ว่าได้ เป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนคิดไม่ออกว่าเพราะอะไรอีกเช่นเดียวกัน แต่ก็มีคนพยายามแปลปริศนานี้ในทำนองว่า “หลวงพ่ออาจมีความผูกพันหรือปลาบปลื้มในพระจริยวัตรอันงดงามของรัชกาลที่ 5 เป็นพิเศษก็เป็นได้”
ปาฏิหาริย์ครั้งสุดท้าย
พุทธสมาคมประเทศอินเดียทำจดหมายนิมนต์หลวงพ่อโอภาสีให้เดินทางไปมนัส การสังเวชนียสถานและเชิญชวนญาติโยมที่ศรัทธามารอนมัสการหลวงพ่อพร้อมหน้า พร้อมตากันในวันที่ 28 ต.ค. 2498 แต่หลวงพ่อให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดเขียนจดหมายตอบไปว่าขอเลื่อนไปวันที่ 31 ต.ค. 2498 จะสะดวกกว่า ทำให้กำหนดการต้องเลื่อนออกไปตามความประสงค์ของท่าน
ในครั้งนั้นพระภิกษุและญาติโยมหลายท่านขอเดินทางไปพร้อมหลวงพ่อโอภาสี แต่ท่านปฏิเสธ โดยบอกว่า “ไม่ได้หรอก คราวนี้อาตมาไปแบบพิสดารไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีใครไปด้วยได้สักคน" สร้างความสงสัยให้ทุกคน แต่ไม่มีใครกล้าถามอะไร
จนวันที่ 31 ต.ค. 2498 มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ นายกพุทธสมาคมประเทศอินเดีย กำลังนั่งพักผ่อนในบ้าน เหลือบเห็นกลุ่มควันปรากฏที่ผนังห้องเบื้องหน้าและมีใบหน้าหลวงพ่อโอภาสีลอย เด่นขึ้นมาก่อนสลายหายไป สร้างความแปลกใจให้เป็นอย่างยิ่ง และรู้สึกสังหรณ์บางอย่าง มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ ไม่รอช้ารีบออกไปหน้าบ้าน คนรับใช้ก็บอกว่า มีพระจากประเทศไทยมานั่งรออยู่ในห้องรับแขกพบว่าเป็น หลวงพ่อโอภาสี จึงเข้าไปกราบเท้าท่านด้วยความศรัทธาและพูดว่า “ทำไมหลวงพ่อมาไม่บอกล่วงหน้า จะได้เอารถไปรับจากสนามบิน”หลวงพ่อบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก อาตมามาให้เห็นตามคำพูดที่รับปากไว้ อะไรก็ห้ามไม่ได้ ไม่ต้องวุ่นวายอะไร”จากนั้น มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ ก็ขอตัวไปเตรียมนำชามาต้อนรับหลวงพ่อ กลับมาปรากฏว่าหลวงพ่อโอภาสีหายไปแล้ว ออกไปดูหน้าบ้านก็ไม่มี เรียกคนใช้มาถาม คนใช้ยืนยันว่าไม่เห็นใครออกจากบ้านสักคนเดียว
จากนั้นช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้นเอง มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ ได้รับโทรเลขด่วนจากประเทศไทยมีข้อความว่า...หลวงพ่อโอภาสีมรณภาพแล้วเวลา 07.30 น. วันที่ 31 ต.ค. ของดกำหนดการทั้งหมด ทำเอา มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ ถึงกับเข่าอ่อนน้ำตาไหลพรากและใจหายเป็นที่สุด พอตั้งสติได้ไม่รอช้านั่งเครื่องบินจากอินเดียมาประเทศไทย รีบไปอาศรมบางมดทันที พบสังขารหลวงพ่อโอภาสีนอนเหยียดยาวบนกุฏิ มีมุ้งกางกันแมลง เนื้อหนังอ่อนนิ่มคล้ายคนหลับอย่างน่าอัศจรรย์ มิสเตอร์ ยี.อี.เอิร์ธ จึงเล่าปาฏิหาริ์ของหลวงพ่อให้ลูกศิษย์ทุกคนฟัง ทำให้ทุกคนร้องไห้โฮอีกครั้งด้วยความเสียใจ
คาถาประจำตัวหลวงพ่อโอภาสี
อิติสุคะโต อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ปะฐะวีคงคา พระภุมมะเทวา ขะมามิหัง
(คาถานี้คือยอดพระภัณฑ์พระไตรปิฎกที่หลวงพ่อโอภาสีนำมาย่อและเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการท่องจำของลูกศิษย์และผู้ศรัทธา สวดอยู่กับบ้านป้องกันอันตราย สวดก่อนออกจากบ้านคุ้มกันอันตรายตลอดการเดินทาง ไปต่างถิ่นสวดป้องกันภยันอันตรายต่าง ๆ จากเทวดา ภูติผีปีศาจ หรือเดินทางไปที่เปลี่ยวให้หยุดภาวนาที่ต้นไม้ใหญ่หรือศาลเจ้า ขอบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณนั้นช่วยปกปักษ์รักษาให้ปลอดภัย อนุภาพขอคาถานี้ครอบจักรวาลเลยทีเดียว)
เคริต VANCO