1. เครื่องกกลูกเป็ด
ลูกเป็ดเมื่อยังเล็ก ๆ ยังไม่มีความอบอุ่นหรือเครื่องกั้นความหนาวเพียงพอ เมื่อถูกอากาศเย็นในเวลากลางคืนหรือตอนเช้า ๆ ก็จะหนาวสั่น ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้นาน ๆ ลูกเป็ดจะตายหรือแคระแกรนได้ จึงต้องมีเครื่องกกให้ลูกเป็ด
การกกลูกเป็ด สามารถทำได้ 3 ลักษณะคือ ใช้แม่เป็ดกก ใช้เครื่องกกที่ใช้ไฟฟ้า และใช้เครื่องกกที่ไม่ใช้ไฟฟ้า
1.1 การกกด้วยแม่เป็ด เป็นวิธีแบบธรรมชาติใช้ได้สำหรับกรณีที่เลี้ยงเป็ดจำนวนไม่มาก หรือในการเลี้ยง แบบหลังบ้าน มีลูกเป็ดไม่กี่ตัว
วิธีการกกที่นอกเหนือจากการใช้วิธีธรรมชาติ เป็นการกกที่ต้องใช้เครื่องมือเข้าช่วย ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้
1.2 วิธีกกลูกเป็นแบบง่าย ๆ เป็นการกกที่นิยมใช้ในชนบท กกโดยไม่ใช้ความร้อนช่วย โดยแบ่งลูกเป็ดออกเป็นฝูง ๆ ละ 100 ตัว สำหรับใส่คอกนอนในเวลากลางคืน คอกนอนต้องปิดมิดชิดพอควรเพื่อกันลมโกรก ภายในคอกแบ่งออกเป็นช่อง ๆ ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร สำหรับเป็ด 100 ตัว ใช้ไม้กระดานหรือไม้ไผ่กั้น สูงจากพื้นคอกประมาณ 25-30 เซนติเมตร ด้านบนที่นอนปิดด้วยกระสอบป่าน เพื่อเก็บความร้อนจากตัวลูกเป็ด
1.3 วิธีกกด้วยถ่านไฟหรือตะเกียงรั้ว โดยใช้เตาอั้งโล่ใส่ถ่านไฟเป็นแหล่งให้ความร้อนทำให้ภายในคอกอบอุ่น และต้องมีที่กั้นรอบ ๆ เตาเพื่อกันไม่ให้ลูกเป็ดพลัดเข้าไปถูกเตาอั้งโล่ อาจใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ตัดให้สูง 20 เซนติเมตร หรือจะใช้ลวดตาข่ายหรือไม้ไผ่สานกั้นโดยรอบก็ได้
การใช้ตะเกียงรั้วน้ำมันก๊าดเป็นแหล่งให้ความร้อนในการกกลูกเป็ดก็ได้ผลดี เพื่อให้เก็บและแผ่กระจาย ความร้อน ได้ดีขึ้นควรมีฝาชีสังกะสีหรืออลูมิเนียมครอบ หย่อนให้ขอบฝาชีสูงจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร รอบนอกควรมีแผงล้อมกกอีกชั้นหนึ่ง หากปูพื้นคอกด้วยแกลบ ควรมีแผ่นโลหะรองใต้เตาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้