นี่เป็นตัวอย่างของความอดทน ไม่เอาแต่ได้เฉพาะหน้าอภิพญาปัญหาสำคัญของโลกในอนาคต จะเป็นปัญหาด้านอาหารและพลังงาน อาหารจากผลิตภัณฑ์การเกษตรก็ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถส่งไปขายในตลาดยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และตลาดสำคัญอื่นๆได้เลย
เพื่อนเอาผลไม้จากจันทบุรีและตราดมาฝากผมกันบ่อย หนึ่งในบรรดาเพื่อนที่ชอบเอาผลไม้มาฝากนิติภูมิก็คือ นายโอฬาร (ประพันธ์) วัฒนวินิน ผู้ที่เคยเรียนกับผมที่โรงเรียนตราษตระการคุณ จังหวัดตราด
หลังจากทานข้าวปลาอาหารหวานคาวเสร็จเรียบร้อย โอฬารและผมก็มักจะคุยกันถึงเรื่องตลาดผลไม้ สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า จะต้องส่งผลไม้ไปตลาดไต้หวัน ญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ฯลฯ ต้องตลาดพวกนี้ ถึงจะมีราคาดี
พ.ศ.2547 โอฬารรวบรวมสวนมังคุดเก่าในจังหวัดตราดที่ปลูกมานานถึง 50 ปีแล้ว ได้จำนวน 400 ไร่ และประกาศว่าจะผลิตมังคุดอินทรีย์เพื่อส่งออก
พ.ศ.2549 ได้ใบอนุญาตออร์แกนิกไทยแลนด์จากกรมวิชาการเกษตร
พ.ศ.2551 สวนของโอฬารได้รับการประกาศว่า เป็นสวนมังคุดอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
สินค้าเกษตรส่งนอกจะขายได้ดีมีราคา ต้องไม่มีสารเคมีเด็ดขาด ไอ้โอฬารเพื่อนรักของผมจึงตัดกระบวนการสารเคมีออกในทุกขั้นตอนการผลิต และเริ่มปฏิบัติเคร่งครัดตามระบบควบคุมคุณภาพการผลิตทางการเกษตร ผมหมายถึงโอฬารทำสวนตามมาตรฐาน GAP หรือ Good Agricultural Practice
ตอนเริ่มไม่ใช้สารเคมีใหม่ๆ โอฬารมาตะโกนใส่หน้าผมว่า "ข้าทนไม่ไหวแล้วโว้ย เพราะเชื่อเอ็ง ลูกกะใบมังคุดในสวนของข้าเสียหายเละเทะ ราคามังคุดในสวนร่วงลงไปเหลือเท่ากับมังคุดตกเกรด" ผมเตือนเพื่อนว่า เอ็งก็อย่าท้อแท้ถึงขนาดกลับไปใช้ยาฆ่าแมลงอีกล่ะ เอ็งต้องนึกถึงคาถาที่ข้าบอกให้ท่อง "ตลาดต่างประเทศๆๆๆ"
ข้าขอให้เอ็งยึดมั่น ถือมั่นกับแนวทางธรรมชาติ มุ่งกับปุ๋ยชีวภาพและ ปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป แมลงมันเยอะนัก เอ็งก็ลองชุมนุมสุมหัวกับลูกน้องหันมาหาวิธีจับแมลง ต้นไม้ใบหญ้าก็อย่าไปใช้ยาฆ่าหญ้า ปล่อยให้มันโตไปเลย หญ้าทั้งหลายจะได้เก็บความชื้นของผิวดินไว้ได้ เมื่อใดที่หญ้าออกดอกแก่ และจวนใกล้จะกลายเป็นเมล็ด เอ็งถึงค่อยไปดายหญ้าออก เพื่อไม่ให้วัชพืชพวกนี้กระจายขยายพันธุ์ลามไป
ได้ผลครับ สวนมังคุด 400 ไร่ของโอฬารลดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนงานใส่ปุ๋ยและฉีดยาฆ่าแมลงไปมากกว่า 50% คนงานในสวนที่เหลือก็มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น ไม่มีการส่งคนงานที่โดนสารเคมีไปโรงพยาบาลบ่อยเหมือนเมื่อก่อน
เดี๋ยวนี้สวนของโอฬารมีเสียงนกร้องเจี๊ยวจ๊าว นกตีทองร้องต๊ง ต๊ง นกปรอดที่สอดตัวอยู่ตามพุ่มมังคุด ก็มีบินให้เห็นตั้งแต่เช้าจดเย็น นกปรอดมันร้องกรอด กรอด อ้าว นั่นนกโพระดกหูเขียว เจี๊ยวจ๊าวส่งเสียงตุ๊ก อรุก ตุ๊ก อรุก ตลอดเวลา ตกดึก อากาศมืดแล้ว ยังไม่แคล้วอุตส่าห์มีเสียงนกฮูก ปูว วู้ ปูว วู้ ฟังดูน่ากลัวชะมัด
สระในสวน เดี๋ยวนี้มีมวนบนผิวน้ำเยอะ นั่นมวนกรรเชียงจิ๋ว มวนจิงโจ้ แม้แต่แมงดาสวนและนาก็มีปรากฏให้เห็น ใครจะนึกว่าในสวนมังคุดจะเต็ม
ไปด้วยผีเสื้อ มีทั้งผีเสื้อม้าลาย ผีเสื้อสยามขอบดำ แม้แต่ผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชรก็มี
แฮ่ๆ แต่ที่น่ากลัวก็คืองูครับ เมื่อไม่มียาฆ่าแมลง ความหลากหลายของสัตว์เลื้อยคลานก็ตามมา อ้า งูกะปะ งูเห่า งูจงอาง งูเงี้ยวเขี้ยวขออะไรนี่มีครบครัน
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา โอฬารเอาปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำจากขี้ค้างคาวมาให้ผมใส่ผลหมากรากไม้ในสวนที่ลาดกระบัง ทุกทีที่มาผมมักจะกระตุ้นให้โอฬารมีความฝันว่า ต่อไปในอนาคต สวนเอ แอนด์ พี ออร์ชาร์ดของเอ็งจะต้องได้ใบรับรองมาตรฐานจากทั่วโลก ถ้าวันนั้นมาถึง เอ็งไม่ต้องอาบน้ำ เพราะพ่อค้าที่จะส่งผลไม้ไปขายในตลาดยุโรปและอเมริกาจะเลียเอ็งจนตัวมันแผล็บอยู่ทุกเวลานาที
วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปเพียง 5 ปี วันนี้ โอฬารประสบพบความสำเร็จแล้วครับ วันที่ 23 กรกฎาคม 2552 สวนเอ แอนด์ พี ออร์ชาร์ด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสวนออร์แกนิกจากองค์กรของสหภาพยุโรป นิติภูมิขอโม้หน่อยว่า สวนของเพื่อนผมได้รับการรับรองออร์แกนิก ถามหาเลขที่หรือครับ IT BAC 009629 แม้แต่องค์กรของสหรัฐฯ ก็ต้องให้ใบรับรองมาตรฐานสวนออร์แกนิกแก่โอฬารด้วยเหมือนกัน
มังคุดลูกเล็ก เปลือกไม่สวย โอฬารก็แกะแงะเอาเนื้อมาทำน้ำมังคุดส่งนอก และเพราะความไม่ได้ใช้สารเคมี เปลือกมังคุดจากสวนของโอฬารจึงมีราคายังกะทองคำ พวกฝรั่งมังค่ามากว้านซื้อไปสกัดเอาสารแซนโทนไปทำยาและเครื่องสำอาง
ทำยังไงถึงจะกระจายความคิด+การปฏิบัตินี้ไปทั่วประเทศได้?
ขอบคุณข้อมูลจาก นสพไทยรัฐ
โดยนิติภูมิ นวรัตน์
http://www.thairath.co.th/column/oversea/worldsky/54816