ท่านเป็นพระที่มีปฏิปทางดงาม เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างสูงสำหรับลูกหลานศิษยานุศิษย์ และประชาชนทั่วไป คำสอนของท่านเป็นธรรมะที่ง่าย ลึกซึ้ง และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงด้วยวิธีสอนที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ฟังธรรมเกิดความเห็นที่ถูกตรงและกระจ่างชัด ท่านจึงเป็น "ปูชนียาจารย์" ที่มหาชนเคารพศรัทธายิ่ง
มีผู้ถามอยู่เสมอว่า "พุทธะอิสระ" แปลว่าอะไร หลวงปู่ได้ให้ความหมายว่า "พุทธะ" แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ย่อมมีเสรีภาพอิสระต่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ไม่ทำอารมณ์ให้เป็นอะไร เพราะเรามีธรรมะในหัวใจ ย่อมอิสระกับทุกเรื่องที่พบพานเจอะเจอและเห็น
มีคนเคยมาถามหลวงปู่เสมอๆ ว่า "ทำไมหลวงปู่ จึงยังดูหนุ่ม ยังไม่เห็นแก่เลย แต่คนเรียก หลวงปู่" ท่านมักจะตอบตามภาษิตโบราณที่ว่า
"คนจะงาม งามน้ำใจ ใช่ใบหน้า
คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน
คนจะแก่ แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน
คนจะรวย รวยศีล รวยทาน ใช่บ้านโต"
หลวงปู่สอนพระเณรในวัดว่า ของทุกอย่างที่ชาวบ้านเขาถวาย ก็ให้ถือเป็นส่วนกลาง ให้ทุกคนใช้ด้วยความเคารพต่อผู้ให้ คือ ใช้อย่างทะนุถนอม และใช้อย่างประหยัด
ท่านสอนให้ทุกคนยึดหลักในการดำรงชีวิตว่า "ทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ และทำตนให้ผู้อื่นพึ่งได้ด้วย" และให้ปฏิบัติธรรมในระหว่างปฏิบัติงาน โครงการต่างๆของท่านจึงมีมากมาย และหลวงปู่ยังเป็นผู้นำในการทำกิจการน้อยใหญ่ นานัปการอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ทั้งหมดนี้ท่านทำเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อศิษยานุศิษย์และเพื่อลูกหลานของท่าน ให้เป็นผู้ดำเนินชีวิตอย่างคุ้มค่าสมกับที่เกิดมาในบวรพุทธศาสนา...
หลวงปู่พุทธะอิสระ หรือ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม(ฉายาปัจจุบัน) ท่านเป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด แต่บรรพบุรุษตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดนครปฐม โยมพ่อชื่อนายชมภู โยมแม่ชื่อนางอัมพร นามสกุล ทองประเสริฐ เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๙ การศึกษาเล่าเรียนทางโลก ไม่จบชั้นประถมปีที่ ๔ ส่วนการศึกษาเล่าเรียนทางธรรมนั้นจบนักธรรมเอก
ท่านเริ่มบวชเรียนครั้งแรกเมื่ออายุ ๒๐ ปี โดยบวชที่วัดคลองเตยใน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมีพระครูธีราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน เป็นพระอุปัชฌาย์
บวชได้เพียงพรรษาเดียวก็สึกออกไปเป็นทหาร ๒ ปี หลังเสร็จภารกิจทางทหาร ก็กลับมาบวชใหม่ที่วัดเดิม คือวัดคลองเตยใน เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๖ โดยมีพระครูธีราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน เป็นพระอุปัชฌาย์เช่นเดิม และพระครูวรกิจวิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดภาษี เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยธรสมพงษ์ วัดคลองเตยใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ธมฺมธีโร" แปลว่า "ปราชญ์ทางธรรม
ช่วงที่อยู่วัดคลองเตยใน มีผู้คนมากมายมาฟังท่านแสดงธรรม ท่านอยู่วัดคลองเตยในได้ประมาณ ๖ ปี ก็มาสร้างวัดอ้อน้อย ที่ตำบลห้วยขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในปี ๒๕๓๒ โดยอุบาสิกาทองห่อ วิสุทธิผล เป็นผู้บริจาคที่ดินผืนนี้ให้ สร้างวัดเสร็จเป็นรูปเป็นร่างภายใน ๓ ปี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ยกฐานะขึ้นเป็นวัด ชื่อว่า "วัดอ้อน้อย" (เดิมได้ทำเรื่องขอใช้ชื่อวัดว่า "วัดธรรมอิสระ" แต่ก็มีเหตุขัดข้องบางประการ) เมื่อสร้างวัดเรียบร้อยท่านก็ให้พระลูกศิษย์ดูแลวัด ส่วนท่านก็ออกธุดงค์เพื่อฝึกฝนปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเป็นเวลากว่า ๕ ปี
หลวงปู่พุทธะอิสระกลับมาปกครองดูแลวัดอ้อน้อยอีกครั้ง เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๘ ท่านได้ทำนุบำรุงวัดจนเจริญเรื่อยมา และเมื่อพระอุโบสถสร้างเสร็จเรียบร้อย จึงได้จัดพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานจุดเทียนชัย ในพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตของพระอุโบสถ
ต่อมาในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลห้วยขวาง แทนเจ้าคณะเก่าที่มรณภาพไป หลังจากนั้นเมื่อในวันที่ ๑๖ ก.ย.๒๕๔๔ หลวงปู่ได้ยื่นหนังสือลาออกจากทุกตำแหน่งอย่างเป็นทางการ กับเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม โดยหลวงปู่กล่าวว่า "ที่ผ่านมามันก็เป็นความรู้สึกค้างคาในใจว่า เราทำงานไม่ได้หวังที่จะได้อะไร แต่เราทำงานเพื่อเป็นพุทธบูชา ด้วยความศรัทธาในพระธรรมวินัย และอุดมการณ์ของศาสนา" ในปัจจุบันนี้หลวงปู่พุทธะอิสระ ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม
กิจการการงานที่ผ่านมา
ตั้งแต่บวชอยู่ที่วัดคลองเตยใน ท่านก็แสดงธรรมให้ญาติโยมที่มาทำบุญได้ฟังธรรมจนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของ ผู้คน รวมทั้งได้จัดอุปสมบทพระเณรภาคฤดูร้อนขึ้นด้วย
เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย และเจ้าคณะตำบลห้วยขวาง อ. กำแพงแสน จ. นครปฐม ท่านได้ดำริและริเริ่มจัดทำโครงการต่างๆ มากมาย และบางงานก็ยังสืบเนื่องจนถึงปัจจุบันดังนี้
๑. การแสดงธรรม ท่านได้ไปแสดงธรรมโปรดญาติโยมและพุทธศาสนิกชน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ สถานศึกษา โรงพยาบาล วัด มากกว่า ๑๐๐ แห่ง รวมทั้งการแสดงธรรมทุกวันอาทิตย์ต้นเดือนเป็นประจำที่วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ)
๒. โครงการเผยแผ่ธรรม ด้วยหนังสือธรรมะและเทปเสียง ซึ่งประกอบด้วยหนังสือธรรมะประมาณ ๔๐ เรื่อง และเทปเสียงประมาณมากกว่า ๕๐๐ กว่าเรื่องแล้ว
๓. โครงการเผยแผ่ธรรม ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการจัดทำเวปไซต์ วัดอ้อน้อย
www.onoi.org เพื่อนำเสนอธรรมะและกิจกรรมทางพุทธศาสนาของวัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ)
๔. โครงการเผยแผ่ธรรม ทางหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา รายเดือน เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และเพื่อเผยแพร่ผลงานของพระสงฆ์ดีๆ ที่ยังมีอีกมากมายในสังคม โดยส่วนหนึ่งได้จัดส่งให้กับวัด สถานศึกษา ห้องสมุด ทั่วประเทศกว่า ๑๐,๐๐๐ แห่ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
๕. โครงการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ โดยท่านได้รับเลือกให้เป็นเลขานุการของศูนย์พระวิปัสสนาจารย์ จังหวัดนครปฐม ทำหน้าที่ดำเนินการจัดฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ของจังหวัดนครปฐม ซึ่งท่านได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและกำลังทรัพย์ให้กับงานนี้ เพราะเป็นงานที่ท่านรักมากที่สุดในชีวิต (ปัจจุบันท่านได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวนี้แล้ว)
๖. โครงการศากยบุตรกู้วิกฤต เนื่องจากท่านเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจของบ้านเมืองทำให้ผู้คนหมดหวัง หมดที่พึ่ง ดังนั้นท่านจึงเปิดรับคนเข้ามาบวชในโครงการศากยบุตรกู้วิกฤต และอบรมให้มีความรู้มีวิชาชีพ จากนั้นจึงส่งไปเผยแผ่ธรรมและให้ความรู้แก่ประชาชนในชนบท
๗. โครงการบรรพฃาและอุปสมบทพระภิกษุ สามเณร ภาคฤดูร้อน ซึ่งท่านเคยทำมาตั้งแต่อยู่วัดคลองเตยใน ท่านก็สานต่อโครงการนี้เรื่อยมา โดยผู้เข้าร่วมโครงการไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
๘. โครงการธรรมศึกษาในโรงเรียน ได้ดำเนินการร่วมกับศึกษาธิการอำเภอกำแพงแสน โดยจัดส่งพระภิกษุไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ สนับสนุนการสอบธรรมศึกษาสนามหลวง และจัดตั้งกองทุนค่าพาหนะแก่พระสงฆ์ที่ไปสอน
๙. โครงการค่ายจริยธรรม ท่านได้ให้พระเณรในวัดอ้อน้อย จัดค่ายอบรมจริยธรรมคุณธรรม ให้กับนักเรียนนักศึกษา ในช่วงปิดเทอม มีผู้มาเข้าค่ายปีละ ๓,๐๐๐ กว่าคน
๑๐. โครงการมอบทุนการศึกษา ท่านได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนในโครงการธรรมศึกษา นักเรียนที่ยากไร้ รวมทั้งพระนักศึกษาในสถาบันการศึกษาของสงฆ์ เป็นประจำทุกปี
๑๑. โครงการกลุ่มออมทรัพย์วัดอ้อน้อย เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนได้เรียนรู้อาชีพ มีทุนประกอบอาชีพพึ่งตนเองได้ในท้องถิ่น
๑๒. โครงการแจกมหาทานแก่ครอบครัวผู้ยากไร้ โดยจัดมอบข้าวสาร อาหารแห้ว ยารักษาโรค และเงินจำนวนหนึ่ง เนื่องในโอกาสต่างๆ เช่น วันสำคัญทางศาสนา หรือเมื่อประชาชนประสบปัญหา เช่น อุทกภัย
๑๓. กองทุนดูแลพระสงฆ์อาพาธจังหวัดนครปฐม โดยบริจาคเงินกองทุนเริ่มแรก ๕๐๐,๐๐๐ บาท
๑๔. โครงการอนุรักษ์อุทยานธรรมชาติและศาสนา จัดให้มีการปลูกป่าในวันสำคัญต่างๆ ณ สถานที่ปฏิบัติธรรมหลายแห่ง
๑๕. โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนธรรมอิสระ ด้วยเล็งเห็นว่ายังมีเด็กที่เรียนดีแต่ขาดโอกาสอีกมากมายท่านจึงได้ตั้ง ศูนย์การเรียนชุมชนธรรมอิสระขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กยากจนได้รับการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้ทุกคนพึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งให้กับผู้อื่นได้
๑๖. โครงการสถานบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพด้วยธรรมชาติ และศูนย์พัฒนาจิตวิญญาณเชิงท่องเที่ยว เพื่อให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย โดยใช้วิธีธรรมชาติบำบัด และเป็นสถานที่พักผ่อน เรียนรู้ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การอนุรักษ์ธรรมชาติ ศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น และเรียนรู้การฝึกจิตวิญญาณของต้นด้วยการปฏิบัติธรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสถานที่ ที่อำเภอทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี
http://www.onoi.org/index.php?option=com_content&view=article&id=62&Itemid=55