ระบำลพบุรี อีกหนึ่งนาฏศิลป์ไทย ที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างดีและหาดูได้ยาก
ระบำลพบุรี เป็นระบำโบราณคดีเพลงหนึ่ง เกิดขึ้นโดยเลียนแบบลักษณะท่าทางของเทวรูป ภาพเขียน ภาพแกะสลัก รูปปั้น รูปหล่อโลหะและภาพศิลาจำหลัก-ทับหลังประตู ตามโบราณสถาน ที่ขุดพบในสมัยลพบุรี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ ศิลปวัตถุโบราณประเภทนี้อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ปราสาทหินพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมา พระปรางค์สามยอดลพบุรี แล้วนำมากำหนดยุดสมัยตามความเก่าแก่ของโบราณสถานและโบราณวัตถุ แล้วมาสร้างเป็นระบำสมัยนั้นขึ้น ลีลาท่าทางของศิลปวัตถุเป็นภาพนิ่ง(ท่าตาย) เหมาะเป็นท่าเทวรูปมากกว่า เมื่ออาศัยหลักทางด้านนาฎศิลป์เข้ามาดัดแปลงเป็นท่ารำ ทำให้มีความอ่อนช้อย สวยงาม
ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คือ ครูลมุล ยมะคุปต์ ร่วมด้วยครูเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญนาฎศิลป์ไทย กรมศิลปากร
นาฎยศัพท์ที่ใช้ประกอบการรำ จีบมือ จีบมือแบบลพบุรี ได้รูปแบบมาจากลักษณะนิ้วของพระพุทธรูปในสมัยลพบุรี มีลักษณะดังนี้ คือ ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดเหนือข้อแรกของปลายนิ้วชี้ นิ้วที่เหลือเหยียดตึง
ถองสะเอว แขนขวางอศอก ให้ข้อศอกจรดเอว หักข้อมือ ตั้งวง กดไหล่ขวา ศีรษะเอียงขวา มือซ้ายตั้งวงสูงระดับแง่ศีรษะ เป็นการถองสะเอวขวา ถ้าจะถองสะเอวข้างซ้ายก็ทำเช่นเดียวกัน
เดี่ยวเท้า เดี่ยวเท้าขวา ยืนด้วยเท้าซ้าย ยกฝ่าเท้าขวาขึ้นแนบกึ่งกลางด้านข้างขาพับซ้าย ถ้าจะเดี่ยวเท้าซ้ายก็ทำเช่นเดียวกัน
ตั้งวง ลักษณะการตั้งวงจะตั้งวงพิเศษ คือ ยกเขนตั้งวงสูงไม่ตกศอก ให้ปลายนิ้วจรดกลางศีรษะ
โขยกเท้า แบ่งเป็นโขยกเคลื่อนตัวกับโขยกเท้าอยู่กับที่ เป็นอาการแบบก้าวเท้า วางจมูกเท้าเคลื่อนตัว เช่น ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ชักเท้าซ้ายตามไปวางด้วยจมูกเท้าใกล้ๆ และวางจมูกเท้านั้นแบ่งน้ำหนักมาด้วย เพื่อยันให้เท้าขวากระเถิบนิดหนึ่ง แล้วยกเท้าที่โขยก (คือเท้าที่ยันด้วยจมูกเท้า) ก้าวไปข้างหน้า วางเต็มเท้า ให้เท้าขวากระเถิบอยู่ก่อน แล้วเป็นฝ่ายยันด้วยจมูกเท้าบ้าง เท้าที่ยันด้วยจมูกเท้านี้ เรียกว่า เท้าโขยก
โหย่งหรือกระหย่ง หมายถึง ลักษณะการจรดปลายเท้าไม่ให้ฝ่าเท้าถูกพื้น ซึ่งท่ารำชนิดนี้มีทั้งท่ายืนและท่านั่ง เช่น โหย่งส้นเท้าซ้าย ใช้เท้าขวายืนเต็มเท้า ย่อเข่า ยกส้นเท้าซ้ายแตะกับข้อเท้าขวา
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงระบำลพบุรี๑. ซอสามสาย
๒. พิณน้ำเต้า
๓. ปี่ใน
๔. กระจับปี่
๕ โทน