เศรษฐกิจพอเพียง ภูมิคุ้มกัน... "โลกแตก Sufficiency Economic Immunity Against The End of The World
ถ้ามองอย่างเป็นระบบ อย่างใช้ความรู้ อาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงแต่เป็นหนทางกู้ตำบล กู้ประเทศ ให้รอดพ้นจากวิกฤติเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทาง กู้โลก กลมๆ ใบนี้อย่างแท้จริง
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง
แม้หัวข้อปาฐกถาจะกำหนดไว้เพียง แนวทางการทำงานภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องเข้าใจ แต่เพราะได้สนองงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและบทบาทอื่นอีกมากมาย ทำให้เนื้อหาที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง ตั้งใจถ่ายทอดด้วยลีลาง่ายๆ เป็นกันเองแก่ผู้บริหาร ปตท. และเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของโครงการฯ เกือบ 200 คน ณ สำนักงานใหญ่ ปตท.เมื่อปลายเดือนมีนาคม
คุณรู้หรือไม่ว่า โลกกำลังป่วยหนัก
ปัญหาของโลกทุกวันนี้ไม่ว่าเป็นปัญหาอะไร เกิดที่ไหนในโลก มีสาเหตุอย่างเดียว คือ การบริโภคที่เกินพอดีของมนุษย์เพราะทุกวันนี้ไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ที่ไหนล้วนอยู่ภายใต้ระบบเดียวที่เหมือนกัน คือ ระบบบริโภคนิยม คนทุกคนจะถูกกระตุ้นให้บริโภค สื่อต่างๆ ที่ผ่านหู ผ่านตา ล้วนชักจูง และหลอกล่อให้บริโภคเกินพอดี กินเกินพอดี (กินของมันจนเกิดโรค) ใช้เกินพอดี (มีเสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว มากเกินจนล้นตู้) สะดวกสบายเกินพอดี ทำให้การใช้พลังงานของโลกพุ่งกระฉูด (ใช้รถยี่ห้อแพงๆ กินน้ำมันเยอะๆ มีเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินจำเป็น)
ทำไม คนที่เข้าใจ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงจึงยอมรับว่า เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้มนุษย์อยู่รอด เขาวิเคราะห์จากเหตุผลอะไร
ความสับสน เรื่องแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง
เริ่มต้นกล่าวถึงคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง หลายคนรู้สึกว่ายากต่อการทำความเข้าใจ เป็นเช่นนี้เพราะที่ผ่านมาหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พยายามดึงเอาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปสู่กิจกรรมที่ตนเองทำอยู่ ทำให้ภาพออกมาสับสน ไม่ครอบคลุมความหมายทั้งหมด วนเวียนอยู่ในเรื่องปลูกผัก ทำปุ๋ย ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นธรรมะ ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน อาชีพอะไร ถ้าเข้าใจ และนำไปปรับใช้ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการงาน ก็จะเกิดประโยชน์กับตนเอง เป็นหลักปรัชญาที่นำไปใช้เป็นหลักในการดำเนินชิวิตได้ทุกระดับ ทั้งการบริหารประเทศในองค์กรขนาดใหญ่ ในครัวเรือน หรือแม้แต่ใช้กับชีวิตส่วนตัวซึ่งถ้าเข้าให้ถึงแก่น จะไปถึงจุดหมาย คือ ความสุขที่ยั่งยืน แต่คนไม่ค่อยเชื่อ เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้จักฐานของปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น เป็นเรื่องใกล้ชิดกับชีวิตของพวกเราทุกคน นั่นคือ ความเป็นมาและเป็นไปของโลกใบนี้ ทั้งๆ ที่เราต้องอาศัยและมีชีวิตอยู่บนโลก เราไม่เคยสนใจจะรู้จัก ไม่สนใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในโลกกลมๆ ใบนี้
ปัญหาต่างๆ มีลำดับความเป็นมานับแต่วิวัฒนาการของโลก
ถ้าเราศึกษา (ซึ่งเดี๋ยวนี้มีนักวิทยาศาสตร์ช่วยศึกษา) จะพบว่าโลกใบนี้เกิดมา 4,600 ล้านปีแล้ว ในช่วงค่อนแรกคือ 4,000 กว่าล้านปี แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันมีการปรับตัวครั้งใหญ่ที่เรียกว่าโลกแตกมาแล้วถึง 5 ครั้ง แต่ละครั้ง สิ่งมีชีวิต (สัตว์และพืช) เหลืออยู่ไม่ถึง 10% ครั้งสุดท้ายแตกเมื่อ 65 ล้านปีที่ผ่านมา ตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวของธรรมชาติ คือคนเรานี่เอง นอกจากการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วแล้ว (วันนี้ 6,700 ล้านคน) มนุษย์ยังบริโภคทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกใบนี้อย่างเกินพอดี ในขณะที่โลกยังเท่าเดิมไม่ได้ใหญ่ขึ้นตามจำนวนคน ทุกวินาทีที่มนุษย์บริโภค (กิน ใช้หายใจ ฯลฯ) เท่าไร ก็คายขยะให้โลกเท่านั้นโดยไม่รู้ตัว และไม่ได้คำนึงถึง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ยังไม่มีใครรู้แน่นอนว่าโลกจะแตกเป็นครั้งที่ 6 อีกเมื่อไร ทุกวันนี้เราเห็นสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟป่า และพายุฝน ครบหมดแล้วทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ และแต่ละครั้งคนตายนับแสน
ลัทธิเอาอย่างของเมืองไทยและคนไทย
หันมาดูในเมืองไทยของเราบ้าง นับแต่เรามีแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 ฝรั่งมาช่วยเราทำแผนก็ใส่ความคิดให้เราว่า ต้องทำให้เศรษฐกิจมันโตขึ้นเรื่อยๆ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมที่เราเร่งส่งเสริม
พอถึงช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 5 เราก็อยากเป็นนิกส์ อยากเป็นเสือตัวที่ห้า ตอนนั้นรายได้ของเราโตด้วยตัวเลขสองตัวติดต่อกันถึงสามปีคือ 13.2, 12.2 และ 11.6 ในขณะที่ภาคเกษตรซึ่งเป็นวิถีชีวิตหลักของคนไทยลดลงจากประมาณ 40% เหลือไม่ถึง10% ของรายได้ของประเทศ ระหว่างที่เราชื่นชมตัวเลขทางเศรษฐกิจ เราก็มีปัญหาเรื่องการเมือง มีการปฏิวัติเป็นระยะมีปัญหาเรื่องวิกฤติน้ำมัน เราสูญเสียป่าไม้ไปจำนวนมาก การกระจายรายได้ไม่ดี เกิดเงินเฟ้อ ที่สำคัญ คนยิ่งเป็นหนี้มากขึ้น
ระหว่างนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ออกมารับสั่งให้พยายามทำให้ประเทศของเราพอมีพอกิน ซึ่งไม่มีใครสนใจเลย
หลังจากที่เศรษฐกิจโตติดต่อกันสามปี ฟองสบู่ก็แตก
บทเรียนอันหนึ่งที่พบก็คือ เราอยากทำอย่างคนอื่นเขาอยากเป็นนิกส์ (NIC : New Industrialize Country) อยากเป็นเสือตัวที่ห้า
นี่คือนิสัยอยากเอาอย่างคนอื่นเขา...ณ วันนั้น ไม่เคยถามตัวเองเลยว่า โดยสภาพทุนทั้งหมดที่เรามีอยู่ สภาพสิ่งแวดล้อมสภาพวิถีชีวิตของคนเรา เราควรจะเป็นตัวอะไรดี ลองคิดดูว่าถ้าวันนั้นเราดำรงความเป็นควายของเราไว้ วันนี้เราอาจรวยไม่รู้เรื่อง
หนทางสู่ความพอเพียง เพียงก้มดูตัวเองอย่างมีสติ
เศรษฐกิจพอเพียงต้องเริ่มต้นด้วยการเหลียวมองดูรอบๆตัว อย่างมีสติ เห็นสิ่งต่างๆ แล้วเอาปัญญาใส่เข้าไป แล้วเข้าสู่ธรรมะสามประการของความพอเพียงนั่นคือ
ประมาณตน มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันจะประมาณตนได้ ต้องมีการประเมินตนเองก่อนจึงจะรู้ว่าจะประมาณตนเองได้แค่ไหน
เห็นเอกสารของโครงการฯ ที่มีการทำบัญชีครัวเรือนลงข้อมูลเรื่องรายรับรายจ่าย นั่นแหละการประเมินตนได้ทะลุปรุโปร่งตลอดเวลา ถ้าไม่มีการประเมินก่อนจะรู้ได้อย่างไรว่าจะประมาณได้อย่างไรว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แค่ไหนอย่างไร
เมื่อรู้ตัวแล้ว ได้ตัวเลขข้อมูลในเอกสารแล้ว นั่นแหละคือเหตุคือผลที่จะให้เราเดินไปข้างหน้าอย่างไร ทุนนิยมใช้กิเลสตัณหาเป็นตัวนำทาง แต่เศรษฐกิจพอเพียงใช้เหตุใช้ผลและปัญญาเป็นตัวกำกับ เมื่อลงมือทำไปแล้วก็อย่าประมาทต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ก็คือการจัดการความเสี่ยง แต่ทั้งหมดนี้ต้องทำอย่างมีความรู้ รอบคอบ และที่สำคัญต้องมีจิตใจที่มีคุณธรรม
เศรษฐกิจพอเพียง คือ เราชนะกิเลสไหม...ไม่ใช่สอนให้ตัดกิเลส แต่ควบคุมกิเลสอย่าให้มันชนะเรา อย่าให้มันควบคุมเรา...
เห็นด้วยอย่างยิ่งที่โครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง ที่มุ่งลดรายจ่ายมากกว่าหารายได้
...นักพัฒนาในอดีตส่วนใหญ่ ไปบอกให้เพิ่มรายได้ซิอย่าอยู่เฉยๆ ทำอะไรต่ออะไร ผมก็เริ่มโง่มาอย่างนั้นเหมือนกันแต่มาถึงตอนนี้ ผมเห็นแล้วว่า ขั้นแรกต้องลดรายจ่ายก่อนมีสารพัดเลยที่เราจะลดได้... มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราสามารถทำได้ทันที...ถ้าเรามีความคิดที่จะดำเนินชีวิตแบบพอเพียง
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของวารสารสื่อพลัง และ วิชาการ.คอม
http://www.pttplc.com/TH/Default.aspx