ย่านางเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นอาหารและเป็นยามาตั้งแต่โบราณหมอยาโบราณภาคอีสาน เรียกชื่อยาของย่านางว่า หมื่นปีไม่แก่ พบความมหัศจรรย์ของย่านางครั้งแรก เมื่อคุณแม่ของเขาคนหนึ่งตกเลือดจากมดลูกอย่างรุนแรง หลังจากที่เขาตัดสินใจใช้ย่านาง เป็นสมุนไพรหลักในการบำบัดอาการของคุณแม่ก็ทุเลาอย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน เลือดหยุดไหล เมื่อใช้ย่านางอีกบำบัดต่อเนื่องอีก 3 เดือนต่อมา มดลูกที่โต 16 เซนติเมตรก็ยุบลงเหลือเท่าขนาดปกติ คือเท่าผลชมพู่ ผิวมดลูกที่ขรุขระเหมือนหนังคางคกก็หายไป อาการตกขาวก็หายไปด้วย
ต่อมาเขาทดลองใช้ย่านางกับผู้ป่วยมะเร็งตับ ผู้ป่วยก็อาการดีขึ้น เมื่อครบ 3 เดือนไปตรวจอัลตราซาวด์ พบว่ามะเร็งฝ่อลง จากนั้นก็ทดลองกับผู้ป่วยโรคเกาต์ให้ดื่มน้ำย่านางต่อเนื่อง 3 เดือน อาการปวดข้อก็หายไป ไปตรวจที่โรงพยาบาลไม่พบโรคเกาต์ ซึ่งทางการแพทย์แผนปัจจุบัน บอกว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ได้ทดลองกับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง หลังจากดื่มน้ำย่านางต่อเนื่อง พบว่าสามารถลดน้ำตาลในเลือดและลดความดันโลหิตได้ หลังจากนั้นเขาได้ข้อมูลจากคนแก่อายุ 77 ปีคนหนึ่งที่ดื่มน้ำย่านางต่อเนื่องกัน 1 เดือน พบว่าผมที่เคยขาวกลับเปลี่ยนเป็นสีเทา และมีสีดำแซม ลูกสาวของคนแก่ดังกล่าวเป็นเชื้อราทำลายเล็บ รักษาด้วยการทาและกินยาแผนปัจจุบันไม่หาย พอดื่มน้ำย่านางได้ 10 วัน ก็ทุเลาอย่างรวดเร็ว
เขาได้ทดลองให้น้ำย่านางกับผู้ป่วยอีกหลายโรคหลายอาการไม่ว่าเป็นอาการไข้ขึ้น ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตุ่มผื่นคัน และอาการอื่นๆ ก็พบว่าอาการทุเลาอย่างรวดเร็ว เขาได้ข้อมูลจากผู้ป่วยหลายคนที่นำย่านางไปใช้บำบัดรักษาโรคพบว่า ไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายที่รักษายาก หรือโรคที่รักษาง่ายหลายโรคหลายอาการย่านางสามารถบำบัดรักษาให้ทุเลาเบาบางหรือหายได้ ดังนั้น เขาจึงได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับย่านาง เผื่อว่าย่านางอาจจะเป็นส่วนที่ช่วยบำบัด บรรเทาทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บของญาติพี่น้องของเพื่อนร่วมโลกได้บ้าง
ประสบการณ์การใช้ตามแนวธรรมชาติ
จากประสบการณ์คนที่ได้ใช้ใบย่านางกับผู้ป่วยพบว่า ใบย่านางมีฤทธิ์เย็น จึงใช้ใบย่านางปรับสมดุล บำบัดหรือบรรเทาอาการอันเกิดจากภาวะไม่สมดุลแบบร้อนเกิน พบว่าใบย่านางเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ในการป้องกันคุ้มครองรักษา และฟื้นฟูเซลล์ร่างกายของคนในยุคนี้ เพราะคนส่วนใหญ่จะมีภาวะไม่สมดุลแบบร้อนเกินไป อันเนื่องมาจากผู้คนส่วนใหญ่มีความเครียดสูง มักถูกบีบคั้น กดดันจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ให้ต้องแก่งแย่งแข่งขัน เร่งรีบ เร่งร้อน สิ่งแวดล้อมถูกทำลายก็มีมลพิษมากขึ้น ต้นไม้ที่ให้ออกซิเจน ร่มเย็น ให้ความชุ่มชื้นก็ถูกทำลายจนเหลือน้อย โลกจึงร้อนขึ้น อาหารและเครื่องดื่มปนเปื้อนสารเคมีมากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการเริ่มผลิตทางการเกษตร ที่ใช้สารเคมีกันอย่างมากมายจนถึงการปรุงอาหาร ผู้คนอยู่กับเครื่องไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุปัจจัยหลัก ที่ทำให้คนเจ็บป่วยด้วยภาวะไม่สมดุลแบบร้อนเกินไป
สถานการณ์ดังกล่าวตรงกันข้ามกับเมื่อ 30-50 ปีที่ผ่านมา ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความเครียด วิถีชีวิตเรียบง่าย สงบ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลกัน ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขัน ไม่ต้องเร่งรีบเหมือนคนยุคนี้ สิ่งแวดล้อมมีมลพิษน้อย ป่าไม้ก็มีมาก แม่น้ำลำธารใสสะอาด อาหารการกินไม่มีสารเคมีเจือปน ตั้งแต่กระบวนการผลิตทางการเกษตร จนถึงกระบวนการปรุงอาหารก็ไร้สารพิษ ปรุงแต่งน้อย รสไม่จัดจ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ไม่ค่อยมี ผู้คนส่วนใหญ่ในยุคนั้น จึงมักมีภาวะไม่สมดุลแบบเย็นเกินไป
อาการหรือโรคที่เกิดจากภาวะไม่สมดุลแบบร้อนเกินไป ซึ่งสามารถใช้ใบย่านางปรับสมดุล บำบัดหรือบรรเทาได้ มีดังต่อไปนี้
1. ตาแดง ตาแห้ง แสบตา ปวดตา ตามัว ขี้ตาข้น เหนียว หรือไม่ค่อยมีขี้ตา
2. มีสิว ฝ้า
3. มีตุ่ม แผล ออกร้อนในช่องปาก เหงือกอักเสบ
4. นอนกรน ปากคอแห้ง ริมฝีปากแห้งแตกเป็นขุย
5. ผมหงอกก่อนวัย รูขุมขน ขยายโดยเฉพาะบริเวณหน้าอก คอ ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง
6. ไข้ขึ้น ปวดหัว ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว
7. มีเส้นเลือดขอดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เส้นเลือดฝอยแตกใต้ผิวหนัง มีรอยจ้ำเขียว คล้ำ
8. ปวดบวมแดงร้อนตามร่างกายหรือตามข้อ
9. กล้ามเนื้อเกร็งค้าง กดเจ็บ เป็นตะคริวบ่อยๆ
10. ผิวหนังผิดปกติคล้ายรอยไหม้ เกิดฝีหนอง น้ำเหลืองเสียตามร่างกาย
11. ตกกระสีน้ำตาลหรือสีดำตามร่างกาย
12. ท้องผูก อุจจาระแข็งหรือเป็นก้อนเล็กๆ คล้ายขี้แพะ บางครั้ง มีท้องเสียแทรก
13. ปัสสาวะมีปริมาณน้อย สีเข้ม ปัสสาวะบ่อย แสบขัด ถ้าเป็นมากๆ จะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือมีเลือดปนออกมาด้วย มักมีปัสสาวะช่วงเที่ยงคืนถึงตี 2 (คนที่ร่างกายปกติ สมดุล จะไม่ตื่นปัสสาวะกลางดึก)
14. ออกร้อนท้อง แสบท้อง บางครังมีอาการ ท้องอืดร่วมด้วย
15. มีผื่นที่ผิวหนัง ปื้นแดงคัน หรือมีตุ่มใสคัน
16. เป็นเริม งูสวัด
17. หายใจร้อน เสมหะเหนียวข้น ขาวขุ่น สีเหลืองหรือสีเขียว บางทีเสมหะพันคอ
18. โดยสารยานยนต์ มักอ่อนเพลียและหลับขณะเดินทาง
19. เลือดกำเดาออก
20. มักง่วงนอน หลังกินข้าวอิ่มใหม่ๆ
21. เป็นมากจะยกแขนขึ้นไม่สุด ไหล่ติด
22. เล็บมือ เล็บเท้า ขวางสั้น ผุ ฉีกง่าย มีสีน้ำตาลหรือดำคล้ำ อักเสบ บวมแดงที่โคนเล็บ
23. หน้ามืด เป็นลม วิงเวียน บ้านหมุน คลื่นไส้ มักแสดงอาการเมื่ออยู่ในที่อับ หรืออากาศร้อนหรือเปลี่ยนอิริยาบถเร็วเกิน หรือทำงานเกินกำลัง
24. เจ็บเหมือนมีเข็มแทงหรือไฟช็อต หรือร้อนเหมือนไฟเผา
25. อ่อนล้า อ่อนเพลีย แม้นอนพักก็ไม่หาย
26. รู้สึกร้อนแต่เหงื่อไม่ออก
27. เจ็บปลายลิ้น แสดงว่าหัวใจร้อนมากถ้าเป็นมากจะเจ็บแปลบที่หน้าอก และอาจร้าวไปที่แขน
28. เจ็บคอ เสียงแหบ คอแห้ง
29. หิวมาก หิวบ่อย หูอื้อ ตาลาย ลมออกหู หูตึง
30. ส้นเท้าแตก เจ็บส้นเท้า ออกร้อน บางครั้งเหมือนไฟช็อต
31. เกร็ง ชัก
32. โรคที่เกิดจากสมดุลแบบร้อนเกินไป ได้แก่ โรคหัวใจ เป็นหวัดร้อน ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ตับอักเสบ กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ ริดสีดวงทวาร มดลูกโต ตกขาว ตกเลือด ปวดมดลูก หอบหืด ไตอักเสบ ไตวาย นิ่วไต นิ่วกระเพาะปัสสาวะ นิ่วถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไส้เลื่อน ต่อมลูกหมากโต โรคเกาต์ ความดันสูง เบาหวาน เนื้องอก มะเร็ง พิษของแมลงสัตว์กัดต่อย
วิธีใช้
ใช้ใบย่านางในการเพิ่มคลอโรฟิล คุ้มครองเซลล์ ฟื้นฟูเซลล์ ปรับสมดุล บำบัดหรือบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะไม่สมดุล แบบร้อนเกินไป ดังนี้
1. เด็กใช้ใบย่านาง 1-5 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว (200-600 ซีซี.)
2. ผู้ใหญ่ที่รูปร่างผอม บาง เล็ก ทำงานไม่ทน ใช้ 5-7 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว
3. ผู้ใหญ่ที่รูปร่างผอม บาง เล็ก ทำงานทน ใช้ 7-10 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว
4. ผู้ใหญ่ที่รูปร่างสมส่วนถึงตัวโต ใช้ 10-20 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว โดยใช้ใบย่านางสดโขลกให้ละเอียดแล้วเติมน้ำ หรือขยี้ใบย่านางกับน้ำหรือปั่นในเครื่องปั่น (แต่การปั่นในเครื่องใช้ไฟฟ้าจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง เนื่องจากความร้อนจะไปทำงายความเย็นของใบย่านาง) แล้วกรองผ่านกระชอนเอาแต่น้ำ ดื่มครั้งละ ½-1 แก้ว วันละ 2-3 เวลา ก่อนอาหารหรือตอนท้องว่าง หรือผสมเจือจางดื่มแทนน้ำเปล่า ในอุณหภูมิห้องปกติ ควรดื่มภายใน 4 ชั่วโมง หลังจากทำน้ำใบย่านาง เพราะถ้าเกิน 4 ชั่วโมง มักจะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่เหมาะที่จะดื่ม จะทำให้เกิด ภาวะร้อนเกินไป แต่ถ้าแช่ในน้ำแข็งหรือตู้เย็น ควรใช้ภายใน 3-7 วัน โดยให้สังเกตที่กลิ่นเหม็นเปรี้ยวเป็นหลัก
5. การทำน้ำย่านางอาจผสมน้ำมะพร้าว หรือน้ำเล็กน้อย เพื่อผลทางยาหรือช่วยให้ดื่มง่ายขึ้น
6. บางคนเป็นโรคหรือมีอาการหนักมาก บางครั้งย่านางเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ทุเลาได้ ให้ใช้พืชฤทธิ์เย็นที่นำมาช่วยเสริม โดยนำมาขยี้ โขลกหรือปั่นรวมกับย่านาง พืชฤทธิ์เย็นที่นำมาเสริมฤทธิ์ย่านางที่มีประสิทธิภาพดีได้แก่ ใบอ่อมแซ่บ 1 กำมือ ใบเตย 1-3 ใบ ผักบุ้ง 5-10 ต้น บัวบก 1 กำมือ เสลดพังพอนตัวเมีย 5-10 ยอด (1 ยอด ยาว 1 คืบ) ใบตำลึงแก่ 1 กำมือ หญ้าปักกิ่ง 1-3 ต้น ว่านกาบหอย 3-5 ใบ เป็นต้น โดยนำมาเสริมเท่าที่จะหาได้ พืชชนิดใดที่หาไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้ และถ้าพืชชนิดใดไม่ถูกกับผู้ที่จะดื่มก็ไม่ต้องมาผสม อาการของพืชที่ไม่ถูกกับร่างกาย คือ เมื่อรับประทานหรือสัมผัสพืชนั้นจะระคายคอ หรือมีอาการไม่สบายบางอย่าง พอผสมกันหลายอย่าง ก็รับประทานได้โดยไม่มีอาการผิดปกติ แต่บางคนแม้ผสมกันหลายอย่าง ก็ยังแสดงอาการผิดปกติอยู่ ก็ให้งดใช้พืชชนิดนั้นเสีย
7. บางคนไม่ชินกับการรับประทานสด ก็สามารถผ่านไฟอุ่นหรือเดือดได้ไม่เกิน 5 นาที โดยตรวจสอบร่างกายของตนเองว่า ระหว่างรับประทานสดกับผ่านไฟ อย่างไหนรู้สึกสดชื่น สบายหรืออาการทุเลาได้มากกว่าก็ใช้วิธีนั้น
8. คนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ให้ดื่มน้ำย่านางหรือสมุนไพรรวมฤทธิ์เย็นกับกล้วยดิบและขมิ้น โดยใช้กล้วยดิบทั้งเปลือก 1 ลูก แบ่งเป็น 3 ส่วน เท่าๆ กัน นำกล้วยดิบและขมิ้นอย่างละ 1 ชิ้น (ต่อครั้ง) โขลกให้ละเอียด หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืน พร้อมดื่มน้ำย่านาง หรือสมุนไพรรวมฤทธิ์เย็น วันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร หรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่ถ้ามีอาการออกร้อนท้องร่วมด้วยให้งดขมิ้น สำหรับกล้วยดิบ หรือขมิ้นอาจใช้เป็นลูกกลอกหรือแคปซูลก็ได้ ใช้กล้วยดิบครั้งละ 3-5 เม็ด 3 เวลา ก่อนอาหาร ส่วนขมิ้นใช้ครั้งละ 1-3 เม็ด 3 เวลา ก่อนอาหาร
9. สำหรับคนที่มีอาการท้องเสีย ให้ใช้ย่านางปริมาณที่เหมาะสมกับบุคคลดังที่นำเสนอข้างต้น ขยี้กับใบฝรั่งแก่ 3-5 ใบ หรือใบทับทิมครครึ่ง 1 กำมือ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว ดื่มก่อนอาหาร ครั้งละครึ่ง 1 แก้ว หรือดื่มบ่อยจนกว่าจะหายท้องเสีย ย่านางสามารถฆ่าเชื้อโรคที่เป็นเหตุให้เกิดอาการท้องเสีย อีกสูตรหนึ่งที่ได้ผลดีมากคือ ดื่มน้ำย่านาง หรือน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น ควบคู่กับสมุนไพรต้ม คือเอาเปลือกสะเดา (ส่วนที่มีรสฝาดขมกึ่งกลางระหว่างเปลือกแข็งนอกสุดและแก่น) ยาว 1 คืบของผู้ป่วย กว้าง 1-2 เซนติเมตร เปลือกมังคุดสดหรือตากแห้ง 1-3 ลูก ใบฝรั่งแก่ 3-5 ใบ ทั้งสามอย่าง รวมกัน ต้มใส่น้ำ 3-5 แก้ว เดือด 5-10 นาที แล้วผสมน้ำตาล 3-5 ช้อนโต๊ะ ดื่มครั้งละ 1 แก้ว 3 เวลา ก่อนอาหาร หรือจิบเรื่อยๆ จนกว่าอาการท้องเสียจะหาย
10. การใช้น้ำย่านางกับภายนอกร่างกาย
10.1 ใช้น้ำย่านางหรือน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นเจือจางกับน้ำเปล่าใช้เช็ดตัวลดไข้ได้อย่างดี หรือใช้ผ้าชุบวางบริเวณที่ปวดออกร้อน ช่วยลดความร้อนของร่างกายและผิวหนัง
10.2 ผสมน้ำยาสระผม ใช้สระผมได้อย่างดี ช่วยให้ศรีษะเย็น ผมดกดำหรือชะลอผมหงอก
10.3 ใช้ย่านางหรือน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น ผสมดินสอพองหรือปูนเคี้ยวหมากให้เหลวพอประมาณ ทาสิว ฝ้า ตุ่ม ผื่น คัน พอกฝีหนัง จะช่วยถอนพิษและแก้อักเสบได้
11. การประเมินว่า ปริมาณหรือความเข้มข้นพอเหมาะที่จะดื่มหรือไม่
11.1 ขณะที่ดื่มเข้าไป จะกลืนง่ายไม่ฝืดฝืน ไม่ระคายคอ
11.2 อาการไม่สบายทุเลาลง ปากคอชุ่ม ร่างกายสดชื่น
11.3 ถ้าดื่มน้อยไป อาการก็ไม่ทุเลา ถ้าดื่มมากไปก็จะเกิดอาการไม่สบายบางอย่าง หรือในขณะดื่มจะรู้สึกได้ว่าร่างกายจะมีสภาพต้านบางอย่างเกิดขึ้น
12. สำหรับท่านที่ไม่ค่อยได้รับประทานผักสด ร่างกายก็จะขาดวิตามินและคลอโรฟิล ในใบย่านางมีวิตามิน คลอโรฟิลคุณภาพดี มีพลังสด พลังชีวิตประสิทธิภาพสูง ในการปกป้อง คุ้มครองและฟื้นฟูเซลล์ของร่างกายได้อย่างดีเยี่ยม
หมายเหตุ
1. หลายครั้งที่การดื่มสมุนไพรเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ก็ควรจะทำอย่างอื่นเสริมในการปรับสมดุลร้อนหรือเย็นของร่างกายด้วย จะทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพยิ่งขึ้น เช่น การปรับสมดุลด้านอิทธิบาท อารมณ์ อาหาร การออกกำลังกาย อากาศ เอนกายและเอาพิษออก ซึ่งรายละเอียดของการปรับสมดุลร้อน-เย็น ไม่สมดุล โดยใจเพชร มีทรัพย์ (หมอเขียว)
2. ถ้าไม่มีย่านางหรือร่างกายไม่ถูกกับย่านาง ก็สามารถใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็นตัวอื่น ๆ แทนได้
ย่านาง วงศ์ MENISPERMACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tiliacora triandra (Colebr.) Diels
ชื่อพื้นเมือง ภาคกลาง เถาย่านาง, เถาหญ้านาง, เถาวัลย์เขียว, หญ้าภคินี
เชียงใหม่ จ้อยนาง, จอยนาง, ผักจอยนาง
ภาคใต้ ย่านนาง, ยานนาง, ขันยอ
สุราษฎร์ธานี ยาดนาง, วันยอ
ภาคอีสาน ย่านาง
ไม่ระบุถิ่น เครือย่านาง, ปู่เจ้าเขาเขียว, เถาเขียว, เครือเขางาม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น เป็นไม้เถาว์เลื้อย เกี่ยวพันไม้อื่น เป็นเถาว์กลมๆ ขนาดเล็ก แต่เหนียว มีสีเขียว เมื่อเถาว์แก่จะมีสีเข้ม บริเวณเถาว์มีข้อห่างๆ เถาอ่อน มีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่แล้วผิวค่อนข้างเรียบ
ราก มีหัวใต้ดิน รากมีขนาดใหญ่
ใบ เป็นใบเดี่ยวคล้ายใบพริกไทย ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5-10 ซม. กว้าง 2-4 ซม. ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. ในภาคใต้ใบค่อนข้างเรียวยาวแหลมกว่า สีเขียวเข้ม หน้าและหลังใบเป็นมัน
ดอก ออกตามซอกใบ ซอกโคนก้าน จากข้อเถาว์แก่เป็นช่อยาว 2-5 ซม. ช่อหนึ่งๆ มีดอกขนาดเล็กสีเหลีอง 3-5 ดอก ออกดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ไม่มีกลีบดอก ขนาดโตกว่าเมล็ดงาเล็กน้อย ต้นเพศผู้จะมีดออกสีน้ำตาล อับเรณูสีเหลืองอ่อน ดอกย่อยของต้นเพศผู้จะมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกมีขนสั้นๆ ละเอียด ปกคลุมหนาแน่น ออกดอกช่วงเดือนเมษายน
ผลรูปร่างกลมเล็ก ขนาดเท่าผลมะแว้ง สีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีเหลืองอมแดง หรือสีแดงสด และกลายเป็นสีดำในที่สุด
เมล็ด เมล็ดแข็งรูปเกือกม้า
แหล่งที่พบ ย่านางเป็นพืชที่พบในแหล่งธรรมชาติ ป่าทั่วไปที่มีความชุ่มชื้น บริเวณป่าผสมผลัดใบ ป่าดงดิบ และป่าโปร่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคอื่นๆ ก็มีกระจายทั่วไป
การปลูกและขยายพันธุ์
ย่านางเป็นพืชที่ขึ้นในดินทุกชนิด และปลูกได้ทุกฤดู ขยายพันธุ์โดยการใช้หัวใต้ดิน เถาว์แก่ที่ติดหัว ปักชำยอด หรือการเพาะเมล็ด เป็นไม้ที่ปลูกง่ายโดยปลูกเป็นหลุมหรือยกร่องก็ได้
ประโยชน์ทางยา
สารเคมีที่สำคัญ
รากย่านางมี isoquinolone alkaloid ได้แก่ Tiliacorine, Tiliacorinine, Nortiliacorinine A, Tiliacotinine 2-N-oxde และ tiliandrine, tetraandrine, D-isochondendrine (isberberine)
การทดลองทางห้องปฏิบัติการ
จากการทดลองพบว่าสารสกัดจากรากย่านางมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียชนิด ฟัลซิพารัมในหลอดทดลอง
ใบ รสจืดขม รับประทาน ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้ ตัวร้อน แก้ไข้รากสาด ไข้พิษ ไข้หัว ไข้กลับซ้ำ ใช้เข้ายาเขียว ทำยาพอก ลิ้นกระด้าง คางแข็ง กวาดคอ แก้ไข้ฝีดาษ ไข้ดำแดงเถา
ราก รสจืดขม กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ ปรุงยาแก้ไข้รากสาด ไข้กลับ ไข้พิษ ไข้ผิดสำแดง ไข้เหนือ ไข้หัวจำพวกเหือดหัด สุกใส ฝีดาษ ไข้กาฬ รับประทานแก้พิษเมาเบื่อแก้เมสุรา แก้พิษภายในให้ตกสิ้น บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้โรคหัวใจบวม ถอนพิษผิดสำแดง แก่ไม่ผูก ไม่ถ่าย แก้กำเดา แก้ลม
ทั้งต้น ปรุงเป็นยาแก้ไข้กลับ
1. แก้ไข้
ใช้รากย่านางแห้ง 1 กำมือ ประมาณ 15 กรัม ต้มกับน้ำ 2 แก้วครึ่ง เคี่ยวให้เหลือ 2 แก้ว ให้ดื่มครั้งละ ½ แก้ว ก่อนอาหาร 3 เวลา
2. แก้ป่วง (ปวดท้องเพราะกินอาหารผิดสำแดง)
ใช้รากย่านางแดงและรากมะปรางหวาน ฝนกับน้ำอุ่น แต่ไม่ถึงกับข้น ดื่มครั้งละ ½-1 แก้วต่อครั้ง วันละ 3-4 ครั้ง หรือทุกๆ 2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีรากมะปรางหวาน ก็ใช้รากย่านางแดงอย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าให้ดียิ่งขึ้น ใช้รากมะขามฝนรวมด้วย
3. ถอนพิษเบื่อเมาในอาหาร เช่น เห็ด กลอย ใช้รากย่านางต้นและใบ 1 กำมือ ตำผสมกับข้าวสารเจ้า 1 หยิบมือ เติมน้ำคั้นให้ได้ 1 แก้ว กรองด้วยผ้าขาวบาง ใส่เกลือและน้ำตาลเล็กน้อยพอดื่มง่ายให้หมดทั้งแก้ว ทำให้อาเจียนออกมา จะช่วยให้ดีขึ้น
4. ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้
ใช้หัวย่านางเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วนดื่มครั้งละ ½ แก้ว
การใช้เป็นยาพื้นบ้านในภาคอีสาน
1. ใช้ราก ต้มเป็นยาแก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น
2. ใช้รากย่านางผสมรากหมาน้อย ต้มแก้ไข้มาลาเรีย
3. ใช้ราก ต้มขับพิษต่างๆ
รสและคุณค่าทางโภชนาการ
ใบย่านางรสจืด
คุณค่าทางโภชนาการ ข้อมูลจากหนังสือ Thai Food Composition Institute of Nutrition, Mahidol University (สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) พบว่า ปริมาณสารสำคัญที่มีมากและโดดเด่นในใบย่านาง คือ ไฟเบอร์ แคลเซี่ยม เหล็ก เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ
ใบย่านาง 100 กรัม ให้คุณค่าโภชนาการดังนี้
พลังงาน 95 กิโลแคลอรี่
เส้นใย 7.9 กรัม
แคลเซี่นม 155 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม
เหล็ก 7.0 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 30625 IU
วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม
วิตามินบีสอง 0.36 มิลลิกรัม
ไนอาซิน 1.4 มิลลิกรัม
วิตามินซี 141 มิลลิกรัม
หรือโปรตีน 15.5 เปอร์เซนต์
ฟอสฟอรัส 0.24 เปอร์เซนต์
โพแทสเซี่ยม 1.29 เปอร์เซนต์
แคลเซี่ยม 1.42 เปอร์เซนต์
ADF 33.7 เปอร์เซนต์
NDF 46.8 เปอร์เซนต์
DMD 62.0 เปอร์เซนต์
แทนนิน 0.21 เปอร์เซนต์
ประโยชน์ทางอาหาร
ย่านาง มีทุกฤดูกาล ให้ยอดมากในฤดูฝน และให้ผลในฤดูแล้ง
ส่วนที่กินและการปรุงอาหาร
คนไทยนิยมใช้ใบย่านางคั้นเอาน้ำปรุงอาหารต่างๆ เช่น แกงหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ (ย่านางสามารถต้านพิษกรดยูริกในหน่อไม้ได้) แกงอ่อม แกงเห็ด หรือขยี้ใบสดกับหมาน้อย รับประทานถอนพิษร้อนต่างๆ
ภาคอีสาน
เถาว์และใบของย่านางนิยมใช้เป็นเครื่องปรุงรส ใช้แต่งสีเขียวในอาหารคาว และช่วยทำให้น้ำแกงข้นมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประกอบเป็นอาหารต่างๆ ดังนี้
1. เถาว์ ใบอ่อน ใบแก่ ตำ คั้นเอาน้ำสีเขียว นำไปต้มกับหน่อไม้ ปรุงเป็นแกงหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ แกงต้มเปรอะ เชื่อว่าย่านางจะช่วยลดรสขม ของหน่อไม้ได้ดี ทำให้หน่อไม้มีรสหวานอร่อย
2. นำไปแกงกับยอดหวาย
3. นำไปแกงกับขี้เหล็ก
4. นำไปใส่แกงขนุน แกงผักอีลอก
5. นำไปอ่อมและหมก
ข้อควรระวัง (ขลำ) ต้องทำให้สุก
เป็นที่น่าสังเกตว่า คนอีสานไม่มีข้อห้ามในการกินหน่อไม้ในคนที่สูงอายุ ซึ่งแตกต่างจากทางภาคอื่นๆ ที่มีข้อห้ามในการบริโภคหน่อไม้ เมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเชื่อกันว่าหน่อไม้มีผลทำให้ปวดข้อ แต่คนอีสานมีวัฒนธรรมการกินหน่อไม้คู่กับย่านางเสมอ จึงไม่มีปัญหาเหมือนการกินหน่อไม้ของภาคอื่นๆ
ภาคใต้
1. ใช้ยอด ใบเพสลาด (ไม้อ่อน ไม่แก่เกินไป) นำไปแกงเลียง ผัด แกงกะทิ
2. ผลสุก ใช้กินเล่น
ภาคเหนือ
1. ยอดอ่อน นำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก
2. ยอดอ่อน ใบแก่ คั้นน้ำนำมาใส่แกงพื้นเมือง เช่น แกงหน่อไม้ แกงแค
ประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ
1. น้ำสีเขียวจากใบย่านางนำไปใช้ย้อมผ้าได้อีกด้วย
2. ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น กระบือ
3. เถาว์ มีความเหนียว ใช้มัดสัมภาระได้
ตัวอย่างสูตรอาหารจากใบย่านาง ซุบหน่อไม้
เครื่องปรุง
หน่อไม้รวกขูดเป็นเส้นฝอย 300 กรัม
ใบย่านาง 20 ใบ
น้ำคั้นจากใบย่านาง 2 ถ้วย
น้ำปลาร้าเจ ½ ถ้วย
เกลือ ½ ช้อนชา
ซีอิ้ว 1 ช้อนโต๊ะ
มะนาว 2-3 ช้อนโต๊ะ
ผักชีฝรั่งซอย 2 ต้น
ต้นหอมซอย 2 ช้อนโต๊ะ
ใบสะระแหน่เด็ดเป็นใบ ½ ถ้วย
งาขาวคั่ว 1 ช้อนชา
พริกป่น 1 ช้อนชา
ข้าวเหนียว 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. นำหน่อไม่สดมาเผาไฟให้สุก ลอกกาบที่ไหม้ไฟออกและล้างให้สะอาด นำหน่อไม้มาขูดด้วยมีดหรือส้อมทำให้เป็นเส้นยาวๆ
2. นำใบย่านางล้างให้สะอาด โขลกและนำมาคั้นกรองเอาน้ำที่ข้น 2 ถ้วย
3. นำข้าวเหนียวที่แช่น้ำสักครู่มาโขลกให้ละเอียด
4. นำเครื่องปรุงที่เตรียมจากข้อ 1-3 ใส่ในหม้อ คนให้เข้ากันยกขึ้นตั้งไฟจนเดือดสักครู่ใส่น้ำปลาร้าเจ เกลือ ซีอิ้ว ยกลงและทิ้งไว้ให้หายร้อนหรือขณะยังอุ่นอยู่
5. ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว พริกป่น คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักใส่จานโรยหน้าด้วยงาคั่ว ต้นหอม ผักชีฝรั่ง ใบสะระแหน่ รับประทานกับผักสด
............เป็นไงบ้างคะ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ธรรมดาเลยใช่มั้ยคะ..? ทำให้เราห่างไกลยา และหมอได้ โดยไม่เสียตังค์...แถมชลอความชราด้วยนะคะ ทีนี้ก็...มาลองดื่มน้ำย่านางกันได้แล้ว....สำหรับผู้ที่เคยดื่มแล้วก็คงรู้แล้วว่าเยี่ยมแค่ไหน? สดชื่นอย่างไร?
ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยก็มาลองหัดดื่ม...ทีละน้อยๆก่อน..เดี๋ยวก็ชินลิ้นเอง..ลองดูนะคะ..( ที่มา..www.2how.com )
.......ด้วยรักและห่วงใย......
ครูรัชนี เจออะไรที่ดีๆป็นไม่ได้ ไม่วายคิดถึงและเป็นห่วงเพื่อนครูทุกท่าน จึงได้นำความรู้นี้มาฝาก..เพื่ออ่าน..เพื่อปฏิบัติต่อตนเอง
ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพร่างกายของเราที่มีคนละหนึ่งเดียวเท่านั้น!!
ไม่ว่า...เราจะทำงาน...เราจะทำผลงาน...เราต้องอาศัยร่างกายเรา ทั้งนั้น...ใช่มั้ย..
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของกรมประสัมพันธ์ และ วิชาการดอทคอม
ที่มา ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการประชาสัมพันธ์
www.prd.go.th