การจับกุม, คุมขัง, ตรวจค้นตัวบุคคลบันทึก เรื่อง หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจับกุมตามมาตรา 78 มาตรา 117 มาตรา 134 และมาตรา 136
แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา - คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) - เรื่องเสร็จที่ 452/2546
มาตรา 78 มาตรา 117 มาตรา 134 มาตรา 136 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
(ความเห็นตามกฎหมายเดิมที่ยกเลิกไปแล้ว – รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (มาตรา 237)
แต่นำมาเป็นแนวการตีความได้)
การดำเนินการตามข้อยกเว้นตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้อำนาจกระทำได้
จะต้องปฏิบัติในขอบเขตและเงื่อนไขที่จำกัดเท่าที่มีเหตุจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ส่วนกรณีใดถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับ
โดยไม่มีหมายตามมาตรา 78 มาตรา 117 มาตรา 134 และมาตรา 136 แห่งประมวลวิธีพิจารณาคดีความอาญานั้น
แยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) กรณีตามมาตรา 78 (2) หากเป็นกรณีเมื่อพบบุคคลกำลังพยายามกระทำความผิดถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิด
ซึ่งหน้าตามมาตรา 80 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 237
วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ส่วนกรณีเมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันสมควรสงสัยว่าผู้นั้น
จะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิดนั้น
ถือเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับโดยไม่มีหมายได้ แต่จะเข้าข้อยกเว้นให้จับได้โดยไม่ต้องมีคำสั่ง หรือหมายของศาล
ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วย
(2) กรณีตามมาตรา 78 (3) ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป และต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างเคร่งครัด
ว่าเป็นกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่า ผู้นั้นได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอัน ควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนี
(3) กรณีตามมาตรา 78 (4) ไม่เป็นข้อยกเว้นที่ให้อำนาจพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับได้โดยไม่ต้องขอ
หมายจับจากศาล เนื่องจากมิใช่กรณีเป็นความผิดซึ่งหน้าหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ให้จับได้ตาม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้
(4) กรณีตามมาตรา 117 ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เพราะเป็นกรณีจำเป็นที่ไม่อาจรอให้ศาลออกหมายจับได้ทัน
(5) กรณีตามมาตรา 134 เป็นเรื่องขั้นตอนการสอบสวนผู้ต้องหาไม่ใช่การจับกุมตามนับของมาตรา 237 วรรคหนึ่ง
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(6) กรณีตามมาตรา 136 ไม่ถือเป็นเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับได้
โดยไม่มีหมายตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เจ้าพนักงานจะต้องขอ
หมายจับจากศาลเสียก่อนสำหรับกรณีที่มีเหตุต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา เนื่องจากสั่งฟ้องศาลไม่ทันตามกำหนด
นั้นหลังจากพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เสร็จสิ้นแล้วหากมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา
หรือมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องแต่พนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้อง พนักงานสอบสวนมีอำนาจขอให้
ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในข้อหาเดิมเพื่อจับกุม ตัวผู้ต้องหาแล้วส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการ
หรือเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหามาฟ้องต่อศาลแล้วแต่กรณีได้
จันทกานต์ เชิดชู/ผู้ย่อ
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง/ทาน
ดาวโหลดไฟล์ทั้งฉบับเต็มและฉบับย่อ แล้วปริ้นช์ไปติดที่ร้านและอ่านกันครับ
เรื่องเสร็จที่ 452 ฉบับเต็ม-ย่อ