ด้วยคุณสมบัติของก๊าซหุมต้มที่ติดไฟอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการระเบิดสูง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีใช้ก๊าซหุงต้มอย่างปลอดภัย ดังนี้
การเลือกถังก๊าซ ควรเลือกถังที่มีเครื่องหมาย มอก. และปิดผนึกวาล์วถังก๊าซอย่างแน่นหนา พร้อมระบุวัน เดือน ปีที่ผลิตและการทดสอบถังครั้งสุดท้าย (ไม่เกิน ๕ ปี) ถังก๊าซอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ บวมหรือเป็นสนิม
การตั้งถังก๊าซ ควรตั้งบนพื้นราบที่แข็งแรงในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่กีดขวางทางเข้า-ออก โดยวางถังก๊าซให้ห่างจากเตาแก๊สประมาณ ๑.๕ ๒ เมตร ไม่วางถังก๊าซในแนวนอน หรือบริเวณที่มีความร้อน ความชื้นสูง มีประกายไฟ และเป็นแหล่งเก็บสารเคมีที่มีคุณสมบัติกัดกร่อน เพราหากมีก๊าซรั่วไหลจะทำให้เสี่ยงต่อการระเบิด
การใช้ก๊าซหุงต้ม ห้ามกลิ้งหรือกระแทกถัง เพราะอาจทำให้ถังก๊าซระเบิด หากเปิดแล้วไฟไม่ติด ควรเว้นระยะสักครู่ค่อยเปิดซ้ำ เพราะอาจมีก๊าซสะสมและกระจายตัวจำนวนมาก หากมีประกายไฟจะเกิดการระเบิดได้ หลังใช้งานควรปิดวาล์วที่ถังก๊าซให้สนิท
การตรวจสอบรอยรั่ว ให้ใช้น้ำสบู่ลูบตามจุดต่างๆของถัง โดยเฉพาะบริเวณวาล์ว ข้อต่อ และสายท่อนำก๊าซ หากมีฟองสบู่ผุดแสดงว่ามีก๊าซรั่วไหล ให้รีบปิดวาล์วถังก๊าซและเปลี่ยนถังก๊าซใหม่ทันที
กรณีก๊าซรั่ว ให้รีบปิดวาล์วถังก๊าซและเร่งระบายก๊าซออกสู่ภายนอก โดยเปิดประตู หน้าต่างหรือยกถังก๊าซ ไปบริเวณโล่งแจ้ง พร้อมพลิกถังก๊าซส่วนที่รั่วไว้ด้านบน และนำผ้าชุบน้ำมาปิดบริเวณที่ก๊าซรั่ว รวมทั้งห้ามทำให้เกิดประกายไฟในบริเวณที่ก๊าซรั่วไหล
กรณีเกิดเพลิงไหม้ ควรรีบปิดวาล์วถังก๊าซ หากไม่สามารถปิดได้ ให้ใช้น้ำราด เครื่องดับเพลิงฉีด หรือผ้าชุบน้ำคลุมตรงจุดที่เพลิงไหม้จนไฟดับสนิท
ที่สำคัญผู้ใช้งานควรตรวจสอบถังก๊าซให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ห้ามถ่ายเทก๊าซด้วยตนเอง รวมทั้ง ไม่นำถังก๊าซหุงต้มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์อย่างเด็ดขาด
ที่มาวิชาการดอดคอม