ขุนพันธ์ หรือ ขุนพันธรักษ์ราชเดช กลายเป็นชื่อที่ผู้คนในแผ่นดินเรียกขานฉายานามไว้มากมายไม่ว่าเขาจะถูกส่งไปอยู่ที่ใด เลือดเนื้อและวิญญาญของเขาคือ ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ อดีตนักเรียนนายร้อยทำการ จากโรงเรียน นายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ สามพราน รุ่น พ.ศ. 2472 ลมหายใจของขุนพันธรักษ์ราชเดช คือ ชีวิตของตำรวจอาชีพตำรวจใจสิงห์ผู้เสียสละและยึดมั่นในอุดมคติ
พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร เขต 8 เป็นนายตำรวจชาวเมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไปในภาคใต้ และในจังหวัดอื่นๆ ที่ท่านไปดำรงตำแหน่งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีมือในการปราบปรามโจรผู้ร้าย นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้สนใจวิชาการทั่วไป โดยสนใจทางด้านประวัติศาสตร์คติชนวิทยาและไสยศาสตร์เป็นพิเศษ มีข้อเขียนปรากฏอยู่ในหนังสือ และวารสารต่างๆ หลายเรื่อง ปัจจุบันคนทั่วไปนิยมเรียกท่านสั้นๆ ว่า " ท่านขุน "
ประวัติขุนพันธ์
พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช มีชื่อเดิมว่า บุตร พันธรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2446 ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ 5 ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอ้วน นางทองจันทร์ พันธรักษ์ เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกกับบิดา ตั้งแต่ ก ข ก กา ไปจนจบ พออ่านสมุดข่อยได้บ้างจึงได้เข้าเรียนที่วัดอ้ายเขียวกับอาจารย์ปานซึ่งเป็นสมภาร และอาจารย์นาม สมภารรูปต่อมา
และที่วัดอ้ายเขียวนี้เองท่านได้เรียนกับครูฆราวาสคนหนึ่งด้วย ชื่อนายหีด เป็นชาวอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งอาจารย์ปานได้พามาอยู่ที่วัดนี้ เป็นผู้ที่มีความรู้ ใครๆ เรียกกันว่าหลวงหีด นายหีดได้สอนหนังสือไทยแบบใหม่ให้ คือ ใช้แบบเรียนเร็ว เล่ม 1-2-3 จนท่านขุนมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่ในเกณฑ์ดี หลังจากนั้นท่านจึงเข้าสู่การศึกษาระบบโรงเรียน โดยเริ่มเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดสวนป่าน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากท่านมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่แล้วก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ดังนั้นเมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ได้ 1 วัน ทางโรงเรียนก็เลื่อนชั้นให้เรียนในชั้นประถมปีที่ 2 และวันรุ่งขึ้นก็เลื่อนชั้นให้เรียนชั้นประถมปีที่ 3 เป็นอันว่าท่านเข้าโรงเรียนได้เพียง 3 วัน ได้เลื่อนชั้นถึง 3 ครั้ง
เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสวนป่าน มีพระภิกษุอินทร์ รัตนวิจิตร เป็นผู้สอน เรียนอยู่ประมาณ 2 เดือน โรงเรียนนั้นก็ถูกยุบ ท่านจึงเข้าเรียนในชั้นเดิม ที่โรงเรียนวัดพระนคร ตำบลพระเสื้อเมือง (ปัจจุบันคือตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีครูเพิ่ม ณ นคร เป็นครูประจำชั้น เรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน
ในปี พ.ศ.2456 ได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (โรงเรียนเบจมราชูทิศในปัจจุบัน) พอเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราด ต้องพักรักษาตัวปีกว่า เมื่อหายจึงคิดจะกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิมแต่ปรากฏว่าเพื่อนๆ ที่เคยเรียนด้วยกันเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 และปีที่ 3 แล้ว จึงเปลี่ยนใจเดินทางเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2459 โดยไปอยู่กับพระปลัดพลับ บุณยเกียรติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า ที่วัดส้มเกลี้ยง (วัดราชผาติการาม) ได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ขณะเรียนที่โรงเรียนนี้ได้เรียนวิชามวย ยูโด และยิมนาสติก จนมีความชำนาญพอสมควร ท่านสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 8 ในปี พ.ศ.2467 ต่อมาในปี 2468 จึงได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม ขณะที่เรียนได้เป็นครูมวยไทยด้วย เรียนอยู่ 5 ปี สำเร็จหลักสูตรในปี พ.ศ.2472
พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 5 ก.ค.2549 ด้วยโรคชรา สิริอายุ 108 ปี ขณะนี้ศพตั้งสวดพระอภิธรรมอยู่ที่วัดพระมหาธาตุฯ จ.นครศรีธรรมราช สร้างความอาลัยให้แก่ญาติมิตรและลูกศิษย์ลูกหา ปิดฉากชีวิตวีรบุรุษพริกขี้หนู ฆราวาสจอมขมังเวทที่เลื่องชื่อ
เกียรติประวัติการเป็นตำรวจ
หลังจากจบการศึกษาแล้ว ทางราชการได้แต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อย ที่กองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ.2473 เป็นนักเรียนทำการอยู่ 6 เดือน ได้เลื่อนยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ต่อมาในปี พ.ศ.2474 ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับหมวดที่กองเมืองจังหวัดพัทลุง ที่พัทลุงนี่เองท่านได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงราชการและคนทั่วไป โดยการปราบปรามผู้ร้ายสำคัญของจังหวัดพัทลุง คือ เสือสัง หรือเสือพุ่ม ซึ่งเป็นเสือร้ายที่แหกคุกมาจากเมืองตรัง
ขุนพันธรักษ์ราชเดช เล่าว่า เสือสังนี้มีร่างกายใหญ่โต ดุร้าย และมีอิทธิพลมาก มาอยู่ในความปกครองของกำนันตำบลป่าพยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นอกจากนั้นแล้วยังมีคนใหญ่คนโตหลายคนให้ความอุ้มชูเสือสัง จึงทำให้เป็นการยากที่จะปราบได้ แต่ท่านก็สามารถปรามเสือสังได้ในปีแรกที่ย้ายมารับราชการ โดยท่านไปปราบร่วมกับ พลตำรวจเผือก ด้วงชู มี นายขี้ครั่ง เหรียญขำ เป็นคนนำทาง การปราบปรามเสือสังครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมาก ตอนนั้นจเรพระยาศรีสุรเสนา ไปตรวจราชการตำรวจที่พัทลุงพอดี ผู้ปราบเสือสังจึงได้รับความดีความชอบ คือ ว่าที่ร้อยตำรวจตรีบิตร์ พันธรักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นร้อยตำรวจตรี พลตำรวจเผือก ชูด้วง เป็นสิบตรี และนายขี้ครั่ง ได้รับรางวัล 400 บาท หลังจากนั้นมาอีก 1 ปี ท่านก็ได้ปราบผู้ร้ายสำคัญอื่นๆ 16 คน เช่น เสือเมือง เสือทอง เสือย้อย เป็นต้น ด้วยความดีความชอบ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช" และในปี พ.ศ.2478 ได้รับเลื่อนยศเป็นนายร้อยตำรวจโท และในปีนี้ได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีท่านเจ้าคุณรัตนธัชมุนี (แบน) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชอยู่ได้ 1 พรรษา จึงลาสิกขา
ในปี พ.ศ.2479 ท่านได้ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองตรวจ ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ได้ปราบโจรผู้ร้ายหลายคน การปราบโจรครั้งสำคัญและทำให้ท่านมีชื่อเสียงมากคือ การปราบผู้ร้ายทางการเมืองมีนราธิวาส ในปี พ.ศ.2481 หัวหน้าโจรชื่อ " อะแวสะดอตาเละ " นัยว่าเป็นผู้ที่อยู่ยงคงกระพัน เที่ยวปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยเท่านั้น ในที่สุดก็ถูกขุนพันธ์ฯ จับได้ ท่านจึงได้รับฉายาจากชาวไทยมุสลิมว่า " รายอกะจ ิ" และได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอกในปีนั้นเอง
พ.ศ.2482 ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองเมืองพัทลุง ปี พ.ศ.2485 ย้ายเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ปราบปรามโจรหลายราย รายสำคัญ คือ เสือสาย และเสือเอิบ หลังจากนั้นขุนพันธ์ฯ ได้ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดในภาคอื่น คือ ในปี พ.ศ.2486 ได้ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร ได้ปฏิบัติหน้าที่มีความดีความชอบเรื่อยมา และได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายมากมาย ที่สำคัญคือการปราบ เสือโน้ม หรืออาจารย์โน้ม จึงได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจตรี
พ.ศ.2489 ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ปะทะและปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เป็นต้น กรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า ผู้ร้ายในเขตจังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรีชุกชุมมากขึ้นทุกวันยากแก่การปราบปรามให้สิ้นซาก จึงได้ตั้งกองปราบพเศษขึ้น โดยคัดเลือกเอาเฉพาะนายตำรวจที่มีฝีมือในการปราบปรามรวมได้ 1 กองพัน แต่งตั้งให้ พ.ต.ต.สวัสดิ์ กันเขตต์ เป็นผู้อำนวยการกองปราบ และ พ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นรองผู้อำนวยการ กองปราบพิเศษได้ประชุมนายตำรวจที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2489 เพื่อวางแผนกำจัดเสือฝ้าย แต่แผนล้มเหลว ผู้ร้ายรู้ตัวเสียก่อน ขุนพันธ์ฯ ได้รับคำสั่งด่วนให้สกัดโจรผู้ร้ายที่จะแตกเข้ามาจังหวัดชัยนาท ครั้งนั้นขุนพันธ์ฯ ใช้ดาบเป็นอาวุธคู่มือแทนที่จะใช้ปืนยาว ดาบนั้นถุงผ้าแดงสวมทั้งฝักและด้าม คนทั้งหลายจึงขนานนามท่านว่า "ขุนพันธ์ดาบแดง"
ฝีมือขุนพันธ์ฯ เป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป แม้แต่เสือฝ้ายเองก็เคยติดสินบนท่านถึง 2000 บาท เพื่อไม่ให้ปราบปราม แต่ขุนพันธ์ฯ ไม่สนใจ คงปฏิบัติหน้าที่อย่างดีจนปราบปรามได้สำเร็จ ท่านอยู่ชัยนาท 3 ปี ปราบปรามเสือร้ายต่างๆ สงบลง แล้วได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่อยุธยา อยู่ได้ประมาณ 4 เดือนเศษก็เกิดโจรผู้ร้ายชุกชมทีกำแพงเพชร ตอนนั้นเป็นระยะเปลี่ยนอธิบดีกรมตำรวจ และขุนพันธ์ฯ ก็ถูกใส่ร้ายจากเพื่อนร่วมอาชีพว่าเป็นโจรผู้ร้าย พล.ร.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ อธิบดีกรมตำรวจยังเชื่อมั่นว่าขุนพันธ์ฯ เป็นคนดี จึงโทรเลขให้ไปพบด่วน และแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ.2490 ขุนพันธ์ฯ ได้ปรับปรุงการตำรวจภูธรของเมืองนี้ให้มีสมรรถภาพขึ้น และได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายต่างๆ ที่สำคัญคือ เสือไกร กับ เสือวัน แห่งอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ฝีมือการปราบปรามของขุนพันธ์ฯยิ่งลือกระฉ่อนไปไกล
ต่อมาในปี พ.ศ.2491 ทางจังหวัดพัทลุงมีโจรผู้ร้ายกำเริบชุกชุมขึ้นอีก ราษฎรชาวพัทลุงนึกถึงขุนพันธ์ฯ นายตำรวจมือปราบ เพราะเคยประจักษ์ฝีมือมาแล้ว จึงเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจ ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอตัวขุนพันธ์ฯกลับพัทลุงเพื่อช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย กรมตำรวจอนุมัติตามคำร้องขอ ขุนพันธ์ฯ จึงได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงอีกวาระหนึ่ง ได้ปราบปรามเสือร้ายที่สำคัญๆสิ้นชื่อไปหลายคน ผู้ร้ายบางรายก็หนีออกนอกเขตพัทลุงไปอยู่เสียที่อื่น นอกจากงานด้านปราบปรามซึ่งเป็นงานที่ท่านถนัดและสร้างชื่อเสียงให้ท่านเป็นพิเศษแล้ว ท่านยังได้พัฒนาเมืองพัทลุงให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยปรับปรุงชายทะเลตำบลลำปำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และให้มีตำรวจคอยตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารถรไฟที่เข้าออกเมืองพัทลุง ทำให้เมืองพัทลุงในสมัยที่ท่านเป็นผู้กำกับการตำรวจ มีความสงบสุขน่าอยู่ขึ้นมาก ตำรวจที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เลิกไปเมื่อกรมตำรวจจัดตั้งกองตำรวจรถไฟขึ้น ด้วยความดีความชอบในหน้าที่ราชการ ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพันตำรวจโทในปี พ.ศ.2493 ท่านอยู่พัทลุงได้ 2 ปีเศษ จนถึง พ.ศ.2494 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2503 จึงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ.2507
ตลอดชีวิตรับราชการ พล.ต.ต.ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกียรติประวัติในการปราบปรามโจรผู้ร้ายคนสำคัญๆ ของจังหวัดต่างๆ ที่ท่านไปประจำอยู่ จนเป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไปและเป็นคนที่ครั่นคร้ามของโจรก๊กต่างๆ นับได้ว่าท่านเป็นนายตำรวจมือปราบคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย และด้วยฝีมือในการปราบปรามนี้เองทำให้ท่านได้รับการเลื่อนยศและตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับมา แม้เกษียณแล้วท่านก็ยังสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมืองเสมอมา เช่น ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในสมัยเลือกตั้งปี พ.ศ.2516 เป็นต้น
ตำนานอมตะของขุนพันธ์
สมัยที่ท่านขุนพันธ์ฯ กลับมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ก็มีเรื่องเล่ากันว่า ตอนนั้นมีเสือใหญ่อยู่ 10 ตัว ชื่อเสียงเรียงไรจำไม่ได้ แต่จำได้ว่าในจำนวนเสือร้าย 10 ตัวนั้น มีเสือข่อย เสือจ้อย เสือหวน รวมอยู่ด้วย
เสือทั้ง 10 คนนั้น ล้วนเคยเป็นศิษย์หลวงพ่อช่วย เมืองนครศรีธรรมราช ผู้ซึ้งเป็นพระมีวิชาเก่งกล้าทางไสยศาสตร์ หรือกฤตยาคม ขุนพันธ์ฯเคยเรียนวิชาด้วยผู้หนึ่ง เมื่อท่านขุนพันธ์ฯกลับมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญระดับภาค ท่านมีประกาศิตสั่งให้ผู้ร้ายทั้ง 10 คนนั้น เลิกประพฤติเยี่ยงโจร ให้กลับใจเลิกเป็นเสือเสีย โดยให้บวชเป็นพระภิกษุ ถ้าหากไม่ทำตามคำขอร้องนั้น ขุนพันธ์ฯ ก็จะยิงทิ้งทุกคน
เล่ากันว่าประกาศิตของขุนพันธ์ฯทำให้เสือร้ายส่วนใหญ่ปฎิบัติตามแต่โดยดี ในจำนวนนี้มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในภายหลังรวมอยู่ด้วยผู้หนึ่งคือ ...หลวงพ่อจ้อยฯ วัดสุวรรณประดิษฐ์ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี (มรณะภาพไปแล้ว)
นอกเหนือจากหลวงพ่อจ้อยแล้วก็มีพระภิกษุหวน เป็นชาวปากพนัง รายนี้บวชแล้วก็เดินธุดงค์ไปหลบภัยอยู่บนเกาะแตน อ. เกาะสมุย มีเพียงเสือข่อยเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมทำตามคำของขุนพันธ์ฯ
เสือข่อยไม่ยอมเลิกทางเดินที่ขุนพันธ์ฯเลือกให้ ซ้ำร้ายมันยิ่งท้าทายอำนาจของกฎหมายบ้านเมือง มีกรรมบังตาด้วยความเชื่อว่า ตนนั้นเป็นศิษย์หลวงพ่อช่วย ผู้เรืองวิชาอาคมแก่กล้า อวดดื้อถือตัวว่าตนเป็นลูกศิษย์อาจารย์เดียวกับขุนพันธ์ฯ ควรจะยกเว้นไว้สักคนหนึ่ง
ขุนพันธ์ฯ ทำตามที่พูด ว่ากันว่าท่านยิงเสือข่อย แต่ยิงไม่เข้า จึงสั่งให้ลูกน้องฆ่าด้วยศูลแทงสวนทวารจนถึงแก่ความตาย คำเล่าลือเหล่าเสือร้ายในหมู่บ้านของชาวเมืองปักษ์ใต้ มีทั้งเรื่องจริงบ้าง หรือต่อเติมเสริมแต่งของผู้เล่าอ่านเองบ้าง แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องเหลวใหล มันคือตำนานอมตะของวีรบุรุษเล็กพริกขี้หนู ที่มีนามว่า "นายร้อยบุตร์ พันธรักษ์ราชเดช"หรือขุนพันธรักษ์ราชเดช
แม้ในช่วงหลังๆสมัยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรรมตำรวจ ชื่อเสียงของขุนพันธ์ฯยังมีคำเล่าขานกันไม่จบสิ้น สมัยอธิบดีฯเผ่า ศรียานนท์เป็นยุคที่ตำรวจมีอิทธิพลเท่ากองทัพบก การจับฝิ่นและการค้าฝิ่นอยู่ในอำนาจของอัศวินเผ่าฯ ว่ากันว่าพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ บงการจับฝิ่นและค้าฝิ่นเสียเอง เป็นเรื่องที่รู้กันในยุคนั้น ยุคอัศวินเผ่า ศรียานนท์ เป็นยุคปลายชีวิตขุนพันธ์ฯ แต่ท่านยังเป็นใหญ่อยู่ทางปักษ์ใต้ ตอนนั้นเองที่ขุนพันธ์ฯจับฝิ่นเถื่อนของอธิบดีกรมตำรวจนามบุรุษเล็กแห่งเอเชีย พล.ต.อ เผ่า ศรียานนท์ ท่านจับทั้งๆที่รู้ว่าเป็นฝิ่นของอัศวินเผ่า...
เมื่อลูกน้องรายงานว่าขุนพันธ์ฯ จับฝิ่นของตนที่ปักษ์ใต้ อธิบดีเผ่าศรียานนท์จึงมีคำสั่งเรียกตัวขุนพันธ์ฯเข้าพบ
วันที่ขุนพันธ์ฯเดินทางมาจากเมืองปักษ์ใต้มาพบอธิบดีกรมตำรวจ เขาไม่แต่งเครื่องแบบ ปริศนาการไม่สวมเครื่องแบบของขุนพันธ์ฯทำให้อธิบดีฯ เผ่า อดประหลาดใจไม่ได้ ท่านขุนรู้หรือไม่ว่า ฝิ่นที่จับน่ะเป็นของใคร?
"ผมจับเพราะผมเป็นตำรวจ" ขุนพันธ์ฯตอบอย่างไม่สะทกสะท้านต่ออิทธิพลแห่งบุรุษเอกเอเชีย สั้นและเข้าใจง่าย ท่านอธิบดีฯเผ่า ศรียานนท์ อึ่ง...นึกนับถือน้ำใจของขุนพันธ์ฯว่ากล้าหาญและเป็นตำรวจที่แท้จริง ใจนักเลงดีนัก ท่านขุนเป็นนายตำรวจเข้ามาพบผู้บัญชา เหตุใดจึงไม่แต่งเครื่องแบบมา? อธิบดีเผ่า ศรียานนท์ถามตามที่ค้างคาใจมาแต่แรก "ผมไม่แต่งเครื่องแบบมา เพราะเตรียมใจไว้พร้อมตั้งแต่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ถ้าผิด ผมพร้อมที่จะเป็นพลเรือน" ดูเหมือนคำตอบของขุนพันธ์ฯช่วยไขปริศนาการถอดเครื่องแบบได้อย่างดี ขุนพันธ์ฯรู้ดีว่าอธิบดีเผ่าไม่เอาไว้แน่ แต่การที่ท่านจะให้ใครมาถอดเครื่องแบบผู้พิทักษ์ สันติราษฎร์ออกจากเนื้อตัว ไม่ใช่วิสัยคนอย่างขุนพันธ์ฯ ท่านถอดของท่านเองมาจากบ้าน การเผชิญหน้าระหว่างบุรุษแห่งเอเชียกับขุนพันธ์ฯ วีรบุรุษมือปราบเหล็กน้ำพี้ในครั้งนั้น ลือลั่นกันไปทั่วกรมตำรวจ ว่ากันว่า พล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์นับถือน้ำใจขุนพันธ์ฯมาก อยากจะได้มาใช้ใกล้ชิด ขอให้ขุนพันธ์ฯมาอยู่ด้วย แต่ขุนพันธ์ฯปฎิเสธว่า " ขออยู่อย่างที่เคยเป็น"
ข้อมูลด้านอื่นๆ
ฉายา :
- นายพลตำรวจหนังเหนียวผู้จับเสือมือเปล่า
- นายพลตำรวจหนวดเขี้ยว
- ขุนพันธ์ฯ ดาบแดง
- รายอกะจิ (อัศวินพริกขี้หนู)ฯลฯ
สายวิชา :
- เชี่ยวชาญเพลงมวยเสียมก๊ก (มวยไทย)
- เพลงดาบสายทักษิณ กระบี่กระบอง และวิชาการต่อสู้อีกหลายแขนง
- เป็นศิษย์ฆราวาสแห่งสำนักเขาอ้ออันเกรียงไกร
- สืบทอดยอดวิชาหลายแขนง อาทิ ยอดวิชาคงกระพัน
- นะจังงัง มหาอุด ผิวกายคงทนต่อศาสตราวุธ
- นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญในวิชาแพทย์แผนโบราณ ว่านและสมุนไพรต่าง ๆ
อาวุธคู่กาย :
เดิมมีปืนเมาเซอร์ ต่อมาได้ฝึกวิชาคงกระพัน ชาตรีจนแตกฉาน จึงไม่จำเป็นต้องพกปืนอีก แต่อาศัยเพียงสนับมือและเพลงมวย ในการปราบปรามเหล่าโจรร้าย เสือร้ายก๊กต่าง ๆ ภายหลังได้รับมอบศาสตราวุธชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นดาบที่ตกทอดมาจาก พระยาพิชัยดาบหัก ฝักดาบมีถุงผ้าสีแดงห่อหุ้ม ตัวดาบมีความคมกล้ายิ่งนัก ในระยะหลังการออกปราบปรามโจรร้าย ท่านขุนพันธ์จึงอาศัยเพียงดาบเล่มนั้น กับสนับมือออกปราบปราม เหล่ามิจฉาชีพตลอดมา จนได้ฉายา " ขุนพันธ์ดาบแดง " เป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป แม้แต่เสือฝ้ายเองก็เคยติดสินบนท่านถึง 2000บาทเพื่อไม่ให้ปราบปราม
ผลงาน :
กำราบชุมโจรมานับไม่ถ้วน อาทิ เสือฝ้าย เสือดำ เสือมเหศวร (ที่ชาวเสียมก๊กเอามาทำเป็นหนังฟ้าทะลายโจร แต่ตัวจริงถูกปราบโดยท่านผู้นี้) โดยเฉพาะโจรแถบทางใต้ล้วนร้ายกาจทั้งสิ้น ดังนั้นขุนพันธ์จึงต้องใช้กลยุทธ์ข่มนาม อาทิ การตัดหัวเสียบไว้หน้าโรงพัก เอาหัวโจรร้ายมาทำที่เขี่ยบุหรี่ เช่น หัวเสือสายแห่งสุราษฎร์ธานี ตลอดชีวิตรับราชการ พล.ต.ต.ขุนพันธ์รักษ์ราชเดชได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกียรติประวัติในการปราบปรามโจรผู้ร้ายคนสำคัญๆ ของแคว้นต่างๆ ที่ท่านไปประจำอยู่ จนเป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไป เป็นที่ครั่นคร้ามของโจรก๊กต่างๆ เป็นที่รักใคร่ของชาวประชาราษฎรทั้งปวง นับได้ว่าท่านเป็นนายตำรวจมือปราบคนสำคัญคนหนึ่งของเสียมก๊ก และด้วยฝีมือในการปราบปรามนี้เองทำให้ท่านได้รับการเลื่อนยศและตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับมา แม้เกษียณแล้วท่านก็ยังสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมืองเสมอมา
นอกจากเกียรติคุณทั้งในและนอกตำแหน่งหน้าที่ราชการดังกล่าวมาแล้ว ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ยังมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สำคัญซึ่งควรกล่าวถึงคือ เป็นนักวิชาการที่สำคัญคนหนึ่ง ท่านเป็นทั้งนักอ่านและนักเขียน ได้เขียนเรื่องราวต่างๆ ลงพิมพ์ในหนังสือและวารสารต่างๆ หลายเรื่อง ขุนพันธ์ฯ เป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่องไสยศาสตร์อยู่มาก เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ นอกจากนั้นก็มีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งประวัติบุคคลและสถานที่ ตำนานท้องถิ่น มวย และเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง ข้อเขียนต่างๆของท่าน เช่น ความเชื่อทางไสยศาสตร์ในภาคใต้ สองเกลอ ช้างเผือกงาดำ หัวล้านนอกครู ศิษย์เจ้าคุณ มวยไทย เชื่อเครื่อง กรุงชิง เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องกรุงชิงนั้น ท่านเล่าว่าเป็นเรื่องที่ท่านเขียนทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันตามพระบรมราชโองการ และต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้ขออนุญาตนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ใน " รูสมิแล " วารสารของมหาวิทยลัยปีที่ 6 ฉบับที่ 3 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ.2526
งานเขียนของท่านส่วนมากจะลงพิมพ์ใน สารนครศรีธรรมราช หนังสืองานเดือนสิบวิชชา (วารสารทางวิชาการของวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช) รูสมิแล (วารสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และหนังสือที่ระลึกในโอกาสต่างๆ ของโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ในด้านชีวิตครอบครัว ขุนพันธ์รักษ์ราชเดชมีภรรยาคนแรกชื่อเฉลา ตอนนั้นท่านมีอายุได้ประมาณ 30 ปี ขณะที่รับราชการอยู่ที่จังหวัดพัทลุง มีบุตรด้วยกัน 8 คน ต่อมาภรรยาเสียชีวิต ท่านจึงได้ภรรยาใหม่ชื่อสมสมัย มีบุตรด้วยกัน 4 คน
การต่อสู้ครั้งสำคัญ :
ดวลกับ จอมโจรอะแวสะดอ เจ้าพ่อเขาบูโดแห่งแคว้นนราธิวาส อาแวสะดอเป็นจอมโจรที่ปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยพุทธ ทางราชการพยายามปราบหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเรียกตัวท่านขุนพันธ์มา จอมโจรผู้นี้มีวิชาคงกระพันเป็นเยี่ยม
ท่านขุนพันธ์ยืนยันว่า อะแวสะดอถูกยิงหมดลูกโม่ จนร่างล้มฟุบลง แต่กลับลุกขึ้นมาได้ และบ้วนกระสุนทิ้งออกมาจากปาก
ท่านขุนพันธุ์เห็นดังนั้นจึงล้วงสนับออกมาสวมที่มือ แล้วเข้าต่อสู้ประชิดตัว อาศัยความชำนาญในวิชาป้องกันตัว จึงสามารถจับตัวจอมโจรอาแวสะดอได้
ขอบคุณ
http://search.sanook.com/knowledge/pedia/pedia_layout.php?page_id=1141