----------เลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง ได้700ก.ก./1กระชัง/4เดือน ...สนใจไหม
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"
พฤศจิกายน 25, 2024, 06:52:29 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ----------เลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง ได้700ก.ก./1กระชัง/4เดือน ...สนใจไหม  (อ่าน 63313 ครั้ง)
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2009, 07:08:00 pm »

ปลากดหลวง ในกระชัง เลี้ยง 2 ปี ได้ 5 กิโลกรัม ที่อุตรดิตถ์

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำน่านมักยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา และมีการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังกันนับร้อยๆ รายเลย ทั้งนี้ เพราะว่ามีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริม พร้อมกับประกันราคารับซื้อ ทำให้อาชีพเลี้ยงปลาทับทิมได้รับความนิยมค่อนข้างสูง

สำหรับการเลี้ยงปลากดหลวงนั้นมีน้อยราย เนื่องจากยังไม่ได้รับการแนะนำหรือส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าปลาชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีบนที่สูงหรืออุณหภูมิค่อนข้างต่ำ

แท้จริงที่ราบต่ำอย่างเช่นริมแม่น้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ยังสามารถเลี้ยงปลาชนิดนี้ให้เจริญเติบโตดี และมีอัตรารอดชีวิตสูงได้เช่นนี้กัน

ผู้ที่สามารถให้คำตอบได้ดี ก็คือ คุณลุงโชต กับ คุณป้าทองเจือ ต่ายทอง ซึ่งทดลองนำปลากดหลวงมาเลี้ยง 3-4 รุ่น แล้ว ปรากฏว่าไม่ผิดหวังเลย ปลาเกือบทุกตัวเจริญเติบโตดีไม่แพ้ที่ราบสูง อีกทั้งมีอัตรารอดชีวิตสูง แถมยังสามารถรักษาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำได้ค่อนข้างดีด้วย กล่าวคือ ปลาชนิดนี้สามารถกินของเน่าเสียเป็นอาหารได้ โดยเฉพาะสัตว์น้ำหรือปลาทับทิมที่ชาวบ้านเลี้ยงเป็นอาชีพ และมีบางส่วนลอยตาย ก็สามารถนำมาเป็นอาหารของปลากดหลวงได้



"ปลาทับทิม ที่ชาวบ้านและฉันเลี้ยงอยู่นี้ มันอยู่ในกระชังค่อนข้างหนาแน่น และมีการตายบ้าง กระชังละ 1-3 ตัว ต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่มักนิยมทิ้งลงไปในแม่น้ำ แต่ที่ฟาร์มของเรานำมาใช้ประโยชน์ได้ดีทีเดียว โดยนำมาขอดเกล็ดออก แล้วโยนใส่ในกระชังเลี้ยงปลากด พวกมันจะรุมกินกันเป็นอาหาร เพราะว่าสัตว์ประเภทนี้ในธรรมชาติมันชอบอาหารที่เน่าเสียอยู่แล้ว" คุณป้าทองเจือ กล่าว



เลี้ยงปลาทับทิม เป็นอาชีพหลัก

ที่ฟาร์มเลี้ยงปลาของ คุณลุงโชต และคุณป้าทองเจือ มีกระชังเลี้ยงปลาทับทิมอยู่ 150 กระชัง และปลากดหลวง 30 กระชัง คุณลุงโชตและคุณป้าทองเจือยึดอาชีพเลี้ยงปลามานานเกือบ 10 ปีแล้ว เริ่มแรกเลี้ยงปลาทับทิมในบ่อดิน โดยเน้นด้านงานอนุบาลลูกปลา 45 วัน จากนั้นก็จำหน่ายให้กับผู้สนใจทั่วๆ ไป

"มันเป็นอาชีพที่รับจ้าง คือเรารับลูกปลาจากบริษัทมาอนุบาลให้ได้ผลผลิต 35 กรัม หรืออายุ 45 วัน ก็นำออกไปจำหน่าย ทำได้ 2-3 ปี ก็มีเงินเก็บก้อนหนึ่ง จึงได้ติดต่อขอซื้อที่ดินริมแม่น้ำน่านบริเวณหน้าวัดท่าทอง ประมาณ 1 ไร่ เพื่อทดลองเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังเอง ปรากฏว่าได้ผลดีมาก คือมีกำไรทุกรุ่น และดีกว่าอนุบาลลูกปลาขาย ดังนั้น อาชีพหลักของเราก็คือเลี้ยงปลาทับทิมขาย ส่วนปลากดหลวงนั้นเป็นงานเสริม ซึ่งเริ่มดำเนินการมา 3-4 รุ่น แล้ว " คุณป้าทองเจือ เล่าถึงความเป็นมา

การเลี้ยงปลาทับทิมประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการเลี้ยงเพียง 10 กระชัง ในช่วงต้นๆ กลายเป็น 150 กระชัง และทุกเดือนจะจับผลผลิตปลาขายประมาณ 30-50 กระชัง ซึ่งแต่ละกระชังได้น้ำหนักปลาประมาณ 700 กิโลกรัม เลยทีเดียว

"เหตุที่เราประสบความสำเร็จ ก็มาจากประสบการณ์ที่เคยอนุบาลลูกปลามาก่อน เรารักปลา มันก็รักเรา พร้อมที่จะให้ผลผลิตเต็มที่ ยกตัวอย่างสักเรื่องถึงวิธีการให้อาหาร ถ้าเพียงแต่หว่านอย่างเดียว ไม่สังเกตพฤติกรรมของปลา ก็จะทำลายสุขภาพปลาได้ แต่ที่นี่ดูทุกวัน และให้อาหารวันละ 4 ครั้ง ปริมาณที่ให้ก็พอเหมาะ ไม่ให้มากเกิน ถ้ามากปลาจะขี้ดำและสั้น ไม่มีผลกับปลาเลย เราต้องให้พอดี คือปลาจะขี้ขาวและยาว ซึ่งจะทำให้สุขภาพปลาดีมากเลย" คุณป้าทองเจือ เล่าถึงปัจจัยส่วนหนึ่งในความสำเร็จ

และว่าอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ก็คือลูกชายที่ชื่อ คุณอุกฤษฎ์ ต่ายทอง เข้ามาช่วยเหลือทุกด้าน พร้อมกับพัฒนาตัวเองเป็นพ่อค้ารับซื้อผลผลิตปลาของตนเองและเพื่อนบ้าน เพื่อนำส่งตลาดสด ร้านอาหาร ฯลฯ เองด้วย

"ป้ากับลุงก็มีอายุมากแล้ว ก็อาศัยลูก กับลูกจ้าง 2-3 คน ช่วยกันให้อาหาร และดูแลส่วนอื่นๆ ตอนนี้เรามีหน้าที่เพียงคอยสั่งงาน และติดตามดูงานว่าทำตามขั้นตอนหรือไม่ หากเราไม่รัดกุม โอกาสที่เสียหายหรือขาดทุนมีสูงเหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิต ที่ต้องการการดูแล หรือให้อาหารที่ถูกต้อง ปลาก็จะเจริญเติบโตดี ตรงกันข้ามถ้าไม่ได้ดูแล ปล่อยให้คนงานทำหน้าที่แทนทั้งหมด โอกาสที่จะประสบความสำเร็จกับอาชีพนี้มีน้อยมาก"

"ที่ผ่านมาเราแนะนำอาชีพนี้ให้กับชาวบ้านหลายคนแล้ว บางคนไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่เชื่อสิ่งที่สอนไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีเงินและว่าจ้างคนงานเลี้ยง ซึ่งความลึกซึ้งและความละเอียดอ่อนไม่มี สู้เจ้าของไม่ได้ มีคนเคยพูดว่า รอยเท้าเจ้าของสวนผลไม้นั้นเป็นปุ๋ยชั้นดีที่สุด ซึ่งการเลี้ยงปลาก็ไม่แตกต่างเหมือนกัน" คุณป้าทองเจือ กล่าว

คุณลุงโชต และคุณป้าทองเจือ เลี้ยงปลาแต่ละรุ่นใช้ระยะเวลาเพียง 4 เดือน เท่านั้น ก็ได้ผลผลิตปลาทับทิม 8-10 ขีด ต่อตัว โดยปล่อยเลี้ยงในอัตราหนาแน่น 900-1,000 ตัว ต่อกระชัง

ขนาดของกระชังยาว 3 เมตร กว้าง 3 เมตร ลึก 1.50 เมตร ทำด้วยโครงเหล็กทั้ง 4 ด้าน และใช้ถังพลาสติค 200 ลิตร เป็นทุ่น ซึ่งสามารถเดินได้รอบกระชังเลยทีเดียว

"เราทำกระชังเลี้ยงปลาค่อนข้างแข็งแรง เพราะว่าที่นี่ฤดูฝน น้ำไหลแรง และต้องการให้เป็นอาชีพมั่นคงด้วย ดังนั้น วัสดุอุปกรณ์ต้องดีและแข็งแรง ทนทานทุกชิ้น โดยเฉพาะเหล็กที่ใช้มาทำเป็นโครงสร้าง จำเป็นต้องลงทุน แม้ว่าบางอย่างมันราคาแพง แต่ก็ต้องลงทุน เพราะว่าสามารถใช้งานได้นานหลายปีเลยทีเดียว" คุณป้าทองเจือ กล่าว



ปลากดหลวง เป็นงานเสริม

เลี้ยงน้อย ได้กำไรเยอะ

กระชังเลี้ยงปลากดหลวงก็ไม่แตกต่างกับปลาทับทิมเลย เพียงแต่อัตราการปล่อยเลี้ยงไม่เหมือนกัน คือปลากดหลวง ประมาณ 350 ตัว ต่อกระชัง แต่ในช่วงอนุบาล 1 เดือน 1,000 ตัว เดือนที่ 3 เหลือเพียง 500-600 ตัว ต่อกระชัง

"ปลากดหลวงนี้ ยิ่งอายุมากขึ้นก็เป็นปลาใหญ่ ไม่สามารถเลี้ยงหนาแน่นเหมือนกับปลาทับทิมได้ เคยทดลองเลี้ยงเหมือนกัน ปรากฏว่า ปลาไม่ค่อยเจริญเติบโตเท่าใด แต่เมื่อแบ่งเลี้ยงในอัตราหนาแน่นดังกล่าว ปลาจะเจริญเติบโตค่อนข้างดี คือ เลี้ยง 2 ปี ได้น้ำหนักปลาอยู่ที่ 4-5 กิโลกรัม ต่อตัวเลยทีเดียว"

คุณลุงโชตและคุณป้าทองเจือ ซื้อลูกพันธุ์ปลากดหลวงขนาดก้านไม้ขีดมาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในราคาตัวละ 1 บาท มาอนุบาลต่อในกระชังมุ้งเขียว ขนาดยาว 3 เมตร กว้าง 3 เมตร ปล่อยเลี้ยง 1,000 ตัว ให้อาหารกินทุกวัน โดยซื้ออาหารสำเร็จรูปไฮเกรดมาบดให้ละเอียด หว่านให้กินวันละ 4-5 ครั้ง

"ช่วงอนุบาลนี้ เราต้องขยันให้อาหารหน่อย เพราะว่าปลามันหิวบ่อย และต้องการให้มีสุขภาพสมบูรณ์เจริญเติบโตเร็วด้วย"

บดอาหารให้กิน 2 สัปดาห์ เมื่อเห็นว่าปลาเริ่มโตขึ้นก็เปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดไฮเกรด ย่างเข้าเดือนที่ 2 ก็เปลี่ยนเป็นอาหารปลากินพืช และลดการให้กิน เหลือวันละ 3 ครั้ง คือ เช้า เที่ยง และเย็น

"ปลากดหลวงนี้ เป็นปลาที่ค่อนข้างทนทานไม่ค่อยตาย ยกเว้นช่วงอนุบาลอย่างเดียว ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ค่อยๆ หว่านให้อาหารทีละนิดๆ และนาน เรารักเขามันก็เสียหายน้อย" คุณป้าทองเจือ กล่าว

และว่า หากเปรียบเทียบความอดทนระหว่างปลากดหลวงกับปลาทับทิม ตั้งแต่อนุบาลและตัวโตนั้น ปลากดหลวงชนะขาด เพราะว่าเท่าที่ผ่านมาแม้ว่าน้ำจะเปลี่ยนสีหรือฤดูฝนมาปลาก็ไม่ตาย ไม่เหมือนปลาทับทิมเลย

อย่างไรก็ตาม ปลากดหลวงนี้มีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งก็คือ กินอาหารเก่งมาก คุณป้าทองเจือบอกย้ำว่า ปลาพวกนี้กินอาหารไม่มีการอิ่ม คือกินได้ตลอดเวลา และไปสร้างเนื้อดี แต่ผลผลิตที่ได้รับไม่มีคุณภาพ นั่นก็คือ เนื้อและหนังจะเหลว รสชาติไม่ค่อยอร่อยเท่าที่ควร

"จริงๆ ปลาชนิดนี้รสชาติเหมือนกับปลากดคังเลย แต่ต้องเลี้ยงเหมือนกับธรรมชาติ ไม่ใช่เลี้ยงเหมือนกับพวกไก่เนื้อ หรือปลาทับทิม ที่อัดอาหารอย่างเดียว เพื่อให้น้ำหนักดี แต่ปลากดหลวงนี้หากเช่นนั้นรสชาติก็เปลี่ยนแปลง"

"ที่นี่จะเลี้ยงให้กินอาหารเม็ดน้อยมาก คือปลาเล็กให้กินไม่เกิน 1 กิโลกรัม ต่อวัน ต่อกระชัง ปลาใหญ่หรือน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ให้วันละ 2 กิโลกรัม ต่อกระชัง เราให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปกินเพื่อประคองชีวิตอยู่ได้เท่านั้น แต่ปลาของเราโตได้ดี รสชาติและหนังมีคุณภาพ เพราะว่าเราได้ให้อาหารเสริมพวกปลาทับทิมที่ชอบลอยตายทุกวัน ขอดเกล็ดและตัดหัวออก โยนให้กินทุกๆ วัน ปลามันชอบมาก เพราะว่าธรรมชาติของปลาชนิดนี้นิยมกินของเน่าเปื่อยเป็นอาหารอยู่แล้ว ทำให้เนื้อและหนังปลากดหลวงที่เราเลี้ยงอยู่แตกต่างจากการเลี้ยงที่อื่นๆ โดยสิ้นเชิง" คุณป้าทองเจือ กล่าว

แม้ว่าการเลี้ยงปลากดหลวงของคุณลุงโชตและคุณป้าทองเจือให้กินอาหารไม่เต็มที่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอาหารเสริมดังกล่าว แต่ทว่าเมื่อเลี้ยงครบ 2 ปี ก็ได้ผลผลิตประมาณ 4-5 ตัว ต่อกิโลกรัม แล้ว แถมรสชาติเนื้อและหนังมีคุณภาพอีกด้วย

"เมื่อเราเลี้ยงได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ก็ไม่มีปัญหาด้านการตลาดเลย เนื่องจากทั้งตัวจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นตามตลาดสดหรือห้องอาหารต้องการปลาชนิดนี้มาก ซึ่งส่วนใหญ่เราจะจำหน่ายกิโลกรัมละ 100 บาท ในราคาดังกล่าวเราก็ยังมีกำไรมากกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะว่าต้นทุนค่าอาหารมีน้อยนั่นเอง" คุณป้าทองเจือ กล่าวทิ้งท้าย



ความเป็นมาของปลากดหลวง



อาจารย์เสน่ห์ ผลประสิทธิ์ ได้ระบุในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 429 ว่า เป็นปลากดพื้นบ้านของทวีปอเมริกา ที่มีอากาศอบอุ่น ซึ่งจะเย็นกว่าอากาศทางบ้านเราอยู่พอสมควร เช่น ทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา แถวๆ มลรัฐมิสซิสซิปปี แอละแบมา จอร์เจีย เทกซัส และแคลิฟอร์เนีย อันที่จริงปลากดอเมริกัน แชนเนล แคตฟิช มีอยู่ 4 ชนิด คือ บลู แคตฟิช (Blue catfish), ไวท์ แคตฟิช (White catfish), แฟลตเฮด แคตฟิช (Flthead catfish) และแชนเนล แคตฟิช (Channel catfish) ตัวที่เราพูดถึงนี่แหละ เพราะแชนเนล แคตฟิช มีสัดส่วนของเนื้อสูงกว่า และเติบโตได้รวดเร็วกว่าอีก 3 ชนิด คนอเมริกันจึงเลือกมันมาเพาะเลี้ยงกันจนเป็นอุตสาหกรรมใหญ่โตในตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ แต่ละฟาร์มมีเนื้อที่นับเป็น 1,000 ไร่ ขึ้นไปแทบทั้งนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 กรมประมง ได้สั่งการให้ อาจารย์เสน่ห์ ผลประสิทธิ์ ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองประมงน้ำจืด ติดต่อขอพันธุ์ปลากดชนิดนี้มาศึกษาทดลอง วิธีการเพาะเลี้ยง เพื่อพิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในบ้านเราได้หรือไม่ และเหมาะสมเพียงใด โดยผ่านทางสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า สถาบัน AIT ซึ่งตั้งอยู่แถวๆ รังสิตนั้นแหละครับ

เมื่อได้รับพ่อแม่พันธุ์มาแล้ว อาจารย์เสน่ห์ ผลประสิทธิ์ ก็ส่งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ ปีเดียวเท่านั้น ก็ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาตัวนี้ และต่อมาปลากดอเมริกันตัวนี้ก็ได้รับชื่อใหม่อย่างไทยจากกรมประมงว่า "ปลากดหลวง"

เทคโนโลยีการประมง
ไชย ส่องอาชีพ
วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 434
----------------------


ราคาปลา
http://www.siamtilapia.com/th/price/fish_market_price_all.php

ขายปลาทับทิม
http://www.siamtilapia.com/th/price/fish_market_price_all.php

---------------
ปลาทับทิม เป็นปลาที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ทางด้านคุณภาพให้ดีขึ้น ลักษณะของปลา ทับทิม เนื้อผนังช่องท้องสีขาวสะอาด ต่างจากเนื้อปลาชนิดอื่น โดยทั่วไปจะมีผนังช่องท้องเป็นสี เทาดำ โดยมีเกล็ดและผิวหนังเป็นสีแดงซึ่งถือเป็นสีมงคล เหมาะกับการจัดเลี้ยงเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะการส่งออกยังต่างประเทศ เช่น ยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ทั้งในรูปของแช่แข็งทั้งตัวและฟิลเลต (Fillet)
กว่าจะมาเป็นปลาทับทิม เนื่องจากปลาทะเลจากการจับตามธรรมชาติ ได้ลดปริมาณลงทุกปีและมีคุณภาพเมื่อถึงมือ ผู้บริโภคไม่คงที่ ประกอบกับกระแสความนิยมบริโภคเนื้อปลาคุณภาพ เพื่อรักษาสุขภาพมีมากขึ้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงได้ทุ่มเทงบประมาณและเวลาด้านการศึกษาพัฒนาสายพันธุ์ปลาเนื้อ จนได้สายพันธุ์ปลาเนื้อเศรษฐกิจตัวใหม่ ในชื่อพระราชทานว่า " ปลาทับทิม "โดยใช้เทคโนโลย ในการเลี้ยงในน้ำทะเล ใช้อาหารสำเร็จรูปคุณภาพสูง มีการควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสมตลอด การเลี้ยง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ปลาทับทิม มีคุณสมบัติพิเศษที่จะเป็นปลาเนื้อ เศรษฐกิจคือ หัวเล็ก สันหนา มีปริมาณเนื้อมากถึง 40 % ของน้ำหนัก เติบโตเร็วเนื้อขาวแน่นละเอียด รสชาติดีมากและมีโภชนาการสูง
ปลาทับทิมดีอย่างไร ? " สด " จับจากฟาร์มสู่ตลาดทุกวัน " สะอาด " จากการเลี้ยงที่ถูกสุขลักษณะ " รสชาติดี " เนื้อแน่น หวานหอม อร่อย " มีโภชนาการสูง " อุดมด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว เนื่องจากในปัจจุบัน การบริโภคอาหารที่มีคุณภาพต่ำมากเกินไป เช่น ไขมันอิ่มตัวจากสัตว์บก อาจก่อให้เกิดการสะสมของไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและเป็นอันตรายถึงชีวิตเนื้อสัตว์น้ำโดยเฉพาะเนื้อปลา เป็นเนื้อสัตว์ที่มี กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ทำให้ไม่เกิดการสะสมในผนังหลอดเลือด ลดความเสี่ยงจากโรคเกี่ยวกับ หัวใจ โรคความดันโลหิตนอกจากนี้ ปลาทับทิม ที่เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป คุณภาพสูงจะมี ปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิดโอเมก้า-3 สูงกว่าปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อย ตามธรรมชาติทั่วไป ถึง 4 เท่าอีกด้วย > โอเมก้า-3 คือ กรดไขมันที่จำเป็นประเภทไม่อิ่มตัว ซึ่งมีผลดีมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย สรรพคุณของน้ำมันปลา (จากส่วนหัวและเนื้อปลา , ไม่ใช่น้ำมันตับปลา) คือ
1. ช่วยลดโคเลสเตอรอลในเส้นเลือด ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตัน
2. ช่วยบำรุงสมองเสริมสร้างความจำ
3. ช่วยบรรเทาอาการปวดบวมของโรคข้ออักเสบ
4. ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ดังนั้นการบริโภคปลาหรือน้ำมันปลาเป็นประจำ จึงมีผลดีต่อสุขภาพอย่างยิ่ง

เมื่อได้ทราบข้อมูลทั่วไปของปลาทับทิมกันแล้วจะนำท่านผู้อ่านสู่ภาคการเลี้ยง ซึ่งทีมงานนิตยสารธุรกิจสัตว์น้ำได้ติดต่อไปยัง”กอกวงฮวด ฟาร์ม”ฟาร์มปลาทับทิมเก่าแก่ที่เลี้ยงปลาชนิดนี้มาตั้งแต่เริ่มแรกซึ่งยังไม่ได้ตั้งชื่อ และฟาร์มแห่งเป็นแหล่งผลิตปลาทับทิมที่มีคุณภาพสูงแห่งหนึ่ง ซึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้ปลามีคุณภาพนอกจากการเลี้ยงการจัดการแล้ว แหล่งน้ำถือได้ว่ามีความสำคัญ การเลี้ยงปลาในกระชังของที่นี่มีข้อได้เปรียบในเรื่องแหล่งน้ำ คือแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสายสั้นที่คุณภาพน้ำดีมากส่งผลให้คุณภาพปลาออกมาดีด้วยดังนั้นก่อนจะทำความรู้จักกับฟาร์มโปรดดูข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำก่อนอาจจะทำให้รู้จักฟาร์มแห่งนี้ดีขึ้น
แม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในภาคตะวันตกเกิดจากแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อยไหลมาบรรจบกันที่ตำบลบ้านแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม และไหลลงสู่ปากอ่าวไทย มีความยาวประมาณ 132 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำที่ปากแม่น้ำแม่กลอง 30,106 ตารางกิโลเมตร
มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 30,837 ตร.กม. หรือ 19.45 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม บางส่วนของจ.สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร อุทัยธานี และ ตาก ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 7,973 ล้าน ลบ.ม.
ลุ่มน้ำแม่กลองแบ่งออก เป็นลุ่มน้ำย่อย 14 ลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ แม่น้ำแควใหญ่ (1,445 ตร.กม.) ห้วยแม่ละมุง (910 ตร.กม.) ห้วยแม่จัน (862 ตร.กม.) แม่น้ำแควใหญ่ตอนกลาง (3,380 ตร.กม.) แม่น้ำแควใหญ่ตอนล่าง (4,094 ตร.กม.) ห้วยขาแข้ง (2,320 ตร.กม.) ห้วยตะเพียน (2,627 ตร.กม.) แม่น้ำแควน้อยตอนบน (3,947 ตร.กม.) ห้วยเขย็ง (1,015 ตร.กม.) ห้วยแม่น้ำน้อย (947 ตร.กม.) ห้วยบ้องตี้ (477 ตร.กม.) แม่น้ำแควน้อยตอนกลาง (2,042 ตร.กม.) ลำภาชี (2,453 ตร.กม.) ทุ่งราบแม่น้ำแม่กลอง (4,318 ตร.กม.)
ทันทีที่ทีมงานนิตยสารธุรกิจสัตว์น้ำเดินทางถึงฟาร์มภาพที่เห็นคือรีสอร์ทแห่งหนึ่งที่ตั้งริมแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งที่ตั้งอย่างเป็นทางการคือ 54 หมู่ 2 ต.บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม และคนที่ออกมาให้การต้อนรับคือคุณวรชัย แสงวณิช หรือเฮียกู้ เจ้าของฟาร์มผู้บุกเบิกการเลี้ยงปลาทับทิมในลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งคุณวรชัย ได้นำทีมงานไปนั่งพักที่ศาลาริมน้ำหาน้ำมาต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ณ ตรงนี้มองเห็นกระชังปลามองด้วยสายตาคงไม่ต่ำกว่าร้อย ใกล้กันนั้นมีรีสอร์ท อีกด้านหนึ่งเป็นสนามแบดมินตันสนามประจำของชมรมราชบุรี และมักจะมีนักแบดฯจาก กทม.มาพักและตีแบดเป็นประจำและหลังจากคุยเรื่องทั่วไปพอหอมปากหอมคอทีมงานก็เริ่มสอบถามเรื่องธุรกิจการเลี้ยงปลาทับทิมทันที
ประวัติความเป็นมาของฟาร์ม?
ผมเลี้ยงปลาทับทิมมาเป็นเวลา 11 ปีเต็ม และเป็นผู้เลี้ยงรายแรกของประเทศไทย ที่นำปลาทับทิมของบริษัทซีพีมาเลี้ยงในกระชัง ตอนนั้นยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ จนกระทั่งได้รับพระราชทานชื่อในวันที่ 22 มกราคม 2541 แต่ผมเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ความจริงแล้วก่อนหน้านี้ก็เลี้ยงปลาดุกและปลาช่อนในบ่อดินมาก่อนเริ่มเลี้ยงในกระชังเพิ่งเริ่มเมื่อปี 2539 เนื่องจากกรมประมงในขณะนั้นแจกกระชังและลูกพันธุ์ปลากะพงให้กับเกษตรกร แต่ตอนนั้นเลี้ยงแล้วไม่ได้ผล เนื่องจากปลากะพงเป็นปลาน้ำเค็มลูกปลาตายเยอะ เลี้ยงไปแล้วไม่คุ้มตอนนั้นเราใช้อาหารเม็ดของซีพี จึงขอลูกพันธุ์ปลากะพงจากทางซีพีแต่เขาไม่มีให้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่กำลังพัฒนาปลาสายพันธุ์ใหม่อยู่พอดี เป็นปลาที่มีเป้าหมายด้านการส่งออก แต่ในทางปฎิบัติทำได้ยากเพราะต่างประเทศค่อนข้างเข้มงวดเรื่องกลิ่น สี และคุณภาพของเนื้อปลา ตอนที่ทดลองทำในบ่อดิน จึงมีกลิ่นสาบ อัตราการเจริญเติบโตก็ไม่ดี เมื่อไม่มีลูกปลากะพงซีพีจึงให้ปลาทับทิมมาลองเลี้ยง ปรากฏว่าได้ผลดีทั้งรสชาติ และการเจริญเติบโตและทางซีพีได้นำปลาไปตรวจสอบคุณภาพซึ่งปลาที่เราเลี้ยงผ่านมาตรฐาน ต้นทุนการเลี้ยงก็ไม่สูงมากนักสามารถขายในตลาดทั่วไปได้
ปลาสายพันธุ์ใหม่ทำตลาดอย่างไร?
ช่วงแรกประสบปัญหาด้านการตลาดเพราะเป็นปลาชนิดใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จัก รูปลักษณ์เหมือนปลานิลต่างกันที่สีของตัวปลาเท่านั้น แต่ความจริงแล้วผมลองเอามาทานดูรสชาติดีกว่านิลชนิดเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นพอปลาได้ขนาดที่จับขายได้ก็เริ่มหาตลาดและประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักแรก ๆ เป็นเรื่องที่ยากมากเพราะคนไม่ยอมรับ จนเราไปเสนอขายตามร้านอาหารและโต๊ะจีนทั่ว ๆ ไป ให้ผู้บริโภคได้ชิม ไม่นานนักผู้บริโภคก็เริ่มติดใจในรสชาติและเริ่มสั่งปลามากขึ้น เพราะคนที่กินปลานิลแล้วมากินปลาทับทิมจะเห็นความแตกต่างและมักชอบปลาทับทิมมากกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดไปได้และในที่สุดตลาดก็ยอมรับปลาทับทิม และเริ่มเข้าสู่ธุรกิจโต๊ะจีนเมื่อตลาดไปได้เราก็หยุดส่งให้ร้านอาหารและโต๊ะจีนโดยตรง เราส่งให้กับแม่ค้าแทนและให้ร้านอาหารซื้อกับแม่ค้าแทนเพราะต้องการให้เกิดวงจรธุรกิจ เมื่อมีแม่ค้านำปลาไปขายและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แม่ค้ารายอื่น ๆ ก็เริ่มสนใจและหาซื้อมาขาย อย่างไรก็ตามกว่าตลาดจะยอมรับอย่างแพร่หลายต้องใช้เวลานานนับปี แต่พอผู้บริโภคเริ่มต้องการปลาทับทิมก็ขาดตลาดไปเลยในช่วงนั้นเพราะผลิตไม่ทันต่อความต้องการ ปลาทับทิมจึงหายไปจากตลาดช่วงหนึ่ง ทางบริษัทผู้ผลิตสายพันธุ์จึงขยายปริมาณพ่อแม่พันธุ์อย่างเต็มที่และขายลูกพันธุ์ทั่วประเทศ และเราเองก็ต้องปรับกระบวนการเลี้ยงจากเดิมที่มีเพียง 6 กระชัง เพิ่มเป็น 50 และเป็นกว่า 100 กระชังขยายจนเต็มพื้นที่ซึ่งหากรวมพื้นที่ที่เช่าด้วยปัจจุบันจะมีกระชังปลาทั้งหมดประมาณ 300 กระชัง ทำให้เป็นผู้เลี้ยงปลาทับทิมรายใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำแม่กลองซึ่งมีผู้เลี้ยงตลอดสายแม่น้ำประมาณ 100 ราย โดยเลี้ยงกระชังละประมาณ 800 ตัว” เวลาที่ตลาดเปิดรับผลิตไม่ทันจริง ๆ เพราะการเลี้ยงต้องใช้เวลาหลายเดือนอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะได้ปลาไซส์จาน และเมื่อเราประสบความสำเร็จทางราชการก็ตั้งให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล และพยายามให้เราทำที่พักแต่ตอนนั้นยังไม่พร้อมเพิ่งมาทำเมื่อปี 50 ที่ผ่านมา และสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เมื่อมกราคม 2551 และกำลังสร้างห้องพักเพิ่มเติมเพราะมีผู้สนใจเยอะโดยเฉพาะวันศุกร์-วันอาทิตย์
ตลาดปัจจุบันเป็นอย่างไร?
ความจริงตั้งแต่เลี้ยงปลาทับทิมมากว่า 10 ปี ยังไม่จอปัญหาด้านการตลาดยิ่งในปัจจุบันตลาดดีมากผลิตแทบจะไม่พอขาย อีกอย่างคุณภาพน้ำของแม่น้ำแม่กลองที่เราเลี้ยงอยู่มีคุณภาพดี ดีกว่าแม่น้ำสายอื่น ๆ ในภาคกลางถือได้ว่าดีที่สุดเป็นแม่น้ำสายสั้น เมื่อน้ำดีปลาที่เลี้ยงก็มีคุณภาพที่ดีด้วยหากเอาปลาทับทิมของเราไปเปรียบเทียบกับปลาทั่วประเทศเชื่อว่าที่นี่น่าจะเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องคุณภาพ และรสชาติ ตอนนี้ตลาดส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดราชบุรี และสมุทรสงคราม ซึ่งตลาดใหญ่อยู่ในธุรกิจโต๊ะจีนซึ่งต้องมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงในเรื่องของรสชาติอาหาร และความสด สะอาดของวัตถุดิบที่ใชทำอาหาร
ข้อดี-ข้อเสียของปลาทับทิม?
ปลาทับทิมในความเห็นของผมคิดว่าเป็นปลาที่ไม่มีข้อเสีย ปลาชนิดนี้พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลานิล และเมื่อพัฒนาแล้วคุณภาพดีกว่าปลานิลเยอะ ข้อดีของปลาทับทิมคือเป็นปลาที่ถูกพัฒนามาให้เลี้ยงในแม่น้ำที่มีน้ำไหล ซึ่งจะเป็นปลาที่ค่อนข้างสะอาดดังนั้นจะไม่สนับสนุนให้ไปเลี้ยงในบ่อดินเหมือนปลานิล แต่ถ้านำปลาทับทิมไปเลี้ยงในบ่อดินคงไม่มีอะไรแตกต่างจากปลานิล ทางซีพีจึงส่งเสริมให้เลี้ยงในแหล่งน้ำที่สะอาดเพื่อให้มีคุณภาพเนื้อที่ดี สามารถพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกได้ในอนาคต แต่ปัจจุบันมีส่งต่างประเทศน้อยมากเพราะแค่ตลาดในประเทศก็ยังผลิตได้ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามในเรื่องของสายพันธุ์ปลาทับทิมมีผู้ผลิตลูกพันธุ์หลายรายซึ่งคุณภาพแตกต่างกันต้องเลือกผู้ผลิตลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพ จะทำให้ผลผลิตออกมาดีและสามารถช่วยลดต้นทุนได้ รวมทั้งอาหารที่ใช้ต้องเหมาะกับสายพันธุ์จึงจะทำให้การเลี้ยงประสบความสำเร็จ
สายพันธุ์ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?
ตอนนี้สายพันธุ์ปลานิลยังไม่นิ่งยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบางแห่งมีการพัฒนาสายพันธุ์ไปพร้อมกับการพัฒนาอาหารให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิภาพการเลี้ยงดีขึ้น ตอนที่ผมเลี้ยงตอนแรกใช้อาหารของปลาดุกเพราะยังไม่มีอาหารของปลาทับทิมโดยตรง จนกระทั่งบริษัทต่าง ๆ พัฒนาอาหารปลาทับทิมขึ้นมา อย่างของผมในปัจจุบันอัตราการแลกเนื้ออยู่ที่ 1.5 เพราะเราเลี้ยงเยอะต้องใช้คนงานแต่หากเลี้ยงเองจะที่ประมาณ 1.2-1.3 เท่านั้น
ปัจจัยในการเลี้ยงปลาทับทิมให้มีคุณภาพ?
ผมให้ความสำคัญกับสามส่วนคือ สายพันธุ์ อาหาร และคุณภาพน้ำ แต่ในเรื่องคุณภาพน้ำผมให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะคุณภาพน้ำที่ดีจะทำให้ปลาไม่มีกลิ่น อย่างของเราคุณภาพน้ำดีตลอด คุณภาพเนื้อปลาจึงดีตามและค่อนข้างคงที่ ปลาที่มีขายในท้องตลาดจะแข่งขันกันในเรื่องของราคา ปลาที่เลี้ยงในแหล่งน้ำที่ไม่ดี มีกลิ่นและคุณภาพเนื้อไม่ดีก็จะนำมาขายในตลาดที่มีราคาถูก แต่ของเราจะขายในราคาที่ถูกเหมือนกับปลาที่เลี้ยงในแหล่งน้ำที่มีดีหรือในบ่อดินไม่ได้ ต้องขายในราคาสูงกว่า เพราะต้นทุนเราสูงกว่า เราต้องขายคุณภาพ ตรงนี้ตัดสินกันที่ผู้บริโภคเพราะแม่ค้าจะขายแบบไหนก็มีกำไร ยิ่งนำปลาบ่อดินมาขายในราคาปลากระชังยิ่งมีกำไรมาก แต่ปัจจุบันผู้บริโภครู้แล้วว่าคุณภาพปลาบ่อดินกับปลากระชังจะต่างกันมาก เวลาเลือกปลาผู้บริโภคเลือกเองได้ ร้านอาหารบางแห่งที่ใช้ปลาของเราและเปลี่ยนเป็นปลาจากที่อื่นผู้บริโภคจะรู้ทันทีเพราะรสชาติแตกต่างกัน
มีวิธี การถ่ายทอดธุรกิจให้คนรุ่นหลังอย่างไร?
ผมมีลูกชายคนเดียวและลูกสาวอีกสองคน หลังจากลูกชายเรียนจบก็ให้มาช่วยดูแลเรื่องปลาทันทีเนื่องจากตอนนั้นมีฟาร์มสองที่ อีกที่หนึ่งเป็นบ่อดินเลี้ยงปลาดุกและปลาช่อนซึ่งผมอายุมากแล้ววิ่งไปวิ่งมาไม่ไหวจึงให้ลูกชายคือคุณฐิติธัญ แสงวณิช เข้ามาช่วย และต่อมาเลิกเลี้ยงปลาบ่อดินจึงเหลือที่นี่ที่เดียว แม้ต้องการขยายเพิ่มแต่ทำไม่ได้เพราะพื้นที่จำกัด ส่วนพื้นที่บ่อดินใช้เป็นที่อนุบาลลูกปลาทับทิมซึ่งต้องอนุบาลก่อน 2 เดือน จึงจะนำมาเลี้ยงต่อในกระชังอีก 4 เดือน ซึ่งขณะนี้ธุรกิจปลาทับทิมของครอบครัวมีลูกชายเป็นผู้ดูแล
ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ?
เราได้รับผลกระทบเช่นกันแต่ไม่ใช่ด้านการตลาด หากแต่เป็นเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้นค่าขนส่งก็มากขึ้นตาม อีกอย่างคือต้นทุนในเรื่องอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ราคาปลาจะขยับขึ้นแต่ขยับขึ้นมากไม่ได้ต้องคำถึงผู้บริโภคด้วย แต่การขึ้นราคาของปลายังน้อยกว่าหมูและไก่ อย่างไรก็ตามราคาที่ขยับขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะปลาทะเลจับได้น้อยลง ปลาในตลาดมีน้อยราคาก็ดีขึ้น แม้แต่ปลาน้ำจืดในธรรมชาติเองก็น้อยลง ทำให้เราสามารถขายปลาได้สะดวกขึ้น ดังนั้นภาพรวมแล้วยังไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก
จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงปลาทับทิมในปัจจุบันแม้เกษตรกรต้องเจอปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิตทั้งในเรื่องของอาหาร และน้ำมันที่แพงขึ้น แต่ราคาปลาก็ขยับขึ้นเช่นกันจากผลพวงของปลาทะเลที่จับได้น้อยลงเพราะชาวประมงเจอปัญหาราคาน้ำมัน อีกทั้งปลาน้ำจืดที่มีในธรรมชาติน้อยลงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องผลิตปลาที่มีคุณภาพเท่านั้นจึงจะเป็นที่ต้องการของตลาด
ขอขอบคุณ คุณวรชัย และคุณฐิติธัญ แสงวณิช 034-730-182-3


บันทึกการเข้า

b.chaiyasith
แก้ปัญหาไม่ตกคุยกันเวลางานline:chiabmillion
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน650
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3008


ไม้ดีไม่ลอยน้ำมาไกล


อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2009, 07:41:55 pm »

อ่านจบแล้วดูรูปปลาหน้าตาเป็นปลาทับทิม เลยไปค้นหาปลากดหลวง ได้มาหน้าตาอย่างนี้และ
เป็นคนชอบปลาอยู่แล้ว แต่ปลาเป็นไม่สั่งนะครับ Shocked


บันทึกการเข้า

"CHIAB"
มนุษย์เราแต่ละคน  ต่างไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไม่มีใครรู้จักกันมาก่อนเลย  แล้ววันหนึ่งก็มาพบหน้ากัน  สมมุติเป็นพ่อ  เป็นแม่  เป็นเมีย  เป็นสามี  เป็นลูก  อยู่ร่วมกัน  ใช้ชีวิตร่วมกัน และแล้ววันหนึ่ง  ก็แยกย้ายด้วยการ  "ตายจาก"  กันไปสู่  ณ  ที่ซึ่งไม่มีใครได้ตามพบ  คืนสู่ความเป็นผู้ไม่รู้ว่ามาจากไหน  ไปไหน  และคืนสู่ความเป็น  "คนแปลกหน้า"  ซึ่งกันและกันอนันกาลอีกครั้งหนึ่ง...และอีกครั้งหนึ่ง!?
ขอขอบคุณ คุณเปลว สีเงิน ที่ให้ข้อคิดดีๆ
apsin
member
*

คะแนน0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1


« ตอบ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 15, 2010, 10:22:26 am »

ที่มันได้ 8-10 ขีด ใน 4 เดือน เป็นปลาที่ทำหมัน ครับ ปลาทั่วไปไม่เร็วแบบนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!