สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
หน้า: 1 [2] 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม  (อ่าน 115460 ครั้ง)
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #29 เมื่อ: เมษายน 19, 2007, 07:58:42 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00027
๒๗...

            เมื่อนายสมชายนำรถเข้ามาจอดหน้าเรือนปั้นหยาหลังใหญ่ ฝูงสุนัขก็วิ่งกรูกันเข้ามา ส่งเสียงเห่าอึงคะนึง
               ไม่มีผู้ใดลงมาไล่ฝูงสุนัขฝูงนั้น ท่านพระครูจึงแผ่เมตตาไปยังพวกมัน แล้วบอกนายสมชายว่า “ไป ลงจากรถได้แล้ว รับรองว่าปลอดภัย” ชายหนุ่มจึงเปิดประตูลงจากรถอย่างหวาด ๆ แล้วอ้อมมาเปิดประตูให้ท่านลงอีกด้านหนึ่ง ฝูงสุนัขวิ่งกระดิกหางเข้ามาต้อนรับพลางส่งเสียงงี้ดง้าด

         ท่านพระครูเดินนำนายสมชายขึ้นไปบนบ้าน พบนางปั่นนอนแบ็บอยู่บนเตียงนอกชาน ที่นอนเปียกชื้นด้วยน้ำปัสสาวะคละเคล้ากั้บน้ำเหลืองส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง

         “โยมปั่น อาตมามาเยี่ยม” ท่านเอ่ยทัก นายสมชายยกเก้าอี้มาให้ท่านนั่งข้างเตียง

         “หลวงพ่อหรือจ๊ะ โถ อุตส่าห์มาเยี่ยม ขอบคุณมากจ้ะ” นางพูดพลางยกมือขึ้นประนมทั้งที่นอนแบ็บอยู่อย่างนั้น เนื่องจากป่วยเป็นอัมพาตเดินไม่ได้มาห้าหกปีแล้ว

         “สมขาย ไหนล่ะของเยี่ยม” ท่านถามหาของซึ่งเตรียมมาจากวัดป่ามะม่วง

         “อยู่ในรถครับ เดี๋ยวผมลงไปเอามาให้” พูดจบก็ลงบันไดไป สักครู่จึงขึ้นมาพร้อมกับถาดทรงกลม ในถาดบรรจุโอวัลติน นมสด และนมข้น เขาวางลงข้าง ๆ เตียงแล้วถอยออกมานั่งเสียไกล เพราะทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว

         “หลวงพ่อมาเยี่ยมฉันก็เป็นพระคุณแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมาให้ก็ได้” นางปั่นพูดอย่างเกรงใจ

         “ไม่เป็นไรหรอกโยม อะไรที่พอจะช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยกันไป อย่าไปคิดมากเลยนะ นี่โยมอยู่คนเดียวหรือ โยมผู้ชายไปไหนเสียล่ะ” ท่านถามหาสามีของนางปั่น

         “ไปนาจ้ะ ไปดูเขาเกี่ยวข้าว จ้างเขาคนละยี่สิบห้าบาทต่อวัน ก็เลยต้องไปคุม เห็นว่าวันนี้มากันตั้งสิบคน”

         “แล้วโยมกินข้าวกินปลายังไงล่ะ ช่วยตัวเองได้บ้างไหม” ท่านถามอย่างเป็นห่วง

         “ไม่ได้เลยจ้ะหลวงพ่อ เมื่อเช้าทิดเขาป้อนข้าวแล้วก็ออกไปนา กลางวันก็กลับมาป้อนอีก เรื่องกินก็เลยไม่ลำบากเท่าไหร่ จะลำบากก็ตอนหนักตอนเบานี่แหละ เหม็นคลุ้งเลย” นางพูดอย่างเกรงใจท่านพระครู รู้ว่าท่านจะต้องเหม็น ขนาดลูกศิษย์ยังเลี่ยงไปนั่งเสียไกล

         ท่านพระครูมีอันต้องกำหนด “กลิ่นหนอ” เพราะเป็นคนรักความสะอาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

         “ลูกเต้าเขาไปไหนกันหมดล่ะ โยมมีลูกหลายคนไม่ใช่หรือ” ท่านถามพลางนึกตำหนิลูก ๆ ของนางที่ปล่อยให้แม่ต้องมานอนป่วยอยู่เดียวดายเช่นนี้

         “เขามีครอบครัวแยกย้ายกันไปหมดแล้ว ตั้งแต่แบ่งนาให้ไปคนละสามร้อยไร่ ก็ไม่มีใครมาให้เห็นหน้าอีกเลย เหลือแต่ลูกสาวคนสุดท้องที่กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ เมื่อสองสามวันก่อนเขามาบอกให้ฉันหาเงินไว้ให้สักสองหมื่น เขาว่าเขาจะเอาไปพิมพ์หนังสือ”

         เสียงแตรรถดังอยู่หน้าบ้าน ท่านพระครูหันไปมองก็เห็นรถ บีเอ็มดับบลิว สีตะกั่วตัด วิ่งมาจอดคู่กับรถตู้ของท่าน คนขับเป็นผู้หญิงอายุในราวยี่สิบห้า มีผู้หญิงวัยเดียวกันตามมาอีกสี่ห้าคน ฝูงสุนัขวิ่งกรูเข้ามา แต่ถูกคนที่ขับรถไล่ตะเพิดออกไป

         “ขึ้นบ้านก่อน เดี๋ยวไปเอาเงินกับแม่เดี๋ยว ไม่รู้ว่าหาให้ได้หรือยัง” หล่อนพูดพลางเดินนำขึ้นไปบนบ้านเห็นพระนั่งอยู่ข้าง ๆ มารดาจึงยกมือไหว้

         “หนูมาหาใครจ๊ะ” ท่านทักขึ้นก่อน

         “มาหาแม่จ้ะ ฉันเป็นลูกสาวคนที่นอนอยู่บนเตียงนี่” หล่อนชี้ที่มารดา ส่วนเพื่อน ๆ ของหล่อนนั่งรออยู่ห่าง ๆ

         “หนูมาก็ดีแล้ว ช่วยซักผ้านุ่งและผ้าปูที่นอนให้แม่เขาด้วย กลิ่นอุจจาระปัสสาวะคลุ้งไปหมด” ท่านถือโอกาสใช้

         “ไม่ได้หรอกหลวงพ่อ หนูจะรีบไป” พูดพลางหันไปมองเพื่อน ๆ ซึ่งขยิบหูขยิบตาใส่ทำนองว่า “อย่าซัก”

         “จะรีบไปไหนล่ะจ๊ะ”

         “ไปเผาศพญาติของเพื่อนที่อยุธยาค่ะ” หล่อนตอบ รู้สึกไม่พอใจที่ถูกซักไซ้ไล่เลียง

         “ก็ซักผ้าให้แม่ก่อนแล้วค่อยไป คงกินเวลาไม่ถึงยี่สิบนาทีหรอกน่า” หญิงสาวหันไปมองเพื่อน ๆ อย่างเกรงใจ เห็นพวกเขาทำบุ้ยใบ้ว่าไม่ให้ซัก จึงบอกท่านพระครูว่า

         “ไม่ได้หรอกหลวงพ่อ เดี๋ยวเพื่อน ๆ เขาจะรอ”

         “ก็ให้เขารอสักประเดี๋ยวจะเป็นไรไป”

         “เดี๋ยวไปไม่ทันงานศพ” หล่อนตอบเสียงห้วน รู้สึกรำคาญขึ้นมาตะหงิด ๆ เป็นพระเป็นเจ้ามายุ่งอะไรกับเรื่องของหล่อน ขนาดแม่หล่อนแท้ ๆ ยังไม่กล้าใช้

            ท่านพระครูล่วงรู้ความคิดของหญิงสาว การที่ท่านเซ้าซี้ให้หล่อนซักผ้าให้มารดาก็เพื่อจะช่วย “ตัดกรรม” ให้ แต่หล่อนกลับแสดงอาการไม่พอใจจนออกนอกหน้า ท่านจึงพูดเสียงค่อนข้าดังว่า “ขอโทษเถอะหนู อาตมาขอถามตรง ๆ ว่า คนที่ตายน่ะเขามีความสำคัญต่อหนูมากกว่าแม่ของหนูหรือไง แล้วถ้าหนูไม่ไปเผาศพเขา จะทำให้งานต้องล้มเลิกไปเลยใช่ไหม” ท่านประชดหากหล่อนไม่สนใจ หันไปพูดกับมารดาว่า “แม่ เงินสองหมื่นหาได้หรือยัง ที่หนูขอไว้ไปพิมพ์วิทยานิพนธ์น่ะ”

         “ยังหาไม่ได้หรอกอีหนูเอ๊ย พ่อเอ็งเขามัวยุ่งอยู่กับเรื่องเกี่ยวข้าว เลยยังไม่มีเวลาไปหยิบไปยืมใคร” นางปั่นพูดอย่างเกรงใจลูกสาว

         “แล้วเมื่อไหร่จะได้ล่ะ บอกตั้งหลายวันแล้ว” ลูกสาวพูดเกือบเป็นตะคอก ท่านพระครูจึงถือโอกาสถามขึ้นว่า

         “หนูเรียนอยู่ที่ไหนล่ะจ๊ะ”

         “หนูเรียนปริญญาโทอยู่กรุงเทพฯ ค่ะ กำลังทำวิทยานิพนธ์ จะมาขอเงินแม่เขาไปพิมพ์” หล่อนพูดอย่างภาคภูมิใจ รู้สึกอารมณ์ดีขึ้น เมื่อท่านถามเรื่องเรียน

         “อ้อ เรียนปริญญาโทเชียวหรือ อยู่สถาบันไหนล่ะ” หญิงสาวเอ่ยนามมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของเมืองไทย ท่านพระครูกลับลงความเห็นว่า “ไม่น่า คนอย่างหนูนี่ไม่น่าจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ อย่างนี้”

         “ทำไมหรือคะ”

         “ก็ทำให้เสียชื่อเสียงสถาบันเขาหมดน่ะซี” ท่านว่าเอาตรง ๆ

         “เสียชื่อยังไงคะ หนูเสียหายตรงไหน” ถามโกรธ ๆ

         “เสียหายตรงที่หนูไม่มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมอยู่ในจิตใจนะซี แม่นอนป่วยแทนที่จะมาพยาบาลรักษา กลับเห็นญาติของเพื่อนสำคัญกว่า อาตมาขอว่าหนูตรง ๆ อย่างนี้แหละ น่าเสียดายที่มีความรู้สูง แต่คุณธรรมไม่มีเลย หนูจำไว้ด้วยว่า ความรู้นั้นต้องคู่กับคุณธรรม ถ้ามีแต่ความรู้อย่างเดียวก็เป็นคนดีไม่ได้” ท่านพระครูเทศน์ยืดยาวโดยไม่ต้องมีการอาราธนา ท่านรู้ว่าหญิงสาวผู้นี้จะต้องรับกรรมอย่างหนัก อยากจะช่วยให้กรรมนั้นเบาบางลง จึงต้องลงทุนเทศนาหล่อน ทั้งที่รู้ว่ามันทำให้หล่อนขัดเคือง

         ด้วยความเมตตาสงสารไม่อยากให้เขาประสบเคราะห์กรรม ท่านจึงพูดกับเขาอย่างอ่อนโยนว่า

         “หนู อาตมาขอร้องเถอะ หนูช่วยเอาผ้าแม่ไปซักหน่อย แล้วหนูจะเจริญรุ่งเรืองเชียวละ นี่ถ้าอาตมาไหว้หนูได้ก็จะไหว้เดี๋ยวนี้เลย นะหนูนะ”

         “ไม่ซ้งไม่ซักหรอก คนจะรีบ หลวงพ่ออยากซักก็ไปซักเองสิ” นิสิตปริญญาโทกล่าวจ้วงจาบพระสงฆ์

         “หนู นี่ถ้าโยมปั่นเป็นแม่อาตมา อาตมาจะซักให้หนูดูอย่างไม่รังเกียจเลย แต่จนใจที่ทำไม่ได้ เพราะมันผิดวินัย พระวินัยอนุญาตให้ทำให้แม่ได้เท่านั้น ทำให้คนอื่นไม่ได้”

         “วินงวินัยอะไรหนูไม่สนใจหรอก หนูไปละ แม่ไปก่อนนะ อย่าลืมหาเงินไว้ให้ด้วยล่ะ” พูดแล้วก็ชวนเพื่อน ๆ ลงเรือนไป ไม่สนใจที่จะไหว้ลาท่านพระครูด้วยซ้ำ

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมองตามรถบีเอ็มดับบลิว ด้วยความรู้สึกสลดหดหู่ ท่านหันไปพูดกับนางปั่นว่า

         “ไม่ไหว นี่โยมเลี้ยงลูกยังไงถึงได้เป็นแบบนี้”

         “มันเวรกรรมของฉันจ้ะหลวงพ่อ” นางปั่นพูดไปร้องไห้ไป

         “นี่เขาก็มาข่มขู่จะเอาเงินไปพิมพ์หนังสือ ฉันก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนให้เขา สมบัติอะไรก็แบ่งให้ไปหมดแล้ว นาสามร้อยไร่นั่นเขาก็ขายหมด เอาไปแลกรถคันนั้นได้คันเดียว บอกเขาก็ไม่เชื่อ ห้ามเขาก็ไม่ฟัง” นางร้องไห้สะอึกสะอื้น

         “นี่ดีนะที่เป็นลูกโยม ถ้าเป็นลูกอาตมาละก็ คงตัดหางปล่อยวัดไปแล้ว”

         “อย่าไปว่าเขาเลยจ้ะหลวงพ่อ มันเป็นกรรมของฉันเอง” นางปั่นไม่วายเข้าข้างลูก

         “ขอถามหน่อยเถอะโยม ตั้งแต่โยมนอนป่วยมานี่ ลูกสาวเขาเคยซักผ้าให้ไหม ผ้าที่เปื้อนอุจจาระปัสสาวะของโยมน่ะ”

         “ไม่เคยจ้ะ เขารังเกียจ มีแต่ทิดนั่นแหละเขาซักให้” นางหมายถึงผู้เป็นสามี พูดยังไม่ทันขาดคำนายขำก็ขึ้นเรือนมา ครั้นเห็นท่านพระครูจึงเข้ามานั่งยอง ๆ ยกมือไหว้

         “หลวงพ่อมานานแล้วหรือครับ”

         “สักพักหนึ่งเห็นจะได้ เป็นไงวันนี้เกี่ยวข้าวได้กี่ไร่”

         “สักสามสี่ไร่เห็นจะได้ครับ วันนี้จ้างคนมาเกี่ยวสิบคน เดี๋ยวนะครับ ผมขอตัวไปหาน้ำมาถวายหลวงพ่อก่อน” พูดพลางตั้งท่าจะลุกขึ้น แต่ท่านพระครูห้ามไว้

         “ไม่ต้องหรอกโยม อาตมาเรียบร้อยมาแล้ว โยมมาเหนื่อย ๆ นั่งพักเสียก่อน เดี๋ยวอาตมาก็จะกลับแล้ว”

         “ทิด เมื่อกี้อีหนูมันมาเอาเงินแน่ะ” นางปั่นบอกสามี

         “แล้วแกทำยังไงล่ะ บอกมันว่ายังไง”

         “ก็บอกไปว่ายังหาไม่ได้ ท่าทางมันโกรธเชียว”

         “ลูกสาวโยมนี่ไม่ไหวเลยนะ อาตมาให้ช่วยซักผ้าให้โยมปั่น เขาก็ไม่ยอมซัก” ท่านพระครู “ฟ้อง”

         “เหลือเกินเลยแหละครับหลวงพ่อ เขาถือว่าเรียนสูงกว่าพ่อกว่าแม่ จะสอนจะสั่งยังไงเขาก็ไม่ฟัง ดูถูกพ่อแม่ว่าจบแค่ ป.๔ ผมว่าเขาคงไปไม่ถึงไหน อย่าหาว่าแช่งลูกเลย” นายขำพูดอย่างอ่อนล้า รู้สึกผิดหวังที่มีลูกไม่ได้ดังใจสักคนเดียว

         “อย่าไปโทษลูกมันเลยทิดเอ๊ย มันเป็นกรรมของข้าเอง” นางปั่นปรามสามีพลางขยับตัวอย่างลำบาก การนอนแบ็บอยู่กับที่เป็นเวลาแรมปี ทำให้เนื้อบริเวณหลังเปื่อยกลายเป็นแผลเรื้อรัง น้ำเหลืองไหลเยิ้ม

         “แกก็เข้าข้างมันทุกที มันถึงได้เป็นยังงี้ไงล่ะ” นายขำว่าภรรยา

         “ก็มันจริง ๆ นี่นา หลวงพ่อเชื่อฉันเถิดจ้ะ ว่ามันเป็นกรรมของฉันเอง ฉันทำกรรมไว้กับแม่ ลูกก็เลยทำกับฉันเหมือนกับที่ฉันเคยทำกับแม่ ฉันจะเล่าให้หลวงพ่อฟัง” นางหยุดหายใจลึก ๆ สองสามครั้งแล้วจึงเริ่มต้นเล่าด้วยเสียงแหบเครือ

         “แม่ฉันก็เป็นอัมพาตนอนป่วยอยู่เป็นปี ฉันไม่เคยซักผ้าให้แก ตอนนั้นฉันอยู่กับยาย ไม่ได้อยู่กับแม่ เวลายายให้เอาข้าวมาส่งให้แม่ ฉันก็เอามาส่งแล้วก็รีบกลับไปบ้านยาย แม่เคยขอร้องฉันว่า อีหนูช่วยซักผ้าให้แม่หน่อย ฉันก็ไม่ยอมซัก พ่อกลับจากนาก็ต้องมาซักผ้าให้แม่

         ฉันอยู่กับยายไม่เคยไปพยาบาลแม่เลย อยู่กันคนละบ้าน ยายเป็นคนทำกับข้าวให้ฉันเอาไปส่งแม่ทุกวัน ส่งเสร็จฉันก็กลับ ไม่เคยซักผ้าให้แม่สักครั้งเดียว ฉันถึงไม่โกรธลูกที่เขาไม่ซักผ้าให้ฉัน” นางปั่นเล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้ท่านพระครูฟัง

         “อ้อ อย่างนี้เอง” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเพิ่งจะเข้าใจเดี๋ยวนั้นว่า เหตุใดท่านจึงมองเห็น “กฎแห่งกรรม” ของลูกสาวนางปั่น ครั้นจะเล่าให้สองผัวเมียฟังก็เกรงเขาจะไม่สบายใจ จึงนิ่งเสีย

         อาตมาเห็นจะต้องลากลับเสียที โยมจะได้พักผ่อนกัน” รู้ว่าท่านจะกลับ นางปั่นก็มีอันเจ็บปวดตามเนื้อตัวขึ้นมาทันที ตอนคุยกับท่านรู้สึกเพลินจนลืมความเจ็บปวด นางร้องครวญครางขึ้นว่า “หลวงพ่อ ฉันทรมานเหลือเกิน ช่วยฉันด้วย”

         “โยมเคยเข้ากรรมฐานมาแล้วไม่ใช่หรือ อาตมาจำได้นะ จำได้ว่าโยมเคยไปอยู่วัดป่ามะม่วงหลายวัน”

         “จ้ะ ฉันเคยไปเข้ามาสองครั้งตอนก่อนจะล้มป่วย ครั้งแรกอยู่เจ็ดวัน ครั้งที่สองสิบห้าวัน”

         “นั่นแหละ โยมก็เอาวิชานั้นนั่นแหละมาใช้”

         “ใช้ยังไงจ๊ะหลวงพ่อ ฉันลืมหมดแล้ว เพราะตั้งแต่กลับจากวัด ก็ไม่ได้ปฏิบัติอีก ยิ่งพอมาล้มป่วยก็เลยเลิกพูดถึงไปเลย

         “เอาเถอะลืมก็ไม่เป็นไร อาตมาจะช่วยทบทวนให้ ก็ยังดีกว่าเริ่มใหม่ทั้งหมด คนที่เคยปฏิบัติแล้วอย่างน้อยก็ต้องมีเชื้อหลงเหลืออยู่บ้าง ฟังนะ โยมเจ็บตรงไหน หรือที่เรียกว่าเอาความเจ็บปวดมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน แล้วก็กำหนด “ปวดหนอ” หรือ “เจ็บหนอ” ไปตามที่เป็นจริง ถ้ามันทั้งเจ็บทั้งปวดก็กำหนดว่า “เจ็บปวดหนอ เจ็บปวดหนอ” กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิเราก็จะรู้สึกว่าความเจ็บปวดนั้นมันคลายลง โยมทำได้ไหมล่ะ”

         “จ้ะ คิดว่าคงทำได้”

         “ต้องทำได้ซี อย่าไปคิดว่าคงทำได้ ให้ตั้งใจให้แน่วแน่ลงไปเลยว่าต้องทำได้ โยมต้องใช้สติข่มทุกขเวทนาให้ได้ เข้าใจหรือยัง”

         “เข้าใจจ้ะ ขอบพระคุณหลวงพ่อมาก ถ้าหลวงพ่อมีเวลา กรุณามาเยี่ยมฉันอีกนะจ๊ะ ฉันคงอยู่ไปอีกไม่นาน อย่างน้อยหลวงพ่อก็จะได้มาช่วยส่งวิญญาณฉันให้ไปสุคติ” นางปั่นพูดอย่างคนที่เห็นการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องปกติธรรมดา

         “ไม่ต้องให้อาตมาส่งหรอก โยมส่งเองก็ได้ เราเคยปฏิบัติแล้วเราก็รู้แล้วนี่ว่าทางไหนเป็นยังไง ถ้าเราอยากจะไปทางสายนั้น เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร”

         “รู้จ้ะ แต่เวลาปฏิบัติมันทำไม่ได้อย่างที่รู้”

         “นั่นแสดงว่าโยมรู้ไม่จริง ถ้ารู้จริงต้องปฏิบัติได้ จำไว้นะโยม วันนี้ อาตมามาให้สติโยมหลายเรื่องด้วยกัน และถ้าโยมปฏิบัติตามได้ โยมก็จะพ้นทุกข์ได้ อาตมาลาละ” นายขำกุลีกุจอตามมาส่งท่านที่รถ ซึ่งนายสมชายลงมารูอยู่ตั้งแต่ได้ยินว่าท่านจะกลับ ท่านพูดให้กำลังใจนายขำว่า

         “อดทนเอาหน่อยนะโยมนะ คิดเสียว่าเคยทำกรรมร่วมกันมา โยมปั่นเขาคงจะเคยปรนนิบัติโยมมาแต่ครั้งอดีต โยมก็เลยต้องมาทำให้เขาบ้าง ก็ใช้ ๆ หนี้กันเสียให้หมดจะได้ไม่ต้องมีเวรมีกรรมต่อกัน”

         “ครับหลวงพ่อ” ชาตินี้ผมเกิดมาใช้หนี้ลูกใช้หนี้เมีย ก็จะตั้งหน้ารับกรรมไปจนกว่าจะตาย ชาติหน้าชาติไหนผมจะไม่เกิดเป็นไอ้ขำอีกแล้ว ขอเกิดเป็นพระอย่างหลวงพ่อดีกว่า จะได้ตัดภพตัดชาติให้สิ้นไป” พูดอย่างคนที่เข็ดหลาบกับชีวิต

         “ดีแล้ว อาตมาขออนุโมทนา ถ้าโยมต้องการอย่างนั้น ก็ขอให้อธิษฐานจิตแล้วหมั่นสวดมนต์ภาวนา ถ้าจิตถึง โยมก็จะได้เป็นดังที่อธิษฐาน อาตมาลาละนะโยมนะ”

         “ครับ ขอบพระคุณมากครับหลวงพ่อ ขอบพระคุณที่ได้เตือนสติ ทำให้ผมมีกำลังใจต่อสู้กับชีวิตต่อไป ขอให้หลวงพ่อได้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยเร็วนะครับ” เป็นคำอวยพรที่ถูกใจท่านพระครูยิ่งนัก แม้จะตระหนักดีว่า การจะบรรลุถึงจุดหมายได้เร็วหรือช้านั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความเพียรของตนเองเป็นสำคัญก็ตาม

         รถเคลื่อนออกพ้นบริเวณบ้านมาแล้ว นายสมชายจึงเอ่ยขึ้นว่า

         “หลวงพ่อนั่งคุยอยู่ได้ตั้งนมตั้งนาน ไม่รู้สึกเหม็นบ้างหรือไง ขนาดผมนั่งอยู่ห่าง ๆ ยังแทบอ้วก” ท่านพระครูไม่ตอบแต่กลับถามขึ้นว่า “เธอเห็นลูกสาวเขาไหม คนที่ขับรถบีเอ็ม น่ะ ช่างน่าเกลียดเสียเหลือเกิน”

         “น่าเกลียดอะไรกัน เขาสวยออกเสียดายที่ผมเกิดช้าไปหน่อย ไม่งั้นผมจีบแล้ว ทั้งรูปสวย รวยทรัพย์ นับวิชา”

         “เธอก็เห็นแต่รูปภายนอก ทรัพย์ภายนอกเท่านั้นแหละ แต่รูปภายในทรัพย์ภายในเธอไม่เห็น”

         “ก็ไม่จำเป็นจะต้องเห็นนี่ครับหลวงพ่อ”

         “จำเป็นสิสมชาย ทำไม่จะไม่จำเป็น เพราะคนเขาคิดอย่างเธอนี่แหละ ชีวิตคู่สมัยนี้มันถึงหาความสุขไม่ได้ เพราะดูกันแค่ภายนอกนี่เอง”

         “ผมไม่เถียงหลวงพ่อดีกว่า ชักปวดหัวตะหงิด ๆ แล้ว วันนี้เจอแต่เรื่องหนัก ๆ ทั้งนั้น ทำไม่ผมจะต้องมาเจอเรื่องหนัก ๆ ในวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันที่ผมเกิด”

         “เอาละ ไหน ๆ ก็เจอแต่เรื่องหนัก ๆ มาแล้ว ก็มาเจออีกเรื่องหนึ่งก็แล้วกัน เอาหนังเสียวันเดียว วันอื่นจะได้ไม่หนัก เธอรู้หรือเปล่า ฉันเห็นกฎแห่งกรรมแม่หนูที่ขับบีเอ็ม นั่นแล้ว ในอนาคตเขาจะต้องเป็นอัมพาตเหมือนแม่เขา แล้วลูกเขาก็จะไม่มาปรนนิบัติ ยิ่งร้ายไปกว่านั้นคือ สามีเขาก็จะทิ้งเขาไปมีเมียใหม่ จะไม่มาคอยดูแลเหมือนที่พ่อเขาดูแลแม่เขา”

         “ถึงว่าซี หลวงพ่อถึงได้คาดคั้นเขานัก ให้เขาซักผ้าให้แม่ หลวงพ่อต้องการจะช่วยเขานี่เอง แต่เขาก็ไม่ยอมรับความหวังดีของหลวงพ่อ น่าสงสารจริง ๆ นี่ถ้าผมอายุเท่าเขาก็คงไม่คิดจะจีบแล้ว ผมขี้เกียจมานั่งซักผ้าขี้ผ้าเยี่ยวให้ คงเหม็นตายแน่ ๆ” นายสมชายทำท่าสะอิดสะเอียน

         “ฉันถึงว่ามันเป็นกรรมไงล่ะ กรรมที่ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้ ฉันก็พยายามแล้วแต่มันไม่สัมฤทธิผล ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรมดังพุทธพจน์ที่ว่า  ..กมฺมุนา วตฺตตี โลโก – สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

มีต่อ........๒๘
 
บันทึกการเข้า

ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #30 เมื่อ: เมษายน 19, 2007, 07:59:35 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00028

 

๒๘...

          นายสมชายพาท่านพระครูมาถึงวัดป่ามะม่วงตอนพลบค่ำ มีรถจอดอยู่ที่ลานจอดรถหลายคัน ทั้งรถกระบะ รถตู้ รถเก๋ง และมอเตอร์ไซค์ แสดงว่าคนที่มาหานั้นจะต้องมีเรื่องทุกข์ร้อนหรือรีบด่วนชนิดที่รอให้ถึงวันพระไม่ไหว ท่านรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง อยากจะพักผ่านอาบน้ำอาบท่าแต่ก็สงสารคนที่รอ จึงจำต้องเดินไปนั่งที่อาสนะ

          “หลวงพ่อสรงน้ำก่อนไม่ดีหรือครับ” นายสมชายพูดอย่างเป็นห่วง ตัวเขาเองก็เหนื่อยล้าจนเหลือจะเอ่ย

          “ไม่เป็นไร รู้สึกว่าญาติโยมเขามารอกันนาน เกรงใจเขา” แทนที่พวกเขาจะเป็นฝ่ายเกรงใจท่าน ท่านกลับ “เกรงใจเขา” และยอมทนทุกข์เพื่อความสุขของผู้อื่น ในโลกนี้จะมีบุคคลที่เปี่ยมด้วยเมตตาเช่นนี้สักกี่คน มีใครบ้างที่ยอมทนทุกข์เพื่อความสุขของผู้อื่น

          “โยมกินข้าวกันหรือยัง” เป็นคำถามแรกที่ท่านถาม เรื่องปากเรื่องท้องย่อมมาเป็นอันดับแรก สำหรับบุคคลที่ยังเป็นผู้ครองเรือน

          “เรียบร้อยแล้วครับ ค่ะ” บุรุษและสตรีที่นั่งอยู่ในกุฏิตอบพร้อมกัน ข้างหน้าของแต่ละคนมีแก้วน้ำใส่น้ำชาวางอยู่ ท่านนึกสงสัยว่าใครหนอเป็นผู้บริการ เนื่องจากนายสมชายก็ไปกับท่าน จึงถาม

          “ใครเขาเอาน้ำมาเสิร์ฟล่ะ” เพราะรู้ว่าพวกแม่ครัวคงไม่ตามมาบริการน้ำถึงที่กุฏิ

          “ลูกศิษย์หลวงพ่อที่เขาอยู่กุฏินี้แหละครับ คนสูง ๆ ผอม ๆ เมื่อกี้ก็ยังมาจัดคิวให้ ตอนนี้ไม่รู้ว่าหายไปไหนเสียแล้ว” คนพูดมองหน้ามองหลังเพื่อค้นหาคนที่มาบริการน้ำ ท่านพระครูต้องการคำตอบจึงต้องพึ่ง “เห็นหนอ” ก็รู้ว่าบุรุษผู้มากับก้อนหินนั่นเองที่มารับแขก ท่านไม่รู้สึกแปลกใจในความมีน้ำใจของเขา เพราะเรื่องเช่นนี้เคยปรากฏมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา

          ครั้งนั้นมีข้าราชการหญิงจากสำนักงบประมาณมาตรวจงานที่จังหวัด แล้วก็พากันมาค้างที่วัดป่ามะม่วง บังเอิญเป็นวันที่เขานิมนต์ท่านไปบรรยายธรรมที่กรุงเทพฯ พวกแม่ครัวก็พากันไปดูลิเกหมด จึงไม่มีใครอยู่ต้อนรับแขก แม่กาหลงจึงต้องมาทำหน้าที่บริการทั้งอาหารและเครื่องดื่ม เสร็จแล้วยังพาเข้าที่พักผ่อนหลับนอนเป็นที่เรียบร้อย

          รุ่งเช้าท่านจึงทราบเรื่องว่ามีข้าราชการมาพักที่วัด ก็ได้ถามด้วยความเป็นห่วงว่ากินอยู่กันอย่างไร เพราะคนที่คอยบริการพากันไปดูลิเกหมด ข้าราชการหญิงคณะนั้นก็ตอบว่าลูกศิษย์หลวงพ่อที่เป็นผู้หญิงสวย ๆ ผมยาว ๆ มาต้อนรับ ทำอาหารอย่างอร่อยให้รับประทาน มียำใหญ่และแกงมัสมั่น แล้วยังตบท้ายด้วยกาแฟร้อนคนละถ้วย จากนั้นก็พาไปส่งยังกุฏิที่พัก

          ท่านพระครูจัดการเรียกบรรดาแม่ครัวมาหมดวัดเพื่อให้เขาชี้ตัวว่าคนไหน เขาก็บอกไม่ใช่คนมีอายุ เพราะคนนั้นเขายังสาวและสวย พวกแม่ครัวจึงพูดขึ้นว่า สงสัยคงเป็นแม่กาหลง เขาก็ถามท่านว่าแม่กาหลงไปใคร ท่านจึงจำต้องเล่าเรื่องแม่กาหลงให้พวกเขาฟัง เขาก็เลยพากันอำลาท่านไปพักที่โรงแรมในเมือง ด้วยเกรงว่าจะต้องพบกับแม่กาหลงอีก

          ผู้ที่มาถึงคนแรกคลานเข้าไปใกล้ท่าน กราบสามครั้งแล้วรายงานว่า

          “หลวงพ่อครับ ผมนำอาหารมาเข้าโรงครัว มีข้าวสารกระสอบนึง แล้วก็พวกปลาแห้ง ปลาเค็ม พริก หอม กระเทียม หลวงพ่อช่วยกรวดน้ำไปให้น้องเมียผมด้วย เขามาเข้าฝันบอกว่าอดอยากมาก ให้เอาของมาบริจาคที่โรงครัววัดป่ามะม่วง แล้วก็บอกให้หลวงพ่อกรวดน้ำไปให้เขาด้วย เขาไม่เคยเข้าวัด แต่ทำไมรู้จักหลวงพ่อก็ไม่ทราบ” คนเป็นพี่เขยสงกา

          “เขาบอกมาตั้งแต่เมื่อไหร่ล่ะ” ท่านพระครูถาม

          “หลายคืนแล้วครับ ผมกับภรรยาก็ลืมอยู่เรื่อย เขามาบอกสามครั้งแล้ว”

          “เขาตายนานหรือยัง แล้วเป็นอะไรตาย”

          “ตายมาสักปีเห็นจะได้ เป็นไข้ตายครับ”

          “อายุเท่าไหร่ตอนที่ตายน่ะ”

          “ยี่สิบสามครับ เพิ่งเรียนจบและทำงานได้ปีเดียว ทำไมเขาถึงอายุสั้นเล่าครับหลวงพ่อ ผมแปลกใจว่าชีวิตของเขาดีมาตลอด แต่ทำไมอยู่ ๆ ก็มาตาย เขาเป็นน้องคนเล็กของภรรยาผม เราเลี้ยงเขาเหมือนลูก เพราะสงสารที่กำพร้าพ่อแม่ แล้วตอนนั้นผมกับภรรยาก็ยังไม่มีลูก เขาเรียนเก่งมากครับ ได้ที่หนึ่งของจังหวัดตอนจบ ม.ศ. ๓ แล้วก็ไปสอบเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ จบจากโรงเรียนเตรียมเขาก็สอบเข้าเรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ ตอนจบก็ได้เกียรตินิยมอันดับสอง แล้วก็เข้าทำงานที่กรมวิทยาศาสตร์มาปีที่แล้ว เขาเป็นไข้ ก็ไข้หวัดธรรมดา ๆ นี่แหละครับหลวงพ่อ ไม่น่าตายเลย” คนทำหน้าที่เป็นทั้งบิดาและพี่เขยของผู้ตายบอกกล่าว

          “แล้วนิสัยใจคอเขาเป็นยังไง”

          “นิสัยดีครับ ว่านอนสอนง่าย ถ้าจะเสียก็เห็นจะมีอยู่เรื่องเดียวคือ เขาไม่ชอบทำบุญ ไม่เคยทำบุญ ไม่เคยเข้าวัด แต่ตอนตายไปแล้ว ทำไมถึงรู้จักวัดป่ามะม่วง แล้วก็รู้จักหลวงพ่อด้วย ผมสงสัยจริง ๆ นะ ครับ”

          “โยมมีรูปถ่ายของเขาไหม หน้าตาเขาเป็นอย่างไร”

          “มีครับ พอดีภรรยาผมเขาบอกให้เอารูปถ่ายติดมาด้วย นี่ครับ” พูดพลางส่งรูปถ่ายขนาดสามนิ้วให้ท่านพระครู ท่านรับมาพิจารณาแล้ว กำหนด “เห็นหนอ” ก็เห็น “กฎแห่งกรรม” ของผู้ตายอย่างชัดเจน จึงพูดขึ้นว่า

          “น้ำมันหมดน่ะโยม”

          “หมายความว่ายังไงครับหลวงพ่อ” บุรุษนั้นไม่เข้าใจ

          “หมายความว่ากรรมดีที่เขาสะสมมามันหมดลง การที่เขาดีมาตลอดก็เป็นเพราะทำกรรมดีมา แต่ในชาตินี้เขาหยุดทำ ไม่ทำบุญให้ทาน เรียกว่า ไม่เติมน้ำมันเลย น้ำมันที่เป็นของเก่ามันก็เลยหมด พอไปอดไปอยาก เข้าถึงได้ระลึกรู้กรรมที่ตนทำ ก็เลยเร่ร่อนมาถึงวัดป่ามะม่วง เอาเถอะแล้วอาตมาจะจัดการให้” ท่านถือโอกาสสั่งสอนผู้ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นด้วยว่า

          “ญาติโยมทั้งหลายโปรดทราบ บาปบุญนั้นมีจริง จิตวิญญาณมีจริง และสงสารวัฏก็มีจริง จงดูตัวอย่างแม่หนูคนนี้เอาไว้ ตอนที่มีชีวิตอยู่เขาไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้ แม้เขาจะฉลาดเรียนหนังสือเก่ง แต่ก็เป็นความฉลาดทางโลกเท่านั้น ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้เฉพาะตอนที่มีชีวิตอยู่ แต่พอตาย วิชาความรู้ทางโลกมันช่วยเราไม่ได้เลย ฉะนั้นถ้าใครอยากมีชีวิตที่ดีในภพหน้า ก็ต้องสร้างคุณงามความดีเข้าไว้ บุญกุศลเท่านั้นที่สามารถจะติดตามเราไปในภพหน้าได้ ส่วนสมบัติพัสถานเอาไปไม่ได้”

          “ผมเห็นจะต้องลากลับละครับหลวงพ่อ มาตั้งแต่เช้าคิดว่าจะไม่พบหลวงพ่อแล้ว” บุรุษวัยสี่สิบเศษทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง แล้วจึงลุกออกไป

          รายที่สองกำลังจะคลานเข้ามาแทนที่ ชายวัยห้าสิบเศษก็กระหืดกระหอบเข้ามาในกุฏิ พูดละล่ำละลักว่า

          “หลวงพ่อช่วยล่วย แม่อั๊วะ แม่อั๊วะ”

          “เถ้าแก่ คิวอั๊วะ อย่าลัดคิวซี” “เจ้าทุกข์” รายที่สอง ซึ่งเป็นสตรีร่างขาวท้วมขัดจังหวะขึ้น

          “ขอโทก ขอโทกล่วย แม่อั๊วะ แม่อั๊วะ กำลังจะซี้เลี้ยว หลงพ่อไปช่วยอีหน่อย” ประโยคหลังเขาพูดกับท่านพระครู ท่าทางดูร้อนรนน่าสงสารและสมเพชระคนกัน

          “จะให้อาตมาช่วยอะไรล่ะเถ้าแก่ อาตมาไม่ใช่มดใช่หมอสักหน่อย” ท่านออกตัว

          “ล่าย ล่าย หลงพ่อต้องช่วยล่าย ถึงไม่เป็งหมอก็ช่วยล่าย หลงพ่อช่วย อย่าให้อีตายนะ แล้วอั๊วะจะทำบุงกระหลงพ่อสองหมึ่ง” เขาให้สินบนด้วยความเคยชิน หลายคนที่นั้นแสดงอาการไม่พอใจ ชายผู้นี้มาลัดคิวคนอื่นแล้วยังแสดงอาการดูถูกท่านเจ้าของกุฏิอีกด้วย

          “แหม ถ้าอาตมาช่วยได้ คนก็ไม่ต้องตายกันน่ะซี แล้วอาตมาก็คงรวยไม่รู้เรื่องเชียวละ” แล้วท่านจึงพูดให้เขาเข้าใจเสียใหม่ว่า “อาตมาไม่ใช่ผู้วิเศษหรอกเถ้าแก่ ฉะนั้นอาตมาจึงห้ามความตายไม่ได้ ถ้าจะช่วยได้ก็คงช่วยบอกทางให้คนตายไปดี ช่วยได้แค่นี้เองนะเถ้าแก่” ท่านมิได้พูดต่ออีกว่า หากบอกแล้วเขาไม่เดินไปตามทางที่ท่านบอกก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ “ยังงั้งหลงพ่อช่วยไปบอกทางให้อีก็ล่าย ไปเหลียวนี้เลย อั๊วะเอาลกมาลับเลี้ยว”

          “ยังไปไม่ได้หรอกเถ้าแก่ ลื้อกลับไปก่อนเถอะ พรุ่งนี้อาตมาถึงจะไปเห็นหรือเปล่าแขกเต็มกุฏิเลย”

          “ถ้าอีซี้ไปก่องล่ะหลงพ่อ ใครจาบอกทางให้อี”

            “เถอะน่า อียังไม่ซี้หรอก อีรอให้อาตมาไปบอกทางก่อน รับรองถ้าอีซี้ อาตมาให้ลื้อปรับ ยกวัดให้ทั้งวัดเลยเอ้า” ท่านพูดอย่างอารมณ์ดี เถ้าแก่ฟังแล้วก็ใจชื้นขึ้น เมื่อท่านบอกว่ามารดายังไม่ตายก็ต้องเชื่อท่าน ตั้งตามอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์ท่านมาก็ยังไม่เห็นว่าท่านพูดผิดไปจากความจริงแม้สักครั้ง เถ้าแก่วัยห้าสิบเศษจึงกราบปะหลก ๆ แล้วลุกออกไป ไม่ลืมที่จะกล่าวคำขอบคุณสตรีร่างขาวท้วมที่ให้ลัดคิว

          “หลวงพ่อคะ ลูกสาวฉันจะขึ้นบ้านใหม่วันที่ ๒๔ นิมนต์หลวงพ่อไปทำพิธีด้วยนะคะ” เจ๊ม่วยรายงาน หล่อนมาวัดบ่อยจึงคุ้นเคยกับท่านเป็นอย่างดี

          “อาตมาไปไม่ได้หรอกโยม วันที่ ๒๔ ตรงกับวันพระ เป็นวันที่อาตมาไม่รับนิมนต์ไปข้างนอก ต้องอยู่ต้อนรับญาติโยมเขา”

          “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อช่วยแนะนำฉันด้วยว่าควรจะให้ใครมาเป็นคนทำพิธี แล้วช่วยดูวันด้วยว่าเป็นวันดีหรือเปล่า”

          “เป็นชาวพุทธที่แท้ต้องไม่ถือฤกษ์ถือยามนะโยม ถ้าเราจะทำความดี ทำวันไหนมันก็ดีทั้งนั้น ในทางตรงข้าม ถ้าจะทำความชั่ว ทำวันไหนมันก็ชั่ววันยังค่ำ เอาเถอะถ้าตัดความคิด เรื่องฤกษ์ยามออกไปไม่ได้ อาตมาก็ขอแนะนำให้ถือวันพฤหัสว่าเป็นวันฤกษ์ดี อันนี้เป็นทรรศนะส่วนตัวของอาตมานะ อาตมาถือวันพฤหัสว่า เป็นวันดีเพราะเป็นวันพ่อวันแม่ของเรา”

          “วันพฤหัสเขาถือว่าเป็นวันครูไม่ใช่หรือคะหลวงพ่อ” สตรีผู้หนึ่งแย้งขึ้น “เวลาที่เขาทำพิธีไหว้ครู เขายังทำกันในวันพฤหัส”

          “ก็พ่อแม่เราไม่ใช่ครูหรือยังไง เป็นครูคนแรกของเราเชียวนะ ที่เรียกว่าเป็นบูรพาจารย์ของบุตร บูรพาจารย์ก็คือพ่อแม่ของเรานี่เอง” ท่านหันไปพูดกับเจ๊ม่วยว่า

          “โยมม่วยจำไว้นะ ถ้าจะถือวันก็ให้ถือว่าวันพฤหัสเป็นวันดี ไม่ต้องไปเชื่อตามหมอดูว่ามันเป็นวันโลกาวินาศ หรือวันธงชัยอะไร ถ้าเรานับถือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ก็ต้องถือว่าวันพฤหัสเป็นวันมงคล เข้าใจหรือยังล่ะ”

          “เข้าใจค่ะหลวงพ่อ งั้นฉันจะให้เขาเปลี่ยนเป็นวันพฤหัส ก็ต้องเลื่อนออกไปอีกสามวัน หลวงพ่อไปได้หรือเปล่าคะ”

          “เดี๋ยว ขออาตมาตรวจดูสมุดบันทึกก่อน” ท่านหยิบสมุดบันทึกออกมาจากย่ามแล้วเปิดดู

          “ไม่ได้เสียแล้วละโยม วันพฤหัสหน้านายพลกับคุณหญิงเขาจะพาหลานมาบวชเณรที่วัดนี้ ไม่เป็นไรหรอก ไม่ต้องให้อาตมาไปก็ได้ ประเดี๋ยวจะบอกวิธีปฏิบัติให้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง”

          “งั้นหลวงพ่อช่วยแนะนำด้วยว่าจะนิมนต์พระรูปไหนไปแทน เพื่อทำพิธีเจิมประตูบ้าน”

          “ไม่ต้องให้พระนอกบ้านเจิมหรอกโยม ให้พระในบ้านเจิมเป็นดีที่สุด รู้จักไหมเล่าพระในบ้านน่ะ”

          “ไม่รู้จักค่ะ หลวงพ่อคงไม่ได้หมายถึงพระพุทธรูปนะคะ”

          “ไม่ใช่พระพุทธรูปซี พระที่มีชีวิตจิตใจ ที่เป็นคนนี่แหละ”

          “ไม่มีค่ะ บ้านลูกสาวฉันไม่มีพระ”

          “มีซี ทำไมจะไม่มี ก็โยมนั่นแหละเป็นพระของเขา โยมก็เจิมได้ หรือไม่ก็ให้เตี่ยเขาเป็นคนเจิม พ่อแม่เป็นมงคลอันสูงสุดของลูกนะโยม”

            “เห็นจะไม่ได้แล้วละค่ะหลวงพ่อ เพราะเตี่ยเขาตายไปนานแล้ว และฉันก็เจิมไม่เป็น”

          “จะยากอะไรเล้า ก็เอานิ้วจิ้มแป้ง แล้วก็จิ้ม ๆ ไปที่ประตู จิ้มส่งเดชไปเถอะปากก็พูดไปด้วยว่า รวย รวย หรือ จะว่าเป็นภาษาจีนก็ได้ว่า เซ็งลี้ฮ้อ เซ็งลี้ฮ้อ” ท่านใช้นิ้วชี้จิ้มไปในอากาศเป็นการสาธิตให้ดู ปากก็ว่า “รวย รวย เซ็งลี้ฮ้อ เซ็งลี้ฮ้อ” ทุกคนในที่นั้นพากันหัวเราะด้วยขำในกิริยาอาการของท่าน สาธิตเสร็จก็บอกเจ๊ม่วยว่า

          “ง่ายจะตายไป ทำได้ไหมล่ะ เดี๋ยวอาตมาจะให้แป้งที่จะเจิมไปด้วย เสกไว้แล้ว” แม้ท่านจะไม่นิยมการเสกการเป่า แต่กับคนระดับหนึ่งก็จำเป็นต้องใช้ เพราะมันให้ผลในทางจิตใจ

          “ทำได้ค่ะ แต่ไม่รู้ว่าลูกสาวเขาจะยอมให้ทำหรือเปล่า” เจ๊ม่วยยังกังวล

          “ต้องให้ซี บอกว่าหลวงพ่อวัดป่ามะม่วงสั่งมา ถ้าอยากรวยก็ต้องให้แม่เป็นคนเจิม”

          “ขอบคุณหลวงพ่อมากค่ะ ถ้างั้นฉันขอแป้งไปเลยนะคะ จะได้ไม่ต้องมารบกวนหลวงพ่ออีก” ท่านพระครูจึงเรียกนายสมชาย ซึ่งขณะนั้นอาบน้ำอาบท่าเสร็จแล้ว ให้ขึ้นไปหยิบแป้งมาให้

          รายที่สามเป็นคหบดีมาจากกรุงเทพฯ มากันทั้งสามีและภรรยา ฝ่ายสามีใส่นาฬิกาเรือนทองฝังเพชร ที่นิ้วก็มีแหวนเพชรเม็ดโตส่งประกายวูบวาบ ที่คอเป็นสร้อยทองคำหนังหลายบาท ข้างฝ่ายภรรยาก็ใส่เพชรทองเต็มตัว สวมแหวนเพชรพลอยเกือบจะทุกนิ้ว

          “หลวงพ่อครับ ผมขออนุญาตคุยเรื่องส่วนตัวเป็นความลับครับ ขออนุญาตไปคุยข้างบนได้ไหมครับ” ฝ่ายสามีขออนุญาต

          “จะเอายังงั้นหรือ งั้นคนอื่น ๆ รอก่อนนะ คงใช้เวลาไม่มากใช่ไหม” ท่านถามคหบดี

          “คงสักสิบนาทีครับหลวงพ่อ” ท่านลุกขึ้นเดินนำบุคคลทั้งสองไปยังกุฏิชั้นบน ปิดประตูลงกลอนแล้วจึงอนุญาตให้เขาพูด “ธุระ”

          “หลวงพ่อครับ ลูกชายคนโตผมที่ส่งไปเรียนอเมริกา เขาไปติดยาเสพย์ติดที่โน่น ผมจะทำยังไงดี จะเอามาบวชอยู่กับหลวงพ่อ ให้เรียนฝึกสมาธิจะได้หายติดยา หลวงพ่อจะอนุญาตไหมครับ”

          “คงไม่ได้หรอกโยม การฝึกสมาธิมีประโยชน์มากก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะเรียนการฝึกสมาธิได้เสมอไป เพราะมันขึ้นอยู่กับบุญบารมีของแต่ละคน เท่าที่อาตมาได้วิจัยไว้ มีบุคคลสองประเภทที่ไม่สามารถฝึกสมาธิได้ คือคนที่เป็นโรคประสาทกับคนติดยาเสพย์ติด”

            “หมายความว่า หลวงพ่อไม่ช่วยลูกดิฉันเลยหรือคะ ได้โปรดกรุณาเถิดค่ะ เรามีเงินทองมากมาย ถ้าหลวงพ่อช่วยได้ จะให้เราสร้างอะไรให้กับวัดนี้ เราก็จะทำทุกอย่าง ขออย่างเดียวให้หลวงพ่อช่วยลูกเราด้วย” ภรรยาคหบดีพูดเสียงเครือ แม้จะตกแต่งร่างกายไว้อย่างสวยงาม ด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ราคาแพง หากดวงหน้าของหล่อนก็เศร้าหมองเพราะความทุกข์ ทุกข์ของคนที่เป็นแม่ซึ่งย่อมร้อนรนกระวนกระวาย เมื่อรู้ว่าลูกต้องประสบเภทภัยอย่างใหญ่หลวง ความทุกข์ที่เงินร้อยล้านพันล้านก็ไม่อาจช่วยขจัดปัดเป่าได้

          “โยมอย่าตีความผิดซีโยม ไม่ใช่อาตมาไม่ช่วย อาตมาอยากจะช่วยโยมทุกอย่าง แต่เรื่องของยาเสพย์ติด อาตมาไม่สามารถช่วยได้ เคยมีพ่อแม่พาลูกมาให้อาตมารักษา อาตมาก็บอกเขาไปตามตรงว่า คนที่ติดยาเสพย์ติดนั้น จะฝึกสมาธิถึงขึ้นไหนก็ไม่อาจทำให้เลิกยาได้ จะว่าถึงขั้นไหนก็ไม่ถูกนัก เพราะจริง ๆ แล้ว มันไม่ถึงสักขั้นเดียว เพราะจิตเขาซัดส่ายมาก ไม่อาจนิ่งเป็นสมาธิได้เลย” ท่านอธิบาย

          “แล้วผมจะทำยังไงดีครับหลวงพ่อ นี่ก็พาไปรักษา หมดเงินหมดทองไปเป็นล้าน ๆ พอออกจากโรงพยาบาลเขาก็ไปเสพอีก”

          “อาตมาว่าต้องตัดใจนะ นึกเสียว่ามันเป็นเวรเป็นกรรมของเขา ถ้าป่วยไข้ธรรมดา ๆ หมออาจรักษาให้หายได้ แต่ถ้าเป็นโรคเวรโรคกรรม ไม่มีหมอที่ไหนช่วยได้ ก็ต้องปล่อยไปตามกรรมของเขา ให้โยมทั้งสองพยายามวางใจให้เป็นอุเบกขาเถิด จะได้คลายความทุกข์ร้อนลงบ้าง” ท่านพยายามปลอบใจ

          “หลวงพ่อครับ ลูกชายผมทำกรรมอะไรมา ทำไมถึงต้องมาเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อกรุณาตรวจสอบให้ด้วยเถิดครับ เผื่อผมกับภรรยาจะทำใจได้”

          “ปกติอาตมาจะไม่ตรวจสอบให้ใครหรอกนะ เพราะอยากให้เจ้าตัวเขาปฏิบัติเอง จะได้รู้เองเห็นเอง แต่ในเมื่อโยมขอร้อง อาตมาก็จะตรวจสอบให้” ท่านใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบก็ได้เห็น “กฎแห่งกรรม” ของคนในครอบครัวนี้อย่างครบถ้วน

          การที่บุตรชายของคหบดีผู้นี้ต้องติดยาเสพย์ติดเป็นเรื่องของ “กรรมจัดสรร” คหบดีที่นั่งอยู่ตรงหน้าท่าน สร้างความร่ำรวยขึ้นมาด้วยการค้ายาเสพย์ติด เขาเป็นสายส่งจากประเทศไทยไปขายยังประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วบาปกรรมอันนั้นก็มาถึงตัวเขาโดยผ่านทางบุตร เขาทำให้ลูกคนอื่นต้องติดยา ลูกเขาก็พลอยมารับกรรมไปด้วย เป็นเรื่องของกรรมจัดสรรโดยแท้

          “โยม เรื่องมันร้ายแรงเกินกว่าที่อาตมาคิดไว้ ร้ายแรงมาก โยมจะอนุญาตให้อาตมาพูดหรือเปล่า มันเป็นความลับสุดยอดของโยมเลยนะ อาตมาไม่พูดดีกว่า โยมตอบอาตมามาซิว่า โยมมีอาชีพอะไร”

          “ค้าขายครับ”

          “ขายอะไร ช่วยบอกชื่อสินค้าที่ทำรายได้ให้โยมถึงร้อยล้านพันล้านน่ะ บอกมาซิ”

          “ก็...พวกเสื้อผ้า ผมมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งขายต่างประเทศ” คหบดีไม่ยอมพูดความจริง

          “แต่มันไม่ตรงกับที่อาตมาตรวจสอบนะ เรื่องเสื้อผ้าเป็นเพียงเครื่องแสดงให้เห็นว่าโยมมีอาชีพเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำเงินให้โยมเป็นพันล้านน่ะ ไม่ใช่เสื้อผ้า เอาเถอะ ถ้าไม่บอกก็ไม่เป็นไร แต่จงรู้ไว้เสียด้วยว่า ถ้าโยมไม่เลิก กรรมก็จะตามมาถึงลูกชายอีกสามคนที่กำลังเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อไปเขาจะต้องติดยาตามพี่ชายเขา” ภรรยาคหบดีร้องไห้โฮออกมาพร้อมกับสารภาพว่า “ใช่แล้วค่ะหลวงพ่อ เฮียเค้าค้าผง”

          “กิมเอ็ง ฝ่ายสามีเรียกชื่อภรรยาด้วยเสียงที่ดังจนเกือบเป็นตะโกน หล่อนฟูมฟายน้ำตาบอกกับเขาว่า

          “สารภาพกับท่านเสียเถอะเฮีย เผื่อท่านจะช่วยเราได้ เฮียอยากเห็นลูก ๆ เราตายอย่างทรมานหรือไง” คำพูดของภรรยาทำให้คหบดีคอตก ไหนจะถูกภรรยาเปิดเผยความลับ ไหนจะห่วงอนาคตของลูก และที่กลัวมากที่สุดคือกลัวถูกฆ่าปิดปาก เคยเห็นคนถูกฆ่าตายอย่างทารุณเพราะเรื่องเช่นนี้มาแล้ว

          “โยมไม่ต้องกลัวว่าอาตมาจะเปิดเผยความลับ อาตมารู้ว่ามันเป็นอันตรายสำหรับชีวิตของโยมรวมทั้งของอาตมาด้วย ไม่มีเหตุผลอะไรที่อาตมาจะต้องให้คนอื่นรู้ เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ยังเกิดโทษอีกด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มันเกิดกำลังของอาตมาที่จะแก้ไขได้ คนที่หลงเข้าไปในวงการนี้ต้องถือว่า เป็นกรรม โยมอยากเลิกไหมเล่า อาตมาพอจะมีทางช่วยนะ”

          “เลิกไม่ได้หรอกครับหลวงพ่อ ถ้าเลิกผมต้องตายแน่ ๆ เขาคงไม่ปล่อยให้ผมลอยนวลอยู่หรอกครับ”

          “โยมตอบอาตมามาก่อนว่าอยากเลิกหรือเปล่า รับรองว่าอาตมาช่วยได้แน่”

          “อยากครับ แต่มันเป็นไปไม่ได้ ผมมองไม่เห็นทางเลย”

          “เอาละ ถ้าโยมตั้งใจว่าจะเลิก ก็ขอให้เชื่ออาตมา โยมต้องพากันมาสร้างบุญบารมีที่นี่ มาทั้งบ้านเลย คือเอาลูกชายอีกสามคนมาด้วย ส่วนคนโตช่วยเขาไม่ได้แล้ว ก็ต้องปล่อยเขาไป”

          “มาช่วยสร้างวัดหรือคะ ดิฉันเต็มใจค่ะ จะให้ช่วยเป็นแสนเป็นล้านก็ได้” นางกิมเอ็งรีบเสนอตัว

          “ไม่ต้องหรอกโยม เรื่องวัตถุ วัดนี้เพียงพอแล้ว การสร้างบุญบารมีที่อาตมาว่านี้ไม่ต้องเสียเงิน เอาเถอะพากันมาก็แล้วกัน แล้วอาตมาจะบอกวิธีให้ ต้องเร็วหน่อยนะ ไม่งั้นจะสายเกินแก้”

          “ครับ ผมจะพากันมาพรุ่งนี้เลยครับ ผมเห็นจะต้องลาก่อน พรุ่งนี้จะมาใหม่”

          สองสามีภรรยาลากลับไปด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความหวัง เพิ่งตระหนักชัดเดี๋ยวนั้นเองว่า เงินร้อยล้านพันล้านก็ช่วยดับทุกข์ใจไม่ได้

          กว่าแขกคนสุดท้ายจะลากลับไปก็ตกสองยามเศษ เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านเขาพักผ่อนหลับนอนกัน หากเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเพิ่งจะสรงน้ำ จากนั้นท่านจึงขึ้นมายังห้องพัก ซึ่งอยู่ชั้นบนของกุฏิ ลงมือเขียนหนังสือสอบอารมณ์กรรมฐานต่อไปอีกสองชั่วโมง จนถึงเวลาตีสองจึงจำวัด คนอื่น ๆ เขาพักผ่อนหลับนอนกันวันละหกถึงสิบชั่วโมง แต่ท่านพระครูเจริญพักผ่อนวันละสองชั่วโมงเป็นอย่างมาก...

               

 มีต่อ........๒๙
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #31 เมื่อ: เมษายน 19, 2007, 08:00:21 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00029
๒๙...

            วันรุ่งขึ้นหลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว ท่านพระครูจึงเดินทางไปเยี่ยมมารดาของเถ้าแก่บัวเฮงที่อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี นายบัวเฮงนำท่านเข้าไปในห้องมารดา ซึ่งมีลูกหลานห้อมล้อมอยู่เต็ม เห็นท่านมา พวกเขาพากันดีใจราวกับเทวดามาโปรด

         “หลงพ่อช่วยอีล่วย ช่วยให้อีพูกกะลูกกะหลางหน่อย อีไม่ยอมพูกมาสามวังเลี้ยว” ภรรยาของนายบัวเฮงบอกให้ท่านช่วย

         “ก็อีจะไปอยู่แล้ว จะให้อีพูดอะไรอีกล่ะ แล้วทำไมจะต้องพูดด้วย” ท่านย้อนถาม

         “ต้องพูกซีหลงพ่อ ก็อียังไม่ล่ายแบ่งสมบัก อียังไม่ล่ายบอกว่านาจายกให้ใค ไล่ยกให้ใค เงินในทานาคางยกให้ใค” ลูกสะใภ้ของคนที่นอนแบ็บอยู่บนเตียงสาธยาย

         “จริงครับหลวงพ่อ แม่ยังไม่ได้แบ่งสมบัติให้พวกเรา เกิดแกตายไปตอนนี้ พวกพี่ ๆ น้อง ๆ คงวิวาทกันเพราะเรื่องสมบัติ” ลูกชายคนรองซึ่งเป็นครู เห็นด้วยกับพี่สะใภ้ ผู้มาเยือนรู้สึกสลดใจแทนคนที่กำลังจะตาย จึงพูดขึ้นว่า

         “แหม อาตมานึกว่าโยมห่วงคนเจ็บ ที่แท้ก็ห่วงสมบัตินี่เอง”

         “โธ่ หลวงพ่อคะ เรื่องเงินเรื่องทองมันไม่เข้าใครออกใครนะคะ ห่วงแม่พวกเราก็ห่วงแหละค่ะ แต่ขณะเดียวกันเราก็ห่วงตัวเองด้วย ถ้าแม่ตาย หนูคงเดือดร้อนกว่าเพื่อนเพราะยังไม่ได้ทำงาน เรียนก็ยังไม่จบ” ลูกสาวคนสุดท้องพูดขึ้น พวกหลาน ๆ ซึ่งยังไม่รู้ประสีประสาพากันวิ่งเล่นเป็นที่ครื้นเครง

         ท่านพระครูมองคนเจ็บอีกครั้ง หนอนตัวโตขนาดเท่านิ้วก้อยไต่ออกมาจากผ้าห่ม ท่านนึกแปลกใจว่าคนป่วยยังไม่ทันตาย แต่ทำไมมีหนอน จึงบอกให้นายบัวเฮงเลิกผ้าห่มขึ้นดู

         “ตายจริงเถ้าแก่ ทำไมปล่อยให้หนอนขึ้นแม่อย่างนี้ล่ะ” ท่านพูดเชิงตำหนิเมื่อเห็นหนอนไต่ยั้วเยี้ยอยู่ที่ตัวผู้ป่วย

         “ไม่รู้มันมาได้ยังไงครับหลวงพ่อ ผมก็ช่วยกันเก็บทิ้งไปหลายตัวแล้ว” ลูกชายที่เป็นครูพูด

         “มังไต่มาจากแผข้างหลัง” นายบัวเฮงพูดพร้อมกับจับมารดาให้อยู่ในท่านอนตะแคง จริงดังที่เขาพูด แผ่นหลังบริเวณกระเบนเหน็บเป็นแผลเน่าลึกจนถึงกระดูก หมู่หนอนกำลังเจาะกินน้ำเลือดน้ำหนองกันให้ยุ่บยั่บไปหมด สภาพของคนเจ็บในเวลานี้ไม่ต่างไปจากซากศพที่ยังมีลมหายใจ     

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงอยากรู้ต้นสายปลายเหตุจึงกำหนด “เห็นหนอ” แล้วก็ได้รู้ ได้เห็นกฎแห่งกรรมของนางกิมหงอย่างจะแจ้ง

         นางกิมหงสะสมบาปไว้มากตั้งแต่สาวจนแก่ กระทั่งกลายเป็น อาจิณณกรรม อาชีพค้าขายและออกเงินกู้ เปิดโอกาสให้นางได้สร้างกรรมชั่วด้วยการฉ้อโกงลูกค้าและลูกหนี้ จนสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองถึงขนาดมีสมบัติพัสถานมากมายให้ลูกหลานมานั่งยื้อแย่งกันในขณะที่นางกำลังจะตาย!

            “เอาละ ถ้าอยากให้คนเจ็บพูด ก็ขอให้ทุกคนออกไปจากห้องให้หมด รอให้อาตมาเรียกเสียก่อนแล้วจึงเข้ามา” ท่านออกคำสั่ง ลูกหลานทำท่าลังเลนิดหนึ่ง ในที่สุดก็พากันออกไปแต่โดยดี “ช่วยเรียกคนขับรถของอาตมาเข้ามาในที่นี้ด้วย” ท่านไม่ต้องการอยู่สองต่อสองกับสตรีเพศในที่ลับตาคน แม้สตรีนั้นอายุมากกว่าท่าน และกำลังอยู่ในสภาพใกล้ตายก็ตาม

         “สมชายล็อคประตูด้วย” ท่านสั่งลูกศิษย์เพื่อกันคนแอบฟัง

         “อาซิ้ม อาตมารู้ว่าลื้อพูดได้ แต่ที่ลื้อไม่ยอมพูด เพราะโกรธที่ลูกหลานมาแย่งสมบัติกันต่อหน้าลื้อใช่ไหม”

         “ใช่เลี้ยวหลงพ่อ อั๊วะโกกมัง เกียกพวกมังทุกคง” คนเจ็บพูดเสียงแหบพร่า หากท่านก็ได้ยินชัดเจน เพราะกำหนด “ฟังหนอ”

         “ซิ้ม ถ้าลื้อโกรธลื้อเกลียดพวกเขา ลื้อก็จะไปไม่ดี ไหน ๆ ก็จะไปแล้วทำใจให้สบาย แล้วก็จัดการอะไรต่อมิอะไรเสียให้เรียบร้อย รู้ตัวหรือเปล่าว่าลื้อน่ะสะสมบาปไว้มาก อาตมาเห็นหมดแล้ว จึงอยากจะช่วยให้สติแก่ลื้อ อยากให้อาตมาช่วยไหม” ท่านถาม แม้จะรู้สึกสลดใจ หากในความสลดใจนั้นมีความเมตตาปรานีแฝงอยู่ ท่านจึงต้องช่วยเขาไม่ว่าเขาจะเป็นคนดีหรือคนชั่วก็ตาม

         “อยาก” นางกิมหงตอบด้วยเสียงอยู่ในลำคอ

         “ถ้าอยากก็ต้องอโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวรเสียก่อน พอจะจำได้ไหมว่า ทำเวรทำกรรมไว้กับใครเขาบ้าง” ท่านถามพร้อมกับแผ่เมตตาให้ นางกิมหงรู้สึกมีกำลังขึ้น สมองที่ตื้อตันกลับปลอดโปร่ง ระลึกรู้บาปกรรมที่ทำไว้ครบถ้วน

         ภาพเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ไหลเข้ามาสู่ห้วงสำนึกเหมือนภาพยนตร์ที่เข้าฉายเร็ว ๆ ให้ดู เริ่มตั้งแต่ภาพแม่หนูน้อยวัยแปดขวบกำธนบัตรใบละร้อยมาซื้อของที่ร้านของนาง

            “อาซิ้มซื้อข้าวเหนียวสามลิตร กล้วยน้ำว้าสองหวี มะพร้าวขูดสองกิโล น้ำตาลทรายครึ่งกิโล” แม่หนูอ่านรายการที่มารดาจดมาให้ นางจัดของให้ตามรายการ และทอนเงินให้เป็นที่เรียบร้อย บังเอิญแม่หนูหอบของไปไม่หมด จึงออกปากฝากข้าวเหนียวไว้แล้วหิ้วของอื่น ๆ กลับไปบ้าน

         ทันทีที่เด็กหญิงออกจากร้าน นางก็คว้าถุงข้าวเหนียวมาเทกลับคืนไว้ในกระสอบ ครูใหญ่ ๆ แม่หนูก็กลับมาทวงถาม “อาซิ้มหนูมาเอาข้าวเหนียวที่ฝากไว้”

         “ข้าวอาไล อั๊วะไม่ลู้ ไม่เห็งมีใคมาฝาก” นางปฏิเสธหน้าตาเฉย ไม่ว่าแม่หนูจะอ้อนวอนขอร้องอย่างไร นางก็บอกว่าไม่รู้ท่าเดียว เด็กหญิงเดินกลับไปบอกมารดาที่บ้าน ผู้หญิงคนนั้นมาที่ร้าน ถือไม้เรียวมาด้วย เมื่อนางบอกว่าไม่รู้เรื่องข้าวเหนียวที่เด็กอ้างว่าฝากไว้ หญิงนั้นเข้าใจว่าลูกยักยอกเงิน จึงใช้ไม้เรียวตีเด็กหญิงต่อหน้านาง ตีจนลายไปทั้งตัว เสร็จแล้วจึงซื้อข้าวเหนียวสามลิตรกลับไปบ้าน เป็นข้าวเหนียวที่นางเพิ่งเทคืนกระสอบนั่นเอง

         ถัดจากภาพเรื่องราวของเด็กหญิง ก็เป็นภาพที่นางโกงกิโลพืชผลที่พวกชาวไร่นำมาขาย โดยใช้เท้ายันก้นเข่งไว้ขณะชั่งด้วยตราชั่งคันยาว การกระทำเช่นนั้นทำให้นางสามารถโกงน้ำหนักพืชผลได้เข่งละประมาณสามถึงห้ากิโลกรัม วันหนึ่ง ๆ ต้องชั่งเป็นสิบ ๆ เข่ง ก็เท่ากับนางโกงเขาวันละสามสิบถึงห้าสิบกิโลกรัม

         ต่อจากเรื่องโกงกิโล ก็เป็นเรื่องโกงดอกเบี้ยลูกหนี้ โดยทำหลักฐานปลอมขึ้นใช้ สารพัดสารพันที่นางฉ้อโกงและฉ้อฉล คงเป็นเพราะความชั่วร้ายของนาง จึงทำให้ถูกหนอนกินทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันตาย ไหนจะทุกข์เรื่องลูกหลานซึ่งบัดนี้นางได้ตระหนักแล้วว่า พวกเขาไม่ได้รัก ไม่ได้ห่วงนาง แต่ละคนรักและห่วงตัวเองกันทั้งนั้น คิดถึงตอนนี้นางยิ่งโกรธเคืองลูกหลานมากขึ้น จึงบอกท่านพระครูด้วยความเจ็บใจว่า “หลงพ่อ อั๊วะยกสมบักให้ลื้อทั้งหมด ลื้อเอาไปให้หมกเลยนะ อั๊วะทาหวาย”

         “ไม่ได้หรอกซิ้ม อาตมารับไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ของบริสุทธิ์ ลื้อได้มาด้วยความทุจริต ถ้าลื้ออยากได้บุญ ก็แบ่งให้ลูกหลานอย่างยุติธรรมก็แล้วกัน ประเดี๋ยวพวกเขาเข้ามา ลื้อก็บอกเขาเสียว่าจะให้อะไรแก่ใคร อาตมาเป็นพยานให้”

         “อั๊วะอยากคึงเขา คึงคงที่อั๊วะโกงมังมา” นางบอกด้วยความกลัวบาป

         “ไม่ต้องทำอย่างนั้นก็ได้ มันยุ่งยาก เอาเถอะ เดี๋ยวอาตมาจะสอนให้ขออโหสิกรรม แล้วลื้อจะต้องสอนลูกสอนหลานว่าให้เลิกหากินในทางทุจริต ช่วยกันทำบุญทำทานแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ลื้อ ทำได้ไหมเล่า” ท่านแนะแนวทาง

         “ทำล่าย อั๊วะทำล่าย หลงพ่อ เลียกพวกมังเข้ามา อั๊วะจาไปเลี้ยว”

         นางกิมหงพูดอย่างอยากจะละทิ้งสังขารนั้นเสียเร็ว ๆ

         “สมชายเปิดประตูเรียกพวกเขาเข้ามา” ท่านสั่งคนเป็นลูกศิษย์

         เมื่อคนเหล่านั้นเข้ามาในห้องก็ให้รู้สึกแปลกใจที่คนเจ็บพูดจ้อย ๆ พลังเมตตาที่ท่านพระครูแผ่ให้บวกกับกำลังใจของตัวเอง ทำให้นางกิมหงลืมความทุกข์ทรมานได้ชั่วครู่ นางจัดการแบ่งสมบัติให้ลูกหลาน สั่งสอนให้เขาหากินในทางสุจริต “ถ้าพวกลื้อทำอย่างอั๊วะ ก็ต้องถูกหนอนกินตั้งแต่ยังไม่ตาย แล้วจาลู้ว่า มังทอลามางชิกหายเลย” พูดจบนางก็หลับตา ความเจ็บปวดและเหนื่อยล้ากลับคืนมาอีก นางพยายามนึกถึงดวงหน้าของท่านพระครูจนกระทั่งหมดลมหายใจเฮือกสุดท้าย

         “แม่”

         “อาม่า” เสียงลูกหลานร้องตะเบ็งเซ็งแซ่ เพิ่งจะมองเห็นคุณค่าของคนที่จากไป ท่านพระครูต้องพูดปลอดใจอยู่หลายนาทีกว่าพวกเขาจะระงับความโศกาอาดูรไว้ได้

         “เอาละ เขาไปดีแล้ว หมดหน้าที่ของอาตมาแล้ว จะได้ลากลับเสียที เรื่องศพก็จัดการไปตามประเพณีก็แล้วกัน ที่สำคัญอย่าลืมทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตายด้วย เขาจะได้ไม่ต้องไปรับโทษนาน” ท่านแนะนำสั่งสอนเสร็จสรรพ แล้วจึงลากลับ เพราะจะต้องเข้าเมืองไปร่วมในงานฉลองพัดยศของเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งจะเริ่มเมื่อเวลาสิบสี่นาฬิกาตรง

         “หลวงพ่อ ถ้าผมไม่เห็นกับตาเป็นไม่ยอมเชื่อเด็ดขาดว่าคนถูกหนอนขึ้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตาย นี่ขนาดเห็นกับตาก็ยังไม่อยากจะเชื่อ ผมฝันไปหรือเปล่าครับหลวงพ่อ” นายสมชายแสดงความประหลาดใจพลางก็สัพยอกท่านไปด้วย

         “โลกนี้มันก็เหมือนความฝันอยู่แล้วสมชายเอ๊ย บางครั้งคนบางคนก็สามารถฝันได้โดยไม่ต้องหลับ เช่น เธอเป็นต้น”

         “ต้นอะไรครับหลวงพ่อ ผมเป็นต้นอะไร ต้นมะม่วงหรือต้นมะปราง” ลูกศิษย์ตั้งใจยั่วอาจารย์เพื่อคลายความเครียด ภาพคนเจ็บถูกหนอนชอนไชยังติดหูติดตาชวนให้คลื่นเหียนอาเจียนยิ่งนัก ไหนจะกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นซากศพนั่นอีกเล่า

         “ต้นตระกูลยวน” ท่านพระครูตอบ

         “งั้นผมก็เป็นญาติกับหลวงพี่บัวเฮียวน่ะซีครับ เพราะหลวงพี่ก็เป็นญวน” ลูกศิษย์วัดไปได้เรื่อย ๆ

         “มัวพูดมากอยู่นั่นแหละ เร่งเครื่องหน่อย ประเดี๋ยวจะไม่ทันงานเขา” ท่านกำชับ

         “เหยียบสองร้อยเลยดีไหมครับ”

         “จะไปเอาที่ไหนอีกยี่สิบล่ะ ก็ที่เขาให้ไว้มันแค่ร้อยแปดสิบเท่านั้นเอง” ท่านหมายถึงหน้าปัดบอกอัตราความเร็วของรถ

         “ก็เอาที่หลวงพ่อไงครับ หลวงพ่อก็เพิ่มพลังจิตเข้ามาอีกยี่สิบ รับรองว่าไปเร็วราวกับเหาะ”

         “อย่าเพิ่งเลย ฉันยังไม่อยากตาย ยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมาก ถ้าเธอเบื่อชีวิต จะตายไปก่อนก็ได้ ฉันอนุญาต”

         “ผมยังไม่กล้าตายหรอกครับ เดี๋ยวไม่มีคนขับรถให้หลวงพ่อ”

         “ตายไปแล้วก็มาขับให้ได้ ดีเสียอีก จะได้ไม่ต้องพูดมากให้ฉันรำคาญ หยุดพูดได้แล้วนะ ฉันจะแผ่เมตตาให้พวกสัมภเวสีเขาหน่อย” แล้วท่านก็นั่งหลับตานิ่งอยู่ คนที่ทำหน้าที่ขับรถจึงต้องสงบปากสงบคำลง

         งานฉลองพัดยศของท่านเจ้าคณะจังหวัด ถูกจัดขึ้นอย่างมโหฬาร โดยการร่วมแรงร่วมใจของบรรดาศิษยานุศิษย์ซึ่งมีทั้งครู ตำรวจ ทหาร และพ่อค้า ประชาชน

         เมื่อไปถึง ท่านพระครูจึงเข้าไปยั้งเต๊นท์ปะรำพิธี ซึ่งจัดอาสนะไว้ต้อนรับพระสงฆ์ที่มาร่วมงาน โดยเรียงลำดับอายุพรรษา ท่านได้ที่นั่งติดกับหลวงตาสูงอายุรูปหนึ่ง ถัดจากท่านเป็นหลวงพ่อซึ่งแม้อายุจะมากกว่า หากอายุพรรษาน้อย เพราะบวชตอนอายุมากแล้ว จำนวนพระสงฆ์ที่จะมาร่วมในพิธีนี้มีทั้งหมด ๙๙ รูป นั่งเรียงรายดูเหลืองอร่ามไปทั้งปะรำพิธี มีเต๊นท์ขนาดใหญ่ขึงไว้กว่าสิบหลัง เพื่อให้บรรดาผู้มาร่วมงานได้นั่งฟังพระเจริญพระพุทธมนต์

         เหลือเวลาอีกหนึ่งนาที พระสงฆ์ ๙๙ รูป ก็จะเจริญพระพุทธมนต์ ทันใดนั้นได้เกิดลมบ้าหมูพัดกรรโชกขึ้น ความแรงของลมได้หอบเต๊นท์หลังที่ติดกับปะรำพิธีขึ้นสูงถึงระดับยอดไม้ เสาเต๊นท์ซึ่งเป็นเหล็กแท่งยาวได้หลุดออกและพุ่งเข้าใส่ท่านพระครู ถูกปากครึ่งจมูกครึ่ง เลือดแดงฉาน ท่ามกลางความตะลึงงันของพระและฆราวาสที่เห็นเหตุการณ์

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรู้สึกเจ็บราวใจจะขาด ท่านสำรวมจิตกำหนด “เจ็บหนอ เจ็บหนอ” ด้วยสติอันว่องไวที่ได้ฝึกไว้อย่างดีแล้ว ความเจ็บปวดนั้นมากมายจนท่านคิดว่า หากเป็นหลวงตาหรือหลวงพ่อที่นั่งทางเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของท่านโดนเข้าก็คงจะต้องถึงแก่มรณภาพ

         เมื่อกำหนด “เจ็บหนอ เจ็บหนอ” กระทั่งจิตเป็นสมาธิ สามารถข่มความเจ็บปวดลงบ้างแล้ว กฎแห่งกรรมก็ฉายแวบขึ้นในมโนทวาร

         ท่านเห็นตัวเองกำลังเก็บกวาดลานวัด พบไม้ท่อนหนึ่งวางเกะกะอยู่ จึงหยิบมันเหวี่ยงไปที่ใต้ต้นปีบ โดยไม่ทันเห็นว่ามีสุนัขตัวหนึ่งนอนหลับอยู่ ไม้ท่อนนั้นจึงไปถูกปากและจมูกของสุนัขเลือดไหลโทรม มันดิ้นเร่า ๆ ส่งเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด

         ท่านต้องต้มยาสมุนไพรกรอกปากมันอยู่หลายวันจนมันหาย ดูเอาเถิด อุตส่าห์ฝึกสติไว้ดีแล้ว ก็ยังมีอันพลั้งเผลอจนได้ เพียงเผลอไปแค่อึดใจเดียว ยังได้รับผลร้ายถึงปานนี้ กรรมที่ทำโดยมิได้เจตนา ก็ต้องมารับผล แล้วคนที่ก่อกรรมทำชั่วโดยเจตนานั้นเล่า เขามิต้องทุกข์ทรมานกว่าท่านเป็นร้อยเท่าพันทวีละหรือ

         เมื่อได้สติ ผู้คนก็ส่งเสียงเอะอะกันขึ้น โชคยังดีที่มีหมอทหารไปร่วมในงาน เขาจึงจัดการทำแผลให้ท่านอย่างรวดเร็วด้วยความชำนิชำนาญ และรู้สึกแปลกใจที่ท่านมิได้เป็นอะไรมาก นี่ถ้าหากเป็นคนอื่นก็คงต้องพาส่งโรงพยาบาลและรักษากันอยู่หลายวัน หลวงตากับหลวงพ่อที่นั่งข้าง ๆ ยังแอบกระซิบกันว่า “ถ้าเป็นเรา คงกลับบ้านเก่าแน่”

            เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์ก็เฉลิมฉลองด้วยการรำกลองยาวกันเป็นที่ครื้นเครง ท่านพระครูอยากรู้ว่า นายสมชายไปอยู่เสียที่ใด เพราะใกล้เวลาจะกลับแล้ว จึงต้องพึ่ง “เห็นหนอ” ก็เห็นคนขับรถของท่านยืนอยู่กลางวงกลองยาว

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรู้สึกแปลกใจ ที่หนึ่งในจำนวนหญิงที่กำลังร่ายรำอยู่อย่างสนุกสนานนั้นมีลักษณะแปลกไปจากคนอื่น ๆ กล่าวคือ เหนือศีรษะของหล่อนมีแมลงวันหัวเขียวฝูงใหญ่กำลังบินฉวัดเฉวียนอยู่ ท่านเพ่งพิจารณาว่า มันเรื่องอะไรกัน ก็ได้เห็นกฎแห่งกรรมของหล่อนอย่างชัดเจน สตรีผู้นี้เป็นคนทุศีล ศีลห้าข้อหล่อนรักษาไว้ไม่ได้จนข้อเดียว ท่านยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า หน้าตาหล่อนเหมือนคนใกล้ตาย จริงอยู่แม้หล่อนจะแต่งหน้าสวยงาม นุ่งห่มสีสดใส หากก็มี “สัญญาณมรณะ” ปรากฏอยู่

         แล้วหล่อนก็ล้มลงศีรษะฟาดพื้น การรำกลองยาวหยุดชะงัก พวกเขาช่วยกันอุ้มหล่อนมาวางบนเสื่อ และสิ่งอัศจรรย์ที่สุดก็ได้เกิดขึ้น หนอนตัวเท่าเม็ดขาวสุกไต่ยั้วเยี้ยออกมาจากปาก จมูก ทวารหนักและทวารเบา ร่างของหล่อนเน่าเดี๋ยวนั้น สิ่งกลิ่นเหม็นคลุ้งมาถึงที่ ๆ ท่านนั่ง เสียงคนวิพากษ์วิจารณ์กันเซ็งแซ่ วันนี้ท่านได้เห็นคนถูกหนอนขึ้นถึงสองคน

         ทันทีที่ท่านพระครูขึ้นรถ นายสมชายก็พูดจ้อย ๆ เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขารู้เขาเห็นนั้น ท่านก็รู้ก็เห็นเหมือนกัน แต่เป็นการรู้การเห็นที่ลึกซึ้งกว่า คือเห็นกฎแห่งกรรมของสตรีผู้นั้นด้วย

         “หลวงพ่อ ผมอยากตั้งชื่อวันนี้ว่า “วันหนอน” หลวงพ่อเชื่อไหม พอคนที่รำกลองยาวแกหงายผึ่งหนอนก็ขึ้นเต็มตัวเลย ได้ยินเขาว่ากันว่า ยายคนนี้บาปมาก ศีลที่เขาห้ามไว้ แกก็ละเมิดหมด ตั้งแต่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ มีชู้ โกหก แล้วก็ขี้เหล้าเมายา ตายปุ๊บเหม็นปั๊บเลย กลิ่นเหม็นยังติดจมูกผมอยู่นี่” คนเล่าทำจมูกฟุดฟิด

         “สมชาย” ท่านพระครูเรียกชื่อลูกศิษย์

         “ครับผม” ฝ่ายนั้นขานรับ

         “เงียบเถอะ สิ่งที่เธอรู้น่ะ ฉันรู้หมดแล้ว แต่สิ่งที่ฉันรู้นั้นมีบางสิ่งที่เธอยังไม่รู้ เธอนี่แย่จริง ๆ”

         “อ้าวหลวงพ่อ ไป ๆ มา ๆ ไหงมาด่าผมล่ะ”

         “จะไม่ให้ด่ายังไง แหมมัวแต่ไปดูกลองยาว ไอ้เราจะตายกลับไม่รู้แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ด่าหรือ”

         “เกิดอะไรขึ้นครับหลวงพ่อ” ถามอย่างตกใจ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงเล่าเหตุการณ์ที่ท่านถูกเสาเหล็กพุ่งใส่หน้าให้เขาฟังพร้อมกับสรุปว่า

         “วันนี้เธอเรียกว่า “วันหนอน” แต่สำหรับฉันขอเรียกวันนี้ว่า “วันใช้หนี้หมา” แล้วท่านก็หัวเราะหึหึ

         “ดีแล้วละครับหลวงพ่อ ใช้ ๆ มันเสียให้หมด จะได้ไม่ต้องเกิดอีก ก็หลวงพ่อบอกจะไม่เกิดอีกไม่ใช่หรือครับ”

         “ก็ว่ายังงั้นแหละ แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนยังไม่รู้ มันก็น่าคิดนะสมชายนะ ดูเอาเถิด คนตั้งเป็นพันมันไม่เล่นงาน เฉพาะจะพุ่งมาถูกฉันคนเดียว ถูกอย่างเหมาะเหม็งเสียด้วย”

         “กลับไปนี่ ผมเห็นจะต้องกินยาแอสไพรินสักห้าสิบเม็ด” นายสมชายพูดอย่างคนเบื่อโลกเต็มประดา

         “ร้อยเม็ดดีกว่าน่า” ท่านพระครูตั้งใจพูดประชด

         “ทำไมต้องกินถึงร้อยเม็ดล่ะครับ” ถามอย่างสงสัย

         “จะได้ตายสนิทดี ไม่ต้องเสียเวลาพาส่งโรงพยาบาล”

         “แหม หลวงพ่อ ผมพูดเล่นหรอกน่า ถึงผมจะเบื่อโลกยังไง ผมก็ยังไม่อยากตาย อยากอยู่มันทั้งเบื่อ ๆ นี่แหละ”

         “ไอ้ที่ว่าไม่อยากตาย ๆ น่ะ ฉันเห็นตายมาเสียนักต่อนักแล้ว ดูอย่างยายคนที่รำกลองยาวนั้นไง เธอว่าเขาอยากตายหรือเปล่า”

         “คงไม่มังครับ แต่ก็ม่องไปแล้ว แถมหนอนขึ้นทันทีเลย แหม ผมชักกลัวบาปกลัวกรรมแล้วซีครับหลวงพ่อ ไม่อยากถูกหนอนกินเหมือนผู้หญิงสองรายนั่น” เขาทำท่าขยาด

         “ดีแล้ว เธออยู่ใกล้ชิดฉัน ขืนไม่กลัวบาปก็เสียชื่อหมด คนเขาจะว่า “ใกล้เกลือกินด่าง”

         “แต่ผมไม่อยากกินทั้งด่างทั้งเกลือแหละครับ คนเบื่อโลกยังมีอารมณ์ยั่วเย้า

         “ไม่กินก็ไม่ต้องกิน” เงียบกันไปพักหนึ่ง คนเบื่อโลกก็เอ่ยขึ้นว่า

         “ชีวิตคนเรานี่เอาแน่อะไรไม่ได้เลยนะครับหลวงพ่อ นึกอยากจะตายก็ตายโดยไม่มีปี่  มีขลุ่ย”

         “อ้อ ต้องมีปี่มีขลุ่ยเสียก่อนค่อยตาย ว่างั้นเถอะ”

         “แหม หลวงพ่อเนี่ย คราวนี้ผมพูดจริง ๆ นะครับ ผมรู้สึกว่าชีวิตคนเราเอาแน่นอนอะไรไม่ได้เลย ขนาดรำกลองยาวอยู่ดี ๆ แท้ ๆ ยังตาย”

         “ก็ในเมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็ต้องหมั่นฝึกสติเข้าไว้ ถ้าสติดีเสียอย่างจะตายที่ไหน เมื่อ  ไหร่ ก็ไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องไปทุกข์ร้อน สติดีในที่นี้ ไม่ได้ตรงข้ามกับสติไม่ดีที่แปลว่าบ้านะ แต่หมายถึงความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา” ท่านจำเป็นต้องขยายความ มิฉะนั้นก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายนั้นพูดพล่ามต่อไปอีก

         “เห็นตัวอย่างวันนี้แล้ว มันทำให้ผมนึกอะไรได้อย่างนึง คือนึกถึงโคลงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ผมจะอัญเชิญมากล่าวให้หลวงพ่อฟังนะครับ” คนพูดพยายามทำเสียงที่เจ้าตัวคิดว่าไพเราะที่สุด....

                                    เห็นหน้ากันเมื่อเช้า              สายตาย
                              สายอยู่สุขสบาย                                บ่ายม้วย

                        บ่ายยังรื่นเริงกาย                             เย็นดับ ชีพนา

                        เย็นอยู่หยอกลูกด้วย                       ค่ำม้วยดับสูญ...

 
มีต่อ........๓๐
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #32 เมื่อ: เมษายน 19, 2007, 08:01:31 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00030
๓๐...

         นายสมชายพาท่านพระครูกลับถึงวัดป่ามะม่วงเมื่อเวลาสิบเจ็ดนาฬิกาเศษ ที่กุฏิของท่าน พระบัวเฮียวกำลังสอนวิธีเดินจงกรมและนั่งสมาธิให้กับคหบดี และครอบครัว ตามที่ท่านได้มอบหมายหน้าที่ให้

         เมื่อท่านเดินเข้ามา ภิกษุรูปหนึ่งกับฆราวาสห้าคนก็ทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง

         “เจริญพร โยมมาถึงนานแล้วหรือ” ท่านถามคหบดี

         “ถึงสักบ่ายสองโมงเห็นจะได้ ก็ไปเสียเวลากับการหาซื้อชุดขาวน่ะครับหลวงพ่อ” คหบดีตอบ เขาอยู่ในชุดเสื้อคอกลมสีขาว กางเกงขาก๊วยสีเดียวกัน ภรรยาและลูกชายอีกสามคนก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวดูสะอาดหมดจด

         “หลวงพ่อมาเหนื่อย ๆ นิมนต์พักสรงน้ำก่อนไม่ดีกว่าหรือคะ” นางกิมเอ็งพูดขึ้น เมื่อเห็นท่านเดินมานั่งยังอาสนะ วันนี้หน้าตาเนื้อตัวหล่อนปราศจากทั้งเครื่องสำอางและเครื่องประดับ จึงดูผิดไปจากวันวานราวกับเป็นคนละคน

         “นิมนต์หลวงพ่อสร้งน้ำก่อนดีกว่าครับ” สามีนางกิมเอ็งเห็นพ้องกับภรรยา

         “ไม่เป็นไรหรอกโยม เรื่องนั้นไม่สลักสำคัญอะไร อาตมาสรงน้ำตอนตีสองเกือบทุกวัน”

         “แล้วหลวงตาไม่หนาวแย่หรือครับ หลวงตามีที่ทำน้ำอุ่นหรือเปล่า” ลูกชายคนเล็กของคหบดีถามขึ้น

         “ไม่มีหรอกหนู หนาวก็ต้องทนเอา” ท่านตอบ

         “แล้วหลวงตาหิวไหมครับ หลวงตาไม่ฉันข้าวเย็นไม่หิวแย่หรือ” เด็กหนุ่มถามอีกเพราะตัวเขาเริ่มจะหิว เนื่องจากใกล้เวลาอาหารเย็นแล้ว

         “ไม่หิวหรอกหนู หลวงตาชินแล้ว ถามอย่างนี้แปลว่าหนูหิวแล้วใช่ไหม” ท่านถามอย่างรู้ใจ

         “ใช่ครับ” เด็กหนุ่มตอบตามตรง

         “หิวก็ต้องอดทนนะหนูนะ อดนทมาก ๆ แล้วมันก็จะชินไปเอง” พี่ชายอีกสองคนที่นั่งฟังอยู่ออกผิดหวัง คิดว่าท่านจะอนุญาตให้รับประทานอาหารมื้อเย็นได้

         “หลวงตาครับ ขอทานวันนี้วันเดียวไม่ได้หรือครับ แล้วพรุ่งนี้พวกผมค่อยฝึกอกกัน” คนตัวโตที่สุดต่อรอง

         “ก็ฝึกเสียวันนี้ไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเรามัวผัดเป็นพรุ่งนี้ มันก็พรุ่งนี้อยู่เรื่อย การทำความดีไม่ต้องผัดวันประกันพรุ่ง นะหนูนะ”

         “หลวงตาครับ ทำไมการทำความดีต้องอดข้าวด้วยล่ะครับ” อีกคนถามขึ้น

         “เดี๋ยวก่อน หลวงตายังไม่รู้เลยว่าพวกหนูชื่ออะไรกันบ้าง ไหนบอกมาซิจะได้เรียกถูก เอาชื่อเล่นก็ได้

         “คนนี้ชื่อต้อม เป็นคนที่สาม คนที่สองชื่อต่อค่ะ คนเล็กชื่อติ๋ง ส่วนคนโตอยู่อเมริกาชื้อต้นค่ะ” นางกิมเอ็งตอบแทนลูก ๆ เมื่อพูดถึงคนโต นางก็อดร้องไห้ไม่ได้ เด็กหนุ่มสามคนคิดว่ามารดาร้องไห้เพราะคิดถึงลูกชายคนโต ซึ่งเป็นพี่ชายของพวกเขา

         “ทำใจดี ๆ น่ากิมเอ็ง อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด คหบดีพูดปลอบใจภรรยา ตัวเขาเองพอจะทำใจได้แล้ว เกี่ยวกับเรื่องที่ลูกชายติดยาเสพย์ติด เขาไม่ต้องการให้ลูกชายอีกสามคนดำเนินรอยตามพี่ชาย จึงสู้อุตส่าห์พามาเข้ากรรมฐานทั้งที่โรงเรียนยังไม่ทันปิดภาค ลูก ๆ ก็เชื่อฟังเป็นอันดี

         “หลวงตายังไม่ตอบผมเลยครับว่าทำไมการทำความดีต้องอดข้าวด้วย” หนุ่มน้อยที่ชื่อต้อมถามอีก

         “เดี๋ยว หนูตอบหลวงตามาก่อนซิว่าคำสอนหลักของพระพุทธศาสนานั้นมีกี่ประการ อะไรบ้าง”

         “ไม่ทราบครับ พวกผมเรียนโรงเรียนคริสต์มาตลอด จึงไม่รู้เรื่องศาสนาพุทธเลย”

         “แล้วสวดมนต์เป็นไหม สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ น่ะเคยสวดหรือเปล่า” ท่านถามคนชื่อต่อ

         “ไม่เคยสวดเลยครับ เพราะไม่เคยสวด ก็เลยสวดไม่เป็นครับ ครูสอนแต่สวดสรรเสริญพระเจ้า

 

 

 

 

       
มีต่อ........๓๑
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #33 เมื่อ: เมษายน 20, 2007, 08:47:38 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00031
๓๑...

          วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๖ คุณนายดวงสุดาลงทุนขับรถมาวัดป่ามะม่วงด้วยตนเอง ตามคำขอร้องของบิดาและมารดา เถ้าแก่เส็งกับคุณกิมง้ออยากมาฟังพระสงฆ์สวดธรรมจักรในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ “นิมิตในกรรมฐาน” บอกให้มาเนื่องจากคนทั้งสองปฏิบัติก้าวหน้ามากจนสามารถเกิดนิมิตได้ตรงกัน
                หลังจากปรึกษาหารือกันแล้ว จึงแจ้งความจำนงให้บุตรสาวทราบ บังเอิญคนขับรถประจำตำแหน่งของท่านผู้ว่าฯ ขอลากลับบ้านเพื่อไปฉลองปีใหม่กับครอบครัว จึงตกเป็นหน้าที่ของคุณนาย ที่จะต้องสงเคราะห์บิดามารดา เป็นการสงเคราะห์ที่เจ้าตัวเต็มใจอย่างยิ่ง

          ผู้คนมาวัดกันมากมายตั้งแต่เด็กอายุแปดเก้าขวบไปจนถึงคนชราและส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง พวกผู้ชายคงจะพากันไปกินเหล้าฉลองปีใหม่กันจึงไม่นิยมมาวัด

          บรรดาแม่ครัวต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ เพราะแขกเหรื่อทยอยกันมาไม่ขาดระยะ เว้นแต่ผู้ที่มาปฏิบัติกรรมฐานซึ่งมีเป็นส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกัน

          เวลายี่สิบนาฬิกา ทุกคนไปรวมกันในพระอุโบสถ และทำวัตรเย็นร่วมกับพระภิกษุทั้งวัด จากนั้นเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง แล้วพระภิกษุและฆราวาสปฏิบัติกรรมฐานจนถึงเวลายี่สิบสามนาฬิกา ปฏิบัติกรรมฐานเสร็จจึงพร้อมใจกันแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์และเจ้ากรรมนายเวร

          ใกล้เวลาเที่ยงคืน คณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์บทธรรมจักรไปจนถึงเวลาหนึ่งนาฬิกาของวันใหม่ หลังจากนั้นพระภิกษุและฆราวาสทำวัตรเช้าร่วมกัน

          เป็นการต้อนรับวันใหม่ที่เถ้าแก่เส็งและคุณกิมง้อไม่เคยประสบมาก่อน คนทั้งสอง “อิ่มบุญ” จนลืมความง่วงและตั้งปณิธานไว้ว่า จะมาฉลองปีใหม่ที่วัดป่ามะม่วงทุกปีจนกว่าสังขารจะไม่อำนวย

          การทำวัตรเช้าเสร็จสิ้นลงเมื่อเวลาตีสอง ทั้งพระและฆราวาสต่างแยกย้ายกันกลับไปยังกุฏิของตน ผู้ที่ยังไม่ง่วงก็จะปฏิบัติกรรมฐานต่อโดยไม่หลับนอน ส่วนคนที่ทนง่วงไม่ไหวก็จะนอนเอาแรงเป็นเวลาสองชั่วโมง แล้วลุกขึ้นมาปฏิบัติกรรมฐานตอนตีสี่

          เวลาแปดนาฬิกาของเช้าวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๗ คุณนายดวงสุดาและผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองจะมาลาท่านพระครูกับกรุงเทพฯ เมื่อมาถึงกุฏิของท่านก็เห็นคนนั่งรอเต็มไปหมด ท่านพระครูยังไม่ลงมาจากชั้นบน

          เสียงเอะอะโวยวายดังขึ้น ตามด้วยเสียงแก้วแตกดังเพล้ง ความอยากรู้อยากเห็นว่าได้เกิดอะไรขึ้น ทำให้คุณนายพาร่างอันอุดมไปด้วยก้อนเนื้อและไขมันออกไปยังหลังกุฏิอันเป็นที่มาของเสียง

          ภาพที่เห็นทำให้คุณนายถึงกับอ้าปากค้าง ผู้หญิงอายุประมาณสี่สิบกำลังขว้างแก้วใส่ผู้ชายวัยเดียวกัน ฝ่ายนั้นหลบอุตลุด กระทั่งพวกแม่ครัวมาช่วยกันยื้อยุดหล่อนเอาไว้

          “ปล่อยกูนะ กูจะไปฆ่ามัน” หล่อนตะโกนและดิ้นรน

          “ใจเย็น ๆ ค่ะ คุณนาย นี่ในวัดนะคะ ไงก็เกรงใจหลวงพ่อท่านมั่ง” นางบุญรับเตือนสติ คนที่นั่งอยู่ในกุฏิทยอยกันออกมาดู คุณนายดวงสุดามองอย่างสังเวช นึกตำหนิสตรีผู้นั้นที่ไม่มีความอดกลั้นแม้ในวัดวาอาราม นางกิมเอ็งซึ่งมารอให้ท่านพระครูสอบอารมณ์พร้อมสามีและลูกชายเห็นคุณนายดวงสุดาเดินออกไปก็ลุกตาม

          “กิมเอ็งอย่าออกไป ไม่ใช่เรื่องของเรา” คหบดีบอกภรรยา หากความอยากรู้อยากเห็นตามวิสัยหญิง ทำให้หล่อนขัดคำสั่งของผู้เป็นสามี พอออกไปก็สบตาเข้ากับสตรีที่ดูเหมือนกำลังบ้าคลั่งคนนั้น เลยถูกหางเลขเข้าอย่างจัง

          “มองอะไร ระวังเถอะอีกพวกชอบเสือกเรื่องของชาวบ้าน กูจะตบล้างน้ำเสียให้เข็ด” หล่อนว่าใส่หน้านางกิมเอ็ง ภรรยาคหบดีถอยกรูดเข้ามาตามด้วยภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัด คนแรกเข้ามานั่งข้าง ๆ สามีพลางนึกในใจว่า “อยู่ดีไม่ว่าดีนะเรา ถูกด่าฉลองปีใหม่แต่เช้า ซวยชะมัด”

          คุณนายดวงสุดาไม่ถึงกับเข้ามานั่ง เพราะอยากรู้หล่อนจึงเดินไปด้อม ๆ มอง ๆ อยู่แถว ๆ ประตูหลังกุฏิ ผู้หญิงคนนั้นสะบัดแขนอย่างแรงหลุดจากการเกาะกุม หล่อนวิ่งไปคว้าไม้ได้ท่อนหนึ่ง จึงตรงเข้าไปหาคนเป็นสามี ฝ่ายนั้นรีบวิ่งไปที่รถเก๋งไขกุญแจเข้าไปนั่งประจำที่คนขับได้อย่างหวุดหวิด คนเป็นเมียก่นด่าหยาบ ๆ คาย ๆ ใช้ไม้ทุบกระจกหน้ารถจนร้าวเป็นทาง หล่อนกระชากที่ปัดน้ำฝนหน้ารถออกมา มันบาดมือหล่อนจนเลือดแดงฉาน สามีหล่อน สตาร์ทรถ หล่อนจึงวิ่งไปขวางหน้าเอาไว้

            “เอาเลย มึงชนกูซะให้ตายเลย” สามีบีบแตรเป็นการเตือนให้ถอยหากภรรยาไม่ยอมถอย เขาจึงยื่นหน้าออกไปตะโกนว่า “ไม่ถอยกูชนจริง ๆ นะ” แล้วเร่งน้ำมันอย่างแรงเป็นการขู่ ถ้าหล่อนไม่ถอยเขาก็จะชนให้ตายไปเสียเลย

          “ผู้พันอย่าชนค่ะอย่า” พวกแม่ครัวร้องเสียงหลง คนหนึ่งวิ่งไปยืนคู่กับผู้หญิงคนนั้น คิดว่าคนขับคงไม่กล้าชน

          “ป้าถอยออกไป ไม่งั้นผมชนนะ” ผู้ที่ถูกเรียกว่า “ผู้พัน” ตะโกนบอกและทำท่าออกรถ หญิงผู้บ้าคลั่งกระโดดขึ้นไปยืนหราบนกระโปรงหน้ารถใครคนหนึ่งพูดขึ้นว่า

          “ป้าไปเรียกคุณนายลงมาเถอะ ประเดี๋ยวผู้พันแกแกล้งขับเร็ว ๆ คุณนายก็ตกลงมาคอหักตายหรอก”

          “เฮ่ย ใครมันจะฆ่าเมียได้ลงคอวะ ลูกเต้าก็มีด้วยกัน โน่นยืนตัวสั่นงันงกอยู่โน่น” “ป้า” หรือนางบุญรับชี้ไปที่เด็กชายหญิง อายุประมาณหกเจ็ดขวบที่ยืนอยู่กับพี่เลี้ยง คุณนายดวงสุดามองไปที่เด็กทั้งสองซึ่งยืนห่างจากหล่อนประมาณสามวา หน้าตาท่าทางของแกดูตื่นตระหนก หัวใจดวงน้อยคงแทบจะแหลกสลาย เพราะการกระทำของพ่อกับแม่ คุณนายไม่เข้าใจเลยว่าเหตุใดสองคนนั่นจึงทำร้ายจิตใจลูกได้ถึงปานนี้

          เสียงแม่ครัวคนที่สาวกว่าบอกนางบุญรับอีกว่า “เร็ว ๆ ซีป้า ไปเอาตัวคุณนายลงมาหน่อย ฉันว่าผู้พันแกกล้าฆ่าคุณนานนะ ผู้ชายที่กำลังหลงเมียน้อยน่ะ ฆ่าเมียหลวงได้นะป้า”

          “ถ้ายังงั้นพวกเอ็งก็ไปช่วยข้าหน่อย ไปเร็ว ๆ เข้า” นางชักชวนพรรคพวกพลางวิ่งนำไปที่รถ ผู้ชายคนนั้นกำลังเคลื่อนรถออก ป้าคนที่ไปยืนขวางรีบพาตัวเองหลบออกมาด้วยกลัวตาย ผู้หญิงบ้าคลั่งที่ยืนหราอยู่บนกระโปรงรถ ก็เปลี่ยนเป็นนั่งยอง ๆ หันหน้าเข้าหาคนขับ ชี้หน้าด่าปาว ๆ สลับกับเสียงกรี๊ด ๆ แสบแก้วหู นางบุญรับวิ่งไปเคาะกระจกด้านคนขับ โกหกหน้าตาเฉยว่า “ผู้พันหยุดก่อน หลวงพ่อเรียก” ผู้พันเหยียบเบรค หากยังไม่ยอมลงมาจากรถเพราะกลัวภรรยา

          “คุณนายลงมาเถอะค่ะ หลวงพ่อท่านเรียก “นางบอกผู้หญิงที่กำลังบ้าคลั่ง สงสารหล่อนจับใจ เพราะรู้เรื่องราวของหล่อนเป็นอย่างดี “ผู้พันทำร้ายจิตใจหล่อนเกินไป อาจหาญควงเมียน้อยมากราบอวยพรหลวงพ่อ ทั้งที่รู้ว่าจะมาพบหล่อนที่นี่ แล้วเมียน้อยก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเพื่อนรักเพื่อนใคร่ของหล่อนนั่นเอง อุตส่าห์พามาเข้ากรรมฐาน กินด้วยกัน นอนด้วยกันอยู่ที่วัดนี้ แล้วจู่ ๆ ก็มากลายเป็นเมียน้อยของผัวหล่อน หากนางบุญรับเป็นหล่อนก็คงแค้นแทบกระอักเหมือนกัน

          ได้ยินว่าหลวงพ่อเรียก คุณนายราศีก็ได้สติ หล่อนหยุดด่าและหยุดร้องกรี๊ด ๆ กระโดดลงจากกระโปรงรถอย่างระมัดระวังแล้วเดินเชื่อง ๆ เข้าไปในกุฏิ

          พันเอกประวิทย์เห็นภรรยาเดินไปยังกุฏิท่านพระครู คิดว่าหล่อนคงจะต้อง “ฟ้อง” ท่านเกี่ยวกับความผิดของเขา จะยอมให้หล่อนฟ้องข้างเดียวไม่ได้ เขาต้องตามไปชี้แจง ท่านจะได้ไม่ฟังความข้างเดียว คิดได้ดังนี้จึงก้าวลงจากรถเดินตามภรรยาไปห่าง ๆ

          คุณนายราศีเข้ามานั่งคอยท่านพระครูตรงหน้าอาสนะ พยายามสงบสติอารมณ์อย่างที่สุด ครั้นเห็นหน้าผู้เป็นสามี ความคั่งแค้นประดังขึ้นมาอีก หล่อนคว้าได้ถ้วยน้ำชาก็ขว้างไปที่ใบหน้าของเขา ถ้วยกระเบื้องปะทะเข้าตรงหน้าผากอันล้านเลี่ยน ยังผลให้มันบวมปูดเขียวปั้ดขึ้นในพริบตา พันเอกวัยสี่สิบมีอาการ “เลือดขึ้นหน้า” เขาตรงเข้าหาภรรยา ตบหน้าหล่อนฉาด ๆ ไปหลายทีจนหน้าซีดเซียวนั้นหันซ้ายหันขวาไปตามแรงตบ

          คนที่นั่งรออยู่ลุกขึ้นห้าม พวกผู้ชายจับผู้พัน พวกผู้หญิงจับคุณนายราศี กุฏิอันเงียบสงบของท่านพระครูจึงกลายเป็นโรงงิ้ว

          “ไปตามหลวงพ่อลงมาเร็ว ๆ เข้า” คหบดีสั่งนายสมชายซึ่งยืนอ้าปากค้างดูเหตุการณ์อยู่ เด็กหนุ่มจึงวิ่งขึ้นไปยังกุฏิชั้นบน ละล่ำละลักบอกท่านพระครูว่า

          “เกิดเรื่องใหญ่แล้วครับหลวงพ่อ ผู้พันกับคุณนายใช้กุฏิหลวงพ่อเป็นเวทีมวยไปซะแล้ว หลวงพ่อลงไปเป็นกรรมการหน่อยเถอะครับ ไม่งั้นคุณนายราศีได้หมดราศีกันคราวนี้แหละ” แม้จะอยู่ในภาวะที่เรียกว่าหน้าสิ่งหน้าขวาน หากนายสมชายก็ยังอุตส่าห์มีแก่ใจสร้างอารมณ์ขัน

          “ห้ามไม่ได้หรอกสมชาย เรื่องของผัวเมีย ฉันไม่กล้าเข้าไปยุ่งหรอก” ท่านพูดด้วยเสียงปกติ ไม่ตื่นเต้น ไม่ยินดียินร้าย เพราะจิตของท่านมั่นคงแล้ว ไม่หวั่นไหวสั่นคลอน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

          “แล้วถ้าเกิดเขาฆ่ากันตายในกุฏิหลวงพ่อล่ะ เรื่องมิดังไปถึงไหน ๆ หรือ” เด็กหนุ่มมีท่าทีกังวล

          “ไม่ถึงยังงั้นหรอกสมชาย ถ้าเขาตีกันอยู่ที่กุฏิฉัน หรือยู่ในบริเวณวัดป่ามะม่วง เขาจะไม่ตาย เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ แต่ถ้าพ้นเขตวัดไปเมื่อใด รับรองว่าตายทั้งคู่ สองคนนี้กำลังชะตาขาด ถ้าเธอกลัวเขาตายก็ลงไปดูลาดเลาก็แล้วกัน อย่าให้เขาออกนอกเขตวัด” ท่านสั่งเสียงเรียบ

          ลูกศิษย์ก้นกุฏิจึงจำต้องลงมาข้างล่าง เมื่อเขาเปิดประตูออกมา ทุกคนก็ชะเง้อมองด้วยคิดว่าเป็นท่านพระครู การตะลุมบอนของสองสามีภรรยาก็ชะงักลง

          “ประเดี๋ยวหลวงพ่อจะลงมา” เขาบอกทุกคนในที่นั้น ได้ยินว่าหลวงพ่อจะลงมา คุณนายราศีก็หยุดอาละวาด นายสมชายจัดการหาหยูกยามาทำแผลให้หล่อน แผลซึ่งถูกที่ปัดน้ำฝนบาด พวกผู้ชายก็หายาหม่องมานวดหน้าผากบริเวณที่ปูดโปออกมาให้พันเองประวิทย์ คุณนายดวงสุดาใจเต้นไม่เป็นส่ำตลอดเวลาที่เกิดเหตุการณ์ ส่วนบิดามารดาของหล่อนเพียงแต่ตกใจเล็กน้อยด้วยได้ฝึกจิตไว้ดีแล้ว

          ครู่ใหญ่ ๆ ท่านพระครูจึงเปิดประตูออกมา ทุกคนต่างทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง ท่านเดินไปนั่งยังอาสนะ พันเอกประวิทย์และภรรยานั่งหมอบอยู่ต่อหน้าท่าน คุณนายราศีร้องไห้กระซิก ๆ

          “มีอะไรก็ค่อย ๆ พูดค่อย ๆ จา กันก็ได้ ทำไมถึงต้องลงไม้ลงมือกัน” ท่านพูดเสียงเบาจนเกือบเป็นกระซิบ ด้วยต้องการให้ได้ยินกันเพียงสามคน

          “หลวงพ่อคะ หนูทนไม่ไหวแล้ว เขาทำร้ายจิตใจหนู ทำร้ายจิตใจลูก” คุณนายราศีพูดเสียงปนสะอื้น

          “ก็เราอย่าไปยอมให้เขาทำร้ายซี ใจของเราไปให้คนอื่นมาทำร้ายได้ยังไง ไหนเขาทำยังไงว่าไปซิ”

          “ก็เขาพาเมียน้อยมาอวดหลวงพ่อ เขากล้าฉีกหน้าหนู ใคร ๆ เขารู้กันทั้งวัดว่า เขาเป็นสามีหนู แล้วอยู่ ๆ เขาก็ควงคนอื่นมา” คุณนายวัยสี่สิบเล่าด้วยความเคียดแค้น

          “คนอื่นที่ไหนกัน เพื่อนคุณนายไม่ใช่หรือ อาตมาเคยเห็นเขามาเข้ากรรมฐานกับคุณนาย อยู่กุฏิเดียวกันอีกด้วย”

            “นั่นซีคะ เพราะอย่างนี้หนูถึงได้แค้นใจมาก ทั้งเพื่อนทั้งผัวรวมหัวกันทรยศ” หล่อนสะอื้นฮัก ๆ

          “ทีมันทรยศผมล่ะครับหลวงพ่อ เวลาผมไปราชการต่างจังหวัด มันก็เอาคนขับรถเข้าไปนอนในห้องแทนผม” ท่านพระครูอยากรู้ความจริงว่าคุณนายราศีประพฤติเช่นนั้นจริง ๆ หรือว่าพันเอกประวิทย์คิดมากไปเอง ท่านจึงใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบ

          แล้ว “เห็นหนอ” ก็รายงานว่า พันเอกวัยสี่สิบตั้งใจใส่ร้ายภรรยา เพื่อท่านพระครูจะได้เห็นอกเห็นใจที่เขาต้องทำผิด นายทหารผู้นี้มีจิตเป็นอกุศล หยาบช้า ลามก ประพฤติชั่วทั้งที่นับถือพระ เป็นเรื่องน่าเวทนานัก หากว่าเขาได้เป็นใหญ่เป็นโตในกาลข้างหน้าก็จะเป็นพิษเป็นภัยต่อชาติบ้านเมืองอย่างมหันต์ทีเดียว

          คุณนายราศีไม่แก้ข้อกล่าวหานั้น หล่อนรู้ดีว่าท่านพระครูรู้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยที่หล่อนไม่จำเป็นต้องอธิบาย

          “หลวงพ่อคะ หนูเจ็บใจตัวเองเหลือเกินค่ะ เจ็บใจที่เลือกคนผิด หนูผิดเอง ไม่รู้ว่ากรรมเวรอะไรของหนู” หล่อนสะอึกสะอื้น

          “ก็เลือกเสียใหม่ให้ถูกซี ได้โอกาสแล้วนี่ ชายชู้มึงไง ไอ้คนขับรถกูน่ะ เอาเถอะกูยกให้” คนเป็นสามีพูดแดกดัน

          “ผู้พัน” ท่านพระครูเรียกบุรุษนั้นอย่างอดรนทนไม่ได้ รู้สึกสมเพชเขาเป็นกำลัง หากท่านก็ไม่อาจจะช่วยอะไรได้ บุรุษผู้นี้กำลังตาบอดสนิทจึงไม่อาจมองเห็นแสงสว่างใด ๆ ได้เลย เมื่อช่วยไม่ได้ ท่านจึงจำต้องวางอุเบกขา ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของเขา

          “คุณนาย อาตมารู้สึกเสียใจเหลือเกิน เสียใจแทนคุณนาย ที่อุตส่าห์มาเข้ากรรมฐานหลายครั้ง ๆ ละหลายวัน แต่ไม่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาชีวิต อุตส่าห์มาฝึกสติ แต่กลับแสดงออกเหมือนคนขาดสติ ไม่น่าเลย เสียชื่อลูกศิษย์วัดป่ามะม่วงหมด” ท่านพระครูลงทุน “เทศนา” คุณนายราศี รู้ว่าหล่อน “รับได้”

          พันเอกประวิทย์รู้สึกสะใจและนึกสมน้ำหน้าคนเป็นภรรยาที่ถูก “เทศน์” ฉลองปีใหม่ แสดงว่าหลวงพ่อท่านเชื่อในสิ่งที่เขาพูด เขามิรู้ดอกว่าท่านพระครูจะไม่สั่งสอนบุคคลที่ “รับไม่ได้” และท่านก็จะไม่พูดให้เขาต้องสะเทือนใจ ชายวัยสี่สิบไม่รู้ว่าตัวเองนั้นอยู่ในประเภท “อเวไนยสัตว์”

          “หลวงพ่อคะ ได้โปรดช่วยหนูด้วย ช่วยให้หนูพ้นจากสภาวะที่แสนทรมานนี้เสียที ได้โปรดเถอะค่ะ” สรีวัยสี่สิบอ้อนวอน

          “อาตมาช่วยได้ก็เพียงชี้แนวทางให้เท่านั้น นอกนั้นคุณนายต้องช่วยตัวเอง”

          “หนูมองไม่เห็นทางเลยค่ะหลวงพ่อ มันมืดแปดด้านเลย หนูหมดกำลังใจ หมดอาลัยตายอยากในชีวิตเสียแล้ว”

          “หมดแล้วก็สร้างขึ้นมาใหม่ได้ สร้างกำลังใจขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับชีวิต อาตมาเชื่อว่าคุณนายทำได้ ไปตรองดูนะ คุณนายเป็นถึงครูบาอาจารย์ มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ปัญหาชีวิตแค่นี้คุณนายเอาชนะมันได้ อาตมาขอพูดสั้น ๆ ว่า ถ้าเราทำจิตใจของเราให้เข้มแข็ง ก็ไม่มีใครมาทำร้ายจิตใจของเราได้ เว้นเสียแต่ว่า ตัวเราเองจะทำร้ายตัวเอง

เอาละ กลับไปพักผ่อนที่กุฏิของคุณนายได้แล้ว ลูกรออยู่ไม่ใช่หรือ พูดกับเขาให้รู้เรื่อง ลูกสองคนน่ะ ส่วนคนอื่นถ้าพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ไม่จำเป็นต้องพูด คนเป็นผัวเมียกัน เลิกกันก็กลายเป็นคนอื่น จำไว้นะคุณนาย”

          คุณนายราศีกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วเลี่ยงออกมาหาลูกซึ่งยืนหน้าซีดเซียวอยู่กับพี่เลี้ยงทางด้านหลังกุฏิ เห็นหน้าลูกก็ให้สงสารจับใจ จนต้องร้องไห้ออกมา หล่อนคิดได้เดี๋ยวนั้น ต่อแต่นี้ไปจะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก หล่อนจะถนอมน้ำใจลูกและประคับประคองเลี้ยงดูลูกน้อยทั้งสองอย่างดีที่สุด จะต้องทำหน้าที่ของพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน เพราะคนเป็นพ่อของลูกนั้น หล่อน “ตัดหางปล่อยวัด” ไปแล้ว เพิ่งตัดใจได้เดี๋ยวนี้เอง

          ภรรยาลุกออกไปแล้ว พันเอกประวิทย์ก็ได้โอกาส “กล่าวโทษ” ของฝ่ายนั้น ตามวิสัยของบุรุษผู้มี “กิเลสหนาตัณหามาก”

          “แย่จังนะครับหลวงพ่อ กรรมของผมเหลือเกินที่ต้องมามีเมียวิปริตผิดมนุษย์เช่นนี้” ท่านพระครูไม่ออกความเห็น เพราะคนที่พูดอย่างนี้น่าจะเป็นคุณนายราศีมากกว่า

          “คนที่มาด้วยเมื่อตอนเช้าไปไหนเสียล่ะ” ท่านเลี่ยงไปถามถึงผู้หญิงอีกคนหนึ่ง คนที่พันเอกประวิทย์กำลังลุ่มหลงอย่างหนัก

          “ผมพาหลบไปไหว้ที่สำนักชีครับ ไม่งั้นยายราศีอาละวาดตาย”

          “วัดป่ามะม่วงเลยกลายเป็นที่เล่นซ่อนหาว่างั้นเถอะ”

          “ครับ ก็สนุกตื่นเต้นดี” เขากลับเห็นเป็นเรื่องสนุก ท่านพระครูรู้สึกอ่อนอกอ่อนใจเป็นกำลัง จึงบอกกับเขาว่า

          “งั้นก็พากลับบ้านกลับช่องเสีย ประเดี๋ยวคุณนายราศีมาพบเข้าก็จะเกิดเรื่องอีก”

          นายทหารวัยสี่สิบก้มลงกราบสามครั้ง ก่อนลุกออกมายังพูดอีกว่า

            “ป่านนี้คงนั่งร้องไห้ขี้มูกโป่งแล้ว คนนี้เขาขี้แยครับหลวงพ่อ แต่นิสัยดีมาก ดีจริง ๆ ยายราศีเทียบไม่ติดเลย”

          “ถ้าดีจริงคงไม่แย่งสามีเพื่อนซึ่ง ๆ หน้าอย่างนี้หรอก” ท่านพระครูอยากจะพูดเช่นนี้ หากท่านก็ไม่ได้พูด เพราะเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ตนหรือประโยชน์ท่าน

          “หลวงพ่อคะ หนูไม่กล้ามาเข้ากรรมฐานแล้วละค่ะ” คุณนายดวงสุดาพูดหลังจากนายทหารผู้นั้นลุกไปแล้ว

          “อะไรทำให้คุณนายคิดอย่างนั้นล่ะ”

          “ก็หนูไม่อยากเป็นแบบคุณนายราศีน่ะซีคะ แล้วก็ไม่อยากเป็นอย่างเพื่อนเธอด้วย อุตส่าห์พากันมาอยู่วัด แล้วคนนึงก็ออกงิ้ว อีกคนก็แย่งสามีคนอื่นหน้าตาเฉย” หล่อนว่า

          “คนอื่นคนไกลที่ไหนล่ะคะ เพื่อนกันแท้ ๆ ไม่น่าทำเลย” นางกิมเอ็งแย้ง หล่อนยิ้มให้คุณนายดวงสุดาอย่างเป็นมิตร

          “กิมเอ็ง มันไม่ใช่เรื่องของเราน่า อย่าลืมว่าเธอกำลังปฏิบัติกรรมฐานนะ” คหบดีปรามภรรยา ลูกชายสามคนนั่งสัปหงกเพราะความง่วง

          “แหม คุณนายพูดอย่างนี้ก็เสียชื่อวัดป่ามะม่วงหมดเลย เสียชื่อพระครูเจริญด้วย คนเขาจะได้เอาไปพูดว่าพระครูเจริญสอนลูกศิษย์ให้เพี้ยน” ท่านพูดด้วยเสียงที่ได้ยินกันทั่วทั้งกุฏิ

          “ไม่จริงครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งขัดขึ้น ตัวเขากับภรรยาปฏิบัติกรรมฐานสม่ำเสมอและเคร่งครัด จึงเข้าถึงความจริงอะไรบางอย่างที่คนบางคนยังเข้าไม่ถึง

          “ผมขอยืนยันว่ากรรมฐานไม่ได้ทำให้คนเพี้ยน การที่คุณนายคนนั้นกับเพื่อนทำอะไรเพี้ยน ๆ เพราะแกไม่ใช่นักปฏิบัติที่แท้จริง แกยังเข้าไม่ถึงหัวใจกรรมฐาน ผมว่าหลวงพ่อรู้เรื่องนี้ดีกว่าผม กรุณาอธิบายให้คนอื่นเข้าใจด้วยเถิดครับ” เขาขอร้องท่านพระครู ท่านเจ้าของกุฏิจึงพูดขึ้นว่า

          “เอาละญาติโยมที่รักทั้งหลาย ที่โยมเถ้าแก่พูดมานั้นถูกต้องเป็นจริงทุกประการ อาตมาจึงขอยืนยันว่า กรรมฐานไม่เคยทำให้ใครวิปริต ถ้าหากคนคนนั้นปฏิบัติอย่างถูกต้อง และเอาจริงเอาจัง และโปรดเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องด้วยว่า คนที่มาปฏิบัติกรรมฐานไม่ใช่คนที่หมดกิเลสแล้ว เพราะถ้าหมดกิเลสก็ไม่จำเป็นต้องมาปฏิบัติ การมาปฏิบัติก็เพื่อจะให้กิเลสมันเบาบางลงและหมดไปในที่สุด เพราะฉะนั้นตราบใดที่เขายังไม่บรรลุธรรมขันใดเลย เขาก็ยังคงเป็นปุถุชนธรรมดาเหมือน ๆ กับคนทั่ว ๆ ไป ที่ยังมี รัก โลภ โกรธ หลง จึงอาจถูกกิเลสชักพาไปในทางเสื่อมได้”

          หลวงพ่อครับ วัดป่ามะม่วงนี่มีคนมาตีกันฉลองปีใหม่อย่างนี้ทุกปีหรือเปล่าครับ” ชายผู้หนึ่งถามขึ้น เขาเพิ่งมาวัดนี้เป็นครั้งแรกเพราะเพื่อนชวนมา

          “ไม่หรอกโยม เพิ่งจะครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่อาตมาก็ต้องขอโทษญาติโยมแทนคู่กรณีด้วย ออกนอกเขตวัดไปเมื่อไหร่รับรองตายทั้งคู่”

          “แล้วปีหน้าจะมีอีกไหมครับ ผมจะได้มาดูอีก”         

          “ไม่มีแน่ อันนี้อาตมารับรอง นี่ยังดีนะ คนมาตีกันในวัดก็ยังดีกว่าพระในวัดตีกันเอง” เสียงหัวเราะดังขึ้น ท่านจึงย้ำอีกว่า

          “อ้าว จริง ๆ นะ อาตมาไม่ได้พูดเล่น แต่ไม่ใช่พระวัดนี้หรอก วัดที่กรุงเทพฯ อย่าให้ออกชื่อเลย ประเดี๋ยวจะหาว่าเอาเขามาวิจารณ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง อาตมาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อจะไปพบท่านเจ้าคุณรูปหนึ่ง ไปถึงเห็นท่านกำลังดุพระลูกวัดอยู่ ไม่ทราบดุอีท่าไหน พระรูปที่ถูกดุต่อยเปรี้ยงเข้าที่ใบหน้าถูกปากครึ่งจมูกครึ่ง ท่านเจ้าคุณสลบทันที หงายผึ่งลงไปนอนเลย” ท่านเล่าเหตุการณ์ที่เห็นมากับตา

          “แล้วพระรูปนั้นทำยังไงครับ เห็นท่านเจ้าคุณสลบแล้วท่านทำยังไง” ชายคนนั้นถามอีก

          “ท่านยังไม่ทันได้ทำอะไร ปรากฏว่าพระลูกวัดรูปอื่น ๆ กรูเข้าตะลุมบอนท่าน ทั้งต่อยทั้งเตะ ทั้งเหยียบสลมเหมือดไปเลย อาตมายืนงงเป็นไก่ตาแตก ตอนแรกนึกสงสารท่านเจ้าคุณ แต่ตอนหลังสงสารพระรูปนั้น อาตมาเลยรีบกลับวัดป่ามะม่วง เพราะไม่อยากไปเป็นพยานที่โรงพัก พระลูกวัดพวกนั้นพอซ้อมเขาสลบ แล้วยังพาส่งโรงพักอีกในข้อหาทำร้ายร่างกายท่านเจ้าคุณ”

          “หลวงพ่อก็เลยไม่ได้พูดธุระกับท่าน”

          “จะพูดยังไงเล่า ก็เขากำลังมีเรื่องไม่น่าถาม”

          “แล้วท่านเจ้าคุณถึงกับมรณภาพไหมคะ” คุณกิมง้อถาม

          “ไม่หรอกโยม แค่หมัดเดียว”

          “ผมว่าท่านอาจแกล้งสลบก็ได้ แกล้งทำเป็นสลบเพื่อให้ลูกน้องแก้แค้นแทน” นายต่อหายง่วงและพูดขึ้นอย่างที่ใจคิด

          “หนูอย่าไปว่าพระว่าเจ้า บาปนะหนูบาป” ท่านพระครูปรามด้วยใบหน้ายิ้ม ๆ รู้ว่าเจ้าคุณรูปนั้นสลบไปจริง ๆ โดยมิได้เสแสร้ง ก็ “เห็นหนอ” บอกอย่างนั้น

มีต่อ........๓๒
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #34 เมื่อ: เมษายน 20, 2007, 08:48:25 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00032
๓๒...

          ท่านพระครูลงมาจากกุฏิชั้นบน เมื่อเวลายี่สิบนาฬิกาตรง คหบดีกับบุตรภรรยารออยู่แล้ว คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของการสอบอารมณ์ วันพรุ่งนี้หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว ก็จะพากันกลับกรุงเทพฯ

          “เอาละ หลวงตาจะสอบอารมณ์หนูทั้งสามคนก่อน เริ่มตั้งแต่คนเล็กเลยนะ ชื่อติ๋งใช่ไหม”

          “ใช่ครับ แหม หลวงตาจำแม่นจัง” หนุ่มติ๋งตอบ รู้สึกดีใจที่ท่านจำชื่อเขาได้

          “เป็นยังไงบ้าง พอง – ยุบ ชัดเจนดีหรือยัง”

          “ชัดเจนดีมากครับ”

          “แล้วเวลามันหายละ รู้หรือเปล่า”

          “รู้ครับ”

          “รู้ว่ายังไง”

          “รู้ว่ามันหายน่ะคร้บ” คนตอบไม่ได้ตั้งใจยวน หากก็ฟังเหมือนกับยวน

          “มันหายไปตอนพองหรือตอนยุบล่ะ”

          “ไม่ทราบครับ เพราะพอรู้มันก็หายไปแล้ว”

            “แสดงว่าสติยังจับไม่ทัน ต้องฝึกสติให้ว่องไวกว่านี้ จับให้ได้ว่ามันหายไปตอนพองหรือตอนยุบ เข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจครับ”

          “เข้าใจก็ดีแล้ว กลับบ้านต้องไปปฏิบัติต่อนะ อย่าเอาแต่ดูทีวี แล้วหนูจะเรียนเก่งขึ้น อยากเรียนอะไรก็เรียนได้ถ้าหนูไม่ทิ้งการปฏิบัติ จำที่หลวงตาพูดไว้ให้ดีนะ”

          “ครับ ผมตั้งใจจะเรียนหมอ หลวงตาว่าผมจะเรียนได้หรือเปล่าครับ”

          “ถ้าตั้งใจก็ต้องเรียนได้ เอาเถอะ ถ้าหนูไม่ทิ้งวิชากรรมฐาน หลวงตารับรองว่าในอนาคตหนูต้องได้เป็นคุณหมออย่างแน่นอน” หนุ่มติ๋งก้มลงกราบ “หลวงตา” ด้วยความปลื้มปีติ เกิดความมั่นใจขึ้นอย่างประหลาดว่า ตนจะได้สิ่งที่หวัง

          “แล้วต้อมล่ะเป็นอย่างไรบ้าง” ท่านถามหนุ่มต้อม

          “ผมง่วงมากครับหลวงตา ง่วงแม้กระทั่งเวลาเดินจงกรม ไม่เคยง่วงมากมายอย่างนี้มาก่อนเลยครับ” ท่านพระครูรู้ได้จากการบอกเล่าของเขา เด็กหนุ่มผู้นี้ปฏิบัติได้ก้าวหน้ามากทีเดียว

          “แล้วหนูทำยังไง เวลาง่วงมาก ๆ น่ะ”

          “ผมก็นอนครับ แต่ก็แปลก พอนอนกลับไม่หลับ มันเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ อย่างบอกไม่ถูก” ท่านรู้ว่าเขาก้าวหน้ามาถึง “นิพพิทาญาณ” อันเป็นญาณที่ ๘ ใน โสฬสญาณ เขาเดินมาได้ครึ่งทางแล้ว

          “หนูปฏิบัติได้ก้าวหน้ามากนะ เอาเถอะพยายามเข้าแล้วจะประสบความสำเร็จ” ผู้สอบอารมณ์พูดให้กำลังใจ

          “แล้วผมจะทำอย่างไรให้หายง่วงครับหลวงตา”

          “การง่วงของหนูไม่ใช่ธรรมดานะ เป็นอาการของ “ญาณ” เขาเรียกว่าหนูเข้าถึง “นิพพิทาญาณ” เอาละ หลวงตาจะบอกวิธีขจัดความง่วงให้ แล้วท่านจึงบอกหนุ่มต้อมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อเข้าถึง ญาณ ๘ จากนั้นจึงสอบอารมณ์นายต่อ นางกิมเอ็ง และคหบดีตามลำดับ แล้วสรุปว่า

          “ผู้ที่ปฏิบัติได้ก้าวหน้ากว่าเพื่อนคือต้อม และที่ก้าวหน้าน้อยที่สุดคือ โยม” ประโยคหลังท่านพูดกับคหบดี

          “ผมได้ญาณไหนครับ” สามีนางกิมเอ็งถาม

          “ญาณ ๕ เรียกว่า ภังคญาณ ญาณทั้งหมด ๑๖ ที่เรียกว่าโสฬสญาณ ญาณ ๑ ชื่อรูปปริจเฉนทญาณ ส่วนญาณ ๑๖ ชื่อปัจจเวกขณญาณ ใครบรรลุถึงญาณนี้ก็ถือว่าเป็นพระอริยบุคคลระดับต้นที่เรียกว่า พระโสดาบัน”

            “งั้นผมก็เดินมาได้ครึ่งทางแล้วใช่ไหมครับ” หนุ่มต้อมถามอย่างยินดี

          “ถูกแล้วหนู แต่อีกครึ่งทางที่เหลือน่ะยากลำบากชนิดที่เรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็นเชียวละ หนูต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดจึงจะเดินทางสายนี้ได้ตลอดสาย ต้องเดินกันข้ามภพข้ามชาติเชียวแหละ”

          “จะยากเย็นแสนเข็ญสักปานใด ผมก็จะพยายามครับหลวงตา ป๋าครับผมขออนุญาตบวชที่วัดนี้ได้ไหมครับ ผมอยากบวชไปจนตลอดชีวิต” หนุ่มต้อมพูด้วยศรัทธาที่เปี่ยมล้น ได้ยินว่าลูกจะบวชตลอดชีวิต คหบดีก็ใจแป้ว วิสัยของปุถุชนย่อมอยากเห็นบุตรหลานเจริญในทางโลกมากกว่า จึงพูดกับพระครูว่า

          “เราสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงได้ โดยไม่ต้องบวชไม่ใช่หรือครับ”

          “ถูกแล้ว แต่การบวชจะทำให้บรรลุได้เร็วกว่าการเป็นฆราวาส เมื่อท่านตอบดังนี้ เขาจึงหันไปพูดกับลูกว่า

          “ถ้าอย่างนั้น ป๋าอยากให้ลูกกลับบ้านก่อน กลับไปคิดหลาย ๆ วัน ถ้าลูกตั้งใจแน่วแน่ ป๋าก็คงไม่ขัดข้อง แต่ตอนนี้ป๋ายังทำใจไม่ได้ หรือหลวงพ่อว่าอย่างไรครับ” เขาขอความเห็นจากท่านพระครู

          “ก็แล้วแต่จะตกลงกันเองก็แล้วกัน อาตมาเป็นคนนอก ไม่อยากจะเข้าไปก้าวก่ายในเรื่องครอบครัว”

          “อย่าบวชเลยต้อม นึกว่าเห็นแก่แม่เถอะนะ” นางกิมเอ็งบอกลูก

          “ทำไมหรือครับ ทำไมแม่ถึงไม่อยากให้ผมบวช” เด็กหนุ่มถามมารดา

          “เพราะแม่เสียพี่ต้นไปคนนึงแล้ว ไม่อยากเสียลูกไปอีกคน” คนเป็นแม่ตอบเสียงเครือ

          “แปลว่าพี่ต้นบวชอยู่ที่อเมริกาหรือครับ” หนุ่มต่อถาม เขาไม่รู้เรื่องที่พี่ชายติดยาเสพย์ติด

          “ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงจะดีกว่า แต่นี่...” แล้วหล่อนก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น

          “กิมเอ็ง พูดจาเหลวไหลไม่เข้าเรื่องน่า” สามีหล่อนว่า เขากลัวบุตรชายทั้งสามจะสงสัย ลูก ๆ จะรู้เรื่องนี้ไม่ได้

          “โยมแผ่เมตตาให้ลูกหรือเปล่า หลังจากปฏิบัติกรรมฐานแล้วแผ่เมตตาไปให้เขาทุกครั้งอย่างที่อาตมาสอนหรือเปล่า”

          “เราทำอย่างที่หลวงพ่อแนะนำค่ะ” หล่อนตอบ

          “ผมกับน้อง ๆ ก็ทำครับ” หนุ่มต่อรายงานบ้าง

          “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีอะไรต้องห่วง อาตมาเชื่อว่าเขาจะต้องดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น” ท่านพูดกับนางกิมเอ็งและสามี

          “สาธุ” คนทั้งสองยกมือขึ้นประนมและพูดพร้อมกัน

          “หลวงพ่อครับ ผมต้องขอกราบของพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ทำให้ผมกับครอบครัวได้พบความสุขอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มันเป็นความสุขที่สงบ ปราศจากความร้อนรนกระวนกระวาย แล้วก็ไม่ต้องใช้เงินทองซื้อหามาด้วย” คหบดีพูดอย่างปลาบปลื้ม

          “ค่ะ มีเงินทองมากมายสักปานใด ก็ไม่อาจซื้อความสุขแบบนี้ได้ เป็นบุญของดิฉันและลูกเหลือเกินที่ได้มาพบหลวงพ่อ” นางกิมเอ็งพูดพลางใช้ผ้าเช็ดหน้าสีขาวซับน้ำตา

          “บุญของผมด้วยครับ ถ้าไม่มาเข้ากรรมฐาน ผมก็คงยังไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว ก่อนนี้ผมคิดแต่ว่าอะไรที่ทำให้ได้เงินมันก็ดีทั้งนั้น มาบัดนี้ผมรู้แล้วว่า เงินไม่ได้สำคัญที่สุดเสมอไป ความสุขสงบทางใจนั้นมีค่ามากกว่า ผมขอปฏิญาณต่อหน้าหลวงพ่อว่า นับแต่นี้ต่อไปผมจะละชั่ว และทำจิตให้ผ่องใสครับ” คำว่า “ละชั่ว” ของเขามีความหมายลึกซึ้งที่บุตรชายทั้งสามไม่เข้าใจ หากท่านพระครูเข้าใจ เด็กหนุ่มทั้งสามไม่รู้ว่าบิดาค้ายาเสพย์ติด และไม่รู้เรื่องพี่ชายติดยา

          “หลวงพ่อคะ แล้วเฮียจะต้องตายไหมคะ” นางกิมเอ็งถามด้วยความเป็นห่วงสามี

          “ผมไม่กลัวตายแล้วครับหลวงพ่อ มาปฏิบัติอย่างนี้แล้วผมไม่กลัวตายเหมือนแต่ก่อน หากการละชั่วจะทำให้ผมต้องตาย ผมก็ยินดี” คหบดีพูดอย่างกล้าหาญ เมื่อหิริโอตตัปปะเกิดขึ้นใจใจ ทำให้เขารังเกียจขยะแขยงในความชั่ว และคิดว่าตายเสียยังดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อก่อกรรมทำชั่ว

          “โยมไม่ตายหรอกเพราะมีคนอื่นตายแทน” ท่านพระครูพูดเป็นปริศนา

          “ใครคะหลวงพ่อ ใช่ดิฉันหรือเปล่า ถ้าใช่ ดิฉันก็ยินดีตายแทนเฮียเขา ขออย่างเดียวอย่าให้เขามีเมียใหม่ ดิฉันไม่อยากให้ลูก ๆ มีแม่เลี้ยงค่ะ” นางกิมเอ็งคิดไปเสียไกล

          “ไม่ใช่โยมหรอก เอาละอย่าเพิ่งซักถาม ถึงเวลาก็จะรู้เอง ข้อสำคัญ คือให้หมั่นปฏิบัติทุกวัน ขอให้เชื่ออาตมาสักครั้ง”

          “หลวงตาครับ” หนุ่มต่อเอ่ยขึ้นบ้าง

          “ผมและน้อง ๆ ต้องกราบขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินหลวงตาในวันแรกที่เข้ามาปฏิบัติ”

          “อ้อ หนูล่วงเกินอะไรหลวงตาไว้ล่ะ”

          “ก็พูดไม่ดี คิดไม่ดีต่อหลวงตาน่ะซีครับ ผมโกรธที่หลวงตาไม่ยอมให้พวกเรารับประทานอาหารมื้อเย็น เลยพากันแอบนินทาหลวงตาเป็นการใหญ่ แต่ป๋ากับแม่ไม่ทราบหรอกครับ” นายต่อพูดจบก็พาน้อง ๆ กราบท่านพระครูสามครั้งเป็นการขอขมา

          “ตกลง หลวงตาอโหสิให้ แต่หนูก็ได้ไถ่โทษ การที่พวกหนูตั้งใจปฏิบัตินั่นแหละคือการไถ่โทษ”

          “พวกเราต้องกราบขอโทษป๋าด้วยที่คิดว่าป๋าบังคับ เดี๋ยวนี้พวกเรารู้แล้วว่าที่ป๋าทำไปก็เพราะความรักและหวังดีต่อพวกเรา” เด็กหนุ่มเข้าไปกราบแทบเท้าของผู้เป็นพ่อ คหบดีรู้สึกปีติจนน้ำตาคลอ ลูก ๆ เขาก็มีใบหน้าเครือน้ำตา ส่วนเมียเขานั้นร้องไห้เลยทีเดียว

          “เอาละ กลับไปปฏิบัติต่อยังกุฏิของตนได้แล้ว คืนนี้เป็นคืนสุดท้าย ขอให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ จะได้หมดเคราะห์หมดโศก โชคดีศรีสุขกันทั่วหน้า พรุ่งนี้ก่อนไปอย่าลืมไปลาอาจารย์บัวเฮียวล่ะ”

          “ไม่ลืมครับ พวกผมเป็นหนี้บุญคุณอาจารย์บัวเฮียวมากเลย สักวันหนึ่งคงจะได้ทดแทนพระคุณ”

          “อาจารย์บัวเฮียวท่านก็มีกรรมของท่าน ทุกคนมีกรรมด้วยกันทั้งนั้น อาตมาเองก็มี รู้สึกว่าจะหนักกว่าโยมและอาจารย์บัวเฮียวเสียอีก” ท่านพูดเรื่อย ๆ ด้วยเสียงที่ปกติ ไม่แสดงอาการหวั่นไหวหวาดกลัวให้ปรากฏ เพราะฝึกจิตไว้ดีแล้ว

          “คหบดีและครอบครัวลากลับไปแล้ว ท่านพระครูจึงขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ คืนนี้ไม่มีอาคันตุกะมาเยี่ยมเยือนหรือถามปัญหา คงจะหมดเรี่ยวหมดแรงกับการฉลองปีใหม่นั่นเอง

          ตอนเช้าของวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๑๗ หลังจากรับประทานอาหารมื้อเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คหบดีก็พาบุตรและภรรยามาลาท่านพระครู หลังจากนั้นจึงจะไปลาพระบัวเฮียว เด็กหนุ่มทั้งสามมีท่าทางอาลัยอาวรณ์วัดป่ามะม่วงมาก โดยเฉพาะหนุ่มต้อม แทบจะไม่ยอมกลับเลยทีเดียว

          “หลวงตาครับช่วยส่งพลังจิตไปดลใจให้ป๋ากับแม่อนุญาตให้ผมบวชด้วยนะครับ ผมอยากบวชโดยที่ป๋าและแม่เต็มใจและแม่ไม่ร้องไห้ ไม่งั้นผมก็ไม่สบายใจครับ” หนุ่มต้อมพูดออกมาจากใจ ท่านพระครูมองเขายิ้ม ๆ แต่ไม่พูดว่ากระไร

          “สำหรับผมยังไม่คิดบวชหรอกครับหลวงตา แต่ขออนุญาตมาที่นี่ในช่วยที่ปิดเทอมทุกครั้งได้ไหมครับ” หนุ่มติ๋งว่า

          “ตามสบาย หลวงตายินดีต้อนรับ จะมาเมื่อไหร่ก็ได้”

          “ส่วนผมตั้งใจว่าจะมาทุกเย็นวันศุกร์แล้วกลับเย็นวันอาทิตย์ รอให้ปิดเทอมคงคิดถึงหลวงตาแย่เลย” หนุ่มต่อพูดบ้าง

          ชายหญิงคู่หนึ่งเดินตรงมายังกุฏิ เด็กชายสามคนอายุไล่เลี่ยกันเดิมตามต้อย ๆ คนทั้งห้าเข้ามานั่งทางเบื้องหลังของคหบดีและครอบครัว กราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วนั่งสงบ “รอคิว” อยู่ ต่อเมื่อคหบดีและครอบครัวลุกออกไปแล้ว ผู้มาใหม่จึงพากันเลื่อนขึ้นมานั่งข้างหน้า แล้วกราบท่านเจ้าของกุฏิอีกครั้ง

          “มายังไงกันเล่านี่ หายไปเสียนาน นึกว่าลืมอาตมาเสียแล้ว” ท่านทักอย่างเป็นกันเอง บุรุษนี้ชื่อนายนิยม เคยมาบวชอยู่กับท่านหนึ่งพรรษาเมื่อสามปีที่แล้ว หลังจากสึกออกไปก็ไม่เคยมาอีก

            “ต้องกราบขอประทานโทษหลวงพ่อด้วย งานยุ่งเหลือเกิน ตั้งแต่เปลี่ยนจังหวัดพระนครมาเป็นรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ ผมไม่ได้หยุดเลยครับ” นายนิยมรายงาน

          “เดี๋ยวนี้คุณพี่เขาไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทยแล้วค่ะหลวงพ่อ ภรรยานายนิยมกล่าว หล่อนเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

          “ยังงั้นหรือ แล้วงานใหม่กับงานเก่าอย่างไหนหนักกว่ากันล่ะ”

          “ก็พอ ๆ กันแหละครับหลวงพ่อ แต่หนักไปคนละแบบ เรื่องงานหนักน่ะไม่เท่าไหร่ แต่หนักใจซีครับ กลัวว่าจะทนไม่ได้เข้าสักวัน” ทั้งสีหน้าและแววตาของผู้พูดแสดงว่าหนักใจจริง ๆ

          “หนักอกหนักใจอะไรนักหนาเชียว บอกอาตมาได้ไหมเล่าเผื่อจะช่วยได้” ท่านพูดอย่างปรานี

          “บอกได้ครับ แต่คงไม่รบกวนให้หลวงพ่อช่วย เพราะมันคงเกินกำลังของหลวงพ่อ ก็ปัญหาเรื่องคอรัปชั่นนั้นแหละครับ ผมเห็นแล้วสงสารประเทศชาติบ้านเมือง มันกินกันตั้งแต่ตัวเล็กไปจนถึงตัวใหญ่” เขาหมายถึง ข้าราชการบางพวกที่ทุจริตในหน้าที่

          “ปัญหาแบบนี้อาตมาช่วยไม่ได้หรอกโยม มันเกินกำลังอย่างที่โยมว่ามานั่นแหละ เอาไว้ให้เป็นหน้าที่ของกฎแห่งกรรมดีกว่า เราคอยดูอยู่เฉย ๆ ท่านกึ่งปลอบกึ่งปลง

          “บางครั้งมันก็เฉยไม่ได้ครับหลวงพ่อ พอเราเห็นคนดีถูกรังแก เราก็เฉยไม่ได้ เพื่อนผมอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม วันหนึ่งมีอาเสี่ยมาขออนุญาตตั้งโรงงาน เขาตรวจแบบแปลนแล้ว เห็นว่าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายอนุญาต จึงไม่เซ็นอนุมัติ รุ่งเช้าแกมาใหม่ คราวนี้หอมเงินมาด้วย มาถึงก็ส่งเงินที่อัดใส่ซองพัสดุมาเต็มซองให้ เพื่อนผมตอบว่า “ผมเป็นข้าราชการมีเงินเดือนแล้วไม่ต้องรับเงินของคุณ ถ้าคุณทำมาถูกต้อง ผมก็จะเซ็นให้โดยไม่รับเงินเลย” เขาโกรธมาก รุ่งอีกวันก็มาอีก คราวนี้ถือนามบัตรของนายกรัฐมนตรีมาด้วย บอกเพื่อนผมว่านายกให้เซ็นอนุญาต เพื่อนผมเขาก็บอกว่า งั้นคุณไปบอกนายกให้มาพูดกับผมก็แล้วกัน เท่านั้นเองได้เรื่องเลยครับ”

            “ได้เรื่องว่ายังไงล่ะ” ท่านพระครูซัก

          “ก็มีเรื่องตอนเช้า พอตอนบ่ายถูกสั่งย้ายด่วน ย้ายไปอยู่ตำแหน่งที่ไม่มีงาน เขาเรียกว่าตำแหน่งลอยน่ะครับ เพื่อน ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหกคน ก็โดนด้วย ถูกย้ายรวดเดียวเจ็ดคนเลยครับ”

          “น่าเสียดายแทนชาติบ้านเมืองนะคะ คนดี ๆ ไม่เลี้ยง แบบนี้คนดีก็หมดกำลังใจทำงาน” แพทย์หญิงนลินเอ่ยขึ้น ลูกชายสามคนของหล่อนทนนั่งพับเพียบนาน ๆ ไม่ไหว จึงพากันลุกออกไปวิ่งเล่นที่ลานวัด พวกเขาเคยมาวัดนี้เมื่อครั้งบิดาบวช และช่วงนั้นก็มาบ่อยจนคุ้นเคยกับสถานที่เป็นอันดี

          “ผมว่านายกรัฐมนตรีไม่น่าทำอย่างนั้นเลย แบบนี้ประเทศชาติก็คงไปไม่รอด” นายนิยมกล่าว

          “ไม่ใช่ฝีมือนายกหรอกโยม อย่าไปโทษท่านสุ่มสี่สุ่มห้า บาปกรรมเปล่า ๆ ท่านเจ้าของกุฏิขัดขึ้น

          “หมายความว่าอย่างไรครับ” นายนิยมไม่เข้าใจ

          “ก็หมายความว่า มีการแอบอ้างชื่อนายกน่ะซี แต่คนที่เป็นตัวการนั้นที่แท้ก็คือนายของเพื่อนโยมนั่นแหละ คนที่สั่งย้ายน่ะ นาย้งนายกที่ไหนกัน” ท่านอธิบายตามที่ “เห็น”

          “นายเขาก็โดยนะครับหลวงพ่อ ในเจ็ดคนนั้นมีนายเขารวมอยู่ด้วย” นายนิยมแย้งเพราะผู้บังคับบัญชาของเพื่อนเขาก็รวมอยู่ในเจ็ดคนที่ถูกสั่งย้าย

          “ก็นายของนายยังไงล่ะ โยมลืมแล้วหรือที่เขาพูดกันว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้าน่ะ ลืมเสียแล้วหรือ” คำพูดของท่านพระครูทำให้นายนิยมเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง ขณะเดียวกันก็ให้อ่อนใจกับระบบราชการมากยิ่งขึ้น ระบบราชการที่ไม่สนับสนุนคนซื่อสัตย์สุจริต

          “แหม ดิฉันว่าจะไม่พูดก็อดไม่ได้ ไหน ๆ ก็พูดเรื่องนี้กันแล้ว ก็เลยขอถือโอกาสพูดเสียเลย ดิฉันเห็นมากับตาจริง ๆ นะคะ ไม่ได้ใส่ร้ายป้ายสีใคร ถ้าใครจะมาฟ้องร้อง ดิฉันก็ยินดี เพราะได้บันทึกเทปไว้เป็นหลักฐานด้วย” แพทย์หญิงนลินเอ่ยบ้าง

          “คุณหมอก็มีเรื่องเล่าเหมือนกันหรือ” ท่านพระครูถามยิ้ม ๆ

          “ก็ว่าจะไม่เล่าแหละค่ะหลวงพ่อ แต่ไหน ๆ คุณพี่เขาเล่าเรื่องเพื่อนเขา ดิฉันก็ถือโอกาสเล่าเรื่องน้องสาวของดิฉันอีกราย รายนี้จ่ายไปร่วมล้านค่ะ คือเขาทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง คนที่เซ็นอนุมัติต้องเป็นระดับปลัดกระทรวง กว่าเขาจะเข้าถึงปลัดกระทรวงก็ต้องจ่ายเป็นค่าเบี้ยใบ้รายทางไปหลายแสน ตั้งแต่หน้าห้องอธิบดี ตัวอธิบดี หน้าห้องปลัดกระทรวง แม้แต่คนขับรถของปลัดกระทรวงก็ต้องจ่ายค่ะ แล้วเมื่อวานนี้เอง เขานัดปลัดกระทรวงมารับเงินที่บ้าน เขาก็เรียกดิฉันไปด้วย ดิฉันแอบบันทึกเทปไว้โดยไม่ให้เขารู้ตัว

          ปลัดกระทรวงท่านมากับคนขับรถ ถือกระเป๋าเอกสารเปล่า ๆ มาใบนึง มาถึงน้องสาวดิฉันก็แนะนำให้ดิฉันรู้จัก พร้อมกับออกตัวว่าเขาเป็นโสด ยังไม่มีคู่คิดเลยต้องอาศัยพี่สาว น้องสาวดิฉันก็จัดการนำธนบัตรใบละร้อยที่เพิ่งเอาออกจากธนาคารอัดใส่กระเป๋าใบนั้น อัดจนแน่นเลยค่ะ แล้วก็ยังใส่ซองให้คนขับรถอีกสองหมื่น”

          “แล้วในกระเป๋านั่นกี่หมื่น” ท่านถามไปอย่างนั้นเอง

          “ห้าแสนค่ะ ธนบัตรใบละร้อย ใหม่เอี่ยมห้าพันใบค่ะหลวงพ่อ หลวงพ่อเชื่อไหมคะ ตอนเขาเดินถือกระเป๋าเข้ามา ดูท่าทางเขาสง่า เดินตัวตรงเชียวค่ะ แต่พอขากลับเดินตัวเอียงเพราะกระเป๋าหนัก น้องสาวก็แกล้งถามว่า ท่านถือไหวไหมคะ ดิฉันจะให้เด็กถือไปส่งที่รถนะคะ ท่านก็ว่าไม่เป็นไร ผมถือเองได้ น้องสาวก็เดินไปส่งท่านที่รถซึ่งคนขับนั่งรออยู่ เขาก็ยื่นซองที่มีเงินสองหมื่นให้คนขับรถ ดิฉันเห็นแล้วนึกสมเพชมาก ๆ เลยค่ะ เป็นปลัดกระทรวงนะคะ ก็เลยคิดว่าจะจำคนชื่อนี้ นามสกุลนี้เอาไว้ จะบอกลูกบอกหลานด้วยว่าคนตระกูลนี้คอรัปชั่น”

          “ก็คุณหมอบอกว่าน้องสาวทำถูกต้อง แล้วทำไมต้องจ่ายเขาด้วยล่ะ” ท่านถามอย่างไม่ค่อยเข้าใจนัก

          “เขาไม่เซ็นอนุมัติค่ะ” พอดีเป็นธุรกิจระดับร้อยล้าน ต้องอาศัยความรวดเร็ว เห็นเขาโยกไปโย้มาก็เลยต้องจ่าย ที่เขาแกล้งโยกโย้ก็เพื่อจะเอาเงินนั่นแหละค่ะหลวงพ่อ”

          “แย่นะ คนสมัยนี้ไม่ยักกลัวบาปกลัวกรรม” ท่านพระครูพูดขึ้นเมื่อแพทย์หญิงนลินเล่าจบ เงียบกันไปครู่หนึ่ง นายนิยมก็พูดขึ้นว่า

          “พูดเรื่องนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงเพื่อนอีกคนหนึ่ง เขาเป็นตำรวจภูธรยศพันตำรวจโท วันหนึ่งเขาจับรถบรรทุกคันหนึ่งเป็นรถขนฝิ่น คนขับก็อ้างขื่อนายพลเอกคนหนึ่งแล้วขู่ให้ปล่อย เขาไม่ยอมปล่อยก็เลยถูกไล่ออก เขาแค้นมากครับ บอกว่าเขาทำงานอย่างสุจริต แต่ผลตอบแทนคือการถูกไล่ออก ส่วนเพื่อน ๆ ที่ทุจริตกลับได้ขึ้นขั้นขึ้นเงินเดือนกันเป็นแถว ๆ แบบนี้เมืองไทยจะไปรอดหรือครับหลวงพ่อ”

          “ก็ต้องคอยดูกันไปนั่นแหละ ถ้าไม่ตายเสียก่อนก็จะรู้ ข้อสำคัญก็คือ เราอย่าไปเอาเยี่ยงอย่างเขาก็แล้วกัน เราต้องรักษาความดีของเราเอาไว้” ท่านพูดเชิงตักเตือน

          “ผมไม่ทำอย่างนั้นแน่ครับ นี่ผมก็อึดอัดใจมาก อยากจะมาเรียนปรึกษาหลวงพ่อ ว่าจะลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวจะดีหรือไม่ ผมเบื่อระบบราชการเต็มทีแล้ว คนอื่นเขากินกัน พอเราไม่กินเขาก็เขม่น เจ้านายก็ไม่ชอบหน้าผมสักเท่าไหร่”

            “ไม่ต้องออกโยม ไม่ต้อง อยู่เป็นก้างขวางคอเขานั่นแหละดีแล้ว อย่างน้อยประเทศชาติก็ยังมีคนดีคอยถ่วงไว้บ้าง ถ้าโยมออกเขาก็ปราศจากเสี้ยนหนาม เลยพากันโกงกันกินสบายไป ประเทศชาติก็จะล่มจมเร็วขึ้น” ฟังท่านพูดแล้วนายนิยมก็มีกำลังใจ

          “ถ้าอย่างนั้นผมเห็นจะต้องกลับละครับ จะมาเรียนถามหลวงพ่อเท่านี้แหละ ถือโอกาสมากราบอำนวยพรปีใหม่ด้วย” เขาหันมาหาลูก ๆ แต่ไม่พบ “ไม่รู้พวกเด็ก ๆ หายไปไหน”

           “โน่นแหละ เล่นน้ำอยู่หลังวัดโน่น เมื่อกี้วิ่งเล่นที่ลานวัดแล้วเกิดร้อนก็เลยพาไปเล่นน้ำ” ท่านพูดราวกับตาเห็น สองสามีภรรยาจึงเดินไปที่ท่าน้ำ ก็พบลูก ๆ กำลังเปลือยกายล่อนจ้อนเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานทั้งที่อากาศหนาว

          “ก้อง เก่ง กล้า ขึ้นได้แล้ว พ่อกับแม่จะกลับแล้ว” แพทย์หญิงนลินตะโกนเรียกลูก เด็กชายก้องจึงชวนน้อง ๆ วิ่งขึ้นจากน้ำมาสวมเสื้อผ้าซึ่งถอดกองไว้บนกอหญ้าริมตลิ่ง..

 
มีต่อ........๓๓
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #35 เมื่อ: เมษายน 20, 2007, 08:49:12 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00033
๓๓...

          วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๑๗ เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ ผู้คนพากันมาวัดป่ามะม่วงแต่เช้ามืด แม้วันคืนจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป ปีใหม่มาปีเก่าลาลับ แต่หน้าที่และภารกิจของท่านพระครูดูเหมือนจะยิ่งหนักกว่าเดิม เพราะผู้คนนับวันก็ประสบปัญหาชีวิต ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนกันมากขึ้น ปัญหาชีวิตอันเป็นผลพวงของความเจริญด้านวัตถุ

          เสร็จจากสังฆกรรมในพระอุโบสถแล้ว เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็เดินมายังกุฏิที่ผู้คนมากหน้ากำลังรออยู่ จากนั้น ท่านก็จะเริ่มวินิจฉัยไขปัญหาให้พวกเขาตั้งแต่เวลาหกนาฬิกาถึงเจ็ดนาฬิกาสามสิบนาที จึงขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์ และฉันภัตตาหารเช้าร่วมกับภิกษุอื่น ๆ บนศาลา พวกชาวบ้านผู้มีศรัทธาจะนำอาหารคาวหวานมาทำบุญที่วัดป่ามะม่วงทุกวันพระ

          ผู้ทุกข์ร้อนรายแรกเป็นนักธุรกิจมาจากกรุงเทพฯ หน้าตาของเขาเศร้าหมอง เพราะการค้าขาดทุนร่วมสิบล้าน เขาได้รับคำแนะนำจากญาติว่า เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงท่านแก้ปัญหาเก่ง จึงสู้ดั้นด้นมาหาและนั่งตากยุงรอตั้งแต่ตีสี่

          “โยมมีอะไรจะให้อาตมาช่วยก็ว่าไปเลย” ท่านเป็นฝ่ายพูดขึ้นก่อน เป็นการพูดที่ตรงไปตรงมา

          “ผมแย่แล้วครับหลวงพ่อ ธุรกิจของผมขาดทุนไปเกือบสิบล้าน ถ้าหลวงพ่อไม่ช่วย ผมคงต้องล้มละลายแน่” เขาบอกด้วยน้ำเสียงอ้อนวอน

          “โยมทำธุรกิจอะไรล่ะ”

          “ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งนอกครับ ผมทำมาสามปีเข้านี่แล้ว สองปีแรกกำไรดีมากครับ พอมาปีหนึ่งหกก็เริ่มขาดทุน แล้วกิจการก็แย่ลงเรื่อย ๆ จนเกือบจะล้มแล้วครับ หลวงพ่อโปรดช่วยผมด้วย”

          “แหม อาตมาก็ไม่สันทัดเรื่องธุรกิจเสียด้วยซี ไหนโยมช่วยอธิบายกระบวนการของมันให้อาตมาฟังหน่อยซิ แล้วอาตมาจะช่วยตรวจสอบให้ว่าทำไมมันถึงได้ขาดทุน” นักธุรกิจผู้นั้นจึงอธิบายว่า

          “ผมมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีทั้งเสื้อผ้าผู้ใหญ่และเด็ก สำหรับผู้ชายและผู้หญิง ผมจะส่งตัวอย่างไปให้ตลาดดู ตลาดที่ว่าก็มีทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศยุโรป และประเทศญี่ปุ่น เขาก็จะสั่งมาทีละมาก ๆ จนผลิตแทบไม่ทัน ก็รุ่งเรืองอยู่แค่สองปี มาปีที่แล้วก็เริ่มทรุด ทำให้ขาดทุนย่อยยับ ผมไม่ทราบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”

          ท่านพระครูจำเป็นต้องรบกวน “เห็นหนอ” ให้ช่วยตรวจสอบให้ ชั่วอึดใจเดียวท่านก็พูดขึ้นว่า “โยมทราบดีเชียวละ จะให้อาตมาพูดตรง ๆ ไหมล่ะ”

          นักธุรกิจวัยห้าสิบเศษอ้ำอึ้งอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วจึงพูดเสียงอ่อย ๆ ว่า “ครับ หลวงพ่อพูดตรง ๆ ได้เลยครับ”

          ท่านเจ้าของกุฏิจึงพูดขึ้นว่า “ก็โยมเล่นไม่ซื่อกับลูกค้านี่นา เวลาส่งตัวอย่างไปให้เขาดู โดยก็ใช้ผ้าชนิดดีราคาแพง แต่พอเขาสั่งมาจำนวนมาก ๆ โยมก็ใช้ผ้าอีกชนิดหนึ่งที่ดูคล้าย ๆ กัน แต่คุณภาพด้อยกว่า ราคาถูกกว่า โยมทำอย่างนี้เพราะความโลภ อยากได้กำไรมาก ๆ เขารู้ทันเขาก็เลยเลิกสั่ง อันนี้โยมจะไปโทษลูกค้าเขาก็ไม่ได้ จริงไหม” ท่านพูดด้วยเสียงที่ตั้งใจจะให้ทุกคน ณ ที่นั้นได้ยินเพื่อจะได้ “สอน” คนอื่นไปในตัว

          “คนอื่น ๆ เขาก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละครับหลวงพ่อ” บุรุษวัยเกินห้าสิบแอบอ้างผู้อื่นเป็นตัวอย่าง ทำให้คนฟังที่ไม่รู้เท่าทัน คิดว่าเขาไม่ผิด เพราะใคร ๆ ก็ทำอย่างที่เขาทำ

          “อ้อ หมายความว่าอะไรก็ตามที่คนส่วนใหญ่ทำ ย่อมหมายความว่า สิ่งนั้นถูกต้องดีงาม อย่างนั้นใช่ไหม”

          “คงไม่ใช่กระมังครับ” คนตอบชักไม่แน่ใจ

          “ถ้าอย่างนั้นโยมบอกอาตมามาตรง ๆ เลยดีกว่า ว่าสิ่งที่โยมทำไปนั้นมันถูกหรือผิด บอกมาเลย อาตมาไม่ชอบพูดอ้อมค้อม”

          “ผิดครับ แต่มันก็ทำให้รวยเร็วนะครับหลวงพ่อ คนอื่น ๆ ที่เขาทำก็รวย ๆ กันทั้งนั้น” นักธุรกิจยังคงมีทิฐิ

          “ไม่จริงละมั้ง ถ้าจริงโยมก็คงไม่มาให้อาตมาช่วย หรือโยมจะเถียง”

          “ไม่เถียงแล้วครับ หลวงพ่อกรุณาแนะนำผมด้วยเถิดครับว่าทำอย่างไรธุรกิจของผมจึงจะคืนสู่สภาพเดิม”

          “มันก็ไม่ยากหรอกโยม แต่มันก็ไม่ง่ายถ้าโยมไม่สามารถปฏิบัติตามที่อาตมาแนะนำ”

          “ผมจะปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำทุกอย่างครับ” นักธุรกิจพูดอย่างมีความหวังขึ้นมาบ้าง

          “ดีแล้ว ญาติโยมทั้งหลายจำไว้เป็นตัวอย่างเชียวนะ” ท่านพูดกับทุกคนในที่นั้น บรรดาผู้ที่นั่งอยู่ในกุฏิขณะนี้ ผู้ที่จะมาถามปัญหาแบบเดียวกันมีอีกสองราย ท่านจะได้ถือโอกาสตอบเสียในคราวเดียวกัน เป็นการ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัว” เมื่อจะพูดต่อ ท่านทำความตกลงกับเจ้าของเรื่องว่า

          “โยมอย่าหาว่าอาตมาเอาโยมมาประจานนะ ก็เมื่อกี้โยมว่าใคร ๆ เขาก็ทำกัน แปลว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าอับอายใช่ไหม”

          “ครับ ผมไม่คิดว่าหลวงพ่อประจาน ถ้าหลวงพ่อทำให้ผมขายดีเหมือนเก่าได้” นักธุรกิจยอมรับหากก็มีเงื่อนไข

          “ถ้าอย่างนั้นก็ฟังให้ดี การกระทำของโยมถือว่าเป็นการทุจริต หลอกลวงลูกค้า การหากินในทางทุจริตนั้นมันทำให้รวยก็จริง แต่รวยได้ไม่นานก็ต้องเจ๊ง” คำสุดท้ายท่านใช้ศัพท์ภาษาจีน เพื่อความทันสมัย

          “แล้วผมจะแก้ไขอย่างไรครับ”

          “ประการแรก โยมก็ต้องเลิกหลอกลวงเขาด้วยการ “ยัดไส้สินค้า” ใช่ไหม ที่โยมทำอยู่ เขาเรียกว่ายัดไส้สินค้าใช่ไหม อันนี้อาตมาเคยได้ยินแต่เขาพูด”

          “ถูกแล้วครับหลวงพ่อ สมัยนี้ใคร ๆ เขาก็ใช้วิธีนี้กันทั้งนั้น ไม่งั้นมันก็ไม่รวยครับ” นักธุรกจิสนอง

          “นั่นไง เอาอีกแล้วไง อาตมาสอนอยู่แหม็บ ๆ โยมก็มาเป็นแบบเดิมอีกแล้ว “ท่านว่าตรง ๆ

          “ก็มันเรื่องจริงนี่ครับหลวงพ่อ ผมเพียงแต่หยิบยกเอาเรื่องจริงขึ้นมาพูดเท่านั้นเอง” ชายวัยเกินห้าสิบเถียงอย่างดื้อรั้น

          “โยมนี่ดื้อเสียยิ่งกว่าแมวอีก อาตมาว่าแมวมันดื้อแล้วนะ”

          “ครับ ผมไม่ดื้อแล้วครับ ตกลงผมยอมหลวงพ่อ จะไม่ทำอย่างที่ทำอีก ตัวอย่างสินค้าเป็นยังไง ผมก็จะส่งให้เขาตามนั้นทุกประการ”

          “แล้วฝีมือด้วยนะ ไม่ใช่ตัวอย่างตัดเย็บด้วยฝีมือประณีต แต่พอส่งไปให้เขาเป็นฝีมืออีกระดับหนึ่ง” ท่านพูดดักคอ

          “แหม หลวงพ่อนี่ละเอียดจริง ๆ ผมศรัทธาเต็มที่เลยนะครับนี่” เขาชมเป็นครั้งแรกและด้วยความจริงใจ หากท่านไม่พูดเช่นนี้ออกมาเสียก่อน เขาก็คิดอยู่แล้ว ว่าจะหลอกลวงโดยวิธีนี้ คือใช้วัสดุคุณภาพและราคาแบบเดียวกับตัวอย่าง แต่จะลดความประณีตลง เป็นการประหยัดต้นทุนด้านค่าแรง เมื่อท่านพระครูเตือนล่วงหน้าไว้เช่นนี้ เขาก็จำเป็นต้องเชื่อท่าน

          “ตกลงผมจะทำตามที่หลวงพ่อแนะนำครับ แล้วนานเท่าไหร่ผมถึงจะฟื้นตัวครับ”

          ยัง ยังไม่หมดแค่นี้ ที่พูดมาเพิ่งได้ประการเดียว ยังมีประการอื่น ๆ อีก นั่นก็คือโยมจะต้องสวดมนต์ทุกวัน สวดเป็นไหม”

          “ไม่เป็นเลยครับ”

          “เอาละไม่เป็นไร เดี๋ยวอาตมาจะแจกบทสวดมนต์ มีคนเขาพิมพ์มาถวายไว้สำหรับแจก” ท่านหยิบแผ่นปลิวขนาด ๑’ x ๑.๒๕’ ขึ้นมาแจก ในนั้นมีบทสวดมนต์พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่เพื่อความสะดวกในการอ่าน ท่านส่งให้นักธุรกิจ แต่ปรากฏว่ามีบุรุษอีกสองคนที่นั่ง ณ ที่นั้นขออีกคนละแผ่น คนหนึ่งมีธุรกิจทำกระเป๋าถือส่งต่างประเทศ อีกคนทำรองเท้าหนัง และคนทั้งสองใช้วิธีเดียวกับคนแรกในการหลอกลวงลูกค้า คือใช้วิธี “ยัดไส้สินค้า” คนทั้งสามรับแผ่นปลิวมาอ่านแล้วพูดขึ้นเกือบจะพร้อมกันว่า “อ่านยากจังครับ”

          “ยากที่ไหนกัน เขาอุตส่าห์พิมพ์ตัวโต ๆ ให้ยังจะว่าอ่านยากอีก”

          “ผมหมายถึงข้อความน่ะครับ” เจ้าของธุรกิจกระเป๋าถือว่า อีกสองคนก็คิดอย่างเดียวกัน

          “นั่นเพราะโยมไม่เคยสวดมนต์น่ะซี นี่อาตมาอุตส่าห์เขียนคำอ่านเป็นภาษาไทยนะ ถ้าเขียนแบบภาษาบาลี โยมจะยิ่งแย่กว่านี้ แต่เอาเถอะค่อย ๆ อ่านไปก่อนแล้วจะจำได้ เมื่อจำได้ก็จะสวดมนต์เป็น ถ้าไม่อยากล้มละลายก็ทำตามนี้ เข้าใจไหม”

          “อ่านหมดนี่เลยหรือครับ”

          “ถูกแล้ว อ่านหมดนี่หนึ่งเที่ยว แล้วอ่านเฉพาะบทพุทธคุณเท่าจำนวนอายุบวกหนึ่ง”

          “ตรงไหนครับที่เรียกว่าบทพุทธคุณ”

          “แหม โยมนี่ไม่เอาไหนเลยจริง ๆ นะ” ท่านว่าคนเดียว แต่มีคนร้อนตัวถึงสามคน

            “บทพุทธคุณ ก็ตั้งแต่ อิติปิโส ไปจนถึง ภะคะวาติ นั่นแหละ โยมอายุเท่าไหร่ล่ะ”

            “สี่สิบแปดครับ” เจ้าของธุรกิจกระเป๋าถือตอบ

          “สี่สิบแปดก็สวดสี่สิบเก้าจบ”

          “แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้หลงครับ ผมกลัวจำไม่ได้ว่าสวดกี่จบแล้ว”

          “อันนี้โยมมาวิธีเอาเอง อาตมาเชื่อว่าคนเป็นนักธุรกิจย่อมหาวิธีจนได้นั่นแหละ”

          “ใช้วิธีนับก้านไม้ขีดซี” เจ้าของธุรกิจรองเท้าแนะนำ

          “งั้นผมอายุห้าสิบหกก็ต้องสวดห้าสิบเจ็ดจบใช่ไหมครับหลวงพ่อ” นักธุรกิจคนแรกถามอย่างรู้สึกท้อแท้

          “ก็ต้องอย่างนั้น” ท่านเจ้าของกุฎิตอบ

          “แล้วผมจะมีเวลาหรือครับ วัน ๆ ผมไม่ค่อยว่างเลย” ท่านพระครูรู้สึกอ่อนใจ จึงบอกเขาว่า

          “เลือกเอาก็แล้วกัน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่สำเร็จ แต่ถ้าทำได้ก็จะเห็นผลภายในสามเดือนเป็นอย่างช้า”

          “ให้ภรรยาสวดด้วยได้ไหมครับ”

          “ได้ ยิ่งช่วยกันสวดยิ่งเห็นผลเร็ว”

          “ถ้าให้สวดแทนผมล่ะครับ” เขาต่อรอง

          “สวดแทนไม่ได้ซี ช่วยกันสวดนี่ อาตมาหมายความว่า ต่างคนต่างสวดเท่าอายุของตัวเองบวกหนึ่ง ภรรยาโยมอายุเท่าไหร่ล่ะ”

          “สี่สิบหกครับ”

          “ก็ให้เขาสวดสี่สิบเจ็ดจบ” เข้าใจไหมล่ะ

          “เข้าใจครับ ขอบพระคุณหลวงพ่อมากครับ” รู้วิธีแก้ปัญหาแล้ว นักธุรกิจผู้นั้นจึงกราบลา ปรากฏว่ามีผู้ตามเขาออกมาอีกสองคน ท่านพระครูประสบความสำเร็จในการ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัว”

            “หลวงพ่อคะ ฉันกับสามีทำโรงงานผลิตเครื่องตกแต่งบ้าน ไม่เคยยัดไส้สินค้า ไม่เคยโกงลูกค้า แต่ทำไมทำมาหากินไม่ขึ้นล่ะคะ” ผู้ทุกข์ร้อนรายที่สองเป็นสตรีวัยสามสิบเศษ หล่อนมากับสามีวัยเดียวกันที่นั่งก้มหน้าคอตกอยู่ ข้าง ๆ ท่านพระครูตอบไปตามที่ “เห็นหนอ” รายงานว่า

          “โยมไม่ปฏิบัติพระในบ้านน่ะซี”

            “ในบ้านผมไม่มีพระครับหลวงพ่อ” สามีเงยหน้าขึ้นตอบ “ถ้าจะมีก็คงเป็นพระพุทธรูปใช่ไหมคะ”

          “ไม่ใช่หรอกโยม อาตมาหมายถึง คุณพ่อคุณแม่ของโยมน่ะ เพราะโยมไม่ปฏิบัติท่าน โยมถึงได้ทำมาหากินไม่ขึ้น”

          “ฉันก็เลี้ยงดูแกนี่คะ เพื่อนบ้านฉันเสียอีกที่เอาพ่อแม่ไปไว้บ้านบางแค”

          “เอาอีกแล้ว อ้างผู้อื่นเป็นอย่างอีกแล้ว อาตมาเพิ่งว่าโยมผู้ชายคนนั้นไปหยก ๆ” ท่านหมายถึงนักธุรกิจที่เพิ่งลากลับไป

          “ขอทีเถอะนะโยมนะ อย่ามองออกนอกตัวเลย ให้มองเข้ามาที่ตัวเรานี่แหละ มันมีข้อบกพร่องตรงไหนก็ค่อย ๆ แก้ไขไปโดยไม่ต้องไปเพ่งโทษผู้อื่น เข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจค่ะ หลวงพ่อกรุณบอกวิธีแก้ไขด้วยเถิดค่ะ”

          “ก่อนที่จะแก้ไข โยมก็ต้องรู้ข้อบกพร่องของตัวเองก่อน โยมบกพร่องตรงไหนรู้ไหม”

          “ไม่ทราบค่ะ”

          “นั่นไงเห็นไหม ตัวของตัวยังไม่รู้เลย แล้วยังเที่ยวไปรู้ตัวของคนอื่น เอาละ ถึงยังไงมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับอาตมา เพราะคนอื่น ๆ เขาก็เป็นแบบโยมนี่แหละ” สตรีวัยกว่าสามสิบมีสีหน้าดีขึ้น เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ได้บกพร่องแต่เพียงผู้เดียว อย่างน้อย ๆ ก็ยัง “มีเพื่อน”

          “หลวงพ่อช่วยชี้ข้อบกพร่องของฉันด้วยเถอะค่ะ แล้วฉันจะได้หาทางแก้ไข”

          “เอาละ ถ้าอย่างนั้นก็ฟังให้ดี โยมไม่ปฏิบัติพ่อแม่ หมายความว่า โยมให้ท่านไปอยู่ที่โรงงาน อยู่ห้องอับ ๆ    มืด ๆ ให้กินข้าวรวมกับพวกคนงาน ในขณะที่โยมอยู่บ้านหลังใหญ่กับสามีและลูก ๆ มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ที่อาตมาพูดมานี่จริงหรือเปล่า”

          “จริงค่ะ” หล่อนพูดเสียงเครือและมองเห็นข้อบกพร่องของตัวเองอย่างชัดแจ้ง

          “ดีแล้วที่โยมยอมรับผิด ทีนี้อาตมาก็จะบอกวิธีแก้ไข โยมต้องรับท่านเข้ามาอยู่บ้านเดียวกับโยม กลับไปนี่ไปจัดการเสีย โยมกินดีอยู่ดีอย่างไร ก็ต้องให้พ่อแม่กินดีอยู่ดีอย่างนั้นด้วย เอาละโยมกลับไปก็หาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบขอขมาท่าน เอาน้ำล้างเท้าให้ท่าน และให้ท่านอโหสิกรรมให้ แล้วกิจการค้าของโยมก็จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ทำได้ไหมเล่า”

          “ได้ค่ะ ถ้าอย่างนั้นหนูกับสามีขอกราบลา”

          “เจ้าทุกข์” รายที่สามกำลังจะเอื้อนเอ่ย “ธุระ” นายสมชายก็คลานเข้ามาขัดจังหวะว่า “หลวงพ่อครับ นิมนต์ขึ้นศาลาครับ เลยเวลามาหลายนาทีแล้ว”

          “อ้าวได้เวลาแล้วหรือ”

          “ได้มาหลายนาทีแล้วครับ” นายสมชายย้ำ ท่านจึงพูดกับผู้คนที่นั่ง ณ ที่นั้นว่า

          “ประเดี๋ยวนะ ขอเวลานอกก่อน ญาติโยมก็ไปทานอาหารกันได้แล้ว ที่โรงครัวเขาคงเตรียมเสร็จแล้ว เชิญทุกคนเลยนะ ใครมาวัดป่ามะม่วงแล้วไม่ได้ทานอาหารถือว่าไม่ได้มา” พูดแล้วท่านจึงลุกจากอาสนะเพื่อจะเดินไปยังศาลา “สาวรุ่น ๆ คนหนึ่งวิ่งกระหืดกระหอบเข้ามาหา หล่อนคุกเข่าลงต่อหน้าท่าน ประนมมือพร้อมกับพูดว่า

          “หลวงพ่อคะ ขอเวลาหนูหนึ่งนาทีค่ะ หนูมีธุระด่วนมาก” หล่อนพูดอย่างรีบร้อน และไม่อาจ “รอคิว” ได้

          “พูดไปเลยหนู” ท่านอนุญาต

          “พี่สาวหนูถูกรถชนอาการสาหัสค่ะ ตอนนี้อยู่ห้อง ไอ.ซี.ยู. หนูมาขอบารมีหลวงพ่อให้เขารอดชีวิตด้วย” ท่านพระครูรู้ว่าบรรดาคนที่มาในวันนี้ ยังมีอีกสามรายที่มีจุดประสงค์เดียวกับเด็กสาว จึงบอกพวกเขาว่า

          “เอาละ คนที่มาธุระเรื่องเป็นเรื่องตายให้จดชื่อและนามสกุลใส่พานวางไว้ที่อาสนะของอาตมา ไม่ใช่ชื่อของคนที่มาหา” ท่านจำเป็นต้องบอกให้แจ่มแจ้ง เพราะคนแต่ละคนระดับสติปัญญาไม่เท่ากัน และความผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็เคยปรากฏมาแล้วบ่อยครั้ง พูดจบท่านก็เดินไปยังศาลา บรรดาคนเจ้าทุกข์ทั้งหลายก็พากันเดินไปยังโรงครัวเพื่อรับประทานอาหาร

          หนึ่งชั่วโมงผ่านไป เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงก็เดินกลับมายังกุฏิ ท่านขอตัวเข้าไปล้างมือและบ้วนปากในห้องน้ำใต้บันได แล้วจึงออกมานั่งที่อาสนะ ในพานมีกระดาษสี่แผ่นวางอยู่ ท่านหยิบมาอ่านทุกแผ่น แล้วพูดขึ้นว่า

          “ดูเอาเถอะ ใครจะเป็นจะตายก็ต้องมาให้อาตมาช่วย ยังกะอาตมาเป็นผู้วิเศษแน่ะ นะโยมนะ” ท่านพยักเพยิดกับ เจ้าทุกข์ ที่นั่งอยู่แถวหลังสุด

          “หลวงพ่อครับ ผมสงสัยจังครับ คนที่กำลังจะตาย เราช่วยไม่ให้เขาตายได้จริง ๆ หรือครับ” คนถามเป็นบุรุษวัยห้าสิบ เขาเลี่ยงมาใช้คำว่า “เรา” แทน “หลวงพ่อ”

          “มันก็ขึ้นอยู่กับกรรมนั่นแหละโยม ถ้าเขาต้องตายจริง ๆ อาตมาก็ช่วยไม่ได้ อย่าว่าแต่อาตมาเลย ต่อให้ผู้วิเศษที่ไหนก็มายับยั้งความตายไม่ได้ ที่ว่าขึ้นอยู่กับกรรมก็หมายความว่า ถ้าเขายังมีกรรมดีอยู่บ้าง อาตมาก็ช่วยเพิ่มให้ได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเขาไม่มีกรรมดีอยู่เลย ก็ช่วยไม่ได้ เปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ ก็คือ มันเหมือนกับแบตเตอรี่ ถ้าอาตมาชาร์จไฟมาให้ แต่แบตเตอรี่หม้อนั้นเก็บไฟไม่อยู่ มันก็จะรั่วออกหมด เรื่องอย่างนี้มันซับซ้อน ที่อาตมาพูดมาก็ใช่ว่าจะถูกทั้งหมด เพราะมันมีปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบอีก ถ้าจะอธิบายโดยละเอียดวันนี้ทั้งวันก็ไม่จบ เอาเรื่องเฉพาะหน้าดีกว่า” เมื่อท่านพูดดังนี้ ผู้มีทุกข์รายที่สามจึงเอ่ยธุระของตน

          “หลวงพ่อครับ ผมมีปัญหาเรื่องลูก ลูกชายลูกสาวผมเอาดีไม่ได้สักคน ทั้งที่ผมกับภรรยาเลี้ยงดูเขาอย่างดี ผมเป็นวิศวกร ภรรยาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ลูกไม่เอาถ่าน ไม่เจริญรอยตามพ่อแม่เลยสักคน” วิศวกรวัยห้าสิบระบายความอึดอัดขัดข้องใจออกมา

          “โยมมีลูกกี่คน”

          “สี่คนครับ ผู้หญิงสอง ผู้ชายสอง”

          “แล้วเขามีครอบครัวกันหรือยัง”

          “คงยังมั้งครับ ตอนนี้ไม่มีใครอยู่กับพ่อแม่เลย พากันหนีออกจากบ้านหมด เห็นว่าลูกชายไปเป็นอันธพาล ลูกสาวไปเป็นนักร้องตามคลับตามบาร์” เขาพูดอย่างขัดเคือง “เห็นหนอ” ทำหน้าที่อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องให้บอก ท่านรู้ความเป็นไปของครอบครัวนี้เป็นอย่างดี จึงพูดขึ้นว่า

          “โยมไม่น่าทำรุนแรงกับลูกนี่นา ด่าว่าเขาแล้วยังไม่พอ ยังไปเตะไปต่อยเขาอีก ลูกเขาเป็นหนุ่มเป็นสาว โยมไปเตะเขา เขาก็หนีนะซี แล้วภรรยาโยมก็ด่าลูกแทบทุกวัน ใครเขาจะอยากอยู่ด้วยล่ะ” วิศวกรผู้นั้นนั่งก้มหน้า นึกถึงความผิดพลาดที่ทำไว้กับลูก

          “แล้วผมจะทำอย่างไรครับหลวงพ่อ ผมอยากให้ลูก ๆ กลับมาครับ”

          “โยมต้องสวดมนต์ ทำอย่างที่อาตมาแนะนำนักธุรกิจไปเมื่อสักครู่นี้ ทำได้ไหม” ท่านพูดพร้อมกับส่งบทสวดมนต์ให้แผ่นหนึ่ง

          “ช่วยกันสวดนะ ทั้งโยมและภรรยาโยมนั่นแหละ สวดเสร็จก็แผ่เมตตาไปให้ลูก ๆ ขอให้เขามีความสุขความเจริญ ไม่ช้าเขาก็จะพากันกลับมา แล้วอย่าไปดุไปว่าเขาอีกนะ ให้พูดกับเขาดี ๆ ทำได้ไหม”

          “ได้ครับ” บุรุษวัยห้าสิบรับคำหนักแน่น แล้วจึงถือโอกาสกราบลา

          ท่านพระครูช่วยแก้ปัญหาให้เจ้าทุกข์อีกหลายราย กระทั่งถึงเวลาสิบเอ็ดนาฬิกาจึงบอกให้พวกเขาไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงครัว ส่วนท่านถือใบรายชื่อคนที่กำลังจะตายสี่รายขึ้นไปข้างบนเพื่อจัดการ “ส่งพลัง” ไปช่วยเหลือ ยังมีเวลาอีกหนึ่งชั่วโมงกว่าพวกเขาจะรับประทานอาหารเสร็จ และหนึ่งชั่วโมงนี้เป็นของคนสี่คนที่ญาติระบุว่ากำลังจะตาย ชั่วโมงต่อ ๆ ไปก็เป็นของ “เจ้าทุกข์” รายอื่น ๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปเสร็จสิ้นตอนกี่ทุ่มกี่ยาม เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง ท่านมีชีวิตอยู่เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยแท้...

       
มีต่อ........๓๔
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #36 เมื่อ: เมษายน 21, 2007, 08:04:10 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00034
๓๔...

            พระบัวเฮียวแอบตั้งข้อสังเกตว่า บรรดาศิษยานุศิษย์ที่มาปรึกษาปัญหาธรรมะกับท่านพระครูนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นคนจีน ข้างฝ่ายคนไทยกลับมีน้อย คนที่จะสนใจธรรมะและเมื่อมาวัดก็จะแบกปัญหาหนักอกมาให้ท่านพระครูช่วยแก้ หลังจากนั้นก็จะหายหน้าหายตาไป ต่อเมื่อต้องการให้ท่านช่วยอีกจึงจะมาให้เห็น ผิดกับคนจีนซึ่งจะมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังสนใจธรรมะและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จนสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ท่านพระครูจึงชื่นชมคนจีนในแง่นี้ด้วย ในแง่อื่น ๆ ด้วย

          เช้านี้อากาศปลอดโปร่งกว่าทุกวัน ทั้งยังปลอดคนอีกด้วย เพราะตาม “รายการ” ท่านพระครูต้องไปบรรยายธรรมที่กรุงเทพฯ แต่ทางผู้จัดเขาโทรเลขด่วนมาขอเลื่อน ท่านจึงไม่ต้องไปไหน

          ฉันเช้าแล้วพระบัวเฮียวจึงถือโอกาสมาเรียนปรึกษาปัญหาธรรมะกับผู้เป็นอาจารย์ จะให้ท่านสอบอารมณ์ให้ด้วย “หลวงพ่อครับ ผมถูกถีนมิทธนิวรณ์คุกคามอย่างหนักเลยครับ มันง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา เดินจงกรมก็ง่วง ปฏิบัติตามวิธีขจัดความง่วง อย่างที่หลวงพ่อเคยแนะนำก็ไม่หายง่วง ผมก็เลยต้องนอนเพราะคิดว่าคงจะหาย”

          “แล้วหายไหมล่ะ” พระอุปัชฌาย์ถาม

          “ไม่หายครับ แล้วก็นอนไม่หลับด้วย ง่วงเหมือนจะเป็นจะตาย แต่พอนอนกลับไม่หลับ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นครับ”

          “นั่นเป็นอาการของญาณนะบัวเฮียว ไม่ใช่ถีนมิทธนิวรณ์แต่ประการใด”

          “หมายความว่าอย่างไรครับ” ลูกศิษย์ไม่เข้าใจ

          “หมายความว่าอาการที่เธอเล่ามานั้นเป็นอาการของผู้ที่เข้าถึง “นิพพิทาญาณ” ซึ่งเป็นญาณที่ ๘

          “งั้นผมก็เดินมาได้ครึ่งทางแล้วซีครับ” พระบัวเฮียวพูดอย่างยินดี

          “ถูกแล้ว แต่อย่าเพิ่งดีใจ มีคนได้ญาณนี้ก่อนเธอมาหลายคนแล้ว ไม่ใช่เธอเป็นคนแรกที่ได้หรอกนะ คนที่ได้รายล่าสุด ก็คือลูกชายของคหบดี ดูเหมือนจะเป็นคนที่ชื่อนายต้อม”

          “งั้นก็แปลว่าผมไปช้ากว่าลูกศิษย์หรือครับ”

          “ก็คงยังงั้น แต่ช้าของเธอน่ะ ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า “สโลว์บัทชัวร์” เข้าใจหรือเปล่า”

            “ผมไม่เคยเรียนภาษาฝรั่งครับ หลวงพ่อได้โปรดอธิบายให้คนต่ำต้อย ด้อยปัญญาอย่างผมฟังหน่อยเถิดครับ”

          “ถ่อมตัวเหลือเกินนะ วันนี้วันอะไรหนอ พระบัวเฮียวถึงได้สงบเสงี่ยมเจียมตัวอย่างนี้” อาจารย์สัพยอกคนเป็นศิษย์

          “คงไม่ใช่วันพระแน่ครับ” คนเป็นศิษย์ตอบฉับพลัน

          “รู้แล้ว แต่ฉันอยากรู้ว่าทำไมเธอถึงได้ถ่อมตัวมากมายนัก วันอื่นไม่เห็นเป็นอย่างนี้เลยนี่นา”

          “ก็วันนี้ผมอยากได้วิชาน่ะครับ ส่วนวันอื่นไม่อยากได้” พระบัวเฮียวถือโอกาส “ยวน”

          “เธออยากได้วิชาอะไรล่ะ” พระอุปัชฌาย์ย้อนถาม

          “วิชาขจัดความง่วงที่เกิดจาก นิพพิทาญาณ น่ะครับ”

          “เอาเถอะ จะบอกให้เอาบุญ” แล้วท่านจึงบอกวิธีปฏิบัติตนเมื่อเข้าถึงนิพพิทาญาณแก่พระบัวเฮียว แบบเดียวกับที่เคยบอกนายต้อม พระหนุ่มกล่าวคำขอบคุณแล้วถามอีกว่า

          “แล้วที่หลวงพ่อพูดภาษาต่างประเทศเมื่อตะกี้เสียงโล ๆ ชัว ๆ น่ะครับ หมายความว่าอย่างไรครับ”

          “หมายความว่าเธอเข้าถึงญาณที่ ๘ ช้ากว่านายต้อมก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะบรรลุญาณ ๑๖ ทีหลังเขา ฉันมองหน้าเธอก็รู้ว่าหน้าอย่างเธอถึงจะไม่ฉลาดซักเท่าไหร่ แต่ก็แน่ใจได้ว่าเธอจะต้องบรรลุโสดาปัตติผลเป็นอย่างต่ำ นี่พูดถึงเฉพาะชาตินี้เท่านั้นนะ” ท่านอธิบาย

          “แล้วนายต้อมล่ะครับ ในเมื่อเขาได้ญาณ ๘ ก่อนผม เขาก็น่าจะได้ญาณ ๑๖ ก่อนผมด้วย ถูกไหมครับ”

          “มันไม่เสมอไปหรอกบัวเฮียว ฆราวาสที่เข้ามาปฏิบัติมีสิทธิ์ได้ถึง ญาณ ๘ ญาณ ๙ หรือบางคนก็อาจถึง ญาณ ๑๓ แต่พอเขากลับบ้านก็ถูกสิ่งแวดล้อมทางโลกดึงไป การปฏิบัติก็หยุดชะงักอยู่แค่นั้น อย่างกรณีของนายต้อม เขาอยากจะบวช แต่พ่อแม่ไม่ยอมให้บวช เมื่อกลับไปอยู่บ้านเขาก็ติดอยู่กับความสุขทางโลก จนลืมการปฏิบัติ เขาก็เลยติดอยู่แค่ญาณที่ ๘ นั่นแหละ”

          “แต่ถ้าเขาบวช เขาก็จะก้าวหน้าในการปฏิบัติใช่ไหมครับ” ถามออกไปแล้วจึงรู้ว่า “ถามโง่ ๆ” รู้ช้าอย่างนี้เสมอ

          “มันก็คงจะเป็นอย่างนั้น เพราะบรรยากาศในวัดมันเอื้อต่อการปฏิบัติมากกว่าที่บ้าน อีกประการหนึ่งการประพฤติพรหมจรรย์ก็ช่วยให้การปฏิบัติดำเนินไปอย่างคล่องตัว เพราะมีข้อวัตรปฏิบัติที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน พระจึงได้เปรียบฆราวาสในแง่นี้” ท่านพระครูอธิบายโดยไม่เกี่ยงงอนภูมิปัญญาของผู้ถาม

          ชายวัยสี่สิบเศษคลานเข้ามาหาท่านพระครู ตามด้วยเด็กหนุ่มอายุประมาณยี่สิบ คนทั้งสองกราบท่านพระครู แล้วคนอาวุโสกว่าก็พูดขึ้นว่า

          “ไม่ได้มาหาหลวงพี่เสียนาน หลวงพี่สบายดีหรือครับ”

          “ก็เอ็งเห็นข้าสบายหรือเปล่าล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิย้อนถาม ชายคนนี้เป็นลูกผู้น้องของท่าน เคยวิ่งเล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ส่วนเด็กหนุ่มที่มาด้วยก็มีศักดิ์เป็นหลานท่าน

          “แหม หลวงลุงก็ พ่อเขาถามดี ๆ หลวงลุงกับตอบเล่นลิ้น” หลานชายต่อว่าพลางค้อนประหลับประเหลือก

          “นี่เอ็งอย่างมาทำกิริยาอย่างนี้ใส่ข้านะเจ้าขุนทอง เอ็งไม่ใช่ผู้หญิงนะ” ท่านพระครูว่าเมื่อเห็นท่าทางกระตุ้งกระติ้งของอีกฝ่าย

          “หนูจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายมันก็ไม่เกี่ยวกะหลวงลุงหรอกน่า” เจ้าขุนทองพูดลอยหน้าลอยตา ทำท่าค้อนควัก ท่านพระครูนึกสงสัยจึงใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบ ก็ได้ทราบว่าหลานชายของท่านมีจิตใจเป็นผู้หญิงไปแล้ว ไม่น่าเลย ตอนเกิดท่านก็เห็นมันเป็นผู้ชายแท้ ๆ ไป ๆ มา ๆ ไหงเป็นผู้หญิงไปเสียได้ โธ่เอ๋ย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          พระบัวเฮียวกำลังคุยกับพระอุปัชฌาย์อยู่ดี ๆ เมื่อมีผู้อื่นมา “ขัดคอ” เช่นนี้ก็เกิด “ปฏิฆะ” อย่างอ่อน ๆ ขึ้น ครั้นฉุกคิดได้ว่า บุรุษทั้งสองคงจะเป็นญาติกับท่านพระครู จึงพยายามข่มความหงุดหงิดขัดเคืองนั้นไว้ พูดเอาบุญเอาคุณว่า

          “โยมโชคดีนะที่มาพบหลวงพ่อ ความจริงวันนี้ท่านต้องไปบรรยายธรรมที่กรุงเทพฯ”

          “หรือครับ แล้วทำไมไม่ไปล่ะครับ” นายขำถาม

          “ก็ทางโน้นเขาโทรเลขด่วนมาขอเลื่อน อาตมาก็เลยพลอยโชคดีไปด้วย เพราะหมู่นี้หาเวลาคุยกับท่านยาก ยิ่งวันพระด้วยแล้วหมดสิทธิ์เลย เพราะแขกเหรื่อมากันแน่นกุฏิ”

          “โอ้โฮ เดี๋ยวนี้หลวงพี่ขายดีถึงขนาดนี้เชียวหรือครับ” คนมีศักดิ์เป็นน้องชายว่า

          “เอ็งลองมาเป็นข้ามั่งซี แล้วจะรู้ ว่าแต่ว่าที่มานี่มีอะไรจะให้ข้าช่วยล่ะ” ท่านถาม เพราะหากไม่ต้องการความช่วยเหลือ คนเหล่านี้ก็จะไม่มาให้เห็นหน้า นายขุนทองจ้องหน้าท่านพระครูแล้วถามว่า “หลวงลุงใสแว่นตามาตั้งแต่เมื่อไหร่ฮะ” ไม่ถามเปล่าแต่ยังแถมด้วย “ฮะ” เป็นคำลงท้าย ตอนแรกก็พยายามจะปิดหลวงลุงเพราะกลัวจะถูกว่า เมื่อท่านไม่ว่าเขาก็จะพูดอย่างที่เคยพูด

          “สิบปีเข้านี่แล้ว เอ็งถามทำไม”

          “เปล่าหรอกฮะ ก็หลวงลุงดูแปลกไป คือใส่แว่นแล้วหล่อขึ้นน่ะฮะ หล่อกว่าไม่ได้ใส่ ว่าแต่สั้นหรือยาวฮะ” ถามแล้วก็หัวเราะคิก ๆ อยู่คนเดียว

          “อะไรของเอ็งล่ะ อะไรสั้น อะไรยาว พูดให้มันฟังง่าย ๆ หน่อยไม่ได้หรือ”

          “แหม หลวงลุงเนี่ย หนูหมายถึงสายตาน่ะฮ่ะสั้นหรือยาว ที่หลวงลุงต้องใส่แว่น เพราะสายตาสั้นหรือสายตายาวฮะ” คนพูดบิดตัวไปมาด้วยท่าทีเอียงอาย ท่านพระครูรู้สึกขัดลูกนัยน์ตากับท่าทางมีจริตจะก้านของหลานชาย หากก็รู้ว่าที่เขาต้องเป็นเช่นนั้นก็เพราะกฎแห่งกรรม จึงไม่ว่าให้เขาเสียน้ำใจ ถ้าว่าแล้วทำให้เขาดีขึ้นจึงค่อยว่า

          “หมอเขาว่าสายตายาว เอาละ มีธุระอะไรก็ว่ามาได้เลย” ท่านพูดกับบิดานายขุนทอง นายขำจึงตอบว่า “ผมน่ะไม่มีหรอกครับหลวงพี่ แต่ที่ต้องมาก็เพราะธุระของเจ้าขุนทองมันนั่นแหละ มันกำลังจะเกณฑ์ทหาร จะขอหลวงพี่ช่วยไม่ให้มันถูกทหาร สงสารมัน”

            “นี่เผลอเดี๋ยวเดียวเอ็งอายุยี่สิบเอ็ดแล้วหรือขุนทอง ข้ายังเห็นเอ็งวิ่งเล่นอยู่ไม่กี่วันนี้เอง จะเกณฑ์ทหารแล้วหรือนี่”

          ใช่ซีฮะ เดี๋ยวนี้หนูเป็นสาวแล้วนะหลวงลุง” นายขุนทองว่า

          “เป็นหนุ่มโว๊ยเจ้าทอง เอ็งเป็นผู้ชายนะ” คนเป็นพ่อรีบกล่าวแก้ กลุ้มใจอยู่เหมือนกันที่เลี้ยงลูกชายให้กลายเป็นลูกสาว

          “เออน่ะ มันอยากจะเป็นสาวก็ช่างหัวมัน” ท่านพระครูปรามนายขำ แล้วหันมาปรามนายขุนทองว่า

          “แต่เอ็งก็ให้มันน้อย ๆ หน่อยเจ้าขุนทอง อย่าให้มันมากเกินไป เอ้าก็ไหนเอ็งว่าเอ็งเป็นผู้หญิงแล้วทำไมถึงต้องถูกเกณฑ์ทหารล่ะ” นายขุนทองคิดหาคำตอบประเดี๋ยวหนึ่ง จึงพูดว่า

          “นั่นซีฮะ เขาว่าเขาเอาตามสำมะโนครัว หลวงลุงช่วยหนูด้วยนะฮะ ขืนหนูถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารคงถูกพวกมันลงแขกทั้งกองทัพ” หนุ่มน้อยปริวิตก

          “ฟังพูดเข้าแน่ะ ยังกะเอ็งสวยนักนี่” หลวงลุงค่อน

          “ก็สวยกว่าหลวงลุงแล้วกัน” นายขุนทองเถียง

          “เอาเถอะ ๆ ข้ายกให้” ท่านพระครูยอมแพ้ นายขำทำหน้าเหนื่อยหน่าย ปรับทุกข์กับท่านต่อหน้าลูกชายว่า

          “ไม่รู้เวรกรรมอะไรของผมนะหลวงพี่ มีลูกก็ไม่เหมือนคนอื่นเขา ผมทำกรรมอะไรไว้ครับหลวงพี่ ช่วยดูให้หน่อยเถอะ”

          “เอ็งจะเดือดร้อนไปทำไม่ล่ะขำเอ๊ย ก็ตัวเจ้าขุนทองเองมันยังไม่เดือดร้อนนี่นา ใช่ไหมขุนทอง” ท่านถามหลานชายที่กลายเป็นหลานสาว

          “นั่นซีฮะ จะกลุ้มใจไปใยล่ะคุ้ณผ่อ” นายขุนทองล้อเลียนบิดา แล้วก็เหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้จึงถามเจ้าของกุฏิว่า

          “หลวงลุงฮะ หนูทำกรรมอะไรไว้ฮะถึงได้เกิดเป็นกระเทย ใจจริงแล้วหนูอยากเกิดเป็นผู้หญิง ทำไมมันถึงไม่ได้อย่างที่อยากล่ะฮะ”

          “เอ็งอยากรู้จริง ๆ หรือ”

          “อยากฮะ อยากให้พ่อแกรู้ด้วย จะได้เลิกบ่นหนูเสียที”

          “เอาละ เมื่ออยากรู้ก็จะบอก บัวเฮียวเธอฟังด้วยนะ ฟังแล้วก็จำไว้ด้วย วันหน้าวันหลังหากมีใครเขาถามจะได้บอกเขาได้”

          “ครับหลวงพ่อ ผมกำลังตั้งใจฟังอยู่ครับ แม้วันหน้าวันหลังจะไม่มีใครมาถาม ผมก็จะฟังแล้วก็จะจำใส่สมองเอาไว้ นิมนต์หลวงพ่อพูดต่อเถิดครับ” พูดพร้อมกับประนมมือ “นิมนต์”

          “แหม หลวงพี่พูดถูกอกถูกใจขุนทองจริงจริ๊ง” นายขุนทองทำเสียงกรีดกราด รู้สึกถูกชะตากับหลวงพี่องค์นี้เสียเหลือเกิน ท่านพระครูมองหน้าลูกศิษย์ทีหนึ่ง มองหน้าหลานชายทีหนึ่ง แล้วจึงพูดขึ้นว่า

          “ที่เจ้าขุนทองต้องเป็นอย่างนี้เพราะกรรมเก่า เมื่อชาติที่แล้วเป็นคนเจ้าชู้ ผิดศีลข้อสามเป็นอาจิณ ผลของการประพฤติเช่นนี้ทำให้ต้องมาเป็นอย่างนี้ และถ้าไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปอีกหกชาติ”

          “ยังพอแก้ไขได้หรือครับหลวงพี่” นายขำถามขึ้น

          “ก็พอมีทางอยู่ แต่สงสัยเจ้าขุนทองคงทำไม่ได้”

            “หลวงลุงจะให้หนูทำอะไรล่ะฮะ” คนมีกรรมเก่าถาม

          “ให้เอ็งมาเข้ากรรมฐานน่ะซี” ได้ยินดังนั้นนายขุนทองก็ร้องเสียงหลง “ว้ายตาเถนหกคะเมนตีลังกา หลวงลุงจะให้อีขุนทองมีเข้ากรรมฐาน”

          “นั่นไง แค่นี้ก็โวยแล้ว ตามใจเอ็งก็แล้วกัน อยากจะเป็นยังงี้ต่อไปก็ตามใจเอ็ง” ท่านพระครูพูดอย่างปลงสังเวช

          “ถ้าอย่างนั้นหลวงพี่ช่วยมันแค่ไม่ให้ถูกทหารก็พอ มีคนเขาแนะนำมาเหมือนกัน แต่มันไม่เชื่อเขา คะยั้นคะยอให้ผมพามาหาหลวงพี่”

          “เขาแนะนำว่ายังไงล่ะ” นายขุนทองขยิบหูขยิบตาใส่บิดาเป็นเชิงไม่ให้บอก หากนายขำไม่ฟังเสียง บอกท่านไปว่า “เขาแนะนำให้เอามดตะนอยมาต่อยลูกอัณฑะครับหลวงพี่ พอมันบวมจะได้บอกเขาว่าเป็นไส้เลื่อน” ท่านพระครูกับพระบัวเฮียวรู้สึกขำ หากนายขุนทองทำท่ากระฟัดกระเฟียด นายขำพูดต่ออีกว่า

          “เจ้าขุนทองมันไม่ยอมทำตามก็เลยต้องมากวนหลวงพี่” คนเล่าเล่าจบ ท่านพระครูจึงตัดสินว่า

          “ดีแล้ว ไม่ทำตามน่ะดีแล้ว จะได้ไม่ต้องสร้างกรรมเพิ่มขึ้นอีก เรื่องอะไรไปหลอกลวงเขายังงั้น นี่มีตัวอย่างมาแล้ว คนหน้าวัดนี่เอง ทำแบบเดียวกับที่เอ็งว่ามานี่แหละ แต่ขอโทษเถอะ อยู่มาไม่นานเกิดเป็นไล้เลื่อนจริง ๆ เพราะกรรมที่ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น หลอกใครไม่หลอกไปหลอกหลวง ทีนี้กรรมเลยตามทัน หลอกหลวงนี่บาปหนักกว่าหลอกราษฎร์นะ”

          “แล้วเป็นยังไงครับหลวงพี่” นายขำถามอีก

          “จะยังไง ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัด ผ่าตัดแล้วก็ยังไม่หาย นอกจากไม่หายแล้วยังกลายเป็นมะเร็งเสียอีก”

          “เป็นตรงไหนฮะหลวงลุง เป็นตรงไหน” นายขุนทองถามอย่างสนใจ พร้อมกันนั้นก็ทำท่าเอียงอายไปด้วย

          “ก็ตรงนั้นแหละ อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ตาย เห็นเขาว่าเน่าเลย ไอ้ตรงที่เคยเอามดตะนอยต่อยนะเน่าเฟะเลย นี่ญาติของเขาเอามาเผาที่วัดนี้ ดีแล้วขุนทองที่เอ็งไม่ยอมทำตามอย่างเขา ไม่ยังงั้นก็อาจจะเน่าเหมือนกัน”

            “ว้าย หลวงลุงอย่าพูด เสียว เสียว” นายขุนทองส่งเสียงวี๊ดว้าย พลางยกมือทั้งสองขึ้นปิดหู

          “ตกลงหลวงพี่ช่วยมันด้วยนะครับ” นายขำสรุป

          “ก็ได้ แต่ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน”

          “ข้อแลกเปลี่ยนอะไรฮะหลวงลุง ไง ๆ ก็อย่าให้หนูมาเข้ากรรมฐานแล้วกัน ได้ไหมฮะ

          “เออ ได้ก็ได้ แต่เอ็งต้องมาอยู่กับข้าที่กุฏินี้ จะได้ช่วยรับแขก หาน้ำหาท่าให้เขาดื่ม” ท่านยื่นข้อเสนอ บางทีการได้มาอยู่ใกล้ชิดท่าน อาจจะทำให้กรรมของนายขุนทองเบาบางลงบ้าง ท่านคิดว่าจะพยายามช่วยเขา ถึงยากอย่างไรก็จะพยายาม

          “งั้นก็ตกลงฮ่ะ ดีแล้ว หนูจะได้ไม่ถูกพ่อกะแม่บ่น แล้วยังจะได้รู้จักคนเยอะ ๆ ด้วย เดี๋ยวหนูกลับไปเอาเสื้อผ้าเลยนะพ่อนะ”

          “ยังก่อน ยังก่อน เอาไว้ให้พ้นฤดูเกณฑ์ทหารไปก่อนค่อยมา ยังอีกตั้งสองเดือนแน่ะ” นายขำบอกลูก หากท่านพระครูไม่เห็นด้วย

          “ก็ให้มาเสียตอนนี้นี่แหละ ข้ากำลังอยากได้คนช่วยงาน ให้มันอยู่ใกล้ ๆ ข้า บางทีมันอาจจะอยากเป็นผู้ชายขึ้นมาบ้าง”

          “ไม่มีทาง ไม่มีทาง จ้างให้หนูก็ไม่ยอมเป็นผู้ชาย จะเป็นผู้หญิงเต็มตัวน่ะไม่ว่า เพราะไม่มีพ่อกับแม่คอยขัดคอ” นายขุนทองลอยหน้าลอยตาพูด

          “ท่ามันจะไม่ดีแล้วละมังหลวงพี่ เดี๋ยวก็ได้ไปกันใหญ่ ให้มันอยู่กับผมอย่างเก่าดีกว่า ยังไง ๆ ก็ยังอยู่ในสายตามั่ง” นายขำพูดอย่างวิตก

          “ไม่ต้องห่วงหรอกขำเอ๊ย เชื่อข้าเถอะ ข้าคิดว่าพอจะช่วยมันได้ คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงข้าหรอกน่า ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าอยู่กับเอ็ง ข้อนี้ข้าขอรับรอง”

          “งั้นก็ตามใจหลวงพี่ก็แล้วกัน บางทีมันอาจจะดีขึ้นอย่างที่หลวงพี่ว่าก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ถือว่าเป็นโชคของมัน แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องถือว่าเป็นกรรมของมัน” นายขำพูดอย่างปลงอนิจจัง

          “ดีแล้ว เอ็งคิดได้อย่างนั้นก็ดีจะได้ไม่เป็นทุกข์ คิดเสียว่าใคร ๆ ก็ต้องมีกรรมของตัวเองกันทั้งนั้น ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ก็เพื่อมารับผลของกรรม ผลนั้นจะดีหรือชั่วก็ขึ้นอยู่กับว่ากรรมที่ทำไว้เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว”

          “หมายความว่าคนที่ทำกรรมดีก็ต้องเกิดอีก ทำกรรมชั่วก็ต้องเกิดอีก อย่างนั้นหรือครับหลวงพี่” นายขำถาม

          “ถูกแล้ว”

          “ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไรจึงจะไม่ต้องเกิดอีกล่ะครับ เพราะทำกรรมดีก็ยังต้องเกิด”

          “กรรมที่ทำให้ไม่ต้องเกิดนั้นเขาเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว กรรมดำคือกรรมชั่ว กรรมขาวคือกรรมดี ฉะนั้นกรรมไม่ดำไม่ขาวก็คือ กรรมที่ไม่เป็นทั้งกรรมชั่วและกรรมดี จะพูดว่าเป็นกรรมกลาง ๆ ก็ได้”

          “แล้วกรรมที่ว่านี่ต้องทำอย่างไรบ้างครับ” พระบัวเฮียวถามบ้าง “ต้องปฏิบัติอริยมรรคมีองค์แปด ที่เธอเดินจงกรม นั่งสมาธิและกำหนดอิริยาบถตลอดเวลานั้นคือการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์แปดนั่นเอง เพราะการปฏิบัติดังกล่าวมันคลุมองค์มรรคครบทั้งแปดข้อ ตั้งแต่สัมมาทิฐิจนถึงสัมมาสมาธิ แล้วก็เป็นการปฏิบัติที่มีครบทั้งศีล สมาธิ และปัญญาเลยทีเดียว”

          “แหม หลวงพี่ยิ่งพูดผมก็ยิ่งงง เห็นจะต้องลากลับเสียที” นายขำพูดขึ้นเพราะไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ “กลับกันเถอะขุนทอง ไปเอาเสื้อผ้าก่อน พรุ่งนี้ค่อยมา” ชายวัยสี่สิบเศษบอกลูก

          “ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้ข้าจะให้สมชายไปรับเจ้าขุนทองก็แล้วกัน จะได้ไม่เสียเวลาทำงานเอ็ง” ท่านพระครูเอื้อเฟื้อ

          “ขอบคุณหลวงพี่มากครับ ไง ๆ ผมก็ฝากลูกด้วย นึกว่าเวทนามันที่เกิดมาไม่ค่อยเต็มบาทเต็มเต็งเหมือนคนอื่นเขา” สองพ่อลูกกราบท่านพระครูสามครั้งและหันไปกราบพระบัวเฮียว

          “ต้องขอโทษหลวงพี่ด้วยนะครับที่มาขัดคอ ผมฝากเจ้าขุนทองมันด้วย” นายขำกล่าวขอโทษพระบัวเฮียว แล้วเลยถือโอกาสฝากฝังลูก

          “ไม่ต้องห่วงหรอกโยม แล้วอาตมาจะช่วยดูแลให้” พระบัวเฮียวตอบ รู้สึกประทับใจในความรักและห่วงใยที่บิดามีต่อบุตร

          “พรุ่งนี้พบกันนะฮะหลวงพี่ บ๊าย บาย” นายขุนทองทำตาหวานหยาดเยิ้มใส่พระบัวเฮียว แล้วจึงลุกตามบิดาออกไป ท่านพระครูส่ายหน้าช้า ๆ พูดกับพระบัวเฮียวว่า

          “นี่ก็กรรม เห็นไหมบัวเฮียว ใคร ๆ ก็มีกรรมเป็นของตนกันทั้งนั้น”

          “แต่หลวงพ่อครับ หลวงพ่อเคยบอกว่าคนทีผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร ถ้ามีเมียเมียจะมีชู้ ถ้ามีสามีสามีก็จะไปมีเมียน้อย แต่ทำไมรายของนายขุนทองจึงไม่เป็นอย่างนั้นล่ะครับ”

          “เรื่องของกรรมมันละเอียดอ่อนลึกซึ้งนะบัวเฮียว ฉันไม่สามารถอธิบายให้เธอฟังได้ทั้งหมดหรอก ถ้าเธออยากรู้ก็ต้องเร่งปฏิบัติ เมื่อใดที่เธอรู้เอง เห็นเองได้ เมื่อนั้นเธอก็จะหายสงสัย”

          “ครับ” ยังไม่ทันที่พระบัวเฮียวจะพูดอะไรต่อไป นายขุนทองก็คลานเข้ามากราบ แล้วพูดขึ้นว่า

          “หนูลืมขอบคุณหลวงลุงน่ะฮะ ก็เลยต้องกลับมาขอบคุณก่อน หนูต้องขอขอบพระคุณหลวงลุงเป็นอย่างสูงที่กรุณาช่วยเหลือหนู ขอให้หลวงลุงอายุยืน ๆ นะฮะ” พูดจบก็ก้มลงกราบอีกสามครั้งแล้วคลานออกไป ท่านพระครูพูดตามหลังว่า

          “เออ ขอบใจที่อวยพร ข้าก็ว่าจะอยู่ไปจนกว่าจะตายนั้นแหละ เอ็งนี่มีอะไรแปลก ๆ อยู่เรื่อย สงสัยเลือดลมไม่ค่อยจะดี” คนที่กำลังคลานออกไปหันกลับมาสนองว่า

          “นั้นซีฮะ หมู่นี้รอบเดือนของหนู มันมาไม่ค่อยจะตรงตามกำหนด”

          “น้อย ๆ หน่อยเจ้าขุนทอง มันยังงี้นะซี พ่อแม่เอ็งเขาถึงกลุ้มอกกลุ้มใจนักหนา นี่ข้าก็กำลังจะกลุ้มอีกคนแล้วนะ”

            “ช่วยไม่ได้ หลวงลุงชวนหนูมาอยู่เอง ก็ต้องรับกรมไปตามหน้าที่จริงไหมฮะ” ท่านพระครูไม่ตอบ ต่อเมื่อหลานชายพ้นสายตาไปแล้ว จึงพูดขึ้นว่า

          “สงสัยจะกู่ไม่กลับเสียละมัง หรือเธอว่ายังไงบัวเฮียว”

          “ผมคงไม่ว่ายังไงหรอกครับ ที่ไม่ว่าเพราะไม่รู้จะว่ายังไงหรือว่าหลวงพ่อจะให้ผมว่ายังไง ก็กรุณาบอกมาเถิดครับไม่ต้องเกรงใจ”

          “พอแล้วบัวเฮียวพอ ขืนเธอพูดให้มากกว่านี้ ฉันคงเวียนหัวแย่ เอาละ มีข้อข้องใจสงสัยอะไรก็ว่ามา”

 

มีต่อ........๓๕
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #37 เมื่อ: เมษายน 21, 2007, 08:05:07 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00035
๓๕...

          “สิ่งที่ผมข้องใจสงสัยมันมีหลายอย่างนะครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวพูดอย่างเกรงใจเป็นที่สุด

          “งั้นก็ว่าไปทีละอย่าง นึกว่าวันนี้เป็นวันของเธอก็แล้วกัน จะได้ไม่เอาไปเที่ยวพูดว่าฉันไม่มีเวลาให้”

          “โธ่ หลวงพ่อครับ ตั้งแต่มาอยู่วัดนี้ผมยังไม่เคยเที่ยวเลยสักครั้ง แล้วจะเอาหลวงพ่อไปพูดอย่างนั้นได้ยังไง” พระหนุ่มปฏิเสธเสียงแข็ง

          “แน่ใจนะ” ท่านพระครูคาดคั้น

          “แน่ใจครับ แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์”

          “แล้วเมื่อกี้ใครตะโกนว่าฉันให้เจ้าขำฟังล่ะ ว่าฉันไม่มีเวลาให้ เธอพอจะรู้บ้างไหมว่าใครว่า”

          “ก็พอจะรู้เหมือนกันครับ แต่เขาไม่ได้เอาไปเที่ยวว่านี่ครับ เขานั่งว่าอยู่ตรงนี้ ตรงที่ผมนั่งนี่” พูดพร้อมกับชี้นิ้วลงที่พื้น การได้ยั่วพระอุปัชฌาย์เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ของพระบัวเฮียว

          “เอาตัวรอดจนได้นะ เอาละ ฉันขอชมเชยว่าเธอเก่ง ฉันยังไม่เคยเห็นใครเก่งอย่างนี้มาก่อนเลยจริง ๆ”

          “อย่างนี้นะอย่างไหนครับ” พระหนุ่มไม่วายยั่ว

          “ก็อย่างที่เรียกว่ามะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูกน่ะซี” ท่านพระครูเฉลย การได้พูดจาหยอกล้อกับ “น้องชายในอดีตชาติ” ทำให้ท่านมีความสุข แม้ว่าฝ่ายนั้นจะยังไม่รู้ว่าชาติหนึ่งตนเคยเกิดเป็นน้องชายของท่าน

          “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อก็ต้องไปฝึกปาเป้าใหม่ หรือไม่ก็เพิ่มมะกอกเป็นสี่ตะกร้า ถ้ายังปาไม่ถูกอีกก็เพิ่มเป็นห้าหกเจ็ดหรือแปดตะกร้า มันจะต้องถูกสักลูกนึงจนได้แหละครับ” พระหนุ่มแนะนำ

            “เอาละ เอาละ มัวพูดเยิ่นเย้ออยู่นั่นแหละ จะถามอะไรก็ถาม ฉันเป็นคนไม่ชอบหายใจทิ้ง”

          “ครับ ผมเองก็ชอบหายใจเป็นการเป็นงาน งั้นผมขอเรียนถามข้อข้องใจเลยนะครับ” ท่านพระครูพยักหน้าเป็นเชิงอนุญาต พระบัวเฮียวกำลังจะเอ่ยปากถาม ก็พอดีกับบุรุษผู้หนึ่งคลานเข้ามา พระหนุ่มมีอันต้อง “ถูกขัดคอ” อีกจนได้

          เถ้าแก่เส็งกราบท่านพระครูสามครั้ง กราบพระบัวเฮียวสามครั้งแล้วเอ่ยขึ้นว่า

          “ผมต้องขอประทานโทษที่มาขัดจังหวะ แต่ผมก็จำเป็นต้องมาเพราะอยากพบหลวงพ่อมากครับ”

          “เจริญพร โยมเถ้าแก่มาคนเดียวหรือ”

          “มาคนเดียวครับ ผมเหมารถแท็กซี่มาจากกรุงเทพฯ”

          “อย่างนั้นหรือ ทำไม่ไม่ให้คุณนายดวงสุดามาส่งล่ะ”

          “ผมไม่อยากกวนเขาครับ อีกประการหนึ่งผมอยากให้การมาครั้งนี้เป็นความลับ ทั้งคุณกิมง้อและหนูดวงสุดาไม่ทราบว่าผมมา” เถ้าแก่เส็งตอบ

          “อ้อ แล้วจะค้างหรือเปล่า หรือว่ากลัวทางบ้านเขาจะเป็นห่วง”

          “ไม่ค้างครับ ผมว่าจะมากราบหลวงพ่อ แล้วก็จะกลับ”

          “ถ้าอย่างนั้นก็อยู่ทานอาหารกลางวันเสียก่อน เดี๋ยวชวนโชเฟอร์เขาไปทานด้วย คงไม่รีบร้อนใช่ไหม”

          “ครับ ก็ตั้งใจว่าทานอาหารกลางวันแล้วจึงจะกลับ ขอบพระคุณหลวงพ่อมากครับที่เมตตา” พูดพร้อมกับประนมมือไหว้

          “โยมเถ้าแก่โชคดีนะที่มาแล้วพบท่าน ที่จริงวันนี้ท่านต้องไปบรรยายธรรมที่กรุงเทพฯ แต่ถ้าผู้จัดเขาขอเลื่อนกะทันหัน” พระบัวเฮียวพูดหมายจะเอาบุญเอาคุณ หากก็ต้องผิดหวังเมื่อบุรุษวัยเจ็ดสิบตอบว่า

          “แต่ผมทราบครัวว่าท่านต้องอยู่ ที่เหมารถแท็กซี่มาตั้งสามร้อยก็เพราะต้องการมาพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยครับ”

          “โยมทราบได้อย่างไรล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิถามอย่างสนใจ เถ้าแก่เส็งจึงเล่าว่า

          “มันแปลกมากครับหลวงพ่อ เมื่อเย็นวานขณะที่ผมกำลังนั่งสมาธิผมรู้สึกคิดถึงหลวงพ่อมาก กำหนดอย่างไรก็ไม่หายคิดถึง เลยตั้งใจว่า พรุ่งนี้จะต้องมากราบหลวงพ่อ พอคิดได้ดังนั้นก็เกิดความกังวลอีกว่า อาจจะไม่พบเพราะไม่ใช่วันพระ ความที่ผมอยากรู้จึงพยายามรวมจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วผมก็กำหนด “เห็นหนอ เห็นหนอ” ก็เกิดนิมิตเห็นหลวงพ่ออยู่ที่วัด ขณะเดียวกันก็มีเสียงกระซิบที่ข้างหูว่า “พรุ่งนี้ท่านพระครูไม่ได้ไปไหน พรุ่งนี้ท่านพระครูอยู่วัด” ผมก็เลยมาพิสูจน์นี่แหละครับ” เถ้าแก่เส็งเล่าจบท่านพระครูจึงถามขึ้นว่า

          “แล้วคุณโยมผู้หญิงกับคุณนายดวงสุดา รู้หรือเปล่า”

          “ผมไม่ได้เล่าให้คุณกิมง้อฟังครับ กลัวเขาจะหาว่าเหลวไหล ส่วนลูกดวงสุดาเขาไม่ได้มาหาผม เขาอยู่ที่บ้านเขาครับ”

          “แปลว่าโยมเถ้าแก่ได้ “เห็นหนอ” ใช่ไหมครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวถามอย่างตื่นเต้น

          “ถูกแล้วบัวเฮียว เห็นไหมว่ามันไม่ได้ยากเย็นแต่ประการใด ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะเกินความสามารถของมนุษย์ผู้มีความเพียรไปได้ จริงไหม”

          “จริงครับ”

          “อาตมาขออนุโมทนานะ โยมเถ้าแก่มีวิริยะอุตสาหะดีเหลือเกิน” ท่านพระครูเอ่ยปากชม

          “อาตมาก็ขออนุโมทนาด้วย” พระบัวเฮียวพูด รู้สึกดีใจและเสียใจระคนกัน ดีใจเพราะ “ลูกศิษย์” มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ แต่ที่เสียใจเพราะเกิดความรู้สึกว่าตนคงจะย่อหย่อนในการทำความเพียร จึงยังไม่บรรลุผลที่มุ่งหวัง ท่านอยากได้ “เห็นหนอ” มานาน แต่ก็ยังไม่ได้ เถ้าแก่เส็งปฏิบัติทีหลังแต่กลับได้ก่อนท่าน

          พระอุปัชฌาย์รู้ความคิดของคนเป็นศิษย์จึงพูดขึ้นว่า

          “ไม่ต้องเสียอกเสียใจไปหรอกบัวเฮียวเอ๋ย ของอย่างนี้ไม่ใช่จะได้กันง่าย ๆ หรอกนะ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติชาตินี้แล้วจะได้ในชาตินี้ เรื่องของอภิญญานั้น คนที่จะได้ต้องเคยสะสมบารมีมาตั้งแต่ชาติก่อน ๆ แล้วอีกประการหนึ่ง การที่เธอยังไม่ได้เพราะเธออยากได้ จงจำไว้ว่าถ้าอยากแล้วจะไม่ได้ ต้องไม่อยากได้จึงจะได้”

          “หมายความว่าอย่างไรครับ ผมชักจะงง ๆ เสียแล้ว”

          “ก็หมายความว่า ที่เธอยังไม่ได้ “เห็นหนอ” เพราะเธอไปอยากได้มันน่ะซี เธอจะต้องทำเฉย ๆ อย่าไปมุ่งมั่นจนเกินไป แล้วเธอก็จะได้เอง” ท่านพระครูแนะนำ

          “แปลว่าผมต้องฝืนใจใช่ไหมครับ คือทำเป็นไม่อยากได้ แบบนี้ก็โกหกตัวเองซีครับ”

          “เธอก็ต้องทำใจไม่ให้อยากได้จริง ๆ ซี ไม่งั้นมันก็เป็นการโกหกตัวเองอย่างที่เธอว่านั้นแหละ” แล้วถ้ามเถ้าแก่เส็งว่า

          “เวลาโยมปฏิบัติธรรม โยมหวังว่าจะได้ “เห็นหนอ ไหม ตั้งใจไว้เลยไหมว่าจะต้องให้ได้”

          “ผมไม่เคยคิดอย่างนั้นเลยครับ ผมรู้แต่ว่าทางที่ผมกำลังดำเนินอยู่นี้เป็นทางสายเอกที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ถ้าผมตั้งใจปฏิบัติก็อาจจะเข้าถึงความดับทุกข์ได้ ส่วนอดีตและอนาคตผมจะพยายามไม่คิดถึง” เถ้าแก่เส็งตอบอย่างคนที่ “เข้าถึงธรรม” โดยแท้

          พระบัวเฮียวฟังแล้วรู้สึกละอายใจ เพราะตัวท่านปฏิบัติธรรมชนิดที่ยังมีโลภะ ความอยากได้ “เห็นหนอ” ก็คือตัวโลภะ นั่นเอง

          “หลวงพ่อครับต่อไปนี้ผมจะไม่หวังอีกแล้วครับ ฟังโยมเถ้าแก่พูดแล้วผมรู้สึกละอายใจตัวเองนัก ผมจะไม่สนใจว่าจะได้ “เห็นหนอ” หรือไม่ได้ เพราะมันไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ใช่ไหมครับ”

            “ถูกแล้วบัวเฮียว “เห็นหนอ” ก็คือ การได้ทิพยจักษุ เป็นอภิญญาข้อหนึ่งในหกข้อ ดูเหมือนฉันจะเคยอธิบายให้เธอฟังแล้วว่า อภิญญาห้าข้อแรกนั้นเป็นโลกียปัญญา ปุถุชนคนธรรมดาก็สามารถมีได้หากได้ฌาณ ๔ และสมาธิกล้าแข็งพอ แต่อภิญญาข้อสุดท้ายที่มีชื่อว่า อาสวักชยญาณนั้นเป็น โลกุตตรอภิญญา พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะมีได้ และเมื่อได้แล้วก็จะไม่เสื่อม ส่วนโลกียอภิญญานั้นเสื่อมได้ ถ้าฌานเสื่อม”

          “ถ้าอย่างนั้นพระอริยบุคคลชั้นต้นเช่น พระโสดาบันก็ไม่จำเป็นว่าจะได้อภิญญาใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว และคนที่ได้อภิญญาก็ไม่จำเป็นว่าจะได้เป็นพระโสดาบัน เพราะมันไม่เกี่ยวกัน ผู้ที่บรรลุโสดาบันปัตติผลเป็นพระโสดาบันนั้น เพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำได้สามอย่างคือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ไม่เกี่ยวข้องกับอภิญญาแต่ประการใด” ท่านพระครูอรรถาธิบาย

          “แต่หลวงพ่อครับ เมื่อกี้หลวงพ่อว่าพระปฏิบัติได้ก้าวหน้ากว่าฆราวาส แบบนี้จะแปลว่า ฆราวาสไม่มีโอกาสบรรลุมรรคผลอย่างนั้นสิครับ อย่างที่หลวงพ่อว่าบางคนได้ถึงญาณ ๑๓ แต่ก็ติดอยู่แค่นั้น”

          “ไม่เสมอไปหรอกบัวเฮียว ที่ฉันยกตัวอย่างให้เธอฟังเมื่อกี้นั้น ฉันหมายเฉพาะคนที่เขาเข้ามาปฏิบัติกรรมฐานที่วัด คือขณะอยู่ในวัดอาจได้ถึงญาณ ๑๓ แต่พอกลับไปบ้าน เขาไม่ปฏิบัติต่อเขาก็จะไม่สามารถก้าวไปถึงญาณ ๑๔ หรือญาณ ๑๖ เป็นพระโสดาบันได้ ผู้ที่เป็นฆราวาสมีโอกาสที่จะบรรลุได้ถึงระดับอนาคามีผลนั่นเทียว”

          “ไม่ถึงอรหัตตผลหรือครับ ทำไมไม่ถึงเล่าครับ”

          “ถ้าถึงก็จะต้องบวชภายในเจ็ดวัน ถ้าไม่บวชก็ต้องตาย

          “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ” บุรุษสูงวัยถามอย่างสงสัย พระบัวเฮียวก็กำลังจะถามแบบเดียวกันนี้

          “เพราะภาวะความเป็นอยู่ของฆราวาสไม่สามารถรองรับภาวะของพระอรหันต์ได้ ในสมัยพุทธกาลเคยมีปรากฏ ทีฆราวาสบรรลุอรหัตตผลแล้วไม่บวช เพราะท่านมีภาระต้องเลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งตาบอด เมื่อท่านบรรลุได้ไม่ถึงเจ็ดวันก็ถูกวัวบ้าขวิดถึงแก่ความตาย” ยินคำว่า “วัว” พระบัวเฮียวก็ขนลุกซู่โดยไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ อาจเป็นด้วยจิตใต้สำนึกของท่านมีความเกี่ยวพันกับวัวควายนั่นเอง

          “แบบนี้วัวตัวนั้นก็บาปแย่เลยนะครับหลวงพ่อ” เถ้าแก่เส็งถาม

          “บาปแน่นอน เพราะเป็นครุกรรมข้อ อรหันตฆาต”

          “ไม่น่าเลยนะครับ ท่านเป็นถึงพระอรหันต์ ไม่น่ามาเสียชีวิตเพราะถูกวัวบ้าขวิด” บุรุษสูงวัยรู้สึกปลงสังเวช

          “จะเป็นอะไรก็ตาม ไม่มีใครหนีกรรมพ้น พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนี้ให้ภิกษุฟังว่าเป็นเพราะพระอรหันต์รูปนี้ท่านเคยสร้างกรรมไว้กับวัว จึงต้องมาชดใช้” ฟังถ้อยคำของพระอุปัชฌาย์ พระหนุ่มก็เสียววาบเข้าไปถึงหัวจิตหัวใจ จึงเสถามเถ้าแก่เส็งว่า

          “เวลานั่งสมาธิโยมเถ้าแก่เคยง่วงไหม ง่วงมาก ๆ จนแม้จะลุกขึ้นเดินก็ยังง่วงน่ะเคยเป็นไหม”

          “เคยครับแต่นานมาแล้ว ดูเหมือนจะตอนที่ปฏิบัติเดือนแรก ๆ โน่นแน่ะครับ” บุรุษสูงวัยตอบ

          “แล้วโยมทำยังไง”

          “ผมก็พยายามอยู่ในที่แจ้งบ้าง รับประทานอาหารให้น้อยลงบ้าง นอนบ้าง”

          “แล้วหายง่วงไหม”

          “ไม่หายครับ มันยิ่งง่วงหนักขึ้นไปอีก ง่วงแล้วก็รู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด ผมก็พยายามเอาชนะมันด้วยการกำหนดสติอยู่ตลอดเวลา ง่วงก็กำหนดว่า “ง่วงหนอ” พอนอนไม่หลับก็กำหนดว่า “นอนไม่หลับหนอ” เมื่อรู้สึกเบื่อก็กำหนดว่า “เบื่อหน่ายหนอ” เรียกว่าผมไม่ยอมให้เผลอสติเลยแหละครับ เป็นอยู่อย่างนี้สักสามสี่วันก็หาย พอหายผมรู้สึกสบายอกสบายใจมาก ก็เกิดปีติว่าผมเอาชนะมารได้แล้ว และตั้งใจว่าจะเร่งทำความเพียรต่อไป เพราะอายุผมก็มากแล้ว จะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ได้ หากมัวเห็นแก่กินแก่นอนก็จะทำให้ชีวิตเป็นหมัน เสียชาติเกิด ผมคิดอย่างนี้แหละครับ”

          “แล้วโยมสงสัยบ้างไหมว่าอาการเช่นนั้นมันเกิดจากอะไร อาการที่ง่วงมาก ๆ และเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ” หากเจ้าของกุฏิถาม มิใช่ท่านไม่รู้คำตอบ ทว่าต้องการให้บุรุษสูงอายุได้ “สอน” พระหนุ่มทางอ้อม

          “ผมคิดว่ามันไม่ใช่ความง่วงธรรมดา ๆ คงจะต้องเป็นการปรากฏของสภาวธรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง ผมแน่ใจว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นครับ”

          “ถูกแล้ว นั่นแหละเป็นอาการของ “นิพพิทาญาณ” และที่โยมปฏิบัติตามที่เล่ามานั้นก็ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีความเด็ดเดี่ยวและใจสู้มันก็ไม่ยากจนเกินไป นี่อาตมาหมายถึงธรรมระดับสูงนะ” ท่านใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบก็ได้รู้ว่าบุรุษตรงหน้าได้ถึงญาณ ๑๓ แล้ว และคงจะบรรลุญาณ ๑๖ ในไม่ช้านี้ ท่านไม่พูดอะไรออกมาด้วย ไม่ต้องการให้คนที่เพิ่งได้ญาณ ๘ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจอีก

          เมื่อพูดถึงเรื่องง่วงท่านพระครูก็นึกถึงอดีตสมัยที่ท่านอายุสิบสองสิบสาม จึงเล่าให้พระบัวเฮียวและเถ้าแก่เส็งฟังเป็นการคลายความเครียดว่า

          “อาตมามีเรื่องขำ ๆ จะเล่าให้ฟัง เรื่องง่วงนี่แหละ สมัยที่อาตมาอายุสิบสองสิบสาม อาตมาอยู่กับยาย พอตีสี่ยายก็ปลุกแล้ว ปลุกให้ลุกหุงข้าวใสบาตร วิธีปลุกของยายยอดเยี่ยมมาก โดยมจะลองเอาไปใช้กับลูกกับหลานก็ได้” ท่านบอกเถ้าแก่เส็ง

          “ทำอย่างไรครับ” ถามอย่างสนใจ

          “ก็ไม่ทำอะไรมาก ตอนแรกก็เข้าไปเขย่าตัวบอก “ไอ้หนู ไอ้หนู ลุกหุงข้าวใส่บาตรได้แล้ว” อาตมากำลังง่วงก็ตอบ ฮื่อ ๆ รู้แล้ว ขอนอนต่ออีกนิดเดียว ยายก๊ดขึ้นเหยียบเลย บอกจะลุกไม่ลุก อาตมากำลังอยากนอนเลยบอกกับยายว่า “แหม ดีจังเลยยาย ผมกำลังปวดเมื่อยอยู่พอดี ยายมาช่วยเหยียบให้ทุกวันเลยนะ”

          “แล้วท่านว่ายังไงครับ” พระบัวเฮียวถาม

          “แกก็บอก งั้นยายจะไปเอาไม้เรียวมาช่วยนวดให้นะหลานนะ เด็กอะไรขี้เกียจตัวเป็นขน ไม่เรียกไม่ลุก ไม่ปลุกไม่ตื่น”

          “แล้วหลวงพ่อทำยังไงครับ”

          “จะทำยังไงล่ะ ฉันก็ต้องรีบลุกขึ้นมาหุงข้าวน่ะซี ทีนี้ข้าวสมัยนั้นน่ะ เขาใช้หม้อดินหุง แล้วก็ใช้เตาฟืน ฉันก็ก่อไฟ ความง่วงก็เลยจับดุ้นฟืนนั่งหลับอยู่หน้าเตาไฟนั่นแหละ ยายมาเห็นเข้าก็ตบให้สองฉาด นี่ตบที่หน้านี่ ตบข้างซ้ายที ข้างขวาที” ท่านทำท่าประกอบ

          “แล้วเป็นยังไงบ้างครับ” พระบัวเฮียวถามอย่างนึกสนุก ท่านพระครูตอบหน้าตาเฉยว่า

          “ก็ค่อยยังชั่วขึ้นมาหน่อยนึง”

          “คุณนายของหลวงพ่อคงจะดุมากนะครับ” เถ้าแก่เส็งถาม

          “ดุ หรือ ไม่ดุ อาตมาก็ถูกตีไม่เว้นแต่ละวันเชียวแหละ บางวันก็ถูกตีสามครั้งหลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น”

          “น่าจะแถมก่อนนอนอีกรอบนะครับ เพราะเวลาหมอให้ยาเขาจะให้กินหลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน” พระบัวเฮียวว่าไปโน่น

          “บางวันก็ได้แถมก่อนนอนด้วย” ท่านเจ้าของกุฏิสารภาพ

          “งั้นแสดงว่าหลวงพ่อก็คงไม่เบาเหมือนกันนะครับ” พระบัวเฮียวว่า

          “เอ! จะว่าหนักก็ไม่เชิงนะ เพราะตอนนั้นยังผอม” พระอุปัชฌาย์ตั้งใจยั่วลูกศิษย์

          “แหม หลวงพ่อก็รู้ว่าผมไม่ได้หมายความยังงัน คือผมต้องการจะพูดว่าเด็กที่ถูกผู้ใหญ่ตีทุกวัน ๆ ละสามสี่ครั้งน่ะคงจะไม่เบาทีเดียว คือจะต้องเกเรจนขึ้นชื่ออะไรทำนองนี้”

          “เกหรือไม่เกคนเขาก็เรียกฉันว่า ไอ้มหาโจรกันทั้งบางนั่นแหละ”

          “แล้วหลวงพ่อเกลียดคุณยายไหมครับ ถูกคุณยายตีทุกวันแล้วรู้สึกเกลียดคุณยายไหม” คนเป็นฆราวาสถาม

          “ตอนนั้นเกลียด แต่ตอนนี้รัก เพราะถ้าไม่ได้ไม้เรียวยาย อาตมาก็ไม่ได้มาเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ อาตมารู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณของยายมาก” เงียบกันไปครู่หนึ่ง ท่านเจ้าของกุฏิก็พูดขึ้นอีกว่า

          “มีอยู่ครั้งนึงอาตมาหนีไปเที่ยวดูหนัง โกหกยายว่าจะไปติดกัน เพื่อนจวนสอบไล่ ที่แท้หนีไปดูหนังกับเพื่อนกลับเสียดึก พอยายมาปลุกก็บอกยายว่าวันนี้ขอวันนึงเถอะ เพราะติวกับเพื่อนเหนื่อยมาก ขอตอนตื่นสายสักวัน ยายก็บอกว่า “ไอ้หนู เอ็งจะนอนยายก็ไม่ว่าหรอก แต่ก่อนจะนอนต้องลุกหุงข้าวใส่บาตรก่อน แล้วก็กินข้าวกินปลาเสียให้เรียบร้อยแล้วค่อยกลับมานอน” นี่เห็นไหมนโยบายของยายอาตมานี่เยี่ยมจริง ๆ อาตมาก็เลยสะลึมสะลือลุกขึ้นไปก่อไฟตั้งหม้อข้าว ไฟมันก็ไม่ติดซักที ก่อไฟอยู่ตั้งนานก็กลัวข้าวจะไม่ทันพระ เลยใส่ฟืนใหญ่ กระทุ้งฟืนเข้าไปในเตา แล้วก็จะเป็นเพราะความง่วงหรือเพราะมือหนักก็ไม่ทราบ กระทุ้งเสียหม้อข้าวแตกเลย”

          “แล้วยายของหลวงพ่อว่ายังไงครับ” พระบัวเฮียวถาม รู้สึกสนุกสนานกับเรื่องที่ท่านเล่า

          “ก็ไม่ว่ายังไงหรอก แต่ตีเสียอานไปเลย คราวนั้นเล่นเอาหลังลายไปหลายวัน”

          “แหม! ชีวิตหลวงพ่อนี่โลดโผนดีจังนะครับ“ พระหนุ่มว่า

          “ใช่ ก็ทำให้มีชีวิตชีวาดีเหมือนกัน ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ฉันยังนึกขำอยู่จนทุกวันนี้ คือเรื่องละเมอ”

          “ใครละเมอครับ หลวงพ่อหรือคุณยาย” เถ้าแก่เส็งถาม

          “อาตมา คือก่อนนอนมันกังวลว่าน้ำ มันแห้งโอ่ง พรุ่งนี้จะต้องตื่นขึ้นตักน้ำแต่เช้า พอหลับไปก็เลยละเมอ นี่ชาวบ้านเขามาเล่าให้ฟังตอนเช้า เขาบอกว่าเห็นอาตมาตักน้ำตั้งแต่ตีสี่ ตักขึ้นบ้าน อาตมาก็แปลกใจว่าคนละเอาทำไมถึงหาบกระแต๋งไปสระได้ แถมขึ้นบันไดบ้านถูกด้วย เขาว่าอาตมาตักเอา ๆ เขาพูดด้วยก็ไม่พูด ก็คนละเมอจะรู้เรื่องยังไง จริงไหม” ท่านถามพระบัวเฮียว

          “จริงครับ แล้วเขาบอกไหมครับว่าเขาพูดว่าอย่างไร”

          “เขาบอกเขาตะโกนถามว่า “ไอ้หนูนึกยังไง ลุกขึ้นมาตักน้ำตั้งแต่ตีสี่” ฉันก็ไม่พูดกับเขา ตักน้ำเสร็จก็กลับไปนอนจนรุ่งเช้า”

          “แล้วไม่ลุกหุงข้าวหรือครับ”

            “ไม่ลุกเพราะยายไม่ได้ปลุก ยายไม่อยู่ ไปช่วยงานที่บ้านเหนือ พอตื่นเช้ามาก็ตกใจ โอ้โฮ! น้ำเต็มโอ่งหมดทั้งสิบโอ่ง แถมโอ่งข้าวสารก็มีน้ำเต็ม ข้าวสารลอยเป็นแพเลย”

          “หลวงพ่อก็เลยถูกยายตีอานไปเลย” พระบัวเฮียวเดา คราวนี้ท่านพระครูตอบอย่างผู้มีชัยว่า

          “โน คราวนี้ฉันรอดตัว เพราะพอยายกลับมาจากบ้านเหนือก็ถามว่า “ไอ้หนู ใครแช่ข้าวให้ยาย” ฉันก็ตอบว่า “ผมละเมอตักน้ำใส่โอ่งข้าวสาร” กลัวยายตีก็กลัว แต่ยายกลับตอบว่า “เออดี บ้านเหนือเขากำลังจะทำขนมจีน งั้นเองรีบเอาไปให้เขาทำแป้งขนมจีนเร็ว ๆ เข้า”

          เสียงระฆังเพลดังขึ้น พระบัวเฮียวกราบพระอุปัชฌาย์สามครั้ง แล้วลุกเดินไปยังหอฉัน ท่านพระครูบอกเถ้าแก่เส็งว่า

          “ไป เชิญไปรับประทานอาหารก่อน เดี๋ยวค่อยมาคุยกันต่อ สมชายไปเรียกโชเฟอร์มาด้วย” สั่งเสร็จท่านก็ขึ้นไปยังชั้นบนของกุฏิเพื่อเขียนหนังสือสอบอารมณ์กรรมฐาน...

         

         

 

         

 

มีต่อ........๓๖
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #38 เมื่อ: เมษายน 21, 2007, 08:05:51 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00036
๓๖...

            ฉันเพลแล้วพระบัวเฮียวก็กลับมาที่กุฏิท่านพระครูอีก ข้าราชการหนุ่มประมาณไม่เกินสามสิบนั่งรออยู่ ท่านเดาว่าบุรุษผู้นี้ต้องเป็นข้าราชการเพราะเขาสวมชุดสีกากีและมี “บั้ง” ติดอยู่บนบ่าทั้งสองข้าง เขากราบท่านสามครั้งแล้วทักขึ้นว่า

         “หลวงพี่อยู่วัดนี้หรือมาจากที่อื่นครับ”

         “อาตมาอยู่วัดนี้ แล้วโยมล่ะมาจากไหน”

         “ผมมาจากอำเภอสองพี่น้องครับ แต่บ้านเดิมอยู่ที่นี่ แล้วก็คุ้นเคยกับหลวงพ่อมานาน”

            “แล้วโยมไปทำอะไรอยู่ที่นั่นล่ะ ที่อำเภออะไรนะ”

         “อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีครับ ผมเป็นปลัดอำเภออยู่ที่นั่น”

         “อ้อ”

         “เถ้าแก่เส็งเสร็จจากรับประทานอาหารก็เดินเข้ามานั่งพร้อมโชเฟอร์แท็กซี่ คนทั้งสองกราบพระบัวเฮียวสามครั้ง พระหนุ่มจึงถือโอกาสแนะนำบุคคลทั้งสามให้รู้จักกัน ทราบว่าชายหนุ่มเป็นปลัดอำเภอ เถ้าแก่เส็งจึงพูดถึงลูกเขย

         “ลูกเขยผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนี้ คุณเคยได้ยินชื่อไหม” เขาบอกชื่อคนเป็นสามีของลูกสาว ปลัดหนุ่มจึงว่า

         “ครับ ท่านเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของผม คุณนายดวงสุดาเป็นบุตรสาวของท่านหรือครับ”

         “ถูกแล้ว ก็หนูดวงสุดานี่แหละที่พาผมมารู้จักกับหลวงพ่อ แล้วผมก็ได้มาปฏิบัติกรรมฐานที่นี่”

         “โยมเถ้าแก่ปฏิบัติได้ก้าวหน้ามากนะโยมปลัด” พระบัวเฮียวบอกข้าราชการหนุ่ม เพราะต้องการจะยกย่อง “ลูกศิษย์” ท่านคิดว่าปลัดหนุ่มคงจะคุ้นเคยกับการปฏิบัติกรรมฐาน เนื่องจากเป็นคนถิ่นนี้และรู้จักท่านพระครูมานาน ท่านไม่รู้เลยว่าบุคคลผู้นี้อยู่ในประเภท “ใกล้เกลือกินด่าง”

         “โยมปลัดคงปฏิบัติได้สูงแล้วใช่ไหม” ท่านถามอีก

         “หลวงพี่หมายถึงอะไรครับ” คนถูกถามไม่เข้าใจ

         “อาตมาหมายถึงการปฏิบัติธรรม โยมปลัดเคยใกล้ชิดหลวงพ่อคงปฏิบัติไปได้ไกลแล้วใช่ไหม”

         “เปล่าเลยครับหลวงพี่ บอกตามตรงว่าผมไม่สนใจเรื่องอย่างนี้ มันสนุกเสียที่ไหนล่ะครับ กรรมฐานน่ะ” เมื่อเขาตอบมาอย่างนี้ พระบัวเฮียวจึงไม่ซักถามอะไรอีก ด้วยเกรงจะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้ถูกถาม พอดีกับท่านพระครูลงมาจากกุฏิชั้นบน ผู้ที่นั่งรออยู่จึงทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง

         “เจริญพร โยมปลัดมายังไง” ท่านเจ้าของกุฏิทักทาย

         “ผมจะมาขอให้หลวงพ่อช่วยดูฤกษ์แต่งงานครับ” ปลัดหนุ่มตอบ

         “เจ้าสาวเขาเป็นใครล่ะ” ท่านถาม ปลัดวัยสามสิบตอบว่า

         “เป็นนางเอกลิเกครับหลวงพ่อ” น้ำเสียงมีแววภูมิใจในหญิงที่ตนจะแต่งงานด้วย ท่านพระครูเห็นไม่เข้าเรื่อง คนเป็นปลัดอำเภอจะไปแต่งงานกับนางเอกลิเก มันจะเป็นไปได้อย่างไร หรือว่าสองคนนี้เป็นคู่เวรคู่กรรมกันมา ครั้นใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบก็ได้รู้ว่า คนคู่นี้ไปกันไม่ได้และจะอยู่กันชนิดหม้อข้าวไม่ทันดำก็ต้องเลิกร้างกัน จึงพูดขึ้นว่า

         “โยมคิดยังไงถึงจะไปแต่งงานกับนางเอกลิเกล่ะ อาตมาว่ามันไม่คู่ควรกัน ไม่มีอะไรเหมาะสมกันเลย” ปลัดหนุ่มรู้สึกขัดเคืองในคำพูดของท่าน เขากำลังหลงสตรีผู้นั้นจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น จึงบอกท่านพระครูว่า

         “โธ่! หลวงพ่อครับ ก็เรารักกัน เขาสวยมากนะครับหลวงพ่อ รูปร่างหน้าตาสวย รำก็สวย เสียงก็เพราะ หนุ่ม ๆ รุมจีบกันเป็นพรวน แต่เขาก็ไม่เลือกใครนอกจากผม”

         “นั่นแหละ เพราะอย่างนี้แหละที่จะทำให้อยู่กันไม่ได้ พอแต่งงานกัน แล้วโยมก็จะหึงไม่ให้เขาไปเล่นลิเก ตอนแรกเขาก็เชื่อ แต่พออยู่ไป ๆ เขาก็จะเบื่อ ก็จะหนีไปเล่นลิเกอีก แล้วก็ทะเลาะกัน ในที่สุดก็ต้องเลิกกัน อย่าแต่งเลย เชื่ออาตมาเถอะ คนนี้ไม่ใช่เนื้อคู่โยมหรอก อาตมาเห็นกฎแห่งกรรมของโยมแล้ว คนที่จะมาร่วมชีวิตกับโยมต้องเป็นอาจารย์”

         “แต่ผมปักใจเสียแล้วครับหลวงพ่อ ผมรักผู้หญิงคนนี้แล้วก็จะแต่งงานกับเธอให้ได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น” ปลัดหนุ่มยืนยันหนักแน่น เขาเข้าใจว่าความหลงเป็นความรัก

         “แปลว่าโยมไม่เชื่อที่อาตมาพูดใช่ไหม อย่าแต่งเลยนะอาตมาขอร้อง อาตมาหวังดีด้วยใจจริง” ท่านพระครูพยายามพูดทัดทาน

         “ผมก็ขอร้องหลวงพ่อเหมือนกันว่าโปรดอย่าห้ามผมเลย ผมคงไม่มีความสุขไปตลอดชีวิต ถ้าไม่ได้แต่งงานกับเธอ” คนถูกศรรักปักอกว่า

         “ถ้าอย่างนั้นก็ตามใจโยมเถอะ กรรมของใครก็ของคนนั้น อาตมาก็ได้พยายามช่วยแล้ว ในเมื่อโยมไม่เชื่อก็ไม่ว่ากัน แต่จะให้อาตมาหาฤกษ์ให้นั้น อามตาทำไม่ได้เพราะเห็นอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร ต้องขอโทษด้วยที่ไม่อาจทำให้โยมสมความมุ่งมาดปรารถนา” ได้ยินดังนั้น บุรุษวัยสามสิบก็หมดความอดทน เขาพูดออกมาด้วยความโกรธว่า

         “ผมเสียใจครับหลวงพ่อ เสียใจที่หลงนับถือหลวงพ่อมาช้านาน เรื่องแค่นี้หลวงพ่อก็ช่วยผมไม่ได้ มิหนำซ้ำยังพูดให้เสียกำลังใจอีก เอาละ ผมขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผมจะเลิกเคารพนับถือหลวงพ่อและจะไม่มาเหยียบวัดนี้อีก” แล้วจึงผลุนผลันลุกออกไปโดยไม่ร่ำลา ท่านพระครูไม่พูดว่ากระไร ไม่โกรธ ไม่ขึ้งบุรุษนั้น เพราะรู้อยู่ว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

         “เสียดายนะครับ หน้าตาดี ๆ ตำแหน่งหน้าที่ก็ดี แต่กิริยาที่แสดงออกมาไม่ดีเลยสักนิด” โชเฟอร์แท็กซี่วิจารณ์

         “ช่างเขาเถอะโยม เขาทำกรรมมาอย่างนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ในเมื่ออาตมาบอกให้แล้ว แต่เขาไม่ยอมแก้ไข อาตมาก็ช่วยเขาไม่ได้ กรรมบางอย่างมันก็แก้ไขได้ แต่เขาไม่ยอมแก้”

         “ผมเคยคิดนะครับหลวงพ่อ” โชเฟอร์แท็กซี่พูด

         “เคยคิดว่ากรรมนั้นแก้ไม่ได้ อย่างคนที่เป็นโจรก็ต้องเป็นโจรตลอดไป เพราะเขาเกิดใต้ดาวโจร แต่เดี๋ยวนี้ผมรู้ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป” เขาลังเลใจนิดหนึ่งว่าจะพูดต่อไปดีหรือไม่ ต่อเมื่อนึกได้ว่า คนชั่วที่กลับตัวเป็นคนดีนั้นน่าสรรเสริญ จึงตัดสินใจว่าจะต้องพูด

         “อย่างผมนี่เมื่อก่อนก็หากินทางทุจริต แต่ก็มากลับตัวกลับใจได้เพราะเถ้าแก่ เดี๋ยวนี้ผมกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าผมเป็นคนดี อย่างน้อยก็ไม่เบียดเบียนใคร แล้วผมก็รู้สึกว่าผมจะมีความสุขกายสบายใจกว่าแต่ก่อนมาก เพราะละชั่วได้”

            “อย่างนั้นหรือ อาตมาขออนุโมทนา ขอประทานโทษ เมื่อก่อนโยมมีอาชีพอะไรล่ะ”

         “ก็ไม่มีอาชีพเป็นหลักเป็นฐานหรอกครับ ผมชอบเล่นการพนันแล้วก็มีหนี้สินล้นพ้นตัว เถ้าแก่ก็เป็นเจ้าหนี้ผม พอแกทวงมาก ๆ เข้า ผมเลยรวบรวมสมัครพรรคพวกไปปล้นบ้านแก ใจคอผมโหดร้ายมาก เพราะผมตั้งใจจะฆ่าแกกับเมียเพื่อปลดหนี้ แต่ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร ผมยิงแกไม่ออกครับ แกกับเมียกำลังนั่งหลับตาอยู่ ผมก็ยิงใส่เลย รัวปืนเอ็ม.๑๖ เข้าใส่ แต่ยิงไม่ออก

         ในที่สุดผมก็ถูกจับได้ ก็ติดคุกอยู่สามเดือนเพราะเถ้าแก่อ้างว่าจำตัวคนร้ายไม่ได้ ทีจริงผมรู้ว่าแกจำผมได้ ผมรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของแก จึงตั้งสัจจะว่าจะเลิกทำชั่ว แล้วผมก็เลิกได้จริง ๆ ครับ” ผมเล่ามีน้ำตาคลอหน่วยตาเพราะความซาบซึ้ง ท่านพระครูพูดปลอบเขาว่า

         “เอาเถอะ หมดเคราะห์หมดโศกแล้ว ต่อไปนี้ชีวิตโยมก็จะพบกับความเจริญรุ่งเรือง อาตมาขออวยชัยให้พร” ชายวัยสี่สิบเศษกราบท่านสามครั้งด้วยพอใจในพรที่ท่านให้

         “ผมเป็นหนี้บุญคุณเถ้าแก่มากเลยครับ เพราะถ้าแกเอาผมเข้าคุก ผมก็ไม่มีวันที่จะกลับเนื้อกลับตัวได้ นี่ผมก็ตั้งใจจะรับใช้แกเท่าที่เวลาและโอกาสจะอำนวย”

         “นายสุขเขาดีกับผมมากครับหลวงพ่อ นี่เขาก็จะไม่ยอมเอาเงิน ผมต้องขอร้องเขาอยู่นานกว่าจะตกลงกันได้” เถ้าแก่เส็งยกย่องคนที่กลับตัวกลับใจได้

            “เพราะเถ้าแก่ดีกับผมก่อนน่ะครับหลวงพ่อ ผมก็เลยจะตอบแทนความดีแก แต่แกก็ไม่ยอมรับ ขนาดผมคิดค่าน้ำมันสองร้อย แกก็แถมให้อีกหนึ่งร้อยเป็นสามร้อย” นายสุขเล่า

         “สรุปว่าโยมดีทั้งสองคนนั่นแหละ คนดีก็ต้องพบกับคนดี เธอเห็นด้วยไหมบัวเฮียว”

         “เห็นด้วยครับ” พระหนุ่มรับคำแล้วถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อครับ ผมรู้สึกว่าคนที่มาวัดนี้มีทั้งคนไทยและคนจีน คนไทยนั้นมักมาให้หลวงพ่อช่วยดับร้อนผ่อนทุกข์แล้วก็มักจะไม่เอากรรมฐาน บางคนรู้จักหลวงพ่อมานานแต่กลับไปเคยปฏิบัติธรรม ยกตัวอย่างเช่น นายขำหรือปลัดอำเภอคนเมื่อกี้ แล้วตัวผมก็มีความรู้สึกว่า หลวงพ่อรักคนจีนมากกว่าคนไทย เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ”

         “เธอหาว่าฉันลำเอียงว่างั้นเถอะ”

         “ก็หลวงพ่อลำเอียงหรือเปล่าเล่าครับ” ลูกศิษย์ยั่ว

         “ฉันคิดว่าฉันไม่ได้ลำเอียง ใครปฏิบัติดีฉันก็อนุโมทนากับเขา ส่วนคนที่ทำไม่ดีฉันก็สงสารเขา แล้วมันก็น่าแปลกอย่างที่เธอว่านั่นแหละ คือ คนที่ปฏิบัติดีนั้นมักเป็นคนจีน อาตมารักคนจีนมากนะโยมเถ้าแก่ อยากรู้ไหมว่าทำไม่จึงเป็นเช่นนั้น” ท่านถามเถ้าแก่เส็ง

         “อยากทราบครับ หากไม่เป็นการรบกวนจนเกินไปผมอยากให้หลวงพ่อเล่าให้ฟังครับ” บุรุษวัยเลยเจ็ดสิบพูดอย่างเกรงใจ ท่านพระครูจึงเล่าว่า

         “ที่อาตมารักคนจีนมากเพราะชอบที่เขาขยันทำมาหากินประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเพราะอาตมาทำเวรทำกรรมกับคนจีนมามากสมัยทีเป็นเด็ก ๆ ก็เลยต้องมารักเขาเป็นการใช้กรรม แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าฉันเกลียดคนไทยหรอกนะบัวเฮียว เธออย่าเข้าใจผิด”

         “ครับ ผมเข้าใจถูกต้องแล้ว และก็รู้ด้วยว่าหลวงพ่อไม่เกลียดญวนเหมือนกัน” พระบัวเฮียวเย้า

         “ตอนเด็ก ๆ หลวงพ่อทำกรรมอะไรไว้กับคนจีนหรือครับ” นายสุขถาม

         “มากมายหลายประการเชียวแหละโยม สมัยเด็ก ๆ อาตมาชอบทดสอบความอดทนของเขา”

         “ทดสอบยังไงครับ”

         “ก็แกล้งต่อราคาเวลาซื้อของ อย่างตาแป๊ะคนนึงแกขายเสื้อผ้าอยู่ในตลาด อาตมาก็แกล้งต่อ แกก็ไม่โมโห ถ้าเป็นร้านคนไทยรับรองถูกด่าแล้วก็ไล่ออกจากร้านแน่ เพราะคนไทยเขาหยิ่งแล้วก็ไม่มีความอดทน

         ร้านคนไทยเขามักจะมีนางกวักประจำอยู่ในร้าน แต่กลับขายไม่ดี ร้านคนจีนไม่ต้องมีนากกวักแต่ขายดิบขายดีจนหยิบแทบไม่ทัน โยมเชื่อไหม สินค้าอย่างเดียวกันถ้าร้านคนไทยขายห้าบาท คนซื้อเขาก็รู้แต่ก็ยังอุตสาห์ไปซื้อร้านคนจีน ร้านคนไทยขนาดมีนางกวักด้วย ขายถูกว่าด้วย แต่คนกลับไม่ซื้อ” แปลกไหมเล่า

         “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะครับ” พระบัวเฮียวถาม

         “ก็คนจีนเขายิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนคนไทยหน้าเหมือนมือนางกวัก ใครเข้าจะเข้าร้าน” นายสุขกับเถ้าแก่เส็งหัวเราะชอบใจเพราะท่านพระครูทำท่าประกอบการเล่าด้วย

         “ทีนี้ตาแป๊ะที่ขายเสื้อผ้านี่แกก็ถูกอาตมาแกล้งอยู่บ่อย ๆ แต่แกก็เอาตัวรอดได้ทุกที อย่างเช่น อาตมาซื้อเสื้อไปวันนี้ พอรุ่งเช้าก็เอามาเปลี่ยน บอก “ตาแป๊ะ ขอเปลี่ยนเสื้อหน่อย ใส่ไม่ได้มันคับ” ตาแป๊ะแกก็ว่า” ท่านเลียนเสียงคนจีน

         “ไม่เป็งลาย ไม่เป็งลาย เสื้ออั๊วซักเลี้ยวยืกล่าย” อาตมาก็เลยต้องกลับบ้านเพราะแกไม่ยอมให้เปลี่ยน พอรุ่งเช้าก็มาใหม่ บอกว่า “ตาแป๊ะ อั๊วขอเปลี่ยนเสื้อหน่อย” แกก็ถามว่า “เปี่ยงทำมาย” อาตมาบอก “มันหลวม” แกก็ว่า “ไม่เป็งลาย ไม่เป็งลาย เสื้อล้านอั๊วะ ซักเลี้ยวหกล่าย” ตกลงแกก็ไม่ยอมให้เปลี่ยน อาตมาก็หมดปัญญาที่จะพูดกับแก” ท่านหยุดเว้นระยะนิดหนึ่งแล้วเล่าต่อว่า

         “มีอยู่รายนึงที่อาตมาทำกรรมกับแกไว้หนักว่าคนอื่น ๆ แกชื่อบ๊ก อาตมาก็เรียกแกเจ๊กบ๊ก” เถ้าแก่เส็งสะดุ้งนิดหนึ่ง แต่ท่านพระครูไม่ทันสังเกต ท่านเล่าต่อไปว่า

         “สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พวกต่างด้าวจะถูกไล่ออกจากเขตที่มีทหาร เจ๊กบ๊กแกก็ถูกไล่มาจากลพบุรี มาอาศัยอยู่ตลาดปากบาง แกก็เที่ยวซื้อขวดซื้อโลหะจากชาวบ้านไปขาย บางทีก็เอาขนมข้าวพองมาแลก อาตมาตอนนั้นอายุสิบเอ็ดหรือสิบสองนี่แหละ ก็ชอบขโมยข้าวพองแกมากิน แล้วก็ด่าแกว่าไอ้เจ๊กบ้า ไอ้เจ๊กบ๊กบ้า บางทีก็ล้อแกเป็นเพลงว่า “เจ๊กบ๊กตกน้ำตาย เมียร้องไห้ เสียดายเจ๊กบ๊ก” แกก็ไม่โกรธยิ้มลูกเดียว แกบอกอาตมาว่า “อาตี๋ ลื้อจาหล่าอั๊วก็หล่าไป อั๊วะไม่โกก แต่อั๊วจาเอาซาตางจากลื้อให้ล่าย” นี่แกว่าของแกอย่างนี้”

         “แล้วได้ไหมครับ” เถ้าแก่เส็งถาม เขากำลังสงสัยว่า “เจ๊กบ๊ก” ที่ท่านพระครูกล่าวถึงนั้นจะเป็นคนเดียวกับน้องชายของเขาหรือไม่ ก็ต้องฟังท่านเล่าให้จบเสียก่อน

         “ได้สิ ก็เวลาแกไม่เผลอให้อาตมาขโมย อาตมาก็จำเป็นต้องซื้อแก แต่กระนั้นก็ซื้อแบบขี้โกง คือขนมข้าวพองแกขายห่อละเฟื้อง อาตมาก็ทำเป็นซื้อห่อนึง แต่ที่แท้หยิบมาสองห่อ ก็โกงแกมาตลอดจนกระทั่ง แกเปลี่ยนจากขายขวดไปขายหมู อาตมาก็ขโมยหมูแกอีก”

         “แล้วเคยถูกแกจับได้ไหมครับ” พระบัวเฮียวถาม

         “ถ้าถูกจับก๊อเสียชื่อมหาโจรน่ะซี คือตาแป๊ะแกมีเข่งอยู่คู่นึง แล้วไม้คานของแกมีลักษณะคล้ายไม้พลองของลูกเสือ แต่สีดำเมี่ยมเลย แกหาบจนไม้คานเป็นมัน แกก็ตัดหมูออกชั่งเป็นกอง ๆ กองละหนึ่งกิโล ยืนขายอยู่ที่ท่าน้ำ พอแกมัวหยิบหมูให้คนอื่น อาตมาก็ย่องไปข้างหลัง คว้าหมูที่แกกองเอาไว้ ก็เอาหนีบรักแร้แล้วโดดน้ำดำมาขึ้นอีกฝั่งนึง ฝั่งที่เป็นบ้านอาตมา เอาหมูไว้ในตู้กับข้าวแล้วดำน้ำไปฟากกะโน้นอีก หวังจะไปเอาอีกซักโล

         พอขึ้นไปยืนบนท่า แกก็บ่นกับคนซื้อว่าหมูแกหายไปโลนึง ตาคนซื้อแกก็เห็นตอนที่อาตมาหยิบแล้วโจนลงน้ำ แต่แกก็พูดเข้าข้างอาตมาว่า หมูมันคงตกลงไปในน้ำ เจ๊กบ๊กแกก็ว่า “เป็งไปไม่ล่าย ต้องมีคงมาคาโมย ถ้าตกน้ำจริงมัก็ต้องลอย” ตาคนนั้นก็พูดอีกว่า “มันไม่ลอยหรอก ถ้าเป็นเนื้อหมูมันไม่ลอย เป็นมันหมูถึงจะลอย” ตาแป๊ะก็เลยตัดมันให้มากหน่อย ตัดเนื้อน้อย ๆ พวกคนซื้อก็เลยได้มันหมูไปมากกว่าเนื้อ เพราะอาตมาเป็นต้นเหตุ”

         “แล้วแกเคยแสดงท่าทางว่าสงสัยหลวงพ่อไหมครับ” นายสุขถาม

         “แกก็คงสงสัยอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีพยานหลักฐาน แกก็เลยเอาผิดอาตมาไม่ได้ อาตมาก็แกล้งแกสารพัด เจอหน้าที่ไรก็ด่า “ไอ้เจ๊กบ้า ไป ไป ให้พ้น” แกก็ยิ้ม บอกว่า “ไอ้ตี๋ วังนี้ลื้อเลียกอั๊วะไอ้เจ๊กบ้า แต่วังหน้าลื้อต้องเลียกอั๊วะว่า เตี่ย จำไว้นะ” อาตมาบอกเรื่องอะไรจะเรียก แกก็ว่า “ต้องเลียก วังนึงลื้อต้องเลียกเพาะอั๊วะมีลูกสาวห้าคง ลื้อจาต้องมาขออั๊วะ เลียกเตี่ยเข้าสักวัง” นี่แกว่าของแกอย่างนี้ แล้วก็จริงอย่างที่แกว่าเสียด้วย อาตมาต้องยอมเรียกแกว่าเตี่ยเพื่อชดใช้กรรม”

         “หลวงพ่อไปชอบลูกสาวแกเข้าหรือครับ” พระบัวเฮียวถาม

         “เปล่าหรอก แต่ลูกสาวแกก็มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ฉันต้องเรียกเจ๊กบ๊กว่าเตี่ย คือพอลูก ๆ เป็นสาวก็ได้แต่งงานกับคนดีมีฐานะ ก็ช่วยเตี่ยทำมาหากินจนร่ำรวยเป็นลำดับ กระทั่งมีเงินไปตั้งร้านขายทองอยู่ที่เยาวราช”

         เถ้าแก่เส็งแน่ใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ตะแป๊ะคนที่ท่านพระครูเล่าให้ฟังนั้นคือน้องชายของเขา ครั้นจะพูดออกมาก็เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ทางที่ดีควรฟังท่านเล่าให้จบเสียก่อน

         “โลกมันกลมนะโยมเถ้าแก่ พอแกย้ายเข้ากรุงเทพฯ อาตมาก็ไม่เจอแกมาเป็นเวลาร่วมสิบปีทั้งที่หลังจากนั้นอาตมาก็เข้าไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ พันตรีหลวงธารา ซึ่งเป็นคุณปู่ของอาตมาได้มารับอาตมาไปกรุงเทพฯ และฝากไว้กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งท่านจะให้อาตมาเรียนตำรวจ

         ระหว่างที่อยู่กับท่าน อาตมาก็เรียนดนตรีไทย เป็นลูกศิษย์หลวงประดิษฐ์ไพเราะ แต่ตอนหลังอาตมาไม่ชอบเรียนตำรวจ มันไม่ถูกกับอัธยาศัย เลยกลับมาอยู่บ้าน พอปี ๒๔๙๑ ก็อุปสมบทที่วัดพรหมบุรี

         บวชได้ห้าพรรษา ท่านสมภารก็บอกให้อาตมาเข้ากรุงเทพฯ ไปเรี่ยไรเงินมาสร้างโบสถ์ อาตมาก็ไปกับลูกศิษย์ไปหาจอมพล ป. ท่านก็ทำบุญมาห้าพัน หลวงประดิษฐ์ไพเราะทำมาสองพัน พันตรีหลวงธาราคุณปู่ของอาตมาทำมาสามพัน แล้วพวกข้าราชการที่ใกล้ชิดจอมพล ป. ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นนายกรัฐมนตรีก็ช่วยกันคนละร้อยสองร้อย ก็ได้เงินมาหลายหมื่น

         วันจะกลับก็มีข้าราชบริพารของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ พาอาตมาเข้าเฝ้า พระองค์ก็พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาห้าพัน อาตมาก็เตรียมจะกลับ มีลูกศิษย์ไปด้วยหลายคน มีทั้งผู้ชายผู้หญิง ทีนี้ลูกศิษย์เขาก็อยากจะซื้อทองกัน เลยพาอาตมาไปเยาวราชเขาก็พากันเข้าไปซื้อทองในร้าน อาตมาก็ยืนรออยู่หน้าร้าน ก็มีตาแป๊ะเจ้าของร้านออกมานิมนต์ให้เข้าไปฉันน้ำชา แกก็ถามว่าอาตมามาจากไหน

         พอบอกว่าจากวัดพรหมบุรี แกก็เล่าว่าแกเคยอยู่ตลาดปากบาง อาตมาก็เอะใจ แกก็เล่าตั้งแต่หนีมาจากลพบุรีเพราะเขาไล่คนต่างด้าวออกจากเขตทหาร มารับซื้อขวดไปขาย ขายหมู กระทั่งมาขายทอง แกบอกชีวิตสมัยที่อยู่ปากบางนั้นตกระกำลำบากมาก ต้องหาบของขายจนบ่าด้านไปหมด ว่าแล้วแกก็สั่งให้ลูกสาวไปเอาเข่งกับไม้คานลงมาอวด อาตมาเห็นก็จำได้ อาตมาก็ลองถามแกว่าเคยถูกคนแกล้งไหม แกก็ว่ามีเด็กผู้ชายเกเรอยู่คนนึง ชอบด่าแกว่าไอ้เจ๊กบ้า แล้วก็ชอบขโมยขนมข้างพองแก พอแกขายหมูก็แอบขโมยหมูแกอีก

         อาตมาฟังแล้วขนลุก คิดในใจว่าจะบอกแกดีหรือไม่ดี ก็พอดีแกถามว่า “ท่างมากุงเทพฯ ทำไม” อาตมาก็บอกมาเรี่ยไรเงินไปสร้างโบสถ์ แกก็เดินไปที่ลิ้นชักหยิบเงินมาสองพัน บอกว่าร่วมทำบุญด้วย อาตมาก็เก็บเงินใส่ย่ามไว้อย่างมิดชิด กลัวแกจะทวงคืน แล้วก็สารภาพกับแกว่า “เตี่ย อาตมาขออโหสิกรรม เด็กเกเรที่เคยขโมยของเตี่ย เคยด่าเตี่ยน่ะคืออาตมาเอง” แกได้ยินดังนั้นก็ตกใจอ้าปากค้างเลย อาตมารีบพูดต่อว่า “เตี่ยอโหสิกรรมให้อาตมานะ ไหน ๆ อาตมาก็เป็นพระแล้ว และก็คงไม่เอาเงินคืน” พอแกหายตกใจ แกก็บอกอาตมาว่า “ท่างไม่ต้องเลียกอั๊วะว่าเตี่ยก็ล่าย เลียกไอ้เจ๊กบ๊ก หรือไอ้เจ๊กบ้าอย่างเลิมก็ล่าย อั๊วะไม่โกกเลี้ยวก็ไม่เอาเงินคึงล่วย แต่อั๊วะขอท่างอย่างเลียวเท่านั้ง” แกขออะไรอาตมา โยมเถ้าแก่รู้ไหม” ท่านถามเถ้าแก่เส็ง

         “ไม่ทราบครับ บุรุษวัยเจ็ดสิบเศษตอบ

         “ขอให้หลวงพ่อสึกไปแต่งงานกับลูกสาวแกใช่ไหมครับ” พระบัวเฮียวเดา

         “แหม! ถ้าขออย่างนั้นก็ดีน่ะสิ แต่นี่แกไม่ได้ขออย่างที่เธอเดา แกพูดกับฉันว่า “ท่าง บวกก็ลีเลี้ยว อั๊วะจาขอล้องว่าให้ท่างบวกอย่างนี้ตาหลอกไป อย่างล่ายสึกออกไปหล่าเจ๊กอีก” นี่แกว่าอย่างนี้ แหม ฉันงี้เจ็บแสบเข้าไปถึงข้อหัวใจ แทบจะคืนเงินให้แกไปเลยเชียวละ”

         “แล้วคืนหรือเปล่าครับ” นายสุขถาม

         “คืนทำไมล่ะโยม เงินเขาตั้งใจทำบุญ” เงียบกันไปพักหนึ่ง เถ้าแก่เส็งก็พูดขึ้นว่า

         “หลวงพ่ออย่าตกใจนะครับถ้าผมจะกราบเรียนให้ทราบความจริงอะไรบางอย่าง”

         “ความจริงอะไรของเถ้าแก่ล่ะ ว่าไปเถอะ อาตมาจะพยายามไม่ตกใจ” เมื่อท่านอนุญาต บุรุษวัยเจ็ดสิบเศษจึงพูดว่า

         “เจ๊กบ๊กที่หลวงพ่อเล่ามานั้นคือน้องชายแท้ ๆ ของผมที่หอบหิ้วกันมาจากเมืองจีนครับ” ท่านพระครูมีความรู้สึกเหมือนกับวันที่เสาเต๊นท์พุ่งมาปะทะหน้า ท่านร้องเรียกนายสมชายเสียงหลง

            “สมชายอยู่ไหนน่ะ ช่วยชงยาหอมมาให้หลวงพ่อด้วยเถอะ กำลังเป็นลม”..

         

         

มีต่อ........๓๗
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #39 เมื่อ: เมษายน 21, 2007, 08:06:39 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00037
๓๗...

            “หลวงพ่อครับ การแผ่เมตตา เราจะแผ่ให้คนเป็น ๆ ได้ไหมครับ” พระบัวเฮียวถามท่านพระครู

            “คนเป็น ๆ ของเธอน่ะมันเป็นอย่างไรล่ะ” คนถูกถามแกล้งทำไม่เข้าใจเพราะไม่คิดว่าลูกศิษย์จะถามอะไรเชย ๆ แบบนี้

            “คนเป็น ๆ ก็คือคนที่ไม่ตาย แล้วคนที่ตายก็คือคนที่ไม่เป็นน่ะครับ” เมื่ออาจารย์แกล้งมา ลูกศิษย์จึงแกล้งไปบ้าง

            “เธอตอบเกินคำถามแล้วนะบัวเฮียว ฉันให้เธออธิบายเฉพาะคนเป็น ๆ เธอก็อธิบายคนตาย ๆ มาด้วย ทั้งที่ฉันไม่ได้ถาม

            “ผมทราบนี่ครับว่าหลวงพ่อจะต้องถามต่ออีก เลยตอบ ๆ ไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด”

            “แปลว่าเธอได้ “เห็นหนอ” แล้วใช่ไหม ขอแสดงความยินดีด้วยนะ” ท่านยั่วอีก   

            “ผมยังไม่เก่งกาจขนาดนั้นหรอกครับหลวงพ่อ หมายถึงตอนนี้นะครับ แต่ต่อไปไม่แน่” คนพูดทำเขื่อง

            “นี่ขนาดยังไม่เก่งก็ยังเก่งถึงปานนี้ แล้วถ้าเก่งล่ะจะเก่งถึงปานไหน” อาจารย์เอ่ยชม ชมเผื่อไปถึงอนาคตด้วย       

            “ผมเพียงแต่เดาใจหลวงพ่อได้ถูกต้องเท่านั้นเองครับ ก็ถูกแกล้งเสียจนชิน ก็เลยรู้ทางหนีทีไล่” คนเป็นศิษย์ว่า

            “ผมไม่ได้ “หาว่า” นะครับ ก็หลวงพ่อเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ผมไม่ชอบใส่ร้ายป้ายสี ไม่เชื่อถามผมดูก็ได้ หลวงพ่อรังแกผมทุกครั้งที่โอกาสอำนวย บางครั้งโอกาสไม่อำนวย หลวงพ่อก็ยังรังแกเลย” พระบัวเฮียวถือโอกาส “แก้แค้น” ด้วยการต่อว่า

            “ก็ถ้าไม่รังแกเธอ แล้วจะไปรังแกใครเล่า”

            “นั่นไง หลวงพ่อสารภาพแล้ว” “โจทก์” พูดอย่างเป็นต่อ

            “สารภาพแล้วก็แปลว่าได้รับการลดโทษครึ่งหนึ่งใช่ไหม”

            “คงใช่มังครับ”

            “คง ไม่ได้ซี ภาษากฎหมายต้องระบุให้ชัดเจนลงไปเลย”

            “ผมไม่ได้เรียนกฎหมายมาครับ”

            “ฉันก็ไม่ได้เรียนแต่ฉันรู้เอง ใคร ๆ เขาก็ว่าฉันรู้ตั้งแต่ก่อนเกิด” อาจารย์ถือโอกาส “คุย” บ้าง”

            “แล้ว ใคร ๆ น่ะเชื่อถือได้แค่ไหนครับ เชื่อได้แค่ไหน”

            “ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็ต้องเชื่อได้นั่นแหละน่า”

            “เอาละครับ เป็นอันว่าหลวงพ่อได้ลดโทษไปครึ่งนึงเพราะยอมรับสารภาพ” คนเป็นลูกศิษย์สรุป

            “พอดีฉันมีโทษแค่ครึ่งเดียว พอได้ลดครึ่งก็เลยหมดพอดี เรียกว่าเจ๊ากันไป”

            พระบัวเฮียวเห็นไม่ได้การ ถ้ามัวพูดเลอะเลือนเลื่อนเปื้อนแบบนี้ไม่ได้การแน่ จึงวกกลับมาพูดเรื่องเดิม

            “แหม หลวงพ่อครับ ผมถามนิดเดียว หลวงพ่อแถมให้เป็นกิโล ๆ เลย”

            “แล้วไม่ชอบหรือไง สมัยนี้เขาต้องมีของแถมกันทั้งนั้น ซื้อไม้จิ้มฟันแถมโลงศพอะไรเทือกนี้”

            “แต่ผมไม่ชอบของแถมหรอกครับ สินค้าที่มีของแถมมันแสดงถึงว่าคุณภาพไม่ดี ถ้าดีไม่ต้องมีของแถมคนก็แย่งกันซื้อ จริงไหมครับ”

            “จริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้” คนตอบเล่นลิ้น ท่านเคร่งเครียดกับ ธุระของคนอื่นมามากแล้ว มีพระบัวเฮียวนี่แหละที่ช่วยให้คลายเครียดได้

            “งั้นเอาจริงก็แล้วกันนะครับ ผมมันคนจริง เอาละครับ ทีนี้หลวงพ่อตอบคำถามผมด้วยเถอะครับ ที่ผมถามว่าเราแผ่เมตตาให้คนเป็น ๆ จะได้หรือไม่” พระหนุ่มต้องทวนคำถาม มิฉะนั้นท่านพระครูจะต้องย้อนว่า “เธอถามว่ายังไงล่ะ” เมื่อลูกศิษย์ถามจริงจัง อาจารย์จึงตอบว่า

            “ได้สิบัวเฮียว ทำไมจะไม่ได้ล่ะ”

            “ถ้าย่างนั้นผมจะแผ่เมตตาไปให้โยมแม่กับผัวเขา หลวงพ่อว่าเขาจะได้รับไหมครับ”

            ท่านพระครูมองหน้าลูกศิษย์พลางประเมินผลในใจ “แบตเตอรี่ลูกนี้ชาร์จไฟไว้เต็ม หม้อก็ไม่รั่ว จึงพร้อมที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกเมื่อ” คิดดังนี้แล้ว จึงตอบว่า

            “ได้อย่างแน่นอน เธอปฏิบัติได้ถึงขั้นแล้ว แม้จะยังไม่ได้ “เห็นหนอ” แต่ก็สามารถแผ่เมตตาไปให้ผู้อื่นได้” พระบัวเฮียวแสนจะดีใจ จนลืมกำหนด “ดีใจหนอ” พระอุปัชฌาย์จึงกล่าวเตือนว่า

            “บัวเฮียว ทำไมไม่กำหนด “ดีใจหนอ” ล่ะ” พระหนุ่มปฏิบัติตาม เมื่อข่มความยินดีลงได้แล้ว จึงพูดขึ้นว่า

            “สองสามวันมานี่ไม่รู้ว่าเป็นอะไรครับหลวงพ่อ ผมคิดถึงแต่โยมแม่ ไม่รู้แกสุขสบายดีหรือเปล่า ผมเคยเขียนจดหมายทิ้งไปเมื่อก่อนปีใหม่ แกก็เงียบงอมไปเลย ได้รับหรือเปล่าก็ไม่รู้”

            “ก็เธอเขียนทิ้งไปใครเขาจะได้รับล่ะ ต้องเขียนส่งไปเขาถึงจะได้รับ” ท่านพระครูยังอยากยั่วต่อ

            “หลวงพ่อว่าแกได้รับหรือเปล่าครับ” คนถูกยั่วไม่ยั่วตอบ หากถามเป็นงานเป็นการ ท่านต้องการให้พระอุปัชฌาย์ใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบให้

            “ได้รับซี” ท่านพระครูเผลอตกหลุมพรางจนได้ ที่จริงพระบัวเฮียวไม่ได้ตั้งใจจะ “ต้อน” พระอุปัชฌาย์ แต่เมื่อโอกาสเป็นของท่านแล้วจะละเลยเสียก็กระไรอยู่ อีกประการหนึ่งท่านก็ได้รับคำตอบเป็นที่พอใจแล้ว จึงขอ “เวลานอก” ยั่วอาจารย์เล่นแก้เซ็ง

            “อ้าว ก็ไหนหลวงพ่อบอกว่าทิ้งไปไม่ได้รับ ต้องส่งไปถึงจะได้ แล้วทำไมโยมแม่ผมได้รับล่ะครับ ในเมื่อผมทิ้งไป”

            “เออน่า ฉันช่วยให้เขาได้รับเองแหละ” ท่านพระครูถือโอกาสพูดเอาบุญเอาคุณ คนเป็นศิษย์จึงกลับมาพูดเป็นงานเป็นการอีกว่า

            “หลวงพ่อครับ ถ้าอย่างนั้นคืนนี้ เวลาสองทุ่มผมจะนั่งสมาธิแผ่เมตตาไปให้โยมแม่กับผัวเขา ผมจะนั่งไปจนถึงสองโมงเช้าเลยนะครับ”

            “เธอนั่งได้นานขนาดนั้นหรือ ตั้งสิบสองชั่วโมงเชียวนะ”

            “ผมทำได้ครับหลวงพ่อ ผมเคยนั่งมาแล้ว”

            “ดีจริง ฉันขออนุโมทนาด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอนั่งหลับนะ” พระอุปัชฌาย์ยังสงสัย

            “ไม่หลับครับหลวงพ่อ ผมมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาที่นั่ง หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ท้องพองก็รู้ว่าพอง ท้องยุบก็รู้ว่ายุบ เจ็บปวดตรงไหนก็กำหนด ผายลมกี่ครั้งก็กำหนดทุกครั้ง” ลูกศิษย์สาธยายเสียยืดยาว อาจารย์กำลังจะบอกให้หยุด ก็พอดีคนเป็นศิษย์หยุดเองเสียก่อน

            “ทีหลังไม่ต้องอธิบายละเอียดอย่างนี้ก็ได้ ฉันรู้แล้วว่าเธอปฏิบัติได้จริง เร่งทำความเพียรเข้าจะได้ใช้หนี้เวรหนี้กรรมให้หมด พระบัวเฮียวก็ถึงกับขนลุก จึงกำหนด “ขนลุกหนอ” ด้วยสติอันว่องไวที่ได้ฝึกไว้ดีแล้ว

            “หลวงพ่อครับ พรุ่งนี้ตีสี่ผมไม่ต้องลงโบสถ์ได้ไหมครับ เพราะผมยังอยู่ในสมาธิ”

            “ได้ เพราะถือว่าเธอกำลังปฏิบัติอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้ปฏิบัติร่วมกับคนอื่น ๆ แต่ก็ไม่ถือว่าผิดกติกาแต่ประการใด เมื่อเธอนั่งจนครบสิบสองชั่วโมงแล้ว ให้ถอนจิตออกจากสมาธิเสียก่อน แล้วจึงค่อยแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา เธอเข้าใจแล้วใช่ไหม”

            “เข้าใจครับ ขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาผมมาโดยตลอด บุญของผมแท้ ๆ ที่ได้มาพบพระอุปัชฌาย์ที่ประเสริฐเช่นหลวงพ่อ” พูดพร้อมกับก้มลงกราบด้วยความสำนึกในบุญคุณ

            “หลวงพ่อครับ เราแผ่เมตตาข้ามทวีปได้ไหมครับ” พระบัวเฮียวถามขึ้นอีก

            “ได้ แต่คนแผ่จะต้องมีพลังสมาธิกล้าแข็งพอ ต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง เคยมีนะ เคยมีคนทำมาแล้วที่วัดนี้แหละ”

            “ใครครับ เดี๋ยวนี้ยังอยู่ที่วัดนี้หรือเปล่าครับ” ท่านคิดไปถึงพระมหาบุญ คงเป็นพระมหาบุญนั่นเอง

            “ไม่อยู่แล้ว เป็นชาวนอรเว มาบวชที่วัดนี้แล้วปฏิบัติเคร่งครัดมาก จนสามารถแผ่ส่วนกุศลไปให้พ่อแม่กับปู่เขาที่นอรเวได้ เอาเถอะถ้าเธออยากรู้เรื่องวันหลังจะเล่าให้ฟัง

            “ถ้าอย่างนั้นการที่คหบดีและครอบครัวช่วยกันแผ่เมตตาไปให้ลูกชายคนโตที่อเมริกาก็ได้ซีครับ”

            พูดถึงคหบดีท่านพระครูก็นึกได้จึงวาน “เห็นหนอ” ตรวจสอบแล้วก็รู้เรื่องเดี๋ยวนั้น จึงตอบ

            “ได้ซี แล้วตอนนี้ก็เข้าสุสานไปแล้ว คหบดีกับภรรยาเดินทางไปรับศพเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานี่เอง”

            “แบบนี้ก็ไม่ดีซีครับ แผ่เมตตาไปทำให้เขาตาย ถ้าไม่แผ่เขาอาจจะยังไม่ตายก็ได้”

            “ดีสิบัวเฮียว ทำไมจะไม่ดีล่ะ ก็คนติดยาน่ะมีความสุขนักหรือ เขาตายไปจะได้หมดเวรหมดกรรม แล้วก็จะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีกว่า ถึงอย่างไรคนที่ติดยาก็อายุสั้นอยู่แล้ว ตายแบบได้รับส่วนกุศลกับตายแบบไม่ได้รับน่ะ อย่างไหนจะดีกว่ากัน เธอคิดเอาเองก็แล้วกัน”

         “แต่พ่อแม่เขาจะคิดจะเข้าใจเหมือนที่ผมกับหลวงพ่อเข้าใจหรือเปล่าก็ไม่รู้”

            “เขาเข้าใจ คนที่เขาปฏิบัติจะเข้าใจธรรมชาติของชีวิตได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ ฉันก็บอกเขาเป็นนัย ๆ แล้ว อีกประการหนึ่ง การตายของลูกจะช่วยชีวิตพ่อเอาไว้ คหบดีเขาตั้งใจจะเลิกค้ายาเสพย์ติด เธอก็รู้ของอย่างนี้ใครลงได้เข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว คิดถอนตัวเป็นต้องตายทุกราย”

            “เป็นอะไรตายครับ”

            “ไข้โป้ง” ท่านพระครูตอบหน้าตาเฉย

            “ร้ายแรงขนาดนั้นเชียวหรือครับ เจ้าไข้โป้งที่ว่านี่ แล้วมียารักษาไหมครับ” พระหนุ่มถามซื่อ ๆ

            “บัวเฮียว”

            “ครับ”

            “นี่เธอไม่เข้าใจจริง ๆ หรือว่าแกล้งไม่เข้าใจกันแน่ เธอไม่รู้จริง ๆ น่ะ หรือว่าไข้โป้งหมายถึงอะไร

            “ไม่ทราบจริง ๆ ครับ มันหมายถึงอะไรครับ”

            “จ้างฉันก็ไม่บอกเธอ” พระอุปัชฌาย์ถือโอกาสเล่นตัว

            “แล้วถ้าไม่จ้างหลวงพ่อจะบอกไหมครับ ผมไม่มีเงินจ้าง

            “เธอจะรู้ไปทำไมเล่า”

            “ก็เผื่อหลวงพ่อเป็นผมจะได้บอกหมอถูกไงครับ”

            “ไม่ต้องหรอก รับรองว่าฉันไม่ตายด้วยไข้โป้งอย่างแน่นอน รับรองว่าไม่ใช่” อาจารย์ตอบเสียงหนักแน่น

            “แล้วหลวงพ่อจะตายด้วยอะไรล่ะครับ” พูดไปแล้วก็ให้รู้สึกเสียใจ จึงก้มลงกราบขอขมาพระอุปัชฌายาจารย์

            “ผมกราบขอโทษหลวงพ่อด้วยครับ ผมไม่ได้ตั้งใจจะลามปาม แต่ปากมันพาไป หลวงพ่อโปรดอย่าถือโทษผมเลยนะครับ ผมมันพวกขี้กลากเหล็ก ชอบลามปามโดยไม่เลือกกาลเทศะ” พระหนุ่มตำหนิตัวเองเสียยืดยาว ท่านพระครูไม่ได้โกรธคนเป็นศิษย์ ท่านตอบเสียงเรียบว่า “ฉันตายด้วยอะไรน่ะหรือ เธอฟังนะบัวเฮียว ฟังแล้วก็จดจำเอาไว้ ฉันยังไม่เคยบอกเรื่องนี้แก่ใคร เธอเป็นคนแรกที่รู้” ท่านนิ่งไปอึดใจหนึ่ง แล้วจึงพูดด้วยเสียงและอากัปกิริยาที่เป็นปกติว่า

            “ฉันจะตายด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำ เดี๋ยวเธอกลับไปจดบันทึกไว้เลยนะว่า วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ เวลาเที่ยงสิบห้า ท่านพระครูเจริญต้องมรณภาพเพราะอุบัติเหตุรถคว่ำ”

            หากพระบัวเฮียวส่องกระจกตอนนี้ ก็จะพบว่าใบหน้าของท่านซีดขาว เหมือนปราศจากโลหิตมาหล่อเลี้ยง คำบอกเล่าของผู้เป็นอาจารย์ทำให้ท่านตระหนก อีกสี่ห้าปีข้างหน้า บุคคลที่ให้แสงสว่างแก่ชีวิตท่านจะต้องลาลับไปจากโลกนี้ ภิกษุหนุ่มบังเกิดความรู้สึกเศร้าใจจนสุดจะพรรณนา ท่านต้องกำหนด “เศร้าใจหนอ เศร้าใจหนอ” อยู่นาน กระทั่งมันบรรเทาเบาบางลง จึงถามพระอุปัชฌาย์ว่า
            “ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นครับหลวงพ่อ ทำไม”

            “มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นแหละบัวเฮียว เหตุปัจจัยที่ว่านี้คือกรรมนั่นเอง เธออย่าทำหน้าซีดอย่างนั้นเลยน่า ขอทีเถอะ คนที่จะตายคือฉันไม่ใช่เธอ เลิกทำหน้าซีด ๆ แบบนั้นได้แล้ว” ท่านยังมีแก่ใจยั่ว

            “โธ่ หลวงพ่อครับ ขนาดหน้าสิ่งหน้าขวานอย่างนี้ หลวงพ่อยังใจเย็นอยู่ได้ แล้วผมก็ไม่ได้ทำแกล้งหน้าซีดนะครับ มันซีดของมันเองเพราะผมไม่อยากให้หลวงพ่อตาย และถ้าให้ผมตาย แทนที่จะเป็นหลวงพ่อ ผมก็ยินดีครับ อนุญาตให้ผมได้ทดแทนพระคุณของหลวงพ่อด้วยการตายแทนเถิดครับ” พระบัวเฮียวพูด เป็นการพูดที่ออกมาจากใจจริง ทว่าคนฟังกลับรู้สึกปลงอนิจจัง ที่ลูกศิษย์ของท่านช่างคิดและพูดเหมือนคนที่ไม่เคยปฏิบัติกรรมฐานมาก่อนเลยในชีวิต

            “น่าอนาถใจ อุตส่าห์ปฏิบัติมาตั้งหลายเดือน นึกว่าจะก้าวหน้าไปถึงไหน ๆ ที่แท้ก็ไปไม่ถึงไหนเลย บัวเฮียวนะบัวเฮียว” ท่านพูดพลางทอดถอนใจ

            “หลวงพ่อหมายถึงผมหรือหมายถึงใครครับ” คนเป็นศิษย์ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านพูด

            “ก็ฉันกำลังพูดอยู่กับใครล่ะ”

            “พูดอยู่กับผมครับ ท่านพระครูเจริญกำลังพูดกับพระบัวเฮียว หลวงพ่อยังไม่ทันแก่ซักเท่าไหร่หลงซะแล้ว ไม่น่า”

            “ฉันน่ะหรือหลง ผิดไปละมั้ง คนที่หลงน่าจะเป็นเธอมากกว่า มีอย่างที่ไหน อุตส่าห์ปฏิบัติกรรมฐานมาตั้งหลายเดือน ยังมาพูดได้ว่าจะตายแทนฉัน ช่างไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมเอาเสียเลย ถ้าคนเราทำกรรมแทนกันได้ พรุ่งนี้เช้าเธอก็ไม่ต้องฉันเช้าหรอกนะ ฉันจะฉันแทนแล้วให้เธอเป็นคนอิ่ม เอายังงั้นไหม”

            “มันจะเป็นไปได้อย่างไรครับ คนไหนกินคนนั้นก็ต้องอิ่มซีครับ คนอื่นจะมาอิ่มแทนได้อย่างไร” พระบัวเฮียวว่า

            “มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นแหละ ในทำนองเดียวกัน การที่เธอจะมาตายแทนฉันมันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉันเป็นคนทำกรรม ฉันก็ต้องเป็นผู้รับผลของมัน”

            “ผมเห็นหลวงพ่อทำแต่กรรมดี หลวงพ่อสั่งสอนอบรมให้คนเป็นคนดี และยังสงเคราะห์ช่วยเหลือเขาด้วยความเมตตา โดยไม่ต้องการผลตอบแทน หลวงพ่อไม่เคยคิดถึงความสุขของตัวเองด้วยซ้ำ แล้วทำไมจะต้องประสบเคราะห์กรรมแบบนั้น หรือว่านั่นคือผลตอบแทนของการทำกรรมดี ผมไม่เข้าใจเลยว่า เหตุใดโลกมันถึงอยุติธรรมอย่างนี้ ไม่เข้าใจจริง ๆ ครับ หลวงพ่อ” พระหนุ่มรำพึงรำพัน

            “ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกบัวเฮียว อย่าเข้าใจผิด จะไว้เถิดว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว จริงอยู่ ใคร ๆ อาจจะเห็นว่าฉันทำแต่กรรมดี แต่กรรมชั่วที่ฉันทำพวกเขาไม่เคยเห็น”

            “หมายความว่าลับหลังคนอื่น ๆ หลวงพ่อแอบทำกรรมชั่วหรือครับ เป็นไปไม่ได้ ยังไง ๆ ผมก็ไม่เชื่อ หลวงพ่อไม่ใช่คนแบบนั้นแน่นอน”

            “แบบไหน แบบที่เรียกว่าหน้าไหว้หลังหลอกใช่ไหม เธอคิดว่าฉันจะเป็นอย่างนั้นหรือ”

            “ไม่คิดครับ ไม่คิด ไม่เคยคิด และ จะไม่คิด”

            “บัวเฮียว เธอรู้จักฉันมานานแค่ไหนเชียว” พระหนุ่มนับนิ้วแล้วตอบว่า

         “สี่เดือนครับ”

         “เพียงสี่เดือน แล้วเธอจะแน่ใจได้อย่างไรว่าฉันไม่เคยทำกรรมชั่ว”

            “อย่าว่าแต่สี่เดือนเลยครับ ถึงผมรู้จักหลวงพ่อสี่วัน ผมก็แน่ใจว่าคนอย่างหลวงพ่อไม่ทำ ถึงผมไม่ได้ “เห็นหนอ” อย่างหลวงพ่อ แต่ผมก็มั่นใจในสิ่งที่ผม “เห็น” โดยไม่มี “หนอ” ครับ”

            “เอาละเมื่อเธอมั่นใจอย่างนั้นก็ดีแล้ว ฉันก็จะได้บอกเธอเสียให้หมดเรื่อง จะได้หายสงสัย ฉันต้องประสบอุบัติเหตุคอหักตายเพราะกรรมชั่วที่ฉันเคยทำไว้ ฉันทำกรรมชั่วมามากเหลือเกินบัวเฮียวเอ๋ย” ท่านพูดอย่างปลงสังเวช

         “ทำไว้เมื่อชาติก่อน ๆ หรือครับ”

         “ชาตินี้แหละ เธอไม่รู้อะไร สมัยที่ฉันเป็นวัยรุ่น อายุสิบสองสิบสามน่ะ เกสะบัดเลย ใคร ๆ เขาเรียกฉันไอ้มหาโจรกันทั้งบาง นั่นแหละช่วงนั้นแหละที่ฉันก่อกรรมทำเข็ญไว้มากแล้วก็ต้องมานั่งชดใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้”

         “ที่หลวงพ่อบอกว่าต้องรถคว่ำคอหัก เพราะกรรมอะไรครับ” คนเป็นศิษย์ถามใคร่อยากรู้

         “หักคอนกน่ะซี เธอรู้ไหมฉันหักคอนกมาเป็นร้อย ๆ ตัวก็เลยต้องมาใช้หนี้นก ก็ดีจะได้ชดใช้เสียให้เสร็จสิ้นไป” พระบัวเฮียวเพิ่งจะเข้าใจได้เดี๋ยวนั้น กฎแห่งกรรมช่างเที่ยงตรงนัก ใครทำกรรมไว้เช่นไรก็ต้องได้รับผลเช่นนั้น จะมั่งมีหรืออยากจนอย่างไร ก็ไม่อาจหนีพ้นกรรมที่ตนทำไปได้ แล้วท่านก็นึกถึงกรรมของตัวเอง กรรมที่เคยฆ่าวัวฆ่าควาย

         “หลวงพ่อครับ แล้วผมจะชดใช้กรรมเมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังหลวงพ่อ”

         “เธออยากใช้ก่อนหรือหลังล่ะ”

         “ก่อนซีครับ ถ้าหลวงพ่อมรณภาพไปแล้วใครเล่าจะมาช่วยผม”

         “อ้อ ที่เธอแสดงอากาศเศร้าโศกเสียใจออกมานี่ก็เพราะห่วงตัวเองหรอกหรือ ฉันนึกว่าเธอห่วงฉันเสียอีก ที่แท้ก็ห่วงตัวเองนี่เอง” ท่านพูดยิ้ม ๆ พระบัวเฮียวรู้สึกคลายเครียดลง ตอบผู้เป็นอาจารย์ว่า

         “ก็หลวงพ่อเคยสอนผมนี่ครับว่า ...บุคคลตามค้นไปด้วยใจตลอดทิศ ก็มิได้พบผู้ที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนที่ไหนเลย ...หลวงพ่อพูดอย่างนี้ใช่ไหมครับ”

         “ฉันไม่ได้พูด ฉันเพียงแต่อ้างพุทธพจน์มาให้เธอฟังเท่านั้น เอาละ เอาละ สรุปว่าเธอรักตัวเองมากที่สุดก็แล้วกัน”

         “แล้วหลวงพ่อล่ะครับ หลวงพ่อรักใครมากที่สุด” คนเป็นศิษย์ย้อนถาม

         “ฉันก็รักตัวเองมากที่สุดเหมือนเธอนั่นแหละ ก็ฉันเป็นศิษย์พระพุทธองค์ก็ต้องเชื่อตามคำสอนของท่าน ใคร ๆ ก็รักตัวเองมากที่สุดด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นถ้ามีใครมาบอกว่า เขารักเธอมากกว่าตัวเขา ก็เชื่อได้เลยว่า เขาพูดปด”

         “นั่นซีครับ มีเรื่องเขาเล่ากันสนุก ๆ ว่า ผู้หญิงกับผู้ชายเป็นคู่รักกัน นั่งพลอดรักกันที่ใต้ต้นมะพร้าว ผู้ชายก็บอกผู้หญิงว่าเขารักหล่อนมาก สามารถตายแทนได้ ผู้หญิงบอกจ้างก็ไม่เชื่อ พอดีมะพร้าวหล่นลงมา ผู้ชายรีบเอามือทั้งสองกุมหัวตัวเองไว้ก่อน ผู้หญิงเขาเลยจับโกหกได้”

         “นั่นแหละ แล้วเธอก็อย่าไปเที่ยวโกหกใครต่อใครเขาแบบนั้นก็แล้วกัน”

         “ไม่หรอกครับหลวงพ่อ เอ หลวงพ่อครับ แล้วโยมวรรณวิไล กับคุณโยมผ่องพรรณล่ะครับ หลวงพ่อเคยพูดไว้ว่าอีกแปดปีเขาจะมาหาหลวงพ่อ ถ้าหลวงพ่อมรณภาพเสียแล้ว เขาจะมาพบใครเล่าครับ” พระหนุ่มแสดงความห่วงใยไปถึงสองศรีพี่น้อง

         “แหม จำแม่นจริงนะ แต่ที่เธอถามมานั้นฉันก็ยังตอบไม่ได้ เพราะ “เห็นหนอ” บอกมาอย่างนั้นฉันก็ต้องพูดไปตามนั้น มันก็ขัด ๆ กันอยู่นะ แต่เธอไม่ต้องวิตกหรอก มันเรื่องของอนาคต เอาปัจจุบันให้ดีที่สุดก็แล้วกัน เรื่องอดีต เรื่องอนาคตไม่ต้องไปพะวงถึง เข้าใจหรือยังล่ะ ถ้าเข้าใจแล้วก็กลับกุฏิได้ สองทุ่มจะปฏิบัติกรรมฐานไม่ใช่หรือ ฉันขออวยพรให้ประสบความสำเร็จนะบัวเฮียว”

มีต่อ........๓๘
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #40 เมื่อ: เมษายน 21, 2007, 08:07:17 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00038
๓๘...

            พระบัวเฮียวออกจาก “ผลสมาบัติ” เมื่อเวลาแปดนาฬิกาตรงของวันรุ่งขึ้น ท่านแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลไปให้มารดาและพ่อเลี้ยง พร้อมกันนั้นก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้บุคคลทั้งสองเลิกทำปาณาติบาตอันเป็นมิจฉาอาชีวะ หันมาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ

            ท่านรู้สึกถึง “พลัง” ที่แผ่ออกไปจากตัว และเกิดความมั่นใจอย่างประหลาดว่านางบุญพาและนายหรุ่ม สามีของนางต้องได้รับส่วนแห่งบุญกุศลนั้นอย่างแน่นอน

            เสร็จกิจธุระอันสำคัญนั้นแล้ว ท่านจึงสรงน้ำทำความสะอาดร่างกาย รู้สึกตัวเบา สดชื่นกระปรี้กระเปร่าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อำนาจแห่งบุญกุศลอันเกิดจาก “ภาวนามัย” ช่างประณีตลึกซึ้ง และ “จิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว” เท่านั้นจึงจะสัมผัสได้

            เลยเวลาอาหารเช้าร่วมครึ่งชั่วโมง ท่านไม่รู้สึกหิวจึงเริ่มเดินจงกรมและตั้งใจจะนั่งสมาธิไปจนถึงสิบเอ็ดนาฬิกาอันเป็นเวลาเพล ต่อจากนั้นจึงจะแผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดา ญาติพี่น้อง เทพยดา เปรต และสรรพสัตว์ทั้งหลายทุกภพทุกภูมิที่อยู่ในทุกทิศโดยไม่มีประมาณ และที่จะลืมเสียมิได้ก็คือ เจ้ากรรมนายเวรของท่าน บางทีพวกเขาอาจพากันอโหสิกรรมให้ หรือไม่ก็ให้ท่านได้ชดใช้กรรมเร็วขึ้น อย่างช้าก็ขอให้ก่อนเวลาที่พระอุปัชฌายาจารย์ของท่านจะมรณภาพเพื่อ “ใช้หนี้นก”

            เดินจงกรมได้ชั่วโมงเศษจึงกำหนดนั่ง รู้สึกสมาธิตั้งมั่นได้รวดเร็วกว่าทุกครั้ง การกำหนดพอง – ยุบ ชัดเจนและสม่ำเสมอ อาการปวดเมื่อยต่าง ๆ ไม่ปรากฏ ท่านรู้สึกสบายกายสบายใจตลอดเวลาที่นั่ง มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม และสามารถประคองจิตไว้ไม่ให้ตกภวังค์

            กระทั่งได้ยินเสียงระฆังเพลจึงถอนจิตออกจากสมาธิ แล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปยังเทพยดา และสรรพสัตว์ทั้งหลาย จากนั้นจึงเดินไปยังหอฉันเพื่อฉันภัตตาหารเพล

            เมื่อท่านกำลังจะก้าวเท้าขึ้นบันไดหอฉัน ก็ได้ยินเสียงเรียกอยู่ข้างหลัง หันไปดูก็พบชายวัยกลางคนนั่งคุกเข่ากับพื้นซีเมนต์ มือประคองถาดอาหาร เป็นถาดทรงกลมทำด้วยกระเบื้องลายคราม ในถาดมีชามชุดบรรจุอาหารพร้อมฝาครอบตรงกลางถาดมีแก้วใส่น้ำไว้เกือบเต็ม

            “ท่านบัวเฮียว เราขออนุโมทนาในส่วนกุศลที่ท่านได้ทำแล้ว ขอถวายอาหารมื้อนี้แก่ท่าน โปรดรับประเคนด้วย” พระบัวเฮียวยื่นมือทั้งสองออกไปรับถาดอาหาร แล้วถามขึ้นว่า

            “โยมมาจากไหน แล้วทำไมถึงรู้จักอาตมา” ท่านไม่เคยเห็นบุรุษผู้นี้มาก่อน ท่าทางเขามีอะไร ๆ ที่ผิดไปจากคนธรรมดา แม้จะแต่งตัวเหมือนชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ทว่าผิวพรรณดูละเอียดผุดผ่อง ทั้งยังมีกลิ่นหอมจาง ๆ ลอยออกจากกาย เป็นกลิ่นที่จมูกของพระบัวเฮียวไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

            “เราอาศัยอยู่แถวนี้ แต่ไม่เคยมาให้ใครเห็น นอกจากท่านพระครูแล้วก็มีท่านนี่แหละที่เห็นเรา” เสียงนั้นฟังกังวาน แม้จะไม่มีคำว่า “ครับ” หากก็ฟังไม่ขัดหู

            “ขอบใจโยมมาก เชิญขึ้นข้างบนก่อนสิจะได้คุยกัน”

            “ไม่หรอก เราจะรีบกลับ เราไปละ” บุรุษนั้นก้มลงกราบสามครั้งแล้วลุกเดินออกไปทางประตูหลังวัด พระบัวเฮียวคิดว่าเขาคงเป็นชาวบ้านฝั่งโน้นพายเรือข้ามฟากมา จึงอยากไปดูให้เห็นกับตา วางถาดใบนั้นไว้ตรงหัวบันไดแล้วเดินตามออกไปติด ๆ ครั้นพ้นประตูวัดออกไป กลับไม่พบผู้ใดเดินอยู่แถวนั้นแม้แต่คนเดียว มองลงไปในลำน้ำก็ไม่พบเรือแม้แต่ลำเดียวเช่นกัน ท่านจึงเดินกลับหอฉันด้วยความฉงนฉงาย คิดว่าฉันเสร็จจะต้องไปเรียนถามท่านพระครูให้หายข้องใจ

            พระบัวเฮียวหยิบถาดอาหารตรงหัวบันไดขึ้นมา ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้วจึงเปิดฝาครอบออกทีละใบ ชามแรกเป็นข้าวสวย ชามที่สองเป็นน้ำพริก ชามที่สามเป็นผักต้ม มองเผิน ๆ ก็เป็นอาหารพื้น ๆ ของพวกชาวบ้าน ทว่ากลิ่นนั้นหอมหวนชวนรับประทานยิ่งนัก ท่านใช้ช้อนตักน้ำพริกราดลงบนข้าวแล้วใช้ส้อมจิ้มผักต้มมาวางบนน้ำพริก ตักใส่ปากกำหนด “เคี้ยวหนอ ๆ” กระทั่งถึง “กลืนหนอ” แล้วก็ให้รู้สึกอิ่มแปล้ทั้งที่ฉันไปเพียงคำเดียว ท่านยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม แล้วหันไปบอกพระที่นั่งข้าง ๆ

            “ลองน้ำพริกผักต้มนี่ดูสักคำสิท่าน รสชาติอร่อยดีแท้”

            “อร่อยก็กำหนด “รสหนอ” ซีท่าน อย่างไปปรุงแต่ง” ภิกษุรูปนั้นถือโอกาส “สอน” แล้วพูดต่อไปว่า

            “วันพระวันโกนเขาก็ต้องฉันหมูเห็ดเป็ดไก่ เรื่องอะไรจะไปฉันน้ำพริก เบื่อจะแย่อยู่แล้ว” ท่านพูดเพราะไม่ได้ “กลิ่น” อย่างที่พระบัวเฮียวได้ ในสายตาของภิกษุรูปนั้น สิ่งที่อยู่ในถาดก็คือน้ำพริกผักต้มธรรมดาที่แสนจะเบื่อหน่าย

            ระหว่างที่นั่งรอพระรูปอื่น ๆ ฉัน พระบัวเฮียวก็กำหนดสติ ด้วยการพิจารณา “พอง – ยุบ” ที่ท้อง จิตของท่านเริ่มจะชินกับการเจริญสติอยู่ทุกอิริยาบถ

            “เป็นไง วันนี้อาหารไม่ถูกปากหรือยังไง ฉันน้อยเหลือเกิน” พระมหาบุญถามอย่างเป็นห่วง

            “หามิได้ครับ ผมอิ่มและรู้สึกมีความสุขมาก หลวงพี่ไม่ลองสักคำหรือครับ” พูดพลางส่งชามผักและน้ำพริกให้ พระมหาบุญตักมาชิมอย่างเสียไม่ได้ ในความรู้สึกของท่านมันก็เป็นอาหารธรรมดา ๆ ที่ไม่มีรสมีชาติอะไร พระบัวเฮียวมิรู้ดอกว่าสิ่งที่ตนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตัว

            เมื่อฉันเสร็จและ “ยถาสัพพี” พร้อมกับภิกษุรูปอื่น ๆ แล้ว พระบัวเฮียวก็เดินตรงมายังกุฏิท่านพระครู เป็นเวลาเดียวกับที่ท่านเจ้าของกุฏิบอกให้บรรดา “ผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์” ทั้งหลายพากันไปรับประทานอาหารที่โรงครัว แล้วท่านก็ไม่ได้ขึ้นไปเขียนหนังสือข้างบน เพราะรู้ว่าพระบัวเฮียวจะต้องมาหา

            เพียงอึดใจเดียวพระหนุ่มก็มา หากคราวนี้มาในมาดใหม่ คือมาดของ “ผู้มีใบหน้าอันเปื้อนสุข” กราบพระอุปัชฌาย์สามครั้งแล้ว พระหนุ่มจึงเริ่มเรื่อง

            “หลวงพ่อครับ ผมปฏิบัติได้ตามที่เคยกราบเรียนหลวงพ่อไว้ทุกประการ”

            “ดีมาก ฉันขออนุโมทนา” อาจารย์ยกมือขึ้น “สาธุ”

            “แต่มันมีเรื่องสงสัยเกิดขึ้นแล้วครับหลวงพ่อ ผมสงสัยจริง ๆ แล้วก็รู้ว่าหลวงพ่อต้องแก้ข้อสงสัยให้ได้”

            “แหม รู้สึกว่าเธอจะมีวิจิกิจฉานิวรณ์มากจังนะบัวเฮียวนะ” พระอุปัชฌาย์ว่า

            “มันไม่ใช่วิจิกิจฉานิวรณ์หรอกครับหลวงพ่อ มันสงสัยยังไงก็บอกไม่ถูก รู้แต่ว่ามันไม่ใช่นิวรณ์แต่เป็นอะไรก็ไม่รู้”

            “งั้นก็ลองเล่าไปซิ” พระบัวเฮียวจึงเล่าเรื่องบุรุษผู้นั้นนำอาหารมาถวาย เล่าอย่างละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบ

            “ฉันขออนุโมทนา” ท่านพระครูพูดพร้อมกับยกมือขึ้น “สาธุ” พระบัวเฮียวรู้สึกงุงงงหนักขึ้น กำลังจะเอ่ยปากถาม ท่านพระครูก็พูดขึ้นว่า

            “ฉันขออนุโมทนา เธอปฏิบัติได้ก้าวหน้ามากที่สุดในบรรดาพระภิกษุที่อยู่วัดนี้ รู้ไว้เสียด้วย ผู้ชายที่นำอาหารมาให้เธอเมื่อสักครู่นี้น่ะคือ เทวดา ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดาอย่างที่เธอเข้าใจหรอกนะ”

         “เทวดา” พระบัวเฮียวทวนคำ

            “จะเป็นไปได้อย่างไรครับหลวงพ่อ” ถามอย่างข้องใจเต็มประดา

            “ได้หรือไม่ได้มันก็เป็นไปแล้ว เธอจำไม่ได้หรือที่เขาพูดกับเธอว่านอกจากฉันแล้ว เธอเป็นคนที่สองที่ได้เห็นเขา”

            “คงจะจริงครับ เอ แล้วพวกถาดกับถ้วยชามของเขาเล่าครับ ผมไม่ได้เอาลงมาจากหอฉัน แล้วก็ไม่รู้จะเอาไปคืนให้ที่ไหน” พระหนุ่มเกิดห่วงเรื่องถ้วยชาม

            “อย่ากังวล เรื่องนั้นไม่ต้องกังวล ของเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เขาเนรมิตขึ้นมา เดี๋ยวเขาก็เรียกกลับคืนไปได้”

            “แล้วทำไมเขาถึงเจาะจงมาถวายผมคนเดียวล่ะครับ แล้วพระมหาบุญชิมดูก็ไม่ได้รสชาติอย่างที่ผมได้”

            “บัวเฮียว เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวนะ แล้วเธอไม่ต้องไปบอกใคร เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับฉันมานับครั้งไม่ถ้วน แล้วฉันก็ไม่เคยบอกกล่าวให้ใครฟัง ที่บอกเธอเป็นคนแรกเพราะเธอได้ประสบเหตุการณ์เดียวกัน ฉันถึงได้อนุโมทนากับเธอยังไงล่ะ”

            “งั้นที่หลวงพ่อไม่ค่อยฉันอะไรแล้วอยู่ได้ทั้งวันก็เพราะฉันอาหารของเทวดานี่เอง ใช่ไหมครับ”

            “ก็คงยังงั้น เขาเรียกว่า อาหารทิพย์ ที่เรียกอย่างนี้เพราะมันประณีตกว่าอาหารของมนุษย์ ต้องฉันทีละมาก ๆ แล้วก็ถ่ายมากออกมาเป็นอุจจาระ ฉันมากก็ถ่ายมาก แต่อาหารทิพย์ฉันคำเดียวอิ่มแล้วไม่มีกากเหลือเป็นอุจจาระ พวกเทวดาเขาจึงไม่ต้องถ่ายอุจจาระบนสวรรค์ก็เลยไม่มีส้วมเหมือนอย่างโลกมนุษย์” ท่านพระครูอรรถาธิบาย

            “หลวงพ่อเคยไปดูมาแล้วหรือครับ”

            “ถึงไม่ดูก็รู้ ที่รู้เพราะ “เห็น” น่ะ

            “ที่ “เห็น” เพราะ “เห็นหนอ” บอกใช่ไหมครับ

            “เออน่า จะอะไรก็ช่าง ถ้าเธออยากเป็นอย่างฉันก็ให้เร่งทำความเพียรเข้า วันหนึ่งก็จะสำเร็จได้”

            หลวงพ่อครับทำไมเทวดาเขาจึงนำอาหารมาถวายเฉพาะผมกับหลวงพ่อล่ะครับ ทำไม่พระรูปอื่น ๆ เขาจึงไม่ถวาย”

            “ก็เขาพอใจในการประพฤติปฏิบัติของเราน่ะสิ อย่าลืมนะบัวเฮียว พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นประเสริฐกว่าเทวดาเสียอีก แม้เทวดาเขาก็ยังนับถือ การที่เขานำอาหารมาถวาย เขาก็อยากได้บุญเหมือนกัน ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระอรหันต์ท่านออกจากนิโรธสมาบัติ พวกเทพยดาก็พากันนำอาหารมาถวายโดยแปลงมาในรูปของมนุษย์”

         “เป็นเทวดาก็ยังอยากได้บุญอีกหรือครับ”

            “อยากได้ซี ก็เวลาที่เราปฏิบัติกรรมฐานเสร็จ เราถึงต้องแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้เทวดาด้วย เมื่อเขาได้รับส่วนกุศลเขาก็อาจจะตอบแทนบุญคุณเราด้วยการนำอาหารทิพย์มาถวาย และเมื่อเขาถวายเขาก็ได้บุญเพิ่มขึ้นอีก”

            “แล้วเทวดาเขาไม่ปฏิบัติกรรมฐานหรือครับ ถ้าเขาอยากได้บุญมาก ๆ ก็น่าจะปฏิบัติเองแทนที่จะมาคอยรับส่วนบุญจากมนุษย์”

            “เขาก็คงอยากปฏิบัติ แต่บางครั้งก็หาคนสอนให้ไม่ได้ อีกประการหนึ่ง ภูมิของเทวดาเป็นภูมิที่มีแต่ความสุขสบาย เขาก็เลยพากันเสพเสวยความสุขสบายนั้นจนเพลิน เรียกว่าบรรยากาศบนสวรรค์มันไม่เอื้ออำนวยต่อการประพฤติพรหมจรรย์ว่างั้นเถอะ”

            “งั้นเป็นมนุษย์ก็ดีกว่าเป็นเทวดาสิครับ”

            “มันก็ดีกว่าในแง่นี้ แต่ถ้าจะเอาในแง่ความสุขสบาย เป็นเทวดาดีกว่า เพราะเทวดามีความสุขทิพย์เป็นความสุขที่เนรมิตขึ้นมาได้ตามใจปรารถนา”

            “งั้นผมอยากเป็นเทวดาแล้วซีครับ จะได้เสวยอาหารทิพย์ทุก ๆ วัน”

            “อย่าเลยบัวเฮียว เป็นเธอนั่นแหละดีแล้ว เพราะทางที่เธอกำลังเดินอยู่นี้เป็นทางสายเอกที่จะนำเธอไปสู่ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร การเป็นเทวดาแม้จะสุขสบายอย่างไรก็ต้องเวียนว่าย วนเวียนอยู่ในสงสารสาครอย่างมิรู้จบสิ้น แล้วก็ใช่ว่าจะเลือกเกิดเป็นเทวดาได้ทุกภพทุกชาติเสียเมื่อไหร่ ประมาทพลาดพลั้งลงเมื่อใดก็ต้องไปเกิดในทุคติ ในอบาย”

            “หลวงพ่อครับ พวกเทวดานี่มีแต่ดี ๆ ใช่ไหมครับ ที่เลว ๆ มีไหมครับ” คนเป็นศิษย์ถามอีก

            “เทวดามีสองประเภท คือพวกที่เป็นสัมมาทิฐิกับพวงมิจฉาทิฐิ ก็เหมือนมนุษย์นั่นแหละมีทั้งคนดีและคนเลว พวกเทวดาที่เป็นสัมมาทิฐิเป็นพวกเทวดาตรง ส่วนพวกมิจฉาทิฐิเป็นพวกเทวดาพาล พวกหลังนี้ชอบกินเครื่องเซ่น ชอบรับสินบน ส่วนพวกแรกไม่รับเพราะชอบความยุติธรรม”

            “เทวดาที่นำอาหารมาให้ผมเป็นเทวดาตรงใช่ไหมครับ”

            “ถูกแล้ว ถ้าเป็นเทวดาพาลจะไม่ชอบทำบุญ ก็เหมือนคนเลวที่ชอบทำแต่บาป ไม่รู้จักสร้างบุญสร้างกุศลใส่ตัว เทวดากับมนุษย์จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ สำหรับเธอขณะนี้อาจเรียกว่าดีกว่าเทวดา แต่ก็อย่าลำพองใจ อย่ากำเริบเสิบสาน ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไป วันหนึ่งก็อาจจะถึงจุดหมายได้” พระบัวเฮียวแสนจะดีใจจนต้องกำหนด “ดีใจหนอ ดีใจหนอ” อยู่นาน

         “หลวงพ่อครับ ผมจะเล่าเรื่องนี้ให้พระมหาบุญฟังจะได้ไหมครับ” ท่านขออนุญาตอาจารย์

         “ไม่ได้เด็ดขาด ก็ฉันบอกแล้วยังไงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว ห้ามนำไปบอกเล่าใคร ดีไม่ดีเขาจะหาว่าเธอบ้า ดูแต่ฉันซี ได้ฉันของทิพย์มาตั้งสี่ห้าปียังไม่เคยปริปากบอกใคร ที่บอกเธอเป็นคนแรกก็เพราะเห็นว่าเธอก็ประสบมาแบบเดียวกันจึงพูดกันรู้เรื่อง เธอไม่เห็นหรอกหรือว่าตอนให้พระมหาบุญชิมอาหารทิพย์ เขาก็ยังว่ามันเป็นของธรรมดา ๆ ทั้งนี้เพราะเทวดาเขาจงใจให้เธอผู้เดียว คนอื่นมาชิมจึงไม่ได้รสและกลิ่นอย่างที่เธอได้ ฉันขอร้องนะบัวเฮียว ห้ามนำเรื่องนี้ไปบอกใครเพราะมันไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ตนหรือประโยชน์ท่าน เข้าใจหรือยังล่ะ”

         “เข้าใจครับ แต่....หลวงพ่อครับ ถ้าเกิดพระมหาบุญท่านเจอเหตุการณ์แบบผมแล้วผมค่อยบอกว่าผมก็เจอมาแล้ว อย่างนี้จะได้ไหมครับ”

         “ถ้าอย่างนั้นละก็ได้ ต้องให้เขาประสบกับตัวเองเสียก่อนเขาจึงเชื่อ เพราะของอย่างนี้มันพิสูจน์ให้ผู้อื่นรู้เห็นด้วยแบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้ มันไม่ใช่ของสาธารณะ แต่เป็นของเฉพาะตน เพราะฉะนั้นถ้าเธอปากสว่างไปเที่ยวบอกใครต่อใคร เขาจะต้องว่าเธอบ้าแน่ ๆ จำเอาไว้”

         “แล้วจะบาปไหมครับ”

         “บาปซี บาปทั้งคนบอกและคนถูกบอกนั่นแหละ”

         บาปยังไงครับ อย่างผมนี่ผมพูดเรื่องจริงไม่ได้โกหกแล้วจะบาปได้ยังไง”

         “ก็เวลาที่เธอพูดเรื่องจริงแล้วคนฟังเขาไม่เชื่อน่ะ เธอรู้สึกอย่างไรล่ะ”

         “โกรธซีครับ ผมโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย แต่พอรู้ตัวผมก็กำหนด “โกรธหนอ โกรธหนอ” ไปจนกว่าจะหายโกรธครับ”

         “ถึงอย่างนั้นเธอก็โกรธใช่ไหม ก่อนจะกำหนดได้เธอก็โกรธไปแล้วใช่ไหม”

         “ใช่ครับ”

         “แล้วโกรธเป็นอะไร เป็นอกุศลมูลตัวไหน”

         “ตัวโทสะครับ”

         “แล้วบาปไหมเล่า”

         “บาปครับ”

         “นั้นแหละฉันถึงบอกว่าไม่ต้องเล่าให้คนอื่นฟัง เพราะเขาเกิดไม่เชื่อ เธอก็ต้องบาป”

         “แต่ถ้าเกิดเข้าเชื่อล่ะครับ”

         “เป็นไปไม่ได้หรอกบัวเฮียวเอ๋ย คนสมัยนี้เขาคิดว่าเขาฉลาด เขาจึงไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ อย่างที่เธอคิดแถมใครเชื่อง่ายเขาก็หาว่าโง่ หาว่างี่เง่า ยิ่งเรื่องอย่างนี้เขายิ่งไม่เชื่ออย่างเด็ดขาด คนทุกวันนี้เขาไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป เพราะเขาหาว่าสิ่งเหล่านี้ไร้สาระ พอตายไปก็ไม่มีโอกาสกลับมาแก้ตัว น่าสงสาร” ท่านส่ายหน้าช้า ๆ อย่างปลงสังเวช

         “แต่ถ้าเราสามารถพิสูจน์ให้เขาเห็นได้ล่ะครับ”

         “เธอจะเอาอะไรมาพิสูจน์ เอาละ สมมุติเรื่องที่เกิดกับเธอวันนี้ ถ้าคนฟังเขาอยากเห็นเทวดาบ้าง เธอจะไปเอาเทวดาที่ไหนมาให้เขาดู เพราะเธอเองก็ยังไม่รู้ว่าเทวดาองค์นั้นมาจากไหน อย่าไปคิดให้ปวดหัวเลยนะ เชื่อฉันเถอะ”

         “ครับ ไม่คิดก็ได้ครับ พระหนุ่มรับคำอย่างว่าง่าย หากก็ยังไม่หายสงสัยจึงถามขึ้นอีกว่า

         “หลวงพ่อครับ แล้วคนฟังเขาจะบาปไหมครับ คือผมเล่าแล้วเขาไม่เชื่อเขาจะบาปไหมครับ”

         “เธอว่าบาปไหมล่ะ”

         “ก็เพราะผมไม่ทราบน่ะซีครับถึงได้เรียนถามหลวงพ่ออยู่นี่ไง กรุณาอธิบายให้ผมฟังหน่อยเถอะครับ”

         “แหม คำถามเธอมันแค่ระดับ ป.๔ เท่านั้นนะบัวเฮียว” ท่านตำหนิกราย ๆ

         “ก็ผมจบแค่ ป.๔ นี่ครับ ไม่ได้จบมัธยมเหมือนหลวงพ่อ จะได้มีคำถามระดับ ม.๖ มาถาม” คนเป็นศิษย์ย้อน

         “ไม่แน่หรอกบัวเฮียว คนจบ ป.๔ สามารถถามคำถามระดับ ม.๖ ได้ ฉันจบแค่ ม.๖ ยังถามคำถามระดับปริญญาเอกได้เลย”

         “แหมก็ใคร้ใครจะเก่งอย่างหลวงพ่อล่ะครับ อย่างหลวงพ่อน่ะมีคนเดียวในประเทศไทย หรืออาจจะในโลกด้วยซ้ำ ส่วนงี่เง่าอย่างผมน่ะมีมากมายหลากหลาย”

         “เออน่ะ เออน่ะ ไม่ต้องพร่ำพรรณนาให้มันมากมายถึงปานนั้นหรอก จะให้ตอบอะไรก็ว่ามา”

         “ก็ผมถามแล้วนี่ครับ”

         “ถามว่ายังไงล่ะ ถามใหม่ซิฉันจะได้รีบ ๆ ตอบ ประเดี๋ยวคนอื่นมาจะได้ไม่ต้องรอคิว” พระบัวเฮียวจึงต้องทวนคำถามใหม่ว่า

         “ผมเรียนถามหลวงพ่อว่าคนฟังเขาจะบาปไหม ถ้าผมเล่าเรื่องเทวดาให้เขาฟังแล้วเขาไม่เชื่อ เขาจะบาปไหมครับ” ท่านพูดช้า ๆ ชัดถ้อยชัดคำ ก็ตั้งใจ “ยวน” ด้วยนั่นแหละ ท่านพระครูจึงแกล้งยวนตอบยานคางว่า

         “บาปสิบัวเฮียว ก็ในเมื่อเธอพูดเรื่องจริงแต่เขาไม่เชื่อก็เท่ากับเขามีอกุศลข้อโมหะช่ายหมาย...”

         “ช่ายคร้าบ” ลูกศิษย์ล้อเลียนบ้าง ขณะนั้นบรรดา “ผู้มีใบหน้าอันเปื้อนทุกข์” ก็ทยอยกันเข้ามานั่งเพื่อขอความช่วยเหลือให้ท่านช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์ให้

         วันนี้คงจะเป็นวันของ “คนท้อง” เพราะผู้หญิงครรภ์แก่พากันมาร่วมสิบราย ที่กลับไปเมื่อตอนเช้าก็หลายราย แต่ละรายจะต้องได้ “ผลมะตูมเสก” ติดไม้ติดมือไปต้มกินเพื่อให้คลอดลูกง่าย ท่านพระครูได้ให้ลูกศิษย์จัดเตรียมผลมะตูมไว้จำนวนมาก เพราะรู้ว่าจะมีคนมาขอ บ้างไม่มาเองก็ส่งสามีหรือญาติมาขอแทน เพราะคนที่เขาพูดกันว่ามะตูมเสกของท่านนั้นวิเศษนัก คนท้องกินเข้าไปแล้วคลอดลูกง่ายทุกราย สตรีครรภ์แก่นางหนึ่งคลานเข้าไปหาเพราะถึงคิว หล่อนกราบสามครั้งแล้วถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อคะ ลูกหนูจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายคะ”

         “เดี๋ยวซี ตอบตอนนี้ยังไม่ได้ ต้องรอให้คลอดออกมาเสียก่อน แล้วหลวงพ่อจะบอก” คำตอบของท่านเรียกเสียงหัวเราะจากทุกคนในที่นั้น แล้วท่านจึงสอนหล่อนว่า

         “ผู้หญิงหรือผู้ชายก็ลูกเรานะหนูนะ ให้เขาออกมาครบสามสิบสองประการ ไม่บ้าใบ้บอดหนวกก็พอแล้ว จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ช่างเขา โตขึ้นขอให้เป็นคนดีมีศีลธรรมก็แล้วกัน”

         “ค่ะ เอาไว้เขาโตแล้วหนูค่อยสอน” หล่อนว่า

         “สอนเดี๋ยวนี้แหละหนู ต้องสอนกันตั้งแต่อยู่ในท้อง ข้อสำคัญพ่อแม่ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย ถ้าแม่คนไหนนั่งจั่วไพ่ทั้งวัน รับรองลูกออกมาเล่นไพ่เก่ง เพราะเขาสังเกตการณ์มาตั้งแต่อยู่ในท้อง เสียงหัวเราะดังขึ้น

         “อ้าว นี่เรื่องจริงนะ ไม่ได้พูดเล่น เด็กจะดีน่ะ เขาจะดีมาตั้งแต่ในท้องเลย อย่างบางคนพอคลอดออกมาปุ๊บก็บอกแม่ว่า “แม่จ๋าตักบาตรเถอะ” ท่านเลียนเสียงเด็กพูด บรรดาคนฟังพากันหัวเราะอีก

         “นี่ถ้าเขาพูดยังงี้แสดงว่าคนดีมาเกิด สำคัญเขาจะพูดว่า “แม่จ๋าซื้อรองเท้าหน้าสูง” ถ้าแบบนี้แปลว่าชอบแต่งตัว ไม่ค่อยดีเท่าไหร่”

         “รองเท้าหน้าสูงไม่มีหรอกค่ะหลวงพ่อ สงสัยคงจะเป็นรองเท้าส้นสูง” สตรีนั้นแย้ง

         “ไม่ใช่ส้นสูง รองเท้าหน้าสูงก็คือ ใส่แล้วหน้าสูงไงล่ะ หน้าเชิดสูงไปเลย” ท่านทำหน้าเชิดประกอบ คนฟังหัวเราะอีก

         “แต่พอถอดรองเท้าออกหน้าต่ำเลย นี่แหละรองเท้าหน้าสูง โยมเคยใส่ไหมล่ะ” ท่านถามสตรีสูงอายุที่นั่งหลังสุด

         “เคยค่ะ เคยสมัยสาว ๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหวแล้วค่ะ สังขารมันไม่อำนวย” หญิงสูงวัยตอบ นางมารอเพื่อขอผลมะตูมเสกไปให้ลูกสาว...

 

มีต่อ........๓๙
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #41 เมื่อ: เมษายน 22, 2007, 08:47:46 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00039
๓๙...

        หมดปัญหาของ “คนท้อง” ก็มาถึงปัญหา “คนแห้ง” ท่านพระครูเจริญแห่งวัดป่ามะม่วงมีอันต้องรับปรึกษาปัญหาทุกรูปแบบโดยไม่คิดราคาค่าจ้าง “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” เป็นคาถาที่ท่านท่องไว้ในใจ ยามใดที่เกิดเหนื่อยหน่ายท้อแท้ ก็ได้ใช้คาถาบทนี้ช่วยชโลมจิตใจให้ชุ่มชื่นมีชีวิตชีวาและมีกำลังใจที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือด้วยเมตตาต่อไป

        สตรีวัยยี่สิบเศษคลานเข้าไปหาพูดด้วยเสียงแผ่วเบาเพื่อมิให้บุคคลอื่นได้ยิน ปัญหาที่หล่อนจะปรึกษาท่านพระครูในวันนี้เป็นเรื่องน่าอับอาย จึงไม่ต้องการให้ผู้ใดล่วงรู้

        “หลวงพ่อคะ หนูนอนไม่หลับมาหลายคืน ฝันร้ายทุกคืนเลยค่ะ”

        “อ้าว นอนไม่หลับแล้วจะฝันได้ยังไงล่ะ หรือว่าฝันทั้งที่ตื่นอยู่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะเรียกฝันได้ยังไงล่ะจ๊ะ หนูนี่มาแปลก” ท่านเจ้าของกุฏิพูดด้วยเสียงปกติเพราะเห็นว่ายังไม่ถึงต้องที่ต้อง “หรี่เสียง” สาวเจ้าของเรื่องทำหน้า “คิ้วผูกโบ” แล้วตอบใหม่ว่า “คือนอนไม่หลับตลอดทั้งคืนน่ะค่ะหลวงพ่อ หลับ ๆ ตื่น ๆ แต่เมื่อไรที่หลับก็ต้องฝันร้ายจนสะดุ้งตื่น เป็นอย่างนี้มาหลายคืนแล้วค่ะ หลวงพ่อโปรดช่วยหนูด้วย” หญิงสาวพูดด้วยเสียงปกติบ้าง เอาไว้ตอนที่เป็น “ความลับ” ค่อยพูดเบา ๆ

        “จะให้หลวงพ่อช่วยยังไงล่ะจ๊ะ”

        “ช่วยให้หนูนอนหลับแล้วก็ไม่ฝันร้ายน่ะค่ะ หนูเคยพึ่งยากล่อมประสาทที่เขาเรียกว่ายานอนหลับน่ะค่ะ แต่มันได้ผลแค่ระยะแรก ๆ เห็นเขาว่าทานมาก ๆ แล้วอันตราย หนูก็เลยต้องมาขอพึ่งบารมีหลวงพ่อล่ะค่ะ”

        “แล้วที่ว่าฝันร้ายน่ะ ฝันว่ายังไงจ๊ะ”

        “ฝันว่ามีเด็กผู้ชายมาทำร้าย มาบีบคอบ้าง มาตัดแขนตัดขาบ้าง บางทีก็มาควักลูกนัยน์ตา ทำให้หนูเจ็บปวดมากค่ะ”

        “ท่านพระครูใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบจึงได้รู้ว่าสตรีสาวผู้นี้เพิ่งไปทำแท้งมา วิญญาณของเด็กคนนี้มีความอาฆาตพยาบาทแรงกล้าถึงกับจะเอาชีวิตหล่อน การที่หล่อนต้องฝันร้ายและนอนไม่หลับเป็นผลของกรรมที่ทำในชาตินี้ ซึ่งมาให้ผลทันตาเห็นคือ เป็น “ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม” เห็นกรรมของหล่อนแล้วท่านจึง “ตะล่อม” ถามว่า

        “แล้วหนูเคยไปทำอะไรไว้กับเด็กล่ะจ๊ะ ที่หลวงพ่อ “เห็น” น่ะ หลวงพ่อเห็นวิญญาณอาฆาตของเด็กผู้ชายเขาต้องการเอาชีวิตหนู เพราะหนูไปสร้างกรรมไว้กับเขา” ฟังถ้อยคำของท่าน หญิงสาววัยยี่สิบเศษก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น เกิดรักตัวกลัวตายเสียดายชีวิตขึ้นมาเดี๋ยวนั้น หล่อนสารภาพด้วยเสียงแผ่วเบาว่า

        “หนูไปทำแท้งมาค่ะ หลวงพ่อ ตอนทำก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด หลังจากนั้นก็นอนไม่หลับและฝันร้ายตลอดมา หลวงพ่อช่วยหนูด้วย”

        “เด็กที่ออกมาเป็นผู้ชายใช่ไหม” ท่านถามเสียงแผ่วเบาเช่นกัน

        “ใช่ค่ะ ท่าทางเขาไม่อยากออก หนูรู้สึกอย่างนั้นค่ะ”

        “ใช่สิ ก็เขาอยากเกิด หนูก็ไม่ยอมให้เขาเกิด” หญิงสาวสะอื้นหนักขึ้น บอกละล่ำละลักว่า

        “หนูอยากคะหลวงพ่อ แต่...แต่ แฟนหนูเขาไม่ยอมรับ หนูกลัวว่าจะต้องอับอายชาวบ้านที่ท้องไม่มีพ่อ เลยตัดสินใจทำแท้ง”

        “เขาไม่ยอมรับก็ช่างเขา แต่ในเมื่อหนูทำกรรมลงไปก็ต้องยอมรับกรรมนั้นด้วยตัวหนูเอง ถึงคราวจะต้องอายก็ต้องยอมอาย ดีกว่าไปทำอย่างนั้น รู้ไหมเด็กเขาอาฆาตหนูมากเลย”

        “หลวงพ่อไม่มีทางช่วยหนูเลยหรือคะ ได้โปรดเถอะค่ะ” หล่อนอ้อนวอน ท่านพระครูนั่งนิ่งอยู่อึดใจหนึ่งจึงพูดขึ้นว่า

        “หลวงพ่อช่วยหนูได้ไม่มากนักหรอก คนที่จะช่วยหนูได้มากที่สุดก็คือตัวหนูนั่นแหละ ว่าแต่หนูจะทำตามที่หลวงพ่อแนะนำได้หรือเปล่าล่ะ”

        “ได้ค่ะ หลวงพ่อกรุณาบอกมาเถอะค่ะ หนูจะทำตามทุกอย่าง” หล่อนรับคำง่ายดาย

        “งั้นก็ดีแล้ว หลวงพ่อสั่งให้หนูมาเข้ากรรมฐานอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลาสิบห้าวัน ระหว่างนี้ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปให้เขาทุกวัน บางทีเขาอาจจะยอมอโหสิกรรม แล้วหลวงพ่อจะช่วยอีกแรงหนึ่ง ช่วยเจรจาต่อรองกับเขาให้” ได้ยินว่าท่านจะให้มาอยู่วัดถึงครึ่งเดือน สาวน้อยก็ปฏิเสธเสียงลั่น

        “ไม่ได้ค่ะหลวงพ่อ หนูมาไม่ได้เพราะต้องทำงาน เจ้านายเขาคงไม่ให้ลา”

        “อ้าว เมื่อกี้รับปากอย่างง่ายดาย ยังไม่ทันไรเปลี่ยนใจเสียแล้ว ก็ไหนว่าจะทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ” ท่านเจ้าของกุฏิพูดเสียงเรียบ ไม่โกรธไม่ขึ้ง เพราะท่านชินชาเสียแล้วกับความรวนเรของใจมนุษย์

        “หลวงพ่อช่วยวิธีอื่นไม่ได้หรือคะ” หล่อนต่อรอง

        “วิธีอื่นน่ะเช่นอะไรล่ะจ๊ะ ช่วยแนะนำหลวงพ่อหน่อยซิ”

        “ก็รดน้ำมนต์ เสกคาถา อะไรทำนองนี้แหละค่ะ”

        “อ้อ หนูชอบของปลอมอย่างนั้น หรือ ของจริงรับไม่ได้ใช่ไหม หนูจำไว้เลยว่าถ้าหนูชอบของปลอม ชีวิตหนูก็จะพบแต่ของปลอม ๆ มีความรักก็ได้แค่รักจอมปลอม หนูต้องการอย่างนั้นหรือจ๊ะ”

        “หนูต้องการของแท้ค่ะ แล้วก็ต้องการรักแท้ด้วย แต่หนูก็ไม่เคยได้อย่างที่ใจหวังเลยสักครั้ง เป็นเพราะอะไรคะหลวงพ่อ เพราะอะไร” หญิงสาวคร่ำครวญด้วยเสียงแผ่วเบา

        “เพราะหนูเป็นคนใจโลเลน่ะสิ นี่หลวงพ่อพูดตรง ๆ อย่างนี้แหละ จะโกรธก็ได้ไม่ว่ากัน ถ้าหนูใจเด็ดเดี่ยหนักแน่น หนูก็จะไม่ต้องมาเป็นอย่างนี้ ที่หลวงพ่อพูดมานี่จริงหรือเปล่าจ๊ะ”

        “จริงค่ะ จริงทุกอย่างทุกประการ หนูยอมรับค่ะ”

        “จะไม่ยอมรับก็ได้ ไม่ว่ากันอยู่แล้ว” ท่านพูดเรื่อย ๆ

        “ตกลงหลวงพ่อจะรดน้ำมนต์ให้หนูไหมคะ” คนยอมรับยังยืนยันความคิดเดิม ท่านพระครูจึงพูดด้วยเสียงปกติว่า

        “อะไร นี่หลวงพ่อพูดมาตั้งนาน หนูยังไม่เข้าใจอีกหรือ ก็ไหนว่ายอมรับไงล่ะ”

        “ค่ะ หนูยอมรับว่าหลวงพ่อพูดถูก แต่หนูไม่สามารถทำตามที่หลวงพ่อแนะนำได้ หนูต้องทำงานค่ะ หลวงพ่อกรุณารดน้ำมนต์หรือไม่ก็ช่วยเป่าหัวให้หนูหมดทุกข์หมดโศกเถอะค่ะ”

        “เสียใจจ้ะหนู หลวงพ่อทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะการทำเช่นนั้นมันไม่ช่วยให้หนูแก้ปัญหาได้ ปัญหาของหนูไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้ง่าย ๆ นะหนู แล้วก็นอกจากวิธีที่หลวงพ่อแนะนำแล้ว ก็ไม่มีวิธีอื่นที่จะแก้ได้” ท่านรู้ว่าอีกไม่นานสตรีผู้นี้จะต้องกลายเป็นคนวิกลจริตเพราะกรรมนั้น

        “แต่หนูไม่มีเวลาจริง ๆ ค่ะหลวงพ่อ อย่าว่าแต่สิบห้าวันเลย แค่สามวันหนูก็คงมาไม่ได้” คนห่วงงานยิ่งกว่าห่วงชีวิตตอบ “ตามใจหนูก็แล้วกัน ถ้าหนูทำไม่ได้ หลวงพ่อก็ช่วยอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ แล้วก็บอกไม่ได้ด้วยว่าหนูจะต้องทุกข์ทรมานไปอีกนานสักเท่าไร หลวงพ่อช่วยแนะนำได้เท่านี้แหละ จะให้รดน้ำมนต์หรือเป่าหัวน่ะ หลวงพ่อไม่ทำหรอก เพราะหลวงพ่อรู้แก่ใจดีอยู่แล้วว่ามันช่วยไม่ได้ พระครูเจริญไม่ชอบหลอกลวงใคร”

        “ถ้าอย่างนั้นหนูก็จะลองไปหาวัดอื่นดู เผื่อจะมีหลวงพ่อองค์อื่นช่วยได้” หล่อนยังมีความหวัง

        “ไม่มีหรอกหนู เชื่อหลวงพ่อเถอะ อย่าเสียเวลาไปเลย ท่านแนะนำด้วยความหวังดี หากคนถูกแนะนำกลับย้อนว่า “ก็ในเมื่อหลวงพ่อไม่ช่วย หนูก็ต้องไปวัดอื่น หนูลาล่ะค่ะ” หล่อนกราบสามครั้งแล้วลุกออกมาด้วยอาการขัดเคือง

        ท่านพระครูส่ายหน้าอย่างระอาแล้วพูดกับคนในที่นั้นว่า “ดูเอาเถิดญาติโยมทั้งหลายเอ๋ย บอกของจริงให้ไม่เอา จะไปเอาของปลอม แล้วจะไปแก้ปัญหาได้ยังไง้ แบบนี้เขาเรียกว่าแก้ปัญหาไม่ถูกจุดอย่างที่คนโบราณเขาว่า “แก้ปัญหาไม่ถูกจุด เหมือนกินมังคุดไม่ถูกเม็ด”

        “ผมเคยได้ยินแต่ “แก้ปัญหาไม่ถูกจุดเหมือนกินละมุดถูกเม็ด” ครับ” พระบัวเฮียวแย้งเรียบ ๆ ก็ไม่ได้ตั้งใจจะจับผิดครูบาอาจารย์ แต่ปากมันไวไปหน่อย ก็ฝึกมันไว้เสียจนเคย

        “มันก็เหมือนกันแหละน่า” ท่านพระครูแก้

        “ไม่เหมือนครับ เพราะเม็ดมังคุดน่ะอร่อย กินได้ แต่เม็ดละมุดกินไม่ได้ หรือว่าหลวงพ่อเคยฉันเม็ดละมุดครับ” ศิษย์คนซื่อถามซื่อ ๆ

        “ไม่เคยหรอก แต่ที่ฉันว่าเหมือนนั้น ฉันหมายถึงว่ากินมังคุดไม่ถูกเม็ดกับกินลุมุดถูกเม็ดน่ะ มันก็ครือ ๆ กัน คือไม่บรรลุจุดประสงค์ที่ต้องการไงล่ะ” อาจารย์ผู้มีศิษย์แสนซื่อตอบ

        สตรีอีกผู้หนึ่งคลานเข้ามากระซิบกระซาบกับท่านพระครูว่า “หลวงพ่อคะ หมอเขาว่าฉันเป็นมะเร็งที่มดลูก เป็นเพราะกรรมอะไรคะ” ท่านเจ้าของกุฏิตอบเสียงเบา ๆ ว่า

        “สาเหตุของมะเร็งมดลูก ถ้าจะมองในแง่กรรมก็มีสองอย่าง อย่างแรกเพราะคนคนนั้นผิดศีลข้อสาม อีกสาเหตุหนึ่งเพราะเคยทำแท้ง โยมโดนข้อไหนล่ะ อย่างแรกหรืออย่างหลัง” คนถูกถามมีท่าทางลังเล แต่ในที่สุดก็ตอบว่า

        “อย่างหลังค่ะ ฉันเคยทำแท้งเมื่อสามปีมาแล้ว แต่หลวงพ่อคะ แม่ฉันก็ตายด้วยมะเร็งในมดลูกทั้งที่แกไม่เคยผิดศีลข้อสามแล้วก็ไม่เคยทำแท้ง ฉันสาบานได้ว่าแกไม่เคยจริง ๆ ค่ะ”

        “ไม่เคยในชาตินี้น่ะสิ ชาติที่แล้วหรือชาติก่อน ๆ จะต้องเคย ถ้าไม่มีเหตุ ผลมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จริงไหม”

        “จริงค่ะ แล้วฉันจะมีทางรักษาไหมคะ หมอเขาไม่ยอมรักษาฉัน เขาให้เวลาอีกสามเดือนก็ให้กลับบ้านเก่าได้” คราวนี้หล่อนถึงกับร้องไห้เพราะเสียดายชีวิต

        “หมอเขาว่าอย่างนั้นหรือ”

        “ค่ะ เขาไม่ได้บอกฉันตรง ๆ เขาบอกกับพี่สาวฉันมาอีกทีหนึ่ง หลวงพ่อพอจะช่วยฉันได้ไหมคะ”

        “ได้ แต่โยมต้องช่วยตัวเองด้วย เวลาสามเดือนที่เหลืออยู่นั้นให้โยมมาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดนี้ ปฏิบัติให้เต็มกำลังความสามารถ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ถ้าเขายอมอโหสิกรรมให้ก็จะหาย ถ้าเขาไม่อโหสิ โยมก็จะตายอย่างมีสติ ทำได้ไหม”

        “ได้ค่ะ ฉันเตรียมเสื้อผ้ามาแล้ว ขออยู่ตั้งแต่วันนี้เลยนะคะ” คนเสียดายชีวิตรีบรายงาน

        “ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวจะให้สมชายพาไปส่งสำนักชี” แล้วท่านก็เรียกนายสมชายมาสั่งการ พี่สาวของสตรีผู้นั้นช่วยประคองน้องสาวไปส่งยังสำนักชี ส่วนพี่เขยของหล่อนเดินไปที่รถเพื่อนำกระเป๋าเสื้อผ้ามาให้

        สตรีวัยเบญจเพศคลานเข้ามากราบสามครั้ง แล้วพูดด้วยเสียงค่อนข้างดังว่า “หลวงพ่อคะ หนูถูกไอ้มนุษย์ใจสัตว์มันข่มขืน ตอนนี้ท้องสามเดือนแล้วค่ะ แม่หนูจะให้เอาเด็กออก แต่หนูไม่ยอม หนูกลัวบาปกลัวกรรมค่ะ” หล่อนพูดอย่างไม่ยี่หระต่อสายตาใคร ๆ ความเลวร้ายของชีวิตต้องประสบได้หล่อหลอมให้หล่อนเป็นคนกล้าและกร้าว

        “ดีแล้วละหนู คิดอย่างนั้นได้ก็ดี นึกเสียว่าเป็นกรรมของเรา หลวงพ่อไม่สนับสนุนให้ใครฆ่าชีวิตที่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเพราะเหตุใดก็ตาม เวรจะระงับได้ก็ต้องไม่จองเวรนะหนูนะ”

        “แต่หลวงพ่อคะ ปัญหาของหนูก็คือ หนูกลัวว่าเด็กจะออกมามีนิสัยชั่วร้ายเหมือนพ่อของมัน หนูพอจะมีทางแก้ไขอะไรไหมคะ คือหนูไม่อยากทำแท้ง แต่หนูก็ไม่อยากให้ลูกออกมาเลว หลวงพ่อกรุณาแนะนะด้วยเถิดค่ะ”

        “ไม่ยากเลยหนู ปัญหาของหนูง่ายมาก ญาติโยมทั้งหลายจำเอาไว้นะ ถ้าใครอยากให้ลูกเกิดมาดี เกิดมาฉลาด พ่อแม่จะต้องมาเข้ากรรมฐาน ยิ่งมาปฏิบัติตอนที่ลูกอยู่ในท้องก็ยิ่งดี อาตมารับรองร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าเด็กจะต้องออกมาดี ถึงเขาจะมีเชื้อสายโจรก็เอาดีได้”

        “แล้วคนท้องมาปฏิบัติ ต้องอดอาหาร จะไม่ทำให้เด็กในท้องขาดอาหารหรือคะ” คนท้องสามเดือนถาม

        “เราอนุโลมได้ คนท้องกับคนป่วยให้รับประทานอาหารมื้อเย็นได้” พระบัวเฮียวเป็นคนตอบ

        “ถ้าอย่างนั้น หนูจะกลับไปเอาเสื้อผ้าที่กรุงเทพฯ แล้วพรุ่งนี้หนูจะมาอยู่วัดเลยนะคะ ดีเหมือนกันจะได้หนีคำครหานินทาของเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมงาน แม้หนูจะไม่ใส่ใจไม่เอามาเป็นอารมณ์ แต่บางครั้งมันก็อดหงุดหงิดไม่ได้ค่ะหลวงพ่อ คนเรานี่ก็แปลกชอบช้ำเติมชาวบ้าน ไม่ช่วยแล้วยังมาซ้ำกันให้เจ็บปวดหนักขึ้นไปอีก” หล่อนพูดเสียงกร้าว

        “หนูอย่าไปถือโทษโกรธเคืองเขาเลย คนเราถ้าลงได้ซ้ำเติมคนที่ประสบเคราะห์กรรม ก็แสดงว่าจิตใจเขาแย่มาก น่าสงสาร หนูควรอภัย และแผ่เมตตาให้เขา คนที่มีจิตใจอกุศลเช่นนี้ เป็นคนน่าสงสารนะหนูนะ”

        “ค่ะ แล้วหนูจะทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ ต้องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ได้เมตตาช่วยเหลือ ทำให้หนูสบายอกสบายใจขึ้นมาก หนูกราบลาละค่ะ”

        “หลวงพ่อคะ หนูเป็นมะเร็งที่เต้านม หมอเขานัดผ่าตัด หนูจะมาเรียนถามหลวงพ่อว่าจะผ่าตัดดีหรือไม่คะ”

        “เจ้าทุกข์” อีกรายถามขึ้น วันนี้คงจะเป็นวัน “สตรีแห่งชาติ” เพราะคนที่มาถามปัญหามีแต่ผู้หญิงทั้งนั้น

        “ปกติแล้วคนที่เป็นมะเร็งมาหาหลวงพ่อจะไม่แนะนำให้ผ่าตัดเพราะโอกาสที่จะหายมีน้อยมาก ประมาณห้าละร้อยเท่านั้น แต่ที่ไม่ผ่าตัดมีโอกาสหายถึงร้อยละเก้าสิบ และต้องมารับการรักษาโดยวิธีของหลวงพ่อ”

        “ทำอย่างไรคะ วิธีของหลวงพ่อ” หล่อนถาม

        “ก็มาเข้ากรรมฐานน่ะซี กรรมฐานรักษาได้ทุกโรค ถ้าเราปฏิบัติจริงจัง”

        “แหม หลวงพ่อ อะไร ๆ ก็กรรมฐาน ไม่มีวิธีอื่นเลยหรือคะ” คนฟังเริ่มจะหงุดหงิด หากท่านพระครูก็ไม่ถือสา ท่านคงพูดด้วยเสียงปกติว่า

        “หนูเคยได้ยินไหม “กรรมฐานแก้กรรม” เคยได้ยินไหม กรรมบางอย่างมันแก้ได้ และวิธีแก้ที่ดีที่สุดคือมาเข้ากรรมฐาน”

        “หลวงพ่อคะ มะเร็งเต้านมนี่เกิดจากกรรมอะไรคะ” สตรีอีกผู้หนึ่งถามขึ้น

        “เท่าที่หลวงพ่อสังเกต มันเกิดจากกรรมคือความเครียด เราทำตัวเราให้เครียด มะเร็งมันก็เลยถามหา มะเร็งทุกชนิดมักมีสาเหตุมาจากความเครียด”

        “ถามหาก็บอกว่าไม่อยู่เสียก็สิ้นเรื่อง” พระบัวเฮียวเผลอ “แซว” ขึ้นมา เพราะรู้สึกเครียดเนื่องจากรับฟังแต่เรื่องเครียด ๆ สงสารพระอุปัชฌาย์เหลือเกินแล้ว

        “อย่าเครียด บัวเฮียวอย่าเครียด เดี๋ยวได้เป็นมะเร็งที่เต้านมหรอก” คนเป็นอาจารย์เตือนศิษย์ด้วยเสียงที่ไม่เครียด “ไม่เป็นหรอกครับหลวงพ่อผู้ไม่ได้เป็นผู้หญิงนี่นา”

        “ไม่แน่ เผื่อชาติหน้าเกิดเป็นผู้หญิงอาจเป็นมะเร็งที่เต้านมก็ได้ คือเก็บความเครียดจากชาตินี้เอาไปเป็นมะเร็งในชาติหน้าไง เขาเรียกว่า สะสะกรรมเอาไว้”

        “คงไม่หรอกครับหลวงพ่อ ชาติหน้าผมว่าจะไม่เกิด”

        “ถ้าเป็นจริงอย่างเธอว่า ฉันก็ขออนุโมทนา”

        “สาธุ” พระบัวเฮียวยกมือประนมเหนือศีรษะอย่างตั้งใจจะล้อเลียนอุปัชฌายาจารย์

        “หลวงพ่อคะ หนูไม่ได้ทำตัวเองให้เครียดนะคะ คนอื่นต่างหากที่เขาทำให้หนูเครียด” สตรีผู้เป็นมะเร็งที่เต้านมว่า

        “คนอื่นน่ะใครล่ะจ๊ะ”

        “สามีค่ะ สามีหนูขี้เหล้า เจ้าชู้กลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ บางวันก็ไม่กลับ เขาทำให้หนูเครียดมากเลยค่ำ แบบนี้แสดงว่าเขาไม่รักหนูแล้วใช่ไหมคะ” หล่อนถามเสียงเครือ

        “เขาจะรักหรือไม่รักไม่สำคัญ เพราะมันจิตใจของเขา เราไปกำหนดไปบังคับไม่ได้ แต่เราไม่รักตัวเราเองนี่สิน่าตำหนินัก”

        “ใครไม่รักตัวเองคะ หลวงพ่อหมายถึงหนูหรือเปล่าคะ”

        “ก็หมายถึงใครอีกล่ะจ๊ะ”

        “โธ่ หลวงพ่อ ทำไมหนูจะไม่รักตัวเองคะ หนูน่ะรักตัวเองมากที่สุดในโลกเลยค่ะ” สาววัยสามสิบเศษว่า

        “รักตัวเองก็ต้องไม่ทำอย่างที่ทำอยู่” ท่านถือโอกาสพูดกับคนที่นั่ง ณ ที่นั้นว่า

        “ญาติโยมทั้งหลายโปรดจำเอาไว้ ในอนาคตคนจะเป็นมะเร็งกันมาก เพราะนับวันสิ่งแวดล้อมจะทำให้เราเครียด วิธีป้องกันก็คือ เราต้องฝึกจิตของเราอย่าให้เครียดตาม ความเครียดมันก็เป็นกรรมอย่างหนึ่ง จะเรียกว่ากรรมใหม่ก็ได้ เป็นกรรมที่แก้ไขได้ด้วยการฝึกจิตไม่ให้มันเครียด ใครเขาจะเป็นยังไงก็ช่างเขา สามีเขาไม่กลับบ้านก็ไม่ต้องไปเครียด นะหนูนะ” ประโยคหลังท่านพูดกับสตรีเจ้าของเรื่อง

        “ฟังดูง่าย แต่มันทำยากค่ะหลวงพ่อ” หล่อนแย้ง

        “นั่นสิ หลวงพอถึงให้มาฝึกที่วัดไง คิดเสียว่าเวลาที่จะอยู่โรงพยาบาลนั้นก็ย้ายมาอยู่วัดเสีย มาฝึกจิต แต่จิตนี่ก็ฝึกยากนะหนู จะว่ายากที่สุดก็เห็นจะได้ แต่ถึงจะยากอย่างไร หากเราพยายามมันก็ไม่พ้นความสามารถของเราไปได้ เมื่อเราฝึกจิตไว้ดีแล้ว เราก็จะปลดปลงได้ สิ่งแวดล้อมมันจะเป็นอย่างไร เราก็ไม่เอาจิตไปผูกพันหรือไปหมกมุ่นกับมันเราก็จะไม่เครียด หนูพอจะเข้าใจไหม”

        “เข้าใจคะ หลวงพ่อคะ ทำไมคนบางคนเขาไม่ค่อยเจ็บป่วย แต่บางคนก็ขี้โรคทั้งที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน” คนเป็นมะเร็งเต้านมถามอีก

        “ถ้าจะสืบสาวไปถึงต้นตอกันจริง ๆ ก็ต้องพูดว่าเป็นเรื่องของกรรม การที่เขาไม่ค่อยเจ็บป่วยเพราะในอดีตและในปัจจุบันเขาเป็นคนไม่เบียดเบียนสัตว์ ส่วนคนขี้โรคถ้าในปัจจุบันเขาไม่ได้เบียดเบียนสัตว์ก็แสดงว่าในอดีตเขาชอบรังแกสัตว์ ชอบทำให้มันได้รับความทุกข์ทรมาน จากผลกรรมอันนี้เลยทำให้เขาเป็นคนมีโรคมาก มันเป็นไปตามเหตุและผลนะ เหตุอย่างไรผลก็อย่างนั้น” ท่านพระครูอธิบาย

        “แต่กรรมเก่าเราแก้ไขไม่ได้แล้วก็ต้องยอมรับกรรม ส่วนกรรมใหม่เราแก้ไขได้ เช่นถ้าในอนาคตเราไม่อยากเป็นคนขี้โรค ปัจจุบันเราก็ต้องไม่เบียดเบียนสัตว์ใช่ไหมคะ”

        “ถูกแล้วหนู แต่กรรมเก่าก็พอจะแก้ไขได้บ้างด้วยการปฏิบัติกรรมฐาน ถึงแก้ไม่ได้หมดก็ช่วยให้ทุเลาลง ตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งเคยไปฆ่าเขาไว้ มาชาตินี้จะต้องถูกเขาฆ่า ถ้าคนคนนั้นมาเข้ากรรมฐานแล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปให้คนที่ตัวเคยฆ่า บางทีเขาก็อาจจะอโหสิกรรมให้ แต่ถ้าเขาไม่อโหสิกรรม ตอนเขามาฆ่า ก็จะได้ทำใจได้ว่านี่เป็นเพราะเราเคยไปฆ่าเขาไว้ เขามาทวงคืนก็ต้องให้เขาไป เมื่อคิดได้ดังนี้จิตก็จะไม่ผูกพยาบาท ไม่จองเวรจองกรรมกันต่อไปอีก นี่คือประโยชน์ของการมาเข้ากรรมฐาน ส่วนคนที่ไม่เคยมาปฏิบัติก็ไม่รู้ว่านั่นคือกรรมเก่า เวลาจะตายก็ตายแบบมีจิตอาฆาตพยาบาท เมื่อจิตเป็นอกุศล ตัวเองก็ต้องไปตกนรก เพื่อพ้นจากนรกก็จะไปตามต่อเวรต่อกรรมให้มันยืดเยื้อต่อไปอีก ก็เลยต้องเวียนว่ายใช้เวรใช้กรรมกันต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ที่หลวงพ่อพูดว่า “กรรมฐานแก้กรรม” มีความหมายอย่างที่อธิบายมานี่แหละ” ท่านเจ้าของกุฏิอธิบายชัดเจน

        “น่าเสียดายนะคะ กรรมฐานมีประโยชน์มากมายถึงเพียงนี้ แต่คนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็น หาว่ามานั่งหลับหูหลับตาหาประโยชน์ไม่ได้ สู้ไปทำมาหากินจะดีกว่า คนส่วนใหญ่เขาคิดอย่างนี้กันนะคะหลวงพ่อ” หญิงสาวพูดตามข้อเท็จจริงที่เคยประสบ

        “มันก็กรรมของเขาแหละหนู ของอย่างนี้บางครั้งเราก็ไม่สามารถชักจูงเขาได้ อย่างบางคนอุตส่าห์มาหาหลวงพ่อ แต่พอแนะนำเขาก็รับไม่ได้ เพราะกรรมเขามาก และจะต้องเป็นไปตามนั้น เรื่องของกรรมมันซับซ้อนและลึกซึ้งเกินวิสัยที่คนอย่างเรา ๆ จะมาวิเคราะห์วิจัย”

        “แล้วมีไหมคะหลวงพ่อ มีใครสักคนไหมคะ ที่จะเข้าใจเรื่องกรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง” หล่อนถาม

        “มีสิหนู พระพุทธเจ้าของเรายังไงล่ะ แต่พระองค์ก็ดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว คงเหลือแต่พระธรรมคำสอนไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติกัน”

        “แต่บางคนก็ไม่เชื่อนะคะหลวงพ่อ นอกจากไม่เชื่อพระธรรมคำสอนแล้ว ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหาว่าเป็นเรื่องงมงาย คนประเภทนี้มีมากนะคะหลวงพ่อ หนูเคยพบมาแล้ว”

        “ถ้าเขาไม่เชื่อก็เอวัง หลวงพ่อคงจะพูดอะไรไม่ได้มาก นอกจากจะพูดว่า “เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” มันเป็นกรรมของเขา เราไม่ต้องไปโต้เถียง เพราะมันไม่เกิดประโยชน์อันใด คนที่ตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด เขาไม่เชื่อหรอกว่าแสงสว่างมีอยู่ฉันใดก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นหนูอย่าไปโต้เถียงกับเขาให้เสียเวลา ต้องปล่อยไปตามกรรมของเขา” ท่านพระครูสอนให้ “วางอุเบกขา”

 

มีต่อ........๔๐
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #42 เมื่อ: เมษายน 22, 2007, 08:48:23 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00040
๔๐...

         นายขุนทองเข้ามาอยู่ในวัดป่ามะม่วง แล้วก็ได้ช่วยงานท่านพระครูอย่างแข็งขัน ตั้งแต่การดูแลรักษาความสะอาดของกุฏิไปจนถึงการต้อนรับขับสู้บรรดาแขกเหรื่อ ที่มาหาท่านเจ้าอาวาสด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน ทั้งยังจัดตารางวันเวลาในการรับแขกติดไว้ที่หน้ากุฏิ เพื่อท่านพระครูจะได้มีเวลาพักผ่อน และทำกิจธุระส่วนตัวของท่าน คือ การเขียนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์กรรมฐานให้แล้วเสร็จ

         ท่านพระครูให้นายสมชายขึ้นไปอยู่ชั้นบนของกุฏิซึ่งมีห้องเล็ก ๆ ว่างอยู่ แล้วให้นายขุนทองอยู่ห้องชั้นล่างแทน ลูกศิษย์หนุ่มยินดีปรีดาเสียนักที่ได้คนมาช่วยแบ่งเบาภาระ แม้จะรู้สึกขัดลูกหูลูกตากับจริตจะก้านของฝ่ายนั้น ก็ยังดีกว่ารับภาระหนักอยู่แต่ผู้เดียว

         อุปนิสัยอย่างหนึ่งของนายขุนทอง คือเป็นคนรักสัตว์ ตอนอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน กิจวัตรประจำวันของเขาก็คือเลี้ยงดูให้อาหารแก่หมูหมากาไก่ เวลาแต่ละวันจึงหมดไปกับการวุ่นว่ายกับสัตว์เหล่านี้

         เมื่อมาอยู่วัดป่ามะม่วง นายขุนทองก็มิได้มามือเปล่า หากหอบหิ้วลูกสุนัขที่หย่านมแม่แล้วมาด้วยถึงสามตัว คือ เจ้าหมี เจ้าโฮม และเจ้าขาว ลูกสุนัขสามตัวนี้เกิดจากแม่เดียวกันและวันเดียวกัน แต่เจ้าหมีดูตัวใหญ่กว่าเพื่อน ขนของมันสีดำสนิทและรูปร่างหน้าตาน่าจะเป็นหมีมากกว่าหมา เพราะเหมือนหมีมากกว่า

         เจ้าโฮมกับเจ้าขาวตัวเล็กกว่าเจ้าหมีเกือบครึ่ง ทั้งหน้าตาของมันก็บ่งบอกว่าเป็น “หมาน่อย หมาน่อย ธรรมดา” เจ้าโฮมนั้นขนสีน้ำตาล ขณะที่เจ้าขาวขนสีเดียวกับชื่อ

         นายขุนทองรักลูกสุนัขสามตัวนี้มาก ถึงขนาดแบ่งชั้นวรรณะให้เสร็จสรรพ เพื่อจะได้ไม่ปะปนกับพวก “หมาวัด”

         แต่ถึงจะเป็น “หมามีปลอกคอ” หากเจ้าสามพี่น้อยก็มิได้เย่อหยิ่งจองหอง จึงไม่เป็นที่เขม่นเข่นเขี้ยวของหมาวัดตัวอื่น ๆ นายขุนทองอนุญาตให้เจ้าหมี เจ้าโฮม และเจ้าขาว เข้ามานอนในกุฏิชั้นล่างซึ่งท่านพระครูก็มิได้ว่ากระไร เพราะท่านเองก็รู้สึกถูกชะตากับเจ้าหมีเป็นพิเศษ ถึงกับต้องตรวจสอบด้วย “เห็นหนอ” และรู้ว่าในอดีตมันเคยเป็นทหารคู่ใจของท่าน น่าเสียดายที่ต้องมาอุบัติในกำเนิดเดรัจฉานซึ่งเป็นทุคติภูมิ

         เหล่าสัตว์ที่เกิดในทุคติภูมินั้นถูกจัดให้อยู่ในประเภท “อเวไนยสัตว์” จึงไม่อาจ “รับ” ธรรมะได้ แต่ก็คงจะเป็น “บุญ” ของมันที่ได้มาพบท่าน เพราะชาติต่อไปมันจะไม่ต้องเกิดในอบายภูมิอีก ท่านจะต้อง “ลุ้น” มันให้ถึงที่สุด

         “หลวงลุงฮะ หินก้อนนั้นเกะกะจัง เอาไปไว้ที่อื่นไม่ได้หรือฮะ” นายขุนทองถามหลังจากที่ท่านพระครูฉันภัตตาหารเสร็จ ตั้งแต่เข้ามาอยู่ในกุฏิ เขาก็จัดการให้ท่านฉันเสียที่ชั้นบน เพราะแขกบางคนชอบมาพูดคุยซักถามขณะที่ท่านกำลังฉัน

         “ก้อนไหนล่ะ”

         “ก้อนที่รูปร่างเหมือนไข่ยักษ์น่ะฮะ”

         “ข้าไม่เคยเห็นไข่ยักษ์เลยนึกไม่ออก แต่ถ้าเอ็งหมายถึงก้อนที่วางอยู่ด้านขวาของอาสนะ ข้าก็จะบอกเอ็งว่าอย่าไปยุ่งกับเขา เพราะเขาไม่ใช่ก้อนหินธรรมดา”

         “แหม หลวงลุงก็ หนูถามดี ๆ ก็ต้องยวนด้วย” หลานชายต่อว่าพลางค้อนปะหลับปะเหลือก ท่านพระครูชินเสียแล้วกับกิริยาเช่นนี้ จึงไม่พูดไม่ว่าให้เขาต้องรำคาญหู

         “ก็ที่กุฏิหลวงลุงมันมีหินกี่ก้อนล่ะ ตั้งแต่เข้ามาอยู่หนูก็เห็นก้อนเดียวนั่นแหละ แล้วที่ว่าไม่ใช่ธรรมดาน่ะมันเป็นของวิเศษหรือฮะ” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดถาม

         “อย่าไปเรียกเขาว่า “มัน” ข้าจะบอกให้เอ็งรู้ แล้วก็อย่าเที่ยวไปบอกคนอื่นล่ะ หินก้อนนั้นมีวิญญาณสิงอยู่ เขาอยากมาปฏิบัติกรรมฐาน ข้าก็เลยให้เขาอยู่ชั้นล่าง”

         “ผู้หญิงหรือผู้ชายฮะ” นายขุนทองถาม เขาเชื่อว่าผีมีจริง แล้วเขาก็เป็นคนไม่กลัวผี จึงไม่ได้ส่งเสียงกรี๊ดกร๊าดออกมา

         “ผู้ชาย”

         “หล่อไหมฮะ”

         “เอ็งถามทำไม”

         “ถ้าหล่อหนูจะได้จีบเป็นแฟนน่ะซีฮะ มีแฟนเป็นผีมันเท่หยอกซะเมื่อไหร่” คนที่คิดว่าตัวเป็นผู้หญิงตอบ ท่านพระครูรีบห้ามว่า

         “นี่ขอเสียทีเถอะเจ้าขุนทอง เอ็งอย่าได้มาคิดลามกจกเปรตในกุฏิของข้า ที่ข้าให้เอ็งมาอยู่ที่นี่ก็เพื่อให้มาทำความดีนะ”

         “คนอยากมีแฟนมันชั่วยังไงล่ะฮะ” คนถูกว่าย้อน

         “มันวิปริตผิดเพศไง แล้วก็ยังผิดภพภูมิด้วย อีกประการหนึ่งเขาก็มีคู่รักแล้ว เอ็งเห็นเสาสี่เหลี่ยมพิงอยู่ที่ต้นปีบหลังกุฏินั่นไหม นั่นแหละแฟนเขาละ”

         “เสาสีดำนั่นหรือฮะ” ท่านพระครูตอบว่า

         “ถูกแล้ว วิญญาณผู้หญิงอยู่ในนั้น เขาตามผู้ชายในก้อนหินมา” ฟังแล้วนายขุนทองก็ร้องกรี๊ด

         “ว้าย ตาเถนหกคะเมนตีลังกาเจ้าข้าเอ๋ย เป็นผีก็ยังอยากมีผัว ผีอยากมีผัว อีขุนทองไม่เค้ยไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น”

         “ผีอยากมีผัวก็ยังไม่วิปริตเท่าผู้ชายอยากมีผัวหรอกขุนทองเอ๊ย” ท่านพระครูพูดประชดประชัน

         “แถมยังอยากมีผัวเป็นผีด้วยใช่ไหมฮะ” แทนที่จะโกรธ นายขุนทองกลับพูดโต้ตอบคนเป็นหลวงลุงอย่างไม่ลดละ ท่านพระครูได้เรียนรู้นิสัยหลานชายเพิ่มขึ้น ปกติผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิงนั้นมักจะกลัวผี ขี้โกรธ แล้วก็ปากจัด หากนายขุนทองมิได้เป็นเช่นนั้น ท่านมองเห็นความหวังอยู่รำไรว่าคงจะช่วยเขาได้

         “เมื่อไหร่เอ็งจะหายดัดจริตดีดดิ้นซักทีนะเจ้าขุนทอง” ท่านพูดเป็นเชิงปรารภ

         “ไม่มีท้างไม่มีทาง ก็ฟ้าเขาลิขิตให้หนูเป็นยังงี้ก็ต้องเป็นยังงี้แหละฮ่ะหลวงลุ้ง” ชายหนุ่มว่า

         “เอ็งเชื่อฟ้ามากกว่าเชื่อกรรมงั้นหรือ”

         “หนูอยู่ใต้ฟ้าแล้วไม่เชื่อฟ้าได้ไงล่ะฮะ”

         “ข้าก็อยู่ใต้ฟ้าเหมือนกับเอ็ง แต่ข้าไม่เชื่อเรื่องฟ้าลิขิต ข้าเชื่อเรื่องกรรมลิขิตเท่านั้น”

         “หนูไม่จำเป็นต้องเชื่อเหมือนกับหลวงลุ่งนี่ฮะ หรือหลวงลุงว่าจำเป็น” ชายหนุ่มย้อนถาม

         แน่นอน ข้าไม่ได้บังคับให้เอ็งเชื่อเหมือนข้า เพียงแต่อยากให้เอ็งเชื่อในสิ่งที่มันจริง ไม่ใช่เชื่อลม ๆ แล้ว ๆ แบบนั้น”

         “โอ๊ย เรื่องความเชื่อน่ะ จะบังคับกันไม่ได้หรอกฮะหลวงลุ้ง คนเราทำกรรมมาไม่เหมือนกัน ต่างกรรมต่างวาระ แล้วจะให้คิดเหมือนกัน เชื่อเหมือนกันได้ไง จริงไหมฮะ”

         “โอ้โฮ วันนี้วันอะไรหนอ พ่อขุนทองถึงได้พูดเข้าทีดีนัก” ท่านพระครูเอ่ยปากชม

         “วันศุกร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนสาม ปีขาล พุทธศักราช ๒๕๑๗ ฮ่ะ” นายขุนทองตอบเพราะเพิ่งดูปฏิทินมา

         “เอ็งจะทำอะไรก็ไปทำเถอะไป๊ ประเดี๋ยวข้าจะเขียนหนังสือต่อ” ท่านพระครู “ไล่” ทางอ้อม ซึ่งนายขุนทองก็ไม่ว่ากระไร เขากราบสามครั้งแล้วจัดแจงเก็บสำรับเพื่อจะยกมารับประทานกับนายสมชายที่กุฏิชั้นล่าง

         ท่านพระครูลงมาล้างมือบ้วนปากในห้องน้ำ แล้วขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ บ่ายสองโมงจึงจะลงไป “รับแขก” ตามตารางที่นายขุนทองจัดให้

         พระบัวเฮียวปฏิบัติกรรมฐานเสร็จจึงแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปยังบิดามารดา เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ หลังจากฉันเช้าแล้วท่านก็เริ่มเดินจงกรมและนั่งสมาธิไปจนได้เวลาฉันเพล ปฏิบัติเช่นนี้ทุกวันจนเป็นกิจวัตร เว้นเสียแต่ว่าวันใดมีธุระหรือข้อสงสัยจะต้องเรียนถามพระอุปัชฌายาจารย์ จึงจะไปหาท่านที่กุฏิ

         “ท่านเริ่มจะชินกับการดำเนินชีวิตแบบสมณเพศ เป็นชีวิตที่เรียบง่ายและสุขสงบ ไม่ต้องตกเป็นทาสของกิเลสตัณหา ไม่ถูกมันชักจูงไปให้ชีวิตต้องร้อนรนกระวนกระวาย บัดนี้ท่านตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่า จะดำรงคงอยู่ในเพศบรรพชิตไปจนกว่าวาระสุดท้ายแห่งชีวิตจะมาถึง ไม่คิดที่จะสึกออกไปแต่งงานมีเหย้ามีเรือนเฉกเช่นคนอื่น ๆ

         ความหวังของท่านในบัดนี้คือ อยากพบ “พระในป่า” ที่เคยสอนกรรมฐานให้ท่านพระครูที่ป่าดงพระยาเย็นเมื่อห้าหกปีก่อน พระบัวเฮียวมีความเชื่อว่า “พระในป่า” ที่ท่านพระครูพูดถึงนั้นเป็นองค์เดียวกับพระอรหันต์ผู้มีนามว่า อุตตระ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งมาเผยแพร่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิในช่วงปีพุทธศักราช ๒๑๘ – ๒๖๐ อันเป็นระยะเวลาที่พระองค์ครองราชสมบัติ ณ พระนครปาฏลีบุตร ความรู้อันนี้พระบัวเฮียวได้มาจากตำราเล่มหนึ่งที่ขอยืมมาจากพระมหาบุญในตำราได้กล่าวว่า

            “พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งศาสนทูตออกไปเผยแพร่พระศาสนาในนานาประเทศ ทรงส่งพระโสณะกับพระอุตตระมายังดินแดนสุวรรณภูมิ…”

            พระบัวเฮียวเคยนำเรื่องนี้ไปเรียนถามท่านพระครู แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน ขณะเดียวกันท่านก็มิได้ปฏิเสธ เพียงแต่บอกว่าเมื่อใดที่ท่านเกิดปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ ก็จะไปถาม “พระในป่า” โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงป่าดงพระยาเย็น

         ภิกษุวัยยี่สิบหาอธิบายให้ผู้อื่นฟังไม่ได้ว่าทำไมท่านจึงเชื่อแบบนี้ เพราะมันขัดกับหลักของเหตุผล ปกติมนุษย์จะมีอายุอย่างมากก็ไม่เกินร้อยปี ที่จะมาอยู่ได้ตั้งสองพันกว่าปีนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ บอกใครก็คงไม่มีใครเชื่อ เพียงได้อ่านเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช กับได้ฟังเรื่อง”พระในป่า” จากท่านพระครู ท่านก็นำความคิดนี้ไปผสมผสานกันเสร็จสรรพว่า พระอุตตระก็คือพระในป่า ยิ่งเห็นท่านพระครูไม่ปฏิเสธท่านก็ยิ่งเชื่อแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งยังมั่นใจว่าวันหนึ่งท่านจะต้องพิสูจน์ความเชื่อนี้ให้ได้ ท่านพระครูพูดเป็นปริศนาไว้ว่า

         “ถ้าเธอมีความมุ่งมั่นที่จะรู้ วันหนึ่งเธอจะต้องรู้ ฉันต้องการให้เธอรู้ด้วยตัวเธอเองมากกว่าให้รู้เพราะการบอกเล่าของฉัน”

            พระบัวเฮียวกำลังจะไปหอฉัน พอท่านเปิดประตูห้องออกมา ก็พบจดหมายฉบับหนึ่งวางอยู่ เมื่อหยิบขึ้นมาดูก็เห็นว่าเป็นของท่าน จึงเปิดออกอ่าน เป็นลายมือนายหรุ่ม หากข้อความในจดหมายเป็นของโยมมารดา เพราะนางบุญพาอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ เนื่องจากเป็นคนญวน ท่านอ่านจดหมายของมารดาอย่างตั้งใจ จดหมายนั้นเขียนเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๑๗ ความว่า

            “บัวเฮียวลูกรัก

            จดหมายของเจ้าที่เขียนเมื่อ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๖ นั้นแม่ได้รับเมื่อหลังปีใหม่ ก็ดีใจว่าเจ้าเป็นพระแล้ว งานแม่ยุ่งไม่มีเวลาตอบ กระทั่งเกิดเรื่องประหลาดขึ้นเมื่อเช้านี้ เลยต้องให้ทิดหรุ่มเขาเขียนมาเล่าให้เจ้าฟัง

         เมื่อตอนเช้ามืด แม่กับทิดหรุ่มฝันตรงกัน คือฝันเห็นเจ้าห่มผ้าเหลืองมาบอกให้แม่กับทิดเขาเลิกฆ่าสัตว์ ให้ไปหางานอื่นทำ ที่จริงเราก็คิดกันมานานว่าจะเลิก แต่ก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกิน พอดีเมื่องวดที่แล้วทิดหรุ่มเขาฝันเห็นเลข เลยแทงหวยใต้ดินไปยี่สิบบาท แล้วมันก็ถูก ที่สำคัญคือแม่กำลังจะมีน้องให้เจ้า ตั้งแต่ตั้งท้องก็เหม็นกลิ่นเนื้อวัวเนื้อควาย แล้วก็ไม่ได้ช่วยทิดเขาแล่เนื้ออีกเลย

         วันนี้เป็นวันพระ ไม่ต้องฆ่า ก็เลยค่อยยังชั่วหน่อย แล้วก็เหมือนโชคเข้าข้างเรา เพราะเมื่อวานมีคนมาสมัครงานกับเถ้าแก่ เถ้าแก่เขาก็บอกว่าทิดหรุ่มออกเขาก็จะรับคนนั้นแทน ทิดหรุ่มเคยไปขอลาออกเมื่อสองสามวันก่อน เพราะสงสารที่แม่แพ้มาก เมื่อวานเราบอกเถ้าแก่ไปแล้วว่าจะออก ตอนเช้ามืดก็มาฝันพอดี คงจะเป็นบุญของเจ้าที่ได้ไปบวช จึงทำให้แม่กับพ่อเลี้ยงของเจ้าเลิกอาชีพนี้ได้ ถ้าแม่ได้อยู่ที่ใหม่เรียบร้อยแล้วจะส่งข่าวให้เจ้ารู้ทีหลัง หวังว่าเจ้าคงสบายดี ถ้ามีเวลาก็มาเยี่ยมแม่บ้าง

                                                   รักและเป็นห่วงลูกเสมอ

                                                                            ลงชื่อ บุญพา – หรุ่ม

         ข้อความในจดหมายทำให้พระบัวเฮียวปีตินัก ท่านรีบเดินไปที่กุฏิท่านพระครูเพื่อแจ้งข่าว นายขุนทองนำท่านขึ้นไปพบหลวงลุงที่ชั้นบนของกุฏิ เพราะชั้นล่างนั้นมีคนมานั่งรอกันบ้างแล้ว แม้ว่าอีกตั้งสามชั่วโมงกว่าท่านจะลงมา

         “มีอะไรหรือบัวเฮียว ถ้าไม่รีบร้อน ไปฉันเพลเสียก่อนก็ได้” ท่านพระครูบอกลูกศิษย์เพราะเกรงฝ่ายนั้นจะหิว กราบพระอุปัชฌาย์สามครั้งแล้ว ผู้เป็นศิษย์จึงตอบว่า

         “ผมอิ่มแล้วครับหลวงพ่อ ฉันปีติเสียอิ่มเลย”

         “ปีติเรื่องอะไรล่ะ” แทนคำตอบ พระบัวเฮียวส่งจดหมายฉบับนั้นให้ ท่านพระครูรับมาอ่านแล้วแสดงมุทิตาจิตว่า

         “ฉันขออนุโมทนา เห็นไหม เธอทำสำเร็จแล้ว เห็นอานิสงส์ของการแผ่เมตตาหรือยัง”

         “เห็นแล้วครับ ผมต้องขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงครับ ที่นอกจากจะเมตตาตัวผมแล้วยังเมตตาไปถึงโยมแม่ผมด้วย และหากไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป ผมอยากขอความกรุณาหลวงพ่อช่วยเมตตาโยมพ่อผมด้วยอีกคนเถิดครับ”

         “จะยากอะไรเล่าบัวเฮียว ก็ทำอย่างที่เธอทำอยู่นั่นแหละ แต่จะต้องให้มากกว่าเก่า เพราะถ้าพลังจิตไม่แรงพอก็จะส่งไปไม่ถึง เธอต้องฝึกให้เข้มข้นกว่านี้จึงจะสามารถส่งไปภพภูมิอื่นได้ ก็ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามของเธอนั่นแหละ”

         “เอาละ หลวงพี่สู้ สู้ ขุนทองจะเอาใจช่วย” นายขุนทอง “เชียร์” ออกหน้าออกตา

         “ถ้าเอ็งมาช่วยปฏิบัติด้วย รับรองว่าสำเร็จแน่” ท่านพระครูเห็นช่องทางที่จะโน้มน้าวจิตใจหลานชาย

         “อุ๊ย อย่าให้ถึงขนาดนั้นเลยฮ่ะหลวงลุง ให้หนูคอยเอาใจช่วยดีฝ่า อย่าให้ถึงกับลงไปขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอด้วยเลย” นายขุนทองเริ่มปฏิเสธ

         “หลวงพ่อเคยบอกว่ามีคนทำได้มาแล้ว ที่เป็นชาวนอรเวน่ะครับ ผมขออนุญาตฟังได้ไหมครับ”

         “ได้สิ ถ้าเธออนุญาตให้ฉันเล่า ฉันก็จะอนุญาตให้เธอฟัง” ท่านล้อเลียน “น้องชาย”

         “ครับ ขอบคุณครับ นิมนต์หลวงพ่อเล่าเถิดครับ”

         “เธอเห็นรูปพระฝรั่งที่ตั้งอยู่หน้าอาสนะของฉันหรือเปล่าล่ะ นั่นแหละเขาละ”

         “อ๋อ ที่นั่งขัดสมาธิหลับตาอยู่ในรูปนั่นใช่ไหมฮะหลวงลุง แหม! ล้อหล่อ” นายขุนทองชม

         “หล่อก็อย่าไปหลงรักเขาเข้าแล้วกัน เขามีเมียแล้ว” ท่านพระครูปรามไว้ก่อน

         “เหรอฮะ แหม! อีขุนทองอกหักซะแล้ว” พูดพร้อมกับยกมือขึ้นทาบอก

         “จะฟังหรือไม่ฟัง ถ้าไม่ฟังก็ลงไปข้างล่าง” ท่านพระครูไล่อย่างสุภาพ

         “ฟังฮ่ะฟัง แหม! พูดแค่นี้ก็ต้องมีมะโหด้วย” หลานชายบ่นอุบ ท่านพระครูจึงเล่าว่า

            “เขาชื่อ วิโก้ บรุน เป็นชาวนอรเว แต่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เคยมาบวชที่วัดนี้เมื่อปี ๒๕๑๒ วีโก้ เป็นชื่อ ส่วน บรุน เป็นนามสกุล

         “เขานับถือศาสนาอะไรครับ”

         “ศาสนาคริสต์ แต่สนใจอยากศึกษาพระพุทธศาสนา เขาสอนภาษาไทยอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ได้ทุนของมหาวิทยาลัยมาเรียนภาษาไทยที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ เขาเล่าให้ฉันฟังว่าปู่เขาเป็นศาสตราจารย์สอนอยู่มหาวิทยาลัยที่ประเทศนอรเว ชอบศึกษาพระพุทธศาสนา อ่านพระไตรปิฎกจบทั้งหมด คืออ่านฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเวลานี้ยังแปลไม่ครบทั้ง ๔๕ เล่ม แปลเป็นบางเล่ม แล้วปู่เขาก็อ่านหมด ตอนเขาจะมาเมืองไทย ปู่ก็ให้พรว่า “หลานมาเมืองไทยอย่าลืมเอาของดีมาฝากปู่นะ” เขาสั่งหลานอย่างนี้ ศาสตาจารย์คนนี้แกฉลาดจริง ๆ อุตส่าห์รู้ว่าเมืองไทยมีของดี คนไทยเสียอีกยังไม่รู้”

         “ของดีอะไรครับ”

         “ของดีอะไรฮะ” พระบัวเฮียวและนายขุนทองถามขึ้นพร้อมกัน

         “นั่นไง คนไทยสองคนที่นั่งอยู่นี่ยังไม่รู้เลย”

         “คนไทยคนเดียวครับ ผมเป็นคนญวน” พระบัวเฮียวรีบแก้ตัว

         “นั่นแหละ งี่เง่าทั้งคนไทยและคนญวนนั่นแหละ เอาละ ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ฟังฉันเล่าต่อก็แล้วกัน พอปู่พูดอย่างนี้ นายวีโก้ก็ถามว่าของดีอะไร ปู่บอกเอาเถอะไปถึงแล้วจะรู้เอง หลังจากนั้นนายวีโก้ก็เดินทางมาประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๑๑ เรียนอยู่ปีนึง พอปิดเทอมภาคฤดูร้อนก็นึกอยากบวช จึงอ่านพระวินัยปิฎกทั้ง ๘ เล่ม เขาอ่านภาษาไทยได้ พูดก็ได้ ใช้ศัพท์ถูกต้องกว่าคนไทยบางคนเสียอีก แล้วเขาก็คิดหาวัดที่จะบวช ก็เที่ยวสำรวจวัดต่าง ๆ ตั้งแต่กรุงเทพฯ อยุธยา อ่างทอง ลพบุรี จนกระทั่งมาถึงวัดป่ามะม่วงนี่ ผ่านมาถึงสี่จังหวัดไม่ถูกใจ มาถูกใจเอาจังหวัดที่ห้าที่วัดป่ามะม่วงตั้งอยู่นี่”

         “เขาเอาอะไรมาตัดสินล่ะครับว่าวัดไหนถูกใจหรือไม่ถูกใจ” พระบัวเฮียวถาม

         “เขาบอกเขาเที่ยวถามพระมาทุกวัดให้ตอบปัญหาเขา แต่ไม่มีพระวัดไหนตอบได้ เขาถามว่า

         “อะไรเอ่ย สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป” เขาบอกไม่มีใครตอบได้ เขาก็เลยมาถามฉัน ฉันก็ตอบเขาไป จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่รู้ละเพราะเขาไม่ได้เฉลย พอฉันตอบเสร็จเขาก็ขอบวชทันที”

         “หลวงพ่อตอบว่าอย่างไรครับ”

         “เธอลองตอบซิ ถ้าเป็นเธอถูกถามอย่างนี้จะตอบว่ายังไง” ท่านถามพระบัวเฮียว

         “ไม่ทราบครับ แต่ผมอยากทราบที่หลวงพ่อตอบเขาน่ะครับ”

         “ฉันตอบไปว่า สี่คนหามก็คือตัวเราซึ่งเกิดจากการประชุมกันของธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ เตโชธาตุ”

         “หลวงลุงหนูไม่เข้าใจ ช่วยแปลหน่อยเถอะฮ่ะ” นายขุนทองขอร้องพระบัวเฮียวจึงรับหน้าที่แปลให้ฟังว่า ธาตุทั้ง ๔ ที่ท่านพระครูพูดถึงคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ นั่นเอง

         “สามคนแห่ ก็คือกิเลส หรืออกุศลมูล ๓ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ หนึ่งคนนั่งแคร่ก็คือจิต คืนคนนั้นประกอบด้วยสองส่วนคือ รูปกับนาม รูปเกิดจากการประชุมกันของ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนนามก็คือจิต สองคนพาไปก็คือ บุญกับบาป ขยายความคือคนเราขณะที่มีชีวิตก็ถูก โลภะ โทสะ โมหะ ชักจูงไป พอตายลงก็เหลือแต่บุญกับบาป ที่จะพาไปสุคติหรือทุคติ พอฉันตอบอย่างนี้เขาก็ขอบวช บอกว่าอ่านพระวินัยปิฎกเข้าใจหมดแล้ว สิกขา ๒๒๗ ข้อก็จำได้แล้ว ฉันเห็นท่าทางเข้าทีก็เลยให้บวชแล้วก็สอนกรรมฐานให้ เขาก็ปฏิบัติอย่างเคร่ง ครัดและเอาจริงเอาจัง เทศก์ก็เก่ง ฉันเคยพาไปเทศน์ตามงานต่าง ๆ เทศน์แบบปุจฉาวิสัชนาก็ได้ พวกชาวบ้านชอบใจมาก

         วันหนึ่งฉันพาเทศน์งานศพ เขาก็ว่าไปพวกลูก ๆ ของคนตาย ฉันต้องรีบพากลับแทบไม่ทัน”

         “ไปว่าเขาทำไมครับ”

         “ก็พวกนั้นทำไม่ถูกต้อง งานศพ พ่อ ลูก ๆ พากันกินเหล้าเมาแอ๋ เขาก็ถามพวกนั้นว่า คนที่นอนอยู่ในโลกน่ะใคร พวกลูก ๆ ก็บอกว่า

         “พ่อผมเอง ท่านไม่รู้หรอกหรือหลวงพ่อที่พามาไม่ได้บอกหรอกหรือ เขาก็ตอบว่า

         “รู้แล้ว หลวงพ่อก็บอกแล้วด้วย แต่ที่ถามเพราะอยากรู้ว่าในเมื่อพ่อของพวกคุณตาย แล้วพวกคุณมานั่งกินเหล้าต่อหน้างานศพเช่นนี้ พ่อคุณจะได้บุญยังไง”

         พอพูดอย่างนี้ พวกลูก ๆ ก็ทำท่าตะลุมบอนเพราะคนเมานั้นขาดสติ แยกไม่ออกว่านี่พระ นี่ฆราวาส พอพูดผิดหูหน่อยก็จะตะลุมบอนพระเสียแล้ว ฉันเลยต้องรีบพากลับวัด พวกชาวบ้านที่มาฟังเทศน์ก็ไม่อยากให้กลับ บอก “หลวงพ่อนิมนต์อยู่ก่อน” ฉันก็ตอบไปว่า “อยู่ไม่ได้โยม พระวีโก้ทำพิษซะแล้ว”

         “แล้วเขาแผ่เมตตาไปให้พ่อแม่ตอนไหนครับ”

         “ตอนบวชได้สองเดือนแล้ว เขาตั้งใจปฏิบัติมาก บอกได้หมดว่ารอบวัดนี้เดินจงกรมกี่ก้าว ใช้เวลากี่นาที วันหนึ่งเขาก็ถามฉันว่าเขาจะแผ่เมตตาไปยังพ่อกับแม่ที่นอรเวจะได้ไหม ฉันมองหน้าเขาอย่างสำรวจตรวจตรา แล้วก็ตอบว่าได้ เขาก็ทำอย่างที่เธอทำ วันหนึ่งเขาก็ถือจดหมายมาหาฉัน ร้องไห้ด้วย เขาบอกเขาดีใจจนต้องร้องไห้ จดหมายนั่นใช้เวลาเดินทางหนึ่งเดือนจึงถึงวัดป่ามะม่วง คือเดินทางจากนอรเวมาติดอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ เพื่อเขามาเห็นเลยนำมาให้ เขาเล่าว่าวันนั้นเมื่อเขาทำกรรมฐานแผ่เมตตาไปให้ ปู่ พ่อ แม่ แล้วก็เพื่อนสนิทอีกสองคน ในจดหมายแม่ก็เล่ามาอย่างละเอียด วันและเวลาตรงกับที่เขาแผ่เมตตาไปให้

         แม่เขาเล่าว่าวันนั้นปู่เขา พ่อเขา และเพื่อนอีกสองคนกำลังคุยกันอยู่ในห้องรับแขก ส่วนแม่เขาไม่สบาย แต่ก็นอนฟังเขาคุยกันอยู่ในห้องนอน พอคนทั้งสี่คุยถึงเขา แม่ก็เลยลุกมาร่วมวงด้วย แล้วทุกคนก็ได้เห็นผ้าเหลืองลอยอยู่ทางทิศตะวันออกแล้วก็หายไป ปู่จึงพูดขึ้นว่า

         “หลานของปู่ได้มาพบของดีในเมืองไทยแล้ว” แม่เขาก็เลยเข้าห้องหยิบปากกาและกระดาษมาเขียนจดหมายเล่าให้เขาฟัง เป็นเรื่องที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เพื่อนเขาสองคนก็ประหลาดใจมาก”

         “หนูก็ประหลาดใจม้ากมากฮ่ะ หลวงลุง มันเป็นไปได้ยังไง ผ้าเหลืองจากเมืองไทยลอยไปประเทศนอรเว”

         “ไม่ใช่ผ้าเหลืองจริง ๆ หรอกเจ้าขุนทอง ที่คนทั้งห้าเห็นนั่นน่ะเขาเรียกว่า “นิมิต” ถ้าเอ็งอยากพิสูจน์ก็ต้องมาเข้ากรรมฐาน” ท่านพระครูถือโอกาสเกลี้ยกล่อมคนเป็นหลาน

         “อุ๊ย! กรรมฐานกรรมโถน อีขุนทองไม่เอ๊าไม่เอา” นายขุนทองปฏิเสธเสียงลั่น...

         

 

มีต่อ........๔๑
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #43 เมื่อ: เมษายน 22, 2007, 08:48:59 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00041
๔๑...

         แขกคนสุดท้ายกลับไปแล้ว และ ท่านพระครูก็ขึ้นไปเขียนหนังสือยังชั้นบนของกุฏิแล้ว นายขุนทองกำลังเก็บแก้วน้ำเพื่อเตรียมจะไปล้าง

         หญิงชราคนหนึ่งเดินเข้ามาในกุฏิ เขาจึงรีบบอกนางว่า

         “ยาย หลวงพ่อเพิ่งขึ้นข้างบนเมื่อสักครู่นี้เอง พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่แล้วกัน บ้านอยู่ไกลหรือเปล่าล่ะยายน่ะ”

         “อยู่อ่างทองโน่น ยายขอขึ้นไปพบท่านเดี๋ยวเดียวเอง” นางบอกเป็นเชิงขออนุญาต

         “ไม่ได้หรอกยาย เอายังงี้ดีกว่า เดี๋ยวหนูจะพาไปหาที่พัก พรุ่งนี้เช้ายายค่อยมาพบท่าน โชคดีนะที่พรุ่งนี้เป็นวันพระ ไม่งั้นยายก็ต้องรอถึงบ่ายสองโมงท่านจึงจะลงรับแขก” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดบอกกล่าวพลางมองนาฬิกาที่ฝาผนัง ขณะนั้นเป็นเวลาสองทุ่มตรง”

         “แต่ยายต้องพบท่านวันนี้ ไม่เป็นไร ท่านไม่ลง ยายขึ้นไปหาท่านเองก็ได้” ยังไม่ทันที่นายขุนทองจะเอ่ยปากห้าม หญิงชราผู้นั้นก็เปิดประตูเดินขึ้นไปชั้นบน นายขุนทองเดินตามไปที่ประตู แต่ปรากฏว่าเปิดไม่ออก นางคงจะลงกลอนเอาไว้ รู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่านด้วยเกรงจะถูกหลวงลุงดุเอา หญิงชราลงมาเมื่อไหร่จะต้องต่อว่าเสียให้เข็ด โทษฐานที่ขัดคำสั่ง “เลขาส่วนตัว” ของท่านเจ้าของกุฏิ

         “อ้าว โยมปั่นมาได้ยังไงนี่” ท่านพระครูทัก รู้ว่าฝ่ายนั้นเป็นอัมพาตลุกไปไหนมาไหนไม่ได้

         “ฉันมาลาหลวงพ่อจ้ะ พรุ่งนี้ตอนตีสี่ฉันจะไปแล้ว นอนทรมานมาหลายปีเหลือเกิน ทิดขำเขาจะได้หมดภาระเสียที” คำบอกเล่าของนางปั่นทำให้ท่านพระครูได้รู้ ว่าร่างที่นั่งพับเพียบอยู่ต่อหน้าท่านนี้มิใช่ “กายเนื้อ” หากเป็น เจตภูต

            “จะไปหรือ แล้วโยมได้ “อะไร” ไปล่ะ” ท่านถาม “อะไร” ในที่นี้ท่านต้องการหมายถึง บุญหรือบาป เพราะสองสิ่งเท่านั้นที่มนุษย์จะเอาติดตัวไปยังภพภูมิหน้าได้ ส่วนสมบัติพัสถานที่เป็นวัตถุธรรมไม่มีใครเอาไปได้ แม้เหรียญบาทเพียงอันเดียวที่ลูกหลานเขาเอาใส่ปากให้ก็ยังต้องเป็นของสัปเหร่อไปในที่สุด

         “ฉันได้บุญไปจ้ะหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อเมตตาฉันแท้ ๆ เชียว ไม่งั้นก็คงต้องพกบาปไป” นางพูดอย่างรู้บุญรู้คุณ

         “ดีแล้วที่โยมเลือกไปวันพระ พรุ่งนี้เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ แล้วก็เป็นวันพฤหัสด้วย อาตมาไม่ใช่คนถือฤกษ์ถือยาม แต่ก็ยังชอบวันพฤหัส เพราะเป็นวันพ่อแม่ครูอาจารย์”

         “จ้ะ ฉันก็กำหนดจิตว่าจะขอตายวันพระ จะได้ไปถือศีล ไปปฏิบัติกรรมฐานข้างบนโน้น” นางหมายถึงสุคติโลกสวรรค์

         “ดีแล้วละโยม แล้วก็อย่าติดสุขเสียจนลืมการปฏิบัติล่ะ ชีวิตบ้างบนนั้นสบายกว่าในโลกมนุษย์ เขาก็เลยพากันประมาทมัวเมา ครั้นพอหมดบุญก็เลยต้องไปทุคติ”

         “จ้ะหลวงพ่อ ฉันจะไม่เป็นอย่างพวกเขา หลวงพ่อสอนให้ฉันฝึกสติ ฉันก็จะใช้สตินี่แหละคอยเตือนใจฉัน”

         “ถูกต้องที่สุด โบราณท่านสอนเอาไว้เป็นคำกลอนว่า “ตนเตือนตนของตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน ตนลืมเตือนใจตนหล่นอบาย” การเตือนตนเองไว้เสมอก็คือการมีสตินี่เอง เมื่อไหร่ที่ขาดสติ โอกาสที่จะตกไปในอบายภูมิก็มีมากขึ้น

         “จ้ะ แล้วหลวงพ่อต้องไปเผาศพฉันด้วยนะจ๊ะ”

         “เผาเมื่อไหร่ล่ะ”

         ฉันสั่งทิดเขาไว้แล้วว่าให้สวดพระอภิธรรมเจ็ดวัน วันที่แปดก็เผาเลย จะได้ไม่เป็นภาระลูกๆ เขา เห็นทิดเขาพูดว่าหมดห่วงแล้วเขาจะมาขอบวชอยู่กะหลวงพ่อ ยังไงฉันก็ฝากเขาด้วยแล้วกัน เขาเกิดมาเป็นคู่เวรคูกรรมของฉันแท้ ๆ”

         ท่านพระครูหยิบสมุดบันทึกขึ้นมาเปิดหน้าที่ตรงกับวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ เขียนลงไปล่า “เวลาสองทุ่ม เจตภูตของนางปั่นมาจากอ่างทอง เพื่อบอกว่าพรุ่งนี้เวลาตีสี่จะทิ้งร่าง เจตภูตนั้นมีจริงอย่างไม่ต้องสงสัย” จดเสร็จจึงเงยหน้าถามนางปั่นว่า “ศพเผาที่วัดไหน เวลาเท่าไหร่”

         “วัดโบสถ์ตอนสี่โมงเย็นจ้ะ แล้วทิดเขาคงมาเรียนให้หลวงพ่อทราบอีกครั้งหนึ่ง ฉันเห็นจะต้องลาละจ้ะ เดี๋ยวทิดเขาจะสงสัยว่า ทำไมหลับนานนัก นางกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งแล้วจึงลุกออกไป

         นายขุนทองถือถาดใส่แก้วน้ำที่ล้างแล้วเดินเข้ามา เห็นนางปั่นเดินออกประตูกุฏิไป จึงวางถาดลงแล้ววิ่งตามหมายจะไปต่อว่า เขาวิ่งตามไปจนถึงประตูวัด ทั้งที่เห็นหลังอยู่ไว ๆ แต่กลับตามนางไม่ทัน ไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงแก่ ๆ ท่าทางขี้โรคคนนั้นจะเดินเร็วถึงปานนี้ เมื่อนางเดินลับตาและหายไปในความมืด เขาจึงเดินกลับกุฏิ ขึ้นไปเรียนท่านพระครูว่า

         “หลวงลุงฮะ เมื่อกี้มียายแก่คนนึงมาขอพบหลวงลุง เปิดประตูขึ้นไปจนได้แถมใส่กลอนอีกด้วย หนูไม่รู้จะทำยังไง เลยคอยจ้องจะต่อว่าตอนแกลงมา เสร็จแล้วก็ตามแกไม่ทันเสียอีก หลวงลุงจะด่าหรือว่าหนูก็เชิญได้เลยเพราะหนูผิดไปแล้ว” นายขุนทองก้มหน้าสารภาพ

         “ข้าไม่มีอะไรจะว่าเอ็งหรอกเจ้าขุนทอง และข้าก็ไม่ได้คิดว่าเอ็งทำผิดอะไร ผู้หญิงคนที่เอ็งเห็นน่ะคือโยมปั่นเมียนายขำ” ได้ยินดังนั้นนายขุนทองถึงกับสะดุ้ง

         “หลวงลุงว่าอะไรนะฮะ นี่พ่อหนูไปแอบมีเมียแก่ ๆ ไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน” เขาเข้าใจว่าท่านพระครูหมายถึงนายขำผู้เป็นบิดาของเขา ท่านเจ้าของกุฏิจึงต้องขยายความให้ฟังว่า

         “นี่เขานายขำอ่างทอง พ่อเองเขานายขำสิงห์บุรี มันคนละขำกัน ยังมีขำลพบุรี ขำอยุธยา ขำนครสวรรค์อีกนะ ที่ข้ารู้จักน่ะ อ้อ! มีขำสุพรรณอีกคนนึงด้วย”

         “แล้วหลวงลุงว่าคนไหนหล่อที่สุดฮะ คนไหน”

         “เอ็งก็ไม่มีอะไรนอกจากเรื่องความหล่อ เอ็งดูคนแค่ที่หล่อไม่หล่อเท่านั้นเองหรือ”

         “ก็มีอะไรจะให้ดูมากไปกว่านี้ล่ะหลวงลุง หนูเป็นคนสวยก็จ้องสนใจคนหล่อ อยากมีแฟนหล่อ ๆ มันถึงจะคู่ควรกัน หรือหลวงลุงว่าไม่จริง หลานชายย้อนถาม

         “นี่เจ้าขุนทอง ถ้าเอ็งไม่มีอะไรดีกว่านี้จะมาพูดกับข้า ก็ขอเชิญลงไปได้ ข้าจะทำงานละ”

         “แหม หลวงลุงละก็ อะไรนิดอะไรหน่อยก็ต้องไล่กันด้วย หนูอุตส่าห์เป็นห่วงแทบแย่” หลานชายต่อว่ากราย ๆ

         “เอ็งมาห่วงอะไรข้าล่ะหรือ เจ้าขุนทอง ห่วงอะไร”

         “ห่วงซี ก็ยายปั่นแกเป็นผู้หญิงแล้วหลวงลุงเป็นผู้ชาย ขึ้นมาคุยกันในที่ลับยามวิกาลเช่นนี้ ใครเขารู้เข้า หลวงลุงจะต้องถูกครหานินทา แต่ก่อนหลวงลุงเคร่งครัดในเรื่องเช่นนี้มาก แต่ทำไมวันนี้ไม่เคร่งครัด หลวงลุงน่าจะให้แกลงมาคุยข้างล่างหรือไม่ก็เรียกหนูขึ้นไปอยู่เป็นเพื่อนถึงจะถูก ที่หนูพูดมานี่ หลวงลุงว่าผิดหรือเปล่า”

         ท่านพระครูรู้สึกพอใจในความรอบคอบของคนเป็นหลาน จึงอธิบายให้เขาฟังว่า

         “ข้าขอบใจที่เอ็งเป็นห่วง แต่เอ็งไม่ต้องวิตกหรอก เพราะโยมปั่นเขาไม่ได้เอาร่างจริงมาด้วย ที่เอ็งเห็นนั้นเขาเรียกว่า เจตภูต”

         “หมายความว่ายังไงฮะ” หลานชายไม่เข้าใจ

         “ก็หมายความว่าโยมปั่นเขาเอาวิญญาณมา ไม่ได้เอาร่างมา เขาเป็นอัมพาตไปไหนมาไหนไม่ได้มาหลายปีแล้ว วิญญาณที่ออกจากร่างขณะที่นอนหลับนั้นเขาเรียกว่า เจตภูต”

         “แล้วแกมาหาหลวงลุงทำไมหรือฮะ”

         “มาบอกว่าพรุ่งนี้ตอนตีสี่แกจะตาย ให้ข้าไปงานเผาศพแกด้วย”

         “เป็นไปได้หรือฮะหลวงลุง หนูไม่อยากจะเชื่อว่าคนเราจะสามารถรู้วันตายของตัวเองได้ ถ้าเป็นผู้วิเศษก็ว่าไปอย่าง”

         “ไม่ต้องถึงกับเป็นผู้วิเศษหรอกเจ้าขุนทอง อย่างข้าก็ไม่ได้เป็นผู้วิเศษมาจากไหน ข้าก็ยังรู้วันตายของข้า”

         “หลวงลุงพูดเล่นหรือเปล่า หลอกหนูเล่นใช่ไหม”

         “ไม่ได้พูดเล่นแล้วก็ไม่ได้หลอก ข้าพูดจริง ๆ ถึงเอ็งก็เถอะ ถ้าอยากรู้วันตาย เอ็งก็รู้ได้หากเอ็งปฏิบัติกรรมฐาน”

            “โอ๊ย หลวงลุงอย่าเพิ่งพูดถึงความตาย หนูยังไม่อยากรู้เพราะยังไม่อยากตาย แหมคนกำลังอยู่ในวัยขบเผาะจะให้ตายซะแล้ว” นายขุนทองตีโพยตีพาย

         “นี่แหละ คนไม่เอากรรมฐานก็แบบนี้แหละ เหมือนกันหมดทุกราย”

         “แบบนี้น่ะแบบไหนฮะ” ชายหนุ่มย้อนถาม

         “ก็แบบเอ็งไง ของแท้ไม่เอาจะเอาแต่ของปลอม” ท่านพระครูว่าหลานชาย

         “แล้วของแท้ของหลวงลุงน่ะคืออะไรล่ะฮะ”

         “ก็กรรมฐานน่ะซี ถ้าเอ็งมาปฏิบัติกรรมฐาน เอ็งก็จะสามารถรู้วันตายได้ โยมปั่นแกก็ปฏิบัติ ข้าก็ปฏิบัติ รู้มันดีกว่าไม่รู้นะเจ้าขุนทอง”

         “โอ๊ย เซ็ง ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ได้ยินแต่กรรมฐาน ๆ จนรำคาญจะแย่แล้ว หลวงลุงไม่มีอะไรที่ดีกว่านี้แล้วหรือฮะ”

         “ไม่มีอีกแล้ว กรรมฐานนี่แหละดีที่สุด”

         “ดียังไงฮะ หลวงลุงช่วยบอกหน่อยเถอะ เผื่อบางทีหนูอาจจะเปลี่ยนใจมาชอบมันก็ได้” ท่านพระครูคิดว่าคราวนี้คงจะโน้มน้าวจิตใจนายขุนทองให้มาสนใจการปฏิบัติได้ จึงอธิบายให้เขาฟังว่า

         “ประโยชน์ของการปฏิบัติกรรมฐานนั้นมีมากมาย เท่าที่ข้ารู้จากประสบการณ์ของข้าเอง และจากการสอบอารมณ์ของผู้ปฏิบัติคนอื่น ๆ พอสรุปได้สามประการใหญ่ ๆ คือ หนึ่งระลึกชาติได้ สองเห็นกฎแห่งกรรม และสามเกิดปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิตได้ ซึ่งประการสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าเราสามารถแก้ปัญหาของตัวเราเองได้ ก็ไม่ต้องไปวิ่งหาพระให้รดน้ำมนต์หรือวิ่งไปหาหมอดู เราต้องเป็นหมอดูให้ตัวเองมันถึงจะถูก นี่แหละประโยชน์ของกรรมฐานอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่มานั่งหลับหูหลับตาเพื่อจะไปสวรรค์นิพพานอย่างที่ชาวบ้านเขาพูดกัน เมื่อใดที่ยังไม่เกิดปัญญา ยังแก้ปัญหาชีวิตให้ตัวเองไม่ได้ แล้วจะไปสวรรค์นิพพานได้ยังไง ที่ข้าพูดมานี่เอ็งเห็นด้วยไหมเล่า”

            “หนูยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ก็เลยยังตอบไม่ได้ หลวงลุงช่วยอธิบายหน่อยซีฮะว่าทำไม่ถึงต้องให้ระลึกชาติได้ แล้วระลึกได้กี่ชาติ”

         “จะกี่ชาติก็ไม่สำคัญหรอก แต่อย่างน้อย ๆ ก็ขอให้ระลึกชาติปัจจุบันได้ อย่างเช่นลูกที่เกเรไม่เชื่อฟังพ่อแม่ หรือชนิดที่เถียงพ่อเถียงแม่ คำไม่ตกฟาก พอมาเข้ากรรมฐานได้สองสามวันก็ระลึกชาติได้เลย คือเมื่อจิตสงบก็นึกย้อนไปในอดีตที่เคยทำไม่ดีไว้กับพ่อแม่ บางคนถึงกับร้องไห้โฮออกมาบอกว่ากลับบ้านไปนี่จะต้องไปกราบเท้า ขอขมาโทษพ่อแม่หรือคนที่เคยด่าเมีย เคยทุบตีเมีย พอมาเข้ากรรมฐานเมื่อจิตสงบก็จะรู้บุญคุณเมีย คิดว่ากลับไปบ้านจะต้องไปกราบเมีย อย่างนี้เป็นต้น

         “จริงหรือฮะหลวงลุง แล้วหลวงลุงรู้ได้ยังไงฮะ”

         “ก็เขาบอกข้าน่ะซี บางคนถึงกับร้องไห้พูดว่า “หลวงพ่อครับ ผมมันชั่วช้าสารเลวเสียเหลือเกิน” ข้าก็ถามว่า “ชั่วยังไงล่ะโยม” เขาก็ตอบว่า “ชั่วที่ชอบด่าเมีย ชอบเตะเมียแทนลูกฟุตบอลน่ะครับ ต่อไปนี้ผมจะไม่ทำอีกแล้ว กลับไปนี่ผมจะไปกราบเมีย” บังเอิญวันที่เขาจะกลับ เมียเขามารับเอ็งเชื่อไหมพอเขาเห็นหน้าเมียเขาคลานเข้าไปกราบเลย กราบต่อหน้าข้าด้วย เมียเขาก็งงว่า “เอ หลวงพ่อสอนผัวฉันยังไงนะ กลายเป็นคนละคนเลย เมื่อก่อนเห็นฉันเป็นลูกฟุตบอล แต่เดี๋ยวนี้กลับเห็นฉันเป็นพระไปซะแล้ว” นี่เมียเขามาแอบเล่าให้ข้าฟังอย่างนี้ เอ็งเห็นหรือยังล่ะว่า คนมาเข้ากรรมฐานน่ะระลึกชาติได้แบบนี้แหละ”

         “แหม หนูนึกว่าระลึกชาติ

 

               

มีต่อ........๔๒
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #44 เมื่อ: เมษายน 22, 2007, 08:49:36 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00042
๔๒...

          นายสมชายขี่จักรยานกลับมาถึงวัดเวลาประมาณสามทุ่ม เห็นรถเบ๊นซ์สีดำคันหนึ่งจอดอยู่ที่ลานจอดรถด้านหลังของกุฏิ คิดว่าคงจะต้องมีแขกมาหาท่านพระครู อาจเป็นคนสามคนที่กลังเดินเห็นหลังอยู่ไว ๆ ข้างหน้านั่น เขาจะต้องไปให้ถึงกุฏิก่อน เพื่อจะบอกคนทั้งสามว่าหมดเวลารับแขกแล้ว

          วันธรรมดาท่านพระครูจะลงรับแขกเวลาเดียว คือตั้งแต่ ๑๔.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. ยกเว้นวันพระ จึงจะลงสองครั้ง ตามที่นายขุนทองจัดตารางให้ ป่านี้เจ้าหนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดคนนั้นคงจะหลับไปนานแล้ว เพราะเป็นคนนอนแต่หัวค่ำ

          ศิษย์ก้นกุฏินำจักรยานเข้าไปเก็บในโรงรถ เมื่อกลับออกมาก็เห็นชายวัยกลางคนกับสตรีวัยหกสิบเศษช่วยกันประคองบุรุษสูงอายุเข้ามานั่ง บุรุษนั้นสวมแว่นตาดำ อายุคงอยู่ในราวเจ็ดสิบเศษ ข้ามานั่งแล้วก็ยังไม่ยอมถอดแว่นตาดำออก เขาจึงเข้าไปถามว่า

          “ลุงมาพบหลวงพ่อหรือครับ”

          “อุ๊ยตาย” สตรีวัยหกสิบเศษอุทานเสียงสูง แล้วบอกบุรุษที่ใส่แว่นตาดำว่า

          “ท่านคะ เขาเรียกท่านว่าลุงแน่ะค่ะ ได้ยินหรือเปล่าคะ” คนถูกเรียกว่าลุงรู้สึกว่า “อัตตา” วิ่งขึ้นสูงจนหากใช้ปรอทวัดก็คงไม่ต่ำกว่าจุดเดือด จึงพูดโกรธ ๆ ว่า

          “เขาคงไม่รู้ละมั้งว่าพี่เป็นใคร คุณหญิงช่วยบอกเขาเอาบุญหน่อยซิ” เขาเรียกสตรีผู้นั้นว่า “คุณหญิง”

            “ให้ตาเอ้บอกดีกว่าค่ะ ตาเอ้บอกพ่อคนนี้ซีว่าอากับคุณพ่อเธอเป็นใครมาจากไหน” หล่อนหันไปพูดกับชายวัยกลางคนด้วยท่าทางหยิ่ง ๆ “นายเอ้” จึงบอกลูกศิษย์วัดว่า

          “น้องชาย นี่คือท่านรัฐมนตรีปลด เป็นคุณพ่อของผม แล้วสตรีผู้นี้คือคุณหญิงอรสา น้องสาวคุณพ่อและเป็นภรรยาของท่านรัฐมนตรีอัครเดช หวังว่าน้องชายคงเคยได้ยินชื่อนะ ท่านเคยเป็นรัฐมนตรีสมัยที่แล้ว” นายสมชายแอบโต้ในใจว่า “อย่าว่าแต่รัฐมนตรีสมัยที่แล้วเลย ถึงเป็นรัฐมนตรีสมัยนี้ผมก็ไม่รู้จักใครสักคน” แต่ปากเขาพูดว่า

          “หรือครับ แล้วคุณพี่ผู้ชายเป็นรัฐมนตรีด้วยหรือเปล่าครับ ผมจะได้ใช้คำพูดให้ถูกกาลเทศะและบุคคล” เข้าตั้งใจประชด หากหนุ่มใหญ่วัยสี่สิบเศษ กลับตอบว่า

          “ตอนนี้ยังไม่ได้เป็น คิดว่าจะขึ้นสมัยหน้า คุณพ่อผมกรุยทางไว้ให้แล้ว” คนตอบค่อนข้างมั่นใจ

          “ถ้าอย่างนั้นท่านก็เป็น ว่าที่รัฐมนตรีใช่ไหมครับ”

          “ก็คงยังงั้น”

          “ทีนี้กระผมขอเรียนถามท่านรัฐมนตรีและคุณหญิงว่า ท่านจะมาพบหลวงพ่อใช่ไหมขอรับ” นายสมชายจำต้องเล่นบทใหม่เพื่อให้ถูกใจคนดู ถูกใจในที่นี้ก็คือถูกกับกิเลสของพวกเขา ท่านพระครูเคยสอนไว้ว่า การที่จะผูกมิตรกับคนนั้นจะต้องเอา “ถูกใจ” นำหน้าเสียก่อน แล้วจึงค่อยตามด้วย “ถูกต้อง”

            “แหม พ่อหนุ่มนี่น่ารักจริง ๆ พูดจามีสัมมาคารวะ” คุณหญิงออกปากชมทั้งที่ว่าไปหยก ๆ

          “น้องชาย ท่านพระครูอยู่หรือเปล่า” ว่าที่รัฐมนตรีถาม

          “อยู่ขอรับ”

          “งันก็ขึ้นไปเรียนท่านด้วยว่าท่านรัฐมนตรีมาขอพบ” นายเอ้ออกคำสั่ง พอดีกับนายขุนทองลงมาจากข้างบน ครั้นเห็นนายสมชายก็ต่อว่าทันที

          “กลับแล้วเหรอ นึกว่าจะนอนบ้านสาวซะอีก คนอะไรหายไปตั้งแต่เที่ยง” คนถูกต่อว่าไม่ได้โต้เถียง หากถามเสียงเรียบว่า

          “ยังไม่นอนอีกหรือ นึกว่าหลับไปซะแล้ว หลวงพ่อกำลังทำอะไรอยู่น่ะ” นายขุนทองไม่ตอบ หากหันไปพูดกับอาคันตุกะทั้งสามว่า

          “มาหาหลวงพ่อหรือฮะ ท่านเพิ่งขึ้นไปเมื่อตอนสองทุ่มเอง วันนี้รับแขกเกินเวลาไปตั้งเกือบสองชั่วโมง พรุ่งนี้เช้าค่อยมาใหม่แล้วกันนะฮะ”

            อารมณ์ที่กำลังจะดีขึ้นของคุณหญิงมีอันต้องบูดอีกครั้ง เมื่อฟังถ้อยคำของเจ้าหนุ่มหน้าหวาน หล่อนแหวใส่ว่า

          “นี่เธอ จะพูดจะจาก็ดูคนมั่ง รู้ไหมว่าฉันเป็นใครมาจากไหน”

          “ไม่รู้ฮะ แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน หนูก็ไม่สามารถจะให้คุณพบหลวงลุงได้ กฎก็ต้องเป็นกฎฮะ” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดเถียงพร้อมกับแสดงตัวว่าเป็นหลาน ด้วยการเรียกท่านพระครูว่า “หลวงลุง”

          “โอหัง แกนี่โอหังมากนะ นอกจากโอหังแล้วยังพูดจาไม่มีสัมมาคารวะ ดัดจริตดีดดิ้นไม่มีใครเกิน” ดีที่นายขุนทองไม่ใช่คนมักโกรธ หากเป็นกระเทยคนอื่น ก็คงปรี่เข้าไปตบคุณหญิงเข้าให้แล้ว เพราะผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิงนั้นมักเป็นคนเจ้าโทสะ และยับยั้งสติอารมณ์ไม่ได้ คุณหญิงหันไปบอกนายสมชายว่า

          “นี่เธอบอกเจ้ากระเทยนี่ทีซิ ว่าฉันเป็นใครมาจากไหน” นายสมชายจึงต้องบอกนายขุนทองว่า

          “ขุนทอง นี่ท่านรัฐมนตรีกับคุณหญิงมาขอพบหลวงพ่อนะ แต่กระผมไม่ทราบว่าท่านมาจากไหนขอรับ” ประโยคหลังเขาหันไปพูดกับคุณหญิง

          “แหม เธอนี่ไม่มีคอมมอนเซ้นส์เสียเลย เป็นรัฐมนตรีก็ต้องมาจากกรุงเทพฯ ซียะ” คุณหญิงพาลเอากับนายสมชายเพราะโกรธนายขุนทอง

          “จะเป็นใครมาจากไหนหนูไม่สนทั้งนั้น กฎก็ต้องเป็นกฎ หนูจะไม่ยอมให้ใครเอาอำนาจราชศักดิ์มาทำให้เสียความยุติธรรมหรอก” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดยืนกราน

          “แต่กฎมันก็มีข้อยกเว้นนะขุนทอง ทำไมเธอไม่ดูเยี่ยงอย่างหลวงพ่อล่ะ เห็นไหมว่า บางเรื่องท่านก็โอนอ่อนผ่อนปรนให้ ไม่ได้เอาหัวชนฝาไปเสียทุกเรื่องเหมือนที่เธอทำอยู่หรอก” ลูกศิษย์วัดเตือนด้วยความหวังดีกลับถูก “แว้ด” ใส่ว่

          “ตามใจ ถ้าพี่เห็นว่าหนูไม่ดี หนูก็จะไปนอนละ แล้วถ้าหลวงลุงดุก็อย่าหาว่าหนูไม่เตือนก็แล้วกัน” ว่าแล้วก็เดินฉับ ๆ เข้าห้องไป คุณหญิงพูดตามหลังว่า

          “ดูเอาเถอะ ท่าทางกระฟัดกระเฟียดน่าเกลียดจริ๊ง ทำไม่ท่านพระครูถึงให้คนพรรค์นี้มาอยู่ในวัดนะ” นายสมชายไม่ออกความเห็น เขาพูดกับคนทั้งสามว่า

          “กระผมต้องขอโทษแทนเพื่อนด้วยนะขอรับ แกเป็นคนอย่างนี้เอง แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ข้อนี้กระผมขอรับประกัน”

          “ไม่มีอะไรหรอกน้องชาย คุณหญิงอาของผมท่านก็พูดไปอย่างนั้นเอง จริง ๆ แล้วท่านเป็นคนใจดีมีเมตตา” ว่าที่รัฐมนตรีแก้แทนผู้เป็นอา เมื่อหลานชายพูดเช่นนี้ คุณหญิงอรอุษาจึงจำต้องปิดปากเงียบ เพราะหากพูดไปอาจจะทำให้ “เสียฟอร์ม” ของคุณหญิงก็เป็นได้

          “กระผมจะขึ้นไปกราบเรียนหลวงพ่อก่อนนะขอรับ” พูดจบก็หายขึ้นไปข้างบน

          “หลวงพ่อครับ รัฐมนตรีกับคุณหญิงมาขอพบหลวงพ่อครับ” เขารายงานหลังจากทำความเคารพด้วยการกราบ ๓ ครั้ง ท่านพระครู รู้ตั้งแต่รถเบ๊นซ์สีดำวิ่งเข้าประตูวัดมาโน่นแล้ว ท่านพูดกับลูกศิษย์ก้นกุฏิว่า

          “เขากำลังร้อนนะสมชาย ร้อนมากทีเดียว”

          “ผมเปิดพัดลมให้แล้วครับ คงไม่ร้อนเท่าไหร่” นายสมชายว่า

          “ฉันไม่ได้หมายถึงความร้อนภายนอกนะ แต่หมายถึงร้อนภายใน คนทั้งสามนั่นถูกไฟกิเลสแผดเผาจนร้อนรุ่มกลุ้มทรวง หวังจะมาให้ฉันช่วยดับ”

          “แล้วหลวงพ่อจะช่วยเขาไหมครับ”

          “ช่วยไม่ได้หรอกสมชายเอ๋ย ฉันน่ะอยากจะช่วยทุกคนที่มาหา เพราะคนที่มาหาฉันล้วนแต่แบกทุกข์กันมาทั้งนั้น อย่างที่พระบัวเฮียวท่านแอบตั้งสมญาว่า “พวกเอาปัญหามาให้พระ” นั่นแหละ

          “แต่ถ้าเขาไม่มีทุกข์เขาก็ไม่มาหาหลวงพ่อหรอกครับ” นายสมชายแย้งอย่างสุภาพ และข้อโต้แย้งของเขาก็จริงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์!

          “งั้นสิ คนสมัยนี้เขาจะนึกถึงพระก็ตอนมีทุกข์นั่นแหละ ตอนมีอำนาจวาสนาก็หลงมัวเมา ก่อกรรมทำชั่วโดยไม่กลัวบาปกลัวกรรม พอกรรมชั่วมาให้ผลทีนี้ก็จะนึกถึงพระ นึกถึงศาสนา เธอรู้ไหม คนที่อายุมากที่สุดน่ะตาบอด เพราะสั่งสมอกุศลกรรมไว้มาก มีเงินเป็นร้อย ๆ ล้านยังรักษาไม่หาย โรคกรรมนั้นไม่มีหมอที่ไหนรักษาได้ ข้อนี้ขอให้เธอจำใส่ใจเอาไว้ จะได้ไม่ทำชั่ว”

            “แล้วหลวงพ่อรักษาได้ไหมครับ”

          “ฉันไม่ใช่หมอ ก็ขนาดหมอเขายังรักษาไม่ได้ แล้วฉันเป็นผู้วิเศษมาจากไหนล่ะ เธอนี่พูดแปลก ๆ เอาละ เธอไปบอกให้เขารอสักประเดี๋ยว เดี๋ยวฉันจะลงไป” ท่านออกคำสั่ง

          “ให้เขาขึ้นมาข้างบนไม่ดีกว่าหรือครับ เผื่อมีใครมาอีกเดี๋ยวหลวงพ่อก็ไม่ได้พักผ่านกันพอดี” พูดอย่างเป็นห่วง

          “ไม่สำคัญหรอก เรื่องพักผ่อนนั้นไม่สำคัญสำหรับฉันเลย เพียงแต่ห่วงว่าจะเขียนหนังสือไม่เสร็จตามกำหนดเท่านั้นเอง”

          “กำหนดอะไรครับ” ลูกศิษย์ไม่เข้าใจ

          “กำหนดกฎเกณฑ์ของชีวิตน่ะสิ ฉันคิดเอาไว้ว่าจะต้องเขียนและพิมพ์ให้เสร็จก่อนวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑” ท่านตั้งใจจะให้หนังสือเล่มนี้เป็นตัวแทนของท่าน ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องปฏิบัติสามารถศึกษาได้จากหนังสือที่ท่านเขียนไว้ ก็ว่าจะบอกให้นายสมชายรู้เมื่อเวลานั้นใกล้เข้ามา นอกจากพระบัวเฮียวแล้วยังไม่มีผู้ใดรู้เรื่องท่านจะประสบอุบัติเหตุรถคว่ำคอหักในวันที่ ๑๔ ตุลา

          “ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้นล่ะครับ” ลูกศิษย์วัดไม่เข้าใจ

          “อย่าเพิ่งซักถาม เอาไว้ถึงเวลาแล้วฉันจะบอกเอง ลงไปได้ แล้วก็ปิดประตูกุฏิเสียให้หมด จะได้ไม่มีใครมารบ กวน” นายสมชายกราบสามครั้งแล้วจึงลงมาบอกคนทั้งสามว่า

          “เดี๋ยวท่านจะลงมาครับ”

          “ลงเดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ แหม เรื่องมากจริง เป็นพระเป็นเจ้าไม่น่าเจ้ายศเจ้าอย่าง” คุณหญิงพูดฉอด ๆ เพราะยังอารมณ์ค้างกับเรื่องนายขุนทอง

          “คุณหญิงใจเย็น ๆ น่า ว่าพระว่าเจ้า บาปกรรมรู้ไหม” อดีตรัฐมนตรีเตือนน้องสาว ฟังหล่อน “พล่าม” มานานเลยต้องเบรค ๆ ไว้เสียบ้าง

          “ก็มันจริง ๆ นี่คะท่าน” คนเป็นคุณหญิงเถียงพี่ชาย แล้วบ่นกระปอดกระแปดว่า

          “นี่ตั้งสามทุ่มกว่าเข้าไปแล้ว กว่าจะถึงบ้านมิสองยามสามยามหรอกหรือ”

          “ถึงเมื่อไหร่ก็ช่างเถอะ ขอให้มันถึงก็แล้วกัน คุณหญิงพูดราวกับว่าไม่เคยกลับบ้านดึก ๆ ยังงั้นแหละ จำไม่ได้แล้วหรือ สมัยที่คุณอัครเดชยังอยู่น่ะ คุณหญิงนั่งจั่วไพ่ตั้งแต่หัวค่ำยันรุ่งสางไม่เห็นบ่นสักคำ แถมบางวันยังไปเต้นรำกับไอ้หนุ่ม กลับบ้านตีสามตีสี่โน่น ทีมาวัดดึกหน่อยทำบ่น” อดีตรัฐมนตรีว่าน้องสาว

          สมัยที่สามียังมีชีวิต คุณหญิงหลงระเริงกับ “อำนาจวาสนา” และทำตัว “ซ่า” จนคนเป็นพี่ชายแท้ ๆ ก็ยังหมั่นไส้ ถูกว่าเช่นนี้คุณหญิงก็มีอารมณ์ จึง “แหว” ใส่พี่ชายว่า

          “แล้วท่านดีกว่าดิฉันนักหรือคะ ท่านหักหลังได้แม้กระทั่งเพื่อนสนิท ท่านมีเมียน้อยอายุคราวลูกคราวหลาน ไปที่ไหนก็มีเมียที่นั้น จนคุณหญิงตรอมใจตาย เพียงแค่นี้ท่านก็ไม่ได้ดีไปกว่าดิฉันแล้วละค่ะ” คุณหญิงพูดโกรธ ๆ แต่คนที่โกรธมากว่าคือ รัฐมนตรีเขาด่าน้องสาวอย่างไม่ไว้หน้าว่า

          “ยายอร...แกมันชั่วช้าสารเลวไม่มีที่เปรียบ ถึงฉันจะเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของแก ฉันก็ไม่เข้าข้างแก นึกว่าฉันไม่รู้ความเลยระยำของแกรึไง จะให้บอกไหม ไอ้หนุ่มที่มันนอนกับแกน่ะ ชื่ออะไรบ้าง แกจำชื่อจำหน้ามันได้หมดทุกคนหรือเปล่า แล้วที่เจ้าอัครเดชเป็นอัมพฤกษ์ก่อนตายน่ะ เพราะมันเครียดที่เมียมันมีชู้ใช่ไหม ผู้ชายที่เมียมีชู้น่ะ เป็นโรคเครียดทุกคนแหละ ถึงบางคนจะไปมีเมียใหม่ แต่ความเครียดก็ยังไม่หาย อารมณ์วิปริตผิดมนุษย์มนาเข้ากับใครไม่ค่อยจะได้” อดีตรัฐมนตรี “ร่ายยาว” เพราะอัดอั้นตันใจมานาน ร้อนถึงนายเอ้ หรือ ดร.เอกสิทธิ์ต้องห้ามทัพ

          “คุณพ่อครับ คุณหญิงอาครับ ผมขอร้องเถอะ นี่ในวัดนะครับ ไง ๆ ก็อายลูกศิษย์วัดบ้าง” เขาหันไปทางนายสมชายซึ่งกำลังชงกาแฟร้อน ๆ มาเลี้ยงแขก ส่วนนายขุนทองหลับปุ๋ยไปแล้ว

          “องอายมันทำไม กะอีแค่เด็กวัด” คุณหญิงพูดพาล ๆ นายสมชายฟังแล้วก็ให้นึกปลงสังเวช พวกผู้ลากมากดีเขาช่างไม่มีการสงบสติอารมณ์กันเสียบ้างเลย นึกจะพูดจะว่าใครที่ไหนเมื่อไหร่ก็ว่ากันตามอำเภอใจ ไม่มีบันยะบันยัง น่าอนาถนัก

          รู้สึกโล่งใจเมื่อท่านพระครูเปิดประตูออกมา คู่กรณีหยุดวิวาทกันโดยปริยาย เมื่อท่านนั่งที่อาสนะแล้ว ดร.เอกสิทธิ์จึงกระซิบให้บิดาทำความเคารพ คนทั้งสามกราบท่านพระครู แล้วคุณหญิงอรอุษาก็ร้องไห้กระซิก ๆ

          “เจริญพรท่านรัฐมนตรีและคุณหญิงที่นับถือยิ่ง อาตมภาพในนามของคณะสงฆ์วัดป่ามะม่วงขอต้อนรับท่านรัฐมนตรีและคณะด้วยความเต็มใจ” ท่านใช้คำพูดที่ทำให้คนฟังรูสึกว่า “ถูกใจ” รู้ว่าเขาชอบให้ยกย่องก็ต้องยกย่องเขา ท่านเป็นคนไม่ขวางโลก ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมไหลไปกับโลก เพราะชาวโลกนั้นมักไหลไปตามแรงของกิเลสตัณหา ส่วนท่านเป็นสมณะจะเป็นอย่างชาวโลกนั้นหาควรไม่

            “คุณหญิงร้องไห้มีอะไรไม่สบายใจหรือ อาตมาพอจะช่วยได้บ้างไหม” น้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยเมตตานั้นทำให้คุณหญิงร้องไห้หนักขึ้น เธอพูดด้วยเสียงปนสะอื้นว่า

          “ดิฉันมีทุกข์หนักค่ะท่านพระครู พอหมดอำนาจวาสนาก็ถูกคนเขาเหยียบย่ำ พี่น้องคลานตามกันมาแท้ ๆ ก็ยังดูถูกดูแคลน ลูกเต้าก็เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ มีแต่หาเรื่องทุกข์เรื่องเดือดร้อนมาให้” คุณหญิงพรรณนาทั้งน้ำหูน้ำตา อดีตรัฐมนตรีรู้สึกคันปากยิบ ๆ เมื่อถูกน้องสาวพูดแขวะ ครั้นจะโต้ตอบออกไปก็จะกลายเป็นว่ามาทะเลาะกันต่อหน้าพระสงฆ์องค์เจ้า จึงสู้นิ่งเอาไว้”

          “แล้วคุณหญิงเคยสงสัยหรือเปล่า ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”

          “สงสัยค่ะ สงสัยมาก ๆ แล้วก็ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมชะตาชีวิตของดิฉัน จึงได้มากลับตาลปัตรเช่นนี้ ดิฉันทำกรรมอะไรไว้คะท่าน”

          “เรื่องนี้คุณหญิงต้องถามตัวเอง เพราะคนที่รู้ดีที่สุดก็คือคุณหญิง ที่อาตมาพูดมานี่ถูกหรือเปล่า” คุณหญิงอรอุษาใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตาจนแห้งแล้วตอบว่า

          “ถูกค่ะ”

          “ถ้าอย่างนั้นคุณหญิงก็ลองทบทวนดูแล้วกันว่า ทำกรรมอะไรไว้บ้าง” คุณหญิงคิดว่าการสารภาพบาปจะทำให้หมดบาป จึงสารภาพเป็นบางเรื่องและปกปิดบางเรื่องเอาไว้ ท่านพระครูนั่งฟังด้วยอาการสงบ

          “แต่ก่อนดิฉันไม่เชื่อว่าบาปกรรมนั้นมีจริง จึงหลงระเริงกับยศและอำนาจ จนเป็นเหตุให้ก่อกรรมทำชั่วไว้มากมาย นี่ถ้าไม่ประสบกับความทุกข์ ดิฉันก็คงยังไม่เชื่อ เขาพูดกันว่า กรรมสมัยนี้มันติดจรวด จึงให้ผลเร็วโดยไม่ต้องรอให้ถึงชาติหน้า ท่านพระครูเชื่อหรือเปล่าคะ ว่าแต่ก่อนนี้ดิฉันร่ำรวยมาก ขนาดโต๊ะกินข้าวก็ยังฝังมุก ตอนนั้นคุณอัครเดชมีดิฉันเขาเป็นรัฐมนตรี วัน ๆ มีแต่คนเอาเงินมาให้ เราสองคนก็รับไม่อั้น ถ้าหน้าบ้านคุณอัครเดชรับ แต่หลังบ้านดิฉันเป็นคนรับ รู้สึกว่าเงินทองไหลมาเทมาจนนับไม่หวาดไม่ไหว ดิฉันก็ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเพราะเงินได้มาง่าย เสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่ดิฉันสวมใส่ก็ล้วนราคาแพง ชุดหนึ่ง ๆ ราคามากกว่าเงินเดือนข้าราชการชั้นเอกเสียอีก ลูก ๆ ก็ขับรถเก๋งคนละคัน แล้วก็ฟุ้งเฟ้อตามพ่อแม่

          แต่พอคุณอัครเดชเป็นอัมพฤกษ์ทำงานไม่ได้ เราก็ขาดรายได้เพราะไม่มีใครเอาเงินทองมาให้เหมือนแต่ก่อน ดิฉันและลูก ๆ ก็อยู่ในสภาพ “จมไม่ลง” ทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาในทางมิชอบก็ร่อยหรอลงไปทุกวัน พอคุณอัครเดชเสียชีวิต ดิฉันก็ต้องช้ำใจหนักขึ้น เพราะลูก ๆ ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงสมบัติกันต่อหน้าต่อตาดิฉัน ตู้ฝังมุก โต๊ะฝังมุก เขาก็แย่งกัน ขนไปขายทอดตลาด ไม่เกรงใจดิฉันซึ่งเป็นแม่” คนเล่าไม่ได้บอกความจริงแก่ท่านพระครูว่าที่ลูก ๆ เขาไม่เกรงใจเพราะเขากลัวคนเป็นแม่จะเอาเงินทองไปบำเรอพวกหนุ่ม ๆ ที่เป็นคู่นอน

          “แล้วคุณหญิงไปทำอะไรให้ลูก ๆ เขาไม่เกรงใจหรือเปล่า” คำถามของเจ้าของกุฏิแทงใจดำของคนเป็นคุณหญิง เธอกำลังคิดว่าจะตอบหรือไม่ตอบดี ท่านพระครูรู้ว่าจะทำให้เธออึดอัดใจจึงพูดตัดบทว่า

          “เอาละไม่ต้องตอบอาตมาก็ได้ แล้วท่านรัฐมนตรีมีอะไรจะปรึกษากับอาตมาหรือเปล่า” ประโยคหลังท่านถามอดีตรัฐมนตรี

          “เรื่องของผมก็คล้าย ๆ กับของน้องสาวแหละครับท่านพระครู แต่มีข้อดีข้อเสียต่างกันนิดหน่อย คือน้องสาวผมเขาแย่ตรงฐานะทางการเงินทรุดลงและลูก ๆ ก็แย่งสมบัติกัน แต่สำหรับผม เงินทางยังมีมากมายแต่ตาผมมองไม่เห็นเสียแล้ว อุตส่าห์บินไปรักษาถึงเมืองนอกก็ยังไม่หาย ผมจะมาเรียนถามท่านพระครูว่า ท่านพอจะมีทางช่วยผมบ้างไหม ช่วยทำให้ตาผมมองเห็นเหมือนแต่ก่อนน่ะครับ แล้วผมจะทำบุญไม่อั้นทีเดียว” ท่านพระครูตอบทันทีว่า

          “ช่วยไม่ได้หรอกท่าน อาตมาช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของกรรม ท่านสะสมอกุศลกรรมไว้มาก ถึงคราวที่มันมาให้ผลท่านก็ต้องรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ได้ฟังเช่นนั้นอดีตรัฐมนตรีวัยเจ็ดสิบเศษถึงกับนั่งกอดเข่าร้องไห้ คุณหญิงอรอุษาหยุดร้องไปแล้วก็มีอันต้องร้องอีก ดร.เอกสิทธิ์เองก็ตาแดง ๆ เพราะสมเพชบุคคลทั้งสอง หากความรู้สึกที่ว่านี้ก็เป็นไปชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เพราะเมื่อนึกถึง “ธุระ” ของตนที่จะมาเรียนปรึกษาท่านพระครูแล้ว เรื่องของคนอื่นก็มีอันหมดความหมาย เขาถามท่านเจ้าของกุฏิว่า

          “หลวงพ่อครับ ผมเรียนจบปริญญาเอกจากอเมริกา อยากจะใช้ความรู้มาพัฒนาประเทศ ผมจะมีโอกาสขึ้นเป็นรัฐมนตรีหรือเปล่าครับ คุณพ่อกรุยทางไว้ให้แล้ว” เขา “ปรึกษา” และเรียกท่านพระครูว่า “หลวงพ่อ” เหมือนที่นายสมชายเรียก ท่านเจ้าของกุฏิเห็นกฎแห่งกรรมคนเป็นด็อกเตอร์แล้ว จึงพูดขึ้นว่า

          “ท่านอยากเป็นอย่างที่คุณพ่อเป็นใช่ไหม”

          “ครับ” เขาเข้าใจว่า “เป็นรัฐมนตรี”

          “แปลว่าท่านอยากประสบเคราะห์กรรมแบบเดียวกับที่ท่านรัฐมนตรีประสบอยู่ เป็นอย่างนั้นหรือ”

          “ไม่ครับ ผมไม่ต้องการเช่นนั้น” เขารีบปฏิเสธ

          “ถ้าเช่นนั้นก็เลิกล้มความคิดที่จะเป็นรัฐมนตรีเสีย อาตมาขอบิณฑบาตเถิดนะ ท่านอย่าได้ไปยุ่งกับการเมืองเลย เชื่ออาตมาสักครั้งเถอะ”

          “การเมืองมันไม่ดีอย่างไรหรือครับ หลวงพ่อจึงไม่อยากให้ผมเข้าไปยุ่งเกี่ยว” ถามเพื่อจะ “ลองภูมิ”ท่าน

          “เรื่องนี้ท่านคงทราบดีกว่าอาตมา ท่านเป็นถึงด็อกเตอร์ ลองไปคิดหาคำตอบเอาเองก็แล้วกัน” ท่านพูดเพียงเท่านี้

          “ท่านพระครูช่วยรดน้ำมนต์ตัดเวรตัดกรรมให้ดิฉันด้วยเถิดค่ะ” คุณหญิงอรอุษาพูดขึ้น

          “น้ำมนต์ช่วยตัดเวรตัดกรรมไม่ได้หรอกคุณหญิง แต่ถ้าจะให้รดให้เพื่อเป็นสิริมงคล อาตมาก็จะรดให้” ท่านจำเป็นต้องใช้น้ำมนต์เพื่อให้เขาสบายใจขึ้น เพราะหากจะแนะนำให้เขาสวดมนต์หรือเจริญกรรมฐานเขา “รับไม่ได้” กรรมเขาหนักเกินกว่าที่ท่านจะช่วยได้ ไหน ๆ เขาก็มาขอพึ่งบารมี ก็ต้องช่วยเขาไปตามหน้าที่ในเมื่อเขาไม่สามารถรับ “ของจริง” ได้ ท่านก็ต้องให้ “ของปลอม” แต่ถ้าใครมีอุปนิสัยบารมีพอที่จะรับของจริงได้ ท่านก็จะไม่ยอมให้ของปลอมอย่างเด็ดขาด

          ท่านพระครูรดน้ำมนต์ให้แล้วคนทั้งสามก็ลากลับ นายสมชายเดินตามไปส่งถึงที่จอดรถ ดร.เอกสิทธิ์ทำหน้าที่เป็นคนขับ ชายวัยกลางคนเปิดกระเป๋าสตางค์ดึงธนบัตรใบละร้อยใหม่เอี่ยมส่งให้นายสมชาย

          “น้องชาย ขอบใจมากนะ เอาไว้ซื้อขนมกิน”

          “ขอบคุณครับ ขนมที่วัดมีเยอะ ผมไม่ต้องซื้อหรอกครับ” เขาตอบและไม่ยอมรับเงินนั้น ด็อกเตอร์วัยสี่สิบเศษจึงหยิบขึ้นมาอีกใบหนึ่งด้วยคิดว่าร้อยเดียว มันอาจจะน้อยไป

          “งั้นเอาไปสองใบเอ้า” ครั้นนายสมชายปฏิเสธอีก คนเป็นด็อกเตอร์จึงเก็บมันเข้ากระเป๋าดังเดิม เป็นเรื่องประหลาดที่สุดเท่าที่เขาเคยพบคนที่ปฏิเสธเงินยังมีอยู่ในโลก!

           

มีต่อ........๔๓
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #45 เมื่อ: เมษายน 22, 2007, 08:50:13 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00043
๔๓...

          เพราะนายขุนทองจัดตารางเวลาการทำงานให้ท่านพระครู จึงทำให้ญาติโยมที่มาเข้ากรรมฐานได้มีโอกาสมาขึ้นในอันที่จะเรียนถามข้อข้องใจสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติ

          ในการปฏิบัติธรรมให้ได้ผลดีนั้น จำเป็นจะต้องมีครูอาจารย์คอยควบคุมชี้แนะอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นอาจทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือหลงทางได้ง่าย

          เช้าวันหนึ่งขณะที่ท่านพระครูกำลังสอบอารมณ์ให้อุบาสกอุบาสิกาอยู่ที่กุฏิ หญิงสาวผู้หนึ่งเดินเข้ามานั่งแถวหลังสุด ก้มลงกราบสามครั้งแล้วนิ่งอยู่ สีหน้าท่าทางบ่งบอกว่าหล่อนกำลังมีทุกข์ ท่านเจ้าของกุฏิยังต้องใช้เวลาในการสอบอารมณ์อีกนาน จึงอนุญาตให้หล่อน “ลัดคิว” ด้วยการถามว่า

          “มีอะไรหรือจ๊ะแม่หนู ไหนเขยิบเข้ามานั่งใน ๆ หน่อยซิ” บรรดาผู้ที่นั่งอยู่ก่อนต่างขยับกายเปิดทางให้หล่อนคลานเข้ามา

          “อาตมาต้องขอโทษญาติโยมด้วยนะ ขอลัดคิวให้แม่หนูคนนี้ก่อน ท่าทางเขาจะมีธุระด่วน เอ้าแม่หนูมีอะไรก็ว่าไปเลย” ท่านกล่าวอนุญาต หญิงสาวจึงพูดขึ้นว่า

          “หลวงพ่อคะ หนูมาขอบวชชีค่ะ”

          “คิดยังไงถึงจะบวชล่ะหนู”

          “หนูกลุ้มใจค่ะ ให้หนูบวชเถิดนะคะหลวงพ่อ หนูอยากจะอยู่ในที่สงบค่ะ” ท่านพระครู “ตรวจสอบ” คุณสมบัติของหล่อนแล้วจึงพูดขึ้นว่า

          “เอาละ อย่าเพิ่งพูดเรื่องบวช เอาอย่างนี้ เดี๋ยวหลวงพ่อจะให้นายขุนทองเขาพาหนูไปฝากไว้กับแม่ครัวสักเจ็ดวัน แล้วค่อยมาพูดกันใหม่” ท่านเรียกนายขุนทองมาสั่งการ ครั้นหญิงสาวลุกออกแล้ว อุบาสิกาคนหนึ่งได้ถามขึ้นว่า

          “ทำไมหลวงพ่อไม่ส่งเขาไปอยู่สำนักชีล่ะคะ ทำไมถึงส่งไปอยู่โรงครัว”

          “ก็พวกแม่ชีเขากินข้าววันละสองมื้อ แต่แม่หนูคนนี้แกจำเป็นจะต้องกินสามมื้อ อาตมาจึงต้องส่งไปอยู่กับพวกแม่ครัว”

          “ไหน ๆ เขาจะบวชก็น่าจะฝึกกินสองมื้อไว้ ไม่งั้นจะบวชได้ยังไง” อุบาสิกาผู้นั้นออกความเห็น

          “ก็ใครว่าอาตมาจะให้เขาบวชล่ะ ขืนบวชก็เสียชื่อวัดหมด รับรองว่าวัดป่ามะม่วงเสียชื่อกันคราวนี้เอง ให้บวชไม่ได้เด็ดขาด” ท่านพูดเสียงหนักแน่น

          “ทำไมหรือครับ” อุบาสกที่นั่งหน้าสุดถาม ผู้ที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้มีประมาณยี่สิบคน เป็นอุบาสกเพียงสามคนเท่านั้น แสดงว่าพวกผู้ชายเป็นโรคไม่ชอบเข้าวัด ท่านพระครูตอบว่า

          “จะให้บวชได้ยังไง ก็มาสองคน บวชได้หรือ”

          “ใช่ ใคร ๆ ก็เห็นเขามาคนเดียว แต่อาตมาเห็นเขามาสองคน อยู่ในท้องคนนึง แบบนี้จะให้บวชได้ยังไง ใครไม่รู้ก็จะหาว่ามาท้องกับพระ เพราะครรภ์มันโตขึ้นทุกวัน ๆ เมื่อกี้อาตมาไม่พูดกลัวเขาจะอาย ญาติโยมเห็นหรือยังว่า “เห็นหนอ” นั้นมีประโยชน์มหาศาลทีเดียว ไม่ใช่เป็นการอวดคุณวิเศษแต่ประการใด โยมเห็นด้วยไหม”

          “เห็นด้วยครับ” อุบาสกตอบ

          “หลวงพ่อคะ แล้วอย่างฉันนี่จะมีโอกาสได้ “เห็นหนอ” หรือเปล่าคะ” อุบาสิกาอีกผู้หนึ่งถามขึ้น

          “จะได้หรือไม่ได้มันก็ขึ้นอยู่กับบุญบารมีที่โยมได้สั่งสมไว้แต่ชาติปางก่อน บวกกับความเพียรพยายามในชาตินี้ จะเพียรพยายามสักเท่าใดก็จะไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปฏิบัติของเราเป็นหมัน เพราะมันจะเป็นเหตุปัจจัยของชาติต่อ ๆ ไป อาจจะไปได้ชาติหน้าก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามอาตมาไม่สนับสนุนให้ตั้งความหวัง ขอให้โยมอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด กำหนดสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา จะได้ “เห็นหนอ” หรือไม่ได้ก็ไม่ต้องไปสนใจ แต่ถ้าใครได้แล้วนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง อีกหน่อยก็เสื่อม อย่างอาตมานี่ไม่เคยใช้ดูเลขให้หวยใคร เพราะไม่ใช่วิสัยของพระที่จะทำเช่นนั้น”

          “งั้นพระที่รับสะเดาะเคราะห์รดน้ำมนต์ตัดเวรตัดกรรมก็ไม่ถูกต้องซีคะ อ้อ พระหมอดูอีกอย่าง”

          “มันจะถูกต้องได้ยังไงล่ะโยม ท่านเก่งแต่สะเดาะเคราะห์ให้คนอื่นเขา พอเคราะห์ตัวเองกลับสะเดาะไม่ได้ โยมคอยดูไปก็แล้วกันว่ากฎแห่งกรรมจะทำหน้าที่เร็วหรือช้า คุณหญิงคนนึงเขามาพูดให้อาตมาฟังว่า เดี๋ยวนี้กรรมติดจรวดนะ ให้ผลทันตาเห็น ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า” ท่านนึกถึงคำพูดของคุณหญิงอรอุษา

          “พระสมัยนี้ทำตัวนอกรีดนอกรอยนะครับหลวงพ่อ ที่ผมกล้าพูดเพราะผมเคยเป็นลูกศิษย์วัดมาก่อน ตอนเรียนหนังสือผมต้องอาศัยวัดอยู่ เพราะเป็นเด็กบ้านนอก พ่อแม่ส่งไปเรียนกรุงเทพฯ เลยไปอาศัยอยู่กับหลวงพี่ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน

          “งั้นหรือ โดยมอยู่วัดอะไรล่ะ” เขาบอกชื่อวัดแห่งหนึ่ง เป็นวัดที่รายได้ดีเพราะมีศพคนรวย ๆ มาให้เผากันทุกวัน ส่วนคนจนไม่มีสิทธิ์เอาศพมาเผาที่วัดนี้เพราะสู้ “ค่าโสหุ้ย” ไม่ไหว

          “โอ๊ย วันนี้น่ะเหรอ ยอดยิวเลยค่ะหลวงพ่อ ญาติฉันเคยเอาศพพ่อเขาไปไว้ ตั้งใจจะสวดพระอภิธรรมสักเจ็ดคืนก็ต้องขอย้ายวัดเพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ขนาดเขาเป็นคนมีเงินนะคะ ยังสู้ไม่ไหวเลยค่ะ”

          “แล้วหลวงพ่อเชื่อไหมครับ คนที่อยู่วัดมักจะเกลียดพระ อย่างผมนี่เกลียดมาก ๆ แต่ก็ไม่ทุกองค์นะครับ องค์ไหนดีผมก็ไม่เกลียด แต่องค์ที่ดี ๆ ก็หายากแสนยาก”

          “ไปเกลียดท่านเรื่องอะไรล่ะโยม”

          “ก็ท่านทำตัวไม่เหมาะสมน่ะครับ อย่างหลวงพี่ข้างห้องผม ท่านเอาสีกาเข้าไปคุยในห้อง คุยตั้งแต่หัวค่ำยันดึก ปิดประตูคุยเสียด้วย ผมก็ไม่อยากจะคิดว่าเขาทำอะไรกันเพราะผมกลัวบาป อีกอย่างเราก็ไม่ได้เห็นกะตา”

          “แล้วทำไมไม่แอบดูล่ะ” อุบาสกอีกคนถาม

          “ไม่หรอกครับ ผมกลัวเห็น แต่พวกเพื่อน ๆ ผมมันเจาะฝาแอบดูแล้วพากันหัวเราะคิก ๆ ชอบใจ”

          “แหม ถ้าผมเป็นคุณ ผมจะแอบดูให้รู้ดำรู้แดงไปเลย” อุบาสกผู้นั้นว่า

          “ผมไม่อยากเดือดร้อน เจ้าพวกนั้นพอดูแล้วก็เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน เพราะต้องออกไปเสียเงินเสียทองให้ผู้หญิงอย่างว่า ส่วนผมไม่มีเงินที่จะทำเช่นนั้น” เขาบอกเหตุผลที่ไม่ยอมแอบดู ท่านพระครูเชื่อในสิ่งที่เขาพูดโดยไม่ต้องใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบ ที่เชื่อเพราะท่านเองก็เคยเป็นลูกศิษย์วัดมาก่อน จึงรู้เช่นเห็นชาติพวกพระนอกรีตนอกรอยมามากต่อมาก แล้วจึงเล่าแต่ในส่วนที่พอจะเล่าได้ ว่า

          “อาตมาก็เคยเป็นเด็กวัดเหมือนกัน วัดแถวฝั่งธนนะ ชื่ออะไรก็อย่ารู้เลย ก็อย่างที่โยมว่า ใกล้พระก็เกลียดพระ อาตมาเกลียดพระที่สุด แต่อย่าลืมนะ มันเป็นกฎแห่งกรรม เกลียดพระก็เลยต้องมาเป็นพระ โบราณเขาสอนไว้ว่าเกลียดขี้ได้ขี้ อาตมานี่เกลียดพระจึงต้องมาเป็นพระ” ท่านย้ำ

          “ทำไมหลวงพ่อถึงเกลียดพระล่ะคะ”

          “จะไม่ให้เกลียดได้ยังไง ก็ท่านทำไม่ถูกต้อง”

          “แล้วหลวงพ่อทำไมไม่ฟ้องพระผู้ใหญ่ล่ะคะ”

          “ฟ้องไม่ได้หรอก ขืนฟ้องเขาก็ไล่อาตมาออกจากวัด แล้วจะไปอยู่ที่ไหนล่ะ”

          “เหมือนผมเลยครับหลวงพ่อ ผมกับเพื่อน ๆ เห็นพระทำผิดก็ไม่มีปากมีเสียง เพราะถ้าขืนปากมากไป เขาไล่ออกจากวัดก็จะไม่ได้เรียนหนังสือ พ่อแม่อุตส่าห์ส่งมาเรียน”

          “นั่นน่ะสิ เรามันหัวอกเดียวกัน นะโยมนะ”

          “ครับ” อุบาสกตอบยิ้ม ๆ

          “ที่อาตมาเกลียดพระเพราะถูกท่านใช้ทุกคืน เราจะดูหนังสือหนังหา กับต้องมาวิ่งซื้อก๋วยเตี๋ยวให้พระฉันในเวลาวิกาล”

          “แล้วท่านให้เงินไหมครับ ให้เงินค่าจ้างน่ะครับ”

          “ไม่ได้ให้ค่าจ้างหรอก ท่านใช้วิธีหลวงพี่ชาม ลูกศิษย์ชาม อาตมาก็กินก๋วยเตี๋ยวทุกคืนจนเบื่อมาจนบัดนี้”

          นอกจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาลแล้ว ก็ยังถกเขมรเตะตะกร้อกันทุกเย็น นุ่งห่มก็ไม่สำรวม เป็นพระทำอย่างนั้นผิดวินัยนะ ต้องนุ่งห่มให้ครบสามชิ้นที่เรียกว่าไตรจีวร ตั้งแต่บวชมานี่ อาตมายังไม่เคยละเมิดพระวินัยข้อนี้เลย จะร้อนแสนร้อนเหงื่อหยดติ๋ง ๆ อาตมาก็นุ่งห่มครบสามชิ้น ทั้งสบง จีวร และสังฆาฏิ แต่พระวัดนั้นนุ่งสบงตัวเดียว แถมถกเขมรเตะตะกร้อกันอย่างสนุกสนาน ไม่มีการสำรวมอิริยาบถกันเลย แต่อย่าพูดไปนะ ตอนนี้หลวงพี่พวกนั้นพากันเข้าเมรุไปเกือบหมดแล้ว ที่ยังอยู่ก็คงเตะตะกร้อไม่ไหวมั้ง”

            “แย่จังนะคะหลวงพ่อ แล้วแบบนี้ ศาสนาไม่เสื่อมยังไงไหว” อุบาสิกาผู้นั้นรู้สึกห่วงใยในพระพุทธศาสนา

          “ศาสนาน่ะไม่เสื่อมหรอกโยม จิตใจคนต่างหากที่เสื่อม ทั้งจิตใจคนที่เป็นพระและคนที่เป็นฆราวาสนั่นแหละ แต่เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว โยมก็อย่าไปสรุปเอาว่าพระเลวหมด เพราะที่ดี ๆ ก็ยังมีอยู่ ขอให้โยมใช้ปัญญาไตร่ตรองเอาก็แล้วกัน พระแท้กับพระเทียมนั้นมีข้อแตกต่างกันเยอะ “คนที่บวชเพื่อละคือพระแท้”  จำเอาไว้ ถ้าใครมาบวชเพื่อหวังลาภสักการะคนนั้นไม่ใช่พระแท้หรอก

          ในสมัยพุทธกาลคนที่มีเงินมาก ๆ มาขอบวช พระพุทธองค์จะไม่บวชให้ ต้องจัดการเอาเงินไปแจกจ่ายคนยากจนให้หมดเสียก่อน ตัวอย่างเช่น วิสาขอุบาสกมีเงินหนึ่งพันกหาปณะมาขอบวช พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราไม่บวชให้บุคคลที่มีเงินหนึ่งพันกหาปณะ” ท่านวิสาขอุบาสกจึงต้องเอาเงินไปแจกจ่ายคนยากคนจนแล้วถึงได้บวช แต่สมัยนี้นะ พระบางองค์ตอนบวชไม่มีอะไรเลย แต่พอตอนสึก โอ้โฮ ข้าวของทรัพย์สมบัติมากมายเหลือเกิน เอารถบรรทุกมาขนตั้งสามเที่ยวก็ไม่หมด นี่แบบนี้ไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้าแน่”

          “หลวงพ่อคะ แล้วพระที่นอนกับผู้หญิง ทำไมท่านไม่สึกเสียให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ แล้วก็ไม่ทำให้คนเข้าใจศาสนาผิด ๆ ด้วย เป็นฉันฉันสึกดีกว่า”

          “ก็ท่านไม่ได้เป็นโยมน่ะซี ถ้าเป็นโยมก็คงหมดเรื่องไปแล้ว จริงไหม”

          “ผมว่า ท่านคงเสียดายลาภสักการะที่เคยได้น่ะครับหลวงพ่อ กลัวว่าสึกไปแล้วจะไม่มีใครนับหน้าถือตา จะไม่มีใครเอาปัจจัยมาถวาย”

          “หลวงพ่อคะ พระหมั้นผู้หญิงบาปไหมคะ” อุบาสิกาที่อายุน้อยกว่าใครเพื่อนถาม หล่อนเป็นครุสอนหนังสือในกรุงเทพฯ

          “หมั้นยังไงล่ะ”

          “คือวัดอยู่ข้างบ้านหนูน่ะคะ หลวงลุงองค์หนึ่งอายุห้าสิบ ท่านไปหมั้นผู้หญิงอายุสิบเจ็ด ทำพิธีหมั้นกันด้วย หนูยังไปดูเลยค่ะ ท่านก็มานั่งใกล้ ๆ กับผู้หญิงแล้วมอบสินสอดทองหมั้นให้ หนูก็ปากไม่ดี อดรนทนไม่ได้จึงถามท่านว่า “ทำไมหลวงลุงไม่สึกเสียเลยล่ะ จะได้สวมแหวนเพชรให้เจ้าสาวได้” ท่านก็ตอบทันทีว่า “ยังสึกไม่ได้หรอกครู รอเก็บเงินแต่งงานก่อน” หนูเลยอายม้วนไปเลย พระอายุห้าสิบตอบอย่างนี้ หนูอายเลยค่ะ แล้วท่านก็ทำอะไรตล้กตลก เวลามีญาติโยมเอาส้มสูกลูกไม้มาถวาย พอเขาลงกุฏิไป ท่านก็ลงกุฏิบ้าง ถือถาดผลไม้ที่เขาเอามาถวายนั้นไปถวายผู้หญิงอีกทีหนึ่ง ผู้หญิงที่เป็นคู่หมั้นน่ะค่ะ คนแถวนั้นเขารู้กันทั้งซอย ไม่มีใครเลื่อมใสศรัทธาท่าน แต่คนที่มาจากที่อื่นเขาคงไม่รู้ มาให้ท่านดูหมดได้ทุกวัน ท่านบอกจะต้องเก็บเงินไว้จ้างเขาปลูกเรือนหอให้เสร็จก่อนถึงจะสึก หนูก็แกล้งพูดประชดว่ากว่าจะถึงเวลานั้น หลวงลุงไม่หกสิบเสียก่อนหรือ ท่านก็ว่าไม่หรอก เหลืออีกไม่กี่หมื่นก็ครบแล้ว”

          “แหม โยมก็ไปต่อล้อต่อเถียงกับท่านอยู่ได้ ประเดี๋ยวท่านก็จะหาว่าอิจฉาท่านหรอก” ท่านพระครูว่า

          “ท่านว่าแล้วค่ะ บอกว่า “ครูเสียใจใช่ไหมที่อาตมาไม่มาขอหมั้นครู ครูก็เลยอิจฉาหนูอรเขา” คู่หมั้นชื่ออรปณิตาค่ะ”

            “แล้วโยมว่ายังไง”

          “หนูก็ย้อนว่า “โอ๊ย แก่ ๆ อย่างหลวงลุงถึงมาขอ หนูก็ไม่เอาหร้อก ใครจะโง่เอาผีมาเผาล่ะหลวงลุ้ง”

            “ผมก็ว่าพอกันเลยนะครับ ทั้งพระทั้งสีกาฝีปากพอ ๆ กัน” อุบาสกผู้นั้นว่า เลยถูกครูสาวขว้างค้อนเข้าใส่หนึ่งวง

          “แบบนี้บาปไหมคะหลวงพ่อ ถึงขั้นปาราชิกไหมคะ” ขว้างค้อนใสบุรุษนั้นแล้วครูสาวถามต่อ ท่านพระครูตอบว่า

          “เท่าที่โยมเล่ามายังไม่ถึงขั้นปาราชิกหรอก ยังไม่ถึง อาบัติปาราชิก มี ๔ ข้อคือ เสพเมถุน ๑ ฆ่ามนุษย์ ๑ ขโมยเงินตั้งแต่ห้ามาสกขึ้นไป ๑ และอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ๑ หากประพฤติข้อหนึ่งข้อใดในสี่ข้อนี้จึงจะเรียกว่า ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากสมณเพศ เอาละ ทีนี้เรามาสอบอารมณ์กันต่อดีกว่า รู้สึกว่าจะพูดมากกันเกินขอบเขตไปแล้ว ทั้งอาตมาทั้งโยมนั่นแหละ อย่างนี้เขาเรียกว่า “กรรมฐานรั่ว” อุตส่าห์ตั้งใจปฏิบัติมาตั้งหลายวันก็มาทำรั่วเสียแล้ว เห็นไหมสอบตกกันทั้งพระทั้งฆราวาสเลย” ท่านตำหนิตัวเองด้วย แล้วเหมือนจะนึกอะไรขึ้นมาได้ จึงพูดอีกว่า

          “อาตมาเกือบต้องตายเพราะพระนะ ดีที่มีคนช่วยเอาไว้ อาตมายังรู้บุญรู้คุณเขามาจนบัดนี้ อยากฟังไหมจะเล่าให้ฟัง”

          “อยากฟังครับ”

          “อยากฟังค่ะ” อุบาสกอุบาสิกาตอบพร้อมกัน

          “คืออาตมาตอนเด็ก ๆ ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ยายมาขอไปเลี้ยงตั้งแต่อายุหกขวบ พอเรียนจบมัธยมสาม ก็ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ไปอยู่กับคุณปู่ที่บางแวก จังหวัดธนบุรี ตอนนั้นกรุงเทพฯ กับธนบุรียังไม่รวมกันเหมือนเดี๋ยวนี้ คุณปู่ของอาตมาชื่อหลวงธารา อาตมาก็ไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ตอนเย็นโรงเรียนเลิกก็ไปเรียนดีดสีตีเป่ากับครูจำนงค์ที่ในสวนหลังวัดโตนด”

          “ตอนนั้นหลวงพ่ออายุเท่าไรคะ”

          “ดูเหมือนจะสิบเจ็ดย่างสิบแปด ทีนี้อาตมาก็ต้องเดินผ่านวัดโตนดทุกเย็น ไปเรียนดนตรีสองชั่วโมง หกโมงเย็นเขาก็เอาเรือมารับที่หน้าวัด คุณปู่มีเรือส่วนตัว มีคนขับด้วยชื่อ นายแรม”

          “เหมือนกับที่คนสมัยนี้มีรถส่วนตัวใช่ไหมครับ” อุบาสกผู้หนึ่งถาม

          “คงอย่างนั้นกระมัง อาตมาก็บังเอิญไปรู้ความลับหลวงตาวัดโตนดเข้า แกเลยอาฆาตอาตมา”

          “หลวงพ่อรู้ความลับอะไรของท่านครับ”

          “อ้าว ถ้าบอกโยม มันก็ไม่เป็นความลับน่ะซี จะให้บอกหรือ”

          “หลวงพ่อไม่ต้องบอกก็ได้ค่ะ แต่พวกเราอยากทราบ” อุบาสิกาพูดง่ายแต่ฟังยาก

          “อยากทราบก็จะบอก เพราะไหน ๆ แกก็ตายไปแล้ว คือหลวงตาองค์ที่ว่านี้ แกกินยาฝิ่น แล้วก็ต่อนกเขา กินข้าวค่ำ ถ้าว่ากันตามพระวินัยแล้ว แกก็ไม่ใช่พระ เพราะถ้าเป็นพระคงไม่คิดฆ่าคน ต้องมีความเกรงใจในพระวินัยบ้าง”

          “แกฆ่าใครครับ” อุบาสกถามเห็นท่านพระครูใช้ “แก” กับหลวงตา เขาจึงถือโอกาสใช้บ้าง

          “ฆ่าอาตมานี่แหละ แกใจร้ายเหลือเกิน สั่งให้เด็กวัดมารุมซ้อมอาตมา ซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ที่ศาลาริมน้ำเพราะรอเรือมารับ อาตมายกมือไหว้ปะหลก ๆ ขอชีวิต พวกเด็กวัดทำท่าจะสงสาร แต่หลวงตาสั่งว่า “อย่าไปสงสารมัน ไอ้นี่มันร้ายกาจมาก ขืนปล่อยไปมันจะกลับมาเล่นงานพวกเอ็ง” พวกเด็กวัดเลยซ้อมอาตมาอีก อาตมาก็คิดจะกระโดดลงน้ำ จึงวิ่งไปที่แพ พวกมันก็วิ่งตาม หลวงตาเห็นว่า อาตมาคงจะหนีไปได้ เลยชักมีดออกมาส่งให้ลูกศิษย์สั่งว่า “เอาเลย แทงมันให้ตาย แล้วโยนลงน้ำไป”  อาตมากลัวมาก แล้วรู้สึกมีคนฉุดลงไปในน้ำ จากนั้นก็ไม่รู้สึกตัวอีกเลย”

          “คนที่ช่วยหลวงพ่อเป็นใครคะ”

          “เป็นหมอจีน อายุห้าสิบเศษ ชื่อ ลุงหมั่น แซ่ตั้ง เขาพายเรือผ่านมาเห็นเข้าพอดี เลยฉุดอาตมาลงเรือแล้วพายหลบเข้าไปในคลองบ้านอ้อย ถ้าไม่ได้ลุงหมั่นช่วย ป่านนี้ไม่รู้ว่าไปอยู่นรกขุมไหน เพราะตอนเด็ก ๆ ไม่เคยสร้างความดีเลย ยายก็สอนไปเถอะ สอนจนอ่อนใจก็ไม่ดีขึ้น ยายให้เอาอาหารไปถวายเพลพระที่วัด อาตมาก็เอาไปกินกับเด็กเลี้ยงควายที่กลางทุ่ง อาหารไม่เคยถึงพระเลย เพื่อนที่เลี้ยงควายมันก็บอกว่า “ให้แม่มันกินทำไมกันพระ อีกหน่อยก็สึกออกไปเป็นผัวใครก็ไม่รู้ มากินกันเองดีกว่า” อาตมาก็เชื่อเขากระทั่งวันหนึ่งถูกยายจับได้”

          “คุณยายท่านแอบสะกดรอยตามไปดูหรือคะ” อุบาสิกาที่เป็นครูถาม

          “เปล่า พออาตมาหิ้วปิ่นโตออกจากบ้าน ก็ไปกินกับเด็กเลี้ยงควายที่กลางนา กินเสร็จก็เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ล้างปิ่นโตเสียเอี่ยมอ่อง เพื่อทำลายหลักฐาน”

          “หลวงพ่อฉลาดรอบคอบดีจังนะครับ” อุบาสกชม

          “ไม่ฉลาดได้เรอะ มือชั้นนี้แล้ว” ท่านพูดยิ้ม ๆ

          “แต่ถึงจะฉลาดอย่างไรก็ถูกยายจับได้ เพราะพออาตมาเดินมาถึงบ้าน ยายก็ถามมาแต่ไกลว่า “ไอ้หนูถวายเพลเรียบร้อยแล้วหรือ” อาตมาก็ว่า “เรียบร้อยแล้วยาย” ยายก็ถามอีกว่า “แล้วรับพรมากหรือเปล่า” อาตมาก็โกหก “รับซียาย สมภารท่านให้พรมาเต็มปิ่นโตเลย” ยายบอก “ดีมาก ไอ้หนูทำดีมาก มารีบ ๆ ขึ้นมา ยายจะให้รางวัล” อาตมาก็ชักเอะใจเพราะยายไม่เคยพูดอย่างนี้ พอขึ้นพ้นหัวกระได ตายเลย สมภารนั่งอยู่บนบ้าน โอ้โฮยายตีซะหลังลายพร้อยเลย ตีต่อหน้าสมภารเสียด้วย แล้วก็สอนว่า “ทีหน้าทีหลัง อย่าทำอีก กินของพระ เอ็งจะเป็นเปรต รู้ไหม”

            “แล้วสมภารท่านไม่ห้ามหรือคะ” ครูสาวถาม

          “ท่านก็ห้ามเหมือนกัน แต่ยายบอก “ไม่ได้หรอกท่านสมภาร มันทำมาหลายหนแล้ว ถ้าไม่ตีเดี๋ยวมันจะบาป ต้องตีล้างบาปให้มันหน่อย” นี่ยายพูดอย่างนี้ แหม หน่อยของยายน่ะ เล่นเอาอาตมาหลังลายไปหลายวัน ตั้งแต่นั้นก็เลยเข็ด ที่เข็ดเพราะไม่อยากถูกตี ไม่ใช่ว่ากลัวจะเป็นเปรตหรอก เพราะอาตมาไม่เชื่อที่ยายพูด”

          “แล้วเพื่อน ๆ หลวงพ่อว่าอย่างไรครับ เวลาที่หลวงพ่อหิ้วปิ่นโตเดินผ่าน”

          “เขาก็ถามว่า “เฮ้ย ไอ้แกละ วันนี้ไม่กินเลี้ยงกันอีกหรือ” อาตมาบอกไม่ได้หรอก ต้องเอาไปถวายพระ เดี๋ยวยายตีหลังลาย ว่าแล้วก็เลิกเสื้อให้เขาดูหลัง

          “ตอนเด็ก ๆ หลวงพ่อชื่อแกละหรือคะ” อุบาสิกาวัยห้าสิบถาม

          “คืออาตมาไว้ผมแกละ ไว้ทั้งข้างซ้าย ข้างขวา แล้วก็ข้างหลัง เรียกว่าสามแกละเลย เพื่อน ๆ เขาก็เรียก “ไอ้แกละ” บ้าง “แกละ” เฉย ๆ บ้าง แต่ยายมักจะเรียก “ไอ้หนู” นอกจากโกรธเต็มที่ถึงจะเรียก “ไอ้แกละ” สมภารวัยห้าสิบอธิบาย

          “แสดงว่าหลวงพ่อค่อนข้างเกเรนะครับ ผมหมายถึงตอนที่หลวงพ่อเป็นเด็ก อุบาสกพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่ค่อนข้างหรอกโยม เรียกว่า ยอดเกเลยเชียวแหละ หาเรื่องให้ยายปวดหัวได้ไม่เว้นแต่ละวัน เพราะเที่ยวไปมีเรื่องกับเขา “ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก” คือยี่ห้อของอาตมาละ” ท่านเล่าถึงวีรกรรมตอนเป็นเด็ก

          “แต่หลวงพ่อก็เรียนเก่งใช่ไหมครับ” อุบาสกพยายามหา “ความดี” ให้ท่านพระครู

          “เก่งหรือไม่เก่ง อาตมาก็เรียนมันทุกโรงเรียนเลยแหละ จังหวัดสิงห์บุรีมีโรงเรียนมัธยมอยู่ ๘ โรงเรียน อาตมาเรียนมาครบทุกแห่ง ๆ ละหนึ่งเดือนบ้าง สองเดือนบ้าง อย่างเก่งก็ไม่เกินหนึ่งปี พอเรียนครบ ๘ แห่งแล้ว ก็กะจะเรียนรอบสอง แต่ทางโรงเรียนเขารู้กิตติศัพท์ เลยไม่ยอมรับสักแห่ง ก็เลยต้องไปเรียนที่กรุงเทพฯ เรื่องของอาตมามันยาวนะโยม เล่าไปอีกสามวันก็ไม่จบ เอาละ อาตมาไม่เล่าแล้ว มาพูดถึงการปฏิบัติกันดีกว่า ไหนใครมีปัญหาอะไรก็ถามได้ ยังมีเวลาเหลืออีกประมาณสามสิบนาทีก่อนจะถึงเพล”

มีต่อ........๔๔
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #46 เมื่อ: เมษายน 23, 2007, 08:05:57 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00044
๔๔...

            วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ ท่านพระครูกลับจากงานเผาศพนางปั่นที่จังหวัดอ่างทอง ขณะที่รถแล่นมาตามถนนสายเอเชีย ใกล้ปากทางที่จะเข้าวัด พลันก็นึกได้ว่าเจ๊นวลศรีกำลังป่วยหนัก ควรจะต้องไปเยี่ยมเยียน ด้วยว่าวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้แกจะ “ไป” แล้ว “เห็นหนอ” บอกว่าแกจะไปสู่สุคติในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ เวลา ๐๔.๑๐ นาฬิกา

            “สมขายเดี๋ยวไม่ต้องเลี้ยวเข้าวัดนะ ฉันจะเข้าจังหวัดไปเยี่ยมเจ๊นวลศรีเขา” ท่านสั่งคนขับรถ

            “ป้านวลศรีแกไม่สบายหรือครับ เป็นอะไรครับ”

            “เป็นเนื้องอกในท้อง เห็นว่าอีกสามวันจะทิ้งร่าง ต้องไปดูเขาหน่อย”

            “จะตายแล้วหรือครับ เห็นอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี ไม่น่าตายเลย อายุก็ยังไม่มากนี่ครับ ดูเหมือนจะไม่ถึงหกสิบด้วยซ้ำ”

            “จะอ้วนหรือผอม อายุน้อยหรืออายุมาก เมื่อถึงคราวก็ต้องตายทั้งนั้นแหละ” ท่านพระครูว่า

            “แล้วมีไหมครับหลวงพ่อ มีประเภทที่ถึงคราวแล้วแต่ไม่ตาย หรือตายทั้งที่ยังไม่ถึงคราวอะไรเทือกนี้ มีไหมครับ” นายสมชายเริ่มเล่นลิ้น รู้สึกเหงาปากมานานเพราะพอขึ้นรถ ท่านก็ “นั่งหลับตา” เพิ่งจะมาเอ่ยปากพูดเมื่อตอนใกล้จะถึงทางเลี้ยวเข้าวัด พูดเพื่อจะบอกเขาว่าไม่ให้เลี้ยวเข้าวัดนั่นแหละ

            “มี ก็เธอยังไงล่ะที่ต้องตายทั้งที่ยังไม่ถึงคราว เพราะพูดมากปากมอม” คนเล่นลิ้นถูก “ด่า” เอาดื้อ ๆ

            “แหม เป็นพระคุณอย่างสูงเลยครับหลวงพ่อที่ให้พรผม” ท่านพระครูนิ่งไปสักยี่สิบนาทีเห็นจะได้ ต่อเมื่อรถเลี้ยวเข้าตัวจังหวัดแล้วจึงพูดขึ้นว่า “ใครว่าฉันให้พร ฉันด่าเธอตังหากล่ะ ฟังไม่ออกหรอกหรือ ความรู้สึกช้าจังนะ” นายสมชายรู้สึก “ทึ่ง” ที่ท่านอุตส่าห์ “ต่อเรื่อง” ได้ถูก จึงว่า

            “นั่นแหละครับ ผมถือว่าให้พร คนโบราณเขายังสอนไว้เลยว่า “ผู้หญิงด่าแปลว่าผู้หญิงรัก ผู้หญิงให้จวักแปลว่าเขากวักมือ”

            “แล้วถ้าผู้หญิงเรียก “นายกระบือ” ล่ะ”

            “ก็ต้องถือว่าเป็นความซวยครับ” ตอบโดยไม่ต้องคิด

            “เออ ดีมาก ระวังโน่นเลี้ยวซ้ายข้างหน้าโน่น อย่าขับเลยไปล่ะ”

            “ครับไม่เลยแน่ ทำไมป้าเขาไม่ไปอยู่โรงพยาบาลล่ะครับหลวงพ่อ ลูกหลานเขาไม่พาส่งโรงพยาบาลหรอกหรือ”

            “ส่งมาทุกโรงแล้ว แต่หมอเขาไม่รับ บอกว่าให้กลับมาพักผ่อนที่บ้าน ลงเขาพูดอย่างนี้ก็แปลว่าไม่รอดแน่ เอาละ นั่นจอดหน้าตึกนั่น” นายสมชายทำตามคำสั่ง

            “บ้าน ของเจ๊นวลศรีเป็นตึกแถวสามชั้นสองคูหา ข้างล่างขายอาหาร ข้างบนเป็นพักอาศัย เมื่อท่านก้าวลงจากรถ บรรดาหลาน ๆ ของเจ๊นวลศรีก็เข้ามาต้อนรับ

            “นิมนต์หลวงพ่อจ้ะ แหมดีใจเหลือเกินที่อุตส่าห์มาเยี่ยม” นางสาวกิมเจ็งหลานสาวคนโตของเจ๊นวลศรีพูดอย่างยินดี

            “เจ๊นวลศรีเป็นอย่างไรบ้าง” ท่านถามถึงคนป่วย

            “ก็ทรง ๆ ทรุด ๆ ค่ะหลวงพ่อ นิมนต์ข้างบนเลยค่ะ อาม่าอยู่ข้างบน” หล่อนพูดพลางเดินนำไปที่บันได แล้วหลีกทางให้ท่านกับลูกศิษย์ขึ้นก่อน ท่านพระครูถอดรองเท้าแล้วจึงเดินขึ้นไปโดยมีนายสมชายเดินตามหลัง นางสาวกิมเจ็งสั่งน้องสาวให้ชงชาขึ้นมาถวาย

            นางเน้ยกำลังป้อนข้าวให้มารดา ครั้นเห็นท่านพระครูก็วางมือ บอกมารดาอย่างดีใจว่า “แม่” หลวงพ่อท่านมาเยี่ยมแน่ะ” เจ๊นวลศรียันกายลุกขึ้นนั่ง สองมือประนมแล้วกล่าวว่า

            นิมนต์จ้ะหลวงพ่อ เป็นพระคุณเหลือเกินที่อุตส่าห์มาเยี่ยม” นางสาวกิมเจ็งเห็นหมดธุระแล้วจึงลงมาข้างล่าง

            “ไม่ต้องลุกก็ได้เจ๊ นอนตามสบายเถอะ”

            “ไม่หรอกจ้ะ ฉันกลับบาป นอนคุยกับพระกับเจ้าฉันไม่เคยทำ “ คนป่วยว่า

            “หน้าตาสดชื่นดีนี่นา ยังกับคนปกติยังไงยังงั้น หรือโยมเน้ยว่ายังไง ท่านถามลูกสาวเจ๊นวลศรี

            “ฉันก็ว่าอย่างหลวงพ่อนั่นแหละ แม่แกเป็นคนไข้ที่น่ารักมาก ไม่จู้จี้กวนใจ แล้วก็ไม่เคยบ่นให้ลูกหลานฟังว่าเจ็บตรงไหน ปวดตรงไหน นางเน้ยกล่าวชมมารดา

            “ก็ฉันเรียนฝึกสติมาจากหลวงพ่อนี่จ๊ะ ขืนเอะอะโดยวายก๊อเสียชื่อครูบาอาจารย์แย่เลย” คนป่วยพูดจ้อย ๆ

            “เจ๊จะตายเมื่อไหร่หรือ” ท่านถามเพื่อจะตรวจสอบว่าเจ๊นวลศรีรู้ตรงกับที่ท่าน “รู้” หรือไม่ นางเน้ยรู้สึกพิศวงที่คนเป็นพระกับคนเป็นแม่นั่งพูดเรื่องเป็นเรื่องตายกันหน้าตาเฉย หล่อนได้ยินมารดาตอบท่านพระครูว่า

          “วันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล เวลาตีสี่กับสิบนาที” ท่านพระครูเชื่อแล้วว่าเจ๊นวลศรีได้ “เห็นหนอ” เพราะมันตรงกับที่ท่าน “รู้” ท่าน “เห็น” ทุกประการ นางเน้ยขออนุญาตลุกออกไป พอดีกับลูกสาวคนรองยกถาดน้ำชาขึ้นมา หล่อนจึงบอกลูกว่า “กิมฮวยไปหยิบยาแก้ปวดหัวมาให้แม่สองเม็ด เอาน้ำมาด้วย”

            “ใครจะกินล่ะแม่ อาม่าหรือ ก็หมอเขาให้ยามาแล้วไง” นางสาวกิมฮวยออกสงสัย

            “เออน่า ไปเอามาเถอะ แม่จะกินเอง”

            “แม่ปวดหัวเหรอ เอ ทุกทีไม่เห็นเป็นอะไร พอหลวงพ่อมากลับปวดหัว” ลูกสาวบ่น หล่อนบอกนายสมชายให้ช่วยประเคนน้ำชาท่านพระครู แล้วจึงลงไปหายาในตู้ยาชั้นล่าง

            ครู่หนึ่งนายฮิมก็ถือยาและแก้วน้ำขึ้นมา เขาเพิ่งกลับจากซื้อของที่กรุงเทพฯ รู้จากลูกสาวว่าภรรยาจะกินยาแก้ปวดศีรษะ จึงตามมาดูด้วยความเป็นห่วง ครั้นเห็นท่านพระครู จึงวางยาและแก้วน้ำลง แล้วกราบสามครั้ง

            “หลงพ่อมานานแล้วหรือครับ” เขาเอ่ยทัก ออกเสียง “หลวง” เพี้ยนเป็น “หลง”

            “สักครูเห็นจะได้ กำลังพูดกับโยมเน้ยอยู่ว่า เจ๊เขาหน้าตาไม่เหมือนคนป่วยเลยสักนิด” ท่านพูดกับลูกเขยเจ๊นวลศรี แม่ยายกับลูกเขยคู่นี้เกิดปีเดียวกัน แต่คนเป็นแม่ยายอ่อนเดือนกว่า สามีของเจ๊นวลศรีซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อสองปีที่แล้วก็เกิดปีเดียวกับแม่ยาย เจ๊เคยเล่าให้ท่านพระครูฟังอย่างนี้ และท่านก็สรุปในใจว่า “สงสัยจะเป็นกรรมพันธุ์”

            “เห็นลูกมันว่าลื้อจะกินยาแก้ปวดหัว” นายฮิมถามภรรยาพลางหยิบยาและแก้วน้ำส่งให้ กระบวนรักภรรยาไม่มีใครเกิน “เถ้าแก่ฮิม”

            “ใช่ ฉันฟังแม่กับหลวงพ่อคุยกันแล้วปวดหัวพิลึก” ภรรยาวัยสี่สิบพอดิบพอดีบอกสามีวัยห้าสิบเก้า พลางรับยาและน้ำจากสามี ยานั้นบรรจุมาในขวดฝาเกลียว มีสำลีปิดที่ปากขวดกันชื้น นางเน้ยเปิดฝาขวดแล้วหยิบยาขึ้นมาสองเม็ด หากท่านพระครูห้ามไว้

            “อย่ากินเลยโยม ยานั้นจะกินก็ต่อเมื่อมันจำเป็น นี่อาตมายังไม่เห็นจำเป็นที่โยมจะต้องกิน เอาเถอะตั้งใจฟังต่อไปแล้วก็จะหายปวดหัว เชื่ออาตมาเถอะ”

            “หลงพ่อคุยอะไรกับแม่หรือครับ ถึงทำให้อาเน้ยเขาปวดหัว” คนอายุแก่เดือนกว่าแม่ยายถาม

            “ไม่มีอะไรมากหรอกเถ้าแก่ อาตมาเพียงแต่ถามเจ๊ว่าจะไปวันไหน จะตรงกับที่อาตมาคิดไว้หรือเปล่าเท่านั้นแหละ”

            “แล้วตรงไหมครับ”

            “ตรงเผงเลยแหละเถ้าแก่ เจ๊เขาเก่งจริง ๆ นี่แหละคนที่ปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง สามารถรู้วันตายของตัวเองได้ เถ้าแก่ว่าดีไหมล่ะ เถ้าแก่เตรียมบอกลูกหลานให้ตัดชุดกงเต็กได้แล้ว อีกสามวันเจ๊เขาไปแน่” แล้วถามคนป่วยว่า

            “ถามจริง ๆ เถอะเจ๊ พอรู้ว่าจะต้องตายนี่กลัวบ้างไหม นึกเสียดายชีวิตบ้างไหม”

            “ตอบจริง ๆ ก็ต้องบอกว่าไม่กลัว ฉันไม่กลัวเลยจ๊ะหลวงพ่อ ก็ในเมื่อฉันเห็นกฎแห่งกรรมของตัวเองแล้ว ว่าจะต้องตายในวันนั้น ฉันก็ทำใจได้ ไม่รู้สึกกลัวหรือโศกเศร้าเสียดายชีวิตแต่อย่างใด คงเป็นเพราะฉันปฏิบัติกรรมฐานกระมังถึงได้ไม่กลัวตาย”

            “ถูกแล้วเจ๊ คนที่ปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง จนประสบผลสำเร็จ สามารถเห็นกฎแห่งกรรมของตัวเองได้ เขาจะไม่กลัวตาย ส่วนคนที่ปฏิบัติจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ ไม่เอาจริงเอาจังก็ยังกลัวตายอยู่ เพราะยังไม่เห็นกฎแห่งกรรม อาตมาขอชมเชยเจ๊ที่มีความเพียรจนกระทั่งประสบความสำเร็จ รู้สึกว่าเจ๊สติดีมาก สามารถข่มทุกขเวทนาไว้ได้ อาตมารู้ว่าเจ๊ก็เจ็บก็ปวด เช่นเดียวกับคนป่วยทั่ว ๆ ไป แต่ผิดกันตรงที่เจ๊สามารถเอาสติข่มเวทนาไว้ได้ อันนี้อาตมาขอชมเชยจากใจจริง เจ๊เป็นลูกศิษย์ที่อาตมาภาคภูมิใจมากที่สุด” ท่านชมเสียยืดยาว และเจ๊นวลศรีก็ปลาบปลื้มจนแทบจะหายป่วยเลยทีเดียว

            “อาเน้ย ป๋าก็รู้สึกปวดหัวแล้วเหมือนกัน เรามากินยาคนละสองเม็ดดีไหม” นายฮิมพูดกับลูกสาวคนเดียวของแม่ยายเป็นเชิงปรึกษา

            “ก็ฉันบอกตั้งแต่แรกแล้ว” นางเน้ยว่า

            “นี่เอ็งสองคนอย่ามาพูดจากวนประสาทข้านะ” เจ๊นวลศรีผู้ซึ่งเป็นคนไทยเต็มตัวว่าลูกสาวที่เป็นคนไทยครึ่งตัว เพราะมีเตียเป็นจีน ส่วนลูกเขยคนดีของเจ๊นั้นเป็น “จีงล้อยปูเซ็ง”

            “เจ๊อย่าเพิ่งว่าโยมเน้ยกะเถ้าแก่เขาเลย เอาไว้อาตมาจะเป็นคนว่าให้เอง” ท่านพระครูอาสาแล้วพูดกับสอบผัวเมียว่า

            “ที่อาตมาคุยกับเจ๊เขานี่ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลไร้สาระนะโยม แต่จะอธิบายด้วยคำพูดมันก็ไม่ค่อยจะเหมาะ ประเดี๋ยวโยมสองคนก็จะพากันปวดหัวอีก เอาอย่างนี้ถ้าอยากรู้จริง ๆ ก็ต้องไปเข้ากรรมฐานที่วัดอาตมาสักเจ็ดวันแล้วก็จะเข้าใจเรื่องที่อาตมาคุยกับเจ๊โดยไม่ต้องปวดหัว”

            “ไม่มีเวลาครับ”

            “ไม่มีเวลาจ้ะ” สองผัวเมียตอบพร้อมกัน เจ๊นวลศรีจึงว่า “หลวงพ่ออย่าชวนเขาให้ยากเลย ฉันน่ะปลงเสียแล้ว “อย่าข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า” เลยจ้ะหลวงพ่อ” คนป่วยว่าเป็นคำกลอน

            “เอาไว้ว่าง ๆ แล้วผมค่อยไปนะครับหลงพ่อ” นายฮิมพยายามประนีประนอม อย่างน้อยก็เห็นแก่ท่านพระครู

            “ถ้าเถ้าแก่รอให้ว่าง รับรองว่าไม่ได้ไป เพราะเถ้าแก่จะหาเวลาว่างไม่ได้เลยในชีวิตนี้” แล้วท่านจึงเล่าเรื่องของนายสนธนาให้นายฮิมและนางเน้ยฟัง เถ้าแก่วัยห้าสิบเก้าเชื่อแต่ก็ผลัดว่า

            “ถ้าอย่างนั้นผมรอให้เสร็จงานแม่เขาก่อน”

            “โอ๊ย ไม่ต้องเอาข้ามาบังหน้าหร็อก จะไปก็ไปเลย เรื่องศพข้าก็ไม่ต้องห่วง ข้าบอกนังเน้ยมันไว้แล้ว ขอเผาที่วัดหลวงพ่อแล้วกันนะจ๊ะ ทั้งเผาทั้งสวดเลยเพราะไม่ไกลจากบ้านเท่าไหร่ ฉันจะสั่งลูกหลานให้เรียบร้อย” เจ๊นวลศรีว่าลูกเขย แล้วก็หันมาพูดกับท่านพระครู

            “จะสวดซักกี่คืนล่ะเจ๊”

            “สามคืนก็พอ ตายวันสิบค่ำ เผาสิบสามค่ำ หลวงพ่อมาก็ดีแล้ว ฉันขอจองวัดจองเมรุเลย” คนจะตายสั่งการ

            นางเน้ยเอามือกุมขมับ ไม่เคยพบเคยเห็น มีอย่างที่ไหน รู้วันตายของตัวเอง แถมสั่งงานเรื่องทำศพไว้เสร็จสรรพ ท่านพระครูก็ช่างกระไรเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย คนเข้าวัดนี่มีอะไรเพี้ยน ๆ แบบนี้ทุกคนหรือเปล่านะ

            ท่านพระครูหยิบสมุดบันทึกออกมาจากย่าม เปิดหน้าที่ตรงกับวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ บันทึกว่า “เจ๊นวลศรีตาย เมื่อเวลา ๐๔.๑๐ น. สวดพระอภิธรรมที่วัดนี้ วันที่ ๑๗-๑๘-๑๙ เวลา ๑๙.๐๐ น.”  แล้วเปิดไปหน้าที่ตรงกับวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ บันทึกว่า “เวลา ๑๗.๐๐ น. ฌาปนกิจศพเจ๊นวลศรีที่วัดนี้”

            “เอาละ เสร็จธุระแล้วอาตมาเห็นจะต้องลา ขอให้ไปสบาย ๆ นะเจ๊ เรื่องศพไม่ต้องห่วง อาตมาจะจัดการให้เรียบร้อย ในอดีตกาลที่ผ่านมา ถ้าอาตมาทำอะไร พูดอะไรแล้วทำให้เจ๊ไม่พอใจ อาตมาก็ต้องขออโหสิกรรมจากเจ๊ด้วย”

            “เช่นเดียวกันจ้ะหลวงพ่อ ถ้าฉันล่วงเกินอะไรหลวงพ่อเอาไว้ ด้วย กาย วาจา ใจ ก็ดี ฉันขออโหสิกรรมจากหลวงพ่อด้วย”

            “เอาละ อาตมาอโหสิให้ แล้วก็ถือโอกาสอำลาเลย” ท่านหันมาพูดกับนายฮิมว่า

            “เถ้าแก่จะไปกับอาตมาวันนี้เลยไหมเล่า”

            “ยังหรอกครับหลงพ่อ เอาไว้ให้อะไร ๆ มันเข้าที่เสียก่อน ขอบคุณหลงพ่อมากครับที่ชวน” เขาตอบและลุกขึ้นเตรียมมาส่งท่าน นายสมชายลุกตามท่านพระครูและนายฮิมลงไป ก่อนขึ้นรถท่านยังหันมาพูดกับเขาว่า

            “อย่าลืมมาเข้ากรรมฐานนะเถ้าแก่ อยากให้รีบ ๆ หน่อย อาตมาสังเกตดูรู้สึกว่าน้ำมันใกล้จะหมดแล้ว” ท่านเตือนเป็นนัย ๆ

            “น้ำมันอะไรครับหลงพ่อ ถ้าน้ำมันรถมีปั๊มตรงทางจะออกไปถนนสายเอเชียนะครับ” นายฮิมคิดว่าท่านหมายถึงน้ำมันรถยนต์ เขาควักกระเป๋ากางเกงหยิบธนบัตรใบละร้อยส่งให้นายสมชายพูดว่า

            “เอ้า สมชายช่วยเติมน้ำมันให้หลงพ่อด้วย”

            “ไม่ต้องหรอกครับเถ้าแก่ ผมเติมมาเต็มแล้ว” ลูกศิษย์วัดบอก

            “ก็หลงพ่อบอกน้ำมันใกล้จะหมด”

            “อาตมาไม่ได้หมายถึงน้ำมันรถ แต่หมายถึงน้ำมันของเถ้าแก่น่ะใกล้จะหมดแล้วนะต้องรีบเติมซะ คืออาตมาเปรียบเทียบให้เถ้าแก่ฟังว่า บุญกุศลที่เราทำมานั้นเปรียบเสมือนน้ำมันรถ ถ้ามีมากรถก็วิ่งได้นาน ถ้าหมดรถก็จอด เหมือนคนเราถ้าบุญหมดเมื่อไหร่ก็ต้องตายเมื่อนั้น อาตมาจึงเตือนเถ้าแก่ไว้ว่าบุญกุศลที่เถ้าแก่ทำมานั้นใกล้จะหมดแล้ว ต้องรีบสร้างเพิ่ม จึงได้ชวยไปเข้ากรรมฐานยังไงล่ะ” พอเข้าใจที่ท่านพูด นายฮิมถึงกับใจหายวาบ รู้สึก “จิตตก” ทันที เขาบอกท่านเสียงค่อนข้างสั่นว่า

            “ครับหลงพ่อ ผมเองก็รู้สึกสังหรณ์ใจยังไงพิกล ใจก็อยากไปอยู่วัดอย่างที่หลงพ่อบอก แต่ก็ห่วงอาเน้ยเขา ลูกห้าคนก็เป็นผู้หญิงหมด ผมเป็นผู้ชายคนเดียวในบ้าน” คนมีห่วงผูกคอพูดน่าสงสาร

            ท่านพระครูรู้แน่ว่าถึงอย่างไร เขาก็ไม่ยอมไปเพราะ “กรรม” นั้นหนักหน่วงนัก จึงช่วยเท่าที่พอจะช่วยได้ เมื่อเขามีอันต้อง “ไป” ก็อยากให้เขาไปดี จึงแนะแนวการปฏิบัติว่า “เมื่อไม่มีเวลาจริง ๆ อาตมาก็ไม่ว่าอะไร ขอให้หมั่นสวดมนต์แผ่เมตตาอโหสิกรรมให้กับเจ้ากรรมนายเวรนะเถ้าแก่นะ ทำได้ไหมเล่า แผ่นปลิวบทสวดมนต์ที่อาตมาเคยให้เจ๊เขามานั่นแหละ ไปขอยืมเขามาสวดให้ได้ทุกคืน ต้องทำให้ได้นะ”

            “ครับ ถ้าไม่ต้องไปอยู่วัดละก็ผมทำได้ สวดมนต์อยู่ที่บ้านก็ได้” เขารับคำหนักแน่น จากนั้นท่านพระครูจึงลาเจ้าของบ้านกลับวัด

          นายสมชายนำรถตู้สีครีมมาจอดที่หลังกุฏิเมื่อเวลาทุ่มเศษ เปิดประตูให้ท่านพระครูลงเรียบร้อยแล้ว จึงถอยเข้าไปเก็บในโรงรถ นายขุนทองเดินออกมารับหน้าพร้อมรายงานเสียงจ๋อย ๆ

          “หลวงลุงฮะ วันนี้หนูถูกพวกแขกรุมด่าใหญ่เลยฮะ” พูดพร้อมกับรับย่ามมาถือในลักษณะ “อุ้ม” เดินตามท่านไปยังกุฏิ

          “เอ็งไปทำอะไรให้เขาด่าล่ะ” ท่านย้อนถาม

          “ก็หนูบอกว่าวันนี้หลวงลุงงดรับแขก เพราะท่านเดินทางไปเผาศพที่อ่างทองตั้งแต่บ่ายโมง เขาก็พากันพูดไม่ดี หาว่าหลวงลุงเป็นพระเป็นเจ้าไม่รู้จักอยู่วัด หนูก็เถียงแทนว่าทีหลวงลุงอยู่ทำไม่เขาไม่มา คนสมัยนี้เห็นแก่ตัวจังเลยนะฮะ พอไม่ได้ดังใจก็พากันว่าแม้กระทั่งพระกระทั่งเจ้า เขาหาว่าอุตส่าห์ขับรถเสียน้ำมูกน้ำมันมา ท่านก็ไม่อยู่ให้พบ โอ๊ยสารพัดสารเพจะว่า หนูเห็นแล้วปลงอนิจจัง”

            “ขนาดปลงก็ยังอุตส่าห์ไปทะเลาะกับเขา เอ็งนี่มันใช้ไม่ได้เลยนะเจ้าขุนทอง” ท่านตำหนิหลานชาย

          “ก็เขาอยากมาว่าหลวงลุงทำไมล่ะ”

          “ก็ในเมื่อเขาว่าข้าแล้วเอ็งมาเดือดร้อนอะไรด้วยล่ะ ข้าเองยังไม่เดือดร้อนเลย ทำไมเอ็งถึงต้องเดือดร้อนหือเจ้าขุนทอง”

          “หนูก็ไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไมหลวงลุงถึงไม่รู้สึกเจ็บแค้นเสียบ้าง ปล่อยให้เขาว่าอยู่ได้” หลานชายกระเง้ากระงอด

          “นี่นะเจ้าขุนทอง ข้าจะเปรียบเทียบให้เอ็งฟังสักเรื่องนึง สมมุติว่าเอ็งไปบ้านคนอื่นเขา พอขึ้นเรือนปุ๊บเขาก็ยกสำรับกับข้าวมาเลี้ยงเอ็ง บังเอิญเอ็งเพิ่งอิ่มมาจากบ้าน เอ็งก็เลยไม่กิน พอเอ็งกลับ อยากถามหน่อยว่าสำรับกับข้าวนั้นจะตกเป็นของใคร”

          “ก็ตกเป็นของเจ้าของบ้านซีหลวงลุง ไม่น่าถาม”

          “นั่นแหละ มันก็เหมือนกันนั่นแหละ ถ้ามีคนเขามาด่าเอ็งแล้วเอ็งไม่รับ คำด่าเหล่านั้นมันก็ตกอยู่กับคนที่ด่าจริงไหม จำไว้นะทีนี้อย่าไปรับคำด่าของใคร แล้วก็ไม่ต้องเอามาบอกข้า ข้าไม่อยากฟัง มาเหนื่อย ๆ อย่าหาเรื่องกวนใจมาให้ จำไว้” คราวนี้นายขุนทองไม่เถียง เมื่อขึ้นมาถึงกุฏิชั้นบนก็เอาย่ามวางไว้ข้างที่นอนของท่านแล้วจึงลงมาข้างล่าง เข้าห้องใส่กลอนแล้วล้มตัวลงนอน พอหัวถึงหมอนก็หลับปุ๋ยโดยไม่ยอมสวดมนต์ไหว้พระเสียก่อน ก็วันนี้เขาเหนื่อยกว่าทุกวัน “ออกแรง” ทะเลาะกับแขกหนักหน่วงไปหน่อย

          ท่านพระครูสรงน้ำเสร็จก็เตรียมจะเขียนหนังสือต่อ ยังไม่ทันลงมือเขียน นายสมชายก็มารายงานว่า

          “หลวงพ่อครับ คุณนายราศีมาขอพบครับ นั่งรออยู่ข้างล่าง ผมบอกจะพาไปหาที่พักแล้วพรุ่งนี้ค่อยมาหาหลวงพ่อ แกก็ไม่ยอม บอกว่ามีเรื่องด่วนมาก”

          “เรื่องอะไร เขาบอกเธอหรือเปล่า”

          “เขาว่าเขาจะมาลาตายครับ สงสัยคงเพี้ยนหนัก” ลูกศิษย์วัดตอบพร้อมประเมินผลเสร็จ ท่านพระครูรู้ได้ในทันที่ว่านั่นมิใช่ “ร่าง” ที่แท้จริงของคุณนายราศี ที่สมชายเห็นนั้นคือ “เจตภูต” จึงตอบไปว่า

          “เอาละ งั้นฉันจะลงไปเดี๋ยวนี้แหละ” แล้วท่านก็ลงมาข้างล่าง นายสมชายเดินตามมาติด ๆ คุณนายราศีเห็นท่านพระครูก็ร้องห่มร้องไห้ “เจตภูตร้องไห้ก็เป็นด้วย” ท่านพระครูคิดในใจ แล้วพูดเสียงเบาเพื่อไม่ให้ลูกศิษย์วัดได้ยินว่า

          “เจริญพร คุณนายมีธุระด่วนใช่ไหมถึงได้มามืด ๆ ค่ำ ๆ”

          “ค่ะ หลวงพ่อ หนูจะมากราบขอขมาแล้วก็จะลาหลวงพ่อด้วยค่ะ” เจตภูตรายงานเสียงเบาเช่นกัน

          “ขอขมาเรื่องอะไร แล้วก็จะลาไปไหนหรือ”

          “หนูมากราบขอขมาลาโทษที่ได้แสดงกิริยาที่ไม่งดงามที่กุฏิหลวงพ่อเมื่อวันขึ้นปีใหม่ แล้วก็มาลาไปปรโลกค่ะ พรุ่งนี้เวลาสองทุ่มตรง หนูจะถูกยิงตาย”

          “ใครยิง”

          “เมียน้อยของนายประวิทย์ คนที่เคยมาเข้ากรรมฐานกับหนูน่ะค่ะหลวงพ่อ เข้าจ้างมือปืนมายิง”

          “เขาจะยิงทำไม่ล่ะ คนเคยเข้ากรรมฐานมาแล้วทำไมยังมีจิตใจโหดร้ายถึงปานนั้น แล้วทำไมคุณนายไม่แจ้งความไว้เสียล่ะ” ถามเพื่อ “ประเมินผล” การปฏิบัติธรรมของคุณนายราศี

          “ไม่หรอกค่ะหลวงพ่อ มันเป็นกฎแห่งกรรม เมื่อชาติที่แล้วหนูฆ่าเขาไว้ นี่ถ้าหนูไม่มาเข้ากรรมฐานก็คงไม่รู้แล้วก็คงจะต้องจองเวรจองกรรมกันต่อไป เขาอยากจะเป็นคุณหญิงคะหลวงพ่อ เมื่อหนูตาย เขาคงคิดว่าจะได้ขึ้นเป็นคุณหญิง”

            “ไม่ได้เป็นหรอก คนจิตใจโหดร้ายอย่างนั้น ไม่มีโอกาสได้เป็นคุณหญิงแน่ ไม่น่าเลย แสดงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้เข้าไปชำระล้างจิตใจเขาเลย มาปฏิบัติเสียเวลาเปล่า”

          “ก็เขาไม่ได้ตั้งใจมาปฏิบัตินี่คะหลวงพ่อ ตั้งใจมาหาผัวต่างหาก พวกสาวแก่เข้าวัดก็ไม่มีอะไรหรอก มาเพื่อหาผัว” เจตภูตพูดอย่างดูแคลน ท่านพระครูจึงห้ามว่า

          “ช่างเขาเถอะคุณนาย อย่าไปว่าเหมารวมอย่างนั้น คนที่เขาไม่ได้คิดอกุศลอย่างที่ว่าก็มี เอาเถอะที่ขออโหสิอาตมาอโหสิให้ ส่วนเรื่องมาลาก็ขออวยพรให้ไปดี แล้วอาตมาจะเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ”

          “ถ้าอย่างนั้นหนูขอกราบลาค่ะ ขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ได้เมตตาให้หนูรู้ดีรู้ชั่ว ทำให้หนูสามารถตัดภพตัดชาติให้สั้นเข้า หนูลาล่ะค่ะ” คุณนายราศีลุกออกไปแล้ว นายสมชายตั้งท่าจะไปส่ง หากท่านพระครูห้ามไว้ และบอกเขาว่านั้นเป็นเจตภูต ลูกศิษย์วัดจึงปิดประตูกุฏิเพื่อเตรียมเข้านอน ท่านพระครูเดินขึ้นข้างบน ตั้งใจว่าจะจดบันทึกเรื่องนี้ไว้เป็นหลักฐาน....

 

มีต่อ........๔๕
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #47 เมื่อ: เมษายน 23, 2007, 08:06:38 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00045
๔๕...

          ท่านพระครูฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว นายขุนทองกับนายสมชายก็ช่วยกันยกสำรับกับข้าวลงมารับประทานกันที่กุฏิชั้นล่าง กำลังทานกันอยู่ เด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็นำหนังสือพิมพ์รายวันมาส่งให้ นายสมชายเห็นหัวข้อข่าวและภาพถ่ายในหน้าหนึ่งแล้วก็มีอันทานข้าวไม่ลง

          “ยิงอาจารย์นักเรียนนอกดับคารถเก๋ง” ภาพสตรีวัยสี่สิบที่นอนพับคาพวงมาลัย ข้างล่างมีภาพถ่ายเล็ก ๆ เพื่อให้เห็นหน้าชัดเจน บอกชื่อและนามสกุลไว้ชัดแจ้ง เขาอ่านข่าวนั้นแล้วถือหนังสือพิมพ์วิ่งขึ้นไปหาท่านพระครู

          “หลวงพ่อครับ คุณนายราศีถูกยิงตายเสียแล้วละครับ” พูดพร้อมกับส่งหนังสือพิมพ์รายวันฉบับประจำวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ให้

          “ไม่ต้องหรอกสมชาย ฉันรู้แล้วถูกยิงตอนสองทุ่มเมื่อคืนนี้ใช่ไหมล่ะ เขาบอกฉันเมื่อคืนก่อน”

          “ที่แกว่ามาลาตายนั้นมันก็เรื่องจริงซีครับหลวงพ่อ ผมนึกว่าแกเพี้ยนซะอีก แล้วแกรู้ไหมครับว่าใครยิงแก เพราะในข่าวยังไม่รู้ตัวคนยิง”

          “รู้ซี ฉันก็รู้”

          “ทำไมแกไม่ไปแจ้งความไว้ก่อนล่ะครับ แล้วหลวงพ่อจะไปให้ข่าวกับหนังสือพิมพ์หรือเปล่า” “ลูกคุณช่างซัก” ถามอย่างอยากรู้

          “ก็คนถูกยิงแท้ ๆ เขายังไม่ยอมแจ้ง แล้วฉันจะไปวุ่นวายทำไม มันเป็นเรื่องของกรรมน่ะสมชาย ไป ลงไปทำงานต่อได้แล้ว ฉันไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ ที่ต้องรับทุกวันก็เพื่อเอาไว้ให้พวกเธอและแขกอ่าน” เมื่อท่านไม่สนใจ ไม่ตื่นเต้นกับข่าวนั้น นายสมชายจึงลงมาวิพากษ์วิจารณ์กับนายขุนทองที่กุฏิชั้นล่าง

          “มีอะไรตื่นเต้นหรือพี่ ถึงต้องวิ่งขึ้นไปหาหลวงลุง” นายขุนทองถามตัวเขาก็อยากรู้ ทว่าห่วงกินมากกว่า กินกับนอนต้องมาก่อนเสมอ

          “แล้วจะกินข้าวต่อไหมนี่ ไม่กินหนูจะได้เก็บ”

          “อยากเก็บก็เก็บได้เลย ข้ากินไม่ลงแล้ว นี่เอ็งดูผู้หญิงคนนี้ซี เขามาบอกหลวงพ่อเมื่อคืนก่อนว่าจะถูกยิงตาย แล้วเขาก็ถูกยิงตายจริง ๆ ตายเมื่อคืนนี้ตอนสองทุ่ม”

          “อ้าว มาหาหลวงลุงแล้วทำไมหนูไม่เห็นล่ะ”

          “ก็เอ็งเอาแต่นอน จะรู้นะรู้โมอะไร้ เขามาตอนเอ็งหลับปุ๋ยไปแล้วน่ะ” ลูกศิษย์วัดแถลงไข

          “แล้วพี่ให้เขาพบหลวงลุงหรือเปล่า ละเมิดกฎอีกตามเคยล่ะซี” คนเคร่งครัดในกฎเกณฑ์ว่า

          “ถึงไม่ให้พบ เขาก็ต้องไปพบจนได้แหละน่า หลวงพ่อบอกว่าเขามาแบบ “เจตภูต” คนมาวัยกว่าอธิยาย

          “อีกแล้วเหรอ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีคนแก่คนนึงมาแบบเดียวกันนี้ หลวงลุงก็บอกว่าเป็นเจตภูตเหมือนกัน”

          “งั้นหรือ แล้วทำไมข้าไม่เห็นล่ะ” นายสมชายเป็นฝ่ายถามบ้าง นายขุนทองได้โอกาสแก้เค้นจึงว่า

          “ก็พี่มัวไปจีบสาวซะน่ะซี ตอนพี่กลับมาน่ะแกไปแล้ว หนูอุตส่าห์เดินตามจะไปต่อว่าที่แกละเมิดกฎ ปรากฏว่าตามแกไม่ทัน ตอนหลังถึงได้รู้ว่าแกมาแบบเจตภูต หลวงลุงเป็นคนบอก”

          “แล้วเอ็งว่ามันประหลาดไหมล่ะที่วิญญาณออกจาร่างได้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตาย ข้านึกว่าต้องตายเสียก่อนถึงจะออกได้ ที่วัดนี้มีอะไรแปลก ๆ นะ ไม่รู้วัดอื่นเขาเป็นยังงี้บ้างหรือเปล่า”

          “พี่ก็ลองไปอยู่วัดอื่นดูซี ไม่งั้นก็ไม่รู้”

          “อ้อ นี่คิดจะไล่ข้าเหรอ แล้วเอ็งขับรถให้หลวงพ่อได้ว่างั้นเถอะ” ลูกศิษย์วัดคิดไปอีกทาง

          “เปล่านี่ ก็พี่อยากรู้ก็ต้องลอง ไม่ลองก็ไม่รู้ หนูไม่ได้คิดจะไล่พี่เล้ยให้ตายซี พี่ไปแล้วใคร้จะมาเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของหนู” นายขุนทองพูดเสียงอ่อนเสียงหวาน

          “แต่ข้าอยากรู้โดยไม่ต้องลองนี่นา” นายสมชายว่า

          “ถ้าอย่างนั้นหนูก็ไม่รู้จะแนะนำยังไง หรือพี่ว่าหนูควรจะแนะนำพี่ยังไงก็กรุณาแนะนำหนูด้วย นึกว่าเอาบุญเถอะนะพี่นะ”

          “นี่หยุด หยุดได้แล้วขุนทอง เอ็งยิ่งพูดก็ยิ่งวกวนจนข้าชักจะเวียนหัวแล้วนะ” นายสมชายพูดอย่างอดรนทนไม่ได้”

          “เวียนหัวเหรอ เดี๋ยวรอเดี๋ยวหนูจะไปละลายยาลมมาให้” ยังไม่ทันที่นายสมชายจะออกปากห้าม นายขุนทองก็หายเข้าไปในห้อง ครู่หนึ่งก็ถือถ้วยยาลมอกมาส่งให้ลูกศิษย์วัด

          “เอ้า ดื่มซะจะได้หายเวียนหัว” นายสมชายไม่รับถ้วยยา หากใช้มือทั้งสองกุมขมับ พูดว่า

          “ขุนทอง ข้าขอร้องเถิดนะ เอ็งอย่ายั่วข้าเลย ไป เก็บสำรับไปล้างแล้วกวาดถูกุฏิให้เรียบร้อย ส่วนข้าจะไปล้างรถ พรุ่งนี้หลวงพ่อจะไปจันทบุรีแต่เช้ามืด”

          “ให้หนูไปด้วยคนได้ไหม เดี๋ยวหนูจะขึ้นไปขออนุญาตหลวงลุง” นายขุนทองว่าเพราะอยากไปเปิดหูเปิดตากับเขาบ้าง”

            “คงไม่ได้มั้ง เอ็งต้องอยู่ดูแลเรื่องงานศพ พรุ่งนี้จะมีคนเอาศพมาสวดอภิธรรมตอนทุ่ม” เขาหมายถึงศพเจ๊นวลศรี

          “ศพใคร แล้วทำไมพี่ถึงรู้ล่ะ”

          “ก็เมื่อวันก่อนข้าไปเยี่ยมเขา เขาบอกว่าพรุ่งนี้ตอนตีสี่สิบนาทีเขาจะตาย ตอนเย็นจะให้ลูกหลานเอาศพมาไว้ที่นี่”

          “ใครหนอ หนูรู้จักมั้ย”

          “ป้านวลศรีที่ขายอาหารอยู่ในตัวเมืองจังหวัดน่ะ ดูเหมือนจะชื่อร้าน “เน้ยโภชนา” ข้าไม่รู้หรอกว่าเอ็งรู้จักเขาหรือเปล่า”

            “อ๋อเหรอ เอ หนูก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหนูรู้จักหรือเปล่า” นายขุนทองล้อเลียน

          “นี่พอที พอที ข้าถามอะไรซักอย่างเถอะนะขุนทอง”

          “พี่จะถามอะไรก็ถามมาเล้ย”

          “ข้าอยากถามว่าเอ็งเคยไหมที่อยู่ดี ๆ ก็ฟันร่วงสองซี่น่ะเคยไหม”

          “อุ๊ย ถามหวาดเสียว ไม่เคยหรอกฮ่ะ เคยแต่ทำให้ฟันคนอื่นร่วงน่ะ พี่จะลองไหม ลองไหม” นายสมชายไม่ตอบหากเดินไปที่โรงรถเพื่อทำหน้าที่ ขืนคุยกับเจ้าหนุ่มที่ชื่อขุนทองนานกว่านี้อาจจะยั้งโทสะไม่ไหว ก็มันกวนโทสะเสียเหลือเกิน เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น

          วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ ท่านพระครูออกจากวัดป่ามะม่วงตั้งแต่ตีสี่ เข้ามาในรถแล้วก็ “นั่งหลับตา” ทันที นายสมชายรู้สึกเหงาปากเพราะไม่มีคนคุยด้วย เขาขับรถอย่างตั้งใจ หากขับไปได้ชั่วโมงเศษ ๆ ก็รู้สึกง่วงเพราะเมื่อคืนกลับจาก “บ้านเหนือ” ดึกไปหน่อย ชายหนุ่มชะลอความเร็วลง ใช้ฟันขบริมฝีปากล่างจนรู้สึกเจ็บหากก็ยังไม่หายง่วง รถกำลังวิ่งอยู่บนถนนสายเอเชีย ใกล้ปากทางที่จะแยกเข้าถนนพหลโยธิน คิดจะขออนุญาตจอดรถงีบสักประเดี๋ยวก็พอดีกับท่านพระครูพูดขึ้นว่า

          “เข้าพหลโยธินแล้วจอดข้างทาง อนุญาตให้หลับสิบนาที” ชายหนุ่มปฏิบัติตามอย่างแสนจะยินดี เวลาง่วงแล้วไม่ได้นอนนั้นมันทรมานอย่าบอกใคร ท่านพระครูก็ช่างรู้ใจหาใครเหมือน “แสนดีมีเมตตาอย่างนี้ สามชายขอรับใช้ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่เลยแหละครับหลวงพ่อ” เขาแอบขอบคุณในใจ ครั้นจะพูดออกมาก็กลัวจะหายง่วง ก็ในเมื่อท่านอนุญาตให้งีบ มาหายง่วงเสียก็หมดสนุกกัน

          เข้าถนนพหลโยธินแล้วนายสมชายก็แอบรถไว้ข้างทาง เปิดไฟฉุกเฉินเอาไว้แล้วเอนกายพิงพนักเก้าอี้ หลับปุ๋ยไปในทันที เขาไม่ห่วงว่าจะหลับเกินเวลาที่กำหนด เพราะเมื่อถึงเวลา ท่านพระครูก็จะปลุกเองโดยที่ท่านไม่ต้องดูนาฬิกา ท่านเคยพูดให้เขาฟังบ่อย ๆ ว่า ผู้ที่ฝึกสติไว้ดีแล้วสามารถใช้สติแทนนาฬิกาปลุกได้

            รถวิ่งเข้าเขตอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เมื่อเวลาเก้านาฬิกาสี่สิบนาที หากไม่เสียเวลาจอดข้างทางก็จะถึงเก้าโมงครึ่งพอดิบพอดีตามที่ท่านพระครูกำหนดไว้

          “สมชายเดี๋ยวแวะที่ร้านอาหารข้างหน้านั่น หิวหรือยัง” ถามอย่างอาทร

          “นิดหน่อยครับ เดี๋ยวนิมนต์เหลวงพ่อฉันกาแฟสักถ้วย คงทันนะครับ”

          “ทันแน่นอน อีกสักห้านาทีก็ถึงแล้ว ต้องไปถึงให้ตรงเวลา เร็วไป ช้าไป เจ้าภาพเขาจะอึดอัดเป็นกังวล” ท่านสอนลูกศิษย์วัดไปในตัว นายสมชายจอดรถหน้าร้านข้าวมันไก่ ซึ่งมีรถยนต์จอดอยู่หลายคัน แล้วจึงลงมาเปิดประตูให้เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง จากนั้นจึงเดินตามท่านเข้าไปในร้าน ซึ่งมีโต๊ะว่างอยู่เพียงโต๊ะเดียว เถ้าแก่เจ้าของร้านกุลีกุจอเข้ามาต้อนรับ

          “นิมนต์ครับ” เขาพูดไทยชัดเจนแม้สำเนียงจะออกไปทาง “คนจันท์” นายสมชายต้องแยกไปนั่งอีกโต๊ะหนึ่ง ซึ่งมีลูกค้านั่งรับประทานอยู่เพราะจะนั่งรวมกับท่านพระครูไม่ได้

          “เถ้าแก่ขอกาแฟถวายหลวงพ่อ ส่วนของผมขอข้าวมันไก่” เขาเดินมาบอกเถ้าแก่แล้วกลับไปนั่งที่เดิม เจ้าของร้านเรียกลูกจ้างมาสั่งอีกทีหนึ่ง ตัวเขายืนอย่างสำรวมอยู่ตรงหน้าท่านพระครู

          “หลวงพ่อมาจากไหนหรือครับ” เขาถาม

          “อาตมามาจากวัดป่ามะม่วง จังหวัดสิงห์บุรี เถ้าแก่รู้จักวัดนี้หรือเปล่า เคยได้ยินชื่อไหม”

          “ไม่รู้จักครับแต่เคยได้ยินชื่อ เห็นเขาว่าเจ้าอาวาสวัดนี้ดูหมอแม่นมาก” เจ้าของร้านพูดตาม “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” ได้ยินมาว่านอกจากดูหมอแม่นแล้วท่านยังให้หวยเก่งด้วย”

          “อาตมาไม่เคยให้หวยใคร ส่วนเรื่องหมอดูก็เคยมาบ้างสมัยที่มีกระจกหมอดู แต่ก็ได้โยนทิ้งน้ำไปร่วมยี่สิบปีแล้ว” ท่านตอบตามจริง

          “หรือครับ แหม ผมนึกว่าจะได้เลขสักตัวสองตัว” เจ้าของร้านรู้สึกผิดหวัง ที่จริงเขารวยอยู่แล้วหากก็อยากรวยขึ้นไปอีก วิสัยของปุถุชนนั้นคำว่า “พอ” ย่อมไม่มี

          “ขยันทำมาหากินก็รวยเองนั่นแหละ ก็มีรายได้ทุกวันไม่ใช่หรือ”

          “ครับ แต่มันน้อย อยากได้ทีละมาก ๆ น่ะครับหลวงพ่อ” คนมีนิสัยงกมาแต่กำเนิดว่า

          “มากมันก็มาจากน้อยนะโยมนะ โบราณเขาสอนว่า “อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่านอนคอยวาสนา” อาตมาว่าเขามีเหตุผลนะคนโบราณน่ะ” พอดีกับลูกจ้างนำกาแฟมาให้ เจ้าของร้านจึงรับมาประเคนด้วยตัวเอง เสร็จแล้วจึงขอตัวไปดูแลลูกค้าโต๊ะอื่น ๆ เพราะคิดว่ายังไงเสียคงไม่ได้ “เลข” แน่ในความรู้สึกของเขา หลวงพ่อองค์นี้ไม่น่าศรัทธา “พระที่ดูหมอไม่เป็น ให้หวยไม่ได้ ใครจะไปศรัทธาเลื่อมใส”  เจ้าของร้านคิด

          ออกจากร้านอาหาร นายสมชายก็ขับรถตามแผนผังที่คุณนายโสภิตส่งผ่านมาทางท่านพระครูและก็ไปถึงบ้านงานตรงเวลา คุณนายโสภิตออกมาต้อนรับถึงรถ

          “นิมนต์ค่ะหลวงพ่อ กำลังกลัวว่าสมชายจะพาหลวงพ่อหลงทางอยู่เชียว ที่ไหนได้มาก่อนองค์อื่น ๆ เสียอีก” คุณนายพูดอย่างยินดี นิมนต์ท่านเข้าไปนั่งยังอาสนะที่จัดเตรียมไว้สำหรับพระสงฆ์ ๙ รูป ท่านพระครูเลือกนั่งเป็นลำดับที่สองเพราะทราบว่าท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งก็ได้รับนิมนต์มางานนี้เช่นกัน “เห็นหนอ” มีประโยชน์อย่างนี้

          ท่านสังเกตการจัดอาสนะสงฆ์ที่เจ้าภาพจัดไว้ เห็นว่าไม่ถูกต้องตามประเพณีนิยม พระพุทธรูปควรจะไว้ทางขวามือของพระสงฆ์ก็ไปอยู่ทางซ้ายมือ ครั้นมองไปทางขวาก็เห็นว่าเป็นห้องน้ำ จึงเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นที่เจ้าภาพต้องจัดพระพุทธรูปไว้ทางซ้ายมือ ประเดี๋ยวหนึ่งท่านเจ้าคุณกับพระสงฆ์อีก ๗ รูปก็มาถึง สงฆ์ ๗ รูปนั่งต่อจากท่าน ส่วนท่านเจ้าคุณนั่งอาสนะที่ติดกับพระพุทธรูปซึ่งเป็น “หัวแถว”

          ท่านพระครูทำความเคารพท่านเจ้าคุณด้วยการไหว้ รับไหว้แล้วผู้มาใหม่ก็เริ่มรายการตำหนิเจ้าภาพด้วยเสียงที่ค่อนข้างดังว่า “โยมทำไมเอาพระพุทธรูปมาไว้ทางซ้ายมือของพระสงฆ์ ทำไมไม่เอาไว้ขวามือ โยมทำผิดรู้ไหม”

          “เจ้าค่ะ” คุณนายโสภิตรับผิดโดยไม่ได้แก้ตัว

          “ทีหน้าทีหลังอย่าได้ทำอย่างนี้อีกนะ แขกไปใครมาอายเขา คนที่ไม่รู้ธรรมเนียมก็ไม่ว่าอะไร แต่คนที่รู้เขาจะตำหนิเอา” ท่าน “ว่า” อีก

          “เจ้าค่ะ” คุณนายเจ้าของบ้านรับผิดอีก

          “อะไร เป็นถึงคุณนายนายอำเภอ ทำไมไม่รู้จักขนบธรรมเนียมเสียบ้างเลย” คราวนี้คุณนายหน้าสลดลงนิดหนึ่ง อธิบายช้า ๆ หากชัดถ้อยชัดคำว่า

          “ท่านเจ้าคุณเจ้าคะ ดิฉันพอจะรู้ธรรมเนียมเจ้าค่ะ แต่ที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะเห็นว่าการเอาพระพุทธรูปไปตั้งติดกับห้องน้ำ มันไม่เหมาะ ดิฉันก็เลยต้องยอมผิดธรรมเนียมเจ้าค่ะ”

          ฟังคำอธิบายของคนเป็นเจ้าภาพแล้ว ท่านเจ้าคุณถึงกับหน้าเสียคิดในใจว่าไม่น่า “ปากไว” เช่นนี้เลย อายพระลูกวัด ๗ รูปนั้นก็อาย ไหนจะรูปที่นั่งติดกับท่านนี่อีกเล่า มาจากวัดไหนก็ไม่รู้แต่ดูท่าทางจะเป็น “พระภูธร” เสียมากกว่า

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนั่งนิ่งดูเหตุการณ์อยู่ แล้วท่านก็ได้บทเรียนอีกบทหนึ่งโดยที่ไม่ต้องไปโรงเรียน บทเรียนนั้นสอนท่านว่า “ไปที่ไหน อย่าเอาปากไปก่อน ขอให้ถือคติว่า ตาดู หูฟัง ปากนิ่ง จะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้าคนอื่นเขา”

          ทักทายปราศรัยกับเจ้าของบ้านพอสมควรแก่เวลาแล้ว พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูปก็เริ่มเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นคุณนายโสภิตและญาติ ๆ จึงช่วยกันถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์

          ท่านพระครูเจริญคิดว่างานนี้ หากท่านเพียงนั่งพิจารณาอาหารโดยไม่ฉันก็คงจะต้องถูกท่านเจ้าคุณช่างเจรจารูปนี้ตำหนิติเตียนเอาเป็นแน่ เผลอ ๆ คุณนายโสภิตก็จะถูกเอ็ดอีกว่าไปนิมนต์พระบ้า ๆ บอ ๆ จากที่ไหนมาก็ไม่รู้

          ครั้นพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณนายโสภิตจึงถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูป เมื่อพระสงฆ์ “ยถาสัพพี” เธอจึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้นายอำเภอสิทธิศักดิ์ สามีผู้ล่วงลับ ท่านพระครูเคยสอนไว้ว่า “ยถาให้ผี สัพพีให้คน” ดังนั้นเมื่อพระขึ้น “ยถา วาริ วหา...” เธอจึงเริ่มรินน้ำลงในภาชนะกระทั่งท่านว่าถึง “มณิ โชติ รโส ยถา” แล้วประนมมือรับพรเมื่อท่านขึ้น “สัพพีติโย วิวัชชันตุ”

          เมื่อพิธีทำบุญอายุครบ ๕ รอบของคุณนายโสภิตเสร็จสิ้นลง ท่านเจ้าคุณและพระลูกวัดอีก ๗ รูป จึงลากลับ คุณนายโสภิตไปส่งท่านถึงรถ

          “คุณนาย พระที่นั่งติดกับอาตมาเป็นใครกัน” ท่านเจ้าคุณถาม รู้สึกไม่ถูกชะตากับ “พระภูธร” รูปนั้น คงเป็นพระภูธรแน่ ๆ ก็ท่าทางเชย ๆ ออกอย่างนั้น แต่จะเป็น “พระภูธร” หรือ “พระนครบาล” ท่านก็รู้สึกไม่ถูกชะตาตั้งแต่แรกเห็น ไม่ถูกชะตาเอามาก ๆ คุณนายโสภิตไม่ตอบในทันที เธอกำลังคิดหาคำตอบที่เหมาะสม ดูเหมือนท่านท่านเจ้าคุณจะมี “จิตริษยา” ท่านพระครูอยู่ในใจ ตัวเธอเองนั้นเคารพนับถือท่านพระครูมากกว่า เพราะท่านเป็น “พระปฏิบัติ” ส่วนท่านเจ้าคุณนั้นเคยนับถือกันสมัยที่คุณสิทธิศักดิ์ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เลื่อมใสใน “จริยาวัตร” ของท่านสักเท่าไหร่ ขนาดลูกศิษย์ใกล้ชิดของท่านยังมาแอบนินทาให้คุณนายฟังถึงสรรพคุณของเจ้าคุณรูปนี้ว่า “เช้าเอน เพลนอน เย็นพักผ่อน ค่ำจำวัด ดึกซัดมาม่า ตีห้าคิดดอกเบี้ย” เขาบอกว่าท่านมีเงินเป็นล้าน ๆ ให้คนกู้ ยิ่งกว่านั้นลูกศิษย์คนเดียวกันนี้ยังมาเล่าอีก จะจริงหรือไม่จริงก็อยู่ที่ลูกศิษย์คนนั้น เขาเล่าให้คุณนายฟังว่า

          “คุณนายครับ ผมน่ะแสนจะอึดอัดพูดไม่ออก บอกไม่ได้ ครั้นจะไม่พูดไม่บอก มันก็อึดอัดแน่นอก ผมก็ขอบอกคุณนายคนเดียวก็แล้วกัน รู้แล้วก็เหยียบเสียนะครับ เหยียบให้แน่น ๆ เพราะถ้าเรื่องนี้รู้ถึงหูท่านเจ้าคุณเมื่อไหร่ ผมต้องตายเมื่อนั้น “ตายหยังเขียด” เชียวนาครับ” เขาอารัมภบทยืดยาวก่อนเล่าว่า

            “คุณนายทราบไหมครับ ที่ท่านเจ้าคุณท่านคุยว่าสามารถเข้า “นิโรธสมาบัติ” ได้ถึงเจ็ดวันนั้น ความจริงเป็นอย่างไร” เขายกมือท่วมหัวพร้อมกล่าวคำสาบาน “เจ้าประคู้ณ ถ้าลูกช้างใส่ร้ายพระสงฆ์องค์เจ้า ขอให้ลูกช้างตายไปตกนรกเถิด” แล้วจึงเล่าวิธีการเข้านิโรธสมาบัติของท่านเจ้าคุณว่าท่านจะปิดกุฏิ ๗ วัน ห้ามลูกศิษย์ลูกหาเยี่ยมเยียน โดยสั่งเขาให้บอกคนเหล่านั้นว่าท่านจะเข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลาเจ็ดคืนเจ็ดวันติดต่อกันโดยไม่ฉันและไม่จำวัด ตัวเขาเท่านั้นที่รู้ว่าท่าน “ตุน” อาหารการกินไว้เต็มตู้เย็นแล้วสั่งให้เขาทำขึ้นมาถวาย

          กิน ๆ นอน ๆ อยู่ในกุฏิครบตามเวลาที่กำหนดแล้วก็ให้เขาประกาศแก่ลูกศิษย์ลูกหาว่าท่านออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ใครอยากได้บุญก็ให้รีบเอาอาหารตลอดจนข้าวของเงินทองมาถวาย เพราะการถวายของกับพระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัตินั้นมีอานิสงส์แรงกล้า

          บรรดาผู้งกบุญแต่ไร้ปัญญาทั้งหลายก็พากันมาถวายของและกล่าวชื่นชมว่า ผิวพรรณท่านเจ้าคุณผ่องใสเพราะอำนาจสมาธิ มีเขาคนเดียวเท่านั้นที่รู้ว่าท่านผ่องใสเพราะกิน ๆ นอน ๆ อยู่ในกุฏิถึงเจ็ดคืนเจ็ดวัน ไม่รู้ว่าท่านจะ  หลอกลวงชาวบ้านไปทำไม ช่างไม่กลัวบาปกลัวกรรมเสียบ้างเลย

          ส่งท่านเจ้าคุณและพระลูกวัดกลับกรุงเทพฯ แล้ว คุณนายโสภิตจึงกลับมาคุยกับท่านพระครูเพื่อ “รายงานผลการปฏิบัติธรรม” ให้ท่านทราบ คุณนายเคยไปเข้ากรรมฐานที่วัดป่ามะม่วงหลายครั้งและนำมาปฏิบัติต่อที่บ้านทุกวัน มีปัญหาอะไรก็ไปเรียนถามท่านพระครูเพราะตอนนั้นสามีของคุณนายเป็นนายอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี การไปมาจึงไม่ลำบาก ต่อเมื่อนายอำเภอเสียชีวิต คุณนายจึงย้ายกลับมาอยู่ภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดจันทบุรี แล้วก็เลยไม่ได้ไปหาท่านพระครูอีก

          “หลวงพ่อคะ เมื่ออาทิตย์ก่อนเกิดเรื่องอัศจรรย์ค่ะ” คุณนายพูดขึ้น เมื่อกลับมานั่งเรียบร้อยแล้ว

          “อัศจรรย์ยังไงหรือคุณนาย” ท่านถาม

          “ก็ดิฉันนั่งกรรมฐานอยู่ในห้องพระดี ๆ เกิดตัวลอยออกไปนอกหน้าต่าง กิ่งทับทิมเกือบแทงตาแน่ะค่ะ พวกคนใช้เขาเห็นเลยพากันคิดว่าดิฉันได้คุณวิเศษ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แหม! ลอยออกไปตกดังตุ๊บ ยังหาว่าเหาะได้” คุณนายเล่า ยังนึกขำตัวเองไม่หาย

          “ก่อนจะลอยคุณนายรู้สึกอย่างไร”

          “รู้สึกตัวมันเบาค่ะ ดิฉันก็กำหนด “เบาหนอ” พอกำหนดอย่างนั้นตัวมันก็ลอยขึ้น ไม่ทราบลอยได้ยังไง น้ำหนักร่วมแปดสิบ” เธอพูดอย่างกังขา

          “แล้วคุณนายกำหนดว่าอย่างไร ตอนตัวลอยน่ะ”

          “ดิฉันกำหนด “ลอยหนอ” ค่ะ

          “แล้วกัน กำหนดอย่างนั้นจะไปได้เรื่องอะไร บอกให้ลอยมันก็ลอยน่ะซี ดีนะที่ไม่ลอยไปถึงวัดป่ามะม่วงโน่น” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ คุณนายจึงเอออวยว่า

          “แหม ถ้าไปถึงโน่นก็ดีซีคะหลวงพ่อ ดิฉันจะได้เลิกจ้างคนขับรถ อยากไปไหนมาไหนก็ลอยไป แบบนี้เขาเรียกว่าอะไรคะหลวงพ่อ ดิฉันได้ญาณอะไร” คนถามอยากรู้

          “ไม่ใช่ญาณหรอกคุณนาย เป็นอำนาจของปีติน่ะ ปีติที่ทำให้ตัวเบาลอยขึ้นได้นั้นเขาเรียกว่า อุพเพงคาปีติ การเกิดปีติขึ้นเพราะองค์ธรรม ขณะที่ปฏิบัติไม่สมดุลกัน กล่าวคือ สติ วิริยะ และสมาธิ มันไม่เสมอกัน สมาธิมันเกินสติและวิริยะ จึงทำให้ออกนอกลู่นอกทาง ฉะนั้นคุณนายต้องเพิ่มสติให้มากขึ้นอีก ให้มันเสมอกับวิริยะและสมาธิ การปฏิบัติจึงจะก้าวหน้า”

          “แต่ดิฉันก็มีสตินะคะหลวงพ่อ เพราะขณะที่ตัวลอยดิฉันก็รู้” คุณนายพูดอย่างแคลงใจ

          “อาตมาก็ไม่ได้ว่าคุณนายไม่มีสติ เพียงแต่บอกว่ากำลังของมันด้วยกว่าสมาธิกับวิริยะ แล้วเวลากำหนดขณะเมื่อตัวลอย คุณนายต้องกำหนดว่า “รู้หนอ รู้หนอ” คือเอาสติไปรู้ว่าตัวกำลังลอย ถ้ากำหนดอย่างนี้แล้วมันยังลอย คุณนายต้องกำหนดว่า “หยุดหนอ หยุดหนอ” เข้าใจหรือยัง อย่าไปกำหนด “ลอยหนอ” เพราะเดี๋ยวเกิดลอยไปตกน้ำตกท่าเดี๋ยวจะหาว่าอาตมาสอนไม่ดี”

            “แหม ดิฉันนึกว่าตัวเองได้ญาณสูงถึงกับเหาะเหินเดินอากาศได้เสียอีก ถ้าเป็นเช่นนั้นดิฉันจะได้ขายรถเลิกใช้รถไปเลย” คุณนายโสภิตพูดติดตลก บรรดาญาติมิตรที่นั่งฟังการสนทนาระหว่างคุณนายวัยหกสิบกับพระภิกษุวัยห้าสิบอยู่นั้น ไม่มีสักคนที่เข้าใจ ด้วยไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต...

 

มีต่อ........๔๖
 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #48 เมื่อ: เมษายน 23, 2007, 08:07:18 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00046
๔๖...

          สนทนาปราศรัยกับเจ้าภาพจนได้เวลาอันสมควรแล้ว ท่านพระครูเจริญก็เอ่ยปากลา ด้วยตั้งใจจะไปแวะนมัสการหลวงพ่อพระพุทธโสธรที่จังหวัดฉะเชิงเทราก่อน ต่อจากนั้นจึงจะไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพคุณนายราศี ที่วัดธาตุทอง

          คุณนายโสภิตนิมนต์ให้ท่านสรงน้ำให้สดชื่นเบิกบานเสียก่อน เพราะจะต้องเดินทางอีกหลายชั่วโมง นายสมชายก็ถือโอกาสอาบน้ำอาบท่าเพื่อความกระปรี้กระเปร่า จะได้ไม่ง่วงในขณะขับรถ

          กว่าท่านพระครูจะขึ้นรถได้ นายสมชายก็ต้องสตาร์ทรถรอร่วมชั่วโมง เพราะเดี๋ยวคนโน้นเข้ามาถาม คนนั้นเข้ามาคุย ร่ำลากันอยู่นั่นแล้ว พอคนนั้นลา คนโน้นก็เขามาคุย จนนายสมชายรู้สึกเวียนหัว ข้างฝ่ายคุณนายโสภิตก็ยกมือไหว้ลาแล้วลาอีกจนนายสมชายอดรนทนไม่ได้ต้องลงไปสัพยอกว่า

          “หลวงพ่อผมสตาร์ทรถรอหมดน้ำมันไปครึ่งถึงแล้วนะครับ” นั่นแหละท่านจึงขึ้นไปนั่งในรถคู่กับคนขับ โดยมีหลานชายของคุณนายโสภิตเป็นผู้เปิดปิดประตูให้ ท่านไขกระจกลงกล่าวร่ำลากับพวกเขาอีก

          “อาตมาไปนะโยมนะ อย่าลืมไปเที่ยววัดป่ามะม่วงบ้างล่ะ”

          “ค่ะหลวงพ่อ วันหลังฉันจะขอไปเข้ากรรมฐาน จะได้เหาะได้อย่างพี่โสภิต” น้องสาวคุณนายโสภิตว่า

          “ตกลง อย่าลืมไปนะ” ท่านสำทับ นายสมชายเคลื่อนรถออกช้า ๆ กระนั้นก็ยังอุตส่าห์มีคนเกาะหน้าต่างรถเดินตามมาคุยกับท่าน ต่อเมื่อรถวิ่งเร็วขึ้นจนพวกเขาตามไม่ทัน การสนทนาและร่ำลาจึงมีอันสิ้นสุดลง

          “จำวัดที่นี่ซักคืนดีไหมครับหลวงพ่อ” นายสมชายพูดประชดขึ้น

          “อย่าเลยเดี๋ยวสาวบ้านเหนือเขาจะเศร้าสร้อยละห้อยหาที่ไม่เห็นหน้าเธอ” ท่านพูดแทงใจดำคนที่กำลังขับรถ นายสมชายจึงต้องเงียบเพราะเกิดคิดถึงคนรักขึ้นมาตะหงิด ๆ วันนี้กว่าจะถึงวัดก็คงดึกดื่นเที่ยงคืน จะเห็นหน้ากันอีกครั้งก็คงตกค่ำของวันรุ่งขึ้น “คิดถึง คิดถึง คิดถึงคะนึงหา” เขาแอบครวญเพลงอยู่ในใจ

          ท่านพระครูเปิดโอกาสให้เขาคิดคำนึงอย่างอิสระด้วยการไม่ชวนคุย ท่านนั่งหลับตาไปตลอดทางกระทั่งรถแล่นมาจอดที่ลานจอดรถวัดพระพุทธโสธร

          “ไม่หรอก ท่านไม่อยู่ ไปกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้า”

          “ทำไมหลวงพ่อรู้ล่ะครับ” ถามเพราะเคยปาก

          “ก็ทำไมฉันจะไม่รู้ล่ะ” ตอบเพราะเคยชิน

          “นั่นสิ ผมก็ชอบลืมทุกทีว่าหลวงพ่อนี่รู้อะไร ๆ ได้ทุกอย่างถ้าอยากจะรู้ แต่ก็อดถามไม่ได้สักที ปากมันเคยน่ะครับ” เขาพูดพลางอ้อมมาเปิดประตูให้ท่านลงจากรถแล้วเดินตามท่านเข้าไปในวิหารที่สถิตพระพุทธโสธร ซื้อดอกไม้ ธูป เทียน ทอง ถวายท่าน และให้ตัวเองด้วย ท่านพระครูเข้าไปกราบนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดฉะเชิงเทรา เสร็จแล้วจึงเดินกลับมาขึ้นรถ สั่งคนขับว่า

          “ประเดี๋ยวแวะซื้อกระยาสารทร้านข้างทางไปฝากญาติโยมเขาหน่อย “ญาติโยม” ที่ท่านพูดถึงได้แก่พระลูกวัด แม่ชี แม่ครัว ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาที่มาเข้ากรรมฐาน ไปไหนมาไหนท่านมักจะมีของติดไม้ติดมือมาฝากพวกเขาเสมอ ๆ

          “หลวงพ่อครับ เขาว่ากันว่า หลวงพ่อโสธรท่านศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นเพราะอะไรครับ แล้วทำไมพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ถึงไม่ศักดิ์สิทธิ์” นายสมชายตั้งคำถาม

          “จะว่าไปแล้ว พระพุทธรูปก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ คือทำจากอิฐจากปูนเหมือนกัน แต่บางองค์ศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่อีกหลายองค์ไม่ศักดิ์สิทธิ์นั้นขึ้นอยู่กับเทพ หรือ เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่พระพุทธรูปองค์นั้น ๆ ถ้ามีเทพหลายองค์ก็มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้าไม่มีเทพสิงสถิตอยู่เลยก็เป็นพระอิฐพระปูนธรรมดา ๆ แต่เราก็สักการบูชาในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่าเป็นพุทธานุสสติ ส่วนความศักดิ์สิทธิ์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกัน”

          “แล้วหลวงพ่อโสธรท่านมีเทพสิงสถิตอยู่กี่องค์ครับ”

          “สิบหกองค์ พระพุทธชินราชกับหลวงพ่อวัดไร่ขิงก็มีเทพสิงสถิตหลายองค์ เทพเหล่านี้เป็นสัมมาทิฐิ หรือที่เรียกว่าพวกเทวดาตรง ส่วยพวกเทวดาพาลไม่ชอบอยู่กับพระเพราะคุณธรรมไม่มี พวกนี้จะเกลียดพระด้วยซ้ำ ก็เหมือนมนุษย์ พวกที่ทำบาปทำชั่วเป็นอาจิณ พวกนี้จะไม่นับถือพระ เห็นพระแล้วก็ไม่เลื่อมใส บางคนมีอาการคลื่นไส้ด้วยซ้ำ

          ฉันเคยรู้จักคนหนึ่งชื่อนายบุญช่วย หมอนี่เข้าวัดก็อาเจียน เห็นพระก็คลื่นไส้ เลยเกลียดวัดเกลียดพระ ฉันก็เลยมาวิจัยดูว่าเป็นเพราะเหตุอะไรก็ได้เห็นกฎแห่งกรรมของเขาว่า ตาคนนี้บาปหนัก ชาติก่อน ๆ ทำกรรมชั่วไว้มาก มาชาตินี้ก็มีอาชีพรับจ้างฆ่าคน”

          “แล้วแบบนี้นรกเขาปล่อยออกมาได้อย่างไรครับ ทำไมเขาไม่เอาตัวไว้ลงโทษทัณฑ์” คนถามรู้สึกกังขา

          “ยังไม่ถึงเวลา อย่าลืมว่ากรรมมันก็ทำหน้าที่เหมือนม้วนเทปบันทึกเสียงนั่นแหละ เมื่อถึงเวลาก็จะให้ผลเองโดยอัตโนมัติเหมือนการหมุนของม้วนเทป”

          “แล้วนายบุญช่วยคนนี้เป็นคนเดียวกับที่ทำให้หลวงพ่อเขวี้ยงกระจกหมอดูลงแม่น้ำเจ้าพระยาหรือเปล่าครับ”

          “ไม่ใช่ คนละคน แต่บังเอิญชื่อไปพ้องกัน”

          “แหม พูดก็พูดเถอะครับหลวงพ่อ ตั้งแต่ผมรู้จักคนชื่อนี้มา กี่คนกี่คนก็หาดีไม่ได้สักคน อย่างนายบุญช่วยที่อยู่บ้านเหนือวัดนั่นก็ลักเล็กขโมยน้อยเป็นอาจิณ จนชาวบ้านเขาเบื่อหน่าย ถ้าผมมีลูก รับรองไม่ให้ชื่อนี้เด็ดขาด” ชายหนุ่มว่า

          “จะชื่ออะไรไม่สำคัญหรอก สำคัญอยู่ที่ตัวคนต่างหากล่ะ คนจะดีจะเลวอยู่ที่การกระทำ ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ คนชื่อบุญแต่ทำบาปก็ต้องได้บาปอยู่วันยังค่ำ หรือถ้าเกิดมีคนชื่อนายบาปแต่เขาทำบุญ เขาก็ได้บุญ เมื่อตายไปก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ส่วนนายบุญกลับต้องไปอบาย ไปทุคติ” ท่านพระครูอธิบายพร้อมยกตัวอย่างให้คนเป็นศิษย์ฟัง

          “หลวงพ่อครับ สวดอภิธรรมศพคุณนายราศีเริ่มกี่ทุ่มครับ” นายสมชายเปลี่ยนเรื่องถาม

          “เผื่อไปถึงก่อนงานเริ่มเรามิเก้อแย่หรือครับ” เขาแสดงอาการปริวิตก เพราะขณะนั้นเพิ่งจะสี่โมงเย็น อีกชั่วโมงเศษ ๆ ก็จะถึงกรุงเทพฯ

          “เรื่องนั้นเธออย่าได้กังวลไปเลย ประเดี๋ยวถึงกรุงเทพฯ เธอพาฉันไปเสาชิงช้า ฉันจะไปหาซื้อผ้าไตรสักสองสำรับ เอาไว้ช่วยวันเผาศพเจ๊นวลศรีสำรับหนึ่ง คุณนายราศีอีกสำรับหนึ่ง กรุงเทพฯ รถติด กว่าจะไปจะมาก็ได้เวลาทุ่มพอดี เชื่อฉันสิ”

          “ครับ ผมเชื่อหลวงพ่อ” นิ่งไปอึดใจหนึ่งก็ถามขึ้นอีกว่า “แล้วเราจะถึงวัดกี่ทุ่มกี่ยามกันล่ะครับ”

          “จะถึงกี่ทุ่มก็ช่างปะไร ไม่เห็นมีอะไรต้องห่วง หรือว่าเธอห่วงอะไร” ท่านแกล้งย้อนถาม

          “ผมก็ไม่ห่วงอะไรหรอกครับ ถ้าจะห่วงก็ห่วงหลวงพ่อนั่นแหละ กลัวว่าจะเหนื่อยเกินไป” เขาว่า

          “อย่าเอาฉันมาอ้างเลยน่า เธอกลัวจะไม่ได้เห็นหน้าสาวบ้านเหนือต่างหาก ทำใจเสียเถอะสมชายเอ๋ย วันนี้ยังไง ๆ ก็ไม่ได้พบกัน ฉันรู้ แล้วก็ยังรู้ด้วยว่าเธอจะไม่ถึงกับขาดใจวายปราณเสียก่อนหรอก ดวงยังไม่ถึงฆาต” ท่านพูดอย่างรู้เท่าทัน ฝ่ายนั้นจึงออกไปข้าง ๆ คู ๆ ว่า

          “ครับ ดวงอย่างผมอายุยืน ว่าจะอยู่ไปสักสองร้อยห้าสิบปีค่อยตาย”

          “งั้นหรือ นิมนต์ตามสบายนะ ส่วนฉันอีกสี่ปีก็ขอลา” ท่านเผลอบอก “ความลับ” คนฟังตกใจเหลือหลายจนรถแฉลบออกขวาไปครึ่งคัน โชคดีที่ไม่มีรถสวนมา จึงทำให้คนขับทั้งตกใจทั้งโล่งใจในเวลาเดียวกัน

          เขาประคองพวงมาลัยให้รถเข้าเส้นทางแล้วลดความเร็วลง กระทั่งรถคันหลัง ๆ  ที่วิ่งตามมาแซงออกหน้าไปหมดแล้วจึงเบรคพรืดจอดเสียตรงข้างทาง ด้วยหมดเรี่ยวแรงที่จะขับต่อไป

          “ขับรถขับราให้มันดี ๆ หน่อย ประเดี๋ยวก็อยู่ไม่ครบสองร้อยห้าสิบปีหรอก” ท่านพระครูสัพยอกขณะที่นายสมชายคิดว่ากำลังอยู่ในช่วงเวลา “หน้าสิ่วหน้าขวาน”

          “นี่เธอหยุดรถทำไมกัน” ท่านถามด้วยอาการปกติทั้งน้ำเสียงและสีหน้า

          “หลวงพ่อครับ ผมไหว้ละ” พูดพร้อมกับยกมือไหว้

          “ผมถามจริง ๆ เถอะครับว่าเมื่อกี้หลวงพ่อพูดอะไร หลวงพ่อพูดเล่นใช่ไหมครับ ผมไม่สบายใจเลยที่ได้ยิน”

          “นั่นเพราะเธอเป็นคนไม่ยอมรับความจริงน่ะสิ เอาละ ไหน ๆ ฉันก็เผลอพูดออกไปแล้ว ก็จะบอกให้เธอรู้ไว้เสียเลย เธอฟังแล้วก็จำไว้นะว่า วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ ฉันจะประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ คอหักตายตอนเที่ยงสิบห้านาที กฎแห่งกรรมบอกอย่างนั้น” ได้ยินท่านพูด นายสมชายถึงกับร้องไห้ด้วยความโทมนัส เขาเอามือปาดน้ำตาแล้วถามท่านว่า

          “ทำไมหลวงพ่อจะต้องเป็นอย่างนั้นด้วยครับ นี่ถ้าผมไม่ได้ยินจากปากหลวงพ่อ ผมจะไม่เชื่อเด็ดขาด”

          “เพราะกรรมสิสมชายเอ๋ย กรรมบันดาลให้ฉันต้องเป็นอย่างนั้น” ท่านตอบเสียงเรียบ

          “กรรมอะไรครับ ผมเห็นแต่หลวงพ่อทำแต่กรรมดี”

          “ตอนทำกรรมชั่วเธอไม่เห็นนะสิ ดูเหมือนเธอจะยังไม่เกิดด้วยมั้ง ตอนฉันอายุสิบสองสิบสามฉันฆ่านกตายเป็นร้อย ๆ นกเป็ดน้ำ ยิงมันลงมาแล้วก็หักคอมันซ้ำอีก”

          “หรือครับ แต่นั่นมันตอนเด็ก หลวงพ่อยังไม่ทันรู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ ตอนนี้หลวงพ่อบวชแล้วและก็เป็นผู้วิเศษอีกด้วย ผมว่าไม่น่าจะต้องไปรับกรรมถึงบาปนั้น”

          “ถ้าฉันเป็นผู้วิเศษอย่างที่เธอว่าก็ดีน่ะสิ แต่บังเอิญฉันไม่ได้เป็น เพราะฉะนั้นก็เลยต้องรับกรรมไปตามระเบียบ อ้อ! แต่ถึงจะเป็นผู้วิเศษก็ใช่ว่าจะหนีกรรมพ้นหรอกนะ ดูอย่างพระโมคคัลลานะ ท่านเป็นผู้วิเศษขนาดเหาะเหินเดินอากาศได้ก็ยังถูกโจรทุบจนกระดูกแหลกเป็นเม็ดข้าวสารหัก เพราะฉะนั้นเธอจงเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า ผู้วิเศษก็ต้องชดใช้กรรมเหมือนกัน เอาละ ทำใจให้สบายแล้วก็ออกรถได้ ประเดี๋ยวจะไม่ทันงาน แล้วก็เก็บเรื่องนี้เป็นความลับนะ อย่าบอกใครเป็นอันขาดโดยเฉพาะเจ้าขุนทอง ฉันรำคาญ ประเดี๋ยวก็จะมาทำวี๊ดว้ายกระตู้วู้ใส่ฉัน” ท่านนึกเห็นภาพของหลานชายหากเขาทราบเรื่องนี้

“หลวงพ่อเคยบอกเรื่องนี้กับใครหรือยังครับ”

“ก็เผลอบอกพระบัวเฮียวเป็นคนแรก เธอเป็นคนที่สอง เอาไว้เวลานั้นใกล้เข้ามาจึงจะบอกคนอื่น ๆ มันจำเป็นต้องบอกนะ ฉันจะได้ขออโหสิกรรมจากเขา ขณะเดียวกันก็จะได้ขอบคุณผู้ที่ช่วยเหลือฉัน เช่น ญาติโยมที่นำข้าวของเงินทองมาช่วยเป็นค่าน้ำค่าไฟและค่าอาหาร เป็นต้น”

“หลวงพ่อไม่มีทางแก้ไขอย่างอื่นเลยหรือครับ หรืออย่างน้อยก็ต่อเวลาไปอีกสักสิบยี่สิบปี หลวงพ่อน่าจะต่อรองกับเจ้ากรรมนายเวรได้ ผมรู้ว่าหลวงพ่อทำได้” นายสมชายยังไม่ยอมยุติเรื่องที่กำลังสนทนาอยู่

“สมชาย เลิกพูดเรื่องนี้ได้แล้ว ท่านพระครูสั่ง แม้จะด้วยเสียงที่ราบเรียบ หากชายหนุ่มก็รู้ว่าต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เขาจึงหยุดพูดแต่มิได้หยุดคิด คิดข้องใจสงสัยไปตลอดทาง เกี่ยวกับเรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องกรรมดีและกรรมชั่ว คิดแล้วคิดเล่าเฝ้าแต่คิดก็ยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ ในที่สุดเลยเปลี่ยนมาคิดถึงสาวบ้านเหนือแทน เพราะสบายใจกว่า”

นายสมชายนำท่านพระครูมาส่งที่ร้านสังฆภัณฑ์แห่งหนึ่งย่านเสาชิงช้า แล้วตัวเขาก็ไปหาที่จอดรถ ท่านพระครูเดินเข้าไปในร้าน คนขายอายุประมาณสี่สิบเศษรีบเข้ามาต้อนรับ

“นิมนต์ครับหลวงพ่อ มีอะไรจะให้ผมรับใช้” เขายกเก้าอี้มาให้ท่านนั่ง พลางหันไปสั่งลูกจ้างให้นำน้ำชาร้อน ๆ มาถวาย

“อาตมาอยากจะซื้อผ้าไตรสักสองสำรับ เอาสีกรักชนิดที่เนื้อดีที่สุดราคาแพงหน่อยก็ไม่เป็นไร” ท่านสั่งปกติแล้วของที่จะให้แก่ผู้อื่นนั้นท่านจะต้องเลือกชนิด “ดีที่สุด” แต่สำหรับตัวท่านเองแล้ว “อะไรก็ได้” แล้วแต่ญาติโยมจะถวาย

“หลวงพ่อใช้เองหรือครับ” คนขายถามอย่างสงสัย เพราะพระจะไม่ซื้อผ้าไตรสำหรับตัวเอง แต่พระสมัยนี้มักไม่ค่อยเคร่งสักเท่าไหร่ หลวงพ่อรูปนี้ก็อาจจะเป็นเช่นนั้นด้วย

“ไม่ใช่หรอกโยม อาตมาจะเอาไปช่วยงานศพเขา อาตมาไม่เคยซื้อผ้าไตรจีวรให้ตัวเอง” ฟังคำพูดของท่าน เจ้าของร้านก็เกิดศรัทธา จึงพูดขึ้นว่า

“ถ้าอย่างนั้นผมขอร่วมทำบุญด้วยนะครับ ผมจะขายให้หลวงพ่อหนึ่งสำรับ ส่วนอีกหนึ่งสำรับผมถวายเพื่อร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ” ชายวัยสี่สิบเศษแสดงความจำนง ถึงอย่างไรเขาก็ไม่ขาดทุนเพราะได้บวกกำไรไว้เท่ากับราคาต้นทุน

“หากเป็นความประสงค์ของโยม อาตมาก็ขออนุโมทนา คงไม่คิดว่าอาตมามาเรี่ยไรนะ เงินทองอาตมาก็เตรียมมาพร้อม ไม่ชอบรบกวนใคร” ท่านรีบพูดออกตัวเพื่อกันการเข้าใจผิด

“ผมไม่ถือเป็นการรบกวนหรอกครับ นาน ๆ ผมจะเจอพระอย่างหลวงพ่อสักครั้ง คนที่เป็นพระเท่าทีผมเห็นและรู้จัก ท่านเอาแต่รับลูกเดียว แต่หลวงพ่อกลับเป็นผู้ให้ แถมเลือกของที่ดีที่สุดให้อีกด้วย ผมศรัทธาหลวงพ่อจริง ๆ ครับ” เขาพูดพร้อมกับนำผ้าไตรสองสำรับมาใส่ถุงกระดาษให้ท่าน พอดีกับนายสมชายเดินเข้ามาจึงรับของมาถือไว้ ท่านพระครูจ่ายเงินตามราคาที่เขาบอก ให้ศีลให้พรแล้วกล่าวลาเจ้าของร้าน

“หลวงพ่อองค์นี้ คงไม่ใช่พระธรรมยุตนะเพราะท่านจับเงิน” เจ้าของร้านพูดกับลูกจ้างหนุ่ม

“ครับ คงเป็นพระมหานิกาย แต่ท่าทางท่านสมถะน่าเลื่อมใสดีนะครับ พระบางรูปทำเคร่งไม่จับเงินทองต่อหน้าคนอื่น ๆ แต่พอลับหลังโฮ้ย แบงค์ร้อยเป็นฟ่อนเลย พระสมัยนี้ดูยากนะครับเถ้าแก่” ลูกจ้างว่า

“นั่นสิ อั๊วะถึงศรัทธาถวายท่านไปสำรับนึง ทำบุญกับพระแบบนี้ถึงจะได้บุญเต็มเม็ดเต็มหน่วยหน่อย”

การจราจรในกรุงเทพฯ ติดขัดจนนายสมชายนึกรำคาญ หากเขาก็สามารถนำท่านพระครูมาถึงวัดธาตุทองเวลาหนึ่งทุ่มพอดิบพอดี

พันเอกประวิทย์และ “คุณนายคนใหม่” เข้ามาต้อนรับ รู้สึกตกใจที่เห็นท่านมา แต่ทำไมจึงรู้ว่าตั้งศพที่วัดนี้ หรือว่ามีใครไปบอกท่าน คนทั้งสองต่างสงสัย

“นิมนต์ครับหลวงพ่อ เป็นพระคุณอย่างสูงที่กรุณามา”

“ทำไมหลวงพ่อจึงทราบว่าอยู่วัดนี้คะ” คุณนายคนใหม่ถามอย่างไม่อาจเก็บความสงสัยไว้ได้ หล่อนแต่งชุดดำและตีหน้าเศร้า ทว่านัยน์ตาทั้งคู่แจ่มจรัสเหมือนว่ายินดีปรีดาเสียนักที่หมดเสี้ยนหนาม นายสมชายพอจะดูออกว่าผู้หญิงคนนี้มีท่าทางพิรุธ เลยพานสงสัยว่าหล่อนอาจจะเป็นคนบงการอยู่เบื้องหลังก็ได้

“หลวงพ่อ คงทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ใช่ไหมครับ” พันเอกประวิทย์ถามบ้าง เขาอยู่ในชุดกางเกงสีดำ เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว ผูกเนคไทสีเดียวกับกางเกง

“อาตมารู้เพราะคุณนายราศีเขาไปลาคืนก่อนตาย เขาไปลาด้วยตัวเอง แต่ที่รู้ว่าอยู่วัดนี้อาตมาคิดเอาเอง” คำตอบของท่านพระครูทำให้คุณนายคนใหม่ หน้าถอดสี

“แสดงว่าเขารู้ตัวว่าจะตายหรือคะ” หล่อนถาม

“ถูกแล้ว และเขาก็รู้ด้วยว่าใครยิงเขา” ภรรยาคนใหม่ของพันเอกประวิทย์หน้าซีดจนเห็นได้ชัด กลั้นใจถามออำไปว่า

“ใครยิงเขาคะ”

“เรื่องนี้อาตมาบอกโยมไม่ได้หรอก เพราะได้รับปากเขาไว้แล้วว่าจะปิดเป็นความลับ แต่เขาก็อโหสิให้นะ เขาบอกว่าเมื่อชาติก่อนเขาฆ่าคนคนนี้ไว้ มาชาตินี้เลยต้องถูกเขาฆ่า จะจริงหรือไม่จริง อาตมาเป็นสงฆ์ ไม่ขอออกความเห็นใด ๆ ทั้งสิ้น” ท่านพูดเพื่อให้คนฟังสบายใจ

“แล้วคนยิงจะถูกจับได้ไหมคะ”

“คงไม่ได้มั้ง ก็เขาว่าเขาอโหสิกรรมให้แล้วก็คงไม่จองเวรจองกรรมกัน” คำตอบของท่านพระครูทำให้สตรีวัยสี่สิบค่อยหายใจโล่งอก หล่อนรีบขอตัวไปรับแขกอีกทางหนึ่ง ท่านพระครูบอกให้นายสมชายนำถุงใส่ผ้าไตรมาให้ ท่านส่งถุงให้พันเอกประวิทย์แล้วพูดว่า

“ผู้พัน วันเผาศพอาตมาคงมาไม่ได้ ฝากผ้าไตรไว้ถวายพระด้วยสำรับหนึ่ง อาตมาขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้คุณนายราศีด้วย” พันเอกวัยสี่สิบยื่นมือมารับผ้าไตรด้วยอาการสั่นนิด ๆ รู้สึกปีติจนน้ำตาคลอหน่วยตาทั้งสอง และเมื่อลูกชายหญิงเดินจูงมือกันเข้ามากราบท่านพระครู เขารู้สึกรันทดจนน้ำตาไหล

“หลวงตาจำเราสองคนได้ไหมคะ เราเป็นลูกคุณแม่ราศีค่ะ” เด็กหญิงพูด

“จำได้จ้ะหนู หลวงตาขอแสดงความเสียใจด้วยนะที่คุณแม่หนูมาด่วนจากไป แต่เขาสบายแล้ว เขาบอกหลวงตาเอง หนูสองคนไม่ต้องเป็นห่วงเขานะจ๊ะ”

“คุณแม่อยู่บนสวรรค์ใช่ไหมครับหลวงตา” เด็กชายถามบ้าง

“จ้ะ หนูสองคนต้องหมั่นทำความดีนะจ๊ะ จะได้ไปอยู่กับคุณแม่”

“คุณแม่รอเราสองคนอยู่บนสวรรค์ใช่ไหมคะหลวงตา”

“ถูกแล้วจ้ะหนู” คุณนายคนใหม่มองมาเห็นลูกเลี้ยงกำลังคุยกับท่านพระครูอยู่ ก็ให้นึกหมั่นไส้ ด้วยมีจิตริษยาเป็นทุนเดิมอยู่ จึงเดินเข้ามาเอ็ดว่า

“เธอสองคนมากวนพระกวนเจ้าอยู่ได้ ออกไป เด็กก็อยู่ส่วนเด็กซี” พันเอกประวิทย์เริ่มมองเห็น “ภัย” ที่กำลังจะมาถึงลูกน้อยทั้งสอง รู้สึกเสียใจที่คิดผิด ไม่น่าพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับสตรีผู้นี้เลย ความหายนะคงจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

เมื่อถูกแม่เลี้ยงดุ เด็กทั้งสองจึงกราบท่านพระครูแล้วพากันลุกออกไป เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมิได้พูดว่ากระไร เพราะหากท่านพูดเข้าข้างเด็ก ก็รังแต่จะให้คนเป็นแม่เลี้ยงเกิดความชิงชังหนูน้อยทั้งสองมากขึ้น ทางที่ดีก็ต้องใช้คาถา “ตาดู หูฟัง ปากนิ่ง”

นายสมชายขับรถพาท่านพระครูมาถึงวัดป่ามะม่วงก่อนเวลาสองยามสักสิบนาที เคาะประตูเรียกอยู่นาน นายขุนทองจึงสะลึมสะลือลุกขึ้นมาเปิดให้ แล้วรีบกลับเข้าไปนอน ทิ้งหน้าที่การปิดประตูไว้ให้นายสมชายทำ ท่านพะรครูอยากจะถามเรื่องการสวดอภิธรรมศพเจ๊นวลศรีว่าเรียบร้อยดีหรือไม่ ก็มีอันไม่ได้ถาม ท่านคิดว่าพรุ่งนี้ก็คงจะรู้ พระมหาบุญคงทำหน้าที่ของท่านได้อย่างเรียบร้อยเหมือนเช่นเคย..

 

มีต่อ........๔๗

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #49 เมื่อ: เมษายน 23, 2007, 08:08:00 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00047
๔๗...

นายสมชายยกสำรับลงมาข้างล่าง นายขุนทองกำลังจะตามลงมาก็พอดีกับท่านพระครูถามขึ้นว่า

“งานสวดศพเจ๊นวลศรีเรียบร้อยดีใช่ไหม เขาเคลื่อนศพมาถึงวัดตอนกี่โมง”

“ไม่มีศพใครมาเลยนี่ฮะหลวงลุง พระมหาบุญท่านก็ยังสงสัยว่าทำไมถึงไม่เป็นไปตามที่หลวงลุงสั่งเอาไว” หลานชายรายงาน

“ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าลูกหลานเขาคงจะเปลี่ยนใจไม่เอามาไว้วัดนี้กระมัง ที่จริงรับปากคนตายไว้แล้ว ไม่น่าจะเสียคำพูด” ท่านตำหนิกราย ๆ ตำหนิคนเป็นลูกหลานของเจ๊นวลศรี

“เขาคงคิดว่าตายไปแล้วคงไม่รู้มังฮะ นี่ถ้าเป็นหนูจะกลับมาหักคอให้ตายทั้งโขยงเลย โทษฐานที่ขัดคำสั่ง” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดขบเขี้ยวเคี้ยวฟันพูด

“เอาเถอะ ๆ ลงไปกินข้าวได้แล้ว กินเสร็จช่วยไปตามแม่หนูคนนั้นมาพบข้าหน่อย คนที่เอ็งพาไปฝากไว้ที่โรงครัวน่ะ” ท่านออกคำสั่ง

“นังเตยน่ะหรือฮะหลวงลุง เห็นพวกแม่ครัวเขาพูดกันว่าสงสัยมันจะท้อง เพราะอาเจียนโอ้ก ๆ ทุกเช้า

“เอ็งเพิ่งรู้หรือ ข้ารู้มาตั้งนานแล้ว” ท่านพระครูว่า

“แต่หนูว่าหนูรู้ก่อนหลวงลุงอีกนะ” หลานชายไม่ยอมแพ้

“ถ้าเอ็งรู้จริงก็บอกข้ามาซิว่าเขาท้องได้กี่เดือนแล้ว”

“สามเดือนฮะ” ชายหนุ่มตอบค่อนข้างมั่นใจ

“นั่นแสดงว่าเอ็งรู้ไม่จริง ถ้ารู้จริงต้องตอบว่าสี่เดือน ข้ารู้ตั้งแต่วันแรกที่เห็นหน้าเขา เอ็งอย่ามาทำเก่งกว่าข้าหน่อยเลยเจ้าขุนทอง เพราะคนที่เก่งกว่าข้าน่ะพากันตายไปหมดแล้ว” ท่านตั้งใจยั่วหลานชาย หากคราวนี้นายขุนทองไม่โต้ตอบเพราะรู้สึกหิว จึงยกถ้วยชามเดินลงมาข้างล่างซึ่งนายสมชายรออยู่

“ทำไมเอ็งช้านักวะ ก็ไหนว่าหิวไง” ลูกศิษย์วัดต่อว่าเพราะลงมารอค่อนข้างนาน

“ก็หลวงลุงน่ะซี ถามโน่นถามนี่อยู่ได้” เขาโยนความผิดไปให้ท่านเจ้าของกุฏิ

“ท่านถามอะไรเอ็งก็ตอบ ๆ ไปเสียก็หมดเรื่อง ข้าว่ามัวแต่ต่อล้อต่อเถียงท่านอยู่น่ะซี รู้นิสัยเอ็งหรอกน่า” คนมาวัยกว่าพูดดักคอ

“เอาเหอะ ๆ หนูหิวแล้ว กินข้าวกันดีกว่า อิ่มแล้วค่อยเถียงกันใหม่” นายขุนทองพูดตัดบท แล้วคนทั้งสองก็ก้มหน้าก้มตารับประทานอาหารโดยไม่พูดไม่จา นายสมชายคิดว่าอิ่มแล้วจะของีบสักพักใหญ่ ๆ แล้วก็จะตื่นขึ้นมาล้างรถ แดดร่มลมตกจึงจะขี่จักรยานคู่ชีพไปบ้านเหนือ ขืนไปแต่วันก็อายชาวบ้านร้านถิ่นเขา จะต้องถูกครหาว่ามานั่งเฝ้าสาวจนไม่เป็นอันทำมาหากิน พวกชาวบ้านเขาจ้องจะนินทาอยู่แล้ว ถึงไม่เคยไปทำอะไรให้เขาต้องเดือดร้อนรำคาญใจก็มีสิทธิ์ถูกนินทาได้

อิ่มหมีพีมันกันแล้วนายขุนทองก็ออกคำสั่ง

“พี่ช่วยเก็บสำรับล้างด้วย หนูจะไปตามนังเตยมาพบหลวงลุง”

“เอ็งก็ล้างก่อนซิแล้วค่อยไป ข้าง่วง เมื่อคืนกลับดึก แล้วยังต้องมาปิดประตูแทนเอ็งอีก” เขาถือโอกาสทวงบุญคุณ

งั้นพี่ไปตามนังเตยมันแทนหนูได้ไหมล่ะ” คนอ่อนวัยกว่าต่อรอง

“ข้าจะไปก็ได้ แต่มันน่าเกลียดเพราะข้ามันเป็นผู้ชาย เอ็งไปน่ะดีแล้ว ผู้หญิงเหมือนกันค่อยพูดกันรู้เรื่อง” ประโยคหลังถูกใจนายขุนทองนัก เขาจึงเก็บสำรับไปกองรวมไว้หลังกุฏิแล้วเดินไปตามนางสาวเตย กลับมาค่อยมาล้าง

นายสมชายจึงถือโอกาสเข้าไปแอบนอนในห้องนายขุนทอง ขืนขึ้นไปห้องตัวเองคงต้องถูกท่านพระครูซักไซ้ไล่เลียง แล้วก็คงไม่มีโอกาสได้นอน เพราะท่านไม่ชอบให้ใครนอนกลางวัน ท่านว่าจะทำให้เป็นโรคเกียจคร้าน ตั้งแต่เข้ามาปรนนิบัติรับใช้ท่านก็ยังไม่เคยเห็นท่านนอนกลางวันเลยสักครั้ง

แม้ในยามอาพาธเจ็บป่วย หมอสั่งให้พักผ่อนมาก ๆ ท่านก็ไม่ค่อยจะปฏิบัติตามคำสั่งของหมอ ครั้นถูกหมอต่อว่า ท่านก็ออกตัวว่า “อาตมากลัวจะมีโรคแทรก” พอหมอถามว่าท่านกลัวโรคอะไรแทรก ท่านก็ตอบว่า “โรคเกียจคร้าน ถ้าอาตมาขืนนอนกลางวัน รับรองว่าต้องถูกโรคเกียจคร้านแทรก” หมอก็เลยต้องยอมจำนนต่อเหตุผลของท่าน แล้วท่านก็คงจะเกรงใจหมอ เพราะนาน ๆ จึงจะอาพาธสักที และหากอาการไม่หนักหนาสาหัสจริง ๆ แล้วก็จะไม่ให้หมอได้รู้เป็นเด็ดขาด

นายขุนทองเดินไปตามนางสาวเตย ที่โรงครัว ถ้าหากไม่พบก็ว่าจะลองถามพวกแม่ครัวเขาดู บังเอิญได้ยินเสียงโอ้กอ้ากอยู่ทางด้านหลังจึงเดินไปยังที่มาของเสียง

“เตย หลวงลุงให้มาตามเอ็งไปพบ” เขาบอก ขณะที่ฝ่ายนั้นโก่งคออาเจียนเอา ๆ

“ตกลงท่านจะให้หนูบวชหรือเปล่า พี่ขุนทองรู้ไหม” นางสาวเตยถามเมื่อหยุดอาเจียนแล้ว

“ก็เอ็งท้องไม่ใช่เหรอ คนท้องเขาบวชกันซะที่ไหนล่ะ

“ใครว่าหนูท้อง หนูเป็นโรคกระเพาะตังหาก” คนท้องสี่เดือนยังไม่ยอมรับความจริง

“เอ็งจะปิดไปทำไมวะ อีกหน่อยท้องมันก็ป่องออกมาฟ้องเอง ว่าแต่ว่าเอ็งท้องได้กี่เดือนแล้ว” คนถามมองดูท้องของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งนูนขึ้นมานิดเดียวเท่านั้น

“สามเดือนจ้ะ” นางสาวเตยตอบ

“ว่าแต่ว่าพี่อย่าบอกหลวงพ่อนะ ไง ๆ หนูขอบวชสักเดือนสองเดือน พอท้องมันโตค่อยสึก” หล่อนพูดเอาแต่ได้

“ข้าไม่ออกความเห็นดีกว่า เอ็งไปคุยกับหลวงลุงเอาเองก็แล้วกัน แต่ท่านรู้ว่าเอ็งท้องนะ ท่านว่าเอ็งท้องได้สี่เดือน แต่ข้าว่าเอ็งท้องสามเดือน ข้าชนะท่านแล้ว” นายขุนทองคิดว่าจะต้องไปชี้แจงข้อเท็จจริงกับท่าน ในที่สุดเขาก็ชนะท่านจนได้ ก็นังเตยมันว่ามันท้องสามเดือนนี่นา”

“ท่านรู้ได้ยังไงล่ะพี่ หรือพวกแม่ครัวแอบไปบอก ถ้าเป็นยังงั้นหนูจะด่าให้เปิงเชียวละ” คนจะบวชชีแสดงอาการเกรี้ยวโกรธ

“ไม่มีใครบอกท่านหรอก ท่านรู้เอง เอ็งไม่รู้อะไร หลวงลุงท่านตาทิพย์นะ สามารถเห็นอะไร ๆ ที่คนธรรมดา ๆ ไม่เห็น เอาเหอะ อย่ามัวชัดช้าร่ำไรเดี๋ยวท่านจะรอ ไปกันเดี๋ยวนี้แหละ” พูดจบก็เดินนำนางสาวเตยมาที่กุฏิ ท่านพระครูลงมานั่งรอที่อาสนะแล้วเมื่อไปถึง หล่อนกราบสามครั้ง แล้วตั้งคำถาม

“ตกลงหลวงพ่อจะให้หนูบวชเมื่อไหร่คะ”

“หนูอย่าพูดเอาแต่ได้ยังงั้นซี คิดให้ยาว ๆ หน่อย หนูไม่กลัวว่าจะทำให้เสียชื่อเสียงวัดหรือไง ถ้าหนูมาคนเดียว หลวงพ่อก็จะให้บวช แต่มาสองคนบวชไม่ได้”

“หนูก็มาคนเดียวนี่คะ” หล่อนเถียง

“สองสิหนู ในท้องอีกคนไง หนูท้องไม่ใช่หรือ แล้วก็ไม่ต้องไปด่าแม่ครัวเขาหรอกนะ เขาไม่ได้มาบอกหลวงพ่อ หลวงพ่อรู้เอง ที่หนูคุยกับเจ้าขุนทองเมื่อกี้ หลวงพ่อก็ได้ยินหมดแล้ว จะให้บอกไหมล่ะว่าพูดอะไรกันบ้าง” นายขุนทองยังไม่ได้ลุกออกไปล้างชามจึงถือโอกาสอวดสรรพคุณของตนว่า

“หลวงลุงแพ้หนูแล้ว เขาท้องได้สามเดือนจริง ๆ นั่นแหละ หลวงลุงหาว่าสี่เดือน”

ท่านพระครูจึงพูดกับนางสาวเตยผู้ซึ่งเริ่มร้องไห้กระซิก ๆ อยู่ต่อหน้าท่านว่า

“ไงจ๊ะแม่หนู ท้องสี่เดือนทำไมถึงว่าสามเดือน นี่ขนาดหลวงพ่อไม่ได้ท้องเองยังรู้เลย แล้วทำไมตัวหนูไม่รู้ล่ะจ๊ะ” นางสาวเตยจึงต้องคิดทบทวนเหตุการณ์ตั้งแต่ได้เสียกับไอ้หนุ่มเพื่อนบ้าน กระทั่งรอบเดือนขาดไป แล้วก็ต้องยอมรับว่าหลวงพ่อท่านพูดถูก รอบเดือนของหล่อนหายไปสี่ครั้ง ก็แปลว่าหล่อนต้องท้องสี่เดือน ทำไมหลวงพ่อท่านถึงได้รู้อะไร ๆ ได้มากมายนัก “สงสัยคงเป็นผู้วิเศษแน่ ๆ” หล่อนคิด

“หลวงพ่อไม่ใช่ผู้วิเศษหรอกหนู อย่าคิดไปไกลขนาดนั้น” นางสาวเตยยิ่งประหลาดใจมากขึ้น เมื่อท่านรู้แม้กระทั่งว่าหล่อนคิดอะไรเช่นนี้ ก็ป่วยการที่จะโกหกท่าน จึงพูดทั้งน้ำตาว่า

“หลวงพ่อคะ หนูกลุ้มใจ ไอ้คนที่มันทำหนูท้อง มันไม่ยอมรับเป็นพ่อของลูกในท้องค่ะ” หล่อนเล่าความจริง

“หนูอยากให้เขารับใช่ไหม”

“ค่ะ ไม่งั้นหนูจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ใครรู้เข้าหนูคงอกแตกตายแน่โดยเฉพาะพ่อกับแม่หนู” แล้วหล่อนก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น คิดเคียดแค้นชิงชังเจ้าหนุ่มเพื่อนบ้านที่เป็นพ่อเด็กในท้อง

“เอาเถอะ หยุดร้องไห้ได้แล้ว หลวงพ่อมีวิธีที่จะทำให้คนรักของหนูเขามาแต่งงานกับหนู แต่หนูจะต้องไม่บวชชี ตกลงไหม”

“จริงหรือคะหลวงพ่อ” ถามอย่างยินดี หล่อนเชื่อว่าท่านต้องทำได้ เพราะท่านเป็นผู้วิเศษ

“จริงหรือไม่จริงก็ต้องคอยดูกัน แต่หลวงพ่อก็ขอบอกไว้ก่อนว่ายังไง ๆ ก็อนุญาตให้หนูบวชชีไม่ได้”

“หนูไม่บวชแล้วค่ะ ถ้าหลวงพ่อทำให้หนูได้แต่งงานกับเขา หนูไม่บวชค่ะ นึกว่าช่วยหนูเอาบุญเถิดนะคะ หนูหมดที่พึ่งแล้ว ครั้งแรกคิดจะฆ่าตัวตายแต่ใจไม่ถึง” คนท้องสารภาพ

“อย่าเชียวนะหนู อย่าได้ฆ่าตัวตายเป็นอันขาด คนที่ฆ่าตัวตายต้องตกนรกถึงห้าร้อยชาติ แล้วถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็จะต้องฆ่าตัวตายถึงเจ็ดชาติ จึงจะหมดเวร มีตัวอย่างแล้ว ลูกศิษย์หลวงพ่อคนหนึ่ง เป็นอาจารย์สอนอยู่โรงเรียนประจำจังหวัด เคยมาเข้ากรรมฐานกับหลวงพ่อแล้วก็เกิดระลึกชาติได้ว่าเคยฆ่าตัวตายมาหกชาติแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย”

“แล้วหลวงพ่อไม่ช่วยเขาหรือคะ ช่วยไม่ให้เขาฆ่าตัวตายน่ะค่ะ”

“ช่วยสิหนู หลวงพ่อก็พยายามจนสุดความสามารถ แต่พ่อกับแม่เขาไม่ร่วมมือด้วย ในที่สุดเขาก็เลยผูกคอตาย แต่ก็ตายอย่างมีสตินะ เพราะเขารู้ว่าจะต้องชดใช้กรรม”

“ทำไมพ่อแม่เขาไม่ให้ความร่วมมือกับหลวงพ่อล่ะคะ หรือว่าเป็นตาสีตาสาไม่รู้เรื่องรู้ราว”

“ไม่ใช่ตาสีตาสาหรอก พ่อเขาเป็นนายตำรวจ ส่วนแม่เขาเป็นครูประชาบาล แต่เขาไม่เชื่อที่หลวงพ่อบอก พอลูกสาวตาย พากันมาร้องห่มร้องไห้ที่กุฏินี่ทั้งผัวและเมียเลย บอกรู้ยังงี้เชื่อหลวงพ่อก็ดีหรอก หลวงพ่อก็เลยตอบไปว่ามาเชื่อเอาตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะถึงยังไงลูกสาวก็ไม่ฟื้นคืนชีพมาอีกแล้ว แม่หนูคนนี้ก่อนตายเขาก็สร้างบ้านให้พ่อแม่หลังใหญ่เชียว สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ตอนสร้างใช้เงินไม่กี่หมื่น แต่ตอนนี้ราคาหลายแสน”

“แล้วเขาต้องไปตกนรกอีกไหมคะ”

“ไม่ตกแล้วหนู ก่อนตายเขาก็ไหว้พระสวดมนต์แล้วนั่งกรรมฐาน พ่อกับแม่ก็ไปทำงานแต่เช้า ก่อนไปเห็นลูกสาวนั่งสวดมนต์อยู่ในห้องพระก็ไม่ได้สังหรณ์ใจ ตกเย็นเลิกงานมาก็ยังเห็นลูกสาวนั่งอยู่ในห้องพระ จึงเข้าไปเรียก คิดว่า “เอ วันนี้อีหนูนั่งกรรมฐานนานจัง” ปรากฏว่าเรียกเท่าไหร่ ลูกสาวก็ไม่ยอมลืมตา เลยเข้าไปจับตัวดูจึงรู้ว่าตายเพราะตัวเย็นซีดเลย”

“ก็ไหนหลวงพ่อว่าเขาผูกคอตายไงคะ”

“ก็ผูกคอตายน่ะสิ คือเขานั่งอยู่ในห้องพระ แต่ก็ใช้ผ้าสไบเฉียงพันรอบคอเอาไว้” ก็พันหลวม ๆ นี่แหละ คือผูกคอตายพอเป็นพิธีว่างั้นเถอะ พวกชาวบ้านใกล้เคียงเขาเล่าให้พ่อแม่ของแม่หนูคนนี้ฟังว่าเขาเห็นคนแต่งชุดขาวเดินกันให้ขวักไขว่ไปหมด ยังคิดว่าที่บ้านมีงาน หนูรู้ไหมที่ชาวบ้านเขาเห็นนั้นก็คือพวกเทวดา แสดงว่าเทวดามารับเอาไป”

“แบบนี้ก็ไปสวรรค์ซีคะ”

“ถูกแล้ว ถ้าไปนรก ยมบาลจะมารับ คนอื่นจะไม่เห็น แต่คนที่กำลังจะตายเขาจะเห็น คือเห็นยมบาลน่ะ”

“แหม งั้นหนูก็โชคดีนะคะที่ไม่ได้ฆ่าตัวตาย ยิ่งกว่านั้นยังมาพบหลวงพ่อผู้เปี่ยมด้วยเมตตาอีก”

“ไม่ต้องยอหลวงพ่อหรอกหนู ไง ๆ หลวงพ่อก็ต้องช่วยหนูอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญที่สุด หนูจะต้องช่วยตัวหนูเองด้วย ต้องเพียรพยายามให้มากที่สุด แล้วหนูจะประสบความสำเร็จ อย่าลืมนะหนู พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า “บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” หญิงสาวคิดว่าท่านพระครูคงจะช่วยหล่อนด้วยการทำเสน่ห์ให้คนรักกลับมาหา จึงถามวิธีการที่ตนจะต้องปฏิบัติ

“แล้วหนูจะต้องทำอะไรบ้างคะหลวงพ่อ แล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสักเท่าไหร่”

“หนูก็ต้องทำตามที่หลวงพ่อแนะนำอย่างเคร่งครัด ส่วนค่าใช้จ่ายไม่ต้องเสียอะไรเลย แถมที่อยู่ที่กินก็ฟรีอีกด้วย อย่าคิดว่าหลวงพ่อจะทำเสน่ห์ให้นะหนู เรื่องเสน่ห์เล่ห์กลหลวงพ่อไม่ถนัด แล้วก็รู้ว่ามันไม่ใช่ทางที่จะแก้ปัญหา พวกที่ไปพึ่งหมอเสน่ห์มักจะถูกหลอกกันเสียมาก บางคนถึงกับเสียเนื้อเสียตัวให้”

“แล้วพวกหมอเสน่ห์บาปไหมคะ”

“บาปสิหนู ก็เขาทุกข์มาขอพึ่งแล้วยังจะไปทำให้เขาทุกข์หนักขึ้นไปอีก พวกนี้ตายไปต้องตกนรก”

“แล้ววิธีการของหลวงพ่อทำอย่างไรคะ”

“วิธีของหลวงพ่อนั้นต้องใช้ปัญญาแก้ปัญหา คนที่มีปัญญาจะต้องมาเข้ากรรมฐาน ฝึกจิตสงบปัญญาก็เกิด ก็ใช้ปัญญานั้นแก้ปัญหาได้ วิธีนี้ดีที่สุด ไม่เป็นพิษเป็นภัยและไม่ต้องเสียเงินเสียทอง แต่การปฏิบัติก็ไม่ง่ายนัก ผู้ปฏิบัติต้องอดทน ต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด ต้องตั้งจิตให้แน่วแน่ว่าเราจะทำให้ได้ จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามของตัวเรา หลวงพ่อช่วยได้เพียงให้คำแนะนำเท่านั้น ส่วนเรื่องปฏิบัติหนูต้องทำเอง หลวงพ่อจะเปรียบเทียบให้หนูเห็นง่าย ๆ คือ เวลานี้หนูเปรียบเสมือนคนไข้ที่มาให้หลวงพ่อรักษา หลวงพ่อเป็นหมอตรวจดูอาการแล้ว ก็รู้ว่าหนูเป็นโรคอะไร จะต้องให้ยาอะไรไปรับประทานจึงจะหาย เมื่อหมอเขาให้ยาแล้ว หน้าที่ของหนูก็คือต้องกินยาตามที่หมอแนะนำ ถ้าหนูไม่กินยาโรคก็ไม่หาย หมอเขาจะกินยาแทนหนูก็ไม่ได้จริงไหม”

“จริงค่ะ ถ้าอย่างนั้นหนูขอเข้ากรรมฐานวันนี้เลยนะคะ” หญิงสาวพูดอย่างปีติ รู้สึกว่า ความทุกข์ที่สุมแน่นอยู่ในอกนั้นถูกขจัดออกไปตั้งครึ่งตั้งค่อน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาพบพระใจดีมีเมตตาเช่นหลวงพ่อองค์นี้ คงเป็นบุญของหล่อนและลูกในท้องนั่นเอง

“ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวหลวงพ่อจะให้เจ้าขุนทองพาไปอยู่สำนักชี ตอนเย็นให้หัวหน้าแม่ชีเขาพามาขึ้นกรรมฐาน ปกติคนมาเข้ากรรมฐาน หลวงพ่อจะให้รับศีลแปด แต่สำหรับหนูหลวงพ่ออนุญาตให้เป็นกรณีพิเศษ คือให้รับแค่ศีลห้า จะได้ไม่กระทบกระเทือนลูกในท้อง ตอนเย็นหนูก็ไปทานอาหารที่โรงครัวได้”

“แล้วกี่วันถึงจะได้ผลคะหลวงพ่อ” หล่อนถาม ท่านพระครูอยากให้หล่อนสบายใจ จึงตอบไปตามที่ “เห็นหนอ” รายงาน

“อีกสิบห้าวัน หนูจำไว้เลยนะ กลับไปจดไว้ก็ได้ วันนี้วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ใช่ไหม นับต่อไปอีกสิบห้าวันซิถึงวันที่เท่าไหร่” หญิงสาวนับนิ้วมือขยุกขยิกอยู่นาน หากก็ไม่สามารถตอบท่านได้ เพราะไม่รู้ว่าปีนี้เดือนกุมภาพันธ์มีกี่วัน นายขุนทองซึ่งยอมรับว่าเป็นผู้แพ้และนั่งฟังอยู่อย่างสงบเสงี่ยม จึงลุกขึ้นไปเปิดดูปฏิทินที่แขวนอยู่ข้างฝา

“วันที่ ๔ มีนาคม ฮะหลวงลุง” เขาบอก

“วันที่ ๕ ต่างหาก ข้าบอกให้นับต่อไปอีกสิบห้าวัน ก็แปลว่าวันนี้ไม่ต้องนับ” ท่านพระครูพูดเรียบ ๆ หากนายขุนทองก็รู้สึกว่าวันนี้เขาพ่ายแพ้ท่านเป็นคำรบสองแล้ว ครั้นจะลุกออกไปล้างชามก็เกรงจะถูกดุให้ต้องขายหน้าอีก เพราะท่านเคยกำชับไว้ว่าหากมีสตรีเพศมานั่งคุยกับท่าน เขาจะต้องนั่งเป็นสักขีพยานจนกว่าผู้นั้นจะลากลับไป

“เอาละแม่หนู จำไว้นะว่า วันที่ ๕ มีนาคม คนรักของหนูเขาจะมารับหนูที่นี่ มารับไปแต่งงาน เอาละไปได้ ขุนทองพาแม่หนูไปฝากที่สำนักชี แล้วตอนเย็นให้แม่ชีพามาขึ้นกรรมฐานด้วย” ท่านสั่งนายขุนทอง หญิงสาวกราบท่านสามครั้งแล้ว จึงลุกตามนายขุนทองออกไป

“พี่ขุนทอง ประเดี๋ยวหนูต้องไปเอาเสื้อผ้าที่โรงครัวก่อน” หล่อนบอกเมื่อเห็นนายขุนทองมุ่งหน้าไปทางสำนักชี

“เออ แล้วเอ็งจะไปด่าเขาไหม”

“ด่าใคร” คนพูดลืมไปแล้ว

“ก็ด่าพวกแม่ครัวไง เมื่อกี้เอ็งบอกจะด่าให้เปิงน่ะ ตอนนี้เปลี่ยนใจหรือยัง” นางสาวเตยยังนึกไม่ออกจึงย้อนถามว่า

“ทำไมหนูต้องไปด่าเขาด้วยล่ะ ทำไม” หล่อนจำไม่ได้จริง ๆ

“โธ่เว้ย” นายขุนทองชักมีโมโห

“ก็ที่เอ็งหาว่าเขาไปบอกหลวงลุงเรื่องเอ็งท้องน่ะ เมื่อกี้เอ็งบอกจะด่าให้เปิงไง ข้าถามว่ายังคิดจะด่าเขาอีกหรือเปล่า เอ็งนี่คงเอาสมองหมาปัญญาควายมาแน่ ๆ เลย” เขาว่า

“อ้าว ไหงมาด่ากันง่าย ๆ ล่ะพี่” ถึงจะปัญญาน้อยด้วยความรู้ขนาดไหนก็รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งด่า ด่าซึ่ง ๆ หน้าเสียด้วย

“ก็จริงไหมล่ะ” คนด่ายังคงเถียง

“ฉันจะโง่หรือฉลาดมันก็ไม่เกี่ยวกับใคร เรื่องอะไรมาด่าฉัน ถือดียังไงฮึ” นางสาวเตยชักโกรธจึงเปลี่ยนสรรพนามจาก “หนู” มาเป็น “ฉัน”

“เปล่าหรอกน่า เอ็งอย่าทำโกรธไปเลย ก็ข้าถามเอ็งดี ๆ อยากทำไม่รู้เรื่องนี่นา” เห็นหญิงสาวโกรธ นายขุนทองจึงพูดกลบเกลื่อน

“อ๋อ หนูเพิ่งนึกได้ แหมหนูมันโง่จริง ๆ นั่นแหละ แล้วยังจะมาโกรธพี่อีก ขอโทษด้วยนะพี่นะ” นางสาวเตยขอลุแก่โทษเมื่อนึกขึ้นได้ว่าพูดอะไรเอาไว้

“เออ พูดยังงี้ค่อยรู้เรื่องกันหน่อย ตกลงเอ็งหาคำตอบให้ข้าได้หรือยังล่ะ”

“ได้แล้วจ้ะ หนูกำลังจะบอกพี่เดี๋ยวนี้ไงว่าหนูไม่ด่าพวกเขาแล้ว เพราะพวกเขาไม่ได้เอาเรื่องของหนูไปเล่าให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อท่านรู้เองเพาะท่านเป็นผู้วิเศษ แต่ถึงพวกเขาจะเอาไปบอกท่าน หนูก็จะไม่ด่า เพราะยังต้องฝากปากท้องไว้กับเขาอีกตั้งสิบห้าวัน ไปทำตัวเป็นศัตรูกับเขา มันก็ไม่สมควร จริงไหมล่ะพี่”

“จริง จริงที่สุดในโลก แหมเอ็งนี่ฉลาดรอบคอบดีจริง ๆ พับผ่าซี” คนที่ด่าอยู่หยก ๆ เปลี่ยนมาเป็นชม..

 

มีต่อ........๔๘

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #50 เมื่อ: เมษายน 23, 2007, 08:09:46 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00048
๔๘...

          วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ รัฐมนตรีและคุณหญิง พร้อมด้วยญาติมิตรและผู้ติดตาม ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ มาทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ที่วัดป่ามะม่วง

เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบลง มัคทายกก็นำกล่าวถวายข้าวพระพุทธและถวายสังฆทานตามลำดับ พระสงฆ์ฉันภัตตาหาร ที่เจ้าภาพช่วยกันประเคน

ท่านพระครูเพียงแต่นั่งพิจารณาอาหารเหมือนเช่นเคย เพราะท่านชินเสียแล้วกับการฉันเช้าเพียงมื้อเดียว บังเอิญเจ้าภาพลุกออกไปเดินชมวัด หลังจากประเคนภัตตาหารแล้ว จึงไม่มีผู้ใดมานั่งคะยั้นคะยอให้ท่านฉันเช่นทุกครั้งที่มีผู้มาถวายเพล

กระทั่งพระฉันเสร็จ รัฐมนตรีและคุณหญิงก็ยังไม่กลับเข้ามา ญาติมิตรและผู้ติดตามจึงต้องช่วยกันประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม หลังจากนั้น พระสงฆ์ “ยถา สัพพี” โดยที่เจ้าภาพไม่ได้กรวดน้ำและรับพร เพราะมัวไปเดินชมวัดกันเพลิน ส่วนพวกที่ยังอยู่บนศาลา ก็พากันนั่งประนมมือคุยกันประจ๋อประแจ๋ อย่างคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะ

เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนึกตำหนิในใจว่าไม่ได้เรื่องพอ ๆ กัน ทั้งผู้นำและผู้ตาม แล้วก็เลยคิดไปถึงคนส่วนใหญ่ในสังคมยุคนี้ ว่าต่างพากันห่างเหินศาสนาออกไปทุกที แต่จะว่าคฤหัสถ์ข้างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะพระสงฆ์องค์เจ้าเองก็มีส่วนทำให้คนไม่เลื่อมใสศรัทธาเท่าที่ควร ส่วนคนที่มีศรัทธาปสาทะ ซึ่งพอจะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็กลับขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง เช่นรัฐมนตรีและคุณหญิงคู่นี้ ที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาทำบุญ แต่กลับไม่ได้บุญเพราะมัวไปเดินชมนกชมไม้กันเสีย

ท่านพระครูตัดสินใจแล้วว่า ท่านจะต้อง “ผ่าตัด” คนเป็นรัฐมนตรี ด้วยการฝึกให้เขาได้รู้จักกับสิ่งที่ “ถูกต้อง” เสียบ้าง มิใช่จะรู้แต่สิ่งที่ “ถูกใจ” เท่านั้น บุคคลทั้งสองกลับเข้ามานั่งในศาลาอีกครั้งเมื่อพระให้พรจบพอดี สงฆ์รูปอื่น ๆ กราบพระพุทธรูปแล้วลุกออกไป คงเหลือแต่ท่านพระครูรูปเดียว

“ขอเชิญรับประทานอาหารกันก่อน ประเดี๋ยวอาตมาจะเทศน์นอกธรรมาสน์ให้ฟัง” ท่านเชื้อเชิญพวกเขา เพราะคนที่จะฟังเทศน์รู้เรื่องดีนั้นต้องให้ท้องอิ่มเสียก่อน

“วันนี้หลวงพ่อไม่มีธุระไปไหนหรือครับ” รัฐมนตรีถาม

“บ่ายสองอาตมาต้องไปงานเผาศพคนรู้จัก” ท่านตอบ

“ที่ไหนครับหลวงพ่อ”

“ที่จังหวัด แต่ยังไม่รู้เลยว่าวัดไหน คงต้องไปที่บ้านเขาก่อน ตอนแรกเห็นว่าจะเอาศพมาไว้ที่วัดนี้ แล้วยังไงจึงเปลี่ยนใจเสียก็ไม่ทราบ” ท่านหมายถึงศพของเจ๊นวลศรี

“หลวงพ่อทราบหรือครับ” รัฐมนตรีนึกตำหนิเจ้าภาพ

“เขาคงยุ่งกระมัง พอดีอาตมาไม่สนิทสนมกับเจ้าภาพเท่าไหร่ แต่กับคนตาย คุ้นเคยกัน ก็เลยต้องไปเผาเขาหน่อย” ท่านตอบเป็นกลาง ๆ

เมื่อคณะของรัฐมนตรีรับประทานอาหารกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงเริ่มต้น “เทศน์”

“กับข้าววัดป่ามะม่วงรสชาติเป็นอย่างไรบ้าง พอจะทานกันได้หรือเปล่า” ท่านอารัมภบท อาหารคาวหวานมื้อนี้เป็นฝีมือของแม่ครัววัดป่ามะม่วง เจ้าภาพเพียงแต่นำเงินมาจ่ายตามราคาที่ซื้อของมา ซึ่งคนจ่ายกับข้าวก็จะจดรายการมาให้อย่างละเอียดว่าได้จ่ายอะไรไปบ้าง ส่วนปัจจัยไทยธรรม เจ้าภาพเตรียมมาเอง

“อร่อยมากค่ะหลวงพ่อ” คุณหญิงตอบ เธอเองก็นึกไม่ถึงว่าอาหาร “วัดบ้านนอก” จะเอร็ดอร่อยถึงปานนี้ จะว่าเป็นเพราะกำลังหิวก็คงไม่ใช่เพราะอาหารบางอย่าง ต่อให้หิวยังไงก็ยังรู้สึกว่ามันไม่อร่อยอยู่นั่นเอง

“ถ้าอย่างนั้นก็มาทานบ่อย ๆ นะ ใครทานข้าววัดนี้แล้วรวยทุกคน” บรรดาคณะผู้ติดตามต่างพากันหัวเราะคิกคักด้วยรู้สึกขำ

“อ้าว อย่าหัวเราะนา นี่อาตมาพูดจริง ๆ ไม่ได้พูดเล่น ใครมาทานข้าววัดนี้ กลับไปรวยทุกคน” คุณหญิงซึ่งรวยอยู่แล้ว แต่อยากรวยให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้จึงว่า

“ถ้าอย่างนั้นดิฉันเห็นจะต้องมาถวายเพลอีกแล้วละค่ะ” ภรรยาหมายเลขหนึ่งของรัฐมนตรีคิด “ลงทุน” เพื่อหวังกำไร

“ไม่ต้องมาถวายเพลก็ได้ ถ้าอยากจะทานอาหารวัดป่ามะม่วงก็เชิญได้ทุกเวลา อาตมาสั่งพวกแม่ครัวเขาไว้แล้วว่าให้ทำสุดฝีมือทุกวัน กับข้าววัดนี้ก็เลยอร่อยทุกวัน คุณหญิงอยากรู้เคล็ดลับในการทำอาหารให้อร่อยไหมล่ะ อาตมาจะบอกให้”

“อยากค่ะ” คุณหญิงตอบ บรรดาผู้ติดตามที่เป็นสตรีก็พากันอยากรู้ ท่านพระครูจึงบอกเคล็ดลับว่า

“การจะทำอาหารให้อร่อย ก็ต้องตั้งสติให้ดี ทำใจให้ปลอดโปร่ง ถ้าใจดีอย่างเดียว อะไร ๆ มันก็ดีหมด ทำกับข้าวก็อร่อยโดยไม่ต้องใช้ผงชูรส ชื่ออะไรนะที่เขาเรียก โนะ ๆ โต๊ะ ๆ น่ะ”

“อายิโนะโมะโต๊ะค่ะ” คุณหญิงบอกชื่อผงชูรสยี่ห้อหนึ่งที่ผลิตโดยคนญี่ปุ่น แต่ชาวญี่ปุ่นเขาไม่นิยมใช้กัน

“นั่นแหละ ๆ วัดนี้ไม่ต้องใช้โต๊ะที่ว่านั่น ใช้แต่โต๊ะสำหรับนั่งกินข้าว” คนฟังพากันหัวเราะชอบใจที่ท่านช่างมีอารมณ์ขัน

“ท่านรัฐมนตรีเคยผ่าตัดบ้างหรือเปล่า” เห็นทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสกันถ้วนหน้าแล้ว ท่านจึงเริ่มเรื่อง

“ไม่เคยครับหลวงพ่อ” รัฐมนตรีรู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดท่านจึงถามอย่างนี้ หรือว่าเขามีเคราะห์

“แล้วอยากไหม อยากให้หมอผ่าตัดไหม”

“ไม่อยากครับ ผมตังความปรารถนาไว้เลยว่าอย่าให้เจอะให้เจอเป็นอันขาด ผมกลัวครับ”

“งั้นหรือ แต่ถ้าสมมุตินะ สมมุติว่าท่านจะต้องถูกผ่าตัด ถ้าไม่ผ่าตัดก็ต้องเสียชีวิต ท่านจะเลือกเอาอย่างไหน”

“ก็คงต้องเลือกผ่าตัดแหละครับ ถ้ามันไม่มีทางอื่นที่ดีกว่าให้เลือก”

“เอาละ ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็จะสมมุติต่อนะ สมมุติว่าอาตมาเป็นหมอ ท่านเป็นคนไข้อาการหนักจะต้องผ่าตัดจึงจะหาย มิฉะนั้นก็ต้องเสียชีวิต ท่านจะยอมให้อาตมาผ่าตัดหรือเปล่า”

“ยอมครับ” รัฐมนตรีตอบ หากใจแอบคิดว่า “หลวงพ่อจะมาไม่ไหนกันหนอนี่ ยังไง ๆ ก็คงไม่บอกคุณหญิงต่อหน้าเราเรื่องที่เรามีอีหนูหรอกนะ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของพระของเจ้า”

“ไม่ต้องกลัว อาตมาจะไม่พูดเรื่องที่ท่านกำลังคิดอยู่นั่นหรอก เพราะมันเป็นเรื่องของท่านคนเดียว แต่เรื่องที่อาตมาจะพูดนี่มันเกี่ยวกับคนอื่น ๆ ด้วย ท่านสบายใจได้” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง พูดอย่างหยั่งรู้ความคิดของอีกฝ่าย

“ถ้าอย่างนั้นกระผมนิมนต์ท่านลงมือได้เลยครับ” รัฐมนตรีพูดอย่างโล่งใจ ท่านพระครูจึงพูดเป็นงานเป็นการว่า

“เจริญพาท่านรัฐมนตรี คุณหญิงและญาติโยมทุกท่านที่นั่งอยู่ในศาลาแห่งนี้ อาตมาซาบซึ้งใจยิ่งนักที่ท่านรัฐมนตรีและคณะได้มีจิตศรัทธาพากันมาถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรแห่งวัดป่ามะม่วงในวันนี้ นับว่าทุกท่านมีจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศลน่าสรรเสริญ แต่ก็น่าเสียดายที่พวกท่านอุตส่าห์มาทำบุญแต่กลับไม่ได้บุญ”

“ทำไมถึงเป็นเช่นนี้เล่าครับ” รัฐมนตรีถาม

“อาตมาก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านทั้งหลายต้องถามตัวเอง ไม่ใช่ถามอาตมา” ผู้ติดตามคนหนึ่งอยากทราบเหตุผล จึงพูดขึ้นว่า

“พระเดชพระคุณหลวงพ่อขอรับ กระผมเป็นข้าราชการจึงรู้แต่เรื่องราชการงานเมือง ส่วนเรื่องบุญกุศลไม่ค่อยจะรู้สักเท่าไหร่ จึงขออาราธนาพระเดชพระคุณหลวงพ่อช่วยเมตตาแนะนำสั่งสอนกระผมและพวกพ้องด้วยเถิดครับ” ท่านพระครูนึกในใจว่า “เอ คนนี้พูดเข้าที ท่าทางคงจะไปได้ไกล” แล้วจึงอธิบายให้พวกเขาฟังว่า

“การทำบุญที่ไม่ได้บุญ คือ การทำบุญที่ไม่รู้ตัวเจตนา หรือ ที่เรียกว่า ทำบุญเอาหน้าสักแต่ว่ามีศรัทธา แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง เจตนาก็คือ ความตั้งใจบำเพ็ญบุญ ซึ่งต้องกระทำให้ครบถ้วนกระบวนการ ยกตัวอย่างการทำบุญที่ผ่านไปเมื่อครู่นี้ อาตมามองเห็นแล้วว่า ท่านทั้งหลายมีแต่ศรัทธาเท่านั้น ทว่าไม่มีความตั้งใจบำเพ็ญบุญ ต้องขอตำหนิกันตรง ๆ อย่างนี้แหละ ท่านรัฐมนตรีจะโกรธก็ตามใจ อาตมาพูดด้วยความหวังดี”

“ผมไม่โกรธหลวงพ่อหรอกครับ” รัฐมนตรีพูดออกตัว ไม่โกรธหากก็ไม่พอใจ เพราะตั้งแต่เป็นรัฐมนตรียังไม่เคยมีผู้ใดกล้ามาตำหนิเช่นนี้ มีแต่เขายกย่องสรรเสริญ

“แต่ถึงจะโกรธ อาตมาก็ไม่ว่าหรอกนะ ยอมให้โกรธ เพราะสิ่งที่อาตมาพูดนี้จะไปเป็นประโยชน์ต่อท่านนายภาคหน้า” ท่านหยุดเว้นระยะนิดหนึ่งแล้วจึงพูดต่อ

“การที่ท่านกับคุณหญิงลุกออกไปเดินเล่นทั้งที่พิธีกรรมยังไม่เสร็จสิ้นนั้น นับว่าท่านเสียประโยชน์อย่างมหาศาล ท่านทิ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาช่วยกันถวายปัจจัยไทยธรรม แทนที่จะประเคนเองในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าภาพ และเมื่อพระสงฆ์ “ยถา สัพพี” ท่านจึงไม่ได้กรวดน้ำและรับพร ที่ท่านจะต้องอยู่ เมื่อพระว่า “ยถา” ท่านต้องอุทิศส่วนกุศลไปให้เปตชนหรือพวกเปรตที่เขาพากันมาคอยรับส่วนบุญ”

“เปรตมีจริงหรือครับ” ผู้ติดตามคนหนึ่งถาม

“มีสิโยม คนที่ตายขณะที่จิตมีโลภะ จะไปเกิดเป็นเปรต แล้วคนสมัยนี้ก็ไปเกิดเป็นเปรตกันมาก อย่าว่าแต่คนเลย พระเองก็เถอะ อาตมาเห็นไปเกิดเป็นเปรตหลายรูปแล้ว”

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายวัดเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา พวกญาติ ๆ ของพระองค์ที่ไปเกิดเป็นเปรตก็พากันมาขอส่วนบุญ”

“หรือคะ แหมดิฉันคิดว่า ตัวพระเจ้าพิมพิสารไปเกิดเป็นเปรตเสียอีก” คุณหญิงพูดขึ้น จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า พระรูปหนึ่งเล่าให้ฟังอย่างนี้

“พระองค์ไม่ได้เกิดเป็นเปรตหรอกคุณหญิง ตอนที่พระองค์สวรรคต ทรงได้โสดาปัตติผลแล้ว คนเป็นพระโสดาบัน จะตัดอบายภูมิได้ ไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน อย่างแน่นอน และเพราะเปรตมีจริง เวลาทำบุญเราจึงต้องอุทิศส่วนกุศลไปให้พวกเขา อาตมามักสอนญาติโยมไว้เสมอ ๆ ว่า “ยถาให้ผี สัพพีให้คน” เพราะเมื่ออุทิศให้พวกเปตชนเสร็จ พระท่านก็จะให้พรคนด้วยการขึ้นว่า “สัพพีติโย วิวัชชันตุ” เมื่อพระว่าดังนี้ เราจะต้องประนมมือขึ้นรับพรจากพระ บางคนพระขึ้นสัพพีแล้วยังกรดน้ำอยู่เลย ทำอย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง คนที่รู้เขาจะตำหนิติเตียนเอาได้ อาตมาเคยเห็นบ่อย โดยเฉพาะพวกคนใหญ่คนโตทั้งหลาย”

“รวมทั้งผมด้วยครับ” รัฐมนตรียอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน เพิ่งรู้ในสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน

“ก็นี่แหละ อาตมาก็ตั้งใจจะบอกท่านอยู่นี่ คราวหน้าคราวหลังจะได้ทำให้ถูกต้อง พวกญาติโยมก็เหมือนกัน” ท่านว่าบรรดาญาติมิตรและคณะผู้ติดตาม

“เวลาที่พระให้พร แทนที่จะตั้งใจรับพร กลับนั่งคุยกันเสียงอึงคะนึงแข่งกับเสียงพระสวด แล้วอย่างนี้จะไปได้บุญอะไร จริงไหม” ท่านถามสตรีผู้หนึ่ง

“จริงค่ะ” สตรีผู้นั้นตอบอย่างสำนึกผิด หล่อนคิดว่าต่อแต่นี้ไปจะไม่ทำเช่นนี้อีก นี่หากท่านไม่บอกหล่อนก็คงไม่รู้ จึงนึกขอบคุณท่านอยู่ในใจ คิดว่าจะต้องนำสิ่งดี ๆ เหล่านี้ไปสอนลูก สอนหลานให้รู้บ้าง

“โยมเชื่อไหมว่า คนที่ทำบุญเป็นล้าน ๆ แต่พอตายไปกลับไปตกนรก”

“แบบนี้ก็ทำดีได้ชั่วซีคะหลวงพ่อ” คุณหญิงขัดขึ้น

“ไม่ใช่หรอกคุณหญิง ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว อันนี้เป็นสัจธรรม”

“คนที่ทำบุญเป็นล้าน ๆ ไม่เรียกว่าทำดีหรือคะหลวงพ่อ แหมดิฉันชักงงแล้วนะคะ หลวงพ่อกรุณาอธิบายด้วยเถิดค่ะ”

“อาตมาก็กำลังจะอธิบายอยู่พอดีญาติโยมทั้งหลาย การที่เราทำบุญไม่ได้บุญนั้นเป็นเพราะเราขาดเจตนา คือ ไม่ได้ตั้งใจอย่างแท้จริง สักแต่ว่าทำตาม ๆ คนอื่นเขาที่เรียกว่าทำบุญเอาหน้า บางคนบริจาคเป็นล้านแต่ได้บุญน้อยกว่าคนที่บริจาคสิบบาท เพราะคนหลังเขาเจตนาแรงกว่า ตัวเจตนานี่สำคัญที่สุดนะโยม เจตนาก็คือใจ

พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า เจตนาหรือใจนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการกระทำกรรม ดังมีพุทธพจน์รับรองว่า

“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลใดมีใจอันโทสะประทุษร้ายแล้วกล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท่าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ฉะนั้น.... ถ้าบุคคลใดมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริต ๓ อย่าง เหมือนเงามีปกติไปตามฉะนั้น...”  ญาติโยมเห็นแล้วใช่ไหมว่า เจตนาหรือใจนั้นสำคัญมาก คนทำบุญเป็นล้าน ๆ แล้วตายไปตกนรกก็เพราะขาดเจตนาในการบำเพ็ญบุญ และตัวเขาก็ยังประกอบด้วยทุจริต ๓ อย่าง ไหนโยมผู้ชายลองบอกอาตมามาสักคนหนึ่งซิว่า ทุจริต ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง” ท่านไม่ถามรัฐมนตรีตรง ๆ เพราะรู้ว่าฝ่ายนั้นต้อบไม่ได้ บรรดา “โยมผู้ชาย” ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นพากันปิดปากเงียบ ท่านจึงถามโยมผู้หญิง หากก็ไม่มีผู้ใดตอบอีกเช่นกัน ท่านจึงตอบเสียเองว่า

“ทุจริต ๓ อย่างคือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ถ้าใครมีทุจริต ๓ อย่างนี้ ต่อให้ทำบุญอีกร้อยล้านก็ไปตกนรกได้”

“หมายความว่าการทำทานที่ปราศจากศีล ไม่ได้บุญใช่ไหมครับ” รัฐมนตรีเริ่มจะเข้าใจขึ้นมาบ้าง

“ถูกแล้ว ถ้าเรามีเงินมาก ทำทานเป็นล้าน ๆ แต่ไม่มีศีลสักข้อเดียว ท่านที่ทำนั้นก็เป็นหมัน ไม่ได้บุญแล้วก็ยังต้องไปตกนรกอีก สมมุติว่ามีเศรษฐีคนหนึ่ง บริจาคทานทุกวัน วันละหลายหมื่น แต่เขาก็ยังฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด และดื่มสุราเมรัย แบบนี้เขาตายไปต้องไปตกนรก”

บรรดาผู้ที่นั่งอยู่ในศาลาพากันสะดุ้งสะเทือนเมื่อท่านพูดถึง “ศีล” ต่างสำรวจตรวจสอบตัวเองว่าขาดไปกี่ข้อ คนที่มีจิตใจยุติธรรม สำรวจตัวเองอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องยอมรับว่าตัวเขานั้นไม่มีศีลเลยสักข้อเดียว คนเป็นรัฐมนตรีสะดุ้งกับข้อ “ประพฤติผิดในกาม” มากที่สุด ท่านพระครูเทศน์ต่อไปอีกว่า

“ศีลเป็นเจตนาเหมือนกัน คือ เราต้องมีเจตนาว่าเราจะต้องไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเรามีศีลครบทั้งห้าข้อ เราก็ได้บุญแล้ว ได้มากว่าการบริจาคทานเสียอีก”

“หลวงพ่อครับ ถ้าอย่างนี้คนที่ถือศีลอย่างเคร่งครัด แต่เขาไม่เคยบริจาคทานก็ได้บุญมากกว่าคนที่บริจาคทานแต่ไม่มีศีลใช่ไหมครับ” ผู้ติดตามที่ท่านพระครูคิดว่า “ท่าทางจะไปได้ไกล” ถามขึ้น

“ถูกแล้ว แต่ถ้าจะให้ได้บุญมากที่สุดต้องให้ได้ครบทั้ง ทาน ศีล ภาวนา ที่เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ ๓ ถ้าใครทำได้อย่างนี้ถือว่าได้บุญมากที่สุด”

“ภาวนาคืออะไรครับ หลวงพ่อพูดถึงทานและศีล ผมพอจะเข้าใจ แต่ภาวนาผมไม่เข้าใจครับว่าคืออะไร” รัฐมนตรีถาม

“ภาวนาคือการฝึกอบรมจิต เช่น การเจริญสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นต้น อาตมาเรียกสั้น ๆ ว่า กรรมฐาน” คำอธิบายของท่านพระครูทำให้คนเป็นรัฐมนตรีงุนงงหนักขึ้น เพราะจิตไม่เคยได้ “สัมผัส” สิ่งที่เป็นนามธรรม รู้จัก แต่รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสที่น่าใคร่น่าพอใจเท่านั้น

“กรรมฐานคืออะไรครับหลวงพ่อ” เขาถามอีก

 “ถ้าท่านรัฐมนตรีอยากรู้จักกรรมฐาน ก็ต้องมาอยู่กับอาตมาสักเจ็ดวัน มาเข้ากรรมฐานแล้วท่านจะรู้เองว่า กรรมฐานคืออะไร ถ้าให้อาตมาอธิบายด้วยคำพูด ท่านก็จะยิ่งสงสัยใหญ่ ของอย่างนี้ต้องลงมือปฏิบัติถึงจะซาบซึ้ง มาได้ไหมเล่า เจ็ดวันเท่านั้นเอง”

“คงไม่ได้หรอกครับหลวงพ่อ งานยุ่งมากคงปลีกเวลามาไม่ได้” เขาเอางานบังหน้า หากแท้จริงแล้วห่วงใยสาวน้อยหน้าอ่อนคนนั้นมากกว่า กำลังคลั่งไคล้ใหลหลง ไม่อยากจะพรากหล่อนไปแม้ราตรีเดียว

“แต่ถ้าท่านตั้งใจที่จะมาจริง ๆ อาตมาก็ว่าท่านมาได้ แต่เอาเถอะ ไม่เป็นไรหรอก “ลางเนื้อชอบลางยา” เรื่องอย่างนี้บังคับเคี่ยวเข็ญกันไม่ได้ บางคนนะอาตมาเห็นว่าเขาต้องเสียชีวิต แต่ถ้ามาเข้ากรรมฐานเขามีทางรอดถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ก็ชวนเขามาเข้าแต่เขาก็ไม่ยอมมา ก็เลยต้องกลับบ้านเก่า”

“แล้วผมมีเคราะห์หรือเปล่าครับหลวงพ่อ หากผมต้องเป็นอย่างนั้นบ้าง ผมก็จะปลีกเวลามาเข้ากรรมฐาน” รัฐมนตรีพูดอย่างกลัว ๆ หากเขาตายลงในตอนนี้ แม่หนูหน้าหวานเนื้อนุ่มคนนั้นจะอยู่กับใคร

“ไม่มีหรอก ท่านอย่าตกใจ เอาไว้มีอาตมาค่อยบอกให้รู้ นะคุณหญิงนะ” ท่านหันไปพยักพเยิดกับคุณหญิง

“ค่ะหลวงพ่อ” ภรรยารัฐมนตรีเอออวย

“หลวงพ่อคะ เทวดามีจริงไหมคะ” ภรรยาของผู้ติดตามคนหนึ่งถามขึ้น

“ถ้าอยากรู้ว่ามีจริงหรือไม่ วันหน้าต้องมาคุยกันใหม่ ขืนคุยวันนี้อาตมาคงไม่ได้ไปเผาศพเพราะเรื่องมันยาว วันหน้ามาใหม่นะโยมนะ”

“ค่ะ หนูจะมาขอเข้ากรรมฐานด้วยค่ะ” หล่อนพูดด้วยศรัทธาที่เปี่ยมล้น ไปวัดไหน ๆ ก็ไม่เคยศรัทธามากหมายเหมือนมาวัดนี้ “รู้อย่างนี้น่าจะมาเสียตั้งนานแล้ว” หล่อนนึกเสียดายอยู่ในใจ...

 

มีต่อ........๔๙

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #51 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 06:28:28 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00049
๔๙...

          กว่าพระครูจะออกจากวัดเพื่อไปงานเผาศพ ก็เลยเวลาที่กำหนดไว้กว่าครึ่งชั่วโมง ทั้งนี้เพราะรัฐมนตรีและคณะได้เกิดความสนใจใคร่ธรรม จึงพากันชวนท่านคุย จนนานสมชายต้องมากระซิบเตือน พร้อมทั้งนำรถมาจอดรอที่หน้าบันไดศาลา

          “อาตมาต้องขอตัวก่อน เขามาตามแล้ว” ท่านบอกพวกเขาแล้วลุกออกมาขึ้นรถ ผู้ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นจึงพากันกราบท่านสามครั้งแล้วเตรียมตัวกลับ

          “ผ้าไตรเอามาหรือยัง” ท่านถามคนขับรถ

          “เอามาแล้วครับ” นายสมชายตอบ แล้วพูดต่อไปว่า

          “หลวงพ่อครับ สมมุติถ้าเกิดผมลืมเอาผ้าไตรมา แล้วก็ไปนึกได้เอาตอนที่ใกล้จะถึงบ้านงานแล้ว หลวงพ่อจะให้ผมย้อนกลับไปเอาที่วัดไหมครับ”

          “คิดเอาเอง”

          “คิดไม่ออกน่ะครับ หลวงพ่อช่วยผมคิดหน่อย”

          “คนอย่างฉันคิดหน่อยไม่เป็น ทำอะไรต้องคิดมาก ๆ ฉันถือคติว่าคิดมากมักผิดน้อย แต่ถ้าคิดน้อยมักผิดมาก คนเราจะทำอะไรต้องคิดให้มาก ๆ ไว้ก่อน แล้วจึงทำ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง คิดมาในที่นี่ก็คือคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่คิดมากจนเป็นโรคประสาท” ท่านรู้ว่าคนเป็นศิษย์กำลังจะโต้แย้งจึงกล่าวแก้ไว้เสร็จสรรพ

          “แหม หลวงพ่อของผมช่างฉลาดรอบคอบเหลือเกิน ผมดีใจที่ไดอยู่ใกล้คนฉลาดอย่างหลวงพ่อ” เขาแกล้งยอ

          “ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองฉลาดไม่เหมือนบางคนที่ชอบคิดว่าตัวเองฉลาดอยู่เรื่อย”

          “หลวงพ่อว่าผมหรือครับ”

          “คิดเอาเอง นายสมชายจึงต้องนั่งคิดไปตลอดทางกระทั่งรถมาจอดที่หน้าร้าน “เน้ยโภชนา” จึงเลิกคิด

          “นิมนต์ครับหลงพ่อ นิมนต์ข้างในเลย” นายฮิมเดินเข้ามารับถึงรถ พร้อมนิมนต์เข้าร้านซึ่งเปิดขายอาหารตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเห็นหน้าเจ้าของร้าน ก็รู้ว่าอีกสามวันเขาจะเสียชีวิตเพราะหมดอายุ ท่านรู้สึกสงสารหากก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะชวนเขาไปเข้ากรรมฐาน เขาก็ปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่มีเวลา เข้าไปนั่งในร้านแล้วจึงพูดว่า

          “เถ้าแก่ อาตมาขอเตือนนะ อยากให้เถ้าแก่พัก ๆ งานเสียบ้าง มัวยุ่งกับงานก็ไม่มีเวลาพักผ่อน นี่อาตมาจะบอกอะไรให้ เถ้าแก่สวดมนต์นะ สวดอิติปิโสทุกเวลาได้ไหม ทำอะไรก็สวดไปด้วย กี่จบก็ไม่ต้องไปนับ ขอให้สวดตลอดเวลาก็แล้วกัน ทำได้ไหม”

          “ผมสวดไม่เป็นครับหลงพ่อ”

          “ไม่เป็นไร เดี๋ยวอาตมาจะจดให้ สวดไม่เป็นก็อ่านเอา อ่านแล้วก็ท่องไม่มากหรอก แค่สามบรรทัดเอง” แล้วท่านก็ล้วงลงไปในย่าม หยิบกระดาษและปากกาขึ้นมาเขียนบทสวดพุทธคุณส่งให้นายฮิม ฝ่ายนั้นรับมาอ่านทีละคำ ๆ อย่างยากเย็น

            “อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ วิชชา จะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา ติ” อ่านจบก็โอดครวญว่า

          “อ่านยากจังครับหลงพ่อ”

          “ไม่ยากหรอก เถ้าแก่อ่านถูกทุกตัวเลย อ่านซ้ำหลาย ๆ หนก็จะจำได้เอง เริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลยนะ” ท่านแนะ “ทางสวรรค์” ให้ เพราะหากนายฮิมสวดพุทธคุณอยู่ตลอดเวลา จิตก็อาจเป็นสมาธิได้ เมื่อเขาดับจิตลงในขณะที่จิตผ่องใส สุคติย่อมเป็นที่หมาย ท่านช่วยเขาได้เพียงเท่านี้

            “แล้วทำไมไม่เอาศพไปไว้ที่วัดป่ามะม่วงล่ะ แล้วนี่จะเผากันที่วัดไหน” ท่านกลับมาพูดเรื่องศพเจ๊นวลศรี

          “แม่แกไม่ตายหรอกครับ หลงพ่อ” นายฮิมบอก

          “อ้าว ทำไมถึงเป็นยังงั้นไปได้ ก็อาตมากับเจ๊ก็รู้ตรงกันนี่นาว่าวันที่ ๑๗ เขาจะไปแล้ว” ท่านนึกสงสัยแล้วก็ให้นึกไปถึงคำพูดของนายสมชายเมื่อสามสี่วันก่อนที่ว่า “ถึงคราวแล้วแต่ไม่ตาย หรือตายทั้งที่ยังไม่ถึงคราว”

          “ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับหลงพ่อ” นายฮิมว่า เขายิ่งนึกไม่เชื่อถือทั้งแม่ยาย ทั้งหลวงพ่อที่ทำเป็นรู้ว่าวันนั้นวันนี้จะตาย ที่แท้ก็เพ้อเจ้อทั้งเพ คนที่เก่งแต่เรื่องทำมาหากิน แต่เรื่องธรรมะไม่กระเตื้องเลยนั้น ก็ต้องคิดอย่างนายฮิมทุกคน นักปฏิบัติธรรมเท่านั้นจึงจะรู้ว่าทุกสิ่งเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้มิได้

          “แล้วตอนนี้เขายังอยู่ข้างบนหรือเปล่า อาตมาขอขึ้นไปเยี่ยมได้ไหม” ท่านขออนุญาตเจ้าของบ้าน

          “ไปอยู่โรงพยาบาลศิริราชแล้วครับหลงพ่อ ผมเหมารถพาไปตั้งแต่เช้าวันที่ ๑๗ เห็นหมอเขาว่าจะผ่าตัดให้ ไม่รู้อะไรกันนักหนา ทีก่อนหน้านี้ไม่มีโรงพยาบาลไหนรับสักแห่งเดียว ทั้งจุฬาฯ รามา ศิริราช ไม่ยอมรับเลย บอกแต่ว่าให้กลับไปตายที่บ้าน บอกผมนะครับ ไม่ได้บอกแม่โดยตรง แต่แม่แกก็รู้เลยให้พากลับบ้าน แล้วนี่ก็ให้พาไปศิริราชอีก ผมบอกเดี๋ยวหมอเขาก็ไล่กลับมาอีกหรอก แกก็ว่าไม่ไล่หรอกน่า แล้วเขาก็ไม่ไล่จริง ๆ เห็นว่า วันที่ ๑๙ จะผ่าตัดให้ มันก็แปลกอยู่เหมือนกันนะครับหลงพ่อ นี่ผมก็ต้องมาคุมลูกน้องขายอาหาร ส่วนอาเน้ยและลูก ๆ เขาเฝ้าไข้อยู่ทางโน้น” ลูกเขยเจ๊นวลศรีรายงาน

          “เอ แปลกจริง ๆ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นไปได้ เอาละ ถ้าอย่างนั้นอาตมาเห็นจะต้องขอลา จะไปเยี่ยมเขาหน่อย อยู่ตึกอะไรล่ะ”

          “ตึกอะไรผมก็จำไม่ได้เสียแล้วละครับ หลงพ่อไปถามประชาสัมพันธ์ก็แล้วกัน จะไปวันนี้เลยหรือครับ”

          “ใช่ ไปเดี๋ยวนี้เลยเชียวแหละ อาตมาเป็นคนใจร้อน อยากจะรู้เรื่องเร็ว ๆ ว่าทำไมมันถึงเป็นยังงั้นไปได้ อาตมาลาละนะ”

          “ครับ นิมนต์ครับ” นายฮิมเดินไปส่งท่านถึงรถ นายสมชายยกมือไหว้นายฮิมพร้อมเอ่ยปากลา

          “หลวงพ่อท่านสอนไว้ว่าคนดีมีสัมมาคารวะนั้นเขาต้อง “ไปลา มาไหว้” ก็ต้องเชื่อท่าน” เขานึกในใจ

          “เดี๋ยวแวะเติมน้ำมันที่ปั้มข้างหน้านั่นหน่อย เติมเต็มถังเลย” ท่านสั่งคนขับรถ

          “ถ้าเต็มถังมันก็ไม่หน่อยแล้วละครับหลวงพ่อ” ชายหนุ่มอดยั่วไม่ได้

          “ปลาหมอตายเพราะปาก” ท่านพระครูพูดลอย ๆ

          “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” ลูกศิษย์วัดพูดลอย ๆ เช่นกัน เติมน้ำมันเรียบร้อยแล้วเขาจึงพูดอีกว่า

          “หลวงพ่อครับ ตั้งแต่ผมรู้จักหลวงพ่อมา ผมยังไม่เคยเห็นว่าหลวงพ่อพูดอะไรแล้วไม่จริงเลยสักครั้ง เพิ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เหตุการณ์มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่หลวงพ่อพูด ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นล่ะครับ ใคร ๆ เขาก็ว่าหลวงพ่อปากศักดิ์สิทธิ์ แต่คราวนี้ไหงมากลับกลายเป็นอื่นไปเสียได้”

          “มันก็แปลกนะสมชาย ฉันเองก็ยังงงอยู่เหมือนกัน”

          “หรือว่า “เห็นหนอ” ของหลวงพ่อหมดสมรรถภาพเสียแล้ว”

            “เป็นไปไม่ได้ มันจะต้องมีอะไรสักอย่างอย่างแน่นอน เพียงแต่ฉันยังไม่รู้เท่านั้นว่าอะไรที่ว่านั้นมันคืออะไร”

          “โอ๊ย หลวงพ่อครับ น้อย ๆ หน่อยครับ พูดวกวนจนผมเวียนหัวแล้ว อะไร ๆ ของหลวงพ่อน่ะ มันคืออะไรเล่าครับ”

          “ก็เพราะยังไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรน่ะซี ฉันถึงยังไม่มีอะไรมาตอบเธอ” ท่านพระครูตั้งใจยั่ว

          “แล้วไปถึงโรงพยาบาลจะรู้ไหมครับนี่”

          “ก็ยังไม่รู้ว่าจะรู้หรือเปล่าเพราะยังไม่รู้อะไร”

          “อะไรอีกแล้ว หลวงพ่อครับ ผมขอซื้อเถอะ”

          “ซื้ออะไร เธอจะซื้ออะไรหรือ”

          “ก็ซื้ออะไรนั่นแหละครับ”

          “ซื้อเท่าไหร่ ซื้อไปทำอะไร”

          “ซื้อไปเก็บไว้ หลวงพ่อจะขายเท่าไหร่ล่ะครับ”

          “เธอมีเงินเท่าไหร่ล่ะ”

          “ก็ไม่มากนักหรอกครับ ดูเหมือนจะยังไม่ถึงร้อยล้าน”

          “หัวล้านน่ะไม่ว่า”

          “ไม่ล้านหรอกครับ ผมคนผมดก ตระกูลผม ผมดกปกไหล่ทั้งนั้น”

          “ก็คอยดูไปแล้วกัน อีกไม่นานก็รู้”

          “ครับ แล้วผมจะคอยดู อาจจะพลิกล็อคเหมือนรายป้านวลศรีก็ได้”

          “เอาละนะเลิกพูดกันแล้วนะ ทีนี้ฉันจะนั่งหลับตาละ” แล้วท่านก็หยุดพูดเพราะต้องการจะแผ่เมตตาให้พวกสัมภเวสีที่คอยขอส่วนบุญอยู่ข้างถนนหนทาง เหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าท่านจะมา

          ถึงโรงพยาบาลศิริราช นายสมชายลงไปถามที่ประชาสัมพันธ์ก่อนแล้วจึงมานิมนต์ท่านพระครูซึ่งนั่งรออยู่ในรถ

          “แม่ หลวงพ่อท่านมาเยี่ยม” นางเน้ยปลุกมารดาซึ่งกำลังหลับอยู่เพราะความอ่อนเพลีย

          “ไม่ต้องปลุก โยมไม่ต้องปลุก ปล่อยให้เขาพักผ่อนตามสบายเถอะ ท่านพระครูห้ามไว้

          แม้รู้สึกอ่อนเพลียและเจ็บแผล หากเจ๊นวลศรีก็ประคองสติไว้ได้ นางลืมตาแล้วยกมือไหว้ท่านพระครู

          “หลวงพ่อ เป็นพระคุณเหลือเกินที่อุตส่าห์มาเยี่ยมฉัน เน้ยช่วยหมุนเตียงขึ้นให้แม่หน่อย” นางสั่งบุตรสาวเพราะเจ็บแผลจนไม่อาจลุกนั่งได้

          “เรื่องมันไปยังไงมายังไงกันล่ะเจ๊ พอจะเล่าให้อาตมาฟังได้ไหม อาตมาอยากรู้” คนเจ็บจึงเล่าเสียงดังฟังชัดว่า

          “เรื่องมันแปลกมากจ้ะหลวงพ่อ ฉันเองก็ยังนึกว่าฝันไป คือเมื่อตอนเย็นวันที่ ๑๖ ได้มีคนมาเยี่ยมไข้ เขาเป็น   มัคทายกวัดข้างบ้านฉัน คุยกันไปคุยกันมาเขาก็เล่าให้ฟังว่า กำลังหาเงินสร้างโบสถ์วัดในหมู่บ้านจวนเสร็จแล้ว ยังขาดแต่ช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ ฉันก็เกิดศรัทธาอยากทำบุญ เลยขอทำบุญกับเขาไปสองหมื่น ฉันดีใจมากที่กำลังจะตายอยู่แล้วก็ยังมีโอกาสได้ทำบุญเป็นครั้งสุดท้าย

          คืนนั้นฉันก็นอนกำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” เช่นทุกครั้ง แต่แปลกที่ว่ามันอิ่มอกอิ่มใจจนลืมความเจ็บปวดทางกาย ฉันก็นอนทำกรรมฐานไปเรื่อย ๆ พอจิตเป็นสมาธิก็เกิดนิมิต บอกว่า “พรุ่งนี้ยังไม่ตาย ให้ไปโรงพยาบาลศิริราช หมอเขาจะผ่าตัดให้”

            พอเกิดนิมิตอย่างนี้ฉันก็หลับ หลับสบายเลยจ้ะหลวงพ่อ พอตีสี่สิบนาที ซึ่งเป็นเวลาที่ฉันจะต้องตาย ฉันก็ตื่น รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าก็รู้ว่าไม่ตายแน่ ลูกหลานเขาก็มาเฝ้าจะคอยดูใจ พอเห็นฉันไม่ตายก็ยินดีปรีดากันใหญ่ ฉันจึงบอกนายฮิมเขาว่าให้ไปว่าจ้างรถไปส่งฉันที่โรงพยาบาลศิริราช เขาก็จัดการให้ พอถึงโรงพยาบาล หมอเขาก็ตรวจอีกครั้งแล้วบอกว่าตกลงจะผ่าตัดให้

          “เจ๊ผ่าตัดเมื่อวานใช่ไหม เห็นนายฮิมบอก”

          “จ้ะ นี่ถ้าไม่ได้เรียนฝึกสติมาจากหลวงพ่อ ป่านนี้ก็คงนอนสลบไสลไม่รู้สึกตัวเพราะมันมึนมากเลยจ้ะหลวงพ่อ เจ็บแผลก็เจ็บ ฉันก็นอนกำหนด “เจ็บหนอ เจ็บหนอ” ก็คลายความเจ็บปวดไปมาก ฉันเห็นประโยชน์ของกรรมฐาน ก็ตอนเจ็บป่วยนี่แหละจ้ะ ต้องขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาสอนให้

          “ไม่ต้องขอบคุณอาตมาหรอกเจ๊ เป็นที่ตัวเจ๊นั่นแหละ เพราะคนที่เขาไม่เอากรรมฐานก็มีถมเถไป” ท่านนึกไปถึงนายฮิม

          “แหม หลวงพ่อหลอกให้พวกหนูตัดชุดกงเต็กเก้อ ที่แท้อาม่าก็ไม่ตายสักหน่อย” นางสาวกิมเจ็งต่อว่าต่อขาน

          “ไม่เป็นไรหรอกหนู ไม่เก้อหรอก อีกสามวันก็ได้ใช้” ท่านบอก เพราะอีกสามวันนายฮิมจะต้องตาย และคราวนี้จะไม่ “ฟลุ้ค” เหมือนเจ๊นวลศรี เพราะนายฮิมไม่ได้ปฏิบัติกรรมฐาน

          “ใช้งานใครคะหลวงพ่อ ใครจะตาย”

          “เอาเถอะอย่างเพิ่งถาม หลวงพ่อว่าได้ใช้ก็ต้องได้”

          หลวงพ่อจ้ะ ที่ฉันไม่ตายนี่เพราะอานิสงส์ของบุญใช่ไหมจ๊ะ” คนเจ็บถามเสียงใส

          “ถูกแล้วเจ๊ บุญที่ว่านี่ถ้าจะจัดเป็นกรรมก็ต้องเรียกว่าเป็น อุปฆาตกกรรม หรือกรรมตัดรอน กรรมชนิดนี้มันจะพลิกแผ่นดินเชียวละ คือถ้าดีก็จะดีสุดยอดไปเลย แต่ถ้าชั่วก็จะชั่วสุดยอดเหมือนกัน อุปฆาตกกรรมมีกำลังแรงมาก เห็นไหมว่ามันเปลี่ยนจากตายเป็นไม่ตายได้ พูดง่าย ๆ ก็คือพอบุญเก่าเจ๊หมด บุญใหม่ก็มาให้ผลทันตา บุญใหม่นี้ก็คือการที่เจ๊ทำบุญสร้างโบสถ์กับมัคทายกคนนั้น เจ๊เกิดปีติมากที่ได้ทำบุญเป็นครั้งสุดท้าย บุญนั้นให้ผลทันตาเห็น เลยไม่ต้องตาย ทั้งที่จะต้องตายแน่ ๆ แล้ว เรื่องอย่างนี้ก็เคยมีนะ ในสมัยพุทธกาลก็เคยเกิดขึ้นแล้ว อย่าฟังไหมล่ะ”

          “อยากค่ะ” นางเน้ยและลูก ๆ ตอบพร้อมกัน นายสมชายก็ตั้งใจฟังอยู่

          “ในสมัยพุทธกาล มีสามเณรองค์หนึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร บวชตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ ชื่อสุข ใคร ๆ เขาเรียกท่านว่าสุขสามเณร เมื่อสุขสามเณรอายุจวนจะครบเก้าขวบ ท่านพระสารีบุตรก็รู้ว่าลูกศิษย์ของท่านจะต้องเสียชีวิตเพราะบุญหมด ท่านจึงบอกให้สุขสามเณรทราบ พร้อมทั้งแนะนำให้ไปล่พ่อแม่ซึ่งอยู่อีกตำบลหนึ่ง

          สุขสามเณรจึงลาพระสารีบุตร แล้วเดินทางไปหาบิดามารดาเพื่อแจ้งข่าวให้ทราบว่าท่านจะตายเมื่ออายุเก้าขวบ ขณะเดินทางไป ท่านผ่านหนองน้ำแห่งหนึ่งซึ่งน้ำกำลังแห้ง พวกปู ปลา เต่า กำลังกระเสือกกระสนอยู่ในเลน จะตายมิตายแหล่ สุขสามเณรเกิดความสงสาร จึงเก็บเอามาใส่จีวรห่อไปปล่อยยังหนองน้ำใหญ่ แล้วจึงสรงน้ำ ซักจีวรในหนองน้ำนั้น เสร็จแล้วก็เดินทางต่อไปจนถึงบ้าน ล่ำลาบิดามารดาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางกลับมาอยู่กับอาจารย์

          ครั้นถึงวันที่จะตายกลับไม่ตาย พระสารีบุตรสงสัยจึงสอบถามดูก็ได้รู้ว่าอานิสงส์ที่ช่วยสัตว์เหล่านั้นให้รอดพ้นจากความตายนั่นเองที่มาช่วยต่ออายุลูกศิษย์ให้ยืนยาวต่อไปอีก สุขสามเณรอยู่กับพระสารีบุตรจนอายุครบบวชในคัมภีร์กล่าวว่าท่านบรรลุอรหัตตผลตั้งแต่อายุได้ ๗ ขวบ

          “สาธุ” คนเจ็บยกมือขึ้น “สาธุ” เมื่อท่านเล่าจบ

          “โยมเห็นหรือยังว่าบุญกรรมนั้นมีจริง คนที่ทำบุญไว้มาก ๆ พอถึงคราวคับขันบุญก็ช่วยได้ อาตมาถึงอยากให้คนเขาเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ แต่ก็นั่นแหละ จะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกรรมของเขา คนที่มีกรรมชั่วเกินหกสิบเปอร์เซ็นต์ อาตมาก็ไม่อาจทำให้เขาเชื่อได้ อย่างเช่นเมื่อสี่ห้าวันก่อนมีทหารคนหนึ่งเขามาหาอาตมา อาตมาก็เห็นกฎแห่งกรรมของเขาว่า จะต้องตายในวันนี้ เลยบอกเขาเขาว่า ผู้พันนอนวัดเถอะ อาตมาจะสอนกรรมฐานให้ เขาก็บอกนอนไม่ได้หรอกหลวงพ่อ ผมห่วงบ้าน อาตมาก็รู้แล้วว่า เขาเพิ่งได้เด็กคราวลูกมาเป็นเมีย เมียลับ ๆ นะ เขาก็ห่วงเด็กคนนี้ไม่ยอมเชื่อ อาตมาก็บอกตรง ๆ ว่า ถ้าท่านออกไปจะต้องประสบอุบัติเหตุ ขอให้เชื่ออาตมาเถอะ เขาก็ไม่ยอมเชื่อเพราะจิตใจไปอยู่กับเมียเด็กเสียแล้ว ในที่สุดก็ขับรถออกจากวัดไป พอถึงอ่างทองก็ไปเจอกับรถบรรทุกตายคาที่เลย”

          “แสดงว่ากรรมหนักมากใช่ไหมคะหลวงพ่อ” นางเน้ยถาม

          “ถ้าไม่หนักเขาก็ต้องเชื่อที่อาตมาบอกแล้วน่ะซี”

          “ตอนนี้เขาอยู่ที่ไหนคะ” นางสาวกิมเจ็งถาม

          “กำลังปีนยอดงิ้วอยู่ในนรกโน่นแหละ ใครไม่เชื่อว่านรกมีจริงก็ทำชั่วให้มาก ๆ เข้านะหนูนะ” ท่านหันไปพยักพเยิดกับนางสาวกิมฮวยซึ่งนั่งฟังอย่างเดียว ไม่ยอมพูดจา

          “แต่หนูเชื่อค่ะหลวงพ่อ หนูเชื่อเหมือนที่อาม่าเชื่อ แต่เตี่ยกับแม่เขาไม่ค่อยเชื่อ รวมทั้งพี่กิมเจ็งด้วย” นางสาวกิมฮวยว่า

          “ก็เธอมันคนหัวโบราณนี่ยะ คนสมัยใหม่เขาไม่เชื่อกันหรอก ฉันคนสมัยใหม่ย่ะ” นางสาวกิมเจ็งว่าให้น้องสาว

          “จริงหนู คนสมัยใหม่เขาไม่เชื่อนรกสวรรค์อย่างที่หนูว่ามานั่นแหละ แต่หนูเชื่อไหมคนที่ตายไปตกนรกมาที่สุดก็เป็นพวกคนสมัยใหม่ทั้งนั้น ไม่เชื่อหนูจะลองไปดูก็ได้” ท่านบอกหลานสาวคนโตของเจ๊นวลศรี...

 

มีต่อ........๕๐

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #52 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 06:29:12 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00050
๕๐...

            บ่ายสองโมง ของวันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ขณะที่ท่านพระครูกำลัง “รับแขก” อยู่ที่กุฏิชั้นล่าง นางสาวกิมเจ็งก็เดินร้องไห้กระซิก ๆ เข้ามา

            “หลวงพ่อ เตี่ยตายแล้ว” หล่อนตะโกนข้ามศีรษะแขกเหรื่อที่นั่งเบียดเสียดกันอยู่หน้าอาสนะ

            “อ้าว อีหนู ตะโกนข้ามหัวแม่ผัวซะแล้ว” สตรีวัยกลางคนพูดขึ้น นางกำลังหงุดหงิดเพราะยังอีกนานกว่าจะถึง “คิว”

            “ฉันยังไม่มีผัว ถ้าจะมี ก็ไม่เอาคนอย่างลื้อมาเป็นแม่ผัวหรอก” สาววัยเต็มยี่สิบยังมีแก่ใจเถียง” โกรธผู้หญิงคนนั้นเลยหยุดร้องไห้

            “ไหนเข้ามาพูดใกล้ ๆ ซิ ญาติโยมโปรดหลีกทางให้เขาเข้ามาหน่อย” ท่านพระครูออกคำสั่ง บุตรสาวนายฮิมจึงเดินแหวกผู้คนเข้ามา จะค้อมหลังให้สักนิดก็ไม่มี

            “โอ๊ย....กิริยามารยาทยังงี้ ฉันก็ไม่เอามาเป็นลูกสะใภ้ให้ปวดกบาลฉันหร็อก” หญิงคนเดิมว่าอีก หากคราวนี้นางลดเสียงลง ด้วยไม่ต้องการให้คนถูกว่าได้ยิน

            “ไงล่ะหนู เตี่ยตายเมื่อไหร่ แล้วเจ๊นวลศรีออกจากโรงพยาบาลแล้วหรือยัง” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “ตายเมื่อตอนเที่ยงนี่เองค่ะ แม่ให้หนูมาบอกหลวงพ่อว่า จะเอาศพมาไว้ที่วัดนี้ อาม่ายังอยู่โรงพยาบาล”

            “จะมาสวดกงเต็กที่นี่หรือ คงไม่ได้หรอกหนู เพราะเสียงจะไปรบกวนคนที่มาเข้ากรรมฐาน เอาไว้ที่บ้านนั่นแหละ จะเผาหรือฝังล่ะ”

            “ยังไม่รู้เลย แม่ว่าต้องรอถามอาม่าก่อน สงสัยอาม่าแกคงรู้ว่าเตี่ยจะตายวันนี้ แกบอกให้หนูกับแม่กลับบ้านมาดูเตี่ย บอกถ้ามีปัญหาอะไรให้มาถามหลวงพ่อ ที่หลวงพ่อพูดเมื่อวันไปเยี่ยมอาม่าว่า อีกสามวันพวกหนูก็จะได้ใช้ชุดกงเต็กน่ะ แปลว่าหลวงพ่อรู้ว่าเตี่ยจะตายใช่ไหม ทำไมหลวงพ่อไม่บอกตั้งแต่วันนั้น หลวงพ่อน่าจะช่วยเตี่ย อย่างน้อย ๆ ก็ให้น้องสามคนเรียนจบเสียก่อน” หล่อนรายงานแถมท้ายด้วยการต่อว่าท่านพระครู

            “ทำไม่หลวงพ่อจะไม่ช่วย หลวงพ่อช่วยจนสุดความสามารถแล้ว แต่เตี่ยหนูเขาไม่ช่วยตัวเอง ชวนมาเข้ากรรมฐาน ก็ไม่มา ให้เอาแผ่นสวดมนต์ที่อาม่ามาสวด ก็ไม่เอา ครั้งหลังสุดหลวงพ่ออุตส่าห์จดบทสวดพุทธคุณให้ไปท่อง เขาก็ไม่ยอมท่องอีก ห่วงแต่เรื่องทำมาหากิน เสร็จแล้วเป็นยังไง นี่แหละเป็นเพราะเขาไม่ยอมเชื่อหลวงพ่อ ไม่ยอมเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ถึงตัวหนูเองก็ไม่เชื่อใช่ไหมล่ะ”

            “หนูเป็นคนสมัยใหม่นี่คะ เอาเถอะ หนูกำลังเศร้าโศก ไม่อยากเถียงกับหลวงพ่อ ตกลงหนูจะไปบอกแม่ว่าหลวงพ่อให้เอาศพไว้ที่บ้าน งั้นหนูลาละ จะไปตามน้องสาวสามคน ที่เรียนอยู่ลพบุรี” หล่อนพูดอย่างไม่สบอารมณ์ นึกขัดเคืองมารดาที่ส่งหล่อนมาขอความช่วยเหลือจากท่าน ที่จริงแล้วหล่อนไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ เลย

            “ไม่ต้องไปตามหรอกหนู น้องเขารออยู่ที่บ้านแล้ว กลับไปช่วยแม่เขาเถอะ แล้วก็ไม่ต้องไปบอกหนูกิมฮวยที่กรุงเทพฯ หรอก อาม่าหนูเขาคงบอกแล้ว” ท่านพระครู “ช่วยเหลือ” ทั้งที่ฝ่ายนั้นคิดว่าท่านมิได้ช่วยอะไรเลย

            “หนูไปละหลวงพ่อ” หล่อนกราบเหมือนไม่เต็มใจ แล้วลุกเดินดุ่ม ๆ ออกมาเหมือนเมื่อตอนเข้าไป

            “แหม กิริยายังกะม้าดีดกระโหลก แบบนี้หลวงพ่อให้มาเป็นลูกศิษย์ได้ยังไงคะ” สตรีวัยกลางคนได้โอกาสนินทาลับหลัง

            “จะเป็นม้าดีดกระโหลกหรือช้างดีดกระโหลก อาตมาก็ต้องรับทั้งนั้นแหละโยม ที่วัดป่ามะม่วงไม่มีการสอบคัดเลือก แต่น้องสาวเขาเรียบร้อยดีนะ คนที่ชื่อกิมฮวยที่อาตมาพูดถึงน่ะ ส่วนแม่หนูคนนี้เขาชือกิมเจ็ง” ท่านพระครูถือโอกาสอธิบายทั้งที่ไม่มีผู้ถาม

            “จริงหรือคะ ไม่น่าเป็นไปได้ พี่น้องก็น่าจะเหมือน ๆ กัน”

            “ไม่เสมอไปหรอกโยม โบราณเขาถึงสอนเอาไว้ว่า “ไม่ไผ่ยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ” มันต่างกรรมต่างวาระ จะให้เหมือนกันได้ยังไง

            “โอ้โฮ หลวงพ่อพูดเกือบเป็นกลอนเลยครับ” บุรุษที่นั่งหน้าสุดเอ่ยปากชม

            “อ้อ ยังงั้นหรือ กลอนประตูหรือกลอนหน้าต่างล่ะโยม” ท่านถามยิ้ม ๆ ผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้น ไม่มีผู้ใดกล้าคิดปฏิเสธว่า ยิ้มของท่านไม่สวย

            “ไม่ใช่ทั้งสองอย่างครับ กลอนในที่นี้หมายถึงบทกลอน หลวงพ่อพูดเกือบเหมือนบทกลอน ที่ว่าเกือบเหมือนหมายความว่ายังเหมือนไม่หมด คือเหมือนครึ่งหนึ่ง ไม่เหมือนครึ่งหนึ่งครับ” เขาอรรถาธิบาย ท่านพระครูรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่า ลักษณะการพูดแบบนี้ น้ำเสียงอย่างนี้ เหมือนใครหนอ แล้วก็นึกออกว่าเหมือนนายสมชาย ลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่านนั่นเอง

            “เอาละ ใครมีอะไรก็ว่าไป วันนี้อาตมาเห็นจะต้องเลิกเร็วหน่อย จะไปเยี่ยมศพเตี่ยของแม่หนูคนนั้น”

            “ยายม้าดีดกระโหลกน่ะหรือคะ” หญิงกลางคนถือโอกาสว่าอีก

            “อย่าเก็บเรื่องของคนอื่นมาเป็นอารมณ์เลยโยม อาตมาขอร้องเถอะ เขาจะเป็นยังไงก็เรื่องของเขา ก็กรรมเขาทำมาอย่างนั้น” ท่านเจ้าของกุฏิกล่าวเตือน สตรีนั้นจึงสงบปากสงบคำลง

            นายทหารยศพันโทวัยสามสิบเจ็ดก้มลงกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วจึงเริ่มเรื่อง เขามาถึงก่อนใครเพื่อนจึงได้ “พูดธุระ” กับท่านเป็นคนแรก

            “หลวงพ่อครับ ผมรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ เพราะบารมีของหลวงพ่อคุ้มครอง” พูดอย่างสำนึกในบุญคุณของท่าน

            “ถ้าไม่ได้หลวงพ่อ ป่านนี้ผมคงสิ้นชื่อไปแล้ว”

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมองหน้าเขาอย่างพินิจ จึงรู้ว่า บุรุษนี้เคยมาหาท่านเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา และท่านก็ “เห็น” ว่าเขาจะต้องตายเพราะตกจากที่สูง จึงแนะนำให้มาเข้ากรรมฐานเป็นเวลาสองสัปดาห์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร เขาปฏิบัติตามด้วยการไปทำเรื่องลาราชการ แล้วมาปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด จนครบสิบสี่วัน และเมื่อเขาลากลับ ท่านก็ “เห็น” ว่า เขา “ปลอดภัย” แล้ว

            “พอจะเล่าสู่กันฟังได้หรือเปล่า ถ้าได้ อาตมาอยากให้ญาติโยมเขารับรู้ด้วย”

            “ยินดีครับหลวงพ่อ แล้วผมก็เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับคนฟังด้วย อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้รู้ว่า กรรมฐานนั้นมีอานิสงส์มาก สามารถทำให้คนที่ถึงที่ตาย รอดชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์” แล้วจึงเล่าว่า หลังจากออกจากวัดแล้ว ก็ได้กลับไปทำงานตามปกติ เขาเป็นทหารพลร่มของค่ายทหารจังหวัดลพบุรี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ไปฝึกซ้อมดิ่งพสุธาบริเวณเหนือพื้นที่เขตอำเภอชัยบาดาล และได้ประสบกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นกับผู้ใดมาก่อน

            กล่าวคือ เมื่อเขาพุ่งตัวลงจากเครื่องบิน และดิ่งลงมากลางเวหานั้น ทหารคนที่ต่อจากเขา คงจะพุ่งตามมาก่อนเวลาที่กำหนด จึงมาชนกับเขาอย่างแรง วินาทีนั้นเป็นเวลาเดียวกับที่ร่มของเขากางพอดี แรงปะทะทำให้เขาถึงกับสลบในทันที และคนที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนั้นจะต้องตายเพราะร่างจะกระแทกกับพื้นเหมือนของที่ตกลงจากที่สูง ก่อนถึงพื้นดินทหารพลร่มจึงต้องโหย่งตัวขึ้นเพื่อจะได้ไม่กระทบกับพื้นแรงเกินไป แต่คนที่หมดสติย่อมไม่มีโอกาสทำเช่นนั้นได้ และถ้าไปตกในน้ำก็ต้องจมน้ำตาย

            ก่อนสัมปชัญญะจะดับวูบลง เขาระลึกถึงท่านพระครู และเมื่อรู้สึกตัวอีกครั้งก็พบว่าตัวเองนอนอยู่บนเตียงของโรงพยาบาลประจำอำเภอ เขาไม่ได้ตกลงสู่พื้นดินหรือพื้นน้ำ หากไปค้างอยู่บนยอดไม้กลางป่า กว่าจะมีคนมาพบและนำส่งโรงพยาบาล ก็เกือบสาย เพราะแพทย์บอกว่าหากมาช้าอีกเพียงยี่สิบนาที ก็ไม่อาจช่วยชีวิตไว้ได้

            “เป็นความบังเอิญอย่างมหัศจรรย์ที่สุดเลยครับหลวงพ่อ ชาวบ้านเล่าตอนผมฟื้นว่า ขณะที่ช่วยกันหามผมมาตามถนนลูกรัง ก็พลรถกระบะคันหนึ่งจอดอยู่ พวกเขาจึงขอให้ช่วยเอาผมมาส่งโรงพยาบาล เจ้าของรถบอกผมช่างมีบุญจริง ๆ รถเขาเสียแก้อยู่ตั้งหลายชั่วโมง พอแก้เสร็จและกำลังจะไป ผมก็มาถึงพอดี พวกชาวบ้านยังบอกอีกว่าถ้าไม่ได้รถกระบะคันนั้น ผมก็คงไปไม่ถึงโรงพยาบาล เพราะแถวนั้นไม่ค่อยมีรถวิ่งผ่าน สองสามวันจึงจะมีมาสักคันหนึ่ง เป็นเพราะบารมีของหลวงพ่อแท้ ๆ ผมขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงที่ได้เมตตาช่วยชีวิตผม” เขาก้มลงกราบสามครั้ง

            “ไม่ใช่บารมีของอาตมาหรอกผู้พัน บารมีของผู้พันเองนั่นแหละ เพราะถ้าผู้พันไม่ยอมเข้ากรรมฐาน อาตมาก็ช่วยอะไรไม่ได้”

            “แต่ถ้าหลวงพ่อไม่บอกผม ผมก็ไม่ได้มาเข้า ผมถึงว่ารอดตายคราวนี้เพราะบารมีของหลวงพ่อ“ นายทหารพยายามพูดยกความดีให้ท่านพระครู

            “เอาละ ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็อยากสรุปให้ญาติโยมฟังว่า การปฏิบัติกรรมฐาน เป็นการสร้างบารมี ขอให้เร่งปฏิบัติกันเข้า ทำให้ได้ทุกวัน เป็นการสะสมหน่วยกิต นะญาติโยมนะ”

            “แล้วคนที่ชนกับผู้พัน ตายหรือเปล่าคะ” เสียงใส ๆ ถามขึ้น คนถูกถามหันไปทางเจ้าของเสียง ก็พบสตรีสาวหน้าตาน่ารัก ยิ้มให้อย่างเป็นมิตร

            “ไม่ตายหรอกครับ” แล้วหันมาทางท่านเจ้าของกุฏิ พลางกล่าวต่อไปว่า

            “น่าแปลกนะครับหลวงพ่อ คนที่เขาชนผม เขาไม่เป็นอะไรเลย แล้วเขาก็คิดว่าผมไม่เป็นอะไรเหมือนกัน ที่ไหนได้ ผมเกือบไม่มีโอกาสได้มากราบเรียนให้หลวงพ่อทราบเสียแล้ว”

            “นั่นแหละ เจ้ากรรมนายเวรของผู้พันแหละ เมื่อชาติก่อนเคยเป็นเพื่อนกันแล้วผู้พันก็ทำให้เขาตายโดยไม่ได้ตั้งใจ มาชาตินี้ เขาก็เลยทำให้ผู้พันตายโดยไม่ได้ตั้งใจเหมือนกัน ถ้าไม่มาเข้ากรรมฐาน รับรองป่านนี้ฌาปนกิจไปแล้ว” ท่านถือโอกาสสอนญาติโยมว่า

            “ท่านทั้งหลายเห็นหรือยังว่า เรื่องของกรรมนั้นซับซ้อนเหลือเกิน ขนาดทำให้เขาตายโดยไม่มีเจตนา ก็ยังต้องมาชดใช้ เหมือนอย่างอาตมาเคยเหวี่ยงท่อนไม้ไปถูกสุนัขเลือดไหลออกจมูก วันดีคืนดีอาตมาก็ถูกเสาเต๊นท์หลุดพุ่งมาปะทะหน้า เลือดไหลออกจมูกเหมือนกัน ดีนะที่แว่นตาไม่แตก” ท่านชี้แว่นที่สวมอยู่

            “ที่แว่นไม่แตก เพราะไม่ได้ทำกรรมไว้ คือสุนัขตัวนั้นมันไม่ได้สวมแว่น ถ้าสวมก็คงแตก แล้วแว่นอาตมาก็จะต้องแตกเหมือนกัน นี่อาตมาคิดเอาเองนะ” ผู้ที่นั่ง ณ ที่นั้นหัวเราะครืนในความมีอารมณ์ขันของท่าน

            “กรรมที่ทำโดยไม่มีเจตนา ก็ต้องชดใช้หรือคะหลวงพ่อ” เสียงใส ๆ ถามอีก

            “ไม่เสมอไปหรอกโยม อาตมาจะเปรียบเทียบให้เห็นง่าย ๆ สมมติอาตมาจะซื้อแก้วสักโหลหนึ่ง ก็เข้าไปเลือก เลือกไปเลือกมาเลยทำตกแตกไปใบนึง แบบนี้โดยมารยาทอาตมาต้องชดใช้เขา ใช่หรือเปล่า ถ้าแก้วราคาใบละ ๕ บาท ก็จะต้องจ่ายเขาไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีเจตนาจะทำให้แตก แต่ถ้าสมมุติเจ้าของร้านเขาบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอกหลวงพ่อ ผมไม่คิดเงินหรอก” อย่างนี้แปลว่าเขาอโหสิ อาตมาก็ไม่ต้องใช้ แต่ทีนี้เจ้าสุนัขนั้นมันคงอาฆาตอาตมาก็เลยต้องชดใช้ไปตามระเบียบ เอาเถอะในเรื่องนี้ อาตมาขอสรุปสั้น ๆ ว่า “กรรมเก่าให้รีบใช้ กรรมใหม่อย่าไปสร้าง”

            กรรมในที่นี้หมายถึงอกุศลกรรมนะ ไม่ได้หมายถึงกุศลกรรม เพราะถ้าเป็นกุศลกรรมเราจะต้องสร้างต้องเสริมเพื่อเพิ่มบารมีให้ตัวเอง คนที่มีบารมีมาก ๆ พอถึงคราวที่กรรมชั่วมาให้ผลก็ช่วยให้ทุเลาเบาบางลงได้ ในกรณีของผู้พัน แทนที่จะต้องเสียชีวิต ก็ทำให้เจ็บตัวแทน อยู่โรงพยาบาลกี่วันล่ะ” คนถูกถามกราบเรียนว่า

            “เพิ่งออกเมื่อวานนี้เองครับ รุ่งเช้าผมก็มาหาหลวงพ่อเลย หมอเขาบอกอาการหนักมาก แต่ผมอยากมาหาหลวงพ่อเร็ว ๆ เลยภาวนาทุกวัน ปรากฏว่า หายวันหายคืนจนหมอเอ่ยปากชม” เขาเล่าอย่างปีติ

            “แล้วคุณนาย ทำไมไม่มาด้วย เพิ่งฟื้นไข้น่าจะตามมาพยาบาล” ท่านแกล้งถามเพื่อเปิดทางให้เสียงใส ๆ รู้ว่านายทหารหนุ่มผู้นี้ยังเป็นโสด ก็ “เห็นหนอ” บอกว่า คนคูนี้เป็นเนื้อคู่กัน

            “ผมยังไม่มีคุณนายหรอกครับหลวงพ่อ ก็ว่าจะให้หลวงพ่อช่วยหาแถว ๆ นี้ให้” พูดจบก็หันหลังไปสบตากับคนเสียงใส เจ้าหล่อนอายม้วยก้มหน้าดูพื้น ท่านพระครูพูดทีเล่นทีจริงว่า

            “ตกลง ตกลง อาตมาจะช่วยหาให้ แต่ต้องรักกันจริงนะ ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน ห้ามนอกใจกันทั้งผู้หญิงผู้ชาย อาตมาไม่ชอบให้ผัวเมียนอกใจกัน สมัยนี้มีเยอะ ประเภทผัวนอกใจเมีย เมียนอกใจผัว อย่างนี้ไม่ดี ต้องรักกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน ทำได้ไหมเล่า”

            “ได้ครับ” นายทหารโสดรับคำหนักแน่น

            “แล้วโยมล่ะ ทำได้หรือเปล่า” ท่านถามเสียงใส ๆ”

            “หนูอยู่นอกประเด็นค่ะหลวงพ่อ” หล่อนตอบด้วยเสียงใส ๆ รู้สึกอายจนแทบจะแทรกแผ่นดินหนี

            “อ้าว แล้วกัน อาตมาก็นึกว่าอยู่ในประเด็น หรือผู้พันว่ายังไง”

            “ครับ ผมก็คิดอย่างนั้น กรุณาช่วยผมอีกครั้งเถิดครับหลวงพ่อ ช่วยให้ผมได้แต่งงานแต่งการเหมือนคนอื่น ๆ เขา แล้วผมจะไม่ลืมพระคุณเลย ชีวิตนี้ผมขอมอบให้หลวงพ่อเป็นผู้ลิขิตครับ” นายทหารหนุ่มใหญ่สาธยาย

            “จริงหรือ ให้อาตมาลิขิตจริง ๆ น่ะหรือ” ท่านย้อนถาม

            “จริงครับ” รับคำหนักแน่น

            “งั้นมาบวชอยู่วัดกับอาตมาแล้วกัน จะได้ช่วยกันสงเคราะห์ญาติโยมเขา” คราวนี้คนมอบกายถวายชีวิตรีบแก้ตัวว่า

            “ผมยังบุญไม่ถึงครับหลวงพ่อ อีกอย่างหนึ่งผมต้องรับใช้ชาติ ทหารเป็นรั้วของชาติ หากผมมาบวชเสีย รั้วของชาติก็จะแหว่งจะโหว่ เป็นช่องให้ศัตรูมารุกรานได้ครับ”

            “งั้นก็เป็นทหารต่อไป แต่ทำไม่ถึงจะต้องแต่งงานด้วยล่ะ ไม่เห็นเกี่ยวกับหน้าที่เลย” ท่านลองใจอีก

            “ก็ผมอยากมีหน่อเนื้อเชื้อไขไว้ดำรงวงค์ตระกูลน่ะครับ อีกหน่อยผมแก่เฒ่าลง รั้วของชาติก็ผุ ลูกผมจะได้มาเป็นรั้วแทนครับ”

            “สรุปว่าที่อยากแต่งงานเพราะอยากมีลูก ว่างั้นเถอะ”

            “ครับผม” รับคำพลางหันไปทำตาหวานใส่ “เสียงใส ๆ”

            “งั้นก็ดีแล้ว ตรงประเด็นพอดี ผู้พันจะได้แต่งงาน แล้วก็จะได้ลูกทันใช้ เดี๋ยวจะจัดการให้ ตกลงนะ”

            “ครับ ผมขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง” ว่าแล้วก็ก้มลงกราบสามครั้ง ด้วยคิดว่าท่านจะจัดการให้แต่งกับ “คนเสียงใส”

            “เอาละ ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวอาตมาจะให้เด็กไปตามเจ้าสาวมาให้” ท่านหมายถึงนางสาวเตย

            “เจ้าสาวไหนครับ” ถามอย่างผิดหวัง ท่านเจ้าของกุฏิจึงอธิบายว่า

            “คือเมื่อสี่ห้าวันมานี่ มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาท้องได้สี่เดือน มาขอบวชชี อาตมาไม่ให้เขาบวช แต่ให้ไปเข้ากรรมฐานอยู่กับพวกแม่ชี เขาท้องไม่มีพ่อ ผู้พันอยากแต่งงานก็ดีแล้ว อีกห้าเดือนได้ลูก ทันใจดีไหมล่ะ” คราวนี้คนอยากแต่งงานรีบปฏิเสธเสียงรัว

            “ไม่ครับหลวงพ่อ ไม่ ที่เสนอมามันสำเร็จรูปเกินไป ผมยังไม่ใจร้อนขนาดนั้นหรอกครับ อีกประการหนึ่ง หากผมจะมีลูก ก็อยากได้แบบที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง โบราณสอนไว้ว่า “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” มันไม่ดีครับ”

            “อ้อ ยังงั้นหรอกหรือ งันก็มีอีกคนหนึ่ง แต่เขากำลังป่วย ไว้ให้เขาหาย อาตมาจะจัดการให้ ผู้พันไม่ใจร้อนไม่ใช่หรือ” นายทหารหนุ่มใหญ่เห็นว่าท่านพูดนอกประเด็น จึงพูดตรงไปตรงมาตามวิสัยชายชาญทหารกล้า “ผมอยากแต่งงานกับคนที่นั่งข้างหลังน่ะครับ คนเสียงใส ๆ คนนี้” เขาชี้มาที่หญิงสาวเสียงใส เจ้าหล่อนรู้สึกอายจนพูดอะไรไม่ออก

            “ได้ไหมครับหลวงพ่อ ช่วยผมให้แต่งงานกับคนนี้ได้ไหมครับ” เขาเว้าวอน หันไปสบตาหล่อน เลยถูกขว้างค้อนใส่ กระนั้นเขาก็คิดว่าหล่อนค้อนได้สวย ท่านพระครูจึงพูดเป็นงานเป็นการว่า

            “เรื่องอย่างนี้มันไม่ใช่กิจของสงฆ์ อาตมาไปยุ่งด้วยไม่ได้หรอก เดี๋ยวจะเป็นอาบัติ ให้ตกลงกันเอาเอง อาตมาไม่ขอเกี่ยวข้อง”

            “แล้วสองรายแรก ทำไมหลวงพ่อจะจัดการให้ล่ะครับ” นายทหารหนุ่มใหญ่แย้ง

            “สองรายนั่น อาตมาพูดเล่น เพราะรู้ว่าผู้พันไม่ยอมตกลงแน่ อาตมาอยากลองใจผู้พันเล่นเท่านั้น ไม่มีอะไรหรอก เอาละ โยมมีอะไรก็ว่าไป ถึงคิดแล้วไม่ใช่หรือ” ท่านพูดกับหญิงสาวเสียงใส

            “คุณพ่อคุณแม่ให้หนูมานิมนต์หลวงพ่อไปงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ค่ะ” หญิงสาวบอก “ธุระ”

            “ที่ไหน เมื่อไหร่” หล่อนบอกสถานที่ วัน เวลา นายทหารหนุ่มใหญ่ได้โอกาส จึงพูดขึ้นว่า

            “หลวงพ่อครับ ผมขออนุญาตมารับหลวงพ่อไปงานนี้นะครับ”

            “ผู้พันไม่ทำงานหรอกหรือ วันที่ ๒๘ เป็นวันพฤหัสนี่นะ”

            “ผมลางานครึ่งวันได้ครับ”

            “แล้วรู้จักบ้านงานหรือ” ท่านถามอีก

            “ประเดี๋ยวผมขออนุญาตหลวงพ่อ ขับรถไปส่งเขาครับ บ้านอยู่ทางเดียวกัน” เขาสรุปง่าย ๆ

            “หนูขับรถมาค่ะหลวงพ่อ” หญิงสาวเรียนท่านพระครู แล้วค้อนให้คนเสนอตัว

            “งั้นผมขับตามไปก็ได้ครับ” เขาว่าอีก

            “ตามใจ จะเอาอย่างนั้นก็ตามใจ ว่าแต่ว่าจำทางให้แม่น ๆ ก็แล้วกัน เกิดพาอาตมาหลง เดี๋ยวจะไม่ทันฤกษ์เขา” ท่านย้ำ

            “รับรองครับ งั้นผมขอกราบลาเลยนะครับ”

            ท่านพระครูหยิบสมุดบันทึกขึ้นมาจด แล้วพูดกับหญิงสาวว่า

            “เอาละ อาตมาจดไว้แล้ว ตกลงโยมจะให้ผู้พันเขามารับอาตมา หรือว่าจะให้ไปเอง”

            “หนูต้องปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ก่อนค่ะ” หล่อนตอบเลี่ยงไปอีกทาง เสร็จธุระแล้วจึงลาท่านพระครู นายทหารหนุ่มใหญ่เดินตามหล่อนไปติด ๆ ทั้งที่ฝ่ายหญิงไม่ยอมพูดด้วย

            “เขาเรียกว่าโชคสองชั้น ดูเอาเถอะ รอดตายมาอย่างปาฏิหาริย์แล้วยังมาได้พบเนื้อคู่” ท่านเจ้าของกุฏิพูดกับญาติโยมที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้น

            “เขาเป็นเนื้อคู่กันหรือคะหลวงพ่อ” สตรีวัยยี่สิบห้าถามอย่างนึกเสียดายนายทหารหนุ่มผู้นั้น ท่านพระครูรู้ใจ จึงตอบว่า

            “ถูกแล้วโยม แต่เนื้อคู่ของโยมไม่ได้เป็นทหารหรอก อยากรู้ไหมล่ะว่าเป็นอะไร”

            “อยากค่ะ หลวงพ่อกรุณาบอกหนูด้วยเถิดค่ะ”

            “บอกก็ได้ เขาเป็นปลัดอำเภอจ้ะ แต่ตอนนี้เขาไปหลงรักนางเอกลิเก เลิกกันแล้วถึงจะมาเจอโยม เอาละบอกแค่นี้แหละ” แล้วพูดกับคนอื่น ๆ ว่า

            “เอาละ ใครมีอะไรจะถามหรือจะปรึกษาเรื่องอะไร ก็เชิญได้” ท่านกวาดสายตาไปทั่ว ๆ แล้วพูดว่า

            “แหม วันนี้คิวยาวจัง เสาร์อาทิตย์นี้ ควรจะต้องเพิ่มรอบเช้าอีกสักรอบ หรือคนจัดคิวว่ายังไง” ท่านถามนายขุนทอง ซึ่งนั่งสัปหงกอยู่เบื้องหลัง

            “อ้าว หลับหรือ ขุนทองเอ๊ย” เรียกด้วยเสียงปกติ หากก็ทำให้คนถูกเรียกถึงสะดุ้ง

          “หลวงลุงมีอะไรให้หนูรับใช้หรือฮะ” เขาถาม ก็ชงน้ำชากาแฟแจกหมดทุกคนแล้ว ไม่น่าจะมีงานอะไรอีก

          “ข้าถามว่าวันเสาร์วันอาทิตย์นี่น่าจะเพิ่มรอบเช้าอีกสักรอบ เกรงใจญาติโยมเขาที่ต้องมาคอยนาน หรือเอ็งว่ายังไง”

          “ก็ดีฮะหลวงลุง หนูกำลังจะปรึกษาหลวงลุงอยู่เหมือนกัน สองวันนี่เป็นวันหยุด คนมักจะมามากเป็นพิเศษ แต่หลวงลุงคงต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีก ทุกวันนี้ก็ได้จำวัดแค่วันละสองชั่วโมงเท่านั้น หนูไม่อยากให้ตรากตรำจนเกินไปเดี๋ยวหมอรู้เข้า ก็มาว่าหนูดูแลไม่ดีอีก แล้วอีกอย่าง....” พูดยังไม่ทันจบ ท่านพระครูก็ขัดขึ้นว่า

          “พอ ๆ ไม่ต้องร่ายยาว แหมข้าถามนิดเดียว ตอบเสียยาวยืดเลย สมชายไปไหน ไปบอกมาดูรถได้แล้ว สักพักข้าจะไปงานศพ” ท่านสังการ

          หลานชายลุกออกไปแล้ว จึงพูดกับญาติโยมว่า “ลูกศิษย์วัดป่ามะม่วงมีทุกแบบละโยม จะเอาแบบไหนล่ะ อย่างว่าแหละ ที่ดี ๆ เขาก็ไม่มีเวลามารับใช้ ที่มารับใช้ก็ไม่ค่อยจะเต็มบาทเต็มเต็งสักเท่าไหร่ ก็ต้องทน ๆ กันไป เอาละ ใครมีอะไรก็ว่าไป”

          “หลวงพ่อคะ หนูมีปัญหากับแม่ผัวค่ะ” สตรีอายุสามสิบเศษเอ่ย หล่อนมากับน้าสาววัยห้าสิบ

          “ปัญหายังไงล่ะโยม ไหนว่าไปซิ” หล่อนไม่พูด หากนั่งร้องไห้กระซิก ๆ คนเป็นน้าจึงพูดแทนว่า

          “แม่ผัวเขาร้ายค่ะหลวงพ่อ แกล้งใช้งานสารพัด แถมยังไถเงินใช้ พอหลานฉันหาให้ไม่ทัน ก็ยุลูกชายให้มีเมียใหม่ แรก ๆ ลูกเขาก็ไม่เชื่อแม่เขา แต่ตอนนี้กำลังจะเชื่อค่ะ จำทำยังไงดีคะหลวงพ่อ”

          “ก็เขามาขอหย่าจากหลานฉันน่ะซีคะ เขาว่าเขาเห็นแก่แม่ หาว่าหลานฉันไม่ดีกับแม่เขา” คนเป็นน้าอธิบาย

          “ขอหย่าก็หย่าไปเลย จะได้หมดเรื่องหมดราว” ได้ยินดังนั้น คนเป็นลูกสะใภ้ก็ร้องไหหนักขึ้น ท่านพระครูจึงปลอบว่า

          “ใจเย็น ๆ น่าโยม อาตมาลองใจเล่นเท่านั้น เดี๋ยวจะบอกวิธีแก้ให้รับรองว่าไม่ต้องหย่า” รู้สึกเห็นใจหญิงสาว เพราะรู้ซึ้งถึงหัวอกของคนเป็นสะใภ้ ที่มักจะถูกแม่ผัวกลั่นแกล้ง ในเจ็ดชาติที่ท่านระลึกนึกย้อนถึงอดีตได้นั้น มีชาติหนึ่งที่ท่านเกิดเป็นสะใภ้เขา แม้จะล่วงกาลผ่านพ้นมาแสนนานขนาดข้ามภพข้ามชาติ หากท่านก็ยังจำความขมขื่นในครั้งนั้นได้ดี จึงให้ข้อคิดกับคนฟังว่า

          “ญาติโยมโปรดจำไว้ แม่ผัวกับลูกสะใภ้นั้น มักจะเป็นคู่เวรกันมาแต่ครั้งอดีตชาติ รายไหนก็รายนั้น ที่จะดีต่อกันอย่างจริงใจน่ะหายากเต็มที ถ้าใครมีแม่ผัวดี ต้องกราบเช้ากราบเย็นเชียวนา แล้วก็คุยได้เลยว่าเป็นคนโชคดีที่สุดในโลก อาตมาเข็ดแล้ว ไม่ยอมเป็นลูกสะใภ้ใครอีกแล้ว” ผู้ที่นั่งฟังพากันหัวเราะ คนเป็นลูกสะใภ้ก็หัวเราะทั้งน้ำตา

          “ฟังแล้วห้ามเอาไปพูดต่อนะ สมัยที่อาตมาเป็นลูกสะใภ้เขาน่ะ โอ้โฮ ลำบากอย่าบอกใครเลย แม่ผัวเขาใช้งานไม่พัก ข้าวก็ให้กินทีหลัง กับข้าวก็ไม่มี อาตมาเลยต้องกินข้าวคลุกน้ำตาทุกวัน ถึงต้องหนีมาบวชไงล่ะ” คนฟังหัวเราะอีก ด้วยคิดว่าท่านพูดเล่น ท่านเองก็ต้องการให้เขาคิดเช่นนั้น เพราะหากจะบอกว่าเป็นเรื่องจริง ก็จะกลายเป็นว่าท่านอุตริมนุสสธรรม

          “พวกแม่ผัวนี่ ทำไมมันถึงได้ร้ายนักนะคะหลวงพ่อ นี่ดีนะที่เป็นหลานฉัน ถ้าเป็นฉันละก็ ฮึ่ม” หล่อนขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน

          “โยมจะทำยังไง เกิดโยมเป็นสะใภ้ และโดนแบบนี้ จะแก้ปัญหายังไง” ท่านซักอย่างนึกสนุก

          “ฉันก๊อจะถลกหนังหัวแม่ผัวมาทำกลองน่ะซีคะ” คนฟังหัวเราะชอบใจ ท่านพระครูเองก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ โชคดีที่ไม่มี “แม่ผัว” นั่งอยู่ ณ ที่นั้นแม้แต่คนเดียว มิฉะนั้นก็คงสนุกกันยกใหญ่

          “โอ้โฮ คิดเหมือนอาตมาเปี๊ยบเลย ตอนนั้นอาตมาก็คิดอย่างที่โยมว่ามานี่แหละ แต่เดี๋ยวนี้เลิกคิดแล้ว พอมาเป็นพระ เลยเลิกคิด”

          “แหม ฉันชักอยากจะเป็นลูกสะใภ้เขาซะแล้วซีหลวงพ่อ” คนเป็นน้ารู้สึกดังที่ปากพูด

          “ยังงั้นหรือ ตอนนี้โยมอายุเท่าไหร่แล้วล่ะ”

          “ห้าสิบค่ะ” สาววัยเที่ยงคืนตอบ

          “อ้อ...อายุห้าสิบ ถ้าคิดอยากจะแต่งงาน อยากจะเป็นสะใภ้” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงพูดยิ้ม ๆ บุรุษและสตรีที่นั่งในที่นั้นต่างก็มี “ใบหน้าอันเปื้อนยิ้ม” ด้วยกันทุกคน...

 

มีต่อ........๕๑

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #53 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 06:30:11 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00051
๕๑...

            ขณะขับรถกลับจากงานศพของสามีนางเน้ย นายสมชายดูเคร่งขรึม ไม่ช่างเจรจาพาทีเหมือนเช่นเคย จนท่านพระครูรู้สึกผิดสังเกต ความทุกข์อันใหญ่หลวง ที่ชายหนุ่มกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือทำอย่างไรจึงจะมีเงินแต่งงาน

            ฝ่ายผู้หญิงเขาเรียกค่าสินสอดเป็นเงินถึงสี่หมื่นบาท อีกทองหมั้นหนัก ๕ บาท เบ็ดเสร็จแล้วเขาจะต้องมีเงินถึงสี่หมื่นแปดพันบาท จึงจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าบ่าว เงินตั้งเกือบครึ่งแสนจะไปหาได้จากที่ไหน ก็ยืมใครเขาก็คงไม่ให้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ครั้นจะเอาวัดป่ามะม่วงไปจำนองกับธนาคาร ก็ไม่รู้ว่าหลวงพ่อท่านจะอนุญาตหรือเปล่า ยิ่งคิดก็ยิ่งร้อนรุ่มกลุ้มทรวง แต่กาลก่อนก็สุขใจสุขกายสบายดีอยู่ พอมาตกห้วงรักเหวลึก ก็มีอันทุกข์ระทบตรมไหม้ไม่เว้นแต่ละวัน “นี่แหละน้า เขาว่าอยู่ดีไม่ว่าดี” ลูกศิษย์กันกุฏินึกสมน้ำหน้าตัวเอง

            “สงสัยว่าพรุ่งนี้พระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตกเสียกระมัง” ท่านพระครูเปรยขึ้น คิดว่าฝ่ายนั้นจะโต้ตอบก็เห็นยังเงียบอยู่ นายสมชายกำลังใช้ความคิดอย่างหนัก จึงไม่ได้ยินที่ท่านพูด

            “กำลังเข้าฌานอยู่หรือไง สงสัยจะเข้าจตุตถฌาน” ท่านเย้าอีก ครั้งนี้คนถูกเย้ารู้สึกแค่ว่ามีเสียงผ่านหู หากมิได้สำเหนียกว่าท่านพูดว่ากระไร

            “สมชาย เธอเอาหูมาด้วยหรือเปล่า หรือว่าลืมไว้ที่บ้านงานโน่น จะกลับไปเอาก็ยังทันนะ” ครั้งนี้ท่านพูดดังกว่าเก่า

            “อะไรนะครับ หลวงพ่อว่าอะไร” คนถูกเรียกเพิ่งจะรู้สึกตัว

            “ทำไมเดี๋ยวนี้เธอเหม่อ ๆ ยังไงชอบกล มีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า”

            “ก็...ก็ไม่...ไม่มีอะไรนี่ครับ” ปฏิเสธเสียงอ่อย

            “ไม่ ไม่มี ก็แปลว่ามี เพราะปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ ย่อมกลายเป็นบอกเล่า เธอมีอะไรไม่สบายใจก็บอกมา หรือถ้าไม่บอกมา ฉันจะได้บอกไป” ท่านเริ่มยั่ว นายสมชายไม่มีอารมณ์จะโต้ตอบ จึงระบายความกลุ้มให้ท่านฟังแทน

            “ฝ่ายผู้หญิงเขาเรียกค่าสินสอนทองหมั้นตั้งร่วมห้าหมื่น ผมไม่รู้จะไปหาที่ไหน ก็เลยร้อนรุ่มกลุ้มทรวงอยู่นี่ไงครับ”

            “แหม น่าสงสารจริง เอาเถอะตัวฉันนะ สงสารเธอใจแทบขาด และฉันก็อยากช่วยเธอ ทว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยได้ ก็เลยจะไม่ช่วย”

            “โธ่ หลวงพ่อ พูดเสียดิบดี ที่แท้ก็จะสรุปว่าช่วยไม่ได้ ผมรึอุตส่าห์ตั้งใจฟัง” นายสมชายต่อว่า รู้สึกความทุกข์ค่อยเบาบางลงเมื่อได้ระบายให้ท่านฟัง

            “อ้าว ก็จริง ๆ นี่นา ฉันอยากจะให้เธอสมหวัง แต่ฉันก็ไม่มีเงินเดือน เพราะไม่ได้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ แล้วก็ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท เงินห้าหมื่น ฉันก็พอมีหรอก แต่เป็นเงินที่เขาบริจาค ถ้าเธอจะเอาไป...”

            “โอ๊ะ ไม่ครับหลวงพ่อ ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ มันผิดเจตนารมณ์ของญาติโยมเขา เขาเจตนาทำบุญ ไม่ได้ให้ผมเอามาแต่งเมีย” ชายหนุ่มปฏิเสธเป็นพัลวัน

            “ก็ใครว่าฉันจะทำอย่างนั้นล่ะ ฉันยังพูดไม่ทันจบเลย”

            “อ๋อ หรือครับ ขอประทานโทษ ถ้าอย่างนั้นนิมนต์หลวงพ่อพูดต่อให้จบเถิดครับ”

            “ไม่ต้องแล้ว ก็ส่วนที่ฉันจะพูดต่อน่ะ เธอพูดมาหมดแล้ว เอ แต่พอมีทางนะ เธอจะลองดูไหม ลองเอาวัดป่ามะม่วงไปจำนองกับธนาคาร” ท่านตั้งใจจะล้อเล่น หากนายสมชายคิดว่าเป็นจริง จึงรีบสนองว่า

            “แหม ผมก็คิดอยู่ทีเดียว นึกว่าหลวงพ่อจะไม่อนุญาตเสียอีก ต้องขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง พรุ่งนี้ผมขออนุญาตเข้าจังหวัดนะครับ” คนตกหลุมรัก มองเห็นทางสมหวัง

            “เธอจะเข้าไปทำอะไร”

            “ก็ไปติดต่อกับผู้จัดการธนาคารซีครับ หลวงพ่อว่าควรจะกู้ธนาคารไหนดี” เขาขอคำปรึกษา

            “ธนาคารไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ ถ้าเขายอมให้กู้ แต่เธอไม่ต้องไปให้เสียเวลาหรอก เพราะฉันรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครเขาทำกัน ฉันเพียงแต่ล้อเธอเล่นเท่านั้น” ถ้อยคำของท่านพระครู ทำให้ความทุกข์ที่กำลังจะลดน้อยลงนั้น กลับเพิ่มระดับขึ้นอีก นายสมชายจึงพูดอย่างขัดเคืองว่า “เอาเถอะ หลวงพ่อไม่ตกที่นั่งอย่างผมบ้างก็แล้วไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่หลวงพ่อเป็นอย่างผม ผมก็จะไม่ช่วยหลวงพ่อเหมือนที่หลวงพ่อไม่ช่วยผม” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรู้สึกสมเพชคนเป็นศิษย์เสียนัก จึงพูดให้สติกับเขาว่า

            “สมชายเอ๋ย อายุฉันก็ปูนนี้แล้ว ล่วงกาลผ่านวัยมาก็มากและที่สำคัญที่สุด คือฉันกำลังดำเนินตามมรรคาที่เป็นทางสายเอก จะให้เปลี่ยนไปเดินสายโทสายตรีนั้น ฉันไม่ทำแน่” เธอปัดความคิดเช่นนี้ออกจากสมองไปได้แล้ว” ลูกศิษย์วัดยังไม่หายเคืองขุ่น จึงเถียงไปข้าง ๆ คู ๆ ว่า

            “มันก็ไม่แน่เสมอไปหรอกครับ ผมเคยอ่านข่าวอยู่บ่อย ๆ คนอายุเจ็ดสิบยังแต่งงานกับคนอายุสิบเจ็ด ขนาดถือไม้เท้ายักแย่ยักยัน ก็ยังอุตริมีเมียคราวลูกคราวหลาน นับประสาอะไรกับคนอายุเพิ่งจะห้าสิบอย่างหลวงพ่อ”

            “นั่นเขาเป็นฆราวาส แต่ฉันเป็นบรรพชิต ไม่เหมือนกันหรอกนะ” ท่านพระครูแย้งเสียงเรียบ

            “ถึงบรรชิตก็เถอะ บางรูปขนาดเป็นถึงท่านเจ้าคุณ ก็ยังอุตส่าห์สึกมาแต่งงาน หลวงพ่อจะให้ผมเอ่ยชื่อไหมล่ะ” ท่านพระครูเห็นว่าจะไปกันใหญ่ จึงรีบกล่าวห้าม

            “สมชาย สมชาย อย่าลามปาม เธอพูดอยู่กับฉันสองคนเท่านั้น อย่าลามปามไปถึงคนอื่น ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างเขา กรรมของเขาทำมาอย่างนั้น แต่ที่ฉันกล้ารับรองกับเธอว่า จะไม่เป็นอย่างเขา ก็เพราะฉันไม่ได้ทำกรรมมาอย่างนั้น ฉันปรารถนาพระนิพพาน ไม่ใช่กามคุณห้า” นายสมชายเห็นว่าถึงอย่างไรก็ไม่สามารถจะเอาชนะท่านได้ จึงนิ่งเสีย ท่านพระครูรู้ว่าเขายังไม่หายหงุดหงิด จึงพูดให้กำลังใจว่า

            “อย่าวิตกทุกข์ร้อนไปเลย อนาคตยังมาไม่ถึง แต่ฉันก็ขอรับรองว่า เธอต้องได้แต่งงานกับผู้หญิงคนนี้อย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องรอเวลาหน่อยเท่านั้น” คนฟังรู้สึกใจมาเป็นกอง จึงกลับมาเป็นสมชายคนเดิมอีกครั้ง

            “หน่อยของหลวงพ่อนะ กี่ปีครับ อย่าให้ผมถึงต้องตะบันน้ำกินนะครับ”

            “ก็ไม่แน่ ถ้าเธอปรารถนาเช่นนั้นก็อาจเป็นได้”

            “แต่ถ้าไม่ปรารถนาล่ะครับ” ศิษย์ก้นกุฏิเริ่มมีอารมณ์ยั่วเย้า

            “ไม่ปรารถนาอะไร”

            “ไม่ปรารถนาเช่นนั้นน่ะครับ” ผู้มิใช่ “ญวน” โดยกำเนิด เจตนายวน

            “หายหยุดหงิดแล้วหรือ” ท่านพระครูย้อนถาม

            “ผมน่ะหรือ หงุดหงิดเรื่องอะไรครับ” คนถามแสร้งตีหน้าเหลอ

            “เรื่องไม่มีเงินไปซื้อบ่วงมาผูกคอน่ะสิ”

            “แหม หลวงพ่อพูดอะไรยังงั้น กะเดี๋ยวผมก็เปลี่ยนใจไม่ตบไม่แต่งมันซะเลย” คนพูดปากไม่ตรงกับใจ

            “ดี ฉันขออนุโมทนา ยิ่งบวชได้ตลอดชีวิตได้ยิ่งดี”

            “หลวงพ่อคร้าบ” คนเป็นศิษย์ตั้งใจลากเสียงให้ยาวแล้วว่า

            “ก็ถ้าบวชกันซะหมด แล้วใคร้จะมาขับรถให้หลวงพ่อนั่งล่ะครับ หรือว่าหลวงพ่อคิดจะขับรถเองขอรับ”

            “อยากรู้ก็ลองบวชดีซี”

            “ยังไม่กล้าลองหรอกครับ ยังไม่กล้า เดี๋ยวเกิดติดใจ บวชแล้วไม่ยอมสึกเหมือนหลวงพ่อ แฟนผมก๊อหม้ายขันหมากน่ะซีครับ”

            “แต่ประเพณีโบราณเขาต้องบวชก่อนเบียดนะ นี่เธอคิดจะเบียดก่อนหรือไง”

            “ก็ดวงผมมันเป็นยังงั้นนี่ครับ” คนพูดโยนกลองไปให้ “ดวง”

            “เธออย่าให้ดวงมากำหนดเธอสิ เธอควรจะกำหนดดวง มันถึงจะถูก”

            “จะถูกยังไง ก็ต้องแพงกว่าเผือกอยู่ดีนั่นแหละครับ” ท่านพระครูรู้สึกงงจึงย้อนถามว่า

            “อะไรแพงกว่าเผือก พูดเรื่องดวงอยู่ดี ๆ ไหงเอาเผือกเข้ามาเกี่ยวด้วย”

            “ก็มันซีครับ ที่หลวงพ่อว่า “มันถึงจะถูก” ผมก็ว่าถูกยังไง ก็ยังแพงกว่าเผือกอยู่ดี หรือว่าหลวงพ่อเคยเห็นเผือกแพงกว่ามันครับ”

            “สมชาย เธอเคยไหม ที่อยู่ดี ๆ ก็เห็นดาวระยิบระยับไปหมดทั้งที่ความจริงไม่มีดาวสักดวงบนท้องฟ้าน่ะ เคยหรือเปล่า” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงถามอย่างเหลืออดเหลือทนเต็มที

            “ไม่เค้ยไม่เคยครับหลวงพ่อ แล้วผมก็ไม่อยากจะมีประสบการณ์อย่างนั้นด้วย ก็พอจะรู้ ๆ ว่ามันคงไม่สนุกนักหรอก” นายสมชายว่า

            “ถ้าอย่างนั้น ก็เปลี่ยนเรื่องพูดได้แล้ว ขืนพูดเรื่องนี้ต่อไป ประเดี๋ยวอาจจะได้ประสบการณ์ที่เธอไม่พึงปรารถนา ที่แนะนำนี่เพราะหวังดีหรอกนะ”

            “ใครจะเป็นคนให้ล่ะครับ หรือว่าหลวงพ่อจะให้ อย่านาครับ ผมไม่อยากเป็นต้นเหตุให้หลวงพ่อต้องอาบัติ เกิดผมตายละก็ หลวงพ่อต้องอาบัติปาราชิกเทียวนะครับ”

            “รับรองว่าฉันไม่ต้องอาบัติแน่ เพราะกรณีนี้ไม่มีผู้กระทำ มีแต่ผู้ถูกกระทำเท่านั้น” ท่านพระครูเล่นสำนวนบ้าง

            “มันก็ไม่สมเหตุสมผลตามหลักกรรมที่หลวงพ่อเคยสอนน่ะสิครับ เอ หรือว่ากรรมมันคอรัปชั่น” เขาทำทีครุ่นคิด

            “ใส่ร้ายกรรม ระวังกรรมจะเล่นงานเธอ เดี๋ยวจะมาหาว่าฉันไม่เตือน วจีกรรมนั้น ถึงจะไม่มีผลมากเท่ามโนกรรม แต่มันก็ทำให้คนฟันหักมามากต่อมากแล้ว” ได้ผล เพราะครั้งนี้นายสมชายปิดปากเงียบ มิใช่กลัวว่าท่านพระครูจะทำร้าย ทว่าตัวเขาเริ่มจะมองเห็นทุกข์โทษแห่ง “วจีกรรม” นี่กระมังที่คนโบราณเขาสอนไว้ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”

            “หลวงพ่อครับ เถ้าแก่ฮิมจะไปเกิดที่ไหนครับ ทุคติหรือสุคติ”

            “อ้าว ทำไมเปลี่ยนเรื่องซะแล้วล่ะ” ท่านพระครูแกล้งยั่ว

            “ก็ผมเคารพนับถือหลวงพ่อ จึงต้องเชื่อฟังหลวงพ่อซีครับ”

            “งั้นหรือ แต่กว่าจะเชื่อฟัง ก็เล่นเอาฉันเหนื่อยเลย เอาเถอะสำหรับเรื่องของเธอ ฉันรับรอง ปีหน้าได้แต่งงานแน่ รอไหวไหม”

            “ไหวครับ แต่ผมขอไม่บวชนะครับ เพราะห่วงว่าจะไม่มีคนขับรถให้หลวงพ่อ”

            “ตามใจ แต่ต้องเข้ากรรมฐาน ๑๕ วัน แล้วก็ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถ้าทำได้ก็จะได้กุศลแรงกว่าพวกที่บวชจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ เสียอีก”

            “ครับ ผมยอมรับข้อเสนอ แต่ใน ๑๕ วัน ที่ผมเข้ากรรมฐาน หลวงพ่อต้องไม่รับนิมนต์ไปข้างนอกนะครับ ผมจะได้ไม่รู้สึกว่าละเลยต่อหน้าที่”

            “ก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้าเจ้าภาพเขาอาสารับส่ง ฉันก็รับนิมนต์ได้”

            “ครับ แต่หลวงพ่อต้องไม่รับนิมนต์ติดต่อกันทั้ง ๑๕ วัน นะครับ”

            “แต่วันพระ ฉันก็งดรับนิมนต์อยู่แล้ว”

            “แต่...หลวงพ่อครับ”

            “แต่อะไรอีกล่ะหือสมชาย”

            “คือผมชักจะเวียนหัวกับคำว่า “แต่” เสียแล้วครับ เราเลิกพูด “แต่” กันดีไหมครับ

            “แต่ฉันยังไม่อยากเลิกนี่” ท่านพระครูยั่วอีก

            “ถ้าอย่างนั้นก็นิมนต์หลวงพ่อพูดเถอะครับ แต่ผมไม่พูดแล้ว”

            “นั่นไง ขนาดว่าไม่พูดก็ยังเผลอ “แต่” ออกมาจนได้”

            “ก็มันลืมนี่ครับ แต่ต่อไปนี้ผมจะไม่ลืม”

            “เอาเถอะ ๆ ฉันก็ชักจะเวียนหัวเหมือนกัน สรุปว่าเรื่องของเธอไม่มีปัญหาและอุปสรรคแต่ประการใด และฉันก็ขอบอกว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฉันจะตั้งเงินเดือนให้เธอเดือนละหนึ่งพันบาท ย้อนหลังไปถึงเดือนที่เธอเริ่มมาทำหน้าที่ขับรถให้ฉัน แต่ก็มีเงื่อนไขว่า”

            “แน่ะ หลวงพ่อ “แต่” อีกแล้ว”

            “เถอะน่า อย่าชักใบให้เรือเสีย เงื่อนไขก็คือ ฉันจะจ่ายให้เธอก็ต่อเมื่อฉันมีเงินส่วนตัวที่ไม่ใช่เงินวัด คืนนี้ฉันจะตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้มีเงินส่วนตัวใช้ โดยไม่ต้องรับราชการ”

            “ให้ผมอธิษฐานเองไม่ดีกว่าหรือครับ จะได้ไม่ต้องรบกวนหลวงพ่อ” ศิษย์ก้นกุฏิพูดอย่างเกรงใจ

            “คนที่ไม่ได้ทำไว้อธิษฐานไม่ขึ้นหรอกสมชาย ไม่งั้นก็อธิษฐานให้รวยกันหมดทุกคนแล้ว ของอย่างนี้มันต้องทำต้องสร้างไว้ก่อน กรรมไม่เคยคอรัปชั่น” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงอธิบาย

            “หรือครับ ถ้าอย่างนั้น ผมก็ขอกราบขอบพระคุณ ที่หลวงพ่อจะอธิษฐานเผื่อผม เถ้าแก่ฮิมแกไปเกิดที่ไหน”

            “เธออยากรู้ไปทำไมกัน”

            “รู้ไปประดับความรู้น่ะครับ เพื่อสอนตัวเองด้วย”

            “งั้นฉันก็จะบอก แต่ก่อนอื่น ฉันขอถามเธอก่อนว่า คนที่ดับจิตในขณะที่ยังห่วงลูกห่วงเมียน่ะ จิตเขาเป็นอย่างไร

            “จิตมีโลภะครับ”

            “แล้วคนที่ตายขณะที่จิตมีโลภะ จะไปเกิดทุคติหรือสุคติล่ะ”

            “ทุคติครับ ไม่เป็นเปรต ก็ต้องเป็นอสุรกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง”

            “ถูกแล้ว ฉันกำลังจะบอกเธอว่า นายฮิมเขาไปเกิดเป็นเปรต”

            “แล้วหลวงพ่อไม่ช่วยเขาหรือครับ”

            “ช่วยไม่ได้ ก็เขาไม่มีทุนเดิมอยู่เลย คนที่ฉันจะช่วยได้นั้นจะต้องมีทุนเดิมอย่างน้อยหกสิบเปอร์เซ็นต์ ทุนที่ว่านี้หมายถึงกุศลกรรม ถ้าใครมีกุศลกรรมอยู่หกสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วมาให้ฉันช่วยก็พอจะช่วยได้ แต่เขาก็ต้องช่วยตัวเองด้วย อย่างเช่น ฉันบอกให้มาเจริญกรรมฐานเพื่อเพิ่มทุน ถ้าเขาไม่มาหรือมาแต่ไม่ปฏิบัติจริงจัง ก็ไม่ได้ผล แก้กรรมไม่ได้”

            “เรื่องของกรรมนี่ลึกลับซับซ้อนจังนะครับ หลวงพ่อ คนบางพวกก็ก่อกรรมทำชั่วโดยไม่กลัวบาป ขนาดหลวงพ่อตักเตือน เขาก็ไม่ยอมเชื่อฟัง”

            “เพราะกรรมเขาทำมาอย่างนั้น”

            “ครับ นึก ๆ ดูก็น่าขำเหมือนกัน คนทุกคนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม แต่บางคนกลับไม่เชื่อกรรม ผมโชคดีที่ได้มาอยู่ใกล้หลวงพ่อ ไม่งั้นก็คงไม่เชื่อเหมือนกัน”

            “เอาละ ๆ จบบทสนทนากันเสียที จะถึงทางแยกเข้าวัดแล้ว ดูซ้ายดูขวาให้ดีล่ะ ประเดี๋ยวจะไม่มีโอกาสได้แต่งานกับเขา” ท่านพระครูเตือน

            “ถึงมีโอกาสก็ไม่แต่งหรอกครับหลวงพ่อ แหม อยู่ดีไม่ว่าดี จะให้ไปแต่งงานกับภูเขาเสียแล้ว แต่งกับคนยังพอว่า” ลูกศิษย์วัดไม่วายเล่นลิ้น เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงไม่โต้ตอบ เพราะต้องทำหน้าที่มองซ้ายขวา ช่วยคนขับซึ่งพูดมาก ปากไม่ค่อยได้พักผ่อนเช่นนายสมชายผู้นี้

            เมื่อรถตู้สีครีมเลี้ยวขวาออกจากถนนสายเอเชีย นายขุนทองซึ่งมานั่งดักรออยู่ที่ศาลาตรงปากทางเข้าวัด ก็วิ่งมาสกัดหน้ารถ นายสมชายจึงจอดรถรับเขาขึ้นมาด้วย

            “ไปไหนมาขุนทอง สามทุ่มกว่าแล้ว ยังไม่หลับอีกหรือ” คนขับตั้งคำถาม

            “หลับได้ไงล่ะพี่ เหม็นอีตาคนนั้นจนอ้วกแตกอ้วกแตน เลยต้องหนีมานั่งที่ศาลา” นายขุนทองตอบ แล้วรายงานท่านพระครูว่า

            “หลวงลุงฮะ มีตาคนนึงมารอหลวงลุงอยู่ที่กุฏิ หนูพาไปห้องพักก็ไม่ยอมไป แกว่าแกป่วยมาก เดินไม่ไหว”

            “เดินไม่ไหวแล้วมาถึงกุฏิข้าได้ยังไง หรือว่ามีคนหามมา”

            “ก็ไม่ทราบเหมือนกันฮะ หนูกำลังจะปิดกุฏิตอนเกือบ ๆ สองทุ่ม แกก็เดินโซซัดโซเซเข้ามาแล้วก็นอนร้องโอย ๆ อยู่หน้าอาสนะหลวงลุงนั่นแหละ”

            “แสดงว่าเขาป่วยมาก แล้วเอ็งทิ้งเขาไว้อย่างนั้นน่ะหรือ ทิ้งแขกของข้าซึ่งกำลังป่วยหนักให้นอนอยู่อย่างนั้นหรือขุนทอง” ท่านเอ็ดหลานชาย

            “โธ่ หลวงลุงฮะ หนูทนไม่ไหวจริง ๆ แกเหม็นอย่างร้ายกาจ ขนาดหนูเข้าไปหลบอยู่ในห้อง กลิ่นเหม็นนั้นก็ยังตามไปราวี หนูอ้วกซะไม่มีดี ทนอยู่ได้สักครึ่งชั่วโมง ก็ยอมแพ้ เลยเดินเล่น ๆ มาจนถึงศาลานั่นแหละฮะ” หลานชายชี้แจง

            “เขาเป็นอะไร ถึงได้เหม็นขนาดนั้น”

            “หนูก็ไม่ทราบฮะ สงสัยคอแกจะเน่า น้ำเหลืองไหลเยิ้มเลย”

            “แล้วเขามาจากไหน เอ็งถามหรือเปล่า”

            “หนูไม่กล้าถามฮะ กลัวกลิ่นเน่าเข้าปาก แค่เข้าจมูกก็เกือบตายแล้ว” นายสมชายอดรนทนไม่ได้ จึงเอ่ยขึ้นว่า

            “เอ็งพูดเกินความจริงแล้วมั้งขุนทอง คนเป็น ๆ อะไรจะเหม็นขนาดนั้น” นายขุนทองชักอารมณ์ไม่ดีด้วยดูเหมือนไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่เขาบอกกล่าว จึง “แว้ด” ใส่คนอายุมากกว่า

            “ไม่เชื่อเดี๋ยวพี่ก็ไปดูเองแล้วกัน แล้วจะรู้ว่าหนูไม่ได้โกหก” พอดีกับรถแล่นมาจอดที่ด้านหลังกุฏิ ทันทีที่ก้าวขาลงจากรถ ท่านพระครูก็มีอันต้องกำหนด “กลิ่นหนอ” ข้างฝ่ายนายสมชายถึงกับบ่นอุบ

            “อะไรกันวะขุนทอง รุนแรงถึงขนาดนี้เชียวหรือ”

            “เป็นไง หนูโกหกหรือเปล่า” ฝ่ายนั้นได้ทีจึงย้อนให้ แล้วหันไปพูดกับท่านเจ้าของกุฏิว่า “หลวงลุงฮะ คืนนี้หนูขออนุญาตไปนอนกับหลวงพี่บัวเฮียวนะฮะ ขืนนอนที่นี่มีหลัวอ้วกทั้งคืน” ท่านพระครูรู้นิสัยของหลานชายที่คิดเสมอว่าตัวเองเป็นผู้หญิง จึงไม่อนุญาต ด้วยเกรงพ่อตัวดีจะไปทำให้พรหมจรรย์ของภิกษุหนุ่มต้องมัวหมอง

            “ไปไม่ได้ เอาเถอะ ข้าอนุญาตให้เอ็งขึ้นไปนอนบนห้องนายสมชาย แล้วให้เจ้าของห้องไปนอนที่กุฏิพระบัวเฮียวแทน”

            “ขอบพระคุณครับหลวงพ่อ เดี๋ยวผมเก็บรถแล้วก็จะไปอาบน้ำที่นั่นเลย โอย ขืนอยู่คงต้องอ้วกแข่งกับเจ้าขุนทองมัน” นายสมชายว่า แล้วจึงนำรถเข้าไปเก็บ

            ฝ่ายนายขุนทองก็กระฟัดกระเฟียดเดินเอามืออุดจมูกเข้าไปในกุฏิ แล้วก็ขึ้นไปนอนชั้นบน ท่านพระครูไม่ว่ากระไร เพราะแม้ท่านเอง ก็ยังแทบทนไม่ได้ “เมื่อเดินไปนั่งที่อาสนะ กลิ่นนั้นก็รุนแรงยิ่งขึ้นจนท่านเกือบจะต้องใช้มือปิดจมูก

            เห็นท่านเข้ามา บุรุษวัยหกสิบพยายามยันกายลุกนั่ง แล้วกราบท่านสามครั้ง “หลวงพ่อครับ ช่วยผมด้วย โอย ทรมานเหลือเกิน” เขาพูด พลางส่งเสียงครวญคราง

            “โยมเป็นอะไรมา” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “โอย...หมอเขาว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองครับ ผ่าตัดมาแล้วสองครั้งก็ไม่หาย มันเหม็นเหลือเกินครับ หลวงพ่อ โอย..ผมกะจะมาตายอยู่กับหลวงพ่อ



            “อ้าว นี่หนีลูกหนีเมียมานี่นา ใช่หรือเปล่า” ท่านจำเป็นต้องใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบเพื่อช่วยให้คนเจ็บไม่ต้องพูดนาน

            “ครับ” เขาสารภาพ

            “ไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ เอาละขอให้บอกชื่อและที่อยู่มา ถ้ายังไงอาตมาจะได้ส่งข่าวไปให้ลูกเมียได้ อย่าพูดปดนา อาตมารู้ว่า โยมมาจากเชียงใหม่ เคยเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยเกษตรกรรม ใช่ไหม แล้วภรรยาเป็นเจ้าของร้านขายผ้าไหมอยู่ในเมือง ลูกชายเป็นปลัดอำเภอ ลูกสาวเป็นพยาบาล ถูกหรือเปล่า”

            “ถูกครับ โอย ทำไมหลวงพ่อทราบ” ถามด้วยความสงสัย

            “ก็กฎแห่งกรรมของโยมบอกอาตมาน่ะซี ไหนบอกชื่อและที่อยู่มาก่อน แล้วที่มานี่เพราะเพื่อนบ้านแนะนำมาใช่ไหมเล่า”

            “ถึงผมไม่บอก หลวงพ่อก็ทราบนี่ครับ โอย..” บุรุษนั้นรู้สึกศรัทธาในตัวท่านขึ้นมาทันที มิเสียแรงที่ลงทุนจ้างรถแท็กซี่มาส่งด้วยราคาถึงห้าร้อยบาท

            “แต่อาตมาต้องการให้โยมบอกเอาละ ช่วยจดใส่สมุดเล่มนี้ให้ด้วย อาตมาจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน” ท่านส่งสมุดเล่มหนาให้ อดีตอาจารย์วิทยาลัยเกษตรกรรมรับมา หากไม่สามารถเขียนได้ จึงเรียนท่านว่า

            “ผมไม่สามารถเขียนได้ครับหลวงพ่อ” แม้อายุจะแก่กว่าท่านถึงสิบปี หากก็เรียกท่านว่า “หลวงพ่อ” อย่างเต็มอกเต็มใจ รู้สึกเหมือนว่าทุกขเวทนาลดลงเมื่อได้พูดคุยกับท่าน

            “ปวดมากจนเขียนไม่ได้หรือ” ท่านพระครูถาม รู้ว่าเขากำลังต่อสู้กับทุกขเวทนา จึงแผ่เมตตาจิตไปช่วยให้ทุเลาลง

            “ที่เขียนไม่ได้เพราะไม่มีปากกาครับ ผมไม่ได้เอาปากกามา” ตอบโดยไม่ต้องผสมด้วยเสียง “โอย” เพราะได้รับกระแสแห่งเมตตาโดยที่เจ้าตัวไม่รู้

            “อ้าว แล้วก็ไม่บอก อาตมานึกว่าปวดมากจนเขียนไม่ได้เสียอีก” พูดแล้วจึงส่งปากกาให้ บุรุษวัยหกสิบรับมาแล้วเขียนชื่อ นามสกุล พร้อมทั้งที่อยู่ของตนลงในสมุดแล้วส่งคืนให้ท่าน

          “อ้อ ชื่อชิตหรือ”

          “ครับ”

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมองหน้าอาจารย์ชิต และเห็นกฎแห่งกรรมของเขาอย่างทะลุปรุโปร่ง ทว่าบุรุษผู้นี้กลับไม่เห็นกฎแห่งกรรมของตัวเอง!

 

มีต่อ........๕๒

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #54 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 06:30:59 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00052
๕๒...

            พระบัวเฮียวไม่อยากจะเชื่อเรื่องที่นายสมชายเล่า แต่คนเล่าอยากให้ท่านเชื่อ จึงต้องนิมนต์ไปพิสูจน์ บังเอิญภิกษุเชื้อสายญวนมีขับข้องใจสงสัย ที่จะเรียนถามท่านพระครูอยู่แล้ว จึงตกลงปลงใจที่จะไปพบพระอุปัชฌายาจารย์ของท่าน

            “เฝ้ากุฏิไว้นะ อย่างเพิ่งหลับล่ะ” ท่านสั่งนายสมชาย แล้วออกเดินพลางกำหนด “ขวา-ซ้าย  ขวา-ซ้าย” ไปยังกุฏิเจ้าอาวาส ครั้นถึงก็ได้กลิ่นเหม็นเน่า คล้ายกลิ่นสุนัขที่ตายมาหลายวัน ท่านคิดว่าคงเป็นอุปาทานมากกว่าจึงกำหนด “กลิ่นหนอ” ทว่าความรุนแรงของมันก็มิได้ลดลง จึงคิดจะเดินกลับ โชคดีที่ท่านพระครูยังไม่เห็น เพราะภิกษุหนุ่มเดินมาเข้าด้านหลังของกุฏิ

            “บัวเฮียว จะกลับไปทำไมล่ะ เข้ามาก่อน” เสียงพระอุปัชฌาย์เรียกออกมาจากข้างใน พระบัวเฮียวเลิกสงสัยมานานแล้วว่า เหตุใดท่านพระครูจึงรู้ว่าท่านกำลังเดินมา ในความคิดของภิกษุหนุ่ม พระอุปัชฌาย์ของท่านเป็น “พระฉฬภิญญา”

            ผู้บวชใหม่จึงจำต้องเดินเข้าไปกราบท่านสามครั้ง แล้งถอยห่างออกมานั่งติดกับประตูด้านหน้า กระนั้นก็มีความรู้สึกอยากอาเจียนเป็นกำลัง

            “ทำไมไปนั่งเสียไกลเชียว เขยิบเข้ามานั่งใกล้ ๆ ซิ” ท่านเจ้าของกุฏิออกคำสั่ง เป็นคำสั่งที่พระบัวเฮียวจำใจต้องปฏิบัติตามอย่างยากเย็นยิ่ง

            “ท่านคงเหม็นผมน่ะครับหลวงพ่อ ผมเองก็ยังแทบจะทนกับกลิ่นของตัวเองไม่ไหว” อาจารย์ชิดพูดอย่างเกรงใจ รู้สึกสงสารจมูกของพระคุณเจ้าทั้งสองรูปนี้ยิ่งนัก ที่เขาต้องหนีลูกหนีเมียซมซานมาหาท่านพระครู ขอมาตายใกล้ ๆ พระ จะได้ไม่ตกนรก

            “บัวเฮียว สมมุตินี่เป็นสนามสอบ เธอลงมือทำข้อสอบได้แล้ว จะตกหรือจะผ่าน ประเดี๋ยวก็รู้ได้”  อาจารย์ชิตไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านพระครูพูด ซึ่งย่อมเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติกรรมฐาน ส่วนพระบัวเฮียวนั้นเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ท่านเริ่มกำหนด “กลิ่นหนอ” ด้วยสติอันไม่ถึงกับว่องไว หากก็ไม่จัดว่าช้า เวลาผ่านไปประมาณสองนาที ก็โอดครวญกับพระอุปัชฌาย์ย่า

            “พระเดชพระคุณหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง งวดนี้กระผมขออนุญาตสอบตกนะครับ ยังเตรียมไม่พร้อม จะกลับไปตั้งหลักก่อน แล้วค่อยกลับมาแก้ตัวใหม่ขอรับ”

            “แล้วถ้างวดหน้าตกอีกล่ะ” พระอุปัชฌาย์ย้อนถาม

            “ก็ขอไปแก้ตัวงวดโน้นขอรับ” ผู้บวชได้สี่เดือนเศษตอบ ขณะพูดมีความรู้สึกว่ากลิ่นเน่าโชยเข้ามาในปาก จึงเกิดอาการสะอิดสะเอียนจนมิอาจทนนั่งอยู่ได้

            “แล้วถ้าฉันไม่อนุญาตล่ะ” ภิกษุหนุ่มไม่ทันได้ตอบ เพราะรีบลุกออกไปอาเจียนที่กอต้นเข็ม เสร็จแล้วจึงกลับมานั่งน้ำหูน้ำตาไหลเพราะความคลื่นเหียน เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงให้สงสารลูกศิษย์นัก จึงกล่าวอนุญาตว่า

            “เอาเถอะ จะกลับมาสอบคราวหน้าก็ได้ แล้วช่วยกลับไปบอกสมชายด้วยว่า พรุ่งนี้เช้าให้ไปหา ต้นใต้ใบ กับ ต้นไมยราบ มาให้ฉันสักหอบย่อม ๆ จะเอามาปรุงยาให้โยมเขา” ท่านหมายถึงอาจารย์ชิต

            “ครับ ผมกราบลาละครับ” ภิกษุหนุ่มกราบพระอุปัชฌาย์สามครั้งแล้วลุกออกมา แวะอาเจียนที่กอต้นเข็มอีกครั้ง จึงเดินกลับกุฏิของท่าน ความรู้สึกพะอืดพะอม ทำให้ลืมกำหนด “ขวา-ซ้าย” มานึกได้ก็ต่อเมื่อถึงที่พักแล้ว

            “ผลแห่งการพิสูจน์เป็นยังไงครับหลวงพี่” นายสมชายถาม

            “จะเป็นยังไง แต่เอาเถอะ อาตมาจะไม่บอกคุณหรอก”

            “บอกเถอะครับ ผมอยากรู้”

            “แต่อาตมาไม่บอก”

            “บอกเถอะครับ เพราะผมอยากรู้จริง ๆ แล้วความอยากรู้ของผมนั้นมีมากกว่าความไม่อยากอกของหลวงพี่เสียอีก ฉะนั้นหลวงพี่จะต้องบอก” ลูกศิษย์วัดอ้างเหตุผลที่เข้าข้างตัวเอง

            “คุณเอาอะไรมาวัด”

            “ไม่ต้องวัดหรอกครับหลวงพี่ ของมันเห็นกันเจ๋ง ๆ อยู่แล้ว จะต้องไปวัดเวิ้ดทำไมกัน”

            พระบัวเฮียวคร้านที่จะเถียง จึงบอกเสียงอ่อย ๆ ว่า “อาตมาสอบตกอย่างไม่เป็นท่าเลย”

            “สอบอะไรครับ สอบบรรจุหรือสอบเลื่อนตำแหน่ง” ชายหนุ่มถามงง ๆ

            “ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือพออาตมาไปถึง หลวงพ่อท่านก็ให้สอบ แล้วอาตมาก็สอบตก เอ แต่หลวงพ่อท่านฝากสั่งมาหาคุณแน่ะ” ท่านเปลี่ยนเรื่องด้วยไม่ต้องการให้ฝ่ายนั้นรับรู้ความพ่ายแพ้ที่ท่านได้รับมาหยก ๆ

            “ท่านสั่งถึงผมว่ายังไงครับ”

            “ท่านว่า พรุ่งนี้เช้าให้คุณไปหาต้นใต้ใบกับต้นไมยราบมาสักหอบย่อม ๆ ท่านจะเอาไปปรุงยาให้โยมเขา” คนรับฝากคำสั่งถ่ายทอดความได้ทุกถ้อยคำ

            “โยมไหนครับ” เขาคิดว่าคงจะเป็นบุรุษคอเน่าคนนั้น

            “เอ อันนี้อาตมาก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะหลวงพ่อท่านไม่ได้บอก” คนฉลาดแต่ไม่เฉลียว ตอบไม่เต็มเสียง

            “งั้นพรุ่งนี้ หลวงพี่ช่วยเตือนผมอีกทีแล้วกัน เอาละทีนี้กรุณาเล่าให้ผมฟังหน่อยว่า หลวงพี่ไปสอบอะไรมา ที่พูดค้างไว้เมื่อกี้น่ะ” คนเป็นฆราวาสวกกลับมาเรื่องเดิม

            “แหม อาตมานึกว่าคุณลืมไปแล้ว หลงดีใจว่าจะได้ไม่ต้องเล่า” ภิกษุหนุ่มรู้สึกผิดหวัง

            “ผมไม่ลืมหรอกครับหลวงพี่ แล้วผมก็รู้ด้วยว่า หลวงพี่อยากให้ผมลืม ไอ้ผมมันก็คนหัวรั้นเสียด้วย คือถ้าใครอยากให้ผมลืม ผมมักจะจำ”

            “ระวังเถอะ คนที่หัวรั้นน่ะต่อไปจะหัวล้าน” นายสมชายสะดุ้ง เพราะครั้งหนึ่งท่านพระครูก็เคยพูดเรื่องผมบนศีรษะของเขาว่า ในอนาคตมันจะลดปริมาณลง เมื่อมาถูกพระบัวเฮียวสะกิดอีก จึงถึงกับใจฝ่อ ก็ผู้ชายคนไหนบ้างอยากจะหัวล้าน ถึงผู้หญิงก็เถอะ

            “แหม หลวงพี่พูดอะไรยังงั้น เล่นเอาผมใจคอไม่ดี” เขาต่อว่าภิกษุหนุ่ม

            “ทำไม่ กลัวหรือ”

            “ก็กลัวซีครับ เกิดเป็นตามปากหลวงพี่ ผมกลุ้มตายแน่ ๆ”

            “อย่ากลัวเลยคุณ ถ้าคุณมีกรรมจะต้องเป็นอย่างนั้น ก็ขอภาวนาให้เป็นหลังแต่งงานเถอะ ขืนเป็นก่อนแต่งงานผู้หญิงเขาคงไม่ยอมแต่งกับผมแน่”

            หากเป็นเมื่อก่อน ใจของพระบัวเฮียวจะต้องซัดส่ายทุกครั้ง เมื่อได้ยินคนพูดเรื่องแต่งงาน แล้วก็คิดอยากจะสึกออกไปมีคู่ครองเฉกเช่นคนอื่น ๆ บ้าง แต่หลังจากที่ท่านได้ปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด จนสามารถแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปยังโยมมารดา ถึงกับทำให้ท่านได้รับรางวัลเป็นอาหารทิพย์จากเทวดา ปรากฏการณ์สองอย่างนี้ ทำให้ท่านตั้งปณิธานว่าจะไม่สึกออกไปเป็นผู้ครองเรือนอย่างเด็ดขาด

         นับแต่บัดนั้น ท่านก็มิได้หวั่นไหว ยามได้ยินได้ฟังเรื่องเช่นว่านี้ ทั้งความคิดที่จะสึกก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีก

            “ถ้าเขาไม่ยอมแต่งก็ดีน่ะสิ จะได้รู้ว่า เขารักเราที่รูปร่างหน้าตา อาตมาเคยได้ยินหลวงพ่อท่านสอนญาติโยมว่า คนที่รักกันด้วยรูปโฉมโนมพรรณ หรือทรัพย์สมบัตินั้น ไม่ใช่รักแท้”

            “ต้องรักด้วยอะไรล่ะครับ จึงจะเรียกว่ารักแท้” ศิษย์วัดแกล้งถามเพื่อลองภูมิ หลวงพี่”

            “หลวงพ่อท่านว่า ต้องรักด้วยใจ ด้วยคุณความดี รักอย่างนี้ถึงจะยั่งยืน อย่างแรกไม่ยั่งยืนเพราะพอหมดเงิน หมดสวย รักก็จืดจางร้างรา” ผู้บวชใหม่ พูดตามที่ได้ยินได้ฟังมาจากพระอุปัชฌาย์

            “ทำไมต้องเป็นหลวงพ่อท่านว่าด้วยล่ะครับ เป็นหลวงพี่ว่าไม่ได้รึไง” นายสมชายทักท้วง

            “อาตมายังไม่เคยมีประสบการณ์” ภิกษุหนุ่มให้เหตุผล

            “ก็เมื่อไหร่จะมีล่ะครับ เมื่อไหร่”

            “อาตมาไม่พึงปรารถนา จริงอยู่เมื่อก่อนอาตมาเคยคิด แต่เดี๋ยวนี้ไม่คิดแล้ว พอปฏิบัติกรรมฐานมาก ๆ จิตมันก็ไม่ยอมรับสิ่งนี้ไปโดยปริยาย ไม่ต้องมีการฝืนด้วย มันก็แปลกดีนะ คุณน่าจะลองบ้าง”

            “อย่าให้ผมลองเลยครับหลวงพี่ ผมยังไม่อยากจะเป็นพระอรหันต์ ยังรักที่จะเป็นปุถุชนคนเดินดินอย่างนี้แหละ” นายสมชายรีบปฏิเสธ

            “คุณคิดว่าการเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นกันได้ง่าย ๆ งั้นหรือ” พระบัวเฮียวย้อน

            “ง่ายหรือยาก ผมก็ไม่อยากเป็นหรอกครับ”

            “แต่ถึงอยาก ก็ใช่ว่าจะได้เป็นดังที่อยาก หลวงพ่อท่านบอกว่า การเป็นพระอรหันต์ต้องปฏิบัติข้ามภพข้ามชาติ แล้วก็ต้องทำด้วยตัวเอง ทำแทนกันไม่ได้ ซื้อเอาก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่บัตรผู้แทน”

            “แหม หลวงพี่อ้างหลวงพ่ออีกแล้ว เมื่อไหร่จะเลิกอ้างแบบนี้เสียที คนเราควรจะมีความคิดเป็นของตัวเองมั่ง” นายสมชายว่า

            “มันก็มีบ้างเหมือนกันแหละ ความคิดที่เป็นของตัวเองน่ะ แต่มันออกจะเปิ่น ๆ ไม่ฉลาดเฉลียวนัก พูดออกมาทีไร เป็นถูกคนเขาหัวเราะเยาะทุกที เลยต้องอ้างหลวงพ่อ จะผิดจะถูกยังไงก็ให้ไปถามหลวงพ่อเอาเอง แต่ก็แปลกนะคุณ พออาตมาอ้างหลวงพ่อ ก็ไม่เห็นใครหัวเราะเยาะ เลยต้องอ้างบ่อย ๆ จนชิน” พระบัวเฮียวอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องอ้างคำพูดของอาจารย์

            “เอาเถอะครับ เรายุติเรื่องนี้กันดีกว่า หลวงพี่ตอบผมได้แล้วว่า ไปสอบอะไรมา” นายสมชายทวงคำตอบ

            พระบัวเฮียวเห็นว่าไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ จึงจำใจเล่าให้ชายหนุ่มฟัง พร้อมทั้งลงความเห็นว่า

            “ไม่น่าเป็นไปได้ ที่คนเป็น ๆ จะเหม็นราวกับซากศพ นี่ถ้าอาตมาไม่ได้เห็นมาด้วยตาตัวเอง เป็นไม่เชื่อเด็ดขาด”

            “ไม่รู้ว่าหลวงพ่อท่านทนได้ยังไงนะ ผมละสงสารท่านจังเลย ที่ต้องสงเคราะห์คนทุกประเภทโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นใครมีชีวิตลำบากลำบนเหมือนท่าน ในโลกนี้จะมีอีกสักกี่คนที่เป็นอย่างท่าน หรือหลวงพี่ว่ายังไง”

            “อาตมาว่า ไม่มีอีกแล้ว คนที่ประเสริฐอย่างหลวงพ่อ หาไม่ได้อีกแล้ว ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกไหน ๆ” พระบัวเฮียวพูดจากใจจริง

            “นั่นสิครับ แล้วผมก็เสียดายแทบขาด ที่ท่านจะต้องจากพวกเราไปในอีกสี่ปีข้างหน้า หลวงพี่ทราบเรื่องที่ท่านจะต้องได้รับอุบัติเหตุรถคว่ำแล้วใช่ไหมครับ”

            “รู้แล้ว แต่มันยังไง ๆ อยู่นะ อาตมาค่อนข้างมั่นใจว่า ท่านจะไม่มรณภาพในลักษณะเช่นนั้น บุญบารมีที่ท่านสะสมไว้ จะช่วยท่านได้ อาตมาแน่ใจเช่นนั้น”

            “หมายความว่า หลวงพี่ไม่เชื่อที่หลวงพ่อบอกหรือครับ แสดงว่าหลวงพี่ไม่เชื่อว่าท่านได้อภิญญาจริงอย่างนั้นหรือครับ”

            “เชื่อสิ อาตมาเชื่อว่า ท่านได้อภิญญา ๖ ด้วยนะ ท่านเป็นพระอรหันต์ประเภท “ฉฬอภิญญา” อาตมาเชื่ออย่างนี้

            “หลวงพี่อย่าไปพูดอย่างนี้ต่อหน้าท่านนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เตือน เคยมีคนคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านบอกอย่าคิดอย่างนั้น ท่านเป็นพระอรเหต่างหาก เพราะใครมีทุกข์ ก็จะเหเข้ามาหาเพื่อให้ท่านช่วย”

            “คนอื่นจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับอาตมา ท่านเป็นพระอรหันต์ที่ได้อภิญญาครบทั้ง ๖ ท่านเป็น “พระฉฬภิญญา” ภิกษุหนุ่มย้ำ

            “เอาเถอะครับ หลวงพี่อยากจะคิดอย่างนั้นก็ตามใจ แต่อย่าได้ไปพูดอย่างนี้ให้ท่านฟังเชียว ถูกดุแน่ ๆ นี่กี่ทุ่มกี่ยามแล้วล่ะ ผมชักง่วงแล้ว นอนกันเถอะครับ”

            “เชิญคุณนอนก่อนเถอะ อาตมาจะปฏิบัติกรรมฐานเพื่อแผ่เมตตาไปให้หลวงพ่อท่าน บางทีอาจช่วยท่านได้นะหรือคุณว่ายังไง”

            “ครับ อาจเป็นได้ ก็หนูยังช่วยราชสีห์ได้นี่ครับ หลวงพี่ตัวใหญ่กว่าหนูตั้งแยะ” นายสมชายว่า จากนั้นก็ล้มตัวลงนอน ไม่ช้าก็ส่งเสียงกรนเบา ๆ แสดงว่าหลับสนิท พระบัวเฮียวนั่งสมาธิกำหนด “พอง-หนอ” และ “ยุบ-หนอ” เป็นเวลาสองชั่วโมง ถอนจิตออกจากสมาธิแล้วแผ่เมตตา และอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่านพระครู จากนั้นจึงจำวัด

            พระบัวเฮียวกลับออกไปแล้ว ท่านพระครูจึงพูดกับอาจารย์ชิตว่า

            “ยังไม่ทันไร สอบตกเสียแล้ว โยมอย่าไปถือสาท่านเลยนะ ท่านเพิ่งบวชไม่ทันครบพรรษาเลย” อาจารย์ชิตพอจะเข้าใจความหมายที่ท่านพูดจึงตอบว่า “ผมไม่คิดอย่างนั้นหรอกครับ เพราะถ้าเป็นผม ก็ทนไม่ได้เช่นกัน แล้วผมก็เกรงใจหลวงพ่อมากที่ต้องมาทนกับกลิ่นเหม็นเน่าราวกับซากศพอย่างนี้ ผมคงบาปมากใช่ไหมครับ ถึงได้เน่าทั้งที่ยังไม่ตาย”

            “อย่าเพิ่งไปคิดอะไร แล้วก็ไม่ต้องเกรงใจอาตมาแต่ประการใด ไหนลองตอบอาตมามาซิว่า โยมอยากหายหรือเปล่า”

            “ผมยังมีโอกาสที่จะหายได้หรือครับ คงเป็นไปไม่ได้ หลวงพ่ออย่าปลอบใจผมเลยครับ ที่ผมดั้นด้นมาก้ไม่ได้หวังว่าจะหาย เพียงแต่จะขอมาตายใกล้ ๆ หลวงพ่อเท่านั้น” อาจารย์วัยหกสิบ พูดอย่างปลงตก

            “แต่อาตมาดูแล้ว่า มีทางเป็นไปได้ถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ขอให้เชื่ออาตมา แล้วทำตามที่บอกก็แล้วกัน”

            ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผมจะขอบวชตลอดชีวิตเลยครับ ขออุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนา ชีวิตฆราวาสของผมสิ้นสุดลงเพราะโรคร้าย การได้ชีวิตใหม่ ผมถือว่าเป็นเพราะอำนาจบุญกุศล ผมจึงขอต่อบุญด้วยการบวชตลอดชีวิต”

         “อย่าคิดไกลถึงขนาดนั้นเลยโยม อนาคตเป็นของไม่แน่ ถ้าโยมคิดว่าจะบวช ก็ขออธิษฐานไว้แค่พรรษาเดียวก็พอ ถ้าไปบอกว่าจะบวชตลอดชีวิต แล้วเกิดทำตามที่พูดไม่ได้ ก็จะเสียสัจจะ เรื่องสัจจะนี่สำคัญมากนะโยม ลูกศิษย์อาตมาคนหนึ่งชื่อนายอู่ กำลังจะจมน้ำตายเพราะอุบัติเหตุเรือพลิกคว่ำ ก็อธิษฐานว่า หากรอดชีวิตจะบวชหนึ่งพรรษา เสร็จแล้วก็ไม่ทำตามที่พูด แกบนไว้ตั้งแต่ลูกสาวยังอยู่ในท้อง จนลูกสาวแต่งงานก็ยังไม่ยอมบวช อาตมาเตือน ก็ผัดเมื่อนั้นเมื่อนี่อยู่เรื่อย ในที่สุดก็เลยรถคว่ำคอหักตาย นี่แหละผลของการเสียสัจจะ ในกรณีของโยมก็เหมือนกัน ขอให้ตั้งใจไว้ว่าจะบวชอย่างน้อยหนึ่งพรรษา หลังจากนั้น จะสึกหรือไม่สึก ก็ไม่ถือว่าเสียสัจจะ เข้าใจหรือยัง”

            “ครับ ผมจะอธิษฐานไว้หนึ่งพรรษาก่อน หลังจากนั้นก็จะอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ โดยไมสึก”

            “ตามใจโยมก็แล้วกัน แต่อาตมาดูแล้ว โยมจะต้องสึกออกไปดูแลกิจการร้านค้า บวชตลอดชีวิตไม่ได้แน่” ท่านพระครูพูด “กฎแห่งกรรม” ของอาจารย์ชิต บอกท่านว่า ภรรยาเขาจะตายด้วยโรคมะเร็ง ในอีกสามปีข้างหน้า ท่านไม่บอกเขาในตอนนี้ แต่จะบอกต่อเมื่อเขาหายป่วยแล้ว

            “ภรรยาผมเขาดูแลได้ครับหลวงพ่อ เขาเก่งเรื่องค้าขาย แล้วก็แข็งแรงไม่เคยเจ็บป่วย เขาคงทำบุญมาดี อย่างน้อยก็ดีกว่าผมแหละครับ”

            “แต่คนที่ทำบุญมาดี พอมาชาตินี้ไม่ต่อบุญ น้ำมันก็หมดได้เหมือนกันนะโยม” ท่านพระครูแย้งเสียงเรียบ เพราะรู้ว่าอีกสามปี ภรรยาอาจารย์ชิตนะ “น้ำมันหมด” ชนิดที่ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้

         “บุญกุศลก็มีวันหมดได้หรือครับหลวงพ่อ” คนเป็นโรงมะเร็งถาม

            “ได้สิโยม ก็เหมือนกับน้ำมันรถแหละ หมดเมื่อไหร่รถก็วิ่งต่อไปไม่ได้ ถึงต้องเติมน้ำมันไงล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิ อธิบายเชิงเปรียบเทียบให้คนเป็นอาจารย์ฟัง

            “ถ้าอย่างนั้น บาปก็หมดได้ใช่ไหมครับ” อาจารย์ชิตถาม การได้สนทนากับพระครู ทำให้เขารู้สึกเพลิดเพลิน จนลืมความเจ็บปวดได้ชั่วครั้งคราว แท้ที่จริง “พลังเมตตา” ที่ท่านแผ่มาให้นั่นดอก ที่ช่วยบรรเทาเบาคลายความทุกข์ให้เขา

            “ได้ ถ้าหากมีการชดใช้ สมมุติว่าโยมไปขอยืมเงินเขามา แล้วก็ไม่ใช้คืนเขา โยมก็ได้ชื่อว่าเป็นหนี้เขาอยู่ต่อเมื่อใช้คืนเขาเมื่อใด ก็เป็นอันว่าหมดหนี้ พูดถึงเรื่องหนี้ อาตมานึกถึงเรื่องของตัวเองได้ โดยมอยากฟังหรือเปล่า ถ้าไม่อยาก อาตมาจะได้ไม่เล่า”

            “อยากครับ หลวงพ่อกรุณาเล่าเถิดครับ ผมรู้สึกสบายขึ้น เมื่อได้คุยกับหลวงพ่อ อาการเจ็บปวดดูเหมือนลดน้อยลงไปจนเกือบจะเหมือนคนปกติ หลวงพ่อกรุณาเล่าเถิดครับ

            “แล้วห้ามเอาไปเล่าต่อนะ เพราะเรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว และก็จบลงเป็นอดีตไปแล้ว”

            “ครับ ผมจะไม่เล่าให้ใครฟังหากไม่เผลอ”

            “ตกลง ถ้าเล่าตอนเผลอ อาตมาไม่ว่า แต่ถ้าไม่เผลอ ห้ามเล่านะ”

            “ครับ” บุรุษวัยหกสิบรับคำ

            ท่านพระครูจึงเล่าว่า “สมัยที่อาตมาบวชใหม่ ๆ อาตมาคุ้นเคยกับเจ๊คนนึง แกชื่อเจ๊ลั้ง วันหนึ่งแกก็มาหาอาตมา บอก “หลวงพ่อ ขอยืมเงินฉันสักห้าพันได้ไหม ฉันจะเอาไปให้เฮียเขาลงทุนค้าขาย” เจ๊ลั้งแกมากับสามี จะชื่ออะไรอาตมาก็จำไม่ได้เสียแล้ว ตอนนั้นอาตมาเงินเยอะ เพราะยายทิ้งสมบัติไว้ให้ ทั้งเงินทั้งทอง ทองนั่นก็ดูเหมือนจะสักสี่สิบบาทเห็นจะได้ เป็นทองรูปพรรณ มีทั้งเข็มขัด สร้อยข้อมือแล้วก็สร้อยสังวาล ที่คนสมัยก่อนเขาใส่กัน อ้อ! แล้วก็มีร่างแหทองคำอันใหญ่อีกสองอัน”

            “อะไรครับ หลวงพ่อ ร่างแหทองคำ” อาจารย์ชิตถาม

            “ก็ลักษณะเหมือนกับแห ที่เขาเด็กผู้หญิงใส่น่ะ สมัยนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว เพราะเขาใส่กางเกงแทน”

            “อ๋อ ตะปิ้งใช่ไหมครับ”

            “คงงั้นมั้ง อาตมาเองก็ไม่เคยใส่กับเขา เพราะเป็นเด็กผู้ชาย” ท่านพระครูพูดติดตลก

            “ผมก็เคยซื้อให้ลูกสาวใส่ครับ สมัยที่แกเด็ก ๆ เดี๋ยวนี้แม่เขายังเก็บไว้ บอกเอาไว้ให้รุ่นหลานดู”

            “นั่นแหละ ทีนี้เจ๊ลั้งแกมาขอยืมเงินห้าพัน แกกำลังท้องแก่ด้วย ตอนที่มาน่ะ ท้องลูกคนแรก”

            “แล้วหลวงพ่อให้หรือเปล่าครับ”

            “ให้สิ อาตมาไม่หวงหรอก ถ้ามีไม่เคยหวง อาตมาก็ให้แกยืมไป แต่ก็นึกสังหรณ์ใจว่า คงจะไม่ได้คืน แล้วก็ไม่ได้คืนจริง ๆ อาตมาจนบันทึกไว้นะ พอแกกับสามีกลับ อาตมาก็ขึ้นไปจดบันทึกว่า “วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๙๒ เวลา ๑๔.๐๐ น. เจ๊ลั้งที่อยู่นครนายกมายืมเงินไปห้าหันบาท รู้สึกสังหรณ์ใจว่าจะไม่ได้คืน”

            “แล้วหลวงพ่อได้คืนหรือเปล่าครับ”

            “ไม่ได้จนบัดนี้ อาตมาก็ไม่กล้าทวงแก เพราะทวงหนี้ใครไม่เป็น ก็ไม่รู้ว่าทำไมแกถึงลืมได้ แกมาที่นี่หลายครั้ง แต่ไม่เคยพูดเรื่องเงินเลย ฉะนั้นจะว่าแกตั้งใจโกงก็ไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แกก็ต้องหลบหน้าหลบตา ไม่มาให้เห็นหน้า จริงไหม”

            “จริงครับ เอาอย่างนี้ไหมครับหลวงพ่อ ถ้าวันหลังแกมาที่นี่อีกหลวงพ่อกรุณาบอกผม ผมจะพูดให้เองดีไหมครับ” อาจารย์ชิตขันอาสา

            “ไม่ต้องหรอกโยม มันจบสิ้นกันไปแล้ว ฟังก่อน อาตมายังเล่าไม่จบ คือเมื่อปีที่แล้วนี่เอง แกก็มานิมนต์ไปงานแต่งงานลูกสาว ก็คนที่อยู่ในท้องตอนที่แกมาขอยืมเงินอาตมานั่นแหละ ก่อนไปอาตมาก็อธิษฐาน “เจ้าประคู้นขอให้ข้าพเจ้าได้เงินห้าพันคืนเถอะ ขอให้เจ๊ลั้งแกนึกได้เถอะ” แล้วก็ไปนครนายก แกส่งรถมารับเพราะตอนนั้นอาตมายังไม่มีรถใช้ ลูกสาวแกแต่งงานวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๖ เป็นเวลา ๒๔ ปีเต็ม ที่แกยืมเงินอาตมาไป พอไปถึงก็ทำพิธี จากนั้นก็ฉันเช้า

            ฉันเช้าเสร็จ อาตมาก็ลากลับ แกก็ไม่พูดเรื่องเงินอีก อาตมารู้สึกผิดหวัง ก็เลยมานั่งกรรมฐานตรวจสอบดูถึงได้รู้ว่า ที่เขาลืมเพราะเราเคยเป็นหนี้เขาไว้ตั้งแต่ชาติก่อนโน่น”

            “ชาติที่แล้วนี่หรือครับ”

            “ไม่ใช่ ก่อนชาติที่แล้ว เมื่อชาติที่แล้ว อาตมายังไม่ทันขอยืมเงินใคร เพราะตายเสียก่อน ดูเหมือนจะตายตอนอายุสักสามสี่ขวบนี่แหละ”

            “เป็นอะไรตายครับ”

            “ตกน้ำตาย คือบ้านอาตมาอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา แล้วพี่เลี้ยงเขาเผลอ อาตมาลงไปเล่นที่ท่าน้ำ ก็เลยตกน้ำตาย นี่โยมห้ามเอาไปเล่าให้ใครฟังนะ เรื่องตกน้ำตายน่ะ การปฏิบัติกรรมฐานมีประโยชน์ตรงนี้แหละ คือทำให้ระลึกถึงกรรมเก่าได้ จะได้ใช้ ๆ ให้หมดไปเสีย ทุกคนก็มีกรรมด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าโยมหรืออาตมาหรือใคร ๆ”

         “แล้วหลวงพ่อบอกเจ๊คนนั้นหรือเปล่าครับ”

         “ไม่ได้บอกอย่างที่เล่าให้โยมฟังหรอก หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน แกก็มาที่วัดอีก อาตมาก็แกล้งถามก่า “เจ๊ อาตมาเคยเป็นหนี้เป็นสินเจ๊ แล้วลืมใช้บ้างหรือเปล่า ลองนึกดูซิ”

แกนึกอยู่นาน แล้วก็บอกว่าไม่ได้เป็น อาตมาก็ถามว่า ถ้าเกิดเป็นตั้งแต่ชาติก่อน ๆ ล่ะ อาตมาจะใช้ให้ชาตินี้ เอาไหม จะได้หมดหนี้กัน แกก็ว่า “เอาเถอะ ฉันยกให้ ถ้าเป็นหนี้ตั้งแต่ชาติก่อน ๆ ฉันยกให้หลวงพ่อ” อาตมาก็ย้ำว่า “จริง ๆ นะ อย่าพูดเล่นนะ” แกก็รับปากรับคำ ซึ่งก็แปลว่า แกอโหสิให้ อาตมาก็เลยบอกว่า ที่แกยืมอาตมาเมื่อยี่สิบปีก่อน อาตมาก็ยกให้เหมือนกัน แกก็นึกขึ้นได้ แล้วบอกจะใช้คืน อาตมาไม่ยอมรับคือ เพราะที่ยืมแกมา ถ้าคิดเป็นเงินในชาตินี้ ก็คงตกสองแสนบาททั้งต้นทั้งดอก ซึ่งถ้าแกเกิดจะเอาคืน ก็ไม่รู้จะไปเอาที่ไหนมาให้”

         “หลวงพ่อก็ได้กำไรซีครับ”

         “ยังงั้นน่ะซิ อาตมาถึงเตือนโยมว่า อย่าเที่ยวพูดเรื่องนี้ให้ใครฟัง เดี๋ยวเขาจะตำหนิว่าหลวงพ่อเจริญค้ากำไรเกินควร” แล้วท่านก็หัวเราะ อาจารย์ชิตพลอยหัวเราะไปด้วย นานนักหนาแล้ว ที่เขาไม่ได้หัวเราะอย่างมีความสุขเช่นค่ำคืนนี้

 

มีต่อ........๕๓

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #55 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 06:31:42 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00053
๕๓...

         เสียงยามเคาะแผ่นเหล็กสิบสองครั้งบอกเวลาเที่ยงคืน ท่านพระครูจึงบอกอาจารย์ชิตว่า

         “สองยามแล้ว โยมควรจะพักผ่อนเสียที พรุ่งนี้อาตมาจะให้ขึ้นกรรมฐาน แล้วก็จะปรุงยารักษาโรคให้ เอาละ ประเดี๋ยวอาตมาจะไปเอาเครื่องนอนมาให้ นอนตรงหน้าอาสนะนี่แหละ” ท่านลุกจากที่นั่งแล้วเดินเข้าไปในห้องนายขุนทอง ประเดี๋ยวหนึ่งก็ออกมาพร้อมเครื่องนอนหนึ่งชุด อาจารย์ชิตรับของจากมือท่านแล้วจัดการปู่เสื่อและกางมุ้ง เขากราบท่านสามครั้ง ด้วยซาบซึ้งในพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้

         “เอาละ นอนได้แล้ว อาตมาจะให้การบ้านตั้งแต่คืนนี้เลย”

         “การบ้านอะไรครับ” บุรุษวัยหกสิบไม่เข้าใจ

         “ก็ให้โยมเริ่มปฏิบัติกรรมฐานเสียตั้งแต่คืนนี้เลยน่ะซี วิธีปฏิบัติคือให้เอามือวางไว้ที่ท้อง สังเกตอาการ พอง-ยุบ ขณะที่หายใจเข้า-ออก เมื่อท้องพอง โยมก็ว่าในใจว่า “พอง-หนอ” เมื่อยุบก็ว่า “ยุบ-หนอ” ทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะหลับ ไม่ต้องไปสนใจความเจ็บปวดที่ตรงคอ ให้เอาสติมาไว้ที่ท้องตลอดเวลา พยายามทำให้ได้ นี่แหละคือการบ้าน อาตมาจะขึ้นไปทำงานต่อล่ะ”

         “หลวงพ่อยังไม่จำวัดหรือครับ”

         “ยังหรอกโยม อาตมาไม่เคยนอนต่ำกว่าตีสอง บางคืนก็ทำงานจนถึงตีสี่ซึ่งเป็นเวลาปฏิบัติกรรมฐานพอดี ก็เลยไม่ต้องนอน เอาละ พักผ่อนเถอะ อาตมาจะขึ้นข้างบนเสียที” ท่านปิดไฟห้องรับแขก แล้วพูดกับ “บุรุษผู้มากับก้อนหิน” ด้วยเสียงแผ่วเบาว่า “ช่วยดูแลแขกของอาตมาด้วยนะ เขากำลังป่วยหนัก”

            “ครับ กระผมจะดูแลอย่างดีที่สุด ขอขอบพระคุณเจ้าอย่าได้เป็นกังวลเลยขอรับ” บุรุษนั้นรับคำ เขานั่งประนมมือ หมอบอยู่ตรงประตูทางขึ้น

         “เอาละ ขอบใจ เป็นยังไงบ้าง ปฏิบัติกรรมฐานไปถึงไหนแล้ว ไม่เห็นมาให้สอบอารมณ์เลย”

         “กระผมเกรงใจพระคุณเจ้าน่ะขอรับ เห็นทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน การปฏิบัติของกระผมก็ก้าวหน้าดีขอรับ หากบรรลุญาณ ๑๖ เมื่อใด ก็จะต้องขอกราบลา”

         “แล้วจวนหรือยังล่ะ”

         “จวนแล้วขอรับ คิดว่าอีกไม่นานคงได้”

         “แล้วไม่ห่วงคู่รักหรือ ไปแล้วไม่ห่วงคนที่มากับเสานั่นหรือ” ท่านหมายถึงเสาตกน้ำมันที่พิงอยู่ใต้ต้นปีบ หลังกุฏิ

         “เรานัดกันแล้วขอรับ กระผมจะไปรอเธอที่สวรรค์ชั้นดุสิต เธอบอกจะอยู่รับใช้หลวงพ่อไปก่อน เธอช่วยกวาดบริเวณวัดทุกคืนเลยขอรับ”

         “อาตมาทราบแล้ว ฝากขอบใจเขาด้วย ลานวัดสะอาดสะอ้านขึ้นมากตั้งแต่เขามาอยู่ เอาเถอะ พากันสร้างบารมีเข้าไว้ จะได้ไม่ตกลงไปในภพภูมิต่ำ อย่าลืมดูแลแขกของอาตมาด้วย จะขึ้นไปทำงานละ” พูดจบ ท่านจึงขึ้นไปชั้นบน

         อาจารย์ชิตไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วจึงล้มตัวลงนอน เอามือวางบนท้องสังเกตอาการเคลื่อนไหวของมันดังที่หลวงพ่อท่านสอน นับตั้งแต่ถูกโรคร้ายรุมเร้า เขากลายเป็นคนโกรธง่าย เจ้าโทสะ ฉุนเฉียว จนลูกเมียเข้าหน้าไม่ติด ห้าปีเต็มที่ต้องมีชีวิตอย่างทุกข์ทรมานและสิ้นหวัง ชะรอยคงเป็นบุญเก่าที่นำให้มาพบพระภิกษุผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เช่นท่านพระครู

         เป็นวันแรกที่เขารู้สึกสบายอกสบายใจ และมีความหวังว่าชีวิตจะปลอดภัยจากโรคมะเร็งร้าย ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น บุรุษวัยหกสิบรู้สึกว่ามีคนเอาสำลีชุบน้ำอุ่นมาเช็ดแผลที่คอ ซึ่งมีน้ำเหลือไหลเยิ้มอยู่ตลอดเวลา และส่งกลิ่นเหม็นอย่างร้ายกาจ ขาพยายามจะลืมตาขึ้นดูว่าเป็นผู้ใด หากก็รู้สึกว่าเปลือกตาหนักจนลืมไม่ขึ้น จะว่าเป็นพ่อหนุ่มกระเทยคนนั้นก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะแกแสดงท่าทางรังเกียจ ขนาดหนีขึ้นไปนอนข้างบน คงเป็นหลวงพ่อผู้มีจิตเปี่ยมด้วยเมตตานั่นเอง แล้วเขาก็ผล็อยหลับไปอย่างมีความสุข เป็นความสุขที่ชีวิตไม่เคยได้สัมผัสในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนั่งเขียนหนังสืออยู่จนถึงตีสอง จากนั้นจึงลงมาล้างมือล้างเท้าที่ห้องน้ำใต้บันได เพื่อเตรียมจำวัด ขณะเอนกายลงอย่างมีสตินั้น บัดดลก็ให้รู้สึกปีติซาบซ่านทั่วสรรพางค์จึงใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบดู พระบัวเฮียวนั่นเองที่เป็นต้นเหตุของความรู้สึกเช่นนี้ ท่านพูดในใจว่า

         “ขอบใจเธอมากบัวเฮียวที่อุตส่าห์แผ่เมตตามาให้ แต่คงจะไม่มีใครช่วยฉันได้หรอก ใครเลยจะฝืนกฎแห่งกรรมไปได้ ฉันรู้ตัวดี วันเสาร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ เวลา ๑๒.๔๕ น. ฉันจะต้องคอหักตายเพราะอุบัติเหตุรถคว่ำ ต้องตายอย่างแน่นอน ฉันตรวจสอบดูแล้ว”

            ก่อนเข้าสู่ห้วงนิทรารมณ์ ท่านหวนระลึกถึงพุทธวจนะที่ว่า “คนทำบาปเอง ตนก็เศร้าหมองเอง ตนไม่ทำบาป ตนก็บริสุทธิ์เอง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะให้คนอื่นบริสุทธิ์แทนไม่ได้”

            เมื่อท่านพระครูกลับจากบิณฑบาต นายสมชายจัดสำรับถวายท่าน แล้วนั่งคอยรับใช้อยู่ห่าง ๆ อาจารย์ชิตยังคงนอนหลับอย่างมีความสุข และท่านเจ้าของกุฏิก็ไม่ต้องการจะรบกวนเขา ด้วยรู้ว่าบุรุษวัยหกสิบมิได้หลับสบายเช่นนี้มาห้าปีแล้ว เมื่อท่านฉันเสร็จ คนที่กำลังหลับอยู่ก็ตื่นพอดี เขารีบออกตัวว่า

         “ผมตื่นสายขนาดนี้เชียวหรือครับ ต้องขอประทานโทษ เพราะหลับสบายดีเหลือเกิน” พูดพลางลุกขึ้นมาเก็บที่นอน รู้สึกกระปรี้กระเปร่าเหมือนไม่ใช่คนที่กำลังป่วยหนัก จากนั้นจึงนำแปรงและยาสีฟันออกมาจากกระเป๋าเสื้อผ้า ท่านพระครูชี้ไปที่ห้องน้ำใต้บันได พลางกล่าวอนุญาตให้เขาเข้าไปใช้ได้

         “หลวงพ่อให้เขาใช้ทำไม ประเดี๋ยวก็เหม็นแย่” นายสมชายติง พอดีกับนายขุนทองทำความสะอาดกุฏิชั้นบนเสร็จ และลงมาข้างล่าง เมื่อรู้ว่าบุรุษนั้นเข้าใช้ห้องน้ำใต้บันได ก็โวยวายลั่น

         “หนูไม่ย้อมไม่ยอม ทำไมหลวงลุงถึงทำแบบนี้”

         “เบา ๆ หน่อยเจ้าขุนทอง ยังไงก็เห็นแก่หน้าข้ามั่ง” ท่านพระครูปราม “มันห้องน้ำของข้า ข้าจะให้ใครใช้ มันก็เรื่องของข้า พวกเอ็งมาเดือดร้อนอะไรด้วย”

         “ดีแล้ว งั้นหลวงลุงทำความสะอาดก็แล้วกัน หนูไม่ทำอีกแล้ว” กระเทยหนุ่มว่า

         “ผมก็คงไม่เหมือนกัน” นายสมชายสมทบ

         “เอาละ ไม่เป็นไร พวกเอ็งไม่ทำ ข้าทำของข้าเองก็ได้ จะได้รู้ว่าคนอย่างพวกเอ็งนั้นเลี้ยงเสียข้าวสุก จิตใจไร้ความเมตตา เขาทุกข์เพราะโรคร้ายก็ทรมานพอแล้ว ยังจะมาทุกข์เพราะกิริยาท่าทางของพวกเอ็งอีก เสียแรงที่อยู่ใกล้ข้า แต่ไม่เอาเยี่ยงอย่างข้าเลยแม้แต่น้อย ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้างซิ ถ้าพวกเอ็งเป็นอย่างเขา จะรู้สึกยังไง” ท่านเจ้าของกุฏิ “เทศน์” เสียยืดยาวจนชายหนุ่มทั้งสองได้คิด เขาก้มลงกราบขอขมา

         “ผมผิดไปแล้วครับ หลวงพ่อกรุณายกโทษให้ผมด้วย” นายสมชายพูดก่อน

         “หนูก็ผิดไปแล้วฮ่ะหลวงลุง หนูกราบขอขมา” นายขุนทองพูดบ้าง

         “พอดีอาจารย์ชิตออกมาจากห้องน้ำ เขาได้ยินการสนทนานั้น หากไม่ถือสา เพราะเข้าใจความรู้สึกของคนทั้งสองดี แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงโกรธหน้าดำหน้าแดงไปเหมือนกัน

         “ผมหลับสนิทเลยครับหลวงพ่อ รู้สึกตัวเหมือนกันตอนที่หลวงพ่อมาเช็ดแผลให้ ผมอยากจะกล่าวขอบคุณ แต่รู้สึกปากมันหนักจนพูดไม่ออก แถมลืมตาก็ไม่ขึ้นด้วยครับ”

         “อ้อ ยังงั้นหรือ มีคนมาพยาบาลตอนหลับหรือ” ท่านพระครูถามยิ้ม ๆ ด้วยรู้ว่า “ใคร” คือบุคคลคนนั้น

         “ไม่ใช่หลวงพ่อหรอกหรือครับ” อาจารย์ชิตถามอย่างฉงน

         “อาตมาไม่ได้ลงมาเอง แต่สั่งคนอื่นมาทำแทน เอาเถอะ ไม่ต้องซักถามอะไร” นายสมชายกับนายขุนทองมองตากัน แล้วหนุ่มกระเทยก็โพล่งขึ้นว่า

         “สงสัยจะเป็นนายก้อนหินมั้ง หลวงลุง”

         “นายก้อนหินไหนครับ” อาจารย์ชิตถาม ท่านพระครูขยิบตาใส่หลานชาย เป็นเชิงห้ามไม่ให้พูด แต่ชายหนุ่มมองไม่เห็น จึงพูดต่อ

         “ก็ที่ครูสองผัวเมียเอามาถวายหลวงลุงนั่นไงที่อยู่....” ยังพูดไม่ทันจบ ก็ถูกนายสมชายสะกิดอย่างแรงจึงต้องหยุด

         “อย่าไปฟังเจ้าขุนทองเลยโยมธาตุมันไม่ค่อยดี เลยชอบพูดเพ้อเจ้ออยู่เรื่อย” หลานชายอ้าปากจะเถียง หากนายสมชายพูดตัดบทขึ้นว่า

         “เราไปกินข้าวที่หอฉันกันเถอะ จะได้ให้อาจารย์กินที่นี่” แล้วเขาก็จัดสำรับที่ท่านพระครูฉันเสร็จแล้วนั้นให้อาจารย์ชิต ตัวเขากับนายขุนทองพร้อมใจกันเดินไปรับประทานที่หอฉันร่วมกับเด็กวัดคนอื่น ๆ

         “ทานอาหารเสียก่อน ประเดี๋ยวจะให้ขึ้นกรรมฐาน ทานได้หรือเปล่า หรือว่าจะทานข้าวต้ม”

         “ไม่ต้องหรอกครับหลวงพ่อ ผมเบื่อข้าวต้นจะแย่อยู่แล้ว วันนี้จะขอทานน้ำพริกผักต้มดู คงไม่มีปัญหาอะไรครับ” แล้วเขาจึงลงมือรับประทาน รู้สึกรสชาติถูกปากจนรับประทานได้หลายคำ ทั้งที่ยังเจ็บคออยู่ รับประทานเสร็จ ก็เตรียมเก็บสำรับจะนำไปล้าง

         “เอาไว้นั่นแหละ ไม่ต้องทำ ประเดี๋ยวสองคนนั่นเขามาจัดการเอง” ท่านหมายถึงคนเป็นศิษย์วัดกับคนเป็นหลาน พอดีนายขุนทองเดินเข้ามา

         “สมขายไปไหนเสียล่ะ” ท่านถาม

         “ไปหาต้นใต้ใบกับต้นไมยราบมาให้หลวงลุงฮะ บอกให้หนูมาเก็บสำรับ” เขายกสำรับออกไปวางบนโต๊ะหลังห้องรับแขก ครอบด้วยฝาชีทำจากตอกไม้ไผ่ แล้วจึงเก็บถ้วยชามที่ใช้แล้วออกไปล้างข้างตุ่มน้ำหลังกุฏิ ค่อยหายใจโลงอกเมื่อห่างบุรุษนั้นออกมา แต่ถึงอย่างไร วันนี้ก็ยังดีกว่าวันวาน อาจเป็นเพราะจมูกเขาเริ่มจะชินกับกลิ่นเน่านั้นก็เป็นได้

         ครู่ใหญ่ นายสมชายก็หอบพืชสมุนไพรสองชนิด เข้ามากุฏิ

         “เอาไปที่โรงครัว สับให้ละเอียดแล้วผึ่งแดด จากนั้นก็นำไปคั่วให้เหลือง แล้วค่อยเอามาที่นี่ อย่าให้ปนกันนะ” ท่านเจ้าของกุฏิสั่งการ ชายหนุ่มจึงหอบสองสิ่งนั้นไปยังโรงครัว เพื่อจัดการตามคำสั่ง

         “ขุนทองช่วยไปตามพระบัวเฮียวมาช่วยนำโยมขึ้นกรรมฐาน แล้วจัดพานดอกไม้ธูปเทียนมาด้วย” ท่านสั่งหลานชายที่เพิ่งเสร็จจากการล้างถ้วยชาม

         “ให้หลวงพี่จัดพานมาด้วยหรือฮะหลวงลุง รู้สึกว่าหลวงพี่จะไม่มีพานนะฮะ” หลานชายท้วง

         “ข้าให้เอ็งต่างหาก”

         “ก็หลวงลุงสั่งไม่ชัดเจนดีแล้วนาหรือว่าโยมว่ายังไง” ท่านหันไปถามอาจารย์ชิต บุรุษวัยหกสิบเพียงแต่ยิ้มหากไม่ออกความเห็น เพราะเกรงนายขุนทองจะโกรธ ทางที่ดีควรนิ่งเข้าไว้

            “เห็นไหมหลวงลุง ที่โยมเขานิ่งก็แปลว่าเขาเห็นด้วยกะหนูใช่ไหมฮะ” เขาถามอย่างจะหาพวก ท่านพระครูจึงพูดตัดบทว่า

         “เอาเถอะ ๆ อย่ามัวมาต่อนัดต่อแนงอยู่เลย รีบไปตามพระบัวเฮียวได้แล้ว หลังจากนั้นให้เอ็งไปเก็บดอกไม้มา พานและธูปเทียนมีอยู่ที่นี่แล้วไง ข้าสั่งขัดเจนหรือยังคราวนี้”

         “ชัดเจ๋งเป้งเลยฮะ” หลานชายใช้ศัพท์ทันสมัย พลางหัวเราะคิก ๆ จากนั้นจึงลุกออกไปตามคำสั่ง

         “ประเดี๋ยวโยมรับศีลแปดก็แล้วกันนะ ไหวหรือเปล่า อาตมาอยากจะให้ฝืนใจหน่อย ถ้าถือศีลแปดจะหายเร็วกว่าศีลห้า เพราะการประพฤติพรหมจรรย์ มันเอื้อต่อการปฏิบัติ”

         “ไหวครับหลวงพ่อ ปกติผมก็ไม่ค่อยได้รับประทานมื้อเย็นอยู่แล้ว จะได้เตรียมตัวไว้ตอนบวชเลย” อาจารย์ชิตรับคำแข็งขัน

         พระบัวเฮียวรู้ว่า อย่างไรเสียก็จะต้องถูกเรียกไปสอบแก้ตัวอีก ดังนั้น หลังจากฉันเช้าเสร็จ ท่านจึงนั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมง โดยไม่เดินจงกรม ถอนจิตออกจากสมาธิ แล้วก็แผ่เมตตาให้ตัวเองและอาจารย์ชิต พร้อมทั้งอธิษฐานขอให้ “สอบผ่าน” นายขุนทองมาถึงตอนท่านแผ่เมตตาเสร็จพอดี

         “หลวงพี่ฮะ หลวงลุงให้มาตามไปนำโยมคอเน่าคนนั้นขึ้นกรรมฐานฮะ” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดรายงาน

         “ขุนทอง อย่าไปเรียกเขาอย่างนั้นเลย เขาได้ยินเข้า มันจะไม่ดี เขาเป็นอาจารย์ไม่ใช่รึ เรียกเขาว่าอาจารย์ดีกว่านะ” พระบัวเฮียวปรามแล้วเสนอแนะ

         “ตกลงฮะ จริงของหลวงพี่ ไอ้หนูมันกระโถนปากแตกเสียด้วย เมื่อเช้าก็ถูกหลวงลุง

เทศน์เพราะเรื่องนี้ เดี๋ยวหลวงพี่ไปเลยนะฮะ หนูจะไปเก็บดอกไม้ก่อน” เข้าไหว้หนึ่งครั้งแล้วเดินจากไป

         พระบัวเฮียวกำหนด “ขวา-ซ้าย” ไปยังกุฏิพระอุปัชฌาย์ ครั้นถึงจึงกราบสามครั้งแล้วนั่งตรงที่ที่เคยนั่ง ชะรอยท่านคงจะปฏิบัติก้าวหน้าขึ้นมาก จึงสามารถทนต่อกลิ่นนั้นได้ดีกว่าวันวาน รู้สึกว่าความเหม็นของมันจะลดลงกว่าครึ่ง

         อาจารย์ชิตกราบผู้มาใหม่สามครั้งโดยไม่ต้องให้ท่านพระครูบอก ครู่หนึ่งนายขุนทองก็ถือดอกไม้เข้ามา เป็นดอกเข็มกับดอกดาวเรือง เขาจัดการนำมาใส่พานพร้อมธูปและเทียน จากนั้นพระบัวเฮียวจึงกล่าวนำอาจารย์ชิต ขอกรรมฐาน และท่านพระครูให้ศีล

         “เอาละ ทีนี่ก็จะลงมือปฏิบัติกันเลย บัวเฮียว เธอกลับที่พักได้แล้ว เป็นอันว่า เธอสอบผ่าน” ท่านเจ้าของกุฏิบอกภิกษุหนุ่ม

         “หลวงพ่อจะสอนโยมเองหรือครับ” พระบัวเฮียวถาม เพราะปกติท่านพระครูจะให้ท่านเป็นผู้สอน

         “ถูกแล้ว รายนี้ต้องสอนเป็นพิเศษ เพราะเขาป่วย มีอะไรที่ต้องแนะนำนอกเหนือไปจากสอนคนปกติ อ้อ แล้วก็ขอขอบใจนะที่แผ่เมตตามาให้เมื่อคืนนี้” ท่านไม่ได้พูดต่อดอกว่า การทำกรรมแทนกันนั้นเป็นเรื่องที่มิอาจทำได้เพราะ “คนอื่นจะให้คนอื่นบริสุทธิ์แทนไม่ได้”

ที่ไม่พูดเพราะไม่ต้องการให้คนเป็นศิษย์เสียกำลังใจ พระบัวเฮียวจึงเดินกลับกุฏิด้วยจิตที่ผ่องแผ้ว ท่านมิได้กำหนด “ขวา-ซ้าย” เหมือนเมื่อตอนขามา หากเปลี่ยนมากำหนด “ดีใจหนอ สอบผ่านแล้วหนอ” แทน

         “เอาละ อาตมาจะสอนให้โยมเดินจงกรมและนั่งสมาธิ แต่ขอเกริ่นไว้ก่อนว่า โยมจะต้องอดทนมาก ๆ ยิ่งปฏิบัติ โยมก็จะยิ่งมีทุกขเวทนาเพิ่มขึ้น คือแผลที่คอมันจะปวดมากกว่าเดิมหลายเท่า โยมก็อย่าท้อถอยตั้งสติสู้กับมัน นึกเสียว่า เราทำกรรมเอาไว้และกำลังชดใช้กรรม ยิ่งปวดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น เพราะถ้าไม่ปวด แสดงว่าจะไม่หาย ขอให้โยมจำอันนี้เอาไว้ให้ดี พอจะทำได้หรือเปล่า”

         “ครับ ผมจะพยายามให้ถึงที่สุด กำลังใจผมดีขึ้นเป็นกอง คิดว่าคงสู้กับมันได้” เขาหมายถึงโรคร้าย

         “นั่นต้องอย่างนั้น อย่าลืมว่าใจนี่สำคัญที่สุดเลยนะ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ถ้ากำลังใจดีก็ถือว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว พระพุทธองค์จึงได้ทรงสอนไว้ “ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ ถ้าบุคคลมีจิตผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริตสามอย่างนั้น เหมือนเงา มีปกติไปตามฉะนั้น” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง ยกพุทธพจน์มาอ้างเพื่อเป็นกำลังใจแก่คนป่วยหนัก

         บ่ายวันเดียวกันนั้น ที่กุฏิท่านพระครูร้างผู้คน เพราะบรรดาผู้มีทุกข์ทั้งหลาย ไม่อาจทนกับกลิ่นเหม็นจากแผลที่คออาจารย์ชิตได้ ท่านเจ้าของกุฏิตั้งใจจะทดสอบความอดทนของพวกเขา จึงไม่ยอมเปลี่ยนไป “รับแขก” ที่ศาลาการเปรียญ ตามที่มีผู้เสนอแนะมา นายสมชายกับนายขุนทองจึงไม่ต้องทำหน้าที่คอยบริการแขก ทั้งสองช่วยกันทำความสะอาดกุฏิและขัดห้องน้ำ ทั้งยังตกลงกันว่า คืนนี้จะกลับมานอนยังที่ของตน ๆ”

         “ในเมื่อหลวงพ่อท่านทนได้ เราก็ต้องทนได้ จริงไหมขุนทอง “ศิษย์วัดพูดเสียงเบา เพื่อไม่ให้คนเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ยิน

         “จริงฮะ จริงร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แหม หนูชักอยากให้อาจารย์ชิตแกอยู่ที่นี่นาน ๆ แล้วฮะ เราจะได้ไม่ต้องรับแขก แล้วหลวงลุงก็จะได้มีเวลาพักผ่อน” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดว่า ขณะใช้แปรงขัดพื้นห้องน้ำ

         “พูดยังงั้นมันก็ไม่ดี อย่าลืมว่าญาติโยมที่เขามาหาหลวงพ่อเพราะเขามีทุกข์นะ แล้วหลวงพ่อท่านก็ช่วยแนะนำให้พวกเขาหายทุกข์ ซึ่งจะหายมากหายน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาปฏิบัติตามได้แค่ไหน หรือบางคนไม่นำไปปฏิบัติเลย ก็ต้องทุกข์กันต่อไป เอ็งไปพูดอย่างนั้น ก็เหมือนกับขาดเมตตาธรรม” คนอาวุโสกว่าอธิบาย

         “จริงของพี่ ถ้าพวกเขาไม่มาหลวงลุงก็ไม่ได้สร้างบารมี จริงไหม การช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์เป็นการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง ใช่ไหม”

         “ถูกแล้ว แหมเดี๋ยวนี้เอ็งชักเก่งขึ้นนะ เก่งขึ้นกว่าแต่ก่อนจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นคนละคนเลย” นายสมชายชม

         “คนเรามันก็ต้องมีการพัฒนากันบ้างแหละพี่ จะให้งี่เง่าอยู่ตลอดเวลาได้ไง” นายขุนทองว่า

         “นั่นสิ แต่ข้าว่า เพราะเอ็งได้มาอยู่ใกล้หลวงพ่อด้วยแหละ เพราะข้าเองก็รู้สึกตัวเหมือนกันว่า ถ้าไม่ได้มาอยู่รับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อ ป่านนี้อาจกลายเป็นไอ้โจรห้าร้อยไปแล้ว”

         “ทำไมต้องห้าร้อยด้วยล่ะพี่ สองร้อยสามร้อยไม่ได้หรือ” นายขุนทองเริ่มยวน นายสมชายกำลังอารมณ์ดี จึงตอบว่า

         “ก็คงได้มั้ง แต่ข้าไม่เคยได้ยินใครเขาพูดว่า ไอ้โจรสองร้อย หรือไอ้โจรสามร้อย ได้ยินแต่ไอ้โจรห้าร้อย”

         เสียงร้องครวญครางให้ท่านพระครูช่วยดังมาจากด้านหน้าของกุฏิ

         นายสมชายใช้ให้นายขุนทองออกไปดู ฝ่ายนั้นจึงละมือจากการขัดพื้นห้องน้ำ พอเปิดประตูออกมาก็ร้องกรี๊ด

            “ว้าย ตาเถนหกคะเมนตีลังกา ตายแล้วตายแล้ว นางมณโฑนมโตข้างเดียว”

 

มีต่อ........๕๔

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #56 เมื่อ: เมษายน 24, 2007, 06:32:49 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๔

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00054
๕๔...

          “โอยปวด....ปวดเหลือเกิน หลวงพ่อจ๋า ช่วยลูกช้างด้วย” สตรีวัยยี่สิบเศษนอนร้องครวญครางอยู่ตรงประตูทางเข้า หล่อนสวมผ้าซิ่นสีน้ำตาลเข้ม ทว่าท่อนบนเปลือยเปล่า ปทุมถันข้างหนึ่งใหญ่กว่าปกติประมาณสามเท่าของอีกข้าง ในมือหล่อนถือเสื้อมาด้วย อาจารย์ชิตกำลังนั่งสมาธิอยู่ ได้ยินเสียงร้องครวญคราง จึงลืมตาขึ้นดู

          ภาพที่เห็นไม่ได้ทำให้เขาเกิดความกำหนัดยินดีในกามคุณ เพราะหญิงสาวผู้นี้คงอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกสาวของเขา ความรู้สึกที่มีต่อหล่อนคือสมเพชเวทนา รู้ว่าหล่อนจะต้องเป็นมะเร็งที่เต้านมแล้วก็คงเจ็บปวดไม่แพ้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของเขา

          “หนู ทำไมไม่ใส่เสื้อให้เรียบร้อยล่ะ มาหาพระหาเจ้าควรแต่งการให้มิดชิดนะหนูนะ” บุรุษสูงอายุพูดด้วยเมตตา

          “มันใส่ไม่ไหวจ้ะลุง ปวด ปวดเหลือเกิน ลองลุงมาเป็นฉันมั่ง จะรู้ว่ามันทรมานแค่ไหน” หญิงสางพลางสะอื้นฮัก ๆ

          “ลุงรู้ ทำไม่จะไม่รู้ นี่ลุงก็เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมาห้าปีแล้ว ปวดอย่างที่หนูปวดนั่นแหละ แล้วก็เหม็นเน่าด้วย หนูได้กลิ่นไหมล่ะ” เขาชี้แผลที่คอบริเวณใต้กกหูข้างขวา

          ขณะที่อาจารย์ชิตสนทนาอยู่กับผู้หญิงคนนั้น นายขุนทองก็ตะลีตะลานขึ้นไปรายงานท่านพระครู เห็นท่าทางลนลานของอีกฝ่าย นายสมชายจึงออกมาดูและรู้สึกสงสารหล่อน หากความสงสารนั้น ก็ระคนด้วยความกำหนัดยินดีตามประสาคนหนุ่มที่มาเห็นเพศตรงข้ามเปลือยอก

          “หลวงลุงเร็ว ๆ เข้า นางมณโฑ.....นางมณโฑ” นายขุนทองละล่ำละลัก ท่านพระครูวางปากกาแล้วถาม

          “อะไรของเอ็งล่ะ นางมณโฑไหน ใช่คนที่เป็นเมียทศกัณฐ์หรือเปล่า” ท่านเจ้าของกุฏิถามอย่างอารมณ์ดี

          “จะใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้ซีฮะ หลวงลุงลงไปดูเอาเองดีกว่า เขาร้องหาหลวงลุงอยู่น่ะ” ท่านพระครูจึงเดินลงมาทันเห็นสายตาของลูกศิษย์หนุ่มซึ่งจ้องเขม็งอยู่ที่อกหญิงสาว จึงออกอุบายว่า

          “สมชายไปดูยาที่ตากไว้ซิว่า แห้งหรือยัง ถ้ายังก็ให้นั่งเฝ้าไว้จนกว่าจะแห้ง เมื่อแห้งแล้วก็นำไปคั่ว เสร็จแล้วก็ต้มน้ำมากาหนึ่ง ต้มให้เดือดด้วยนะ” ชายหนุ่มจึงจำลุกออกไปทั้งแสนเสียดาย เดินพลางนึกในใจว่า “แม่เจ้าโวย ทำไมมันถึงได้ใหญ่โตขนาดนั้น นี่ของแฟนเรา จะได้ครึ่งหรือเปล่าหนอ” ปุถุชนคนหนุ่มคิดคำนึงไปถึงคนรัก

          เห็นท่านเจ้าของกุฏิลงมา หญิงสาวจึงคลานเข้ามาใกล้อาสนะ กราบพลางคร่ำครวญว่า

          “หลวงพ่อช่วยลูกช้างด้วย ปวดจะตายอยู่แล้ว” หล่อนร้องไห้สะอึกสะอื้น ท่านพระครูแผ่เมตตาจิตไปให้ กระแสแห่งเมตตาทำให้หล่อนรู้สึกว่า ความเจ็บปวดนั้นบรรเทาเบาลง

          “ใส่เสื้อก่อนหนู นุ่งห่มให้เรียบร้อย ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวหลวงพ่อจะช่วย” ท่านพูดอย่างปรานี นายขุนทองนั่งคุมเชิงอยู่ใกล้ ๆ ด้วยเกรงว่าหล่อนจะเข้ามาประชิดติดตัวหลวงลุง ก็หล่อนดูเจ็บปวดจนขาดสติออกอย่างนั้น หญิงสาวหยุดสะอื้น เอาเสื้อในมือขึ้นมาใส่ แล้วจึงบอกท่านว่า

          “ปวดเหลือเกินจ้ะหลวงพ่อ มันทรมานฉันเหลือเกิน ไอ้โรคบ้า ๆ นี่” หล่อนพูดอย่างโกรธแค้น ทั้งโกรธทั้งแค้นเจ้าโรคร้ายที่มาคุกคามชีวิตหล่อน

          “หนูมาจากไหนเล่านี่ บ้านอยู่ไหน” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

          “โธ่ หลวงพ่อ จำฉันไม่ได้หรือ ส้มป่อยไงล่ะ บ้านอยู่ตรงข้ามวัดโน่นไง” หล่อนชี้มือไปยังบ้านที่ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

          “อ้าวเอ็งหรอกหรือส้มป่อย แล้วมายังไงล่ะนี่” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงถาม ท่านเห็นนางสาวส้มป่อยมาตั้งแต่หล่อนยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ เพราะหล่อนมักตามมารดามาทำบุญที่วัดนี้ทุกวันพระ เพิ่งมาหายหน้าหายตาไปเมื่อห้าหกปีมานี้

          “ฉันมาเรือจ้างจ้ะ หลวงพ่อช่วยฉันด้วยเถอะ ฉันไม่มีเงินไปหาหมอ ทุกวันนี้ ฉันก็ตัวคนเดียว พ่อแม่พี่ส้องหายสาบสูญไปหมด”

          “แน่ล่ะซี ข้าก็ได้ข่าวอยู่เหมือนกัน เอ็งเห็นหรือยังล่ะว่า เวรกรรมนั้นมีจริง ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้าหรอก จำได้หรือเปล่าว่าเอ็งทำกรรมอะไรไว้”

          “จำไม่ได้จ้ะ หลวงพ่อช่วยบอกฉันด้วยเถอะ” หล่อนว่า

          “อ้าว ก็เองทำเอง จะมาให้ข้าบอกได้ยังไง ลองนึกดูดี ๆ ซิ”

          “ฉันขี้เกียจนึก หลวงพ่อนึกเผื่อฉันด้วย แล้วช่วยบอกฉันทีว่า จะแก้กรรมได้ยังไง” หล่อนพูดง่าย ๆ นึกโกรธขึ้นมาตะหงิด ๆ ตามวิสัยของคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ท่านพระครูไม่ถือสา เพราะมนุษย์ทุกรูปนาม ย่อมมีธรรมชาติเหมือนกันหมด นั่นคือ เมื่อสุขกาย ใจก็แช่มชื่น ครั้นเมื่อทุกข์กาย ใจก็เศร้าหมอง และมองโลกในแง่ร้าย เหมือนดังนางสาวส้มป่อยผู้นี้

          “เอาละ เมื่อเอ็งนึกไม่ออก ข้าก็จะช่วยนึกให้ จำได้หรือเปล่า เมื่อห้าหกปีที่ผ่านมา เองเอาลูกหมาใส่เรือมาปล่อยที่ฝั่งนี้ แล้วข้าเตือนเอ็ง เอ็งก็ไม่เชื่อ ลูกหมามันยังเล็ก ยังไม่ทันลืมตาด้วยซ้ำ เอ็งก็นำมันมาปล่อยเสียแล้ว ข้าบอกให้มันโตอีกสักหน่อย พอช่วยตัวเองได้เสียก่อน แล้วจะเอามันมาปล่อยที่วัด ข้าก็ไม่ว่า นี่เอ็งเถียงฉอด ๆ ว่า แม่ใช้ให้มาปล่อย รู้ไหมลูกหมาเหล่านั้น มันก็นอนตายอยู่ริมหาดนั่นเอง ข้าเตือนทั้งแม่เอ็งด้วยว่า อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรม แม่เอ็งก็ไม่เชื่อข้า แถมโกรธจะเป็นจะตาย ขนาดไม่ยอมมาทำบุญที่วัดนี้อีก ทีนี้เป็นยังไงล่ะ โดนกฎแห่งกรรมเล่นงานทั้งครอบครัวเลย ข้ารู้ตลอด เพราะมีคนเขาบอกข้า จะให้เล่าไหมล่ะว่าเกิดอะไรขึ้น”

          อาจารย์ชิตกำลังนั่งสมาธิอยู่ใกล้ ๆ เขาได้ยินเรื่องที่ท่านพระครูพูดแล้วก็ฟังเพลิน จนถึงกับทิ้ง “พอง-ยุบ” มาสนใจที่การสนทนา ท่านเจ้าของกุฏิจึงพูดขึ้นว่า

          “โยม อยากฟังก็ลืมตาได้ นั่งหลับตาฟังยังงั้นจะไปรู้เรื่องอะไร เอาเถอะ อาตมาอนุญาต” ดังนั้นบุรุษสูงวัยจึงลืมตาด้วยท่าทางขัดเขินที่ท่านรู้ทัน

          “ว่าไง จะให้ข้าเล่าหรือเปล่า แต่ถึงไม่ให้ ข้าก็จะเล่า เพราะเอ็งมาให้ข้าช่วย ขอบอกไว้ ณ ที่นี้เสียเลยว่า นอกจากข้าแล้ว ไม่มีใครช่วยเอ็งได้ ถึงเอ็งจะไปหาหมอ เขาก็ช่วยเอ็งไม่ได้”

          “เอาเหอะ ๆ หลวงพ่อจะเล่าก็เล่าไปเถอะ ก็ฉันไม่มีทางเลือกแล้วนี่ ไอ้หมอ ไอ้หมาที่ไหน ฉันก้ไม่ไปหามันหรอก ไม่มีเงินให้มัน” สาววัยยี่สิบเศษพูดพาล ๆ

          “หนู พูดกับพระกับเจ้า ควรจะให้สุภาพหน่อย ลุงรู้ว่าหนูหงุดหงิดเพราะความเจ็บปวด ถึงลุงเองก็เป็นอย่างหนูมาก่อน แต่ลุงก็พยายามสงบสติอารมณ์ ที่หลวงพ่อท่านพูดมาก็จริงของท่านนะ นี่ขนาดลุงเป็นมาห้าปี ผ่าตัดมาสองครั้งก็ยังไม่หาย ลุงก็หวังจะมาตายอยู่ใกล้หลวงพ่อ เพิ่งมาได้วันเดียวยังรู้สึกว่าอาการดีขึ้น หนูจะต้องหายแน่ เชื่อลุงเถอะ แล้วก็พูดกับท่านให้สุภาพหน่อย ชีวิตของหนูอยู่ในกำมือท่านก็ว่าได้” เขาเตือนด้วยความหวังดี เพราะคิดว่าหล่อนก็เหมือนลูกหลานคนหนึ่งของเขา

          “ลุงก็อยู่ส่วนลุงซี มายุ่งอะไรกะฉัน ฉันจะพูดยังไงก็ไม่เห็นจะหนักกบาลใคร” หล่อนถือโอกาสเล่นงานอาจารย์ชิต เพราะโกรธท่านพระครู

          “อีส้มป่อย นี่กูชักจะทนไม่ไหวแล้วนะ ประเดี๋ยวก็ตบล้างน้ำซะนี่ จะตายอยู่รอมร่อแล้วยังมาทำกำแหง เดี๋ยวกูตบสลบแล้วลากไปทิ้งหาดทรายให้ตายอย่างลูกหมานั่นหรอก” นายขุนทองพูดอย่างเหลืออดเหลือทน พลางเงื้อมือไม้ นางสาวส้มป่อยตกตะลึกอ้าปากค้าง เห็นท่าทางเอาจริงของอีกฝ่าย ก็ชักกลัว

          “ขุนทอง เอ็งไปดูที่ครัวซิ สมชายคั่วยาเสร็จหรือยัง ไปเดี๋ยวนี้เลย” ท่านเจ้าของกุฏิออกคำสั่ง คิดไม่ทันคาดไม่ถึงว่าหลานชายจะร้ายกาจถึงปานนี้ นายขุนทองขยับปากจะพูดแต่ท่านรีบห้ามว่า “ไม่ต้องพูดอะไรทั้งสิ้น รีบไปทำตามที่ข้าสั่ง” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดจึงเดินตุปัดตุป่องออกไป

          “ข้าต้องขอโทษเอ็งด้วยนะส้มป่อย ที่คนของข้าแสดงกิริยาไม่ดีกับเอ็ง อย่าถือสามันเลย มันเป็นเด็กมีปัญหา” ท่านขอโทษแทนหลาน

          “เด็กเดิกอะไรกัน โตยังกะงัวกะควาย หลวงพ่ออบรมมันยังไง ถึงได้เป็นยังงี้” นางสาวส้มป่อยถือโอกาสตำหนิติเตียนทั้งนายขุนทองและท่านพระครู แต่กลับลืมตำหนิตัวเอง

          “ข้าก็อบรมมันอย่างดีนั่นแหละแต่เพราะมันไม่เชื่อฟัง มันถึงได้เป็นอย่างนี้ เอ็งก็เหมือนกัน ถ้าเชื่อฟังข้า ก็จะไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่นี่หรอก” ท่านถือโอกาสเล่นงานหล่อนบ้าง คราวนี้หญิงสาวเถียงไม่ออก เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงพูดต่ออีกว่า

          “ที่ข้าพูดมาแล้วและที่กำลังจะพูดต่อไปนี้นั้น ข้าไม่ได้มีเจตนาจะประจานเอ็ง แต่ที่ต้องพูดเพราะมันเกี่ยวกับการรักษาโรคที่เอ็งเป็นอยู่ พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า ทุกข์จะดับได้ก็ต้องรู้สาเหตุของทุกข์ ฉะนั้นเอ็งจำเป็นจะต้องรู้สาเหตุของทุกข์ที่เอ็งได้รับอยู่ในขณะนี้ จะได้ไม่ไปโทษว่า โชคชะตาเล่นตลกกับเอ็ง คนสมัยนี้ชอบโยนความผิดไปให้โชคชะตา หารู้ไม่ว่าตัวเองนั่นแหละลิขิตตัวเอง เอาละ ทีนี้ข้าจะเล่าว่า เกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวเอ็ง ตามที่คนเขามาเล่าให้ข้าฟัง เอ็งฟังก่อน แล้วถ้าไม่จริงค่อยแย้งทีหลัง เข้าใจหรือเปล่า ระหว่างที่ข้าพูด ขอให้ฟังอย่างเดียว” ท่านวางเงื่อนไข

          “เข้าใจจ้ะ นิมนต์หลวงพ่อพูดเถอะจ้ะ” เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับตัวหล่อนเอง นางสาวส้มป่อยจึงอารมณ์ดีขึ้น ท่านพระครูจึงเล่าว่า

          “พ่อเอ็งหายไปก่อนใช่ไหม บอกจะไปหางานทำที่จังหวัดลำปาง แล้วก็หายเงียบไป ไม่ส่งข่าวคราวให้ทางบ้านรู้ รุ่งอีกปีนึง แม่กับพี่ชายเอ็งบอกจะไปตามหาพ่อเอ็ง แล้วก็หายเงียบไปอีก และเมื่อสองปีที่แล้ว พี่สาวกับน้องชายเอ็ง ก็ทิ้งเอ็งไว้คนเดียว แล้วพากันไปตามหาแม่กับพ่อของเอ็ง พอเอ็งอยู่คนเดียวก็คิดมาก เมื่อคิดมาก็เครียดมาก เมื่อเครียดหนัก ๆ มะเร็งก็เล่นงานเอ็ง นี่แหละผลกรรมที่เอ็งก่อไว้กับลูกหมา ไปพรากลูกพรากแม่มัน แล้วก็ทำให้มันตายอย่างทรมาน กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ที่เองเอามันมาทิ้ง จำได้หรือเปล่าว่ากี่ครั้ง” ท่านถามจำเลยซึ่งนั่งนิ่งเหมือนรูปปั้น

          “จำไม่ได้จ้ะหลวงพ่อ รู้แต่ว่าอีด่าง อีเขียวออกลูกทีไร แม่ก็ให้ฉันเป็นคนเอามาทิ้งทุกที ฉันก็นึกไม่ถึงว่า เวรกรรมมันจะเล่นงานฉันถึงปานนี้ นี่ถ้าเชื่อหลวงพ่อเสียตั้งแต่ตอนนั้น ก็คงไม่เป็นอย่างนี้ใช่ไหมจ๊ะ” หล่อนเพิ่งจะสำนึกผิด

          “เอาเถอะ ๆ ไหน ๆ เรื่องมันก็ผ่านไปแล้ว เมื่อเอ็งก่อกรรมก็ต้องรับผลของมัน ไม่มีใครมารับแทนเอ็งได้ รู้อย่างนี้แล้วก็ต้องอดทน คิดเสียว่า ใช้เวรที่ทำ ใช้กรรมที่ก่อ ใช้หมดเมื่อไหร่ เอ็งก็จะหาย นี่โยมเขาก็มาใช้เวรใช้กรรมแบบเดียวกับเอ็งนั่นแหละ” ท่านหมายถึงอาจารย์ชิต

          “ลุงทำกรรมอะไรไว้หรือจ๊ะ” หล่อนหันไปพูดดีกับบุรุษสูงวัย เป็นการขอลุแก่โทษ

          “ลุงยังนึกไม่ออกเลยหนู หลวงพ่อท่านก็ไม่ยอมบอกลุงเหมือนที่บอกหนู” บุรุษวัยหกสิบตอบ เขาเองก็อยากรู้ว่า ทำกรรมอะไรไว้

          “ในกรณีของโยม อาตมาจะยังไม่บอก ต้องให้รู้เอง ถึงจะซึ้งใจ เอาเถอะ ภายในเจ็ดวันนี้ ถ้าโยมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็คงจะนึกได้” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงพูดให้กำลังใจ หากไม่บอกในสิ่งที่เขาอยากรู้

          “เอาละ ประเดี๋ยวเอ็งไปพักที่สำนักชีก่อน เย็น ๆ ให้เขาพามาขึ้นกรรมฐาน ต้องมารักษาอยู่ที่วัดนี่นะ ไม่ต้องอยู่บ้าน ให้ชีเขาช่วยดูแล ถ้าไปอยู่บ้านคนเดียว ก็จะฟุ้งซ่านอีก ดีไม่ดีจะกลายเป็นคนวิกลจริตไป”

          “มาเช้าเย็นกลับ ไม่ได้หรือจ๊ะหลวงพ่อ ฉันห่วงบ้าน” หล่อนต่อรอง

          “ไม่ต้องเป็นห่วงของนอกกาย ให้ห่วงตัวเองก่อน ทิ้งไว้นั่นแหละ ใครเขาอยากได้อะไรก็ให้เขาไป นึกว่าใช้หนี้ แต่เชื่อข้าสักอย่างหนึ่งว่า ถ้าเอ็งไม่เคยไปลักขโมยใครเขาไว้ รับรองว่าไม่มีใครเขามาลักของเอ็ง”

          “ถ้าอย่างนั้น ฉันขอกลับไปเอาเสื้อผ้า แล้วเก็บข้าวเก็บของใส่ในเรือนไว้ก่อนได้ไหมจ๊ะ เย็น ๆ ฉันค่อยมา” หล่อนขออนุญาต

          “ตามใจเอ็งก็แล้วกัน จะไปก็ได้” หล่อนกราบท่านเจ้าของกุฏิสามครั้ง และยกมือไหว้อาจารย์ชิตหนึ่งครั้ง จากนั้นจึงเดินมุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ ครั้งห่างรัศมีกุฏิออกไป ความเจ็บปวดกลับทวีความรุนแรงขึ้น จึงรีบเดินย้อนกลับมารายงานว่า

          “โอย หลวงพ่อจ๊ะ ปวดเหลือเกิน เมื่อตะกี้รู้สึกค่อยยังชั่ว พอลุกออกไปกลับปวดเหมือนเดิมอีก หลวงพ่อช่วยฉันด้วย” หล่อนอ้อนวอนแม้มิได้ร้องไห้

          “นั่นแหละ เอ็งกำลังใช้กรรมละ ยิ่งถ้าเอ็งปฏิบัติกรรมฐานจะยิ่งปวดมากกว่านี้ หน้าที่ของเอ็งก็คือจะต้องทนให้ได้”

          “โอย แค่นี้ก็จะแย่อยู่แล้ว ถ้าปวดมากกว่านี้ ฉันขอตายดีกว่า”

“ตามใจ ถ้าเอ็งจะเอาอย่างนั้นก็ตามใจ แต่ข้าขอบอกเสียก่อนว่า ถึงเอ็งจะตาย ก็ใช่ว่าเอ็งจะพ้นทุกข์ อาจจะทุกข์กว่าตอนเป็นด้วยซ้ำ”

“จะทุกข์ยังไงล่ะหลวงพ่อ ตายแล้วก็แล้วหมดเวรหมดกรรมกันไป” หญิงสาวพูดด้วยมิจฉาทิฐิ

“ถ้ามันเป็นอย่างที่เอ็งว่ามาก็ดีน่ะสิ แต่ทีนี้มันไม่เป็นยังงั้น เพราะคนเราไม่ได้เกิดหนเดียวตายหนเดียว อย่างที่พวกวัตถุนิยมเขาเชื่อกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ยายสะอิ้งก็คงไม่มาสร้างกุฏิกรรมฐานให้วัดนี้ เอ็งเห็นหรือเปล่า กุฏิกรรมฐานที่อยู่หน้าโบสถ์นั่นน่ะ ยายสะอิ้งเขามาสร้างให้เป็นหลังแรกด้วยเงินหนึ่งชั่ง ยมบาลเขาสั่งมาว่าถ้าไม่อยากมาเกิดในนรกอีก ก็ให้กลับมาสร้างกุฏิกรรมฐานถวายวัดหนึ่งหลัง ให้สร้างด้วยเงินหนึ่งชั่ง จะมากกว่านั้นน้อยกว่านั้นไม่ได้ แล้วแกก็มาสร้าง หมดเงินไปแปดสิบบาทพ่อดี” อาจารย์ชิตกำลังนั่งกำหนด “พอง-ยุบ” ก็มีอันต้องลืมตาอีกครั้งด้วยอยากรู้เรื่อง เขาถามเจ้าของกุฏิว่า

“สร้างนานหรือยังครับ”

“ก็สิบเจ็ดปีเข้านี่แล้ว แกมาเมื่อปี ๒๕๐๐ โยมเชื่อไหม แกบอกยมทูตเขาสั่งมาว่า ให้สร้างกุฏิกรรมฐานหนึ่งหลัง ด้วยเงินหนึ่งชั่ง และให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน อาตมาก็คิดว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง พอดีตอนแกมาเล่า ช่างไม้เขาก็ยังอยู่ เพราะกำลังซ่อมโบสถ์หลังเก่า แล้วก็มีเรือนหลังหนึ่งที่ชาวบ้านเขารื้อมาถวายวัด พอพวกชาวบ้านรู้เรื่องของนางสะอิ้ง ก็เฮโลกันมาช่วยคนละมือละไม้ ก็เลยเสร็จก่อนพระอาทิตย์ตก แล้วก็หมดเงินไปหนึ่งชั่งพอดิบพอดี เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก อาตมาเคยเล่าให้ญาติโยมเขาฟังหลายครั้งแล้ว”

“กรุณาเล่าอีกสักครั้งได้ไหมครับ ผมอยากทราบว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร และหากมีโอกาสผมจะได้นำไปเล่าให้ลูกหลานญาติมิตรฟัง เพื่อเป็นข้อเตือนใจไม่ให้เขาทำความชั่ว”

“แหม โยมอ้างเหตุผลมาน่าฟัง อาตมาเห็นจะต้องเล่าอีกรอบนึงเสียแล้ว เอ็งล่ะอยากฟังหรือเปล่า” ท่านถามน้างสาวส้มป่อย

“อยากจ้ะ นิมนต์หลวงพ่อเล่าเถอะจ้ะ” หญิงสาวตอบ รู้สึกว่าความเจ็บปวดทุเลาลงเมื่อได้อยู่ใกล้ท่าน เห็นคนทั้งสองอยากฟัง ท่านพระครูจึงเล่าว่า

“เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๐ เล่าย่อ ๆ นะ เรื่องมันยาว ถ้าเล่าละเอียด วันนี้ทั้งวันก็ไม่จบ” ท่านทำความตกลงกับคนฟังแล้วจึงเริ่มต้นเล่าว่า

“วันนั้นเป็นวันพระ ญาติโยมเขาก็พากันมาทำบุญที่ศาลาการเปรียญ อาตมาก็มองไปเห็นลุงแก่ ๆ คนหนึ่งมากับผู้หญิงสองคน คนหนึ่งอายุไล่เลี่ยกับแก ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นสาวรุ่น ๆ อาตมาก็คิดว่า ตากับยายพาหลานมาทำบุญ เขาก็พากันเข้ามาหาอาตมา ลุงแก่ ๆ คนนั้นแนะนำตัวว่า เขาชื่อนายปุ่น มาจากอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ผู้หญิงสองคนที่มาด้วยเป็นเมียแก คนอายุ ๗๒ ปีเป็นเมียคนที่สอง ส่วนเมียคนแรกอายุ ๑๕ ปี ตัวแกอายุ ๗๕ ปี”

“พวกญาติโยมได้ยินก็พากันหัวเราะ นึกว่าแกเป็นโรคประสาท หรือไม่ก็แก่จนหลง อาตมาเองก็คิดอย่างนั้น แกก็ยืนยันว่าเรื่องที่แกเล่ามานั้นเป็นความจริง ผู้หญิงคนที่เป็นเมียคนแรกนั้น ตายไปแล้ว และกลับชาติมาเกิดเป็นเด็กสาวอายุสิบห้าคนนี้ แล้วก็ก็ให้เมียคนแรกเล่าให้ฟัง แม่หนูคนนั้นแกก็เล่าว่า เมื่อชาติที่แล้วแกเป็นเมียตาปุ่น แล้วก็คลอดลูกตายที่โรงนา ไปตกนรกมาหลายปี ช่วงเวลาที่อยู่ในนรกนั้น ตาปุ่นสามีแกได้บวชและเจริญกรรมฐานอุทิศส่วนกุศลไปให้ ยมบาลก็เลยให้กลับมารับใช้ตาปุ่น แล้วก็ให้สร้างกุฏิกรรมฐานถวายวัดหนึ่งหลัง ด้วยเงินหนึ่งชั่ง และใช้เวลาหนึ่งวัน นอกจากนี้ยังให้ถือศีล ๘ ตลอดชีวิตอีกด้วย”

“แกเล่าหรือเปล่าครับว่า เหตุใดต้องไปตกนรก” อาจารย์ชิตถาม

“เล่าสิ แกเล่าว่า ตอนมีชีวิตอยู่แกก่อกรรมทำชั่วไว้มาก ไปอยู่โรงนา ก็ให้ลูกจ้างไปเที่ยวขโมยข้างในลานของคนอื่น นอกจากนี้ยังขโมยทองของญาติตาปุ่น แล้วโยนความผิดไปให้หลานชาย ทำให้หลานชายถูกตีจนหัวแตก แกเป็นคนโหดร้ายใจดำอำมหิต แล้วก็ไม่เคยทำบุญทำทานเลย สวดมนต์ก็ไม่เคยสวด โย โส ภะคะวา ก็ไม่เป็น พอแกตายไปก็เลยไปตกนรกอยู่หลายปี เมื่อได้รับส่วนกุศลที่ตาปุ่นส่งไปให้ ก็เลยได้รับอนุญาตให้กลับมาแก้ตัว

แกเล่าว่าในเมืองนรกนั้นมีการสอนกรรมฐานทุกวันพระ สอนให้สวดมนต์ด้วย ตอนเป็นนางสะอิ้ง แกสวดมนต์ไม่ได้เลย แต่พอมาเกิดใหม่สวดได้หมด เพราะเคยสวดตอนอยู่เมืองนรก อาตมาลองให้สวด โอ้โฮสวดได้แจ๋วไปเลย พวกญาติโยมก็พากันประหลาดใจ แกว่า ในเมืองนรกมีการลงโทษต่าง ๆ นานา แต่จะหยุดลงโทษในวันโกนวันพระ เพื่อให้พวกสัตว์นรกได้สวดมนต์และเจริญกรรมฐานและที่สำคัญคือพระก็ไปตกนรกด้วย

อาตมาก็ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่า คนไหนเป็นพระ แม่หนูที่เป็นยายสะอิ้งกลับชาติมาเกิด ก็ตอบว่า คนที่เป็นพระจะมีผ้าเหลืองผูกติดอยู่ที่ข้อมือ โยมเห็นหรือยังว่า แม้แต่พระก็ยังไปตกนรกได้ นี่ไม่ได้ว่าพระนะ” ท่านรีบออกตัว

“ผมว่าคนพวกนี้ไม่ใช่พระหรอกครับ เป็นเพียงพวกอาศัยผ้าเหลืองหากินเท่านั้น” อาจารย์ชิตวิจารณ์

“ถูกของโยม อาตมาเห็นด้วย เพราะคนที่เป็นพระจริง ๆ นั้นเขาจะไม่ไปตกนรก และทีอาตมาเชื่อที่แม่หนูนั่นเล่า ก็เพราะเคยรู้มาก่อนแล้วจากตาเหล็งฮ้วย รายนี้หนีจากนรกมาเข้ายายเภา เพื่อจะขอส่วนบุญจากหลานสาว”

“งั้นหลวงพ่อเล่าเรื่องตาเหล็งฮ้วยด้วนะจ๊ะ” นางสาวส้มป่อยพูดขึ้น รู้สึกเพลิดเพลินเมื่อฟังท่านเล่า

“เอาไว้วันหลัง ขืนเล่าหมดวันนี้ ประเดี๋ยววันหลังไม่มีอะไรจะเล่า”

“หลวงพ่อยังเล่าเรื่องยายสะอิ้งไม่จบเลยครับ” อาจารย์ชิตทวง

“อ้าว ยังไม่จบอีกหรือ งั้นก็จะเล่าต่อ คือที่อาตมาเชื่อว่า ยายสะอิ้งแกพูดความจริง เพราะตรงกับที่ตาเหล็งฮ้วยเล่าให้อาตมาฟังทุกอย่าง แล้วอาตมาก็ลองทดสอบ ด้วยการถามว่านรกของศาสนาพุทธ เหมือนกับของศาสนาอื่นหรือเปล่า เป็นคนละนรกหรือว่าเป็นนรกเดียวกัน ยายสะอิ้งก็ตอบตรงกับตาเหล็งฮ้วยอีกว่าไม่มีการแบ่งศาสนา ไม่ว่าใครจะนับถือศาสนาอะไร ถ้าทำชั่วก็จะไปตกนรกเดียวกันหมด อันนี้เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากทีเดียว หรือโยมเห็นว่ายังไง” ท่านถามบุรุษวัยหกสิบ

“ครับ ผมเห็นด้วยครับ” อาจารย์ชิตคล้อยตาม

“นั่นต้องยังงั้น ขืนไม่เห็นด้วย อาตมาจะได้เลิกเล่า” ท่านถือโอกาสเล่นตัว

“ฉันก็เห็นด้วยจ้ะ นางสามส้มป่อยรีบบอก เพราะกลัวว่าท่านจะไม่เล่า

“อ้อ เอ็งก็เห็นด้วยเหมือนกันหรือส้มป่อย” ท่านถามยิ้ม ๆ แล้วจึงเล่าต่อไปว่า

“แม่หนูที่เป็นยายสะอิ้งกลับชาติมาเกิด แกก็เล่าให้อาตมาฟัง พวกญาติโยมก็พลอยได้ฟังไปด้วย อาตมาก็บอกญาติโยมว่า เรื่องที่แม่หนูเล่านี้ต้องเป็นความจริง เพราะเหมือนกับที่ตาเหล็งฮ้วยเล่าให้อาตมาฟังทุกประการ นอกจากนั้น ตาปุ่นผู้เป็นสามีก็ยังเล่าอีกว่า ทีแรกแกก็ไม่เชื่อ แต่นางสะอิ้งก็เล่าให้แกฟังทุกอย่าง ตั้งแต่แต่งงานกันมาว่า ค่าสินสอดทองหมั้นกี่บาท มีลูกกี่คน มีลูกจ้างกี่คน ชื่ออะไรบ้าง ตาปุ่นก็ยังไม่ยอมเชื่อ เพราะคิดว่า แม่หนูคนนี้จะมาหลอกเอาสมบัติเพราะแกรวยมาก

นางสะอิ้งหรือแม่หนูอายุสิบห้าก็เลยบอกว่า ก่อนตายแกได้ฝังสายสร้อยหนักเส้นละสิบบาทไว้ที่โรงนาสองเส้นจะพาไปขุด ตาปุ่นก็เลยพาลูกชายสองคนที่เป็นลูกนางสะอิ้งไป เอาจอบไปด้วย ขุดไปขุดมาปรากฏว่าพบทองจริง ๆ ตาปุ่นก็เลยเชื่อ ลูกชายสองคนซึ่งอายุเกือบ ๆ ห้าสิบแล้ว ก็เลยเชื่อว่าผู้หญิงอายุสิบห้านี่เป็นนางสะอิ้งแม่ของตน ที่กลับชาติมาเกิดจริง ๆ

นางสะอิ้งยังเล่าอีกว่ายมบาลเขาให้มารับใช้ตาปุ่นห้าปี พออายุยี่สิบก็จะไป แต่ไม่ไปตกนรกแล้ว จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พวกชาวบ้านที่ฟังอยู่ ก็รับอาสาจะช่วยสร้างกุฏิ วันนั้นอาตมาก็ให้ตาปุ่นกับเมียเก่าและเมียใหม่ของแก นอนที่ศาลาการเปรียญ พอรุ่งเช้าชาวบ้านก็พากันมาสร้างกุฏิกรรมฐาน ตกเย็นก็สร้างเสร็จพอดี หมดเงินไปแปดสิบบาทตามที่ยมบาลสั่งมา มันก็น่าแปลก

ทีนี้อาตมาก็เป็นคนชอบพิสูจน์พบครบห้าปี อาตมาก็เดินทางไปยังบ้านตาปุ่น ไปลำบากมากเพราะสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่เจริญเหมือนเดี๋ยวนี้ อาตมาต้องเดินเท้าหนึ่งวันเต็ม ๆ จากตัวจังหวัดไปบ้านแก พอไปถึง แม่หนูนั่นก็เอาน้ำมาถวาย แล้วก็ก้มลงกราบอาตมา ก้มแล้วก็ฟุบอยู่ตรงนั้น ปรากฏว่าไปแล้ว ไปวันที่อาตมาไปพิสูจน์พอดี เมียใหม่ของตาปุ่นซึ่งตอนอาตมาไป ก็อายุ ๗๗ แล้ว เล่าให้อาตมาฟังว่า พอสร้างกุฏิแล้ว แม่หนูคนนั้นก็ตามมาอยู่กับตาปุ่น ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็ป่วยเป็นอัมพาต ลุกไปไหนมาไหนไม่ได้ แม่หนูนี่ก็คอยป้อนข้าวป้อนน้ำ เช็ดอุจจาระปัสสาวะให้โดยไม่รังเกียจ ก็ปฏิบัติอยู่ห้าปีเต็มดังที่รับปากยมบาลมา ตาปุ่นก็นอนพะงาบ ๆ พูดก็ไม่ได้ อาตมาถามว่าจำอาตมาได้ไหม แกก็พยักหน้า อาตมาก็ปลอบใจว่าไม่ต้องเสียใจนะ แม่สะอิ้งเขาไปดี แกก็เข้าใจและทำใจได้เพราะเคยบวช และปฏิบัติกรรมฐานมาแล้ว ตกลงยายสะอิ้งก็ตายก่อนตาปุ่นทั้งสองชาติ คือชาติที่เป็นสางสะอิ้ง และชาติที่เป็นแม่หนูอายุสิบห้า เอาละ จบเรื่องนางสะอิ้งแล้ว เอาละ ได้เวลาเพลพอดี โยมรับประทานข้าวเสียก่อน อาหารในสำรับนั่นแหละ ส่วนเอ็งเดินไปกินที่โรงครัวก็แล้วกัน” ท่านบอกนางสาวส้มป่อย

ไม่เป็นไรจ้ะ ฉันกลับไปกินที่บ้านได้” หล่อนว่า

“งั้นก็ตามใจเอ็ง” นางสาวส้มป่อยจึงกราบท่านสามครั้ง ก่อนลุกออกไป ก็โอดครวญว่า

“ปวดอีกแล้ว พอรู้ว่าจะไป มันก็เริ่มปวดเลยเชียว ทำไมมันถึงต้องปวดด้วยล่ะจ๊ะ หลวงพ่อ”

“ก็จะไม่ให้ปวดได้ยังไงล่ะ ที่ข้าเห็นน่ะนะ ข้าเห็นหนอตัวใหญ่เท่านิ้วก้อย กำลังพากันดูดกินเลือดกินหลองเอ็งอย่างเอร็ดอร่อยอยู่นั่น” ท่านตอบเพราะเห็นด้วย “เห็นหนอ”

“มันเข้าไปได้ยังไงล่ะจ๊ะ”

“ข้าก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่เห็นตอนที่มันเข้า นี่แหละเขาเรียกว่าโรคเวรโรคกรรม บางคนก็ถูกหนอนกินตั้งแต่ยังไม่ทันตาย บางคนพอตายปุ๊บ ก็ถูกหนอนกินปั๊บ ใครเป็นอย่างนี้ละก็ รู้ได้ทันทีว่าเป็นคนบาป อันนี้ข้าวิจัยมาแล้ว ไม่ได้พูดสุ่มสี่สุ่มห้าแต่ประการใด เอาเถอะในเมื่อปวด เอ็งก็ท่องไว้ในใจว่า “ปวดหนอ ปวดหนอ” ก็แล้วกัน” ท่านแนะนำ

“ท่องแล้วจะหายปวดหรือจ๊ะ”

“ไม่หายหรอก แต่ถ้าเอ็งท่องมาก ๆ จนเพลิน ก็จะทำให้ลืมความปวดได้ชั่วครั้งคราว ก็ยังดีใช่ไหม นี่แหละเอ็งกำลังใช้กรรมละ ต้องอดทนให้มาก ๆ เข้าใจหรือยัง”

“เข้าใจแล้วจ้ะ ถ้างั้นฉันไปก่อนละ เดี๋ยวจะมาใหม่” พูดจบก็ลุกออกมาและเดินทอง “ปวดหนอ ปวดหนอ” ไปตลอดทาง

           

มีต่อ........๕๕

 
บันทึกการเข้า
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« ตอบ #57 เมื่อ: เมษายน 25, 2007, 07:26:18 am »

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00055
๕๕...

          แม่ชีเจียนพานางสาวส้มป่อยมาขอขึ้นกรรมฐานที่กุฏิท่านพระครูตอนห้าโมงเย็น เมื่ออยู่ในชุดนุ่งขาวห่มขาว หน้าตาที่ซีดเซียวเพราะถูกโรคร้ายรุมเร้า ดูดีขึ้น ขอกรรมฐานเสร็จ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงพูดขึ้นว่า

          “เอาละ ประเดี๋ยวกลับไปที่สำนักชี ให้เขาสอนเดินจงกรมและนั่งสมาธิให้ แม่ชีต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษหน่อยนะ เขาป่วยหนักและมีทุกขเวทนามาก บางครั้งอาจหงุดหงิดฉุนเฉียวแม่ชีต้องเข้าใจ อย่าไปโกรธเคืองเขา เพราะคนที่กำลังป่วยเป็นอย่างนี้ทุกคน เข้าใจหรือเปล่า”

          “เข้าใจจ้ะหลวงพ่อ ฉันจะดูแลให้ดีที่สุด และจะคิดว่าเขาก็เหมือนกับลูกหลานของฉันคนหนึ่ง” แม่ชีเจียนรับคำแข็งขัน

          “ดีแล้ว นึกว่าสร้างบารมีให้ตัวเอง ด้วยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ส้มป่อยเอ็งกราบแม่ชีเขาเสียซิ ฝากเนื้อฝากตัวไว้ เพราะเขาจะช่วยดูแลเอ็ง แล้วก็พยายามสงบสติอารมณ์เสียบ้าง เวลาปวดมาก ๆ ก็ให้อดทน อย่าไปเที่ยวอาละวาดระรานคนอื่นเขาล่ะ” ท่านกำชับไว้ก่อน หญิงสาวก้มลงกราบแม่ชีหนึ่งครั้ง

          “ดีแล้ว เอาละ เดี๋ยวจะให้ยาไปกิน นี่นะยาแก้มะเร็ง เอาชงดื่มต่างน้ำ ถ้าเอ็งหิวน้ำก็ให้ดื่มยานี้แทน ชงเหมือนชงชานั่นแหละ รสชาติมันขมและเฝื่อน แต่เอ็งก็ต้องฝืนใจดื่มให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ยานี้จะเข้าไปขับเลือด ขับหนองและของเน่าของเสียออกมา”

          “ขับหนอนด้วยหรือเปล่าจ๊ะ หลวงพ่อ” หล่อนถาม

          “ด้วยสิ พอมันถูกยาเข้าไป มันก็จะอยู่ไม่ได้”

          “มันจะตายใช่ไหมจ๊ะ แล้วหลวงพ่อไม่บาปหรือจ๊ะ”

          “บาปสิ ถ้ามันตาย ข้าบาปแน่ ๆ แต่มันไม่ตายหรอก เมื่ออยู่ไม่ได้ มันก็จะพากันหาทางออกมาเอง ไม่ต้องห่วง ถ้าเอ็งอยากหายเร็ว ๆ ก็ต้องขยันกินยาแล้วก็จะหาย ข้ารักษาหายมาหลายรายแล้ว ด้วยยานี้”

          “แล้วที่ตาย มีไหมจ๊ะ” หญิงสาวถามอีก

          “มี ทำไม่จะไม่มี” ท่านตอบตามตรง

          “ว้า งั้นฉันอาจจะตายก็ได้” หล่อนรู้สึกใจหดหู่ขึ้นมาอีก

          “ใช่ ถ้าเอ็งไม่ยอมกินยา เอ็งตายแน่ ๆ เพราะคนที่เขาตายนั้น ไม่ใช่เพราะยาไม่ดี แต่เพราะเขาไม่ยอมกินยา ไม่สามารถฝืนใจตัวเอง เพราะเคยชินแต่กับรสที่น่าปรารถนา น่าพอใจ พอมาเจอรสยานี่เข้า เลยทนไม่ได้”

            “รสชาติมันรายกาจมาเลยแหละหนู ขนาดลุงเคยกินยาขมมาหลายขนาน ก็ยังไม่ได้ครึ่งของยานี้ หนูลองชิมดูก็ได้” อาจารย์ชิตพูดพร้อมกับส่งถ้วยบรรจุน้ำสีน้ำตาลแกมเหลือง คล้ายกับสีของน้ำชาให้หล่อน

          “ขอบใจจ้ะ” หญิงสาวรับถ้วยพลางกล่าวคำขอบใจ ท่านพระครูจึงถือโอกาสสอนว่า “พูดกับคนที่อาวุโสกว่าต้องว่า “ขอบคุณ” ส่วน “ขอบใจ” นั่นใช้กับเพื่อนหรือคนที่อายุน้อยกว่า จำไว้ ทีหลังจะได้พูดได้ถูกต้อง”

            “จ้ะ งั้นฉันพูดใหม่ให้ถูกต้องก็ได้” หล่อนหันไปทางอาจารย์ชิตพูดใหม่ว่า “ขอบคุณจ้ะ” แล้วจึงยกถ้วยยาขึ้นดื่ม เพียงลิ้นสัมผัส หล่อนก็รีบวางแล้ววิ่งออกไปบ้วนทิ้งที่หน้ากุฏิ กระนั้นก็ยังรู้สึกว่ารสขมติดปากติดลิ้นอยู่ ท่านพระครูจึงว่า

          “นั่นไง เดี๋ยวก็ได้ตายอีกคนหรอก”

          “โอย หลวงพ่อ ทำไมมันขมร้ายกาจอย่างนี้ ไม่กินยาไม่ได้หรือจ๊ะ ปฏิบัติกรรมฐานอย่างเดียวได้ไหม” หล่อนขอต่อรอง

          “ก็ในเมื่อยา เอ็งยังกินไม่ได้ แล้วเอ็งจะไปปฏิบัติได้ยังไง เพราะการปฏิบัติกรรมฐานเพื่อแก้กรรมนั้น มันทุกข์ทรมานยิ่งกว่ากินยาขมหลายเท่านัก ไม่ใช่ปฏิบัติจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ แล้วจะแก้กรรมได้ ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันเชียวละ ท่านเจ้าของกุฏิชี้แจง

          นี่ก็แปลว่าฉันต้องทนปวดหน้าอก ทนกินยา แล้วยังต้องทนปฏิบัติกรรมฐานอีก ทำไมมันหนักหนาสาหัสอย่างนี้ล่ะจ๊ะหลวงพ่อ” สตรีวัยยี่สิบเศษนึกท้อ

            “เอ็งจะได้เข็ดหลาบยังไงล่ะ ทีหลังจะได้ไม่ก่อกรรมทำเวรอีก เอาเถอะกลับไปได้แล้ว แม่ชีช่วยเป็นหูเป็นตาแทนด้วยนะ” ท่านฝากฝังกับแม่ชีเจียนอีกครั้ง

          “จ้ะ หลวงพ่ออย่าได้เป็นห่วงเลย ฉันจะดูแลอย่างดีที่สุด หากมีอะไรเหลือบ่ากว่าแรงก็จะมากราบเรียนให้หลวงพ่อทราบ ฉันลาละจ้ะ” แม่ชีกราบท่านเจ้าของกุฏิสามครั้ง แล้วชวนนางสาวส้มป่อยกลับสำนักชี หญิงสาวกราบท่านพระครูและกำลังจะลุกตามแม่ชีออกไป ก็พอดีกับท่านเจ้าของกุฏิถามขึ้นว่า           

            “ส้มป่อยบ้านเอ็งอยู่ติดกับบ้านตาวนไม่ใช่หรือ แกเป็นยังไงบ้าง” ท่านถามถึงเพื่อนบ้านของนางสาวส้มป่อย

          “เห็นว่าป่วยมานานแล้วจ้ะ ไอ้ฉันก็ไม่ได้ไปเยี่ยม เพราะลำพังตัวเองก็จะเอาไม่รอด ลูกสาวแกคนที่เป็นเพื่อนกับฉัน บอกว่าเอาไปอยู่โรงพยาบาลเป็นเดือนก็ไม่หาย แล้วแกก็รบเร้าให้ลูกพากลับบ้าน”

          “อ้อ ยังงั้นหรอกหรือ แกป่วยเป็นอะไรล่ะ”

          “ก็โรคคนแก่นั่นแหละจ้ะหลวงพ่อ สงสัยอีกไม่นานคงต้องกลับบ้านเก่า นี่ฉันไม่ได้แช่งนะ” หล่อนรีบออกตัว

          “เอาละ ๆ ไปได้แล้ว ประเดี๋ยวข้าเห็นจะต้องไปเยี่ยมแกสักหน่อย เรือข้ามฟากยังมีใช่ไหม”

          “มีจ้ะ ทุ่มนึงถึงจะหมด นิมนต์หลวงพ่อรีบไปเถอะจ้ะ”

          “ถ้ายังงั้น โยมปฏิบัติไปก่อนนะ อาตมาจะไปเยี่ยมไข้เขาสักหน่อย เดี๋ยวกลับมาจะเล่าอะไรให้ฟัง” ท่านบอกอาจารย์ชิต

          “ครับ นิมนต์หลวงพ่อเถิดครับ” อาจารย์ชิตว่า รู้สึกดีใจที่จะได้ฟังท่าน “เล่าอะไร”

          “สมชาย ขุนทอง หายกันไปไหนหมดล่ะ” ท่านถามหาลูกศิษย์และหลานชาย นายขุนทองกำลังอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่ในห้อง ได้ยินท่านเรียกจึงออกมา

          “หลวงลุงมีอะไรจะใช้หนูหรือฮะ”

          “สมชายไปไหนเสียล่ะ”

          “โน่นแหละฮ่ะ บ้านเหนือโน่น” เขาชี้มือประกอบ

          “ถ้าอย่างนั้น เอ็งไปเตรียมของเยี่ยมคนป่วยมาหนึ่งชุด จัดใส่ถาดมาให้เรียบร้อย แล้วก็หาซองเปล่ามาหนึ่งซอง” ท่านสั่ง นายขุนทองจึงหายเข้าไปในห้องอีกครั้ง ประเดี๋ยวหนึ่งก็ถือถาดพลาสติกออกมา ในถาดมีโอวัลตินขนาดกลางหนึ่งกระป๋อง นมข้นตราหมีสามกระป๋องและนมสดอีกหนึ่งโหล ซองเปล่าสีขาววางอยู่บนกระป๋องโอวัลติน ท่านพระครูหยิบธนบัตรใบละร้อยจากย่าม ส่งให้เขาสองใบ

          “เอาใส่ในซองนั่น แล้วถือถาดตามข้ามา โยมเฝ้ากุฏิไปก่อนนะ ถ้ามีใครมาก็ช่วยบอกว่า อาตมาไปเยี่ยมไข้ฝั่งโน้น อีกสองชั่วโมงจะกลับ” ท่านสั่งอาจารย์ชิตแล้วจึงเดินนำไปยังท่าน้ำ โดยมีนายขุนทองเดินตาม

          ท่านพระครูออกไปไปถึงสิบนาที บุรุษวัยสี่สิบเศษก็เข้ามาถามหาท่าน อาจารย์ชิตบอกเขาตามที่ท่านเจ้าของกุฏิสั่ง และแอบสังเกตว่าดวงตาของบุรุษนั้นแดงช้ำเหมือนคนที่ผ่านการร้องไห้มาอย่างหนัก จึงพูดขึ้นว่า

          “ดูท่าทางคุณคงมีทุกข์ ระหว่างที่รอหลวงพ่อ หากมีอะไรที่ผมพอจะช่วยได้ ก็อย่าเกรงใจนะครับ” เขาเสนอตัว เมื่อมีคนมาแสดงความเห็นอกเห็นใจ บุรุษนั้นก็ร้องไห้เหมือนเด็ก ๆ พลางรำพึงรำพัน

          “ขอบคุณครับ ไม่มีใครช่วยผมได้ ผมมันคนเลย ผมมันไอ้ฆาตกร ต้องตกนรกหมกไหม้” แล้วเขาก็ตีอกชกหัวตัวเอง ต่อหน้าบุรุษสูงวัย

          “อย่าทำร้ายตัวเองอย่างนั้นเลยครับ ผมเชื่อว่าหลวงพ่อท่านคงช่วยคุณได้ ท่านมีเมตตาจิตสูง ช่วยให้คนพ้นทุกข์มามากต่อมาก ผมว่าคุณใจเย็นไว้ก่อนดีกว่า”

          ผู้มาใหม่หยุดทำร้ายตัวเองเพราะรู้สึกเจ็บ นึกโกรธตัวเองอยู่ครามครัน ทุกข์ใจก็สุดทะทานทนแล้ว ยังต้องมามีอันทุกข์กายเพิ่มขึ้นมาอีก

          เมื่อบุรุษนั้นหยุดร้องไห้ อาจารย์ชิตจึงถามขึ้นว่า

          “ขอประทานโทษ คุณมาจากไหนหรือครับ”

          “จากเพชรบูรณ์ครับ ผมขับรถมา”

          “บ้านอยู่ที่นั่นหรือครับ” เขาถามอีก การได้พูดได้คุยทำให้รู้สึกเพลิดเพลินจนสามารถลืมความเจ็บปวดไปได้บ้าง”

          “เปล่าครับ ขอโทษนะครับ กรุณาอย่าถามว่าผมไปทำอะไรที่นั่น เพราะประเดี๋ยวผมก็มีอันต้องร้องไห้อีก” บุรุษนั้นขอร้อง ผู้อาวุโสจึงจำต้องนิ่ง ขณะเดียวกันก็คิดว่า บุรุษผู้นี้คงจะได้รับความสะเทือนใจอะไรสักอย่าง มาจากจังหวัดนั้น เงียบกันไปพักหนึ่ง ผู้มาใหม่จึงถามขึ้นว่า

          “คุณได้กลิ่นอะไรหรือเปล่าครับ คล้าย ๆ กลิ่นเน่าของสุนัข หรือว่ามีหนูตายอยู่แถวนี้ ผมได้กลิ่นตั้งแต่ตอนเข้ามาโน่นแล้ว” เขาทำจมูกฟุตฟิตพลางก้มลงมองที่ใต้อาสนะเพื่อค้นหา

          “อย่าหาเลยครับ แถวนี้ไม่มีหนูตาย ผมรับรองได้” อาจารย์ชิตว่า

          “คุณไม่ได้กลิ่นบ้างหรือ เหม็นออกอย่างนั้น” ผู้มาใหม่ถามอีก

          “ได้ซีครับแต่ผมชินกับมันเสียแล้ว นี่ไงครับที่มาของกลิ่น” เขาชี้แผลตรงคอบริเวณใต้กกหูข้างขวา บุรุษนั้นจึงรีบกล่าวคำขอโทษ

          “ผมต้องขอประทานโทษนะครับ ที่พูดในสิ่งที่อาจทำให้คุณสะเทือนใจ เป็นอะไรหรือครับ”

          “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ก่อนหน้านี้ผมรู้สึกหมดอาลัยในชีวิต แต่พอมาพบหลวงพ่อ ผมกลับมีความหวังขึ้น ท่านบอกว่า ผมมีโอกาสหายถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์”

          “ครับ ผมขอแสดงความยินดี แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขอโทษที่พูดไปเมื่อตะกี้ กรุณายกโทษให้ผมด้วย”

          “อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์เลยครับ ผมเข้าใจความรู้สึกของคุณดี แล้วแผลของผมมันก็เหม็นอย่างที่คุณว่ามาจริง ๆ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย แม้ลูกเมียเขาก็ยังรังเกียจผม ถึงเขาไม่แสดงออกมานอกหน้านอกตา แต่ผมก็รู้ ตอนมาที่นี่ใหม่ ๆ ลูกศิษย์วัดเขาก็แสดงกิริยารังเกียจ แต่หลังจากที่หลวงพ่อท่านพูดอบรม พวกเขาก็ปฏิบัติต่อผมดีขึ้น ผมเป็นหนี้บุญคุณหลวงพ่อท่านมากเลยครับ

          ผมรู้ว่า ท่านก็ต้องเหม็นกลิ่นเน่าจากแผลของผม แต่ท่านก็มิได้แสดงอาการรังเกียจ ทั้งที่ผมก็เป็นคนแปลกหน้าสำหรับท่าน ในโลกนี้จะหาใครที่มีจิตเปี่ยมด้วยเมตตาเช่นท่าน ไม่มีอีกแล้ว ไม่มีจริง ๆ”

            “คุณไม่เคยรู้จักกับท่านมาก่อนหรือครับ”

          “ไม่เคยครับ ผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อน ก็เสี่ยงมายังงั้นเอง ไม่นึกว่าจะมาได้รับความเมตตามากมายถึงปานนี้ นี่ผมก็ตังใจไว้ว่าเมื่อหายก็จะบวชตลอดชีวิต” ผู้อาวุโสพูดอย่างมุ่งมั่น

          “ครับ ผมขออนุโมทนา แล้วขอให้หายโดยเร็ว” ผู้มาใหม่แสดงมุทิตาจิต

          “คุยกันมาตั้งนาน ผมยังไม่ทราบเลยว่าคุณชื่ออะไร ส่วนผมชื่อชิต เคยเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยเกษตรกรรม จังหวัดเชียงใหม่ แต่ได้ลาออกมาห้าปีแล้ว หลังจากที่รู้ว่าเป็นมะเร็งต่อน้ำเหลือง” อาจารย์ชิตแนะนำตัวเอง

          “ผมชื่อจรินทร์ครับ เป็นวิศวกร” ผู้มาใหม่พูดสั้น ๆ เขารู้สึกว่า กลิ่นเน่านั้นรุนแรงจนแทบไม่อยากจะหายใจเข้า จึงพยายามที่จะหายใจออกเพียงอย่างเดียว หากก็ทำอยู่ได้ไม่นานเพราะมันผิดธรรมชาติ ในที่สุดจึงออกอุบายว่า “ผมยังไม่ได้ทานมื้อกลางวันเลย ชักหิวเสียแล้ว เห็นจะต้องไปหาอะไรรองท้องสักหน่อย ขออนุญาตนะครับ” พูดจบก็ลุกเดินออกไปทางโรงครัว ค่อยหายใจโล่งอกเมื่อห่างรัศมีของกุฏิออกมา เขาเดินเรื่อย ๆ ไปจนถึงโรงครัว หากมิได้แวะเข้าไป ความทุกข์ที่กำลังได้รับมันหนักหน่วงเสียจนไม่รู้สึกหิว บุรุษวัยสี่สิบเศษ เดินไปจนถึงศาลาท่าน้ำ แล้วก็เลยถือโอกาสนั่งคอยท่านพระครูอยู่ ณ ที่นั้น

          ช่วงเวลาแห่งการรอคอย นายจรินทร์รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังตกอยู่ในห้วงอเวจี มันร้อนรุ่มกลุ้มกลัดอึดอัดขัดข้อง จนสุดจะพรรณนา นับตั้งแต่จำความได้กระทั่งอายุย่างเข้าปีที่สิบสาม ก็ยังไม่เคยมีความทุกข์ครั้งใดหนักหนาสาหัสเท่าครั้งนี้ เมื่อได้อยู่คนเดียว ภาพเหตุการณ์สยดสยองที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาสิบเอ็ดนาฬิกา ได้กลับเข้ามาสู่ห้วงความคิดอีกครั้ง เขาเห็นร่างของพระอาจารย์สุวินที่นอนจมกองเลือด เพราะน้ำมือของเขา ท่ามกลางความตะลึงงันของบรรดาพระภิกษุและแม่ชีในวัด มันเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างรวดเร็วราวกับลมพัดผ่าน แล้วเขาก็กลายเป็นฆาตกรโดยมิได้เจตนา

          “โอ๊ย ทนไม่ไหวแล้ว” เขาตะโกนและยกมือทั้งสองขึ้นปิดหน้า เพราะไม่ต้องการจะเห็นภาพนั้น ทว่ายิ่งปิดก็ยิ่งดูเหมือนว่ามันชัดเจนมากขึ้น จนเขามิอาจทนนั่ง ณ ที่นั้นได้ จึงลุกขึ้นเดินกลับไปยังกุฏิ คิดว่าทนเหม็นกลิ่นเน่า ก็ยังดีกล่ามาทนอยู่กับความทุกข์ทรมานเช่นนี้

          บุรุษวัยสี่สิบเศษเดินกลับมาที่กุฏิอีกครั้ง คิดว่าจะมาพูดคุยกับบุรุษสูงวัย เพื่อคลายความกลัดกลุ้ม ครั้นมาถึงก็เห็นฝ่ายนั้นกำลังเดินจงกรมอยู่อย่างขะมักเขม้น จึงคิดที่จะทำเช่นนั้นบ้าง

          นายจรินทร์เคยมาเข้ากรรมฐานที่วัดแห่งนี้เมื่อหลายปีมาแล้ว หลังจากนั้นก็ได้ฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านพระครู และได้รับความเมตตาช่วยเหลือจากท่านหลายอย่าง หลายประการ สามปีเต็ม ๆ ที่เขาขับรถไป ๆ มา ๆ ระหว่างสิงห์บุรีกับกรุงเทพฯ โดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือแม้แต่เบื่อหน่าย แล้วอยู่ ๆ ก็เหมือนมีกรรมบันดาลให้เขาต้องเหินห่างจากท่าน เพียงได้รู้จักกับพระอาจารย์สุวิน เขาก็เริ่ม “แปรพักตร์” จากท่านพระครูเจริญ ไปหลงติดใน “อิทธิปาฏิหาริย์” ของพระอาจารย์สุวิน

          ดังนั้นแทนที่จะขับรถมาสิงห์บุรีเขาก็ไปเพชรบูรณ์แทน แล้วก็ไปได้ทุกอาทิตย์ จนไม่เป็นอันทำการงานเพราะใจจดจ่อรอให้ถึงวันศุกร์ ภรรยาเขาเคยสะกดรอยตาม ด้วยคิดว่าเขาคงไปมี “ผู้หญิง” ซุกซ่อนไว้ที่นั่น ครั้นเห็นว่าไปหาพระจริง หล่อนก็เลิกตาม กระนั้นก็ยังค่อนแคะกระแนะกระแหนเขาว่า “หลงพระ” ยิ่งกว่าหลงผู้หญิง

          ปีที่แล้วนี่เอง ที่ไม่ได้ไปหาท่าน เพราะทางราชการส่งเขาไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเพิ่งบินมาถึงเมื่อวานตอนเย็น พอตีห้าของวันรุ่งขึ้น เขาก็ขับรถบึ่งไปเพชรบูรณ์ ด้วยความระลึกนึกถึงพระภิกษุรูปนั้น มิได้คาดฝันว่าจะมากลายเป็นฆาตกรไปในที่สุด คิดมาถึงตอนนี้เขาอยากจะตะโกนออกมาดัง ๆ เพื่อระบายความกลัดกลุ้ม หากก็ต้องยับยั้งสติอารมณ์เอาไว้ เพราะเกรงใจคนที่กำลังเดินจงกรมอยู่ข้าง ๆ

          บุรุษวัยสี่สิบเศษเริ่มต้นเดินจงกรมบ้าง ตั้งใจว่าจะเดินไปจนกว่าท่านพระครูจะกลับ

          อาจารย์ชิตนึกอนุโมทนาเมื่อเห็นผู้มาใหม่เดินจงกรม เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้จิตใจเขาสงบลงได้บ้าง บุรุษสูงวัยเริ่มจะมองเห็นความจริงของชีวิต ว่าล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ ซึ่งแม้จะมาในรูปแบบต่าง ๆ กัน หากก็สรุปลงด้วยทุกข์เหมือนกันหมด เหตุนี้กระมัง พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า “ชีวิตเป็นทุกข์”

            ท่านพระครูกลับมาถึงกุฏิ เมื่อเวลาทุ่มครึ่ง ทันทีที่เห็นท่านเดินเข้ามา นายจรินทร์ก็โผเข้าไปกราบที่เท้าท่าน แล้วซบหน้าร้องไห้อยู่ตรงนั้น เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง มิได้พูดว่ากระไร หากยืนก้มหน้านิ่งดูเขาร้องไห้ อาจารย์ชิตกำลังจะนั่งสมาธิ ก็เลยมีอันไม่ได้นั่งเพราะอยากรู้เรื่องราวและสาเหตุแห่งทุกข์ของบุรุษนั้น

          “หลวงพ่อครับ ช่วยผมด้วย ช่วยผมด้วย” นายจรินทร์คร่ำครวญ

          “ได้ข่าวว่าไปดูงานที่เมืองนอกไม่ใช่หรือ กลับมาเมื่อไหร่ล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิถามด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยเมตตา

          “เมื่อเย็นวานนี้เองครับ” บุรุษวัยสี่สิบเศษเงยหน้าขึ้นตอบ ครั้นเห็นว่าเป็นการไม่สมควรที่จะให้ท่านยืนพูดกับเขาอย่างนั้น จึงถอยออกมาแล้วนิมนต์ท่านเข้าไปนั่งที่อาสนะ นายขุนทองจัดการชงกาแฟมาบริการแขกโดยไม่ต้งอรอให้ท่านสั่ง

          “โยมผู้หญิงไม่ได้มาด้วยหรอกหรือ” ท่านถามถึงภรรยานายจรินทร์

          “ไม่ได้มาครับ ผมมาคนเดียวมาจากเพชรบูรณ์” แล้วเขาก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น

          “อ้อ ท่านพระครูรับรู้แล้วมิได้ถามอะไรอีก นายจรินทร์ใช้หลังมือปาดน้ำตาแล้วพูดขึ้นว่า

          “หลวงพ่อครับ ผมเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย ผมฆ่าพระตายครับ” พูดจบก็ร้องไห้ต่อ ท่านพระครูจึงปลอบเขาว่า

          “ทำใจดี ๆ เข้าไว้ ไม่ต้องกลัว มาวัดนี้แล้วต้องกล้าหาญ อาตมาชอบคนกล้าหาญ เราต้องกล้าเผชิญกับทุกสิ่ง ไม่ว่าดีหรือร้าย เอาละ ตั้งสติให้ดี หายใจลึก ๆ แล้วเล่าไปว่า เกิดอะไรขึ้น” นายจรินทร์คิดว่าท่านคงจะตกใจและตำหนิเขา แต่เมื่อมิได้เป็นเช่นนั้น ก็ใจชื้นขึ้น จึงเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ท่านฟัง อาจารย์ชิดกับนายขุนทองก็นั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ

          “เรื่องมันเกิดขึ้นวันนี้เองครับ คือผมขับรถไปเพชรบูรณ์ตอนตีห้า เพื่อจะไปกราบเยี่ยมพระอาจารย์สุวิน ไปถึงสิบเอ็ดโมงเศษ ๆ ก็ตรงไปที่กุฏิของท่าน แม่ชีปราณีบอกผมว่า ท่านเข้าสมาบัติอยู่ในถ้ำน้ำบังบนภูเขามาสามเดือนแล้ว ห้ามใครไปรบกวน กำหนดท่านจะออกจากสมาบัติวันที่ ๑ มีนา ซึ่งครบสามเดือนพอดี ผมก็ถามแม่ชีว่า ทำไมท่านต้องเขานานขนาดนั้น ก็ได้รับคำตอบว่าเพื่อสะเดาะเคราะห์และต่ออายุ หากไม่ทำเช่นนั้น ท่านจะต้องมรณภาพภายในมกราคม ๒๕๑๗ ผมก็ไม่เชื่อที่แม่ชีเล่า เพราะเคยได้ยินมาว่าพระสามารถจะเข้าสมาบัติได้อย่างมากต้องไม่เกินเจ็ดวัน ใช่ไหมครับ” เขาถามท่านเจ้าของกุฏิ

          “มันคนละอย่างกัน สมาบัติมีสองประเภท คือ ผลสมาบัติ และ นิโรธสมาบัติ อย่างแรกเข้าเป็นปีก็ได้ แต่อย่างหลังคือนิโรธสมาบัติ หรือชื่อเต็มว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เพราะเป็นสมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา อันนี้เข้าได้อย่างมากไม่เกินเจ็ดวัน” ท่านพระครูถือโอกาสอธิบาย พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า

          “หลวงพ่อองค์หนึ่ง อยู่ที่จังหวัดลำปาง ท่านคุ้นเคยกับอาตมาดี องค์นี้ท่านเข้าผลสมาบัติครั้งหนึ่ง ๆ นานเป็นปี ลูกศิษย์ลูกหามาเยี่ยมก็เลยต้องผิดหวังไปตาม ๆ กัน”

          “หลวงลุงน่าจะทำอย่างนั้นบ้างนะฮะ จะได้ไม่ต้องรับแขก หนูจะได้ไม่เหนื่อย” นายขุนทองพูดขึ้น

          “ข้าก็อยากจะทำเหมือนกันแหละแต่ทำไม่ได้ เพราะยังไม่หมดหน้าที่ต้องใช้กรรมญาติโยมเขาให้หมดเสียก่อน” ท่านบอกหลานชาย

          “อ๋อ เหรอฮะ แล้วจวนหมดหรือยังล่ะฮะ”

          “อีกสี่ห้าปี เอาละ เอ็งเลิกถามได้แล้ว ข้าจะฟังโยมเขาเล่าต่อ” นายจรินทร์จึงเล่าต่อไปว่า

          “ระหว่างที่แม่ชีเขาสาละวนอยู่กับการจัดอาหารถวายเพลพระ ผมจึงแอบขึ้นไปบนเขาแล้วก็เข้าไปในถ้ำ ก็เห็นพระอาจารย์สุวินท่านนอนหลับอยู่ในมุ้ง ผมจึงเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็พบกระดาษแผ่นหนึ่งเขียนไว้ที่ข้างมุ้ง เป็นลายมือของท่านเอง เขียนสั่งไว้ว่า “เจริญพรญาติโยมทั้งหลาย อาตมภาพจะไปเที่ยวป่าหิมพานต์สักสามเดือน ระหว่างนี้ ห้ามไม่ให้ใครมารบกวน อาตมาไม่ได้มรณภาพ จึงไม่ต้องรดน้ำศพ ไม่ต้องสวดอภิธรรม แล้วก็ไม่ต้องนำร่างไปใส่โลง แล้วอาตมาจะกลับมาในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๗ และที่สำคัญที่สุดคืออย่าให้ใครแตะต้องตัวอาตมาเป็นอันขาด” ท่านเขียนไว้อย่างนี้ครับ แล้วก็ลงวันที่ไว้ด้วย เป็นวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๖ พอเห็นข้อความนั้น ผมก็เลยคิดว่า แม่ชีปราณีพูดความจริง แล้วก็เหมือนมีอะไรมาดลใจ ผมคิดว่าวันนี้ก็วันที่ ๒๔ กุมภาแล้ว เหลือเวลาอีกห้าวันเท่านั้น หากผมจะปลุกท่านก็คงไม่เป็นไร เพราะไหน ๆ ก็ผ่านพ้นเดือนมกรามาแล้ว คิดดังนั้นผมจึงเอื้อมมือเข้าไปในมุ้งเพื่อจะจับแขนท่าน ขณะนั้นแม่ชีปราณีตามมาถึงพอดี แกส่งเสียงห้ามว่า “คุณจรินทร์ อย่า” แต่ช้าไปเสียแล้ว เพราะผมยังมือไม่ทัน ครั้นมือผมสัมผัสกับแขนท่าน ก็เกิดเสียงดัง “เพะ” เหมือนข้าวตอกแตก แล้วเลือดก็ไหลท่วมร่างท่านและไหลนองลงมาเต็มพื้นถ้ำ ไม่ทราบว่าทำไมจึงมากมายขนาดนั้น เหม็นคาวคลุ้งเลยครับ ผมก็ตะลึง แม่ชีปราณีก็ตะลึง คนอื่น ๆ ก็ตามมาดูกันทั้งพระและชี

          พอหายตะลึง ผมก็ร้องไห้ใหญ่ แม่ชีปราณีก็รำพึงรำพันซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า “ไม่น่าเล้ย ไม่น่าเลย พี่บอกแล้วก็ไม่เชื่อ พี่เผลอเดี๋ยวเดียวเกิดเรื่องจนได้” ระหว่างที่พวกเขาช่วยกันนำศพใส่โลงและล้างพื้นถ้ำอยู่นั้น ผมก็บอกว่าจะไปมอบตัวกับตำรวจ ท่านเจ้าอาวาสบอกไม่ต้อง เพราะผมไม่ได้เป็นฆาตกร ท่านไม่ต้องการให้เรื่องนี้รู้ไปถึงหูตำรวจ ท่านยังบอกอีกว่า เป็นกรรมของพระอาจารย์สุวินเอง ท่านจะต้องมรณภาพอยู่แล้ว”

          “ถูกต้อง เจ้าอาวาสท่านพูดของท่านถูกแล้ว” ท่านพระครูพูดขึ้น นายจรินทร์ไม่เข้าใจ ถึงถามท่านว่า

          “หลวงพ่อหมายความว่าอย่างไรครับ”

          “ก็หมายความว่าโยมไม่ได้เป็นผู้ร้ายฆ่าคนอย่างที่โยมคิดน่ะซี สมมุตินะ สมมุติว่าโยมเอามือมาถูกตัวอาตมา แล้วจะเรียกว่าโยมเป็นผู้ร้ายฆ่าคนหรือเปล่าเล่า”

            “ไม่เรียกครับ” บุรุษวัยสี่สิบเศษตอบ รู้สึกโล่งใจเหมือนยกภูเขาออกจากอก

          “นั่นแหละ แบบเดียวกันนั่นแหละ ทีนี้ก็เลิกโศกเศร้าเสียใจได้แล้ว เห็นหรือยังว่า กฎแห่งกรรมนั้นเที่ยงตรงนัก อาตมาก็รู้จักท่านสุวิน ท่านก็เคยมาปรึกษาเรื่องนี้ อาตมาก็ชวนมาเข้ากรรมฐาน ท่านก็ไม่เชื่อ ท่านชอบไปทางฌานสมาบัติ ในที่สุดก็ต้องเป็นไปตามกรรม โยมอย่าลืมนะว่า วิธีที่จะแก้กรรมนั้น ต้องใช้วิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น อย่างอื่นแก้ไม่ได้”

          “ถ้าอย่างนั้น ก็หมายความว่า ฌานสมาบัติไม่มีประโยชน์หรือครับ” อาจารย์ชิตถาม

          “มีสิ ทำไมจะไม่มี แต่ประโยชน์ที่แท้จริงนั้นจะต้องนำมาเป็นบาทฐานของวิปัสสนา ถ้าหากนำไปใช้ในทางให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ ถ้อว่าไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้ เพราะแก้ทุกข์ไม่ได้ ท่านสุวินท่านมีอิทธิปาฏิหาริย์หลายอย่าง เท่าที่อาตมารู้ แต่เห็นหรือยังว่า ท่านก็ไม่อาจหนีกรรมไปได้ อุตส่าห์หนีไปถึงป่าหิมพานต์ ก็ยังไม่พ้นกรรม”

            “แต่ถ้าท่านเชื่อหลวงพ่อ แล้วมาเข้ากรรมฐานที่นี่ ก็จะไม่มรณภาพหรือครับ” นายจรินทร์ถาม

          “แน่นอน ข้อนี้อาตมารับรอง เพราะการที่ท่านได้ฌานก็เหมือนกับมีทุนเดิมอยู่แปดสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว มาทำเพิ่มอีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ใช่ไหมเล่า”

          “ใช่ครับ ถ้าอย่างนั้นผมจะกลับไปลางานสักเจ็ดวัน แล้วมาเข้ากรรมฐานนะครับ หลวงพ่อครับผมขอปฏิญาณว่า ต่อแต่นี้ไป ผมจะเลิกสนใจเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ จะสนใจแต่วิปัสสนากรรมฐานเพียงอย่างเดียว ผมเข็ดแล้วครับ” บุรุษวัยสี่สิบเศษให้คำมั่นสัญญา

            “ดีแล้ว อาตมาขออนุโมทนา เอาละ สบายใจแล้ว ก็ไปที่โรงครัว ไปทานอาหารเสียก่อน แล้วค่อยกลับบ้าน ยังไม่ได้ทานข้าวกลางวันไม่ใช่หรือ”

          “ครับ ขอบคุณครับ แหมพอหลวงพ่อพูด ผมรู้สึกหิวขึ้นมาทันทีเลยครับ” เขากราบท่านสามครั้งแล้วหันไปลาอาจารย์ชิต

          “ขอบคุณนะครับอาจารย์ ผมเลยถือโอกาสลาเลย” พูดจบก็ลุกขึ้น เดินมุ่งหน้าไปยังโรงครัวด้วย รู้สึกหิวจนแสบท้อง...

 

มีต่อ........๕๖

 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: