สมาธิ-วิปัสสนา เส้นทางสร้างสุข ยุคสังคมวุ่นวายเสื่อมทราม
โดย ปิติพงษ์ เมืองสง
พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิผโล
ช่วงเวลาหลังเลิกงานเป็นช่วงเวลาที่หลายคนต่างรีบเร่งกลับบ้านเพื่อพักผ่อน ท้องถนนเต็มไปด้วยรถราจอดติดเรียงรายรอสัญญาณไฟ
ส่วนรถเมล์ภายในก็แน่นขนัดผู้คนอัดกันเป็นปลากระป๋อง รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินขบวนยาวแต่ไร้ซึ่งที่ว่าง
แต่กลับมีสิ่งที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น! บนตึกสูงใจกลางกรุงเทพมหานครกลับพบบรรยากาศของความสงบ และพบผู้คนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกัน เพื่อร่วมฟังบรรยายและปฏิบัติธรรม
เป็นสิ่งที่ทำให้ภาพเล่าด้านบนที่กล่าวมาตัดกันฉับพลันโดยสิ้นเชิง ท่ามกลางความวุ่นวายโกลาหลที่ดูเหมือนเส้นประสาทจะขาดผึงได้ทุกเมื่อ กลับมีมุมสงบๆ สบายๆ ให้พักหัวใจ และสร้างพลังใจเพื่อต่อสู้กับความวุ่นวายในวันรุ่งขึ้น
มุมสงบที่ว่านี้ อยู่บนอาคารอัมรินทร์ พลาซา ย่านราชประสงค์ ซึ่งมีการจัดบรรยายธรรมะเป็นประจำทุกสัปดาห์ สำหรับครั้งนี้เป็นหัวข้อเรื่อง "สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน"
การจัดบรรยายธรรมะนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ใจตัวเอง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ กับวิทยากรที่มาบรรยายโดยผ่านการสนทนา ซึ่งมี "ชมรมคนรู้ใจ" สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี และบริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น เพราะเล็งเห็นคุณค่าในการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และการปฏิบัติธรรมในแนวสติปัฏฐาน 4 เป็นการพัฒนาปัญญาและดุลยภาพชีวิตของประชาชน
ปัญจสิรีย์ องอาจสิริ ผู้ประสานงานพระวิทยากร บอกถึงเหตุผลในการจัดบรรยายธรรมะ ว่า เป็นเรื่องที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันที่ต้องพบกับความวุ่นวายรอบด้าน ทั้งด้วยสภาพสังคมอันโกลาหล ความผันผวนของเศรษฐกิจ พ่วงด้วยปัญหาการว่างงานที่กำลังตามมา กลายเป็นเรื่องราว "ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์" ที่ทำให้หลายคนรู้สึกวิตกกับภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนทำให้เส้นกราฟความเครียดพุ่งสูงก่อเกิดเป็นความทุกข์ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"การจัดบรรยายเรื่องสมาธิ-วิปัสสนา ครั้งนี้ก็เพราะการทำสมาธิ ทั้งสมถะและวิปัสสนาจะทำให้จิตใจของผู้ปฏิบัติสงบและสามารถมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน จนเกิดเป็นปัญญา สามารถแก้ไขปัญหาที่ผ่านเข้ามาได้ เช่น การนั่งสมาธิ แล้วกำหนดลมหายใจเข้าออก ท่องพุทโธๆ อาจทำให้เราสามารถคิดถึงสิ่งที่เคยทำผิดเพราะจิตสงบ จนเป็นการรับรู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรทำอีกหรือคิดหาหนทางที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เป็นต้น"
บรรยากาศแห่งความสงบเริ่มต้นด้วยการที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดร่วมกันทำวัตรเย็น กล่าวบทสวดมนต์อย่างพร้อมเพรียงกัน และร่วมกันนั่งสมาธิเป็นเวลา 10 กว่านาที เป็นการเปิด "จิต" ในการรับฟังธรรม
จากนั้น พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิผโล เจ้าอาวาสวัดนาป่าพง จังหวัดปทุมธานี พระวิทยากรเริ่มต้นด้วยปัญหาที่หลายคนสับสนคำว่า "สมถะ" กับ "วิปัสสนา" ว่า จริงๆ แล้วทั้งสองคำเป็นลำดับขั้นตอนที่เกื้อหนุนกัน
คือ "สมถะ" เป็นการอบรมใจให้สงบ (มีสมาธิ) ให้หยุดนิ่ง เป็นอารมณ์เดียว ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก คำบริกรรมคาถา เป็นต้น ส่วนการ "วิปัสสนา" หมายถึงการอบรมปัญญาให้เกิด โดยการปฏิบัติธรรมแล้วใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรม ทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง จนมี "จิต" ที่เป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์
หากปฏิบัติทั้งสองอย่างควบคู่กันไปจะเกื้อหนุนกัน คือผลของสมถะจะทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญาได้ง่ายขึ้น และผลของวิปัสสนา (ความปล่อยวาง, ความไม่ยึดมั่น) ก็ทำให้นิวรณ์ (สิ่งขวางกั้นสมาธิ) เกิดน้อยลง ทำให้สมาธิเกิดได้ง่ายขึ้น
หลายคนมองว่าภาวะปัจจุบันนั้นยากในการจะปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ขอเพียงมีกายมีจิตอยู่ตลอดเวลา
พระอาจารย์คึกฤทธิ์ ยกตัวอย่างแสดงธรรมต่อไป ว่า หากใครเคยศึกษาพุทธศาสนามาบ้าง อาจเคยได้ยิน เรื่อง "ม้ากระจอก" กับ "ม้าอาชาไนย" ที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสเปรียบเปรยไว้
"ม้ากระจอก" ผูกไว้ใกล้รางข้าวเหนียว ก็จะมองเห็นแต่ข้าวเหนียว ว่าเป็นข้าวเหนียว เพราะเพ่งเพียงรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้เพ่งอย่างลึกซึ้งเเละไม่ได้ใช้ปัญญาในการคิดต่อถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น แตกต่างกับม้าอาชาไนย ถูกผูกไว้ใกล้รางข้าวเหนียวเหมือนกัน แต่จะไม่คิดว่าข้าวเหนียวเป็นเพียงข้าวเหนียว แต่จะคิดว่าวันนี้เจ้าของจะให้ทำอะไร เราจะทำสิ่งใดเป็นการตอบแทน
ปัญจสิรีย์ องอาจศิริ
"เรื่องนี้ก็คล้ายกันกับคนเรา ไม่ว่ามนุษย์จะอยู่สถานที่ใด จะเป็นอยู่ที่ป่าก็ดี อยู่ที่โคนต้นไม้ก็ดี หรืออยู่เรือนว่างเปล่าก็ดี ไม่มีจิตอันกามราคะรุมเร้าแล้ว ย่อมรู้ถึงวิธีสลัดกามราคะที่เกิดขึ้น แล้วตามความเป็นจริง ย่อมไม่มีจิตอันพยาบาท ซึ่งคล้ายกับเป็นการบอกว่าไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ใดก็สามารถทำสมถะ วิปัสสนาได้"
พระอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวต่ออีกว่า ในชีวิตประจำวันเราสามารถปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนาที่ไหนก็ได้ ขอเพียงมีกายมีจิตตลอดเวลา มีวิธีง่ายๆ อยู่หลายวิธี เช่น เมื่อมีเวลาว่างให้ลองคิดทบทวนถึงการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
"ทบทวนช้าๆ ไม่ต้องรีบร้อน แล้วพยายามทบทวนถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ ให้มองให้ชัดเจนว่าความสุขที่ได้รับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา กับความทุกข์ที่ต้องเผชิญมันคุ้มกันหรือไม่ การกระทำของเราในขณะนั้น เป็นไปตามความปรารถนาของเราอย่างแท้จริง หรือว่าเราควบคุมมันไม่ได้ ความสุขความทุกข์นั้นอยู่กับเราได้นานเพียงใด ที่สำคัญคือต้องทำจิตใจให้เป็นกลาง และต้องมองให้ลึกทุกแง่มุม
"ความสำเร็จ ความภาคภูมิใจในอดีต ถ้าภายหลังทำไม่ได้ หรือมีใครมาพูดให้กระทบกระเทือนจนสูญเสียความมั่นใจ ก็อาจทำให้เราเป็นทุกข์อย่างมากมายก็ได้ แต่อย่ามองแง่เดียว เพราะสิ่งที่มีคุณอนันต์ก็มักจะมีโทษมหันต์เช่นกัน ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันลองคอยสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ถ้าเผลอไปก็ไม่เป็นไร พยายามสังเกตให้ได้มากที่สุด จนเคยชินเป็นนิสัย มีสติรู้ทันความรู้สึกตลอดเวลา
"การสังเกตนั้นเพื่อศึกษาธรรมชาติของร่างกายของจิตใจของเราเอง ว่า มีสุขมีทุกข์มากน้อยเพียงใด เกิดความแปรปรวนเพราะอะไรบ้าง บังคับได้หรือไม่ได้ ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน จนกระทั่งหลับไปในที่สุด คือรู้ตัวเมื่อไหร่ก็สังเกตเมื่อนั้น แล้วสิ่งที่ท่านคิดว่า คือ "เรา" นั้น ก็จะแสดงธรรมชาติที่แท้จริงให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ"
อย่าลืมว่า "พระพุทธศาสนาสอนให้เรากล้าเผชิญหน้ากับปัญหาและความเป็นจริง แทนที่จะหลบลี้ไปจากความจริง ทรงพบว่าเพียงการหันเหจิตใจ จากความทุกข์เฉพาะหน้า ไปสู่สิ่งอื่นในส่วนลึกของจิตนั้น เรายังคงรู้สึกถึงความทุกข์อยู่ และยังสร้างสังขาร หรือความคิดปรุงแต่งของจิต ให้เกิดโลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) หรือ โมหะ (ความหลง) ขึ้นมาอีก ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานมากขึ้น
"การปฏิบัติสมถะวิปัสสนา" จะช่วยให้เราเพ่งเพียรในอารมณ์ เพราะเราจะรู้สิ่งใดอย่างแท้จริง เราก็ต้องเฝ้าดู เพ่งดูซึ่งสิ่งนั้น" เจ้าอาวาสวัดนาป่าพงย้ำถึงหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
หลายคนเวลามีความทุกข์เกิดขึ้นในชีวิต มีความเดือดเนื้อร้อนใจ จนไม่อาจจะทนทุกข์อยู่ต่อไปได้ ก็อยากจะหนีความทุกข์นั้นไปให้พ้น อาจจะไปดูหนัง ดูละคร หรือไปสถานบันเทิงต่างๆ แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ช่วยให้หลบไปจากความทุกข์ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เป็นเพียงการหันเหความสนใจไปจากความทุกข์เป็นการชั่วคราว แล้วก็นึกเองว่าได้พ้นจากความทุกข์นั้นแล้ว
แต่ความเป็นจริงนั้นไม่ได้หลุดพ้นจากความทุกข์
ในทางตรงกันข้าม ความทุกข์กลับจะเพิ่มพูนขึ้น การหนีไปจากความทุกข์ จึงมิใช่เป็นการแก้ปัญหา
คำบรรยายของพระผู้เป็นวิทยากร เนื้อหาที่ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของคนเรา เรื่องของทุกข์ สุข เรื่องของจิตใจ ในบรรยากาศสงบ นิ่ง เย็นสบายเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ว่า
ความสุขที่แท้จริงนั้น ไม่ต้องหาสิ่งใดมาปรุงแต่ง ไม่ต้องใช้ตัวช่วยที่แลกมาด้วยความสิ้นเปลือง
และพระพุทธศาสนานี่เองที่สอนให้รู้ว่า
"ขอเพียงสร้างความรู้เท่าทันให้เกิดขึ้นในจิตใจด้วยตัวเอง ไม่ให้ถูกครอบงำด้วยความมืดดำแห่งกิเลสแล้ว ชีวิตก็นับว่าได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริง"
---------
http://www.matichon.co.th/matichon/v...day=2008-12-10