ลำไยเป็นผลไม้ ที่รสชาติอร่อย มีประโยชน์หลายประการ เช่น แก้อาการนอนไม่หลับและช่วยให้ผ่อนคลาย บำรุงเลือด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของโลหิต บำรุงกำลังของสตรีหลังจากการคลอดบุตร บำรุงร่างกายและระบบประสาท ช่วยให้หลับสบาย และเป็นเครื่องสำอางชั้นเยี่ยม
ลำไย: มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dimocarpus longan Lour.
วงศ์ : Sapindaceae เป็นพืชวงศ์เดียวกันกับลิ้นจี่
กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกลำไยว่า เจ๊ะเลอ ชื่อภาษาอังกฤษคือ Longan ดูว่าจะมาจากภาษาจีนคำว่า สำเนียงจีนกลางว่า (หลง-หย่าน) ซึ่งแปลว่าตามังกรนั่นเอง ญี่ปุ่นเรียก (ริว-กัน) อินโดนีเซียเรียกเล็งเก็ง คิวบาเรียก mamoncillo chino
ชื่อลำไยเดิมภาษาอังกฤษเขียน Long - Ngan ตามสำเนียงกวางตุ้ง แต่การเขียน Ng ติดกันสองตัวไม่เป็นที่นิยม ต่อมาจึงถูกลดรูปเหลือเพียงคำว่า Longan ที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน
ลำไยเป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน แถบมณฑลกวางตุ้ง กวางสี เสฉวน และฟูเกี๋ยน แถบความสูง 150-450 เมตร ไปจนถึงแคว้นอัสสัมเหนือของอินเดียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในฟิลิปปินส์และมาเลเซียเป็นไม้ประดับแต่ไม่ให้ผล
ลำต้นของลำไยสูง5-10 เมตร ลำต้นเปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว
ใบหนาทึบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงแบบสลับ ใบย่อยขอบปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบ หลังใบสีเขียวเข้มมีขนอ่อนนุ่ม ท้องใบสีเขียวหม่น
ดอกช่อมีดอกย่อยขนาดเล็กสีขาว ออกตามปลาย กิ่ง ผลกลม เปลือกผลบางสีน้ำตาลหยุ่นคล้ายหนัง
เมล็ดกลมสีน้ำตาลหรือดำ มีเนื้อหุ้มสีขาวฉ่ำน้ำรสหวานกินได้
ลำไยมีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่ที่นิยมปลูกในประเทศไทยมี 2 สายพันธุ์คือ
ลำไยต้น เป็นพันธุ์ที่ปลูกเพื่อนำผลมาใช้บริโภค ได้แก่ พันธุ์อีดอ เบี้ยวเขียว สีชมพู กะโหลกแห้ว ใบดำ และพันธุ์พื้นเมือง
ลำไยเครือ เป็นพันธุ์ที่ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนหรือตามสถานที่ต่างๆ
ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เนื้อผลลำไยประกอบอาหารทั้งคาวหวาน จะหั่นฝอยผัดกับข้าวหรือจะเอามาต้มน้ำแกงก็ได้
ประเทศไทยนอกจากกินผลสดและปรุงอาหารหวาน เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไยแล้ว ยังนำมาแปรรูปเป็นลำไยกระป๋อง ลำไยแช่แข็ง ลำไยอบแห้งเพื่อเก็บไว้กินได้นาน และนำมาผลิตเครื่องดื่ม เช่น น้ำลำไยและไวน์ลำไยได้อีก
ส่วนที่ประเทศจีนกินเนื้อลำไยเป็นผลไม้สดน้อยกว่าลิ้นจี่ แต่พบเนื้อผลลำไยแห้งในอาหารและยา สมุนไพรจีนมากกว่า และมีการแช่ลำไยในแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นสุราลำไย (Longan liquor)
คนไทยนอกจากจะใช้เนื้อผลลำไยเป็นอาหารแล้ว การแพทย์แผนไทยได้ใช้ลำไยเป็นยารักษาโรคอีกด้วย โดยใช้เนื้อผลบรรเทาอาการท้องเสีย บำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย
เมล็ดใช้ทาแผลเน่าเปื่อย คัน หรือแผลเรื้อรังที่มีหนอง โดยใช้เมล็ดเผาเป็นเถ้าผสมกับน้ำมันมะพร้าวทา ใช้รักษาโรคกลากเกลื้อน โดยลอกเปลือกหุ้มเมล็ดแล้วนำส่วนข้างในชุบน้ำส้มสายชูทาบริเวณเกิดอาการ
ใช้เนื้อในของเมล็ดบดเป็นผงโรย ห้ามเลือดและแก้ปวด
เปลือกผลใช้ทาแผลที่ถูกน้ำร้อน ลวกจะไม่ปวดแผล และไม่เกิดแผลเป็น (ต้องปลอดสารเคมี)
ที่ต่างประเทศใช้เมล็ดขยี้น้ำสระผมเนื่องจากมีซาโพนินมาก ถ้ามีเมล็ดและเปลือกเหลือมากจะใช้เผาไฟทำเชื้อเพลิง
นอกจากนี้ มีการใช้น้ำลำไยแก้อาการนอนไม่หลับและช่วยให้ผ่อนคลาย
การแพทย์ของจีนนั้นกล่าวว่าลำไยแห้งมีสรรพคุณใช้บำรุงเลือด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของโลหิต บำรุงกำลังของสตรีหลังจากการคลอดบุตร บำรุงร่างกายและระบบประสาท คนที่เป็นโรคประสาทอ่อนๆ นอนไม่หลับ ใจสั่น เมื่อกินลำไยแห้งจะช่วยให้หลับสบาย ช่วยระงับประสาทที่อ่อนเพลียจากการตรากตรำทำงานหนัก ขี้ลืม ลืมง่าย ช่วยให้ความจำดี ช่วยลดความเครียดและแก้อาการเครียด กระวนกระวาย บำรุงประสาทตา บำรุงผิวพรรณ กินขนาด 10-15 กรัม บำรุงม้าม บำรุงหัวใจ ช่วยย่อยอาหาร เป็นต้น ชาวจีนโบราณจึงนิยมบริโภคลำไยแห้ง หรือต้มดื่มน้ำลำไยอุ่นๆ
งานวิจัยเกี่ยวกับลำไย
เมล็ดลำไยมีสารประกอบโพลีฟีนอลปริมาณสูง ได้แก่ คอริลาจิน (corilagin) กรดแกลลิก และกรดเอลลาจิก งานวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2550 พบว่าสารสกัดเมล็ดลำไยมีคอริลาจิน 050-0.64 มิลลิกรัม/กรัม DW กรดแกลลิก 9.18-23.05 มิลลิกรัม/กรัม DW และกรดเอลลาจิก 8.13-12.65 มิลลิกรัม/กรัม DW ทั้งนี้ขึ้นกับสายพันธุ์ลำไยที่ใช้ศึกษา
เมล็ดลำไยพันธุ์อีดอมีกรดแกลลิก กรดเอลลาจิก และความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระสูงสุดเมื่อเทียบกับลำไยพันธุ์อื่น งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าสารสกัดเมล็ดลำไยมีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระดีเท่ากับชาเขียวญี่ปุ่น ดีกว่าชาใบหม่อนและสารสกัดเนื้อลำไยแห้ง เชื่อว่าผลดังกล่าวเกิดจากสารโพลีฟีนอล และฟลาโวนอยด์ไกลโคไซด์และสารแทนนินอื่นที่พบในผลลำไยด้วย
นอกจากนี้แล้วสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ยังพบว่า สารสกัดเมล็ดลำไยมีฤทธิ์ต้านการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสซึ่งสร้างเม็ดสีบนผิวมนุษย์ จึงอาจนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาวขึ้นได้อีกด้วย
งานวิจัยสารสกัดเนื้อผลลำไยโดยนักวิจัยจากสวนพฤกษศาสตร์จีนใต้ในประเทศจีนในปีเดียวกัน พบกรดเมทิลแกลลิก (4-O-methylgallic acid) และอีพิคาทีชิน เป็นสารสำคัญจากเนื้อผลลำไยดังกล่าว งานวิจัยพบว่าอีพิคาทีชินเป็นสารที่ทำให้เนื้อลำไยสดเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลเมื่อทิ้งไว้ในที่แจ้ง พบว่ากรดเมทิลแกลลิกมีความ สามารถเชิงกำจัดอนุมูลอิสระและต้านออกซิเดชันได้ดีกว่าสารอีพิคาทีชิน
ล่าสุดมีรายงานการวิจัยลำไยแห้งจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าลำไยแห้งมีฤทธิ์ยับยั้งสารก่อมะเร็ง ช่วยลดอนุมูลอิสระในเม็ดเลือดขาว เหนี่ยวนำเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวให้ตาย ยับยั้งความเป็นพิษของสารก่อมะเร็งทางเดินอาหาร และลดการเสื่อมสลายของข้อเข่าอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดเมล็ดลำไย งานวิจัยไทยสู่ตลาดโลก
ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมลำไยบรรจุกระป๋องและลำไยอบแห้ง มีเมล็ดลำไยเหลือทิ้งปีหนึ่งๆ ปริมาณมาก คณะนักวิจัยจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พบว่าผิวเปลือกสีดำของเมล็ดลำไยประกอบด้วยสารโพลีฟีนอลหลายชนิดซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและชะลอการเกิดรอยเหี่ยวย่นของผิวหนัง เหมาะจะนำมาต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จึงทำการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดเข้มข้นของเปลือกเมล็ดลำไยในอาสาสมัคร 200 คน ซึ่งคละเพศ วัย และอาชีพ พบว่าสามารถชะลอการเกิดรอยเหี่ยวย่นได้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระทัดเทียมสารสกัดจากเมล็ดองุ่นที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง และยังสามารถ นำไปพัฒนาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดูแลสุขภาพได้อีก ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจึงมีการผลิตเป็นครีมทาหน้าลำไยผสมสารสกัดจากรังไหมและปอสาเป็นที่แพร่หลาย
ประเทศไทยมีผลผลิตลำไยล้นตลาดมาหลายปีแล้วตามที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ การพัฒนาลำไยเป็นสินค้า กลุ่มเครื่องสำอางจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทาง การเกษตรชนิดนี้ได้ เมื่อผลผลิตลำไยมีมากราคาขายของลำไยจะถูกลง แต่ควรกินลำไยเพียงพอประมาณ เพราะถ้ากินเกินพอดีจะทำให้เกิดอาการเจ็บคอหรือร้อนในได้ (คล้ายลิ้นจี่ เป็นพืชวงศ์เดียวกัน) และได้พลังงานเกินความต้องการของร่างกายถูกเปลี่ยนเป็นความอ้วนสะสมได้ อาการร้อนในและเจ็บคอดังกล่าวแก้ด้วยการกินมังคุดร่วมกับลำไย
ทางโภชนาการผลไม้ 1 ส่วนเท่ากับลำไยผลใหญ่ 6 ผล หรือผลเล็ก 10 ผล ผู้ควบคุมน้ำหนักถ้ากินลำไยควรลดปริมาณข้าวในวันดังกล่าว ใครกินลำไยแล้วจะลองเก็บเมล็ดลำไยตากแห้งบดละเอียด นำไปผสมกับข้าวโอ๊ตและโยเกิร์ตรสจืดพอกหน้า ใช้ลบริ้วรอยบนใบหน้าและเพิ่มความขาวใสให้กับผิวหน้าด้วยก็ได้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของหมอชาวบ้าน กับเว็บไซต์วิชาการดอทคอม
www.doctor.or.th