ทำได้แล้ว "ดีเอ็นเอเทียม" ใกล้ได้ใช้เก็บข้อมูลแทนฮาร์ดดิสก์
"ดีเอ็นเอ" อาจไม่ได้เป็นแค่แหล่งเก็บข้อมูลพันธุกรรมเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว เพราะในอนาคตเราอาจได้เก็บข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ ไว้ในดีเอ็นเอ เมื่อนักวิจัยญี่ปุ่นสังเคราะห์ดีเอ็นเอเทียมได้เป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเบสที่สร้างขึ้นมา ทั้งยังมีโครงสร้างเป็นเกลียวคู่วนขวาเหมือนในธรรมชาติ
มาซาฮิโกะ อิโนเอ (Masahiko Inouye) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโทยามะ (University of Toyama) ประเทศญี่ปุ่น และทีมวิจัย ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์โมเลกุลดีเอ็นเอ เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งไลฟ์ไซน์ด็อตคอมรายงานว่า นักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ลงในวารสารสมาคมเคมีสหรัฐอเมริกา (American Chemical Society) ฉบับวันที่ 23 ก.ค.51 นี้
หลังจากใช้เวลาศึกษาอยู่หลายปี ในที่สุดทีมนักวิจัยก็สามารถสร้างโมเลกุลดีเอ็นเอเทียมได้ เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูง ในการนำองค์ประกอบที่เรียกว่า "เบส" (base) ทั้ง 4 ชนิด ใส่เข้าไปในโมเลกุลของดีเอ็นเอ ซึ่งเบสที่นักวิจัยนำมาใช้นี้เป็นเบสที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ หรืออาจเรียกว่าเป็นเบสเทียมก็ได้
ทั้งนี้ ในดีเอ็นเอประกอบด้วยเบส 4 ชนิด คือ A, C, G และ T คือรหัสที่เป็นข้อมูลในการสังเคราะห์โปรตีน สำหรับทำหน้าที่ต่างๆ ในเซลล์สิ่งมีชีวิต
โมเลกุลดีเอ็นเอที่ประกอบไปด้วยเบสเทียมนี้ มีโครงสร้างเป็นเกลียวคู่เวียนขวาเช่นเดียวกับดีเอ็นเอตามธรรมชาติ และมีความเสถียรสูง ซึ่งไซน์เดลีระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ก็เคยสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ที่มีเบสเทียมได้บ้างแล้ว แต่มีเบสเทียมเป็นองค์ประกอบอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่นี่นับเป็นครั้งแรกที่สังเคราะห์ดีเอ็นเอโดยใช้เบสเทียมได้ทั้งโมเลกุล
ทั้งนี้ ทีมวิจัยหวังว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะนำไปสู่ก้าวใหม่ของเทคโนโลยีในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคด้วยยีน หรือสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว แม้กระทั่งทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ
อีกทั้งความน่าทึ่งของดีเอ็นเอที่สามารถเก็บข้อมูลทางพันธุกรรมไว้ได้อย่างมหาศาล ทำให้นักวิทยาศาสตร์หวังจะใช้ดีเอ็นเอเทียมภายนอกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เป็นที่เก็บข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ รวมทั้งขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์ไห้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเคยมีการนำดีเอ็นเอไปใช้ประโยชน์กับวงจรไฟฟ้าอย่างง่ายมาแล้ว.
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000080471