มารู้จักกับ จ.พระนครศรีอยุธยา
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"
พฤศจิกายน 25, 2024, 03:02:52 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: มารู้จักกับ จ.พระนครศรีอยุธยา  (อ่าน 2906 ครั้ง)
BenQ
member
*

คะแนน214
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4790


อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 19, 2007, 10:12:58 am »

พระนครศรีอยุธยา หรือเรียกสั้นๆ ว่า “อยุธยา” ตั้งอยู่ในภาคกลาง เป็นเมืองหลวงเก่าของไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ..ศ. 1893 โดยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในเวลา 417 ปีที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีกษัตริย์ปกครอง 34 พระองค์จาก 5 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง นับเป็นราชธานีของไทยที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่อยู่ในดินแดนแหลมทองแห่งนี้
               พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่เป็นที่ลุ่ม มีแม่น้ำสายใหญ่คือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลมาบรรจบกันในลักษณะล้อมรอบผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ของตัวเมืองไว้ ตัวจังหวัดจึงเป็นเกาะที่มีบ้านเรือนปลูกเรียงรายหนาแน่นตามสองข้างฝั่งแม่น้ำ
               จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 76 กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือ จดจังหวัดลพบุรี อ่างทอง และ สระบุรี   ทิศใต้ จดจังหวัดปทุมธานี และ นนทบุรี   ทิศตะวันออก จดจังหวัดสระบุรี   ทิศตะวันตก จดจังหวัดสุพรรณบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอนครหลวง อำเภอภาชี อำเภอบ้านแพรก อำเภอบางซ้าย อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอบางบาล อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน อำเภอเสนา อำเภออุทัย อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอท่าเรือ และอำเภอวังน้อย
 
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอท่าเรือ ระยะทาง 60 กิโลเมตร
อำเภอนครหลวง ระยะทาง 20 กิโลเมตร
อำเภอบางไทร ระยะทาง 45 กิโลเมตร
อำเภอบางบาล ระยะทาง 10 กิโลเมตร
อำเภอบางปะอิน ระยะทาง 17 กิโลเมตร
อำเภอบางปะหัน ระยะทาง 13 กิโลเมตร
อำเภอผักไห่ ระยะทาง 29 กิโลเมตร
อำเภอภาชี ระยะทาง 35 กิโลเมตร
อำเภอลาดบัวหลวง ระยะทาง 65 กิโลเมตร
อำเภอวังน้อย ระยะทาง 20 กิโลเมตร
อำเภอเสนา ระยะทาง 20 กิโลเมตร
อำเภอบางซ้าย ระยะทาง 34 กิโลเมตร
อำเภออุทัย ระยะทาง 15 กิโลเมตร
อำเภอมหาราช ระยะทาง 25 กิโลเมตร
อำเภอบ้านแพรก ระยะทาง 53 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดอยุธยาไปยังจังหวัดใกล้เคียง

กรุงเทพฯ ระยะทาง 76 กิโลเมตร
สระบุรี ระยะทาง 63 กิโลเมตร
สุพรรณบุรี ระยะทาง 53 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดอยุธยา ได้หลายเส้นทางดังนี้ - ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา - ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี หรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานีต่อด้วยเส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวงหมายเลข 3111) แล้วแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3263 ไปยังตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา - ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางปะอิน เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทางรถโดยสารประจำทาง

 กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา มีรถโดยสารทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รถออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวันๆ ละหลายเที่ยว รถธรรมดาและรถปรับอากาศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 936-2852-66

ทางรถไฟ

สามารถใช้ขบวนรถโดยสารที่มีปลายทางสู่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอพระนคร ศรีอยุธยา อำเภอวาชี ทางรถไฟจะแยกไปสายเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สถานีชุมทางบ้านภาชี เส้นทางสายเหนือจะผ่านอำเภอท่าเรือด้วย ในแต่ละวันจะมีรถไฟบริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารขึ้นล่องวันละหลายเที่ยว นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังจัดขบวนรถจักรไอน้ำเดินระหว่างกรุงเทพฯ- สถานีอยุธยา-กรุงเทพฯ ในโอกาสพิเศษ ปีละ 4 ขบวน คือวันที่ 26 มีนาคม (วันสถาปนาการรถไฟและวันที่ระลึกถึงการเปิดทางรถไฟสายแรกที่เดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2433) วันที่ 12 สิงหาคม (วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ) วันที่ 23 ตุลาคม (วันปิยมหาราช เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงให้กำเนิดกิจการรถไฟ) และวันที่ 5 ธันวาคม (วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) รายละเอียดสอบถาม หน่วยบริการเดินทางสถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 223-7010, 223-7020

สถานที่ท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดระยะเวลา 417 ปีที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้เพียงเป็นช่วงแห่งความเจริญสูงสุดของชนชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์อารยธรรมของหมู่มวลมนุษย์ชาติซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศอีกด้วย แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายเสียหายจากการสงครามจากประเทศเพื่อนบ้านและจากน้ำมือการบุกรุกขุดค้นของพวกเรากันเองแล้ว ส่วนที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ ยังมีร่องรอยหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นอัจฉริยภาพและความสามารถยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษแห่งราชอาณาจักร ผู้อุทิศตนสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมและความมั่งคั่งไว้ให้แก่ผืนแผ่นดินไทยหรือแม้แต่ชาวโลกทั้งมวล ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ยูเนสโก้ โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติรับนครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งใจกลางกรุงศรีอยุธยาที่ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ไว้ในบัญชีมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย- ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร ซึ่งจะมีผลให้ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาที่ประเทศต่างๆ ได้ทำร่วมกัน จึงสมควรที่อนุชนคนรุ่นหลังน่าที่จะได้ไปศึกษาเยี่ยมชมเมืองหลวงเก่าของเราแห่งนี้ สถานที่ท่องเที่ยวของพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นโบราณสถานได้แก่ วัดและพระราชวังต่างๆ พระราชวังในพระนครศรีอยุธยามีอยู่ 3 แห่ง คือ พระราชวังหลวง วังจันทรเกษมหรือวังหน้าและวังหลังนอกจากนี้ยังมีวังและตำหนักซึ่งเป็นที่สำหรับเสด็จประพาสอยู่นอกพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ พระราชวังบางปะอิน และตำหนักนครหลวง ที่อำเภอนครหลวง


          สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา

            ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นได้ปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เคยเสนอปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น และสร้างพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่นมาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยส่วนรวมและได้รับงบประมาณ ช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน 999 ล้านเยน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยได้สถาวรยืนนานมาครบ 100 ปี อาคารหลักตั้งอยู่ที่ถนนโรจนะ ใกล้กับสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นอาคาร 2 ชั้น ที่มีห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อยู่ชั้นบน ส่วนอาคารผนวกตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียนซึ่งเคยเป็นที่ตั้งหมู่บ้านญี่ปุ่น เปิดทำการทุกวัน เว้นวันจันทร์-วันอังคาร ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. (วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดเวลา 17.00 น.) อัตราค่าเข้าชมสำหรับนักเรียนและนักศึกษา ในเครื่องแบบ 5 บาท ประชาชนทั่วไป 20 บาท และชาวต่างประเทศ 100 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (035) 245123-4 นอกจากผังจำลองเมืองกรุงเก่าแล้ว พิพิธภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาฯนี้มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นในประเทศคือ การที่พยายามสร้างชีวิต สังคม วัฒนธรรมในอดีตให้กลับขึ้นมาใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย (Researched based Reconstruction) โดยนำวิชาการเทคโนโลยีของการจัดพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มาจัดแสดงนิทรรศการซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจชีวิตในอดีตได้ง่าย การจัดแสดงมีทั้งสิ้น 5 หัวข้อ คือ อยุธยาในฐานะราชธานี อยุธยาในฐานะเมืองท่า อยุธยาในฐานะของรัฐรวมศูนย์อำนาจ ชีวิตชุมชนชาวบ้านไทยและความสัมพันธ์ของอยุธยากับนานาชาติ ทั้งนี้นิทรรศการทุกอย่างที่นำมาแสดงในศูนย์ศึกษาฯ ได้รับการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการของคณะกรรมการอำนวยการฯ มาแล้ว จึงน่าที่จะแวะชมเพื่อสร้างพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ และจินตภาพซึ่งจะทำให้การเที่ยวชมในสถานที่จริงมีรสชาติและสนุกยิ่งขึ้น

           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ปลายถนนขุนเมืองใจ ใกล้ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ซึ่งขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะที่สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 (พระเจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า “สามพระยา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2504 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแผนใหม่คือนำโบราณวัตถุมาจัดแสดงไม่มากจนแน่น และได้นำหลักการใช้แสงสีมาใช้ทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจมาก สิ่งที่สำคัญน่าชมได้แก่ พระพุทธรูประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีที่เคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม ซึ่งกรมศิลปากรได้พยายามติดตามชิ้นส่วนต่างๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์ได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งเพราะในโลกมีเพียง 6 องค์เท่านั้น
เศียรพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยอู่ทอง มีขนาดใหญ่มาก ได้จากวัดธรรมมิกราช แสดงถึงความเก่าแก่ของวัดและฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่ขุดพบอีกมากมายโดยเฉพาะที่ได้จากกรุวัดราชบูรณะรวบรวมไว้ในห้องมหรรฆภัณฑ์ มีเครื่องราชูปโภคทองคำทองกรพาหุรัตน์ ทับทรวง เครื่องประดับเศียรสำหรับชายและหญิง พระแสงดาบฝักทองคำประดับพลอยสีต่างๆ เป็นต้น แสดงความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษามาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาเปิดทำการตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. วันพุธ-วันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมการเข้าชมผู้ใหญ่คนละ 5 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 10 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (035) 241587

           คุ้มขุนแผน ตั้งอยู่ที่ถนนป่าโทน เป็นตัวอย่างของหมู่เรือนไทยภาคกลาง ในรูปแบบเรือนคหบดีไทยสมัยโบราณ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 และได้รับการปรับปรุงตกแต่งใหม่เมื่อ พ.ศ. 2483 บริเวณที่ตั้งคุ้มขุนแผนเคยเป็นคุกนครบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนเคยต้องโทษอยู่ในคุกแห่งนี้

           พระราชวังหลวง ที่ปรากฏในพระนครศรี อยุธยาปัจจุบันนี้คงเหลือแต่ฐานอาคารให้เห็นเท่านั้น สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างพระราชวังตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เวียงเล็ก เมื่อ พ.ศ. 1890 และเมื่อสร้างพระราชวังเสร็จใน พ.ศ. 1893 จึงย้ายมาประทับที่พระราชวังใหม่ริมหนองโสน ปราสาทในครั้งแรกนี้สร้างด้วยไม้อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1991 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงถวายปราสาทเดิมเป็นวัดในเขตพระราชวังแล้วทรงสร้างปราสาทใหม่เลื่อนไปทางเหนือชิดริมน้ำ พระที่นั่งต่างๆ ในเขตพระราชวังหลวงหรือที่เรียกในปัจจุบันว่า พระราชวังโบราณ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล อยู่ริมกำแพงพระนครศรีอยุธยา ทางด้านเหนือมีถนนสายรอบกรุงผ่านจากวังจันทรเกษมไปเพียง 2 กิโลเมตร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชมสำหรับชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 30 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (035) 242501, 244570
          บริเวณพระราชวังหลวงมีพระที่นั่งสำคัญดังนี้
          พระที่นั่งวิหารสมเด็จ ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุด เป็นปราสาทยอดปรางค์มีมุกหน้าหลังยาวแต่มุขข้างสั้น มีกำแพงแก้วล้อม 2 ด้าน ตามพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2186 เพื่อแทนพระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้ ชาวบ้านเรียก “ปราสาททอง” เนื่องจากเป็นปราสาทปิดทององค์แรกที่สร้างขึ้นสำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ
          พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท เป็นปราสาทยอดปรางค์ตั้งอยู่ตรงกลางสร้างแบบเดียวกันกับพระที่นั่งวิหารสมเด็จ มีมุขเด็จยื่นออกมาเพื่อเสด็จออกรับแขกเมือง มีโรงช้างเผือกกระหนาบอยู่ทั้งสองข้าง
          พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ เป็นปราสาทจตุรมุขก่อด้วยศิลาแลง อยู่ติดกำแพงริมน้ำ เดิมชื่อ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อนี้เพื่อให้คล้องกับชื่อ “พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทก่อสร้างเป็นปราสาทจตุรมุขยกพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆ ใช้เป็นที่สำหรับประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ทางน้ำ
          พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2175 พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งสิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์” คล้ายปราสาทที่นครธม ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น “พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์” ลักษณะเป็นปราสาทตรีมุข ตั้งอยู่บนกำแพงชั้นในหน้าพระราชวัง เป็นที่สำหรับทอดพระเนตรกระบวนแห่และฝึกซ้อมทหารเหมือนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ
          พระที่นั่งตรีมุข อยู่ข้างหลังพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เข้าใจว่าเดิมเป็นพระที่นั่งฝ่ายในและเป็นที่ประทับในอุทยาน
          พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ (พระที่นั่งท้ายสระ) เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ สมเด็จ พระเพทราชาโปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับสำราญพระราชหฤทัย เมื่อ พ.ศ. 2231 และได้เสด็จประทับตลอดรัชกาล มีพระแท่นสำหรับทอดพระเนตรปลาที่ทรงเลี้ยงไว้ในสระนั้นด้วย
          พระที่นั่งทรงปืน อยู่ริมสระด้านตะวันตก ใกล้พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ สร้างเป็นรูปยาวรี น่าจะใช้เป็นที่ฝึกซ้อมเพลงอาวุธ และในสมัยสมเด็จพระเพทราชาทรงใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง

           วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพฯ หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่แล้วโปรดยกให้เป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์องค์ตะวันออกเพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา เมื่อ พ.ศ. 2035 องค์กลางบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระเชษฐาธิราช ในปี พ.ศ. 2042 ทรงสร้างพระวิหารและในปีถัดมาทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ถวายพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมดและองค์พระพังยับเยิน เจดีย์องค์ที่ 3 ถัดมาด้านทิศตะวันตกเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระราชโอรสได้โปรดให้สร้างขึ้น

            วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์องค์ใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย เดิมอยู่ทางทิศตะวันออกนอกพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ย้ายมาไว้ทางด้านตะวันตก ที่ซึ่งประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันและโปรดฯ ให้ก่อมณฑปสวมไว้ ครั้นถึงแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปเกิดไฟไหม้เพราะอสนีบาตทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหาย จึงโปรดให้ก่อสร้างใหม่ แปลงเป็นพระวิหารแทน เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 วิหารพระมงคลบพิตรได้ถูกไฟไหม้ พระวิหารและองค์พระพุทธรูปได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ ฝีมือไม่งดงามอ่อนช้อยเหมือนเก่า บริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออก เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ

           วัดพระราม อยู่นอกเขตพระราชวังไปทางด้านทิศตะวันออก สมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอู่ทองพระราชบิดา วัดนี้มีบึงขนาดใหญ่อยู่หน้าวัด เดิมเรียกว่า “หนองโสน” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บึงพระราม” ปัจจุบันคือ “สวนสาธารณะบึงพระราม” ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอีกด้วย   

           วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ตรงหน้าพระราชวังด้านทิศตะวันออกเชิงสะพานป่าถ่าน สร้างในสมัยของสมเด็จพระราเมศวรเมื่อ พ.ศ. 1927 ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระมหาธาตุ (ปรางค์) เป็นแบบแรกของสมัยอยุธยา ซึ่งมีอิทธิพลของขอมปนมาก ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลง แต่ที่เสริมใหม่ปัจจุบันเป็นอิฐปูนสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ปฏิ สังขรณ์พระปรางค์ใหม่โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม แต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น เมื่อ พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ ได้ของโบราณหลายชิ้น ที่สำคัญคือผอบศิลา ภายในมีสถูป 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมนและทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า

           วัดราชบูรณะ อยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ตรงข้ามวัดมหาธาตุ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1967 ณ ที่ซึ่งใช้ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายกับเจ้ายี่ชนช้างกันจนถึงแก่พิราลัย และโปรดให้ก่อเจดีย์ 2 องค์ สวมทับบริเวณที่ชนช้าง ปัจจุบันเหลือเพียงฐานอยู่กลางวงเวียนหน้าวัด ซากที่เหลืออยู่แสดงว่าวิหารและส่วนต่างๆ ของวัดนี้ใหญ่โตมาก พระปรางค์ที่เหลืออยู่เป็นศิลปะอยุธยาสมัยที่ 1 ซึ่งนิยมตามแบบขอมที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด คราวเสียกรุง วัดนี้ถูกเผาเสียหายหมด แม้พระปรางค์ใหญ่จะยังคงเหลืออยู่แต่ได้ถูกคนร้ายลักขุดของมีค่าในกรุไปส่วนหนึ่ง จนกระทั่งกรมศิลปากรได้ขุดกรุเอาโบราณวัตถุที่มีค่าไปรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ซึ่งสร้างโดยเงินบริจาคจากการนำพระพิมพ์ขนาดเล็กที่ได้จากกรุนี้เป็นของชำร่วย เมื่อปี พ.ศ. 2500 

           สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ หรือเรียกกันว่าสวนสมเด็จฯ ตั้งอยู่บนถนนอู่ทอง ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ประกอบด้วยต้นไม้ในวรรณคดีโบราณสถาน และศาลาไทย นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่เป็นสวนป่าสมุนไพรอีกด้วย

           วังจันทรเกษมหรือวังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองใกล้ตลาดหัวรอ สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังทรงเป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2112 เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระยุพราช แลละพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ เมื่อคราวเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 วังนี้ได้ถูกข้าศึกเผาทำลายเสียหายมากและถูกทิ้งร้างจนถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้โปรดฯ ให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัตยาและพลับพลาจตุรมุขเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสพระนครศรี อยุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้เป็นที่ว่าการมณฑลอยุธยา และรัชกาลที่ 7 โปรดฯ ให้เปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดจนกระทั่งได้สร้างศาลากลางใหม่แล้ว กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาดูแลและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษมจนกระทั่งปัจจุบัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม คนไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 30 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. (035) 251586
          โบราณสถานโบราณวัตถุที่น่าสนใจในพระราชวังจันทรเกษม มีดังนี้
          กำแพงและประตูวัง เป็นสิ่งที่สร้างใหม่ในรัชกาลที่ 4 ของเดิมมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าที่เห็นในปัจจุบัน เพราะขุดพบรากฐานของพระที่นั่งนอกกำแพงวัดด้านในและพบซากอิฐในบริเวณเรือนจำหลายแห่ง
          พลับพลาจตุรมุข เป็นพลับพลาเครื่องไม้ ตั้งอยู่บนศาลาใกล้ประตูวังด้านทิศตะวันออก เดิมเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเวลาเสด็จประพาส ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องชามลายครามของจีน อาวุธสมัยโบราณ และเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
          พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นตึกหมู่อยู่กลางพระราชวัง เคยเป็นที่ตั้งศาลากลางมณฑลและจังหวัดมาหลายปี ปัจจุบันแสดงพระพุทธรูป เทวรูป พระพิมพ์สมัยต่างๆ และเครื่องไม้จำหลักสมัยอยุธยา
          พระที่นั่งพิสัยศัลยลักษณ์ (หอส่องกล้อง) เป็นหอสูงสี่ชั้นอยู่ที่ริมพระราชวังด้านทิศตะวันตก สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หักพังลงมาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 หอที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ตามรากฐานเดิม ทรงใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดาว   

           วัดเสนาสนาราม อยู่หลังวังจันทรเกษม เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ "วัดเสื่อ" มีพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์คือ "พระสัมพุทธมุนี" เป็นพระประธานในอุโบสถและ "พระอินทรแปลง" ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์

           วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยู่ในเขตพระนครด้านทิศตะวันออกตอนใต้ ริมป้อมเพชร เดิมชื่อวัดทองเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างไว้ครั้งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์จักรี ได้ทรงสร้างเพิ่มเติมและปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องกันมาเกือบทุกรัชกาล ผนังภายในพระอุโบสถตอนบนมีภาพเขียนเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนเรื่องเวสสันดรชาดก เตมีย์ชาดกและสุวรรณสามชาดก ตอนหน้าสุดเขียนภาพมารวิชัย พระวิหารมีรูปเขียนแสดงพระราชวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นต้นแบบลอกแพร่หลายออกไปหลายแห่ง

           วังหลัง ตั้งอยู่ริมกำแพงพระนครศรีอยุธยาด้านทิศตะวันตก (ในเขตโรงงานสุราของกรมสรรพสามิต) เดิมเป็นอุทยานสำหรับเสด็จประพาสเป็นครั้งคราวเรียกว่า สวนหลวง และคงจะปลูกแต่เพียงตำหนักที่พักเท่านั้น ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดให้สร้างเพิ่มเติมเป็นพระราชวัง เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถ ต่อมาวังหลังได้กลายเป็นที่ประทับของเจ้านายในพระราชวงศ์เท่านั้น จึงไม่ปรากฏสิ่งสำคัญหลงเหลืออยู่นอกจากเจดีย์พระศรีสุริโยทัย


 www.pantip.com




บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!