บทที่สอง
ตัวจริง ๆ ของเราอยู่ที่ไหน
Finding Our True Self
ฝรั่งคุยเรื่อง “กลัวความชรา”
เช้าวันหนึ่งเมื่อสองปีก่อน ในขณะที่ดิฉันกำลังทำโยคะอยู่ คิดว่าควรจะติดตามข่าวเสียหน่อยว่ามีเรื่องอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นในโลกนี้บ้าง จึงคิดจะดูข่าวของบีบีซีเสียหน่อย ซึ่งดิฉันมักถือเป็นโอกาสฝึกเรียนภาษาอังกฤษไปด้วย ดิฉันเปิดไม่ถึงช่องของบีบีซีที่มีข่าว ๒๔ ชั่วโมง แต่มาติดที่รายการโทรทัศน์อีกช่องหนึ่งของบีบีซีเช่นกัน จัดโดยนักจัดรายการชายผู้หนึ่งที่มีเสียงกำมะหยี่ที่เพศหญิงชื่นชมมาก ชื่อ คิลรอย ซิลค์ Kilroy Silk เขามีวิธีการพูดและบุคคลิกที่มีเสน่ห์มาก เป็นรายการที่มีผู้ฟังประมาณ ๖๐ คน แต่มีเพียงบางคนเท่านั้นที่ได้เล่าประสบการณ์ชีิวิตของตนเองในห้องส่งของสถานีโทรทัศน์ตามหัวข้อที่ตั้งขึ้นมา คนที่ยกมือแล้วมีโอกาสได้พูดก็สามารถให้ความคิดเห็นต่าง ๆ ด้วย หัวข้อที่พูดสนทนาในวันนั้นคือ “กลัวความชรา” Too scared to grow old.
ถึงแม้ดิฉันรู้ดีว่ารายกายเช่นนี้เป็นอย่างไร และกำลังจะเปลี่ยนช่องอยู่นั้น ดิฉันก็ต้องมาสะดุดที่คำพูดของหญิงวัย ๔๐ เศษคนหนึ่ง เธอแต่งตัวสุภาพ เรียบร้อย สวยงาม ดูเป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว เธอพูดว่า
“ทุกครั้งที่ดิฉันเห็นตัวเองในกระจก ดิฉันยอมรับกับตัวเองได้ยากมากว่าใบหน้าที่เหี่ยวย่นในกระจกนี้คือตัวดิฉัน เพราะดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนนั้นเลย คนนั้นไม่ใช่เป็นตัวจริงของดิฉัน ในหัวใจของดิฉันนั้น รู้สึกเป็นอีกคนหนึ่งที่หน้าตาไม่เหมือนหญิงคนที่ดิฉันเห็นในกระจกเลย”
ในขณะที่เธอกำลังปลดเปลื้องเสื้อผ้าที่่ปกปิดความรู้สึกส่วนลึกของตนเองออกให้ชาวโลกเห็นตัวใจที่เปลือยเปล่านั้น ดิฉันจึงมองเห็นความรู้สึกที่เจ็บปวดในจิตใจของหญิงคนนี้ได้อย่างชัดเจน เครื่องสำอางของเธออาจจะสามารถปกปิดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าได้บ้าง แต่ไม่สามารถปกปิดความกลัว ความไม่มั่นคง และการขาดความมั่นใจในตัวเองที่แสดงออกมาทางสายตาและใบหน้าได้เลย ในขณะนั้น ดิฉันรู้สึกสงสารหญิงคนนี้อย่างจับใจ สงสัยว่า หากเธอยังมีความกลัวภาพเหมือนในกระจกของตนเองอยู่ทุกวี่วันเช่นนี้แล้ว เธอจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เพราะเธอจะไม่สาวขึ้น จะต้องแก่ตัวลงมากกว่านี้ สิ่งที่ทำให้ดิฉันต้องหยุดดูรายการนี้แทนการดูข่าวในเช้าวันนั้นคือ คำสนทนาที่ล้วนวนเวียนอยู่กับคำวลีที่ว่า “ตัวจริงของฉัน” my true self, your real self
ต่อสู้กับความแก่เฒ่าด้วยศัลยกรรมตกแต่ง
ในขณะที่รายการสนทนานี้ดำเนินไปนั้น ดิฉันก็ได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงมากมายเกี่ยวกับผู้หญิงเราที่พยายามจะต่อสู้กับความแก่เฒ่าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ได้อย่างไร จะไปอ่านหรือฟังอะไรก็ไม่น่าสนใจเท่ากับการฟังประสบการณ์ส่วนตัวจริง ๆ บางรายฟังแล้วก็อดสงสารไม่ได้ สิ่งที่คนนิยมทำกันมากที่สุดคือ การทำศัลยกรรมตกแต่งที่จะทำให้ใบหน้าดูเต่งตึงและอ่อนกว่าวัยอยู่เสมอ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นวิธีการใหม่คือ สิ่งที่ฝรั่งเรียก โบท๊อกซ์ ทรีทเม็นท์ Botox treatment คือ การฉีดสารพิษจำนวนน้อยนิดชนิดหนึ่งเข้าไปในบริเวณผิวหนังที่เหี่ยวย่น สารพิษนั้นจะไปทำให้เนื้อที่เหี่ยวย่นนั้นกลับนูนขึ้นมาอีก ทำให้ดูสาวมากขึ้น ซึ่งการฉีดครั้งหนึ่ง จะอยู่ได้ประมาณ ๔ – ๖ เดือน ค่าใช้จ่ายประมาณ ๒๐๐ ถึง ๓๐๐ ปอนด์ ต่อครั้ง นี่คือสิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จากบรรดาสุภาพสตรีในรายการนี้ เพื่อทำให้ตนเองดูอ่อนกว่าวัย
หาภูมิปัญญาเด็ด ๆ ไม่ได้
เมื่อเข้าไปสู่ช่วงกลางของรายการนั้น การพูดคุยกันระหว่างผู้ร่วมรายการค่อย ๆ เผ็ดร้อนมากขึ้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสาวและชะลอความชราเช่นนั้นจึงตอบโต้ด้วยคำพูดและอารมณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น
ทำไมคุณจึงเป็นตัวของตัวเองไม่ได้
Why can’t you be your true self?
ดิฉันฟังประโยคนั้นแล้ว ก็อยากจะฟังซิว่าคนพูดได้รู้จักตัวจริงของตนเองมากแค่ไหน อยากรู้ว่าจะมีใครในรายการนี้ที่มีภูมิปัญญารู้เรื่องราวของชีวิตอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งนอกจากไม่มีแล้ว ยังมีความคิดที่แสดงออกถึงความอ่อนหัดต่อชีวิตมากทีเดียว มีชายหนุ่มคนหนึ่งพูดกับหญิงที่ไปทำศัลยกรรมยืดหน้าคนหนึ่งว่า
ทำไมคุณจึงกลัวความแก่มากเช่นนั้น ความแก่เป็นเรื่องผิดอะไรหรือ
หญิงวัยห้าสิบเศษจึงรีบตอบสวนไปว่า
คุณอย่าลืมนะว่า ความชราหมายถึงความตายด้วย แล้วคุณต้องการตายหรือ?
หญิงวัย ๔๐ อีกคนหนึ่งพูดอย่างภูมิใจว่า เธอยังสามารถยั่วยวนชายอายุน้อยกว่าให้มาสนใจในตัวเธอได้ และชายหนุ่มคนนั้นก็ยังยอมอยู่กับเธอแม้ทุกวันนี้ คำพูดของหญิงที่ดูเหมือนหลงตัวเองนี้ได้ทำให้คนหลายคนในรายการสั่นหน้าและแสดงความขยะแขยงออกมาอย่างชัดเจน
คนหนุ่มสาวเหล่านี้ลืมไปว่าในอีกเพียง ๒๐ หรือ ๓๐ ปีเท่านั้น พวกเขาก็จะอยู่ในเรือรำเดียวกับคนสูงอายุที่เขากำลังวิจารณ์และดูหมิ่นอยู่ และเวลา ๒๐ ปีนั้นก็จะผ่านไปเร็วเหมือนปีกบิน และพวกเขาก็อาจจะต้องมาเรียงคิวเข้าสู่ขบวนการชะลอความแก่เฒ่าโดยการทำหนุ่มทำสาวเหมือนคนน่าสงสารเหล่านี้เช่นกัน
ถกเถียงเรื่องการใช้ชีวิตอมตะ ไม่ง่ายเหมือนคิด
ถึงแม้จะมีเพียง ๖๐ คนในรายการนี้ แต่สิ่งที่คนเหล่านี้นำขึ้นมาพูดถกเถียงกันนั้น ไม่ได้ไกลจากความเป็นจริงของคนหมู่มากในสังคมที่ร่ำรวยอย่างสังคมตะวันตกเลย เพราะความคิดเหล่านี้แหละที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมเสริมสวย และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ดูอ่อนกว่าวัย ที่ทำเงินหลายพันล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ การชะลอความแก่เฒ่าของมนุษย์ พร้อมกับการสร้างเสริมอัตตาตัวตนของแต่ละคนให้ มั่นคงมากขึ้น ซึ่งสังคมของคนยุคใหม่โดยเฉพาะในสังคมที่ร่ำรวยเช่นสังคมตะวันตกจะเรียกอัตตาตัวตนว่า “ความมั่นใจในตนเอง” หรือมี self confidence, self esteem ซึ่งฟังแล้วดีกว่าคำว่า egoistic, egocentric หรือ self-centered ด้วยความช่วยเหลือของอุตสาหกรรมโฆษณา advertising industry และกลไกของความคิดที่เป็นมายา มนุษย์จึงถูกหลอกให้เข้าใจว่าสามารถชะลอความแก่เฒ่าและอยู่เหนือความตายได้
เรื่องการรักสวยรักงามและอยากจะให้มันอยู่อย่างคงทนถาวรอาจจะฟังเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือไร้สาระ trivial สำหรับคนที่ไม่เห็นความสวยงามเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่จริงแล้ว พวกเขากำลังพูดถึงหัวข้อต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตมากทีเดียว นั่นคือ การเผชิญหน้ากับความชรา ความตาย ทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตที่เป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่เสมอ ซึ่งเรื่องนี้คือ เรื่องการใช้ชีวิตอย่างเป็นอมตะ eternity หรือ immortality ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับ “การเป็น ตัวของตัวเอง” หรือ ถ้าจะเรียบเรียงคำพูดใหม่คือ การหา “ตัวจริง ๆ ของเรา” นั่นเอง
คนมักพูดถึงเรื่องการเป็นตัวของตัวเอง หรือ เป็นตัวจริง ๆ ของเราราวกับว่าเป็นเรื่องทำกันง่าย ๆ ที่จริงแล้ว เป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด เพราะเป็นเรื่องการต่อสู้กับความคิดความรู้สึกภายในของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธและเป็นรายละเอียดของเรื่องการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่โดยตรง
ถ้าไม่รู้จักตัวจริง ก็ไม่รู้ว่ามีตัวปลอม
หากเอาความคิดของไอน์สไตน์ในเรื่องการมองทุกอย่างในลักษณะสัมพัทธ์เข้ามาพูดแล้วละก็ ถ้าเราไม่รู้จัก “ตัวจริง ๆ ของเรา” แล้ว เราก็จะไม่รู้จัก “ตัวปลอม” ของเราเช่นกัน จะเข้าใจผิดว่าตัวปลอมของเราคือตัวจริง ตัวปลอมของเราในที่นี้คือ การมองตัวเองอย่างเปรียบเทียบและสัมพัทธ์กับคนอื่นตลอดเวลาซึ่งเป็นเนื้อหาของบทความนี้ เช่น ทำไมคนนั้นคนนี้สวยกว่าเรา ทำไมเราไม่สวยเท่าเขา ทำไมฉันจึุงดูแก่อย่างนี้ เป็นต้น
ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักตัวจริงของเราเสียก่อน เพื่อว่า เราจะได้แยกออกว่านี่คือตัวปลอมของเรา เหมือนนักเล่นพระที่ต้องพกแว่นขยายเพื่อแยกแยะให้ออกว่า พระเครื่ององค์ไหนที่เป็นของจริงหรือของปลอม คนดูพระจึงต้องรู้ก่อนว่า พระจริงเป็นอย่างไรเสียก่อน จึงรู้ความแตกต่างระหว่างพระจริงกับพระปลอม
ดิฉันจึงจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า “ตัวจริง ๆ” ของมนุษย์เป็นอย่างไร และแตกต่างจาก “ตัวปลอม” อย่างไร หากไม่รู้ข้อเท็จจริงพื้นฐานนี้แล้ว จะเขียนเรื่องนี้ไม่ได้ จึงขอเชื่อมโยงให้คุณเห็นชัดเจนก่อนว่า “ตัวจริง ๆ” ที่ดิฉันจะพูดถึงในบทนี้ก็คือ สภาวะที่เจ้าของชีวิตสามารถเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุด หรือเข้าถึงพระนิพพาน หรือ เมื่อเจ้าของชีวิตสามารถรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ได้นั่นเอง ฉะนั้น การแสวงหาทฤษฎีเอกภาพของไอน์สไตน์นั้น จะพูดใหม่ก็ได้ว่า นี่เป็นทฤษฎีของการแสวงหาตนเอง หรือ แสวงหาตัวจริง ๆ ของเรานั่นเอง
เป็นที่น่าตกใจมากว่าความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไม่มีอยู่ในระบบการศึกษาของโลกแต่อย่างใด เมื่อไม่มีการสอน ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแสวงหาตนเองจึงไม่เกิด จึงก่อผลให้คิดและทำสิ่งต่าง ๆ อย่างสะเปะสะปะและมืดมนอนธการ จนก่อให้เกิดกลุ่มคนที่มีปัญหาทางจิตใจเหล่านี้
“ตัวจริงของเรา” อยู่ที่ไหน?
ทีนี้ เราจะเริ่มขบวนการหาตัวจริง ๆ ของเราแล้ว ลองมาเริ่มต้นที่จุดนี้กันก่อน มีใครสามารถให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่ว่าร่างกายและจิตใจของเรานี้ ส่วนไหนที่เราสามารถกำหนดลงไปได้อย่างแน่ชัดว่านั่นคือ ตัวจริง ๆ ของเรา ตัวคุณจริง ๆ หรือ ตัวฉันจริง ๆ
เอาละ ดิฉันมั่นใจเหลือเกินว่า คุณจะต้องตอบว่า ไม่ใช่ตัวกายของเราที่เป็นตัวจริง แต่เป็นส่วนของจิตใจที่เป็นตัวจริงของเราต่างหาก ถ้าเช่นนั้น เราก็ต้องเลื่อนไปที่ส่วนของจิตใจ และถามต่อว่า จิตใจส่วนไหนของเราหรือที่เป็นตัวจริง ๆ ของเรา
ฝรั่งมักเชื่อว่าจิตใจอยู่ที่สมอง
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “จิตใจ” mind ขึ้นมาทีไร ความซับซ้อนและสับสนจะเกิดขึ้นทันที จะบอกว่าจิตใจในส่วนที่เป็นสมองอันเป็นก้อนเนื้อสีเทา ๆ ที่นอนขดอยู่ในกะโหลกศรีษะ ซึ่งเรามักจะ (ถูกนักวิทยาศาสตร์บอกให้) คิดว่าเป็นส่วนที่ผลิตความคิดและความรู้สึก หรือ จิตใจ ในฐานะที่เป็นสภาวะอันเป็นนามธรรมและเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งสามารถควบคุมและสั่งงานให้เราทำตามความคิดและความรู้สึก
ถึงแม้ดิฉันจะไม่มีสถิติอันเป็นผลจากการวิจัยอย่างเป็นทางการ แต่ดิฉันก็เคยวิจัยกับนักศึกษาในชั้นไท้เก็กของดิฉันแล้ว ดิฉันได้ถามนักศึกษาทุกเทอมโดยทำติดต่อกันประมาณ ๓ ปี ซึ่งตอนนั้นมีนักศึกษาประมาณ ๑๕-๒๐ คนต่อชั้น และมี ๗ ชั้นต่อหนึ่งอาทิตย์ และ ๓ เทอมต่อปี โดยบอกให้เขานำมือของเขาวางลงตรงจุดที่เขาคิดว่า จิตใจ mind ตั้งอยู่ ผลที่ออกมาปรากฏว่ามีนักศึกษาประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ที่เอามือวางบนศรีษะซึ่งเป็นที่ตั้งของสมอง อีก ๑๘ เปอร์เซนต์เอามือวางที่ส่วนอก อีก ๒ เปอร์เซ็นต์เอามือวางส่วนอื่น ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าปัญญาชนชาวตะวันตกส่วนมากจะเห็นพ้องกันว่า จิตใจ คือ ส่วนที่เป็นหัวสมองของมนุษย์มากกว่าส่วนที่เป็นนามธรรมอันเป็นองค์กรอิสระแน่นอน
ฉะนั้น หากคุณคิดว่าจิตใจคือสมองแล้วละก็ ย่อมหมายความว่าคุณยังไม่ได้พูดอะไรที่ห่างไกลจากส่วนของร่างกายเลย จริงหรือไม่เล่า เพราะว่า สมองก็คือส่วนหนึ่งของร่างกาย ส่วนจิตใจเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง formless คุณเห็นหรือไม่ว่า คุณกำลังพูดและทำในสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง คุณต้องการเข้าใจสิ่งที่ไม่มีรูปร่างเช่นความคิดกับความรู้สึก แต่คุณกลับไปเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นก้อนเนื้อของร่างกาย จุดนี้เองที่ดิฉันพูดว่า นักสมองศาสตร์กับนักจิตวิทยากำลังต่อสู้กับศัตรู (ความคิด กับ ความรู้สึก) ผิดสนามรบ fighting in the wrong battle field ศัตรูอยู่สงขลา แต่กลับส่งทหารไปเชียงใหม่ ทำนองนั้น
จะตรึงความคิดให้อยู่นาน ๆ ได้อย่างไร
เอาละ ดิฉันจะแกล้งเห็นด้วยกับคุณก่อน และยอมรับว่าจิตใจอยู่ที่สมองและรับผิดชอบต่อการทำงานของความคิดและความรู้สึก ดิฉันจะขอถามต่อว่า สภาวะจิตใจชนิดไหน ความคิดไหน และ ความรู้สึกไหนที่คุณสามารถเรียกได้ว่านี่เป็น “ตัวจริง ๆ” ของคุณ และการเป็นตัวของตัวเอง หรือ เป็นตัวจริง ๆ ของเรานั้น ถ้าจะทำจริง ๆ แล้ว เราจะต้องทำตัวอย่างไร ทำจิตใจอย่างไร มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องตรึงความคิดหนึ่ง ตรึงความรู้สึกหนึ่ง หรือ จะต้องตรึงความเชื่ออะไรอย่างหนึ่ง ใช่หรือไม่ เอานะ สมมุติว่านั่นคือคำตอบ เราจะต้องพยายามตรึงความคิดและความเชื่อชนิดหนึ่งให้คงอยู่ในหัวของเรา เช่น เราจะต้องคิดว่า
เราต้องเป็นตัวของตัวเองสิ เราต้องไม่กลัวความแก่ เราจะต้องสนุกและพอใจกับชีวิตตามที่มันเป็นอยู่ เราจะต้องมีชีวิตอยู่กับวันนี้เท่านั้น และเราต้องไม่กังวล ห่วงใยกับอนาคตมากเกินไป ฯลฯ
คำถามต่อไปคือว่า แล้วคุณจะสามารถตรึงความคิด ความเชื่อเหล่านี้ให้อยู่กับคุณตลอดไปได้อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงคือ ความคิด ความรู้สึก ความเชื่อของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ง่ายมาก เพราะมันขึ้นอยู่กับผัสสะของคุณว่าขณะนี้ ๆ คุณเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสกับอะไร จริงหรือไม่เล่าว่าความคิด ความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงไปตามหนังสือที่เราอ่าน รายการโทรทัศน์ที่เราดู เว็บไซต์ที่เราเข้าไปอ่าน และคำสนทนาต่าง ๆ ที่เรามีกับผู้คนที่อยู่รอบข้างเราตลอดจนคนในสังคม จากประสบการณ์ของคุณ คุณต้องทราบดีแล้วละว่า ความคิดของคุณสามารถเปลี่ยนได้ง่ายมากหลังจากการพูดคุยพบปะกับผู้คน ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าคนประเภทไหนที่คุณคุยด้วย คุณอาจจะพยายามตรึงความคิดและความเชื่อของคุณไว้ในจิตใจคุณอย่างดีที่สุด พยายามบอกกับตัวคุณเองว่าจะต้องไม่กลัวความแก่เฒ่าชรา ต้องไม่กลัวตาย ต้องไม่ให้ความสนใจกับความสวยความงามมากจนเกินเลย ต้องพยายามปล่อยให้ตนเองเดินเข้าสู่วัยชราอย่างมีศักดิ์ศรี ฯลฯ และอะไรอื่นอีกจิปาถะที่คุณเชื่อและอยากบอกตัวเองให้เชื่อ
วงจรอันเลวร้าย
แต่ก็อีกนั่นแหละ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจำเป็นต้องพบปะผู้คน และทุกครั้งที่คุณไปพูดคุยกับคนที่มีความมั่นใจในตนเองมากกว่าคุณแล้ว จิตใจของคุณย่อมอ่อนไหวง่าย ลมพัดลมเพ และอดไม่ได้ที่จะคิดคล้อยตามคนที่คุณพูดคุยด้วย
ถ้าเพื่อนสนิทของคุณเชื่อว่า ความรักสวยรักงามในเพศหญิงเป็นสิ่งจำเป็น ผู้หญิงเราควรจะต้องทำตนเองให้ดูดี สวย สง่างาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย่างเข้าสู่วัยชราด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นต้องดูแลตัวเองให้ดูสง่างาม ไม่ใช่ปล่อยตัวจนเกินไป ฉะนั้น หากการทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า หรือ การฉีดสารพิษโบท่อกซ์สามารถช่วยให้ผู้หญิงในวัยย่างชราดูดีขึ้นแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเลย ถ้าเพื่อนสนิทของคุณคิดเช่นนั้นและมีความมั่นใจในสิ่งที่เขาคิด เขาเชื่อแล้วละก็ คุณคิดว่า คุณจะยังคงสามารถตรึงความคิดเก่า ๆ ของคุณได้หรือ หากคุณต้องคุยกับเพื่อนสนิทของคุณอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเช่นนั้น คุณจะไม่คิดคล้อยตามเพื่อนบ้างหรือ ถ้าคุณไม่คิดคล้อยตาม คุณก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ที่คุณมีปัญหาจนกระทั่งมานั่งถกเถียงกันในรายการโทรทัศน์เช่นนี้ก็เพราะคุณอดคิดคล้อยตามเพื่อนไม่ได้ จริงหรือไม่?
ถ้าเช่นนั้น คุณก็วกกลับมาจุดเดิมของคุณอีก นั่นคือ การตะเกียกตะกายที่จะเป็นตัวของตัวเอง เป็นตัวจริง ๆ ของคุณ โดยการพยายามตรึงความคิดและความเชื่อหนึ่งให้อยู่ในหัวตนเอง ซึ่งคุณทำไม่สำเร็จ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์เรื่องนี้ คุณเห็นแล้วหรือยังว่าคุณกำลังติดอยู่ในวงจรอันเลวร้าย the vicious circle ที่ไม่มีทางออก
เอาชะตาชีวิตห้อยไว้กับคุณหมอและเภสัชกร
การที่จะทำลายวงจรแห่งความเลวร้ายของคนในทุกวันนี้ มักหมายถึงการพึ่งยากล่อมประสาทที่คุณหมอสั่งให้รับประทาน จนทำให้ยาประเภทนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งของการทานยากล่อมประสาทเพราะ นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เชื่อว่าความว้าวุ่น กลุ้มใจ วิตก กังวล หงุดหงิด คิดมาก ฟุ้งซ่านจนตั้งตัวไม่ติดของเรานั้น เกิดจากสารเคมีในร่องของสมองไม่สมดุลกัน ถ้าเป็นหญิงโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือหมดแล้ว ความหงุดหงิดเกิดจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ยากล่อมประสาทเพื่อปรับความสมดุลของสารเคมีในสมอง หรือไม่ก็ปรับระดับฮอรโมน จึงต้องรับประทานฮอร์โมนเสริม เมื่อสารเคมีในสมองและระดับฮอรโมนของคุณสมดุลกันแล้ว จิตใจของคุณก็จะรู้สึกดีขึ้น สงบขึ้น
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ แล้ว ย่อมหมายความว่า ชีวิตของคุณ ความสุขของคุณได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของคุณหมอและบริษัทผลิตยาไปแล้วหรือ หมายความว่าคุณไม่มีอำนาจเหนือชีวิตจิตใจของคุณเลย เช่นนั้นหรือ
คุณเห็นแล้วหรือยังว่า เมื่อเราค่อย ๆ วิเคราะห์เข้าไปสู่เรื่องการหา “ตัวจริง ๆ” ของเรานั้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ๆ และตรงไปตรงมาอย่างที่คิดเลย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้
ต้องเปิดประตูใจ ให้โอกาสพระพุทธเจ้า
ปัญหาทั้งหมดนี้จึงวกกลับมาที่คำว่า “จิตใจ” และการให้คำนิยามแก่คำ ๆ นี้ ตราบใดที่เรายังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า จิตใจ และไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหนแล้วละก็ เราจะไม่มีวันหา “ตัวจริง ๆ” ของเราได้พบเลย
ตรงนี้แหละ คือ เหตุผลหลักที่ดิฉันมักบอกให้นักศึกษาในชั้นไท้เก็กของดิฉันให้เพิกเฉยและแกล้งลืมความรู้ที่ได้เรียนมาเสียก่อนโดยเฉพาะภาควิชาจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องจิตใจในแง่ที่เชื่อมโยงกับสมองทั้งหมด เพราะเขาคิดว่าจิตใจคือสมอง The mind is the brain.
หากคุณไม่แกล้งลืมและเปิดประตูใจของคุณให้กับความรู้ของพระพุทธเจ้าที่ดิฉันจะหยิบยื่นให้แล้วละก็ คุณจะไม่มีวันเข้าใจสิ่งที่ดิฉันจะพูดและสอนคุณเลย เพราะดิฉันคิดว่า ความรู้ของพระพุทธเจ้าจะสามารถให้คำตอบเรื่องตำแหน่งแห่งหนของจิตใจแก่คุณได้ชัดเจนมากกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน
ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว
เรื่องที่ดิฉันจะวิเคราะห์นี้ ขอให้เข้าใจว่ามันตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ดิฉันยอมรับว่า ร่างกายจิตใจนี้ยังมีเรื่องลึกลับซับซ้อนที่ทั้งคุณและดิฉันก็เข้าใจได้ไม่หมด จึงจำเป็นต้องพึ่งพาความรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทาง ซึ่งเป็นความรู้ชนิด “ใบไม้กำมือเดียว” คือรู้ในส่วนที่จำเป็นต้องรู้จริง ๆ เท่านั้น
หากเราวิเคราะห์ตามความรู้ของพระบรมศาสดาของชาวพุทธแล้วละก็ จิตใจ เป็นสภาวะ (หรือองค์กร) อิสระที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างกายอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด ส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างกายนั้นคือ ส่วนที่คุณหมอสามารถใช้ยาสลบฉีดเข้าไปในร่างกาย ซึ่งยานั้นมีส่วนเข้าไปบังคับให้สมองส่วนหนึ่งหยุดทำงาน ไม่รับรู้ความรู้สึกของร่างกายอีกต่อไป บางครั้งก็สามารถทำให้หมดสติไปเลย และเปิดโอกาสให้คุณหมอทำศัลยกรรมผ่าตัดคนไข้ได้ และ คนไข้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับสมองที่เนื่องกับระบบประสาท ทำให้กระทบต่อเรื่องการคิด การจำ ซึ่งดิฉันยอมรับว่าสมองมีส่วนเกี่ยวข้องกับจิตใจจริง
แต่มันยังมีสิ่งนอกเหนือจากนั้นที่นักการศึกษาทางโลกยังไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านกลับเห็นว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว งานทุกอย่างจะสำเร็จได้ก็เพราะมีจิตใจก่อน จึงทำให้ จิตใจมีระบบการทำงานที่เป็นอิสระจากร่างกายอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของหัวสมองเพียงถ่ายเดียว นอกจากนั้น มันยังทำงานในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของวงการแพทย์ทั่วไป นั่นคือ จิตใจต่างหากที่เป็นปัจจัยทำให้การทำงานของร่างกายตลอดจนสารเคมีในสมองปั่นป่วน
ความรู้สึกในใจก่อให้เกิดการหลั่งสารเคมีในร่างกาย
ความรู้สึกทางอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของคนเราจะเป็นปัจจัยทำให้ร่างกายปั่นป่วน ความโกรธ เกลียด อิจฉา ริษยา พยาบาท เคียดแค้น จองล้างจองผลาญ เป็นอารมณ์ทางใจที่มาก่อน เกิดก่อนสภาวะความปั่นป่วนของร่างกาย เช่น เพราะโกรธจัด หัวใจจึงเต้นแรง ท้องไส้จึงปั่นป่วน ไม่ใช่เพราะหัวใจเต้นแรงก่อน ท้องไส้ปั่นป่วนก่อนแล้วค่อยเกิดความโกรธ เพราะ กลัวจัดจึงทำให้ความดันโลหิตสูง อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ร่างกายจึงปล่อยสารเคมีที่เรียกเอ็นไซม์หรือฮอร์โมนบางชนิดออกมา
เอ็นไซ์มตัวที่รู้จักกันดีคือ อะดรีนารีน สารตัวนี้จะถูกปล่อยออกมาจากต่อมหมวกไตเมื่อมีอาการตื่นเต้น ตกใจ กลัว และ โกรธจัด ทำให้หัวใจเต้นแรง เพิ่มพลังงาน หรือมีแรงมากขึ้น ก่อปฏิกิริยาให้ร่างกายสามารถทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ได้อย่างรวดเร็วขึ้น ไม่รู้สึกเจ็บปวด เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ คนตกใจสามารถยกของหนักได้เหมือนเป็นของเบา ๆ เพราะสารอะดรีนาลินนี้
การรวมตัวของคนกลุ่มใหญ่เช่นตามสนามฟุตบอลที่เต็มไปด้วยคนมีอารมณ์สุดขีด ไม่ตื่นเต้นจัด ก็กลัวจัด หรือไม่ก็โกรธจัดเมื่อทีมฟุตบอลตัวเองแพ้ ชาวอังกฤษไม่น้อยที่นับถือฟุตบอลเหมือนเป็นศาสนา รักทีมฟุตบอลของตนเองมากกว่ารักพระเจ้า จึงมักมีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงตามสนามฟุตบอล ความคิด ความรู้สึก ที่อยู่ในหัวในใจของคนเหล่านี้กำลังปั่นป่วน สร้างอารมณ์สารพัดนึก สารอะดรีนาลินในคนเหล่านั้นจึงถูกหลั่งออกมาพร้อม ๆ กัน ทุกคนล้วนรู้สึกมีพลังมากขึ้น จึงมีเรื่องการใช้ความรุนแรงบ่อยมาก สามารถทุบตี ชกเตะต่อย โยนเก้าอี้ใส่กันได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป สารอะดรีนาลินลดลงและหยุดหลั่งแล้ว ร่างกายจะเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก คนหนีไฟไหม้ไม่สามารถยกของหนักกลับบ้าน คนชกต่อยกันก็อาจต้องหยอดน้ำข้าวต้ม
ที่จริงแล้ว เรื่องการหลั่งสารเคมีในร่างกายเหล่านี้เป็นเรื่องการช่วยเหลือของธรรมชาติที่สร้างสิ่งทดแทนให้มนุษย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องเฉพาะการ เช่นกรณี หนีไฟไหม้ ยุคคนอยู่ถ้ำที่ต้องออกไปล่าสัตว์มาเลี้ยงชีวิตนั้น ธรรมชาติก็ช่วยให้พลังเสริมแก่ชายที่ต้องออกล่าสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะกาลเท่านั้น
หมุนนาฬิกากลับไม่ได้แล้ว
แต่สภาพของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องล่าสัตว์กันแล้ว ถ้าคุณควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ปล่อยให้ตื่นเต้น กลัวและโกรธบ่อย ๆ แล้วละก็ คนเราสามารถทำอะไรที่บ้าระห่ำ ทำสิ่งที่แม้ตนเองก็คาดไม่ถึง เช่น สามีฆ่าภรรยา ภรรยาฆ่าสามี ลูกฆ่าพ่อแม่ได้เมื่อไม่สามารถได้อะไรดังใจดังที่มีข่าวออกมาเสมอ หลายรายที่เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป และจำเลยถูกนำขึ้นศาลพิจารณาคดี ผู้ต้องหามักตอบไม่ได้ หาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น หลายคนรู้สึกเสียใจ อยากหมุนนาฬิกากลับ แต่ก็สายไปเสียแล้ว
ที่จริงพระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้วว่า ความโกรธนั้นสามารถทำให้มนุษย์กระทำในสิ่งที่ทำได้ยากหรือทำไม่ได้ในยามที่จิตใจเป็นปกติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าท่านเห็นการทำงานของจิตใจอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว
ในกรณีที่เล็กน้อยกว่านั้น เช่น คนขี้โมโหแบบประเดี๋ยวประด๋าว ในขณะนั้น มักรู้สึกว่าท้องไส้ของตนเองปั่นป่วนไปหมด คนที่ติดนิสัยขี้กังวล ห่วงโน่นห่วงนี่นั้น ร่างกายจะรู้สึกไม่สบายเช่นกัน คนที่เครียดจากการทำงานและขบคิดปัญหา ปล่อยวางไม่ได้ ก็จะมีผลทำให้กล้ามเนื้อส่วนคอ ไหล่ ต้นแขนเกร็ง แข็งไปหมด เลือดลมเดินไม่คล่องตัว ก่อให้เกิดอาการปวดหัวถึงขนาดเป็นไมเกรนได้ ถ้าไม่ควบคุมอารมณ์เหล่านั้น ไม่ปรับจิตใจให้อยู่ในสภาวะปกติ ปล่อยให้มีอารมณ์เช่นนั้นอย่างเรื้อรัง ย่อมเป็นผลเสียต่อร่างกายแน่นอน เป็นการฆ่าตัวตายชนิดผ่อนส่ง
อย่างไรก็ตาม การกระทำที่ผิดศีลธรรมอย่างร้ายกาจเหล่านี้จึงล้วนเกิดจากตัวใจถูกความคิดและความรู้สึกของเราหลอกเอาก่อน ทำให้อารมณ์ทางใจปั่นป่วนก่อน ร่างกายจึงปั่นป่วนตาม เป็นผลให้ร่างกายหลั่งสารเคมีต่าง ๆ ออกมา รวมทั้งทำให้สารเคมีในสมองไม่สมดุลซึ่งเป็นเรื่องของปลายเหตุมากกว่าที่จะเป็นต้นเหตุดังที่วงการแพทย์วิเคราะห์กัน
ความเห็นที่ขัดแย้งกัน
จึงเห็นได้ว่า หากใช้มุมมองของพระพุทธเจ้าแล้ว จิตใจต่างหากที่เป็นปัจจัยตัวสำคัญที่สร้างเงื่อนไขทำให้สภาวะร่างกายของคนเราสงบหรือปั่นป่วน แข็งแรงหรืออ่อนแอได้ เป็นการวิเคราะห์ปัญหาจิตใจที่ตรงกันข้ามจากนักการศึกษาฝ่ายโลกอย่างสิ้นเชิง จึงขอสรุปให้เห็นง่าย ๆ ด้วยสมการข้างล่างนี้
พระพุทธเจ้าเห็นว่า
จิตใจปั่นป่วน ---> ร่างกายปั่นป่วน ---> การกระทำผิดศีล
วิทยาศาสตร์การแพทย์เห็นว่า
ร่างกายปั่นป่วน ---> จิตใจปั่นป่วน ---> การกระทำผิดศีล
ขันธ์ ๕
ฉะนั้น การที่จะค้นหาตำแหน่งแห่งหนของจิตใจเพื่อเข้าใจธรรมชาติการทำงานของมัน เพื่อแก้ปัญหาจิตใจและเพื่อหาตัวจริง ๆ ของเรานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิธีการวิเคราะห์ “ร่างกาย-จิตใจ” โดยวิธีการของพระพุทธเจ้าเสียก่อน นั่นคือ ท่านบอกว่า ร่างกาย-จิตใจ ของมนุษย์นี้ประกอบด้วยส่วนที่เป็น “รูป” หนึ่งส่วน และที่เป็น “นาม” อีกสี่ส่วน หรือ ที่ชาวพุทธเรียกว่า ขันธ์ ๕ นั่นเอง ซึ่งมีดังนี้คือ
1. รูปขันธ์ คือ ส่วนของร่างกายทั้งหมดรวมทั้งสมองด้วย
2. เวทนาขันธ์ คือ ส่วนของความรู้สึกของกาย เช่นรู้สึกได้ว่า นี่ร้อน เย็น แข็ง อ่อน นุ่ม สบาย ไม่สบาย เจ็บ ปวด ระอุ ระบม เป็นต้น
3. สัญญาขันธ์ คือ ความทรงจำ อันคือ ความคิดทุกอย่างที่เนื่องกับอดีต เช่น ความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือ ภาษา ตลอดจนเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต องค์กรที่เป็นนามนี้เปรียบเหมือนกล่องเก็บข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งภาษาคอมพิวเตอร์เรียก ดาต้าเบส database ที่มีความสามารถเก็บเหตุการณ์ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตเรา
4. สังขารขันธ์ คือ ความคิดใหม่ ๆ สด ๆ ที่กำลังคิดอยู่ในขณะนี้ อันเนื่องกับจินตนาการของอนาคต หรือจะเรียกว่าความคิดปรุงแต่งก็ได้ มันทำงานร่วมกับสัญญาขันธ์ คนที่มีความทรงจำมาก เช่น มีึความรู้มากเพราะได้อ่านมาก ฟังมาก หรือเก็บเหตุการณ์อดีตไว้มาก ก็จะสามารถสร้างความคิดใหม่ ๆ สด ๆ ได้มากขึ้น และอดไม่ได้ที่จะคิดพาดพิงจินตนาการต่อไปถึงอนาคต ความคิดที่สดใหม่นี้เปรียบเหมือนเครื่องปรุงแต่งความคิดเก่าเพื่อทำให้เรื่องเก่ากลายเป็นเรื่องใหม่ในหัวในใจเราอยู่เสมอ และปรุงแต่งให้เรื่องราวในใจมีรสชาติเข้มข้นมากขึ้น แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานหลายปีแล้วก็ตาม สังขารขันธ์นี้สามารถนำความคิดเก่ามาใส่เครื่องปรุงใหม่และทำให้เป็นเรื่องใหม่เหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวานนี้ได้อยู่เสมอ ฉะนั้น คนที่เรารักมากเช่น พ่อ แม่ สามี ภรรยา หรือลูก แม้ได้ตายไปแล้วหลายปี แต่สังขารขันธ์ของเราที่ทำงานร่วมกับสัญญาขันธ์นี้จะสามารถทำให้คนตายเหล่านี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในหัวเราบ้าง ในจิตใจเราบ้างได้อยู่เสมอ
5. วิญญาณขันธ์ คือ ความรู้สึกตัวว่าเรายังมีชีวิตอยู่ เป็นคนเป็น ๆ ที่เดินเหินได้และต่างจากคนตายอย่างลิบลับ รู้ได้ว่าเราไม่ได้นอนหลับสนิท ไม่ได้สลบหรือเป็นลมหมดสติ ไม่ได้อยู่ในอาการโคม่า และไม่ได้ตาย รู้แน่ชัดว่ามีตัวเราอยู่แน่นอน ไม่ใช่เป็นผีเป็นสาง ความรู้สึกที่รู้ว่าตัวเรามีอยู่ เป็นอยู่นี้แหละ คือ การทำงานของวิญญาณขันธ์นั่นเอง
ฝ่ายนามมีทั้งตัวดูและตัวถูกดู
สิ่งที่คุณจะต้องรู้ในขั้นต่อไปคือ ส่วนที่เป็นนามขันธ์ทั้งสี่ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เปรียบเหมือนกับของเหลวสี่ชนิดที่แตกต่างกัน แต่ถูกเทรวมอยู่ในภาชนะเดียวกันหมด เมื่อมันรวมตัวกันเช่นนั้นแล้ว เราจึงเรียกมันรวบเป็นคำ ๆ เดียวว่า จิตใจ หรือ mind คำศัพท์ไทยเรายังสามารถดูออกได้ว่าธรรมชาติส่วนนามทั้ง ๔ ชนิดนี้มีส่วนที่เป็น จิต และ ส่วนที่เป็น ใจ แต่เมื่อมันอยู่คละเคล้ากัน จึงเกิดสภาวะที่เป็น จิตใจ ขึ้นมา แต่ศัพท์ภาษาอังกฤษเช่น mind นี้จะไม่สามารถบอกใบ้อะไรได้เลย การเรียนรู้เรื่องจิตใจของมนุษย์นี้ ภาษาไทยเราซึ่งมีอิทธิพลจากภาษาบาลี สันสกฤต อันเป็นภาษาของพุทธศาสนาจึงได้เปรียบมากกว่าภาษาอังกฤษ เพราะเป็นภาษาที่มีสภาวะจิตใจรองรับอยู่
ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่า ธรรมชาติในส่วนนามทั้งสี่อย่างนี้มี ๑ ส่วนที่เป็นเครื่องมือใช้งาน หรือ เป็นตัวดู observer อันเป็นส่วนของใจ และอีก ๓ ส่วนเป็นสิ่งที่ถูกใช้งาน หรือ เป็นตัวถูกดู observed ซึ่งเป็นส่วนของจิต นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาทำความเข้าใจเสียหน่อย
ทำความเข้าใจอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกก่อน
ขอข้ามมาสู่เรื่องอายตนะที่จะพาคุณโยงกลับไปสู่เรื่องจิตใจทีหลัง คุณต้องรับทราบเสียก่อนว่า พระพุทธเจ้ามองมนุษย์ที่อยู่บนโลกนี้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่รับรู้ได้ sentient being และ สามารถรับรู้ รับผัสสะ หรือ รับสัมผัสได้ ๖ ทาง ไม่ใช่เพียง ๕ ทางอย่างที่ชาวโลกเข้าใจกัน
หากใครยังไม่เข้าใจภาษาทางธรรม ก็ขอให้เรียนรู้เสียแต่บัดนี้ ส่วนที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้น ภาษาทางธรรมเรียกว่า อายตนะภายใน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องจับคู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งภาษาทางธรรมเรียกว่า อายตนะภายนอก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย = อายตนะภายใน
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส = อายตนะภายนอก
(ส่วนอายตนะภายในและภายนอก คู่ที่ ๖ จะอธิบายต่อจากส่วนนี้ ในหัวข้ออายตนะที่ ๖ ขอให้ทำความเข้าใจตามนี้ไปก่อน)
ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนังของกายของเรานั้นเปรียบเหมือนสะพานเชื่อมโลกภายนอกกายกับโลกภายในจิตใจของเราให้พบกัน โดยที่เรื่องราวของโลกภายนอกทั้งหมดที่เป็นรูปเป็นร่างมีสีสันเหลี่ยมกลมทั้งหลายจะเดินเข้ามาทางสะพานตาเพื่อเข้ามาอยู่ในโลกภายในของเรา สิ่งที่เป็นเสียงทั้งหมด จะเดินเข้ามาโดยผ่านสะพานหู กลิ่นทั้งหมดก็เข้ามาทางจมูก รสชาติทั้งหมดของอาหารเครื่องดื่มก็เดินเข้ามาทางสะพานลิ้น และความรู้สึกทางกายทั้งหมดก็เข้ามาทางสะพานของผิวหนังเพื่อเดินทางเข้าสู่โลกภายในหรือจิตใจของเรา
เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เดินผ่านเข้ามาทางสะพานของตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเราแล้ว มันก็เข้ามารวมอยู่ในโลกของใจ และกลายเป็นธรรมชาติฝ่ายนามที่ไม่มีรูปร่างอีกต่อไป หรือ กลายเป็น ความคิด (สังขาร) ความจำ (สัญญา) ความรู้สึก (เวทนา) นั่นเอง ฉะนั้น คุณจะเห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นธรรมชาติฝ่ายวัตถุหรือสสาร กับ ธรรมชาติฝ่ายนามอันคือ ความคิด ความจำ ความรู้สึก นั้น เป็นเรื่องเดียวกัน ต่างกันตรงที่ว่า กลุ่มหนึ่งเป็นรูป อีกกลุ่มเป็นนามเท่านั้นเอง ถ้าจะเขียนเป็นสมการให้เห็นง่ายขึ้น ก็คือ
รูป ตา
เสียง หู
กลิ่น จมูก
รส ลิ้น
สัมผัส กาย
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส = ความคิด ความจำ ความรู้สึก
โลกภายนอก = โลกภายใน
ไอน์สไตน์พิสูจน์ให้พระพุทธเจ้า
ที่จริงแล้ว หลักการของไอน์สไตน์ในเรื่อง มวลกับพลังงาน ก็สามารถนำมาพูดเทียบเคียงกับสมการดังกล่าวข้างต้น ปัญญาชนทุกคนล้วนรู้จัก e=mc2 ซึ่งเป็นสูตรที่นำมาสร้างระเบิดปรมณู ดิฉันดูสารคดีที่อังกฤษเกี่ยวกับสมการนี้ของไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษท่านหนึ่งพูดว่า ไอน์สไตน์เป็นคนแรกที่พูดออกมาอย่างชัดเจนว่า พลังงาน หรือ e (energy) กับมวล หรือ m (mass) เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ต่างรูปแบบเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าเราไม่พูดเรื่องการสร้างพลังงานนิวเคลียร์อันเป็นผลจากปฏิกิริยาลูกโซ่ และเลือกพูดแต่ความคิดหลัก ๆ ของไอน์สไตน์ที่สามารถประสานกับความรู้ของพระพุทธเจ้าได้แล้วละก็ เราสามารถเอาความเร็วของแสงยกกำลังสอง หรือ c2 ออกไป สมการที่เหลือจึงได้
e=m
energy = mass
พลังงาน = มวล
นาม = รูป
ความคิด ความจำ ความรู้สึก = ภาพ (รูป) เสียง กลิ่น รส สัมผัส
นามธรรม = รูปธรรม
โลกภายใน = โลกภายนอก
ฉะนั้น คุณจะเห็นว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้อธิบายนั้นเป็นเรื่องเดียวกับที่ไอน์สไตน์ค้นพบภายหลังพระพุทธเจ้าถึง ๒๕๐๐ กว่าปี นั่นคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็คือ มวล ที่มีค่าเหมือนกับความคิด ความจำ ความรู้สึก อันเป็นส่วนของพลังงาน คำว่า รูป ที่เขียนคู่กับ นาม ของพระพุทธเจ้านั้น ต่างจากความหมายของ รูป อันเป็นสิ่งที่เห็นได้ทางตา หรือ ภาพ “รูป” คำใหญ่ที่เขียนคู่กับ “นาม” นั้น มีความหมายกว้างมาก ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ มีความหมายเหมือนกับคำว่า “ธรรม” แต่เป็นทุกอย่างของโลกภายนอกในเชิงกายภาพ จึงมีคำใช้ที่เหมาะเจาะว่า “รูปธรรม” คือทุกสิ่งทุกอย่างในฝ่ายกายภาพหรือฝ่ายรูป ฉะนั้น ถ้าจะกระจายคำว่า รูป ก็จะแยกรายละเอียดออกมาเป็น ภาพ (รูป) เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งตรงกับสมการด้านบนที่เขียนไปแล้ว เมื่อ “รูปธรรม” เหล่านี้เข้าไปในใจของเราแล้ว ก็กลายเป็นธรรมชาติฝ่ายนามของโลกภายใน หรือ “นามธรรม” คือ ทุกสิ่งทุกอย่างในส่วนที่จับต้องไม่ได้ ที่มีอยู่ในรูปกายของเรา ก็จะแยกรายละเอียดออกมาเป็น ความคิด ความจำ ความรู้สึก ดังสมการด้านบน เช่นกัน
คู่สร้างคู่สม
ฉะนั้น หาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นตัวที่ถูกรับรู้โดย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วละก็ ความคิด ความจำ ความรู้สึก จำเป็นต้องเป็นตัวที่ถูกรับรู้โดยอีกอายตนะหนึ่งที่เป็นคู่ของมันเท่านั้น เหมือนเสียงจะไปเดินผ่านสะพานตาหรือจมูกไม่ได้ เสียงต้องเดินเข้าสะพานหูเท่านั้น รสต้องเดินเข้าสะพานลิ้นเท่านั้น คู่ของใครก็คู่ของมัน เป็นคู่สร้างคู่สมที่จะสลับคู่กันไม่ได้ มันไม่เข้าร่องของมัน ฉะนั้น ความคิด ความจำ กับความรู้สึกจะถูกรับรู้โดย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้ มันต้องมีอีกสะพานหนึ่งที่จะจับคู่กับความคิด ความจำ ความรู้สึก หรือ ต้องมีอีกอายตนะหนึ่งที่สามารถรับรู้ความคิด ความจำ ความรู้สึก ซึ่งอายตนะนี้มีอยู่กับมนุษย์แล้วโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องของส่วนเกินที่จะเอามาเสริมแต่งเข้าไป
อายตนะที่ ๖
นี่เป็นข้อเท็จจริง fact ที่พระพุทธเจ้ามองออกอย่างทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่กล้ายืนขึ้นมาบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีอายตนะ ๖ ทาง ไม่ใช่ ๕ ทาง นี่เป็นความคิดที่ท้าทายมาก เพราะสังคมอินเดียยุคนั้นเต็มไปด้วยนักปราชญ์ พระพุทธเจ้ากล้ายืนขึ้นมาพูดต่างจากคนอื่น แม้ในยุคนี้ก็ยังเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย อาจจะมากขึ้นด้วยเพราะยังไม่มีใครพูดเรื่องนี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม อายตนะที่ ๖ นี้คือ วิญญาณขันธ์นั่นเอง ความรู้สึกตัว หรือ วิญญาณขันธ์นี้เป็นอายตนะที่ ๖ อันเป็นสะพานรับรู้ความคิด (สังขาร) ความจำ (สัญญา) กับความรู้สึก (เวทนา) วิญญาณขันธ์จึงเป็นส่วนของใจ ที่เป็นฝ่ายนาม ในขณะที่ เวทนา สัญญา สังขาร เป็นส่วนของจิต ซึ่งก็เป็นฝ่ายนามเช่นกัน คุณจะเห็นชัดขึ้นเมื่อเขียนเป็นสมการโดยใช้ทั้งภาษาธรรมดาและภาษาบาลี ดังนี้
ความคิด ความจำ ความรู้สึก = จิต
ความรู้สึกตัว หรือ อายตนะที่ ๖ = ใจ หรือ ตัวใจ
สังขารขันธ์ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ = จิต
วิญญาณขันธ์ หรืออายตนะที่ ๖ = ใจ หรือ ตัวใจ
จิตคู่กับใจ ทอมคู่กับเจอรี่
เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ สื่อสาร และใช้คำน้อยคำ ดิฉันจะรวบความคิด (สังขาร) ความจำ (สัญญา) กับความรู้สึก (เวทนา) เป็นตัวการ์ตูนของวอลท์ ดิสนีย์ที่ชาวโลกรู้จักกันดีในนามของ หนูเจอรี่ หรือ หากเป็นคำไทยก็จะใช้คำว่า จิต ซึ่งเป็นกรรมหรือตัวถูกดู ในขณะที่ ความรู้สึกตัว หรือ วิญญาณขันธ์ เป็นแมวทอม หรือ ใจ เป็นประธาน หรือ ผู้ดู
คำว่า ใจ นี้ ดิฉันจะใช้คำว่า ตัวใจ หรือ ตาใจ แทนเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบ จึงขอให้เข้าใจว่ามันมีความหมายเดียวกับ ความรู้สึกตัว หรือ วิญญาณขันธ์
วิญญาณ = ตัวใจ = แมวทอม = ผู้ดู เป็น ประธาน subject
เวทนา สัญญา สังขาร = จิต = หนูเจอรี่ = ผู้ถูกดู เป็น กรรม object
ฉะนั้น คุณจะเห็นได้ว่า สภาวะฝ่ายนามของมนุษย์ที่เรียกว่า จิตใจ นั้น มีส่วนที่เป็นทั้งอายตนะภายนอกและอายตนะภายในปะปนกันอยู่ หรือ ฝ่ายผู้รับรู้ (ตัวใจ) ปนอยู่กับสิ่งที่ถูกรับรู้ (จิต) หรือ ตัวประธาน subject ปนอยู่กับตัวกรรม object หรือจะสร้างภาพของทอมกับเจอรี่กำลังนั่งนอนกอดคอกันอยู่ก็ได้ ทั้งผู้รู้ และ สิ่งที่ถูกรู้ หรือ จิตกับใจ หรือ ทอมกับเจอรี่ ล้วนเป็นนามหรือฝ่ายพลังงานที่ติดอยู่ในร่างกายที่มืดทึบนี้ด้วย ตรงนี้แหละ ที่ทำให้การเรียนรู้เรื่องจิตใจเป็นเรื่องยากมากที่สุด เมื่อไม่มีการเรียนรู้อย่างถูกต้อง อย่างถูกวิธีของมันแล้ว เราจึงเข้าใจมันไม่ได้ เมื่อเข้าใจเรื่องของจิตใจไม่ได้แล้ว คุณจึงไม่สามารถรู้ได้ว่า การเป็นตัวของตัวเอง หรือ เป็นตัวจริง ๆ ของเรานั้น เป็นได้อย่างไร ต้องทำอย่างไรจึงจะเข้าถึง “ตัวจริง ๆ” ของเรา
ต้องอาศัยทอมเพื่อรู้จักเจอรี่
ฉะนั้น คุณจะเห็นได้ไม่ยากว่า การเป็นตัวของตัวเอง หรือ เป็นตัวจริง ๆ ของเรานั้น เป็นเรื่องของจิต เป็นธรรมชาติของเจอรี่ที่เราต้องทำความเข้าใจมันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ความคิดไหน ความทรงจำชนิดไหน ความรู้สึกไหน และความเชื่อไหนที่เราควรตรึงมันไว้เพื่อความเป็นตัวของตัวเอง และคงความเป็นตัวจริง ๆ ของเรา
การเรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ การเฝ้ามอง การสังเกตการณ์ ที่ฝรั่งเรียกว่า making observations เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ปัญญาชนทั่วโลกต้องใช้หากเขาต้องการเรียนรู้ปรากฏการณ์อะไรสักอย่าง ฉะนั้น การสังเกตปรากฏการณ์ภายนอกกายที่เกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วละก็ นักวิทยาศาสตร์จะต้องใช้เครื่องมือพื้นฐานอันคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเฝ้ามองและสังเกตการณ์ปรากฏการณ์นั้น ๆ อย่างซ้ำซาก บางครั้งต้องเฝ้ามอง ทดลองไปมาอยู่เช่นนั้นนานหลายปี จึงสามารถสรุปผลการวิจัยออกมาเป็นความรู้ knowledge เป็นข้อเท็จจริง fact ที่เป็นเรื่องเป็นราวจนปัญญาชนทั่วโลกยอมรับได้อย่างไม่มีข้อสงสัย ดังที่ไอน์สไตน์บอกว่า
แหล่งความรู้ที่แท้จริงคือประสบการณ์
Experience is the source of knowledge.
ประสบการณ์ experience ก็คือ การที่อายตนะภายนอกกับภายในได้พบกันจริง ๆ หรือ ตาได้เห็นรูปจริง ๆ หูได้ยินเสียงจริง ๆ จมูกได้กลิ่นจริง ๆ เป็นต้น การสังเกตการณ์เช่นนี้เท่านั้นจึงจะเกิดประสบการณ์อันเป็นแหล่งหรือต้นตอของความรู้ทั้งหลายได้
ฉะนั้น การจะเข้าใจปรากฏการณ์ของจิตได้ เราจำเป็นต้องใช้เครื่องมือพื้นฐานอันคือ ใจ เป็นผู้มอง หรือ เป็นผู้ดู เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพพจน์ได้ชัดเจนมากขึ้น เหมือน “ตัวกาย” ที่มี “ตากาย หรือ ตาเนื้อ” ดิฉันจะเรียกวิญญาณขันธ์ว่าเป็น “ตัวใจ” ที่มี “ตาใจ” แทนที่จะใช้คำว่า “ใจ” เฉย ๆ เพื่อจะได้สอดคล้องกับคำว่า “มอง” และ “ดู” การที่จะมองหรือดูอะไรได้ ต้องใช้ตามอง การเฝ้าสังเกตดูความคิด ความจำ ความรู้สึก หรือ จิต นี้ ก็ไม่ต่างจากการใช้ตาเนื้อดูรูป และดูสิ่งของต่าง ๆ จิตก็คือ สิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นฝ่ายนาม (ไม่มีรูปร่าง) ฉะนั้น เมื่อใส่คำ “ตา” ไว้ข้างหน้าคำ “ใจ” เป็น “ตาใจ” แล้วละก็ จะเกิดสภาวะที่ชัดเจนว่า ทุกคนล้วนมีอายตนะที่ ๖ อันคือ “ตาใจ” ซึ่งมีไว้เพื่อดู “จิต” (ความคิด ความรู้สึก)
ถ้าใช้ภาษาของทอมกับเจอรี่ก็คือ ต้องใช้แมวทอมเป็นตัวสังเกตการณ์และเรียนรู้การทำงานของหนูเจอรี่นั่นเอง
เมื่อนำอายตนะภายในและภายนอกทั้ง ๖ มาเขียนรวมกันแล้วก็จะได้เช่นนี้คือ
อายตนะภายใน อายตนะภายนอก
Sense sense objects
ตาเนื้อ สังเกต รูป เป็น มวล ฝ่าย รูป
หู “ เสียง เป็น มวล ฝ่าย รูป
จมูก “ กลิ่น เป็น มวล ฝ่าย รูป
ลิ้น “ รส เป็น มวล ฝ่าย รูป
ผิวหนัง “ ความรู้สึก เป็น มวล ฝ่าย รูป
ตาใจ “ จิต เป็น พลังงาน ฝ่าย นาม
ทำไมฝรั่งจึงสรุปว่า “จิตใจ” อยู่ที่สมอง
ทีนี้ เราก็มาถึงจุดที่ปัญญาชนฝรั่งต้องเข่าอ่อนไปตาม ๆ กันแล้ว เพราะเมื่อคุณดูไปที่ ๕ คู่แรกของการหาความรู้นั้น ปัญญาชนฝรั่งสามารถทำได้ไม่ยาก เพราะมันไม่ซับซ้อน แต่พอมาถึงคู่ที่ ๖ ที่ต้องใช้ ตาใจ ดูปรากฏการณ์ของจิต หรือ ใช้ตาใจดูการทำงานของความคิด ความจำ ความรู้สึก แล้วละก็ ความซับซ้อนจึงเกิด ปัญญาชนฝรั่งไปต่อไม่ได้ เพราะ ทั้งตาใจและจิตล้วนเป็นนามธรรมที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ทั้งคู่ เพราะอยู่ภายในร่างกายของเรา
เมื่อขาด “ตาใจ” ที่เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อการเรียนรู้ปรากฏการณ์ของ “จิต” แล้ว เขาจึงต้องกวาดเอาส่้วนเกินเหล่านั้น (ความคิด ความจำ ความรู้สึก) ไปอัดลงในสมองซึ่งเป็นส่วนของรูป เพื่อว่าเขาจะได้ใช้ “ตาเนื้อ” ดูปรากฏการณ์ของสมองได้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เขาบูชา นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังบทสรุปที่ว่า ทำไมฝรั่งจึงเข้าใจว่า เรื่องจิตใจ หรือ mind อยู่ที่สมอง
เมื่อปัญญาชนฝรั่งหาความรู้เรื่องจิตใจชนิดจับแพะชนแกะเช่นนี้ การแก้ปัญหาจิตใจเหล่านี้จึงต้องหันกลับมาแก้ปัญหาที่สมอง และมาลงเอยที่ยากล่อมประสาท ปัญหาจึงเริ่มวน
จะให้ถูกทั้งสองฝ่ายไม่ได้
เมื่อปัญญาชนชาวตะวันตกไม่ได้เห็นว่ามนุษย์มี ๖ อายตนะเหมือนที่พระพุทธเจ้าเห็น การเรียนรู้เรื่องราวของมนุษย์และของโลก ของจักรวาลที่เราอยู่นั้น จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์มี ๕ อายตนะเท่านั้น ซึ่งจะให้ถูกทั้งสองฝ่ายย่อมไม่ได้
ดิฉันนั้นเลือกเชื่อพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีข้อสงสัยแน่นอน และโดยเหตุผลที่พูดมาทั้งหมด มุมมองของพระพุทธเจ้ามีเหตุผลมากกว่าและพูดลงตัวได้อย่างพอดิบพอดี ไม่ขาด ไม่เกิน ในขณะที่มุมมองของปัญญาชนฝรั่งที่เห็นมนุษย์มี ๕ อายตนะนั้น ไม่สามารถหาเหตุผลมาพูดให้ลงตัวได้ หากไม่พูดขัดแย้งกันเองละก็ ยังมีแต่เรื่องขาด ๆ เกิน ๆ ส่วนเกินคือ ความคิด ความจำ กับ ความรู้สึก ส่วนขาดก็คือ อายตนะที่ ๖ หรือ ตัวใจ ตาใจ
และถ้าระบบการศึกษาของฝรั่งหรือของโลกไม่ยอมรับเรื่องอายตนะที่ ๖ หรือ ตาใจ แล้ว เขาจะเริ่มขบวนการเรียนรู้เพื่อหาประสบการณ์ภายในจิตใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร เมื่อไม่มีประสบการณ์ก็ไม่มีความรู้ที่แน่นอน ที่พึ่งพาได้ ปัญหาจึงเริ่มวน
ต้องฟังผู้รู้จริงตามพระพุทธเจ้า
การรู้ว่ามนุษย์มีประสาทรับสัมผัสได้ ๖ ทางย่อมได้เปรียบกว่าการรู้ว่ารับได้เพียง ๕ ทางเท่านั้น เพราะประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ทั้ง ๖ ทางย่อมกว้างขวางมากกว่าประสบการณ์ที่หาได้จาก ๕ ทางอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้แน่นอน
ขอให้นึกถึงคนตาบอดหนึ่งคน ประสบการณ์ในเรื่องรูป แสง สี ขนาด รูปทรง ฯลฯ ของคนตาบอดนั้นจะดับมืดลงทันที ซึ่งเป็นการสูญเสียอย่างมหันต์แม้ของคนเพียงคนเดียว ฉะนั้น คุณลองหลับตาและคำนวณดูเอาเองว่า มนุษยชาติได้สูญเสียประสบการณ์และความรู้ต่าง ๆ ที่สามารถรับได้จากการใช้อายตนะที่ ๖ หรือ ตาใจ ไปมากมายมหาศาลสักเพียงใด คงจะหาภาษามนุษย์มาบรรยายความเสียหายอย่างมหันต์นี้ไม่ได้แน่นอน แม้กระนั้น ความรู้เรื่องอายตนะที่ ๖ ในทุกวันนี้ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างออกหน้าออกตาของชาวโลก ชาวพุทธเองก็ไม่สามารถเข้าใจเรื่อง ตาใจ ได้อย่างถ่องแท้
เรื่องอายตนะเกี่ยวข้องกับพระนิพพานโดยตรง
เมื่อตาใจถูกปิด มนุษย์จึงขาดประสบการณ์ทั้งหมดที่ตาใจสามารถพาไปถึง การเรียนรู้ธรรมของชาวพุทธจึงมักเน้นเรื่อง อายตนะภายนอกกับภายในเสมอ เพราะนี่เป็นเนื้อหาสำคัญของการหาความรู้หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเราผู้เป็นส่วนหนึ่งของโลกและจักรวาล หรือหาตัวจริง ๆ ของเรานี่เอง แต่เมื่อการอธิบายยังไม่ชัดเจน แม้ชาวพุทธส่วนมากก็ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าทำไมจึงต้องมาเรียนรู้เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งชาวพุทธฟังจนชินหู จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่น่าจะมีอะไรลึกซึ้ง ที่จริง เรื่องแสนจะธรรมดาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพระนิพพานและการแสวงหา “ตัวจริง ๆ ของเรา” โดยตรง เพราะพระนิพพานหรือตัวจริง ๆ ของเราเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เห็นได้ด้วย “ตาใจ” หรือ อายตนะที่ ๖ เท่านั้น
ระบบการศึกษาที่มืดบอด
ระบบการศึกษาของโลกทุกวันนี้ยังคงตั้งอยู่บนรากฐานที่เข้าใจว่ามนุษย์มีประสาทรับสัมผัสเพียง ๕ ทางเท่านั้น ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากประสาทรับสัมผัสทั้ง ๕ นั้น แม้จะถูกต้องอย่างไร มีประโยชน์ต่อชาวโลกมากมายเพียงใด มันก็ยังเป็นความรู้ที่เจือด้วยอวิชชา เป็นความรู้ที่มีความไม่รู้ปะปนอยู่ จึงเป็นระบบการศึกษาที่ผิดตั้งแต่แรกแล้ว
ตาใจของมนุษยชาติที่มืดบอดอย่างทั่วถึงกันหมดนี้ จึงทำให้อยู่ด้วยกันได้ พูดภาษาของคนมืดบอดที่เข้าใจซึ่งกันและกันได้ ซึ่งไม่พ้นจากเรื่องการตามใจกิเลส การมุ่งหาเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง บูชาวัตถุ ใช้ชีวิตอย่างไร้แก่นสาร แล้วก็ตายไปอย่างเสียชาติเกิดโดยที่ตนเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเสียชาติเกิดอย่างไร จึงเป็นเหตุผลใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่เริ่มจากจิตใจของคนหนึ่งคน ตลอดจนถึงปัญหาในระดับโลก เช่น สงคราม เป็นต้น
ต้องเรียนรู้โครงสร้างของชีวิต
ฉะนั้น หากใครต้องการเอาผ้าปิดตาใจออกแล้วละก็ ต้องเริ่มการเรียนรู้ชีวิตอย่างเป็นระบบเสียก่อน จุดเริ่มต้นคือ ต้องรู้จักโครงสร้างของชีวิตที่ชัดเจน ต้องรู้ว่าชีวิตของแต่ละคนล้วนมีเป้าหมายอันสูงสุดทั้งสิ้น นั่นคือ การค้นพบสัจธรรมอันสูงสุด หรือ ไปให้ถึงพระนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวที่จะทำให้คนเป็นสุขได้อย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
“สุขใดยิ่งกว่าพระนิพพานไม่มี”
คนรู้จริงจะรู้ว่า พระนิพพานไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย พระนิพพานในภาษาของดิฉันคือ ผัสสะบริสุทธิ์ เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำได้อยู่แล้ว หากยอมเรียนรู้อย่างเป็นระบบเท่านั้น
เมื่อรู้เป้าหมายปลายทางของชีวิตแล้ว ต่อไปก็ต้องรู้วิธีการเดินทางเพื่อให้ถึงเป้าหมายปลายทางนั้น การเดินทางในขั้นตอนแรกคือการรักษาศีล นั่นคือ ทุกอย่างที่ดี ๆ ทำไปให้หมด อะไรที่ไม่ดี ไม่ต้องทำ วิธีการเดินทางในขั้นตอนแรกนี้ ดิฉันได้เขียนแผนที่ให้แล้วในหนังสือเรื่อง คู่มือชีวิตภาคศีลธรรมและภาคกฎแห่งกรรม หากใครทำตามสิ่งที่ดิฉันแนะนำในหนังสือสองเล่มนี้ได้แล้ว ก็เท่ากับได้เริ่มเดินทางไปสู่เป้าหมายปลายทางของชีวิตแล้ว ไปได้ครึ่งทางแล้ว
การเดินทางในขั้นต่อไปที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตอย่างรวดเร็วนั้น ผู้เดินทางต้องฝึกทักษะทางใจ ดังที่ชาวพุทธเรียกว่า ฝึกสมาธิิวิปัสสนา หรือ ฝึกสติปัฏฐานสี่ นั่นเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้้เรื่องจิตใจและการแสวงหาตัวจริง ๆ ของเราอย่างถูกต้องและตรงไปตรงมา
ขอให้ดูรูปโครงสร้างของชีวิต
ช่วยวาดรูปของโครงสร้างชีวิตด้วยค่ะ เอาตามที่เขียนไว้ในบทที่สี่?ของใบไม้กำมือเดียว โดยวาดรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ส่วนบนเขียน พระนิพพาน สัจธรรมอันสูงสุด ผัสสะบริสุทธิ์ และ “พบตัวจริง ๆ ของเรา” ส่วนล่างตรงกลางเขียน ปัญญา ซ้ายมือเขียน ศีล ขวามือ เขียนสมาธิ และ สติปัฏฐานสี่ค่ะ ได้แนบแผ่นภาพมาให้ด้วย
วิปัสสนา เครื่องมือแยกตัวปลอมออกจากตัวจริง
ครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาที่รู้จริงนั้นจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติกำหนดสภาวะของ “ตัวใจ” ที่มี “ตาใจ” ให้ได้เสียก่อนเป็นอันดับแรก นี่เป็นสิ่งแรกที่ดิฉันทำในงานอบรมธรรมทุกครั้ง การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการเอาผ้าปิดตาใจออก หลังจากนั้น ผู้ฝึกสติปัฏฐานก็จะฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับมาสู่ฐานของสติ ซึ่งภาษาของดิฉันคือ การพาตัวใจกลับบ้าน อันเป็นวลีที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานเข้าใจวิธีการปฏิบัติได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะล้วนต้องเกี่ยวข้องกับสภาวะที่เป็นนามอันไม่มีรูปร่างทั้งสิ้น การใช้ภาษาร่วมสมัยตลอดจนการเปรียบเทียบกับตัวการ์ตูนเช่นทอมกับเจอรี่ของดิฉันนั้น จะสามารถทำให้แผนที่ชีวิตนี้ชัดเจนมากขึ้น
เมื่อคนฝึกสติปัฏฐานใช้ตาใจเป็นแล้ว เขาจะเข้าสู่ขบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ ใช้ตาใจเฝ้าสังเกตุการณ์การทำงานของจิต เมื่อเฝ้าดูไปนาน ๆ แล้ว ผู้ดูจะค่อย ๆ ฉลาดขึ้นและเห็นเองว่า ความคิด ความจำ ความรู้สึก (จิต หรือ เจอรี่) นี้ล้วนมีคุณลักษณะเป็นมายา ความคิดกับความรู้สึกที่เป็นมายานี้แหละที่สร้าง “ตัวปลอม” ของเราขึ้นมา ทุกครั้งที่เราติดอยู่ในความคิด เราก็ติดมายา หรือ ติดตัวปลอมของเรานี่เอง แต่เมื่อหลุดจากความคิดและความรู้สึกได้เมื่อไร ตัวปลอมของเราก็หายไป กลับมาอยู่กับ “ตัวจริง ๆ” หรือ “ตัวใจ” ของเราทันที จุดนี้เอง ผู้ปฏิบัติจะค่อย ๆ สามารถแยกแยะระหว่าง “ตัวจริง ๆ” กับ “ตัวปลอม ๆ” ของตนเองได้แล้ว
สรุปว่า ตัวปลอมคือตัวที่ถูกความคิดที่เป็นมายาปลุกปั้นขึ้นมา ซึ่งเป็นสภาวะเดียวกับการรับผัสสะที่ไม่บริสุทธิ์ ส่วนตัวจริง คือ ตัวที่หลุดจากความคิด (จิต) หรือ ในขณะที่กำลังรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์นั่นเอง ดังรูปข้างล่างนี้
ตััวใจจิต --------> ตัวกาย = ผัสสะไม่บริสุทธิ์ = อยู่กับตัวปลอม = ตัวสัมพัทธ์
ตััวใจ --------> ตัวกาย = ผัสสะบริสุทธิ์ = อยู่กับตัวจริง = ตัวปกติ
ฉะนั้น การตรึงความคิดหนึ่ง ความรู้สึกหนึ่ง หรือ ความเชื่อหนึ่งใดให้อยู่กับตนเองนาน ๆ จึงเป็นเรื่องการยึดตัวปลอมของตนเอง เอาตัวปลอมเป็นที่พึ่ง จึงอยู่ไม่ทนนาน ต้องประสบกับสภาวะลมพัดลมเพเสมอ แต่หากใครฝึกทักษะเรื่องพาตัวใจกลับบ้านเก่งแล้ว จะค่อย ๆ ถูกเจอรี่หลอกน้อยลง สามารถดีดความคิดออกจากใจได้เก่งขึ้น จึงสามารถอยู่กับตัวจริง ๆ ได้นานมากขึ้น ปัญหาชีวิตจึงแก้ตกไปได้ในลักษณะเช่นนี้
สร้างตัวปลอมซ้ำสอง
หากใครยังแสวงหาตัวจริง ๆ ของตนเองไม่พบแล้วละก็ ย่อมหมายความว่าคน ๆ นั้นต้องอยู่กับตัวปลอมและเอาตัวปลอมเป็นที่พึ่งไปก่อน ความซับซ้อนของชีวิตเริ่มเกิด โดยเฉพาะสังคมในยุคนี้ อันเป็นยุคที่คนมักให้ความสำคัญกับความร่ำรวย ความมีอำนาจ และชื่อเสียง จึงก่อให้เกิดอาชีพใหม่ นั่นคือ ใครที่เกิดมีหน้าตาเหมือนกับคนมีชื่อเสียง เช่น ดาราภาพยนต์ นักร้อง นักกีฬา นักการเมือง เป็นต้น คนเหล่านี้สามารถทำงานหาเงินได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยการเป็นตัว “เลียนแบบ” double ให้กับคนมีชื่อเสียงเหล่านี้ งานที่เขาต้องทำคือ ต้องพยายามทำตัวให้เหมือนกับคนจริง ๆ ที่เขาต้องการเลียนแบบ เช่น หญิงชาวอังกฤษคนหนึ่งมีหน้าตาเหมือนราชินีอะลิซาเบทของอังกฤษมาก นอกจากการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เหมือนของราชินี ต้องใส่มงกุฏแล้ว เธอยังต้องเลียนแบบกิริยาอาการทุกอย่างให้เหมือนราชินีอังกฤษ เช่น การเดิน การนั่ง การโบกมือให้ผู้คน การยิ้ม การพูด แม้น้ำเสียงก็ยังต้องพยายามดัดให้เหมือนราชินีตัวจริง ทุกครั้งที่เธอไปออกงานหรือแสดงตัวที่ไหนก็ตาม ซึ่งพูดง่าย ๆ ว่าไปทำงานหาเงินจากการเลียนแบบราชินีอังกฤษ แม้เธอจะไม่ได้รับการต้อนรับเหมือนอย่างราชินีอังกฤษก็ตาม แต่เธอก็เป็นจุดเด่นของงานเสมอ จะมีคนมาขอถ่ายรูปมากมาย
คุณเห็นหรือไม่ว่า หญิงคนนี้ได้สร้างตัวปลอมสองชั้นขึ้นมาแทนที่จะเป็นตัวปลอมชั้นเดียวเหมือนคนทั่วไปที่ไม่มีอาชีพนี้ ตัวปลอมแรกคือ หญิงธรรมดาเหมือนคนทั่วไปที่ไม่ได้รู้จักตัวจริงของตนเอง ตัวปลอมที่สองคือ ทำตัวเป็นราชินีทุกอย่างทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นราชินี ซึ่งอาชีพของนักแสดงล้วนเป็นเช่นนี้ คือ อยู่กับตัวปลอมสองชั้น
ปัญหาจะน้อยลงหากนักแสดงเหล่านี้สามารถกลับไปสู่ตัวปลอมแรกของตนเองเมื่อจบการแสดง แต่ถ้าหากเขาทำไม่ได้ เพราะไปติดใจในบทบาทที่ตนเองได้สวมเข้าไป เช่น บทของราชินีอังกฤษที่ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์เหมือนราชินีจริง ๆ แม้ไม่ใช่เป็นมงกุฎเพชรอย่างแท้จริง แต่ก็สวยเหมือนเพชร แถมมีคนมาถ่ายรูปมากมาย ถ้าหญิงธรรมดาคนนี้เกิดไปติดใจในบทบาทปลอม ๆ เหล่านั้นแล้วไม่อยากออกมาละก็ ชีวิตของเขาจะซับซ้อนมาก และจะทุกข์มากตามไปด้วย
นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมชีวิตของดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงมากมักมีชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว เพราะ ชีวิตจริงของเขาไม่ได้สวยหรูและมีอำนาจมากเท่ากับบทบาทที่เขาได้สวมเข้าไปในภาพยนตร์ โดยเฉพาะนักแสดงชายที่สวมบทบาทของพระเอกที่เก่งไปเสียทุกอย่าง ซึ่งชีวิตจริง ๆ ก็ไม่ได้เก่งเช่นนั้น เพียงแต่เล่นบทบาทได้เก่งเท่านั้น หลังเหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายนำเครื่องบินชนตึกเวริลด์เทรดนั้น หนังสือพิมพ์ที่อังกฤษได้ลงข่าวของพระเอกหนังที่แสดงบทบาทบู๊ สามารถช่วยแก้ไขสถานการณ์ทุกอย่างที่อยู่เบื้องหน้าได้เสมอ ซึ่งมีภาพยนต์เรื่องหนึ่งที่เขากอบกู้เครื่องบินจากการถูกยึดของผู้ก่อการร้าย ปรากฏว่าดาราชายคนนี้ไม่กล้าขึ้นเครื่องบินเลยในช่วงนั้น เพราะกลัวมาก
คุณจึงเห็นได้ว่า วิถีชีวิตที่ซับซ้อนเหล่านี้ล้วนเป็นผลของการไม่รู้จักตัวจริง ๆ ของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องเสียหายมาก เป็นต้นตอของปัญหาสังคมมากมาย
ตัวจริง ๆ ของเรามีอยู่
สิ่งที่หญิงชาวอังกฤษวัย ๔๐ พูดนั้นไม่ผิด ดังที่เธอบอกว่า
ทุกครั้งที่ดิฉันเห็นตัวเองในกระจก ดิฉันยอมรับกับตัวเองได้ยากมากว่าใบหน้าที่เหี่ยวย่นในกระจกนี้คือตัวดิฉัน เพราะดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนนั้นเลย คนนั้นไม่ใช่เป็นตัวจริงของดิฉัน ในหัวใจของดิฉันนั้น รู้สึกเป็นอีกคนหนึ่งที่หน้าตาไม่เหมือนหญิงคนที่ดิฉันเห็นในกระจกเลย
ประโยคสุดท้ายที่เธอพูดนั้นถูกเผ๋งทีเดียว เธอรู้สึกเป็นอีกคนหนึ่งที่หน้าตาไม่เหมือนหญิงคนที่เธอเห็นในกระจก ความรู้สึกที่เป็นอีกคนหนึ่งที่เธอพูดถึงนั้น ที่จริงแล้ว เธอกำลังพูดถึง ตัวใจ ในส่วนที่เป็นนามธรรมของเธอนั่นเอง ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จึงไม่มีความแก่เฒ่า ชรา เหี่ยวย่นในตัวมันเอง เธอจึงไม่รู้สึกว่า ตัวใจ นั้นเป็นคนเดียวกับตัวกายที่มีรอยตีนกาในกระจก ซึ่งเป็นสภาวะที่อยู่เหนือความแก่เฒ่าและความตาย เป็นสภาวะอมตะ นี่เป็นสภาวะที่หญิงวัยกลางคนนี้สามารถสัมผัสได้ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพียงแต่ความรู้ของเธอไม่ชัดเจน เพราะยังถูกความคิดที่เป็นมายาสร้างตัวปลอมรบกวนอยู่ ด้วยความที่ยังไม่ได้เข้าใจชีวิตตามหลักของศาสนาพุทธ จึงไม่รู้จักตาใจ หรือ อายตนะที่ ๖ จึงทำให้หาตัวจริง ๆ ของตนเองไม่พบ ซึ่งถ้าเข้าใจได้และสามารถหาตัวใจที่แท้จริงพบแล้วละก็ จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องความกลัวความแก่เฒ่าชรานี้ได้ง่ายมาก ตลอดจนถึงปัญหาเรื่องกลัวตายด้วย
สรุป
คุณคงเข้าใจแล้วว่า ความคิดเรื่องสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตในส่วนจิตใจของมนุษย์อย่างไร การไม่รู้จุดคงที่ของจักรวาลคือ การไม่รู้จักตัวจริงของเรา การยอมรับความคิดเรื่องสัมพัทธภาพก็คือการยอมรับตัวปลอมของเรา ฉะนั้น ถ้าเราไม่ยอมศึกษาเรื่องการไปนิพพานแล้วละก็ การแสวงหาตัวจริงจะไม่เกิด และจะไม่มีวันรู้จักตัวจริงของเราได้เลย
ดิฉันหวังว่าบทความนี้คงช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องการแสวงหาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอายตนะที่ ๖ และ การนำผ้าปิดตาใจออกโดยวิธีการฝึกสติปัฏฐานสี่ นี่เป็นเรื่องเดียวที่สำคัญมากที่สุดต่อทุกชีวิตบนโลกนี้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณคงจะแสวงหา “ตัวจริง ๆ” ของคุณพบไม่วันใดก็วันหนึ่งในชาตินี้ เพื่อให้สมกับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา