วันนี้(14ส.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา
ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติและออกนั่งบัลลังก์
อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภา
ส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน
ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม
ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)
ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 )หรือไม่
จากกรณีนายเศรษฐาได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติ
หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนเมื่อปี 2551
ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต
และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม
มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรี
ของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงได้
โดยในเวลา 09.30 น.วันนี้ ศาลได้เริ่มประชุมแถลงด้วยวาจา
ลงมติ และจัดทำคำวินิจฉัย
หลังจากนั้นได้ออกนั่งบัลลังก์
อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในเวลา 15.00 น.
คดีนี้ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยคือ
การที่นายเศรษฐานำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง
นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น
นายเศรษฐา รู้หรือควรรู้ มีเจตนาหรือไม่
ที่เสนอชื่อนายพิชิตซึ่งศาลฎีกาเคยมีคำสั่งจำคุก 6 เดือน
ฐานะละเมิดอำนาจศาล ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ศาลฯ มีมติ 5 ต่อ 4 มีคำวินิจฉัยว่า
การกระทำดังกล่าวของนายเศรษฐา
เข้าข่ายเป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต
และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือ
ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลง
โดยมีผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย
โดยในวันนี้ นายเศรษฐา ไม่ได้มาฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง
แต่ได้ส่ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนมาฟังคำวินิจฉัย
สำหรับคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2567 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
โดยตุลาการเสียงข้างน้อยที่เห็นว่า
ไม่ควรรับคำร้องไว้ประกอบด้วย
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ
และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4
ไม่สั่งนายเศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย
ที่เห็นว่านายกฯ ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย
นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม,
นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์
หลังจากนั้นศาลได้เปิดให้คู่กรณียื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
และแถลงปิดคดีรวมระยะเวลาการพิจารณา
นับรับคำร้องจนถึงวินิจฉัยรวม 2 เดือนเศษ
https://mgronline.com/politics/detail/9670000074553