สังคมไทยนี่...ช่างน่าเหลือเชื่อ
เพราะความเห็นทางการเมืองต่างกัน เรื่องอื่นๆ
ก็เลยพยายามที่จะตะแบงให้แตกต่างกัน
จนบางครั้ง ไร้เหตุผลมารองรับอย่างสิ้นเชิง
ที่พูดกันเยอะขณะนี้คือ "ทับลาน"
การเพิกถอนพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า ๒๖๕,๐๐๐ ไร่
วันแรกๆ คำว่า "Save ทับลาน" กระหึ่มทีเดียว
แต่ผ่านไป สองสามวัน เหมือนคนบางกลุ่มตั้งหลักได้
พากันกระแนะกระแหนคน "Save ทับลาน"
ว่าอ่านรายละเอียดหรือยัง
พยายามแยกคนเป็น ๒ พวก
พวกแรกคือ เฮโลตามกันไป เห็นเขา Save ก็ Save ด้วย
กับอีกพวกคือวกตัวเองที่มีข้อมูลอัดในสมองแน่น
รู้ที่มาที่ไปของป่าทับลานทั้งหมด
จึงไม่หลงไปกับพวก "Save ทับลาน"
ไปดูข้อเท็จจริงกันก่อน
จากปาก "อรรถพล เจริญชันษา" อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ความว่า
เรื่องนี้เป็นปัญหามาเป็นเวลา ๔๐ ปี นับตัังแต่ปี ๒๕๒๔
พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นป่าสงวนมาก่อนที่จะประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน
ต่อมาได้มีการจัดสรรให้แก่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
และชุมชนโดยรอบไปใช้ประโยชน์ทำกิน ๕.๘ หมื่นไร่
มีการประกาศพื้นที่อุทยานไปทับกับพื้นที่ดังกล่าวในภายหลัง
นำมาซึ่งการสำรวจพื้นที่ในปี ๒๕๔๓ กำหนดแนวเขตขึ้นใหม่
แต่ยังไม่สิ้นสุดตามกฎหมายทำให้พื้นที่ยังมีสภาพป่า
พื้นที่กว่า ๒ แสนไร่ มีทั้งชาวบ้านที่อยู่เดิม คนมาซื้อที่ต่อ
และกลุ่มรีสอร์ตที่ถูกดำเนินคดี ๑.๒ หมื่นไร่
คร่าวๆ ก็ประมาณนี้
รัฐมีแนวคิดแก้ปัญหาด้วยการเพิกถอนพื้นที่เขตอุทยาน
มันก็เกิดคำถาม หากสภาพปัญหานี้
ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ ป่าเมืองไทย
จะเหลือเท่าไหร่
หากมีการเพิกถอนแล้วที่ดินเปลี่ยนมือ
ชาวบ้านรุกป่าเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย
อีก ๔๐ ปีข้างหน้า จะยังคงแก้ปัญหา
แบบเดิมใช่หรือไม่
โพสต์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เปิด ๖ ผลกระทบ
หากมีการเพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน
กว่า ๒๖๕,๐๐๐ ไร่ ดังนี้ครับ
๑.หากใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี ๒๕๔๓ ตามมติ ครม.
เป็นแนวเขตทับลาน อช.ทับลาน
จะเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า ๑๖๔,๙๖๐ ไร่
ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ
๒.กระทบต่อรูปคดีที่กล่าวโทษดำเนินคดีไว้แล้วตาม
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ๒๕๐๔ และอยู่ระหว่างดำเนินการ
เป็นนายทุน/ผู้ครอบครองรายใหม่ ๔๗๐ ราย
และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์ ๒๓ ราย
เนื้อที่กว่า ๑๑,๐๘๘๓-๓-๒๐ ไร่
๓.เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนให้มีการเข้ามาซื้อขาย
แลกเปลี่ยนมือเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต
และบ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น
๔.ลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ:
ผืนป่าแห่งนี้เป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงชุมชนโดยรอบ
และเป็นพื้นที่ความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง
๕.เปิดโอกาสให้การใช้ประโยชน์ที่ดิน ขุด ถม อัด ตัดไม้
ทำลายสภาพพืชพรรณบริเวณนั้น
ผิวดินขาดสิ่งปกคลุมในการรักษาความชุ่มชื้น
และช่วยดูดซึมน้ำ จนส่งผลต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติ
และอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลัน
ในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนล่างตอนช่วงฤดูฝน
๖.แหล่งที่อยู่อาศัย หากิน หรือเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า
เนื่องจากกิจกรรมมนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่า
ตามแนวเขตเกินความสามารถในการควบคุมในพื้นที่
นั่นคือสิ่งที่จะเสียไป เมื่อต้องแก้ปัญหาในอีกมิติ
คือ แก้ปัญหาชาวบ้านซึ่งครอบครองที่ดินในบริเวณดังกล่าว
อีกมุมหนึ่งจึงพูดเรื่องชาวบ้านมากกว่าเรื่องการอนุรักษ์
หรือการพยายามบอกว่าทั้ง ๒ สิ่งนี้ควรไปด้วยกัน
โพสต์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในมุมนี้มากที่สุดคือ
โพสต์ของ "ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี"
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา ม.เชียงใหม่
"...สิ่งที่พวกกลุ่มอนุรักษ์ตั้งใจไม่พูดถึงคือ
อุทยานแห่งชาติหลายแห่ง จัดตั้งโดยไม่เคยสนใจที่จะสำรวจ
และกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน
ที่อยู่มาก่อนออกก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่า
สนใจแต่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากเข้าไว้
แต่ไม่สนสี่สนแปดว่า ป่าที่จัดตั้งขึ้นนั้น
ไปแย่งที่ทำกินของใครเขามาบ้าง
กลายเป็นชนวนความขัดแย้ง
เผชิญหน้าระหว่างรัฐกับชุมชนเรื้อรังมานานหลายทศวรรษ
อุทยานแห่งชาติทับลาน ก็เช่นกัน
การใช้วาทกรรม 'ผืนป่าที่ถูกเฉือน'
ของกลุ่มอนุรักษ์บางกลุ่ม จึงเป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง
เพื่อปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ
ทั้งที่ในความเป็นจริง ผืนดินทำกินของชาวบ้านต่างหาก
ที่ถูกเฉือนไปเซ่นป่าอนุรักษ์มานานหลายสิบปี
อุทยานประกาศปี ๒๕๒๔ ชาวบ้านบางกลุ่ม
อยู่กันมาตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๑๕ ด้วยซ้ำไป
แบบนี้ไม่เรียกว่าอุทยานบุกรุกที่ชาวบ้าน
จะให้เรียกว่าอะไรการใช้ข้ออ้างเรื่องกลัวกลุ่มทุนจะมาฮุบที่เหมาเข่ง
ดังนั้น จึงไม่ควรเพิกถอนป่าที่ไปแย่งชาวบ้านเขามา
และคืนสิทธิให้กับเจ้าของที่ดินที่อยู่มาก่อน
จึงเป็นตรรกะที่วิบัติมาก
ที่น่าแปลกคือ สื่อส่วนใหญ่ก็พากันไปกับกระแสเขียวตกขอบ
แทบไม่เห็นสื่อไหนที่เสนอข้อเท็จจริง
จากชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากข่าวนี้..."
วาทกรรม "เขียวตกขอบ"
กำลังทำให้กลุ่มสามนิ้วดีดด้วยความสะใจอย่างหนักในเวลานี้
ในมุมของ "ศ.ดร.ปิ่นแก้ว" ก็ถูกครับ แต่ถูกไม่ถึงครึ่ง
เหมือนพยายามตั้งคำถามว่า ไก่ กับ ไข่ อะไรเกิดก่อนกัน
ทั้งๆ ที่ ป่ามาก่อนคน หรือคนอยู่ก่อนป่า เป็นเรื่องที่อธิบายได้ไม่ยาก
ชาวบ้านดีๆ ที่มีที่ดินทับซ้อนกับเขตป่า
เขตอุทยาน มีเยอะครับ
เช่นกันชาวบ้านเฮงซวย รุกป่า ทำให้ป่าเสื่อมโทรม
เรียกร้องให้รัฐเพิกถอนเขตป่า เขตอุทยาน
อ้างว่าทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน ก็มีไม่น้อยเช่นกัน
กลุ่มนี้สุดท้ายขายต่อให้นายทุน
แล้วตัวเองก็รุกป่าไปหาที่ทำกินแห่งใหม่วิธีการนี้ใช้กันมานานแล้ว
บางแห่งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ
นายทุน ฮุบที่กันเป็นพันๆ ไร่
ฉะนั้นอย่าคิดว่า ชาวบ้าน จะใสซื่อ ทุกคน แล้วจะแก้ปัญหากันอย่างไร?
เวลานี้ป่า กับสัตว์ป่า ไม่ใช่ปัญหา
เพราะไม่มีปากไม่มีเสียง
จึงถูกกระทำชำเรามานาน
แต่คนคือปัญหาใหญ่ วิธีการจัดการกับชาวบ้าน
ซึ่งมีที่ดินทับซ้อนเขตป่า เขตอุทยาน
ควรจะจัดการแบบเดิม หรือ
หาวิธีใหม่ๆ กันได้แล้ว
แบบเดิม รุกป่าลึกเข้าไปเรื่อยๆ
มีคนให้ท้ายก็ยิ่งหนัก นักวิชาการรับผิดชอบไหวหรือเปล่าครับ
ลองเอาคนออกจากป่าที่อ้างว่าไม่ใช่ป่า
โดยรัฐจัดหาที่ดินทำกินให้อย่างเหมาะสม
วิธีนี้ไม่ดีกว่าหรือ
อย่างน้อยๆ ผืนป่าเรายังมีเท่าเดิม
สัตว์น้อยใหญ่ได้อยู่อาศัยอย่างมีศักดิ์ศรีขึ้นบ้าง
จาก ๕.๘ หมื่นไร่ เป็น ๒๖๕,๐๐๐ ไร่
เขาเรียกว่า "รุก" หรือ "ทับซ้อน"
"Save ทับลาน".
ผักกาดหอม
https://www.thaipost.net/columnist-people/617711/