สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือดOctober 4, 2012 by Sant Chaiyodsilp
ผมอายุ 42 ปีครับ น้ำหนัก 72 กก. สูง 165 ซม.
มีปัญหาปวดข้อเข่าบ่อยๆ ผลตรวจสุขภาพประจำปี
อย่างที่ส่งมาให้คุณหมอนี้
คือทุกปีบริษัทก็ให้ตรวจสุขภาพประจำปี
ตรวจแล้วไม่มีอะไร ก็จบกันไปปีต่อปี
โดยที่ผมเองก็ไม่ได้เข้าใจอะไรมากไปกว่าที่
หมอบอกว่า โอ.เค.
คือผมอยากจะเข้าใจผลการตรวจให้มากกว่านี้
เบื่อที่จะถามหมอแค่ว่าปกติใช่ไหมครับหมอ
แล้วหมอก็บอกว่าไม่มีอะไรนอกจากไขมันสูงเล็กน้อย
แล้วก็ผ่านไปอีกหนึ่งปี ผมอยากจะรู้ปัญหาสุขภาพของผมจริงจัง
ผมอยากให้คุณหมอสันต์ช่วยสอน
วิธีแปลผลการตรวจเลือดนี้ให้ด้วย
คือผมอยากรู้ความหมายของแต่ละค่า
ว่าผมจะเอาความหมายของมันไปใช้ประโยชน์
ในการดูแลตัวเองได้อย่างไรครับ
ขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
Blood Chemistry
FBS 108 (ไม่เกิน 125 mg/dl)
HbA1C 6.1 (ไม่เกิน 6.5%)
BUN 23 (8-24 mg/dL)
Cr 1.5 (0.7-1.2 mg/dL)
eGFR 73 (มากกว่า 90 ml/min/1.73 sqm)
Uric acid 8.4 (3.4 7.0)
Triglyceride 218 ( ไม่เกิน 200)
HDL-cholesterol 37 (มากกว่า 40 mg/dl )
LDL-cholesterol 133 (ไม่เกิน 130 mg/dL)
Total Cholesterol 214 (ไม่เกิน 240 mg/dL)
AST (SGOT) 55 (ไม่เกิน 40 IU/L)
ALT (SGPT) 42 (ไม่เกิน 34 IU/L)
Alkaline Phosphatase 57 (ไม่เกิน 128 mg/dL)
GTT 84 (78 U/L)
HBs Ag Negative
Anti HBs Positive <344>
ตอบครับ
จดหมายแบบว่าส่งผลการตรวจร่างกายมาให้ช่วยดูเนี่ย
มีแยะเลย ผมเคยสอนการแปลผลการตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) ไปแล้ว
เคยสอนแปลผลการวิเคราะห์ปัสสาวะ (UA) ไปแล้ว
วันนี้ผมจะรวบยอดสอนการแปลผลการตรวจเคมีในเลือดให้ฟัง
ท่านที่ถามมาคล้ายกันแต่ว่าผมไม่ได้ตอบ
ก็ขอให้เอาวิธีแปลผลที่คุยกันวันนี้
ไปแปลผลการตรวจของท่านเอาเองก็แล้วกัน
1.. Blood chemistry แปลตรงๆว่า เคมีของเลือด
หมายถึงระดับของสารต่างๆที่อยู่ในเลือด
ซึ่งก่อปฏิกิริยาเคมีได้
ซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสารเหล่านี้
บ่งบอกไปถึงว่าจะมีโรคอะไรเกิดขึ้นในร่างกายบ้าง ?
2.. FBS = ย่อมาจาก fasting blood sugar แปลว่า
ระดับน้ำตาลในเลือดหลังการอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
เป็นการตรวจสถานะของโรคเบาหวานโดยตรง
คือคนปกติค่านี้จะต่ำกว่า 100 mg/dL
ของคุณได้ 108
ถือว่าอยู่ในย่านใกล้จะเป็นเบาหวาน
ถ้าของใครสูงเกิน 125
ก็ถือว่าเป็นเบาหวานแล้วอย่างบริบูรณ์
3.. HbA1C = ย่อมาจาก hemoglobin A1C แปลว่า
ระน้ำตาลสะสมเฉลี่ยสามเดือนในเม็ดเลือดแดง
มีความหมายคล้ายๆกับค่า FBS คือ
โดยคำนิยามถ้าน้ำตาลสะสมเฉลี่ยของของใคร
สูงกว่า 6.5% ก็ถือว่าเป็นโรคเบาหวานไปแล้วอย่างบริบูรณ์
ค่า HbA1C นี้ดีกว่าค่า FBS ในสองประเด็น คือ
3.1 ทำให้เราตรวจคัดกรองเบาหวานได้ทุกเมื่อ
โดยไม่ต้องอดอาหารมาล่วงหน้า
3.2 การที่มันสะท้อนค่าน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลาสามเดือนย้อนหลัง
จึงตัดปัญหาระดับน้ำตาลวูบวาบในช่วงหนึ่งวันก่อนการตรวจ
คือคนไข้บางคนที่จะทำตัวดีเฉพาะสองสามวันก่อนไปหาหมอ
เพื่อให้น้ำตาลในเลือดดูดี
พอคล้อยหลังหมอตรวจเสร็จก็ออกมาสั่งไอติมมากิน
เป็นกะละมังให้หายอยาก
คนไข้แบบนี้การตรวจ HbA1C จะทำให้ทราบ
สถานะที่แท้จริงของเบาหวานดีกว่า
4.. BUN = ย่อมาจาก blood urea nitrogen แปลว่า
ไนโตรเจนในรูปของยูเรีย
ตัวยูเรียนี้เป็นเศษของเหลือจากการเผาผลาญโปรตีนที่ตับ
ซึ่งต้องถูกกำจัดทิ้งโดยไต
การวัดระดับค่าของ BUN เป็นตัวบ่งบอกว่า
เลือดไหลไปกรองที่ไตมากพอหรือไม่
ในภาวะที่เลือดไหลไปกรองที่ไตน้อยลง เช่น
ในภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือสูญเสียเลือดไปทางอื่น
เช่นเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือในภาวะช็อก
ระดับของ BUN จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ค่าปกติของ BUN คือ 8-24 ของคุณวัดได้ 23
ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
อย่างน้อยก็บ่งบอกว่าเลือดยังไหลไปกรองที่ไตดีอยู่
ร่างกายไม่ได้อยู่ในภาวะขาดน้ำ หรือเสียเลือด
5.. Cr = เขียนเต็มว่า Creatinine แปลว่า
เศษเหลือจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อ คือ
กล้ามเนื้อของคนเรานี้มันสลายตัวและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา
คนมีกล้ามมากก็สลายตัวมากสร้างมาก
Cr ซึ่งเป็นเศษซากที่สลายตัวออกมาจะถูกไตขับทิ้งไป
แต่ในกรณีที่ไตเสียการทำงาน เช่นเป็นโรคไตเรื้อรัง
ไตจะขับ Cr ออกทิ้งไม่ทันกับที่กล้ามเนื้อสลายออกมา
ทำให้ระดับ Cr ในเลือดสูงผิดปกติ
ค่าปกติของมันคือ 0.7-1.2 mg/dL
แต่ของคุณได้ตั้ง 1.5 ซึ่งสูงผิดปกติ
แสดงว่าไตของคุณเริ่มจะทำงานไม่ดีแล้ว
หรือเริ่มเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว ตรงนี้ เป็นเรื่อง
ที่คุณจะต้องติดตามเจาะลึกต่อไป
6.. eGFR= เรียกสั้นๆว่า จีเอฟอาร์.
ย่อมาจาก estimated glomerular filtration rate แปลว่า
อัตราการไหลของเลือดผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที
ค่านี้ได้จากการคำนวณเอาจาก Cr กับอายุ และชาติพันธุ์ของเจ้าตัว
ห้องแล็บที่ยังไม่ทันสมัยจะไม่รายงานค่านี้
ถ้าเจ้าตัวอยากทราบค่านี้ต้องเอาค่า Cr ที่ได้ไปอาศัย GFR calculator
ตามเว็บในเน็ทคำนวณให้
ค่าจีเอฟอาร์.นี้มีประโยชน์มากในแง่
ที่ใช้แบ่งระดับความรุนแรงของคนที่ Cr ผิดปกติ
อย่างคุณนี้ว่ามีความรุนแรงเป็นโรคไตเรื้อรัง
ระยะไหนของ 5 ระยะ กล่าวคือ
ระยะที่ 1 ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว แต่ไตยังทำงานปกติ (จีเอฟอาร์ 90 มล./นาที ขึ้นไป)
ระยะที่ 2 ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว และไตเริ่มทำงานผิดปกติเล็กน้อย (จีเอฟอาร์ 60-89 มล./นาที)
ระยะที่ 3 ไตทำงานผิดปกติปานกลาง ไม่ว่าจะตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตหรือไม่ก็ตาม (จีเอฟอาร์ 30-59 มล./นาที)
ระยะที่ 4 ไตทำงานผิดปกติมาก (จีเอฟอาร์ 15-29 มล./นาที)
ระยะที่ 5. ระยะสุดท้าย (จีเอฟอาร์ต่ำกว่า 15 หรือต้องล้างไต)
จะเห็นว่าแม้คุณจะยังไม่มีพยาธิสภาพที่ไต
(หรือมีแล้วก็ไม่รู้เพราะไม่ได้ตรวจ)
แต่จีเอฟอาร์ของคุณคำนวณได้ 57
ซึ่งต่ำกว่า 60 จึงจัดว่า
คุณเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 แล้ว
ตรงนี้มีนัยสำคัญ ถ้ามีเวลาตอนท้าย
ค่อยคุยกันว่าควรต้องทำอะไรต่อไป
ตอนนี้ขอสอนวิธีแปลผลเคมีของเลือดให้จบก่อนนะ
7.. Uric acid ก็คือกรดยูริกที่เป็นต้นเหตุของโรคเก้าท์นั่นแหละ
ค่าปกติของกรดยูริกในเลือดคือ 3.4-7.0
ของคุณได้ 8.4 ก็คือสูงผิดปกติ
เนื่องจากคุณไม่เคยมีอาการของเก้าท์ (เจ็บข้อ ข้อบวมแดง)
จึงเรียกคนแบบคุณนี้ว่าเป็นคนที่มีกรดยูริกสูง
โดยไม่มีอาการ (asymptomatic hyperuricemia)
ซึ่งยังไม่ถือเป็นภาวะที่ต้องกินยารักษาเก้าท์แต่อย่างใด
8..Triglycerideคือไขมันไตรกลีเซอไรด์
ซึ่งเป็นไขมันก่อโรคชนิดหนึ่งในร่างกายเรา
ระดับที่สูงจนต้องใช้ยาคือเกิน 200 mg/dl
ของคุณได้ 218 ก็ถือว่า
เป็นโรคไขมันในเลือดผิดปกติ
ชนิดไตรกลีเซอไรด์สูง
9.. HDL-cholesterol เรียกสั้นๆว่าเอ็ช.ดี.แอล.
เรียกอีกอย่างว่า ไขมันดี
เพราะมันเป็นไขมันที่ดึงไขมัน
ที่พอกหลอดเลือดออกไปจากหลอดเลือด
ดังนั้นยิ่งมีเอ็ช.ดี.แอล.มากก็ยิ่งดี
คนปกติควรมี
เอ็ขดีแอล.เกิน 40 mg/dl ขึ้นไป
ของคุณมี 37 ก็ถือว่าต่ำผิดปกติ
หมายความว่าเป็นคนมีความเสี่ยง
ที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมาก
10.. LDL-cholesterol เรียกสั้นๆว่าแอลดีแอล.
หรือเรียกอีกอย่างว่า ไขมันเลว
เพราะมันเป็นตัวไขมัน
ที่พอกอยู่ที่ผนังหลอดเลือด
และเป็นไขมันก่อโรคโดยตรง
การจะตัดสินว่าคนไข้คนไหนควรกินยา
ลดไขมันเมื่อไหร่ก็ตัดสินกัน
จากระดับแอลดีแอล.นี่แหละ
โดยเทียบกับความเสี่ยงในการ
เป็นโรคหัวใจหลอดเลือด (cardiac risk stratification)
ที่แต่ละคนมีเป็นทุนอยู่แล้ว กล่าวคือ
ถ้ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่ำ (low cardiac risk)
เช่นอายุไม่มาก ไขมันไม่สูง ความดันไม่สูง ไม่สูบบุหรี่
ก็จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL มากกว่า 160
ถ้ามีความเสี่ยงปานกลาง (moderate cardiac risk) เช่น
มีปัจจัยเสี่ยงหลักเกินสองอย่างขึ้นไป
จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL มากกว่า 130
ถ้ามีความเสี่ยงสูง (high cardiac risk) หรือเป็นโรคหัวใจ
หรือเบาหวาน หรืออัมพาตแล้ว
จะให้เริ่มทานยาลดไขมันเมื่อ LDL มากกว่า 100
ในกรณีของคุณนี้ น่าเสียดายที่คุณไม่ได้บอกความดันเลือด
สถานะของการสูบบุหรี่
และประวัติการตายของบรรพบุรุษมา
ผมจึงประเมินระดับชั้นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือดให้คุณไม่ได้
แต่หากดูจากดัชนีมวลกายที่สูงเกินปกติ (26)
น้ำตาลที่ค่อนไปทางสูง ไตรกลีเซอไรด์ที่สูงผิดปกติ
และไขมันดีที่ต่ำมาก
ผมเดาว่าระดับความเสี่ยง
ต่อการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดของคุณ
ต้องเป็นระดับปานกลางขึ้นไปแน่นอน
นั่นหมายความว่า ณ จุดนี้ คุณต้องรีบรีดไขมันเลว
ออกจากตัวให้เหลือต่ำกว่า 130 ให้ได้
ถ้าทำไม่ได้ คุณก็ต้องทานยาลดไขมัน
11. Total Cholesterol หมายถึงโคเลสเตอรอลรวมในร่างกาย
เป็นค่ารวมของไขมันสามอย่าง กล่าวคือ
โคเลสเตอรอลรวม = ไขมันดี (HDL) + ไขมันเลว (LDL) + หนึ่งในห้าของไขมันไตรกลีเซอไรด์
สมัยก่อนเราใช้ค่าโคเลสเตอรอลรวมตัวนี้ตัวเดียว
ในการประเมินไขมันในเลือด
จึงได้กำหนดค่าปกติไว้ว่าถ้าสูงเกิน 240 mg/dl
จึงจะถือว่าสูงและเริ่มใช้ยา
แต่สมัยนี้เราไม่ค่อยจะดูค่าโคเลสเตอรอลรวมกันเท่าไหร่แล้ว
เราดูเจาะลึกลงไปถึงไขมันแต่ละชนิด
และตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้ยาจากระดับไขมันเลว (LDL)
โดยไม่สนใจโคเลสเตอรอลรวมแล้ว
เพราะค่านี้มักชักนำให้เข้าใจผิด
ยกตัวอย่างเช่นตัวคุณนี้ถ้าดูค่าโคเลสเตอรอลรวม
จะเห็นว่าได้ 214 ซึ่งก็แค่สูงเกินพอดีไปบ้าง
แต่ไม่สูงถึงกับต้องใช้ยา
แต่ว่าจริงๆแล้วเป็นความเข้าใจผิด
เพราะกรณีชองคุณนี้ค่าโคเลสเตอรอลรวม
ดูต่ำอยู่ได้เพราะคุณมีไขมันดี (HDL) ต่ำกว่าปกติ
เลยพลอยทำให้ค่าโคเลสเตอรอลรวมต่ำไปด้วย
ทั้งๆที่คุณเป็นคนมีไขมันเลวอยู่ในระดับสูง
ถึงขั้นต้องใช้ยาแล้ว
12..AST(SGOT) = ย่อมาจาก aspartate transaminase
หรือชื่อเก่าว่า serum glutamic oxaloacetic transaminase
เป็นเอ็นไซม์ที่ปกติอยู่ในเซลของตับ
ซึ่งจะไม่ออกมาในเลือด
หากมีเอ็นไซม์ตัวนี้ออกมาในเลือดมาก
ก็แสดงว่าเซลตับกำลังได้รับความเสียหาย
เช่นอาจจะมีตับอักเสบจากการติดเชื้อหรือจากสารพิษ
หรือแม้กระทั้งจากแอลกอฮอล์
และไขมันแทรกเนื้อตับ ค่าปกติของ AST คือไม่เกิน 40 IU/L
แต่ของคุณได้ 55 ก็ถือว่าสูงกว่าปกติ
อาจมีเหตุอะไรสักอย่างให้เซลตับบาดเจ็บ
กรณีของคุณนี้เป็นคนน้ำหนักเกิน
ไขมันในเลือดสูง สาเหตุอาจเกิดจากตับอักเสบจากไขมันก็ได้
นอกจากนี้เอ็นไซม์ตัวนี้ยังมีอยู่ในอวัยวะอื่นเช่น
หัวใจ ไต สมอง ด้วย จึงไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่า
ถ้าเอ็นไซม์ตัวนี้สูงต้องเป็นเรื่องของตับเท่านั้น
13.. ALT (SGPT) = ย่อมาจาก alamine amintransferase
หรือชื่อเก่าว่า serum glutamic pyruvic transaminase
เป็นเอ็นไซม์ที่ปกติอยู่ในเซลของตับเช่นเดียวกับ AST
แต่ว่ามีความจำเพาะเจาะจงกับตับมากกว่า AST เสียอีก
และ ALT นี้จะออกมาในเลือดเมื่อเซลตับได้รับความเสียหายเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีเนื้องอกอุดตันทางเดิน
ค่าปกติของ ALT คือไม่เกิน 34 IU/L แต่ของคุณได้ 57
ก็ถือว่าสูงกว่าปกติอยู่ดี
ผมว่าคุณจะต้องมีอะไรสักอย่าง
ที่ไม่เป็นมิตรกับเซลตับ
ซึ่งต้องค้นหากันต่อไปว่ามันคืออะไร ?
14.. Alkaline Phosphatase = เป็นเอ็นไซม์ที่อยู่ในเซลของตับ
ทางเดินน้ำดี และของกระดูกเป็นส่วนใหญ่
ความหมายของเอ็นไซม์ตัวนี้หากมันสูงขึ้น
คืออาจจะมีปัญหาที่ทางเดินน้ำดี ตับ
หรือกระดูก
ค่าปกติในผู้ชายผู้ใหญ่ไม่เกิน 128 U/L
ของคุณได้ 57 ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ
15.. GTT = ย่อมาจาก gamma glutamyl transpeptidase
เป็นเอ็นไซม์ในเซลตับและทางเดินน้ำดีเช่นเดียวกับ ALT
มีความไวต่อความเสียหายของเซลตับมากกว่า
แต่ขาดความจำเพาะเจาะจง หมายความว่าเมื่อ GTT สูง
จะเกิดจากอะไรก็ได้ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องของตับ
เช่นอาจมีปัญหาที่ตับอ่อน ที่หัวใจ ที่ปอด
หรือแม้กระทั่งเป็นเบาหวาน อ้วน หรือดื่มแอลกอฮอล์
ก็ทำให้ GTT สูงได้
สารตัวนี้จึงไม่มีประโยชน์ในการคัดกรองโรคเลย
อย่างของคุณก็สูงนะครับ
คือค่าปกติเขาไม่เกิน 78 U/L
แต่ของคุณได้ 84 เข้าใจว่าคงเป็น
เพราะคุณอ้วนนั่นละมัง
16.. HBs Ag = ย่อมาจาก hepatitis B surface antigen แปลว่า
ตัวไวรัสตับอักเสบบี.ซึ่งตรวจจากโมเลกุลที่ผิวของมัน
ถ้าตรวจได้ผลบวกก็แปลว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี.อยู่ในตัว
ของคุณตรวจได้ผลลบ ก็แปลว่า
ไม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี.
17.. Anti HBs = ย่อมาจาก antibody to hepatitis B surface antigen แปลว่า
ภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบี.
คุณตรวจได้ผลบวกก็แปลว่าคุณมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสบี.แล้ว
ไม่ต้องไปแสวงหาการฉีดวัคซีน
เอาละ ได้เข้าใจความหมายของสารเคมีแค่ละตัวแล้ว
คราวนี้ลองมาประเมินภาพรวมสุขภาพของคุณนะ
ว่าจากผลการตรวจสุขภาพครั้งนี้
คุณมีปัญหาซึ่งผมไล่เลียงจากเรื่องใหญ่ลงไปหาเรื่องเล็ก ดังนี้
ปัญหาที่ 1. เป็นโรคไตเรื้อรัง ระยะที่ 3
ปัญหาที่ 2. ไขมันในเลือดสูงถึงระดับต้องรักษา
ปัญหาที่ 3. ใกล้จะเป็นเบาหวาน
ปัญหาที่ 4. ดัชนีมวลการสูงเกินพอดี (พูดง่ายๆว่าอ้วน)
ปัญหาที่ 5. มีเอ็นไซม์ของตับสูงโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
ปัญหาที่ 6. กรดยูริกสูงโดยไม่มีอาการ
โอ้.. อายุแค่ 42 ปีเอง ปัญหาแยะเหมือนกันนะเนี่ย
แต่คุณไม่ใช่คนพิเศษที่แย่กว่าคนอื่นมากมายหรอกครับ
คนไทยวัยคุณนี้ ซึ่งพวกการตลาดเขาเรียกว่า Generation X
หรือเรียกสั้นๆว่า Gen X คือ
มีอายุประมาณสามสิบกว่าไปถึงห้าสิบ
คนไทยรุ่นนี้เจาะเลือดมาดูเถอะครับ
สิทธิการิยะท่านว่าจะไม่ได้ตายดี อุ๊บ..ขอโทษ
ผมปากเสียอีกละ พูดใหม่ เจาะเลือดมาดูเถอะ
โครงสร้างของสารเคมีในเลือดแตกต่างจากคนไทยรุ่นก่อนนั้น
ราวกับเป็นมนุษย์คนละพันธ์
มีงานวิจัยหลายรายการมากที่สนับสนุนคำพูดของผม
รวมทั้งงานวิจัยของผมเองที่ศึกษาเคมีของเลือด
คนสุขภาพดีอายุ 40+ จำนวนสามพันกว่าคน
ที่มาตรวจสุขภาพที่รพ.พญาไท 2 พบว่า
เกินครึ่งมีไขมันในเลือดผิดปกติ
ถึงระดับที่ต้องใช้ยา
ประมาณหนึ่งในสามเป็นความดันเลือดสูง
โดยที่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัว
และหนึ่งในสามใกล้จะเป็นเบาหวาน
และมีดัชนีมวลกายเฉลี่ยสูงเกินพอดี
คือเป็นคนไทยรุ่นที่มีปัจจัยเสี่ยง
ที่จะเป็นโรคเรื้อรังอยู่เพียบ..บ..บ
จนสามารถคาดเดาได้เลยว่าคนวัยนี้จะ
จบชีวิต
ด้วยการป่วยเป็นโรคเรื้อรังอันได้แก่
โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง (อัมพาต)
ความดันเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน เป็นต้น
จนผมอยากจะเปลี่ยนชื่อรุ่นจาก
Gen X เป็น Gen Sick แทน
เพราะว่ายังไม่ทันแก่ก็มีโรคแพลมออกมาให้เห็นเพียบแล้ว
เมื่อหลายเดือนก่อนมีหมอน้อยคนหนึ่งมาปรึกษาว่า
จะไปฝึกอบรมทางด้านผ่าตัดหัวใจดีไหม
อนาคตการทำมาหากินจะฝืดเคืองไหม
ผมรีบตอบว่า
เอาเลยน้อง พี่ดูไขมันในเลือดของคนไข้วัยสี่สิบห้าสิบวันนี้แล้ว
เอ็งจบแล้วจะมีงานทำล้นมือไปอีกอย่างน้อยยี่สิบปี
ขอโทษ เผลอนินทา Gen X ไปซะหลายกระบุง
กลับมาที่เรื่องของคุณดีกว่า
เมื่อเรียงลำดับปัญหาสุขภาพได้แล้ว
ขั้นต่อไปก็ต้องวางแผนสุขภาพประจำปี
ว่าปีนี้คุณต้องทำอะไรบ้าง
ซึ่งกระบวนการนี้ต้องทำร่วมกันระหว่างตัวคุณ
ในฐานะคนไข้กับหมอที่ตรวจสุขภาพประจำปีให้คุณ
แต่วันนี้ผมทำให้คุณข้างเดียวก็แล้วกันนะ
สิ่งที่คุณจะต้องทำในปีนี้คือ
1.. คุณต้องรีบป้องกันไตของตัวเองไม่ให้เสื่อมไปมากกว่านี้ โดย
1.1 งดยาที่มีพิษต่อไตเด็ดขาด
โดยเฉพาะยาแก้ปวดแก้อักเสบ
ซึ่งผมเดาว่าคุณคงจะกินแก้ปวดเข่าของคุณอยู่ ต้องเลิก
หรือจำกัดให้เหลือน้อยที่สุด เพราะยานี้ทำให้ไตพัง
1.2 งดการตรวจวินิจฉัยด้วยการฉีดสารทึบรังสีอย่างสุดชีวิต
เพราะการฉีดสารทึบรังสีเป็นการขย่มเนื้อไต
ให้พังอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังได้มากที่สุด
ถ้าหมอจะทำต้องหาทางหลีก
ไปทำด้วยวิธีอื่นที่ไม่มีการใช้สารทึบรังสี
1.3 อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ เพราะร่างกายขาดน้ำ
เป็นตัวเร่งการเสื่อมของไต
ถ้าขาดน้ำมากๆไตอาจจะพังไปเลยในชั่วข้ามวัน
ให้คุณดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 2 ลิตร
ตั้งน้ำไว้ทุกหนทุกแห่ง
ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องทีวี ห้องน้ำ
เลิกนิสัยดื่มน้ำจากตู้เย็น
เพราะการต้องลุกเดินไป
เอาน้ำจากตู้เย็นทำให้ไม่ได้ดื่มน้ำสักที
1.4 สืบค้นให้แน่ใจว่าไม่มีโรคไตที่แก้ไขได้
แต่คุณยังไม่รู้ จะให้ดีไปหาหมอไตอย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง
เพราะขณะนี้คุณเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว
ไม่ไปหาหมอไตแล้วคุณจะไปหาลิง (อุ๊บ ขอโทษ)
คุณจะไปหาหมอสาขาไหนละครับ
การสืบค้นที่ควรทำคืออย่างน้อยควรตรวจอุลตร้าซาวด์ไตดูว่า
มีนิ่วซึ่งอาจจะเอาออกได้ง่ายๆหรือเปล่า
ตรวจโปรตีน (microalbumin) ในปัสสาวะ
เพื่อดูว่าการทำงานของไตเสียมากหรือเปล่า
คือถ้าเสียมากก็จะมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะมาก
2.. ในประเด็นไขมันในเลือดสูง อ้วน ใกล้เป็นเบาหวาน
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกันคือความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
การจะแก้ปัญหาเหล่านี้คุณต้องวางแผน
แก้ปัญหาเป็นชุดแบบเบ็ดเสร็จ
เรียกว่าต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง
(total lifestyle modification)
อันได้แก่
2.1 คุณต้องจัดเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวันไว้ออกกำลังกาย
และฝึกตัวเองทุกวันจนสามารถออกกำลังกายได้ถึงระดับมาตรฐาน
คือออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (แอโรบิก)
ได้จนถึงระดับหนักปานกลาง คือหอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้
นานอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 วัน
ควบกับการเล่นกล้ามอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
2.2 คุณต้องปรับโภชนาการของคุณไปอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือด้านหนึ่งคุณต้องลดการบริโภคอาหาร
ให้พลังงานลงให้เหลือสัก 1 ใน 4 ของที่เคยทานก็พอ
อาหารให้พลังงานตัวเอ้สามตัวคือ
(1) น้ำตาลที่เพิ่มเข้ามาในเครื่องดื่มซอฟท์ดริ๊งค์ต่างๆ
(2) ไขมันทรานส์ หมายถึงไขมันผงที่ใช้ทำอาหารอุตสาหกรรมเช่น
ครีมเทียม เนยเทียม เค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบ ไอศกรีม เป็นต้น
(3) คาร์โบไฮเดรตที่ขัดสี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ แป้ง ขนม ต่างๆ
อีกด้านหนึ่งคุณต้องเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ให้มากๆๆ
อย่างน้อยวันหนึ่งให้ได้ 5 เสริฟวิ่ง
เรียกว่าให้ทานผักและผลไม้เป็นวัว
2.3 คุณต้องจัดดุลชีวิตคุณใหม่ หมายถึง
ดุลระหว่างงานกับชีวิต ต้องเรียนรู้วิธีจัดการความเครียด
และฝึกทำมันทุกวันจนมีทักษะ
ที่จะลดความเครียดให้ตัวเองอย่างได้ผล
2.4 คุณต้องลดน้ำหนักตัวเองลง
ถ้าสามารถลดจนดัชนีมวลกายเหลือสัก 23 ก็จะดี
นั่นคือลดน้ำหนักจาก 72 กก. เหลือ 62 กก.
แต่ถ้าไม่สามารถ ให้ลดลงจากเดิมสักสิบเปอร์เซ็นต์
คือเหลือ 65 กก. ก็ถือว่าพอรับได้
การลดน้ำหนักเป็นการยิงทีเดียวได้นกสามตัว คือ
(1) ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
(2) รักษารักษาอาการปวดเข่า และ
(3) ป้องกันโรคเก้าท์ เพราะคุณมีกรดยูริกสูงเป็นทุนอยู่แล้ว
2.5 หลังจากทำตัวดีได้ครบ 3 เดือน แล้ว
คุณต้องกลับไปหาหมออีกครั้งหนึ่งเพื่อประเมินปัจจัย
เสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือดซ้ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องไขมัน LDL
ซึ่งถ้าหากยังสูงเกิน 130 อยู่อีก
คราวนี้คุณต้องทานยาลดไขมัน
เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะไขมันในเลือดสูง
ชักนำคุณให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆถ้าประเมินแล้วพบก็แก้ไขเสียให้หมด
เช่นถ้าความดันเลือดสูงก็ต้องรีบรักษา
ถ้าสูบบุหรี่อยู่ต้องเลิก
3.. ในประเด็นที่มีเอ็นไซม์ของตับสูงผิดปกตินั้น
สิ่งที่พึงทำคือลดสิ่งที่จะเป็นพิษต่อตับออกไปก่อน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอลกอฮอล์
ยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอลนี่ก็เป็นพิษต่อตับ
แล้วเมื่อกลับไปโรงหมอในอีกสามเดือนข้างหน้า
ให้คุณตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบเอ.
และไวรัสตับอักเสบซี.ด้วย
เพราะหากยังไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบเอ.
คุณก็ควรจะฉีดวัคซีนซะ
เนื่องจากตับไม่ค่อยดีอยู่แล้ว
อะไรที่จะป้องกันตับไม่ให้เสียหายมากไปกว่านี้ได้ต้องรีบทำ
ในประเด็นการตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี.นั้น
หากพบว่าคุณเคยติดเชื้อตับอักเสบซี.
คุณต้องไปหาหมอตับ (hepatologist)
เพราะตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสซี.
อาจเป็นสาเหตุให้เอ็นไซม์สูง
ที่สำคัญคือปัจจุบันนี้
หมอตับอาจจะตัดสินใจใช้อินเตอร์เฟียรอน
รักษาไวรัสซี.ในจังหวะที่เหมาะสม
4.. ในประเด็นกรดยูริกสูงนั้น ยังไม่ใช่วาระหลักในตอนนี้
เพราะคุณยังไม่มีอาการของโรคเก้าท์
ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา สิ่งที่พึงทำคือ
4.1 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนมาก เช่น
ตับ ไต ปลาซาร์ดีน ไก่งวง ส่วนอาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง เช่น
หน่อไม้ฝรั่ง เนื้อวัว เนื้อไก่ ปู เป็ด ถั่ว
เห็น กุ้ง หมู
นั้นก็ควรทานแต่พอควร
ส่วนอาหารที่มีสารพิวรีนน้อยเช่น
ผลไม้ ธัญพืช ไข่ นม มะเขือเทศ
ผักใบเขียวนั้น
ทานได้ไม่จำกัด
4.2. ถ้าอ้วน ต้องลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย
และปรับโภชนาการ เพราะยิ่งอ้วน ยิ่งเป็นเก้าท์มากขึ้น
4.3. ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเลิก
เพราะแอลกอฮอล์ทั้งเป็นตัวให้พิวรีน
ซึ่งจะกลายเป็นกรดยูริกมากขึ้น
ทั้งทำให้ไตขับกรดยูริกทิ้งได้น้อยลง
4.4. ถ้าทานยาที่ทำให้เป็นเก้าท์ง่าย ต้องเปลี่ยน
ผมไม่ทราบว่าคุณทานยาอะไรอยู่บ้าง
ตรงนี้คุณไปดูเอาเองก็แล้วกัน
4.5 ตอนกลับไปหาหมอสามเดือนข้างหน้า
ให้ขอหมอตรวจสถานะของฮอร์โมนต่อมไทรอยด์
และพาราไทรอยด์ด้วยว่าเป็นอย่างไร
เพราะสาเหตุสองอย่างของเก้าท์คือ
โรคไฮโปไทรอยด์ และโรคไฮเปอร์พาราไทรอยด์
อย่างน้อยคุณต้องเจาะเลือดดูฮอร์โมนสองตัวนี้
ที่ผมเขียนยืดยาวเนี่ยก็เพื่อเป็นตัวอย่าง
ให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นได้ไอเดียว่า
เมื่อเราไปตรวจสุขภาพประจำปี
เราควรใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้อย่างไร
นั่นคือเราต้องสรุปให้ได้ว่าจากข้อมูลที่ได้มา
เรามีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง
แล้วก็จัดทำแผนว่าปีนี้เราจะทำอะไร
ให้สุขภาพของเราดีขึ้นบ้าง
แล้วก็
ลงมือทำ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
Fadem SZ, Rosenthal B. CKD-EPI and MDRD-GFR Calculator
using standardized serum creatinine, age, race, gender.
Accessed on October 3, 2012 at
http://nephron.org/cgi-bin/MDRD_GFR/cgi