https://www.thaimotocar.com/2024/01/15/fake-engine-oil/ลุยจับผลิตน้ำมันเครื่อง ปลอมทั้งปตท.-เชลล์ เตือน!ดูฝาซีลไม่แน่น!
#จับ #ผลิตน้ำมันเครื่องปลอม #ปตท #เชลล์ #เตือน
----
ชุดสืบสวน ปคบ. บุกทลายโกดังผลิตน้ำมันเครื่องปลอมรายใหญ่ใน จ.สระบุรี พบของกลางอื้อ ทั้งเครื่องมือการบรรจุ กระป๋องภาชนะเลียนแบบยี่ห้อดัง ทั้ง ปตท.และเชลล์ รวมปริมาณกว่า 4,600 ลิตร มูลค่านับล้าน เตรียมออกหมายเรียกเจ้าของโรงงานพร้อมผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี เตือนประชาชนต้องตรวจสอบให้ดีก่อนนำไปใช้ เพราะน้ำมันเครื่องเถื่อนไม่ปลอดภัยและอาจทำให้เครื่องยนต์รถเสียหายได้
ตำรวจบุกทลายโรงงานผลิตน้ำมันเครื่องปลอมรายนี้ เปิดเผยขึ้นที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ชั้น 12 อาคารพิทักษ์สันติ บช.ก. ..พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปคบ. และพ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ. แถลงผลการทลายโกดังลักลอบผลิตน้ำมันหล่อลื่นปลอมเครื่องหมายของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
ของกลาง..
-น้ำมันหล่อลื่นปลอมเครื่องหมาย การค้าพีทีที ลูบริแคนท์ส (PTT Lubricants) จำนวน 194 ลิตร
-น้ำมันหล่อลื่นปลอมเครื่องหมายการค้าเชลล์ เฮลิกซ์ (Shell HELIX HX7) จำนวน 24 ลิตร
-น้ำมันหล่อลื่นไม่มียี่ห้อจำนวน 23 ถัง รวมปริมาณ 4,600 ลิตร
-กระป๋องเปล่าขนาด 1 ลิตรที่ปลอมเครื่องหมายการค้าพีทีทีจำนวน 200 กระป๋อง แกลลอนเปล่าขนาดต่างๆอีก 150 แกลลอน และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต บรรจุผลิตภัณฑ์อีกหลายสิบรายการมูลค่านับล้านบาท
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ เผยว่า ตัวแทนของบริษัท ปตท.มาแจ้งความร้องทุกข์ว่า ตรวจพบผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีลักษณะแตกต่างจากของจริง ต้องสงสัยว่าจะทำปลอมขึ้น สั่งให้ พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ. และ พ.ต.ต.จำรูญ คำมา สว.กก.2 บก.ปคบ.นำกำลังออกสืบสวนหาแหล่งที่มา ก่อนเข้าตรวจค้นโกดังเลขที่ 59 หมู่ 6 ต.บ้านแก้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี พบ น.ส.ยุภาพร พิมภักตร์ อายุ 50 ปี เป็นผู้ดูแล นำตรวจค้นพบเป็นสถานที่ลักลอบผลิตน้ำมันหล่อลื่นปลอมจริง ตรวจค้นพบของกลางดังกล่าวจึงอายัดมาตรวจสอบ ก่อนเรียกตัวเจ้าของและผู้เกี่ยวข้องมาแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี..
อยากฝากเตือนภัยขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบก่อนใช้ทุกครั้ง เพราะ..
-น้ำมันหล่อลื่นแท้ต้องมีบรรจุภัณฑ์ที่ซีลแน่นหนา ไม่มีการเปิดใช้งานมาก่อน
น้ำมันเครื่องปลอมมักใช้วิธีการกรอกใหม่ หรือผสมสารอื่นเข้าไปให้เจือจางเพิ่มปริมาณ ไม่สามารถซีลฝากระป๋องใหม่ได้
-ควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่ามีสภาพดีไม่มีรอยบุบ ไม่มีคราบน้ำมันติดอยู่ตามภาชนะ
-ตัวอักษรบนฉลากคมชัด ครบถ้วน ติดแน่น และมีข้อมูลครบถ้วนชัดเจน
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องที่ทำปลอมจะส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์ และอันตรายไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภคด้วย พล.ต.ต.อนันต์กล่าว