https://www.pohchae.com/2022/10/02/sheep/รวมความรู้การเลี้ยงแกะ(ตอนที่1)
#ความรู้ #การเลี้ยงแกะ
-----------
ติดตามคลิปภาพและเนื้อหาทั้งหมดได้ที่นี่ > https://108kaset.com/2022/10/02/sheep/
การเลี้ยงแกะของเกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงเป็นรายได้เสริม ลักษณะการเลี้ยงจึงปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้หลักวิชาการ เพราะมักเข้าใจว่าแกะสามารถหากินได้เก่ง รวมทั้งต้องการลดต้นทุนการเลี้ยง อย่างไรก็ตามหากผู้เลี้ยงไม่เอาใจใส่ปรับปรุงการเลี้ยงให้ถูกต้อง ผลตอบแทนจากการเลี้ยงจะน้อยลงเป็นเงาตามตัว เช่น สุขภาพทั่วไปไม่สมบูรณ์ ให้ลูกอ่อนแอ อัตราการของลูกระยะก่อนหย่านมสูง เป็นต้น..
ดังนั้น เกษตรกรผู้สนใจและคิดจะเริ่มเลี้ยงแกะ จึงควรให้ความเข้าใจการเลี้ยงอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกำไรจากการเลี้ยงสูงที่สุด..
เป้าหมายการเลี้ยงแกะ
1.1 ข้อดีในการเลี้ยงแกะ
ให้ผลผลิตและผลตอบแทนเร็วกว่าการเลี้ยงโค
ขนาดตัวเล็ก ให้พื้นที่น้อย เลี้ยงดูง่าย
ให้ผลผลิตเนื้อ หนัง ขน
1.2 เป้าหมายในการเลี้ยงแกะ
เพื่อเพิ่มจำนวนลูกหย่านมต่อปีให้สูงขึ้น โดย..
ลดช่วงห่างการให้ลูกลง จาก 10-12 เดือน เป็น 7-8 เดือน ดูแลจัดการเรื่องการผสมพันธุ์ให้พ่อแม่พันธุ์มีความสมบูรณ์
เพิ่มจำนวนลูกต่อครอกให้สูงขึ้น คัดเลือกลูกแกะที่เกิดจากลูกแฝดมาเลี้ยง ดูแลการให้อาหารเพิเศษแก่แม่พันธุ์ 2 สัปดาห์ก่อนผสมพันธุ์
พันธุ์แกะที่กรมปศุสัตว์ส่งเสริม
1.) แกะพันธุ์คาทาดิน
กรมปศุสัตว์ได้รับการสนับสนุนพ่อพันธุ์นี้จากสถาบันวินร็อค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2532 เป็นแกะเนื้อ ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เลี้ยงปล่อยตามทุ่งหญ้าธรรมชาติได้โดยไม่ต้องเสริมอาหารข้น ผลัดขนเองเมื่ออากาศร้อน ทนพยาธิภายในมากกว่าแกะพันธุ์อื่น เนื้อแกะคุณภาพดี ไม่มีกลิ่นสาบ น้ำหนักแรกเกิด 2.5-3.1 กก. น้ำหนักหย่านม 18-20 กก. โตเต็มที่ตัวผู้หนัก 90 กก. ตัวเมีย 55-60 กก.
2.) แกะพันธุ์ซานตาอิเนส
เป็นแกะเนื้อ จากประเทศบราซิล ปี พ.ศ.2540 ขนาดใหญ่ ใบหูยาวปรก หน้าโค้งนูน มีหลายสี น้ำหนักแรกเกิด 2.5-3.5 กก. น้ำหนักหย่านม 18-20 กก. โตเต็มที่ตัวผู้หนัก 80-90 กก. ตัวเมีย 60 กก.
3.) แกะพันธุ์บาร์บาโดส แบล็คเบลลี
เป็นแกะเนื้อ มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะบาร์บาโดส แถบทะเลแคริเบียน มีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม และมีสีดำที่ใต้คาง ใต้ใบหู ขอบตา และบริเวณพื้นท้องลงมาถึงใต้ขา มีลักษณะพิเศษคือให้ลูกดก อัตราการเกิดลูกแฝดสูง 60.8% แม่แกะวัยเจริญพันธุ์หนัก 45 กก. ขนาดครอก 1.5-2.3 ตัวต่อครอก น้ำหนักแรกเกิดลูกเดี่ยว 3.0 กก. ลูกแฝด 2.8 กก. น้ำหนักหย่านมอายุ 4 เดือน ลูกเดี่ยว 1.7 กก. ลูกแฝด 13.4 กก. และน้ำหนักโตเต็มที่ เพศผู้ 68-90 กก. เพศเมีย 40-59 กก.
4) แกะเนื้อพันธุ์ดอร์เปอร์
มีลักษณะเนื้อที่มีคุณภาพสูง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ทนแล้ง มีลำตัวสีขาว หัวสีดำ ไม่มีเขา
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้นำแกะพันธุ์เซ้าท์แอฟริกันมัตตอนเมอริโน, แกะพันธุ์คอร์ริเดลและแกะพันธุ์บอนด์ ซึ่งให้ผลผลิตทั้งเนื้อและขนที่มีลักษณะดีเข้ามาเลี้ยงปรับปรุงพันธุ์แกะในประเทศ เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร..
พฤติกรรมที่แตกต่างระหว่างแกะกับแพะ
1. แกะมีนิสัยชอบเล็มหญ้าในทุ่งที่โล่งเตียน ต่างจากแพะ ซึ่งชอบปีน กินใบไม้ เปลือกไม้
2. แกะสามารถอยู่ในพื้นที่ชุ่มชื้นและร้อนได้ดีกว่าแพะ
3. แพะสามารถปีน กระโดดข้าม หรือแม้แต่การขุดดินมุดรั้วได้ ซึ่งแกะทำไม่ได้
4. แพะฉลาดกว่าแกะ หันหน้าเข้าสู้กับศัตรู ขณะที่แกะจะวิ่งหนีศัตรู ขี้ขลาด และแกะมักอยู่รวมกันเป็นฝูง
5. พ่อพันธุ์แพะจะดึงดูดความสนใจจากตัวเมีย โดยการปัสสาวะรดที่ขาหน้าท้อง อก และเครา แต่แกะจะมีกลิ่นตัวฉุนรุนแรงเพิ่มขึ้นในระยะผสมพันธุ์
นิสัยการกินอาหารของแกะ
แพะ สามารถกินหญ้าได้หลายชนิดและพุ่มไม้ต่างๆ แต่แกะมีนิสัยชอบเลือกกินหญ้า หรือพืชที่มีลำต้นสั้น ชอบกินหญ้าที่งอกขึ้นใหม่ๆ หญ้าหมักและใบพืชผัก ตลอดจนพืชหัวประเภทต่างๆ ซึ่งอาจเลี้ยงแกะในแปลงผักต่างๆ หลังการเก็บเกี่ยวได้ แต่ควรปล่อยให้ใบพืชผักเหล่านั้นแห้งน้ำก่อน เนื่องจากถ้ากินในขณะพืชผักนั้นยังสดอยู่ อาจทำให้แกะท้องอืดได้ เพราะพืชผักนั้นมีน้ำมาก และควรระวังยาฆ่าแมลงที่ใช้ในส่วนพืชผักนั้นด้วย..
แกะ เดินแทะเล็มหญ้าวนเวียนไม่ซ้ำที่กันแม้จะมีหญ้าอยู่มากก็ตามก็ยังคงเดินต่อไป ยิ่งมีหญ้ามากแกะก็จะเลือกมาก มักเลือกกินแต่หญ้าอ่อนๆ เช่นเดียวกับแพะซึ่งไม่ชอบกินหญ้าในที่เดียวกันเป็นเวลานานๆ การเลี้ยงแกะที่มีอายุมากหรือลูกแกะที่ยังเล็กควรเลี้ยงในแปลงหญ้าที่มีคุณภาพดี เพราะฟันของแกะเหล่านี้ไม่ค่อยดี ..
ในการปล่อยแกะแทะเล็ม ควรปล่อยแกะลงกินหญ้าที่มีความสูงจากพื้นดินอยู่ระหว่าง 4-8 นิ้ว ส่วนแพะชอบกินหญ้าที่มีความสูงมากกว่า 10 นิ้ว จนถึงความสูงที่สุดเท่าที่จะกินได้ ไม้พุ่มไม้หนามแพะจะชอบกินมาก รวมทั้งยอดอ่อนของต้นพืช ส่วนแกะจะเก็บกินหญ้าที่สั้นตามหลัง
การเลี้ยงแกะในสวนยาง สวนผลไม้ เช่น ส่วนมะม่วง มะขาม และขนุน เป็นต้น เพื่อช่วยกำจัดวัชพืช แกะสามารถกินผลไม้ที่ร่วงหล่นลงเป็นอาหารได้ด้วย นอกจากนี้ยังอาศัยร่มเงาของต้นไม้หลบแสงแดดร้อนได้ แต่ไม่ควรปล่อยแกะลงไปในส่วนที่ผลไม้ร่วมหล่นมากๆ ในครั้งแรก เพราะอาจจะกินมากเกินไป ทำให้ท้องอืดได้ ถ้าเลี้ยงปล่อยอยู่แล้วเป็นประจำก็จะไม่มีปัญหามากนัก
พฤติกรรมการกินเมื่อเลี้ยงปล่อยแทะเล็ม
แกะจะเดินหากินอาหารได้ไกลถึงวันละ 6-8 กม.
ปริมาณที่กินได้ 3-6% นน.ตัว (ถ้าแกะหนัก 30 กก. จะกินหญ้าสดวันละ 3กก./ตัว)
แกะเลือกกินหญ้า 70% ไม้พุ่ม 30% แพะเลือกกินไม่พุ่ม 72% หญ้า 28%
ถ้าขัง จะกินน้ำวันละ 0.68 ลิตร/ตัว ปล่อยเลี้ยง 2 ลิตร/ตัว
ใช้เวลากินอาหาร 30% เคี้ยงเอื้อง 12% เดินทางหาอาหาร 12% และพักผ่อน 46%
การตัดใบไม้ให้กิน
1. การตัดใบไม้ให้กินไม่ควรให้เกิน 1 ใน 3 ของหญ้า
2. การตัดกิ่งไม้ควรเลือกกิ่งที่มีใบมากๆ ไม่แก่เกินไป
3. ควรตัดใบพืชตระกูลถั่ว เช่น ใบกระถิน แค ทองหลางให้แม่แกะที่อุ้มท้อง หรือกำลังเลี้ยงลูก
4. ควรตัดให้เหนือจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร
5. ควรผูกกิ่งไม้กแขวนไว้เหนือพื้นเพื่อให้แกะได้เลือกกิน
6. ควรตัดใบไม้มากกว่า 2 ชนิด ให้แกะได้เลือกกิน และปลูกต้นไม้ 2-3 ชนิด ริมรั้วโรงเรือนให้กินและให้ร่มเงา
7. ควรปล่อยแกะลงแบบหมุนเวียน แปลงละ 4-5 สัปดาห์ เพื่อใช้แปลงอย่างมีประสิทธิภาพและตัดวงจรพยาธิ
8. ควรปล่อยแกะลงแปลงหญ้าช่วงสาย หลังจากหมดน้ำค้างแล้ว ถ้าตัดให้กินควรตัดตอนช่วงบ่ายและตัดเหนือพื้นดิน เพื่อป้องกันพยาธิ
การจัดการเลี้ยงดูแกะ
ช่วงวัยเจริญพันธุ์ (ระยะการเป็นสัด)
แกะเริ่มวัยเจริญพันธู์เมื่ออายุ 3-4 เดือน ตัวเมียจะเป็นสัดยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับผสมพันธุ์ได้ ควรแยกลูกตัวเมียออกไปเลี้ยงเฉพาะในคอกตัวเมีย และจะให้ผสมพันธุ์กันเมื่ออายุ 8 เดือนขึ้นไป เพื่อให้พ่อแม่มีความสมบูรณ์พันธุ์ก่อน มิฉะนั้นอาจทำให้ตัวแม่ไม่พร้อมและเลี้ยงลูก น้ำนมน้อย ลูกที่เกิดอาจตัวเล็ก แคระแกร็น และอ่อนแอตายได้
ลักษณะการเป็นสัดของแม่แกะ สังเกตดูได้จาก..
อวัยวะเพศบวมแดง ชุ่มชื้น และอุ่น
กระดิกหางบ่อยขึ้น
จะยืนเงียบเมื่อตัวผู้หรือตัวอื่นมายืนประกบติด
ไม่ค่อยอยู่สุข กระวนกระวาย และไม่อยากอาหาร
แม่แกะมีวงรอบการเป็นสัดทุก 17 วัน ส่วนต่าง 2 วัน แม่แพะมีวงรอบการเป็นสัดทุก 21 วัน ส่วนต่าง 2 วัน
ช่วงการผสมพันธุ์
เมื่อเห็นแม่แกะเป็นสัดแล้ว ระยะที่เหมาะสมให้ตัวผู้ขึ้นทับคือ 12-18 ชั่วโมง หลังจากที่เห็นอาการการเป็นสัด
อัตราส่วนผสม
พ่อหนุ่ม 1 ตัว ต่อแม่ 10-15 ตัว
พ่ออายุ 2 ปีขึ้นไป 1 ตัว ต่อแม่ 20-30 ตัว
ข้อแนะนำ
1. ไม่ควรนำพ่อผสมกับลูกตัวเมีย หรือลูกตัวผู้ผสมกับแม่ เพราะอาจทำให้ลูกที่เกิดขึ้นตัวเล็กลง ไม่สมบูรณ์ หรือลักษณะที่ไม่ดี พิการออกมา
2. ควรสับเปลี่ยนหมุนเวียนพ่อพันธุ์ตัวใหม่ทุก 12 เดือน (แลกหรือขอยืมระหว่างฟาร์ม/หมู่บ้าน)
3. ควรคัดแม่ที่ผสมไม่ติด 2 ครั้งออกไป
4. ควรแยกเลี้ยงแม่ท้องแก่ และแม่เลี้ยงลูกไว้ในคอกต่างหาก เพื่อกันอันตรายจากตัวอื่น
ช่วงการอุ้มท้อง (ระยะอุ้มท้อง 150 วัน)
สังเกตดูว่าแม่แกะอุ้มท้อง หรือ..
ไม่แสดงอาการเป็นสัดอีกหลังจากผสมพันธุ์ไปแล้ว 17-21 วัน
ท้องขยายใหญ่ขึ้นตามลำดับ
เต้านมและหัวนมขยายใหญ่ขึ้นจากเดิม
ช่วงระยะอุ้มท้องน้ำหนักแม่จะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 5 กก. ดังนั้นควรเสริมหญ้า ถั่ว หรือพืชตระกูลถั่วต่างๆ และเสริมอาหาร รำข้าว กากถั่วเหลือง หรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น แอ้ข้าวโพด และควรมีน้ำสะอาดวางให้กินเต็มที่ และคอกเลี้ยงควรแห้ง สะอาด พื้นคอกแข็งแรง ไม้พื้นคอกไม่ผุพัง เพื่อป้องกันการแท้งลูก
ช่วงการคลอดลูก
ลักษณะอาการใกล้คลอดลูกของแม่แกะ สังเกตจาก
ตะโพกเริ่มขยาย หลังแอ่นลง (เพราะท้องหนักขึ้น)
เต้านมขยายใหญ่มากขึ้นและหัวนมแต่ง
อวัยวะเพศบวมแดง และชุ่มชื้น
จะไม่นอน แต่ลุกขึ้น เอาเท้าตะกุยพื้นคอก
ความอยากอาหารลดลง
การเตรียมตัวก่อนแม่คลอดลูก
ควรหาคอกที่สะอาด และพื้นไม่ชื้นแฉะ
ควรมีฟางแห้งรองพื้นให้ความอบอุ่นลูก ช่วงกลางคืน หรือฤดูหนาว ควรมีไฟกกลูก
พื้นระแนงที่เลี้ยงลูกควรมีช่องห่างไม่เกิน 1.3 ซ.ม.
ควรมีทิงเจอร์ไอโอดีนทาแผลที่ตัดสายสะดือ
อาการใกล้คลอดลูก
ท่าคลอดปกติ ลูกจะเอาเท้าทั้ง 2 ข้างออก หรืออาจจะเอาเท้าหลังทั้ง 2 ข้าง
ท่าคลอดผิดปกติ เอาเท้าออกข้างเดียว อีกข้างพับอยู่ด้านใน อาจทำให้มีปัญหาการคลอดยาก
ปกติลูกควรจะออกจากท้องแม่ใน 5-15 นาที หรือภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากที่ถุงน้ำคล่ำแตกแล้ว และรกควรออกมาภายใน 4-12 ชั่วโมง เมื่อลูกออกมาปล่อยให้แม่เลียลูกให้ตัวแห้งหรืออาจช่วยเช็ดตัวลูก และตัดสายสะดือ ทาทิงเจอร์
สาเหตุที่ทำให้เกิดการคลอดยาก เพราะ..
ลูกคลอดท่าผิดปกติ
แม่มีกระดูกเชิงกรานแคบเกินไป
ลูกตัวใหญ่เกินไป
ลูกตายในท้องแม่
แม่ไม่สมบูรณ์ อ่อนแอ
การช่วยทำคลอด
หากลูกคลอดผิดท่า หลังจากปล่อยให้แม่คลอดลูกเองแล้ว ใน 1 ชั่วโมง ลูกยังไม่คลอดออกมา ควรให้ความช่วยเหลือ โดย..
ตัดเล็บมือให้สั้น ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่
ล้างบริเวณอวัยวะเพศ/ด้านท้ายให้สะอาดด้วยสบู่
ให้ผู้ช่วยค่อยๆ จับแม่แกะวางนอนลงทางด้านขวาตัวแม่ทับพื้น จับบริเวณคอ
ค่อยๆ ใช้มือล้วงเข้าไปในอวัยวะเพศ
สัมผัสลูก ให้รู้ตำแหน่งหัวหรือเท้า แล้วจึงดึงเท้าให้ออกมาทั้ง2 ข้าง ในท่าที่ถูกต้องช้าๆ
เมื่อลูกออกมาแล้ว เช็ดเมือกบริเวณปากจมูกเพื่อกระตุ้นให้ลูกหายใจแล้วปล่อยให้แม่เลียตัวลูก
กรณีอื่น ที่ไม่สามารถช่วยคลอดได้ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
แม่แกะจะเริ่มกลับเป็นสัดอีกครั้ง หลังจากที่คลอดลูกแล้วประมาณ 35-45 วัน ดังนั้น จึงควรระวังหากแม่ยังไม่สมบูรณ์พอ เช่น ต้องเลี้ยงลูกแฝด ควรให้ผสมใหม่เมื่อแม่หย่านมลูกแล้วและมีความพร้อมสมบูรณ์ ถ้าแม่ให้ลูกตัวเดียว สามารถผสมได้เลยเมื่อเป็นสัด..
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสุขภาพแกะ
อุณหภูมิร่างกาย 39.2 40 เซลเซียส( 102.5-104 องศาฟาเรนไฮด์)
อัตราการเต้นหัวใจ 60-80 ครั้ง/นาที
อัตราการหายใจ 15-30 ครั้ง/นาที
วัยเจริญพันธุ์ 4-12 เดือน
วงรอบการเป็นสัด 17+/-2 วัน
ระยะการเป็นสัด 12-36 ชั่วโมง
ระยะการอุ้มท้อง 150 วัน
ผู้เลี้ยงอาจพบปัญหา แกะมีสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย จึงต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแลในเรื่องสุขภาพ ดังนี้..
1. กำจัดพยาธิภายนอก ได้แก่ เห็บ เหา ไร ซึ่งทำให้สัตว์รำคาญ และขนหลุดเป็นหย่อมๆ หรือเป็นขี้เรื้อนมีผลทำให้สุขภาพไม่ดี ผลผลิตลดลง การป้องกันแก้ไขโดยอาบน้ำและฉีดพ่นลำตัวด้วยยากำจัดพยาธิภายนอก
2. กำจัดพยาธิภายใน ได้แก่ พยาธิตัวกลม ตัวตืด และพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งพยาธินี้จะทำให้ซูบผอม เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ขนและผิวหนังหยาบกร้าน ท้องเสีย ผลผลิตลด ถ้าเป็นรุนแรงทำให้โลหิตจางและตาย การป้องกันปกติถ่ายพยาธิแกะทุก 3 เดือน แต่ถ้าพบว่าบริเวณที่เลี้ยงแกะมีพยาธิชุกชุม ให้ถ่ายพยาธิทุก 1 เดือน
3. การป้องกันโรคระบาด ได้แก่ โรคปากและเท้าเปื่อย โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์กำหนด
แกะขุนลูกผสม 3 สายเลือด
แกะ จัดเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก กินหญ้าเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับวัว แต่ปริมาณในการกินอาหารน้อยกว่า ถ้านำมาเลี้ยงในเชิงพาณิชย์จะให้ผลผลิตและผลตอบแทนเร็วกว่า อีกทั้งใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ปัจจุบันสายพันธุ์แกะที่เลี้ยงในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง
มีเรื่องที่น่ายินดี ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตจังหวัดสกลนคร ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงแกะเนื้อขึ้นในเขตภาคอีสานตอนบน เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 ศึกษาวิจัยสมรรถภาพทางการผลิตของแกะ ในระบบการเลี้ยงแบบปล่อยแทะเล็มในทุ่งหญ้าเขตร้อนของ จ.สกลนคร โดยนำแกะลูกผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์ดอร์เปอร์เข้ามาเลี้ยงเพื่อศึกษาอัตราการเจริญเติบโต
ปัจจุบัน อ.วัชรวิทย์ มีหนองใหญ่ ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์แกะเพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นและง่ายต่อการจัดการ โดยใช้พ่อพันธุ์แกะซานตาอิเนส (นำเข้า จากประเทศบราซิล จัดเป็นแกะขนาดใหญ่ เพศผู้เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักถึง 80-90 กิโลกรัม เพศเมีย 60 กิโลกรัม ใช้เพื่อ ทำการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์แกะเนื้อ ให้มีการเจริญเติบโตดี) เข้ามาปรับปรุง ..
สายพันธุ์เป็นลูกผสมสามสายเลือดโดยนำ มาผสมพันธุ์กับลูกผสมพื้นเมืองกับดอร์เปอร์ ได้แกะขุนสายพันธุ์ใหม่ที่มีหลายสี ไม่มีเขา หน้าโค้งนูน ขนบริเวณซี่โครงและท้องมีลักษณะคล้ายพันธุ์ซานตาอิเนสและขนบริเวณแนวสันหลัง จะมีลักษณะหนาและเมื่อเลี้ยงจนมีอายุ ได้ 9 เดือน น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 16 กิโลกรัม ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาการเลี้ยงแกะลูกผสมสามสายเลือดเข้าสู่ระบบการเลี้ยงขุนเพื่อให้ผลตอบแทนได้เร็วขึ้น
อ.วัชรวิทย์ยังได้อธิบายวิธีการเลี้ยงแกะโดยทั่วไปจะมี 2 แบบใหญ่ ๆ คือ การเลี้ยงแบบปล่อยแทะเล็มในแปลงหญ้า และการเลี้ยงแบบขุนในคอก ซึ่งการเลี้ยง แบบปล่อยแทะเล็มในแปลงหญ้าจะมีข้อดีตรงที่ช่วยประหยัดต้นทุนในเรื่องอาหาร โดยจะมีการปล่อยเลี้ยงแกะในช่วงเวลา เช้าประมาณ 2 ชั่วโมง และช่วงบ่ายอีก ประมาณ 2 ชั่วโมง แกะเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมแทะเล็มเฉพาะยอดหญ้าไปเรื่อย ๆ ไม่อยู่กับที่ แต่ในช่วงฤดูร้อนจะต้องระวังเรื่อง ท้องอืด อีกทั้งจะต้องคอยระวังสุนัขมากัดแกะด้วย
มีข้อเสียของการเลี้ยงแบบปล่อย คือช่วงฤดูแล้งหญ้ามักจะขาดแคลนและหาได้ยาก สำหรับการเลี้ยงแบบขุนในคอก จะทำให้แกะเจริญเติบโตเร็วแต่มีต้นทุนในเรื่องอาหารสูงขึ้น ถ้าเป็นไปได้เพื่อเป็นการลดต้นทุนเรื่องอาหาร สูตรอาหารที่จะนำมาใช้เลี้ยงจะต้องหาง่ายในท้องถิ่น เช่น เปลือกและกากมันสำปะหลังที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในสูตรอาหารเพื่อลดต้นทุนการผลิตและสามารถใช้ได้ทั้งรูปของการหมัก (ฤดูฝน) และรูปแบบตากแห้ง (ฤดูแล้ง)
สำหรับช่องทางการตลาดแกะเนื้อนั้นยังมีความสดใส ตลาดใหญ่อยู่ที่ภาคใต้, ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิม.