ถามว่าเกษตรกรไทยจะปรับตัวอย่างไร เพื่อที่จะลดต้นทุนการผลิตของเราซึ่งยังสูงกว่าของเขา ผมมองว่าภาครัฐยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือด้านงานวิจัยและพัฒนา ที่จะต้องมีมากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งมีเพียงแค่การแนะนำว่าเกษตรกรควรจะปลูกปาล์มอย่างไร ใส่ปุ๋ยกันอย่างไร มันคงต้องมีตั้งแต่เรื่องว่า จะเอาผลผลิตของตัวปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร เป็นต้น ส่วนเกษตรกรเองก็ต้องมีการปรับตัวโดยการบริหารจัดการต่างๆ
และผมยังอยากให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การที่รัฐจะนำพืชผลตัวนี้และตัวอื่นๆ เข้าไปสู่การทำ FTA รัฐจะต้องคำนึงถึงเกษตรกรและผู้ผลิตในประเทศด้วยว่า
เรามีศักยภาพและความพร้อมในการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่านโยบายของรัฐหลายๆ นโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันอาศัยการสร้างกระแสโดยที่ยังไม่ได้มีการคิดอย่างถี่ถ้วนทั้งหมดอย่างกรณีกระแสของไบโอดีเซลเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมบางตัวก็กำลังมาแรง ในเมื่อรัฐจับกระแสได้ถูกว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อไร่ต่อปีสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ ในโลก แต่การที่รัฐจะแนะนำให้เอาปาล์มเข้าไปปลูกที่ภาคอีสานและภาคเหนือ มันต้องดูกันว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ในแง่ของนักเกษตรและนักปรับปรุงพันธุ์ ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ถ้ามีการปรับปรุงพันธุ์ แต่ในปัจจุบันผมยังไม่เชื่อว่ามีพันธุ์ปาล์มพันธุ์ใดที่จะไปตอบสนองได้
และผลสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นก็จะไปตกอยู่กับเกษตรกรผู้ปลูก ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เป็นสิน อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นกันแล้วคือในกรณีที่เราเอายางเข้าไปปลูกในภาคอีสาน แต่ผลผลิตต่อไร่ของเราต่ำมากผมมองว่า FTA ทำให้เกิดผลกระทบทั้ง 2 แง่ ในแง่หนึ่งจะช่วยเร่งให้เราปรับตัว เพราะอย่างไรก็ตามเราคงหนีการค้าเสรีไปไม่พ้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง ผมไม่เชื่อว่าประเทศเล็กๆ อย่างเราจะได้เปรียบประเทศใหญ่จากการทำ FTA ระหว่างกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ปาล์มน้ำมัน แต่ยังรวมไปถึงพืชและธุรกิจอื่นๆ ด้วย
และหากพูดถึงผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรีอื่นๆ ตอนนี้เราเริ่มได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีตามกรอบ WTO แล้ว เพราะว่าเราจะต้องมีการเปิดให้มีการนำเข้าปาล์มได้ แม้ว่าจะยังมีเงื่อนไขของพิกัดภาษี ซึ่งอาจจะยังไม่ถึง 0% ก็จริง