เทศกาลน้ำ : ภูมิศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมกัมพูชา
โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล
เมื่อคืนที่เป็นคืนวันลอยกระทงในประเทศไทย ที่ประเทศกัมพูชาก็มีงานเทศกาลน้ำคืนวันเพ็ญคล้ายกัน แต่งานเทศกาลน้ำที่กรุงพนมเปญปีนี้เกิดโศกนาฏกรรมผู้คนเหยียบกันตายถึง 450 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 760 คน ตามตัวเลขแถลงโดยนายไพ สีพัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชา หลังเกิดเหตุคืนวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2553
มีเรื่องเชิงภูมิศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมที่เป็นข้อมูลความรู้ 2 เรื่อง ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ คือ
งานเทศกาลน้ำคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ของชาวกัมพูชา
เหตุเกิดบนสะพานข้ามแม่น้ำบาสัก (Bassac River) ที่เชื่อมฝั่งกรุงพนมเปญ กับ เกาะเพชร (Koh Pich / Diamond Island)
เทศกาลน้ำคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง : บอน ออม ตุก (Bon Om Touk / Bon Om Thook / Bonn Om Teuk / Bon Om Tuk) หรือ เทศกาลน้ำ (Water Festival) ของชาวกัมพูชา เป็นงานประเพณีที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีของชาวกัมพูชา ยิ่งใหญ่กว่างานวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่มากมายนัก
บอน ออม ตุก เทศกาลแสดงสำนึกในพระคุณของนำ้ ย้อนอดีตไปถึงยุคแรกเริ่มใน สมัยพระนคร (Angkor) ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 เป็นการบูชา เทพยดาแห่งแม่น้ำ เพื่อมิให้เหล่าเทพยดาทรงพิโรธโกรธมวลมนุษย์ เพื่อความความอุดม สมบูรณ์ของชีวิตชาวขอมโบราณที่อาศัยพึ่งพาน้ำจากทะเลสาปและแม่น้ำสายต่างๆเป็นหลัก และนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มก็เชื่ออีกด้วยว่าประเพณีฉลองเทศกาลน้ำในสมัยโบราณเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมและแสดงพลังของกองทัพเรือในการออกศึกสงครามด้วย
เทศกาลน้ำ บอน ออม ตุก มีกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม :
ลอยประทีป (Loy Pratip) หลังจากประเพณีแข่งเรือยาวในตอนกลางวัน ตกกลางคืนก็มีการแสดงขบวนเรือประดับไฟแสงสีสวยงามในลำน้ำ โดยรัฐบาล ส่วนราชการ และกลุ่มองค์กรต่างๆจะแข่งขันกันส่งเรือเข้าร่วมขบวน
สัมเพียส พระเค (Sampeas Preah Khe) ไหว้พระจันทร์ ในวาระที่ดวงจันทร์วันเพ็ญส่งสัญลักษณ์ว่าถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวและพืชผลการเกษตรแล้ว แสดงความขอบคุณและอธิษฐานให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ต่อไปด้วย
อุก อัมบก (Auk Ambok) เป็นพิธีการเวลาเที่ยงคืนชาวบ้านชาวเมืองจะรวมตัวกัน
เทศกาลน้ำ บอน ออม ตุก มีกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม :
ลอยประทีป (Loy Pratip) หลังจากประเพณีแข่งเรือยาวในตอนกลางวัน ตกกลางคืนก็มีการแสดงขบวนเรือประดับไฟแสงสีสวยงามในลำน้ำ โดยรัฐบาล ส่วนราชการ และกลุ่มองค์กรต่างๆจะแข่งขันกันส่งเรือเข้าร่วมขบวน
สัมเพียส พระเค (Sampeas Preah Khe) ไหว้พระจันทร์ ในวาระที่ดวงจันทร์วันเพ็ญส่งสัญลักษณ์ว่าถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวและพืชผลการเกษตรแล้ว แสดงความขอบคุณและอธิษฐานให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ต่อไปด้วย
อุก อัมบก (Auk Ambok) เป็นพิธีการเวลาเที่ยงคืนชาวบ้านชาวเมืองจะรวมตัวกันที่วัดเพื่อร่วมกิน อัมบก มีลักษณะคล้ายข้าวตอกหรือข้าวเม่าผสมกล้วยและมะพร้าวขูด
เทศกาลนำ้ บอน ออม ตุก ฉลองกันตามลำน้ำทั่วประเทศกัมพูชา แต่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็ที่นครหลวงพนมเปญ ในช่วงเทศกาลที่ฉลองกันสามวันสามคืนที่พนมเปญจะมีผู้คนมาเที่ยวงานกันจากทุกสารทิศโดยประมาณถึงล้านคน มีการแข่งเรือยาวประเพณีกันยิ่งใหญ่บนแม่น้ำโตนเลสาป (แม่น้ำทะเลสาบ / Tonle Sap River) และแม่น้ำโขง (Mekong River) สำหรับปี 2553 นี้ข่าวรายงานว่ามีเรือ 400 ลำ กับ 2,500 ฝีพาย มาร่วมแข่งขันกันชิงรางวัลที่เป็นเกียรติสูงสุดของประเพณีแข่งเรือในกัมพูชา เมือถึงเวลาค่ำจะมีเรือตกแต่งประดับประดาสีแสงสวยงามมากมายล่องลำน้ำโชว์ความสวยงามตระการตา นอกจากนั้นแล้วทั่วบริเวณสองฝั่งแม่น้ำก็จะมีงานสนุกสานรื่นเริงมากมายต้อนรับผู้ที่มาเที่ยวกันทุกรูปแบบ เทศกาลน้ำของชาวกัมพูชานี้ จะให้เป็นที่สุดแห่งเทศกาลก็ต้องมาฉลองกันที่พนมเปญ และ ณ บริเวณริมแม่น้ำสามสายรอบๆพนมเปญเท่านั้น เพราะเป็นงานประเพณีฉลองการเปลี่ยนทิศทางของสายน้ำ และเป็นการแสดงความขอบคุณต่อคุณค่าของแม่น้ำด้วย และพนมเปญเป็นที่พบกันของแม่น้ำสามสาย และเป็นจุดที่น้ำในแม่น้ำเปลี่ยนทิศทางไหลในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองนี้
คืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง เป็นคืนที่หน้าฝนยุติลง เปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่หน้าแล้ง สายน้ำที่เคยไหลย้อนขึ้นเหนือเข้าสู่ทะเลสาปเขมร (โตนเลสาป/Tonle Sap) จะไหลกลับลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ สภาพภูมิศาสตร์จึงส่งผลต่อวัฒนธรรมโดยตรงตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
แม่น้ำโตนเลสาป พบ แม่น้ำโขง ที่พนมเปญ เกิดเป็นแม่น้ำบาสัก ส่วนแม่น้ำโขงไหลต่อเข้าเวียดนาม ออกสู่ทะเล
หากดูแผนที่กัมพูชา จะเห็นทะเลสาบเขมรอยู่ตรงกลางประเทศ ตรงปลายล่างทางใต้ของทะเลสาบจะมีแม่น้ำเรียกชื่อว่า แม่น้ำทะเลสาบ หรือ แม่น้ำโตนเลสาป (Tonle Sap River) ไหลลงมาเชื่อมกับแม่น้ำโขงที่ไหลลงมาจากลาว เข้ากัมพูชาทางตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสายน้ำยาว 500 กิโลเมตร แม่น้ำโตนเลสาปมาเชื่อมกับแม่น้ำโขง ตรงกรุงพนมเปญพอดี จากนั้นแม่น้ำโขงก็จะไหลต่อออกชายแดน เข้าเวียดนามและออกสู่ทะเลในที่สุด แต่ว่าแม่น้ำโตนเลสาปยังมีส่วนที่ไม่ยอมเชื่อมกับแม่น้ำโขงทั้งหมด โดยกลับแยกตัวออกมาเป็นแม่น้ำสายใหม่ ไหลขนานกันทางตะวันตก หรือทางซ้ายมือบนแผนที่ แม่น้ำที่แยกออกมาอีกสายหนึ่งนี้ เรียกชื่อว่า แม่น้ำบาสัก (Bassac River ออกเสียงตามสะดวกแบบไทยอาจเรียกว่า แม่น้ำป่าสัก ก็ได้) แม่น้ำบาสัก แม่น้ำโตนเลสาป และ แม่น้ำโขง จึงมาพบบรรจบกันที่พนมเปญ
ในฤดูฝน หรือหน้าน้ำ ปริมาณน้ำมากมายมหาศาลจะท่วมท้นล้นแม่น้ำโขง จนดันน้ำเข้าแม่น้ำโตนเลสาบ ไหลเข้าสู่ตัวโตนเลสาป หรือ ทะเลสาบเขมรอันยิ่งใหญ่ ให้ยิ่งใหญ่สมชื่อเสียงจริงๆ เพราะน้ำในโตนเลสาปนี้จะเพิ่มปริมาณจากหน้าแล้งขึ้นมาเป็นกว่า 3 เท่า ในหน้าฝน ผิวน้ำโตนเลสาปกว้าง 3,000 ตารางกิโลเมตร เพิ่มเป็น 10,000 ตารางกิโลเมตร สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับโตนเลสาปและชีวิตเศรษฐกิจของผู้คนรอบๆพื้นที่ ปลากว่า 300 ชนิดพันธุ์ในโตนเลสาปเลี้ยงชาวกัมพูชาได้กว่าครึ่งประเทศ นกน้ำอีกกว่า 100 ชนิดกับสัตว์น้ำอื่นในโตนเลสาปเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่ชาวกัมพูชาภาคภูมิใจ
คืนวันเพ็ญเดือนสิบสองเป็นคืนที่สายน้ำเปลี่ยนทาง จากที่เคยไหลย้อนขึ้นเหนือเข้าโตนเลสาป น้ำลดลงแล้วจึงจะไหลกลับลงใต้ออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ จากนี้ไปไม่นาน น้ำในโตนเลสาปจะค่อยๆแห้งลง และลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ในที่สุด ความอุดมสมบูรณ์ในโตนเลสาปจะลดลง ชีวิตชาวกัมพูชาจะลำบากมากขึ้น ดังนั้นเทศกาลงานประเพณีน้ำคืนเพ็ญเดือนสิบสองจึงเป็นประเพณีขอบคุณแม่น้ำโขง แม่น้ำโตนเลสาป แม่น้ำบาสัก และ โตนเลสาป โดยเฉพาะ และเป็นการขอบคุณแม่น้ำ โดยภาพรวม แบบที่ชาวไทยลอยกระทงขอบคุณพระแม่คงคา (โดยใช้คำว่า คงคา แทนแม่น้ำทั้งหมดโดยภาพรวมเช่นกัน)
เกาะเพชร กลางแม่น้ำบาสัก ที่ไหลผ่านพนมเปญ
เกาะเพชร - เหตุเกิดบนสะพานข้ามแม่น้ำบาสัก (Bassac River) ที่เชื่อมฝั่งกรุงพนมเปญ กับ เกาะเพชร (Koh Pich / Diamond Island) : โดยปรกติงานเทศกาลน้ำนี้ก็มีผู้คนมากมายนับล้านคนเช่นนี้ทุกปี ไม่เคยมีเหตุภัยรุนแรงจนเบียดเสียดและเหยียบกันจนตายดังปีนี้ ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุเพราะผู้คนบนสะพานข้ามแม่น้ำบาสักตะโกนว่าถูกไฟช๊อต จากนั้นก็เกิดความโกลาหล วิ่งหนี เบียดเสียด เหยียบย่ำกัน จนเกิดโศกนาฏกรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นฉวยโอกาสกล่าวเชิงเสียดสีอย่างผิดที่ผิดทางว่า เป็นการเสียชีวิตหมู่มากมายที่สุดนับจากครั้งที่พวกเขมรแดงฆ่าหมู่ชาวกัมพูชาในทศวรรษที่ 1970
อันที่จริง หากไม่มีสะพาน ไม่มีเกาะเพชร ก็อาจไม่เกิดความสูญเสียเช่นนี้ก็เป็นได้
เกาะเพชร (Koh Pich / Diamond Island) เป็นเกาะเล็กๆ ขนาดพื้นที่ประมาณ 618 ไร่ ติดพนมเปญทางทิศตะวันออก กลางแม่น้ำบาสัก ตรงบริเวณที่แยกออกมาจากแม่น้ำโตนเลสาปและแม่น้ำโขงพอดี คนจากฝั่งพนมเปญ ต้องเดินข้ามสะพาน หากจะไปเที่ยวงานบนเกาะเพชร
เกาะเพชรนี่เองคือชีวิตใหม่ของชาวพนมเปญ เพราะเป็นพื้นที่ที่ถูกเช่า 99 ปี พัฒนาเป็นเขตเมืองใหม่ มีธุรกิจสมัยใหม่ครบวงจร บริษัท Khmer-Canadian Oversea Cambodia Investment Company ได้ลงนามในสัญญาที่ต้องจ่ายรัฐบาลกัมพูชา $50 ล้าน ในข่วงเวลาเช่า 99 ปี กำลังสร้างเป็นศูนย์แสดงสินค้า สวนสนุก แหล่งพักผ่อน จัดงานดนตรี และสารพัดกิจกรรมทางธุรกิจและความบันเทิงนานาชนิด ตลอดจนสร้างหมู่บ้านที่อยู่อาศัย อาคารชุด ตลาด ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ การสร้างเกาะเพชรให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ใหม่ต้องถมที่เกาะให้สูงกว่าฝั่งพนมเปญถึง 11.75 เมตร แม้ทุกวันนี้งานก่อสร้าง และการขายอาคารสถานที่ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แต่เกาะเพชรก็มีชีวิตชีวาแล้ว ผู้คนนิยมข้ามฝั่งมาเที่ยว มาจัดงาน จัดเลี้ยง งานแต่งงาน จัดนิทรรศการ แสดงสินค้า พาลูกหลานมาเที่ยวสวนสนุก ฯลฯ กันมากมายทุกวัน ทุกคืน แม้ปีนี้จะโชคร้ายเกิดโศกนาฎกรรมรุนแรง ชีวิตใหม่บนเกาะเพชรจะดำเนินต่อไปเป็นโฉมใหม่ของพนมเปญ และปีหน้า ชาวกัมพูชานับล้านคน ก็จะมาฉลองเทศกาลน้ำที่เกาะเพชรอีก
ทั้งหมดนี้คือภูมิศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม อันเนื่องมาจากแม่น้ำไหลเปลี่ยนทิศทางประจำปี ในราชอาณาจักรกัมพูชา
ขอบคุณข้อมูลจากอาจารย์
สมเกียรติ อ่อนวิมล
25 พฤศจิกายน 2553