เพื่อชีวิตที่มีค่า...ควรปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างไร? (ตอน ๕)
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เพื่อชีวิตที่มีค่า...ควรปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างไร? (ตอน ๕)  (อ่าน 2126 ครั้ง)
kittanan_2589
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน630
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2363


NightBaron


เว็บไซต์
« เมื่อ: ตุลาคม 25, 2010, 08:43:21 pm »




ปุจฉา : ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ...จะได้มั่นคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เพื่อความสงบสุขของชีวิต..

โดย....พระอาจารย์อารยะวังโส

พระสีวลีเถระ/มหาโพธิสมาคม
พุทธคยา อินเดีย

วิสัชนา : ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการศึกษาเพื่อ “การรู้จักคิดพินิจโดยแยบคาย” ตามที่กล่าวมานั้น ว่าจะ ทำอย่างไร? เพื่อการรู้ให้ทันโลก ก้าวให้ทันธรรม เพื่อการหยุดจิตไว้ที่ธรรม จนนำไปสู่กระบวนการคิดพิจารณาที่มีความรู้เท่ารู้ทัน (ปัญญานุสติ) ต่อการดำเนินชีวิต เพื่อสามารถใช้ยับยั้งจิต เพื่อให้รู้จักนึกคิดพินิจธรรมอย่างเร้ากุศล มีเหตุผล โดยมีสติตามรู้ทันในสภาวธรรมที่ปรากฏยู่เบื้องหน้า และสามารถทำให้จิตหยุดซัดส่ายฟุ้งซ่านไปในเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าในอดีตที่ผ่านไป หรือในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง โดยการคำนึงอยู่ที่ปัจจุบัน เพื่อความรู้เท่าทันโลกขันธ์ที่ปรากฏจนเห็นโทษเห็นภัย หรือรู้คุณประโยชน์ในสภาวธรรมนั้นๆ อันจะนำไปสู่การจัดสัมพันธภาพต่อการวางตัวอยู่ร่วมกับโลกได้โดยไม่สูญเสียคุณความดี และขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มพูนคุณธรรมได้อีกด้วย
เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยิ่งขึ้นในการสร้างพื้นฐานวุฒิธรรม ซึ่งจะเกิดมีได้โดยจะต้องรู้จักคิดพิจารณาโดยแยบคาย ตามหลักโยนิโสมนสิการในพระพุทธศาสนา ที่เป็นกระบวนการศึกษาอันจะนำไปสู่แสงสว่างแห่งชีวิต มีการรู้จักคิดอย่างมีสติปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติตนให้ถูกต้อง มีประโยชน์ และสมประสงค์โดยธรรม สามารถโน้มนำชีวิตไปสู่ความสุขสงบ ให้กับผู้ประพฤติที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีแบบแผนตามวิถีพุทธ ดุจดังผู้มีแสงเทียนนำทาง มีแสงธรรมนำจิต การดำเนินชีวิตก็จะไม่อับเฉา จะไม่มัวเมาจนมืดมิด เพราะรู้จักคิด รู้จักนึกตรึกตรอง อย่างผู้มีการศึกษา สมดังคำกล่าวที่ว่า “การศึกษาของชีวิต เริ่มต้น เมื่อคนรู้จักคิดพิจารณา” ซึ่งควรนำมาพินิจว่า จะคิดอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ตามแนวการศึกษาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติชอบในพระพุทธศาสนา เพื่อแสงสว่างแห่งชีวิต ดังลิขิตธรรมที่ว่า

แสงเทียน แสงธรรม นำชีวิต
แสงธรรม นำสู่จิต ลิขิตหมาย
แสงเทียน นำส่องทาง สว่างกาย
แสงธรรมหมาย นำดวงจิต สว่างธรรม!!

หากนำบทลิขิตธรรมดังกล่าวมาพิจารณาก็จะพบความจริงว่า “ความสว่าง ย่อมให้คุณเสมอ” ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างทางโลก ดังแสงเทียนที่นำทาง เพื่อการดำเนินไปของชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งคงหมายถึง การศึกษาหาความรู้วิทยาการทางโลก การศึกษาเพื่ออาชีวะแห่งตน เพื่อประโยชน์แห่งการดำรงชีวิตในการดำเนินอยู่ในฐานะสัตว์สังคม ที่จะต้องถึงพร้อมด้วยปัจจัย ๔ จึงจะได้ชื่อว่า “มีความสุข” ตามแนวอามิสสุข ซึ่งจะได้มาด้วยการประกอบสัมมาอาชีพที่เกิดจากความรู้ความสามารถแห่งตน ที่จะนำไปแลกเปลี่ยนให้ได้มาในปัจจัยต่างๆ ตามที่ประสงค์นั้นๆ ...โดยมุ่งหวังเพื่อการบรรเทาทุกข์ ลดความบีบเค้น บีบคั้น ที่เกิดผลต่อรูปนาม (ขันธ์ ๕) นี้ชั่วขณะ เพื่อความสมประสงค์ตามความคิด และเมื่อต้องการใหม่ ก็ต้องขวนขวายเสาะหาแสวงหาเพิ่มเติม หรือให้ได้มาเพื่อทดแทน ชดเชย สิ่งที่หมดไป จึงไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นกับความขวนขวายดิ้นรนด้วยอำนาจแห่งความทะยานอยาก (ตัณหา) ซึ่งไม่ว่าจะเหนื่อยหนักอย่างไร ก็ต้องทำ จะนำไปสู่การมุ่งแสวงหา (ปริเยสนา) อย่างไม่รู้จบ!! ดังปรากฏให้เห็นจริงตามหลักปัจจยาการที่ว่า....

ด้วยความทะยานอยาก (ตัณหา) เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง คือ การนำไปสู่การได้มา (ลาภะ)
อาศัยการได้มา (ลาภะ) จึงนำไปสู่การกะกำหนด (วินิจฉัย)
อาศัยการกะกำหนด (วินิจฉัย) จึงนำไปสู่ความชอบชิดติดพัน (ฉันทราคะ)
อาศัยความชอบชิดติดพัน (ฉันทราคะ) จึงนำไปสู่ความหมกมุ่นฝังใจ (อัชโฌสาน)
อาศัยความหมกมุ่นฝังใจ (อัชโฌสาน) จึงมีการยึดถือครอบครอง (ปริคคหะ)
อาศัยการยึดถือครอบครอง (ปริคคหะ) จึงมีความตระหนี่ (มัจฉริยะ)
และอาศัยความตระหนี่ (มัจฉริยะ) จึงนำไปสู่ความหวงแหน (อารักขะ)
และด้วยอาศัยการอารักขะ สืบเนื่องการอารักขะ จึงนำไปสู่การทะเลาะวิวาท แก่งแย่ง รบราฆ่าฟัน หรือเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่จบไม่สิ้น หรือประกอบบาปอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างไม่เกรงกลัวผลกรรม ความชั่วที่จะตอบสนองคืนกลับ ทั้งนี้ด้วย ไฟโลภะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ที่ก่ออยู่ในดวงจิตของสัตว์เหล่านั้น “จึงไม่สามารถลดละดับได้เลย ด้วยความรู้วิทยาการทางโลก” เพราะมิได้มีจุดมุ่งหมายของการศึกษา อันเป็นไปเพื่อดับทุกข์ให้สิ้น ซึ่งแตกต่างจากความรู้ทางธรรมในวิถีพุทธ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันมีจุดมุ่งหมายชี้ตรงไปที่ธงความดับทุกข์ หรือพระนิพพาน ดังเช่นพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ศึกษาปฏิบัติจนพบแสงสว่างแห่งธรรม และเข้าถึงความดับทุกข์ด้วยพุทธศาสน์ มุ่งนำผู้ศึกษาไปสู่ความรู้แจ้งในหลักอริยสัจธรรม

ดังนั้น จึงต้องขวนขวาย เพียรหา แสงแห่งธรรม เพื่อนำจิตไปสู่ความสว่างธรรม อันหมายถึง การรู้จริง รู้แจ้ง และรู้จบ ในเรื่องโลก จึงสามารถอยู่อย่างเหนือโลกได้ด้วยความรู้ในโลกุตตรธรรม ที่ปรากฏมีอยู่เฉพาะในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้จะต้องรู้จักคิดพิจารณาโดยแยบคายในบทธรรมคำสั่งสอนนั้นๆ จึงจะเกิดปัญญาที่จะนำไปสู่การรู้ในประโยชน์แห่งธรรม เพื่อการใช้หลักธรรมดำเนินชีวิตไปหาประโยชน์ อันสามารถนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง ซึ่งได้แก่ ความสิ้นทุกข์ หรือ พระนิพพาน



บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: