แผนที่ของหอสังเกตุการณ์ฮ่องกง (Hong Kong Observatory)
จำลองขึ้นจากภาพถ่ายดาวเทียม MTSAT-2 เวลาประมาณ 16 น.
วันอาทิตย์ (17 ต.ค.) ในฮ่องกง หรือ 18 น. ในกรุงเทพฯ
แสดงให้เห็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกี (Megi) ทวีความเร็วเต็มเหยียดจนปรากฎให้เห็น
"นัยน์ตาแห่งพายุ" เบื้องล่างลงไป "รูเข็ม" ที่มองเห็นในแผนที่นี้
คือศูนย์กลางของซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่มีความกว้างหลายสิบกิโลเมตร
บางคนเรียกมันว่า "นัยน์ตาที่น่าชิงชัง"
เนื่องจากมันเป็นตัวแทนของความหายนะ
ASTVผู้จัดการออนไลน์-- ภาพจากดาวเทียมที่หอสังเกตการณ์ฮ่องกง (Hong Kong Observatory)
กับ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency)
เผยแพร่ในตอนค่ำวันอาทิตย์ (17 ต.ค.) นี้ ได้เผยให้เห็น
"นัยน์ตาแห่งพายุ" เป็นครั้งแรก ในขณะที่ซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกี (Megi)
เคลื่อนเข้าไกล้เกาะฟิลิปปินส์ทุกขณะ
ภาพแผนที่ซึ่งจำลองจากภาพถ่ายของดาวเทียม MTSAT2 ได้ฉายให้เห็นรูเล็กๆ ตรงจุดศูนย์กลาง
ขณะที่ซูเปอร์ไต้ฝุ่นกำลังหมุนคว้างปั่นความเร็วไม่หยุด “รูเข็ม” หรือ "นัยน์ตา" นี้
จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและค่อยๆ หายไปเมื่อไต้ฝุ่นลดระดับความเร็วลง
"นัยน์ตาแห่งพายุ" หรือ Eye of the Storm จึงเป็นเครื่องบ่งชี้อำนาจการทำลายได้เป็นอย่างดี
สิ่งนี้สามารถมองเห็นได้ทั้งจากดาวเทียมและจากพื้นดิน
แต่เป็นที่น่าเสียดาย ผู้ที่มีโอกาสได้เห็นนัยน์ตาแห่งพายุจากเบื้องล่าง
จากจุดที่เป็นใจกลางของมันจะไม่มีโอกาสรอดชีวิต
ไปบอกเล่าเกี่ยวกับความน่าสะพรึงกลัวให้ผู้อื่นฟัง
สิ่งที่มองเห็นเป็น “รูเข็ม” จากห้วงอวกาศนี้ อาจจะมีความกว้างเป็นกิโลเมตร
และ สูงหลายกิโลเมตรจากพื้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพายุ และ รูปแบบการหมุน
ภายในนั้นมีสภาพราวกับสุญญากาศ แต่จะไม่มีอะไรลอยอยู่ข้างในได้
ในขณะที่สรรพสิ่งที่อยู่รายรอบจะถูกดูดขึ้นไปหรือถูกฉีกเป็นชิ้นๆ
ตามแรงกดกับแรงกระแทก
ความเสียหายยังขึ้นอยู่กับความเร็วในการเคลื่อนตัวของพายุที่กำลังหมุนด้วยความเร็วสูงอีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์ในเวียดนามอธิบายเมื่อปีที่แล้วว่า พายุเกดสะหนา (Ketsana)
ที่พัดเข้าฝั่งในวันที่ 29 ก.ย.2553 เป็นเพียงไต้ฝุ่นระดับ 2 เทียบไม่ได้กับเมกิ
และ ยังอ่อนตัวลงเป็นระดับ 1 (C1) ขณะพัดผ่านจังหวัดในเขตที่ราบสูงภาคกลาง
แต่เกดสะหนาสร้างความเสียหายรุนแรงเนื่องจากเคลื่อนที่ช้าเพียง 15 กม./ชม.
นั่นก็คือ ยิ่งเคลื่อนที่ช้า เวลาในการทำลายล้างสรรพสิ่งที่อยู่เบื้องล่างก็ยาวนานยิ่งขึ้น
สร้างความเสียหายได้มากขึ้น
ตามรายงานของสำนักพยากรณ์อากาศแห่งฟิลิปปินส์บ่ายวันอาทิตย์นี้
ซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมกี ยังคงอยู่ห่างจากเกาะลูซอนไปทางตะวันออกราว 450 กม.
ความเร็วลม 230 กม./ชม. กับความเร็วใกล้สูญกลาง 195 กม./ชม.
และ กำลังปั่นความเร็วขึ้นเรื่อยๆ ขณะเคลื่อนเข้าฝั่ง 24 กม./ชม.
ช่วงสุดสัปดาห์นี้ทางการฟิลิปปินส์อพยพราษฎรออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยแล้วหลายพันคน
และ อาจจะต้องบังคับให้ราษฎรอีกจำนวนหนึ่งอพยพหากยังไม่สมัครใจ
ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย แผนที่เผยแพร่โดยสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นหรือ JMA
ซึ่งทำจำลองขึ้นจากภาพอินฟราเรดดาวเทียม MTSAT
ถ่ายเมื่อเวลา 13.30 น.วันอาทิตย์ หรือ 16.30 น.ในกรุงเทพฯ
แสดงให้เห็น "นัยน์ตาแห่งพายุ" อย่างชัดเจน
ขณะที่ซูเปอร์ไต้ฝุ่นเร่งสปีดตัวเองขึ้นเรื่อยๆ
เกาะลูซอนของฟิลิปปินส์เป้าหมายแรก คงจะห่างออกไปไม่เท่าไร
ที่จะเคลื่อนย้ายจากพื้นที่อันตรายต่างๆ ทางตอนเหนือของประเทศ
ซึ่งซูเปอร์ไต้ฝุ่นกำลังจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินเลื่อน ดินถล่ม
แต่ละปีฟิลิปปินส์เผชิญกับไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนกว่า 20 ลูก บางลูกเป็นความหายนะ
ในช่วงปลายเดือน ก.ย.-ต้น ต.ค.ปีที่แล้ว ไต้ฝุ่นเกดสะหนา
กับไต้ฝุ่นป้าหม่า (Parma) ที่พัดเข้ากรุงมะนิลาติดๆ กัน
ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในยุคใหม่ และ ยังทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของจีนในกรุงปักกิ่งออกเตือนในวันอาทิตย์
ระบุว่าเมกีกำลังจะเป็นพายุรุนแรงที่สุดที่พัดเข้าจีนในปีนี้
ทางการได้สั่งให้เรือหาปลาเข้าฝั่งทั้งหมด โดยคาดว่าเมกีซึ่งจะอ่อนกำลังลงเป็นไต้ฝุ่นระดับ 3
เมื่อเข้าถึงย่านกลางทะเลจีนใต้ในวันพุธ (20 ต.ค.)
กำลังจะทำให้เกิดคลื่นสูงถึง 6 เมตร และฝนตกหนัก
สำหรับศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย
ยังไม่ปักใจเชื่อว่า เมกีจะเบนหัวขึ้นฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
แต่ยังคงพุ่งตรงเข้าสู่ภาคกลางเวียดนาม
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่หน่วยงานของเวียดนาม
เชื่อเช่นเดียวกับสำนักพยากรณ์อื่นๆ ทั่วโลกก็คือ
เมกีมีโอกาสจะทวีความแรงขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 4 อีกครั้งกลางสัปดาห์นี้
พร้อมกับแสดงอำนาจการทำลายล้าง
ผ่านนัยน์ตาหรี่เล็กอันน่าชิงชังของมัน ที่มองเห็นจากห้วงหาว.
จีนประกาศรับมือไต้ฝุ่นลูกที่รุนแรงที่สุดในปีนี้สำหรับจีน
แต่เวียดนามยังไม่เชื่อเช่นนั้น
แผนที่พยากรณ์อากาศของศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางกรุงฮานอย
ยังไม่เปลี่ยน ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยังคงมุ่งหน้าเข้าถล่มจังหวัดภาคกลาง
สัปดาห์นี้จะได้เห็นกันว่า เมกีจะเลือกเดินไปทางใด