ผู้ประพฤติตามอำนาจจิตย่อมลำบาก ฟังศาสนสุภาษิตบทนี้แล้ว แม้เข้าใจ และปฏิบัติให้ถูก
ไม่ทำตามใจตนเป็นสำคัญ ย่อมไม่ลำบาก
คือต้องสนใจดูใจตนเองให้รู้ให้เห็นอำนาจภายนอกที่เข้าไปครองใจอยู่
ใจจะต้องไม่ยอมพ่ายแพ้แก่อำนาจไม่ดีงามที่เข้าไปครองใจต้องมีสติรู้ให้ได้ว่า
อำนาจดีหรืออำนาจไม่ดีกำลังเข้าไปครองใจ
เพราะใจของเราทั้งหลายไม่พ้นจากอำนาจภายนอกได้เลย
อำนาจภายนอกจะเข้าไปทำอำนาจในใจเราทุกคนอยู่เสมอ
เป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาที่จะคิดพูดทำไปตามอำนาจนั้น
ท่านว่าท่านผู้หมดกิเลสแล้วเท่านั้นที่ไม่มีความปรารถนาใดๆ
อำนาจเลวร้ายใดใดไม่มีที่ที่จะเข้าบัญชาใจท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว
ให้คิดให้พูดให้ทำความไม่ถูกต้องไม่ดีงามทั้งหลายได้
แต่จะทำอาจหนักหนาอยู่เหนือผู้มีกิเลส
โดยเฉพาะผู้ที่กิเลสท่วมท้นจนขับไล่สติให้พ้นไปอย่างไม่หลงเหลือ
จะยอมตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสที่ครองใจอยู่
และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องเป็นไปตามพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกมาแล้ว
คือ ผู้ประพฤติตามอำนาจจิตย่อมลำบาก
พระพุทธศาสนสุภาษิต ผู้ประพฤติตามอำนาจจิตย่อมลำบาก มีผลจริง
คือเป็นจริงเสมอไป ไม่มียกเว้นที่การประพฤติตามอำนาจจิตจะไม่ลำบาก
อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจพระพุทธศาสนสุภาษิตนี้ให้ดีว่า
หมายถึง อำนาจจิตที่เข้าบัญชาใจนั้นเป็นอำนาจที่เกิดจากความไม่ดีงามทั้งหลาย
คือเกิดจากกิเลส ความโลภความโกรธความหลง ที่เป็นไปในทางไม่ดี
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะมีความจริงที่ทางพระพุทธศาสนายอมรับ
เป็นความประณีตลึกล้ำของพระพุทธศาสนา
คือกิเลสบางตัวคือความโลภ
มีทั้งโลภในทางเลวร้าย และทั้งโลภในทางไม่เลวร้าย
แต่สำหรับความหมายสูงสุดแล้ว
ความโลภที่ไม่เป็นความเลวร้ายที่ถนัดชัดแจ้ง
เป็นความโลภที่ไม่ทำร้ายผู้ใดอื่น
นอกจากสามารถจะขวางกั้นผู้มีความโลภนั้น
มิให้เข้าถึงความไม่กลับเกิดอีกต่อไปได้
: แสงส่องใจ วันอาสาฬหบูชา ๒๕๕๐
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก