คมชัดลึก : การศึกษาเรื่องราวของพระเครื่อง ประเภทเหรียญพระพุทธ และเหรียญพระคณาจารย์รุ่นเก่าๆ นั้น มีค่านิยมสูงมาก การทำปลอม จึงพัฒนาวิธีการทำให้ใกล้เคียงกับของแท้ยิ่งขึ้น โดยวิธีการที่ง่าย และเป็นที่นิยมที่สุด คือ การนำเหรียญแท้ไปถอดพิมพ์ ซึ่งจะทำให้ได้เหรียญปลอมที่มีจุดตำหนิทั้งด้านหน้าและด้านหลังใกล้เคียงกับของจริงมาก
อย่างไรก็ตาม ความคมชัดของตัวหนังสือ เส้นแตก รูเจาะหูเหรียญ ตลอดจนด้านข้างของเหรียญ ก็ยังเป็นจุดสำคัญ ที่สามารถใช้ในการพิจารณาความแตกต่างระหว่างเหรียญแท้และเหรียญปลอมได้อย่างชัดเจนที่สุด
ในอดีตผู้สนใจศึกษาพระเครื่องประเภทเหรียญพระพุทธ และเหรียญพระคณาจารย์ หลายคนเลือกที่จะใช้วิธีการจดจำรายละเอียดที่สำคัญของตำหนิเหรียญทั้งหมด ซึ่งในพระเหรียญ ๑ เหรียญอาจจะมีจุดตำหนิให้จดจำมากถึง ๑๐ จุด นั่นหมายความว่า หากเราต้องเรียนรู้เหรียญ ๑๐๐ เหรียญ เราจะต้องจดจำตำหนิทั้งหมดถึง ๑,๐๐๐ จุด เลยทีเดียว
ดังนั้น แทนที่จะใช้วิธีการจดจำตำหนิทั้งหมด ผมกลับมีเทคนิคที่ใช้ในการศึกษาเหรียญแต่ละเหรียญ ด้วยวิธีการที่ง่ายกว่านั้น
นั่นก็คือ การศึกษาธรรมชาติของเหรียญ โดยอาศัยหลักพื้นฐาน ๔ ประการ ได้แก่
๑.ความคมชัดของตัวหนังสือ หรืออักขระยันต์ ๒.พื้นผิวของเหรียญที่เรียบตึง ไม่มีร่องรอยของการถอดพิมพ์ ไม่มีขี้กลาก ๓.การเจาะรูหูเหรียญ ต้องมีเนื้อปลิ้นเกินที่เป็นธรรมชาติ และ ๔.วิวัฒนาการของการตัดขอบเหรียญ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย
ทั้ง ๔ ประการนี้ ถือเป็นจุดที่ใช้ในการพิจารณาเหรียญว่าแท้หรือปลอม ได้ชัดเจนยิ่งกว่าการจดจำตำหนิ
ที่สำคัญ ยังสามารถนำไปใช้ในการพิจารณาได้ทุกเหรียญ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญในยุคสมัยใดก็ตาม เพราะถึงแม้ว่ากรรมวิธีการทำปลอมในปัจจุบันจะสามารถทำได้ใกล้เคียงกับของจริงแค่ไหน แต่ธรรมชาติของการผลิตเหรียญแต่ละยุค ย่อมมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การซื้อ-ขายเหรียญในปัจจุบัน ผู้ชำนาญการจะใช้วิธีการพิจารณาด้านข้างของเหรียญเป็นบทสรุปว่า แท้หรือไม่
เพราะ...ขอบด้านข้างของเหรียญเป็นสิ่งเดียวที่ยังไม่สามารถปลอมแปลงได้เหมือน
เนื่องจากร่องรอยที่ด้านข้างของเหรียญนั้น คือ ร่องรอยที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จากขั้นตอนการผลิตในแต่ละยุคสมัย
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหรียญต่างๆ ตามข้อสังเกต ๔ ข้อข้างต้นนั้น จะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อไปเช่าหาเหรียญมาศึกษา
อีกทั้งเหรียญที่เป็นที่นิยมของวงการ ล้วนแล้วแต่เป็นเหรียญที่มีราคาแพง ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านแทบทั้งสิ้น
ปัญหาจุดนี้ ผมจึงเสนอแนะแนวทางที่ประหยัดกว่า และน่าสนใจ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาแต่มีทุนน้อย นั่นก็คือ ให้ใช้วิธีไปเช่าเหรียญเก่าที่วงการไม่นิยม และมีราคาไม่แพงแทน เพื่อนำมาศึกษาธรรมชาติของเหรียญที่เกิดจากวิวัฒนาการในการปั๊ม และการตัดขอบเหรียญ
เพราะเหรียญที่ออกมาในยุคสมัยที่ใกล้เคียงกัน ย่อมจะมีขั้นตอนการผลิตที่คล้ายคลึงกัน อาจจะแตกต่างกันก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา ทำความเข้าใจ ผมจึงจำแนกเหรียญต่างๆ ตามกรรมวิธีการปั๊มตัดข้างเหรียญ โดยแบ่งออกเป็นออก ๓ ยุคสำคัญ คือ
ยุคที่ ๑.ประมาณ พ.ศ.๒๔๔๐-๒๔๘๕ ยุคที่ ๒.ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๖-๒๔๙๙ และยุคที่ ๓.ประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐-ปัจจุบัน
๑. ช่วงปี พ.ศ.๒๔๔๐-๒๔๘๕ เป็นช่วงที่นิยมสร้างเหรียญลักษณะรูปทรงกลม รูปไข่ รูปทรงอาร์ม และทรงเสมา ซึ่งรูปทรงเหรียญทั้ง ๔ ชนิดนี้ สามารถแยกตามกรรมวิธีการสร้างได้เป็น ๒ ชนิด คือ เหรียญชนิดปั๊มข้างเลื่อย และเหรียญชนิดปั๊มข้างกระบอก
โดยเหรียญชนิดปั๊มข้างเลื่อย ก็คือ การนำแผ่นโลหะที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดของเหรียญมาปั๊มให้ได้ตามลักษณะรูปทรงที่ต้องการ จากนั้นจึงนำไปเลื่อยฉลุให้สวยงามออกมาเป็นเหรียญตามรูปทรงนั้นๆ
ส่วนการปั๊มข้างกระบอก ก็คือ การนำแผ่นโลหะมาเลื่อยให้ได้ตามรูปทรงของเหรียญที่จะทำการปั๊ม เพื่อเข้ากระบอก และการปั๊มเหรียญนั้นๆ ดังนั้น ด้านข้างของเหรียญปั๊มชนิดนี้จึงมีความเรียบเนียน เนื่องจากการกดปั๊มโดยมีตัวกระบอกเป็นตัวบังคับ
อย่างไรก็ตาม บางเหรียญอาจมีเส้นทิวบางๆ ในขอบข้างเหรียญ ซึ่งเกิดจากการแต่งขอบให้สวยงามก็ได้
๒.เหรียญชนิดปั๊มข้างตัด (ปั๊มตัดยุคเก่า) เป็นยุคที่เริ่มพัฒนากรรมวิธีการจัดสร้างเหรียญ ด้วยการนำเครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้น มาใช้แทนกรรมวิธีแบบเก่า ที่ใช้การเข้ากระบอก และต้องเลื่อยขอบออก เพื่อตกแต่งในขั้นตอนสุดท้าย ด้านข้างของเหรียญจะมีลักษณะมนๆ ไม่ค่อยมีริ้วรอยมากนัก
๓. หรียญปั๊มตัดยุค พ.ศ.๒๕๐๐-ปัจจุบัน ในยุคนี้ได้มีการพัฒนาตัวตัดข้างเหรียญที่ทันสมัย เพื่อความสะดวกในการตัดขอบเหรียญในจำนวนมากๆ ตัวตัดยุคนี้จึงค่อนข้างคมชัด
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีผู้จัดทำหนังสือชี้ตำหนิด้านหน้า-ด้านหลังของเหรียญออกมาแล้วมากมาย หลายต่อหลายเล่ม แต่การเจาะลึกถึงรายละเอียดวิธีการพิจารณาด้านข้างของเหรียญ ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญ และเป็นบทสรุปความจริง-ปลอมของเหรียญแบบนี้นั้น แทบจะไม่เคยปรากฏในหนังสือเล่มใดเลย
ดังนั้น ในหนังสือ “เหรียญยอดนิยมอมตะแดนสยาม เล่ม ๒” ผมจึงรวบรวมภาพด้านหน้า ด้านหลัง และขอบข้างเหรียญ ตลอดจนข้อมูลเชิงลึกเอาไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนรู้ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาพระเครื่องประเภทเหรียญโดยเฉพาะ
หากใครต้องการจะเจาะลึกเรื่องราวของเหรียญพระพุทธ และเหรียญพระคณาจารย์แล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาพระเหรียญอย่างแน่นอน
หรือเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
www.boytarprajun.co m <http://www.boytarprajun.com> และหากใครมีคำถามถึงเหรียญรุ่นอื่นๆ ฝากคำถามไว้ได้ที่
Boy333999@hotmail.com บอย ท่าพระจันทร์