ผักคราด ผักยาน่ารู้
สมัยก่อน คนในชนบทมักป่วยเป็นโรคใกล้ตัวชนิดที่ไม่อันตรายกันมาก เช่น โรคปวดฟัน ปวดเหงือก เป็นไข้ตัวร้อน หรือ โรคริดสีดวง เป็นต้น ซึ่งในยุคนั้น แพทย์แผนไทย คือที่พึ่งของชาวบ้าน ไม่ได้ไปหาหมอหรือแพทย์ที่ไหน ส่วนใหญ่จะเป็นพระสงฆ์ตามวัด และหมอยาพื้นบ้านที่มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร เป็นคนเจียดยาให้ เมื่อทำใช้ หรือกินแล้ว ได้ผลดีเหลือเชื่อ ซึ่ง ผักคราด จัดอยู่ในพืชผักกิน ได้ชนิดหนึ่ง ที่มีสรรพคุณทางยา ใช้รักษาโรคที่กล่าวข้างต้นเด็ดขาดนัก
สมัยก่อน ถ้าเด็กคนไหนเป็นไข้ตัวร้อน ให้เอา ผักคราด ทั้งต้น ตำละเอียด ผสมขมิ้น สัดส่วนเท่ากันตามต้องการ ใส่เกลือสะตุเอา สำลีชุบเฉพาะนำกวาดคอเด็ก อาการไข้ตัวร้อน จะทุเลาลง นอกจากนั้น ทั้งต้นตำผสมเหล้าขาว 40 ดีกรี หรือฝนกับน้ำส้มสายชูอมกลืนทีละนิดแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ฝีในคอ ไข้คอตัน แก้ปวดเหงือก ปวดฟันได้ ใบสด รส เผ็ดร้อน ปร่า เคี้ยวสดๆแก้ปวดฟันใช้ แทนยาชาได้เช่นกัน ชาวจีนใช้ทั้งต้นสกัดเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร และแก้ผอมเหลือง ทำให้ร่างกายแข็งแรงดีมาก
ผักคราด หรือ SPILANTHES ACMELLA MURR. อยู่ในวงศ์ COMPOSITAE เป็นไม้ล้มลุก ดอกสีเหลือง ลักษณะคล้ายหัวแหวน จึงถูกเรียก อีกชื่อว่า ผักคราดหัวแหวน มีขายตามตลาดสดทั่วไป มีชื่อเรียกอีก คือ ผักตุ้มหู หญ้าตุ้มหู ผักเผ็ด และ อึงฮวยเกี้ย (จีนแต้จิ๋ว) นิยมรับประทานแพร่หลายทางภาคเหนือ ภาคอีสาน โดย ใบกินสด กับป่น แจ่ว ซุบ ใส่แกงหน่อไม้ แกงอ่อม ใช้ดับกลิ่นคาวดีมาก รสชาติเผ็ดชา ใบรสหวานขมปร่าลิ้น
ชื่อ"ผักคราด"
วงศ์ "COMPOSITAE"
ชื่อวิทยาศาสตร์ "Spilanthes acmella Murr."
ชื่อพื้นบ้าน "ผักคราด ผักคราดหัวแหวน (กลาง) ผักตุ้มหู หญ้าต้มหู ผักเผ็ด (เหนือ)ฮึ้งฮวยเกี้ย (จีนแต้จิ๋ว)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ผักคราดเป็นไม้ที่ชอบขึ้นที่ลุ่มและมีความชุ่มชื้น พบขึ้นในป่าธรรมชาติป่าละเมาะโดยขึ้นประกบกับต้นไม้อื่น หรือพบตามสวน ริมคลองหรือร่องน้ำ ใต้ร่มไม้ ผักคราดเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรงสูง 20-50 ซม. หรือลำต้นทอดตามดินเล็กน้อย แต่ปลายชูขึ้นลำต้นแก่จะมีรากงอกออกมาลำต้นค่อน ข้างกลม อวบน้ำ สีเขียว อาจมีสีม่วงแดงปนเขียว ต้นอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน รูปร่างสามเหลี่ยมขอบใบหยักฟันเลื่อย ก้านใบยาว ผิวใบสากและมีขน ใบกว้าง 3-4 ซม. ยาว 3-6 ซม. ดอกออกเป็นช่อตามขอบใบและปลายกิ่งดอกย่อยจะเรียงอัอกันแน่นเป็นกระจุกสีเหลือง เป็นลักษณะกลม ปลายแหลมคล้ายหัวแหวน ดอกย่อย 2 วง วงนอกเป็นดอกตัวเมีย วงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลเป็นผลแห้งรูปไข่
การปลูก
ผักคราดขยายพันธุ์ได้โยาการเพาะเมล็ด
ประโยชน์ทางยา
ในตำราการแพทย์แผนไทยบันทึกว่า ผักคราดมีรสเอียนเฝื่อนเล็กน้อย สรรพคุณแก้พิษตามทวาร แก้ริดสีดวง บางตำรากล่าวว่า ผักคราดมีรสเผ็ดร้อน สรรพคุณแก้ผอมเหลือง แก้เด็กตัวร้อน
- ต้นสดของผักคราดตำผสมเหล้าหรือน้ำส้มสายชู และใช้แก้ฝีในลำคอ ต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ไข้ แก้ปวดฟัน ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์พบว่า ช่อดอก และก้านดอกมีสาร Spilanthol มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์เปรียบเทียบกับยาชา Lidocaine จะออกผลเร็วกว่า แต่ระยะการออกฤทธิ์สั้นกว่า และพบว่ามีฤทธิ์ชาเฉพาะที่ในสัตว์ทดลองและคนปกติผักคราดเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็น ยาชารักษาอาการปวดฟัน
ประโยชน์ทางอาหาร
ส่วนที่ใช้เป็นผัก/ฤดูกาล ยอดอ่อนใบอ่อนและดอกอ่อนรับประทานเป็นผักได้เจริญเติบโต ได้ดีตลอดปีและออกยอดมากในฤดูฝน
การปรุงอาหาร ชาวเหนือ ชาวอีสาน รับประทานผักคราดเป็นผักโดยยอดอ่อนใบอ่อนรับประทาน เป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริกลาบ ก้อย แกง และผักคราดนำไปปรุงเป็นอาหารได้ ชาวเหนือนำผักคราด ไปแกงแค ชาวอีสาน นำผักคราดไปใส่กับอ่อมปลาอ่อมกบ และชาวใต้นำยอดอ่อนของผักคราดไปแกงร่วมกับ หอยและปลา ทำให้รสชาติและกลิ่นของอาหารน่ารับประทานมากขึ้น
รสและประโยชน์ต่อสุขภาพ
รสเผ็ดร้อน ผักคราดช่วยเจริญอาหารและรสเผ็ดช่วยขับลม ย่อยอาหารได้