คะลำ คืออะไร?
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คะลำ คืออะไร?  (อ่าน 8114 ครั้ง)
sangkhawong
วีไอพี
member
***

คะแนน57
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 468

jupiter_toe@hotmail.com
อีเมล์
« เมื่อ: สิงหาคม 26, 2008, 04:05:08 pm »

 คะลำ คืออะไร?


ในบรรดาคำสั่งสอน คำแนะนำ ข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติในสังคมอีสานนั้น 'คะลำ' ถือว่าเป็นมรดกทางปัญญาอย่างหนึ่งที่ผลิตออกมาจากองค์ความรู้ของคนอีสาน ซึ่งได้รับอิทธิพลทั้งจากความเชื่อ บรรทัดฐาน ค่านิยม การทดลอง การปฏิบัติทั้งในแง่ส่วนบุคคลและจากการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคมและเห็นว่าไม่ควรกระทำ ประพฤติ ปฏิบัติออกไป ทั้งนี้คะลำได้ครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิต แนวปฏิบัติด้านต่างๆในชีวิตประจำวัน หากจะเปรียบฮีตสิบสองคองสิบสี่เป็นรัฐธรรมนูญ คะลำคงจะเปรียบกับกฎหมายลูกหรือพระราชบัญญัติที่แยกย่อยออกมา กำหนดชี้เฉพาะ หรือให้รายละเอียดปลีกย่อยไปในแต่ละเรื่อง

คะลำ , ขะลำ หรือ กะลำ บางท่านเชื่อว่ามาจากรากศัพท์ของคำว่า กรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำ อันเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของคนอีสานในอดีต เนื่องจากคะลำเป็นข้อห้ามในการกระทำแสดงออกต่างๆ หรือสิ่งต้องห้าม ต้องเว้น ห้ามประพฤติปฏิบัติ ไม่สมควรที่จะกระทำ ทั้งกาย วาจาและใจ หากละเลย หรือล่วงละเมิดจะเป็นอัปมงคล เป็นบาปกรรม ผิดฮีตผิดคอง นำความเสื่อมเสีย และอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลที่ฝ่าฝืนรวมทั้งมีผลต่อสังคมที่อยู่ด้วย

ดังนั้นคะลำจึงเป็นดังมาตรการหรือข้อห้ามในการควบคุมความประพฤติของคนในสังคมและเป็นกฏเกณฑ์ในการจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย ทั้งนี้อาจจะใกล้เคียงกับ 'ขึด' ของทางภาคเหนือ หรือข้อห้ามต่างๆที่มีในภาคกลางและภาคใต้ รวมทั้ง Taboo ในภาษาชาวเมลานีเชีย โดยได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาและหลายคนที่รับปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งลางครั้งหลายข้อกะลำไม่มีเหตุผลอธิบายรายละเอียดว่าเหตุใดจึงต้องคะลำ เห็นว่าเคยถูกสั่งสอนปฏิบัติสืบต่อกันมาจึงได้ปฏิบัติสืบต่อกันไป ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าคะลำหลายข้อได้บอกถึงผลข้างเคียงหรือผลจากการฝ่าฝืนไว้อย่างน่ากลัว น่า "เข็ดขวง" ซึ่งผู้ล่วงละเมิดจะได้รับ ดังนั้นข้อคะลำหลายข้อจึงมีลักษณะอย่างฟันธงว่า "เพราะว่าคะลำจึงห้ามประพฤติ !"

ด้วยเหตุนี้คะลำซึ่งได้กลายเป็นเหตุผลของการห้ามคะลำไปในตัว มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองโดยปริยาย แต่ครั้นพอเวลาล่วงเลยผ่านบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไป คะลำหลายข้อได้ถูกละเลย ละทิ้งและไม่ได้รับความสนใจที่จะประพฤติ ปฏิบัติดังที่เคยเป็นมา ทั้งที่หากพิจารณาถึงข้อคะลำโดยรวมทั้งหมดจะเห็นภาพชีวิตของคนที่ปรากฏในข้อคะลำทั้งหลายที่บัญญัติ ทั้งนี้การที่บัญญัติข้อคะลำออกมานั้น จำเป็นต้องได้รับประสบการณ์ก่อนจึงจะสามารถเข้าใจถึงผลที่จะเกิดจากการฝ่าฝืนข้อคะลำ

เช่นนั้นคะลำจึงเป็นผลผลิตหนึ่งที่เกิดจากการกระทำที่เคยประสบมาในอดีต ภายใต้เงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมและเวลาในขณะนั้น เพื่อกำหนดข้อประพฤติ ปฏิบัติของคนในสังคม หลายข้อแฝงด้วยปรัชญาของชีวิตและภูมิปัญญาที่คนอีสานในอดีตได้คิดค้นเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมและแบบแผนปฏิบัติเฉพาะบุคคลเพื่อความดี ความงามตามมาตรฐานสังคมและสวัสดิภาพของชีวิต โดยได้ถ่ายทอดในรูปแบบต่างๆทั้งมุขปาฐะ ซึ่งเป็นคำสอน ข้อห้ามโดยตรงในชีวิตประจำวัน และผ่านงานวรรณกรรมต่างๆ เช่น ผญา กลอนลำ วรรณคดี นิทานต่างๆ เป็นต้น



    ประเภทของคะลำ

ทั้งนี้หากจะแบ่งประเภทของข้อคะลำแล้ว สามารถแบ่งออกกว้างๆตามสิ่งที่ได้ไปเกี่ยวข้อง หรือปฏิสัมพันธ์ได้ 3 ลักษณะคือ

1. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับบุคคล
2. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับสถานที่
3. ข้อขะลำที่สัมพันธ์กับเวลา

ซึ่งการแบ่งลักษณะดังกล่าวนั้นไม่ได้แยกออกจากกันเป็นอิสรภาพหากแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน ในลักษณะองค์รวมความรู้ของค่านิยม บรรทัดฐาน อุดมการณ์ อันจะครอบคลุมไปทั้งหมดของวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การเกิด การอยู่ การกิน การนอน การเจ็บป่วย การแต่งงาน การตาย เป็นต้น ซึ่งจะจัดพฤติกรรมความสัมพันธ์ของผู้คนในระดับต่างๆ เพื่อผลที่น่าปรารถนาทั้งต่อระดับบุคคลและสังคม

1. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับบุคคล

ข้อคะลำในหมวดนี้หากจะแบ่งย่อยออกไปเพื่อระบุให้ชัดเจนแล้ว อาจจะสามารถแยกออกไปได้ในส่วนของระดับหรือประเภทของบุคคลต่างๆในสังคม เช่น

1.1 สตรีมีครรถ์
ข้อคะลำที่สตรีมีครรถ์ไม่ควรประพฤติปฏิบัติในระหว่างช่วงดังกล่าวนั้น มีมากมายทั้งนี้เพื่อต้องการให้ทั้งแม่และเด็กสามารถที่จะประสบกับสวัสดิภาพของชีวิตให้มากที่สุด ซึ่งในจำนวนข้อขะลำทั้งหมดนั้นส่วนใหญ่มักจะเน้นหนักไปทางด้านอาหารการกิน(ของแสลง) แบบแผนที่ผู้เป็นว่าที่คุณแม่ควรนำมาประพฤติ ซึ่งห่างละเลยแล้วต้อง คะลำ ถือว่าไม่ดี ไม่งามไม่เหมาะสม หนักเข้าจะเป็นบาปกรรม เสื่อมเสียและอาจถึงแก่ชีวิต เป็นต้น ซึ่งหลายข้อคะลำบางข้อหากมองด้วยความรู้มาตรฐานโดยเฉพาะหลักสุขลักษณะตามหลักโภชนาการแม่และเด็กแล้วดูจะเป็นการขัดกันอยู่หลายข้อ แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพแวดล้อมและเวลาในช่วงเวลานั้นของสังคมอีสาน ด้วยเงื่อนไข ขีดจำกัดทั้งแพทย์ วิทยาการรักษาแล้ว ความจำเป็นในสวัสดิภาพของชีวิตและเผ่าพันธุ์จึงจำเป็นต้องบัญญัติข้อคะลำตามที่บรรพบุรุษแนะนำไว้ จากประสบการณ์ที่เคยประสบอย่างเคร่งครัด เนื่องจากความเคารพนับถือแก่บุคคลที่กำเนิดเกิดก่อนผู้เฒ่าผู้แก่ในสังคมดั้งเดิม ซึ่งข้อคะลำที่นำมาเป็นตัวอย่างประกอบในการพิจารณามีดังนี้

ข้อคะลำในการปฏิบัติ เช่น

- ห้ามอาบน้ำเวลากลางคืน เพราะน้ำคาวปลาจะมาก
(ภูมิปัญญาแฝง : เพราะอาจจะหกล้มได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้ เนื่องจากในอดีตต้องใช้ไต้ หรือกะบองในการให้แสงสว่างซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ)
- ห้ามข้ามเชือกที่กำลังล่ามวัวควาย ลูกออกมาจะเป็นคนตะกละตะกลาม
(ภูมิปัญญาแฝง : เพราะอาจจะสะดุดเชือกหกล้มได้ หากวัวควายลุกเดินหรือวิ่งชน)
- ห้ามนั่งขวางประตูบ้าน จะทำให้คลอดลูกยาก
(ภูมิปัญญาแฝง : กีดขวางทางเข้าออกของผู้สัญจรไปมา)
- ห้ามนั่งขวางบันไดบ้าน จะทำให้คลอดลูกยาก
(ภูมิปัญญาแฝง : กีดขวางทางเข้าออกของผู้สัญจรไปมา)
- คะลำเย็บที่นอน จะทำให้คลอดลูกยาก
- (ภูมิปัญญาแฝง อาจจะเป็นเหน็บเนื่องจากนั่งนอนหรือเพ็งมากเกินไป)
- คะลำไปงานศพ เดี๋ยวผีคนตายจะมาเกิดด้วย
(ภูมิปัญญาแฝง : ไม่ต้องการให้แม่เด็กต้องพบเจอภาพที่ไม่สวยงาม ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ได้)
- คะลำไปเบิ่งคนคลอดลูก เดี๋ยวเด็กในท้องจะชักชวนกันไปในทางไม่ดี
(ภูมิปัญญาแฝง : ไม่ต้องการให้แม่เด็กต้องพบเจอภาพที่ไม่สวยงาม ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ได้)
- คะลำปิดหน้าต่างประตู (ไม่บอกเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : ต้องการให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก)
- คะลำตอกตะปู (ไม่บอกเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกระเทือนต่อลูกในท้อง และรบกวนคนอื่น)
- ห้ามตำหนิผู้อื่น ลูกออกมาจะบ่ดีเป็นเหมือนที่ตำหนิ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลทางด้านอารมณ์และจิตใจ)
- ห้ามทำท่าทางเลียนแบบคนพิกลพิการไม่สมประกอบ ลูกออกจะเหมือนอย่างที่ทำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ไม่เหมาะสม ไม่ดีไม่งาม แสดงถึงความไม่มีมารยาท)
- คะลำนั่งยองๆ (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
- คะลำนั่งชันเข่า (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
- คะลำนั่งคุกเข่า (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
- คะลำพลิกด้านใบตอง (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำเผาหอย เผาปู (ไม่ทราบเหตุผล)
- ห้ามเดินเร็ว ให้เดินช้า
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้มได้รับอันตรายได้)
- คะลำขึ้นที่สูง (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาได้รับอันตรายได้)
- คะลำนั่งบนที่สูง (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาได้รับอันตรายได้)
- คะลำนั่งลงแรงๆ (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อลูกในครรภ์ได้)
- คะลำนอนหงาย นอนคว่ำ (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อลูกในครรภ์ได้ หรือหากนอนหงายอาจล่อแหลมที่จะเกิดอุบติเหต   ุ เช่น สิ่งของหล่นใส่ คนเดินไปมาหกล้มใส่เป็นต้น)
- ห้ามอาบน้ำร้อน (ไม่ทราบเหตุผล)
- ห้ามอาบน้ำสกปรก
- ห้ามเอาครกกับสากแช่อยู่ด้วยกัน จะทำให้คลอดลูกลำบาก
- (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทที่งดงามแก่ผู้ที่จะเป็นแม่)
- ห้ามชะโงกดูน้ำในบ่อ (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะวิงเวียนและตกลงไปได้)
- ห้ามเดินข้ามขัว(สะพาน) (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : ในอดีตสะพานทั่วไปจะมีลักษณะเป็นท่อนไม้ขนาดเล็กพอที่คนเดียวจะเดินข้ามได้ ดังนั้นอาจจะเป็นอันตรายได้)
เป็นต้น

ข้อคะลำเรื่องอาหาร เช่น

- คะลำกินกล้วยแฝด จะได้ลูกแฝด
- คะลำกินเนื้อควายเผือก (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินอาหารที่ติดอยู่กับไม้ย่าง
(ภูมิปัญญาแฝง : ดูแล้วไม่งาม ไม่เหมาะสม)
- คะลำกินผักข่า (ผักชะอม) (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินปลาเพี้ย (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินปลาชะโด (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินไข่ (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินเผือกมัน (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินเห็ด (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินอาหารรสจัด
- คะลำกินเนื้อเต่าเพ็ก (เต่าตัวเล็ก) (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินเนื้อตะพาบน้ำ (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินแมลง แตน ต่อ (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินปลาร้า (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินของดองมึนเมา
- คะลำกินเนื้อกระต่าย (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินข้าวจี่
- คะลำกินเมล็ดมะขามคั่ว
- คะลำกินอาหารที่มีไขมัน
เป็นต้น



    1.2 สตรีแม่ลูกอ่อน
แม่ลูกอ่อนหรือผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ ยังอยู่ในภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตของผู้เป็นแม่และทารกที่เพิ่งคลอดได้ ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงยังมีข้อประพฤติ ปฏิบัติหรือข้อห้ามข้อคะลำที่ผู้เป็นแม่ลูกอ่อนต้องคะลำอยู่หลายอย่าง

ข้อคะลำในการปฏิบัติ เช่น

- ห้ามเดินไปไหนไกลๆ คะลำ
- ห้ามเดินเร็ว ให้เดินช้าๆ
(ภูมิปัญญาแฝง : หากประสบอุบัติเหตุอาจจะเป็นอันตราย เช่น ตกเลือด หรือกระทบกระเทือนบาดแผลที่ยังไม่หายสนิท)
- ห้ามนั่งยองๆ หรือนั่งพับเพียบ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเป็นอันตรายหรือพระทบกระเทือนต่อบาดแผลได้)
- ห้ามไกลเปล อู่ที่ว่างของเด็กทารก จะทำให้ผีมาเอาเด็กไป
- (ภูมิปัญญาแฝง : ผู้เชื่อโชคลางเห็นว่าเป็นลางไม่ดี เท่ากับแช่งให้เด็กตาย)
- ห้ามให้ใครข้ามเปล อู่เด็กทารก จะทำให้เด็กร้องไห้งอแง ไม่ยอมหลับนอน
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้มหรือมีสิ่งของหล่นใส่เด็กเป็นอันตรายได้)
- ห้ามกล่อมลูกเวลากลางคืน
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะก่อความรำคาญ รบกวนผู้คนที่ยังหลับนอนอยู่)
- ห้ามหลับนอนกับสามี
- ห้ามนอนใกล้กับสามี
- ห้ามนอนหัวสูง (ไม่ทราบเหตุผล)
- ห้ามนอนหงาย
- ห้ามนอนนอกมุ้ง
- ห้ามนอนกลางวัน
- ขณะอยู่ไฟ (อยู่กรรม) ห้ามออกห่างหม้อไฟเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
- ห้ามทำงานบ้าน (คะลำเวียก)
(ภูมิปัญญาแฝง : ยังไม่แข็งแรง อาจกระทบกระเทือนต่อสุขภาพและบาดแผลได้)
- ห้ามนำเด็กทารกออกจากชายคาบ้าน คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เด็กยังไม่แข็งแรง กะโหลกศรีษะยังไม่หุ้มดี อาจจะไม่สบายได้ง่าย)
- ห้ามเอารกเด็กไปฝัง เพราะจะทำให้เด็กปัญญาทึบ
(ภูมิปัญญาแฝง : เกรงว่าหากฝังไม่มิดชิด สัตว์ป่าหรือสุนัข สัตว์เลี้ยงอาจมาคุ้ยเขี่ยได้)
- ให้ซักผ้าอ้อมก่อนเพล(ประมาณเที่ยง) และให้ถือขมิ้นและมีดน้อยๆไปด้วย มิเช่นนั้นจะทำให้ผีร้ายตามมาเอาตัวเด็กไปได้
(ภูมิปัญญาแฝง : หากมัวชักช้าโอ้เอ้อาจจะทำให้เสียการงานอย่างอื่นไปด้วย บังคับทางอ้อม)
เป็นต้น

ข้อคะลำเรื่องอาหาร
ทั้งนี้เชื่อว่าหากรับประทานเข้าไปแล้วจะก่ออันตรายต่อแม่ลูกอ่อน เป็นของแสลง ผิดสำแดง ซึ่งหากพิจารณาตามหลักโภชนาการแล้ว เข้าใจว่าสิ่งของที่คะลำนั้นยากต่อการย่อยเผาผลาญ และอาจมีผลต่อร่างกายที่ยังอ่อนแอของแม่และอาจมีผลต่อลูกได้ ตัวอย่างคะลำ เช่น

- ห้ามกินเนื้อควายเผือก
- ห้ามกินไข่มดแดง
- ห้ามกินของหมักดอง
- ห้ามกินผักชะอม
- ห้ามกินฟัก
- ห้ามกินดอกขี้เหล็ก
- ห้ามกินใบสะระแหน่
- ห้ามกินกล้วยหอม
- ห้ามกินข้าวก่ำ (ข้าวเหนียวดำ)
- ห้ามกินเนื้อหมู
- ห้ามกินเนื้อกระต่าย
- ห้ามกินเป็ดเทศ
- ห้ามกินห่าน
- ห้ามกินแมงดานา
- ห้ามกินปลาร้า
- ห้ามกินปลาชะโด
- ห้ามกินปลาอีจน
- ห้ามกินปลาสลิด
- ห้ามกินเห็ดขาว เห็ดกะด้าง
- ห้ามกินตะพาบน้ำ
- ห้ามกินหน่อไม้
- ห้ามกินปลาหมึก
- ห้ามกินมะละกอสีม่วง
- ห้ามกินน้ำเย็น
- ห้ามกินไก่งวง
- ห้ามกินใบโหระพา
- ห้ามกินสะเดา
- ห้ามกินปลาเพลี้ย
- ห้ามกินปลานกเขา
- ห้ามกินปลาอีวน
- ห้ามกินเต่าเพ็ก
เป็นต้น

    1.3 คนเจ็บป่วย
ข้อคะลำสำหรับคนเจ็บป่วยนั้น โดยภาพรวมเป็นข้อที่ห้ามปฏิบัติของผู้ป่วยในแต่ละ
โรค ซึ่งจะบอกกล่าวโดยรวมทั่วไปว่าสิ่งใดควรเว้นควรไม่กระทำ หลีกเลี่ยงแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้ขอให้พิจารณาภายใต้เงื่อนไขของสังคมอีสานในอดีตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ต้องช่วยเหลือดูแลตัวเอง ทั้งนี้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ สาธารณสุขที่ยังไม่สามารถย่างกรายเข้ามาในสังคมดังกล่าว และได้สืบทอดปฏิบัติสืบต่อกันมานับหลายร้อยปีจากการสังเกต ลองถูกลองผิด สั่งสมเป็นข้อคะลำที่ควรระลึกไว้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างมาดังนี้
- ห้ามกินหมากไม้ทุกชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง มะม่วง ทุเรียน ลำไย อ้อย มะละกอ สับปะรด
- ห้ามกินถั่วฝักยาว
- ห้ามกินของรสเปรี้ยว
- ห้ามกินข้าวต้มห่อ
- คนเป็นวัณโรคห้ามกินของหมักดอง เช่น ปลาส้ม สัมวัว หน่อไม้ดอง
- คนเป็นไออย่ากินหมากเขือ กุ้ง ปลาซิว ส้มตำ มะเกลือ อาหารรสจัด หัวกลอย หัวมัน เพราะมันจะทำให้คันคอ ไอไม่หยุด
- คนถูกหมาว้อ(หมาบ้า)กัด บ่ให้กินลาบเทา(สาหร่ายชนิดหนึ่ง) มันจะเป็นบ้าคือเก่า
- บ่ให้ผู้หญิงเป็นระดูเก็บผักอีเลิศ ผักสะระแหน่ ผักมันจะตายหมด
- คนป่วยนอนบนฟูก จะทำให้หายป่วยช้า
- คนเป็นฝีหนอง เป็นหิด กลากเกลื้อน ห้ามกินไก่และของหมักดอง
- คนเป็นคางทูม ห้ามกินไข่
- คนเป็นโรคประสาทห้ามกินน้ำมันหมู
เป็นต้น

1.4 เด็กเล็ก
เด็กถือว่าเป็นวัยที่จะต้องเติบใหญ่ เป็นผู้สืบทอดความรู้ รักษาระเบียบแบบแผนของสังคมในอนาคตต่อไป จึงเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องมีการปลูกฝังแบบแผนความประพฤติในสังคมอีสานโดยผ่านคะลำ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ และควบคุมพฤติกรรมของเด็กให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่พึ่งปรารถนาของสังคม และเป็นการเพาะกล้าของความคิด ความรู้ ค่านิยม อุดมการณ์ บรรทัดฐานบางอย่างให้แก่คนจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งด้วย ซึ่งข้อคะลำที่ผู้ใหญ่นำมาใช้กับเด็กรุ่นหลังมักจะเป็นลักษณะการปราบและปรามพฤติกรรมที่ไม่พึ่งปรารถนา และแสดงถึงผลที่ฝ่าฝืนข้อห้ามข้อคะลำดังกล่าวให้น่ากลัว หรือบางครั้งจะไม่แสดงเหตุผลแต่จะบอกว่าคะลำ ซึ่งนั้นมักจะทำให้เด็ก(ส่วนใหญ่)สยบยอมต่อข้อคะลำเหล่านั้น พร้อมกันนั้นยังเป็นการควบคุมหรือบอกข้อควรปฏิบัติระหว่างผู้ใหญ่ต่อเด็ก และบางข้อยังสามารถใช้กับบุคคลทั่วไปได้ด้วย, ทั้งนี้ภายใต้บริบทแวดล้อมในขณะนั้นที่เป็นตัวหล่อหลอมความคิด การรับฟัง เชื่อถือผู้ใหญ่ที่เกิดมาก่อนด้วย ซึ่งตัวอย่างข้อคะลำที่ยกมามีดังนี้

- ห้ามทักว่าเด็กที่เกิดใหม่ว่าน่ารัก เพราะถ้าผีรู้จะตามมาเอาตัวเด็ก หรืออายุเด็กจะสั้น
(ภูมิปัญญาแฝง : เป็นการปรามทั้งตัวแม่เด็กและตัวเด็กที่เกิดขึ้นมาไม่ให้หลงระเริงต่อคำชมยกย้อป้อปั้น สร้างนิสัยไม่พึ่งปรารถนาตามมา)
- อย่าป่อน(หย่อน)เด็กเล็กลงเรือน เป็นเชิงหยอกล้อ เพราะจะทำให้เด็กอายุสั้น
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเกิดอุบัติเหตุเด็กพลัดตกลงไป และอาจจะอายุสั้นจริงๆได้)
- ห้ามเอาจิ้งหรีดมากัดกันเล่น ฟ้าจะผ่าเอาได้
(ภูมิปัญญาแฝง : ควบคุมพฤติกรรมที่ควรประพฤติ ให้มีจิตใจเมตตา)
- อย่าให้เด็กนั่งบนหลังสุนัข จะทำให้เด็กนิสัยเหมือนสุนัข
(ภูมิปัญญาแฝง : สุนัขอาจแว้งมากัดเป็นอันตรายได้ และไม่ให้รังแกสัตว์)
- อย่านั่งหันหลังขณะที่นั่งบนหลังวัว ควาย จะเป็นอัปมงคล
(ภูมิปัญญาแฝง : มองไม่เห็นทาง ควบคุมสัตว์ไม่ได้ อาจตกลงมาเป็นอันตรายได้)
- อย่าเคาะหรือตีหัวเด็ก จะทำให้เด็กปัสสาวะรดที่นอน
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกระทบกระเทือน เป็นอันตรายต่อสมองของเด็กได้)
- อย่าตีหัวแมว เพราะเมื่ออายุมากจะทำให้ศรีษะสั่น
(ภูมิปัญญาแฝง : ห้ามรังแกสัตว์ให้มีเมตตา)
- ห้ามนอนกินอาหาร จะเป็นงู
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีผลต่อระบบย่อยอาหาร และฝึกมารยาทที่เหมาะสม)
- ห้ามเล่นข้าวสาร จะทำให้มือด่าง
(ภูมิปัญญาแฝง : ข้าวเป็นอาหารไม่ควรนำมาเล่น และเป็นการสอนให้รู้สำนึกในคุณข้าวด้วย)
- เด็กขณะพูดกับผู้ใหญ่อย่าอมนิ้ว
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาท และบุคลิกภาพ)
- ห้ามจับหางสุนัข จะทำให้สุนัขกินลูกไก่
(ภูมิปัญญาแฝง : สุนัขอาจจะรำคาญและแว้งกัดทำอันตรายได้)
- ด่าพ่อแม่บุพการีผู้มีพระคุณ ตายไปจะเป็นเปรตปากเท่ารูเข็ม
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม และมารยาท ค่านิยมและควบคุมพฤติกรรมของเด็กและบุคคลทั่วไป)
- อย่าเดินใกล้ผู้ใหญ่
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยามสังคม พฤติกรรมที่เหมาะสม)
- อย่าลักขโมยของพ่อแม่ จะทำใหตีนบาทสั้นมือฮี
- (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรม)
- ห้ามโกหกหลอกลวง
- อย่าเดินข้ามขาผู้ใหญ่ ขาจะด้วน
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม มารยาทสังคม)
- ห้ามเด็กกินไข่ร้างรัง
- ห้ามเด็กทารกที่ฟันยังไม่ขึ้นส่องกระจก

- ภูมิิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม พฤติกรรมให้เหมาะสมกับวัย)
- ห้ามเด็กกินไส้และพุงปลาช่อน
- ห้ามตีก้นเด็ก จะทำให้เด็กเป็นซางตานขโมย
- เวลาอุ้มเด็กทารกห้ามพูดหนักหรือเบาเกินไป
- ห้ามเป่าลมปากใส่หน้าเด็ก
- (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีเชื้อโรคติดต่อไปยังเด็กได้)
- เวลาอุ้มเด็กห้ามโยนเด็ก
- (ภูมิปัญญาแฝง : เด็กอาจจะหลุดมือ เป็นอันตรายได้)
- ห้ามเด็กกินจาวมะพร้าว
- ห้ามเด็กกินเครื่องในไก่ จะทำให้เป็นดื้อด้าน ดื้อรั้น
- (ภูมิปัญญาแฝง : ตามหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันอวัยวะดังกล่าวมีสารเคมีที่เป็นพิษเจือปนอยู่)
เป็นต้น


    1.5 ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาความรู้
เช่น ผู้เรียนไสยศาสตร์ หมอยา (หมอยาสมุนไพร หมอยากระดูก หมอยาเป่า) หมอธรรม

ถือว่าเป็นปูชนียบุคคลสำคัญในสังคมอีสานเมื่อครั้งอดีต เนื่องจากเป็นทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นต่อวิถีชีวิต ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ต่อคนอีสานทุกเพศทุกวัย เนื่องจากในช่วงเวลาวิกฤติของชีวิต เช่น การเกิด การเจ็บป่วย การตาย และงานพิธีกรรมต่างๆ บุคคลดังกล่าวต้องได้รับเชิญมาประกอบพิธีกรรม หรือไม่มักจะเป็นข้อขะลำส่วนตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณวิชาที่ตนเรียนมา ดังนั้นในส่วนของฮีตปฏิบัติของบุคคลดังกล่าวจึงต้องเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณความดีความสามารถของตนเองและสร้างความนาเชื่อถือศรัทธาแก่ผู้พบเห็น ซึ่งข้อคะลำบางกล่าวอาจจะหาเหตุผลมาชี้แจงได้ชัดเจน ทั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรมหรือจรรยาบรรณที่ผู้ร่ำเรียนทางด้านนี้ต้องมี เชื่อกันว่าสำหรับผู้ที่เรียนคาถาอาคมหากฝ่าฝืนจะมีอาการผิดครู อาจจะเกิดสิ่งไม่ดีต่อตนเอง เช่น คาถาอาคมเสื่อม เป็นบ้า เป็นผีปอบ เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างของข้อคะลำมีดังนี้ เช่น
- ห้ามลอดใต้ราวตากผ้า จะทำให้วิชาคุณไสยจะเสื่อม
- ห้ามลอดใต้ถุนบ้าน
- ห้ามลอดเครือกล้วยที่ใช้ไม้ค้ำไว้
- ห้ามลอดกี่ทอผ้า
- ห้ามลอดจ่อ (เครื่องมือเลี้ยงตัวไหม)
- ห้ามลอดใต้บันได
- ห้ามกินฟักทอง
- ห้ามกินแตง
- ห้ามกินฟัก แฟง
- ห้ามกินมะเฟือง
- ห้ามกินผักกระถิน (ภาษาอีสานเรียกผักกะเสด) นอกจากว่าเวลาที่กินนั้นไม่มีใครเรียกว่าผักกะเสด จึงจะสามารถกินได้ เนื่องจากถือว่าเป็นของเศษเหลือเดน
- ห้ามกินอึ่งอ่าง
- ห้ามกินปลาไหล
- ห้ามกินน้ำเต้า
- ห้ามกินเนื้อควาย
- ห้ามเล่นชู้
- ห้ามกินอาหารใดในงานศพ จะทำให้คาถาอาคมที่เรียนมาเสื่อม
- เวลากินข้าว ห้ามไม่ให้เอามือไปชนกับมือคนอื่นที่ร่วมสำรับ มันคะลำ
- ห้ามดื่มสุราที่เหลือจากคนอื่นดื่มไปแล้ว
- ห้ามกินเนื้องู เนื้อสุนัข เนื้อแมว เนื้อม้า และเนื้อเต่า มันคะลำ

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำข้อห้ามปฏิบัติของผู้ที่มีวิชาอาคมที่สอดคล้องกับอาชีพหลักของครอบครัว ซึ่งจะจำเพาะเจาะจงว่าเป็นคะลำอย่างยิ่ง เช่น ผู้มีอาชีพคล้องช้าง, ทั้งนี้ข้อคะลำดังกล่าวยังได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆข้างเคียงด้วย เช่น ภรรยาคู่ชีวิต อีกนัยหนึ่งอาจจะสอดคล้องกับข้อที่ควรปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้อง อาจจะเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ไปคล้องช้าง และเป็นอุบายตักเตือนห้ามปรามผู้ที่อยู่บ้านปฏิบัติตนให้เหมาะสมทั้งกาย วาจา และใจเพื่อรอคอยผู้ชายที่ออกไปคล้อง และข้อเตือนใจเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่อยู่บ้าน เป็นการป้องกันสวัสดิภาพไปด้วย ซึ่งข้อคะลำของภรรยาหรือฝ่ายหญิงที่อยู่เรือน นับตั้งแต่ฝ่ายสามี ฝ่ายชายออกเดินทางออกไปทำกิจดังกล่าว คือ
- ห้ามตัดผม
- ห้ามหวีผม
- ห้ามแต่งหน้า
- ห้ามพูดคุยกับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะผู้ชาย
- ห้ามรับญาติมาพักอาศัยอยู่ภายในบ้าน
- ห้ามกวาดบ้านไปทางด้านทิศเหนือ
- ห้ามไปไกลจากบ้านของตน
- ห้ามกล่าวคำหยาบโลน
- ห้ามแสดงอาการโกรธขึ้ง
- ห้ามนั่งบนบันได
- ห้ามปีนต้นหม่อน
- ห้ามทิ้งของลงจากเรือน เว้นแต่ว่ามีคนรอรับอยู่ข้างล่าง
- ห้ามถอนฟืนออกจากเตาขณะที่กำลังหุงต้ม
- ต้องกราบไหว้เทวดา ผีรักษาทุกคืนก่อนนอน
เป็นต้น


    1.6 บุคคลทั่วไป
นอกเหนือจากข้อคะลำของประเภทบุคคลข้างต้นดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีข้อคะลำที่ห้ามประพฤติ ปฏิบัติของบุคคลทั่วไปอยู่มากมาย โดยข้อคะลำของบุคคลทั่วไปที่นำตัวอย่างมากล่าวนี้ จะเป็นการบอกโดยรวมอาจจะไม่ใคร่สัมพันธ์กับเวลาหรือสถานที่มากนัก ทั้งนี้จะไม่เจาะจงสถานที่หรือกำหนดห้วงเวลาที่ชัดเจน บอกเพียงว่าอย่าปฏิบัติเท่านั้น เช่น
- ห้ามแช่ครกและสากไว้ด้วยกัน มันคะลำ ถ้าเป็นหญิง(ทั้งแต่งงานและยังไม่แต่ง) จะคลอดลูกยาก
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาท ความสนใจเอาใจใสในครัวเรือน นิสัยที่ดีงามแก่สตรี)
- อย่าเดินข้ามไม้คาน
- อย่าวางขันแช่ไว้ในตุ่ม โอ่ง
- ห้ามด่าลมฟ้าอากาศต่างๆ
- ห้ามเดินข้าม หรือนั่งทับหนังสือ มันจะปึก(ปัญญาทึบ)
- ห้ามเย็บเสื้อผ้าตัวที่กำลังใส่กับตัวอยู่
- ห้ามเอามีด พร้ามาหยอกกันเล่น
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจพลาดเป็นอันตรายได้)
- ปล่อยให้น้ำดื่ม น้ำใช้ในโอ่งตุ่มแห้งขอดจนหมด คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน)
- ปักจอบ จอบ เสียบคาดินไว้มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเป็นอันตรายแก่ผู้เดินไปมา และเครื่องมือเครื่องใช้อาจขึ้นสนิท หรือถูกขโมยไปได้)
- ผู้หญิงกินขาไก่ ปีกไก่ มันคะลำ จะทำให้เป็นคนไม่ดี แย่งสามีคนอื่น
- ข้าวสารหมดเกลี้ยง คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อหน้าที่)
- ข้าวเหลือกินในป่าต้องนำกลับทุกเม็ด
(ภูมิปัญญาแฝง : สัตว์ป่าอาจตามมากินถึงในหมู่บ้านได้)
- ใช้เท้าเขี่ยเสื้อผ้า คะลำ
- ผู้หญิงผิวปาก คะลำ จะได้ผัวเฒ่า
- ห้ามตีวัวตีควายในคอก มันคะลำ
- ห้ามตีหลังสัตว์เลี้ยง เช่น หมู วัว ควาย คะลำ
- ผู้หญิงเล่นการพนัน สูบบุหรี่ มันคะลำ
- เด็กนั่งสูงกว่าผู้ใหญ่ มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม)
- นั่งกระดิกเท้า กระดิกมือ คะลำ ทำให้ยากจน หากินบ่คุ้ม
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม และบุคลิกภาพ)
- เอาหมอนตีกัน มันคะลำ
- ข้ามร่างกายคนกำลังนอนหลับ คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม และบุคลิกภาพ)
- อย่าเอาด้ามไม้กวาดตีหรือหยอกล้อกัน มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เป็นสิ่งไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นของต่ำ และเศษฝุ่นสิ่งสกปรกด้านที่กวาดอาจจะถูกเปรอะเปื้อนคนจับได้)
- อย่าเทน้ำกินที่เหลือลงแอ่ง มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เป็นของเศษเหลือกินไม่เหมาะสม และผิดหลักสุขลักษณะด้วย)
- อย่าเหยียบย่ำบนหมอน ของสูงเป็นบาป
(ภูมิปัญญาแฝง : สำหรับหนุนหนอนไม่สมควรมาเหยียบเล่นให้สกปรก และรักษาสิ่งของให้ใช้ได้นาน เพราะไม่มีขายต้องทำเองด้วย)
- ปูเสื่อสาดให้ถูกลายถูกด้าน
- อย่าปูเสื่อสาดหันหัวไปทางทิศตะวันตก ทิศคนตาย
- อย่าเอามือประสานกันขัดไว้หลังท้ายทอย มันคือผีบ้า คนไร้ความคิด
- (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังบุคลิกภาพให้เหมาะสม)
- อย่าเอามือตบปากเสียงดัง มันจะหาไม่พออยู่พอกิน
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังบุคลิกภาพและมารยาทสังคม)
- อย่านอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก
- อย่าเอาด้านขวางของหมอนมาหนุน มันคะลำ
- อย่าปีนคำเว้าผู้ใหญ่(ปีนเกลียว)
- อย่าเลียคมมีด
- อย่าเอาหอกค้างหาว อย่าเอาต้าวค้างควน(ควัน)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาถูกคนบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายด้วย)
- อย่านอนแงง(ส่อง)ดาบ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหล่นหรือพลาดมือถูกผู้ส่องได้)
- อย่าคาบนมเมีย
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจเผลอกันได้)
- อย่าเลียคมมีด
- ไปบ่ลา มาบ่คอบ (ไปไม่ลา มาไม่ไหว้) คะลำ
- อย่าป้อย(สาป)แซ่งเสียงดัง
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม)
- อย่าแน(เล็ง)มีดใส่หัว อย่าแนปืนใส่เขา
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะพลาดและเป็นอันตรายได้)
- อย่าเวียนหวดข้าว
(ภูมิปัญญาแฝง : ในอดีตเตาหุงหาอาหารจะเป็นก้อนเสาสามก้อน อาจจะเดินเตะท่อนฟืนหรือก้อนเส้าได้)
- อย่าตั้งหม้อข้าวเอียง คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : หากหม้อข้าวเดือนอาจหกเสียหาย หรือถูกคนเป็นอันตรายได้)
- อย่าเอาฟืนเคาะก้อนเส้า มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ก้อนเส้าอาจจะแตกเสียหายได้)
- อย่าเอามีดสับเขียงเปล่า มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ทำให้สิ่งของเสียหาย และทำให้เสียงดังก่อความรำคาญแก่คนอื่น)
- อย่าตำครกเปล่า มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ทำให้สิ่งของเสียหาย และทำให้เสียงดังก่อความรำคาญแก่คนอื่น)
- อย่าเอาสากเคาะปากครก มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ทำให้สิ่งของเสียหาย และทำให้เสียงดังก่อความรำคาญแก่คนอื่น)
- อย่าเดินข้ามหม้อข้าวหม้อแกง มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจเดินเตะข้าวของเสียหายได้ รวมทั้งไม่เหมาะสม ไม่มีมารยาทและเป็นการลบหลู่ ไม่แสดงอาการเคารพสิ่งของเครื่องใช้ดำรงชีพด้วย)
- อย่าเอาช้อนเคาะถ้วยชามเล่น มันบ่พออยู่พ่อกิน
(ภูมิปัญญาแฝง : ข้าวของเสียหายได้ รวมทั้งไม่เหมาะสม ไม่มีมารยาทและเป็นการลบหลู่ ไม่แสดงอาการเคารพสิ่งของเครื่องใช้ดำรงชีพด้วย)
- อย่ายืนตักข้าวสารเวลาม่าข้าว(แช่ข้าวเหนียว) มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะผู้จัดการดูแลในเรื่องครัวเรือน และจะนุ่งผ้าถุง การยืนตักข้าวสารอาจจะมีฝุ่นละอองข้าว ทำให้ผิวหนังคันได้ รวมทั้งยังเป็นการแสดงอาการลบหลู่คุณข้าว และดูไม่เหมาะสม ไม่งาม)
- อย่าล้วงข้าวจากกระติ๊บที่ห้อยอยู่
(ภูมิปัญญาแฝง : ปกติคนอีสานจะแขวนกระติ๊บข้าวเหนียวบนตะขอเหล็กป้องกันมันและหนู แมลงมากิน ดังนั้นการล้วงข้าวในกระติ๊บที่ยังห้อยอยู่อาจจะทำให้กระติ๊บและข้าวอาจตกลงพื้นได้ รวมทั้งยังเป็นการแสดงการลบหลู่คุณข้าว และเป็นกริยาไม่งามด้วย)
- ห้ามเอาซิ่นใช้แล้วไปห่อใบลาน
(ภูมิปัญญาแฝง : เป็นการแสดงอาการไม่เคารพ)
- อย่าเอาดินจี่(อิฐ)จากธาตุเข้าบ้าน
- เพิ่นบ่เอิ้น(ไม่เรียก)โตขาน เพิ่นวานโตซ่อย(ช่วย) คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : สอนมารยาทให้รู้จักกาลเทศะ สิ่งใดควรไม่ควรทำ ไม่ควรถือวิสาสะเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องของคนอื่น)
- ชายหญิงนั่งใกล้กัน หญิงสาวไปเที่ยวกลางคืนลำพังหรือไปกับชายสองต่อสอง คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เป็นมาตรการป้องกันเรื่องชู้สาว ผิดทำนองคองธรรมและเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติของหนุ่มสาวให้อยู่ในกรอบศีลธรรมจรรยา)
- ผู้หญิงบ่ให้ใกล้องค์พระธาตุ (?)
- ไปเอาบุญก่ายบ้าน บ่ฮู้แลงฮู้งาย มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน)
- บ่ให้นั่งเขียง หินฝนมีด มันซิหนักก้น ชาติหน้าก้นจะใหญ่
(ภูมิปัญญาแฝง :ปลูกฝังมารยามสังคม และรักษาสิ่งของเครื่องใช้)
- บ่ให้ล้างถ้วยล้างชามใส่กับข้าวที่เพื่อนบ้านนำมาส่ง ให้ส่งคืนทั้งที่ไม่ได้ล้าง มิเช่นนั้นจะทำให้โกรธเคืองกัน
(ภูมิปัญญาแฝง : เป็นปรัชญาหมายถึงให้คนที่รับอาหารของเพื่อนบ้านมา เอาอาหารกับข้าวของตัวเองใส่ลงแล้วส่งไปแทนจะได้ไม่ต้องล้าง เป็นการแลกเปลี่ยนแก่กัน)
- บ่ให้กินน้ำต่ง(รอง)กันมันจะทำให้เป็นข้าข่อยกัน
(ภูมิปัญญาแฝง : เป็นหลักสุขลักษณะ)
- บ่ให้เอาควายมานอนน้ำขี้สีก(น้ำคร่ำใต้ถุนบ้าน) มันคะลำ
- ผู้สาวบ่ให้สีก(ฉีก)ปลาร้า มันจะเอ้(แต่ง)บ่ขึ้น
- ผู้หญิงยืนเยี่ยว คะลำ
- ผู้สาวบ่ให้กินไข่ร้างรัง มันซิเป็นแม่ฮ้าง (แม่หม่าย)
- อย่าปีนต้นมะยม มะยมจะเปรี้ยวมาก มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : กิ่งมะยมเปราะอาจจะหัก เป็นอันตรายได้)
- อย่าเอาไม้ขว้างปามะขามหวาน มันจะเปรี้ยว
(ภูมิปัญญาแฝง : มะขามเป็นของหายาก ผู้คนจึงมักมาเก็บมะขาม ถ้ามีคนใดใจร้อนขว้างเอา อาจจะทำให้พลาดไปถูกคนอื่นได้)
- เดินข้ามเบ็ดตกปลา ปลาบ่กินเบ็ด คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจพลาดเหยียบเบ็ดหักเสียหาย หรือเบ็ดอาจเกี่ยวเท้าเอาได้)
- เดินข้ามมีด ของมีคม ทำให้ไม่คม คะลำ
- (ภูมิปัญญาแฝง : มีดหรือของมีคมอาจบาดเอาได้)
เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องลาง เรื่องโชคชะตาต่างๆ เช่น
- หนูร้องเสียงดังประหลาดเวลากลางคืน คะลำ คนในบ้านจะเจ็บป่วย ไม่ดี
- ตัวบึ้งเดินผ่านหน้าในช่วงแดดจัด คะลำ เป็นลางไม่ดีต่อตัวเองและญาติมิตร
- กาหลายตัวร้องและบินวนเวียนไปมา คะลำอาจเกิดเหตุร้าย
- กิ้งก่า จิ้งจก ไต่ตามตัว คะลำ จะมีเคราะห์
- งูขึ้นไปอยู่บนเรือน คะลำ จะมีเคราะห์ร้าย
- งูเลื้อยผ่าน จะโชคดี หมาน
- ข้าวเหนียวนึ่งจนสุกแล้วเป็นสีแดง คะลำ ไม่ดีจะมีเคราะห์ต้องนำไปถวายพระ
- สุนัขตกลูกบนเรือน ไม่ดี คะลำ เป็นอัปมงคล
- อีแร้ง นกแสกจับเฮือน บินผ่านเรือน จะมีเคราะห์
เป็นต้น

    2. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับสถานที่

ในส่วนของคะลำที่สัมพันธ์กับสถานที่ ทั้งที่เป็นสถานที่ซึ่งคนสร้างขึ้นมา เช่น บ้านเรือน วัด หรือสถานที่ตามธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำ ป่าเขาต่างๆ คนอีสานจะมีข้อคะลำกำกับไว้ เพื่อควบคุมพฤติกรรม ความประพฤติให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานที่นั้นๆ เพื่อความสัมพันธ์ที่พึ่งปรารถนาในการอยู่ร่วมกัน และสวัสดิภาพของบุคคลนั้น
ซึ่งข้อคะลำที่นำมาเป็นตัวอย่างประกอบในส่วนนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น

ข้อคะลำเกี่ยวกับบ้านเรือน

ข้อคะลำที่เกี่ยวข้องกับบ้านเรือนนั้นมีมากมาย ตั้งแต่การเริ่มสร้างบ้านขึ้นมา จนถึงข้อปฏิบัติในระหว่างอยู่ที่บ้าน เช่น
การเลือกไม้ที่จะสร้างบ้าน ห้ามเลือกไม้ที่มีลักษณะดังนี้ มิเช่นนั้นจะคะลำ เช่น
- ต้นไม้ที่มีรูกกลวงระหว่างลำต้น มันคะลำ
- ต้นไม้ที่เสียงดังขณะเกิดการเสียดสี
- ต้นไม้ที่แตกกลางลำต้น
- ต้นไม้ที่ล้มพาดต้นอื่น โดยไม่ตกถึงพื้น
- ต้นไม้ที่แตกเป็นร่อง เป็นทางยาวลงมา
- ต้นไม้ที่มียางไหล หลังจากตัด สร้างบ้านแล้วจะทำให้คนอยู่โศกเศร้าเสียใจอยู่เสมอ
- ต้นไม้ที่ตัดแล้ว ต้นหลุดจากตอก่อนที่ปลายจะตกถึงพื้น เรียกว่าไม้โตนตอ มันคะลำ
- ต้นไม้ที่มีนามไม่เป็นมงคล เช่น ต้นกะบก ต้นกะบาก ต้นตะเคียน (สร้างบ้านอยู่แล้วคนอยู่จะไม่พออยู่พอกินขาดแคลน บกอยู่เสมอ หาอยู่หากินลำบาก และเชื่อว่าต้นตะเคียนมีผีสถิตย์อยู่)
- ปลูกต้นไม้ไม่เป็นมงคลนามในเขตบ้าน เช่น ลั่นทม(จำปา) มะไฟ พุทรา หรือต้นโพธิ์ เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของผีหรือรุกขเทวดา
- ปลูกต้นมะรุม ลิ้นฟ้า(เพกา) และผักหวานในเขตบ้าน มันคะลำ
- ปลูกต้นยานางในบริเวณลานบ้าน คะลำ
นอกจากนั้นยังมีข้อคะลำเกี่ยวกับบ้านทั้งการสร้างบ้าน และการอาศัยอยู่ในบ้าน เช่น
- อย่าทำบันไดบ้านหันไปทางตะวันตก ทิศผีหลอก มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เวลาพระอาทิตย์ใกล้ตก แสงจะส่องมาจ้ามองอะไรหรือใครกำลังขึ้นบันไดมา)
- ยกเรือนให้ยกวันเสาร์จะดี ห้ามวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี มันคะลำ
- อย่าปลูกบ้านขวางตะวัน มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : แสงแดดจะส่องบ้านตอนเช้า และสาย มองอะไรไม่ชัดเจน)
- อย่าปลุกบ้านคร่อมตอ มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ตออาจจะเป็นปัญหาในอนาคตได้)
- ปลูกบ้านคร่อมจอมปลวก มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลวกอาจจะแทะกินบ้านได้)
- ปลูกบ้านคร่อมทางเดิน มันคะลำ
- ปลูกบ้านกลางพรรษา คะลำ
- นำไม้ที่เคยถูกฟ้าผ่ามาทำเรือน มันกะลำ
- ทำบันไดต้องเป็นจำนวนคี่ ( 5 ,7 ,9)
- เขยหรือสะใภ้อย่าเดินเข้าไปในห้องเปิง หรือห้องห้องนอนพ่อตาแม่ยาย ในคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ห้องเปิงถือว่าเป็นห้องพระ หรือห้องเก็บของรักษา ห้องศักดิ์สิทธิ์ และห้องนอนพ่อตาแม่ยายไม่ควรเข้าไป เป็นการแสดงอาการเคารพ มารยาทสังคม)
- อย่านั่งขวางประตู
- อย่านั่งขวางบันได มันคะลำ
- อย่าเดินกระทืบเรือนเสียงดัง มันคะลำ
- อย่าเล่นหมากเก็บ เสือกินหมูในบ้าน มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เนื่องจากเป็นการละเล่นในงานศพ จึงไม่เหมาะสม เป็นลางไม่ดี และสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น)
- ผู้หญิงร้องเพลงในครัว มันคะลำ จะได้ผัวคนเฒ่าคนแก่
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทอันเหมาะสม)
- อย่านอนใต้ขื่อบ้าน จะคะลำ
- อย่าเต้ากระโดดขาเดียวในบ้าน มันคะลำ
- (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้ม เสียงดังก่อความรำคาญรบกวนคนอื่น และไม่มีมารยาท)
- อย่านั่งห้อยขาลงข้างล่าง
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีการหยอกล้อดึงขากันเล่น ตกลงมาบาดเจ็บได้รับอันตรายได้)
- อย่าเอามีดฟันต้นเสาบ้าน มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เป็นการทำลายสิ่งของ และเสียงดังรบกวนคนอื่น)
- อย่าข้ามบันไดทีละหลายขั้น มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจพลาดตกลงมาเป็นอันตรายได้)
- อย่าแบกฟืนขึ้นเฮือน มันคะลำอย่าเล่นงัวตึงตังเทิงเฮือน มันคะลำ
- ห้อยโหนประตูบ้าน คะลำ
- เปิดหน้าต่างบ้านนอน คะลำ
- ใช้เท้าเปิด ปิดประตู คะลำ
- เอาผ้าถุงพาดตากหน้าต่างเรือน คะลำ
รวมทั้งข้อปฏิบัติเมื่อไปยังสถานที่ต่างๆ ห้ามไปล่วงกระทำหรือไม่นำพาแล้ว ถือว่าเป็นคะลำ


    ข้อคะลำเกี่ยวกับสถานที่อื่นๆ

- เข้าวัดเว้าเสียงดัง มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ให้สำรวม เป็นมารยาทสังคม)
- ขี่ม้าเข้าในเขตวัด คะลำ
- เลี้ยงวัว ควายในวัดคะลำ
- ผู้หญิงอย่าไปม่อ(ใกล้)พระ มันคะลำ
- อย่านั่งเบาะพระ มันคะลำ
- อย่าอุ้มลูกใส่บาตร มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เด็กอาจปัดข้าวของเสียหาย ตกหล่นได้ รวมทั้งไม่เหมาะสม)
- บ่ให้ครุบเซิงเอาที่วัด มันคะลำ
- บ่ให้นั่งขัดสมาธิเวลาฟังเทศน์
- ใส่หมวก โพกผ้าเข้าวัด คะลำ มันสิหัวล้าน
- ยิงนกในบริเวณวัด คะลำ
- สวมรองเท้าเวลาตักบาตร และสรงน้ำพระ คะลำ
- หนุ่มสาวพลอดรักกันในวัดและสถานที่สักการะบูชา คะลำ
- ขณะพายเรือไปหลายๆคนห้ามพูดตลกขบขัน คะลำ
- เข้าป่าอย่าพูดถึงสัตว์ร้าย คะลำ
- เข้าป่าได้ยินเสียงร้องเรียกชื่อตนเองห้ามขานรับ
- บ่ให้เยี่ยวลงน้ำ มันคะลำ
- บ่ให้ตัดต้นไม้ดอนปู่ตา คะลำ
- อย่าลากไม้ในป่า คะลำ
- ปัสสาวะลงน้ำ มันคะลำ
- ซักผ้าในแม่น้ำ คะลำ
เป็นต้น


    3. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลา

ข้อคะลำที่สัมพันธ์กันกับเวลานั้นมีหลายข้อที่สัมพันธ์กับบุคคลและสถานที่ด้วย ซึ่งแยกออกจากกันลำบาก แต่เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆโดยรวม และไม่ต้องแบ่งซอยลงไปมากจนเกินไป จึงขอยกตัวอย่างดังที่แบ่งข้างต้น ซึ่งข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลานั้น น่าจะหมายถึงเวลาที่เป็นงานเทศกาลประเพณีประจำปี หรือเวลาของการประกอบอาชีพประจำฤดูกาล โดยเฉพาะการทำนา รวมทั้งประเพณีเฉพาะกิจในระดับส่วนบุคคลที่เกี่ยวพันกับสังคม ตัวบุคคลและสถานที่ด้วย รวมทั้งกิจวัตรประจำที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน แต่ในที่นี้จะเอาเวลาเป็นตัวตั้งเพื่อให้สอดคล้องกับที่แบ่งหัวข้อไว้ เช่น

ข้อคะลำในการทำนาและข้าว
เวลาหรือขั้นตอนในการทำนา ซึ่งจะต้องดำเนินการสอดคล้องตามระยะเวลา เนื่องจากต้องอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ในสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมที่ยังควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติแล้วจะต้องคะลำ ผิดประเพณี "กินไม่บกจกไม่ลง" นอกจากนั้นยังมีข้อปฏิบัติที่สัมพันธ์กับข้าว เช่น
- ก่อนหว่านกล้า ต้องเลือกฤกษ์วันดีในการแช่ข้าวเปลือกก่อน ข้าวที่ปลูกจะได้ให้ผลผลิตมาก
- ช่วงเวลาหว่าน ถ้ามีตัวปูไต่ตามท้องนา ห้ามจับถือว่าเป็นการเลี้ยงผีตาแฮก
- ก่อนที่จะถอนกล้าและปักดำต้องเลือกฤกษ์ยามวันดี
- ช่วงเก็บเกี่ยว ก่อนตั้งลอมข้าวต้องไหว้ปลงแม่พระธรณีก่อน
- ก่อนนวดข้าว ต้องเลือกวันดี
- ช่วงนวดข้าวญาติพี่น้องต้องมาช่วยเหลือกัน และหาบข้าวขึ้นยุ้ง
- หลังจากนั้นต้องมาช่วยกันตีข้าวสนุ (ข้าวที่ยังเหลือติดซังข้าวอยู่)ให้หมด
- จากนั้นจึงทำพิธีเอาข้าวขึ้นยุ้งและปิดยุ้งเพื่อเลือกวันดีเปิดยุ้งข้าว
- เลือกวันดีเพื่อตักข้าววันแรกให้ตรงกับเดือนขึ้นปีใหม่ แล้วสู่ขวัญข้าว โดยใช้กระดองเต่าตักข้าวครั้งแรก เพื่อให้ผู้ผลิตอยู่เย็นเป็นสุข (กระดองเต่าเป็นสัญลักษณ์ของความอยู่เย็นอยู่ดี)
- เวลาพักกินข้าวอยู่ทุ่งนาอย่าเรียกกันกินข้าว มันคะลำ เท่ากับเรียกปูมากัดกินต้นข้าวด้วย
- อย่าเอาไม้แต้ กะบก มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ มันคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ไม้ดังกล่าวเป็นไม้เนื้อแข็ง แตกหักง่าย ไม่เหมาะนำมาใช้งาน)
- เป็ด ไก่มาเก็บกินข้าว รำข้าวหกอย่าดุด่า มันคะลำ
- จี่ข้าวในช่วงข้าวออกรวง คะลำ
- ไถนาวันพระ คะลำ
- กินข้าวสารดิบ คะลำ เป็นคนจัญไร
- กัดกินข้าวเหนียวครึ่งคำข้าว คะลำ
- ยืนกินข้าว กะลำ
- กินข้าวคาหม้อ คะลำ
- ร้องเพลงเวลากินข้าว คะลำ
- กินข้าวแล้วบ่อัดฝาก่อง บ่ฮู้เก็บฮู้เมี้ยน คะลำ ทำให้ผัวเมียจะป๋าหย่าร้าง
(ภูมิปัญญาแฝง : ให้รู้จักเก็บรักษาและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำลงไป เพื่อความเป็นระเบียบ)
- เวลาเขยสะใภ้กินข้าวร่วมวงกับทั้งครอบครัวอย่างนั่งขัดสมาธิ มันคะลำ
- เวลากินข้าวอย่าตบหัวแมว จะบาปเนื่องจากแมวมีเชื้อสายเทวดา
(ภูมิปัญญาแฝง : เนื่องจากเศษขนแมวอาจติดมือได้ )
- เวลากินข้าวผู้หญิงอย่ายองๆ หรือขัดสมาธิ มันคะลำ
- อย่าเว้ายามกิน
(ภูมิปัญญาแฝง : ไม่งาม ไม่เหมาะสม ข้าวอาจติดคอ ลงหลอดลมได้)
นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลา เช่น บุญหรืองานประเพณี พิธีกรรมต่างๆ อาทิ


    ข้อคะลำในงานศพ

- คนตายโหง(ผูกคอตาย ฟ้าผ่าตาย จมน้ำตาย เสือกัดตาย ลงท้องตาย ตกต้นไม้ตาย) ห้ามกินทาน ห้ามมีพระนำหน้า ห้ามเผา
- เด็กตาย(อายุไม่ถึง 10 ขวบ) ห้ามเผา
- ห้ามนำศพไต่ขัว(สะพาน)
- ห้ามหามศพข้ามขอนไม้
- ห้ามเผาศพวันอังคาร
- ห้ามเผาศพวันศุกร์ ผีจะร้าย
- (ภูมิปัญญาแฝง : ความเชื่อโชคลาง วันศุกร์เป็นชื่อดี คือวันแห่งความสุข ที่คนนิยมจัดงานมงคลกันจึงไม่นิยมเผาในวันดังกล่าว)
- หากมีเพื่อนบ้านตายให้มาช่วยกัน บุคคลใดทำเฉยไม่สนใจ จะคะลำ
- อย่าให้แมวข้ามศพ มันคะลำ
- อาหารที่เลี้ยงแขกในงานศพต้องไม่เป็นเส้น เช่น ขนมจีน เพราะจำทำให้คนตายไม่ไปเกิด
- คนป่วยตายธรรมดาเกิน 6 วันจึงจะสามารถเผาได้
- เสื่อสาดต้องกลับทางให้เป็นตรงข้ามทั้งหมด
- การแต่งตัวศพ ต้องสวมเสื้อผ้าศพให้กลับจากในมานอก
- เอาศพออกจากบ้านให้คว่ำภาชนะทุกอย่าง และคว่ำกลับข้างบันได
- เวลาเผาศพให้เอาท่อนไม้ใหญ่ 2 ท่อนทับศพไว้ ไม่ทำคะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ป้องกันศพพลิกคว่ำ หรือเอ็นหดทำให้ศพอาจตกจากเชิงตะกอนได้)
- เมื่อเผาศพเสร็จให้เดินมาล้างมือล้างเท้าสิ่งสกปรกที่วัดก่อนจึงจะกลับบ้านได้
(ภูมิปัญญาแฝง : ชำระร่างกายให้สะอาดเพราะอาจจะติดเชื้อโรคจากศพได้ และเป็นอุบายการบำบัดทางจิตสำหรับผู้ที่กลัวผีจากภาพที่ประสบ)
เป็นต้น

ข้อคะลำในงานพิธีแต่งงาน

ถือว่าเป็นงานมงคลในช่วงชีวิตของคน ดังนั้นจึงมีข้อคะลำเพื่อให้เกิดความมั่นใจในชีวิตคู่ สร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป รวมทั้งข้อคะลำที่ควรทราบในระหว่างมีชีวิตคู่ด้วย เช่น
- ห้ามแต่งงานวันคี่ คะลำ จะหย่าร้างกัน
- อย่าทำสิ่งของแตกร้าวในวันแต่ง คะลำ จะทำให้หย่าร้าง
- ห้ามมีชื่ออาหารที่ไม่เป็นมงคล เช่น แกงฟัก(ฟัก ภาษาอีสานหมายถึง ฟัน สับ) แกงจืด ยำ
- ห้ามคนเป็นหมัน ไม่มีลูกถือขันหมาก
- ห้ามบุคคลที่เป็นกำพร้าเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว
- ห้ามแต่งงานในเดือน 12 คะลำ เป็นเดือนที่สุนัขติดสัด ไม่เป็นมงคล
- ห้ามแต่งช่วงเดือนเข้าพรรษา (เพราะเป็นช่วงที่กำลังเร่งดำนา)
- เมียนอนหัวสูงกว่าผัว คะลำ
- เมียกินข้าวก่อนผัว คะลำ
- เมียต้องไม่เอาอาหารที่ตนเหลือกินให้ผัวกิน คะลำ
- เมียย่าง(เดิน)เอาผ้าเอาซิ่นปัดป่ายผัว คะลำ
- เมียบ่สมมา(ขอขมา)ผัวในวันพระวันศีลก่อนนอน คะลำ
เป็นต้น

ข้อคะลำในวันสงกรานต์

วันสงกรานต์หรือวันเนา เชื่อกันว่ามาจากคำว่า "เน่า" หมายความว่าถ้าใครกระทำผิดคะลำในวันนี้แล้ว เวลาตายไปจะเน่าเหม็น สำหรับในวันนี้ของสังคมอีสานในอดีตถือว่าเป็นวันหนึ่งในรอบปีที่ต้องผ่อนคลาย สนุกสนานให้เต็มที่ การเตรียมการเตรียมงานหรือเวียกงานต่างๆต้องกระทำก่อนหน้านั้นให้เสร็จสิ้น หากมีบุคคลใดฝ่าฝืนทำสิ่งใดในวันนี้ถือว่าคะลำ ไม่เจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขายไม่ขึ้น จะต้องตายเน่าตายเหม็นอย่างไม่มีศักดิ์ศรี ซึ่งคล้ายกับข้อห้ามของวันว่างในประเพณีของคนใต้
สำหรับข้อคะลำที่ห้ามประพฤติปฏิบัติในวันเนาตามความเชื่อของคนอีสานมีดังนี้
- ห้ามผ่าฟืน ฟันฟืน
- ห้ามตำข้าว ห้ามเปิดยุ้งข้าวตักข้าว
- กองฟืนจะต้องหาพงหนามไปปิดไว้
- ครกตำข้าวจะต้องเอาพงหนามไปปิดไว้
- ห้ามทอผ้า
- ห้ามสานแห
สรุปคือห้ามทำการงานทุกอย่างในวันดังกล่าว ให้สนุกสนานร่วมงานของเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ถือว่าเป็นการผ่อนคลายความเคร่งเครียดตรากตรำทำงานตลอดปีอีกวันหนึ่ง


    ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลาอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำอื่นๆที่สอดคล้องกับเวลา เช่น
- อย่าตอกตะปูตอนกลางคืน คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจรบกวนคนอื่นที่ต้องการพักผ่อนได้)
- อย่าตัดเล็บ ตัดผมเวลากลางคืน
- อย่าล้างถ้วยชามเวลากลางคืน
- เดินทางกลางคืนอย่าพูดเรื่องอัปมงคล
- กินข้าวยามวิกาล ตอนดึก คะลำ
- อย่ากวาดบ้านเวลากลางคืน ยกเว้นบริเวณที่จะกินข้าว
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกวาดสิ่งของสำคัญตกลงไปข้างล่าง จะหาลำบาก เพราะในอดีตไม่มีไฟฟ้า มีเพียงกะบอง หรือไต้ที่ไม่ค่อยสว่างและสะดวกนัก)
- อย่าเข็นฝ้าย(ปั่นฝ้าย)ตอนกลางคืน คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เสียงจะดังก่อความรำคาญรบกวนคนอื่นได้)
- อย่าเคี้ยวหมากนอนตอนกลางคืน
(ภูมิปัญญาแฝง : คำหมากอาจติดข้อเป็นอันตรายได้)
- อย่าฝัดข้าวตอนกลางคืน
(ภูมิปัญญาแฝง : เสียงดัง อาจก่อความรำคาญให้แก่คนอื่นได้)
- อย่าต่อยมองแฮง(แรง)ยามเช้า อย่าตำข้าวสักกะวันยามดึก
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจก่อความรำคาญให้แก่ผู้ที่ยังไม่ตื่น และกำลังหลับอยู่ได้)
- อย่าผิวปากเวลากลางคืน คะลำ
- (ภูมิปัญญาแฝง : อาจก่อความรำคาญให้คนอื่นได้)
- อย่านอนเวลาบ่ายคล้อย คะลำ เพราะเป็นช่วงที่ผีตกป่า(เผาศพ)
(ภูมิปัญญาแฝง : ช่วงดังกล่าวคนส่วนใหญ่ต้องทำงาน หากนอนแล้วจะเสียการงาน และแรงงานโดยไม่จำเป็น รวมทั้งช่วงดังกล่าวเมื่อตื่นขึ้นมามักจะไม่สดชื่น แข็งแรง อารมณ์เสียได้ง่าย)
- ตีด่ากันในวันพระ คะลำ
- เวลานอน คุยกัน คะลำ
- สาวไหมวันพระ คะลำ
- เวลาออกล่าสัตว์ อย่ากินข้าวกับเนื้อสัตว์ มันคะลำ
เป็นต้น

จากที่ยกตัวอย่างข้อคะลำมาพอประกอบข้างต้นจะเห็นว่า ข้อคะลำทั้งหมดเป็นมาตรการในการควบคุมดูแลและเป็นมาตรฐานของพฤติกรรม ความประพฤติที่พึ่งปรารถนาของสังคม รวมทั้งแบบแผนปฏิบัติส่วนบุคคลที่จะก่อให้เกิดผลด้านบวกแก่ผู้ถือข้อคะลำ ทั้งในด้านสวัสดิภาพชีวิต ความมั่นใจ กำลังใจในการดำเนินชีวิตโดยตนเองและความสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งในปัจจุบันยังคงหลงเหลือข้อคะลำอยู่หลายข้อที่คนอีสานยังยึดถือปฏิบัติและมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ ค่านิยมและอุดมการณ์ในสังคม ซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่ตกทอดจากการสั่งสมปฏิบัติของบรรพบุรุษคนอีสานที่ได้ยึดถือกันมา 


credit: www.pantown.com


บันทึกการเข้า

ถึงเมาเหล้า เช้าสายก็หายไป...แต่เมาใจเป็นประจำ ทุกค่ำคืน

Nattawut-LSV Team
E23IUY
.กลุ่มผู้มีน้ำใจงาม.
member
*

คะแนน808
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3581


อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2008, 05:39:07 pm »

 มีความรู้มากๆ เลยครับ
  Cheesy Cheesy Cheesy
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป: