เลือกเครื่องเสียง "มินิคอมโปเน้นท์"
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"
พฤศจิกายน 25, 2024, 06:16:38 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เลือกเครื่องเสียง "มินิคอมโปเน้นท์"  (อ่าน 5090 ครั้ง)
BenQ
member
*

คะแนน214
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4790


อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 19, 2007, 12:42:19 am »

เลือกเครื่องเสียง "มินิคอมโปเน้นท์" by wijit
 
มินิคอมโปเน้นท์ มีรากฐานมาจากเครื่องเสียงไฮไฟ-สเตอริโอชุดใหญ่ และวิทยุกระเป๋าหิ้ว ผสมผสานแนวควมคิดข้อดีข้อเสียของเครื่องเสียงทั้ง 2 ประเภท เพื่อหาจุดลงตัวที่ดีที่สุดสำหรับ "ผู้รักเสียงดนตรี แต่มีขนาดห้องจำกัด" นั่นน่าจะเป็นเป้าประสงค์หลักครั้งแรก ๆ ของการผลิตเครื่องเสียงชนิดนี้ขึ้นมา

กาลเวลาเปลี่ยนผันไปนาน ๆ เข้า ความคิดของผู้ออกแบบและผู้ใช้เริ่มเปลี่ยนแปร เพราะเดี๋ยวนี้เครื่องเสียงมินิคอมโปเน้นท์กลายเป็น "แฟชั่น" ทางเสียงไปเสียแล้ว หรือไม่ก็กลายเป็นของประดับบ้านชิ้นหนึ่ง ซึ่งต้องมีทั้งความสวยหรู เก๋ไก๋ และเสียง "ดัง" ขึ้นมา สร้างบรรยากาศเสียงเพลงได้ ส่วนจะมีคุณภาพเสียงมากน้อยแค่ไหน ยากที่จะประเมินได้
 
เครื่องเสียงมินิคอมโปเน้นท์ มักถูกค่อนขอดจากนักเล่นเครื่องเสียงระดับ "เซียน" เสมอมาว่า เป็นประดิษฐกรรมทางเสียงที่ชวนรกหู มากกว่าความสุนทรียรสของดนตรี ซึ่งควรจะมีให้แก่ผู้บริโภค นั่นเป็นความจริงส่วนหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธได้ อย่างไรก็ตามมีเครื่องเสียงมินิคอมโปเน้นท์ไม่ใช่น้อยในยุคปัจจุบัน ที่มีสมรรถนะสูงส่งเสียบเคียงเครื่องเสียงชุดใหญ่ได้อย่างสบาย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพเสียงเข้าขั้นไฮ-ฟิเดลิตี้ หรือสารพัดฟังก์ชั่นลูกเล่นที่ประดับประดาบนหน้าปัดจนเพียบ กระทั่งบางทีเจ้าของยังไม่สามารถเล่นได้ครบถ้วน แม้จะซื้อมาตั้งปีแล้วก็ตาม

ที่จริงมินิคอมโปเน้นท์ น่าจะแยกออกได้ 2 ประเภท คือ

1. มินิคอมโปเน้นท์ที่อยู่ในเกรดวิทยุกระเป๋าแบก
นั่นคือการอัพเกรดวิทยุกระเป๋าแบกที่มีขนาดใหญ่โต เทอะทะ ให้ดูมีส่วนคล้ายเครื่องเสียงแยกชิ้น วิธีการของผู้ผลิตคือจับมันมาตกแต่งหน้าตาเสียใหม่ ด้วยการดีไซน์หน้ากากให้ดูเหมือนว่าตัวเครื่องแยกชิ้นวางซ้อน ๆ กัน สามารถจัดลำโพงแยกออกไปได้ในระบบสเตอริโอคือมีแชนแนลซ้ายขวา บางคนก็เลยลากสายลำโพงเสียยาวเหยียด วางลำโพงไว้คนละมุมห้อง เสียงที่ได้ก็ออกจากแปลก ๆ ไป

ตัวเครื่องจะติดกันเป็นพืด ซึ่งผลเคยขนานนามว่าเครื่องเสียงประเภท "ตีนเป็ด" ลักษณะการออกแบบ "หลอกตา" อย่างนี้ มีแม้กระทั่งเครื่องเสียง COMPONENT ชุดใหญ่ซึ่งดูเผิน ๆ คล้ายเครื่องแยกชิ้นวางซ้อนกันอยู่ แต่พอไปขยับเขยื้อนถึงได้รู้ว่ามันติดกันเป็นหนึ่งเดียวทุก ๆ ภาค ไม่ว่าจะเป็นคาสเซ็ตเทป, จูนเนอร์ (ภาครับวิทยุ) หรือคอมแพ็กดิสก์, แอมปลิไฟร์เออร์

มินิคอมโปเน้นท์ที่ยึดหรืออิงพื้นฐานของวิทยุกระเป๋าหิ้ว มักจะให้คุณภาพเสียงที่ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย เพราะตัวเครื่องจะมีภาคแอมปลิไฟร์ที่ให้กำลังขับในระดับต่ำเช่น 5 วัตต์ต่อข้าง จนถึง 15 วัตต์ต่อข้างแต่ก็มักจะโฆษณา "กำลังขับชั่วครู่" หรือ PMPO (PEAK MUSIC POWER) เป็นหลักกำลังขับก็เลยจะดูสูงลิ่ว โดยไม่ค่อยจะมีกฎเกณฑ์รองรับว่า เขาวัดกำลังขับกันที่ตรงมาตรฐานไหน?

มินิคอมโปเล็ก ๆ บางเครื่องถึงกับโฆษณาสรรพคุณว่า มีพลังขับถึง 1,000 วัตต์ก็มี

2. มินิคอมโปเน้นท์เกรดเครื่องเสียงชุดใหญ่
เป็นผลงานมินิคอมโปเน้นท์อีกระดับหนึ่งที่ยากจะดูแคลนได้ เนื่องจากเป็นการออกแบบของผู้ผลิตที่มีความชำนาญในเรื่องเครื่องเสียงชุดมาตรฐาน มีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอเรื่องเครื่องเสียงมินิแบบย่อส่วนขนาดของเครื่องแต่ไม่ย่อคุณภาพ คุณภาพเสียงและลักษณะวงจร จะมีความใกล้เคียงเครื่องเสียงระดับออดิโอไฟล์ สาเหตุที่ย่อส่วนขนาดเครื่องให้เล็กลงมาได้ ก็เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้สร้างผลิตภัณฑ์จำพวกวงจรรวมย่อส่วน หรือ "ไอซี" ขึ้นมาทำงานทดแทนทรานซิสเตอร์และแผงวงจรขนาดยักษ์ โดยทำการย่อส่วนให้เล็กลงมาได้ตั้งแต่ 10-20 เท่าตัว ยิ่งในปัจจุบัน วงจรย่อส่วนพิเศษอย่าง VLSI จะสามารถลดขนาดของอุปกรณ์ทางอิเล็กโทรนิกส์ลงมาได้ถึง 40 เท่า จะยิ่งทำให้การสร้างเครื่องเสียงประเภทเล็กจิ๋วได้อย่างง่ายดายมากขึ้น เมื่อห้าหกปีที่แล้วบ็อบ คาร์เวอร์ เคยเสนอวงจรแอมป์คลาส H ของเขาที่ใช้วงจรย่อส่วนดังกล่าว ทำให้แอมปลิไฟร์ขนาด 400 วัตต์ต่อเนื่อง (RMS) มีขนาดเล็กพอที่จะวางบนฝ่ามือได้

มีข้อสังเกตประการหนึ่งสำหรับเครื่องมินิคอมโปเน้นท์ระดับ "ไฮเกรด" เหล่านี้ มักจะผลิตโดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องเสียงบ้านเป็นหลัก และก็จะสร้างหรือออกแบบให้เป็นเครื่องเสียงมินิคอมโปเน้นท์แยกชิ้นจริง ๆ ไม่ใช่แบบ "เครื่องเสียงตีนเป็ด" เหมือนผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตรายอื่น ๆ

การบอกสเปกซิฟิเคชั่น ก็จะใช้มาตรฐานเดียวกันกับเครื่องเสียงไฮไฟชุดใหญ ่ตั้งแต่การบอกกำลังขับต่อเนื่อง ไปจนถึงค่าความเพี้ยนรวม (THD) ต่าง ๆ ของเครื่องระดับราคาของมินิคอมโปเน้นท์ประเภทนี้ บางรุ่นมีการแยกส่วนต่าง ๆ ของเครื่อง ไปจนถึงระดับปรี-เพาเวอร์ ซึ่งนับว่าเป็นการนำเสนอที่ท้าทายมาก เพราะต้นทุนจะสูงกว่ามินิคอมโปเน้นท์ธรรมดา ๆ ส่วนเครื่องที่ใช้เป็นแหล่งโปรแกรมต่าง ๆ ก็จะแยกกันไปทั้งคาสเซ็ตเด็ค, จูนเนอร์ และคอมแพล็กดิสก์ล่าสุดโปรแกรมที่กำลังทำท่าจะมาแรงในชุดมินิคอมโปเน้นท์ประเภทนี้ก็คือมินิดิสก์

อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องเสียงมินิคอมโปเน้นท์ก็มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อให้เป็นชุดเครื่องเสียงชุดที่ 2 ของบ้านมิใช่ชุดเครื่องเสียงหลัก ดังนั้นจุดอ่อนของมินิคอมโปเน้นท์ทุกประเภท จึงไปอยู่ที่ลำโพงด้วยกันทั้งสิ้น

ลำโพงจะเป็นเสมือนสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อให้ "เต็มชุด" มากกว่าที่จะไปเน้นเรื่องคุณภาพของมัน เพราะผู้ออกแบบมักจะคำนึงถึงเรื่องความแมทช์กันทางรูปร่างหน้าตาเป็นสำคัญ นั่นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่ามินิคอมโปเน้นท์ยังไม่สามารถหลีกหนีจากกฎเกณฑ์ของความเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งของบ้านไปได้ ความสวยงามของเครื่องเป็นสิ่งที่จะต้องมีการประกวดกันอยู่ในที จะอาศัยเพียงว่าเสียงดีแล้วจะขายได้นั้น เป็นเรื่องยากยิ่ง

แรงจูงใจของผู้ซื้อ ลำดับแรกคือความสวยงามนั่นเอง!

ที่มาหรือแหล่งผลิตเครื่องเสียงมินิคอมโปเน้นท์นั้น ส่วนใหญ่คือจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเครื่องเสียงประเภทนี้ต่อมาราคาค่าแรงในญี่ปุ่นสูงขึ้น จึงนำเงินมาลงทุนในต่างประเทศ ด้วยการตั้งโรงงานประกอบเครื่องเสียงตามแถบประเทศเอเซีย เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย

สังเกตได้อย่างหนึ่งว่า เครื่องมินิคอมโปเน้นท์ราคาสูง ๆ มักผลิตและประกอบขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ส่วนรุ่นถูก ๆ นั้นก็ผลิตขึ้นในประเทศแถบเอเซีย ระยะหลัง ๆ ไต้หวัน-เกาหลี ต่างมีปีกกล้าขาแข็งขึ้น จึงได้สร้างผลิตภัณฑ์ในแบรนด์เนมของตนเองออกมาก็ได้อาศัยการลอกเลียนแบบญี่ปุ่นในด้านเทคโนโลยีนั่นเอง มินิคอมโปเน้นท์ประเภทนี้สามารถสั่งผลิตในยี่ห้ออะไรก็ได้ในลักษณะ OEM เราจึงได้เห็นมินิคอมโปหลากสไตล์ยี่ห้อและรูปแบบ ผุดขึ้นทั่วทุกห้างสรรพสินค้า

ลักษณะโครงสร้างโดยทั่วไป มินิคอมโปเน้นท์จากประเภทญี่ปุ่น ยังคงมีความประณีตเรียบร้อยกว่า เทคนิคสูงกว่าเครื่องที่ผลิตมาจากแหล่งอื่น ๆ รวมตลอดไปจนถึงเรื่องของความทนทานด้วย

น่าแปลกที่สินค้าอเมริกา ไม่มีบริษัทไหนผลิตเครื่องเสียงในลักษณะมินิคอมโปเน้นท์ออกมา ในขณะที่ค่ายยุโรปอย่างสวีเดน กลับมีเครื่องมินิคอมโปเน้นท์เทคนิคสูงมากออกมาวางจำหน่าย อาจพูดได้ว่าก้าวล้ำนำหน้าญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป เช่น ยี่ห้อ BANG & OLUFSEN (B&O) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการสอดใส่ฟังก์ชั่นลูกต่าง ๆ นั้น ญี่ปุ่นก็ยังแพรวพราวเหมือนเดิมชนิดหาตัวจับยาก

การเลือกซื้อมินิคอมโปเน้นท์นั้น ผมได้พยายามประมวลหลักการเอาไว้หลายข้อด้วยกัน ซึ่งหากท่านผู้อ่านที่กำลังคิดจะมีเครื่องเสียงชุดที่ 2 ของบ้าน หรือเครื่องเสียงสำหรับคอนโดมิเนียมกะทัดรัด…
ขอให้ลองพิจารณาคำแนะนำต่อไปนี้ดูครับ

1. มินิคอมโปเน้นท์ไม่ควรเป็นวิทยุกระเป๋าหิ้ว (แบก)
นั่นก็คือเรื่องของการออกแบบมินิคอมโปเน้นท์ ที่ยังจัดเกรดของตัวเครื่องไม่ได้ต่างไปจากวิทยุกระเป๋าหิ้ว เพียงแต่มีการปรับรูปแบบบางอย่างให้ดูดีขึ้นเท่านั้น เช่น การแยกลำโพงในระบบสเตอริโอซ้าย-ขวาออกจากตัวเครื่องได้ โดยมีส่วนลำโพงดำแดงขนาดเส้นเล็กเท่าหนวดกุ้งมาให้ ในขนาดความยาวข้างละเมตรเศษ ๆ ส่วนตัวเครื่องนั้นยังติดต่อกันเป็นพืด แม้ว่าจะมีแหล่งโปรแกรมครบถ้วย ไม่ว่าจะเป็นคาสเซ็ตเทป ซึ่งก็มักจะมีเทปคู่หรือดับบิ้งเด็คที่สามารถก็อปปี้เทปจากเครื่องที่หนึ่งไปยังเครื่องที่สองได้ จูนเนอร์ภาครับสัญญาณวิทยุชนิดคลื่นเอฟเอ็มสเตอริโอและเอเอ็ม (ซึ่งมักจะรับได้ไม่ค่อยจะชัดเจนนัก)

ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ เครื่องที่มีราคาถูกและมีแหล่งผลิตมาจากไต้หวัน เกาหลีมักจะวางตำแหน่งของคอมแพ็กดิสก์เอาไว้ด้านบนสุด ปิดเปิดฝาแบบเดียวกับเครื่องซีดีวอล์คแมน นั่นก็คือ เปิดฝาขึ้นเหมือนดังกับการเปิดเปลือกหอยเชลล์ ซึ่งจะว่าไปแล้วรูปทรงและลักษณะการดีไซน์แบบนี้ ดูไม่สวยงามเอาเสียเลย แต่ผู้ออกแบบคงจะพยายามยึดหลัก "ความง่าย" เข้าว่า และยังสามารถหลีกพ้นในเรื่องของสัญญาณรบกวนได้ดีกว่ามินิคอมโปเน้นท์ที่มีคอมแพ็กดิสก์รวมอยู่ในเครื่อง โดยที่มิใช่เครื่องประเภทแยกชิ้น จะต้องยอมรับว่ามีสัญญาณรบกวนมากมาย ที่จะเกิดกับภาคคอมแพ็กดิสก็คุณภาพเสียงจึงมักจะลดทอนลงไปมาก เนื่องจากวงจรจูนเนอร์นั้น มักจะรับสัญญาณคลื่นความถี่ต่าง ๆ เข้ามาอย่างมากมายการจัดระบบของเครื่องเอาไว้ในตัวถังเดียวกันจึงเกิดการรบกวนได้มากที่สุด ในขณะที่ภาคเทปคาสเซ็ตกลับจะไม่มีผลกระทบในเรื่องมากนัก

ในเครื่องคอมแพ็กดิสก์เพลเยอร์ชั้นดีเขาจะออกแบบให้ผู้ฟังสามารถปิด "ไฟดิสเพลย์" บนหน้าปัดเครื่องได้ ก็เพราะมีนักฟังประเภทออดิโอไฟล์หูทองสามารถฟังออกว่า เจ้าตัวเลขแสดง TRACK, TIME เหล่านั้นส่งผลรบกวนต่อวงจรและพิคอัพเลเซอร์ของตัวเครื่อง ซึ่งตอนแรกที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็ยังไม่ปักใจเชื่อนัก ต่อมาได้มีโอกาสทดสอบคอมแพ็กดิสก์เพลเยอร์ระดับ 40,000 บาทเครื่องหนึ่ง ซึ่งมีฟังก์ชั่นปิดดิสเพลย์หน้าจอได้ ผมก็จึงได้ทดลองเปรียบเทียบการฟังดูว่าระหว่างปิดและเปิดดิสเพลย์มีผลต่างกันอย่างไรบ้าง ผลปรากฏว่า ในขณะที่เปิดไฟดิสเพลย์เครื่องฟังนั้น เสียงจะดูแห้งและหยาบกระด้างกว่าเมื่อปิดไฟดิสเพลย์ เสียงที่ได้จากตอนปิดไฟหน้าปิด ดูฉ่ำ กังวานหวาน เสนาะหูกว่ามาก ได้ใช้เวลาในการฟังทดสอบเกือบ 2 เดือนเต็ม ๆ จึงสรุปได้ว่า

ไฟหน้าปัดมีส่วนรบกวนคุณภาพเสียงของคอมแพ็กดิสก์เพลเยอร์จริง ๆ

ดังนั้น จึงต้องยอมรับและทำใจเอาไว้แต่เบื้องต้นว่า เครื่องมินิคอมโปเน้นท์ประเภทแยกลำโพงได้อย่างเดียว ส่วนตัวเครื่องติดกันเป็นพืดแบบตีนเป็ด มีคอมแพ็กดิสก์บรรจุเอาไว้ด้วยนั้น อย่างคาดหวังเอาไว้มากนักว่ามันจะให้คุณภาพเสียงที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม่ว่าผู้ออกแบบจะได้สร้างวงจรป้องกันใด ๆ เอาไว้ก็ตาม ยังมีข้อควรระวังอีกประการหนึ่งสำหรับคอมแพ็กดิสก์ในคอมโปเน้นท์ชนิดมินิอีกก็คือ เครื่องที่มีราคาถูก ๆ มักออกแบบโดยลืมคิดคำนึงถึง "ฝุ่น" ที่อาจจะเข้าไปเกาะติดที่พิคอัพ-เลเซอร์ได้ ช่องว่างระหว่างถาดใส่ซีดีกับตัวเครื่องของมินิคอมโปบางรุ่น มีช่องว่างที่ห่างมากเกินไป เปิดโอกาสให้ฝุ่นเข้าไปทำลายเครื่อง หรือสะสมจนถึงระดับหนึ่งที่อาจทำให้ตัวฉายลำแสงเสียหายได้

ในภาคซีดีเพลเยอร์ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ควรสนใจอีก นั่นคือการเคลื่อนตัวของถาดใส่ซีดี ควรจะมีความนุ่มนวลพอสมควร ระบบกลไกไม่ควรจะดังมาก มินิคอมโปเน้นท์บางเครื่องมีเสียงการเคลื่อนตัวของชุดควบคุมการขับหมุนดัง "กริ๊ก ๆ" อยู่ตลอดเวลา นั่นแสดงให้เห็นถึงเกรดของภาคคอมแพ็กดิสก์เพลเยอร์ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เสียงดังที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นเสียงซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับซีดีเพลเยอร์ในรถยนต์ด้วย ถ้าเลือกได้ควรเลือกเครื่องที่มีระบบกลไกดังน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามเลือกเครื่องที่มีดิสก์เพลย์หรือจดขนาดเล็ก เพื่อที่ว่าสัญญาณรบกวนจะได้มีปริมาณไม่มากนัก

ถ้ามินิคอมโปเน้นท์เครื่องใดสามารถหรี่และปิดดิสก์เพลย์ทั้งหมดได้ น่าจะเป็นเครื่องที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้นิยมคุณภาพเสียงเป็นหลัก ส่วนมากมินิคอมโปเน้นท์ประเภทนี้จะเป็นเครื่องแยกชิ้นอิสระทั้งสิ้น มินิคอมโปเน้นท์นั้น หากยังคงรูปแบบของวิทยุกระเป๋าหิ้วเอาไว้ ยากที่จะมีการพัฒนาหรือยกระดับเครื่องขึ้นไปได้ เพราะแยกได้แต่เฉพาะลำโพง แต่ไม่สามารถแยกตัวเครื่องออกจากกันได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องซื้อเครื่องประเภทนี้ ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องได้ฟังก์ชั่นหรือเซ็คชั่นของเครื่องทุกอย่าง อาจจะซื้อคอมแพ็กดิสก์เพลเยอร์ นอกต่างหากอีก 1 เครื่อง ในตัวของมินิคอมโปเน้นท์ควรมีแค่คาสเซ็ต จูนเนอร์ และแอมปลิไฟร์เออร์ (แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวเครื่องมินิคอมโปประเภทรวมชิ้น ต้องอินพุทประเภทไลน์อินพุท สำหรับเสียบต่อเครื่องภายนอกได้) หากว่าในวันข้างหน้า คุณต้องการซื้อเครื่องเสียงชุดใหญ่ คอมแพ็กดิสก์ที่ซื้อมาใช้ในมินิคอมโป คุณสามารถนำไปใช้เป็นแหล่งโปรแกรมของเครื่องเสียงชุดใหม่ได้

การเชื่อมต่อของเครื่องประเภทแยกชิ้นในมินิคอมโปเน้นท์นั้น บางครั้งต้องสังเกตดูเหมือนกันว่าเขาใช้วิธีการต่อด้วนอาร์ซีเอแจ็ค หรือแผงสายแบบคอมพิวเตอร์ ถ้ามีการต่อแบบหลังก็ดูจะไม่ต่างไปจากเครื่องประเภท "ตีนเป็ด" นักเท่าไร เพราะมันสามารถแยกออกเป็นชิ้น ๆ และวางห่างกันได้เล็กน้อยเท่านั้น

เครื่องที่ใช้การเชื่อมต่อแบบอาร์ซีเอแจ็คนั้น ถือว่าเป็นเครื่องในระดับสูงที่สุดของมินิคอมโปเน้นท์

ลำโพงในชุดมินิคอมโปเน้นท์ คือจุดอ่อนที่สุดของซิสเต็ม ขอให้ท่านผู้อ่านรับทราบเหตุผลข้อนี้เอาไว้เสียตั้งแต่แรก การเลือกซื้อมินิคอมโปประเภทแยกชิ้นจริง ๆ ผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดออดิโอไฟล์จึงแยกขายตัวเครื่องเป็นชิ้น ๆ หรือเป็นชุดโดยไม่มีลำโพงมาเกี่ยวข้อง ผู้ซื้อจะต้องเลือกหาซื้อลำโพงจากผู้ผลิตอื่น ๆ แทน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

อย่างเช่นคอมโปเน้นท์ DENON ชุด PRESTA นั้น เขาจะมีออฟชั่นพิเศษให้เลือกว่า คุณจะใช้ลำโพงของ DENON เอง ในรุ่น SC-F 10 หรือจะเลือกใช้ INFINITY REFERENCE 1 ก็ได้ ตามแต่ผู้ซื้อเห็นสมควรนอกจากลำโพง 2 รุ่นดังกล่าวแล้ว ก็ยังเปิดโอกาสให้ได้เลือกหาซื้อลำโพงอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสมเรียกว่าเครื่องไปแต่อย่างเดียว เรื่องลำโพงไปจัดการกันเองเอง คนที่ชอบดีไซน์แบบลงตัวทุกอย่าง คงไม่ชอบวิธีการแบบนี้นัก แต่ต้องไม่ลืมว่าการพิจารณาจากแคตาล็อค ใบปลิวโฆษณาต่าง ๆ นั้น ทางผู้ผลิตมักจะจับคอมโปเน้นท์ทั้งชุดมาวางชิดติดกับลำโพง จนดูเป็นส่งที่สวยงาม ทั้ง ๆ ที่ในความจริง ลำโพงที่วางแนบชิดติดกับตัวเครื่องจะก่อผลเสีย 2 ประการด้วยกัน คือ

ประการที่หนึ่ง ทำให้ความกว้างของเวทีเสียง (SOUND STAGE) ไม่ดีพอ ฟังดูแล้วเวทีของเสียงคับแคบ เนื่องจากลำโพงวางชิดติดกันเกินไป

ประการที่สอง การวางลำโพงชิดตัวเครื่อง มักจะทำในระบบของคาสเซ็ตถูกรบกวนจากสนามแม่เหล็กของลำโพง เนื่องจากลำโพงในชุดมินิคอมโปเน้นท์ทั้งหลาย มักไม่มีการชีลด์แม่เหล็กของไดรเวอร์กันแต่อย่างใด เมื่อคาสเซ็ตถูกรบกวนจากสนามแม่เหล็ก ก็จะทำให้เสียงของคาสเซ็ตเทปเลวลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในแง่ของเสียงแหลมนั้น เห็นได้ชัดเจนมาก ท่านที่เล่นมินิคอมโปโดยการวางลำโพงไว้ชิดตัวเครื่องเพื่อความสวยงาม โปรดได้ตระหนักในเรื่องนี้ด้วย

. การแสวงหาลำโพงให้ชุดมินิคอมโปเน้นท์ ต้องคำนึงถึงกำลังขับของแอมป์
 เมื่อคุณไม่พึงพอใจคุณภาพเสียงจากมินิคอมโปเน้นท์ มักจะพยายามหาทางเปลี่ยนลำโพงเป็นอันแรก แต่ก็ลืมพิจารณากำลังขับของแอมปลิไฟร์ในชุดว่ามีเพียงพอหรือไม่ การบอกกำลังขับของชุดมินิคอมโปเน้นท์นั้น ในปัจจุบันออกจาก "ดุเดือด" เกินความเป็นจริงไปสักหน่อย เครื่องคอมโปขนาดจิ๋วบางเครื่อง โฆษณาว่ามีพลังขับถึง 80 หรือ 1,000 วัตต์ (PMPO) นั้นเป็นการสร้างแรงจูงใจผู้ซื้อให้เข้าใจผิด ๆ มาตลอด เพราะมาตาฐานของ PMPO ไม่มีการจับจัดที่แน่นอน เครื่องประเภทนี้บางรุ่นมีกำลังขับที่วัดได้จากการทดสอบเพียง 1 วัตต์ต่อเนื่อง (ต่อแชนแนล) แต่เมื่อโฆษณาเป็นเพ็คมิวสิกเพาเวอร์ (หมายถึงพลังเสียงสูงสุดที่เครื่องทำได้ชั่วเล่นตามสัญญาณดนตรีที่ความต้านทานต่ำกว่า 2 โอห์ม) กลับบอกว่ามีกำลังขับ 800 วัตต์

นั่นแสดงให้เห็นว่า ถ้าจะยึดถือมาตรฐาน CONTINOUS POWER ในรูปแบบของอุตสากหกรรมอเมริกัน ต้องเอา 50 หารกำลังขับชนิด PMPO จึงจะได้กำลังขับที่แท้จริง

ดังนั้น กำลังขับต่ำ ๆ ในภาคแอมปลิไฟร์ของมินิคอมโปเน้นท์ จึงยากนักที่จะหาลำโพงชั้นดีมาใช้งานด้วยกันได้ ลำโพงที่นำมาใช้กับมินิคอมโปเน้นท์ ควรมีความไวสูงมาก ๆ ซึ่งเมื่อดูจากค่าความไวของลำโพง (SENSITIVITY) ควรมีความไวเกิน 93 dB / WATT / METER นั่นคือลำโพงที่มีความไวระดับ 93 เดซิเบล เมื่อป้อนกำลังขับ 1 วัตต์ต่อเนื่องที่ระยะ 1 เมตร ลำโพงความไวขนาดนี้มักจะไม่ใช่ลำโพงไฮไฟชั้นเลิศเสียด้วย ลำโพงประเภทเบสรีเฟล็กซ์หรือตู้เปิด (BASS REFLEX) มักจะมีความไวในระดับนี้

 การฝืนใช้กำลังขับระดับต่ำ ๆ ของมินิคอมโปเน้นท์ไปขับลำโพงความไวต่ำ ผลที่ได้ก็คือทวีตเตอร์ของลำโพงขาด, ไหม้, เสียหาย เนื่องจากกำลังขับของแอมป์ไม่เพียงพอ เมื่อมีการเร่งวอลุ่มสูง ๆ ก็จะทำให้มีความเพี้ยนในระดับสูงออกมามากเกินไป ความเพี้ยนจะเป็นตัวการทำลายลำโพงได้ดียิ่งหรือไม่เช่นนั้นตัวแอมปลิไฟร์ในมินิคอมโปเน้นท์นั้นเองก็จะเสียหาย อันเกิดจากทรานซิสเตอร์ไหม้เนื่องจากการทำงานเกินกำลังความสามารถของมัน

พลังขับและความเพี้ยนในมินิคอมโปเน้นท์ เป็นจุดสำคัญที่ผู้ซื้อจะต้องพิจารณาให้เหมาะสม และให้ความสำคัญมาก ๆ แม้ว่าเครื่องมินิคอมโปเน้นท์จะบ่งบอกถึงสมรรถนะด้านกำลังขับในใบโบรชัวร์ หรือสมุดคู่มือคุณก็ต้องไม่ลืมว่ากำลังขับนั้นมีวิธีการบอกอีกหลายวิธี นอกเหนือไปจากวัตต์แบบ PMPO ที่เราพูดถึงกันในตอนต้น ๆ

การระบุสเปกถึงกำลังขับของภาคแอมปลิไฟร์ มีสิ่งที่เรียกว่าซ่อนแร้นอีกมากมาย กำลังขับที่แท้จริง จะต้องมีความสัมพันธ์กับค่าความต้านทาน (โหลด) และความเพี้ยนรวมของเครื่อง (THD : TOTAL HARMONIC DISTORTION)

ตามปกติ แอมปลิไฟร์เออร์ระดับออดิโอไฟล์จะต้องบอกกำลังขับที่ความต้านทาน 8 โอห์ม เนื่องจากเป็นค่าความต้านทานกลาง ๆ ที่ลำโพงตามปกติทั่วไประบุสเปกของมันโดยเฉลี่ย และมีความใกล้เคียงการใช้งานจริง ๆ ในภาคปฏิบัติ แต่เครื่องระดับมินิคอมโปเน้นท์บางรุ่นมักจะ "หนี" ค่ามาตรฐานนี้ออกไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าแอมปลิไฟร์ของเรามีกำลังขับในระดับสูงโดยลดค่าความต้านทานลงมาเป็น 6 โอห์ม หรือ 4 โอห์ม การระบุสเปกภาคกำลังที่ความต้านทานต่ำ ๆ จะดูว่าได้กำลังขับเพิ่มขึ้นยกตัวอย่างการเปรียบเทียบสเปกของเครื่องเสียงต่อไปนี้
AMPLIFIER-A : 20 WATTS PERCHANNEL, 8 OHMS (RMS)
AMPLIFIER-B : 40 WATTS PERCHANNEL, 4 OHMS (RMS)
AMPLIFIER-C : 70 WATTS PERCHANNEL, 2 OHMS (RMS)

แอมปลิไฟร์เออร์ทั้ง 3 เครื่องนั้น (A, B, C) มีกำลังขับเท่ากันทั้งหมด เพียงแต่บอกค่าความต้านทานที่ต่ำลง ก็จะได้กำลังขับที่สูงขึ้นหนึ่งเท่าตัว (หรือเกือบถึงหนึ่งเท่าตัว) และถ้าหากว่าพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีก

การบอกค่ากำลังขับที่ความถี่เสียงซึ่งต่างกัน ก็มีผลต่อกำลังขับที่ต่างกันด้วยมินิคอมโปเน้นท์และเครื่องเอวี-เซอราวด์มักนิยมบอกกำลังขับ โดยมีการระบุที่ความถี่ 1 KHz ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่ภาคแอมป์ปลิไฟร์ทั่วไปได้กำลังขับสูงที่สุด ส่วนแอมป์ระดบัออดิโอไฟล์จะต้องบอกกำลังขับในสเปกกวาดย่านความถี่ตั้งแต่ต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด คือ ระหว่าง 20 - 20,000 HZ สมมุติว่าแอมปลิไฟร์เออร์เครื่องหนึ่งระบุสเปกออกมา 2 แบบก็จะพบว่ากำลังขับที่ได้ก็ต่างกันด้วย เช่น
AMPLIFIER-D : 50 WATTS PERCHANNEL 8 OHMS (20-20,000 HZ)
AMPLIFIER-E : 60 WATTS PERCHANNEL, 8 OHMS (1 KHZ)

นั่นแสดงให้เห็นว่า เมื่อเจาะจงกำลังที่ขับที่ 1,000 HZ (หรือ 1 KHZ) ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่ภาคแอมปลิไฟร์ทำงานได้ดีที่สุด เราจะได้กำลังขับเพิ่ม 10-15 เปอร์เซ็นต์ และถ้าหากวัดกันละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็คือการระบุถึง ค่าความเพี้ยน ของแอมป์ควบคู่ไปด้วย ก็จะได้กำลังขับที่ใกล้เคียงการใช้งานจริงมากขึ้น การตั้งมาตรฐานความเพี้ยนที่ยอมรับได้ของสมาคมเครื่องเสียงอเมริกา กำหนดให้ค่าความเพี้ยนมาตรฐานในการเสนอสเปกซิฟีเอชั่นของแอมป์ จะต้องไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ แต่มีนิคอมโปเน้นท์บางเครื่องระบุความเพี้ยนถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ดูว่าแอมป์ของของเขามีกำลังขับสูงแต่เป็นขั้นตอนการทำงานที่ไม่เหมาะสม เพราะภาคแอมป์มีความเพี้ยนมากเกินไปสามารถจับความเพี้ยนนั้นได้

การระบุสเปกของภาคแอมปลิไฟร์ในมินิคอมโปเน้นท์ ต่อไปนี้ คือสเปกของเครื่องเดียวกันแต่มีวิธีการบอกไว้ 2 แบบ ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาดู
1. 100 WATTS PER CHANNEL (8 OHMS) 10% THD
2. 40 WATTS PER CHANNEL (8 OHMS) 0.5% THD
3. 32 WATTS PER CHANNEL (8 OHMS) 0.08% THD

สเปกในข้อที่ 3 ถือว่ามีมาตรฐานสูงสุดและถูกต้อง ตรงกับการใช้งานจริงมากที่สุดเพราะเป็นการระบุค่าความเพี้ยนที่ต่ำ ระดับ 0.08% ซึ่งก็จะได้กำลังขับเพียง 32 วัตต์ต่อข้าง ความเพี้ยนระดับนี้ถือว่าเข้าขั้นไฮฟิเดลิตี้ที่วงการออดิโอไฟล์ยอมรับได้ สังเกตว่าเมื่อระบุสเปกที่ความเพี้ยนระดับสูง ๆ กำลังขับจากแอมปลิไฟร์จะดูสูงขึ้นด้วย นี่คือกรรมวิธีของการระบุสเปกกำลังขับของเครื่องที่ทำให้ผู้ซื้อจะต้องใช้เวลาพินิจพิจารณาว่า จะยอมรับสเปกตรงไหนจึงจะตรงต่อการใช้งานจริง

บทสรุปก็คือ เลือกมินิคอมโปเน้นท์ที่บอกค่ากำลังขับที่ค่าความต้านทานสูงระดับ 8 โอห์ม แต่ความเพี้ยนต่ำที่สุดและได้กำลังขับสูงสุด จะได้เปรียบที่สุดเช่นกัน

3. ภาคจูนเนอร์เอฟเอ็มสเตอริโอ ควรให้การรับสัญญาณวิทยุที่ไวพอเพียง และมีความสะอาดของน้ำเสียงที่ดี
เมื่อเราต่อสายอากาศภาคจูนเนอร์ด้วยสายไดโพลที่แถมมากับเครื่อง มันควรจะรับสัญญาณวิทยุได้มากพอ ๆ กับการต่อกับแผงรับสัญญาณนอกอาคาร เพียงแต่สัญญาณนั้นอาจจะไม่แรงหรือนิ่งพอเท่านั้น เครื่องใดก็ตามเมื่อต่อสายอากาศไดโพล (ซึ่งแถมมากับเครื่อง) แล้วได้ภาครับที่ชัดเจนและรับได้มากสถานีกว่าเครื่องอื่น ๆ มีเสียงแทรกรบกวนน้อยกว่าด้วยละก็ขอให้เลือกเครื่องนั้น ๆ ไว้เป็นอันดันแรก ๆ ในการตัดสินใจซื้อ (ซึ่งก็อาจจะต้องนำไปพิจารณาร่วมกับข้อปลีกย่อยอื่น ๆ ด้วย)

ความสามารถในการตั้งโปรแกรมสถานีล่วงหน้า ไม่จำเป็นจะต้องมีมากนัก ระดับ 15-20 สถานี ก็ดูจะเกินพอแล้ว สำหรับคุณภาพสถานีส่งวิทยุเอฟเอ็มในบ้านเรา การตั้งโปรแกรมสถานีวิทยุไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้มีความสะดวกมากขึ้นในการเลือกหาสถานีที่ต้องการ

จอดิสเพลย์ที่แสดงถึงความแรงสัญญาณและแจ้งว่าสถานีที่รับได้นั้นเป็นระบบ MONO หรือ STEREO มีความสำคัญ ซึ่งตัวเครื่องมินิคอมโปเน้นท์ชั้นดี ควรมีฟังก์ชั่นนี้เอาไว้ให้ดูได้อย่างครบถ้วน

การจูนคลื่นหาสถานี ควรมีทั้งแบบแมนนวลและอัตโนมัติ เพื่อที่ผู้ใช้จะได้เลือกสถานีวิทยุซึ่งมีความแรงของสัญญาณไม่มากนักได้ (ในกรณีของแมนนวลคอนโทรล)

4. ภาคคาสเซ็ตเทปที่มักจะเป็นดับเบิ้ลเด็คหรือระบบเทปคู่ที่สามารถบันทึกจากเทป 1 สู่เทปเครื่องที่ 2 ได้
ฟังก์ชั่นของเครื่องราคาแพง จะสามารถเล่นเทศกลับหน้าแบบออโตรีเวิร์สได้ รวมถึงการบันเทิงด้วย ซึ่งตามปกติจะมีการใส่ฟังก์ชั่นบันทึกเทปอย่างต่อเนื่อง ด้าน A และด้าน B ในการดับบิ้ง หรือก๊อปปี้เทปคาสเซ็ตนั้น ก็จะใช้ฟังก์ชั่นไฮ-สปีด ซึ่งมีความเร็วกว่าการบันทึกหนึ่งต่อหนึ่งในอัตราที่เร็วกว่าสปีดปกติ 3-5 เท่าตัว คุณภาพจากการบันทึกในสปีดปกติ (หนึ่งต่อหนึ่ง) จะให้คุณภาพเสียงที่ดีว่าบันทึกในระดับไฮ-สปีค ซึ่งวิธีการแบบหลังควรใช้บันทึกข้อมูลหรือก๊อปปี้เทปที่ไม่สำคัญเท่านั้น เช่น อาจจะเป็นการก๊อปปี้เทปต้นฉบับการบรรยายทางวิชาการ เป็นต้น คุณภาพที่ด้อยลงในการก๊อปปี้เทปแบบไฮ-สปีคก็คือปลายเสียงแหลมจะห้วนกว่าการดับบิ้งหรือก๊อปปี้ระบบหนึ่งต่อหนึ่ง

ฟังก์ชั่นภาคคาสเซ็ตเทปที่จำเป็นต้องมีอีกประการหนึ่ง คือระบบลดเสียงรบกวนชนิดดอลบี้ ตามปกติมินิคอมโปเน้นท์ราคาถูก จะมีแค่ระบบดอลบี้-บี (DOLBY-B) แต่ในมินิคอมโปราคาสูงเข้าจะเพิ่มวงจร DOLBY-C มาให้ด้วย ทำให้การบันทึก-เล่นกลับในระบบนี้มีเสียงฮีสหรือเสียงซ่าน้อยลง (ดอลบี้-บีลดเสียงรบกวนในเนื้อเทปลงได้ประมาณ 15 ดีบี แต่ดอลบี้-ซี ลดเสียงรบกวนในเนื้อเทปได้มากถึง 30 ดีบี)

ระบบกลไกภาคเทปของมินิคอมโปเน้นท์ที่มีคุณภาพต่ำ มักมีเสียงดังก็อกแก็กน่ารำคาญหู ดังนั้นถ้าหากท่านมีโอกาสเลือกซื้อในสถานที่หรือร้านที่ผู้คนไม่พลุกพล่านมากนัก สามารถสังเกตความแตกต่างของระบบกลไกได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคคอมแพ็กดิสก์หรือภาคเทป

ในที่สุดแล้วคุณจะต้องพยายามเลือกมินิคอมโปเน้นท์ที่มีคุณภาพเสียงนุ่มนวลรายละเอียดสูงเป็นสำคัญ การให้ความสนใจเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานถือเป็นเรื่องรองลงไปดังนั้นมินิคอมโปเน้นท์ที่เน้นคุณภาพของลำโพงให้ดีพอ ๆ กับตัวเครื่อง จึงเป็นมินิคอมโปเน้นท์ที่น่าจะให้ความสนใจเลือกใช้งานมากที่สุด สารพัดลูกเล่นกระจุกระจิกนั้นต้องถามตัวเองเสมอว่า คุณมีความจำเป็นต้องใช้มันจริง ๆ ขนาดไหนเพียงไร

ปุ่มตกแต่งเสียงจำพวกอีควอไลเซอร์ปุ่มปรับเสียงทุ้ม-แหลม เลาด์เนส มีความจำเป็นในมินิคอมโปราคาต่ำกว่าชุดละ 20,000 บาท คุณภาพของเครื่องระดับนี้ยังต้องมีการปรับแต่งเสียงกันมากพอสมควร โดยเฉพาะเครื่องที่มีแต่ภาคแอมป์-เทป-จูนเนอร์ ปราศจากซีดีเพลเยอร์นั้น จะยิ่งขาดอีควอไลเซอร์ไม่ได้เลย จำนวนมาก ๆ แบนด์จะยิ่งดีด้วยซ้ำไป

เครื่องแยกชิ้นจริง ๆ แบบเครื่องเสีงชุดใหญ่ สามารถยกระดับการเล่นได้ง่ายกว่าด้วยการเชื่อมต่อแบบ RCA การที่มินิคอมโปเน้นท์สามารถแยกส่วนด้วยระบบเชื่อมต่อด้วยสายแผงคล้ายคอมพิวเตอร์ ดูจะไม่ช่วยให้มินิคอมโปนั้น ๆ "โปร" ขึ้นแต่อย่างใดคุณภาพเสียงอาจจะแตกต่างจากเครื่องมินิคอมโปรวมชิ้นไม่มากนัก

คำแนะนำสุดท้ายก็คือ กำลังขับของมินิคอมโปเน้นท์ เมื่อพิจารณาจากสเปกในระบบกำลังขับต่อเนื่อง CONTINUOUS POWER แล้วจะต้องไม่ต่ำกว่าข้างละ 15 วัตต์ จึงจะเพียงพอต่อการใช้งานในห้องขนาด 3x4 เมตร

แต่ถ้าต้องการกำลังขับสูง ๆ ไปใช้งานในห้องขนาดใหญ่กว่านี้ ขอแนะนำให้เลือกเล่นเครื่องเสียงชุดใหญ่ไปเสียเลยดีกว่าครับ

www.wijitboonchoo.c om


บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!