เสี่ยเจริญ คนที่รวยที่สุดในประเทศกับความพอ
ก่อนไปอินเดีย หลวงพ่อรูปหนึ่ง ท่านบอกกับเสี่ยเจริญว่า...
"โยมไปดูนะ ว่าชีวิตของจัณฑาลที่อินเดียนั้น
ย่ำแย่ขนาดไหน เผลอๆ สุนัขในวัดของอาตมา
ยังมีคุณภาพชีวิตดีกว่าขอทาน
ที่อินเดียอีก"
เสี่ยเจริญได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจ
เพราะการไปอินเดียในครั้งนั้น
เขาตัดสินใจไม่หาข้อมูลใดใดเกี่ยวกับประเทศอินเดียเลย...
ภาพชีวิตที่เห็นตรงหน้า
หลายครั้งทำให้สะเทือนใจมาก
จนไม่อาจยกกล้องขึ้นมาบันทึกภาพ
หลายๆ เรื่องจากคำบอกเล่าจากไกด์ชาวอินเดีย
แทบทำให้เขาจินตนาการไม่ถูก
ถึงความเศร้าในโชคชะตาที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี...
หลวงพ่อท่านถามเขาว่า
เห็นขอทานแล้วรู้สึกอย่างไร
เสี่ยเจริญตอบท่านว่า
รู้สึกสงสารและเศร้าใจ สังเวชใจ
หลวงพ่อมองหน้าเขา แล้วท่าน
ก็เอ่ยขึ้นว่า
"เห็นก็เพียงเห็น อย่าไปตัดสินว่า
เขาทุกข์หรือจนกว่าเรา
อย่าไปคิดเองเออเองว่า
เขาลำบากกว่าเรานะโยม"
"ค่าของคนอยู่ที่ไหน"
คำถามนี้ เสี่ยเจริญคิดว่า
เราต้องย้อนกลับไปถามตัวเองก่อนว่า
เราวัดคุณค่าของความเป็นคนจากอะไร?
วัดจาก "คุณค่า" หรือ "มูลค่า"
ถ้าเราวัดคุณค่าของคนจาก "มูลค่า" สิ่งที่เขาครอบครอง
แน่นอน...คนรวยย่อมถูกตัดสินว่า มีชีวิตที่ดีกว่าคนจน
เศรษฐี ย่อมน่าจะมีความสุขสบายกว่าชีวิตขอทาน
และคนที่ครอบครองทรัพย์สินมากมายมหาศาล
น่าที่จะเป็นที่ยอมรับนับถือ
มากกว่าคนจนหมอนหมิ่นถิ่นแคลน
แต่ถ้าเราวัดค่าของคน จาก "คุณค่า"
คงต้องย้อนกลับมาถามกันใหม่ว่า
"อะไรคือ ความแตกต่างของความเป็นมนุษย์"
ถ้ามองในมิตินี้
ทั้งกษัตริย์และยาจก
ทั้งนายกและจับกัง
ทั้งนายแพทย์ พระเถระ
นายทหารระดับสูง พลตำรวจ ทนายความ
นักแสดง นักพูด พ่อค้าแม่ขาย ครู นักมวย ฯลฯ
ทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้
ไม่มีอะไรที่แตกต่างกันเลย
ในความเป็นเพื่อนร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย...
เสี่ยเจริญก็ตาย หมาก็ตาย
แมวก็ตาย ควายก็ตาย
ความตายที่มีคุณค่า
กับความตายที่ว่างเปล่าเศร้าโศก
มีอะไรที่แตกต่าง ?
คุณค่าความหมายที่ทำให้ความตายของคนๆ หนึ่ง
แตกต่างจากคนอีกคนหนึ่ง นั่นคือ
"สิ่งที่เขาได้ทำก่อนตาย"
หรือที่เราเรียกว่า "หน้าที่ของความเป็นมนุษย์" นั่นเอง
ถ้าใครสักคนเดินตกบันไดแล้วขาหัก
ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นขอทานหรือนักกีฬาทีมชาติ
ต่างก็เจ็บเหมือนกัน
วินาทีที่เขาใกล้ตาย
ขอทานอาจไม่ห่วงอะไรเลย
เพราะทุกข์กับชีวิตมานานจนชินชา
ตายแบบไม่ต้องห่วงหาอาลัยอาวรณ์ใดใด
ในขณะที่เศรษฐีพันล้านหมื่นล้านแบบเสี่ยเจริญ
อาจนอนตายตาไม่หลับ
ห่วงทั้งลูกหลานที่รอแย่งชิงมรดก
ห่วงกิจการที่ตนเองสร้างมาทั้งชีวิต
ว่าใครจะสืบทอดความยิ่งใหญ่
แบบนี้...ไม่รู้ใครทุกข์กว่าใครนะครับ
วันท้ายๆ ของการเดินทางในอินเดีย
เสี่ยเจริญมองขอทานเป็น "ครู"
เขาไม่เคยเห็นขอทานคนไหน
ตื่นเช้ามา แล้วเดินเอาเชือก
ไปผูกคอตายใต้ต้นไม้
เพื่อหนีความทุกข์เข็ญที่มีในชีวิต
เขาเห็นแต่ขอทานที่รู้ "หน้าที่" ของตน
เห็นใครเดินมาก็เข้าไปขอ ขอข้าว ขอเงิน
ได้ก็ดีใจ ไม่ได้ก็นั่งรอต่อไป
อย่างไม่ทุกข์ร้อนใดใด
หิวก็ทน มีข้าวก็กิน กินอิ่มแล้วนอน
สืบพันธุ์ไปตามมีตามเกิด
เราอาจมองว่า นี่เป็นชีวิตที่ชวนสังเวช
หรือเป็นชีวิตที่ไร้ค่า
แต่เสี่ยเจริญอยากให้เรามอง
ในอีกแง่มุมหนึ่ง
ชีวิตที่ดีที่เราใฝ่ฝันและปรารถนา
บางคนเกิดตายอีกสิบชีวิต
ยังไม่อาจบรรลุความฝันของตัวเองที่ตั้งไว้
อยากเรียนจบในสถาบันที่ดี
อยากมีแฟนสวย หล่อ
มีลูกน่ารักสักสองคน
อยากรวย อยากมีบ้านสวยๆ
มีรถเท่ๆ มีมือถือรุ่นใหม่ให้ใช้
อยากเป็นคนอินเทรนด์ไม่ตกยุค
อยากเป็นคนที่ติดตามข่าวสารได้ตลอดเวลา
อยากได้รับความรักจากคนรอบข้าง
ไม่อยากเจ็บ
ไม่อยากป่วย
ไม่อยากตาย
ยิ่งเราอยากเท่าไหร่
ดูเหมือนเราจะยิ่งทุกข์มากเท่านั้น
ไม่ใช่ทุกข์เพราะ "ไม่มี"
แต่ทุกข์เพราะ "ไม่รู้จักพอ"