คิดแบบยิว ทำแบบยิว รวยเหมือนยิว.. อิสราเอลกับโลกของชาวยิว EP.1
LSVคลังสมองออนไลน์ "ปีที่14"
พฤศจิกายน 25, 2024, 07:45:03 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คิดแบบยิว ทำแบบยิว รวยเหมือนยิว.. อิสราเอลกับโลกของชาวยิว EP.1  (อ่าน 840 ครั้ง)
ช่างเล็ก(LSV)
Administrator
member
*

คะแนน1346
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 18843


คิดดี ทำดี ชีวิตมีแต่สุข


อีเมล์
« เมื่อ: ตุลาคม 10, 2023, 08:36:07 am »

https://www.pohchae.com/2023/10/10/israel-and-the-jewish-world
คิดแบบยิว ทำแบบยิว รวยเหมือนยิว.. อิสราเอลกับโลกของชาวยิว EP.1
#อิสราเอล  #ยิว  #รวย  #israel    #jewish
---------

อิสราเอลคือประเทศต้นกำเนิดของชาวยิวและศาสนายูดาห์

ประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวสองพันปีก่อนตามที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล ณ ผืนดินแห่งนี้ วัฒนธรรม จิตวิญญาณและอัตลักษณ์ของชาติได้ถือกำเนิดขึ้น ผู้คนยังคงดำรงรักษาแผ่นดินเอาไว้แม้คนจำนวนมากจะถูกขับไล่ก็ตาม..
ความผูกพันธ์ด้านจิตวิญญาณกับแผ่นดินอิสราเอลถือเป็นสิ่งสำคัญตลอดช่วงชีวิตของชาวยิว..

คิดแบบยิว ทำแบบยิว รวยเหมือน…ยิว : สวลี ตันกุลรัตน์

หลังจากเขียนเรื่อง “คิดเหมือนเจ้าสัว ทำแบบเจ้าสัว รวยเป็น…เจ้าสัว” ไปเมื่อเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ก็มีคนมากระซิบว่า ถ้าจะให้พูดถึงความร่ำรวยแล้ว ชนชาติที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในโลกน่าจะเป็น “ยิว” เพราะชนชาติยิวมี “เคล็ดลับ” สร้างความร่ำรวยที่น่าเอาอย่าง

นอกจากนี้ ถ้าได้ยินคำว่า “ยิว” ก็ต้องยอมรับอีกครั้งว่า ออกจะมีความรู้สึกไปในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่ (ทั้งๆที่ไม่ได้เคยรู้จัก) และอีกความรู้สึกคือ สงสารและเห็นใจ เพราะครั้งแรกที่รู้จักคำว่า “ยิว” ก็จากหนังสือเรื่อง “บันทึกลับ ของ แอนน์ แฟรงค์” หนังสือที่สร้างจากสมุดบันทึกประจำวันของ“อันเนอ ฟรังค์” ที่ต้องผ่านชีวิตที่ยากลำบากในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยที่ไม่รู้เลยว่า ชนชาติยิวที่มีอยู่ราวๆ 0.25% ของประชากรโลก แต่ในคนจำนวนเพียงเล็กน้อยนี้ มีคน 20% เป็นมหาเศรษฐี และ 40% เป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของเศรษฐีอเมริกันเป็นชาวยิว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง เพราะคนจำนวนเพียงเล็กน้อย กลับกุมทรัพย์สินจำนวนมากมายมหาศาลเอาไว้ในมือ จนกระทั่งมีคำกล่าวกันว่า “เงินทั้งโลกอยู่ในกระเป๋าของชาวอเมริกัน แต่เงินของชาวอเมริกันอยู่ในกระเป๋าชาวยิว”

ความอัจฉริยะระดับไอน์สไตน์ (ที่เป็นชาวยิว) ของชนชาติยิวที่ได้ชื่อว่า ฉลาดสุดๆ และในแทบทุกวงการจะต้องมีชนชาติยิวอยู่ในอันดับต้นๆเสมอ

มันสมองระดับอัจฉริยะและลักษณะนิสัยที่ทำให้ชนชาติยิวมั่งคั่งเหนือกว่าชนชาติอื่นๆ

 

เงิน เงิน และเงิน

สำหรับชาวยิวแล้วไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะยอมรับว่า “เงินคือพระเจ้า” และเงินคือร่างจำแลงของพระเจ้า นั่นเพราะความยากลำบากและการร่อนเร่ ทำให้เงินคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต นอกจากนี้เงินยังเป็น“หลักประกันความปลอดภัย” เพราะหากวันใดที่พวกเขาถูกขับไล่ เงินจะถูกแลกเปลี่ยนเป็นความคุ้มครองและที่อยู่อาศัย

ในคัมภีร์ทัลมุด (Talmud) ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณของชาวยิวสอนเอาไว้ว่า คนต้องรักษาทรัพย์สินที่ตัวเองมีใน 3 รูปแบบคือ..

 (1) เงินสด-เงินฝาก

 (2) สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของมีค่า

 (3) อสังหาริมทรัพย์

แต่เป็นเพราะยิวไม่มีแผ่นดินของตัวเอง ทำให้ในภาวะสงครามชาวยิวเลือกที่จะเก็บสินทรัพย์ที่ติดตัวไปได้ง่าย นั่นคือ เงินสดและสังหาริมทรัพย์ เช่น เพชร ทำให้ในทุกวันนี้ยิวยังถือเป็นเจ้าตลาดเพชรอีกด้วย

ในหนังสือเรื่อง “คัมภีร์การค้าของชาวยิว” เขียนเอาไว้ว่า “ชีวิตที่ต้องเร่ร่อนไปยังสถานที่ต่างๆมายาวนาน ทำให้ชาวยิวไม่อาจดูถูกเงินได้ เพราะทุกครั้งที่พวกเขาจำเป็นจะต้องเริ่มต้นการเดินทางอีกครั้ง เงินเป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถนำติดตัวไปได้โดยสะดวกที่สุด และเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตลอดการเดินทางอันยาวนาน”  เพราะฉะนั้น “หากชาวยิวไม่มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเหนือกว่าผู้อื่น ชาวยิวคงจะต้องถูกทำลายล้างจนหมดสิ้นไปนานแล้ว”

และจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวยิวจะขึ้นชื่อว่า เป็นชนชาติที่มี ความมัธยัสถ์ จนกระทั่งอาจจะเลยไปถึงความตระหนี่ถี่เหนียวในบางกรณี แต่นั่นเป็นเพราะชาวยิวเห็นคุณค่าของเงิน ซึ่งไม่เฉพาะเงินแสนเงินล้านเท่านั้น แม้กระทั่งเงิน 1 บาทก็มีคุณค่า นั่นเพราะชาวยิวได้รับการปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นว่า “เงินล้านก็เริ่มต้นจากเงิน 1 บาท”

ดังคำกล่าวที่ชาวยิวมักพูดกันเสมอๆ คือ “ถ้าค้าขายไม่ได้เงิน จงฝากธนาคารกินดอกเบี้ย” ที่แม้ว่าจะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก แต่วันหนึ่งผลของการอดออมจะงอกเงยขึ้นมาได้ ทำให้ชาวยิวติดนิสัยในการออมเงินมาตั้งแต่เด็กๆ

นอกจากนี้ สำหรับชาวยิวแล้ว “คำมั่นสัญญา” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะเรื่องเงินๆทองๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเล็กน้อยแค่ไหน เพราะยิวมีสำนวนที่ว่า “คนที่ยืมเงินแล้วไม่คืนก็ไม่ต่างอะไรกับขโมย”

เปิดประตูแห่งโอกาส

น่าจะเป็น “บุคลิกพิเศษ” ของชนชาติยิวที่จะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ช่างสงสัย ชอบใช้ความคิด และให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะถือว่าความรู้เป็นทรัพย์สินที่มีค่า ไม่เช่นนั้นคงไม่มีนักคิดเจ้าทฤษฎี โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์ออกมาบนโลกนี้มากนัก เพราะคนที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของโลกนี้จำนวนมาก “มีเชื้อสายยิว”

       “ชาวยิวชอบตั้งคำถาม เพราะพวกเขาเชื่อว่าการคิดเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา ผู้ที่ไม่รู้จักคิด คือ ผู้ที่ไม่รู้จักการเรียนรู้” หนังสือเรื่อง “คัมภีร์การค้าของชาวยิว” ระบุไว้ นั่นเพราะ “คุณค่าของคนอยู่ที่มันสมองไม่ใช่มือหรือเท้า”

นอกจากนี้ ชาวยิวยังเป็นคนที่ชอบตัวเลขเป็นชีวิตจิตใจ เวลาที่มีการตั้งวงสนทนาก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องตัวเลข จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ชาวยิวแม้จะทักทายกันด้วยเรื่องทั่วๆไปอย่างเรื่องดินฟ้าอากาศ ก็ยังสามารถโยงเรื่องตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ เพราะชาวยิวจะไม่ทักทายกันแค่ว่า “วันนี้อากาศร้อน”แต่จะบอกว่า “วันนี้อุณหภูมิ 30 องศา”

ขณะที่ชาวยิวจะมองเห็นอุปสรรคและความยากลำบากเป็นประตูสู่โอกาส ไม่เชื่อลองมองไปที่ประเทศอิสราเอลที่มีภูมิประเทศที่โหดร้าย โดย 80-90% ของพื้นที่เป็นทะเลทรายและพื้นที่แห้งแล้ง แต่ประเทศอิสราเอลมีประชากรชาวยิวอยู่ถึง 83% พวกเขาใช้เวลา 40 ปีสร้างประเทศ เปลี่ยนอิสราเอลที่น่าสงสารให้กลายเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์  นั่นเพราะชาวยิวจะยืนหยัดเผชิญหน้ากับอุปสรรคด้วยความเข้มแข็งและอดทน เพื่อเฝ้ารอโอกาสด้วยความหวัง

ชาวยิวมีสุภาษิตที่ว่า “ประตูในชีวิตของคนเราไม่ใช่ประตูอัตโนมัติ หากเราไม่ลงมือเปิดประตูเอง ประตูนั้นจะปิดตายไปตลอด ดังนั้น หากเราต้องการให้ประตูแห่งความสำเร็จเปิดออก เราก็ต้องลงมือผลัก หรือดึงประตูนั้นด้วยตัวเอง”

พร้อมกับบอกอีกว่า หากไม่กล้าเสี่ยงตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อถึงเวลาที่แก่ชราเราก็จะเป็นได้แค่คนที่ล้มเหลว เพราะหากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย ทุกอย่างก็มีแต่จะแย่ลง และความลังเลจะทำให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจ

และหากจะบอกว่า ชาวยิวเป็นนักฉวยโอกาสก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธ แต่คำว่าฉวยโอกาสก็คือการบริหารความเสี่ยง โดยที่ชาวยิวส่วนใหญ่มักจะกล้าเสี่ยงและประสบความสำเร็จจากการเสี่ยงของเขาอยู่เสมอ นั่นไม่ใช่เพราะโชคดี แต่เป็นเพราะเขามีความรู้และเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงนั้นอย่างดี

       อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์เชื้อสายยิวเคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ควรคิดเรื่องราวใหม่ๆอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเครื่องจักร” เพราะเรามักเคยชินกับความเป็นอยู่แบบสบายๆในปัจจุบันโดยไม่รู้ตัว จนในที่สุดก็กลายเป็นความเคยชินและเฉยชา แต่คนที่ประสบความสำเร็จมักจะกล้าทำสิ่งที่ท้าทายความสามารถอยู่เสมอๆ

นอกจากนี้ ชาวยิวยังเชื่อว่าความยากลำบากในชีวิตเป็นสันปันน้ำสำหรับความมั่งคั่ง ที่อาจจะทำให้คนบางคนล้มหายตายไป แต่คนบางคนกลับยืนหยัดเอาชีวิตรอดและนำไปสู่ความมั่งคั่งได้ในที่สุด

เพราะฉะนั้น อย่าดูแคลนอุปสรรคและความยากลำบากนอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่ดีที่จะไม่ใช้ชีวิตที่สุขสบายเกินไป เพราะมันจะทำให้สมองฝ่อและไม่มีความคิดความก้าวหน้าในชีวิต

ถูกที่ ถูกเวลา และถูกวิธี

เพราะสำหรับชาวยิวแล้ว “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” เสมอ ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องคิดอยู่เสมอว่า ต้องใช้เวลาไปกับเรื่องที่มีประโยชน์และจำเป็น โดยยกตัวอย่างนิทานสุภาษิตจากคัมภีร์ทัลมุด เรื่อง ผึ้งกับแมลงวัน

ผึ้งและแมลงวันตกลงไปในขวดพร้อมกัน เจ้าผึ้งพยายามหาทางออกโดยการบินวนไปมาอยู่ที่ก้นขวดและพยายามออกแรงต่อยขวดอย่างแรง เพราะเชื่อว่า ขวดจะแตก แต่ไม่นานมันก็หมดแรงตายอยู่ที่ก้นขวด

ขณะที่แมลงวันบินวนอยู่หลายรอบ ก็พบว่ารอบๆเป็นกำแพงหนา มันจึงเลือกที่จะบินขึ้นไปด้านบน จนพบกับทางออกที่ปากขวด

“นิทานสุภาษิตเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การค้นหาทิศทางการต่อสู้ที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ อย่าทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดไปกับทางเลือกที่ผิด เพราะไม่ว่าพยายามมากเพียงใดก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ” หนังสือเรื่อง “คัมภีร์การค้าของชาวยิว” ระบุ

และในขณะที่ นักธุรกิจจีนอาจจะกำลังสนใจกับการทำให้สินค้ามีราคาถูก เพื่อขายให้ได้จำนวนมากๆ แต่สำหรับชาวยิวแล้วลูกค้าของเขาคือคนที่เป็น “ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง” ที่ลอยอยู่เหนือน้ำ ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีฐานะดี

ชาวยิวจะให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เกี่ยวกับ “ปาก” และ “ผู้หญิง” โดยธุรกิจที่เกี่ยวกับปาก คืออาหารการกินที่คนเราต้องกินต้องใช้ และธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้หญิง เพราะเชื่อว่า “ผู้หญิงเป็นคนกุมกระเป๋าเงินของครอบครัว”

เพาะพันธุ์ความรวย

       พ่อแม่ชาวยิวจะให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาด้านการเงินตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ โดยของขวัญครบรอบ 1 ปีที่พวกเขาจะมอบให้เด็กๆ ไม่ใช่ของขวัญมูลค่าสูง แต่จะเป็น “หุ้น”

โดยเฉพาะชาวยิวในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการมอบหุ้นให้เป็นของขวัญในวาระต่างๆ จากนั้นจะมีการพูดคุยกันถึงผลการลงทุนอยู่เป็นประจำ  และเมื่อลูกอายุมากขึ้น พวกเขาจะค่อยๆได้เรียนรู้ วิชาการบริหารเงินส่วนบุคคล จากพ่อและแม่..

พ่อแม่ชาวยิวสอนการจัดการเงินส่วนบุคคล ด้วยวิธีการให้ค่าขนม โดยลูกๆจะต้องจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินล่วงหน้าอย่างละเอียดมานำเสนอให้พ่อแม่ และพ่อแม่จะให้ค่าขนมต่อเมื่อลูกๆช่วยงานบ้านเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งงานบ้านแต่ละอย่างจะแลกเปลี่ยนเป็นเงินค่าขนมได้แตกต่างกันไป

ในวันเกิดอายุครบ 13 ปี ชาวยิวจะมีพิธีบาร์มิตซวาห์ (Barmitzvah) หรือพิธีบรรลุนิติภาวะ ซึ่งคนที่ไปร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นญาติๆ ลุง ป้า น้า อา พ่อ แม่ และแขกที่มาร่วมงานจะมอบเงินอวยพรให้คนละประมาณ 200 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นเงินขวัญถุงให้กับเด็กคนนั้น

       เงินที่ได้รับจากพิธีจะถูกนำไปฝากเอาไว้ในธนาคาร ไปซื้อพันธบัตร หรือนำไปลงทุน จนกระทั่งเมื่อถึงวันที่เด็กคนนี้เรียนจบ หรือต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง เงินก้อนนี้ก็จะงอกเงยจากเงินขวัญถุงไปเป็น “ทุนตั้งตัว”

ในเทศกาลฮานุกกาห์ (Hanukkah) หรือเทศกาลแห่งดวงประทีป ซึ่งเป็นเทศกาลส่งท้ายปลายปีของครอบครัวชาวยิว พ่อแม่ชาวยิวจะให้เงินรางวัลแก่ลูก โดยประเมินจากพฤติกรรมตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ พวกเด็กๆชาวยิวยังต้องเรียนรู้เรื่องการค้าตั้งแต่เด็ก โดยลูกๆจะต้องช่วยเหลือกิจการของพ่อแม่เพื่อเป็นการปลูกฝังทักษะในการทำธุรกิจ เพราะชาวยิวมีภาษิตที่ว่า “ถ้าไม่สอนอาชีพให้ลูก ก็เหมือนสอนลูกให้เป็นโจร” โดยลูกๆจะได้เงินค่าจ้างจากการทำงาน

ในเทศกาลซุกโกต (Sukkot) หรือเทศกาลอยู่เพิง ที่ตรงกับวันที่ 15 ก.ย. ของทุกปี ชาวยิวมีธรรมเนียมว่าจะต้องอาศัยอยู่ในเพิงพักที่สร้างขึ้นบริเวณสนามหญ้าหน้าบ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และในช่วงเวลานี้เอง ที่เด็กๆจะสามารถหารายได้พิเศษจากการขายวัสดุสร้างเพิงพัก

อย่างไรก็ตาม ชาวยิวให้ความสำคัญกับการใช้เงินมากกว่าการหาเงิน และไม่ว่าลูกจะอยากทำอาชีพอะไร ในสายตาพ่อแม่ชาวยิวจะไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย ถ้าอาชีพนั้นสามารถทำเงินได้อย่างสุจริต

เพื่อนคือคนสำคัญ

ชาวยิวจะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยที่คนรวยจะช่วยเหลือคนยากจนอย่างเต็มที่ โดยเด็กๆชาวยิวจะมีเงินออมจำนวนหนึ่งเก็บเอาไว้ในบัญชีที่ชื่อว่า Tzedakah ที่มีไว้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ โดยที่คำว่า Tzedakah หมายถึงความยุติธรรมของทุกคนในสังคม

และชาวยิวถือว่าเพื่อนคือคนสำคัญ เพราะถ้าไม่มีเพื่อนก็เหมือนเสียแขนไปข้างหนึ่ง โดยชาวยิวแบ่งเพื่อนออกเป็น 3 ประเภท คือ..

1.เพื่อนเหมือนขนมปัง เป็นเพื่อนที่ต้องการบ่อยที่สุด

2.เพื่อนเหมือนข้าว ที่ต้องการบางครั้ง

3. เพื่อนเหมือนโรคภัยไข้เจ็บ ที่ต้องหลีกเลี่ยง

สำหรับคนไทยเพื่อนแบบแรก คงจะเป็นเหมือนข้าวเพราะต้องกินทุกวัน เพื่อนแบบที่สอง เหมือนขนมปังที่กินบ้างบางครั้ง ซึ่งเพื่อนทั้งสองแบบต่างมีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ โดยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ถ้ามีใครพูดถึง “ยิว” ให้มองพวกเขาให้ครบทุกมุม เพราะเป็นธรรมดาที่คนเรามีทั้งดีและไม่ดี สิ่งใดที่ดีก็นำมาเป็นแบบอย่าง สิ่งใดที่ไหนที่เห็นว่าไม่เหมาะไม่ควรก็ไม่ควรนำมาปฏิบัติ แล้วเราจะรวยแบบยิวได้ โดยที่ไม่สร้าง “ความรู้สึกไปในทางลบ” ให้กับคนอื่นๆ.



บันทึกการเข้า

หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1 RC2 | SMF © 2001-2006, Lewis Media

lsv2555Please follow the new website at https://www.pohchae.com

Valid CSS!