2 ช้างไทยทูตสันถวไมตรีศรีลังกา ความเป็นอยู่ดีกว่า พลายศักดิ์สุรินทร์
พลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับศรีลังกาเมื่อ 22 ปีก่อน
กำลังจะเดินทางกลับไทยเพื่อมารักษาตัว
ที่ผ่านมาทางการไทยเคยส่งช้างไปให้ศรีลังกา อีก 2 เชือก คือ
พลายประตูผา อายุ 49 ปี เป็นช้างตัวแรกที่ส่งมาเมื่อ 37 ปีก่อน
และพลายศรีณรงค์ ที่ส่งมาพร้อมพลายศักดิ์สุรินทร์
ทั้งนี้มีกลุ่มคนไทยที่เดินทางมาศรีลังกา เพื่อติดตามชีวิตของช้างที่เหลืออยู่
โดยพบว่ามีการเลี้ยงดูที่ดีกว่าพลายศักดิ์สุรินทร์
แต่พลายประตูผา ค่อนข้างมีสภาพร่างกายที่ชรามากแล้ว
ดร.ชญาน์นันท์ อัศวธรรมานนท์ อาจารย์ประจำสาขาพระพุทธศาสนา-วิทยาลัยสงฆ์แห่งหนึ่ง
ได้เดินทางมาจากประเทศไทย เพื่อติดตามหาช้างไทยทั้ง 2 เชือก
ได้เล่าให้ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า
หลังจากเห็นความทุกข์ทรมานของพลายศักดิ์สุรินทร์ที่กำลังจะส่งกลับไทย
ทำให้ตัดสินใจเดินทางมาตามหาช้างไทยอีก 2 เชือก
เริ่มจากการไปดู พลายศรีณรงค์ ที่ส่งมาเมื่อ 22 ปีก่อน
เมื่อพบจึงได้สื่อสารเป็นภาษาไทย ช้างก็ฟังรู้เรื่อง แม้มาอยู่ที่ศรีลังกานาน
พลายศรีณรงค์ อยู่ในวัดที่เมืองรัตนปุระ
ปัจจุบันยังมีการใช้งานในขบวนแห่พระเขี้ยว ตามวัดต่างๆ
โดยเป็นตัวเด่นในขบวน เพราะลักษณะช้างสง่างาม
แม้งาไม่ยาวในลักษณะเป็น งาอุ้มบาตร เหมือนพลายศักดิ์สุรินทร์
แต่พลายศรีณรงค์มีสีผิวคล้ายกับช้างเผือก
ทำให้ผู้ที่พบเห็นชื่นชมในความสง่างาม
สำหรับสภาพการเลี้ยงดู พลายศรีณรงค์ ค่อนข้างดี ช้างอ้วนสมบูรณ์
โดยเจ้าอาวาสวัดที่ดูแล ส่งไปอยู่เมืองรัตนปุระที่มีน้ำตกและธารน้ำจากธรรมชาติ
ทำให้อาหารต่างๆ ค่อนข้างสมบูรณ์กว่าอยู่ในเมือง
ขณะที่อาหารจะกินตามธรรมชาติ โดยมีควาญดูแล 2 คน
มีการปลดโซ่พาเดินทุกวัน นอกจากนี้ยังมีรถขนช้างประจำตัว
ที่พาไปในขบวนแห่ตามวัดต่างๆ
อาหารของช้างที่นี่เป็นทางมะพร้าวเป็นหลัก
แต่พลายศรีณรงค์มีความฉลาด จะเลือกกินใบทางมะพร้าวที่อ่อนๆ
พอเวลากินจะเอาใบทางมะพร้าวตีกับท้องให้มันนุ่มก่อนแล้วค่อยกิน
ปกติช้างในขบวนแห่ที่ศรีลังกามีงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
จากนั้นจะมีงานตามวัดทั่วประเทศ ไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคมของทุกปี
ด้วยวัฒนธรรมนี้ทำให้ช้างมีลักษณะพิเศษ
จะได้รับความสนใจจากวัดต่างๆ ในการนำมาเป็นช้างร่วมขบวนแห่
ส่วนช้างอีกเชือกคือ พลายประตูผา ถูกส่งมาเป็นตัวแรกให้กับศรีลังกาเมื่อ 37 ปีก่อน
มีอายุ 49 ปี ไทยมอบให้ตั้งแต่มีอายุเพียง 12 ปี
อยู่ที่วัดพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ มีสภาพร่างกายค่อนข้างชรา
หนังหยาบกระด้าง เบื้องต้นทางวัดไม่ได้นำช้างไปเดินในขบวนแห่
งาของพลายประตูผาแม้ไม่ได้ยาว แต่งามีความแข็งแรงสวยงาม
จากการมาติดตามดูช้างทั้ง 2 เชือก
ยังอุ่นใจว่ามีสวัสดิภาพและการเลี้ยงดูดีกว่า พลายศักดิ์สุรินทร์
แต่สำหรับ พลายประตูผา ค่อนข้างมีความชราภาพ
อาจต้องให้ทีมแพทย์จากไทยเข้ามาช่วยเหลือ
และแนะนำในการดูแลร่างกายของช้างต่อไป.
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2705451