สาธารณสุข เตือนอันตรายจากการรับประทานอาหารไม่ปลอดภัย - ผลไม้ ปี 57 พบ ใบบัวบก กะหล่ำปลี แอปเปิล ส้ม เจอสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานสูงสุด ส่วนกลุ่มนำเข้าจากต่างประเทศพบ บรอกโคลี ป๋วยเล๊ง ส้ม แก้วมังกร ตกมาตรฐานสูงสุด.. วันนี้ (8 เมษายน 2558) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเปิดนิทรรศการเนื่องในวันอนามัยโลกประจำปี 2558 ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี ภายใต้คำขวัญ อาหารปลอดภัยสร้างได้ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร
เนื่องจากทุกปีจะมีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมี ถึงปีละประมาณ 2 ล้านคน หรือเฉลี่ยนาทีละ 4 คนศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า สำหรับการเจ็บป่วยจากการบิรโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย จะเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารได้ 2 ชั่วโมง โดยจะแสดงอาการตั้งแต่ อาเจียน อาหารเป็นพิษ หรืออุจจาระร่วง บางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยปี 2557 ประเทศไทยพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 120,000 คนและเสียชีวิต 9 คน
ทั้งนี้ในปี 2557 ได้ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในกลุ่มผักสดสูงสุดได้แก่ ผักคะน้า ใบบัวบก ดอกหอม ผักแขนง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และกลุ่มผลไม้ ได้แก่ สาลี่ แอปเปิล ส้ม แตงโม แคนตาลูป ส่วนในกลุ่มผักนำเข้า ได้แก่ บร้อคโคลี่ พริกแห้ง ป๋วยเล๊ง และในกลุ่มผลไม้นำเข้าได้แก่ ส้ม แก้วมังกร และองุ่น ดังนั้นจึงควรล้างผักผลไม้ให้สะอาด จะช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีได้ครึ่งหนึ่ง
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การแก้ปัญหา สธ. จะขับเคลื่อน 4 มาตรการในปีนี้ ได้แก่
1. ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เพื่อควบคุมมาตรฐานผักผลไม้ที่บรรจุในภาชนะที่นิยมวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างฯ โดยสินค้าเหล่านี้ต้องได้มาตรฐาน GMP หรือ GMP ขั้นพื้นฐาน แสดงฉลากและตราสัญลักษณ์ มีรหัส สินค้า ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งวัตถุดิบได้
2. ตั้งศูนย์ประเมินความเสี่ยงภัยสุขภาพจากสารเคมีภาคเกษตรระดับอาเซียน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยให้กรมฯพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่าย เพื่อตรวจหาสารเคมีภาคเกษตรตกค้างในผัก ผลไม้ และให้ อย. ปรับปรุงค่าระดับความปลอดภัยของสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ ให้สอดคล้องกับการใช้สารเคมีของเกษตรกร
3. ตั้งห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจผักผลไม้ที่ด่านระหว่างประเทศ
4. ร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคุมสารเคมีทางการเกษตรภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเร่งด่วนอีก 2 เรื่อง คือ..
1. จัดระบบเฝ้าระวังป้องกันอาหารที่จำหน่ายทั้งในและหน้าโรงเรียน การกำกับมาตรฐานร้านอาหาร และร้านอาหารแผงลอยข้างถนน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ชิดประชาชน โดยมอบให้กรมอนามัยเพิ่มการอบรมร้านอาหารที่มีพนักงานเสิร์ฟเป็นแรงงานต่างด้าว จัดโครงการถนนอาหารปลอดภัย 12 สายนำร่อง ใน 12 จังหวัด ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย 2558 คือ ตราด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม บุรีรัมย์ เลย เพชรบูรณ์ ลำปาง น่าน ชุมพร นครศรีธรรมราช และ ตรัง เปิดตัวปลาย เม.ย. นี้ และพัฒนาร้านอาหารในท่าอากาศยาน 10 แห่ง
2. ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมาย คือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยเฉพาะกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะตลาด พ.ศ. 2551 เพื่อตรวจความปลอดภัย แนะนำร้านอาหารแผงลอย ก่อนออกใบอนุญาต รวมถึงการควบคุมดูแลความปลอดภัยอาหารวางจำหน่ายในตลาดนัด รมว.สธ. กล่าว
http://www.leksound.net/board/index.php?topic=7.0