กระทรวงแรงงาน แจง ไม่มีการยกเลิกค่าแรงวันละ 300 บาท แต่จะเปลี่ยนเป็นพิจารณาค่าจ้างตามเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ ด้านกรรมการสมานฉันท์แรงงาน ขอขึ้นค่าแรงเป็น 360 บาท ทั่วประเทศ
วันที่ 9 มิถุนายน 2558 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 รายงานว่า จากกระแสข่าวการยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น นายอารักษ์ พรหมมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า ไม่มีการยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่คณะกรรมการค่าจ้างฯ มีมติให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่จังหวัดให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงของพื้นที่นั้น ๆ โดยคำนึงถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวม และใช้อัตรา 300 บาทเป็นฐานในการพิจารณากำหนดค่าจ้าง ทั้งนี้อัตราค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน จะมีการใช้จนถึงปลายปี 2558
สำหรับการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำที่จะกำหนดให้ใช้รูปแบบพิจารณาตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่นั้น นายอารักษ์ กล่าวว่า อนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด จะต้องส่งข้อมูลรายละเอียดสภาพเศรษฐกิจของจังหวัด และข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงมายังอนุกรรมการวิชาการ ภายในเดือนนี้ (มิถุนายน) จากนั้นทางอนุกรรมการวิชาการจะมีการรวบรวมข้อมูลค่าจ้างลอยตัวจาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอไปยังอนุกรรมการค่าจ้างซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาว่าจะปรับขึ้นอย่างไร
สำหรับการพิจารณานั้นประกอบไปด้วย - อัตราเงินเฟ้อ
- อัตราค่าครองชีพ
- มาตรฐานการผลิต
- ต้นทุนการผลิต
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
อย่างไรก็ดี นายอารักษ์ กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจนั้นจะไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาทอย่างแน่นอน เนื่องจากต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กำหนดให้ผู้ใช้แรงงานต้องมีค่าแรงขั้นต่ำ
สำหรับในปัจจุบันนั้น มีการพิจารณาอัตราค่าจ้าง 3 รูปแบบ คือ 1. ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
2. ตามมาตราฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 35 สาขาอาชีพ เช่น ช่างเชื่อง, ช่างก่ออิฐ, พนักงานนวดแผนไทย, ช่างไฟฟ้าในอาคาร เป็นต้น
3.ค่าจ้างตามกลไกตลาด ซึ่งก็ต้องไม่ต่ำกว่า 300 บาท
ทางด้าน นางสาววิไลวรรณ แซเตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณากำหนดค่าจ้างตามเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด เนื่องจากผู้ใช้แรงงานจะไม่มีอำนาจต่อรองในการขึ้นค่าแรง อำนาจในการพิจารณานั้นตกไปอยู่ในมือของรัฐและนายจ้าง โดยหากใช้การพิจารณาค่าแรงดังกล่าวจะทำให้ชีวิตของผู้ใช้แรงงานเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นางสาววิไลวรรณ ระบุว่า
ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้มีมติเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2559 เป็นวันละ 360 บาท โดยเป็นอัตราที่เท่ากันทั้งประเทศ เพราะจากการสำรวจค่าครองชีพในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลนั้น พบว่ามีค่าใช้จ่ายอยู่ในอัตราดังกล่าว นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างค่าจ้างตามอายุงานและ ศักยภาพของการทำงานอีกด้วย ขอบคุณ รายการ เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร