หลังทำสถิติยอดขายดิ่งพสุธามากว่า3ปีอุตฯคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซีที่ถูกแช่แข็งในจุดหนาวเหน็บเริ่มมีความหวัง โดยผลสำรวจตลาดจากสำนักวิจัยชั้นนำอย่างไอดีซีประเมินว่า ยอดขายพีซีในปี 2558 จะเติบโตขึ้นได้ถึง 7% หรือ 2.66 ล้านเครื่อง
จากปี 2557 ที่ยอดรวมติดลบไปถึง 17% ซึ่งเป็นการปรับตัวจากการลงทุนของโครงการภาครัฐ ตลอดภาคการศึกษา และสภาพเศรษฐกิจที่คาดหวังว่าจะขยับตัวดีขึ้นในปีนี้
ประกอบการแรงส่งที่น่าจะได้กลับคืนมาจากความสนใจในสินค้าประเภท
"แทบเล็ต" ที่เคยเชื่อกันว่าจะเป็นสินค้าที่เข้ามาทดแทนพีซีจนทำให้ยอดขายร่วงกราวรูด แต่เมื่อใช้งานจริงจะพบว่าคุณสมบัติหลายอย่างก็ยังเทียบชั้นพีซีไม่ได้ทั้งนี้ไอดีซีประเมินว่าปี 2558 ยอดขายแทบเล็ตในไทยจะติดลบถึง 23% หรือ 2.65 ล้านเครื่องจากปี 2557 ที่มียอดขายรวมโปรเจคแทบเล็ตของภาครัฐอยู่ที่ 3.45 ล้านเครื่อง
โตชิบายันไม่ถอนตัวนายถกล นิยมไทย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ กล่าวว่า ยอดขายกลุ่มไอทีของโตชิบาไทยปี 2557 ตกลงราว 30-40% ตามเทรนด์ของตลาดรวม แต่ก็ยังคาดว่าหวังจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 ที่ปัจจัยลบต่างๆ เริ่มคลี่คลาย
พร้อมกับตั้งความหวังว่ายอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะฟื้นกลับมาอีกครั้งหลังจากผู้ใช้งานเริ่มตระหนักว่าสินค้าประเภทแทบเล็ต หรือสมาร์ทโฟนไม่สามารถทดแทนสำหรับการใช้งานบางอย่างได้
ทั้งยังเชื่อว่าตลาดพีซีผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเริ่มปรับฐานใหม่ที่อาจต้องใช้เวลาให้ตลาดค่อยๆ ฟื้นตัวราว 2-3 ไตรมาส
โดยนายถกลย้ำว่า โตชิบายังคงยืนยันเดินหน้าธุรกิจพีซีต่อแม้ตลาดจะทรุดตัว แต่ได้ปรับแผนธุรกิจโดยหันไปเน้นการทำตลาดพีซีสำหรับลูกค้าองค์กร หรือบีทูซี พร้อมกับพัฒนาโซลูชั่นที่เสริมประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ผู้ใช้งานพีซีในองค์กร เช่น ระบบสตอเรจ และคลาวด์ คอมพิวติ้ง
"เราไม่ตามรอยโซนี่แน่นอน เพราะยังมีตลาดองค์กรที่ยังไปได้ และลูกค้าที่ใช้โตชิบาส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มพรีเมียมอยู่แล้ว เน้นเครื่องที่มีประสิทธิภาพใช้เพื่อความบันเทิงและทำงานได้ด้วย แต่กลุ่มโฮมเราก็ยังรักษาไว้ แต่ไม่เน้นมาก โดยได้เริ่มลดจำนวนช่องทางขายโตชิบาเหลือราว 40 ช็อป จากเดิมที่มีเป็นร้อยๆ แห่งที่จะเลือกที่หลักๆ เช่น ในตึกเดียวอาจจะเหลือสัก 1 หรือ 2 ช็อป แต่ยังยืนยันว่าแบรนด์พีซีโตชิบายังอยู่ ซึ่งปี 2558 จะเป็นปีที่โตชิบาครบรอบ 30 ปีที่ทำโน้ตบุ๊คเครื่องแรกของโลกด้วย ขณะที่งานวิจัยและพัฒนาพีซี และนวัตกรรมต่างๆ ก็ยังมีอยู่เนื่อง เพียงแต่ไปเน้นตลาดบีทูบีมากขึ้น" นายถกล กล่าว
แต่อย่างไรก็ตามในภาพรวมของธุรกิจกลุ่มไอทีของโตชิบาก็เริ่มปรับลดลงตามสภาพตลาด โดยสัดส่วนรายได้ลดลงเหลือ 10-15% จากเดิมที่ทำรายได้ราว 20-30% เพราะเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่พีซีที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาปรับตัวไปหาแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนมาก แต่บริษัทก็ยังไม่มีนโยบายแข่งในตลาดสมาร์ทโฟน มีเพียงแทบเล็ตที่ทำขายเน้นตลาดองค์กรเท่านั้น
ส่วนสินค้าประเภทฮาร์ดดิสก์โดยภาพรวมก็ลดลงทั้งตลาดเพื่อหันไปใช้ทางเลือกในการเก็บข้อมูลผ่านคลาวด์ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีบางส่วนที่ต้องใช้ฮาร์ดดิสก์ ทำให้สินค้าในกลุ่มนี้ยังเป็นหนึ่งในตัวที่สร้างยอดขายให้โตชิบา
อย่างไรก็ตามโตชิบายังมองว่าต้องจับตาความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจปี 2558 ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค แต่ก็ยังคาดหวังว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะดิจิทัล อีโคโนมี จะช่วยผลักดันตลาดได้ดี
นายถกลระบุว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนตื่นตัว และรับรู้มุมอื่นๆ ของเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างประโยชน์ได้มากกว่าแค่ใช้เล่นโซเชียล หรือเพื่อความบันเทิง
การใช้งานเทคโนโลยีที่แพร่หลายมากขึ้นก็จะส่งผลดีโดยตรงต่อตลาดไอทีไม่ว่าจะเป็นการใช้ฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ขณะที่โตชิบามีความพร้อมของเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งรองรับการใช้งานได้ตั้งอุปกรณ์สำหรับการใช้งานทั่วไป จนถึงเทคโนโลยีขั้นสูงระดับไบโอเมตริกซ์ คลาวด์ คอมพิวติ้ง หรืออีเลิร์นนิ่งต่างๆ ที่บริษัทพัฒนาเองและร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อให้บริการกับลูกค้า
โดยปี 2558 โตชิบาตั้งเป้าการเติบโตของกลุ่มไอทีไว้กว่า 10%
เลอโนโวดัน'มัลติโหมด'นายจีรวุฒิ วงศ์พิมลพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า
ตลาดพีซีปี 2558 น่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เพราะมั่นใจว่าผู้ใช้งานจะเริ่มรับรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงและเปลี่ยนใจจากแทบเล็ตที่เคยเป็นสินค้าที่ชิงส่วนแบ่งยอดขายไปได้มากช่วงที่ผ่านมากลับมาซื้อพีซี
ทั้งยังเชื่อว่าจะเป็นจังหวะที่คนเริ่มถึงเวลาเปลี่ยนเครื่องใหม่หลังจากไม่ได้เปลี่ยนมานานทำให้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับพีซีที่จะเริ่มฟื้นตัวผู้บริหารเลอโนโวเผยว่า ปี 2558 จะรุกหนักกับการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ บนพีซี และการปรับปรุงอินเทอร์เฟซ หรือระบบการเชื่อมต่อของเครื่องให้สามารถใช้งานบนดีไวซ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ค หรือแทบเล็ต
ตลอดจนการพัฒนาคุณสมบัติของอุปกรณ์ประมวลผลที่เป็นไปตามเทรนด์ของ "อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์" ที่อุปกรณ์ต่างๆ รอบตัวสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายได้ไม่จำกัดว่าต้องมีหน้าตาเหมือนคอมพิวเตอร์ทั่วไปเท่านั้น
นอกจากนี้ยังจะผลักดันพีซีในรูปแบบ "มัลติโหมด" ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานเป็นไปทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แทบเล็ต หรือจอทัชสกรีนในเครื่องเดียว เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานและดึงดูดผู้ซื้อให้กลับมาสู่ตลาดพีซีมากขึ้่น
"เราจะเริ่มบุกหนักตั้งแต่ต้นปี นำเสนอดีไวซ์ใหม่ๆ เช่น แทบเล็ตวินโดว์ส ที่ทำงานได้หลากหลายรูปแบบ"
แต่ทั้งนี้บริษัทก็ยังกังวลว่าปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่เพิ่มสูงขึ้นจากโครงการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของรัฐบาล ทั้งบ้านหลังแรกและรถคันแรกอาจทำให้ผู้ซื้อมีหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือนสูงส่งผลให้การใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อของอื่นๆ รวมถึงสินค้าไอทีน้อยลง
นายจีรวุฒิเผยว่า นอกเหนือจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เลอโนโวยังเตรียมปรับปรุงช่องทางการขายที่จะทบทวนเพิ่ม-ลดบางช่องทางให้เหมาะสมกับพื้นที่การขาย รวมทั้งการทำตลาดออนไลน์และช่องทางการขายอีคอมเมิร์ซต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนไปตามสภาพตลาด
ทั้งเลอโนโวยังเตรียมจะปรับแผนการทำตลาดในแนวใหม่ ตลอดจนรูปแบบการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดมากขึ้น โดยคาดว่าจะชัดเจนในต้นปี 2558
"เดลล์" ลั่นไม่ทิ้งพีซี นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) และผู้จัดการทั่วไปภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า เดลล์ยังให้ความสำคัญกับ "ธุรกิจพีซี" ซึ่งเป็นการสานต่อกลยุทธ์ที่ "ไมเคิล เดลล์" ซีอีโอใหญ่ของเดลล์ระบุไว้ในงาน "เดลล์ เวิลด์ 2014" เมื่อช่วงไตรมาส 3/2557
ทั้งนี้ นายไมเคิล ระบุว่า พีซีจะกลายเป็นสุดยอดของกลยุทธ์ และเป็นฮับของ "อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์" และแม้หลายเสียงจะพยายามโหมว่า "พีซีจะตาย" แต่สิ่งที่เดลล์เห็นวันนี้ คือ จำนวนพีซีกว่า 1.8 หมื่นล้านเครื่องกลายเป็นส่วนหนึ่งของอินฟราสตรักเจอร์ของการทำงานบนโลกใบนี้ ยังไม่นับยอดขายพีซีที่ถูกขายออกไปมากกว่า 350 ล้านเครื่องในทุกๆ ปี
เดลล์ให้คำมั่นสัญญาที่จะมุ่ง "ลงทุน" ในธุรกิจพีซีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ ซอฟต์แวร์ด้านเอ็นเตอร์ไพร์ส และสินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์ โปรดักส์ เช่น โน้ตบุ๊ค แทบเล็ต ที่จะถูกผสมผสานกลายเป็น "บริการที่ครบวงจร" ตอบสนองความต้องการของลูกค้า
นายอโณทัย กล่าวว่า
ปัจจุบัน "ไทย" และ "อินโดนีเซีย" เป็น 2 ใน 10 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเดลล์ โดยไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมากลุ่มคอนซูเมอร์ โปรดักส์ เดลล์อยู่อันดับ 1 ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนไทยเดลล์อยูู่ท็อป 3 มีเดลล์เวียดนามครองอันดับ 1
ส่วนกลยุทธ์ที่จะใช้จากนี้ในตลาดไทย ยังมุ่งไปที่ฝั่งคอนซูเมอร์ และเอ็นเตอร์ไพร์ส โดยยึดแนวทางกลยุทธ์ที่ไมเคิล เดลล์ ระบุไว้ พร้อมกับร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ให้ใกล้ชิดมากขึ้น
"ตลาดในไทย รายได้ส่วนใหญ่ของเดลล์ยังมาจากกลุ่มลูกค้าเอ็นเตอร์ไพร์สเป็นหลัก"
ขณะที่ ตลาดที่เดลล์ยังถือว่าเป็นผู้นำทั้งระดับโลก และระดับประเทศ คือ ตลาดด้านเฮลธ์แคร์ โดยการ์ทเนอร์ได้จัดอันดับให้เดลล์เป็นผู้ให้บริการด้านไอทีสำหรับเฮลธ์แคร์อันดับ 1 ของโลก
ที่ผ่านมา เดลล์ได้เข้าไปวางระบบไอทีในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งรัฐ และเอกชนในไทย หนึ่งในโปรเจคใหญ่ของเดลล์ คือ โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ และอีกหลายๆ โรงพยาบาล ส่วนใหญ่เป็นระบบด้านบริหารจัดการ รวมถึงการนำข้อมูลทั้งหมดลงสู่ระบบดิจิทัล รวมถึงการปรับเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ใหม่ทั้งหมด
เอซุสเจาะคอเกม-ทูอินวันนายเจฟฟ์ โล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ตลาดโน้ตบุ๊คประเทศไทยทรุดตัวต่อเนื่องช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากความต้องการสินค้าที่ลดลง เพราะผู้บริโภคหันไปให้ความสนใจกับแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนมากกว่า ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กระทบทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น
แต่เอซุสเทคเชื่อว่า ปี 2558 ตลาดไทยจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกันตลาดไทยจะอยู่ในจุดที่เติบโตได้ดีกว่า โดยเฉพาะโน้ตบุ๊ค ส่วนกลุ่มคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะยังคงที่จากความต้องการใช้งานในองค์กร
รวมทั้งกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและคนทำงานที่จะเป็นตลาดสำคัญที่ช่วยผลักดันยอดขายส่วนใหญ่ให้กับพีซี และผู้ใช้พีซีเดิมที่ต้องการประสิทธิภาพเครื่องสูงขึ้น
นายโลระบุว่า ภาพรวมของเอซุสเทคตลอดปีที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมีส่วนแบ่งตลาดราว 24-25% ของยอดขายรวม จากกลยุทธ์สำคัญที่จะยังเดินหน้าต่อไปคือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้งานทุกกลุ่มตั้งแต่ระดับเอ็นทรี จนถึงไฮเอ็นด์
ส่วนตลาดที่โฟกัสเป็นพิเศษคือ กลุ่มเกมมิ่ง และทูอินวัน ที่แบรนด์เอซุสเทคได้รับการตอบรับดีในไทย
"เทรนด์ที่เห็นตอนนี้คือ คนเริ่มไม่นิยมซื้อดีไวซ์เดียวเพื่อใช้กับงานด้านเดียว แต่จะเลือกซื้อของที่มีฟังก์ชั่นหลายอย่าง เช่น โน้ตบุ๊คที่จอปรับเป็นแทบเล็ตได้ด้วย เป็นต้น"
นอกจากนี้ก็จะทำตลาดมากขึ้นทั้งสื่อดิจิทัล เช่น เฟซบุ๊ค และสื่อเดิม โดยบริษัทคาดว่าจะใช้งบการตลาดราว 5% ของยอดขายรวม และเพิ่มจำนวนพันธมิตรช่องทางการขายจากปัจจุบันขายผ่านดิสทริบิวเตอร์ 4 รายหลัก ครอบคลุมพื้นที่การขายราว 80-85% ในตลาดไทย
รวมทั้งแผนการเพิ่มบุคลากรที่จะเน้นกลุ่มบริการและด้านการตลาด เพื่อรองรับการเติบโตและการแข่งขันที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในปีนี้
อย่างไรก็ตามผู้บริหารเอซุสยังมองว่า ปี 2558 ยังมีสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ ทิศทางของเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีผลต่อการใช้เงินของผู้บริโภครวมถึงราคาสินค้า แต่ก็ยังคาดหวังว่าความต้องการซื้อสินค้าประเภทพีซีจะยังมีอยู่แน่นอน
http://www.1009seo.com/